HOME
ไม้ยูคาลิปตัส

 

 

 

ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส
Eucalyptus camaldulensis Dehn.

การส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อให้มีไม้ใช้สอยในครัวเรือนและเพื่อ อุตสาหกรรม ที่จะมีเพิ่มมากขึ้น ไม้ที่ปลูกควรเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการเจริญ เติบโตเร็ว ปลูกง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้ง สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ดิน เสื่อมโทรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมดังกล่าว มีรูปทรงลำต้นตรงเปลาดีพอ สมควร สามารถเจริญเติบโตและตัดฟันเพื่อใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่อายุ 3 – 5 ปี และยังสามารถแตกหน่อได้ดีอีกด้วย โดยไม่ต้องปลูกใหม่

เนื่องจากประชาชนในชนบทบังไม่รู้ถึงประโยชน์ของไม้ยูคาลิปตัส มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีสภาพ แห้งแล้งดินเลว และมีอัตราการบุกรุกทำลายป่าสูงกว่าภาคอื่นๆ จึงควร ที่จะได้เร่งการรณรงค์ปลูกป่าให้มากขึ้น เพื่อทดแทนป่าที่ถูกทำลาย และรักษาความสมดุลตามธรรมชาติและที่สำคัญคือ ให้มีไม้ใช้สอย อย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องตัดไม้จากป่าธรรมชาติอีกต่อไป

 

ลักษณะทั่วไป

ยูคาลิปตัสเป็นไม้ต่างประเทศมีมากกว่า 700 ชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีป ออสเตรเลียเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยได้เริ่มนำยูคาลิปตัสชนิดต่างๆ มาทดลองปลูกประมาณปี พ.ศ. 2493 แต่ได้มีการทดลองกันจริงๆ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2507 ปรากฏว่าไม้ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส (Eucalytus camaldulensis) สามารถเจริญเติบโตได้ในแทบทุกสภาพพื้นที่ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงจึงนิยมปลูกกันมากอย่างแพร่หลาย

ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส สามารเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพของดิน แทบทุกประเภท ตั้งแต่ในที่ริมน้ำ ที่ราบน้ำท่วมบางระยะในรอบปี แม้แต่ดิน ที่เป็นทรายและมีความแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่ดินเลวที่มีปริมาณ น้ำฝนน้อยกว่า 650 มม.ต่อปี รวมทั้งพื้นที่ที่มีดินเค็ม ดินเปรี้ยว แต่จะไม่ ทนทาน ต่อดินที่มีหินปูนสูง

ลำต้น เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูง 24-26 เมตร และอาจ สูงถึง 50 เมตร ความโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เมตร หรืออาจโต มากกว่านี้ รูปทรงสูง เปลาตรง มีกิ่งก้านน้อย

ใบ เป็นคู่ตรงข้ามเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปหอก มีขนาด 2.5-12 x 0.3- 0.8 นิ้ว ก้านใบยาว ใบสีเขียวอ่อนทั้งสองด้าน บางครั้งมีสีเทาใบบาง ห้อยลง เส้นใบ มองเห็นได้ชัด

เปลือก มีลักษณะเรียบเป็นมัน มีสีเทาสลับสีขาวและน้ำตาลแดงเป็นบางแห่ง เปลือกนอกจะแตกร่อนเป็นแผ่นหลุดออกจากผิวของลำต้น เมื่อแห้งและ ลอกออกได้ง่ายในขณะสดหลังจากการ ตัดฟัน

เมล็ด ขนาดเล็กกว่า 1 มม. สีเหลือง เมล็ด 1 ก.ก. มีเมล็ดประมาณ 1-200,000 เมล็ด

ช่อดอก เกิดที่ข้อต่อระหว่างกิ่งกับใบ มีก้านดอกเรียวยาว และมีก้านย่อยแยก ไปอีก ออกดอกเกือบตลอดปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นไม้ บางครั้งมีทั้ง ดอกตูม ดอกบาน ผลอ่อน และผลแก่ในกิ่งเดียวกัน ออกดอกปีละ 7-8 เดือน เหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง

ผล มีลักษณะครึ่งวงกลม หรือรูปถ้วย มีขนาด 0.2-0.3 x 0.2-0.3 นิ้ว ผิวนอกแข็ง เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมื่อผลแก่ปลายผลจะแยกออก ทำให้เมล็ดที่อยู่ภายในร่วงหล่นออกมา

ลักษณะเนื้อไม้ มีแก่นสีน้ำตาล กระพี้สีน้ำตาลอ่อน กระพี้และแก่นสี แตกต่างเห็นได้ชัด ไม้ยูคาลิปตัสคามาลดูเลนซิส ที่มีอายุมากขึ้น จะมีสีน้ำตาลแดงเข้มกว่าไม้อายุน้อย เนื้อไม้มีลักษณะค่อนข้างละเอียด เสี้ยนสน (Interlocked grain) บางครั้งบิดไปตามแนวลำต้น เนื้อไม้มีความ ถ่วงจำเพาะอยู่ระหว่าง 0.6-0.9 ในสภาพแห้งแล้งซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของไม้ เนื้อไม้แตกง่ายหลังจากตัดฟันตามแนวยาวขนานลำต้น แต่ถ้าทำให้ถูกหลัก วิธีก็สามารถนำมาเลื่อยทำเครื่องเรือนและก่อสร้างได้

 

