ไม้สัก เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นของย่านเอเชียอาคเนย์ มีราคาแพงราวกับทองคำ มีอยู่แต่เดิมในอินเดีย พม่า ไทย และลาว ส่วนในอินโดนีเซีย เพิ่งจะมีปลูก เมื่อประมาณร้อยปีมานี้ ครั้นปลูกแล้วก็ว่า มีสภาพอันสอดคล้อง กลมกลืน อย่างเป็นธรรมชาติ พูดถึงคุณค่าของไม้สัก ทั่วโลกยอมรับนับถือในความ ยอดเยี่ยม
เมืองไทยเอง เริ่มมีทางตอนบนของภาคเหนือก่อน แล้วกระจายลงมาภาคเหนือตอนล่าง และไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม้สักชอบอากาศภาคเหนือ แต่ก็เป็นไม้ทนความแห้งแล้งจึงขึ้นได้หลายภาค เพียงแต่คุณภาพอาจไม่เท่ากัน ภาคกลางปลูกได้ซีกตะวันตก ทางภาคใต้ก็มีที่ปลูกได้บ้าง
จังหวัดที่ทั้งมีมาแต่เดิม และปลูกกันขึ้นทีหลัง มีมากน้อยตามลำดับคือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร และเพชรบูรณ์ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกกันที่ขอนแก่น หนองคาย และนครพนม ภาคกลางมีที่กาญจนบุรี และภาคใต้พอมีที่ชุมพร สุราษฎร์ธานีและที่อื่นๆ
การปลูกไม้สักเมืองไทย มักขึ้นกับความเคยชินเดิมๆ กล่าวคือ ปลูกแล้วปล่อยตามธรรมชาติที่เคยคุ้นกันมานาน ขาดการบำรุงรักษาที่ดีพอ เพียงปราบวัชพืชบ้าง หรือแค่ระวังไฟป่าหน้าแล้ง ส่วนเรื่องบำรุงด้วยปุ๋ยหรือด้านอื่นๆ ไม่มี สิ่งที่ตามมาคือ แม้มีปลูกมากหลายจังหวัดดังที่กล่าวมา การปลูกกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือเป็นล่ำเป็นสันยังไม่มี เราต้องนำไม้สักเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งๆ ที่ไม้ชนิดนี้แพงราวทองคำ ขอเพียงรู้จักพัฒนา จะมีค่าให้ปลูกมากกว่าที่เป็นมามากนัก
ถ้าจะปลูกไม้สักอย่างเป็นระบบ ต้องคำนึงถึงแง่นิเวศวิทยา 3 ประการ คือ ด่านพันธุ์ไม้ ภูมิประเทศและภูมิอากาศ ในแง่พันธุ์ไม้สักในเมืองไทย ทุกวันนี้เป็นแหล่งรวมของพันธุ์สักชั้นดีจากทั่วโลก มีพอให้เลือกได้ไม่น้อยในแง่ภูมิประเทศ ต้องอยู่บนทำเลที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 200-1,000 เมตร ความสูงของพื้นที่ปลูกช่วยในด้านความเจริญเติบโตของไม้ชนิดนี้ได้มาก
ส่วนพื้นที่ลาดชัน พอจะมีคุณค่าต่อความเจริญเติบโตบ้าง แต่ถ้าลาดชัน มากไป จะลดความเติบโตลง ส่วนทิศทางที่ให้คุณ ต้องขึ้นอยู่กับ ด้านที่มีแสงสว่างมากๆ ทิศเหนือกับตะวันออกของป่าสัก ไม้สักจะสูงมากกว่าด้านตะวันตกและใต้ ส่วนด้านทิศใต้ จะให้ขนาดโตกว่าต้นทางเหนือและตะวันออก
ที่กล่าวมาหมายถึงไม้ในป่าเดียวกัน อยู่ต่างทิศก็ต่างลักษณะ ผมได้ข้อคิดนี้มาจากเรื่อง "ปลูกไม้สักเพื่อการค้า " เขียนโดย ธงชัย เปาอินทร์ ที่ได้อ้างถึง วสันต์ เกตปราณีต และ สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่เขียนไว้ก่อนตั้งแต่ปี 2517
ส่วนในด้านภูมิอากาศ ต้นสักต้องการน้ำฝนเฉลี่ย 1,2580-2,500 มิลลิลิตร ต่อปี ปีหนึ่งต้องการฝนราว 18 ห่า หรือว่ากันเป็นวันไปเลย และยังต้องพึ่งช่วงอากาศแห้งแล้ง 3-5 เดือน ต่อปี ในด้านแสงสว่างไม้สักต้องการมาก จึงปลูกไม้อื่นบดบังไม้สักไม่ได้ เป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงสว่างกลางวัน 75-94 เปอร์เซ็นต์ ในด้านอุณหภูมิ สักต้องการระหว่าง 13-40 องศาเซลเซียส
ไม้สักต้องการดินร่วนมีตะกอนถึงร่วนปนทราย มีการระบายน้ำที่ดี ควรปลูกลึกลงในดิน มีกรดด่าง 6.5-6.7 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีมากกว่านี้จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร แต่เรื่องกรดด่างที่มีมาแต่เดิม สมัยนี้พอจะปรับให้เหมาะสมได้ตามที่สักต้องการ
สาเหตุบางประการที่ทำให้เมืองไทยต้องเสียเงินซื้อไม้จากต่างประเทศมากคือ คนไทยมักใจร้อน ทำแล้วอยากได้เงินเร็วๆ แต่ไม้สักให้ผลช้า และต้องลงทุนมาก ถ้าดูตามที่ ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติวิจารณ์ว่าด้วย "สักทอง " แล้ว ก็ว่าถ้าใจร้อนนัก ปลูก 5-6 ปี ก็ตัดขายได้ ควรใช้วิธีตัดสักในไร่แบบแถวเว้นแถว ตัดแค่ 200 ต้น ในวัยดังกล่าว ขายไปได้ต้นละ 300 บาท ก็พอมีรายได้มาหมุนเวียนไปก่อน กลับจะดีเสียอีกไม้สักที่เหลือจะมีอาหารเยอะขึ้น จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น
สักอ่อนระดับ 5-6 ปีนั้น ผู้ซื้อเอาไปทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์ ของเด็กเล่น ปลูกกระท่อม หรือห้องพักในเรือ ทำไม้แกะสลัก หรือไม้ตะเกียบ เป็นไม้สักวัยเนื้ออ่อน
แถวสักที่เหลือ รอถึง 10 ปี ขายได้แพงขึ้นต้นละ 900 บาท ถ้าอายุ 15 ปี จะขายได้ต้นละ 8,000-9,000 บาท และถ้าอายุ 20 ปี ราคาต้นหนึ่งถึง 18,000 บาท เหลือไว้ในไร่สัก 100 ต้น ก็รวยเงินล้านกันแล้ว
ปลูกไม้สักเพื่อขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือ ใช้เมล็ดพันธุ์ และใช้เหง้า การใช้เมล็ดพันธุ์ธรรมชาติ ควรใช้เมล็ดจากต้นสักที่อายุ 10 ปีขึ้นไป สักจะออกดอกราวเดือนมิถุนายน ช่วงต้นฤดูฝน เมล็ดก็จะร่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ก็เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ในตอนนี้ เมื่อเก็บแล้วต้องให้เมล็ดได้ฟักตัว 70-140 วัน ก็จะได้เวลางอก นำไปเพาะหรือปลูกได้ แต่เมล็ดมีโอกาสงอกเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอาจเจอไฟป่า อากาศแห้งแล้ง และมีวัชพืชรบกวน
ข้อน่าสังเกตคือ ถ้ามีไฟป่าเผาไร่วอดลง แต่ยังเหลือรากหรือเหง้างอกได้ แต่ต้องมีระยะเวลาสะสมอาหารไว้เลี้ยงลำต้นนานถึง 15 ปี น่าจะรอกันไม่ไหว ส่วนการปลูกด้วยเหง้า ก็ยังต้องพึ่งเมล็ดตามธรรมชาติ เพื่อนำไปเพาะเป็นเหง้า แต่ต้องใช้เวลาเพาะ 8-10 เดือน จึงมีต้นงอก
ทำเลแปลงเพาะเหง้า ต้องใกล้น้ำ ดินอุดมสมบูรณ์ ไถพรวนแล้วยกร่องสำหรับที่ราบ ร่องกว้าง 1x40 เมตร สูง 20x30 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ปรับดินให้ละเอียด เป็นแนวราบดี แล้วจึงหว่านเมล็ด กบด้วยดินบางๆ ควรเพาะหน้าฝน สักจะงอกใน 30 วัน ปลูกเสร็จก็กำจัดวัชพืชจนหมด ปล่อยให้กล้าสักได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ พออายุได้ 8-10 เดือน จึงนำไปปลูก
การปลูกสักแผนใหม่ มักคำนึงถึงอายุแต่ละวัยว่า จะปลูกเอาอายุ 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี แม้จะใช้วิธีบำรุงรักษาคล้ายกัน แต่ข้อปลีกย่อยย่อมต่างกัน สักในเมืองไทยถ้าอายุมากๆ จะหาคนมั่งมีทรัพย์สินซื้อได้ไม่มาก เพราะราคาสูงมาก จึงมักทำโครงการปลูก 5-6 ปี
ระยะปลูกกล้าสัก กรมป่าไม้เสนอระยะ 2x4 เมตร ไร่หนึ่งจะปลูกได้ 200 ต้น แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่าควรใช้ระยะ 2x2 เมตร เพื่อให้สักใกล้ชิดกันบ้าง จะได้ แข่งกันเจริญเติบโต จะได้ด้านความสูง และลำต้นตั้งตรง เป็นรูปทรง กระบอกสวยงาม และจะได้ปริมาณถึง 400 ต้น ต่อไร่ การเบียดกัน เมื่อเกิดกิ่งหักร่วง จะไม่ทำให้เกิดตางอกกิ่งเสียความสวยงาม เพราะเป็น การเบียดกันหักไปเอง ทั้งยังมีใบมากปกดิน พวกวัชพืชก็ขึ้นลำบาก
แต่ถ้าปลูกระยะ 4x4 เมตร จะได้ผลทางทำให้ขนาดต้นใหญ่โต แต่ปลูกได้ เพียงไร่ละ 100 ต้น ไม่เปลืองงบประมาณซื้อหรือเพาะกล้าสักมากไป แต่มีข้อเสียค่าบำรุงเรือนยอดที่มักขึ้นช้า แต่เกิดผลดีมีช่องว่างให้ปลูก พืชแซมได้หลายปี เพื่อชดเชยที่ได้ผลช้า
การบำรุงรักษาสวนป่าไม้สัก ต้องกะแผนเป็นระยะๆ อายุ 1 ปี ต้องดายหญ้า พวกวัชพืช ปลูกซ่อม ใส่ปุ๋ย รดน้ำ และสร้างแนวป้องกันไฟป่า ส่วนในระยะ 2-5 ปี ก็ทำคล้ายกันในบางเรื่อง ในวัย 5 ขวบ ถ้าต้องการตัดต้องหยุดรดน้ำ เพื่อ ทำให้ไม้เกิดแก่นมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-เมษายน และในวัย 6-10 ปี เป็นช่วงเหลือต้นที่เว้น ต้นสักจะเร่งเติบโต เพราะไม่มีการแย่งอาหารมาก เหมือนเก่า
เมื่อถึง 11-15 ปี เป็นช่วงต้นสักถูกตัดจนเหลือประมาณ 100 ต้น ตอนนี้ต้องระดมการบำรุงรักษามาก เน้นความเจริญเติบโต ดายวัชพืช สกัดเชื้อไฟป่า 1 ครั้ง ต่อปี ใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500 กรัม ต่อต้น
ปีที่ 15 ต้องลดการรดน้ำเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพื่อให้หยุดการเจริญเติบโต เนื้อไม้จะเกิดคุณภาพ แกร่ง สวย และทำกระพี้ให้เป็นแก่นก่อนตัด
ค่าลงทุนปลูกสักสูง เมื่อเป็นการทำเพื่อการค้าขาย ค่าเช่าที่ดิน 100 ไร่ ราคา 2,500,000 บาท กระบะ 1 คัน 250,000 บาท ค่าจัดระบบน้ำและอุปกรณ์ 450,000 บาท ในระยะ 1 ปี ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก แต่ถ้าเป็น 6-10 ปี จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2,245,200 บาท ถ้าเป็น 11-15 ปี จะเป็นเงินรวมประมาณ 2,220,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มที่ดินเกิน 100 ไร่ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย
ดูตัวเลขราคาไม้สักอายุ 15 ปี ที่ปลูกตามธรรมชาติ ระหว่างปี 2530-2535 จะได้ราคาต่อต้นตามปีดังนี้ 4,599, 5,253, 7,414, 7,642, 8,010 และ 8,950 บาท แสดงตัวเลขบ่งชี้ว่า ราคาไม้สักนับวันจะสูงขึ้น ถ้าบำรุงรักษาดี จะต้องได้ราคาดีกว่าที่ยกมา ถ้าเหลือ 100 ต้น ในวัย 15 ปี ตกราคาต้นละ 8,000-9,000 บาท จะได้เงินถึง 8-9 แสนบาท แต่ถ้าอายุ 20 ปี จึงตัด อาจเป็นต้นละ18,000 บาท ถ้า 100 ต้น ก็เป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท แล้ว
ปลูกป่าไม้สักดีกว่าทำสวนผลไม้ตรงที่หน้าออกผล ไม่ต้องจ้างคนเฝ้า ส่วนเลี้ยงสัตว์ก็ค่าใช้จ่ายจิปาถะทุกวัน ปลูกสักเพียงใช้ค่าบำรุงรักษาบ้าง และเลี้ยงสัตว์ และปลูกไม้ผล ราคามีโอกาสตก ก็มีโอกาสขาดทุน ประชากรประเทศยิ่งมาก ไม้ยิ่งจำเป็นในการปลูกเคหสถานมากตาม ทุกวันนี้เมืองไทยต้องสั่งนำเข้าไม้สักมากขึ้นทุกปี และไม้สักไม่ขึ้น กับฤดูกาลเหมือนผลไม้ หรือขึ้นกับวัยเหมือนสัตว์ ถ้าจำเป็นก็รอตัดได้
ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 354 หน้า 112