HOME
ปลูกยมหอมอย่างไร จึงจะได้ผล

 

ในปัจจุบัน เกษตรกรจำนวนมากยังคงสนใจที่จะปลูกยมหอมเพื่อการค้า เนื่องจากเนื้อไม้มีราคาแพง แต่เกษตรกรผู้ปลูกยังคงประสบ ปัญหาในเรื่องหนอนเจาะยอด ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของไม้ยมหอม กรมป่าไม้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับเกษตรกรไปบ้างแล้ว แต่เกษตรกรหลายรายที่สนใจจะปลูกยังขาดความมั่นใจในเรื่องการจัดการ กับแมลงที่เป็นศัตรูสำคัญที่สามารถทำให้การปลูกยมหอมล้มเหลวโดยสิ้นเชิงได้ ในความเห็นของนักวิชาการแล้ว การปลูกยมหอมเป็น สิ่งที่สามารถทำเป็น ธุรกิจได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ต้องมีการจัดการที่ดี การเอาใจใส่ของผู้ปลูก การแสวงหาความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยการติดตามข่าวสาร หรือการติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริงอย่างไรก็ดี เกษตรกรต้องยอมรับว่าปัญหาแมลงศัตรูพืชนั้นไม่สามารถแก้ไขได้จนหมดสิ้น แต่เราสามารถแก้ปัญหาหนอนเจาะยอดลงได้ในระดับที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

การปลูกยมหอมให้ประสบความสำเร็จหรือให้คุ้มทุนนั้น ควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

เตรียมการก่อนปลูก

  • หาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับยมหอมจากนักวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์เท่านั้น
  • แน่ใจว่า ไม้ที่ปลูกเป็นพันธุ์ยมหอมแท้ เพราะเคยมีเกษตรกรเข้าใจผิดปลูกยมป่า เพราะคิดว่าเป็นยมหอม ทำให้ต้องเสียเวลาดูแลและรอคอย โดยคิดว่าจะได้ผลตอบแทนในรูปตัวเงินเป็นอย่างมาก
  • ใช้พันธุ์ดี ยมหอมที่มีรูปทรงดีและโตเร็วจะช่วยลดความเสี่ยง ต่อการทำลายของแมลงลงได้มาก
  • การเตรียมพื้นที่ปลูกที่ดี โดยการเตรียมพื้นที่ให้มีความเหมาะสม โดยปลูกไม้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไม้ในตระกูลเดียวกับยมหอม ไปก่อนเพื่อให้ร่มเงา ซึ่งได้มีการพิสูจน์โดยมีการทำการวิจัยแล้วว่า ไม้ยมหอมที่ปลูกในร่มเงาจะถูกหนอนเจาะยอดทำลายน้อยกว่า ยมหอมที่ปลูกในที่โล่งแจ้ง
  • การปลูกในที่ที่เหมาะสมคือ ในที่ที่ไม่เคยมีประวัติการระบาด ของหนอนผีเสื้อเจาะยอดยมหอมมาก่อน หรือไม่มีแปลงยมหอม ใกล้เคียง ทั้งนี้ เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการระบาดมาก่อน จะมีประชากรของแมลงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะระบาดเข้ามาในแปลง ที่ปลูกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว การปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ก่อนแล้ว จะต้องมีการดูแลรักษาอย่างเข้มข้น

