หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I
มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลหมู่ที่ ๑

- ไม่คบคนพาล
- คบบันฑิต
- บูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลหมู่ที่ ๒

- อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
-
มีบุญวาสนามาก่อน
- ตั้งตนชอบ
มงคลหมู่ที่ ๓
- เป็นพหูสูต
-
มีศิลปะ
- มีวินัย
- มีวาจาสุภาษิต
มงคลหมู่ที่ ๔
- บำรุงบิดามารดา
-
เลี้ยงดูบุตร
- สงเคราะห์ภรรยา (สามี)
- ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลหมู่ที่ ๕
- บำเพ็ญทาน
-
ประพฤติธรรม
- สงเคราะห์ญาติ
- ทำงานไม่มีโทษ
มงคลหมู่ที่ ๖
- งดเว้นจากบาป
-
สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
- ไม่ประมาทในธรรม
มงคลหมู่ที่ ๗
- มีความเคารพ
-
มีความถ่อมตน
- มีความสันโดษ
- มีความกตัญญู
- ฟังธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๘
- มีความอดทน
-
เป็นคนว่าง่าย
- เห็นสมณะ
- สนทนาธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๙
- บำเพ็ญตบะ
-
ประพฤติพรหมจรรย์
- เห็นอริยสัจ
- ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลหมู่ที่ ๑๐

- จิตไม่หวั่นในโลกธรรม
-
จิตไม่โศก
- จิตปราศจากธุลี
- จิตเกษม

 

มงคลที่ ๒ การคบบัณฑิต
คบบัณฑิต เพื่อถ่ายทอดเอานิสัยดี ๆ คุณธรรมต่างๆ มาสู่ตัวเรา
มงคลข้อที่ ๒ การคบบัณฑิตเป็นอุดมมงคล

พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของบัณฑิต คือนักปราชญ์ ผู้รู้ ผู้ฉลาด ไว้ ๓ ประการคือ ทำดี พูดดี คิดดี อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคนพาลโดยแท้

ทำดี คือ การกระทำดีทางกาย ๓ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑

พูดดี คือ การกระทำดีทางวาจา ๔ มีการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ ๑ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ ๑

คิดดี คือ การกระทำดีทางใจ ๓ มีการไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ๑
การไม่คิดพยาบาทปองร้ายให้ผู้อื่นพินาศ ๑ มีความคิดไม่วิปริตเป็นสัมมาทิฏฐิ เช่นเห็นว่าการกระทำบุญการกระทำบาป มีผล เป็นต้น ๑

รวมความว่าบัณฑิต คือคนที่ทำดีทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ อันเป็นสุจริตกรรม ๑๐ หรือ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง

บัณฑิตที่มีความประพฤติดังกล่าวนี้นี่แหละที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คบหาเข้า ใกล้สนิทสนมด้วย เพราะจะทำให้เรามีใจโน้มน้อม คล้อยตาม ยินดีชื่นชมในความประพฤติของเขา เอาเยี่ยงอย่างเขา อันจะทำให้เราเป็นบัณฑิตไปด้วย เนื่องด้วยบัณฑิตย่อมชักนำให้เราทำแต่สิ่งดีมีประโยชน์

พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต ผู้ที่ได้คบหาเข้าใกล้พระองค์ และสาวกของ พระองค์จึงได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ เพราะพระองค์ทรงสอน ให้ทำ ให้พูด ให้คิด แต่สิ่งดีมีสาระประโยชน์

พระองค์และสาวกของพระองค์จึงเป็นที่ชื่นชมยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ใคร ๆ ก็อยากเข้าใกล้ คบหาสมาคมด้วย

นอกจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตแล้ว แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอดจนผู้ที่มีลักษณะของบัณฑิต ๓ ประการดังกล่าวแล้ว ล้วนได้ชื่อว่าบัณฑิตทั้งสิ้น

บัณฑิตเหล่านั้น เป็นผู้สามารถกำจัดอุปัทวะภัยและอุปสรรคทั้งปวงให้แก่ผู้ที่ทำตามคำของบัณฑิตได้
บุคคลที่อาศัยบัณฑิตแล้ว ย่อมสามารถเข้าถึงสรณคมน์ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

"ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด
ผู้ที่คบบัณฑิต ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น"


บัณฑิตคือใคร ?
บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติวิสัย ทำให้มีความเห็นถูกยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา

-เป็นผู้รู้ดี คือ รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว
-เป็นผู้รู้ถูก คือ รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
-เป็นผู้รู้ชอบ คือ รู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป

บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้ทีมีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใสและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้นคือ บัณฑิต แท้จริงนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงเพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ถ้าความประพฤติไม่ดี อาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้

แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบประกอบแต่ความดี ความถูกต้อง ความสุจริตสามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะรางและแม้กระทั่งจากนครได้ "บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมศีล สมาธิ ปัญญา"


ลักษณะของบัณฑิต

เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ

๑.ชอบคิดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น

๒.ชอบพูดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดถูกต้องตามกาลเทศะและพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา

๓.ชอบทำดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ เว้นการฆ่ากัน ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น
องค์คุณของบัณฑิต


๑.กตัญญู รู้อุปการะคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน
๒.อัตตสุทธิ ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป
๓.บริสุทธิ์ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป
๔.สังคหะ สงเคราะห์แต่ชุมชนทั้งหลาย

วิธีสังเกตบัณฑิต
บัณฑิต มักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ

๑.บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอนให้รักษาศีล ให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น

๒.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใคร ๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้างและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์
๓.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดและทำตรงไปตรงมาชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแต่ตนเองและต่อผู้อื่นเป็นต้น

๔.บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอาความถูก ความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้งไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนคนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่าหากมีผู้อื่นเข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร

ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบแล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน

๕.บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริงทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความประหยัดจริง ฯลฯจึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาดรกรุงรัง


วิธีคบบัณฑิต
๑.หมั่นไปมาหาสู่
๒.หมั่นเข้าไปนั่งใกล้
๓.มีความจริงใจ ให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน
๔.ฟังคำแนะนำ คำพูดของท่าน (ฟังธรรม)
๕.จำธรรมที่ได้ฟังนั้นไว้
๖.พิจารณาใจความของธรรมที่จะได้นั้นให้ดี
๗.พยายามปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟัง


ประเภทของบัณฑิต
บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่

๑.บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

๒.บัณฑิตภายใน คือ ตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้นการคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดดี ๆ เป็นไปเพื่อความสร้างสรรค์ คำพูดดี ๆ เป็นเพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำดี ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นทำทาน รักษาศีล และทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ


อานิสงส์การคบบัณฑิต
๑.ทำให้จิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย
๒.ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล
๓.ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฐิ
๔.ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะทำผิด
๕.ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป
๖.ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่าง ๆ
๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว
๘.ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
๙.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย


"แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึง คบบัณฑิต ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะนั้น"

จบมงคลที่ ๒ การคบบัณฑิต

(พุทธพจน์)

อ่านหน้าต่อไป

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1