"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


:: การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด::

       บ้านเจ้าวัดในวันนี้ไม่เหมือนบ้านเจ้าวัดในวันก่อนอีกแล้ว

      สมัยก่อนบ้านเจ้าวัดคือ ดินแดนเถื่อน ขาดไร้สิ้นทุกสิ่งทุกอย่างบัดนี้ภาพเก่าเลือนหายไปสิ้นกลายเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล

      จากกลุ่มบ้านเล็ก ๆ ไม่มีการดูแลปกครอง เป็นหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล

      จากเด็กน้อยมอมแมมในชุดกะเหรี่ยงดำคร่ำคร่า เป็นนักเรียนในชุดนักเรียนได้รับการอบรมศึกษาจากครูอาจารย์อย่างเอาใจใส่

      จากการรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพรไสยศาสตร์ตามมีตามเกิดมาเป็นสถานีอนามัยและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาดูแลรักษาพยาบาลด้วย วิทยาการสมัยใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์

      จากบ้านไม่ถึง 10 หลังคาเรือน ขยายเจริญขึ้นเป็นหลายสิบหลังคาเรือน มีโทรทัศน์ การติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น

      บ้านเจ้าวัดเจริญขึ้นมากและคนในหมู่บ้านมีการศึกษาไม่โง่เหมือนสมัยก่อนแล้ว

      บ้านเจ้าวัด เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีชื่อหมู่บ้านในภาษากะเหรี่ยงว่า "จองโหว่" ซึ่งแปลว่า ต้นยางแดง อยู่ในเขต ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

      คำว่า "เจ้าวัด" มาจากตำแหน่งของผู้นำทางวิชีวิตและจิตวิญญาณ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "โบวคู้" ซึ่งแปลว่า ผู้นำในการทำบุญ

      เจ้าวัดจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ในด้านจริยธรรมและศีลธรรมเป็นอย่างดี ตลอดจนเข้าใจขนบธรรมเนียมจารีตกะเหรี่ยงแต่โบราณ

      เจ้าวัดที่บ้านเจ้าวัด เป็นที่เคารพของกะเหรี่ยงโดยทั่วไป มีชื่อ "เจ้าวัดตองโพ่" ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2532 เจ้าวัดตองโพ่ สืบต่อสาย เจ้าวัดมาอย่างน้อย 3 ชั่วคนแล้ว คือ จากตา พ่อ จนถึงเจ้าวัดตองโพ่

      เจ้าวัดตองโพ่เดิมเกิดที่บ้านห้วยคด ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ต่อมาแต่งงานกับนางเอ่งเติ๊ก ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงบ้านอีมาด อำเภอเดียวกันแล้วย้ายมาตั้งหมู่บ้านเจ้าวัด

      ในวัยหนุ่มเจ้าวัดตองโพเคยเข้าไปรับจ้างทำงานให้กับคนไทยที่ตัวจังหวัดอุทัยธานี ทำให้เท่าทันสภาพสังคมภายนอกเป็นอย่างดี

      จากประสบการณ์และความรู้ความสามารถ ทำให้เจ้าวัดตองโพ่เป็นผู้ในในแทบทุกด้านของหมู่บ้าน เป็นหลักเป็นประธานของพิธีกรรม ความเชื่อ กฎระเบียบ ในหมู่บ้าน

      สิ่งที่เจ้าวัดตองโพ่พยายามให้หมู่บ้านเจ้าวัดเป็น คือ การเป็นชุมชนตามแบบกะเหรี่ยง บ้านทุกหลังปลูกอย่างเรียบง่ายด้วยไม้ไผ่ ชาวบ้านทุกคนไว้ผมทรงกะเหรี่ยง คือ ผู้ชายไว้ยาวมัดเป็นมวยไว้ด้านหน้าเหนือศีรษะ ส่วนผู้หญิงมัดเป็นมวยไว้ด้านหลังศีรษะ

      การแต่งกายทุกคนใส่ชุดกะเหรี่ยง หญิงสาวและเด็กหญิงสวมชุดกระสอบทอเองสีขาว มีลวดลายที่แขนและรอบคอเสื้อหญิงแต่งงานแล้วใส่เสื้อและผ้าถุงที่ทอเองลวดลายกะเหรี่ยง ผู้ชายนุ่งผ้าทอเองสีขาว เสื้ออาจใส่เสื้อสีขาวทอเอง หรือซื้อเสื้อจากท้องตลาดก็ได้ เ

      จ้าวัดตองโพ่เคยปรารภว่า "ของดีๆ ทำอย่างไรเราจะรักษาไว้ให้อยู่ เราเป็นกะเหรี่ยงเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ดูอย่างคนไทยมีของดี ๆ อยู่มากมาย แต่ก็รักษาไว้ไม่ได้กลายเป็นฝรั่งไปหมดแล้ว แม้แต่การแต่งกายก็ไม่เหลือความเป็นไทย แล้วเราเป็นกะเหรี่ยงของดี ๆ ก็มีอยู่มากมาย เราช่วยกันรักษาไม่ให้กลายเป็นฝรั่งได้อย่างไรกัน"

      ของดีๆ ของกะเหรี่ยง ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเจ้าวัด คือ พระพุทธศาสนาแบบกะเหรี่ยง

      พระพุทธศาสนาที่บ้านเจ้าวัดอาจไม่เหมือนที่อื่น เด็ก ๆ ในหมู่บ้านส่วนมากไม่เคยเห็นพระพุทธรูปในหมู่บ้านไม่มีพระภิกษุหรือวัด นาน ๆ จึงจะมีพระธุดงค์ผ่านมาสักครั้ง ทุกคนไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติต่อพระภิกษุอย่างไร ไม่มีใครขอศีลเป็น แม้ศีล 5 มีอะไรบ้านก็ไม่มีใครรู้

      แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่และจารีตที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกันด้วยความยอมรับศรัทธา โดยมีเจ้าวัดตองโพ่เป็นประธานนั้นกลับเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธตามพระพุทธศาสนา

      ไม่มีการฆ่าสัตว์เลี้ยง บางคนกินมังสวิรัติ

      ไม่เคยมีการลักทรัพย์ และประพฤติผิดทางกาม

      ไม่พูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ และไม่พูดด้วยเสียงหรือถ้อยคำที่รุนแรงอีกด้วย

      ไม่มีผู้ใดในหมู่บ้านดื่มเหล้า สูบฝิ่น เมายา เช่น กัญชา

      ในหมู่บ้านไม่มีเหล้าขาย ไม่เคยมีใครนำเหล้าเข้าหมู่บ้าน ไม่มีการเล่นการพนัน แม้ไปหมู่บ้านอื่น ก็จะไม่นั่งร่วมกับวงเหล้า วงพนัน

      จารีตปฏิบัติเหล่านี้ถือปฏิบัติมาเนิ่นนานโดยไม่มีการล่วงละเมิดหากมีการล่วงละเมิดจะต้องย้ายออกจากหมู่บ้าน และไม่มีเจ้าวัดเป็นที่พึ่งของบุคคลนั้น ที่ผ่านมายังไม่มีการฝ่าฝืน

      ความเข้มแข็งของเจ้าวัดตองโพ่ ที่ไม่ยอมต่อสิ่งไม่ดีงาม ทำให้หมู่บ้านเจ้าวัดอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล นาน ๆ จึงจะแห้งแล้งสักครั้ง

      "คนภายนอกเข้ามา ป่าไม้จะเสียหมด เขาเข้ามาทำผิดต่อป่าไม้ เราจึงไม่ให้คนภายนอกเข้ามาทำประโยชน์" เจ้าวัดตองโพ่ให้เหตุผลที่ป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์

      ชาวบ้านไม่เคยมีใครได้รับการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐเลย มีแต่การสอนกันเองเป็นภาษากะเหรี่ยง ผู้ชายบางคนพูดไทยได้เล็กน้อย ส่วนผู้หญิงกับเด็กพูดไทยไม่ได้เลย

      เมื่อถามเจ้าวัดตองโพ่ถึงโรงเรียนจากรัฐบาล ได้รับคำตอบว่าไม่อยากได้ โดยให้เหตุผลจากประสบการณ์ที่พบเห็นโรงเรียนในที่ต่าง ๆ ว่า

      "เมื่อก่อนเด็ก ๆ อยู่กับพ่อแม่ครอบครัวอย่างสงบสุขพอครูมาสอน เด็กก็ดื้อไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไปเชื่อครูหมด รู้อะไรนิดหน่อยก็คิดว่าเก่งกว่าพ่อแม่ครอบครัวก็เกิดปัญหา ไม่มีความสุข"

      นั่นอาจเป็นเพราะกะเหรี่ยงให้ความสำคัญต่อความสงบสุขในครอบครัว และชุมชนมากกว่าสิ่งอื่นใด ทั้งการศึกษาสมัยใหม่ทำให้เด็กห่างเหินจากครอบครัวและชุมชน

      เจ้าวัดตองโพ่ให้ความเห็นต่อครูว่า "ครูเข้ามาก็จะมากินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ไม่เคารพ นับถือประเพณีกะเหรี่ยง ประเพณีก็เสียหมด"

      แม้บ้านเจ้าวัดจะไม่มีโรงเรียน ไม่มีวัด ไม่มีอนามัย ไม่ได้รับการบริการจากหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงามภายนอก แต่บ้านเจ้าวัดก็มีความสงบสุขด้วยการเป็นหมู่บ้าน ปลอดอบายมุข และหมู่บ้านแผ่นดินธรรมตามแบบกะเหรี่ยงเรื่อยมา

      หน่วยงานและบุคคลภายนอก จำนวนไม่น้อยต้องการมาพัฒนาบ้านเจ้าวัด แต่เจ้าวัดตองโพ่กลัวว่าจะมาทำลายวัฒนธรรมประเพณีของหมู่บ้าน ทั้งหน่วยงานและบุคคลภายนอกเหล่านั้นก็ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้าน จึงทำให้หมู่บ้านเจ้าวัดเป็นหมู่บ้านที่ขาดการพัฒนา

      จนถึงเดือนกรกฎาคม 2532 เจ้าวัดตองโพ่ผู้นำที่เคร่งครัดในจารีตประเพณีเดิมและเป็นศูนย์รวมทางความเชื่อตลอดจนความเคารพรักของชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตลง

      บ้านเจ้าวัดขาดหลักสำคัญในการต้านกระแสจากภายนอก ปัจจุบันนี้บ้านเจ้าวัดได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ เกือบทุกด้าน มีโรงเรียน มีอนามัย มีผู้ใหญ่บ้าน

      สิ่งที่เป็นผลมาจากการพัฒนา คือ ชาวบ้านแต่งกายกะเหรี่ยงน้อยลง ในหมู่บ้านมีการขายและดื่มสุรา มีการเล่นการพนัน บุคคลภายนอกเข้ามา ปัญหาในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น

      ขณะที่วัตถุมีเพิ่มมากขึ้นแต่ทางธรรมกลับตกต่ำลง

      ชาวไทยและบุคคลภายนอกทั่วไปเห็นว่าบ้านเจ้าวัดเจริญขึ้น แต่ชาวกะเหรี่ยงทั่วไปกลับมองว่าบ้านเจ้าวัดเสื่อมลง

      การจัดการพัฒนาของสองแนวทางดูจะขัดแย้งกัน อยู่ที่ว่าเป้าหมายของชุมชนคือสิ่งใด ความเจริญสะดวกสบายทางวัตถุ หรือความสุขสบายทางจิตใจ
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws