หน้าแรก I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I มงคลชีวิต ๓๘ ประการI การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

 
 

ประวัติพระพุทธเจ้า

อินเดียก่อนพุทธกาล
ประเทศอินเดียเมื่อก่อนเรียกกันว่า ชมภูทวีป เป็นประเทศที่มีอาณาเขตที่กว้างขวาง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีชนชาวพื้นเมืองที่เรียกกันว่าชาวมิลักขะปกครองอยู่กันมาก่อน ต่อมาจึงได้มีชนชาวอริยกะได้อพยพเข้ามาทางทิศเหนือของประเทศอินเดียซึ่งเป็นพวกที่มีความเจริญกว่าได้เข้ามาตั้ง รกรากถิ่นฐานทางภูเขาหิมาลัย และได้แทรกซึมเรียกว่ารุกแบบเงียบ ๆ แทรกแซงไม่ว่าจะเป็นศิลปะวัฒนธรรม ความรู้ ความสามารถต่าง ๆ นา ๆ ต่อมาก็เกิดการรุกรานกับชาวพื้นเพเดิมคือชาวมิลักขะ ก็ประสบชัยชนะและได้ปกครองต่อมา ส่วนชาวพื้นเมืองเดิมก็อพยพลงมาทางไต้ บางส่วนก็ออกไปอยู่รอบนอก เมื่อพวกชาวอริยกะได้ครองพื้นที่อุดสมบูรณ์ก็กลายเป็นจุดศุนย์กลางที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอารยธรรม การเกษตร เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกพื้นที่ที่ชาวอริยกะปกครองว่ามัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศ หรือประเทศภาคกลาง เรียกที่อยู่ของพวกมิลักขะว่าปัจจันตชนบทหรือประเทศปลายแดน

รัฐต่าง ๆ ในชมภูทวีป
หลังจากที่พวกอริยกะได้ปกครองชมภูทวีปเป็นส่วนมากแล้วก็ได้ปกครองเรื่อยมา และได้มีการ
ปกครองเป็นรัฐ ๆ มี ๑๖ แคว้นใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

อังคะ มคธะ
กาสี โกสละ
วัชชี มัลละ
เจตี วังสะ
กุรุ ปัญจาละ
มัจฉะ สุระเสนะ
อัสสกะ อวันตี
คันธาระ กัมโพชะ

และยังมีแคว้นที่เป็นแคว้นเล็ก ๆ อีก ๕แคว้นคือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ แต่ละแคว้นที่กล่าวมานี้ มีการปกครองที่แตกต่างกันไป บางทีก็ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชบ้าง แบบสามัคคีธรรมบ้าง แบบราชาบ้าง เป็นต้น บางทีถ้าผู้ปกครองมีอำนาจมากก็สามารถแผ่ขยายอาณาเขตของตนออกไป หรือบางทีก็อาจตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐอื่น
พวกมิลักขะที่พ่ายแพ้แก่พวกอริยกะ บางพวกก็หนีอพยพมาทางใต้ บางพวกก็ถูกจับเป็นเฉลยเป็นทาสรับใช้ทำให้เกิดการ รังเกียจกันและเป็นสาเหตุที่มาของแบ่งชนชั้นวรรณะ ดังนั้นวรรณะของคนประเทศอินเดียสมัยนั้นแบ่งวรรณะเป็น ๔ คือ

วรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่ทำการปกครองบ้านเมืองให้มีความสุข

วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ทางด้านศาสนา สั่งสอนประชาชน

วรรณะแพทศ์ ทำหน้าที่ค้าขาย

วรรณะศูทร์ มีหน้าที่เป็นกรรมกร


ในวรรณะทั้ง ๔ นั้น ต่างก็สมสู่ในวรรณะของตนเอง ไม่มีการสมสู่กันนอกวรรณะ ถ้าหากมีใครมาสมสู่กันต่างวรรณะ ก็จะมีการรังเกียจกันมากยิ่งถ้าบุตรเกิดมาด้วยกันก็จะเรียกบุตรคนนั้นว่า จัณฑาล บุตรที่เกิดจากต่างวรรณะนี้ถือว่าเป็นบุตรเลวทรามมาก เป็นเพราะอันเนื่องมาจากการถือทิฏฐิมานะถือโคตรตระกูล ศาสนาที่คนนับถือกันส่วนใหญ่ในยุคนั้นคือศาสนาพราหมณ์

