หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

 

เรื่องของความเกิด-ดับ

ของ

ระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์


วัดหินหมากเป้ง, อ.ศรีเชียงใหม่,

จ.หนองคาย

กายแตกดับ แต่จิตที่ยังมีกิเลสอยู่ยังไม่ดับ

กายและจิตเมื่อยังปกติดีอยู่ย่อมทำงานร่วมกันได้ทุกๆ กรณี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชำรุดพิการนั้นแล จึงจะทำร่วมกันไม่ได้ เพราะขาดสายสื่อสัมพันธ์กัน

สายสื่อสัมพันธ์ที่ว่านี้ หลักวิชาแพทย์เขาเรียกว่า เซลล์เช่นเซลล์สมอง สั่งงานให้คิดให้ส่งส่วยไปต่างๆ นานาเป็นต้น ทางพุทธศาสนาเรียกว่าประสาท เช่น ประสาทตา ทำให้เห็นรูป ประสาทหูทำให้ได้ยินเสียงเป็นต้น

แต่บางทีหมอเขาก็เรียกคนที่มีความคิดไม่ปกติว่าคนประสาทเสื่อมเหมือนกัน จะอย่างไรก็ตาม นักอบรมจิตหรือผู้ภาวนากรรมฐาน เชื่อมั่นลงแน่แน่วทีเดียวว่า คนตายจิตออกจากร่างแล้วไม่ยอมรับรู้ไม่ร่วมทำงานด้วยเซลล์หรือประสาท เซลล์หรือประสาทก็จะไม่มีผลอันใดทั้งหมด เมื่อความอบอุ่นยังมีอยู่เซลล์หรือประสาทก็อาจยังมีปรากฎอยู่ก็ได้ แต่ไม่มีอันใดเป็นเครื่องรับรอง เพราะจิตผู้รับรู้ไม่มีเสียแล้ว


เรื่องนี้เราจะสังเกตเห็นได้จากสัตว์ที่ตายใหม่ๆ ยังมีไออบอุ่นอยู่ ประสาทหรือเส้นเลือดของมันยังกระตุกเต้นอยู่เลย นั้นแสดงว่าเซลล์หรือปะสาทมันยังทำงานอยู่ แต่ชีพจรหรือลมมันอ่อนจนไม่ปรากฎเสียแล้ว

ที่อธิบายมาทั้งหมดนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เซลล์หรือประสาทมิใช่จิตเป็นผู้รับสัมผัสนั้นๆเท่านั้น จิตต่างหากเป็นผู้รับรู้สัมผัสนั้นๆ แล้วก็ยังไม่ทำให้เกิดกิเลสอันใดขึ้นมาก่อน ต่อเมื่อเกิด ตัณหา อุปาทาน ดังได้อธิบายแล้ว จึงจะเกิดกิเลสขึ้นมา

ฉะนั้นถึงเซลล์หรือประสาทจะร่วมทำกรรมด้วยกันกับจิตก็ตาม เมื่อยังอยู่ร่วมกันก็ร่วมกันเสวยผลของกรรมนั้นสืบไป เมื่อเซลล์หรือประสาทชำรุดทำงานตามปกติร่วมใจไม่ได้แล้วกายแตกดับ ผลของกรรมนั้นใจจะเป็นคนรับเอาแต่ผู้เดียว แล้วผลกรรมคือวิบากนั้นแลจะเป็นมัคคุเทศก์นำจิตให้ไปเกิดในที่นั้นๆ

ส่วนเซลล์หรือประสาทอันเป็นรูปธาตุไม่สามารถสลายตัวหนีไปจากกามภูมิพื้นดินอันนี้ได้ สลายตัวจากนี้แล้วก็ไปก่อตัวขึ้นในที่อื่นอีกต่อไป

