โรค แมลงศัตรู และปัญหาต่างๆที่พบ

Home

ถิ่นกำเนิดและนิเวศวิทยาของพืชตระกูลส้ม

พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกส้ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และลักษณะประจำพันธุ์

การปลูกส้ม

สภาพสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตส้ม

โรค แมลงศัตรู และปัญหาอื่นๆที่พบ

การขยายพันธุ์

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

สภาวะการตลาด

 

          เนื่องจากส้มเป็นพืชที่มีปัญหาศัตรูรบกวนมากเมื่อเทียบกับบรรดาไม้ผลในบ้านเราทุกชนิดจนกล่าวได้ว่าความสำเร็จในการปลูก
ส้ม อยู่ที่การจัดการศัตรูส้มอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะต้องควบคู่ไปกับการจัดการองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย เช่น การ
เลือกทำเลปลูกระบบปลูก ต้นตอ ทรงพุ่ม ดิน น้ำและการระบายน้ำ ธาตุอาหาร เป็นต้น 
แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคแมลงที่สำคัญ          
           1. การใช้สารเคมี วิธีนี้นับเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติมากที่สุด  และหากต้องการให้ได้ประสิทธิผลดีเกษตรกรก็ควรจะ
ต้องรู้ และเข้าใจถึงวิธีการใช้ช่วงเวลาที่สมควรทำการพ่นสาร กล่าวคือ เราจะต้องทราบว่าในช่วงใดของการเจริญเติบโตที่ต้นส้มจะถูก
รบกวนจากโรคและแมลงชนิดใด ดังนั้นชาวสวนจึงต้องเลือกใช้สารเคมีที่ตรงกับชนิดของศัตรูพืชและใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมช่วงใด
ที่ไม่มีการระบาดก็สามารถงดการใช้สารเคมีได้ อันจะเป็นการลดต้นทุนในการผลิตลงและยังเปิดโอกาสให้แมลงที่เป็นตัวห้ำตัวเบียน          
หรือศัตรูธรรมชาติของ แมลงศัตรูพืชสามารถเพิ่มปริมาณขึ้นได้
           2. การใช้วิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management ; IPM) วิธีการนี้เป็นการรวมเอาวิธีการและเทค
โนโลยีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายๆวิธีเข้าด้วยกันร่วมกับการเขตกรรมหรือการจัดการสวนที่เหมาะสม โดยจะมีการใช้สารเคมีเฉพาะ
กรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น วิธีการนี้ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและนิยมปฏิบัติกันแพร่หลายในแหล่งผลิตส้มที่สำคัญเกือบทั่วโลก
           3. การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบชีววิธี (Biocontrol) วิธีการนี้จะใช้หลักให้สิ่งมีชีวิตควบคุมศัตรูพืชด้วยกันเอง  เช่น การใช้แมลงตัว
ห้ำและตัวเบียน การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma)  ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต่อเชื้อราไฟทอฟธอราที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่า
โคนเน่าที่เกิดขึ้นกับส้มในบ้านเรา เป็นต้น
           สำหรับวิธีการปฏิบัติที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตส้มในบ้านเราก็คือ วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือ IPM ทั้ง
นี้เนื่องจากต้นส้มมีศัตรูพืชอยู่หลายชนิดที่สำคัญและทำความเสียหายให้กับส้มโดยเฉพาะโรคกรีนนิ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อคล้ายแบคทีเรียและม
ีเพลี้ยไก่แจ้ส้มเป็นพาหะ โรคทริสเตซ่า  ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและมีเพล้ยอ่อน 2 - 3 ชนิดเป็นพาหะ เมื่อต้นส้มได้รับเชื้อโรคที่สำคัญดังกล่าว
แล้วจะไม่สามารถรักษาได้ ดังนั้นการป้องกันกำจัดโดยใช้วิธีผสมผสานซึ่งมีทั้งการปฏิบัติวิธีต่างๆ ร่วมกับการใช้สารเคมีจะมีประสิทธิภาพดี
กว่าวิธีการป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีเพียวอย่างเดียวหรือใช้วิธีการแบบชีววิธีซึ่งใช้หลักการแมลงควบคุมแมลง  ซึ่งในกรณีนี้หากต้นส้ม
ได้รับเชื้อไปแล้วแม้จะมีการกำจัดแมลงพาหะในภายหลังก็ไม่สามารแก้ไขอะไรได้แล้ว
โรคส้มที่สำคัญของส้ม และการป้องกันกำจัด
โรคที่เกิดจากเชื้อรา
- โรครากเน่า และโคนเน่า (Root rot and Phytophthora foot rot)
           โรครากเน่าและโคนเน่าจัดเป็นโรคที่รุนแรงและทำความเสียหายให้กับส้มมากที่สุดโรคหนึ่ง โดยเฉพาะโรครากเน่าและโคนเน่าที่
เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา ทั้งนี้เนื่องจากเป็นโรคที่ป้องกันกำจัดได้ยาก เชื้อราสาเหตุของโรคนี้อาศัยอยู่ในดินและน้ำ สามารถแพร่ระบาด
ได้อย่างกว้างขวาง โดยติดไปกับน้ำที่ใช้ในการรด นอกจากเชื้อราไฟทอฟธอราแล้ว โรครากเน่าและโคนเน่าของส้มยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ
ได้เช่น เกิดจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ดินมีความร้อนจัด พิษจากสารเคมีหรือแม้แต่การใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธีก็สามารถทำให้เกิดอาการรากเน่า
และโคนเน่าได้เช่นกัน
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการทำลายของเชื้อราไฟทอฟธอรา (Phytophthora   parasitica Dastur)
           การแพร่ระบาด : เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคอาศัยอยู่ในดินและน้ำ แพร่กระจายโดยติดไปกับดินหรือส่วนของส้มที่เป็นโรค และสปอร์
ซึ่งเป็นหน่วยขยายพันธุ์ของเชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับน้ำที่ไหลผ่านรากหรือโคนต้นที่เป็นโรคทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังแหล่ง
อื่นๆได้  พบโรคนี้ระบาดรุนแรงมากในส้มที่ปลูกแบบยกร่อง ส่วนโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆซึ่งไม่ใช่เชื้อเป็นโรคที่ไม่มี
การแพร่กระจาย
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - ดินแน่นและมีน้ำขังไม่สะดวกต่อการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำ
           - สภาพต้นส้มอ่อนแอต่อการเกิดโรค เช่น ส้มติดลูกมากเกินไป รากหรือโคนต้นเกิดบาดแผล  ต้นส้มขาดการดูแลรักษา หรือเกิดจาก
การให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป
           - สำหรับโรครากเน่าและโคนเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรานั้นพบว่า โรคระบาดได้รุนแรงยิ่งขึ้นในสวนส้มที่ค่อนข้างทึบ บริเวณ
ทรงพุ่มมีความชื้นสูงมาก
           ลักษณะอาการ : ส้มเจริญไม่เต็มที่ ไม่ค่อยแตกใบ และบางครั้งอาจพบอาการใบอ่อนเหี่ยวคล้ายขาดน้ำ ใบเหลืองตรงบริเวณเส้นกลาง
ใบ ใบร่วงกิ่งแห้งตายจากปลาย ผลส้มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและอาจร่วง  เมื่อขุดรากดูพบว่ารากเน่าเป็นสีน้ำตาลแดงหรืออมส้ม เหนียว ไม่ยุ่ย 
สำหรับต้นส้มใหญ่ (อายุ 5 - 6 ปีขึ้นไป) บางครั้งอาจพบอาการเปลือกปริแตกตามบริเวณโคนต้น ส่วนเปลือกมักมีสีคล้ำ ค่อนข้างฉ่ำน้ำและอาจ
พบอาการยางไหลตรงบริเวณรอยแผลนั้น เมื่อถากส่วนเปลือกออกดูจะพบว่าเปลือกเน่าและยุ่ยมีแผลสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดงตรงบริเวณเนื้อ
โคนต้น หากปล่อยให้ลุกลามจะทำให้ต้นทรุดโทรมยากต่อการรักษาและป้องกันการระบาดของโรค นอกจากนี้หากเชื้อราไฟทอฟธอราซึ่งทำให้
เกิดอาการรากเน่าและโคนเน่านี้ติดไปกับหยดน้ำหรือถูกลมพัดพาไปยังใบ ดอก และผลที่อยู่บนกิ่งล่างๆใกล้ระดับดินหรือใกล้กับบริเวณแผล
โคนเน่า เชื้อราจะทำลายใบอ่อนหรือใบเพสลาด  ทำให้เกิดอาการเน่าหรือไหม้เป็นวงกลมสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำตรงบริเวณกลางใบ ขอบ
ใบหรือปลายใบ ทำให้หลุดร่วงได้ หากเกิดบนยอดอ่อน ยอดอ่อนนั้นจะเน่าแห้งเป็นสีดำ ถ้าส้มอยู่ในระยะมีดอก เชื้อราอาจเข้าทำลายดอกทก
ให้ดอกเน่าแห้ง และหากเชื้อราเข้าทำลายผลที่โตแล้วโดยเฉพาะผลแก่ในระยะ "เข้าสี" ผลจะเน่าเป็นสีน้ำตาลแล้วลุกลามเป็นแผลเน่าวงกลม
หรือเน่าทั้งผล  อาจมีเส้นใยและสปอร์สีขาวของเชื้อราไฟทอฟธอราเจริญอยู่บนแผลดังกล่าว ผลที่เกิดแผลเน่าจะร่วงเป็นจำนวนมาก  เรียก
อาการเกิดกับใบ ดอก และผลนี้ว่าโรคใบไหม้ ดอกเน่า และผลเน่า (brown  rot) พบโรคดังกล่าวนี้บนส้มเขียวหวาน มะกรูด และมะนาวตาฮิติ
           การป้องกันกำจัด
           - สำหรับสวนส้มที่ปลูกใหม่และปลูกแบบยกร่อง ควรยกร่องไปตามแนวทิศเหนือ - ใต้ เพื่อให้ส้มได้รับแสงแดดพอสมควรเมื่อเป็นต้น
ส้มใหญ่แล้ว และไม่ควรปลูกส้มให้ลึกมากนัก บริเวณหลังร่องหรือกลางร่องสูงกว่าขอบร่องพอสมควร
           - ในการใส่ปุ๋ยเพื่อการปรับปรุงสภาพดิน โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยคอกซึ่งจะช่วยทำให้ดินโปร่งและมีสภาพดีขึ้นต้องระมัดระวังอย่าใช้ปุ๋ย
ใหม่ อย่าใส่มากเกินไป และอย่าใส่ใกล้โคนต้น
           - ในการใส่ปุ๋ยไม่ควรให้มีปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป
           - บำรุงต้นส้มให้แข็งแรง อย่าปล่อยให้ติดลูกจนมากเกินไป ระมัดระวังเรื่องการพรวนดิน การกำจัดวัชพืช อย่าให้รากหรือโคนต้นเป็น
แผลเท่าที่จะทำได้
           - ตัดแต่งทรงพุ่มต้นส้มโดยเฉพาะกิ่งที่อยู่ระดับดินควรตัดออกบ้าง เพื่อให้โคนต้นไม่รกทึบ ให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึงโคน
ต้น ในฤดูฝนควรกำจัดวัชพืชหรือตัดให้สั้น หากโคนต้นหรือกลางร่องมีระดับต่ำควรทำร่องระบายน้ำเล็กๆระหว่างโคนต้นและร่องน้ำบริเวณ
ของร่องทั้งสอง
           - ปรับสภาพความเป็นกรดของดินโดยใช้ปูนมาร์ลปีละ 1 -2 ครั้ง 
           - โรยผงผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาบนดินบริเวณทรงพุ่มต้นส้ม
           - หากพบว่าโรคเริ่มระบาดและแน่ใจว่าเกิดจากเชื้อไฟทอฟธอราไม่ได้เกิดเนื่องจากสาเหตุอื่น  ควรรีบทำการแก้ไขต้นที่เป็นโรคดัง
กล่าวพร้อมๆกับป้องกันการระบาดของโรค  โดยการปรับปรุงสภาพของต้นส้มและแปลงปลูก และฉีดพ่นด้วยสารเคมี ได้แก่ โฟซีธิล อาลูมิเนียม 
หรือ มีทาแลคซิล ในอัตราและวิธีการตามคำแนะนำของสารแต่ละชนิด จนต้นส้มฟื้นจากอาการของโรค
           - ต้นส้มที่โตแล้วมักจะแสดงอาการที่ส่วนของโคนต้น ซึ่งทำให้เกิดอาการโคนเน่าเป็นแผลเน่าช้ำ เปลือกแตกและยางไหล ให้ใช้มีดที่
สะอาดและคมเฉือนถากส่วนที่เป็นโรคออกให้หมดหรือออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนต้นส้มมากนัก  แล้วใช้จุนสีผสม
ปูนขาวในอัตราส่วน 1:1 แล้วผสมน้ำและสีทาไม้พอให้เป็นแป้งเปียก ทาบริเวณรอยแผลให้ทั่ว สารเคมีอื่นๆที่ใช้ได้ผลดีได้แก่ คอปเปอร์ออก
ซีคลอไรด์   คอปเปอร์ออกไซด์ แคปตาโฟล โฟซีธิล มีทาแลคซิล ผสมน้ำให้เข้ากันข้นๆแล้วทาบริเวณเนื้อไม้ทาซ้ำทุกๆ  5 หรือ 7 วัน อย่างน้อย 
3 ครั้งหรือจนกว่าแผลจะแห้ง
           - เก็บรวบรวมใบ ดอก ยอดอ่อนและผลที่เป็นโรค ทั้งที่อยู่บนต้นและร่วงบนดินทำลายโดยการเผา เพื่อลดแหล่งของเชื้อราและการแพร่
ระบาดของโรค
           - หากเป็นโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดเนื่องจากน้ำท่วมขังราก ควรรีบทำการระบายน้ำออกให้เร็วที่สุดเพื่อให้ดินทีการถ่ายเทอากาศ  
เช่น การขุดร่องระบายน้ำเล็กๆจากบริเวณโคนต้นหรือทรงพุ่ม หรือการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น กากถั่ว ขุยมะพร้าว ปรับปรุงสภาพดินปลูก ในกรณี
ที่อาการรากเน่าและโคนเน่าเกิดเนื่องจากความเค็มจากปุ๋ยหรือปุ๋ยคอกทำให้ดินแฉะอุ้มน้ำมากเกินไป ควรรีบถากคุ้ยปุ๋ยหรือปุ๋ยคอกนั้นออก
จากบริเวณทรงพุ่มของต้นส้มโดยระมัดระวังอย่าให้รากบริเวณทรงพุ่มกระทบกระเทือนมากเกินไปงดการให้น้ำ 2 -3 วันเพื่อให้ดินบริเวณทรง
พุ่มแห้ง ปฏิบัติดูแลจนกว่าต้นส้มจะฟื้นจากอาการของโรค
           - ต้นที่เป็นโรคหรือทรุดโทรมมากควรขุดเผาทำลาย แล้วราดดินบริเวณนั้นด้วยสารเคมีชนิดดังกล่าวข้างต้นโดยใช้ในอัตราส่วนสำหรับ
การฉีดพ่นหรือตามคำแนะนำ ปล่อยดินตากแดดประมาณ 2 - 3 เดือน จึงปลูกแซม ทาบริเวณโคนต้นที่ปลูกแซมด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา
โดยรอบสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1 ฟุต
- โรคเมลาโนส (Melanose)
           โรคเมลาโนสเป็นโรคส้มกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอาการคล้ายกัน ได้แก่ โรคเมลาโนส (melanose) โรคกรีสซีเมลาโนส (greasy melanose) โรคใบ
ปื้นเหลืองหรือแต้มเหลือง(greasy spot) และโรคสตาร์เมลาโนส หรือ เมลาโนสรูปดาว (star melanose)  โรคในกลุ่มนี้พบระบาดในสวนส้มบ่อย
มาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ผลผลิตลดลง ในแหล่งปลูกส้มบริเวณภาคกลางสามารถพบโรคส้มในกลุ่มนี้ได้ตลอดปีโดยระ
บาดรุนแรงในส้มเขียวหวาน  ส้มตรา ส้มโอและมะนาว จะพบในส้มต้นโตหรือมีอายุมากกว่าในส้มต้นเล็กหรือเพิ่งปลูก  โรคเมลาโนส โรคกรีส
เมลาโนส และโรคใบปื้นเหลืองหรือแต้มเหลือง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ส่วนโรคสตาร์มาเลโนสหรือมาเลโนสรูปดาวนั้นสาเหตุคือ การฉีดพ่น
สารเคมีพวกสารประกอบทองแดงในอัตราที่เข้มข้นเกินไป  ฉีดบ่อยเกินไป
           สาเหตุของโรค : โรคเมลาโนสเกิดเนื่องจากเชื้อราโฟมอปสีส Phomopsis citri  (imperfect stage) หรือเชื้อราไดอะพอธี Diaporthe citri 
(Fawc.) Wolf (perfect  stage) 
           โรคกรีสเมลาโนสเกิดเนื่องจากเชื้อราเซอร์คอสปอรา Cercospora citri (imperfect stage) หรือเชื้อราไมโคสฟีเรลลา Mycosphaerella 
citri (perfect stage)  หรือเชื้อราเซอร์คอสปอรา Cercospora sp. (imperfect stage) หรือเชื้อราไมโคสฟีเรลลา  Mycosphaerella horii (perfect 
stage)
           โรคใบปื้นเหลืองเกิดจากเชื้อราเซอร์คอสปอรา Cercospora sp. หรือเชื้อราคล้ายยีสต์  (yeast-like organisms)
           ส่วนโรคสตาร์เมลาโนส เกิดจากการฉีดพ่นสารเคมีพวกสารประกอบของทองแดง ในอัตราที่เข้มข้นเกินไป,  บ่อยเกินไป เพื่อกำจัด
และรักษาโรคเมลาโนส สารประกอบของทองแดงจะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของแผลของโรคเมลาโนสในระยะแรก ทำให้แผลของโรคเมลา
โนสขยายโตขึ้น แข็งและแตกในภายหลัง 
           การแพร่ระบาดของโรค : สำหรับโรคเมลาโนสซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรานั้น โรคแพร่ระบาดโดย สปอร์ซึ่งเชื้อราสร้างขึ้นปลิวไปกับลม
 ติดไปกับน้ำหรือน้ำฝนหรือติดไปกับกิ่งพันธุ์
           ส่วนโรคสตาร์เมลาโนสเป็นโรคที่ไม่แพร่ระบาดยกเว้นในกรณีที่ยังคงใช้สารประกอบของทองแดงเพื่อรักษาหรือกำจัดโรคเมลาโนส
อย่างผิดวิธี
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค : โรคเมลาโนสกลุ่มนี้เข้าทำลายส้มในระยะใบอ่อน  เริ่มปรากฏอาการเมื่อใบส้มอยู่ในระยะ
เพสลาดและอาการชัดเจนเมื่อใบเจริญเติบโตเต็มที่จึงพบโรคระบาดรุนแรงมากในฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงระยะปลายฤดู ในสวนส้มที่ขาดการ
ดูแลรักษามักพบโรคนี้เสมอๆ
           โรคสตาร์เมลาโนส พบในสวนส้มที่มีการระบาดของโรคเมลาโนสและมีการใช้สารประกอบของทองแดงเพื่อป้องกันกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี
หรือใช้เป็นเวลานานติดต่อกัน
           ลักษณะอาการ : โรคเมลาโนสสามารถเข้าทำลายส้มได้ทั้งที่ใบ กิ่ง และผล โดยทำให้เกิดอาการดังนี้ คือ อาการบนใบเริ่มแรกเป็นแผล
จุดขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด สีน้ำตาลอ่อน  ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆสีน้ำตาลดำล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง มักเกิดทางด้านใต้ใบเรียง
กันเป็นวงๆหรือกระจายทั่วๆไป เมื่อใบแก่จุดเหล่านี้จะนูนขึ้น สากมือคล้ายกระดาษทราย ในระยะนี้จุดแผลจะมีรูปร่างต่างๆกันไป ขนาดประ
มาณ 0.5 - 1 มม. สีน้ำตาลดำและมักไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ แผลจะปรากฏทั้งสองด้านของใบ ส้มที่เป็นโรคนี้รุนแรงใบจะเหลืองหรืออาจบิด
เบี้ยวและร่วงหล่นก่อนกำหนด
           อาการบนกิ่ง แผลเริ่มแรกจะคล้ายกับแผลบนใบ แต่เมื่อมากขึ้นแผลจะแตกสะเก็ดนูน และกิ่งแห้งตายในที่สุด ส่วนบนผลจะมีลักษณะ
แผลเหมือนที่เกิดบนใบเช่นเดียวกันคือ ระยะแรกแผลเป็นจุดขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาแผลจะนูนเด่นชัดขึ้น สีน้ำตาลดำสากมือคล้ายกระ
ดาษทราย  และแผลเกิดรูปร่างต่างๆกัน เช่น รอยแผลอาจเป็นสีน้ำตาลเป็นทางยาวจากขั้วผลลงมาประมาณกลางผล รอยแผลดังกล่าวเรียกว่า
รอยเปื้อนน้ำหมากหรือแผลน้ำหมาก (tear-stain) ทั้งนี้เนื่องมากจากน้ำค้างหรือน้ำฝนไหลลงมาพาเอาเชื้อสาเหตุลงมาเป็นทาง ผลที่ถูกทำลาย
มักมีขนาดเล็ก ผิวกร้านและมักร่วงก่อนสุก
           สำหรับโรคกรีสซีเมลาโนสจะปรากฏอาการเด่นชัดบนใบ โดยการทำลายของเชื้อสาเหตุมักเริ่มต้นในขณะเป็นใบอ่อน มีลักษณะเป็นจุด
ใสเล็กๆทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดนูนสีเหลือง  สีเหลืองปนเขียวหรือสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นมัน จุดนูนเริ่มขยายใหญ่มีสีน้ำ
ตาลหรือดำ  และลุกลามขยายใหญ่ขึ้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ไม่ระคายมือเหมือนโรคเมลาโนส เมื่อเป็นมากๆใบจะเหลืองและ
ร่วงก่อนกำหนด ทำให้ต้นส้มทรุดโทรม ผลผลิตลดลง
           โรคใบปื้นเหลืองหรือโรคใบแต้มเหลือง อาการจะปรากฏเด่นชัดที่ใบส้มเขียวหวาน  มีลักษณะเหลืองเป็นรอยแต้มหรือเป็นแถบทั้งบน
ใบและใต้ใบมีตุ่มเล็กๆเป็นจุดนูนมันสีครีมหรือน้ำตาลอ่อนขนาด 1 - 2 มม. ลักษณะเป็นมันอยู่จำนวนมาก โรคนี้ทำให้ใบร่วงและกิ่งมักแห้งตาย
           ส่วนโรคสตาร์เมลาโนสหรือเมลาโนสรูปดาว เป็นโรคที่เกิดขึ้นในที่ที่พบโรคเมลาโนสเกิดขึ้นและมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา
ไม่ถูกต้อง ปกติโรคนี้ไม่ทำให้เกิดความเสียหายมากนักยกเว้นกรณีที่เกิดแผลบนผลส้ม อาการที่ใบและผลคล้ายกันคือ แผลแตกเป็นสะเก็ด
มีลักษณะเป็นแฉกรูปดาวหรือรูปร่างไม่แน่นอน สีน้ำตาล ขนาดของแผลมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ที่ใบส้มพบอาการของโรคได้ทั้งด้าน
บนใบและใต้ใบ โดยปกติแผลแตกจะเกิดบนใบตรงจุดที่เกิดโรคเมลาโนส
           การป้องกันกำจัด
           - ตัดแต่งกิ่งกระโดงหรือกิ่งภายในทรงพุ่มออกให้มีการระบายอากาศที่ดี
           - บำรุงต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
           - หากพบโรคเริ่มระบาด ควรเก็บใบส้มที่เป็นโรคทำลาย ตัดแต่งกิ่งแห้งออกให้หมดเพื่อลดปริมาณของโรคและป้องกันการแพร่ระบาด           
           - ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราฉีดพ่นเป็นครั้งคราว เช่น ในระยะใบอ่อนหรือเมื่อจำเป็นตลอดปี  การใช้สารประกอบของพวกทองแดง เช่น 
คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ บอร์โดมิกเจอร์  เป็นต้น ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในฤดูฝน ควรใช้ในระยะก่อนฤดูฝนและก่อนเกิดโรคเมลาโนส            
เพราะหากเกิดแผลของโรคเมลาโนสแล้วอาจทำให้เกิดการขยายของแผลกลายเป็นโรคสตาร์เมลาโนสได้
           - ในกรณีที่เป็นโรคสตาร์เมลาโนส ให้หยุดการใช้สารประกอบของทองแดงทันที ควบคุมและกำจัดโรคเมลาโนสด้วยสารเคมีป้องกัน
กำจัดเชื้อราประเภทอื่นจนกว่าโรคเมลาโนสจะหยุดการแพร่ระบาด
           - พ่นสารเคมีเป็นครั้งคราวในระยะใบอ่อน เช่น ซีเนบ แมนโคเซบ หรือ แคปแทน
           - หากพบการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยสารเคมีในกลุ่มคาร์เบนดาซิม เบโนมิล คลอโรทาโลนิล โปรปิเนบ ไทแรม หรือ ไตรโฟไรน์
- โรคสแค็บ (Scab)
           ส้มซึ่งปลูกในต่างประเทศบางประเทศหลายพันธุ์อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุของโรคสแค็บ จึงจัดโรคนี้เป็นโรคที่รุนแรง
โรคหนึ่ง สำหรับพันธุ์ส้มซึ่งปลูกในประเทศไทย เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มตรา มีความต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุได้ดีพอสม
ควร  โรคนี้จึงพบการแพร่ระบาดน้อย ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจน้อย พันธุ์ส้มที่พบโรคนี้ คือ ส้มจีน เลมอน มะกรูด และพันธุ์ส้ม
เปรี้ยวบางชนิดที่ปลูกเพื่อใช้เป็นต้นตอ
           สาเหตุของโรค : โรคสแค็บเกิดจากเชื้อรา สฟาซีโลมา Sphaceloma fawcetti (Tenk.) B.&T. (imperfect stage) หรือเชื้อรา อีลสิโน
 Elsinoe fawcetti  Bitancourt Jenkins (perfect stage) 
           การแพร่ระบาดของโรค : เกิดขึ้นโดยสปอร์ของเชื้อราสาเหตุปลิวแพร่กระจายไปกับลม หรือติดไปกับน้ำ นอกจากนี้โรคสามารถแพร่
ระบาดได้โดยติดไปกับกิ่งพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - พันธุ์ส้มที่มีความอ่อนแอต่อโรค ได้แก่ ส้มจีน เลมอน มะกรูด และส้มตอพันธุ์บางชนิด
           - ส้มในระยะใบอ่อนและผลอ่อน หรือผลมีขนาดเล็ก หรือในสภาพอุณหภูมิต่ำเล็กน้อยและความชื้นสูง โรคนี้จึงพบระบาดมากในฤดูฝน
           ลักษณะอาการ : อาการที่พบคล้ายกับโรคแคงเกอร์ แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ในระยะแรกเป็นจุดใสเล็กๆ โดยแผลจะนูนขึ้นด้าน
หนึ่งของใบและเป็นรอยบุ๋มเล็กน้อยอีกด้านหนึ่งของใบ  ต่อจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นแผลนูนแข็งขนาดประมาณ 0.5 - 2.0 มม. มีสีเหลืองอ่อนหรือ
น้ำตาลอ่อน  ต่อมาแผลจะตกสะเก็ดคล้ายแผลหูดมีสีน้ำตาลหรือสีเหลืองปนเทา ใบมีสีซีดแคระแกร็นและบิดเบี้ยว และบางแผลอาจทำให้บุ๋ม
เป็นรูปกรวย ขนาดของแผลบนกิ่งมักใหญ่กว่าแผลบนใบ บางครั้งอาจพบยางไหลจากแผล ทำให้กิ่งแคระแกร็น ตายได้ง่ายและเร็วกว่าปกติ   
ส่วนผลที่เป็นโรคจะมีลักษณะปุ่มปมเป็นแผลตกสะเก็ดคล้ายหูด ขรุขระ แผลอาจเกิดกระจัดกระจายหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มผลมักแคระแกร็น
และบิดเบี้ยว
           การป้องกันกำจัด
           - เลือกกิ่งตอนที่ปราศจากโรคมาปลูก
           - ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค นำออกจากแปลงปลูกแล้วเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
           - ตัดแต่งทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออก เพื่อทำให้ทรงต้นโปร่ง  ควบคุมกำจัดวัชพืชบริเวณทรงพุ่มออกเพื่อลดความชื้น
และการเข้าทำลายของเชื้อโรค
           - พ่นสารเคมีในช่วงที่ผลส้มมีอายุ 50 - 60 วัน โดยใช้สารในกลุ่มสารประกอยทองแดง  ซีเนบ แคปแทน หรือ แมนโคเซบ
           - หากพบโรคเข้าทำลายผลอ่อน ให้เก็บผลนั้นออกจากแปลง ห้ามทำการรดน้ำขึ้นยอด  และควรพ่นสารเคมีในกลุ่มของเบโนมิล คลอ
โรทาโลนิล หรือ โปรปิเน็บ ตามอัตราที่แนะนำทุก 7 - 10 วัน โดยพ่นประมาณ 2 - 3 ครั้ง
- โรคแอนแทรคโนสและใบจุด (Anthracnose  and Leaf spot)
           โรคแอนแทรคโนสและโรคใบจุดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่มีอาการคล้ายกัน พบโรคนี้กับส้มเขียวหวาน ส้มตรา และส้มโอ เดิมทำให้
เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อการปลูกส้มไม่มาก  แต่ปัจจุบันพบโรคนี้ระบาดเกือบทุกแปล่งที่มีการปลูกส้ม
           สาเหตุของโรค : โรคแอนแทรคโนสเกิดจากเชื้อราคอลเลทโตตริคัม Colletotricum  gloeosporiodes Penz. ส่วนโรคใบจุดเกิดจากเชื้อ
ราฟิลโลสติคตา Phyllosticta  sp. 
           การแพร่ระบาดของโรค : เชื้อราสาเหตุของโรคแอนแทรคโนสและฏรคใบจุดเป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสปอร์ขนาดเล็กจำนวนมากใน
ที่สร้างสปอร์ซึ่งเป็นจุดสีดำเล็กๆบนแผล เมื่อสปอร์แก่จุดสีดำเล็กๆนี้จะแตกและสปอร์สามารถปลิวแพร่ระบาดไปกับลม หรือติดไปกับน้ำ น้ำฝน 
นอกจากนี้โรคยังสามารถแพร่ระบาดได้เช่นเดียวกันกับโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่นๆ  คือ ติดไปกับกิ่งพันธุ์
