HOME
โรงกลั่นกฤษณาที่ตำบลคลองพลู

 

แหล่งกลั่นกฤษณาแหล่งใหญ่นั้น ต้องยกให้ที่จังหวัดตราด ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบ ที่ตราดหาได้ง่าย

นอกจากตราดแล้ว ที่จันทบุรีก็มีเช่นกัน อาจารย์เสวก พงษ์สำราญ แนะนำให้ ไปคุยกับ คุณสมจิตร ศรีเมือง อยู่บ้านเลขที่ 37/10 หมู่ 9 ตำบลคลองพลู อำเภอคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

เมื่อราว 20 ปีก่อน ชื่อของตะเคียนทอง คลองพลู จันเขลม ฟังแล้วมีความรู้สึก ว่าอยู่ไกล เร้นลับ ทั้งนี้เพราะทางที่สัญจรไปทุรกันดาร ไม่ค่อยมีใครเข้าไปนัก

ที่ไม่มีใครเข้าไปนัก ไม่ใช่ว่ามีสิ่งน่ากลัวอะไร แต่เป็นเพราะหนทางลำบาก หน้าฝน ยามที่ฝนตกมาก ๆ อาจจะต้องหาที่ค้างคืนกลางป่า ท้องถิ่นแถบนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อก่อนคนกับป่า ป่ากับคน อยู่กันอย่างกลมกลืน ชนพื้นเมือง เผ่าชอง ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่นั่น อัธยาศัยดี พูดจารอเรือชัดเจน

ปัจจุบัน ชนเผ่าชองยังคงอยู่ ทุกปีเขามีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง

การดำรงชีวิตของชนเผ่านี้ ในปัจจุบัน เป็นอยู่อย่างชาวบ้านทั่วไป ทำสวนเงาะ ทุเรียน ยางพารา ขับรถยนต์ ไม่ได้เก็บของป่าขายอย่างสมัยเก่าก่อนแล้ว แต่ศิลปะ ประเพณีของชนเผ่านี้ ยังมีการอนุรักษ์ไว้ ถือเป็นความหลากหลาย ในผืนแผ่นดินเรา

ช่วงที่ต้องเดินทางเข้าไปยังบ้านของคุณสมจิตร อาจารย์เสวกติดประชุม แต่ก็มีเจ้าหน้าที่จากวิทยาเขตจันทบุรีเป็นผู้นำทาง เราใช้เส้นทางที่มุ่งไปยัง ทิศเหนือของตัววิทยาเขตจันทบุรี

เริ่มแรกเป็นถนนลาดยาง ระหว่างทางมีลำธารน้ำใส ตัวลำธารเต็มไปด้วย ก้อนหินเรียงกันสวยงามดี สายน้ำไม่ขุ่นข้น ทั้งนี้คงเพราะมีแหล่งกำเนิด มาจากป่าใหญ่นั่นเอง

เดินทางไปได้สักพัก ก็เริ่มเข้าสู่ถนนลูกรัง มีหลุมบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่า เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ก่อนถึงบ้านคุณสมจิตร ผ่านอ่างเก็บน้ำที่ภูมิทัศน์ สวยงาม

คุณสมจิตรให้การต้อนรับผู้ไปถึงดีมาก เมื่อบอกความประสงค์ เขายินดีให้ข้อมูล

คุณสมจิตร มีอาชีพหลักกลั่นกฤษณามานานแล้ว ปัจจุบันมีหม้อกลั่นอยู่ 6 หม้อ

ที่มาของไม้กฤษณาเพื่อนำมากลั่นนั้น เจ้าตัวบอกว่า ซื้อจากเกษตรกร สำหรับตนเองก็มีปลูกไว้ จำนวน 300-400 ต้น สนนราคาของไม้ที่ซื้อ สำหรับกลั่น กิโลกรัมละ 150-300 บาท แต่โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 200 บาท

 

ขั้นตอนการกลั่น

ริ่มจาก

หนึ่ง...สับไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นตากให้แห้ง

สอง...โม่ให้เป็นชิ้นเล็กกว่าเดิม การโม่ต้องโม่ไม้ที่แห้งแล้วเท่านั้น

สาม...หมักในถัง 200 ลิตร กฤษณาที่มีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ใช้น้ำพอ ประมาณ หมักนาน 10 วัน

สี่...ขั้นตอนสุดท้ายคือนำเข้าเครื่องกลั่น ใช้เวลากลั่นนาน 10 วัน

คุณสมจิตรใช้พลังงานจากก๊าซสำหรับการกลั่น วันหนึ่งหมดก๊าซราว 2 ถัง ค่าก๊าซเดือนหนึ่งกว่าหมื่นบาท

เนื้อไม้ที่กลั่น 15 กิโลกรัม จะได้น้ำมันกฤษณา 2 โตล่า ราคาที่ขายได้โตล่าละ 6,000 บาท

ปีหนึ่ง ๆ คุณสมจิตรบอกว่า ซื้อไม้ราว 5 ตัน สำหรับกลั่น โดยที่ผู้ร่วมงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทั่ว ๆ ไปราว 5 คน

น้ำมันกฤษณาที่กลั่นได้มีสีเหลืองออกน้ำตาล มีกลิ่นเฉพาะตัว สถานที่จำหน่าย นั้นอยู่ที่ซอยนานา สนนราคาขวดแบนละ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) เจ้าตัวบอกว่า หากเข้ากรุงเทพฯ นั่งรถทัวร์ไปลงเอกมัย แล้วนำน้ำมันกฤษณา ไปขายที่ซอยนานาสัก 2 ขวด ก็ได้เงินมากโขแล้ว

โรงกลั่นของคุณสมจิตร เป็นโรงที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย เสียภาษีให้รัฐทุกปี

นอกจากปลูกต้นกฤษณาเอง ทำให้เกิดกฤษณา รวมทั้งซื้อมากลั่นแล้ว

งานหนึ่งที่คุณสมจิตรทำอยู่คือ รับทำให้เกิดกฤษณาในต้นกฤษณา ทั่วราชอาณาจักร เจ้าตัวบอกว่า ใช้ระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยมีสูตรพิเศษ

เพราะฉะนั้น ผู้มีข้อสงสัย ปรึกษาเขาได้ตามที่อยู่ หรือโทร. (039) 329-206 และ (09) 935-5409

 

น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา

น้ำมันหอมระเหยแพงที่สุดในโลก

กฤษณา เป็นสารพวกน้ำมันระเหยหรือชันหรือยาง (terpenoid) ดังเช่นน้ำมัน ยูคาลิปตัส หรือน้ำมันสน แต่กฤษณามีลักษณะเป็นสารยางเหนียว (resin) ที่มีคาร์บอน 15 ตัวอยู่มาก ประกอบด้วยกลุ่มสาร benzyl acetone, ketone, sesquiterpene บางชนิด ซึ่งสาร alcohol sesquiterpene alcohol นี้เป็นสาร ที่ทำให้ยางหรือชันที่พบในต้นกฤษณาที่เกิดแตกต่างไปจากน้ำมันระเหยตัวอื่น ๆ คือมีกลิ่นหอมหวาน ซึ่งทำให้กฤษณาเป็นน้ำมันระเหย หรือยางหรือชัน ที่มีราคาแพงมาก อาจจะกล่าวได้ว่า มีราคาแพงที่สุดในโลก

 

12 เกรด ของไม้กฤษณา

มีการแบ่งเกรดไม้กฤษณาไว้หลายทางด้วยกัน

ชาวบ้านได้แบ่งเกรด ตามลักษณะที่พบเห็นไว้ดังนี้

หนึ่ง...ไม้ลูกแก่น เป็นไม้ชั้นยอด เกิดจากการเจาะไชของแมลง จนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน มีราคาแพงมาก ชาวอาหรับใช้จุดในพิธีกรรม

สอง...ไม้พุดซ้อน คือไม้ที่เกิดจากแมลงเจาะไชราก

สาม...ไม้ลำเสา คือไม้ที่เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น

สี่...ไม้มะเฟือง คือไม้ที่เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น

ห้า...ไม้เสี้ยนตาล คือไม้ที่มีเสี้ยนขาวกับดำผสมกันอยู่ มีราคาสูงเช่นกัน

หก...ไม้ปากกระโถน คือไม้ที่เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้นเสื่อมสภาพ กลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน

เจ็ด...ไม้ปากขวาน คือไม้ที่เกิดจากการใช้ขวานฟัน ทิ้งแผลไว้สัก 3 ปี จนเป็นไม้หอม มีสีเข้มมากรอบ ๆ รอยฟัน ถ้าทิ้งไว้เป็น 100 ปี จะมีสีดำสนิทเกิดเป็นไม้เกรดหนึ่ง

แปด...ไม้ขนาบน้ำ คือไม้ที่เกิดจากการฉีกขาดของง่ามไม้ จนเกิดเป็นไม้หอม

เก้า...ไม้ตกหิน คือไม้ที่มีเนื้อสีเหลืองอ่อน คล้ายไม้ผุ

สิบ...ไม้ตกตะเคียน คือไม้ที่เนื้อไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล ที่ใต้รอยแผลฟัน เมื่อทิ้งไว้ 6-7 เดือน มีสีเหมือนไม้ตะเคียน

สิบเอ็ด...ไม้กระทิด คือไม้ที่มีลักษณะไม้ตกตะเคียน แต่มีสีเหลืองเหมือนไม้กระทิด

สิบสอง...ไม้ตกฟาก คือไม้ที่ถูกไม้อื่นล้มทับ เกิดเป็นแผลภายนอก มีคุณภาพต่ำเช่นกัน ใช้กลั่นเป็นน้ำหอม

 

ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 16 ฉบับที่ 323 หน้า 61

1