หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

 

เรื่องของความเกิด-ดับ

ของ

พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย


วัดหินหมากเป้ง, อ.ศรีเชียงใหม่,

จ.หนองคาย

 

นิมิตทั้งสองนี้เปรียบเหมือนตำรวจที่ซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมของยมบาล ตามสืบราชการลับทั่วทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะทำกรรมดีกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เขาทั้งสองจะต้องตามรู้ตามเห็นไปทั้งหมด ใครจะปกปิดอำพรางหรือแก้ตัวอย่างไรๆ ไม่ได้ทั้งนั้นและคนที่ซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงตรงรู้ดีกว่าตำรวจทั้งนายนี้ก็คือ ใจของตนเองนั้นแลเป็นคนแรก, บางคนอาจเข้าใจว่า กรรมดีและกรรมชั่วที่บุคคลได้กระทำไปแล้วให้ผลในปัจจุบันนี้เอง เช่นสร้างกรรมดีไว้ย่อมมีผู้ยกย่องสรรเสริญให้เกียรติรางวัลเป็นต้น

ทำกรรมชั่วไว้ได้รับโทษทรมานเช่นประหารชีวิตและถูกจำจองเป็นต้น ผลอนาคตไม่มี นั่นมันเป็นเรื่องของอุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าโลกหน้าไม่มี บุญกรรมที่ทำแล้วไม่มีผล มันเป็นภัยแก่สัจจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างร้ายแรง

 

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ผู้ทำกรรมดีกรรมชั่วยังมีกิเลสอยู่ ภพชาติก็ยังมีอยู่ กิเลสนั้นแลเป็นมัคคุเทศก์นำทางให้ไปเกิดในภพชาตินั้นๆ และได้เสวยผลกรรมที่ยังเหลืออยู่ในที่นั้นๆ การได้รับผลกรรมไม่ว่าดีหรือชั่วในปัจจุบันเป็นแต่ผลกรรมมีประมาณเล็กน้อยในปัจจุบันเท่านั้น

ผู้เจริญรูปฌานก็จะเพ่งเอานิมิตรรูปที่มาปรากฏเป็นกสิณอยู่ที่ใจนั้นเป็นอารมณ์ ให้นำไปเกิดในรูปภูมิ ผู้เจริญอรูปฌานก็จะเพ่งเอาความว่างอันเป็นอารมณ์ของฌานนั่นแลมาเป็นนิมิต เป็นอารมณ์ให้นำไปเกิดในภูมิที่มีแต่ความว่าง รูปภูมิเป็นภพที่มีรูปละเอียด ไม่ได้ใช้เซลล์หรือประสาทอย่างธรรมดาสามัญ เช่นมนุษย์ของพวกเราทั้งหลายนี้ แต่เป็นรูปของจิต ท่านผู้เข้าถึงแล้วย่อมทราบได้ดีในเรื่องนี้ คนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราทั้งหลายนี้ พูดไปมากก็เลอะเลือนไปเปล่าไม่เข้าที ยิ่งอรูปฌานแล้วก็ยิ่งเป็นของเหลือวิสัยที่พวกเราจะอนุมานเอาได้ ยิ่งอนุมานก็มีแต่จะผิดหนักเข้าทุกที

สรุปแล้วนิมิตเป็นผู้นำทางให้ผู้ยังมีกิเลสอยู่ไปเกิดในคตินั้นๆ ผู้เข้าถึงรูปฌานและอรูปฌานแล้วก็ยังตกอยู่ในคติเดียวกันนั้น บางท่านอาจเข้าใจไปว่า เวลาจวนจะตายจึงจะระลึกเอาแต่นิมิตที่ดีเพื่อให้นำทางไปสู่สุคติ ข้อนั้นอย่าพึงคิดเลยเสียเวลาเปล่า เป็นเรื่องของการแก้ตัวของผู้ประมาทแล้วต่างหาก คนเราเกิดมาแต่ละชาติมา สร้างกรรมชั่วมากกว่ากรรมดี แม้แต่ละวัน หากจะมาหักลบกันแล้ว อยู่ดีๆปกตินี่แหละ ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลย กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ของแต่ละบุคคลนั้น จะเหลือทุจริตมากกว่าสุจริตเป็นอเนกทีเดียว แล้วเมื่อจวนจะตายยิ่งจะไม่ร้ายไปกว่านี้อีกหรือ ขนาดผู้บำเพ็ญกุศลระลึกเอาผลอานิสงส์ของความดีงามไว้เป็นอนุสสติตลอดกาล นอนหลับนอนฝันก็ปรากฏเห็นเป็นภาพนิมิตอยู่อย่างนั้น นั่นก็มิใช่จะพ้นจากทุกข์ไปได้ทีเดียว มันเป็นแต่ทางให้เข้าถึงสุคติเท่านั้น

-------------------------------------


ทางให้ถึงความดับภพดับชาติ

ภพชาติเป็นตั้งของกองทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายมากองอยู่ที่ผู้ยังมีภพชาตินี้ทั้งนั้น ภพชาติจะเกิดมีขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยผู้ยังมีกิเลสอันเป็นคู่กันกับนิมิต นำให้ไปเกิดในที่นั้นๆ ผู้ต้องการอยากจะให้ดับภพดับชาติ ก็ต้องพยายามอย่าให้นิมิตทั้งสองนั้นเกิดขึ้นได้ ในเมื่อจวนจะแตกดับนิมิตทั้งสองเราจะแต่งเอาตามปรารถนาไม่ได้ แต่มันเป็นไปตามบุญกรรมกิเลสของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างเอาไว้ดังกล่าวแล้ว

๑. เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะไม่ให้นิมิตเกิดขึ้นได้ในเมื่อจวนจะแตกดับ

ตอบ เมื่อเราเกิดมาจมอยู่ในกองแห่งทุกข์ทั้งหลายในป่าดงของกิเลสอันน่ากลัว แล้วเห็นผลของกรรมชั่วอันน่าสยดสยองอย่างยิ่ง จึงพอกันที แล้วบำเพ็ญแต่กรรมดีที่ให้ผลเป็นความสุข จนอิ่มพอในความสุขที่กรรมดีมอบให้นั้น แล้วละความสุขนั้นเสียไม่หลงมัวเมาเอามาเป็นของตนของตัวอย่างจริงจัง เรียกว่าละทั้งดีและชั่วเพราะอิ่มแก่ความต้องการทั้งหมดแล้ว นิมิตทั้งสองนั้นจึงจะไม่เกิด

๒. หากจะมีคำถามว่า เมื่อยังไม่อิ่มในกรรมทั้งสองนั้นจะทำอย่างไร

ตอบก็ต้องสร้างกรรมดีต่อไป แต่อย่าไปสร้างกรรมชั่วเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะกรรมชั่วเราได้สร้างมามากแล้ว จนมีผลเหลือที่จะเก็บและจำหน่ายออกได้แล้ว

๓. เมื่อชีวิตยังมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วก็ไม่ทำแล้ว แล้วจะอยู่และทำอะไรอีก

ตอบเมื่อชีวิตยังมีอยู่ การเคลื่อนไหวก็ต้องมี การเคลื่อนไหวอันได้แก่กรรม แต่ก็อย่าให้มีกรรมชั่ว จงให้มีแต่กรรมดี เพราะกรรมดีคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก คนดีทำกรรมดีไม่ปรารถนาผลตอบแทนถึงแม้จะทำกรรมดีอยู่ก็ไม่ชื่อว่าทำกรรม เรียกว่ากิริยา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก่อนจะดับภพดับชาติได้ คือถึงพระสัพพัญญุตญาณ ท่านได้สร้างบารมีมาแล้วเป็นอเนกชาติ มีทานบารมีเป็นต้น ผลสุดท้าย เมื่อบารมีของท่านอิ่มพอแล้ว จึงละโลกนี้ที่มีกรรมเป็นมูลฐานดับแล้ว ไม่มีเชื้อเหลืออยู่อีกต่อไป

--------------------------------


บทส่งท้าย

มนุษย์คนเราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในจำพวกของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอยู่ในโลกนี้ พร้อมกันนั้นสัตว์ทุกๆ ประเภทต่างก็เกลียดทุกข์ ดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุขตามปรารถนาของตนๆ แต่ความสุขที่เขาเหล่านั้นต้องการอาจไม่เหมือนกัน เพราะความแตกต่างในฐานะชั้นภูมิของเขาเหล่านั้นไม่เหมือนกัน ความหวังและความปรารถนาที่ว่านั่นแล มันเป็นเครื่องดึงดูดให้เขาเหล่านั้นรักโลกนี้อันเต็มไปแล้วด้วยกองทุกข์ ให้เขาลืมเสียจากทุกข์เหล่านั้นเป็นพักๆ ไป แล้วเขาก็เห็นว่าโลกนี้เป็นสุข ความเสมอภาคของสัตว์เหล่านั้น นอกจากจะมีความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้ว ยังมีทุกข์มีสุขประจำ มีการหลับการนอน การร้องไห้ และหัวเราะเพื่อแก้กลุ้ม ก็มีแก่สัตว์ทั่วไป

