"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


::ไหว้เจดีย์::

       ฤดูร้อนหมุนมาถึงอีกครั้ง

      ใบไม้ร่วงหล่นจากต้นไม้ใหญ่ของป่าเบญจพรรณ เพื่อลดการคายน้ำทางใบ เป็นการรักษาสมดุลตามธรรมชาติของต้นไม้

      เศษใบไม้และไม้แห้งคือเชื้อไฟอย่างดีสำหรับไฟป่า เป็นการเปิดหน้าดินให้พันธุ์พืชใหม่ได้ก่อกำเนิดเมื่อฝนใหม่มา

      ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมตัวเพื่อการเพาะปลูกในฤดูฝนที่จะมาถึง

      ช่วงก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี่เองที่ชาวกะเหรี่ยงถือว่าเป็นปีใหม่

      งานปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตามจันทรคติ ซึ่งตรงกับประมาณเดือนเมษายนของทุกปี

      วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นคืนวันเพ็ญ ชาวกะเหรี่ยง ถือว่าเป็นวันดี เป็นวันพระใหญ่ ดวงจันทร์สุกสว่าง เหมาะสำหรับจัดกิจกรรมทำบุญในตอนกลางคืน

      กลางหุบเขาบริเวณรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และ อุทัยธานี มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งตั้งหลักแหล่งมาเป็นร้อยปีแล้ว

       ที่นี่คือ บ้านตะเพินคี่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

      งานปีใหม่ที่บ้านตะเพินคี่ จัดเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดของชาวตะเพินคี่ และหมู่บ้านข้างเคียง

      ทุกปีจะมีชาวกะเหรี่ยงในแถบบริเวณนี้ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมพิธีกรรมที่สำคัญยิ่ง คือ การ"ไหว้เจดีย์"

      เจดีย์ของกะเหรี่ยง ไม่ใช่เจดีย์ทองคำ หรืออิฐหรือปูน ที่ก่อสร้างอย่างวิจิตรใหญ่โต หากเป็นเจดีย์ทรายที่สร้างอย่างเรียบง่าย อยู่ภายในรั้วไม้ที่ล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส

      เจดีย์ทรายมีทั้งหมด 5 องค์ เป็นเจดีย์ที่มุม 4 มุม รวม 4 องค์ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า ที่ถือประสูติกาลมาแล้วในภัทกัปป์นี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคตมะ หรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ส่วนเจดีย์องค์กลางซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 องค์ แทนพระศรีอาริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ ซึ่งจะประสูติเพื่อเกื้อกูลหมู่สัตว์ในกาลต่อไป

      เจดีย์เหล่านี้คือสถานที่ที่ชาวกะเหรี่ยงเคารพบูชาสูงสุด เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนความดีความงามและอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนา

      นอกเจดีย์ออกมามี "เสาหละ" หรือหลักบ้าน ซึ่งมีเทวดาประจำหมู่บ้าน พร้อมแขนไม้ยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ ซึ่งหมายถึงท้าวจตุโลกบาล

      งานพิธีจะบูชาขอบคุณต่อพระแม่คงคา พระแม่ธรณี เสาหลักบ้านพร้อมท้าวจตุโลกบาล และที่สำคัญที่สุด คือ ไหว้บูชาเจดีย์ซึ่งเป็นความดีสูงสุด

      ผู้นำในการทำพิธีคือ เจ้าวัด ซึ่งเรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า โบวคู้ แปลว่า ผู้นำในการทำบุญ

      ผู้เป็นเจ้าวัดจะต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านความเชื่อและพิธีกรรม นอกจากนี้ยังต้องสมถะ สันโดษ ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดกว่าชาวบ้านธรรมดา เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่กินเนื้อสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่ว่าใครฆ่าเอามาให้ก็ตามและวันพระจะไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด

      การเป็นเจ้าวัดถือเป็นการบวชอย่างหนึ่ง ไม่มีการสึก จะต้องเป็นไปจนตาย

      หากสามีเป็นเจ้าวัด ภรรยาย่อมเป็นเจ้าวัดด้วย หากตายทั้ง 2 คน ก็จะมีการสืบต่อโดยลูกหลาน

      บ้านตะเพินคี่มีเจ้าวัดสืบทอดกันมาอย่างน้อย 5 ชั่วอายุคนแล้ว เป็นระยะเวลาร่วม 200 ปี

      เจ้าวัดคนปัจจุบันเป็นหญิงชื่อ เจ้าวัดข่องมึ้งเฌ้ อายุ 80 กว่าปี สืบทอดการเป็นเจ้าวัดมาจากพ่อซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว

      เจ้าวัดข่องมึ้งเฌ้รักษากฎความเชื่อ ประเพณี ที่ดำรงยึดถือปฏิบัติมาเนิ่นนาน ด้วยความสงบสุข กฎเหล่านี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านตะเพินคี่ไม่ล่วงละเมิด ดังเช่น

      ห้ามนำการพนัน ของมึนเมา และสิ่งเสพติด ทุกชนิดเข้ามาในหมู่บ้าน นอกจากห้ามสมาชิกในหมู่บ้านแล้ว ยังห้ามถึงคนภายนอกที่เข้าไปในหมู่บ้านด้วย

      ห้ามนำบุคคลภายนอกหรือตนเองเข้ามาหรือมีส่วนในการตัดไม้ขาย หรือแอบแฝงโดยวิธีใดก็ตามที่ทำให้เกิดการสูญเสียป่าไม้ นอกจากนี้ยังห้ามขายหรือก่อให้เกิดการสูญเสียที่ดินอีกด้วย

      การที่บุคคลภายนอกจะย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านต้องให้คณะกรรมการรับรองไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง คณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัวทุกครอบครัว

      ดังนั้นสมาชิกในหมู่บ้าน จึงเพิ่มขึ้นตามปกติ ในขณะที่ป่าและพื้นที่ทำกินโดยรอบยังอุดมสมบูรณ์เช่นกาลก่อน

      บางข้อแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่ชาวตะเพินคี่ให้ความสำคัญและไม่ล่วงละเมิด เช่น

      ห้ามติฉินนินทาแก่ผู้อื่น จนอาจก่อให้เกิดการเสื่อมเสีย

      ส่วนเรื่องการพูดเท็จ หรือลักทรัพย์ หรือผิดประเวณีทางชู้สาว เป็นกฎทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวตะเพินคี่ไม่เคยล่วงละเมิด


      ที่ตะเพินคี่ ไม่มีวัด ไม่มีพระ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ดังเช่นสังคมเมืองภายนอก

      ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าศีล 5 คืออะไร มีอะไรบ้าง ชาวบ้านกราบเบญจางคประดิษฐ์ที่สวยงามไม่เป็น สวดมนต์ไม่ได้ แม้แต่บนบ้านอาจไม่มีพระพุทธรูป

      หลายคนผ่านเข้ามาชมพิธีไหว้เจดีย์ รายการชีพจรลงเท้าบอกว่า คือ การบูชาภูตผีเทวดาที่ลึกลับแปลกตา นักเขียนแห่งนิตยสารสารคดีเขียนว่าคือ การบูชาธรรมชาติ - พระแม่ธรณี

      นั่นเป็นเพราะผู้ที่บังเอิญผ่านมาเหล่านี้ ไม่เห็นรูปแบบของพุทธตามที่ปรากฏในสังคมเมืองเลย จึงเห็นพิธีไหว้เจดีย์เป็นเพียงการบูชาเทพเทวดาฟ้าดินตามธรรมชาติเท่านั้น

      ความเป็นพุทธของชาวตะเพินคี่ อยู่ที่วิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยไม่ต้องประกาศว่าเป็นพุทธ โดยไม่ต้องตั้งกฎระเบียบ ที่กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน เพราะวิถีชีวิตปกติของชาวตะเพินคี่ เป็นวิถีแห่งพุทธที่สืบทอดปฏิบัติมาเนิ่นนาน

      วันสุดท้ายของการไหว้เจดีย์ ทุกคนจะนำด้ายสีเหลือง มาให้เจ้าวัดข่องมึ้งเฌ้ผูกข้อมือให้ ด้ายสีเหลืองคือสายใยแห่งพระพุทธศาสนา ที่ร้อยอยู่ในดวงใจของทุกคน ให้ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม โดยมีพระธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติตน

      ในยุคสมัยโลกานุวัตรที่โลกหมุนไปสู่ความเป็นทุนนิยม ทำให้ชุมชนและชาติต่าง ๆ สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการก้าวตามกระแสโลกอย่างไม่อาจฝืน สิ่งที่ได้มาคือความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุภายนอกแต่สิ่งที่สูญเสียไปคือความงดงามภายในจิตใจ ศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชุมชน

      ที่สำคัญได้แก่ การสูญเสียความสงบสุขทางจิตวิญญาณ ที่สืบทอดกันมาแต่บรรพชน

      บ้านตะเพินคี่ แม้อยู่ห่างไกลในป่าเขา กำลังถูกท้าทายโดยกระแสโลกานุวัตร

      ถนนและความเจริญรุดเข้าหาหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว อำนาจเงินตราแผ่ปกคลุมไปทุกหนแห่ง

      แม้ชุมชนอื่นจะถูกกระแสโลกานุวัตร ครอบคลุมสิ้นแล้ว แต่ที่ตะเพินคี่ กระแสธรรมจากเจดีย์ทราย ยังเปล่งแสงให้ความสว่างเรืองกลางป่าใหญ่

      กลางเดือน 5 อากาศร้อนอบ

      สังคมภายนอกคลายร้อนด้วยสายน้ำแห่งวันสงกรานต์ แต่ที่บ้านตะเพินคี่ คลายร้อนด้วยสายกระแสธรรม โดยการไหว้เจดีย์ ซึ่งจะฉ่ำเย็นทั้งจิตใจและชุมชน
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws