HOME
กรมป่าไม้ แนะวิธีลดปัญหาหนอนเจาะยอดยมหอม

 

นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ นักกีฏวิทยา กรมป่าไม้ เผยว่า หนอนเจาะยอดยมหอม เป็นศัตรูของไม้ยมหอม ซึ่งในทางเศรษฐกิจหนอนเจาะยอด เป็นแมลง ศัตรูร้ายแรง หากมีการทำลายซ้ำซากอาจทำให้ต้นไม้ตายได้

สำหรับการแพร่กระจายของหนอนเจาะยอดจะพบในบริเวณเอเชียตอนใต้ ไปจนถึงด้านตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย ในประเทศไทย พบระบาด ทั่วทุกภาค ลักษณะการทำลายนั้นหลังจากที่ตัวหนอนออกจากไข่จะเจาะ เข้าไปในยอดอ่อน และกัดกินเนื้อเยื่ออยู่ภายในแล้วขับมูลหรือขุยของเนื้อเยื่อ บางส่วนปิดรู ยอดที่ถูกหนอนเจาะจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา แห้งตายหรือ ยอดหัก และมีขุยติดอยู่ที่รอยหัก ซึ่งการทำลายของหนอนเจาะยอดยมหอม จะพบตลอดปี และพบมากในช่วงฤดูฝน ในขณะที่ต้นไม้ซึ่งเป็นพืชอาหาร กำลังแตกยอดอ่อน เมื่อเกิดการทำลายยอดซ้ำซากจะทำให้ต้นไม้เกิดการ แตกกิ่งก้านมากมาย ทำให้เสียรูปทรงอย่างถาวร หรือสูญเสียยอดหลัก และแตกยอดเป็นกระจุกเล็ก ๆ ตามลำต้น เราจะพบการทำลายของหนอน เจาะยอดในแปลงปลูกพืชอาหารที่มี อายุตั้งแต่แรกปลูกเป็นต้นไป

แมลงและวงจรชีวิตของหนอนเจาะยอดมีอยู่ 4 ระยะ ด้วยกันคือ ไข่ ระยะแรกมีสีขาว เมื่อใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ตัวหนอน หนอนวัยแรกสีน้ำตาล เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเทา-เงิน มีจุดสีดำตามลำตัว ดักแด้ สีน้ำตาลห่อหุ้มด้วยใยสีขาว พบอยู่ภายในยอดที่ตัวหนอนเจาะเป็นอุโมงค์เพื่ออาศัย หรือที่ขุยต้นไม้ที่ตัวหนอนขับออกมาภายนอก ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก มีขนาดกางปีก 2.6-4.2 เซนติเมตร ปีกคู่หน้าสีน้ำตาล ปีกคู่หลังบางสีขาว ผีเสื้อสามารถวางไข่ได้จำนวนหลายร้อยฟองที่ยอดและด้านหลังใบ ลำต้นหรือที่ผล ในรอบปีหนึ่งจะพบหนอนได้หลายรุ่น วงจรชีวิตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยประมาณ 6-10 สัปดาห์

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องหนอนเจาะยอดยมหอมนั้น ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ก็มิได้นิ่งนอนใจกำลัง ทำการศึกษาหาพันธุ์ต้านทานและวิธีการปลูกที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น เกษตรกรจึงควรไตร่ตรองถึงเรื่องนี้ก่อนคิดจะลงทุนปลูกต้นไม้ชนิดที่ อาจมีปัญหาเป็นสวนป่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันหรือ แก้ไขปัญหาหนอนเจาะยอดได้สำเร็จ แต่ยังมีวิธีการที่ยังถกเถียงกันอยู่ ว่าอาจลดปัญหาได้ เช่น

  1. ปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่เป็นพืชอาหารของตัวหนอน เนื่องจากมีรายงานว่าผีเสื้อชอบวางไข่ในต้นยมที่ถูกแสงแดดส่องถึง โดยตรงมากกว่าในที่ร่มเงา
  2. ปลูกในปริมาณเล็กน้อยและควรปลูกผสมกับต้นไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ พืชอาหาร
  3. หมั่นตัดแต่งกิ่งของต้นไม้ที่ถูกทำลายให้เหลือยอดที่ต้องการเพียง ยอดเดียว

 

ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 314 หน้า 65

1