หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I
มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

มงคลหมู่ที่ ๑

- ไม่คบคนพาล
- คบบันฑิต
- บูชาบุคคลที่ควรบูชา

มงคลหมู่ที่ ๒

- อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
-
มีบุญวาสนามาก่อน
- ตั้งตนชอบ
มงคลหมู่ที่ ๓
- เป็นพหูสูต
-
มีศิลปะ
- มีวินัย
- มีวาจาสุภาษิต
มงคลหมู่ที่ ๔
- บำรุงบิดามารดา
-
เลี้ยงดูบุตร
- สงเคราะห์ภรรยา (สามี)
- ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคลหมู่ที่ ๕
- บำเพ็ญทาน
-
ประพฤติธรรม
- สงเคราะห์ญาติ
- ทำงานไม่มีโทษ
มงคลหมู่ที่ ๖
- งดเว้นจากบาป
-
สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
- ไม่ประมาทในธรรม
มงคลหมู่ที่ ๗
- มีความเคารพ
-
มีความถ่อมตน
- มีความสันโดษ
- มีความกตัญญู
- ฟังธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๘
- มีความอดทน
-
เป็นคนว่าง่าย
- เห็นสมณะ
- สนทนาธรรมตามกาล
มงคลหมู่ที่ ๙
- บำเพ็ญตบะ
-
ประพฤติพรหมจรรย์
- เห็นอริยสัจ
- ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคลหมู่ที่ ๑๐

- จิตไม่หวั่นในโลกธรรม
-
จิตไม่โศก
- จิตปราศจากธุลี
- จิตเกษม

 

มงคลคาถาที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์

ระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ข้อ ๕-๖
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล
ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

[๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา-บิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑ นี้เป็นอุดมมงคล

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัย ในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

จบมงคลสูตร

มงคลคาถาที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์

มงคลข้อที่ ๓๒ ได้แก่ การประพฤติพรหมจรรย์ คือหมายถึง การประพฤติปฏิบัติ พรหมจรรย์ ๑๐ ได้แก่
๑ ความสามารถแห่งทาน
๒ ความสามารถแห่งเวยยาวัจจนะ คือ การขวนขวาย
๓ ความสามารถในเบญจศีล
๔ ความสามารถในอัปปมัญญา คือหมายความว่า ปราศจากความกำหนัด
๕ ความสามารถในเมถุนวิรัติ หมายถึง เว้นจากกาม
๖ สทารสันโดษ คือ ความพอใจในเฉพาะภรรยาตน
๗ วิริยะ หมายถึง ความเพียร ๔
๘ ความสามารถในองค์อุโบสถ หมายถึง รักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์
๙ หมายถึง ความสามารถในอริยมรรค ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๑๐ หมายถึง ความสามารถในศาสนา คือ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นั่นคือ การประพฤติธรรม หรือการประพฤติพรหมจรรย์ ๑๐

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

"ชาวสวนชาวไร่ หลังจากถางป่าเผาหญ้าแล้ว ต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ที่ต้องการลงไป ก่อนที่หญ้าจะกลับระบาดขึ้นใหม่ฉันใด คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะทำความเพียรเผากิเลสจนเบาบางลงแล้ว ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ ลงในใจ
ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น ก่อนที่กิเลสจะฟูกลับขึ้นใหม่อีกฉันนั้น"

ประพฤติพรหมจรรย์ คืออะไร ?
การประพฤติพรหมจรรย์ แปลว่า การประพฤติตัวเองอย่างพระพรหมหรือความประพฤติอันประเสริฐ หมายถึงการประพฤติตนตามคุณธรรมต่างๆ ทั้งหมดในศาสนาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูกลับขึ้นมาอีกจนกระทั่งหมดกิเลสซึ่งต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามภูมิชั้นของจิต

ภูมิชั้นของจิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า จิตของคนเราอาจแบ่งภูมิชั้นได้เป็น ๔ ระดับ ตามการฝึกฝนตนเอง คือ

๑.กามาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ยังยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่ ได้แก่ ภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป

๒.รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์มีความสุขความพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน
ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกสมาธิมามากจนกระทั่งใช้รูปฌาน เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจกามารมณ์ อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรม
ซึ่งเป็นสุขประณีตกว่า กามารมณ์ เป็นเหมือนพระพรหมบนดิน ละจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นรูปพรหม

๓.อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์มีความสุข อยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน ได้แก่ ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌาน มีความสุขที่ประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลนี้ไปก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม

๔.โลกุตตรภูมิ เป็นชั้นที่พ้นโลกแล้ว ได้แก่ ภูมิจิตของผู้หมดกิเลสแล้ว คือ พระอรหันต์ มีความสุขล้วนๆ ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง

ทั้ง ๔ ภูมินี้ รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

โลกียภูมิ ได้แก่ ๑.กามาวจรภูมิ
๒.รูปาวจรภูมิ
๓.อรูปาวจรภูมิ

โลกุตตรภูมิ ได้แก่ ๔.โลกุตตรภูมิ
ในชั้นโลกียภูมินั้น ก็มีสุขมีทุกข์คละเคล้ากันไป และมีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ ผู้ที่อยู่ในอรูปาวจรภูมิ

ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ประมาท อาจตกลงมาอยู่ชั้นกามาวจรภูมิก็ได้ ผู้อยู่ชั้นกามาวจรภูมิ

ถ้าตั้งใจทำสมาธิอาจเลื่อนไปอยู่รูปาวจรภูมิหรืออรูปาวจรภูมิได้ เลื่อนไปเลื่อนมาได้ไม่แน่นอน
และในชั้นโลกียภูมินี้ ถึงจะมีความสุขก็สุขอย่างโลกีย์ก็ยังมีทุกข์ระคนอยู่ เหมือนอย่างที่เราเจอกัน
มีลูกมีครอบครัวก็คิดว่าจะสุข พอมีจริงก็มีเรื่องกลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ สุขเหมือนนึกระหว่างหน้าร้อน
ก็คิดว่าหน้าฝนจะสุข พอถึงหน้าฝนก็หวังว่าหน้าหนาวจะสบาย เลยไม่ทราบว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

พระท่านเปรียบความสุขทางโลกียภูมินี้ว่าเหมือนพยับแดด เราคงเคยเจอกัน ในหน้าร้อนพอมองไปบนถนนไกลๆ จนเห็นพยับแดดระยิบระยับ อยู่ในอากาศเต็มไปหมด หรือเห็นเหมือนมีน้ำอยู่บนผิวถนน แต่พอเข้าใกล้ไปดูกลับไม่เห็นมีอะไร

สุขทางโลกีย์ก็เหมือนกันหวังไว้แต่ว่าจะเจอสุขแต่พอเจอเข้าจริงกลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป

ด้วยเหตุนี้จิตของคนที่ตกอยู่ในโลกียภูมิ ทางศาสนาท่านจึงใช้คำว่า "สังสารจิต" แปลว่า จิตวิ่งวุ่น
วิ่งสับสนวนไปเวียนมาจะวิ่งไปไหนล่ะ?
ก็วิ่งตะครุบสุขนะสิ แต่สุขโลกีย์มันเป็นสุขกลับกลอกหลอกหลอน จิตก็เลยกลับกลอกไปด้วย ประการสำคัญคือ สุขโลกีย์มันหนีได้
พอเราจะทันมันก็หนี เมื่อมันหนี เราก็ตาม แล้วก็ตามไม่ทันสักที

และที่สำคัญจิตที่วิ่งวุ่นสับสน มีโอกาสพลาดพลั้งได้ง่ายเหมือนคนวิ่งวุ่นสับสนนั้นแหละ
มีหวังหกล้มตกหลุมตกบ่อเข้าจนได้ จิตก็เหมือนกันวิ่งไล่จับความสุขหัวซุกหัวซุน คนที่ระวังไม่ดีหกล้มเข้าคุกเข้าตะรางก็เยอะ
ถลำลงนรกอเวจีก็มาก

อุปมาความสุขในโลกียภูมิทั้ง ๓ ขั้นได้ดังนี้

กามาวจรภูมิ เป็นสุขขั้นต่ำ ยังยุ่งเกี่ยวกับกาม สุขเหมือนเด็กเล่นขี้เล่นดิน

รูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาหน่อย สุขเหมือนคนมีงานมีการที่ถูกใจทำ เพลิดเพลินไป

อรูปาวจรภูมิ เป็นสุขที่สูงขึ้นมาอีก สุขเหมือนพ่อ แม่ ครู อาจารย์ ที่เห็นลูกซึ่งตนเลี้ยงดู อบรมมา มีความเจริญก้าวหน้า

หรือเห็นงานการที่ตนทำสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชื่นชมผลงานของตน