พระอริยเจ้าที่ท่านชำนาญในการเข้าฌานบังคับจิตให้อยู่ในองค์ฌานอย่างเต็มที่ เข้านิโรธสมาบัติอยู่ได้ตั้งอาทิตย์ ลมหยาบๆไม่ปรากฎระบายออกมาทางจมูกเลย เรียกว่าดับลมหายใจเข้าออก แต่ยังไม่ตาย ร่างกายทุกส่วนยังปกติอยู่ตามเดิม แต่หมดความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น ส่วนลมอันละเอียดที่ซาบซ่านไปตามสรรพางค์กายยังมีอยู่

ถึงเซลล์หรือประสาทจะยังทำงานอยู่ก็ตาม แต่จิตไม่มารับรู้ด้วยแล้ว พอจะสรุปได้แล้วว่า คนเรานี้เมื่อรูปกับนามคือกายกับใจยังปกติอยู่ก็ทำงานร่วมกันไป บางทีจิตคิดจะทิ้งกายก็ทิ้งเอาเฉยๆ โดยกายไม่ยอมรับรู้ด้วยก็มีดังกล่าวมาแล้ว บทกายจะเบี้ยวจิตก็มิใช่ย่อยเหมือนกันอยู่ดีๆ บางทีช็อคตาย รถทับตาย ตกเครื่องบินตาย เสันโลหิตแตกตาย ฯลฯ จิปาถะ ทั้งๆ ที่จิตมิได้มีเรื่องอะไรกับกายเลย มันแปลก

กายกับจิตนี้ก่อนเขาจะมาอยู่ร่วมกันก็ไม่ได้สนิทสนมกันมาแต่ก่อนเลย เวลาเขาจะแยกทางกันไปก็ไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบอะไร โดยเขาไม่ได้มีเรื่องอะไรกันสักนิดเดียว แล้วก็ไม่มีใครจะอาลัยอาวรณ์ถึงกันและกันเลย แยกทางกันไปแล้วก็แล้วกัน

ถ้าอย่างนั้น อะไรเล่าเมื่อเจ็บหรือจวนจะตายทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อน พระพุทธเจ้าตรัสว่า-นั่นคือกิเลส ใจมันไปหอบเอากิเลสมาไว้ที่ใจ คนเราเลยถือว่าใจเป็นกิเลส หากใจเป็นกิเลสเสียเอง แล้วใครเล่าจะชำระใจให้บริสุทธิ์ได้ใจมิใช่กิเลส กิเลสมิใช่ใจ แต่ใจไปรับช่วงเอาผัสสะอันเกิดจากอายตนะ เช่นตาเห็นรูปเป็นต้น แล้วเอามายึดไว้ที่ใจจนเกิดความรักใคร่พอใจ หรือเกลียดโกรธไม่พอใจ จึงทำใจให้มัวหมอง เพราะของสิ่งนั้นเป็นเหตุต่างหาก จึงเรียกว่า กิเลส ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นบัญญัติธรรมบอกให้รู้ว่า สิ่งนั้นชื่อว่าอย่างนั้นมีหน้าที่อย่างนั้นๆ ต่างหาก จิตเป็นผู้เข้าไปยึดเอาบัญญัติธรรมมาเป็นตนเป็นตัว เมื่อบัญญัติธรรมทำงานตามหน้าที่ของมันอยู่ จิตก็เลยถือว่าตนเป็นผู้รับหน้าที่ทำงานไปเสียเอง จึงเข้าใจว่าจิตของตนเป็นกิเลส

ธาตุแท้ของตะกั่วก็เป็นตะกั่วอยู่ตามเดิม ถึงแม้จะประสมเข้ากันกับทองคำแล้วก็ตาม เมื่อไล่ทองคำออกแล้ว ตะกั่วก็ต้องเป็นตะกั่วอยู่ตามเดิมนั้นเอง กายเป็นรูปธาตุ จิตเป็นนามธรรม สังขารเป็นอาการของจิตคิดปรุงแต่งรูปธาตุมาเป็นพาหนะให้ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อหมดความจำเป็นแล้วก็ทอดทิ้งไว้ที่เดิมของมัน สังขารจิตรกรช่างใหญ่สร้างโลกไม่มีที่สิ้นสุดไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย โลกนี้จึงกว้างใหญ่ไพศาลหากประมาณมิได้ ผู้เขียนรู้ตัวว่า เรามิใช่นักกายวิภาคชีววิทยา ที่อธิบายไปนั้นเป็นเพียงมติของตนเอง เพื่อประโยชน์แก่อารมณ์ของผู้เจริญกรรมฐานเท่านั้น อาจผิดหรือถูกก็ได้ จึงขออภัยแด่ท่านผู้รู้ทั้งหลายไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย หากผิดพลาดจะกรุณาเพิ่มเติมหรือให้ความสว่างอีกผู้เขียนก็ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย


------------------------------------------------


กรรมนิมิตและคตินิมิตเป็นผู้นำให้ไปเกิดในคตินั้นๆ

ผลผลิตของกายกับใจร่วมกันกระทำไว้นั้นเรียกว่า "กรรม" ผลของกรรมที่จะนำไปให้เกิดผลนั้น หาตัวตนมิได้ แต่จะปรากฎเกิดขึ้นเฉพาะในใจของผู้กระทำเท่านั้น หากจะแสดงให้ปรากฏออกมาทางกาย และวาจาบางกรณี เช่นคนผู้เคยฆ่าหมูเป็นอาชีพโดยมิได้กระดากใจเลยแม้แต่น้อย

เวลากายทรุดโทรมจวนจะตายอาจแสดงอาการส่อถึงบาปกรรมของเขาที่กระทำไว้นั้น เช่นร้องออกมาเป็นเสียงสุกร แสดงปฏิกิริยาเหมือนสุกรจะตาย หรือทำท่าทีฆ่าสุกรแล้วโฆษณาให้คนอื่นเขาเห็นโดยตนเอง ไม่ตั้งใจจะทำเช่นนั้นแต่มันเป็นไปเอง ดังนี้เป็นต้น นั้นมันเป็นการแสดงถึงผลกรรมที่เขากระทำไว้ เพียงเพื่อผู้ได้เห็นแล้วอนุมานเอาให้ใกล้ต่อความจริงเท่านั้น แต่ตัวกรรมและผลกรรมที่แท้จริงแล้ว ไม่มีใครรู้เห็นด้วยนอกจากตัวของผู้กระทำเท่านั้น กรรมนี้ท่านแสดงไว้ในธรรมวิภาคปริเฉท ๒ หลักสูตรนักธรรมโท มีถึง ๑๒ แต่ในที่นี้จะไม่ขอนำมาอธิายอีก เพราะในนั้นท่านอธิบายไว้ดีแล้ว

ในที่นี้จะแสดงเฉพาะกรรมนิมิตและคตินิมิตอันเป็นทูตของยมบาลเท่านั้น ใครจะทำกรรมดีกรรมชั่วไม่ว่าในที่ลับและที่แจ้ง อย่าได้คิดว่าทูตของยมบาลจะไม่รู้ไม่เห็นเลย เขาตามรู้ตามเห็นได้ทุกโอกาสทีเดียว

คนเราก่อนกายจะแตกดับเมื่อจิตปล่อยวางร่างกายไม่มีความรู้สึกแล้ว จะมีภาพอันหนึ่งเกิดขึ้นให้ปรากฏเห็นเฉพาะใจตนคนเดียวโดยที่เราจะตั้งใจดูหรือไม่ก็ตาม ภาพอันนั้นถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็คล้ายกับภาพนิมิตในความฝัน

ภาพนิมิตอันนั้นแลมันจะมาแสดงผลกรรมของเราที่เราได้กระทำไว้แล้วในอดีต บางทีเราอาจลืมไปแล้วนาน แต่มันมาปรากฏให้เราเห็นและระลึกขึ้นมาได้ เป็นต้นว่าเราเคยได้สร้างโบสถ์วิหารถวายกฐินทานเป็นอาทิ วัตถุทานนั้นก็จะมาปรากฏขึ้นให้เราเห็น แต่ภาพนิมิตนี้จะสวยสดงดงาม และวิเศษยิ่งกว่าที่เราได้กระทำไว้นั้น จนเป็นเหตุให้เมื่อเราได้เห็นเข้าแล้วเกิดปีติ อิ่มอกอิ่มใจจนหาที่เปรียบมิได้ แล้วจิตจะไปจดจ้องจับเอานิมิตนั้นมาไว้เป็นอารมณ์ ให้เกิดความสุขโดยส่วนเดียวที่เรียกว่า "สัคคะ"

ผู้สร้างบุญกุศลจะเห็นผลชัดแจ้งด้วยใจตนเองก็ตอนนี้ ที่นี้จิตมิได้เกี่ยวข้องด้วยกายอีกแล้ว กายจะเจ็บจะแตกจะดับจิตไม่รับรู้ทั้งนั้น ท่านแสดงไว้ว่า สัตว์จะตาย จิตทอดทิ้งร่างกายไปก่อนแล้วกายจึงดับภายหลัง แต่เมื่อเกิด รูปเกิดก่อน แล้วจิตจึงมาปฏิสนธิทีหลัง ที่ว่านี้คือจิตผู้รู้สึกซึ่งรับช่วงมาจากเซลล์หรือประสาท ไม่ปรากฏเสียแล้ว ณ ที่นั้น แต่เซลล์หรือประสาทยังสามารถทำงานอยู่ดังกล่าวแล้วเพราะความอบอุ่นยังมีอยู่

ความอบอุ่นนี้มันเกิดจากสวาบหรือกระบังลม กระบังลมยังไหวตัวอยู่ ลมก็ยังซ่านไปตามส่วนต่างๆของร่างกายได้อยู่ประสาทหรือเซลล์ก็ยังปรากฏอยู่ แต่ลมนั้นยังเหลือน้อยจนไม่สามารถจะยังชีพให้เป็นอยู่ได้ตามปกติ และในที่นั้นจิตผู้รับรู้ช่วงจากเซลล์หรือประสาทก็ไม่ปรากฏเสียแล้วจึงเรียกว่า ตาย

ที่นี้เมื่อจิตได้รับความสุขโดยมโนทวารอันปราศจากเซลล์หรือประสาทดังกล่าวแล้ว มันเป็นความสุขอันหาประมาณมิได้ ฉะนั้นท่านจึงแสดงความสุขของผู้ทำบุญแล้วไปเกิดในสวรรค์ว่า เป็นความสุขยิ่งยอดแล้วก็เสวยความสุขนั้นอยู่นานแสนนาน ถ้าจะเทียบอายุของชาวสวรรค์ชั้นจาตุมฯ กับของมนุษย์แล้ว ร้อยวันร้อยคืนของมนุษย์นี้ จึงจะเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของเขา แล้วอายุของเขาก็ยืนนานนับเป็นหมื่นๆปีเหมือนกันถ้าจะเปรียบพอจะอนุมานความสุขที่นั้น

เหมือนความสุขที่ได้รับในขณะที่นอนฝัน ความสุขในขณะนั้นสุขมาก เพราะมิได้เอาเซลล์หรือประสาทมาใช้ร่วม สุขเฉพาะใจล้วนๆ ความสุขของพระอริยเจ้าที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติก็ทำนองเดียวกัน ตรงกันข้ามผู้ที่กระทำกรรมชั่วไว้ กรรมนิมิต ก็จะเกิดในขณะเดียวกัน แต่จะเป็นเรื่องทนทุกข์ทรมานมากจนเหลือจะอดทนเพราะกรรมตามสนอง ความทุกข์ทรมานของกายถึงขนาดร่างกายจะแหลกเหลวเปื่อยเน่าไปก็ตาม แต่มันก็ยังมีชีวิตอยู่ไม่ตาย

ท่านเทียบอายุของสัตว์ในนรกไว้ว่า ร้อยวันร้อยคืนของชาวสวรรค์ชั้นจาตุมฯจึงจะเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของสัตว์ในนรก แล้วก็มีอายุยืนนานเป็นหมื่นๆ ปีเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะความทุกข์มันเป็นของเผ็ดร้อนทนได้ยากไม่มีใครปรารถนา ถึงทุกข์จะเป็นของน้อยแต่มันมีน้ำหนักมาก