การเพาะชำกล้าไม้ยูคาลิปตัส

 

ฤดูทำการเพาะ การเพาะเมล็ดยูคาลิปตัส ควรทำในระหว่างเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้สะดวก และได้ผลดี เนื่องจากหมดหน้าฝน และอากาศก็ไม่ร้อนจนเกินไป การย้ายชำจะมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง เมื่อกล้างอกมีอายุ 18 วัน เลี้ยงไว้ในถุงชำอย่างน้อย 2-3 เดือน จะมีความสูงประมาณ 25 ซม. ขนาดดังกล่าวเหมาะสมที่จะนำไปใช้ปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมพอดี

แปลงเพาะเมล็ด แปลงเพาะควรให้ร่มประมาณ 50% ขนาดของแปลง ควรจะกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน ส่วนความยาว แล้วแต่ความเหมาะสม ความกว้างขนาดดังกล่าว ช่วยให้ปฏิบัติงาน ในแปลงเพาะได้สะดวก และง่ายต่อการคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้หว่านเมล็ดอีกด้วย

ขอบแปลงก่อด้วยอิฐบล๊อค ซึ่งจะทำแข็งแรงและทนทาน พื้นแปลงควรเป็น แบบเปิดหรือไม่มีสิ่งกีดกั้น เพราะเมื่อเวลาฝนตกหรือรดน้ำมากเกินไป น้ำจะได้ ไม่ท่วมขังแต่จะซึมลงดินได้สะดวก และควรมีฝาครอบแปลง โดยใช้ไม้ทำขอบ ขนาดเท่าแปลงบุด้วยลวดตาข่าย เพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์ที่ชอบกิน หรือทำลายเมล็ดและกล้าไม้ในเวลากลางคืน กลางวันเปิดให้ได้รับแสง และควรมีผ้าพลาสติกสำหรับคลุมลงบนฝาครอบแปลงเวลาฝนตกด้วย

ถ้าเพาะเมล็ดจำนวนไม่มากนัก ควรเพาะลงในกระบะไม้ หรือถาดพลาสติก ซึ่งจะทำให้ดูแลรักษาง่าย สะดวกเวลาย้ายชำ สามารถยกไปทั้งกระบะ เมื่อชำไม่หมดก็ยกกลับมาไว้ที่เดิมได้

ดินสำหรับเพาะเมล็ด ควรเป็นดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำได้ดี ดินในกรณีอื่นควรผสมทรายลงไปด้วยประมาณ 50% ทุบให้ละเอียด โดยแยกเอาเศษไม้หินและกรวดออกเสียก่อน จึงใส่แปลงเพาะ ให้ เต็มเสมอกับขอบแปลง เกลี่ยให้ได้ระดับเสมอกับขอบแปลงทุกด้าน รดน้ำดินในแปลงและทิ้งไว้ให้ดินเกาะตัวกันก่อน จึงหว่านเมล็ด
เมื่อเพาะเมล็ดครั้งหนึ่งแล้ว ควรเปลี่ยนดินในแปลงหรือกระบะใหม่ ตากแปลงทิ้งไว้สัก 2 – 3 วัน เพื่อฆ่าเชื้อราที่จะเป็นอันตรายต่อเมล็ด หรือกล้าไม้ที่เราจะ เพาะครั้งต่อไป

การหว่านเมล็ด เมล็ดยูคาลิปตัสมีขนาดเล็กมากและมีกากปนอยู่ จึงควรหว่าน เมล็ดให้มีระยะสม่ำเสมอคลุมพื้นที่โดยตลอดและไม่ให้เมล็ดซ้อนกัน โดยทดลองหว่านบนกระดาษกราฟก่อนก็ได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณ เมล็ดที่ใช้ ต่อพื้นที่ หรือผสมกับทรายละเอียดอีก 2 เท่าตัว เพื่อจะได้ช่วยการกระจาย ของเมล็ดที่หว่านได้ดีขึ้น

เมื่อหว่านเมล็ดเสร็จแล้วให้ใช้ทรายโรยทับบางๆ (หนา 1 – 2 มม.) แล้วเกลี่ย ให้เรียบจึงรดน้ำ ควรบันทึกหรือปักป้ายบอกชนิดไม้ น้ำหนักเมล็ดที่ใช้เพาะ และวันที่เพาะ ส่วนวันงอก วันย้ายชำ และจำนวนกล้าที่ย้ายก็บันทึกเพิ่มเติม ทีหลัง

การรดน้ำแปลงเพาะ ขณะที่เมล็ดยังไม่งอก ควรรดทั้งเช่าและเย็น เพื่อให้ดินในแปลงชื้นอยู่เสมอโดยใช้บัวรดน้ำชนิดที่หัวเป็นฝอยละเอียดหรือ ใช้ถังพ่นยาก็ได้ น้ำที่ใช้รดถ้าผสมยาฆ่าเชื้อราด้วยจะเป็นการดี เมล็ดจะงอก หลังจากเพาะประมาณ 7 – 10 วัน เมื่อเมล็กงอกแล้วควรลดการให้น้ำลง เป็นวันละครั้งในตอนเย็นหรือวันเว้นวัน หรือเมื่อเห็นว่าดินในแปลงแห้ง เพื่อป้องกันกล้าไม้เกิดโรคเน่าคอดิน (damping off) เนื่องจากดินชื้นแฉะ เกินไป

 

การย้ายชำ | การถอนกล้าไม้ในแปลงเพาะ
1