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค : โรคนี้พบว่าเกิดระบาดมากในฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นสูงและอุณหภูมิค่อนข้างสูง
           ลักษณะอาการ : โรคแอนแทรคโนสสามารถทำลายส้มได้ทั้งบนใบและผล โดยเชื้อราสาเหตุจะเข้าทำลายใบส้มที่กำลังเจริญเติบโตเต็ม  
ที่และปรากฏอาการชัดเจนบนใบแก่เป็นแผลไหม้ แผลมีรูปร่างกลมจนถึงรูปร่างไม่แน่นอน สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลไหม้ กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน 
แผลมักแห้งและมีจุดสีดำเล็กๆจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป ขอบแผลไม่เรียบ นูน และเป็นมันกว่ากลางแผลเล็กน้อย มองดูคล้ายกับกลางแผล
มีลักษณะบุ๋มลงไป และจะพบแผลลักษณะเดียวกันนี้บนผลแต่ขนาดของแผลสามารถลามขยายได้ยาว ใหญ่กว่าและส่วนมากมักพบแผลเป็น
แนวยาวจากบริเวณขั้วผลลงไป
           ส่วนโรคใบจุดเป็นโรคที่เกิดบนใบ พบว่าเป็นกับส้มโอมากกว่าเป็นกับส้มอื่นๆ พันธุ์ส้มโอที่พบโรคนี้ ได้แก่ พันธุ์ขาวพวง ขาวแป้น 
ทองดี และปัตตาเวีย และมักเป็นกับใบแก่ แผลปรากฏเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อพืชรอบๆแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง           
ขนาดและรูปร่างแผลไม่แน่นอน บริเวณกลางแผลพบจุดสีดำขนาดเล็กมากกระจายอยู่ทั่วไป ใบเป็นโรคจะร่วงเร็วกว่าปกติ ทำให้ต้นทรุด
โทรมได้
           การป้องกันกำจัด           
           - เลือกกิ่งตอนหรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่เป็นโรค
           - หากพบอาการในระยะแรกให้ตัดแต่งส่วนหรือกิ่งที่เกิดโรค นำออกจากแปลงปลูกเผาทำลายเพื่อลดการระบาดของโรค
           - ในฤดูฝนควรมีการฉีดพ่นสารเคมีในกลุ่มสารประกอบทองแดง แคปแทน ซีเนบ หรือแมนโคเซบบ้างเป็นครั้งคราว
           - ฉีดพ่นสารเคมีชนิดดูดซึม เช่น เบโนมิล หรือ คาร์เบนดาซิมเพื่อควบคุมโรค
- โรคยางไหลของส้ม (Citrus gummosis)
           อาการยางไหลซึ่งพบในพืชตระกูลส้ม ได้แก่ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มตรา ส้มจุกและมะนาว มักเกิดกับลำต้นหรือกิ่งใหญ่ๆของต้นส้ม
ที่โตแล้ว ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ผู้ปลูกเป็นอย่างมาก  เนื่องจากกิ่งหรือต้นที่เป็นโรคแสดงอาการทรุดโทรมไม่เจริญเติบโต หรือแสดง
อาการแห้งตาย  ทำให้ผลผลิตลดน้อยลงและมีคุณภาพต่ำกว่าปกติ ส้มโอที่พบอาการยางไหลมาก คือ พันธุ์ขาวพวงและพันธุ์ทองดี ส้มโอที่เกิด
อาการยางไหลเหล่านี้มักอายุสั้นกว่าปกติมาก (อายุ 9 - 10ปีเท่านั้น)
           สาเหตุของโรค : 
           1. เกิดจากเชื้อราดิพโพลเดีย (Diplodia sp.) หรือเชื้อราโบไทรโอดิพโพลเดีย  (Botrodiplodia sp.) 
           2. อาจเกิดจากการขาดธาตุอาหาร ได้แก่ ธาตุโบรอน และ ธาตุทองแดง
           3. เกิดบนบาดแผลเนื่องจากแมลงเจาะหรือกัดกิน
           4. เกิดเนื่องจากโรคทริสเตซ่าและโรคโคนเน่า
           การแพร่ระบาดของโรค : โรคยางไหลซึ่งเกิดเนื่องจากการทำลายของเชื้อดิพโพลเดีย หรือ โบไทรโอดิพโพลเดีย และโรคโคนเน่าเนื่อง
จากเชื้อราไฟทอฟธอราสามารถเกิดการแพร่ระบาดได้โดยสปอร์ของเชื้อราติดไปกับยางที่ไหลออกมา  ติดไปกับหยดน้ำที่กระเด็นจากแผล 
เครื่องมือทางการเกษตร และกิ่งตอนหรือกิ่งพันธุ์เป็นโรค
           โรคยางไหลซึ่งเกิดจากการขาดธาตุอาหารหรือเกิดจากแผลซึ่งแมลงเจาะหรือกัดกินเป็นอาการของโรคที่ไม่มีการระบาด
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค
           - สวนส้มที่มีการระบายน้ำไม่ดี หรือเป็นที่ลุ่ม-ต่ำ น้ำท่วม
           - บริเวณทรงพุ่มและโคนต้นรกทึบ แดดส่องไม่ทั่วถึง
           - สภาพอากาศมีความชื้นสูง อุณหภูมิสูงเล็กน้อยโดยเฉพาะในฤดูฝน
           - บาดแผลเนื่องจากสาเหตุอื่นหรือโรคอื่น
           ลักษณะอาการ : โรคยางไหลนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ เกิดจากเชื้อรา เกิดเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร เกิดเนื่องจากแมลง
กัดหรือเจาะ แผลเนื่องจากการถูกเครื่องมือทางการเกษตร และเกิดเนื่องจากโรคอื่นๆ เช่น โรคทริสเตซ่า และโรคโคนเน่า โดยมีรายละเอียด
ของอาการแตกต่างกันไปดังนี้
           อาการยางไหลเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลาย ส้มแสดงอาการมียางไหลออกมาจากลำต้นและกิ่งก้านโดยเฉพาะที่โคนต้นสูงจากดินประมาณ 
1 - 2 ฟุต และกิ่งใหญ่ๆ อาการเริ่มแรกเปลือกต้นส้มจะมีสีดำเป็นรอยช้ำ แผลมีขนาดเล็ก ต่อมาขยายขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นเปลือกเกิดการ
ปริแตกออกมียางไหลออกมาจากแผล เปลือกเริ่มเน่า แผลลุกลามขยายใหญ่โตขึ้นและเชื้อจะทำลายลามเข้าไปถึงเนื้อไม้ ยางที่ไหลออกมาใหม่ๆ
มีสีเหลืองอ่อนๆและเหนียว เมื่อถูกลมและแดดจะแห้งเป็นก้อนเกาะติดกับแผลบนเปลือกไม้ สีเหลืองเข้ม สีส้ม จนเป็นสีน้ำตาล ยางที่เกาะเป็น
ก้อนจะแห้งแข็งแต่เปราะ ในขณะที่แผลลุกลามขยายออกมายางจะไหลมากขึ้นและแห้งกรังอยู่ใต้แผล ในฤดูฝนซึ่งพบอาการยางไหลแบบนี้มาก
ในตอนเช้าหรือหลังจากฝนตกใหม่ๆ  อาจไม่พบยางเหนียวที่ไหลออกมา จะพบแต่เพียงแผลเน่าช้ำสีดำหรือสีน้ำตาลแฉะๆซึ่งอาจมียางไหลออก
มาบ้าง แต่มีสีอ่อนและไม่ค่อยเหนียว สำหรับเปลือกที่เป็นแผลเน่าช้ำ จะลุกลามเน่ามากขึ้น เปลือกบริเวณเหนือแผลและใต้แผลปริแตกมากขึ้น
เป็นแนวยาวตามความยาวของลำต้นหรือกิ่ง  มียางไหลออกมาตามรอยปริและแผลเน่าลุกลามออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดต้นหรือกิ่งที่เป็นโรคจะ
ตาย  ส่วนแผลที่ปริแตกเน่าหละมียางไหล เมื่อเฉือนเอาส่วนเปลือกออก พบว่าเนื้อไม้และเปลือกเป็นสีน้ำตาล  ส่วนที่เริ่มเป็นโรคจะมีสีส้มหรือ
น้ำตาลอ่อน หากสังเกตุจะพบว่าเนื้อไม้ที่ถูกทำลายมีบริเวณกว้างกว่าบาดแผลภายนอกที่เห็น หากปล่อยจนเชื้อลุกลามเข้าทำลายเนื้อไม้แล้วจะ
รักษาโรคนี้ได้ยากหรือไม่มีทางรักษาได้เลย
           นองจากลำต้นและกิ่งแล้ว เชื้อราที่ทำให้เกิดยางไหลนี้สามารทำลายผลส้มทำให้ผลส้มเน่า อาการนี้มักพบบนผลส้มโฮพันธุ์ทองดี ทั้งผล
แก่ใกล้เก็บเกี่ยวที่อยู่บนต้นและผลหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยเกิดแผลจุดเน่าช้ำสีน้ำตาลขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มักเกิดกับขั้วผล ต่อจากนั้น
แผลเน่าจะลุกลามขยายมากขึ้นจนเน่าทั้งผล ในกรณีที่เกิดกับผลที่อยู่บนต้น ผลส้มจะหลุดร่วง มักพบจุดสีดำเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กๆบนแผลเน่า 
หากเก็บผลที่เกิดแผลเน่านั้นไว้ 2 - 3 วัน และผ่าผลส้มตรงบริเวณรอยแผลเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงภายในผลจะพบว่ารอยแผลเน่านั้นลุกลาม
เข้าไปภายในผลได้
           หากอาการยางไหลนั้นเกิดเนื่องจากการขาดธาตุอาหาร เช่น ธาตุโบรอน (B) และธาตุทองแดง (Cu) จะสังเกตได้ว่าส้มเกิดยางไหลตาม
ลำต้นและกิ่งก้านทั่วๆไปไม่จำกัดที่และไม่มีบาดแผลสีน้ำตาลดำ  อาจพบเพียงรอยแตกปริของเปลือกขนาดเล็กๆแล้วจึงมียางไหลออกมา แผล
ที่ยางไหลออกมาแล้วไม่ขยายลุกลาม  นอกเสียจากว่ามีเชื้อเข้าทำลายซ้ำเติมตามรอยปริเล็กๆนั้น
           สำหรับยางไหลที่เกิดเนื่องจากมีแมลงเจาะกัดกิน สังเกตได้โดยบริเวณที่มียางไหลจะมีร่องรอยของการเจาะกัดกิน หรือทำลายของแมลง 
หรืออาจมีสิ่งขับถ่ายติดปะปนอยู่กับยาง
           ส่วนมะนาวและส้มเขียวหวานที่เป็นโรคทริสเตซ่ารุนแรงอาจแสดงอาการยางไหลจากเปลือกของลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ได้เช่นเดียว
กัน  หากแต่บริเวณที่เกิดยางไหลนั้นไม่เกิดบนแผลเน่าช้ำหรือมีรอยปริแตกแต่อย่างใด  เมื่อเปิดเปลือกลำต้นหรือกิ่งตรงบริเวณยางไหล จึง
ไม่พบบาดแผลในลักษณะเดียวกันกับแผลที่พบในอาการยางไหลซึ่งเกิดจากเชื้อรา ในขณะที่อาการยางไหลเนื่องจากโรคโคนเน่าซึ่งเกิดจาก
เชื้อไฟทอฟธอรานั้นจะมียางไหลออกมาจากหลายๆจุดพร้อมๆกัน ไม่ได้ไหลออกมาจากรอยปริแตก
           การป้องกันกำจัด
           - ดูแลปฏิบัติต่อต้นส้มให้ถูกต้องตามหลักวิธีของการตัดแต่งทรงพุ่ม บำรุงรักษาสภาพต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม
           - ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค ตัด เฉือน ถากส่วนเปลือกของกิ่งและต้นที่เป็นโรค รวบรวมและนำออกไปเผาทำลาย จากนั้นทาแผลด้วยสาร
ป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารประกอบของทองแดงบอร์โดมิกเจอร์ กำมะถันผสมปูนขาวอย่างดี และสารป้องกันกำจัดเชื้อราทั่วๆไป  โดยผสม
น้ำข้นมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก
           - ต้นที่เป็นโรคมากและรุนแรงจนแผลลุกลามเข้าถึงเนื้อไม้หรือเป็นโรคโดยรอบลำต้นรักษาได้ยากหรือไม่สามารถรักษาได้ เพราะถ้า
เฉือนถากบาดแผลจะต้องเฉือนลึกหรือเฉือนรอบลำต้น  ต้นส้มอาจตายได้หรือแม้อยู่รอดก็ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า ควรขุดออกและเผาทำลาย  
ปรับปรุงดินบริเวณนั้นแล้วจึงปลูกซ่อมแซม
           - โรคยางไหลที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร สามารถรักษาได้โดยการฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมให้ทางใบ เพราะต้นส้มที่ให้ผลผลิตแล้วมี
ความต้องการแร่ธาตุอาหารหลายชนิดเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต
           - อาการยางไหลซึ่งเกิดจากบาดแผลต่างๆ หรือเกิดจากแผลที่แมลงเจาะ กัดกินควรรีบรักษาและป้องกันบาดแผลนั้นจากการเข้าทำลาย
ซ้ำของเชื้อราหรือกำจัดแมลงซึ่งเจาะหรือกัดกินกิ่งและต้นส้มก่อน  แล้วจึงรักษาบาดแผลด้วยการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราทา เช่นเดียวกัน
กับข้อที่ 2 
           - อาการยางไหลเนื่องจากโรคโคนเน่า ให้ดูแลรักษาเช่นเดียวกับโรคโคนเน่า
           - โรคยางไหลซึ่งเกิดเนื่องจากเชื้อราดิพโพลเดียหรือโบไทรโอดิพโพลเดีย สามารถป้องกันและรักษาได้โดย ทาบริเวณโคนต้นด้วยสาร
ป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น พวกสารประกอบของทองแดง  กำมะถันผสมปูนขาวอย่างดี หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดอื่นๆ การทาโคนต้นควร
ทาก่อนฤดูฝนครั้งหนึ่งและหลังฤดูฝนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่เป็นโรคไม่มากหรือโรคเริ่มระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น พวก
สารประกอบของทองแดง เบโนมิล แคปทาโฟล แคปแทน แมนโคเซบ มาเนบ ซีเนบ  คาร์เบนดาซิม ฯลฯ เป็นต้น ฉีดพ่นทุกๆ 7 - 10 วันจน
สามารถควบคุมโรคได้
- ราดำ (Sooty mold)
           ราดำ (sooty mold) เกิดเนื่องจากเชื้อราสีดำเจริญขึ้นปกคลุมผิวใบ กิ่ง  และผล บนน้ำหวานที่แมลงปากดูดถ่ายออกมา พบในส้มเกือบ
ทุกชนิดในแหล่งปลูกส้มทั่วๆไป  เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางอ้อม เช่น ทำให้ใบส้มสังเคราะห์แสง สร้างอาหารได้น้อยลง ใบสกปรก
และกระด้าง ถ้าเกิดกับผลทำให้ผลสกปรกไม่สวย  นอกจากนี้บริเวณที่เกิดราดำปกคลุมยังเป็นที่หลบซ่อนของแมลงศัตรูส้มอีกด้วย
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อราเมลิโอลา Meliola sp. หรือ แคปโนเดียม Capnodium  citri B. & Pesm.
           การแพร่ระบาด : ราดำเป็นเชื้อที่สามารถแพร่ระบาดจากต้นหนึ่งไปยังต้นอื่นๆ โดยเส้นใยและสปอร์ปลิวไปกับลม เมื่อตกลงบนน้ำ
หวานที่แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ถ่ายออกมา เชื้อราก็จะเจริญขึ้นปกคลุมเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้น
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา
           - แปลงปลูกค่อนข้างรกทึบ ขาดการปฏิบัติดูแลที่ถูกต้อง เช่น การกำจัดวัชพืช  การตัดแต่ง ทำให้ต้นส้มมีสภาพอ่อนแอไม่แข็งแรง
           - การไม่ฉีดสารป้องกันกำจัดเชื้อราและแมลง ฉีดพ่นน้อยครั้งเกินไปหรือฉีดพ่นไม่เหมาะสมกับสภาพและฤดูกาล
           ลักษณะอาการ : ราดำสามารถเจริญขึ้นปกคลุมได้ทั้งบนใบ ผล และกิ่งก้านส้ม โดยเกิดอยู่บนน้ำหวานที่แมลงปากดูดถ่ายออกมา 
แมลงปากดูดเหล่านี้ ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และแมลงหวี่ขาง เป็นต้น ซึ่งแมลงศัตรูส้มที่เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ            
อาการแรกเริมของราดำ คือ จุดขนาดเล็กมีสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลดำ ต่อมาเชื้อราเจริญลุกลามเป็นจุดใหญ่มีการสร้างเส้นใยและสปอร์ขึ้นแผ่
ปกคลุม  ลักษณะเป็นผงละเอียดเกาะติดแน่นบนเนื้อเยื่อพืช หากใช้นิ้วมือหรือมีดขูดออกเบาๆเชื้อราดำจะหลุดลอกออกเป็นแผ่น บริเวณที่
ถูกปกคลุมจะมีสีเหลืองถึงเหลืองซีด เนื่องจากเชื้อราบดบังแสงแดดทำให้พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ ถ้าเกิดมากๆอาจทำให้ส้มแคระแกร็น ใน
ระยะที่ส้มให้ผลอาจทำให้ผลส้มร่วงก่อนกำหนด
           การป้องกันกำจัด
           - หากราดำเริมเจริญหรือพบราดำไม่มาก ให้ควบคุมและกำจัดโดยการตัดแต่งส่วนที่มีราดำแล้วเผาทำลาย
           - สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคราซึ่งใช้กับส้มโดยปกติทั่วๆไป สามารถใช้ควบคุมเชื้อนี้ได้  แต่ถ้าพบราดำเกิดมากๆอาจใช้สาร
เคมีชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มเบโนมิล หรือผสมกับสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งในกลุ่มแมนโคเซบ  เป็นต้น
           - การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงปากดูด เช่น คาร์บาริล ไดเมทโธเอท มาลาไธออน โมโนโครโตฟอส เป็นต้น 
สามารถลดปริมาณราดำลงได้
- ราสีน้ำตาล (Brown felt or Felt  fungus)
           ราสีน้ำตาลเป็นเชื้อราที่มีความเป็นอยู่คล้ายราดำ โดยปกติเป็นเชื้อราที่อาศัยบนแมลงหรืออยู่ปะปนกับแมลงซึ่งอยู่บนพืช หรือทำให้
แมลงเป็นโรคมากกว่าที่จะอาศัยหรือเจริญเติบโตบนเซลล์พืชโดยตรง ในกรณีของต้นส้ม พบว่า ราสีน้ำตาลสามารถเจริญเติบโตขึ้นปกคลุม
บนใบ กิ่ง ลำต้น และผล ทำให้ส่วนต่างๆนั้นสกปรก ผลไม่สวย ส้มสังเคราะห์แสงได้น้อยลง หากเป็นมากอาจทำให้ต้นส้มทรุดโทรม
           สาเหตุ : เกิดจากเชื้อราเซปโตเบสีเดียม Septobasidium sp.  การแพร่ระบาด : ราสีน้ำตาลนี้แพร่ระบาดโดยเส้นใยและสปอร์ ซึ่งเชื้อ
ราสร้างขึ้นปลิวไปกับลม  ติดไปกับแมลงหรือกิ่งพันธุ์ของส้ม
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา : พบเชื้อนี้บนส้มมากในฤดูฝน โดยเฉพาะในแปลงปลูกส้มที่รกทึบ ขาดการดู
แลรักษาหรือขาดการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง
           ลักษณะอาการ : เชื้อราสำน้ำตาลสร้างเส้นใยและสปอร์เจริญเป็นแผ่นขึ้นปกคลุมบนใบ กิ่ง ลำต้น และผล มีลักษณะเป็นแผ่นคล้าย
กำมะหยี่หรือหนังหุ้มสีน้ำตาล ทำให้ทุกส่วนของต้นส้มซึ่งถูกปกคลุมมกปรก อาจเป็นที่หลบซ่อนของแมลงศัตรูอื่นๆ ปกติแล้วเชื้อราสีน้ำตาลนี้
มักขึ้นปะปนกับเพลี้ยหอย
           การป้องกันกำจัด
           - ดูแลตัดแต่งกิ่งหรือส่วนที่มีเชื้อรา นำออกมานอกแปลงปลูกแล้วเผาทำลาย เป็นวิธีที่สามรถช่วยลดปัญหานี้ลงได้อย่างมาก
           - ดูแลปฏิบัติต่อต้นส้มและสภาพแปลงปลูกให้เหมาะสมดูกต้องในเรื่องการตัดแต่งทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดด
ส่องได้ทั่วถึงไม่แน่นทึบ บำรุงรักษาต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่เหมาะสม
           - ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คูปราวิท อัตรา 40 กรัม หรือ ซานต้าเอ  อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
- โรคราสีชมพู (Pink disease)
           โรคราสีชมพูเป็นโรคส้มที่เกิดเนื่องจากการทำลายของเชื้อรา เป็นกับส้มหลายชนิดเช่น  เม็กซิกันไลม์ มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ 
และพันธุ์ส้มที่นำมาจากต่างประเทศหลายพันธุ์  โรคนี้สามารถพบได้เสมอๆในแปลงปลูกส้มที่มีความชื้นค่อนข้างสูง หรือมีการปฏิบัติดูแลไม่
ถูกต้อง เช่น ทรงพุ่มรกทึบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก วัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่นและไม่ค่อยมีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อราคอร์ติเซียม (Corticium salmonicolor Berk & Br.)
           การแพร่ระบาดของโรค : เชื้อราสาเหตุเป็นราที่เจริญได้ดีในสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง สามารถสร้างสปอร์ที่ปลิว
แพร่กระจายไปกับลม ดิน หรือส่วนของกิ่งพันธุ์ที่เป็นโรคได้
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - สภาพแปลงปลูกที่ขาดการปฏิบัติดูแลที่ถูกต้อง เช่น ทรงพุ่มรกทึบ วัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น  ต้นส้มขาดการดูแลรักษา
           - มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราน้อยครั้งเกินไป หรือไม่มีการฉีดพ่นเลย
           - สภาพภูมิอากาศขณะอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นสูง
           ลักษณะอาการ : เชื้อราสาเหตุของโรคเป็นราที่อาศัยและทำลายบนส่วนเปลือกของกิ่งหรือลำต้นส้ม ทำให้กิ่งหรือลำต้นแห้งตายเป็น
สีน้ำตาล กิ่งหรือลำต้นที่เริ่มเป็นโรคจะมีใบเหลือง เหี่ยว และร่วงง่าย คล้ายกับอาการซึ่งเกิดเนื่องจากโรคยางไหลหรือเกิดจากการเจาะทำลาย
กิ่งของแมลง  แต่ถ้าดูที่กิ่งหรือลำต้นนั้นแล้วจะไม่พบอาการยางไหลหรือมูลของแมลง จะพบเชื้อราสีชมพูเกิดและเจริญอยู่บนเปลือกตรงส่วน
ที่เป็นแผลแห้งคล้ายกัยรอยป้ายด้วยปูนแดงหรือปูนกินหมาก เมื่อเฉือนเปลือกดูอาจพบอาการเปลือกช้ำเป็นสีน้ำตาลดำ ส่วนด้านในของ
เปลือกมีอาการเป็นจุดฉ่ำน้ำจุดเล็กๆ  หรือลุกลามเป็นแผลใหญ่ บางครั้งเชื้อราอาจลุกลามจากกิ่งที่เป็นโรคไปสู่กิ่งอื่นๆ หรือลำต้น ทำให้เกิด
อาการแห้งตายพร้อมๆกันหลายๆกิ่งได้
           การป้องกันกำจัด
           - ดูแลปฏิบัติต่อต้นส้มและสภาพแปลงปลูกให้เหมาะสมดูกต้องในเรื่องการตัดแต่งทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่อง
ได้ทั่วถึงไม่แน่นทึบ บำรุงรักษาต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่เหมาะสม
           - ตัดแต่งกิ่งหรือส่วนที่เป็นโรคเผาทำลายเพื่อลดปริมาณของเชื้อสาเหตุ
           - ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คูปราวิท อัตรา 40 กรัม หรือ ซานต้าเอ อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- โรคแคงเกอร์ หรือ โรคขี้กลากของส้ม (Canker)
           โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้มเกิดขึ้นและรู้จักกันมานานว่าเป็นโรคซึ่งร้ายแรงที่สุดอีกโรคหนึ่งพบระบาดกว้างขวางในหลายประเทศ 
ปัจจุบันพบการระบาดของโรคแคงเกอร์อย่างกว้างขวางในทุกแหล่งที่มีการปลูกส้มของประเทศไทย  พันธุ์ส้มซึ่งเป็นโรคแคงเกอร์รุนแรงมาก
ที่สุด ได้แก่ มะนาว ส่วนมะกรูด  ส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยง ส้มโอ และส้มที่ใช้เป็นตอพันธุ์ เช่น ส้มคลีโอพัตรา ส้มสามใบ แม้จะเป็นโรคนี้ไม่รุน
แรงเท่ามะนาวแต่ก็ล้วนอ่อนแอต่อโรคทั้งสิ้น  ดังนั้นหากเกษตรกรคิดขยายการปลูกส้มให้กว้างขวางออกไป หรือมีการสนับสนุนการปลูกเพื่อ
การส่งส้มออกไปจำหน่ายต่างประเทศก็ควรให้ความสนใจในการป้องกันกำจัดโรคนี้ให้มาก เพราะในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น สหรัฐ
อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น มีกฏหมายและระเบียบการนำเข้าเพื่อป้องกันการระบาดของโรคนี้จากประเทศอื่นๆอย่างเคร่งครัด  และ
โรคแคงเกอร์เป็นโรคที่ป้องกันกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ยากมาก หากไม่มีการปฏิบัติหรือมาตรการอย่างกูกต้องและต่อเนื่องเพียงพอ
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. citri            
           การแพร่ระบาด : สามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 ฐC และระยะที่มีหนอนชอนใบ
ส้มเข้าทำลาย นอกจากนี้ก็แพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และ มนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้
เท่าไม่ถึงการณ์ จากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆได้ ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม- กันยายน
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค
           - ชนิดและพันธุ์ส้มต่างๆมีความอ่อนแอต่อโรคนี้แตกต่างกัน เช่น มะนาวเป็นโรคนี้ได้รุนแรงกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ  มะนาวพันธุ์แป้นและ
พันธุ์ไข่จะเป็นโรครุนแรงกว่าพันธุ์หนังหรือพันธุ์ตาฮิติ
           - สภาพภูมิอากาศร้อนและชื้น คือ อุณหภูมิประมาณ 20 - 30 ฐC ความชื้นสูง อากาศครึ้มเป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน ดังนั้นฤดูฝน
จึงเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคมาก
           - เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายส้มได้ง่ายและรุนแรง หากมีปนอนชอนใบเข้าทำลายก่อน
           - สภาพแปลงปลูกซึ่งอยู่ที่โล่งไม่มีพืชกำบังลมล้อมรอบ มักปรากฏอาการของโรคมากกว่าแปลงปลูกซึ่งมีพืชกำบังลม
           ลักษณะอาการ : แยกเป็นแห่งๆ ดังนี้
           ราก พบในกรณีที่ปลูกเชื้อทดลองปลูก โดยเกิดกับส่วนรากที่อยู่เหนือดิน ทำให้ต้นทรุดโทรม  แคระแกร็น กิ่งตาย ใบร่วง ผลผลิตลดลง 
และตายในที่สุด
           กิ่งก้าน พบบริเวณกิ่งอ่อน ระยะแรกแผลมีสีเหลืองนูนฟูคล้ายแผลที่เกิดบนใบต่อมาแผลจะขยายออกโดยรอบกิ่ง มีรูปร่างไม่แน่นอน 
หรือขยายออกตามความยาวของกิ่งก็ได้เป็นผลแห้ง แข็งสีน้ำตาลเข้ม  ซึ่งลักษณะแผลที่กิ่งก้านนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มมากกว่าที่เกิดบนใบ บริเวณ
รอบนอกแผล ไม่มีสีเหลืองเป็นวงล้อมรอบอยู่
           ใบ ระยะเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดประมาณหัวเข็มหมุดมองเห็นได้ไม่ชัด ลักษณะเป็นจุดกลมใส  โปร่งแสง ชุ่มน้ำ และมีสีซีดกว่าใบ
ปกติ เมื่อเวลาผ่านไปแผลจะขยายใหญ่ขึ้น  สีคล้ำขึ้น มีลักษณะนูนและฟูคล้ายฟองน้ำ จากระยะเริ่มแรกที่แผลมีสีขาว หรือเหลืองอ่อนก็เปลี่ยน
กลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนที่นูนและฟูคล้ายฟองน้ำก็จะแยกออกเป็นสะเก็ดขรุขระคล้ายเปลือกไม้แตก  มีรอยบุ๋มเล็กน้อยตรงกลาง และมีวง
สีเหลืองซีดล้อมรอบรอยแผล หรืออาจไม่พบวงสีเหลืองที่ล้อมรอบก็ได้ในการเข้าทำลายนี้อาจพบเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งของใบก่อนก็ได้ หรือ
พบทั้งสองด้านของใบก็ได้  แต่โดยมากจะเห็นชัดเจนบริเวณส่วนใต้ใบ
           ผล มีลักษณะอาการคล้ายกับที่พบที่ใบ แผลที่เกิดเดี่ยวๆมีลักษณะกลม บริเวณรอบแผลดูคล้ายกับฝังลึกลงไปในผิวของผล แผลจะนูน
และปรุโปร่งคล้ายฟองน้ำ แต่มีสีเหลือง แข็ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแผลแก่ บางครั้งแผลจะรวมกันมีขนาดใหญ่เป็นสะเก็ด รูปร่างไม่
แน่นอน ซึ่งเมื่อหลุดจะมียางไหลออกมาจากแผลได้  ลักษณะวงแหวนสีเหลืองรอบแผลไม่ปรากฏชัดเจนเท่าอาการบนใบ ผลส้มเขียวหวาน
ที่เป็นโรคมักร่วงเร็วกว่าปกติ และร่วงได้ง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่นๆ บางครั้งอาจทำให้ผลอ่อนซึ่งมีอายุประมาณ 4 - 6 เดือนแตกตามขวางโดยเริ่ม
