หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I
มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลหมู่ที่ ๑

- ไม่คบคนพาล
- คบบันฑิต
- บูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลหมู่ที่ ๒

- อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
-
มีบุญวาสนามาก่อน
- ตั้งตนชอบ
มงคลหมู่ที่ ๓
- เป็นพหูสูต
-
มีศิลปะ
- มีวินัย
- มีวาจาสุภาษิต
มงคลหมู่ที่ ๔
- บำรุงบิดามารดา
-
เลี้ยงดูบุตร
- สงเคราะห์ภรรยา (สามี)
- ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลหมู่ที่ ๕
- บำเพ็ญทาน
-
ประพฤติธรรม
- สงเคราะห์ญาติ
- ทำงานไม่มีโทษ
มงคลหมู่ที่ ๖
- งดเว้นจากบาป
-
สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
- ไม่ประมาทในธรรม
มงคลหมู่ที่ ๗
- มีความเคารพ
-
มีความถ่อมตน
- มีความสันโดษ
- มีความกตัญญู
- ฟังธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๘
- มีความอดทน
-
เป็นคนว่าง่าย
- เห็นสมณะ
- สนทนาธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๙
- บำเพ็ญตบะ
-
ประพฤติพรหมจรรย์
- เห็นอริยสัจ
- ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลหมู่ที่ ๑๐

- จิตไม่หวั่นในโลกธรรม
-
จิตไม่โศก
- จิตปราศจากธุลี
- จิตเกษม

 

มงคลคาถาที่ ๓ จิตเกษม

พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ข้อ ๕-๖
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล
ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา-บิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัย ในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

จบมงคลสูตร

มงคลคาถาที่ ๓ จิตเกษม

มงคลข้อ ที่ ๓๘ อันเป็นข้อสุดท้าย ได้แก่ จิตเกษม ซึ่งหมายถึง จิตหลุดพ้น ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นนี้ หมายถึง จิตพ้นจากโยคะ ๔

โยคะ ๔ นั้นหมายถึง กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ ผู้ที่พ้นจากโยคะ ๔ นั้น ก็ได้แก่ ผู้ที่ได้อรหัตตมรรคนั่นเอง

"ผู้ที่ถูกตีตรวนคุมขังอยู่ เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ ย่อมมีอิสระเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ก็ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น"

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

 

ภัยของมนุษย์

ทันทีที่เกิดลืมตามาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเลมหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑.ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาผจญคอยดักอยู่ตลอดเวลารุมล้อมรอบตัว
ข้างหลัง คือ ชาติภัย ภัยจากการเกิด
ข้างขวา คือ ชราภัย ภัยจากความแก่
ข้างซ้าย คือ พยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ
ข้างหน้า คือ มรณภัย ภัยจากความตาย

ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใคร ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

๒.ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น
- ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน
- ภัยจากธรรมชาติเช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า
- ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ ไปลักขโมย โกงเขาเขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษกัน ก็สารพัดล่ะ ฯลฯ


ทำไมเราจึงต้องพบกับภัยเหล่านี้

การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วย "โยคะ" แปลว่า

เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพมีอยู่ ๔ ประการได้แก่

๑.กามโยคะ คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะๆ อยากทานอาหารอร่อยๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ นุ่มนวลสวมใส่สบาย อยากเห็นรูปสวยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้แฟนสวยๆ มีสมบัติเยอะๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้

๒.ภวโยคะ คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือ เมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็พอใจยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี่เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๒

๓.ทิฏฐิโยคะ คือ ความยึดถือความคิดเห็นที่ผิดๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ยังไปหลงผิด ความเห็นผิดๆ อยู่ สิ่งนี้ก็เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓

๔.อวิชชาโยคะ คือ ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔

ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียวที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารโดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว

 

จิตเกษมคืออะไร?

เกษม แปลว่า ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลส มีความสุข

จิตเกษม จึงหมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียว ได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสระเสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใดๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง

คือผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในพระนิพพานตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่ พระอรหันต์นั่นเอง
จิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น

 

วิชชา ๓

วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งด้วยปัญญา ได้แก่ ญาณ คือ ความหยั่งรู้ ซึ่งเกิดจากการทำสมาธิสุดยอดเข้าถึงธรรมกายคือ

๑.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ระลึกชาติตัวเองได้

๒.จุตูปปาตญาณ คือ ตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้

๓.อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส


อภิญญา ๖

อภิญญา ๖ คือ ความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผลธรรมดา ได้แก่

๑.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ ย่อ-ขยายตัวได้ หายตัวได้ ฯลฯ

๒.ทิพยโสต มีหูทิพย์

๓.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

๔.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

๕.จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) มีตาทิพย์

๖.อาสวักขยญาณ ทำกิเลสให้สิ้นไปได้

ในอภิญญา ๖ นี้ ๕ ข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นโลกุตรอภิญญา คุณวิเศษเหล่านี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่าหรือสั่งสอนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้นๆ แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง

 

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่นได้แก่

๑.อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร

๒.ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับเก็บความสำคัญได้หมด

๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือ แตกฉานเรื่องภาษาทุกภาษาทั้งภาษาของมนุษย์และสัตว์ สาารถเข้าใจได้

๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี

สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำซักถามได้แจ่มแจ้ง

การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจังตั้งใจ ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่างๆ และมีความรู้พิเศษสุดยอด ตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เราจะเห็นได้ว่า มงคลในพุทธศาสนานั้น ความเป็นสิริมงคลทั้งหลาย มีเกิดขึ้นได้ดังนี้ คือ
ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของตนเอง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในขั้นต้น ๆ เราก็ได้แต่ขั้น ความเป็นสิริมงคลในขั้นหยาบ ๆ
แต่เมื่อมีการประพฤติปฏิบัติ ให้สูงยิ่งขึ้น ความเป็นสิริมงคลนั้น ก็มีความหนาแน่นยิ่งขึ้น

การประพฤติปฏิบัติในธรรมของพระพุทธศาสนา เท่านั้น จึงจะถือได้ว่า เป็นมงคล และสิริ อันเกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากมงคลสูตรนี้ เราจะเห็นได้ว่า ความเป็นสิริมงคลนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การอวยชัยให้พร หรือการให้ศีลให้พร ดังที่ทุก ๆ คนส่วนใหญ่เข้าใจในอยู่บัดนี้

แม้แต่สงฆ์บางองค์ที่ยังถือความเป็นมงคลข้างต้น ซึ่งได้แก่ การเห็นรูปเป็นมงคล การได้ยินเสียงเป็นมงคล การมีอารมณ์กระทบเป็นมงคล เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นมงคลนอกพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้มงคลเหล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดก่อนมงคลสูตร หรือมงคลชีวิต ๓๘ ดังกล่าวมาแล้ว
ความเป็นสิริมงคล ในพระพุทธศาสนานั้น

เริ่มจาก ชีวิตปุถุชนทั่วๆไป ในขั้นต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า กล่าวไว้ ไม่ให้คบคนพาล
ขั้นต่อไป ก็ให้ คบแต่บัณฑิต ซึ่งเป็นชีวิต ข้อประพฤติ ข้อปฏิบัติของปุถุชนทั่วไปประจำวัน
จนถึงชีวิตขั้นสูงสุด คือ การประพฤติปฏิบัติ ของอริยชน ขั้นสูงสุด คือ การหลุดพ้นจากวัฏฏะ

ตามที่ได้กล่าวมานี้ หวังว่า พวกเราทุกคน ที่นับถือพระพุทธศาสนา คงจะเข้าใจความหมายของ การเป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ได้ดี ซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าใจตามนี้
เพราะต่างก็ยัง ยึดมั่น ถือมั่น อยู่กับการอวยชัยให้พร และวัตถุมงคลต่างๆ

เพราะเหตุนี้แหละ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพุทธภาษิต ไว้ว่า

"ทุลละภัง ทัสสะนัง โหติ สัมพุทธานัง อะภิณหะโส"

การเห็นพระพุทธเจ้าเนือง ๆ เป็นการหาได้ยาก การที่เราจะนำเอาสิริมงคลในพุทธศาสนา มาประกอบเข้ากับตัวเรานั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

แต่ขอให้พวกเราทุกคน ได้ตระหนักไว้ว่า สิ่งใดที่ทำได้ยาก สร้างได้ยากนั้น เป็นของมีค่าที่สุดในชีวิต


(พุทธโอวาท)

จบมงคลคาถาที่ ๓จิตเกษม

<<<< จบ มงคลชีวิต ๓๘ ประการ >>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1