วิธีการปลูก

  • ยมหอม เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้น ชอบขึ้นอยู่ตามลำธารหรือแหล่งน้ำ ดังนั้น ควรปลูกในตอนต้นฤดูฝน ไม่น่าจะเกินเดือนมิถุนายนเพื่อให้ ต้นไม้ได้รับน้ำฝนและเจริญเติบโตได้รวดเร็วในช่วงแรกของการปลูก วิธีการปลูก เริ่มจากการใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยธรรมชาติ และสารฆ่า แมลงชนิดดูดซึม เช่น ฟูราดาน ออร์ธีน รองก้นหลุม เพื่อป้องกัน การทำลายในระยะเริ่มแรก และใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมทุก 2 เดือน หลังจากปลูกต่อไปอีกในช่วงฤดูฝน เพราะมีการระบาด ของหนอนเจาะยอดมากในช่วงนี้
  • ปลูกภายใต้ร่มเงาไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้ในตระกูลยมหอม เช่น ในสวนป่า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระถินเทพา สะเดาเทียม เป็นต้น ทั้งนี้ มีข้อมูลจากประเทศมาเลเซียบอกว่า การปลูกไม้มะฮอกกานี ในสวนยางพาราให้ผลดี ทั้งนี้จะต้องรักษาต้นยางพารา ไว้จนกว่าไม้มะฮอกกานีจะสูงพ้นยางพาราจึงสามารถโค่นยางพาราออกได้ นอกจากการปลูกใต้ร่มเงาแล้วยังควรปลูกแบบผสม เช่น ปลูกกับไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไม้ตระกูลย่อยเดียวกันกับไม้ยมหอม เช่น การปลูกแบบสลับแถวเว้นแถว
  • หลังจากปลูกได้ 6 เดือน แล้ว ให้ใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทุก 6 เดือน และเมื่อต้นไม้สูงมากถึง 6 เมตร แล้ว ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงอีกต่อไป
  • หมั่นตรวจสอบการทำลายตั้งแต่อายุ 2 เดือน ถึงแม้ว่าจะไม่มี ประวัติการระบาดของหนอนเจาะยอดก็ตาม แต่ไม่ควรวางใจเพราะผีเสื้อหนอนเจาะยอดสามารถหาพืชอาหาร ได้เร็วมาก ควรหมั่นตรวจสอบให้ถี่ถ้วนและระมัดระวังโดย ศึกษาลักษณะการทำลายของหนอนเจาะยอดจนสามารถบอกได้ อย่างแม่นยำเนื่องจากอาจมีการทำลายบ้างในปริมาณเล็กน้อย ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ประชากรหนอนเจาะยอดเพิ่มมากขึ้นจนถึง ระบาดได้ในเวลา 6 เดือน หากพบการทำลายของหนอนเริ่มแรก ให้เด็ดยอดอ่อนของยมหอมทิ้งแล้วยมหอมจะแตกยอดใหม่ขึ้นมา โดยจัดการให้มียอดหลักที่เจริญเติบโตเพียงยอดเดียว และเนื่องจากว่ายมหอมปลูกอยู่ในที่ร่ม ยอดที่แตกใหม่จะพุ่งหา แสงอย่างรวดเร็วกว่ายมหอมในที่โล่งแจ้ง การตัดยอดเป็นการทำลาย ประชากรหนอนไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรุ่นต่อไป ซึ่งหนอนแต่ละรุ่น ใช้เวลาในการเจริญเป็นผีเสื้อกลางคืนเป็นระยะเวลาเพียง 1-2 เดือน เท่านั้น หากไม่มีการกำจัดทำลายหนอนประชากรจะสะสมอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การดูแลอย่างทั่วถึงจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม้ที่มีรูปทรง ดีจะมีราคาแพง
  • การดูแลรักษาด้วยวิธีการตรวจสอบหนอนเจาะยอด ต้องกระทำ สม่ำเสมอติดต่อกันจนกว่าต้นไม้จะสูงจนไม่สามารถสังเกตการ ทำลายได้อย่างชัดเจน หรือสูงกว่า 4-5 เมตร แล้ว

สรุปแล้ว การปลูกยมหอมให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องลงทุนทั้งเงิน และแรงงาน ลงไประยะเวลา 3 ปีแรก ที่สำคัญต้องทราบข้อมูล หนอนเจาะยอดอย่างชัดเจนเพื่อที่จะเข้าใจในปัญหาและหาทางแก้ไข ปัญหาได้อย่างถูกต้อง มีความตั้งใจจริงในการดูแลเอาใจใส่ สังเกตการทำลายของหนอนและกำจัดทำลายตั้งแต่เริ่มปลูก และต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้ได้ต้นไม้ที่เจริญเติบโตรูปทรงดีตามที่ต้องการ

 

ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 315 หน้า 37

1