ที่อธิบายมานี้เรียกว่ากรรมนิมิต ขณะที่มีชีวิตอยู่จิตย่อมร่วมกันทำงานกับเซลล์หรือประสาท แล้วสังขารเป็นผู้ปรุงแต่งให้กระทำกรรมนั้นๆ อย่างสนุกสนาน แต่เมื่อกายแตกดับ เซลล์หรือประสาทก็จะละหน้าที่ของตนเสีย กรรมที่ได้ร่วมกันทำไว้นั้น ก็จะมาปรากฏให้ใจเห็นเป็นผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว แล้วกรรมนิมิตนั้นแล จะเป็นผู้บัญชาให้ไปเกิดในคตินั้นๆ อีกต่อไป ตามอำนาจและวิสัยของตน

เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยพลังอำนาจของกรรม ยังให้เกิดคตินิมิตอีกอันจะชักนำให้ผู้กระทำกรรมนั้นๆแล้วไปเกิดในที่นั้นๆ แล้วก็เกิดในลำดับเดียวกันกับกรรมนิมิตนั้นเอง ให้ผลเป็นสุขเป็นทุกข์ก็เหมือนกัน แต่มันส่อแสดงให้เห็นสภาพหรือสถานที่อันตนจะพึงได้ไปเกิด ชักจูงให้จิตเลื่อมใสพอใจในอันที่จะน้อมจิตให้เข้าไปยึดมั่นยิ่งขึ้น เช่นผู้ที่ได้สร้างบุญกุศลไว้ มีการทำทานเป็นต้นดังกล่าว จะเห็นสถานที่ที่ตนจะต้องไปเกิดหรือไปเสวยอานิสงส์นั้นอย่างน่ารื่นรมย์รโหฐาน หร้อมด้วยเครื่องบริขารที่ตนได้ทำบุญไว้ แต่มันเป็นของวิเศษยิ่งกว่าที่เราได้ทำไว้นั้นเป็นไหนๆ เมื่อเห็นเข้าแล้วใจก็ปลื้มปีติอย่างยิ่ง

บางทีอาจมีผู้มาชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสถานที่นั้นเป็นอานิสงส์ของท่านที่ได้ทำบุญไว้แล้ว หรืออาจมีผู้คนมารับแห่แหนไปด้วยความมีเกียรติก็ได้ ส่วนคติกรรมชั่วตรงกันข้าม มันให้เกิดความทุกข์แสนสาหัสเหลือที่จะอดกลั้น

นิมิตทั้งสองคือกรรมนิมิตและคตินิมิต ขณะที่มันปรากฏเกิดขึ้นให้เห็นด้วยใจนั้น ผู้ทำกรรมไว้แล้วจะระลึกถึงกรรมหนหลังที่ตนได้กระทำไว้แล้วในอดีตตลอดได้หมด ถ้าได้เห็นกรรมดีพร้อมทั้งนิมิตที่ดีเป็นพยานก็จะอิ่มใจเพลิดเพลินอย่างยิ่ง ถ้าได้เห็นกรรมชั่วพร้อมทั้งนิมิตที่เป็นอัปมงคล ใจก็จะหดหู่เดือดร้อนเป็นทุกข์มากแสนทวีคูณ เรื่องที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ สมัยครั้งพุทธกาลก็เคยได้มีมาแล้ว

แม้ในปัจจุบันนี้ก็มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ผู้สนใจคงจะได้ทราบดีอยู่บ้างแล้วในเรื่องนี้ นิมิตทั้งสองนี้บางทีกรรมนิมิตเกิดก่อนแล้วคตินิมิตจึงเกิดภายหลังก็มี ไม่แน่นอน ถึงนิมิตใดจะเกิดก่อนเกิดหลังก็จะนำทางให้เข้าถึงจุดเดียวกันนั้น

 

อ่านต่อหน้า ๓ >>>>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1