หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

 

 

จิตตสังเขป

 


โดย

 

 

อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์


คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน หมายถึง สิ่งเกิดขึ้น

แต่ถ้าในขณะนั้นจิตไม่เกิดขึ้นรู้เสียงนั้น เสียงนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ไม่เป็นอารมณ์

ที่ (จิต) ชื่อว่า "หทย" เพราะความหมายว่าเป็นสภาวะอยู่ภายใน
จิตเป็นภายใน เพราะเป็นสภาพรู้อารมณ์ที่ปรากฏอารมณ์เป็นภายนอก เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้

ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นการพิจารณาสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทั้งภายในและภายนอก จึงจะรู้ลักษณะของจิตได้ จิตมีจริง แต่จิตอยู่ไหน จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน ในขณะที่เห็น จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก

 



สีสันวัณณะกำลังปรากฏภายนอก จิตเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน คือเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

การอบรมเจริญปัญญานั้น ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ฉะนั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือขณะใดที่เห็นแล้วระลึกได้ ไม่หลงลืมที่จะพิจารณาศึกษา สังเกต ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า สภาพเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินเสียงเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นสภาวธรรมซึ่งเป็นภายใน จึงยากที่จะพิจารณาให้รู้ได้ และสภาพที่ได้ยินเสียงนั้น ก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่กำลังปรากฏแล้วดับไปทันที จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปรวดเร็วมาก

เมื่อเข้าใจถูกว่าจิตกำลังเห็น จิตกำลังได้ยิน จิตกำลังคิดนึก เป็นต้น สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในขณะนั้นๆ ได้

ฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จนประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ เป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามลำดับ

ที่ (จิต) ชื่อว่า "ปัณฑระ" เพราะความหมายว่าบริสุทธิ์คำนี้ ตรัสหมายเอาภวังคจิต
จิต เป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที การดับไปของจิตดวง (ขณะ) ก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวง (ขณะ) ต่อไปเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่มีจิตที่เห็นอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา

ไม่มีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายอยู่ตลอดเวลา และไม่มีจิตที่คิดนึกอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่ฝัน จิตก็เกิดดับรู้อารมณ์สืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตใดที่ไม่รู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นเป็นภวังคจิต คือ ดำรงรักษาภพชาติที่เป็นบุคคลนั้นสืบต่อไว้ จนกว่าจิตอื่นจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการเป็นบุคคลนั้น

ฉะนั้น ที่จิตชื่อว่า "ปัณฑระ" เพราะความหมายว่า "บริสุทธิ์" นั้น ตรัสหมายเอาภวังคจิต ซึ่งบริสุทธิ์เพียงชั่วขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น ขณะที่หลับสนิททุกคนดูเหมือนบริสุทธิ์ ไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่สำคัญตน ไม่เมตตา ไม่กรุณา เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะรู้ได้ว่า จิตไม่บริสุทธิ์ เพราะสะสมกิเลสต่างๆ ไว้มาก จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจเมื่อเห็นสิ่งที่น่าพอใจ และรู้สึกขุ่นเคืองไม่แช่มชื่นเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

ขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น รู้สึกอย่างไร ความรู้สึกเฉยๆ ดีใจ เสียใจนั้น ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกว่า เวทนาเจตสิก จิตเป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่จิตไม่ใช่เวทนาเจตสิกซึ่งรู้สึกเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน จิตต้องเกิดร่วมกับเจตสิก เจตสิกต้องเกิดร่วมกับจิต จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันนั้นดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดดับที่เดียวกัน จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วยต่างๆ กัน และกระทำกิจต่างๆ กัน ฉะนั้น จิตจึงต่างกันเป็นหลายประเภท

ไม่มีใครชอบขณะที่จิตขุ่นเคือง กระวนกระวาย กระสับกระส่าย โศกเศร้า เดือดร้อน แต่ชอบขณะที่เป็นสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ขณะที่สนุกสนานรื่นเริงเพลิดเพลินนั้น จิตก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ปรารถนา พอใจ เพลิดเพลินในอารมณ์

การศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สติปัฏฐาน (คือสติที่) ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และอบรมเจริญปัญญาโดยศึกษา คือพิจารณาสังเกตจนรู้ชัดสภาพธรรมนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล และสภาพธรรมใดไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ไม่ว่าอกุศลธรรมใดๆ ขั้นหยาบหรือละเอียดก็เป็นอกุศลธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นอกุศลธรรมเฉพาะขณะที่โทสะเกิดเท่านั้น

บางท่านถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ
สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โทสะก็เป็นอนัตตา โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุเป็นปัจจัย ผู้ที่ดับความโกรธได้เป็นสมุจเฉท โทสะเจตสิกไม่เกิดอีกเลยนั้น เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล

 

การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลมี ๔ ขั้น

ผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งสภาพพระนิพพานครั้งแรก เป็นพระโสดาบันบุคคล ดับความเห็นผิด และความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย เมื่อพระโสดาบันบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหยาบเป็นพระสกทาคามีบุคคล เมื่อพระสกทาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงดับโทสะเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อพระอนาคามีบุคคลเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับอกุศลธรรมที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ เมื่อพระอรหันต์ดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่เกิดอีกต่อไป

อ่านต่อหน้า ๓ >>>>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l มงคลชีวิต ๓๘ ประการ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1