HOME
ยูคาลิปตัส พืชปลูกง่าย โตเร็ว ตลาดรับซื้อแน่นอน

 

ไม้โตเร็วมีหลายชนิด แต่ที่เด่นและมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ก็คือ ยูคาลิปตัส ด้วยว่าสามารถนำมาแปรรูปเป็นเนื้อกระดาษตอบสนองความต้องการของตลาด ภายในประเทศได้ดีนั่นเอง

ยูคาลิปตัส เป็นไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย มีทั้งหมดมากกว่า 500 ชนิด (Species) มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2507 พบว่า ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส สามารถเจริญ เติบโตได้ดีในเกือบทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย และไม่เป็นพิษ เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศดั้งเดิม แต่กลับช่วยปรับปรุง พื้นที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้นอีกด้วย จึงได้มีการส่งเสริมการปลูก ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย

ในปัจจุบันหลายฝ่ายได้หันมาให้ความสำคัญกับไม้ยูคาลิปตัสเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าทั้งรัฐบาลและเอกชน ซึ่งในอนาคตตลาดของไม้ ยูคาลิปตัส มีลู่ทางที่แจ่มใส ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะได้ กลายเป็นวัตถุดิบหลัก สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เพียงเยื่อ และกระดาษเท่านั้น แต่ยังเป็นชิ้นไม้สับ แผ่นใยไม้อัด แผ่นชิ้นไม้อัด และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกที่ทำ รายได้ เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

จุดเด่นของไม้ยูคาลิปตัส คือ ลำต้นสูงเปลาตรง กิ่งก้านน้อย ปลูกง่าย เติบโตเร็ว ดูแลจัดการง่าย ลงทุนน้อย แรงงานน้อย แต่ผลผลิต และผลตอบแทนสูง คืนทุนเร็วกว่าการปลูกไม้ชนิดอื่น เพียง 4-5 ปี ก็ตัดขายได้แล้วยังสามารถแตกหน่ออีก โดยสามารถตัดได้ 3-4 รอบ ในรอบที่ 2 จะให้ผลผลิตที่มากกว่ารอบแรกถึง 3 เท่า นอกจากนี้ ยังสามารถชะลอการตัดได้ ไม่เน่าหรือเสียหาย เหมือนพืชชนิดอื่น เพราะถ้าไม่ตัดแล้วมูลค่ายิ่งเพิ่มขึ้น

คุณวรจักร์ เพชรแสวง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมปลูกไม้โตเร็ว บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด บอกว่า การปลูกยูคาลิปตัสนับว่า เป็นการสร้างรายได้ ที่ยั่งยืนและ มั่นคงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ผลผลิตและตลาดไม่แน่นอน ในช่วง 1-2 ปีแรก ยังสามารถปลูกพืชเกษตรควบในสวนไม้ยูคาลิปตัสได้ ได้แก่ ข้าวโพด สับปะรด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ ในระหว่างช่วงที่รอการตัดฟันไม้ออก หากสภาพดินอุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิอากาศเหมาะสม ตลอดจนการปลูกบำรุงรักษาที่ถูกวิธี ก็สามารถเจริญเติบโตได้เร็วมาก แต่ถึงสภาพดินเสื่อมโทรม ขาดธาตุอาหารอย่างรุนแรง ไม่สามารถปลูกพืชเกษตรได้ หรือมีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของพืชผลอื่นก็สามารถปลูกยูคาลิปตัสได้ โดยใช้ปุ๋ยเพื่อช่วยการเจริญเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ การปลูกสวนไม้ยูคาลิปตัส ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น ดีกว่าปล่อยไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้ดีขึ้นได้

 

ปลูกยูคาลิปตัสช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

คุณวรจักร์ ยังบอกข้อดีของไม้ยูคาฯ ว่า นอกจากนี้ ไม้ชนิดดังกล่าวยังช่วย ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ เนื่องจากต้นไม้จะใช้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสง หรือการปรุงอาหาร เพื่อสร้างความเจริญเติบโตของต้นไม้นั่นเอง และในกระบวนการสังเคราะห์แสง ของต้นไม้พบว่า ในการสร้างเนื้อไม้ 1 ตัน จะต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1.81 ตัน ในขณะเดียวกันก็จะคายก๊าซออกซิเจนกลับคืนสู่ธรรมชาติ 1.30 ตัน ดังนั้น ถ้าเราปลูกไม้ยูคาฯ 1 ไร่ และดูแลอย่างดี นอกจากจะได้ ผลผลิตเป็นเนื้อไม้ประมาณ 15 ตัน (ที่มีอายุ 5 ปี) ก็เท่ากับว่า เราสามารถ ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ประมาณ 27 ตัน และต้นยูคาลิปตัสจะคายก๊าซออกซิเจนคืนสู่ธรรมชาติถึง 19.50 ตัน ช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

"ในการใช้น้ำของยูคาลิปตัสนั้น โดยทั่วไปต้นไม้ดูดน้ำจากดินไปใช้ ในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพียง 1-2% ของปริมาณน้ำที่ดูดขึ้นไปเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะระเหยออกทางปากใบ ต้นไม้จะใช้น้ำมากหรือ น้อย ไม่ใช่ดูที่การเจริญเติบโต หากแต่ดูที่อัตราการคายน้ำของต้นไม้ ต้นไม้ที่ใช้น้ำมากก็จะมีอัตราการคายน้ำมากตามไปด้วย คือ ต้นไม้ชนิด ที่มีใบดกหนา ทึบ และมักขึ้นอยู่ริมน้ำ ซึ่งหากพิจารณากันจริงๆ แล้ว ยูคาลิปตัสไม่ใช่พืชที่ใช้น้ำมากแต่อย่างใด เนื่องจากมีลักษณะโปร่ง สามารถขึ้นได้ในพื้นที่แห้งแล้ง และมีความชื้นต่ำ" คุณวรจักร์ กล่าว

พร้อมกับบอกอีกว่า "คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดอยู่บางประการว่า การปลูกยูคาลิปตัสจะทำให้ดินเสื่อม เพราะจะดึงธาตุอาหาร จากดินไปใช้จนหมด ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ก็คือ "ยูคาลิปตัส" ไม่ต่างจากต้นไม้ทั่วไปที่ใช้ธาตุอาหารและน้ำเพื่อความเจริญเติบโต แต่การใช้ประโยชน์จากไม้ยูคาฯ นั้น ได้จากส่วนของเนื้อไม้ ซึ่งมีคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เป็นส่วนประกอบหลัก ที่เกิดจากกระบวนการ สังเคราะห์แสง โดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ส่วนธาตุอาหาร อันได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ที่เป็นส่วนประกอบ ของใบ ดอก ผล และเปลือกไม้ก็จะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน และย่อยสลาย ซึ่งทำให้ธาตุอาหารยังหมุนเวียนอยู่ในดิน ไม่ได้สูญสลายไปไหน ต่างจากพืชเกษตรทั่วไปที่ใช้ประโยชน์จากใบ ดอก และผล"

นี่ไม่เชียร์ยูคาฯ นะ เขาว่ามา ก็บอกต่อกันไป

หากจะคิดปลูกไม้ชนิดนี้ ให้ลองมาพิจารณาดูการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การประมาณค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนต่อ 1 ไร่ จากการปลูกยูคาลิปตัส (รอบตัดฟัน 4 ปี)

กรณีปลูกเต็มพื้นที่ ระยะปลูก 3x3 เมตร (ยูคาฯ 178 ต้น) ผลผลิต 12 ตัน ต่อไร่ ราคาประกันขั้นต่ำ 900 บาท ต่อตัน ราคาคืนกล้าไม้ยูคาฯ 534 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 11,334 บาท ต่อไร่ ค่าใช้จ่ายในการปลูก ดูแลรักษา ตัดฟัน และขนส่ง 6,300 บาท ต่อไร่ กำไรเบื้องต้นคือ 5,034 บาท ต่อไร่

กรณีปลูกเป็นแถวหรือตามคันนา คิดผลผลิตต่อต้น ได้ 120 กิโลกรัม ต่อต้น ราคาประกันขั้นต่ำ 0.90 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาคืนกล้าไม้ยูคาฯ 3 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 111 บาท ต่อต้น ค่าใช้จ่ายในการปลูก ดูแลรักษา ตัดฟัน และขนส่ง 34 บาท ต่อต้น กำไรเบื้องต้น 77 บาท ต่อต้น

กรณีปลูกควบกับมันสำปะหลัง ระยะปลูก 2x10 เมตร (ยูคาฯ 80 ต้น) ผลผลิต ยูคาฯ 8 ตัน ต่อไร่ ราคาประกันขั้นต่ำ 900 บาท ต่อตัน รายได้จากผลผลิตยูคาฯ รวม 7,200 บาท ต่อไร่ ผลผลิตมันสำปะหลัง 2 ตัน ต่อไร่ ราคาประกันขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อตัน และรายได้จากผลผลิตมันสำปะหลัง 8,000 บาท ต่อไร่ (ปีละ 2,000 บาท ต่อไร่) *ราคาคืนกล้าไม้ยูคาฯ 240 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 15,440 บาท ต่อไร่ ค่าใช้จ่ายในการปลูก การดูแลรักษา ตัดฟัน และขนส่ง (ยูคาฯ + มันสำปะหลัง) 8,360 บาท ต่อไร่ กำไรเบื้องต้นคือ 7,080 บาท ต่อไร่

กรณีปลูกควบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ระยะปลูก 1.5x5 เมตร (ยูคาฯ 213 ต้น) ผลผลิตยูคาฯ 12 ตัน ต่อไร่ ราคาประกันขั้นต่ำ 900 บาท ต่อตัน รายได้จากผลผลิตไม้ยูคาฯ 10,800 บาท ต่อไร่ ผลผลิตข้าวโพด 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคา 3 บาท ต่อกิโลกรัม รายได้จากผลผลิตข้าวโพด 6,000 บาท ต่อไร่ (ปีที่ 1 และ 2 ปีละ 3,000 บาท ต่อไร่) ราคาคืนกล้าไม้ยูคาฯ 639 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 17,439 บาท ต่อไร่ ค่าใช้จ่ายในการปลูก การดูแลรักษา ตัดฟัน และขนส่ง 9,320 บาท ต่อไร่ กำไรเบื้องต้น 8,119 บาท ต่อไร่

ราคาคืนกล้าไม้ยูคาฯ 3 บาท ต่อต้น กรณีซื้อกล้าต้นละ 1 บาท จาก บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด

ราคารับซื้อไม้หน้าโรงงาน อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ขนาดไม้ 3 นิ้ว ขึ้นไป ราคา 1,000 บาท ต่อตัน

ขนาดไม้ 2 นิ้ว ขึ้นไป ราคา 900 บาท ต่อตัน

ขนาดไม้ 1 นิ้ว ขึ้นไป ราคา 400 บาท ต่อตัน

เป็นราคารับซื้อไม้ทั่วประเทศ

การปลูกสวนไม้ยูคาลิปตัส ผลผลิตหรือกำไรจะผันแปรกับการดูแลรักษาของผู้ปลูกและสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของกล้าไม้อีกด้วย ซึ่งหากกล้าสายพันธุ์ไม่ดีไม่มีคุณภาพแล้ว ผลผลิตที่ได้ก็จะลดต่ำลงด้วย

 

ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 16 ฉบับที่ 339 หน้า 44

1