ในศาสนาอื่นๆ นอกเหนือจากพระพุทธศานา อย่างสูงที่สุดก็สอนให้คนเราพัฒนาจิตได้ถึงขั้นอรูปารมณ์เท่านั้น เช่น
ศาสนาพราหมณ์ ก็สอนให้คนมุ่งเป็นพระพรหม ยังวนเวียนอยู่ในโลกียภูมิขึ้นๆ ลงๆ
แต่พุทธศาสนาเรา สอนให้คนมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิ เข้าพระนิพพาน

ความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์
ความมุ่งหมายสุดยอดของการประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา คือ ให้ตัดโลกียวิสัย ตัดเยื่อใยทุกๆ อย่าง
เพื่อมุ่งหน้าสู่โลกุตตรภูมิและอย่างแรกที่ต้องทำก่อน คือ ตัดกามารมณ์ แล้วจึงตัดรูปารมณ์ อรูปารมณ์ไปตามลำดับ
สำหรับพวกเราปุถุชนทั่วๆ ไป สิ่งสำคัญที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาจิต และทำให้กิเลสฟูกลับขึ้นได้ง่ายที่สุดก็คือกามารมณ์

ถ้าใครตัดกามารมณ์ได้ก็มีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว
การประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ จึงมุ่งเน้นการตัดกามารมณ์เป็นหลัก
เราลองมาดูถึงอุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

อุปมาโทษของกาม
๑.กามเปรียบเหมือนสุนัขหิวแทะท่อนกระดูกเปื้อนเลือด ยิ่งแทะยิ่งเหนื่อย ยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก ไม่เต็มอิ่มพลาดท่าแทะพลาดไปถึงฟันหักได้
พวกเราก็เหมือนกกันที่หลงว่ามีคู่รักแล้ว แต่งงานแล้วจะมีสุข
พอมีเข้าจริงไม่เห็นจะสุขจริงสักราย ต้องมีเรื่องขัดใจให้ตะบึงตะบอนกัน ให้กลุ้มใจให้ห่วงกังวล
ทั้งห่วง ทั้งหวง ทั้งหึง ไม่เว้นแต่ละวันที่หนักข้อถึงกับไปกระโดดน้ำตาย หรือผูกคอตายเสียก็มากต่อมาก พอจะมีสุขบ้างก็ประเดี๋ยวประด๋าว
พอให้มันๆ เค็มๆ เหมือนสุนัขแทะกระดูก

๒.กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา แร้ง กา หรือเหยี่ยวตัวอื่นก็จะเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแต่ตัว ผู้อื่นแย่งชิงได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา จึงอาจต้องเข่นฆ่ากันเป็นทุกข์แสนสาหัส เราลองสังเกตดูก็แล้วกัน
ที่มีข่าวกันอยู่บ่อยๆ ทั้งฆ่ากัน ชิงรักหักสวาทน่ะ หรือรอบๆ ตัวมีบ้างไหม ที่กว่าจะได้แต่งงานกันก็ฝ่าดงมือฝ่าดงเท้าเสียแทบตาย
ถูกตีหัวเสียก็หลายที พอแต่งแล้วก็ยังไม่แน่เดี๋ยวใครมาแย่งไปอีกแล้ว ยิ่งสวยเท่าไรยิ่งหล่อเท่าไร ยิ่งอันตราย

๓.กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลงเดินทวนลมไป ไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็โดนไหม้มือระหว่างเดินก็ถูกควันไฟรมหน้าต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่คนเราที่ตกอยู่ในกามก็เหมือนกัน
ต้องทนรับทุกข์จากกามทำงานงกๆ หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจลูกจะเรียนที่ไหนดี จะเกเรหรือเปล่า
เมียจะนอกใจไหมเดี๋ยวก็มีเรื่องขัดใจกัน เสร็จแล้วก็ไม่ใช่จะได้อยู่ด้วยกันได้ตลอด เดี๋ยวอ้าว! รถชนตายเสียแล้ว อ้าวเป็นมะเร็งตายเสียแล้ว หรือเผลอประเดี๋ยวเดียวก็ต้องแก่ตายกันเสียแล้วไม่ได้อยู่กันไปได้ตลอดหรอก เหมือนคบเพลิงหญ้าถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้ง

๔.กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิตทั้งๆ ที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็สาหัสแต่ก็แปลกเหมือนมีอะไรมาพรางตาไว้ เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป พระท่านสอนที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ก็เชื่อท่านหรอก
แต่พอออกนอกวัดเจอสาวๆ สวยๆ หนุ่มรูปหล่อเข้า ลืมเสียแล้ว เวลาจะแต่งงานก็คิดถึงแต่ความสวยความหล่อ ความถูกใจหาได้มองเห็นไปถึงความทุกข์อันจะเกิดจากกามเกิดจากชีวิตการครองเรือนไม่

๕.กามเปรียบเหมือนความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพ แต่ไม่นานก็ผ่านไป
พอตื่นขึ้นก็ไม่เห็นมีอะไร เหลือไว้แต่ความเสียดาย คนเราที่จมอยู่ในกามก็เหมือนกัน แรกๆ
ก็คุยกันกะหนุงกะหนิง น้องจ๊ะน้องจ๋าอยู่กันไม่นานพูดคำด่าคำเสียแล้ว งานก็มากขึ้นเป็น ๒-๓ เท่าไม่เห็นสุขเหมือนที่คิดฝันไว้ กามเหมือนความฝัน พวกเราจะเป็นคนเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ หรือจะเป็นคนยืนอยู่บนความจริง ตั้งใจฝึกฝนตนเองปฏิบัติธรรมกันล่ะ

๖.กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดงก็ดูโก้เก๋ดี ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจ ได้เพียงชั่วคราวไม่เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไรก็เอาคืนเมื่อนั้น ตัวเองก็ได้แต่ละห้อยหา
พวกเราก็เหมือนกันไปได้แฟนสวยแฟนหล่อมาก็ภูมิใจไปไหนๆ ใครๆ ก็ทักว่าคู่นี้สมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ยืดเสียอกตั้งทีเดียว เผลอประเดี๋ยวเดียว อ้าวผู้หญิงกลายเป็นยายแร้งทึ้งไปเสียแล้ว ผู้ชายไหงหัวล้านพุงพลุ้ยเสียแล้ว นี่ความหล่อความสวยมันถูกธรรมชาติถูกเวลาทวงกลับเสียแล้ว พวกเราจะไปหลงโง่งมงายอยู่กับของขอยืมของชั่วคราวแบบนี้หรือเปล่า

๗.กามเปรียบเหมือนต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมาเมื่อเขาอยากได้ผล จะด้วยวิธีไหนเอาทั้งนั้น ปีนได้ก็ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นเลย ใครอยู่บนต้นลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆ ก็แข้งขาหัก พวกเราก็เหมือนกันบางคนคงเคยเจอมาแล้ว
เที่ยวไปจีบคนโน้นคนนี้ ยังไม่ทันได้มาเลยถูกเตะต่อยมาบ้าง ถูกตีหัวมาบ้าง ได้แต่บ่นรู้อย่างนี้ นอนอยู่บ้านดีกว่า นี่เหมือนผลไม้ในป่า ยิ่งดกยิ่งสวย แล้วก็ระวังเถอะจะเจ็บตัว

๘.กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตให้ถูกสับ เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลาย ทั้งกายและใจ เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีดที่สับเนื้อจนเป็นรอยแผลนับไม่ถ้วน

๙.กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้ว ที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นเป็นไม่มีเหมือนหอกหลาวที่เสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนาอย่างนั้น

๑๐.กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมากต้องมีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจปลงใจได้สนิท
วางจิตให้โปร่งไม่ได้ เป็นที่หวาดเสียวมาก อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ

ทั้งหมดนี้ คือ อุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้
ความจริงแล้วยังมีอีกมาก นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

เมื่อเราเห็นกันแล้วว่ากามมีโทษมากมายถึงปานนี้ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่มีแฟน ยังไม่ได้แต่งงานรีบฝึกสมาธิเข้ามากๆ
ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อไรใจเราสงบ ความสว่างภายในบังเกิดขึ้น เราก็มีสุขที่เหนือกว่ากามสุขอยู่แล้ว ความคิดที่จะมีคู่ก็หมดไปเอง ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ถึงกับต้องหย่ากันหรอกนะเอาเพียงแค่ อย่าไปมีเมียน้อย อย่าไปมีใหม่ อย่าไปหาอะไหล่มาเสริมก็แล้วกัน
แล้วก็หาเวลารักษาศีล๘เสียบ้างด้วย เราลองมาดูวิธีประพฤติพรหมจรรย์กัน

วิธีประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี
พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔
พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย

หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ และปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนาให้เต็มที่
พรหมจรรย์ทุกขั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบวช

เราชาวพุทธนิยมบรรพชาอุปสมบทกันเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จัดเป็นการฝึกประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผลดียิ่งวิธีหนึ่ง
จึงควรที่พวกเราจะได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการบวชไว้บ้าง ดังนี้

