ประวัติภราดา ฟ.ฮีแลร์
	ฟ.ฮีแลร์ เป็นศาสนนามของฟรังซัว ดูเวอเนท์
 ฟ. ย่อมาจาก ภาษาฝรั่งเศส Fre’re ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “ Brother ” 
 และมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า ภราดา หรือ เจษฎาจารย์ นั่นเอง 
 ฟ.ฮีแลร์ เกิดที่ตำบลจำโปเนีย เมืองบัวเตียร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2423
 ในวัยเยาว์ได้รับการศึกษาในโรงเรียนชั้นต้นแถบบ้านเกิด  ด้วยเป็นผู้มีอุปนิสัยน้อมนำไปทาง
 พระศาสนาคาทอลิกมาแต่ปฐมวัย ใคร่จะถวายตนเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เมื่ออายุครบ 12 ปี
 จึงขออนุญาตบิดามารดา เข้าฝึกในสถานอบรมเป็นภราดาคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล
 ที่เมืองซังลอลังต์ ซิวแซฟวร์ ในมณฑลวังเด หลังจากร่ำเรียนวิชาทางลัทธิศาสนา วิชาครู และวิชาอื่นๆ
 จนสำเร็จแล้วจึงประกาศ อุทิศตนถวายพระเจ้า ปฏิบัติข้อผูกมัดตนของคณะเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล
 เป็นภราดา เมื่ออายุ 18 ปี และเมื่อได้ถวายตัวเป็นภราดาแล้ว เจษฎาจารย์ฮีแลร์ก็ได้วัตรปฏิบัติต่างๆ
 อย่างเคร่งครัด สมกับเป็นผู้ทรงศีลยังปรัชญาชีวิต ดำเนินในฐานะนักพรตที่รักความสันโดษและพยายาม
 ทำตนเป็นแบบอย่าง สมกับความเป็นครูทุกประการ 
	 เมื่อคณะของบรรดาเจษฎาจารย์เซนต์คาเบรียล ต้องรับผิดชอบดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญในประเทศไทย
 ต่อจากบาทหลวง กอลมเบต์ นั้น ฟ.ฮีแลร์ ผู้ซึ่งมีวัยเพียง 20 ปี นับเป็นคนหนุ่มที่สุดในคณะ 
 ส่วนหัวหน้าคณะในครั้งนั้นคือ เจษฎาจารย์มาแตง เดอ ตูรส์ เมื่อแรกเข้ามาเมืองไทย เจษฎาจารย์ฮีแลร์
 เห็นจะหนักใจมากกว่าผู้อื่นในคณะ ด้วยอายุยังน้อย และภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่อง ภาษาไทยยิ่งไม่ถนัด
 ยิ่งไปกว่านั้นตรงที่บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ต้องรักษาตัวที่ฝรั่งเศส ยังกลับมากรุงเทพฯไม่ได้
 แต่ด้วยความตั้งใจจริง ท่านจึงพยายามฟังเด็กไทยท่อง “ มูลบทบรรพกิจ ” อยู่เป็นประจำถึงกับหลงใหล
 จังหวะจะโคน และลีลาแห่งภาษาไทย จึงมุมานะเรียนรู้ภาษาไทย จนถึงแต่งตำราสอนเด็กได้ และตำราที่ว่านั้นคือ 
 “ ดรุณศึกษา ” นั่นเอง ในเรื่องของการสร้างตึก เพื่อขยายสถานที่นั้น ท่านพบอุปสรรคนานัปการ 
 โดยเฉพาะช่วงขัดสนเงินทองจะเรี่ยไรค่อนข้างยากลำบาก อาศัยวิธีกู้เงินจากผู้ปกครองนักเรียน คือใครอุทิศเงิน
 ให้โรงเรียนหนึ่งหมื่นบาท บุตรจะเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเลย จนกว่าจะจบหลักสูตร วิธีการเช่นนี้
 ทำให้มีการครหานินทาว่า โรงเรียนอัสสัมชัญเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ อยู่ในสมัยนั้นนานทีเดียว ในช่วงหลังสงครามโลก
 ชีวิตการงานของท่านดูจะไม่เหมือนเดิม ด้วยชีวิตที่รีบเร่งเกินไป เมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปเร็วนักสำหรับท่าน
 คนโกงมากขึ้น คนไม่รับผิดชอบต่อการงานมากขึ้น ท่านเริ่มรู้สึกเหนื่อย และเบื่อหน่าย จนกระทั่งตอน
 เห็นพิธีเปิดตึกสุวรรณสมโภช มีทั้งผู้ใหญ่ และเพื่อนเก่า เช่น เจษฎาจารย์ไมเกิล ได้เดินทางจากประเทศอินเดีย
 มาร่วมงานด้วย ท่านจึงรู้สึกว่า “ คุ้มเหนื่อย ” หลังจากนั้นอีกไม่ถึงปี ท่านก็ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ถึงกับต้อง
 ส่งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เข้าใจกันว่าท่านคงจะไม่ฟื้นแล้ว เอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสได้ให้เกียรติมอบเครื่อง
 ราชอิสริยาภรณ์ ลียองดอนเนอร์ให้ท่าน ระหว่างที่เป็นโรคชรา มีอาการหลงลืม และมีอาการน่าเป็นห่วงหลายครั้ง
 แต่ท่านก็มีอายุมาถึง 87 ปี 
	 แล้ววาระสุดท้ายของท่านก็มาถึง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ว่า 
 “ เส้นโลหิตฝอยแตก ” ศิษยานุศิษย์ได้เชิญศพมาตั้ง ณ ห้องประชุมตึกสุวรรณสมโภช โดยมีท่านอัครสังฆราช
 ทำพิธีมหาบูชามิสซา ปลงศพเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปีเดียวกัน
ลำดับอธิการ
ประวัติการเชียร์และแปรอักษร
ประวัติคุณพ่อกอลมเบต์
ประวัติภราดา ฟ.ฮีแลร์
ประวัติภราดา มาร์ติน
พัฒนาการอาคาร
คุณพ่อกอลมเบต์กับอัสสัมชัญ
"บราเดอร์ ฮีแลร์ผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ"
อัสสัมชัญของเรา
เพลงโรงเรียน&เพลงเชียร์
ดรุณศึกษา
อัสสัมชนิก
     
Thanks for coming
©Copyright 2002 Assumption College History All rights reserved.
Hosted by www.Geocities.ws

1