"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


::"ป่าของเรา"::

       ชีวิตของกะเหรี่ยงเกิดกับป่า เติบโตกับป่า หากินกับป่า มาหลายพันปีแล้ว

      เมื่อประวัติศาสตร์พบว่ามีคนไทยอยู่ในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ก็พบกะเหรี่ยงอยู่มาก่อน เป็นเจ้าของเดิมซึ่งอยู่มาแล้วเนิ่นนาน ไม่ได้อพยพมาจากไหน ป่าเขาแถบด้านตะวันตกของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นดินแดนที่บรรพบุรุษสืบรักษาและตกทอดมาถึงกะเหรี่ยงรุ่นหลัง

      ชีวิตในปัจจุบันยังไม่แตกต่างจากสมัยบรรพบุรุษมากนักพวกเรากะเหรี่ยงยังปลูกข้าวไร่และพืชผัก เช่น พริก มะเขือ ผักกาด ในไร่ตามที่ลาดเชิงเขามีธรรมชาติคอยบำรุงเลี้ยงพืชพันธุ์ พันธุ์ไม้ที่นี่แข็งแกร่งเหมือนคนที่นี่เพียงน้ำฝนตามธรรมชาติ ต้นไม้ ก็ออกดอกออกผลให้เมล็ดสมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว

      การปลูกข้าวไร่ เราตัดฟันต้นไม้เล็ก ๆ ตากแดดให้ไม้แห้งแล้วเผา ส่วนต้นไม้ใหญ่จะปล่อยไว้ เมื่อถึงฤดูฝนก็ขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว กลบ แล้วปล่อยให้ต้นข้าวเติบโตเอง มีการดายหญ้า กำจัดวัชพืชเป็นครั้งคราว ถึงฤดูหนาวก็เก็บเกี่ยวผลผลิต

      ปีต่อมาจะย้ายไปเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ ปล่อยไร่ซากเดิมให้เป็นป่าขึ้นมาใหม่ การใช้ประโยชน์เพียงปีเดียว ทำให้เมล็ดพันธุ์พืชในดินเพียงชะงักการเติบโต ไม่ถึงกับตาย เมื่อปล่อยไว้จะกลายเป็นป่าภายในระยะเวลาไม่นานเพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินยังมีอยู่ เราย้ายที่เพาะปลูกทุกปี เพื่อให้พื้นดินได้ฟักตัวเป็นป่าใหม่จน 10-20 ปี จึงกลับมาใช้พื้นที่เดิมเพาะปลูกใหม่ เรียกกันว่า เป็นการทำไร่หมุนเวียน

      "กะเหรี่ยงเพาะปลูกอย่างนี้มาแต่รุ่นโบร่ำโบราณแล้ว" ลุงตาฉี้บอกลูกหลาน

      "ทุ่งใหญ่นเรศวรก็ดี ห้วยขาแข้งก็ดี เป็นที่อยู่ของกะเหรี่ยงทั้งนั้น ป่าแถวนั้นเป็นไร่เก่าของกะเหรี่ยง ชื่อป่า ชื่อภูเขา ชื่อแม่น้ำ ยังเป็นชื่อกะเหรี่ยงเลย"

      "เป็นไร่เลื่อนลอยใช่ไหมตาเห็นในหนังสือบอกว่า ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย" ดาบือ หลานคนเล็กถาม

      "ไม่ใช่หรอก" ลุงตาฉี้อธิบาย "ที่พวกเราทำเป็นไร่หมุนเวียน หมุนเวียนอยู่แถวนี้มาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยที่เขาทำลายป่าแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น"

      "หนูยังไม่ค่อยเข้าใจ ไร่หมุนเวียนกับไร่เลื่อนลอยต่างกันยังไง"

      "ไม่ใช่แต่หลานไม่เข้าใจพวกคนไทย พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนก็ไม่เข้าใจ คิดว่ามีแต่ไร่เลื่อนลอย เขาไม่เห็นและไม่เข้าใจไร่หมุนเวียน ไว้หลานโตขึ้นได้ช่วยพ่อแม่ทำไร่ จะเข้าใจว่าไร่หมุนเวียน เป็นการใช้ป่าอย่างอนุรักษ์ ดูป่ารอบๆ หมู่บ้านของเราสิ เมื่อก่อนเป็นไร่เก่าทั้งนั้น"

      กะเหรี่ยงอยู่กับป่าอย่างสงบสุข จนเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลประกาศว่าหมู่บ้านของเราอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาตั้งที่ทำการป่าไม้ริมหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่บอกว่า ป่าไม้บริเวณนี้เป็นของรัฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีหน้าที่ดูแลรักษา ไม่ให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าปลูกบ้าน พักอาศัย ทำไร่ หรือหาของป่าหากใครบุกรุกเข้ามา ถือว่าผิดกฎหมาย จะถูกจับติดคุก

      พวกเราไม่เข้าใจว่า ทำไมป่าไม้ที่อยู่กันมาแต่บรรพบุรุษเป็นเวลานับพันปี โดยพวกเราดูแลรักษาไว้ให้อย่างอุดมสมบูรณ์ต่อไปนี้พวกเราจึงไม่มีสิทธิ์ใช้ หมู่บ้านของเราที่ตั้งมาหลายร้อยปีจนมีเลขที่บ้าน เป็นหมู่บ้านโดยถูกต้องจากทางอำเภอ มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง และได้รับเงินกับการพัฒนาจากรัฐบาลตลอดมา กลายเป็นหมู่บ้านที่ผิดกฎหมายที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

      เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าพวกเราอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จึงไม่สามารถอ้างหรือโต้แย้งตามกฎหมายได้ว่า มีหลักฐานว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกเรา

      พวกเราเข้าใจว่า เอกสารสิทธิ์ทั้งหลายนั้นมีไว้เพื่อกันคนโกงกัน แต่ในเมื่อพวกเราสามารถตกลงเรื่องที่ดินที่ทำกินกันได้อย่างสงบสุขเรื่อยมา จึงไม่มีใครสนใจที่จะมีเอกสารสิทธิ์

      กะเหรี่ยงสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์มาเป็นเวลาพันๆ ปีแล้ว โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เราถือว่าที่ดินเป็นของธรรมชาติไม่มีใครเป็นเจ้าของถาวร มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของธรรมชาติ

      เราเพียงอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติชั่วคราว แล้วตายไป

      ที่ดินจะอยู่ในความดูแลของเราชั่วคราวเพื่อใช้ทำประโยชน์เมื่อไม่ได้ใช้ก็เป็นของธรรมชาติเป็นของส่วนรวม ไม่มีการจับจองที่ดินโดยตนเองไม่ได้ทำประโยชน์ นั่นเป็นการสะสมที่เห็นแก่ตัว

      ชีวิตความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยง ไม่นิยมความรุนแรงไม่มีการใช้อาวุธหรือถ้อยคำรุนแรงเข้าใส่กัน คนเฒ่าคนแก่สอนให้ลูกหลานรู้จักประนีประนอมรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน ให้อภัยและเสียสละ ทุกคนจึงอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเรื่อยมา

       อยู่ ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธใช้ความรุนแรง ความเฉียบขาดมาบีบบังคับพวกเรากะเหรี่ยงไม่ให้อยู่กับป่าอีกต่อไป โดยบอกว่าเขาจะรักษาป่าเอง

      ชาวกะเหรี่ยงไม่เชื่อว่า ผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดอำมหิตรุนแรงเช่นนี้ จะรักษาป่าให้สงบสุขได้กับเพื่อนมนุษย์ผู้มีชีวิตจิตใจความรู้สึกเช่นเดียวกับเขา เขายังกล้าไล่จับ ไล่ยิง จับติดคุก โดยไม่ใส่ใจว่าจะลำบากยากเข็ญหรือเดือดร้อนจากการกระทำของเขาอย่างใด แล้วเขาจะปฏิบัติอย่างดีต่อป่ากระนั้นหรือ แม้เพื่อนมนุษย์ยังไม่รัก เราไม่เชื่อว่าเขาจะรักษาป่าอย่างจริงจังหรอก

      ผู้ที่รักษาป่าได้จะต้องเป็นผู้สงบ มีน้ำใจ และเข้าใจในธรรมชาติ มีป่าอยู่ในจิตใจ มีเมตตาต่อทุกสรรพสิ่ง และหลอมตนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่แบ่งแยกคนกับป่าออกจากกัน เพราะคนกับป่าล้วนเป็นธรรมชาติเหมือนกัน มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วยธรรมะเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกันด้วยธรรมะเกื้อกูลอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน

      แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่เห็นเช่นเดียวกับเรา เขาเห็นว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ หากคนกับป่าอยู่ร่วมกันป่าย่อมถูกทำลาย

      อาจใช่หากเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่กะเหรี่ยง เราได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า เราอยู่กับป่าเป็นเวลานับพันปี ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้งก็ยังอุดมสมบูรณ์ เป็นมรดกทางธรรมชาติชิ้นสำคัญของโลก นี่คือผลของการอยู่กับป่าอย่างอนุรักษ์ของกะเหรี่ยงที่มอบเป็นมรดกแก่ประเทศชาติและชาวโลกทั้งมวล

      "ดูง่ายๆ ถ้ากะเหรี่ยงอยู่ที่ไหน ตรงนั้นต้องเป็นป่าสมบูรณ์ทั้ง ๆ ที่อยู่กันมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว" ครูโจ่ พูดในที่ประชุมชาวบ้าน

      "ถ้าหมู่บ้านเราไม่รักษาป่าไว้ เขาคงไม่ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรอก" เงี่ย เด็กหนุ่มวัย 16 ปี พูดอย่างน้อยใจ ก่อนพูดต่อว่า

      "ต้องโทษบรรพบุรุษของเราที่รักษาป่าไว้ หากบรรพบุรุษของเราทำลายป่าหมด ป่านนี้หมู่บ้านของเรามีโฉนดกันหมดแล้ว"

      "คิดอย่างนั้นไม่ถูก" ครูโจ่ตือน "พวกเราอยู่อย่างสงบสบายหากินสะดวกในทุกวันนี้ก็เพราะเราช่วยกันรักษาป่า หากไม่มีป่าเราจะยิ่งแย่ยิ่งลำบากกว่านี้หลายร้อยเท่า"

      เมื่อเงี่ยนิ่งฟัง ครูโจ่จึงพูดต่อ

      "ขนาดเรารักษาป่าไว้ เขายังหาว่าเราทำลายป่า เขาไม่รู้หรอกว่า เราไม่เหมือนเขา แต่หากพวกเราเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเหมือนเขา ปลูกพืชมาก ๆ ไว้ขาย ปลูกบ้านใหญ่โต เราก็ต้องทำลายป่าเหมือนกัน ยังดีที่พวกเราไม่อยากเปลี่ยน เพราะชีวิตทุกวันนี้แม้ว่าเราจะมีเงินน้อยแต่เราก็มีความสุข"

      ตอนนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังไม่กล้าขับไล่พวกเราออกจากพื้นที่โดยตรง เพราะหมู่บ้านของเราตั้งมานานแล้ว มีผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งแสดงว่าเราตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นหลักฐานมั่นคงได้รับการยอมรับและสนับสนุนการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ยกเว้นทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้พยายามบีบให้พวกเราเป็นอยู่อย่างยากลำบากขึ้นทุกวันโดยจำกัดพื้นที่ทำกินให้น้อยลง ห้ามเข้าป่าหาของป่า

      ในชีวิตความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงแล้ว ป่าคือชีวิตคือวิญญาณ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการดำรงชีพมาแต่โบราณ จนปัจจุบัน ชีวิตตามธรรมชาติ ของเราคือ ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับป่า กระทำและปฏิบัติต่อป่าด้วยศีลด้วยธรรม คือ หน้าที่ที่เราจะต้องเคารพและปฏิบัติต่อป่า อย่างเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มีคุณค่าเท่าเทียมกับมนุษย์ เราหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเข้าใจและรักษาป่า เหมือนที่เราเข้าใจและรักษาป่า
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws