| ||
     
   
   
   
. ประวัติของยูโด
. หลักการของยูโด

เครื่องแต่งกาย, สายสี
ศัพท์น่ารู้, การให้คะแนน

วิธีฝึกเบื้องต้น
ท่าทุ่มเบื้องต้น

 
.
Jigoro Kano .
ศาสตราจารย์ยิโกโร คาโน .
ผู้ให้กำเนิดวิชายูโด ณ ญี่ปุ่น
.

วิธีฝึกอันถูกต้อง

วิธีฝึกยูโดเพื่อให้ได้ผลจริงจังนั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก
ผู้อำนวยการฝึกจะต้องใช้ความพินิจพิเคราะห์
ดำเนินการฝึกไปด้วยความละเอียดละออ และรอบคอบ
ถ้าสักแต่ฝึกๆ กันไปแล้ว ผู้รับการฝึกมักจะเกิดความเบื่อหน่าย
ท้อถอย และถึงแม้จะได้ความรู้ไป ความรู้นั้นมักจะไม่สมบูรณ์
เท่าที่ปรากฏอยู่เนื่องๆ คือ... ผู้รับการฝึกบ่นว่าปวดเมื่อย
ยอกเคล็ดตามร่างกาย ต้องยุติการฝึกกลางคันก็ดี
เสียหลักในการทรงตัว ทุ่มคู่ต่อสู้แต่ตนเองกลับซนเซล้มลงก็ดี
เหนื่อยเร็ว กระหายน้ำในเวลาต่อสู้ก็ดี ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ลังเล
เป็นเหตุให้เชื่องช้าก็ดี ต่างๆ เหล่านี้ เนื่องมาจากการฝึกที่ไม่ถูกทางทั้งสิ้น

การฝึกที่ถูกทางนั้น ดังจะได้แนะนำเป็นข้อๆ ต่อไปนี้...

1.) ก่อนจะเริ่มฝึกผู้อำนวยการฝึกจะต้องบรรยายคุณลักษณะ
ของยูโดให้ผู้รับการฝึกทราบจนเกิดความศรัทธา เลื่อมใสเสียก่อน
เช่น การเล่าถึงประวัติความเป็นมา และผลอันจะพึงได้รับจากวิชายูโด เป็นต้น

2.) เริ่มฝึกกายบริหาร มีการดัดตนท่ามือเปล่า และอื่นๆ
จนรู้สึกว่าอวัยวะคุ้นกับการออกกำลังกายดีแล้ว จึงเริ่มต้นวิชายูโด

3.) แนะนำการตระเตรียมตัวเข้าฝึก
ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ตลอดจนการแต่งตัวด้วยเสื้อ
กางเกง และผ้าคาดเอวให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกยูโด
ให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามแบบวิชายูโด

4.) อธิบายถึงมารยาท , กติกา
และการจำแนกวิชายูโดออกเป็นประเภทๆ

5.) จากนั้นจึงเริ่มฝึกท่าล้ม (ตบเบาะ) ก่อน
ควรแบ่งให้ดูเป็นจังหวะๆ ทำช้าๆ จากท่าง่าย ขึ้นไปหาท่ายากโดยลำดับ
เมื่อตรวจดูเห็นทำได้ถูกต้องทุกจังหวะแล้ว จึงเริ่มทำการกวดขันความรวดเร็ว
และความชำนาญจนถึงที่สุด

6.) เมื่อฝึกการล้มใช้การได้ดีจนไว้ใจได้แล้ว จึงเริ่มฝึกท่า
ผู้อำนวยการฝึกจะต้องบรรยาย แล้วแสดงให้ผู้รับการฝึกดูเป็นขั้นตอน
(คือ อธิบายด้วย แสดงตัวอย่างวิธีประกอบไปด้วยพร้อมๆ กัน)
ครั้นแล้วจึงให้เขามาทดลองเป็นผู้ทำกับผู้อำนวยการฝึกทีละคน
ตอนนั้นผู้รับการฝึกคงจะมีการบกพร่อง คลาดเคลื่อนตอนไหนอย่างไร
และความบกพร่องนั้นๆ จะส่งผลเสียหายอย่างไร ผู้อำนวยการฝึกจะได้ทราบ
และแสดงตัวอย่าง ท่าทาง หรือวิธีอันถูกต้องประกอบ
และให้ผู้รับการฝึกทำจนเป็นการจำขึ้นใจ เมื่อฝึกกับผู้อำนวยการฝึก
และมีการอธิบายสิ่งที่ถูกต้องเข้าใจดีแล้ว
จึงให้ผู้รับการฝึกทดลองจับคู่ฝึกกันเป็นคู่ๆ (ผู้อำนวยการต้องควบคุมการฝึก)
โดยขั้นแรกให้แบ่งเป็นจังหวะๆ สั้นๆ เมื่อชำนาญดีแล้วจึงลดจังหวะน้อยลง
จนกระทั่งเหลือจังหวะเดียว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว
และความชำนาญให้ดียิ่งขึ้น

