มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลหมู่ที่ ๑

- ไม่คบคนพาล
- คบบันฑิต
- บูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลหมู่ที่ ๒

- อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
-
มีบุญวาสนามาก่อน
- ตั้งตนชอบ
มงคลหมู่ที่ ๓
- เป็นพหูสูต
-
มีศิลปะ
- มีวินัย
- มีวาจาสุภาษิต
มงคลหมู่ที่ ๔
- บำรุงบิดามารดา
-
เลี้ยงดูบุตร
- สงเคราะห์ภรรยา (สามี)
- ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลหมู่ที่ ๕
- บำเพ็ญทาน
-
ประพฤติธรรม
- สงเคราะห์ญาติ
- ทำงานไม่มีโทษ
มงคลหมู่ที่ ๖
- งดเว้นจากบาป
-
สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
- ไม่ประมาทในธรรม
มงคลหมู่ที่ ๗
- มีความเคารพ
-
มีความถ่อมตน
- มีความสันโดษ
- มีความกตัญญู
- ฟังธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๘
- มีความอดทน
-
เป็นคนว่าง่าย
- เห็นสมณะ
- สนทนาธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๙
- บำเพ็ญตบะ
-
ประพฤติพรหมจรรย์
- เห็นอริยสัจ
- ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลหมู่ที่ ๑๐

- จิตไม่หวั่นในโลกธรรม
-
จิตไม่โศก
- จิตปราศจากธุลี
- จิตเกษม

 

มงคลข้อที่ ๑๗ ก็คือ ได้แก่ การสงเคราะห์ญาติ

มงคลข้อที่ ๑๗ ก็คือ ได้แก่ การสงเคราะห์ญาติ คำว่า " ญาติ " ในที่นี้ ตามพระสูตร ได้แบ่งออกเป็น ๗ ขั้นตอน ๗ ขั้นตอนนั้น หมายความว่า เราอยู่กึ่งกลาง นับข้างบนไป ๓ นับข้างล่างไป ๓ ก็ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายและชวด ส่วนขั้นต่ำก็ได้แก่ ลูก หลาน เหลน นี่ เรียกว่า ความเป็นญาติ ส่วนการสงเคราะห์นั้น ก็แล้วแต่ฐานะที่เราพึงจะให้ ความสงเคราะห์ได้ โดยไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่น

พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ข้อ ๕-๖
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล
ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า


[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา-บิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัย ในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

จบมงคลสูตร

 

๑๗ สงเคราะห์ญาติ

สงเคราะห์ญาติ คือ ช่วยเหลือทั้งญาติสายโลหิตเดียวกัน ทั้งพี่ ป้า น้า อา ลุง หลาน ฯลฯ รวมทั้งผู้รู้จักคุ้นเคยกัน ญาติร่วมจังหวัดญาติร่วมประเทศเดียวกัน ญาติร่วมโลก เป็นการสร้างเสริมความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นองสังคมให้เกิดขึ้น


"ต้นไม้ที่เกิดรวมกันเป็นป่าดง แต่ละต้นย่อมช่วยปะทะลมพายุให้แก่กันจึงยืนต้นอยู่ได้นานผิดจากต้นไม้ที่เกิดอยู่โดดเดี่ยว แม้จะเป็นไม้เจ้าป่าสูงใหญ่ก็ตาม เมื่อโต้พายุตามลำพัง ย่อมหักโค่นลงโดยง่าย"
เช่นกันคนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้าก็ย่อมมีผู้คอยช่วยเหลือปะทะมรสุมชีวิตให้ผ่อนหนักเป็นเบา เมื่อเราทำดีมีสุข มีทางเจริญก้าวหน้า ก็มีคนให้ความสนับสนุน


ญาติคือใคร?

ญาติ แปลว่า คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด หมายถึงบุคคลที่คุ้นเคยและวางใจกันได้มี ๒ ประเภทได้แก่

๑. ญาติทางโลก แบ่งได้เป็น ๒ พวกคือ
- ญาติโดยสายโลหิต เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง หลาน เหลน ฯลฯ (สำหรับพ่อแม่ ลูก ภรรยา สามี ถือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด ขอให้กันไว้ต่างหากเพราะเรามีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ต่างกันออกไป)
- ญาติโดยความใกล้ชิดคุ้นเคย เช่น เป็นเพื่อนสนิทสนมกับเราโดยตรง หรือสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเรา

๒. ญาติทางธรรม หมายถึงผู้เป็นญาติเพราะเหตุ ๔ ประการคือ
- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นภิกษุ
- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นสามเณร
- เป็นญาติเพราะให้นิสัย
- เป็นญาติเพราะสอนธรรมะให้


วิธีร่อนหาญาติแท้ๆ
คน
รู้จักกันที่เรียกว่าญาตินั้น ไม่ใช่เพียงรู้จักตัว ไม่ใช่เพียงรู้จักว่าเวลานี้เขาจะช่วยอะไรเราบ้าง แต่จะต้องมีใจผูกพันกับผู้ที่ตนถือว่าเป็นญาติเสมอ แม้แยกย้ายกันไปก็อยากรู้ข่าวคราวว่าผู้นั้นทุกข์หรือสุข หากเดือดร้อนก็พร้อมจะช่วยสงเคราะห์ อย่างนี้เรียกว่าญาติ ญาติที่แท้ต้องมีใจผูกพันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้ารู้จักกันเพียงผิวเผินจากไปแล้วก็แล้วกันไปอย่างนี้ไม่นับเป็นญาติ

ยิ่งถ้ารู้จักมักคุ้นกันนั้นดีกับเราเฉพาะยามเราเจริญคำก็พี่น้องสองคำก็พี่น้อง แต่เราเพลี่ยงพล้ำลง ชักหันมาเล่นแง่ จะแล่เอาเนื้อจะเถือเอาหนัง คนอย่างนี้ไม่ใช่ญาติแน่นอน วิธีพิจารณาว่าใครเป็นญาติทำได้ง่ายๆ คือ ใครก็ตามที่เมื่อเราเจ็บป่วย แล้วพอรู้ข่าวคราวก็มาเยี่ยมเยียนในยามที่เราปราศจาก ลาภ ยศ ตำแหน่งหน้าที่การงานอันมีเกียรติแล้วยังปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอต่อเรา หรือถ้าเราตายก็พร้อมจะไปเผาศพเรานั่นแหละจึงนับว่าเป็นญาติ


ลักษณะญาติที่ควรสงเคราะห์
๑. เป็นคนที่พยายามช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เอะอะมีอะไรก็วิ่งมาหาท่าเดียว งอมืองอเท้าไม่ยอมช่วยตนเอง
๒. รู้จักทำตัวให้น่าช่วย มีความประพฤติดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจ
เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ
๑. เมื่อยากจนหาที่พึ่งไม่ได้
๒. เมื่อขาดทุนทรัพย์ค้าขาย
๓. เมื่อขาดยานพาหนะ
๔. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน
๕. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
๖. เมื่อคราวมีธุระการงาน
๗. เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี


เรื่องการสงเคราะห์ญาติ จะว่าง่ายก็เหมือนยาก ครั้นจะว่ายากก็เหมือนง่าย คนทิ้งญาติพี่น้องเสียผู้เสียคนไปก็มี คนที่เอาพี่เอาน้องจนตัวเองแทบตายทั้งเป็นก็มาก เรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขต มีวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรให้ญาติแล้วจะดีเสมอไป


วิธีสงเคราะห์ญาติทางโลก
ความมุ่งหมายของการสงเคราะห์ญาติอยู่ที่การผูกสามัคคีรวมน้ำใจญาติให้เป็นปึกแผ่น โดยใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ ดังนี้
๑. ทาน หมายถึง การเอื้อเฟื้อแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ให้ของฝากยามเยี่ยมเยียน ให้ของขวัญยามมงคล ให้ของกินของใช้ยามตรุษยามสารท ตลอดจนให้ทุนรอนทำมาหากิน โดยควรจะตั้งงบกลางไว้สำหรับสงเคราะห์ญาติโดยเฉพาะ และเมื่อแบ่งปันให้ญาติไปแล้ว ก็ไม่คิดจะทวงคืน แต่ถ้าเขานำมาคืนเองก็ควรเก็บสำรองไว้ในงบกลางนี้อีกสำหรับสงเคราะห์ญาติคนอื่นๆที่เดือดร้อนต่อไป
๒. ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำสุภาพอ่อนโยน เรียกสรรพนามตามศักดิ์ เช่น เรียกลุง ป้า น้า อา อันเป็นภาษาของคนรักใคร่กัน ถึงจะโกรธเคืองขัดใจกันก็ไม่แช่งชักหักกระดูก หรือนินทาว่าร้าย
๓. อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ ช่วยเหลือเมื่อมีธุระการงาน เช่น แต่งงาน บวชนาค เจ็บป่วย เป็นความ งานศพ และอื่นๆ อย่างน้อยก็ให้กำลังใจ
๔. สมานัตตตา วางตัวกับญาติให้เหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่ง เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม เคารพญาติผู้ใหญ่ เอ็นดูญาติผู้น้อย เสมอต้น เสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ทอดทิ้งกัน


วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม
คือ ชักชวนญาติให้รู้จักประกอบการบุญการกุศล ชักพาให้ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้ตั้งอยู่ในศรัทธา สอนธรรมะให้ ชักนำ ให้บวช ชักนำให้ปฏิบัติธรรม


ข้อเตือนใจ
การสงเคราะห์ญาติเป็นความดี เป็นมงคลแก่ผู้ทำ แต่ทั้งนี้ต้องทำตามวิถีทางที่ถูกต้อง คือ ต้องไม่เอาการช่วยเหลือญาติพี่น้องมาทำให้เสียความเป็นธรรมในหน้าที่ของตน
ทางฝ่ายญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือยิ่งต้องคิดให้มาก ถ้ารักกันจริงแล้วไม่สมควรที่จะไปขอร้อง ญาติพี่น้องที่มีบุญวาสนามีอำนาจหน้าที่ ให้เขาทำผิด ให้ช่วยเหลือเรา ในทางที่ไม่เป็นธรรม อย่าขอร้องหรือแม้แต่จะทำให้เขาต้องกังวลใจ ที่จะมาทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของเรา การขอร้องญาตินั้นไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม และไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าอย่าขอให้เขาทำผิดเพื่อเราก็แล้วกัน
จะเห็นได้ว่า มงคลที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓ เป็นการสงเคราะห์บิดามารดา บุตร ภรรยา แต่การสงเคราะห์ญาติแทนที่จะอยู่ต่อมาเป็น มงคลที่ ๑๔ กลับเป็น มงคลที่ ๑๗ โดยต้องฝึกทำงานเป็นใน มงคลที่ ๑๔ บำเพ็ญทานในมงคลที่ ๑๕ และประพฤติธรรมมีความเที่ยงตรงไม่ลำเอียงใน มงคลที่ ๑๖ ก่อน จึงจะสงเคราะห์ญาติ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกให้เสียธรรม


อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ
๑. เป็นฐานป้องกันภัย
๒. เป็นฐานอำนาจ
๓. เป็นบุญกุศล
๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน
๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน
๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน
๘. เป็นเหตุแห่งสันติสุขไปทั่วโลก
๙. เป็นประเพณีอันดีงามของนำปราชญ์
๑๐. ทำให้ตระกูลใหญ่โต มั่นคง
๑๑. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ
๑๒. เป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง
๑๓. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น


"ตระกูลใด ที่หมู่ญาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงวงศ์วาน ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จะเป็นที่เกรงขามแก่บุคคลทั้งหลาย แม้ผู้มุ่งร้ายก็ไม่กล้ามาเบียดเบียน ประดุจความหนาทึบแห่งกอไผ่ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้างย่อมไม่มีใครเข้ไปตัดได้ง่ายๆ หรือเหมือนดังกอบัวที่เจริญงอกงามอยู่ในสระย่อมเป็นที่เจริญใจ แก่ผู้พบเห็น"

(พุทธพจน์)

จบมงคลข้อที่ ๑๗ได้แก่ การสงเคราะห์ญาติ

อ่านหน้าต่อไป

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1