๑.อายุขณะบวช พวกเราถ้ามีเวลาควรหาโอกาสบรรพชาเป็นสามเณรกันสักช่วงหนึ่งระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปี เพราะช่วงนี้ภาระยังน้อย ยังไม่ค่อยมีกังวลจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเร็วหรือไม่เช่นนั้นก็ควรหาเวลาที่เหมาะสมในการบวชพระเมื่อายุ ๒๐-๒๕ ปี
หรือเวลาอื่นที่สะดวก แต่ไม่ควรรอจนอายุมากเกินไป เพราะสังขารจะไม่อำนวย จะลุกจะนั่งจะฝึกสมาธิก็ไม่สะดวก
ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีอายุมากแล้วมักจะมีทิฐิว่ายากสอนยาก เหมือนไม้แก่ดัดยาก

๒.ระยะเวลาที่บวช อาจบวชในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือบวชภาคฤดูร้อน ๑-๒ เดือน บวชในเวลาที่สะดวกลางานได้
หรือบวชตลอดชีวิตก็ได้ แต่ควรบวชนานกว่า ๑ เดือนจะได้มีเวลาศึกษาธรรมวินัยพอสมควร

๓.การเลือกสำนักบวช ข้อนี้สำคัญมาก การบวชจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับสำนักบวชนี่เอง
การเลือกจงเลือกสำนักที่มีการกวดขันการประพฤติธรรมและกวดขันพระวินัย สำนักที่ดี
พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะมีการอบรมสั่งสอนพระใหม่อย่างใกล้ชิด มีการให้โอวาทเคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติธรรมจนน่ารำคาญ
อย่างนี้ดี ส่วนสำนักไหนปล่อยปละละเลย บวชแล้วไม่มีใครสนใจปล่อยให้อยู่ตามสบาย
บางทีตั้งแต่บวชจนสึกพระใหม่ไม่ได้สนทนาธรรมกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ป่วยการบวช ที่เราบวชก็มุ่งจะฝากตัวให้ท่านอบรม ให้ท่านไม่เอาใจใส่เราจะบวชทำไม กุศลไม่ใช่อยู่ที่ผ้าเหลืองเท่านั้น

๔.การรักษาวินัย ต้องคิดไว้เสมอว่า เราจะเป็นพระได้เพราะวินัยถ้าถอดวินัยออกจากตัวเสียแล้วแม้จะโกนผมนุ่งผ้าเหลืองก็ไม่ใช่พระ
นอกจากจะไม่ใช่พระแล้วชาวพุทธยังถือว่าผู้นั้นเป็นโจรปล้นศาสนาอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาพระวินัยและรักษาโดยเคร่งครัด ไม่อย่างนั้น สึกออกมาแล้วจะมาเสียใจจนตายว่าบวชเสียผ้าเหลืองเปล่าๆ

๕.การปฏิบัติธรรม ควรใช้เวลาทั้งหมดในการศึกษาธรรมวินัยและทำสมาธิ ศึกษาธรรมะ งดคุยเฮฮาไร้สาระ

๖.การสงเคราะห์สังคม พระบวช ๓ เดือน ควรถือประโยชน์ตนเป็นใหญ่ การช่วยเหลืองานหมู่คณะให้ทำแต่พอควร เรามีเวลาน้อยต้องรีบศึกษาและปฏิบัติธรรมการช่วยเหลือส่วนรวมไว้สึกแล้วมาช่วยก็ยังได้ ถ้าจะสงเคราะห์ญาติโยม ยังไม่ต้องไปเทศน์โปรดเพราะความรู้ธรรมะก็ยังไม่มากพอ เอาเพียงแต่ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี บิณฑบาตก็ให้เป็นระเบียบ จะเดินจะเหิน มีกิริยาสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ให้ญาติโยมเขาได้เห็นเป็นตัวอย่างในการมีวินัย และความสำรวมตนก็พอ

อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์
๑.ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือระแวง
๒.ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยในอากาศ
๓.ทำให้มีเวลามากในการทำความดี
๔.ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย
๕.ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ
๖.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย "

กามทั้งหลายมีโทษมาก มีทุกข์มาก มีความพอใจน้อย เป็นบ่อเกิดแห่งความทะเลาะวิวาทกัน
ความชั่วเป็นอันมากเกิดขึ้นเพราะกามเป็นเหตุ..."

(พุทธพจน์)

จบงคลคาถาที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์

อ่านหน้าต่อไป

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1