7.) การฝึกโดยจบจังหวะคราวหนึ่ง ผู้ถูกทำก็ต้องล้มคราวหนึ่งนั้น
เป็นการฝึกที่ทำให้ผู้รับการฝึกบอบช้ำ และอาจเบื่อหน่ายจากการฝึกได้
และเสียเวลา นับว่าเป็นวิธีที่ผิด ทางที่ดีควรให้ผู้ถูกทำยืนในท่าเริ่มการต่อสู้
แล้วให้ผู้ทำแสดงท่าเข้าท่าเป็นจังหวะๆ เช่น... ท่าทุ่มด้วยสะโพก
แบ่งฝึกเป็น 3 จังหวะ ผู้อำนวยการฝึกเริ่มบอกจังหวะ 1
แล้วตรวจดูว่าถูกหรือไม่ เมื่อไม่ถูกก็ติและอธิบายแก้เสีย
แล้วบอกจังหวะที่ 2 ตรวจในทำนองเดียวกัน แล้วบอกจังหวะที่ 3
ตรวจดูอีกที ให้ตรวจดูคนที่ถูกทำด้วยว่าอยู่ในลักษณะเสียหลักประการใด
แต่อย่าให้ทุ่มลงกับพื้น ครั้นแล้วให้กลับที่เดิม เริ่มต้นใหม่อีก
ดังนี้จนชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว ให้เพิ่มความเร็ว
คือลดจังหวะให้เหลือ 2 จังหวะ จนในที่สุดลดเหลือจังหวะเดียว
แต่ก็ยังไม่ให้ทุ่มลงพื้น ต่อไปเมื่อรู้สึกว่าชำนาญกับจังหวะ
คล่องแคล่วดีแล้ว ก็เริ่มให้ทำท่าทุ่มด้วยสะโพก
ที่ลดเหลือเพียงจังหวะเดียวนั้น 10 ครั้ง หรือ 15 ครั้ง โดยครั้งที่ 10 หรือ 15
จึงยอมให้ทุ่มลงกับพื้นครั้งนึง การฝึกดังนี้จะเห็นความคล่องว่องไว
เป็นอันมาก นับว่าเป็นวีธีการฝึกที่ถูกทางและได้ผล

8.) เมื่อฝึกเป็นฝ่ายทำจนเข้าใจดีแล้ว ต่อไปจึงเริ่มฝึกวิธีแก้ไข คือ...
หาทางหลีกหลบอย่าให้เสียหลัก โดยผู้อำนวยการฝึกต้องชี้แจงแนะนำ
ประกอบกับทำตัวอย่างให้ดู

9.) ต่อจากนั้น จึงค่อยแนะนำสิ่งอุปกรณ์อย่างอื่นๆ ที่มีในการฝึกเป็นคู่ๆ เช่น...
การเดินไปมาทั้งไปข้างหน้าและถอยหลัง หรือด้านข้างซ้าย ขวา
จะต้องระมัดระวังอยู่ทุกขณะ การย่างเท้าก้าวเดิน
ต้องระวังอย่ายกเท้าสูงจากพื้นเป็นอันขาด
เท้าทั้งสองควรอยู่ในลักษณะเฉียงสลับกัน อย่าให้อยู่ในแนวเดียวกัน
เข่าควรอยู่ในลักษณะงอเล็กน้อย

* * * แนะนำให้เข้าใจถึงสัญญาณการยอมแพ้ กรณีถูกคู่ต่อสู้ทำหักหรือบิด
ด้วยท่าของยูโด ให้แสดงสัญญาณยอมแพ้ โดยใช้มือตบที่ตัวคู่ต่อสู้เบาๆ
หรือร้องบอกให้หยุด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งหยุดการกระทำต่อไป

*** เมื่อระหว่างหยุดพัก ควรหาโอกาสอยู่ในที่อากาศโปร่งและมีลมพัดถ่ายเท
ถ้ามีอาการมึนงง ควรยุติการฝึกและรักษาพยาบาลทันที

10.) แนะนำวิธีการจับเสื้อและผ้าคาดเอว ในลักษณะอันถูกต้อง

11.) ในเรื่องแนวทาง หรือวิธีการฝึกนั้น เนื่องจากวิชายูโดนี้มีมาแล้วแต่ช้านาน
และแพร่หลายทั่วโลก หลักเกณฑ์ และวิธีดำเนินการฝึกอาจมีผู้บัญญัติขึ้นต่างๆ กัน
บัญญัติ หรือแนวฝึกนั้นอาจไม่ตรงหรือเป็นแบบเดียวกันก็ได้

ต่อไปนี้จะหยิบยกเอาแนวฝึกของท่าน ศาสตราจารย์ ยิโกโรคาโน
ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดวิชายูโดและเชี่ยวชาญในวิชานี้อย่างดีผู้หนึ่ง
โดยท่านได้วางแนวการฝึกไว้ โดยแบ่งแยกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ...

1.) แรนโดรี่ (Randori)

ได้แก่การฝึกโดยวิธีให้คู่แข่งขันใช้ความแคล่วคล่องว่องไว
ประกอบด้วยความฉลาดและไหวพริบ ต่อสู้กันโดยพลการคือ
หาโอกาสให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหลัก หรือล้มลงโดยท่าปัด , ท่าเหวี่ยง , ท่าทุ่ม
ครั้นแล้วเข้าจับหักแขนขา , รัดคอ หรือลำตัวให้ปวดเจ็บ
หรือไม่สามารถลุกขึ้นได้ โดยมีระเบียบ มารยาทและกติกาวางไว้
คู่แข่งขันจะละเมิดกติกา หรือมารยาทมิได้

2.) กาตา (Kata)

ได้แก่การฝึกตามแบบ คือการฝึกที่ได้มีการซักซ้อม
หรือตระเตรียมรู้กันอยู่ก่อนแล้ว ว่าฝ่ายหนึ่งจะเข้าทำอย่างไร
และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องป้องกันอย่างไร

* * * วิธีการฝึกทั้งสองลักษณะนี้ ต้องแยกกันฝึกเป็นสัดส่วน
จะนำมาฝึกปะปนกันไม่ได้ เนื่องด้วยลักษณะแตกต่างกัน
ถ้าขืนนำมาปะปนกัน การฝึกจะไม่บังเกิดผล และอาจเกิดอันตรายได้ด้วย





วิธีล้มของยูโด / Ukemi
(Break Fall)

ประโยชน์ ความจำเป็นและสิ่งที่พึงปฏิบัติในเวลาล้ม
ประโยชน์ของการล้มที่ถูกวิธีคือ...

1.) ช่วยให้การยืน และเคลื่อนที่มีหลักดีไม่ล้มง่าย

2.) การล้มเป็นการฝึกกายบริหาร ทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายแข็งแรง

3.) ถึงหากจะล้มลงก็ไม่เสียขวัญ และช่วยให้หนักเป็นเบา

4.) นอกจากนี้ การล้มยังเป็นวิธีป้องกันอันตราย กล่าวคือ...
* * * ล้มข้าง = ใช้ป้องกันในเวลาล้มด้านขวาและซ้าย
* * * ล้มหน้า = ใช้ป้องกันในเวลาล้มคว่ำหน้า
* * * ล้มหลัง = ใช้ป้องกันในเวลาล้มหงายหลัง
* * * ล้มม้วนตัว = ใช้ป้องกันในเวลาล้มเอาศีรษะลง เป็นต้น