สักกชนบท (สักกะประเทศ)
สักกชนบทเป็นแว่นแคว้นเล็ก ๆ อยู่ทางเหนือของอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล) มีเมืองหลวงชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ มีการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือแบบสามัคคีธรรม มีการเลือกสรรผู้นำเป็นกษัตริย์ตั้งแต่พระเจ้าโอกากราชเป็นต้นมา เรื่อยมาจนมาถึงสมัยการ ปกครองของพระเจ้าสุทโธทนะโดยอันมีพระมเหสีพระนามว่าสิริมหามายา วงค์ของพระเจ้าสุทโธทนะเรียกว่าศากยะวงค์ พระองค์ก็ปกครองอย่างเป็นธรรม ประชาชนก็มีความสุขกันอย่าง ถ้วนหน้าและโคตรของพระองค์ก็คือ โคตมะโคตรหรือโคดม

คัมภีร์ลักษณะมหาบุรุษ
ก่อนพุทธกาลประมาณ ๑๐๐๐ ปี ได้มีคณาจารย์พราหมณ์ผู้ที่ทรงความรู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ก็ได้แต่งคัมภีร์ชื่อว่าตำรามหาบุรุษลักษณะ ซึ่งในตำรานั้นจะกล่าวถึงลักษณะของมหาบุรุษหรือลักษณะของบุคคลพิเศษ ที่จะเป็นใหญ่ในทุก ๆ ทิศ จะต้องมีองค์ประกอบครบ ๓๒ ประการ เมื่อสรุปคำนายของตำรามหาบุรุษลักษณะก็จะมีคติเป็น ๔ ประการด้วยกัน

๑. บุคคลที่ถูกต้องตามมหาบุรุษลักษณะ ถ้าอยู่ครองฆราวาส ผู้นั้นจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ยิ่งใหญ่อันมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต

๒. บุคคลที่ถูกต้องตามมหาบุรุษลักษณะ ถ้าออกบวช ผู้นั้นจักได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นศาสดาเอกในโลก

พระมเหสีทรงพระครรภ์
นับตั้งแต่พระเจ้าสุทโธทนะกับพระมเหสีสิริมหามายาได้เสวยราชสมบัติในเมืองกบิลพัสดุ์ ต่อมาพระนางสิริมหามายาก็ได้ทรงพระครรภ์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนทราบข่าวว่าพระมเหสีมีพระครรภ์ก็ปลื้มปีติเป็นอย่างมาก จึงได้ทะนุถนอมเป็นอย่างดี จนพระมเหสีมีพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน
ตามประเพณีของพราหมณ์เมื่อสัตว์มีเกิดในครรภ์ของหญิงใด เมื่อถึงกำหนดเวลาคลอด หญิงนั้นจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านเดิมของตน (บ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิง) เพราะฉะนั้นพระนางสิริมหามายาเมื่อครบ กำหนดการคลอดก็ได้ทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อกลับไปที่จะคลอดที่เมืองเทวทหะอันเป็นเมืองที่พระราชมารดาบิดา จึงได้เดินทางพร้อมขบวนอารักขาและนางสนมกำนัลมาสู่เมืองเทวทหะ

พระมหาบุรุษประสูติ
ขณะที่ขบวนพระมเหสีได้เคลื่อนไปเมืองเทวทหะ จนมาถึงที่เขตรอยต่อระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ขบวนก็ได้หยุดพักเหนื่อยเพราะเดินทางมาก็ไกล ขณะที่พระนางสิริมหามายาพักอยู่นั้นก็บังเกิดประชวรพระครรภ์ ครั้นจะเสด็จไปต่อก็คงไม่ทันหากจะเสด็จกลับก็หนทางก็ไกล ฝ่ายนางนมสนมกำนัลก็ได้ตระเตรียมสถานที่ประสูติ ที่ใต้ต้นไม้สาละ และพระนางสิริมหามายาก็ได้ประทับยืนประสูติที่ตรงนั้นและก็ประสูติออกมาเป็นพระราชโอรส หลังจากที่ได้ประสูติ ณ ที่นั้นทางฝ่ายทหารก็ได้ส่งข่าวไปกราบทูลให้พระเจ้าสุทโธทนะทราบ พระเจ้าสุทโธทนะก็รับสั่งให้เสด็จนิวัตติกลับกรุงกบิลพัสดุ์เพราะเป็นห่วงความปลอดภัย

สหชาติ (สิ่งที่เกิดร่วมกับมหาบุรุษ)

ในวันเดียวกันที่พระนางสิริมหายาประสูติพระโอรส ก็ได้มีมนุษย์และสัตว์ได้เกิดในวันเดียวกัน สิ่งที่เกิดร่วมมหาบุรุษเรียกว่า สหชาติ มี ๗ อย่างคือ

