เมืองไทยทุกวันนี้เข้าสู่ยุคธุรกิจ จึงมากด้วยธุรกรรม แม้แต่เรื่องต้นหมากรากไม้ ก็กลายเป็นสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผลไม้ ถึงขนาดปรับเปลี่ยน ให้ออก ดอกออกผลนอกฤดูกาลได้ ในขณะเดียวกันไม้มากมีตำนานอย่างกฤษณา และเป็นไม้เก่าแก่ของไทย กำลังจะถูกลืมเลือน นับวันราคาจะแพงขึ้น
จุดน่าสนใจของไม้กฤษณาที่คล้ายปาฏิหาริย์ อยู่ตรงเป็นไม้เนื้อหอมจำเริญใจ ปรากฏว่าเกิดการค้นพบจุดเด่นข้อนี้ในทางวิทยาศาสตร์เข้าจนได้ จึงหมด ความลึกลับดำมืดไป ก็ตรงที่กลิ่นหอมระเหยของเนื้อไม้ มิได้เป็นเรื่อง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หากทว่าเกิดจากการทำเนื้อไม้ให้เกิดบาดแผล จะทำให้ไม้ ชนิดนี้ผลิตสิ่งชดเชยขึ้น เพื่อเลี้ยงส่วนที่มีแผลนั้น มิได้เกิดจากเชื้อรา บางชนิดดังที่เคยเข้าใจกัน
ถ้าเป็นกลิ่นหอมจากเชื้อรา คงเกิดอันตรายต่อผู้สัมผัส ทั้งด้วยมือและลมหายใจ ความลับเรื่องนี้ คุณดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ได้เปิดเผยขึ้นในหนังสือ "กฤษณา" ที่เขียนขึ้น โดยอ้างคนค้นคิด ประกอบด้วย ดร.สมคิด สิริพัฒนดิลก ดร.สุวิทย์ แสงทองพราว และ นายอนิวรรต เฉลิมพงษ์ สองคนแรกเป็นอาจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คนหลังทำงานอยู่กรมป่าไม้
จนทุกวันนี้ การสร้างสารกฤษณาในเนื้อไม้กฤษณา เพื่อบังคับให้ผลิตสารกลิ่น หอมออกมากๆ เมื่อนักวิชาการค้นคว้าได้ ฝ่ายเอกชนถึงกับใช้วิธีนี้ ทำธุรกรรม เพื่อค้าขายตามมา แต่ก็ถือเป็นการค้นพบในวิถีทางธรรมชาติ มิได้สร้าง กลิ่นหอมจากนอกเนื้อไม้แล้วใส่เข้าไป เมื่อมีสารหอมระเหย เกิดขึ้นบริเวณ บาดแผล ไม้กฤษณาที่สีขาวนวลบริเวณนั้นจะกลายเป็นสีดำ มีน้ำหนักมากขึ้น และจมน้ำ ส่วนที่ส่งกลิ่นหอมคือน้ำมัน ลักษณะเป็นยางเหนียว
พูดถึงเรื่องตำนานไม้กฤษณา ผมพบในหนังสือของนักหนังสือพิมพ์เก่า ที่ไปเอาดีทางการเมืองรายหนึ่ง เขาเขียนเรื่อง "กฤษณาไม้หอม ไม้มหาเศรษฐี" พบเรื่องราวของตำนานเก่าแก่มากมาย เขาคือ คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ น่าเสียดายถ้ายังเขียนหนังสือ คงได้เรื่องราวของต้นไม้ดีๆ อีกหลายเล่ม
ตำนานเรื่องแรกที่เข้าหลักอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่พอจะคิดออกได้ว่า เป็นกลวิธียกย่องบูชาพระพุทธองค์ ที่มีพระธรรมคำสอนอันยอดเยี่ยม ต่อชาวพุทธก็ได้ เป็นเรื่องที่ว่า นอกจากพระพุทธองค์เมื่อประสูติจาก พระครรโภทร ของพระนาง สิริมหามายา นอกจากเดินได้ 7 ก้าวแล้ว ยังทรงถือดอกบัวในพระหัตถ์ข้างหนึ่ง และทรงถือไม้กฤษณาในพระหัตถ์อีก ข้างหนึ่ง เป็นที่น่ามหัศจรรย์
ชาวพุทธในทุกวันนี้จึงถือกันว่า ดอกบัวเป็นดอกไม้มหามงคล นิยมใช้บูชาพระ หรือถวายพระ ส่วนไม้กฤษณาก็ใช้ไปในทางป้องกันภูติผีปีศาจ มีบ้างที่นำ เข้าปลูกในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล กฤษณาเป็นไม้ที่อยู่ในกลุ่มพฤกษ์ ที่เรียกกันว่า "จตุชาติสุคนธ์" อันประกอบด้วย กฤษณา กะลำพัก จันทน์ และดอกไม้หลายชนิด ในเรื่องที่ว่าถึงครั้งเฉลิมพระนามเจ้าชายสิทธัตถะ ก็เคยใช้ไม้หอมทั้ง 4 นี้ อบร่ำหอมกรุ่นไปทั้งโรงพิธี
กฤษณาในยุคโบราณว่ากันว่า พระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทรงหวงไม้กฤษณานัก ถึงกับทรงตรากฎหมายห้ามลักขโมย หรือทำลาย เสียในป่า ทรงกำหนดโทษไว้สูงต่อผู้ละเมิด
กฤษณากับพระพุทธศาสนาพอจะมีอีก แต่ขอเว้นพื้นที่กระดาษเขียนใน ด้านอื่นบ้าง ขอพูดถึงในเชิงประวัติของจีนบ้าง ท่านฟาเหียนภิกขุ เคยเดินทางไปแสวงหาพระไตรปิฎกคัมภีร์ ในชมพูทวีป และเมืองสิงหล ประมาณ พ.ศ. 942-957 ได้บันทึกข้อความตอนหนึ่ง พาดพิงถึงพิธีฌาปนกิจ ศพพระอรหันต์รูปหนึ่ง ได้ดำเนินไปตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด มีการวาง ไม้หอมบนกองฟืนใหญ่ มีไม้จันทน์ ไม้กฤษณา และไม้หอมอื่นๆ เมื่อไม้เหล่านี้ ถูกเผาไหม้ จะส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ น่าจะมีจุดประสงค์อยู่ว่า พระอรหันต์ตายแล้วยังมากด้วยกลิ่นหอม
พระเจ้าแผ่นดินไทยหลายยุคหลายสมัย ทรงใช้ไม้กฤษณาเป็นเครื่อง ราชบรรณาการกษัตริย์ต่างแผ่นดิน เช่น ถวายแก่พระเจ้ากรุงจีน สมัยพระเจ้าอู่ทองราวปี 1930 สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ปี 2101 เมืองไทยยุคนั้นยังค้าไม้กฤกษณากับประเทศญี่ปุ่น ส่วนชาวฮอลันดา ถึงกับผูกขาดซื้อไม้กฤษณาของไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยังมีว่า พระเจ้ากรุงสยามปี 2222 ทรงผูกขาดการค้าไม้กับบริษัทอินเดียตะวันออก
จังหวัดที่เคยเป็นแหล่งผลิตไม้กฤษณาของไทยครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ นครนายก ในตำบลบ้านนา เป็นพันธุ์ไม้กฤษณาจากกัมพูชา ส่วนในหลายประเทศ ที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็เคยสั่งซื้อไม้กฤษณาจากไทย เพื่อนำไปใช้ใน พิธีทางศาสนาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
ประวัติและตำนานไม้กฤษณามีมาก ในทางกวีของไทยก็เคยมีผลงาน เกี่ยวกับไม้กฤษณาอยู่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรื้อเอาโคลงโลกนิติมาแต่งใหม่ จารึกไว้ในเสาศิลาวัดพระเชตุพนวิมล มังคลราม ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีที่พูดถึงอยู่ 2 บท มีความไพเราะคมคาย ยกย่องว่านักปราชญ์นั้น เหมือนไม้กฤษณา ที่ส่งกลิ่นหอมและมักหาได้ยาก เรื่องนี้ไม่ใช่การสาปแช่งไม้กฤษณา แต่ประการใด ที่ในทุกวันนี้คนไทยปลูกกฤษณากันน้อยลง จึงมีราคาแพงมาก
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ กำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย มีอยู่ 15 ชนิดพันธุ์ ทางเอเชียอาคเนย์มีอยู่ที่ ฟิลิปปินส์ ส่วนเอเชียตอนใต้ มีในอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฏาน เบงกอล อัสสัม และเอเชียภาคเหนือก็มีในจีน
ไม้กฤษณามีชื่อเรียกกันไปตามท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น ไม้หอม ปอห้า ปอเค้า ไม้พวงมะพร้าว (ใต้และตะวันออก) ส่วนแถบชายแดนภาคใต้ เรียกเป็นภาษา ยาวี เช่น กายูการู กายูดือปู ภาษาบาลีเรียก อครุ หรือ ตคร ภาษาจีนเรียก ติ่มเฮียง แปลว่าไม้หอมจมน้ำ และภาษาอังกฤษมีหลายชื่อ เช่น อิเกิ้ลวู๊ด อะการ์วู๊ด และคาล์ลัมบัก อาทิ
กฤษณาเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่ใช้ในงานก่อสร้าง ราคาต้นไม้จึงไม่มี มีใบเป็น แบบใบเดี่ยว เป็นรูปไข่ เกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนขึ้นขนเหมือนใยไหม กว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร เปลือกใบหนา เหนียว และลอกออก เป็นแผ่นได้
ดอกมีความสมบูรณ์ทางเพศ เกิดตามง่ามใบหรือปลายยอด มีสีขาวนวล ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ อยู่ตรงโคนกลีบ ส่วนด้านปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนใยไหมสั้นๆ ส่วนผลคล้ายรูปไข่หัวกลับ ตั้งอยู่บนฐานกลีบที่รองรับ ไม่หลุดร่วง ยาว 2.5 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ตอนแก่ผลแตกเป็น 2 ซีก อายุเพียง 1-2 สัปดาห์ เพาะช่วงนี้ก็ขึ้นงอกงาม ถ้าพ้นจากนี้งอกได้ยาก
ชอบอากาศชื้น มักมีตามป่าดงดิบที่ทั้งชื้นและแห้งแล้ง ถ้าอยู่ริมแม่น้ำ ลำธาร ที่เป็นที่ราบ จะขึ้นได้สูงมากอาจถึง 1,000 เมตร ที่บริเวณเขาใหญ่เคยพบ ที่จังหวัดตรังก็มี มีลำต้นโตกว่าที่เขาใหญ่ การขยายพันธุ์ใช้วิธีตอน พองอกราก ก็นำไปปลูก แต่เสียเวลาอยู่บ้าง มักนิยมปลูกด้วยเมล็ดที่ร่วงใหม่ๆ และต้องปลูกทันที เมื่องอกแล้วก็นำลงถุงดินผสม ระวังเรื่องแดด ต้นอ่อน มักไม่สู้แดด จึงควรเลี้ยงไว้ในที่ร่ม ส่วนกล้ากฤษณา พอเพาะครบ 1 เดือน ก็ขายได้ ควรปลูกต้นฤดูฝน
กฤษณาอายุปีครึ่ง พอจะกระตุ้นสารหอมระเหยได้ หรือขนาดลำต้นมีเส้นผ่า ศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร แต่ถ้าจะทำแผลกระตุ้นสารระเหยหอมได้ผลดี และสะดวก ควรทำในวัย 4-5 ปี ขึ้นไป หลังจากทำแผลกระตุ้นสาร จะเกิดอาการโทรมตรงส่วนบนของแผล เป็นเพราะทางเดินของน้ำ และอาหารขัดข้อง ไม่สามารถส่งไปเลี้ยงส่วนบน พอได้แผลส่วนนั้นก็จะบวม กลายเป็นสีดำ หลังจากมีแผลตรงส่วนบนจะมีกิ่งขึ้นมาก
การทำบาดแผลสร้างสารระเหย ทำได้ทั้งที่ลำต้น กิ่ง และก้าน ทำที่ลำต้น จะช่วยให้ลำต้นยังสมบูรณ์ได้ เพราะมีขนาดโต แต่ถ้าทำที่กิ่งหรือก้าน ก็จะมีปริมาณแผลเยอะ ได้สารระเหยเยอะ แต่ถ้าทำมากกิ่งก้านอาจตายได้
การทำน้ำมันกฤษณา มีการต้มกลั่นแบบเก่า กับแบบใหม่ แบบเก่าเป็นแบบง่ายๆ ไปเอาไม้ส่วนเนื้อในป่ามาใส่ครกตำรวมกันมากๆ ตำจนป่นแล้วหมัก 15-30 วัน จึงเอาลงหม้อต้มกลั่นแบบต้มน้ำธรรมดา หม้อหนึ่งควรต้ม 15 วัน เมื่อถึงเวลา น้ำมันจะลอยบนผิวน้ำ ใช้ช้อนตักใส่ภาชนะได้เลย แต่เป็นวิธีที่มีคุณภาพต่ำ
ส่วนการต้มกลั่นสมัยใหม่ ต้องผ่านการคัดเลือกพันธุ์จากป่าหรือโซนที่มีพันธุ์ ถ้าเป็นพันธุ์ปลูกก็เลือกง่ายได้พันธุ์ดีที่ต้องการ เมื่อเลือกพันธุ์แล้ว ก็แยก ระดับคุณภาพที่ต่างกัน ต่างคุณภาพต้องแยกหม้อต้ม ต้มแล้วนำออก ผึ่งแดด จนแห้งราว 2-3 แดด ก่อนผึ่งแดดควรชั่งน้ำหนัก พอตากหรืออบแห้งก็ชั่งอีกที จะได้น้ำหนักแตกต่างกัน หลังผึ่งแดดจะมีน้ำหนักน้อยลง จากนั้นจึงนำ เข้าเครื่องบด พอบดเป็นผงแล้วชั่งน้ำหนักอีก ก็จะเบาลงอีก
เมื่อบดแล้วนำไปหมักน้ำสะอาด 2 วัน แล้วนำเข้าเครื่องต้มกลั่นสมัยใหม่ ใช้เวลา 5 ชั่วโมง จะได้น้ำมันหอมคุณภาพดี ถ้าไม้กฤษณา 15 กิโลกรัม กลั่นแล้วจะได้น้ำมัน 12 กรัม หรือ 2 โตร่า (หน่วยวัดน้ำมันกฤษณาใหม่) น้ำมันหอม 1 โตร่า ราคาในประเทศเป็นเงิน 3,500-4,000 บาท ถ้าขาย ต่างประเทศให้คูณด้วย 3
สมัยโบราณของไทย เจ้าขุนมูลนายผูกขาดการขาย ถือเป็นสินค้าหลวง ข้อห้ามเก่านี้ถูกยกเลิกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดให้ค้าขายโดยเสรี เพื่อให้ต่างชาติหาซื้อไปขายต่อได้สะดวก ทุกวันนี้ความต้องการกฤษณามากตามพลโลก แต่ทว่าพอพวก พ่อค้า เพิ่มจำนวน ไม้กฤษณาเริ่มหมดป่า จนรัฐบาลต้องประกาศสงวนพันธุ์ เมืองไทยยังต้องสั่งซื้อจากเขมร พม่า และลาว เพื่อส่งขายทั่วโลก
กฤษณาใช้เป็นยาสมุนไพรแก้โรคนานาชนิด ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ทั้งกินและทา แก้พิษลมทรวงอก แก้ไข้ แก้สลบ แก้หืด ริดสีดวง ฝีในท้อง เจริญอาหาร และอายุ ตำรายาไทยระบุว่า ใช้บำรุงโลหิตเลี้ยงหัวใจ บำรุงหัวใจ บำรุงปอดตับ แก้ลมหน้ามืด ลมซาง แก้อาเจียน ท้องร่วง ปวดข้อ ส่วนตำราจีน ชนิดขมเผ็ดถือเป็นยาชั้นดี ใช้ได้เหมือนของไทย หมอสมุนไพรจีนใช้ทำยา "จับเซี่ยอี่" แก้โรคกระเพาะชะงัดนัก
ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 17 ฉบับที่ 358 หน้า 112