ความจำเป็นที่ต้องฝึกท่าล้ม การต่อสู้ซึ่งกันและกันตามกติกาการแข่งขันของยูโด
จะต้องมีการล้มอยู่เนื่องๆ ดังนั้นก่อนที่จะฝึกยูโด จึงจำเป็นต้องฝึกล้มให้เป็นเสียก่อน
ถ้าหากไม่ฝึกให้ได้มาตรฐาน เวลาถูกอีกฝ่ายหนึ่งทำให้ล้มลง
ผู้ล้มไม่เป็นจะได้รับการขัดยอก ปวด บวม หรือเกิดอันตรายได้ เช่น... นิ้วหัก ,
แขนเดาะ , ไหล่เคลื่อน เป็นต้น เป็นเหตุทำให้ต้องหยุดการฝึกเพื่อรักษาตัว
และการฝึกก็ไม่ลุล่วงไปด้วยดี
ฉะนั้น นักยูโดจึงถือว่าการฝึกล้มเป็นบันใดขั้นต้น
ต้องฝึกให้ได้มาตรฐานเสียก่อนเสมอ





ท่าล้มตบเบาะ / Ukemi
(Break Fall)

แบ่งเป็น 3 ประเภท

1.) ล้มหลัง (Usirono Ukemi) / Falling Backward
1.1) นอนราบตบเบาะ
1.2) นั่งราบตบเบาะ
1.3) นั่งยองๆ ตบเบาะ
1.4) ล้มจากท่ายืนอยู่กับที่
1.5) ล้มจากท่ายืน เคลื่อนที่ไปข้างหลัง

2.) ล้มข้าง (Yokono Ukemi) / Falling Side Ways
2.1) ล้มข้างจากท่านอน
2.2) ล้มจากท่านั่งเหยียดขา
2.3) ล้มจากท่านั่งงอเข่า
2.4) ล้มจากท่ายืนอยู่กับที่
2.5) ล้มจากท่ายืน เคลื่อนที่ไปด้านข้าง

3.) ล้มหน้า (Maeno Ukemi) / Falling Forward

ชนิดที่ 1 ล้มหน้าโดยใช้มือทั้งสองตบเบาะ มี 2 ท่า
ท่าที่ 1) ล้มจากท่านั่งงอเข่า
ท่าที่ 2) ล้มจากท่ายืนอยู่กับที่

ชนิดที่ 2 ล้มหน้าม้วนตัว มี 2 ท่า
ท่าที่ 1) ล้มหน้าม้วนตัวจากท่ายืนอยู่กับที่
ท่าที่ 2) ล้มหน้าม้วนตัวจากท่ายืนเคลื่อนที่ไปข้างหน้า





ข้อพึงระวังในการล้ม มีดังนี้...

1.) ปล่อยให้อวัยวะร่างกายเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ
ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าแข็ง อย่าขืน อย่าเกร็งเป็นอันขาด

2.) การเก็บคาง หรือตามองเข็มขัด เวลาเริ่มฝึกขั้นต้น
เกรงจะเผลอไม่เก็บคาง ท้ายทอยอาจกระทบพื้น
จึงให้เก็บคางไว้แต่แรก จะได้เคยชิน

3.) เวลามือใดตบเบาะ ตาต้องมองดูที่มือข้างนั้น
และต้องตบเบาะให้แรง ไม่งอแขน และไม่ห่างตัวหรือชิดตัวเกินไป
ควรให้แขนอยู่ห่างตัวประมาณ 45 องศาเสมอ

4.) ยกเท้าช่วยพอสมควร ท่าล้มหน้าม้วนตัว
เท้าทั้งสอง เหยียดตามธรรมชาติ อย่างดเข่า

5.) พยายามระมัดระวังอวัยวะส่วนเอว , บริเวณที่ตั้งของไต ,
ชายโครงอ่อน , ศีรษะ , ท้ายทอย และอกกระทบเบาะ
เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้


* * * * * * * * *
   
คุณประโยชน์ของความรู้นี้
ทั้งหมดทุกประการขออุทิศแด่...
อาจารย์ สุรใจ ลีลายุทธ
ผู้ล่วงลับ / ผู้ก่อตั้งชมรมยูโด
จังหวัดลำปาง
   
   

Copyright
© 2001. SLOT dESIGN
Designed & Developed by
SLOT dESIGN
Hosted by www.Geocities.ws

1