ปริจากแผลของโรคแคงเกอร์ เมื่อส้มได้รับน้ำอย่างเต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น ต้นที่เป็นโรคมากๆมักแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วง
มาก กิ่งแห้งตาย  ผลผลิตลดลงและต้นอาจตายในที่สุด
           การป้องกันกำจัด
           - กิ่งพันธุ์ที่นำไปปลูกจะต้องปลอดโรค
           - ในแปลงปลูกซึ่งไม่มีโรคนี้ระบาด ให้ระมัดระวังการน้ำพันธุ์ส้มที่เป็นโรคหรืออ่อนแอต่อโรคเข้าไปปลูกแซมหรือเพิ่มเติม  เช่น การ
นำมะนาวหรือมะกรูดไปปลูกในแปลงปลูกส้มเขียวหวานหรือส้มโอ อาจทำให้เกิดการระบาดของส้มได้
           - หมั่นตรวจสภาพสวน ทำลายหนอนชอนใบที่จะทำให้เกิดบาดแผล อันเป็นผลให้เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายได้ โดยฉีดพ่นด้วยสาร
ป้องกันกำจัด เช่น คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% EC) อัตรา 30 ซีซี. (2ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ใช้ไดเมทโธเอท (ไดเม่ 40% EC)  อัตรา 20 
ซีซี. (4 ช้อนชา) ผสมเฟนวาลีเรท (ซูมิไซดิน 20% EC) อัตรา 5 ซีซี. (1 ช้อนชา) และน้ำ 20 ลิตรทุกๆ 7 - 10 วัน ในขณะที่ส้มแตกยอดอ่อนเท่านั้น           
           - ปลูกพืชชนิดอื่นที่ต้านทานต่อโรคแคงเกอร์เป็นแนวกันลม เพื่อป้องกันการเสียดสีของกิ่งก้านจากแรงลมก่อให้เกิดบากแผล  ซึ่งเป็น
การเปิดช่องทางให้เชื้อสาเหตุเข้าทำลาย
           - หากพบการระบาดรุนแรงให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกทำลายและพ่นด้วยคอปเปอร์ออกไซด์  หรือสารปฏิชีวนะในกลุ่มสเตรปโตมัยซิน
           - ดูแลบำรุงต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรงโดยการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นส้มเกิดการต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อ
แบคทีเรีย
           - ฉีดพ่นสารเคมีหรือสารปฏิชีวนะป้องกันกำจัดโรค ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
              - ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่เป็นพวกสารประกอบขอกทอกแดง เช่น คอปเปอร์ซัลเฟต คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คอปเปอร์ออก
ไซด์ หรือ บอร์โดมิกเจอร์ (จุนสี 80 - 150 กรัม ผสมปูนขาว 80 - 150 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร) ฉีดพ่นป้องกันโรคตั้งแต่ต้นฤดูฝนทุกๆ  7 - 10 วัน 
โดยเฉพาะในระยะส้มใบอ่อนหรือจนพ้นระยะการเข้าทำลายของเชื้อ คือประมาณปลายฤดูฝน
              - ในกรณีที่เริ่มเกิดโรคในระยะแรกๆควรใช้สารประกอบของทองแดง เช่น คอปเปอร์ซัลเฟต คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ คอปเปอร์ออก
ไซด์ หรือ บอร์โดมิกเจอร์ (จุนสี 80 -  150 กรัม ผสมปูนขาว 80 - 150 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร) ฉีดพ่นสลับกับสารปฏิชีวนะ คือ สเตรพโตมัยซิน
ซัลเฟตเข้มข้น 300 ppm. (หรือใช้ในอัตรา 3 - 6 กรัม ผสมน้ำที่ค่อนข้างสะอาดจำนวน  20 ลิตร) เป็นครั้งคราว เพื่อควบคุมและป้องกันการระ
บาดของโรค
              - การกำจัดโรคที่เกิดขึ้นแล้ว อาจใช้สเตรพโตมัยซินซัลเฟต เข้มข้น 500 ppm. ผสมด้วยกลีเซอรีน 1% (เพื่อให้ยาซึมเข้าเนื้อเยื่อพืช
ได้เร็วขึ้น) ฉีดพ่นทุกๆ 10 - 15 วัน หรือใช้แอกริมัยซินฉีดพ่นทุกๆ 7 - 10 วัน จนพ้นระยะการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรีย
           สำหรับการใช้สารปฏิชีวนะ หรือสเตรพโตมัยซินฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ให้ได้ผลดีที่สุดนั้น  มีข้อควรปฏิบัติอย่างระมัด
ระวัง คือ
           - สารปฏิชีวนะ หรือสเตรพโตมัยซินที่นำมาใช้ต้องยังไม่หมดอายุการใช้งานหรือยังไม่เสื่อมคุณภาพ  สามารถดูได้จากวันหมดอายุการ
ใช้งานซึ่งปรากฏอยู่บนภาชนะที่บรรจุหรือสังเกตจากสีที่เปลี่ยนแปลงจากสีปกติของสารนั้น
           - ไม่ควรผสมสารปฏิชีวนะหรือสเตรพโตมัยซินกับสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราหรือสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ
           - ควรใช้น้ำที่ค่อนข้างสะอาดใส ไม่ขุ่นด้วยตะกอน และไม่เป็นกรดหรือด่างจนเกินไปในการผสมหรือละลายสารปฏิชีวนะหรือสเตรพ
โตมัยซิน
           - ฉีดพ่นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ตอนเช้าหรือเย็น หรือในวันที่ไม่มีแสงแดดจัด เพราะสารปฏิชีวนะจะเสื่อมคุณภาพหากถูกความ
ร้อนหรือแสงแดดจัด
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและคล้ายไวรัส
- โรคทริสเตซ่า (Tristeza Disease)
           เป็นโรคที่สำคัญที่สุดของพืชตระกูลส้ม และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้กับแหล่งผลิตส้มทั่วโลก  โรคนี้สามารถเป็นได้กับส้มทุก
พันธุ์ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน ส้มตรา ส้มโอ  มะนาว หรือมะกรูด และความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ส้ม  และชนิดของเชื้อ
ที่เข้าทำลาย
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อไวรัสทริสเตซ่า(Citrus Tristeza Virus - CTV)  มีรูปร่างเป็นท่อนยาวคดความยาวประมาณ 2,000 นาโนเมตร
           การแพร่ระบาดของโรค : ในต่างประเทศมีรายงานว่าโรคนี้มีเพลี้ยอ่อนส้ม (Black  Citrus Aphid, Toxoptera citricidus Kirkaldy) และ
เพลี้ยอ่อนอื่นๆอีกหลายชนิดเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดโรค แต่ในประเทศทยการแพร่ระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นโดยการติดไปกับกิ่งตอนจากต้น
ที่เป็นโรค
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - การใช้กิ่งตอนจากต้นหรือแหล่งที่มีโรคนี้ระบาด
           - การระบาดของแมลงพวกเพลี้ยอ่อนส้ม
           - ต้นส้มมีสภาพอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์หรือให้ผลผลิตมากเกินไป
           ลักษณะอาการ : 
           อาการของโรคบนมะนาว สังเกตได้ง่ายและชัดเจนที่สุด โดยการดูอาการบนใบอ่อน ใบมีขนาดเล็กลง รูปใบโค้งงอขึ้นเป็นรูปถ้วยหรือ
บิดเบี้ยว สีของใบเป็นสีเหลืองด้านหรือเขียวซีดหรือด่างเป็นสีเขียวประคล้ายอาการขาดธาตุอาหาร  เมื่อนำใบอ่อนส่องดูกับแสงแดดจะพบเส้น
ขีดโปร่งใสสั้นๆของเส้นใบ (vein clearing)  หากเป็นมะนาวพันธุ์อ่อนแอต่อโรค หรือเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคเป็นสายพันธุ์ชนิดรุนแรง  เส้นขีด
โปร่งใสดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจเชื่อมถึงกันเป็นแนวยาวตลอดเส้นใบ ใบอ่อนมักหลุดร่วงง่าย กิ่งแห้งตายจากส่วนปลาย
ลงมา ให้ผลผลิตน้อยและผลมีขนาดเล็ก  สำหรับมะนาวที่เป็นโรคซึ่งมีขนาดลำต้นใหญ่พอสมควร หากเปิดเปลือกลำต้นเพื่อดูเนื้อไม้จะพบรูเล็กๆ
จำนวนมากเป็นกลุ่มที่เนื้อไม้ด้านในของเปลือกบริเวณตรงกันข้ามมีส่วนเปลือกเป็นหนามแหลมยื่นออกมา บางครั้งอาจพบอาการยางไหลจาก
ส่วนเปลือกลำต้นหรือกิ่งขนาดใหญ่ ต้นมะนาวที่เป็นโรคนี้รุนแรงมีอาการต้นโทรมอย่างรวดเร็วและแห้งตายในที่สุด
           ในส้มเขียวหวานอาการของโรคโดยทั่วไปคล้ายอาการที่พบบนมะนาวแต่ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะส้มเขียวหวานที่เป็น
โรคทริสเตซ่ามักเป็นโรคกรีนนิ่งด้วยและอาการของโรคกรีนนิ่งมักรุนแรงมากบนส้มเขียวหวานจนข่มอาการของโรคทริสเตซ่า อย่างไรก็ตาม
ต้นส้มเขียวหวานที่เป็นโรคนี้ อาจสังเกตดูอาการเส้นขีดโปร่งใสของเส้นใบบนใบอ่อนเช่นเดียวกันกับที่พบบนมะนาว อาการอื่นๆที่พบได้ คือ 
ใบอ่อนมีขนาดเล็กลง ต้นทรุดโทรม ใบเหลืองหรือมีสีเขียวด้าน  ข้อสั้น ไม่เจริญเติบโตแตกยอดหรือกิ่งก้าน หากแตกยอดอ่อนก็มักเป็นกระจุก
หรือมีหลายยอด  โดยทุกยอดมักเป็นตาดอกจำนวนมาก การติดผลมีมากแต่หลุดร่วงง่าย ผลมีขนาดเล็ก  มีอาการแห้งตายจากปลายกิ่ง ไม่พบ
อาการยางไหลบริเวณโคนต้นและในบางครั้งต้นส้มอาจมีการเหี่ยวเฉาคล้ายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว ใบก็จะร่วงในที่สุด ระบบรากอ่อนแอ ที่ลำต้น
หรือกิ่งขนาดใหญ่ๆอาจเกิดอาการต้นไม่เรียบ  มีลักษณะเป็นคลื่นหรือล่องจำนวนมากและมีขนาดใหญ่พอประมาณยาวขนานไปตามลำต้นหรือ
กิ่ง  เมื่อเปิดเปลือกลำต้นหรือกิ่งนั้นเพื่อดูเนื้อไม้จะพบร่องเว้าบุ๋มลึกลงไปในเนื้อไม้ สีของเนื้อไม้ตรงร่องเว้าเป็นสีน้ำตาลแดง ด้านในของ
เปลือกบริเวณตรงกันข้ามมีส่วนเปลือกเป็นแนวสันยื่นออกมาคล้ายกับมีหนามแหลมยื่นออกมาดังพบในมะนาว อาการเหล่านี้จะปรากฏชัดเจน
ในต้นส้มที่มีอายุ 4 - 5 ปีหลังจากที่ให้ผลผลิตแล้ว            
           ส่วนในส้มตราและส้มเกลี้ยงนั้นจะสังเกตอาการของโรคได้ยาก เนื่องจากส้มตราและส้มเกลี้ยงไม่แสดงอาการผิดปกติอย่างเด่นชัดแม้
ว่าจะตรวจพบเชื้อสาเหตุของโรคอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม อาการผิดปกติส่วนใหญ่ เช่น ต้นโทรม ใบเหลือง และอื่นๆเป็นอาการของโรคกรีน
นิ่งแทบทั้งสิ้น
           อาการของโรคบนส้มโอในสภาพแปลงปลูกอาจสังเกตอาการของโรคได้ไม่ชัดเจนนัก อาการที่พบได้คือ ใบมีขนาดเล็กลง ความหนาของ
ในเพิ่มขึ้น ใบมีอาการด่างเขียวเหลืองเป็นจ้ำๆบิดเบี้ยวหรือโค้งงอ  เส้นใบอาจใสกว่าปกติ หรือเส้นใบนูนแข็งขึ้นหรือแตก เปลือกผลมีสีด่าง
เขียวเข้มสลับเขียวอ่อน หนา ไส้กลางผลมีขนาดใหญ่ มีเมล็ดลีบสีดำจำนวนมาก ต้นชะงักการเจริญเติบโต เปลือกส่วนใต้ลำต้นที่เป็นเนื้อไม้
เกิดรูเล็กๆ เชื้อที่เข้าไปจะไปอยู่ในลักษณะแฝง คือไม่ปรากฏอาการในระยะแรก แต่เมื่อใดที่ส้มอ่อนแอลงก็จะแสดงอาการออกมาให้เห็นอย่าง
ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อต้นส้มให้ผลผลิตมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจพบอาการรากเน่าแทรกซ้อนอีกด้วย
           การป้องกันกำจัด 
           - เลือกใช้กิ่งพันธุ์ส้มที่ปลอดโรค 
           - ใช้สารเคมีควบคุมในช่วงที่มีระบาดของเพลี้ยอ่อน เช่น สารเมตซีสท้อกซ์อาร์ อัตรา 20 - 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
           - ใช้ต้นตอส้มที่มีความทนทานต่อโรค
           - ดูแลให้ต้นส้มมีการเจริญเติบโตแข็งแรงอยู่เสมอ โดยการให้น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็นและเหมาะสม
กับแหล่งปลูก
           - ควรขุดถอนต้นที่เป็นโรคและเผาทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาด
           - การสร้างภูมิต้านทานให้กับส้มโดยปลูกเชื้อชนิดไม่รุนแรงลงบนส้ม (เป็นวิธีที่นิยมใช้ในต่างประเทศ
 - โรดกรีนนิ่ง หรือ โรคใบเหลืองต้นโทรม  (Greening Disease)
           เป็นโรคที่สำคัญของส้มอีกโรคหนึ่งที่พบปัญหามากในบ้านเรา เป็นโรคคล้ายไวรัส พบบนส้มพันธุ์ต่างๆได้แก่ ส้มเขียวหวาน ส้มตรา
ส้มเกลี้ยง ส้มจีน ใรายงานว่าพบโรคนี้ครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ พ.ศ. 2472 สำหรับในประเทศไทยนั้นมีรายงานการสำรวจพบ
โรคและแมลงพาหะเมื่อ พ.ศ. 2516 อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสงสัยว่าโรคกรีนนิ่งมีลักษณะอาการของโรคเหมือนหรือคล้ายคลึงกับโรคใบแก้วหรือ
อาการใบแก้วของส้ม  ซึ่งเกิดเนื่องจากการขาดธาตุสังกะสีมากจนแยกความแตกต่างได้ยากหรือไม่สามารถแยกความแตกต่างได้หากจะอาศัย
การสังเกตจากอาการของโรคเพียงประการเดียว  จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยโรคและวิธีการอื่นๆประกอบด้วย เช่น การวิเคราะห์หาปริมาณธาตุ
สังกะสีในใบส้ม  การใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนตรวจหาเชื้อสาเหตุของโรค เป็นต้น
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อคล้ายแบคทีเรีย
           การแพร่ระบาดของโรค : สามารถแพร่ระบาดได้โดยการถ่ายทอดโรคของเพลี้ยกระโดดส้มหรือเพลี้ยไก่แจ้ (Diaphorina citri) และยัง
สามารถแพร่ระบาดโดยติดไปกับกิ่งตอน การติดตาและทาบกิ่ง
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - กิ่งตอนหรือกิ่งพันธุ์จากต้นหรือแหล่งระบาดของโรค
           - ต้นส้มมีสภาพทรุดโทรมไม่สมบูรณ์แข็งแรง เนื่องจากการให้ผลผลิตมากเกินไปหรือขาดการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง
           - การระบาดของเพลี้ยกระโดดส้มหรือเพลี้ยไก่แจ้
           ลักษณะอาการ : 
           ส้มเขียวหวานนับเป็นส้มที่อ่อนแอต่อโรคนี้ แสดงอาการรุนแรงมาก อาการบนใบ  กิ่ง คล้ายคลึงกับอาการของโรคใบแก้ว กล่าวคือ ใบ
มีสีเหลืองจนถึงเหลืองซีดโดยที่เส้นกลางใบและเส้นใบยังคงมีสีเขียวอยู่  เนื้อใบส่วนที่ติดกับเส้นใบอาจจะยังคงมีสีเขียว แต่ในต้นที่เป็นรุน
แรงใบมีสีเหลืองทั้งใบเหลืออยู่เฉพาะโคนเส้นกลางใบเท่านั้นที่มีสีเขียว  บางครั้งพบอาการใบด่างเป็นแต้มประสีเขียวกระจายทั่วทั้งใบ ขนาด
ของใบเล็กลง เรียวยาว หนากว่าปกติและปลายใบชี้ตั้งขึ้น อาการเหล่านี้ปรากฏชัดเจนบนใบยอดหรือใบอ่อน ส่วนใบแก่ที่เป็นโรคอาจแสดง
อาการเส้นใบโปร่งใส ใบด้านและโค้งงอทางด้านหน้าใบ กิ่งแห้งตายจากส่วนปลาย ผลมีขนาดเล็กและมักร่วงก่อนสุก เปลือกของบางผลมีอาการ
เป็นแต้มหรือเป็นจ้ำๆสีเขียว  เมล็ดลีบ ต้นส้มที่มีการเจริญเติบโตดีหากได้รับเชื้อสาเหตุของโรค จะเริ่มแสดงอาการจากกิ่งใดกิ่งหนึ่งก่อนแล้ว
จึงลุกลามไปทั่วต้น ทำให้ต้นโทรมและตายในที่สุด ซึ่งการปรากฏของอาการของโรคในลักษณะนี้แตกต่างจากโรคใบแก้วในระยะเริ่มแรก            
เพราะโรคใบแก้วมักปรากฏอาการพร้อมๆกันบนกิ่งทุกกิ่งและปรากฏอาการบนต้นส้มส่วนมากในแปลงปลูกนั้น
           ส่วนอาการบนส้มตรา ส้มเกลี้ยงและส้มจีนนั้นจะเห็นได้ชัดและสังเกตดูได้ง่ายกว่าในส้มเขียวหวาน  คือ ใบมีสีเหลืองสดโดยเส้นใบยัง
คงมีสีเขียวชัดเจน บางครั้งใบอ่อนที่แตกใหม่มีสีเหลืองซีดทั้งใบ ใบแก่ที่เคยแสดงอาการของโรคอาจมีสีเขียวเข้มขึ้นคล้ายใบปกติ หรือมีเพียง
แต้มสีเหลืองซีด หรืออาการใบเหลืองซีดและมีแต้มสีเขียวประปรายบนใบ อาจพบอาการเส้นใบและเนื้อใบบริเวณที่ติดกันโปร่งใสกว่าปกติ           
ยอดมักแห้งตายลุกลามมาอย่างรวดเร็ว ผลมีขนาดเล็กและมักร่วงก่อนสุก เมล็ดส่วนมากลีบและมีสีดำ
           ส่วนมะนาวนั้นพบอาการของโรคกรีนนิ่งน้อย อาจเป็นเพราะในมะนาวมีโรคทริสเตซ่าระบาดรุนแรงมากและมะนาวส่วนใหญ่มักเป็น
โรคทริสเตซ่าอยู่ก่อนแล้ว หากเกิดเป็นโรคกรีนนิ่งซ้ำอาการของโรคทริสเตซ่าจะข่มอาการของโรคกรีนนิ่งจนทำให้สังเกตดูอาการของโรคกรีน
นิ่งได้ยากหรือไม่สามารถแยกความแตกต่างได้  อย่างไรก็ตามอาการที่อาจพบได้ คือ ใบซีดเหลืองคล้ายการขาดธาตุอาหารหรือมีแต้มประสี
เขียวกระจายบนใบ  กิ่งแห้งตายจากส่วนปลายยอด
           ส่วนส้มโอนั้นพันธุ์ในประเทศไทยค่อนข้างจะต้านทานต่อโรคกรีนนิ่ง แม้ว่าเกิดเป็นโรคก็ไม่รุนแรงมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น 
มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาเรื่องนี้ เท่าที่สังเกตพบอาการของโรคคือ ใบมีสีเหลืองคล้ายการขาดธาตุสังกะสี แต่พบเฉพาะบนกิ่งใดกิ่งหนึ่ง
และอาจพบอาการใบด่างเหลืองเป็นจ้ำๆ  (Mottling) กิ่งที่แตกใหม่อ่อนแอ ขนาดผลที่ได้จะเล็กลง และมักร่วงก่อนแก่
           การป้องกันกำจัด
           - เลือกปลูกส้มโดยใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค
           - ให้ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาต้นส้มให้อยู่ในสภาพดีที่สุด แข็งแรง สมบูรณ์อยู่เสมอ อย่าให้ต้นส้มขาดน้ำและปุ๋ย
           - ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงพาหะในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม โดยใช้สารไดเมทโธเอท ในอัตรา 30 ซีซี. (2 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 20 
ลิตร หรือ ใช้สารคาร์บาริล ไดเมทโธเอท  โมโนโครโตฟอส เป็นต้น
           - ทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการขุดและเผา
           - การจุ่มตาลงในยาเพนนิซิลินจี ความเข้มข้น 2000 ppm นาน 24 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปติดบนต้นตอปกติ (เป็นวิธีที่ใช้ในญี่ปุ่น จีนและ
ไต้หวัน)
           - การทำ chimera plant ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในการสร้างต้นส้มจาก 2 สายพันธุ์รวมกันให้กลายเป็นพันธุ์ใหม่ที่มีความต้านทานต่อโรค   
ซึ่งปัจจุบันกำลังมีงานวิจัยร่วมระหว่าง Dr. Y. Ohtsu จากโครงการ JIRCAS ประเทศญี่ปุ่น
- โรคใบแหว่งของส้ม (Citrus tatter leaf disease)
           เป็นโรคของส้มที่เพิ่งพบในประเทศไทยเมื่อปี 2536 โดยไมตรี พรหมมินทร์และคณะ  (รายงานผลการวิจัยปี 2536 กองโรคพืชและจุล
ชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร) แต่ในต่างประเทศพบโรคนี้มานานแล้วในประเทศไทยพบอาการของโรคนี้ในต้นส้มที่ปลูกที่สถานียางโป่งแรด 
จ.จันทบุรี  พบอาการในมะกรูดที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และพบในมะนาวที่ อ.เมือง จ.ชัยนาท
           สาเหตุของโรค : เชื้อไวรัส CTLV (Citrus tatter leaf virus)
           การแพร่ระบาดของโรค : โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยวิธีกล คือ สามารถติดต่อไปกับกรรไกร เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตอน 
ติดตา หรือทาบกิ่ง และยังสามารถถ่ายทอดทางน้ำคั้นจากส้มที่เป็นโรคไปยังพืชล้มลุกได้ เช่น ถั่วพุ่มและ Chenopodium quinoa ส่วนการถ่าย
ทอดโรคโดยแมลงพาหะนั้นยังไม่มีรายงาน
           ลักษณะอาการ : โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับส้มทุกพันธุ์แต่จะอยู่ในลักษณะอาการแฝง  คือ ไม่แสดงอาการให้เห็นเด่นชัดนัก พันธุ์ส้ม
ที่มีความอ่อนแอต่อโรคนี้  คือ ซิทรัส เอ็กเซลซา (Citrus excelsa) ส้มสามใบและลูกผสมของส้มสามใบ (citrange) อาการที่แสดงออกคือต้นแคระ
แกร็น เกิดจุดแต้มสีเขียวอ่อน (blotching) หรือแสดงอาการด่างบนใบแต่ไม่ชัดเจน (mottling) และใบมีลักษณะบิดเบี้ยวผิดปกติหรือใบแหว่ง
           การวินิจฉัยโรค : จะต้องใช้วิธีอย่างน้อยสองวิธีควบคู่กัน คือ การตรวจสอบทางเซรุ่มวิทยา  เช่น วิธีอีไลซ่าควบคู่ไปกับการตรวจสอบ
โดยใช้พืชทดสอบ จะใช้วิธีอีไลซ่าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากปฏิกริยาที่เกิดขึ้นระหว่างแอนติเซรัมกับเชื้อยังไม่ชัดเจนนัก ทั้งนี้อาจเนื่อง
จากแอนติเซรัมที่หลายๆประเทศผลิตขึ้นมา เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ ยังไม่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแอนติเซรัมที่ใช้ใน
การตรวจสอบไวรัสโรคทริสเตซ่า  หรืออาจเป็นเพราะเชื้อไวรัสแทตเทอร์ลีฟเพิ่มปริมาณได้ช้าและน้อยมากบนต้นส้ม และโดยปกติแล้วเชื้อ
เหล่านี้มักจะแฝงตัวอยู่โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่ร้อนจนกระทั่งเมื่อสภาพอากาศเริ่มเย็นลงจนประมาณ  20 - 25 องศาเซลเซียส เชื้อจึงจะ
ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นและแสดงอาการให้เห็นบนต้นส้ม ดังนั้นในการตรวจไวรัสแทตเทอร์ลีฟจึงจำเป็นต้องใช้วิธีมากกว่า  2 วิธีขึ้นไปในการ
ตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าต้นส้มนั้นเป็นโรคจริง สำหรับพืชตระกูลส้มที่ใช้ในการทดสอบเชื้อในปัจจุบัน  ได้แก่ รัส ซิเตรนจ์ ซึ่งเป็นส้มสามใบลูก
ผสมและส้มซิทรัส เอ็กเซลซ่า ซึ่งทั้งสองพันธุ์นี้จะสามารถแสดงอาการเมื่อได้รับการถ่ายทอดเชื้อเข้าไปภายในระยะเวลาประมาณ  2 - 3 เดือน 
ที่อุณหภูมิ 20 - 22 ฐC โดยเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดแต้มสีเขียวอ่อนหรือด่างไม่ชัดเจนบนใบ จากนั้นใบจะแสดงอาการบิดเบี้ยว หรือใบแหว่งซึ่ง
อาการหลังนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการแรกได้หากอุณหภูมิคงที่และสม่ำเสมอ  โรคนี้ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อต้นตอบางชนิด เช่น ส้มสามใบ
พันธุ์แท้และส้มสามใบลูกผสม  เช่น ทรอยเยอร์ ซิเตรนจ์, คาร์ริโซ่ ซิเตรนจ์ และ สวิงเกิ้ล ซิทรัมเมลโล่  และยังส่งผลกระทบต่อตนตอส้ม คือ 
ทำให้มัผลผลิตลดต่ำลงและตรงบริเวณรอยต่อระหว่างพันธุ์ดีกับต้นตอจะไม่กลมกลืนกันจะเกิดรอยย่นซึ่งมีผลทำให้ต้นส้มหักโค่นได้ง่ายตรง
บริเวณรอยต่อหากมีลมพัดแรงๆ
           การป้องกันกำจัด
           - ควรใช้ส้มปลอดโรคในการปลูกขยายพันธุ์
           - ควรขุดและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค
           - ทำความสะอาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการขยายพันธุ์หรือตัดแต่งกิ่งส้มก่อนการใช้เสมอ  โดยจุ่มในสารละลาย 1% โซเดียมไฮ
โปคลอไรท์
           - ไม่ควรนำต้นส้มหรือพืชตระกูลส้มทุกชนิดเข้าสวนนอกจากต้นส้มนั้นจะได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดโรค
- โรคเอ็กโซคอร์ทีส (Exocortis Disease)
           โรคนี้แม้จะยังไม่มีรายงานการพบในประเทศไทย แต่เนื่องจากเป็นโรคที่มีผลกระทบค่อนข้างมากกับต้นตอส้มและสามารถแพร่ระบาด
ได้ง่ายจากการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการขยายพันธุ์หรือตัดแต่งกิ่งส้มและยังเป็นโรคที่พบระบาดในแหล่งปลูกส้มของประเทศที่ผลิตส้ม
เชิงอุตสาหกรรม  เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล สเปน ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งมีผู้นำเข้าในประเทศไทยบางรายได้สั่งนำเข้าพันธุ์จากประเทศเหล่า
นี้โดยไม่ผ่านการรับรองว่าปลอดโรค  จึงเป็นโรคที่เกษตรกรชาวสวนส้มและนักวิชาการในประเทศไทยควรทำความรู้จักเอาไว้
           สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อไวรอยด์เอ็กโซคาร์ทีส(Citrus exocortis viroid ; CEVd) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเชื้อไวรัสแต่ไม่มีโปรตีนห่อหุ้ม
           การแพร่ระบาดของโรค : โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้โดยวิธีกลเช่นเดียวกับโรคแทตเทอร์ลีฟ (โรคใบแหว่ง) และโดยวิธีติดตา ทาบกิ่ง 
ส่วนการถ่ายทอดโดยแมลงนั้นยังไม่มีรายงาน โรคนี้ยังสามารถเป็นกับพืชล้มลุกบางชนิดได้ เช่นพวก Gynura sp. ส่วนในพืชตระกูลส้มที่แสดง
อาการรุนแรง คือ กลุ่มซิตรอน ดังนั้นจึงใช้พืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชทดสอบโรค
           ลักษณะอาการ : โรคนี้จะส่งผลกระทบมากกับต้นตอกลุ่มพันธุ์ส้มสามใบ เช่น ไตรโฟลิเอท ออเรนจ์, ทรอยเยอร์ ซิเตรนจ์, คาร์ริโซ่ ซิ
เตรนจ์, สวิงเกิ้ล  ซิทรัมเมลโล่ ฯลฯ และส้มกลุ่มซิตรอนโดยเฉพาะอีทรอก ซิตรอน (Etrog citron)  ต้นส้มที่เป็นโรคนี้ต้นตอจะแสดงอาการ
เปลือกแตกและใหญ่ผิดปกติทำให้รอยต่อระหว่างพันธุ์ดีกับต้นตอเกิดความไม่กลมกลืนกันจึงเป็นสาเหตุทำให้ต้นส้มมีการเจริญเติบโตไม่ดี
และมีอาการแคระแกร็น  ส้มจะให้ผลผลิตลดลงหรือไม่ให้ผลผลิตเลย ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับชนิดของส้มและชนิดของเชื้อที่เข้าทำลาย           
โดยทั่วไปจะแสดงอาการได้ชัดเจนในสภาพอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส  
          การป้องกันกำจัด
           - ควรใช้ส้มปลอดโรคในการปลูกขยายพันธุ์
           - ควรขุดและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค
           - ทำความสะอาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการขยายพันธุ์หรือตัดแต่งกิ่งส้มก่อนการใช้เสมอ  โดยจุ่มในสารละลาย 1% โซเดียมไฮ
โปคลอไรท์
           - ไม่ควรนำต้นส้มหรือพืชตระกูลส้มทุกชนิดเข้าสวนนอกจากต้นส้มนั้นจะได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดโรค
          
 โรคที่เกิดจากสาหร่ายและพืชชั้นสูง  (Algal diseases and phanerogams)
          ปรสิต (parasite) หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อาจทำให้เกิดโรคหรือขัขวางการเจริญเติบโตอย่างปกติของพืช นอกจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส 
ไวรอยด์และมายโคพลาสมาแล้ว ตะไคร่หรือสาหร่าย (algae) ไลเคน (lichens) และพืชชั้นสูงบางชนิด (phanerogams) ก็สามารถเข้าทำลาย
และก่อให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน
- โรคตะไคร่หรือโรคสาหร่าย (Algal  disease)
           โรคสาหร่ายที่พบบนส้มพบได้ทั้งบนส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยง ส้มตรา ส้มจีนและส้มโอ  โดยสาหร่ายสร้างหรือใช้ส่วนของทาลไล (thalli) แทง
เข้าไปอยู่ในส่วนเนื้อเยื่อของพืชเกิดเจริญปกคลุมบนส่วนต่างๆของต้นส้ม เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ผล และลำต้น โรคนี้พบมากในแปลงปลูกส้มที่มีการ
ดูแลไม่ทั่วถึง หรือมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราน้อย มีความชื้นสูงหรือค่อนข้างรกทึบ และในบางครั้งอาจพบโรคสาหร่ายขึ้นปะปนกับไล
เคนด้วย
           สาเหตุของโรค : เกิดจากสาหร่ายเซฟาลูโรส Cephaleuros virescens Kunze
           การแพร่ระบาด : สาหร่ายเซฟาลูโรสนี้สามารถขยายพันธุ์และแพร่กระจายได้โดยสปอร์  (zoospores) ซึ่งสร้างอยู่ภายในที่สร้างสปอร์บน
แผ่นกำมะหยี่สีน้ำตาลแดง  ซึ่งปกคลุมอยู่บนส่วนต่างๆของต้นส้ม
           ลักษณะอาการ : ระยะแรกพบว่าใบเกิดแผลเป็นจุดเล็กๆสีเทาปนเขียว ต่อมาจุดนี้ขยายโตขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างแดงหรือ
สีส้มมองดูคล้ายแผ่นกำมะหยี่ปกคลุมอยู่  บางครั้งพบเป็นแผลเหลี่ยมนูนสูงขึ้นจากผิวเซลล์พืชเล็กน้อย แผลมีรูปร่างกลม  ขนาดของแผลแตก
ต่างกันตั้งแต่เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 1.0 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย  ระยะนี้จะเป็นระยะที่สาหร่ายสร้างสปอร์ซึ่งใช้ในการแพร่พันธุ์ ส่วน
กิ่ง ลำต้นและผลก็จะเกิดแผลเช่นเดียวกับที่พบบนใบแต่แผลมักมีขนาดใหญ่กว่า บางกิ่งอาจพบแผลลุกลามขยายเป็นวงรอบกิ่ง การเจริญเติบโต
ของสาหร่ายทำให้เปลือกของกิ่งและลำต้นโป่งพองออก แตกและหลุดร่อนออกจากเนื้อไม้  ทำให้กิ่งหรือลำต้นแห้ง พืชจึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายน้ำ
และอาหารได้อย่างสะดวก ลำต้นจึงอ่อนแอ ทรุดโทรม ใบเหลืองร่วง หากเป็นมากๆอาจทำให้กิ่งแห้งตายได้ บนผลเกิดแผลจุดขนาดเล็กจำนวน
มากกระจัดกระจายทั่วไปบนผิวผล ทำให้เปลือกมีสีไม่สม่ำเสมอ  ผลอ่อนมักร่วงง่ายและมักเกิดกับผลที่อยู่ใกล้โคนต้นหรือใกล้ดิน

- ไลเคนหรือโรคที่เกิดจากไลเคน (Lichens)
           ไลเคน คือ สารอินทรีย์เชิงซ้อนที่ประกอบด้วยสาหร่ายและเชื้อราอยู่ร่วมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถเจริญเติบโตบนส่วนต่างๆของ
พืชได้เช่นเดียวกับสาหร่าย มีทั้งชนิดที่เป็นปรสิตเล็กน้อยและไม่เป็น โดยปกติไลเคนได้อาหารจากเนื้อเยื่อพืชที่ตายแล้วและจากอากาศบ้าง 
ไลเคนไม่เป็นอันตรายโดยตรงต่อพืชแต่จะทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายทางอ้อม  คือ เป็นที่สะสมหรือที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรู ทำให้
เกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดและทำลายของโรคอื่นๆ  และหากเกิดมีไลเคนจำนวนมากก็จะทำให้การสังเคราะห์แสงของพืชลดลง บน
ส้มโอและส้มเขียวหวานในแหล่งปลูกที่มีสภาพอากาศชื้นพบไลเคนชนิดที่เรียกว่า สตริกูลา (Strigula complanata) ซึ่งประกอบด้วยสาหร่ายเซฟา
ลูโรส (Cephaluuros  virescens) กับเชื้อราขางชนิด
           การแพร่ระบาดของโรค : โรคสาหร่ายและไลเคนสามารถเกิดและแพร่ระบาดได้โดยสปอร์ของสาหร่ายและเชื้อราที่สร้างขึ้นปลิวระบาดไป
กับลม  น้ำ หรือติดไปกับกิ่งตอนหรือส่วนอื่นๆของส้ม
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
           - สภาพอากาศชื้น เช่น ในฤดูฝน
           - แปลงปลูกส้มรกทึบ ทรงพุ่มของต้นหนาแน่น ขาดการตัดแต่งที่ถูกต้อง ปลูกต้นส้มชิดกันมากหรือมีการปลูกพืชผลชนิดอื่นแซมจนบริเวณ
โคนต้นและทรงพุ่มรกทึบและมีความชื้นสูงมาก
           - สภาพต้นส้มขาดการดูแลบำรุงรักษาและฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา
           การป้องกันกำจัด
           - ตัดแต่งกิ่งรกทึบหรือกิ่งที่เป็นโรคออกบ้าง ในกรณีที่เป็นโรคบนกิ่งหรือลำต้น อาจจะตัดหรือถากสาปร่ายและไลเคนออกจากเปลือกไม้ 
แล้วฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทั่วๆไปซึ่งใช้กับส้ม  ป้องกันไม่ให้เกิดโรคอีก
           - ในแปลงปลูกส้มที่มีสภาพอากาศชื้นหรือต้นฤดูฝน ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราพวกสารประกอบของทองแดงให้ทั่วทั้งใบ กิ่ง 
และลำต้นที่อยู่ในทรงพุ่มก็ควรได้รับการฉีดพ่นด้วยเช่นกัน
           - ควรจะฉีดพ่นสารเคมีก่อนที่สาหร่ายและไลเคนจะสร้างสปอร์ ได้แก่ในระยะที่โรคสาหร่ายมีอาการเป็นแผ่นกำมะหยี่สีส้ม หรือไลเคน
เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้มหรือน้ำตาล จะช่วยลดปริมาณเชื้อและการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โรคที่เกิดจากปรสิตพืชชั้นสูง (Phanerogams)
           พืชชั้นสูงหลายชนิดเป็นได้ทั้งพืชที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้เอง และเป็นปรสิตขึ้นบนพืชอื่น เช่น กาฝาก และเกล็ดนาคราช ปรสิต
เหล่านี้เมื่อเจริญเติบโตบนพืชอื่นจะดูดน้ำและอาหาร ทำให้พืชอาศัยมีการเจริญเติบโตลดลงและอาจตายในที่สุด พบบนส้มโอและส้มเขียวหวาน
ในแหล่งปลูกหลายแหล่งที่มีการดูแลรักษาไม่ถูกต้อง
           จากการสำรวจพบ กาฝากเจริญเติบโตบนกิ่งส้มโอและส้มเขียวหวานในแปลงปลูกเขตจังหวัดนครปฐมที่มีการดูและไม่ดีพอ เปลือกกิ่งส้ม
ที่กาฝากเจริญอยู่มีลักษณะพองนูน เปลือกแตกเนื่องจากกาฝากแทงส่วนที่ใช้ในการดูดกินน้ำและอาหารสงไปในเซลล์ของกิ่งส้ม ทำให้กิ่งส้มมี
การเจริญเติบโตลดน้อยลง ใบเหลืองซีด ต้นไม่แข็งแรงสมบูรณ์และกิ่งอาจแห้งตายได้ กาฝากที่พบเป็นกาฝากใบใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 
Viscum album 
           เกล็ดนาคราชมีชื่อท้องถิ่นเรียกว่าเถาอีแปะ ลักษณะลำต้นเป็นเส้นคล้ายเส้นลวด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ใบหนาสีเขียว
เข้ม รูปร่างรีถึงเรียวยาว เจริญเติบโตบนกิ่งและต้นส้ม โดยพันและแทงส่วนคล้ายรากลงเกาะยึดกับด้านในของเปลือก ทำให้กิ่งและต้นทรุดโทรม 
กิ่งที่ถูกพันมากๆจะทำให้ใบส้มเหลืองหลุดร่วงและกิ่งมักแห้งตายในที่สุด
           การป้องกันกำจัด
           - ทำได้โดยการตัดถากต้นกาฝากหรือเถาเกล็ดนาคราชออกจากส่วนกิ่งและลำต้นให้หมด หรือถ้าหากกิ่งส้มกิ่งใดกิ่งหนึ่งเป็นมาก อาจต้อง
ตัดกิ่งนั้นทิ้ง จากนั้นจึงบำรุงดูและหรือฟื้นฟูต้นส้มให้มีสภาพสมบูรณ์  แข็งแรง ด้วยการให้น้ำ ใส่ปุ๋ยต่อไป
- โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย (Citrus nematode)
           ไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า โดยทั่วไปมีลำตัวกลม เรียวยาว ผิงเรียบไม่เป็นข้อปล้อง 
ไส้เดือนฝอยเพศเมียบางชนิดเมื่อโตเต็มวัยจะมีรูปร่างพองโป่งคล้ายลูกฝรั่ง ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปมซึ่งเป็นศัตรูเข้าทำลายพืชหลายชนิด 
และทำให้เกิดอาการรากเป็นปุ่มปม เช่น โรครากปมของข้าว เยอบีรา เป็นต้น ไส้เดือนฝอยส่วนมากมีชีวิตอยู่ระในน้ำจืด น้ำเค็ม ดิน กินพืชและ
สัตว์เล็กๆเป็นอาหาร บางชนิดเป็นปรสิตของคนและสัตว์  และมีอยู่หลายชนิดที่เป็นปรสิตของพืช โดยทำให้พืชเป็นโรค เช่น ไส้เดือนฝอยรากปม  
และไส้เดือนฝอยรากแผล เป็นต้น
           ในต่างประเทศมีรายงานโรคส้มซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยระบาดรุนแรงพอสมควร โรคที่พบมาก  คือ โรคทรุดโทรมที่เกิดจากไส้เดือนฝอย
ไธเลนชูลัส (Tylenchulus semipenetrans)  และไส้เดือนฝอยราโดโฟลัส (Radopholus similis) โดยไส้เดือนฝอยดังกล่าวเข้าทำลายรากส้ม  ทำให้
รากกุดสั้นเสียหาย ต้นส้มที่เป็นโรคแสดงอาการโทรมอย่างรวดเร็ว ใบเหลืองและหลุดร่วง  สำหรับในประเทศไทยการศึกษาโรคส้มที่เกิดจากไส้
เดือนฝอยมีรายงานน้อย และโรคไม่ระบาดรุนแรงจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
           สาเหตุของโรค : จากการตรวจดูดินบริเวณรอบๆราก และรากที่มีบาดแผล พบไส้เดือนฝอยหลายชนิด ชนิดหนึ่งที่พบคือ ไส้เดือนฝอยไธ
เลนชูลัส (Tylenchulus sp.) 
           การระบาดของโรค : โรคนี้ระบาดน้อยมาก เนื่องจากไส้เดือนฝอยมีการเคลื่อนที่ได้ในระยะไม่ไกล การแพร่ระบาดโรคอาจเกิดขึ้นได้โดย
การเคลื่อนย้ายดินปลูกหรือการเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์ที่เป็นโรค
           สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค : โรคนี้มักเกิดกับส้มซึ่งปลูกในดินทราย
           ลักษณะอาการ : ต้นส้มมีอาการโทรม ไม่ค่อยเจริญเติบโต แตกกิ่งและใบน้อย ใบมีสีเขียวซีดๆไม่สด บางครั้งใบอาจมีสีเหลืองและหลุดร่วง 
ในส้มต้นเล็กอายุประมาณ 1 - 2 ปี มักมีอาการเหี่ยวเฉาคล้ายขาดน้ำและต้นแห้งตายในเวลาต่อมา แต่เมื่อขุดรากขึ้นมาตรวจดูจะพบว่ารากถูกทำ
ลาย ปลายรากกุดสั้นไม่แตกแขนงและมีบาดแผลสีน้ำตาลขนาดเล็กที่เปลือกราก
           การป้องกันกำจัด
           - ดูแลรักษาต้นส้มให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการใส่ปุ๋ยและเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน
           - ในกรณีที่เกิดการระบาดรุนแรง ควรให้นักวิชาการเกษตรตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมให้คำแนะนำ  หากเป็นปัญหาซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอย 
ต้องทำการฆ่าเชื้อในดินก่อนปลูกส้มและต้องมีมาตรการอื่นๆในการควบคุมโรคด้วย
โรคทีเกิดจากการขาดธาตุอาหาร (Mineral deficiency)
                      ต้นส้มและพืชอื่นๆต้องการแร่ธาตุหลายอย่างเพื่อการเจริญเติบโต ธาตุที่จำเป็นโดยทั่วๆไปมีอย่างน้อย 16 ธาตุ แบ่งเป็นกลุ่มได้ 3 
กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นแร่ธาตุที่พืชต้องการมากแต่สามารถดูดหรือรับจากน้ำและอากาศ ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน กลุ่มที่ 2 เป็น
ธาตุอาหารหลัก (major  elements or macronutrients) ที่พืชต้องการในปริมาณมากเพื่อการเจริญเติบโต  มีอยู่ในดินทั้งในรูปอินทรีย์สารและ
อนินทรีย์สาร ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส  โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และ กำมะถัน สามธาตุแรกมีอยู่ในดินไม่เพียงพอกับความ
ต้องการของพืชจึงต้องมีการให้เพิ่มเติมแก่พืช โดยการใส่ให้ทางดินหรือฉีดพ่นให้ทางใบในลักษณะของปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์และปุ๋ยคอก
หรือปุ๋ยอินทรีย์  จึงเรียกธาตุสามชนิดนี้ว่าธาตุปุ๋ย (fertilizer elements) สำหรับ แคลเซียม แมกนีเซียม และ กำมะถันแม้เป็นธาตุที่พืชต้องการมาก
แต่ก็มีอยู่ปริมาณมากในดินทั่วๆไป และเพียงพอกับความต้องการของพืช กลุ่มที่ 3 เรียกว่าจุลธาตุ (minor elements or trace elements or 
micronutrients) เป็นแร่ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้ ได้แก่ ทองแดง เหล็ก สังกะสี แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม และ 
คลอรีน 
           หากพืชได้รับแร่ธาตุดังกล่าวไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้สัดส่วนหรือได้รับธาตุหนึ่งอธาตุใดเป็นจำนวนต่ำกว่าปริมาณต่ำสุดที่พืชต้องการเพื่อ
การเจริญเติบโตตามปกติแล้ว พืชย่อมมีการเจริญไม่สมบูรณ์หรือแสดงอาการต่างๆทั้งภายในและภายนอก เกิดความแตกต่างหรือผิดปกติที่ส่วน
ใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนของพืช ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชและชนิดของแร่ธาตุ ในกรณีที่พืชได้รับแร่ธาตุมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอาการผิด
ปกติได้  เช่น ส้มที่ได้รับแร่ธาตุไนโตรเจนมากมักมีอาการใบใหญ่แต่บาง ข้อปล้องยาวทำให้กิ่งอ่อนห้อยย้อย ผลส้มมีขนาดใหญ่แต่เปลือกหนาและ
รสจืดชืด เป็นต้น
           อาการผิดปกติเนื่องจากการขาดธาตุอาหารของส้มซึ่งสามารถพบได้บ่อยมาก เกิดเนื่องจากการขาดจุลธาตุ คือ เหล็ก สังกะสี และการขาด
ธาตุแมกนีเซียม
- โรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสีหรือโรคใบแก้ว (Zinc deficiency)
           โรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสีหรือโรคใบแก้วของส้ม เป็นโรคที่พบในประเทศไทยมานานนับสิบปี  ส่วนใหญ่จะพบในส้มเขียวหวาน
ในแหล่งปลูกส้มที่สำคัญๆทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบโรคนี้ในมะนาว ส้มตรา ส้มเกลี้ยง และส้มโอ มัก
ปรากฏกับต้นส้มที่ขาดการบำรุงรักษา หรือมีการปลูกพืชต่างๆติดต่อกันเป็นระยะเวลานาานโดยขาดการปรับปรุงสภาพและความอุดมสมบูรณ์ของ
พื้นดิน เนื่องจากธาตุสังกะะสีเป็นจุลธาตุจำเป็นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮอร์โมน  ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต มีความสำคัญต่อขบวน
การสร้างคลอโรฟิลล์และขบวนการสร้างแป้ง  ดังนั้นการขาดธาตุสังกะสีของส้มจึงปรากฏที่ส่วนใบอ่อนและติดตามด้วยการตายของปลายยอด
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุสังกะสี หรือส้มได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอหรืออาจจะเนื่องมาจากส้มไม่สามารถดูดธาตุสังกะสี
จากดินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
           ความสัมพันธ์กับดิน : อาการขาดธาตุสังกะสีพบได้ในส้มที่ปลูกในดินเกือบทุกชนิด  แต่ส่วนใหญ่จะพบในดินเป็นกรดหรือดินเปรี้ยวหรือ
ในดินที่เป็นด่างจัด เช่นเดียวกับสวนส้มที่มีการใส่ปูนขาว  หรือปุ๋ยโปแตสเซียม ปุ๋ยฟอสเฟตมากๆ จะมีผลทำให้ธาตุสังกะสีในดินละลายน้ำได้ยาก
มากขึ้น และอาจทำให้ส้มแสดงอาการขาดได้ การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ให้มีค่าประมาณ 6.0 จะทำให้ธาตุสังกะสีละลายน้ำได้ดีขึ้น
           ลักษณะอาการ : อาการเริ่มแรกจะเป็นอาการด่างเหลืองอยู่ระหว่างเส้นกลางของใบอ่อน ต่อมาอาการด่างเหลืองจะชัดเจนมากขึ้น ทำให้เห็น
คล้ายกับว่าเส้นกลางเป็นสีเขียวอยู่บนแผ่นใบหรือเนื้อใบที่มีสีเหลือง  ถ้าเป็นรุนแรงมีผลทำให้ใบอ่อนมีขนาดเล็กลง ปลายใบเรียวแหลมและชี้ตั้ง
ขึ้น  ส้มมีการสร้างกิ่งก้านมากแต่สั้นเป็นกระจุกและมักแห้งตายจากส่วนปลายเข้ามา (die back) ต้นจะทรุดโทรม ผลจะมีขนาดเล็กลง คุณภาพไม่ดี 
รสจืด เนื้อฟ่าม และ มีกากมาก
           สำหรับโรคนี้พบว่า อาการของโรคใกล้เคียงกับอาการของโรคกรีนนิ่งมากจนบางครั้งไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ต้องอาศัยข้อสังเกต
หลายๆอย่างประกอบกัน กล่าวคือ
           1. อาการขาดธาตุสังกะสีมักเกิดในสวนส้มที่มีสภาพดินเป็นกรดจัดหรือด่างจัด ซึ่งทำให้ธาตุสังกะสีอยู่ในสภาพที่พืชไม่สามารถนำมาใช้
ประโยชน์ได้
           2. การแสดงอาการของส้มที่ขาดธาตุสังกะสีมักจะเริ่มปรากฏกับยอดหรือใบอ่อนของทุกๆกิ่งพร้อมๆกัน ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกิ่งหนึ่งกิ่งใด
ก่อนแล้วจึงลุกลามและสภาพการเกิดโรคมักเริ่มต้นพร้อมๆกันหลายๆต้นในสวนเดียวกัน  สำหรับโรคกรีนนิ่งจะเริ่มต้นเป็นโรคที่ต้นหนึ่งต้นใด
ก่อนแล้วจึงแพร่ระบาดไปยังต้นใกล้เคียง
           3. ในสวนส้มที่เป็นโรคกรีนนิ่งระบาด มักพบแมลงพวกเพลี้ยกระโดดส้มอยู่เป็นจำนวนมาก
           4. ผลส้มของต้นที่เป็นโรคกรีนนิ่ง มักมีส่วนเปลือกบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นสีเขียวเป็นแต้มๆแม้ว่าจะสุกแล้วก็ตาม  ลักษณะอาการดัง
กล่าวไม่พบในส้มที่ขาดธาตุสังกะสี
           5. เมื่อนำใบส้มจากต้นที่เป็นโรคขาดธาตุสังกะสีไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุสังกะสี  จะพบว่ามีปริมาณน้อยกว่า 20 ส่วนในล้านส่วน
           6. ใบของส้มที่เป็นโรคกรีนนิ่ง เมื่อนำไปศึกษาดูโครงสร้างจุลภาค (ultrastructure  study) จะพบเชื้อคล้ายมายโคพลาสมาในขณะที่ใบส้ม
ซึ่งขาดะาตุสังกะสีจะไม่พบเชื้อดังกล่าว
           การป้องกันหรือแก้ไข
           - ปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้มีค่าประมาณ 5.6 - 6.5 ซึ่งธาตุสังกะสีในดินจะสามารถละลายน้ำเป็นประโยชน์กับพืชได้ดีที่สุด ใน
กรณีดินเป็นด่างควรแก้ไขโดยการใช้ปูนยิปซัมและหากดินเป็นดินเปรี้ยวหรือเป็นกรดควรแก้ไขโดยการใช้ปูนขาว
           - หากส้มแสดงอาการขาดธาตุนี้เพียงเล็กน้อย อาจแก้ไขได้โดยการให้สารที่มีธาตุสังกะสี  เช่น นูตราสเปรย์ ตามอัตราที่แนะนำ หรือสัง
กะสีซัลเฟต (ZnSO4) ความเข้มข้น 1,000 - 2,000 ส่วนในล้านส่วน ฉีดพ่นให้ทางใบ ปีละ 1 - 3 ครั้ง ในระยะใบเพสลาดหรือระยะดอกบานจนถึง
ระยะเริ่มติดลูก  แต่ไม่ควรฉีดพ่นในระยะส้มแตกใบอ่อนใหม่ๆเพราะอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ได้
           - ในกรณีที่ส้มแสดงอาการขาดธาตุนี้อย่างรุนแรง ควรทำการตรวจสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินว่าดินเป็นกรดจัดหรือด่างจัดหรือ
ไม่ หากเป็นกรดจัดหรือด่างจัดเกินไป ให้กรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้มีค่าประมาณ 5.6 - 6.5 และให้ธาตุสังกะสีแก่ต้นส้มทั้งการ
ฉีดพ่นให้ทางใบและการใส่ลงในดิน หากต้นส้มอายุ 4 ปีขึ้นไป ให้ใช้อัตรา 300 - 400 กรัม / ต้น / ปี หรือในอัตราที่มากกว่า  ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับ
ความรุนแรงของอาการแลขนาดของต้นส้ม
- โรคขาดธาตุแมงกานีส (Manganese  deficiency)
           ธาตุแมงกานีสเป็นธาตุที่มีความจำเป็นต่อพืชเช่นเดียวกับธาตุสังกะสี มีส่วนร่วมในขบวนการสังเคราะห์แสง การสร้างคาร์โบไฮเดรท 
การสังเคราะห์วิตามินไรโบฟลาวิน (riboflavin) และกรดแอสคอร์บิค (ascorbic acid) ส้มซึ่งขาดธาตุนี้มักแสดงอาการของโรคที่ใบแก่ในลักษณะ
ของารเหลือง (chlorosis) อย่างสม่ำเสมอ
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุแมงการนีสหรือส้มไม่สามารถนำธาตุนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
           ความสัมพันธ์กับดิน : การขาดธาตุแมงกานีสนี้พบมากบนส้มซึ่งปลูกในดินที่เป็นดินปูน  ดินร่วนปนทรายมากกว่าดินที่เป็นดินกรดหรือ
ดินเปรี้ยว
           ลักษณะอาการ : ต้นส้มซึ่งขาดธาตุแมงกานีสมักแสดงอาการผิดปกติรวมๆไปกับการขาดธาตุสังกะสี จนบางครั้งอาจทำให้แยกความแตก
ต่างได้ยาก อาการขาดธาตุแมงกานีสสามารถเกิดได้ทั้งบนใบอ่อนและใบแก่  แต่อาการของโรคปรากฏเด่นชัดมากบนใบแก่ โดยใบเกิดอาการ
เหลืองตามบริเวณสองข้างของเส้นใบ ใบบางกว่าปกติแต่ขนาดของใบไม่เล็กลง ส้มมีรสจืด
           การป้องกันหรือแก้ไข
           - ป้องกันการขาดธาตุนี้โดยการปรับปรุงดินหรือดูแลรักษาต้นส้มอยู่เสมอๆ  ด้วยการใส่ปุ๋ยและการเขตกรรม เช่นการใช้ปุ๋ยคอก การให้
ธาตุอาหารเสริมทางใบ และการใช้อินทรีย์วัตถุปรับปรุงสภาพของดิน
           - ต้นส้มที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีส อาจแก้ไขได้โดยการให้ปุ๋ยทางใบซึ่งมีองค์ประกอบของแร่ธาตุแมงกานีส หรือให้แมงกานีสในรูป
ของเกลืออนินทรีย์ ได้แก่ แมงกานีสซัลเฟต (MnSO4)  หรือแมงกานีสออกไซด์ (MnO) ฉีดพ่นให้ทางใบในอัตราส่วนประมาณ 500 - 1,000  ส่วน
ในล้านส่วน เดือนละครั้งจนกว่าต้นส้มมีอาการปกติ หรืออาจให้เกลืออนินทรีย์ของแมงกานัฃีสในรูปของแมงกานีสซัลเฟตทางดิน ในอัตรา 200 - 
1,000 กรัม / ต้น / ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด อายุของต้นส้มและความรุนแรงของการขาดธาตุ
- โรคขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
           ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุอาหารที่มีความสำคัญโดยเป็นส่วนหระกอบของเอนไซม์ ซึ่งอยู่ในขบวนการของการสร้างคลอโรฟิลล์และเป็นส่วน
ประกอบของโปรตีน ธาตุเหล็กเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายในต้นพืช ดังนั้นอาการขาดธาตุเหล็กจึงมักปรากฏหรือเกิดขึ้นที่ใบอ่อน นอกจากนี้พบว่า
การขาดธาตุเหล็กพบมากในส้มที่ปลูกในดินที่เป็นด่างพบในส้มเขียวหวาน  ส้มโอ และส้มตรา
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุเหล็กหรือต้นส้มไม่สามารถใช้ธาตุเหล็กที่มีอยู่ในดินให้เป็นประโยชน์ได้
           ความสัมพันธ์กับดิน : พบอาการขาดธาตุเหล็กกับส้มที่ปลูกในดินค่อนข้างเป็นด่าง (pH มากกว่า 6.5) ดินทรายหรือดินปูนที่ขาดการใส่ปุ๋ย
อินทรีย์หรือปุ๋ยคอก ดินที่มีการปลูกพืชต่างๆติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการฟื้นดินหรือปรับปรุงสภาพดินและในดินที่น้ำทะเลท่วมถึง
           ลักษณะอาการ : อาการขาดธาตุเหล็กของส้มนี้จะคล้ายๆกับการขาดธาตุแมงกานีส  แมกนีเซียม และสังกะสี โดยทำให้ใบเกิดอาการด่าง
เหลือง การแยกความแตกต่างว่าเกิดจากการขาดธาตุใดต้องสังเกตให้ดี  กล่าวคือ เมื่อส้มเกิดการขาดธาตุเหล็กในระยะแรกๆจะพบว่าใบอ่อน
ตรงเนื้อใบระหว่างเส้นใบจะค่อยๆเหลือง  เส้นใบแขนงเริ่มเป็นสีเขียวจางจนเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อใบแก่ขึ้นอาการนี้อาจหายได้ถ้าขาดธาต
ุเหล็กเพียงเล็กน้อย  แต่ถ้าขาดธาตุนี้มากใบจะมีสีเหลืองมากขึ้นจนกลายเป็นเหลืองซีด ใบส้มค่อนข้างบางกว่าปกติ ขนาดอาจเล็กลงและมักเปราะ 
ใบร่วงเร็วกว่ากำหนด และปลายกิ่งมักเกิดอาการแห้งตาย ผลส้มมีขนาดเล็กลงหรืออาจไม่ติดผลเลย และมีเนื้อฟ่าม หยาบ
           โดยส่วนใหญ่การขาดธาตุเหล็กมักเกิดรวมกับการขาดธาตุอื่นๆด้วย
           การป้องกันหรือแก้ไข
           - ในกรณีที่ดินเป็นด่างจัด การแก้ไขทำได้ค่อนข้างยากและต้องการเวลามาก  อาจแก้ไขได้โดยการใช้สารเคมีบางชนิด หรือการใช้ปุ๋ย
วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลตกค้างในดินเป็นกรด  เช่น การใช้ปุ๋ยพวกไอออนซัลเฟต (SO4) แต่ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีผลทำให้โครงสร้างของดิน
เปลี่ยนไปจนเกิดความไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้
           - หากต้นส้มแสดงอาการขาดธาตุเหล็กเพียงเล็กน้อย การใช้ปุ๋ยทางใบหรือธาตุอาหารเสริมทางใบซึ่งประกอบด้วยเกลืออนินทรีย์ของเหล็ก  
หรือการให้เหล็กซัลเฟต (FeSO4) สามารถช่วยให้ต้นส้มมีอาการดีขึ้น
           - การใช้เหล็กคีเลท (chelated iron) ใส่ในดินโดยตรงสามารถช่วยแก่ปัญหานี้ได้แต่ต้องใส่ให้ทีละน้อย เพราะอาจเป็นพิษทำอันตรายต่อ
รากส้มได้ถ้าใส่มากเกินไป การให้เหล็กคีเลทต้องเว้นระยะห่างนานพอสมควร  คือ ประมาณไม่เกิน 0.5 - 1 กิโลกรัม / ต้น / ปี สำหรับต้นส้มขนาด
ใหญ่
           - แนวปฏิบัติประการหนึ่งซึ่งสามารถป้องกันการขาดธาตุเหล็กในส้มได้ คือ  การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม (ประมาณ 
5.6 - 6.5) ในกรณีของดินด่างควรแก้ไขโดยการใช้ปูนยิปซัมและดินกรดควรแก้ไขโดยการใช้ปูนขาว
- โรคขาดธาตุแมกนีเซียม (Magnesoum deficiency)
           ธาตุแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อพืชมาก เนื่องจากธาตุแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ และมีบทบาทหน้าที่เกี่ยว
ข้องกับขบวนการหายใจและขบวนการอื่นๆของพืชอีกมาก  แม้ว่าแมกนีเซียมเป็นธาตุหลักที่มีปริมาณมากในดินแต่เป็นธาตุที่พืชต้องการใช้ใน
ปริมาณมากเช่นกัน   ส้มเขียวหวาน ส้มตรา และส้มโอจึงปรากฏอาการขาดธาตุนี้เสมอๆ โดยเฉาพะในต้นส้มที่มีอายุมากหรืออยู่ในระยะการให้ผล
ผลิต
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุแมกนีเซียม หรือส้มไม่สามารถใช้ธาตุนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ซึ่งอาจเกิดจากการที่ธาตุนี้ถูกตรึง
อยู่ในดิน
           ความสัมพันธ์กับดิน : การขาดธาตุแมกนีเซียมในส้มมักปรากฏเสมอๆในแหล่งปลูกที่เป็นดินเหนียวหรือดินปูน และมักเกิดการขาดธาตุนี้
อย่างรุนแรงกับส้มที่ปลูกในดินที่เป็นด่างจัด
           ลักษณะอาการ : ส้มที่เกิดการขาดแมกนีเซียมจะปรากฏอาการด่างเหลืองหรือสีเหลืองบรอนซ์บนแผ่นใบโดยเส้นกลางใบและเนื้อในบริเวณ
โคนใบยังคงมีสีเขียว ทำให้ดูคล้ายกับรูปลิ่มหรือตัววีหัวกลับ ธาตุแมกนีเซียมเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายได้ในต้นพืช อาการด่างเหลืองบนใบจึงปรากฏ
กับใบแก่ก่อนในอ่อน แต่ในกรณีที่ต้นส้มขาดธาตุนี้อย่างรุนแรง เช่น การขาดธาตุนี้ในส้มโอ ใบอ่อนก็เกิดอาการด่างเหลืองได้เด่นชัดเช่นเดียว
กับใบแก่ ใบที่แสดงอาการขาดธาตุนี้รุนแรงจะเหลืองทั้งใบและหลุดร่วง ส้มที่แสดงอาการขาดธาตุแมกนีเซียมมักเกิดการขาดธาตุสังกะสีและแมง
กานีสควบคู่ไปด้วยเสมอ
           การป้องกันหรือแก้ไข
           - ปรับปรุงสภาพของดินอยู่เสมอๆด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันการขาดธาตุอาหาร
           - ฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมหรือปุ๋ยทางใบเมื่อส้มให้ผลผลิต โดยเฉพาะเมื่อส้มมีอายุประมาณ  2 - 6 เดือน โดยฉีดพ่นด้วยอัตราความเข้มข้น
ต่ำแต่ฉีดพ่นให้บ่อยครั้งประมาณ 15 - 30 วัน / ครั้ง เพราะในระยะนี้เป็นระยะที่ต้องการธาตุอาหารโดยเฉพาะธาตุรองมาก
           - ในกรณีที่ต้นส้มแสดงอาการขาดธาตุแมกนีเซียม สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยการฉีดพ่นด้วยสารละลายของแมกนีเซียมซัลเฟต 
(MgSO4) แมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) หรือแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (MgNH4PO4H2O) ความเข้มข้น 1 - 2%  10 - 15 วัน / ครั้ง จนส้ม
มีอาการปกติ
- โรคขาดธาตุแคลเซียม (Calcium deficiency)
           สาเหตุของโรค : เกิดเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียม หรือส้มไม่สามารถใช้ธาตุนี้ให้เป็นประโยชน์ได้
           ลักษณะอาการ : ผลส้มอายุ 4 - 6 เดือนจะมีส่วนเปลือกด้านก้านผลบางกว่าด้านขั้วผลและอาจทำให้ผลแตกตามความยาวผลได้อีกด้วย
           การป้องกันหรือแก้ไข : อาจฉีดพ่นด้วยแคลเซียมโบรอน (แต่ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา)
แมลงศัตรูส้ม และ การป้องกันกำจัด
