"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


::แต่งงานแบบกะเหรี่ยง::

       พรุ่งนี้ หว้า จะแต่งงาน

      เจ้าสาวของหว้าเป็นแม่ร้าง อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งห่างไปราว 30 กิโลเมตร

      พรุ่งนี้คณะเจ้าบ่าวจากหมู่บ้านจะออกเดินทางตั้งแต่เช้า ทุกคนต่างเตรียมตัวจะร่วมขบวนไปด้วย

      "ฉันไม่เคยขึ้นรถไปไหนนานแล้ว แต่งานของหว้าต้องไปด้วยให้ได้" ป้าเอ่งเติ๊ก ซึ่งไม่ค่อยไปไหนบอก

      "เราก็ว่าจะไปเหมือนกัน" ใครก็คาดไม่ถึงว่า ยาว ผู้ที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครจะไปด้วย

      บางบ้านไปหมดทั้งบ้าน แต่บางบ้านที่ยังมีภาระอยู่ก็แบ่งคนอยู่เฝ้าบ้าน

      ตอนบ่ายหว้าชวน ตุก ซึ่งเป็นเพื่อนรัก ให้ช่วยเตรียมของไปบ้านเจ้าสาว

      เมื่อตุกถึงหน้าบ้านของหว้า พบพี่สาวและน้องสาวของหว้ากำลังตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง

      เสียงครกกระเดื่องนี้ตุกได้ยินติดต่อกันมาตั้งแต่เช้าแล้ว

      "ขยันจังนะ" ตุกทัก

      "เกือบเสร็จแล้ว" พี่สาวหว้าตอบ "ไม่มีอะไรจะให้หว้าตอนแต่งงาน มีก็แต่ข้าวสารนี่แหละ"

      ข้าวสารนี้เตรียมไว้เลี้ยงผู้มาร่วมงานแต่ง ที่เหลือก็ให้บ้านเจ้าสาวที่หว้าจะต้องไปอยู่ด้วย

      หว้าต้องอยู่บ้านเจ้าสาวอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อช่วยครอบครัวเจ้าสาวทำมาหากิน

      หว้าลงจากบ้านพร้อมด้วยตะกร้าสองใบ พร้อมกับบอกตุก

      "ไปช่วยเก็บผักกูดผักหนามหน่อยสิ"

      หว้ากับตุกเดินเลาะลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านลงไปเรื่อย ๆ พร้อมเก็บผักที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ

      ผักเหล่านี้คืออาหารที่จะใช้เลี้ยงผู้มาร่วมงานแต่ง

      รถสองแถวใหญ่จากข้างล่างขึ้นเขามารับตั้งแต่เช้า

      หมู่บ้านแทบร้าง บ้างนั่งบ้านยืน จนเต็มรถ

      สายจึงถึงบ้านของเจ้าสาว

      คณะเจ้าบ่าวเดินเป็นแถว โดยมีหว้าและลุงจะพง ซึ่งเป็นพ่อเดินนำหน้า

      เจ้าสาวยืนต้อนรับที่บันไดขึ้นบ้าน

      ญาติเจ้าสาวคนหนึ่งยิงปืนแก็ปหนึ่งนัด พร้อมกับเสียงโห่อย่างยินดีของทุกคนที่ไปร่วมงาน

      เจ้าสาวไหว้ลุงจะพง และตักน้ำล้างเท้าให้หว้าซึ่งเป็นเจ้าบ่าว ก่อนขึ้นบ้าน ตุกและเพื่อนเจ้าบ่าว ช่วยกันรื้อหลังคาตรงชายคาที่มุงด้วยแฝก แล้วโยนทิ้งลงมาที่พื้นดินข้างล่าง

      เป็นธรรมเนียมที่เพื่อนเจ้าบ่าวจะต้องทำความเสียหายให้บ้านเจ้าสาว เพื่อให้เจ้าบ่าวได้แสดงฝีมือ ในการซ่อมแซมบ้าน ให้พ่อตาและแม่ยายเห็นว่าเป็นคนขยันขันแข็งและมีความสามารถในการทำงานต่าง ๆ

      เมื่อทุกคนขึ้นพร้อมกันบนบ้าน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวพากันเข้ากราบเท้าพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายโดยนำน้ำผสมขมิ้น ล้างเท้าของพ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่ให้พร แล้วกราบที่เท้าของพ่อแม่

      จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวผลัดกันป้อนอาหารให้แก่กัน

      เมื่อทานเสร็จ เพื่อนเจ้าสาวจะเข้ามาหยิบอาหารขว้างปาจนเลอะเทอะ

      เป็นหน้าที่ของเจ้าสาวที่จะต้องมาทำความสะอาด ด้วยท่าทีอ่อนน้อมเรียบร้อย เพื่อให้พ่อแม่ของเจ้าบ่าวและผู้ที่มาร่วมงานเห็นว่า ตนเองเป็นแม่ศรีเรือน สามารถดูแลบ้านช่องให้สะอาดเรียบร้อยได้

      ชีวิตของชาวบ้านป่า วัดคุณค่าของคนด้วยความขยันขันแข็ง ความสะอาดเรียบร้อย และความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี

      ไม่มีเงินตราเข้ามาเกี่ยวข้อง ของกินระหว่างงานก็นำมาจากบ้านของแต่ละคน แล้วมาทำกินร่วมกันที่บ้านของเจ้าสาว

      ความภูมิใจในชีวิตคู่คือการร่วมกันสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น โดยทั้งสองคนจะต้องเริ่มจากการบุกเบิกทำไร่ร่วมกัน หากต่อไปจะปลูกบ้านก็ต้องช่วยกันปลูก

      เป็นชีวิตคู่ที่ทั้งสอง "ร่วม" กันสร้างอย่างแท้จริง

      มีชายหนุ่มบางคนที่ขยันขันแข็ง ปลูกสร้างบ้านถาวรอยู่กับแม่เพราะพ่อเสียไปแล้ว ทำสวนมีไม้ผลพอสมควร แต่เขากลับไม่มีคู่ เพราะบรรดาสาว ๆ เห็นว่าเขาก่อร่างสร้างตัวไว้แล้ว หากใครแต่งงานด้วยก็แทบไม่ต้องทำอะไร เป็นการเอาเปรียบฝ่ายชาย และเพื่อนฝูงดูถูกว่าแต่งเพราะฝ่ายชายมีฐานะ

      กลางคืนตุกและเพื่อน ๆ นั่งคุยเป็นเพื่อนหว้าและเจ้าสาวจนดึก ก่อนแยกย้ายกันไปนอน บ้างนอนที่บ้านเจ้าสาว บ้านนอนที่บ้านข้างเคียง ไม่จำเป็นต้องบอกเจ้าของบ้านก่อน ทุกคนสามารถขึ้นไปนอนบ้านหลังไหนก็ได้ เพราะล้วนต่างถือเป็นญาติกัน

      รุ่งขึ้นหลังอาหารเช้า รถคันเดิมมารับเพื่อเดินทางกลับ

      ทุกคนลาหว้า ด้วยความรู้สึกเดียวกันว่า ได้เสียคนของหมู่บ้านให้แก่หมู่บ้านอื่น

      หว้าไม่ใช่เพียงเป็นคนของครอบครัว หากเป็นคนของชุมชนด้วย

      ขณะนั่งรถกับต่างพูดกันถึงหว้าด้วยความคิดถึง

      เมื่อไปต่างหยิบฉวยข้าวของที่มีไปช่วยงาน เมื่อกลับก็ได้รับมะพร้าวจากบ้านเจ้าสาวกลับคืนมาไม่น้อยกว่ากัน

      ชีวิตครอบครัวในวัฒนธรรม ของชาวป่าเขาอย่างกะเหรี่ยงแล้วคือความสมดุลตามธรรมชาติ แม้จะไม่มีการแบ่งหน้าที่อย่างเด็ดขาด แต่ก็เห็นความแตกต่างของการทำหน้าที่ในครอบครัวได้อย่างชัดเจน

      ผู้หญิงทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมาก อาทิ ทำความสะอาดบ้าน ตำข้าว ทอผ้า

      ผู้ชายทำงานที่ต้องอาศัยแรงงาน อาทิ ฟันต้นไม้ เข้าป่า ซ่อมแซมบ้านเรือน

      ผู้หญิงจะไม่หยิบปืนเดินเข้าป่า ขณะที่ผู้ชายก็ไม่ทอผ้า

      แต่งานโดยทั่วไปก็ต้องช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวป่า

      หว้าแต่งงานแยกเรือนไปแล้วชาวบ้านต่างทำนายกันว่า อีกไม่นาน หน่อ น้องสาวของหว้าต้องแต่งงานแน่ เพราะต้องหาผู้ชายมาช่วยงานฟันต้นไม้เพื่อเตรียมที่ในการทำไร่

      หน่อบอกด้วยทีท่าเอียงอายว่าจะยังไม่แต่งหรอก เพราะยังไม่มีแฟน และพี่ชายเพิ่งแต่งงานไป

      ทำไร่ปีนั้น หว้าต้องกลับมาช่วยหน่อตัดฟันต้นไม้ ปลูกเพิงพักที่ไร่

      หลังจากหว้าแต่งงานเพียง 4 เดือน ก็มีข่าวหน่อจะแต่งงานท่ามกลางความโล่งอกของทุกคนที่เห็นบ้านของหน่อจะมีผู้ชายมาช่วยงานบ้าน

      ชุมชนของกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมานับพันปี ก็ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทุกคนมีหน้าที่ต่อชุมชน และมีหน้าที่ต่อครอบครัว

      ธรรมะในการใช้ชีวิต ร่วมกันของกะเหรี่ยง คือ การทำหน้าที่

      เมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์แล้ว สังคมก็จะสงบสุข
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws