"กลับหน้าแรกคลิ๊กที่นี่.."
คนละวัฒนธรรม
แต่งงานแบบกะเหรี่ยง
ปลูกตามธรรมชาติ
น้ำฝน-น้ำใจ
หมู่บ้านศิลปิน
การพัฒนาที่บ้านเจ้าวัด
ไหว้เจดีย์
ป่าของเรา
บุญข้าใหม่

อยู่กับป่า


::หมู่บ้านศิลปิน::

       บ้านผู้ช่วยเสิกขันโจ่มีผู้คนมากหน้านั่งคุยกัน เนื่องจากวันนี้ "สะล่า" ซึ่งเป็นครูสอน "รำตง" จะมาพัก และสอนรำตงในหมู่บ้านของเรา

       "สะล่า" เป็นหนุ่มใหญ่ วัยประมาณสี่สิบปี ร่างเล็ก ถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในเขตพม่า เรียนการร่ายรำ ดนตรี และเพลงจากบ้านเกิด เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ได้เดินทางท่องเที่ยวจนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

      เนื่องจากมีความรู้ทางการร้องรำทำเพลง เมื่อไปอยู่หมู่บ้านใด มักได้รับการติดต่อจากผู้นำคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านนั้น ให้ช่วยสอนรำตงแก่เด็ก ๆ และเยาวชนในหมู่บ้าน

      "รำตง" เป็นศิลปะการร่ายรำ เต้น และขับร้องลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ทั้งในเขตไทยและเขตพม่า ลักษณะการรำ มักรำเป็นหมู่ ไม่มีลักษณะการจีบ การตั้งวงที่แน่นอนแบบไทย และไม่หักมุม ตั้งเหลี่ยมที่ข้อศอกและเข่าแบบพม่า แต่เป็นการวาดแขนวาดขาไปตามธรรมชาติ ดูงดงามกลมกลืน

      ชาวบ้านได้พูดคุยกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการฝึกซ้อมรำตง โดยจะมีการฝึกซ้อมในตอนหัวค่ำ เลือกสอนเด็กวัย 10-19 ปี ซึ่งผู้มาเรียนต้องสมัครใจ และได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทั้งต้องมาฝึกซ้อมเป็นประจำ หากผู้ใดจะเลิก ต้องเสียค่าปรับเป็นเงินห้าสิบบาท เพราะทำให้ตำแหน่งขาดหายไป ต้องเสียเวลาฝึกคนใหม่มาทดแทน

      ทุกคนในหมู่บ้านยินดีต้อนรับสะล่า และแบ่งหน้าที่ในหมู่บ้านให้สะล่าเป็นครูสอนรำตง ไม่ต้องทำงานอย่างอื่น สามารถกินข้าวหลังไหนและนอนบ้านหลังไหนก็ได้

      แต่ช่วงแรก ผู้ช่วยเสิกขันโจ่ชวนสะล่าให้พักที่บ้าน เพราะผู้ช่วยและภรรยาเป็นผู้สนในในศิลปะการร่ายรำเหล่านี้ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าผู้ช่วยสิกขันโจ่สมัยเป็นหนุ่มเคยเล่นลิเกกะเหรี่ยง จนมีชื่อเสียงในแถบนี้

      หัวค่ำ หลังจากกลับจากการทำไร่และกินข้าวเย็นแล้ว บรรยากาศในหมู่บ้านเริ่มคึกคัก ณ ลานกลางหมู่บ้าน สว่างด้วยตะเกียงเจ้าพายุของครูจากศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา

      เด็กหนุ่มดีกลองเรียกบรรดาผู้รำและผู้ชมมาพร้อมกัน ระยะแรก ผู้รำยังเคอะเขิน การรำดูเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและจำได้ยาก

      แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ความผิดพลาดมีน้อยลง ผู้เรียนเข้าใจท่ารำ ตำแหน่งการยืน และเนื้อเพลงมากขึ้น

      สายตาของญาติพี่น้องที่นั่งชมเปลี่ยนจากเดิมที่ชมด้วยความสนุกขบขันในความผิดพลาด เป็นความชื่นชม เพลิดเพลิน นั่งดูด้วยความสงบเงียบ ทุกคนเริ่มเห็นความงดงาม ความสามารถของลูกหลานตนเอง การรำที่มีแต่ความผิดพลาดก็ลดน้อยลง มีจังหวะจะโคนอ่อนหวาน และประสานกลมกลืนกันมากขึ้น

      ผู้รำซึ่งมีอายุตั้งแต่ 10-19 ปี เมื่อแรกฝึกมีแต่เสียงหัวเราะในความเคอะเขิน ความผิดพลาดของตนและผู้อื่น เริ่มมีสมาธิในการรำ จดจ่อในท่าทางและความกลมกลืนร่วมกันของทั้งหมด เสียงเพลงที่เปล่งออกมาขณะรำชัดถ้อยชัดคำ เป็นการอวยพรต่อผู้ฟังและบอกกล่าวถึงคุณงามความดี ความสามัคคี เพื่อสอนใจเตือนใจทั้งตนเองและผู้ชม

      ความงดงามและความหมายเหล่านี้ ซึมลึกลงสู่จิตใจของชาวกะเหรี่ยงอย่างช้า ๆ

      เด็กตัวน้อย ๆ อายุ 5-9 ขวบ ยามว่างจะรำเล่นเลียนแบบพี่ ๆ และขอรำด้วย จนสะล่าต้องรวมเป็นวงเด็กเล็กอีกวงหนึ่ง ซึ่งสามารฝึกได้อย่างรวดเร็ว เพราะเคยเห็นรุ่นพี่ ๆ รำมาก่อนแล้ว จนผู้พบเห็นต่างไม่อยากเชื่อว่า เด็กตัวน้อย ๆ เหล่านี้ สามารถรำ จำท่าทาง และตำแหน่งอย่างแม่นยำ แต่เด็กเหล่านี้ก็ทำได้ ซึ่งเป็นการรำด้วยท่าการสลับตำแหน่ง และแปรอักษรอย่างถูกต้อง งดงาม เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง

      หมู่บ้านยามนี้ช่างสงบและมีความสุขเสียจริง ยามเย็นหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการงาน อาบน้ำ และกินข้าวเย็นแล้ว ทุกคนจะมารวมตัวกันที่ลานกลางบ้าน ชมลูกหลานของตนรำตงอย่างอ่อนช้อยงดงาม ฟังเนื้อเพลงบรรยายถึงความงดงามของธรรมชาติ ความโอบอ้อมอารีของผู้คน คุณงามความดีต่าง ๆ ที่ทุกคนควรยึดถือ จงเริ่มดึกจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

      ชีวิตที่เกิด เจริญเติบโตและเป็นอยู่กับป่าเขาตามธรรมชาติ จนคนภายนอกเรียกว่า "คนป่า" หรือ "คนเถื่อน" ดูแล้วน่าจะเป็นผู้ห่างไกลความศิวิไลซ์ มีจิตใจหยาบกระด้าง แต่ ณ หมู่บ้านนี้กลับตรงกันข้าม ด้วยจิตใจที่อ่อนโยนสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นผู้สร้างสรรค์และเสพศิลปะอันละเอียดลึกซึ้ง

      การรำตงเป็นการร่ายรำเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ที่มีอยู่แล้วในวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงทุกคน ไม่เคยเบื่อแม้ต้องฝึกซ้อมเป็นเวลาหลายเดือน และไม่เบื่อสำหรับผู้ชมที่ชมการรำเหมือนเดิมทุก ๆวัน เพราะพวกเขาได้เห็นและสัมผัสกับความงดงามอ่อนช้อยซึ่งสอดคล้องกับจิตใจที่ละเอียดอ่อนโยน

      ในวันนี้ช่วงหัวค่ำ ณ ลานกลางหมู่บ้านในป่าเขาแดนเถื่อนก้องไปด้วยเสียงดนตรีและเสียงเพลง บรรยายถึงความดี ความงาม ความสงบสุข มีคนกลุ่มหนึ่งล้อมเป็นวงใหญ่ นั่งชมการรำตงอย่างสงบเงียบ ด้วยแววตาสีหน้าสงบและปีติสุข

      แต่ไกลออกไป ณ กลางเมืองหลวงแดนศิวิไลซ์ ก้องไปด้วยเสียงรถยนต์ และเสียงต่าง ๆ ที่บอกถึงความอึกทึก วุ่นวายเร่งรีบ มีคนกลุ่มใหญ่นั่งบ้าง ยืนบ้าง บนรถยนต์ที่ติดเป็นเส้นไม่รู้จบบนท้องถนน ท่ามกลางมลพิษต่าง ๆ รายรอบ สายตาเหม่อมองออกไปข้างหน้า เป็นสายตาที่เฉยเมย เย็นชา มีเพียงแววแล้งในดวงตา ไม่ทราบว่าเขามีความสุขกันไหมนะ ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน นี่เราอยู่บนโลกใบเดียวกันหรือเปล่า
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws