ธรรมคือธรรมชาติ

ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นสัจจะธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์และสัตว์ เพื่อให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สร้างความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง ละความชั่ว ตัณหา และกิเลสทั้งปวง ความสำคัญของธรรมะ อยู่ที่จิต จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน จิตเป็นหัวหน้า เมื่อเรามีสติ สามารถควบคุมจิตให้อยู่ในกรอบที่ดีก็คือ เสมือนหนึ่งเราได้ศึกษาธรรมะเกือบสำเร็จไปแล้ว และต้องละเว้นความ โลภ โกรธ หลง ให้หมด โดยต้องระวังอย่างเข้มงวด พวกประตูของตัวบาปมี ๖ ทาง คือ ทางหู, ตา, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ ดังจะรู้ได้จากการกระทำ หรือสังเกตุได้ดังนี้

 

๑. หู ฟังเสียงที่ไพเราะและนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

๒. ตา มองแต่สิ่งที่สวยงาม และนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

๓. จมูก ดมกลิ่นที่หอม และนึกชอบ และทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

๔. ลิ้น สัมผัสรสอาหารที่อร่อย และนึกชอบ ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

๕. กาย มีการสัมผัสและนึกคิดแล้วหลงไหล ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

๖. ใจ นึกชอบในสิ่งที่ดี และไม่ดี ทำให้เกิดกิเลส และตัณหา

 

ประตูสร้างตัณหาทั้ง ๖ นี้ ถ้าเราสามารถรู้ทุกขณะจิต (มีสติสัมปชัญญะ)
ทุกขณะจิตของการกระทำ และตัดสินด้วยสติ ไม่ใช้อารมณ์ไปในทางที่ดี และไม่ปฏิบัติชั่ว ละโมหะ โทสะ ด้วย ก็จะเป็นเหตุให้เราเข้าสู่จิตสงบ มีสมาธิที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องไปบวช หรือเข้าธุดงค์กรรมตามสถานที่ต่างๆ

 

ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะเท่านั้นที่พ้นจากทุกข์ได้

 

 

 

    แนะพิจารณาการเจริญพระพุทธมนต์

    มนต์ หมายถึง คำสอนอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น การเจริญพระพุทธมนต์ก็หมายถึง การท่องบ่นคำสอนอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อให้จำได้ และเอาไปคิดพิจารณา จะได้เกิดปัญญาในเรื่องนั้น ๆ ไม่ใชท่องบ่นเพื่อให้เกิดความขลังหรือ เพื่อเรื่องที่จะทำให้เรา เป็นไปโดยความขลัง

    เวลาท่องมนต์ ควรท่องให้มีจังหวะจะโคน อย่าเร็วเกินไป พยายามท่องให้มีวรรคตอนพอดี ๆ จะได้เกิดความสบายใจ ในขณะท่องก็คงจะคิดไม่ทันถึงความหมายของถ้อยคำที่เราท่อง แต่ว่าเราท่องเพื่อให้จำได้ จำได้แล้วเราก็เอาไปพิจารณาในตอนหลัง ถึงความหมายของบทเจริยพระพุทธมนต์แต่ละบท เช่น ถ้ามีหนังสือสำหรับท่องมนต์อยู่ที่บ้าน ว่าง ๆ เราก็เอามาเปิดอ่านเป็นบท ๆ แล้วพิจารณาถึงบทสวดมนต์นั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจในความหมายที่ลึกซึ้ง

    เพราะเพียงแต่สวดเฉย ๆ ทำให้จำได้อย่างเดียว แต่ว่าเราไม่เข้าใจถึงเนื้อความในเรื่องที่สวด ทำให้ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเราเข้าใจความหมายของเนื้อเรื่องนั้นถูกต้องแล้ว นำเรื่องนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชิวิตประจำวัน นั่นแหละจะช่วยให้เราได้ประโยชน์จากการสวดมากขึ้น

    เพราะฉะนั้นจึงใคร่ขอแนะนำว่า เวลาเราอยู่บ้านว่างๆ ไม่มีอะไรจะทำ จะไปคิดถึงเรื่องอะไรมันก็กลุ้มใจเปล่า ๆ เป็นการหาเรื่องเป็นทุกข์ใจมาให้แก่ตนเอง เราก็เอาหนังสือสวดมนต์มานั่งพิจารณา ตั้งแต่บทที่เราเริ่มสวดประจำเป็นต้นไป

