"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


::ปลูกตามธรรมชาติ::

       ฝนตกโปรยปรายมาสองวันแล้ว

      "พรุ่งนี้เราหยอดข้าว ทำแกงข้าวคั่วเลี้ยงคนที่มาช่วยคงดีนะ" อะเมียะหยิ่ง วัย 50 ปี บอกดาบือซึ่งเป็นภรรยา

      "พี่พาจะเล่อกับจะคี้ไปด้วยตอนเช้าเลย สายๆ ฉันกับพ่าจะตามไป" ดาบือพูดถึงลูกสาว 3 คน

      พ่าลูกสาวคนโตเพิ่งแรกรุ่น ต้องช่วยแม่ทำอาหาร ส่วนจะเล่อและจะคี้ยังเรียนอยู่ชั้น ป.2 และ ป.1 ดาบือจึงอยากให้ไปอยู่ที่ไร่ เพื่อจะได้ไม่มารบกวนเธอ เมื่อทำอาหาร

      แต่เช้าอะเมียะหยิ่งพร้อมด้วยลูกสาว 2 คน เดินไปไร่ที่จะปลูกข้าว ซึ่งห่างจากหมู่บ้านไปราว 1 กิโลเมตร

      อะเมียะหยิ่งเลือกบริเวณมุมหนึ่งของไร่ ขุดหลุมและหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว รวม 7 หลุม ขีดเขตรอบทั้ง 7 หลุม พร้อมบอกกล่าวต่อแม่ธรณี แม่โพสพ เทวดาอารักษ์ ขอใช้ ที่บริเวณนี้ในการปลูกข้าว และ ขอให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี

      ไม่นาน ปี้ลี่-ลูกชายและเพื่อนบ้านตามมาพร้อมด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวและน้ำดื่ม

      เมล็ดพันธุ์ข้าว มีพันธุ์ข้าวเจ้าสองถังไว้สำหรับกินและทำขนมจีน เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวครึ่งถัง ไว้ทำขนมกินในวาระต่าง ๆ

      ปี้ลี่และเพื่อนวัยหนุ่มฉกรรจ์อีก 2 คน ทำเสียมด้ามยาวคนละอัน เริ่มงานก่อนด้วยการขุดหลุม สำหรับหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ห่างกันประมาณเกือบฟุต

      ผู้ที่มาช่วยที่เหลือหยิบกระบอกไม้ไผ่ซึ่งใส่เมล็ดพันธุ์ข้าว หยอดเมล็ดข้าวลงในหลุม ประมาณหลุมละ 8-15 เมล็ด แล้วใช้เท้าดันดินปิดหลุม

      คนขุดด้วยเสียมด้ามยาว 1 คน จะมีคนหยอดเดินตาม 2-4 คน

      ชายหนุ่มผู้ขุดดูจะเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ เพราะมีสาว ๆ มาร่วมหยอดข้าวหลายคน ขณะที่สาว ๆ ก็ไม่น้อยหน้า ทำงานโดยแทบไม่หยุดพัก

      ต่างพยายามให้อีกฝ่ายเห็นว่าตนขยันขันแข็งเอาการเอางาน

      คนเฒ่าคนแก่ค่อย ๆ ทำตามกำลังที่น้อย และสังเกตความขยันขันแข็งของหนุ่มสาวอย่างพอใจ

      "แข่งกันไหม"

      ปี้ลี่ถามกลุ่มสาว ๆ "คนขุดกับคนหยอดใครจะเร็วกว่ากัน"

      "เอาซิ"

      สาวๆ ตอบ พร้อมกับเร่งหยอดข้าวเร็วขึ้น เพื่อให้ทันปี้ลี่ที่ขุดหลุมนำอยู่ข้างหน้า

      ปี้ลี่เร่งขุดจนเหงื่อไหลโทรม

      สาว ๆ เห็นท่าจะไม่ทัน ก็เรียกเพื่อน ๆ มาช่วยหยอดอีก ไม่นานก็ทันปี้ลี่

      แน่นอนแข่งกันทีไร สาวย่อมชนะหนุ่มเสมอ

      ทุกคนเหนื่อย แต่หัวเราะอย่างมีความสุข โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่พูดกระเซ้าเย้าแหย่กันตลอดเวลา คนที่มีความสุขมากกว่าใครคืออะเมียะหยิ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของไร่ เพราะไม่นานก็หยอดข้าวได้เกือบครึ่งแล้ว

      ยามสาย แดดเริ่มร้อน จะเล่อและจะคี้นำแตงไทยและแตงเปรี้ยวที่ขึ้นตามริมไร่ ไปแจกให้ผู้มาหยอดข้าว ความเย็นฉ่ำของแตงทำให้ทุกคนสดชื่นขึ้นในยามร้อน

      กลุ่มหนุ่มสาวนั่งพักและพูดคุยเย้าแหย่กัน ขณะที่คนเฒ่าคนแก่สูบยาเส้นหรือกินหมาก พักใหญ่ก็เริ่มหยอดข้าวกันต่อ

      เกือบเที่ยง ดาบือและพ่า มาพร้อมด้วยข้าวสวยและแกงข้าวคั่ว

      ทุกคนหยุดงาน ต่างหาอุปกรณ์รองรับอาหารมาล้อมวง บ้างใช้ฝาหม้อ บ้างใช้ใบตอง บ้างใช้กระบอกไม้ไผ่ ผ่าซีกตามยาว

      ช้อนมีไม่พอ แต่ไม่ใข่ปัญหาเพราะส่วนใหญ่กินด้วยมือ

      บางคนเด็ดผักกูด ผักหนาม จากริมห้วย บางคนตัดยอดหวาย มากินแนมกับแกงข้าวคั่ว

      ความเหนื่อยและความหิว ทำให้รู้สึกว่ากับข้าวอร่อยมาก

      นั่งกินกันกลางดินใต้ร่มไม้ กินอย่างง่าย ๆ แต่ กินกันได้มากกว่าปกติ

      เมฆขยายตัวมากขึ้น และลอยต่ำลง อากาศเริ่มเย็นลงเรื่อย ๆ ไม่นานฝนก็โปรยลงมา

      ช่วงหยอดข้าวฝนยังตกไม่หนัก แต่ก็โปรยปรายได้เกือบตลอดวัน

      "นี่แม่" อะเมียะหยิ่งพูดกับดาบือ "วันมะรืนนี้หม่องไน้จะหยอดข้าว ให้ใครไปช่วยเขาดีล่ะ วันนี้ลูกเขาก็มาช่วยเรา 2 คน"

      "ให้ปี้ลี่กับพ่าไปแล้วกัน" ดาบือตอบ "พรุ่งนี้ฉันจะไปช่วยเติ๊กซ่าหยอดข้าว พี่ไปด้วยกันซิ วันนี้เขายังมาช่วยเราทั้งผัวทั้งเมียเลย"

      เป็นประเพณีของการลงแขกว่า หากมีแรงงานมาช่วยจำนวนเท่าใดจะต้องใช้แรงงานคืนจำนวนเท่ากัน

      บ้านใดที่มีลูกชายขยันขันแข็งมาก มักมีผู้มาช่วยมาก เพราะจะได้แรงงานที่ขยันขันแข็งมาช่วยตอบแทน

      บ้านที่ไม่ค่อยขยันก็มีแต่ญาติพี่น้องที่สนิทมาช่วย คนขยันขันแข็งจะเป็นที่รักใคร่ในหมู่บ้าน

      ต่างจากคนที่ขี้เกียจที่ไม่ค่อยมีใครอยากร่วมงานด้วย

      วัดคุณค่าของคนด้วยความดี และความขยันหมั่นเพียร มิใช่เงินตรา

      ฝนยังคงโปรยปราย การหยอดข้าวดำเนินต่อไปหากฝนไม่หนักเกินไป ทุกคนจะไม่หยุด เพราะต้องการให้หยอดข้าวเสร็จในวันเดียว วันรุ่งขี้นต้องไปช่วยบ้านอื่นหยอดข้าวอีก

      บ่ายแก่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้ไม่พอ ยังเหลือพื้นที่ที่เตรียมไว้อีกเล็กน้อย อะเมียะหยิ่งให้ปี้ลี่วิ่งกลับไปเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บ้านมาเพิ่ม

      ไม่นานก็หยอดข้าวเต็มพื้นที่ที่เตรียมไว้

      อะเมียะหยิ่งและดาบือขอบคุณทุกคนที่มาช่วยและแยกย้ายกันกลับบ้าน

      ช่วงหยอดข้าวเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด แต่มีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่ง เริ่มงานแต่เช้า แทบไม่ได้หยุด ท่ามกลางแสงแดดและสายฝน กว่าจะเสร็จก็เย็น แต่ก็ได้พบปะพูดคุยกับญาติมิตร ทำงานไปพลาง กระเซ้าเย้าแหย่กันไปพลาง

      ชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วแต่ฟ้าดินกำหนด เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็เพาะปลูก เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็เก็บเกี่ยว

      ฝนมาก็หยอดข้าว แล้วปล่อยให้ธรรมชาติดูแลบำรุงเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ข้าวเติบโตเป็นต้นข้าวให้รวงสีทอง

      ทุกคนยอมรับกฎเกณฑ์และความเป็นไปของธรรมชาติ ไม่เคยคิดดัดแปลงหรือเอาชนะเพราะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ "ไม่มีใครเอาชนะธรรมชาติได้หรอก" ลุงตาฉี้สอนลูกหลาน และบอกต่อว่า

      "หากเราปฏิบัติตามธรรมชาติ ถูกต้องตามธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะให้แต่สิ่งดีงามกับเรา ถ้าเราทำไม่ดีต่อธรรมชาติ ผลไม่ดีก็จะเกิดกับตัวเราและหมู่บ้านของเรา"

      อะเมียะหยิ่งมองดูไร่ข้าวที่เพิ่งหยอดข้าวเสร็จสิ้น หากฝนโปรยปรายต่อไปอย่างนี้ อะเมียะหยิ่งมั่นใจว่าต้นข้าวจะงอกและเจริญเติบโตอย่างแน่นอนเพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น และไม่เคยผิดพลาด

      "เหมือนความดี" ลุงตาฉี้บอก "หากปลูกความดีไว้แล้ว ผลออกมาย่อมงอกงามเป็นความดีเป็นผลดี จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้"

       "เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้น"
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws