หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I
มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลหมู่ที่ ๑

- ไม่คบคนพาล
- คบบันฑิต
- บูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลหมู่ที่ ๒

- อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
-
มีบุญวาสนามาก่อน
- ตั้งตนชอบ
มงคลหมู่ที่ ๓
- เป็นพหูสูต
-
มีศิลปะ
- มีวินัย
- มีวาจาสุภาษิต
มงคลหมู่ที่ ๔
- บำรุงบิดามารดา
-
เลี้ยงดูบุตร
- สงเคราะห์ภรรยา (สามี)
- ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลหมู่ที่ ๕
- บำเพ็ญทาน
-
ประพฤติธรรม
- สงเคราะห์ญาติ
- ทำงานไม่มีโทษ
มงคลหมู่ที่ ๖
- งดเว้นจากบาป
-
สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
- ไม่ประมาทในธรรม
มงคลหมู่ที่ ๗
- มีความเคารพ
-
มีความถ่อมตน
- มีความสันโดษ
- มีความกตัญญู
- ฟังธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๘
- มีความอดทน
-
เป็นคนว่าง่าย
- เห็นสมณะ
- สนทนาธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๙
- บำเพ็ญตบะ
-
ประพฤติพรหมจรรย์
- เห็นอริยสัจ
- ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลหมู่ที่ ๑๐

- จิตไม่หวั่นในโลกธรรม
-
จิตไม่โศก
- จิตปราศจากธุลี
- จิตเกษม

 

มงคลคาถาที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นในโลกธรรม

พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ข้อ ๕-๖
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล
ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า


[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา-บิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัย ในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

จบมงคลสูตร

มงคลคาถาที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นในโลกธรรม

มงคลข้อที่ ๓๕ ได้แก่ จิตอันโลกธรรม 8 ไม่ทำให้หวั่นไหว หมายถึง จิตที่พ้นจากอำนาจของโลกธรรม ๘ ซึ่งได้แก่
การมีลาภ และ เสื่อมลาภ
การมียศ และ เสื่อมยศ
การสรรเสริญ และ นินทา
มีสุข และ มีทุกข์

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ


ซึ่งโลกธรรม ๘ นี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน คนทุกคน จะไม่พ้น โลกธรรม ๘ ไปได้ ผู้ที่มี " จิตอันโลกธรรม ๘ ไม่ทำให้หวั่นไหวได้ " นั้น เป็นมงคลที่ ๓๕ ซึ่งหมายถึง การตัดขาดจากกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน ซึ่งได้แก่วิปัสนาญาณที่ ๑๔ ซึ่งเรียกกันว่า มัคคญาณ

"ภูเขาศิลาล้วน ย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นเพราะแรงลมฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็ย่อมมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายฉันนั้น "
จิตหวั่น คือ ความหวั่นหวาด กังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
จิตไหว คือ ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ
โลกธรรม คือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใครๆ ก็ต้องพบหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

ก.ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ
๑.ได้ลาภ คือ การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้ลูก ได้เมีย ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น
๒.ได้ยศ คือ การได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจ ได้เป็นใหญ่เป็นโต
๓.ได้สรรเสริญ คือ การได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดี ที่คนอื่นให้เรา
๔.ได้สุข คือ ได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริงได้ความบันเทิงใจทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ

ยังไม่ได้ก็คิดหา ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึงการที่จิตมีอาการหา หวง ห่วง หึง นี่แหละเรียกว่าจิตไหว

ข. ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ
๑.เสื่อมลาภ คือ ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสียที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก
๒.เสื่อมยศ คือ ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๓.ถูกนินทา คือ ถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
๔.ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ

ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ยังหวั่นกลัวว่ามันจะกลับมาอีก

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมคืออะไร ?
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิตของผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่นเกิดความมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้

เมื่อพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ จิตก็ไม่หวั่น

เมื่อพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เป็นสุข จิตก็ไม่ไหว

เพราะรู้เท่าทันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภมีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไปเป็นธรรมดา ตามกฎของไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก
ของต่างๆ ในโลกก็มีคุณสมบัติต่างกันไป เช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆ สะท้อนแสงมีประกายแวววาว กระจกก็ใส คนเราก็มีชีวิตจิตใจรู้จักคิด เพชรก็แข็ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตามจะมีลักษณะ ๓ ประการ ที่เหมือนกันหมดคือ

๑.อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่า ทรุดโทรมไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา

๒.ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตกเท่านั้น แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับเพราะเมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ต้องตาย แม้โลกที่เราอยู่นี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และสักวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง

๓.อนัตตา ความไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใครหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่าก็ไม่ได้

แต่ตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้วก็จะพบว่าประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุมแห่งธาตุประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตายธาตุต่างๆ ก็แยกสลายจากกัน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้ายหวั่นไหวในโลกธรรม ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา

ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว เห็นพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมขันธ์อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ มีลักษณะเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอนัตตา พ้นการเวียนว่ายตายเกิด จึงไม่ไยดีในโลกธรรม ไม่ขุ่นมัว ไม่หลงใหล ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงยังอยู่ในกฎของไตรลักษณ์
ท่านจะได้ลาภ ได้ยศ มีคนสรรเสริญยกย่อง หรือเป็นสุข ท่านก็เฉยๆ จิตไม่ไหว
ท่านจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย หรือตกทุกข์ ท่านก็เฉยๆ จิตไม่หวั่น
คนทั่วไปเวลาป่วยไข้มาเกิดความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ใจจรดอยู่ในพระนิพพาน จะเกิดความทุกข์อะไรอันเนื่องมาจากสังขารนี้ก็ตาม ทุกข์นั่นจะหยุดอยู่แค่กาย กินเข้าไปไม่ถึงใจท่าน ท่านมีจิตที่มั่นคงตลอด

ข้อเตือนใจ
โบราณท่านสอนว่า อยากจะรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้วจะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหน ให้ดูอย่างนี้
ถ้าคนนั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจ ก็หัวเราะฮ่าๆ ก็รู้เลยว่า เมื่อถึงคราวเสียใจ เสื่อมลาภ เขาก็จะร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องเชียว
ตรงกันข้าม ถ้าเวลาดีใจ เขาก็แค่ยิ้มๆ ก็รู้เลยว่า ถึงตอนเสียใจอย่างมากก็คงจะแค่กัดฟัน หรืออึดใจสักอึด สองอึด แล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้
ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า "ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้"
และยังให้กำลังใจสำหรับผู้ตกอยู่ในความทุกข์อีกว่า "ยิ่งมืดเท่าไร แสดงว่ายิ่งดึก ยิ่งดึกเท่าไร ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง" เพราะฉะนั้นจะเจอความทุกข์ขนาดไหน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาปานใด สู้ทนทำความดีไปเถิด ยิ่งเจอหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้วละ เหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง

นอกจากนี้เราทุกคนจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิภาวนากัน พิจารณาอริยสัจ ๔ และทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ จึงจะมีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างแท้จริง

(พุทธพจน์)

จบมงคลคาถาที่ ๓๕จิตไม่หวั่นในโลกธรรม

อ่านหน้าต่อไป>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1