          ในการปลูกส้มให้ประสบความสำเร็จนั้นนอกจากจะมีอุปสรรคสำคัญในเรื่องของโรคแล้ว  การเข้าทำลายของแมลงและไรศัตรูส้มก็ได้ก่อ
ให้เกิดความเสียหายต่อต้นส้มและผลผลิตส้มในปีหนึ่งๆคิดเป็นมูลค่าไม่น้อย  โดยทั่วไปชาวสวนจะนิยมใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลง
และไรศัตรูส้มเป็นหลักเนื่องจากให้ผลรวดเร็ว  ประหยัดเวลาและแรงงาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญ
กับสินค้าที่มาจากระบบการผลิตที่ไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้วิธีการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวในการ
ควบคุมโรคและแมลงอย่างที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมมากขึ้น โดยมีการนำเอาแนว
ความคิดในการจัดการศัตรูพืชเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการปลูกพืช  ซึ่งวิธีนี้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเทคโนโลยีและ
วิธีการต่างๆหลายวิธีมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม มีการดำเนินการตามขั้นตอนโดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพืช ศัตรูพืช สภาพแวดล้อม
และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณา เช่น การใช้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของแมลงแลกไรศัตรูพืช รูปร่างลักษณะของไข่ ตัวอ่อน 
และตัวโตเต็มวัย วงจรชีวิตและลักษณะการเข้าทำลาย รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงและไรศัตรูพืชเป็นต้น ซึ่งความรู้ต่างๆ
เหล่านี้จะช่วยให้ชาวสวนสามารถตัดสินใจเลือกใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น หากมีการใช้สารเคมีเกษตรกรก็จะ
สามารถเลือกใช้สารเคมีที่ตรงกับชนืดขิงศัตรูพืช  มีวิธีการใช้และระยะเวลาที่ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
           สำหรับในสวนส้มนั้นแมลงและไรศัตรูที่พบระบาดและสร้างความเสียหายให้กับการปลูกส้มอยู่เสมอ ก็คือ หนอนชอนใบส้ม หนอนแก้วส้ม 
หนอนม้วนใบส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยไฟ ไรแดงแอฟริกัน ไรเหลืองส้ม และ ไรสนิม เป็นต้น โดยทั่วไประยะที่พืชจะมีความอ่อนแอต่อศัตรู
พืช ก็คือ ระยะที่มีการผลิใบอ่อน ระยะออกดอก ระยะติดผลอ่อน และ ระยะผลแก่
- หนอนชอนใบส้ม (Citrus leaf miner)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocnistis citrella stainton วงศ์ Lyonetiidae  อันดับ Lepidoptera เป็นหนอนขนาดเล็กมาก มีลำตัวกว้างประมาณ 
1 มม. ยาว 5 มม. มีสีเหลืองอ่อนอมเขียว ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก สีตะกั่ว  ตัวยาวประมาณ 2 มม. ตัวเมียจะวางไข่บริเวณเส้นกลางใบ
           การเข้าทำลาย จะทำลายในระยะต้นส้มแตกใบอ่อนมากที่สุด โดยไข่ที่ตัวเมียวางไว้จะฝักเป็นตัวหนอน  ซึ่งจะชอนไชกัดกินอยู่ระหว่างผิว
ใบทั้งด้านหน้าและด้านหลังของใบ เห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา และจะเข้าดักแด้ที่ริมใบโดยพันใบเข้ามาห่อหุ้มตัวเองไว้ เพื่อเจริญเป็นตัว
เต็มวัยต่อไป ใบที่ถูกทำลายจะหงิกงอและแห้ง บิดเบี้ยว ร่วงเหลือแต่กิ่ง ส่วนใบแก่ที่ถูกทำลายจะไม่ร่วงแต่จะเห็นเป็นฝ้าสีขาวตามทางเดินของ
ตัวหนอนเท่านั้น  หากมีการระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นส้มแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต นอกจากนี้รอยแผลยังเป็นแหล่งที่เชื้อสาเหตุของโรคแคง
เกอร์  จะเข้าทำลายได้ง่ายขึ้นด้วย
           การแพร่ระบาด มีการแพร่ระบาดมากในฤดูฝนช่วงที่ต้นส้มผลิใบอ่อน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม  นอกเหนือจากช่วงนี้ก็มีพบบ้าง 
กล่าวได้ว่า พบแมลงชนิดนี้ในสวนส้มได้ตลอดทั้งปี
           การป้องกันกำจัด
           - ในระยะส้มแตกยอดอ่อน ให้ฉีดพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน (พอสส์ 20% EC) อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมทโธเอท (ไดเม่ 40% 
EC) ผสมไซเปอร์เมทริน (ริพคอร์ด) 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 - 10 วันต่อครั้ง
           - ใบอ่อนที่ถูกหนอนเข้าทำลายหนัก ให้ตัดยอดอ่อนเผาทิ้งเสียนอกแปลงปลูก
- หนอนแก้วส้ม, หนอนกินใบ (Leaf eating catterpillar)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Papilio demoleus malayanus Wall. วงศ์ Papilionidae  อันดับ Lepidoptera เป็นหนอนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความ
ยาวประมาณ 3.5  ซม. สีเขียวใบไม้คล้ายใบส้ม ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อ ตัวเมียวางไข่ตามใบอ่อนของส้ม  มีลักษณะสีเหลือง รูปร่างกลม ขนาดประมาณ
หัวเข็มหมุด สังเกตเห็นได้
           การเข้าทำลาย ตัวหนอนที่ฝักจากไข่จะกัดกินใบอ่อน ยอดอ่อน และช่วงที่หนอนเริ่มมีอายุ  5 - 6 วันจะกินจุ ทำให้ส้มเสียหายอย่างรวดเร็ว
 โดยเฉพาะต้นเล็กอาจตายได้
           การแพร่ระบาด พบได้ทั่วไปในแปลงปลูกส้ม โดยมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ส้มแตกใบอ่อน เดือนพฤษภาคมถึงเดือน
ตุลาคม
           การป้องกันกำจัด
           - ในระยะที่ต้นส้มไม่มียอดอ่อน ให้เว้นการฉีดพ่นด้วยสารเคมี เพราะมีแมลงวันก้นขนเป็นศัตรูในสภาพธรรมชาติระยะดักแด้อยู่แล้ว จึง
ควรพิจารณาและงดการทำลายแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาตินี้
           - หากพบการระบาดในระยะเริ่มต้น ให้จับหนอนและไข่ทำลายเสีย แต่หากมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นด้วยสารเอ็นโดซัลแฟน (ธีโอดาน 35% 
QG) อัตรา 20 - 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทธามิโดฟอน (ทามารอน 50% LC) อัตรา 20 - 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โมโนโครโตฟอส (นูวาครอน 
56% SC) อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
- แมลงวันค่อมทอง (Leaf eating weevil)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypomeces squamosus Fabricius วงศ์ Curculionidae  อันดับ Coleoptera ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวแก่ทำความเสีย
หายมาก ตัวแก่เพศเมียจะวางไข่ในดิน ลักษณะของตัวเต็มวัยมีสีเขียวปนเหลืองเป็นมัน และยังสามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อมด้วย
           การเข้าทำลาย ระยะตัวหนอนจะกัดกินรากพืชในดิน เมื่อเป็นตัวแก่จะเข้าทำลายในระยะที่ต้นส้มแตกใบอ่อน และที่สำคัญ คือ มักพบระยะ
ที่เป็นตัวแก่อยู่กันเป็นคู่ๆ หรือรวมกันเป็นกลุ่ม  กัดกินยอดอ่อน ใบอ่อน หมดทั้งต้น ทำให้ต้นไม่เจริญเติบโต รวมทั้งกินดอกด้วย  ซึ่งก่อความ
เสียหายมาก
           การแพร่ระบาด พบการระบาดตลอดปีในบริเวณปลูกทั่วทุกท้องที่ เช่น แถบภาคใต้และภาคเหนือ  โดยเฉพาะในช่วงระยะเดือนมิถุนายน
ถึงเดือนสิงหาคมจะมีแมลงชนิดนี้ระบาดมาก
           การป้องกันกำจัด
           - สภาพความกระเทือนมีผลทำให้ตัวแก่ทั้งตัวหล่นจากต้นลงสู่พื้นดิน จึงควรใช้สวิงรออยู่ใต้กิ่ง หรือใต้ใบ ขณะทำการเขย่าต้น ซึ่งจะได้ตัว
แก่ให้นำไปเผาทำลายเสีย
           - ช่วงการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ  20 ลิตร หรือ เมทธามิโดฟอส อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
- เพลี้ยไฟ (Thrips)
           อยู่ในวงศ์ Thripidae อันดับ Thysanoptera จัดเป็นแมลงขนาดเล็ก มีลำตัวยาวประมาณ  1 มม. และขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในสภาพอากาศ
ร้อนและแห้งแล้ง
           การเข้าทำลาย ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวแก่ จะเข้าทำลายต้นส้มในระยะใบอ่อน ระยะออกดอกและผลอ่อน ส่วนโคนกลีบดอกและขั้วผลหรือ
บริเวณที่มีหลืบเหลื่อมกัน จะพบแมลงชนิดนี้เข้าทำลายเป็นจำนวนมาก ผลที่ถูกทำลายจะมีอาการแคระแกร็นรูปร่างบิดเบี้ยวและไม่เจริญเติบโต 
นอกจากนั้นบนผิวยังมีร่องรอยการทำลายเป็นวงๆ  หรือเป็นทางๆ ตามแนวผลส้มด้วย
           การแพร่ระบาด พบได้ทั่วๆไป โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้ง ซึ่งในสวนส้มพบระบาดแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
           การป้องกันกำจัด
           - หมั่นตรวจดูด้วยแว่นขยายตามใบอ่อน ดอก ผลอ่อน ในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งเพราะเป็นแมลงที่มีการระบาดได้รวดเร็วและรุน
แรงพร้อมทั้งมีวงจรชีวิตที่สั้นด้วย
           - ผลส้มที่ถูกเข้าทำลาย และมีลักษณะแคระแกร็นให้เด็ดทิ้งให้หมด เพราะผลส้มจะไม่เจริญเติบโตต่อไปและเป็นการช่วยให้ต้นส้มฟื้นตัว
ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
           - ในช่วงที่มีการระบาด ให้ฉีดพ่นด้วยไดเมทโธเอท อัตรา 30 ซีซี. หรือ คาร์บาริล  อัตรา 45 - 60 กรัม หรือ คาร์โบซัลแฟน อัตรา 30 ซีซี. 
ต่อน้ำ 20 ลิตร ในระยะห่างประมาณ 1 สัปดาห์ หากมีการระบาดอีกก็ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง
           - การพ่นน้ำขึ้นยอด
- เพลี้ยอ่อน (Citrus aphid)
           จัดอยู่ในวงศ์ Aleyrodiae อันดับ Homoptera 
           การเข้าทำลาย จะจับกันเป็นกลุ่มตามยอดอ่อน และบริเวณใต้ใบอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบหงิกงอ
           การแพร่ระบาด พบในสวนส้มทั่วไป มีการแพร่กระจายในสวนโดยมดและเพลี้ยอ่อนที่มีปีก
           การป้องกันกำจัด
           - ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมชนิดต่างๆ เช่น โมโนโครโตฟอส อัตรา 20 - 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
- เพลี้ยหอย และ เพลี้ยแป้ง (Scales  and mealy bugs)
           อยู่ในวงศ์ Coccidae อันดับ Homoptera
           การเข้าทำลาย ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ กิ่ง  และลำต้น หากมีการทำลายมาก ส่วนของกิ่งและต้นก็จะเหี่ยว
เฉาไปในที่สุด ลักษณะของการทำลายจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ
           การแพร่ระบาด ภายในสวนที่ถูกเข้าทำลาย จะมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยไปสู่บริเวณอื่นๆของลำต้น โดยมดอาศัยกินของเหลวที่เพลี้ยขับถ่าย
ออกมาเป็นอาหาร
           การป้องกันกำจัด
           - กำจัดมดซึ่งเป็นพาหะของเพลี้ย
           - ฉีดพ่นด้วย white oil มีชื่อการค้าว่า เฟซโนลา, ไวทัส, อีโคเรีย หรือ ไทรโอนา ผสมกับมาลาไธออน ตามอัตราที่ระบุในฉลาก ทำการฉีด
พ่น 10 วันครั้ง ประมาณ 2 - 3 ครั้ง นอกจากนี้เมื่อใช้ white oil แล้ว หากจะใช้กำมะถันตามให้ทิ้งระยะห่างมากกว่า  2 - 3 สัปดาห์ และหากจะใช้
แคปแทนก็ให้ทิ้งช่วงห่างมากกว่า 2 เดือน จึงจะปลอดภัย
- หนอนเจาะกิ่ง (Stem borer)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chelidonium gibicolle White วงศ์ Ceramleycidae  อันดับ Coleoptera มีการวางไข่ตามรอยแผล ลักษณะของตัวเต็ม
วัยเป็นด้วงหนวดยาว
           การเข้าทำลาย โดยตัวหนอนที่ฝักออกจากไข่จะเข้าเจาะกินส่วนของกิ่ง หรือลำต้น  สามารถลังเกตต้นที่ถูกทำลายได้โดยจะพบขี้ของหนอน
หล่นอยู่ที่บริเวณโคนต้น  และรอยเจาะมีขี้ของหนอนอยู่เป็นกระจุก
           การป้องกันกำจัด
           - หากพบตัวด้วงที่เข้าทำลาย ให้ทำลายเสีย
           - กิ่งหรือส่วนที่ถูกทำลายให้ตัด นำไปเผาทิ้งทำลายเสียนอกแปลงปลูก กรณีที่ต้นมีรูของหนอนหรือตัวแก่เจาะ  ให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง 
ดีดีวีพี หรือ ไดคลอร์วอส (มีชื่อการค้าอื่นว่า วาโปน่า 50% EC, ไดฟอส 50% EC, เดเดวับ 50% EC, อาพาวาป 50% EC) ในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 5 ส่วน 
แล้วอุดรูด้วยดินน้ำมันหรือดินเหนียวให้เรียบร้อย
- มวนเขียวส้ม (Green stink bug)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchocoris humeralis Thunberg วงศ์ Pentatomidae  อันดับ Hemiptera 
           การเข้าทำลาย โดยทั้งระยะตัวอ่อนและตัวแก่ของแมลงชนิดนี้จะใช้ปากแทงเข้าไปในผลส้มทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  เพื่อดูดน้ำเลี้ยง 
หลังจากนี้ผลส้มจะเหลืองและร่วงหล่นไป หรือบางครั้งอาจพบว่าไม่ร่วงหล่น  แต่ผลส้มนั้นจะแข็ง และไม่เจริญเติบโต
           การแพร่ระบาด มีระบาดทั่วไปในแปลงปลูก โดยจะพบมากในระยะที่ต้นส้มกำลังติดผลประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
           การป้องกันกำจัด
           - จับตัวอ่อนและตัวแก่ด้วยสวิง แล้วทำลายเสีย ในระยะไข่ควรจับแยกไว้ต่างหาก เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไข่ตัวมวน ซึ่งให้ทำลายทิ้งเสีย แต่
หากได้ไข่เป็นตัวแตนเบียนลักษณะตัวเล็กๆก็ให้ปล่อยเข้าไปในสวนส้มเพื่อเป็นตัวทำลายไข่ของมวนเขียวต่อไป
           - ให้ตัดแต่งกิ่งส้มให้มีทรงพุ่มโปร่งพอเหมาะไม่แน่นทึบ
           - เมื่อพบการระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงโมโนโครโตฟอส ในอัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรในช่วงระยะตัวอ่อนซึ่งจะให้ผลดีที่สุด เพราะ
ระยะตัวแก่สามารถบินหนีได้
- หนอนเจาะผล, หนอนกินลูก (Fruit  boring caterpillar)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citripestris sagittiferella Moore วงศ์ Pyralididae  อันดับ Lepidoptera ลักษณะตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อที่มีการวางไข่ตามผล 
หรือใบที่ติดอยู่กับผล
           การเข้าทำลาย ตัวหนอนเมื่อฝักจากไข่จะเจาะกินเข้าไปในผล รูเจาะนี้จะมีขี้ของหนอนเป็นขุยละเอียดออกมาภายนอกเห็นได้ชัดเจนบริเวณ
ที่ถูกทำลายนี้จะเน่าและมียางไหลออกมาตรงส่วนของรูนี้ ต่อมาผลจะร่วง  พร้อมทั้งตัวหนอนก็จะเข้าดักแด้ในดินเจริญเป็นวงจรต่อไป
           การแพร่ระบาด พบระบาดได้ทั่วๆไปในบริเวณที่ปลูกส้ม ช่วงระยะเวลาที่ไม่แน่นอนขึ้นกับเวลาที่ส้มจะให้ผลเมื่อใด  ซึ่งประมาณเดือน
พฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
           การป้องกันกำจัด
           - ให้ตรวจสภาพสวนและผลส้ม หากพบตัวหนอนให้ขุดหลุมฝังหรือเผาไฟเสีย เพื่อป้องกันการระบาดต่อไป  และหากพบตัวหนอนที่เริ่มออก
จากไข่ให้ฉีดพ่นด้วยเมทธามิโดฟอส อัตรา 20 - 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร แต่หากหนอนเจาะเข้าผลแล้วการฉีดพ่นด้วยสารเคมีก็ไร้ผล
           - ระยะออกดอก ให้ห่อผลส้มด้วยถุงพลาสติกเปิดก้นถุง หากกรณีที่มีการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงก่อนแล้วจึงห่อผลส้มด้วยถุง
พลาสติก
- ผีเสื้อมวนหวาน (Fruit piercing  moth)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Othreis fullonia Clerck หรือ Othreis fullonica  L. วงศ์ Noctuidae อันดับ Lepidoptera ลักษณะของตัวเต็มวัยมีปีกคู่
หน้าสีน้ำตาลปนเทา ปีกคู่หลังสีเหลือง ขอบปีกด้านนอกสีดำและกลางปีกมีแถบสีดำอีก 1 อัน เมื่อกางปีกจะกว้าง  8.5 - 9 ซม. มีการวางไข่ตามใบ
พืช ตัวหนอนที่มีขนาดโตเต็มที่แล้วยาวประมาณ 5 - 6 ซม. อาศัยพืชป่าบางชนิด เช่น ใบบอระเพ็ด และเถ้าหญ้านางเป็นอาหาร  และจะเข้าดักแด้
ตาบใบพืช
           การเข้าทำลาย ระยะผลสุกจะถูกตัวเต็มวัยของแมลงชนิดนี้ใช้ปากแทงเข้าไปในผลและดูดน้ำหวาน ทำให้ผลเน่าและร่วงหล่นก่อนกำหนด
           การแพร่ระบาด มีการระบาดมากในช่วงที่ส้มกำลังสุก ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
           การป้องกันกำจัด
           - ทำการห่อผลในระยะเริ่มสุก เพื่อป้องกันผีเสื้อเข้าเจาะผล
           - โดยปกติตัวเต็มวันจะเริ่มออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำและพบมากในช่วงเวลา 20.00 - 22.00 น. ให้ใช้ไฟฉายส่องหาตามต้นส้ม ซึ่งจะ
เห็นตาเป็นสีแดง ให้ทำการใช้สวิงโฉบจับทำลายเสีย  หรือใช้เหยื่อพิษล่อ โดยใช้สับปะรดตัดเป็นชิ้นๆ ให้หนาประมาณ 1 นิ้ว นำไปจุ่มลงในน้ำ
ยาคาร์บาริล  อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วนำไปแขวนไว้ที่ต้นส้ม เมื่อแมลงมากินก็จะตาย
- แมลงวันทอง (Fruit fly)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dacus dorsalis Hendel วงศ์ Trypetidae อันดับ Diptera  ไข่มีขนาดเล็ก สีขาวนวล ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ในเนื้อ
ผล โดยใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไป ในระยะตัวหนอนจะเข้าดักแด้ภายในดิน
           การเข้าทำลาย โดยตัวหนอนที่ฝักออกจากไข่ชอนไชกินเนื้อผลไม้ ผลที่ถูกทำลายนี้จะเน่าและร่วงหล่นในที่สุด
           การแพร่ระบาด พบแมลงชนิดนี้ระบาดตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
           การป้องกันกำจัด
           - ให้ห่อผลด้วยกระดาษสีน้ำตาล ถุงพลาสติก เพื่อป้องกันการวางไข่
           - ผลที่ถูกแมลงนี้เข้าทำลายและหล่นอยู่ตามโคนต้น ให้เก็บฝังดินหรือเผาทำลายเสีย
           - ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยระบาด การพ่นสารฆ่าแมลงควรกระทำในระยะเวลาที่ผลใกล้สุก  และให้พ่นด้วยคาร์บาริล อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
ให้ทั่วบริเวณผล ในระยะ 7 วันครั้ง ในช่วงฤดูการระบาด ให้เพิ่มเป็น 4 วันครั้ง หากจะให้ผลดีให้พ่นในตอนเช้ามืด พร้อมทั้งให้หยุดพ่นก่อนการ
เก็บเกี่ยว 10 วัน
           - ในพื้นที่ที่ระบาดเป็นประจำให้พ่นด้วยมาลาไธออน 70 ซีซี. ยีสต์โปรตีนไฮโดรไลเซท (นาซิมาน) 200 ซีซี. ต่อน้ำ 5 ลิตร พ่นต้นละจุดตรง
ใบแก่ ในระยะสูงประมาณระดับตา  จุดละประมาณ 100 ซีซี. โดยเฉพาะแถวริมให้พ่น 2 จุด เพื่อป้องกันแมลงซึ่งบินเข้ามาจากแปลงข้างเคียงทุก            
7 วันครั้ง
           - ล่อด้วยกับดัก โดยใช้สารเมทธิลยูจีนอล (methyl eugenol) ผสมสารฆ่าแมลง  ซึ่งจะล่อได้เฉพาะเพศผู้เท่านั้น วิธีการก็ให้เริ่มวางกับดัก
ก่อนฤดูระบาด 1 เดือน จนพ้นฤดูกาลระบาด โดยวางในระยะกึ่งกลางทรงพุ่มประมาณไร่ละ 5 -  16 จุด ให้ห่างกันจุดละประมาณ 10 - 20 เมตร จาก
นั้นให้เติมสารล่อ และสารฆ่าแมลงทุก 3 - 5 สัปดาห์ สารฆ่าแมลงที่ใช้ได้แก่ มาลาไธออน เฟรนิโตรไธออน นาเล็ด  หากพบแมลง 50 - 200 ต่อกับ
ดักต่อสัปดาห์แล้ว ให้ทำการพ่นสารฆ่าแมลงตามหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น
- ไรแดงส้ม (red citrus mite)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paratetranychus citri McG. วงศ์ Tetranychidae อันดับ  Acarina ตัวอ่อนที่ฝักออกมาจากไข่ (ไข่มีรูปร่างค่อนข้างกลม
สีแดงสด ขนาด  0.13 มม.) จะมีขา 3 คู่ ระหว่างการเจริญเติบโตมีการลอกคราบ 3 ครั้ง แต่ละครั้งกินเวลา 2 - 3 วัน เมื่อโตเต็มวัยจะมีขา 4 คู่ ลำตัว
รูปไข่โค้งนูนเล็กน้อย สีแดงเข้ม ตามปุ่มของลำตัวจะมีขนสีขาว เมื่อถีงวัยเจริญพันธุ์ตัวเมียจะวางไข่ตามใบและผลของส้ม
           การเข้าทำลาย ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อนและผล ทำให้ส่วนต่างๆเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นสีเงิน ต่อมาจะเปลี่ยน
เป็นสีน้ำตาลและร่วงในที่สุด  นับเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของส้ม
           การแพร่ระบาด พบระบาดในฤดูแล้ง หรือ ในระหว่างการกักน้ำหรืองดน้ำ
           การป้องกันกำจัด
           - ฉีดด้วยกำมะถันผงชนิดละลายน้ำในอัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นเพื่อป้องกันใบไหม้
           - ฉีดพ่นด้วยเคลเทน ตามอัตราส่วนที่ผู้ขายแนะนำ
           - ฉีดพ่นน้ำขึ้นยอดด้วยน้ำธรรมดา โดยใช้เครื่องอัดฉีดที่มีพลังสูง
           - พ่นสารป้องกันกำจัดไร เช่น ปิโตรเลียมออยส์ เฮกซีไทอะซอกซ์ โพรพาร์ไกต์ ฟลูเฟนนอกซูรอน อามีทราซ
- ไรสนิมส้ม (Citrus mite)
           มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocoptruta oleivora (Ashm.) วงศ์ Eriphyidae  อันดับ Acarina ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อนคล้ายฟางข้าว หลังจากลอก
คราบ 2 ครั้งก็จะเป็นตัวเต็มวัย  มีสีเหลืองแก่เกือบเป็นสีน้ำตาล ลำตัวเล็กกลมส่วนท้ายเรียวแหลมคล้ายรูปลิ่ม ตัวเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้
มากถึง 20 ฟอง โดยจะวางไข่เดี่ยวๆตามใบหรือผลของส้ม
           การเข้าทำลาย ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน และผล ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเงิน มีลักษณะม้วนหรือห่อขึ้น ยอด
อ่อนจะแคระแกร็น  สำหรับผลจะเห็นเป็นจุดหรือผื่นสีดำแดง ทำให้ผลส้มแข็ง มีคุณภาพต่ำลง ถ้าผลมีขนาดเล็กอาจจะร่วงหล่นหรือไม่เจริญ
           การแพร่ระบาด มีการระบาดตลอดปีโดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นสูง และ อุณหภูมิต่ำ  เช่น ในฤดูร้อนถ้ามีฝนตกหนักแล้วจะมีการระบาด
อย่างรุนแรงและรวดเร็วมาก
           การป้องกันกำจัด
           - ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงชนิดละลายน้ำ อัตรา 4 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตร
           - ฉีดพ่นด้วยไซแนบ อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
           - ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ด้วงเต่า และ แมลงวันขายาว
การทำลายของแมลงและไรศัตรูส้ม
ระยะของต้นส้ม
แมลงและไรศัตรู
ใบอ่อน
หนอนชอนใบส้ม, หนอนแก้วส้ม, เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อน, เพลี้ยไก่แจ้ส้ม
ใบแก่
หนอนประกบใบ(หนอนม้วนใบส้ม), หนอนแก้วส้ม, ไรแดงแอฟริกัน,ไรเหลืองส้ม,ไรสนิม
ดอก
หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน, เพลี้ยไฟ
ผลอ่อน
หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน, เพลี้ยไฟ, ไรเหลืองส้ม, ไรแดงแอฟริกัน
ผลแก่
ผีเสื้อมวนหวาน, เพลี้ยไฟ, ไรแดงแอฟริกัน, ไรสนิม, เพลี้ยหอย, เพลี้ยแป้ง,หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน
ระยะของต้นส้ม แมลงและไรศัตรู
           ใบอ่อน หนอนชอนใบส้ม, หนอนแก้วส้ม, เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อน, เพลี้ยไก่แจ้ส้ม
           ใบแก่ หนอนประกบใบ (หนอนม้วนใบส้ม), หนอนแก้วส้ม, ไรแดงแอฟริกัน 
           ไรเหลืองส้ม, ไรสนิม
           ดอก หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน, เพลี้ยไฟ
           ผลอ่อน หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน, เพลี้ยไฟ, ไรเหลืองส้ม, ไรแดงแอฟริกัน
           ผลแก่ ผีเสื้อมวนหวาน, เพลี้ยไฟ, ไรแดงแอฟริกัน, ไรสนิม, เพลี้ยหอย 
           เพลี้ยแป้ง, หนอนเจาะสมอฝ้ายอเมริกัน
 การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูส้มโดยวิธีผสมผสาน
           เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนส้มมีต้นทุนในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่สูงขึ้นในขณะที่ราคาผลผลิตเริ่มลดต่ำลง ทำให้ชาว
สวนหลายๆท่านหันมาให้ความสนใจในการลดต้นทุนการผลิตกันมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สัดส่วนอยู่ประมาณ  
20 - 30% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกอบกับปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจกับผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีและ
มาจากระบบการผลิตที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้หลายๆฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความตื่นตัวกับการส่งเสริมการป้องกัน
กำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน
           
หลักการในการใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบนี้ในสวนส้มให้ได้ประสิทธิผล  ก็คือ
           1. เกษตรกรควรรู้จักชนิดของแมลงศัตรูส้มที่สำคัญ และสามารถเรียงลำดับความสำคัญของแมลงศัตรูแต่ละชนิดได้            
           โดยทั่วไปพบว่าแมลงศัตรูส้มจะมีอยู่มากกว่า 20 ชนิด ซึ่งเกษตรกรควรทำการศึกษาและทำความรู้จักกับรูปร่างหน้าตาของแมลงศัตรูแต
่ละชนิดเสียก่อน ที่สำคัญจะต้องทราบว่าแมลงชนิดใดเป็นศัตรูสำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเพื่อที่จะได้มีการวางแผนติดตามสถาน
การณ์การระบาดและใช้วิธีการจัดการควบคุมได้อย่างเหมาะสม
แสดงถึงแมลงศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูส้มบางชนิด 
แมลงศัตรูส้ม
แมลงศัตรูธรรมชาติ
รูปร่างลักษณะของแมลงศัตรูธรรมชาติ
ระยะที่เป็นศัตรูธรรมชาติ
เพลี้ยไฟ

แตนเบียนเอฟิเดียส

แตนเบียนขยาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง หนวดยาวมาก เส้นปีกมีน้อยที่สุดในวงศ์แตนเบียน

ตัวหนอน

แมลงช้างปีกจุด ตัวเต็มวัยมีปีกใสและมีจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กกระจายอยู่จำนวน 8 จุด ตัวหนอนและตัวเต็มวัย
แมลงช้างปีกใส ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กเพียง 1.0-1.2 ซม. สีเขียวอ่อน ปีกโปร่งใสสีเขียว หนวดยาว ตัวหนอน
ด้วงเต่าลายหยัก ลำตัวยาวประมาณ 0.5-0.6 ซม. สีแสดแดง มีลายหยักเป็นขีดสีซิกแซกสีดำบนปีก ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าสีส้ม ลำตัวขนาด 4 มม. รูปไข่และมีสีสันสดใส ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองและจุดสีบนส่วนหัว ตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าลายจุด ลำตัวกลมแต่ค่อนข้างยาว ตัวสีเหลืองปนน้ำตาลสีจุดสีดำ 2 จุดตรงปลายปีกทั้ง 2 ข้าง ตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าลายขวาง เป็นด้วงเต่าตัวสีเหลืองส้มที่ลวดลายจุดสีดำ ขาสีขาว ตัวเต็มวัย
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม แตนเบียนทามาริคเซีย แตนเบียนขนาดเล็กสีดำ หนอนและดักแด้อยู่ภายในเเพลี้ย
แตนเบียนซิลเลฟายคัส แตนเบียนขนาดเล็กสีดำ หนอนและดักแด้อยูภายในเพลี้ย
แมลงช้างปีกใส ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กเพียง 1.0-1.2 ซม. สีเขียวอ่อน ปีกโปร่งใสสีเขียว หนวดยาว ตัวหนอน
ด้วงก้นกระดกหางคีม ด้วงปีกหน้าสั้นปีกหลังยาว และไม่พับเก็บใต้ปีกหน้า มีสีเหลืองลายดำ ตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าลายหยัก ลำตัวยาวประมาณ 0.5-0.6 ซม. สีแสดแดง มีลายหยักเป็นขีดสีซิกแซกสีดำบนปีก ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าสีส้ม ลำตัวขนาด 4 มม. รูปไข่และมีสีสันสดใส ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองและจุดสีบนส่วนหัว ตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าลายจุด ลำตัวไม่กลมแต่ค่อนข้าวยาว ตัวสีเหลืองปนน้ำตาลมีจุดสีดำ 2 จุดตรงปลายปีกทั้ง 2 ข้าง ตัวเต็มวัย
ด้วงเต่าลายขวาง ตัวสีเหลืองส้มมีลวดลายเป็นจุดสีดำ ขาสีขาว ตัวเต็มวัย
แมลงวันดอกไม้ลายน้ำตาล สีเหลือง ส่วนท้องผอมยาว หนอนสีน้ำตาลมีลายด่าง ตัวเต็มวัย
มวนกิ่งไม้ ลำตัวแคบสั้นสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ 8 มม. มีปากใช้ดูดน้ำเลี้ยงจากเหยื่อ ตัวเต็มวัย
มวนตาโต ลำตัวสีดำยาวประมาณ 5 มม. ขาและปีกสีเหลือง ตาสีเหลืองและมีขนาดโตมาก ตัวเต็มวัย
แมลงช้างสีน้ำตาล ตัวเล็กกว่าแมลงช้างปีกใส มีปีกสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างโปร่ง ปีกยาวกว่าลำตัวมาก ตัวเต็มวัย
แมลงปอบ้าน ตัวเต็มวัย
เพลี้ยไฟ ไรห้ำแอมบลายเซียส ลำตัวยาวประมาณ 0.5-0.6 ซม. สีเหลืองส้ม ตัวเต็มวัย
แมลงช้างแป้ง ตัวเต็มวัยมีสีขาวทั้งหัว ตา ตัว ขา และปีก หนอนมีขนาดเล็กรูปร่างอ้วนสั้นสีเหลืองอมน้ำตาลแดง ตัวหนอนและตัวเต็มวัย
แมลงวันขายาว ตัวสีเขียวและสีน้ำเงินเหลือบแสงแวววาว ส่วนท้องเรียวยาว หนวดเล็กและยาว ขายาว ตัวเต็มวัย
มวนดอกไม้ เป็นมวนขนาดเล็กที่สุด ตัวอ่อนมีสีสันสดใส เช่น เหลือง ส้ม แดง ตัวเต็มวัยสีดำหัวเล็ก ตัวเต็มวัย
หนอนชอนใบส้ม แมลงช้างปีกจุด ตัวเต็มวัยมีปีกใสและมีจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กกระจายอยู่จำนวน 8 จุด ตัวหนอนและตัวเต็มวัย
แมลงช้างปีกใส ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กเพียง 1.0-1.2 ซม. สีเขียวอ่อน ปีกโปร่งใสสีเขียว หนวดยาว ตัวหนอน
แมลงช้างสีน้ำตาล ตัวเล็กกว่าแมลงช้างปีกใส มีปีกสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างโปร่ง ปีกยาวกว่าลำตัวมาก ตัวเต็มวัย

แตนเบียนเทตราสทีคัส

ตัวสีน้ำตาล ปล้องกลางหนวดมีขนาดสม่ำเสมอ ตัวอ่อน
หนอนม้วนใบส้ม แตนเบียนโกโนโอซัส มีขนาดเล็กสีดำเป็นมันวาว ลำตัวโค้งงอ หนวดยาวโค้งขึ้น ตัวหนอน
แตนเบียนแบรคคีมีเรีย มีขนาดโตตัวสีดำ รูปร่างอ้วนป้อม โคนขาหลังโปร่งโตขนาดใกล้เคียงกับส่วนท้อง ตัวหนอน
ไร แมลงช้างแป้ง ตัวเต็มวัยมีสีขาวทั้งหัว ตา ตัว ขา และปีก หนอนมีขนาดเล็กรูปร่างอ้วนสั้นสีเหลืองอมน้ำตาลแดง ตัวหนอนและตัวเต็มวัย
แมลงวันขายาว ตัวสีเขียวหรือสีน้ำเงินเหลือบแสงแวววาว ส่วนท้องเรียวยาว หนวดเล็กและยาว ขายาว ตัวเต็มวัย
ไรห้ำแอมบลายเซียส ลำตัวยาวประมาณ 0.5-0.6 ซม. สีเหลืองส้ม ตัวเต็มวัย
 ที่มา : "การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูส้ม" 
          ของ รศ. โกศล เจริญสม ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
           2. เกษตรกรต้องมีการสำรวจและติดตามสถานการณ์ศัตรูส้มเพื่อประเมินจำนวนประชากรของแมลงและไรศัตรูส้มรวมทั้งแมลงศัตรู
ธรรมชาติ (ตัวห้ำ - ตัวเบียน)
           วิธีการก็คือ เกษตรกรจะต้องมีการสุ่มสำรวจต้นส้มในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโต โดยจะทำการสุ่ม
ตัวอย่างประมาณ 5 - 10% ของจำนวนต้นส้มที่ปลูกทั้งหมดแล้วนำมาประเมินค่าเฉลี่ยของส่วนที่ถูกแมลงทำลายเสียหายว่ามากเกินกว่าระดับ
เศรษฐกิจหรือไม่ และมีจำนวนแมลงศัตรูธรรมชาติอยู่เพียงพอหรือไม่ก่อนตัดสินใจดำเนินการป้องกันกำจัด
           3. เกษตรกรต้องสามารถเลือกวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสมได้
           เมื่อเกษตรกรทราบถึงระดับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชที่ต้องมีการป้องกันกำจัดแล้ว เกษตรกรยังควรเรียนรู้ที่จะเลือกใช้วิธีการ
ป้องกันกำจัดอย่างเหมาะสมด้วย ชาวสวนส้มบางรายอาจมีวิธีการเขตกรรมหรือวิธีกลที่คิดค้นขึ้นเอง และสามารถใช้ได้ผล อย่างไรก็ตามหาก
ต้องมีการใช้สารเคมีที่มีความเฉพาะเจาะจงสูงต่อชนิดของศัตรูส้มและมีผลกระทบต่อแมลงศัตรูธรรมชาติน้อยดังแสดงไว้ในตาราง
ชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตระกูลส้มและความเป็นพิษต่อศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูพืช
สารเคมี
ความเป็นพิษต่อศัตรูธรรมชาติ
แตนเบียน
ไรตัวห้ำ
ด้วงเต่าลาย แมลงห้ำอื่น ๆ
แมลงช้าง(ตัวอ่อน)
เพลี้ยไฟ

imidaccloprid

formetanate

permethrin

cypermethrin

deltamethrin

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สารที่น่าจะนำมาใช้ tartar emetic bate
ปานกลาง-น้อย
ปานกลาง-น้อย
ปานกลาง-น้อย
ปานกลาง-น้อย
เพลี้ยไก่แจ้ส้ม

carbosulfan

dimethoate

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สารที่น่าจะนำมาใช้ buprofezin
น้อย
น้อย
ปานกลาง-สูง
น้อย
หนอนชอนใบส้ม

monocrotophos

carbosulfan

methomyl

cyfluthrin

flufenoxuron

imidacloprid

dimethoate

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย

สูง

สูง

สารที่น่าจะนำมาใช้ mineral oil 0.025%
น้อย
น้อย
น้อย
น้อย
ไรศัตรูพืช

propagite

heylthiazox

dicofol

cyclosulfyne

sulphur

amithrz

bromopropylate

lime sulphur

fenbutatin-oxide

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย

น้อย

น้อย

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

น้อย-ปานกลาง

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

ปานกลาง

สูง

ปานกลาง-สูง

ปานกลาง-สูง

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

ปานกลาง

สูง

ปานกลาง-สูง

ปานกลาง-สูง

น้อย

หนอนเจาะผล methamidophos
สูง
สูง
สูง
สูง
หนอนแก้วส้ม methamidophos
สูง
สูง
สูง
สูง
หนอนเจาะสมอฝ้าย monocrotophos
สูง
สูง
สูง
สูง
สารที่น่าจะนำมาใช้

Bacillus

thuringiensis IGR's.

-
-
-
-
เพลี้ยแป้ง methamidophos
สูง
สูง
สูง
สูง
เพลี้ยหอย

maldison

paration

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สารที่น่าจะนำมาใช้

mineral oil

buprogezin

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

ปานกลาง-สูง

น้อย

น้อย

สารเคมีอื่นๆ

carbaryl

endosulfan

omethoate

methyl paration

mevinphos

สูง

ปานกลาง-สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

ปานกลาง-สูง

สูง

สูง

สูง

สูง

ปานกลาง-สูง

สูง

สูง

สูง

โรครากเน่าโคนเน่า

fosety-al

metalaxyl

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

โรคแคงเกอร์/เมลาโนส สารประกอบทองแดง
น้อย
น้อย
น้อย
น้อย
โรคแอนแทรคโนสและกัมโทซิส mancozeb, maneb, zineb
น้อย
สูง
น้อย
น้อย
สารอื่นๆ

proppineb

benomyl

carbendazim

น้อย

น้อย

น้อย

สูง

สูง

สูง

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

น้อย

ที่มา : สำรวล ดอกไม้หอม และ พัชรี  มีนะกนิษฐ์ ใน "ส้มเขียวหวาน การปฏิบัติดูและและการบริหารศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน" 2536. 
         กองป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร
           
           4. เกษตรกรต้องทราบช่วงเวลาที่ต้นส้มมีความอ่อนแอต่อศัตรูแต่ละชนิด
           วิธีการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานนี้สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการได้ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม ระยะ
เวลา และเทคโนโลยีที่เกษตรกรมีอยู่ อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดนั้นควรจะต้องมีการนำเอาแมลงศัตรูธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
ให้ได้มากที่สุดอันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำการเกษตรยั่งยืน
ปัญหาอื่นๆที่พบ
- ใบไหม้เนื่องจากสารเคมีปราบวัชพืช (Leaf blight caused by herbicide)
           การกำจัดหรือปราบวัชพืชในสวนส้มโดยทั่วไปนิยมวิธีการใช้เครื่องมือ เช่น เครื่องตัดหญ้าแบบต่างๆ จอบ มีด และการใช้สารเคมีควบ
คุมหรือปราบวัชพืชหรือฆ่าหญ้า (herbicide) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีทั้งประโยชน์และโทษ หากเกษตรกรหรือผู้ใช้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง  ประมาท หรือรู้
เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้เช่นกัน  ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่น้อยเพียงทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติ จนกระ
ทั่งความเสียหายรุนแรง  คือ ทำให้พืชตายได้
           สาเหตุ : เกิดจากการใช้สารเคมีควบคุมหรือปราบวัชพืช เช่น พาราควอท หรือ ทู โฟร์- ดี โดยขาดความระมัดระวังหรือโดยประมาท ใช้
ยาไม่ถูกต้องตามข้อปฏิบัติ  เช่น ไม่ถูกที่ ไม่ถูกช่วงเวลา หรือใช้ยาเข้มข้นมากเกินไป นอกจากนี้ การใช้เครื่องพ่นสารเคมีโดยไม่ได้ล้างมือ
หรือทำความสะอาดก่อนเก็บ อาจทำให้ยาปราบวัชพืชที่เหลือค้างอยู่ในถังบรรจุ ทำให้เกิดอันตรายแก่พืชได้เช่นกัน
           ลักษณะอาการ : ใบส้มที่ได้รับสารเคมีควบคุมหรือปราบวัชพืชเช่น พาราควอท  หรือ ทู โฟร์- ดี จะแสดงอาการใบไหม้เป็นจุดสีน้ำตาล
อ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม เนื้อใบบริเวณนั้นถูกทำลายคล้ายเป็นแผลยุบลงไป ขอบแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มถึงสีเขียวอมน้ำตาล รูปร่างและ
ขนาดของแผลไม่แน่นอน ไม่พบจุดดำของส่วนที่สร้างสปอร์ของเชื้อราใดๆหรือเส้นใยของเชื้อราบนรอยแผล  แผลอาจเกิดกระจายทั่วไป เกิด
รวมกันเป็นกลุ่มหรือติดกันเป็นแผลใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของละอองยาปราบวัชพืชที่ตกลงบนใบ  หากได้รับมากๆใบส้มจะแห้งตายเป็น
สีน้ำตาลและทำให้กิ่งส้มตายทั้งกิ่งได้  อาการที่เกิดบนแผลส้มที่ได้รับสารเคมีนี้คล้ายคลึงกับอาการบนใบ
           คำแนะนำในการปฏิบัติ : เกษตรกรสามารถควบคุมความเสียหายซึ่งอาจเกิดเนื่องจากสารเคมีปราบวัชพืชได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะ
นำหรือข้อห้ามของการใช้สารเคมีนั้นๆอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหรือปราบวัชพืช และยังเป็น
การป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้
- ความเสียหายที่เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และ ความผิดปกติทางสรีระวิทยาของผล
           Aging (Stem-end rind breakdown) มักเกิดกับส้มพวกออเรนซ์ เกรพฟรุ๊ท และ แทนเจอรีน อาการของโรคเริ่มเป็นที่ขั้วผลก่อน ขั้วผลจะ
ขาดน้ำเกิดการเหี่ยวย่นผลเป็นสีน้ำตาล รสชาติไม่อร่อย อาการเช่นนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่สภาพที่ส่งเสริมให้เกิดมากขึ้น ได้แก่ สภาพ
การเก็บเกี่ยว ทุกขั้นตอนก่อนการบรรจุผล และสภาพในห้องเก็บผลผลิต รวมถึงความร้อนที่ส้มได้รับจากการย้อมสีผิวผล
           Chilling injury เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเก็บผลผลิตในที่เย็นจัดจนเกินไป มักเป็นกับผลเลมอน ไลม์ และส้มโอเล็ก ความ
เย็นที่ทำลายผลส้มได้ทุกส่วนของผล  ดังนั้นจึงแสดงออกหลายอาการ เช่น
           - Albedo injury เป็นอาการที่เปลือกผลชั้นในมีสีน้ำตาลเนื่องจากเก็บที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 32  องศาฟาเรนไฮ ในสภาพห้องที่ไม่มีการ
ระบายอากาศ ส่วนใหญ่เป็นกับผลเลมอนที่เก็บเกี่ยวก่อนระยะผลสุกแก่  ผลยังมีสีเขียวจัดอยู่
           - Brown- staining มีลักษณะเปลือกผลมีสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเล็กๆ หรือเป็นได้ทั้งผล อุณหภูมิที่ผลเริ่มแสดงอาการ 32 - 34 องศาฟาเรนไฮ 
ถ้าขนย้ายผลออกจากที่เก็บเมื่อผลเริ่มแสดงอาการ  สีน้ำตาลที่เปลือกผลจะค่อยๆหายไป ถ้าเป็นมากเปลือกผลจะมีสีน้ำตาลเป็นจุดๆทั่วไปทั้งผล
           - Membranous stain เป็นอาการที่เปลือกผลส้มเป็นสีน้ำตาลหรือดำ เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลในสภาพที่มีอากาศเย็นและสภาพอากาศเลว   
ผลส้มจะแสดงอาการมากขึ้นในห้องเก็บ ผลเลมอนเริ่มแสดงอาการที่ 40 องศาฟาเรนไฮ
           - Watery breakdown เป็นอาการของผลส้มที่เกิดจากการถูกแช่แข็ง เปลือกผลจะแยกออกจากเนื้อตรงชั้นของเปลือกผลชั้นกลางและบุ๋ม
ลึกลง ถ้าเอาผลออกจากห้องเก็บมาอยู่ในที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจะได้กลิ่นที่เกิดจากการหมักของผล
           การป้องกันการเกิดความเสียหายของผลส้มเนื่องจากความเย็น โดยการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาในห้องเก็บไม่ให้ให้ต่ำมาก และ
เก็บเกี่ยวผลในระยะที่ผลแก่พอดี มีการคัดขนาดผลและขนส่งอย่างระมัดระวัง
           อาการแดดเผา (Sun burn) อาการนี้สามารถพบได้กับใบ ดอก ผล กิ่ง หรือลำต้น โดยมักจะพบเกิดขึ้นกับส่วนของต้นส้มที่อยู่ทางทิศตะวัน
ตกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและเป็นช่วงที่แนวโคจรของดวงอาทิตย์จะอ้อมผ่านลงไปยังซีกโลก
ใต้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ตะวันอ้อมข้าว" โดยความรุนแรงนี้จะยิ่งมีมากขึ้นในพื้นที่ปลูกทางตอนเหนือเนื่องจากแนวเส้นรุ้งอยู่เหนือกว่า      
อาการที่เกิดในต้นส้มที่ยังมีขนาดเล็กและมีใบไม่มากนัก ก็คือ ทำให้เปลือกส่วนต่างๆของต้นส้มแห้งแตก  ในใบและผลส้มก็เช่นเดียวกัน โดย
เฉพาะผลที่อยู่นอกทรงพุ่มอาจพบลักษณะเป็นวงสีเหลือง หากอาการรุนแรงมากส่วนเนื้อด้านในก็อาจจะแห้งไปด้วย ในต้นส้มที่มีขนาดโตแล้ว
ความรุนแรงของการเกิดอาการนี้จะลดลงเนื่องจากมีใบช่วยปกคลุมไว้มาก  อาการนี้จะไม่ค่อยพบในด้านทิศอื่นของต้น ความรุนแรงนี้จะมีมาก
ขึ้นตามแนวเส้นรุ้งที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้นจึงพบปัญหานี้ในการปลูกส้มทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า  ส่วนในเขตภาคกลางนั้น
จะพบปัญหานี้อยู่บ้างในบางพื้นที่ในขณะที่ภาคใต้จะพบปัญหานี้น้อยกว่า
           อาการผิวลายจากลม (Wind scar) ในสภาพพื้นที่ปลูกที่มีลมพัดผ่านอยู่ตลอดเวลา  เช่น พื้นที่ลุ่มในเขตภาคกลางโดยเฉพาะในย่านรังสิต
จะพบปัญหาลมพัดก่อให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างผล  หรือระหว่างผลกับใบ หรือผลกับกิ่ง ทำให้เกิดอาการผิวลายขึ้นซึ่งจะแตกต่างไปจากอาการ
ผิวลายที่เกิดจากราสนิมหรือการเข้าทำลายของเชื้อราเมลาโนส  และแม้จะมีการค้ำกิ่งก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ อาการนี้สำหรับในพื้นที่ปลูก
ภาคเหนือจะไม่ค่อยรุนแรงนัก และแม้ว่าจะเป็นอาการที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านรสชาติแต่ลักษณะผิวลายก็ไม่เป็นที่ดึงดูดสายตาและไม่
เป็นที่ยอมรับสำหรับตลาดต่างประเทศด้วย
           อาการข้าวสารหรือฟ่าม (Granulation หรือ Ricing) เป็นอาการที่เกิดกับผลส้มโดยเนื้อส้มที่เรียกว่ากุ้ง(juice sac) ที่อยู่ทางด้านขั้วผลจะกลาย
เป็นสีขุ่นขาวและแห้งไม่มีน้ำ หากเป็นมากจะลุกลามไปถึงครึ่งผลหรือเกือบทั้งผลดังเช่นที่พบในส้มโอ ผนังเซลล์ของเนื้อกุ้งที่เกิดอาการนี้จะมีความ
หนามากกว่าปกติและส่วนประกอบของเซลล์ก็แตกต่างกันออกไป  นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าลักษณะอาการผลฟ่ามนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยว
ข้องกับปัจจัยต่างๆดังนี้
           - ชนิดของส้ม อาการนี้จะพบมากในส้มโอ ส้มเขียว หรือส้มในกลุ่มแมนดารินลูกผสมของแมนดารินและส้มวาเลนเซีย
           - อายุต้นส้ม ต้นส้มที่มีอายุน้อยจะมีโอกาสเกิดอาการผลฟ่ามได้มากกว่าต้นส้มที่มีอายุมากขึ้น
           - ขนาดของผล ผลที่มีขนาดยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดอาการฟ่ามได้เร็วและมากกว่าผลที่มีขนาดเล็กกว่า
           - ปริมาณของการติดผล ต้นส้มที่มีปริมาณการติดผลต่ำจะยิ่งมีโอกาสในการเกิดอาการฟ่ามได้มากยิ่งขึ้น
           - อายุของผล ผลที่มีอายุครบกำหนดเก็บเกี่ยวแล้วหากปล่อยให้อยู่บนต้นต่อไปอีกระยะหนึ่งจะยิ่งมีโอกาสเกิดอาการผลฟ่ามได้มากขึ้น
           - ระยะเวลาที่เก็บเกี่ยวผล ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในรุ่นท้ายๆจะยิ่งมีโอกาสเกิดผลฟ่ามได้มากกว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในรุ่นแรกๆ
           - การใช้ปุ๋ย ต้นส้มที่ได้รับปริมาณปุ๋ยไนโตรเจนสูงโดยเฉพาะในระยะที่ผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะมีโอกาสเกิดอาการผลฟ่ามได้มากขึ้น ใน
ขณะเดียวกันถ้าหากมีการเลี้ยงน้ำเพื่อให้ผลส้มที่ครบกำหนดอายุเก็บเกี่ยวแล้วยังอยู่บนต้นและมีการให้ปุ๋ยโปแตสเซียมสูงในช่วงนี้ก็จะยิ่งเร่ง
ให้เกิดอาการฟ่ามได้เร็วมากยิ่งขึ้น
           อาการผลแตก (Fruit cracking) ลักษณะอาการผลแตกในขณะที่ผลยังอ่อนอยู่นี้มักพบมากในกลุ่มส้มเปลือกบาง  เช่น ส้มเขียวหวาน โดย
เฉพาะอย่างยิ่งในส้มโชกุนซึ่งมีเปลือกค่อนข้างบาง อาการผลแตกนี้อาจเกิดขึ้นและรุนแรงมากเฉพาะในบางพื้นที่ บางช่วงฤดูกาล  หรือ บางช่วง
ของระยะเวลาการผลิต แต่ส่วนมากมักพบว่าจะเกิดขึ้นในสวนที่มีการผลิตส้มหลายรุ่น (3 - 4 รุ่น) ในต้นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากในส้มแต่ละรุ่น
จะมีความต้องการปริมาณปุ๋ยในสัดส่วนที่แตกต่างกัน เช่น ส้มรุ่นเล็ก (ระยะตั้งแต่กลีบดอกโรยถึงผลอายุประมาณ 3 เดือน) จะต้องการธาตุไน
โตรเจนที่สูงในช่วงนี้เพื่อการเจริญเติบโตและขยายขนาดของผล ในขณะที่ส้มบนต้นเดียวกันที่มีอายุผล 7 - 8 เดือนนั้นจะมีความต้องการธาต
ุโปแตสเซียมสูงกว่าไนโตรเจน การได้รับไนโตรเจนสูงในช่วงนี้จะส่งผลให้ส้มรุ่นใหญ่นี้มีเปลือกหนา ผลมีสีเขียวและแก่ช้าลง รสชาติจืดหรือ
อาจมีรสเปรี้ยวมากกว่า กากค่อนข้างหยาบและเหนียว ในทางเดียวกันหากเราให้ปุ๋ยโปแตสเซียมสูงเพื่อบำรุงส้มรุ่นใหญ่  ส้มรุ่นเล็กก็จะได้รับ
ผลกระทบ คือ ทำให้ผลอ่อนมีปริมาณน้ำตาลในผลสูงขึ้นและเกิดแรงดูดน้ำสูงขึ้นในขณะที่ผลยังไม่มีการขยายขนาดไว้รองรับน้ำในปริมาณที่มาก
จึงไม่สามารถคายน้ำออกได้ทัน  และเกิดอาการผลแตกขึ้น ส่วนผลส้มที่มีอายุ 4 - 5 เดือนนั้นหากได้รับปุ๋ยโปแตสเซียมสูงในช่วงนี้อาจไม่เกิด
อาการผลแตกเพราะผลมีขนาดใหญ่กว่า แต่ผลก็จะไม่สามารถขยายขนาดต่อไปได้อีก ผลผลิตที่ได้จึงมีขนาดเล็กลง ดังนั้นในทางปฏิบัติที่เหมาะ
สม  คือชาวสวนควรจะมีการแบ่งพื้นที่สวนออกเป็นส่วนๆเพื่อควบคุมการออกดอกในต้นให้เหลือเพียง 1 รุ่นบนต้นก็จะง่ายต่อการจัดการดูแล
และสามารถผลิตส้มที่มีคุณภาพสูงได้ง่ายมากขึ้น
           อาการผลพอง (puffing) ลักษณะของอาการผลพองนี้คือส่วนของเปลือกจะแยกตัวออกจากเนื้อและเกิดเป็นช่องว่างระหว่างเปลือกและผล           
ดังนั้นเมื่อแกะผลออกจึงพบว่าส่วนของเนื้อและเปลือกจะสามารถแยกออกจากกันได้ง่าย อาการนี้มักพบมากในส้มเขียวหวานหรือส้มโชกุนที่ปลูก
ในเขตภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยมักจะเกิดในผลส้มที่แก่ใกล้เก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ส่วนในช่วง
อื่นของปีมักไม่พบอาการดังกล่าวทั้งนี้เนื่องจากความผิดปกตินี้เกิดจากการที่ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในช่วงดังกล่าวนั้นลดต่ำลงส่งผลให้ผลส้ม
มีการปรับตัวเพื่อลดการสูญเสียน้ำให้น้อยลงนั่นเอง ลักษณะอาการนี้อาจไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายมากนักในแง่ของรสชาติเพราะส้มยังคงมีรสชาติ
ปกติเพียงแต่อาจเกิดอาการบอบช้ำอันเนื่องมาจากการกระแทกหรือเบียดทับกันง่ายขึ้น
           Stylar-end breakdown มักเกิดกับพวกไลม์โดยเฉพาะกับพันธุ์ตาฮิติ พบเสมอทางด้านปลายผล และทั้งระยะที่ผลอยู่บนต้นกับผลที่เก็บ
เกี่ยวแล้ว อาการครั้งแรกเป็นจุดฉ่ำน้ำ  สีน้ำตาลอ่อนทางด้านปลายผลแผลจะขยายลามรวดเร็วและเกิดยางขึ้นที่ชั้นเปลือกผลชั้นกลาง  และมี
เชื้อราเข้าทำลายผลทำให้ผลเน่า การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวผลในระยะที่แก่เกินไปและเก็บเกี่ยวผลในช่วงที่มีอากาศแห้ง            
ระมัดระวังไม่ให้ผลชอกช้ำในการทำความสะอาดและการบรรจุผลทุกขั้นตอน อาจใช้สารเคมีพวกเฟอร์แบมในการป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดอื่นๆ
           Endoxerosis เป็นอาการเน่าเกิดที่ปลายผลโดยไม่มีเหตุของโรค และมียางไหลที่ก้นผล มักเกิดในสภาพอากาศร้อนและเป็นกับส้มพวก
เลมอนเป็นส่วนใหญ่
           Creasing เป็นอาการที่เปลือกผลชั้นกลางแตกและเปลือกผลชั้นนอกบุบ เกิดจากการกระทบกระแมกกันของผลส้มในระยะเก็บเกี่ยวและ
ระยะขนส่ง

- ความผิดปกติเนื่องจากกรรมพันธุ์ (Genetic variegation)
           อาการผิดปกติอย่างหนึ่งที่อาจพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก และอื่นๆ คือ อาการผิดปกติหรือความผิดปกติ
ที่เกิดเนื่องจากกรรรมพันธุ์  ที่อาจทำให้เกิดพันธุ์ใหม่มีลักษณะ รูปร่าง คุณภาพหรือสีสันผิดแปลกแตกต่างไปจากพันธุ์เดิมอาจมีลักษณะหรือ
คุณภาพด้อยกว่าพันธุ์เดิมหรือไม่เป็นที่นิยม แต่ในบางครั้งอาจมีลักษณะหรือคุณภาพดีกว่าพันธุ์เดิมและเป็นที่นิยม สามารถนำไปใช้ประโยชน์
ด้านอื่นๆได้ โดยทั่วไปแล้วความผิดปกติดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากการกลายพันธุ์(mutation) หรืออาจเกิดเนื่องจากการผสมพันธุ์(breeding) 
ทั้งในสภาพธรรมชาติและโดยการกระทำของมนุษย์ ในทัศนะของนักโรคพืชวิทยาไม่จัดความผิดปกตินี้ว่าเป็นโรคพืชหรือโรคที่เกี่ยวกับพืช
           ในกรณีของพืชตระกูลส้ม หากปลูกโดยการใช้เมล็ดอาจพบความผิดปกติเนื่องจากการกลายพันธุ์ได้  เช่น ขนาดของต้นเตี้ยแคระลงหรือ
สูงใหญ่กว่าพันธุ์เดิม หนามอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณภาพของผลโดยเฉพาะรสชาติอาจเปลี่ยนแปลงไป อาการใบลาย ใบด่าง ผลด่างของส้มจี๊ด  
มะนาว และส้มโอเป็นลักษณะหนึ่งของความผิดปกติเนื่องจากการกลายพันธุ์นี้ และถือเป็นลักษณะที่ดีเนื่องจากให้ลักษณะในเชิงไม้ประดับ 
สามารถขยายพันธุ์โดยการตัด  ตอน ปักชำโดยลักษณะการกลายพันธุ์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง
           ส้มจี๊ดด่าง มะนาวด่าง และส้มโอด่างที่พบนั้นมีลักษณะแตกต่างไปจากต้นส้มปกติ คือ ใบของส้มทั้ง 3 ชนิดนั้นมีสีเขียวและมีแต้มหรือป้าย
ด่างสีเหลืองทองและสีขาวทั้งต้น  ผลอ่อนมีสีเขียวเช่นเดียวกับผลอ่อนของต้นปกติ แต่เมื่อผลมีขนาดโตขึ้นจะมีสีเขียวโดยมีริ้วสีขาวหรือสีเหลือง
เรียงสลับเป็นแนวตามยาวจากขั้วผลลงมา ทรงพุ่มมีขนาดเล็กกระทัดรัดแต่มีการแตกกิ่งก้านมาก และมีการเจริญเติบโตเป็นปกติดีเช่นเดียว
กับต้นส้มทั่วๆไป
             
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Hosted by www.Geocities.ws

1