    เช่นว่า ในการสวดมนต์ เราเริ่มสวดบทเริ่มต้นก่อนว่า

    อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ดับเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลสสิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

    อันนี้ก็มีคำแปลอยู่ในตัวด้วย เราก็เอามานั่งพิจารณาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทำไมเราจึงเรียกเช่นนั้น

    ที่เรียกว่า พระผู้มีพระภาค นั้น ก็เพราะเรียกด้วยความเคารพ เราใช้ ภควา นี้ เป็นคำแทนชื่อของพระองค์ เป็นการเรียกด้วยความเคารพ หรือ บางทีก็ใช้ชื่อนามสกุล เช่น พระองค์นามสกุลว่า โคตมะ เวลาคนเข้าไปเฝ้า เขาก็จะทูลว่า ข้าแต่พระโคตมะ ถ้าเป็นคนไทยก็ว่า ข้าแต่พระโคดมสัมมาสัมพุทธ อะไรอย่างนั้น และเพิ่ม เจ้า เข้าไปด้วย เพราะเมืองไทยเรานั้น
    นับถือเจ้านาย จึงเอา เจ้า คำนี้ไปใช้ให้พระองค์ด้วย เป็น พระพุทธเจ้า เราพูดกันไปอย่างนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มความเคารพให้เกิดขึ้นในพระองค์

    คำว่า พระผู้มีพระภาค หรือ ภควา นี้ เป็นพระคุณบทหนึ่งในพระคุณ ๓ ประการ ที่เราสวดร้องท่องบ่นกันอยู่เสมอ ๆ มีความหมายเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ มีความหมายในเชิงปฏิบัติ

    ถ้าเราเข้าใจความหมาย เราก็เอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้

    คำว่า ภควา นี้ แปลว่า ผู้มีความกรุณา กรุณาคำนี้เป็นคำภาษาบาลีอยู่เหมือนกัน ดังเราจะเห็นว่า ธรรมหมวดหนึ่งที่เราเรียกว่า พรหมวิหารธรรม หมายเอา ธรรมของผู้เป็นใหญ่ คนที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ต้องมีธรรม ๔ ประการนี้เป็นหลักครองใจคือ

    ๑. เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข

    ๒. กรุณา สงสาร เข้าไปช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์
    ความเดือดร้อน

    ๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เบิกบานใจ ในเมื่อเขาพ้นจาก
    ทุกข์ หรือว่าได้รับความสุขความเจริญ

    ๔. อุเบกขา ความวางเฉย เพราะทำอะไรไม่ได้ จะแสดง เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ไม่ได้ ก็เฉยอยู่ใน
    ลักษณะวางเฉยเสีย

    กรุณา นั้น ก็อยู่ในธรรมข้อหนึ่งใน ๔ ข้อนั้น พระผู้มีพระภาค จึงแปลว่า ผู้มีความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ในบางแห่งว่า มหาการุณิโก นาโถ พระองค์ผู้มีความกรุณาเป็นนาถะของโลก เพื่อที่จะให้เราได้พ้นความทุกข์ ความเดือดร้อน และให้มีความกรุณาประจำจิตใจ

    หมายความว่า รักคนอื่น สงสารคนอื่น เมื่อบุคคลมีความรักความสงสารผู้อื่น ก็เรียกว่ามีพระประจำใจ ทำให้ใจสงบ หน้าตาเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส

    นี่เราต้องพิจารณาอย่างนี้ แล้วนำไปปฏิบัติ จึงจะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากบทสวดมนต์อย่างเต็มที่ และจะได้รับผลอย่างบริบูรณ์ยิ่ง.


    ปัญญานันทภิกขุ
    จากหนังสือคู่มืออุบาสกอุบาสิกา สำนักสวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี

<< Prev : Page

อ่านต่อหน้า Next : Page 2>>

 

 

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I จิตตสังเขปI บวชกาย-บวชใจ I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I โมกขุบายวิธี I เรื่องของความเกิด-ดับ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

Hosted by www.Geocities.ws

1