๑. พระนางพิมพา (ยโสธรา)
๒. พระอานนท์
๓. นายฉันนะอำมาตย์
๔. นายกาฬุทายีอำมาตย์
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ คือ สังขนิธิ เอลนิธิ อุบลนิธิ บุณฑริกนิธิ

ฤาษีอสิตดาบสเข้าเยี่ยม

หลังจากที่ประสูติพระโอรสแล้วและก็เสด็จกลับเมืองกบิลพัสดุ์ ประชาชนหลังจากที่ได้ทราบข่าว การประสูติของพระโอรสแล้วต่างก็ออกมาแสดงความยินดีปรีดาไปตาม ๆ กัน ครั้นแล้ว ข่าวก็ไปถึงฤาษีชื่ออสิตดาบส ซึ่งฤาษีองค์นี้เป็นที่เคารพในตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนะและชาวเมืองมาก เมื่อทราบข่าวการประสูติก็ได้เดินทางมาเพื่อเข้าเยี่ยมและอวยพร เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วและ พระเจ้าสุทโธทนะก็ออกมาต้อนรับและต่อมาก็ได้รับสั่งให้อุ้มพระโอรสมาเพราะจะให้ฤาษีได้ชมและอวยพร แต่เมื่ออสิตดาบสได้เห็นรูปร่างพระโอรสแล้วถึงกับสะดุ้ง มองดูพระโอรสซึ่งประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการซึ่งตรงกับตำราที่ได้เล่าเรียนมา มีความปลื้มปีติเป็นอย่างมาก ถึงกับหัวเราะออกมา แล้วก็ได้ประณมมืออัญชลีอภิวาทที่พระบาททั้งสองของพระโอรส และก็ได้ร้องไห้ออกมาเพราะ วาสนาอาภัพของตนอาจจะไม่มีโอกาสเห็นโอรสน้อนนานเพราะความแก่ของตนเอง ในขณะที่ฤาษีทำอัญชลีนั้นพระเจ้าสุทโธทนก็ทำการอัญชลีด้วย เมื่อจะถวายพระพรลาก็ได้ทำนายพระโอรสไว้เป็น ๒ แนวตามตำรามหาปุริสะลักษณะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ขนานพระนามพระโอรส

พระโอรสพอประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนก็ได้เชิญพราหมณ์ 108 คนมาเลี้ยงที่พระตำหนักเพื่อเป็น สิริมงคลแก่พระโอรสและราชกุล เมื่อถวายโภชนาหารแก่พราหมณ์ทั้งหมดแล้ว ก็ได้คัดเลือกพราหมณ์ที่ชำนาญ ในไตรเพท เพื่อให้พิจารณาและให้การตั้งชื่อให้ เมื่อเลือกแล้วก็ได้พราหมณ์ที่ชำนาญอยู่ ๘ คน ซึ่งพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้นคือ รามพราหมณ์ ลักษณะพราหมณ์ ยัญญะพราหมณ์ ธุชพราหมณ์ โภชพราหมณ์ สุทัตตพราหมณ์ สุยามพราหมณ์ และโกณฑัญญะพราหมณ์ ในบรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้น ๗ คนข้างต้นเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว และที่มีอายุน้อยที่สุดคือโกณฑัญญะพราหมณ์
เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ พิจารณาตามตำรามหาปุริสลักษณะแล้วต่างก็ทำนายออกมา ในลักษณะ ๒ ประการคือ

- ถ้าพระโอรสอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต

- ถ้าพระโอรสออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกในโลก

แต่มีพราหมณ์โกฑฑัญญะพราหมณ์คนเดียวเท่านั้นที่ชูนี้เพียงนิ้วเดียวแล้วพยากรณ์ว่า พระโอรสจักได้เป็นศาสดาเอกในโลก ดังนั้นเมื่อทำนายลักษณะแล้วพราหมณ์ทั้งหมดก็ได้ทำการขนานพระนามพระโอรสว่า สิทธัตถะกุมาร แปลว่า ผู้มีประโยชน์ยิ่งใหญ่สำเร็จ
ฝ่ายพราหมณ์เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ได้สั่งบุตรของตนเองหากตนเองไม่ไม่โอกาสได้เห็นพระกุมารหรือสิ้นบุญไปก่อน หากพระกุมารออกบวชก็ขอให้บุตรได้ออกบวชตามด้วย เพื่อจะได้รู้ธรรมที่ท่านได้ค้นพบ

Home

Next : Page 2 >>

 
 
หน้าแรก I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I มงคลชีวิต ๓๘ ประการI การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

&Non; Copyright 2002. Buddhamamaka. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

Hosted by www.Geocities.ws

1