ข้อสำคัญคือการสืบพันธุ์เพื่อเป็นมรดกตกทอดมาให้แก่คนอื่นสัตว์อื่น เพื่อสร้างทุกข์ของโลกนี้ให้เจริญสืบไป หรืออาจเพื่อเป็นรังเรือนทุกข์ในอนาคตแก่ตนเองอีกด้วยก็ได้สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วล้วนแล้วแต่เล็งผิดเป้าหมายของตนทั้งนั้น โดยเฉพาะคนเราแล้วพลาดมากเป็นพิเศษ คือมีความต้องการไม่แน่นอน ปรารถนาสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นมาตามปรารถนาแล้ว แทนที่จะอิ่มจะพอแก่ความต้องการแล้ว แต่ก็ยังไม่พออีก สิ่งที่ได้มากลับเป็นของที่ไม่จุใจไปอีกแล้ว มันหิวไม่อิ่มอยู่ตลอดกาลอย่างนี้ ฉะนั้นคนเราจึงยุ่งและทุกข์มากกว่าสัตว์เหล่าอื่นเป็นไหนๆ ถึงแม้จะมีข้อกฏกติกาและระเบียบบังคับอย่างเฉียบขาด แต่ก็ยากที่จะเอาให้อยู่ได้

พร้อมกันนั้นสิ่งที่ผู้ประมาทแล้วไม่ค่อยคำนึงถึงเลย คือความแก่และความตายค่อยด้อมๆตามหลังมาอย่างเงียบๆ หากมันได้โอกาสเมื่อไรแล้ว มันจะตะครุบฟัดเหวี่ยงเอาอย่างไม่มีปรานีเลยทีเดียว

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฉลาดเฉียบแหลมกว่าเพื่อนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดาย แทนที่จะนำเอาความฉลาดเฉียบแหลมนั้น มาใช้สร้างความสุขความเจริญให้แก่ตนและคนอื่น กลับมาสร้างความทุกข์เดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่นสัตว์อื่นไปเสียฉิบ สู้ความแหลมของหนามทุเรียนไม่ได้ ซึ่งมันมีไว้เพื่อป้องกันตัวเท่านั้น แต่ใครอย่าไปแตะต้องมันนะ แล้วก็อย่าไปใกล้ต้นมันเวลามันหล่น

คนเราเป็นสัตว์ร้ายกว่าเขาทั้งหมด เกิดมาเพื่อทำลายโลกแท้ เริ่มต้นแต่สืบพันธุ์มนุษย์มาเพื่อให้มาตาย เมื่อเกิดมามากๆ ตามไม่ทันก็คิดทำลายล้างผลาญกัน เมื่อใช้อาวุธที่มีประจำตัวของแต่ละบุคคลทำลายกันไม่ทันกับความต้องการ ก็คิดสร้างอาวุธที่ร้ายแรงประหารกันตามทีละเป็นร้อยๆพันๆ ใครว่ามนุษย์เกิดมาสร้างโลกให้เจริญนั้นไม่จริง ความจริงแล้วจะสร้างความเจริญให้เฉพาะแก่ตัวเองและหมู่คณะในวงแคบๆของตนเอง หรือเฉพาะสถานที่ที่ตนต้องการเท่านั้น แต่มันไปทำลายบุคคลอื่นและสถานที่อื่นให้เดือดร้อนราบเรียบไปหมด

สมัยนี้ผู้ที่เกิดมาหาความสุขเพื่อตนและหมู่คณะของตนพอแล้ว คิดอิจฉาริษยาคนอื่นไม่ยักให้เขามาเกิดอีกด้วย คนผู้เห็นแก่ตัวมองพุทธศาสนาในแง่ร้ายว่า สอนให้คนอยู่กับที่ไม่ก้าวหน้า

พระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดศาสนา พระองค์ทรงพิจารณาเห็นความเสื่อมโทรมของโลกโดยพระปัญญาอันชัดแจ้งแล้ว จึงทรงสละความสุขของพระองค์ทุกๆ วิถีทางเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก ทรงอาศัยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ แล้วทรงตั้งพระหฤทัยอนุเคราะห์ แนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ ให้ปฏิบัติเป็นผู้เสียสละตามพระบาทยุคล

ผู้ไม่หลงผิด ปฏิบัติติดตามคำสอนของพระองค์แล้ว ย่อมได้รับความสุขความเจริญทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ได้ชื่อว่าพระองค์เกิดมาเพื่อทำโลกนี้ให้เจริญด้วยสติ อันเป็นที่ปรารถนาของเหล่าประชาสัตว์โดยแท้จริง


< < < < < จบ > > > > >

 

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1