HOME
สบู่ดำกับอนาคตของพลังงานทดแทน

 

สบู่ดำ Physic nut หรือ Purging (Jatropha curcas L.) เป็นพืชน้ำมัน ไบโอดีเซล ที่นำเข้ามาในประเทศไทยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยชาวโปรตุเกส เพื่อนำเมล็ดไปอัดบีบเอาน้ำมันไปทำสบู่และใช้จุดไฟให้แสงสว่างเวลากลางคืน เป็นไม้ยืนต้น สูง 2-7 เมตร อายุยืนประมาณ 50 ปี ทนต่อความแห้งแล้ง เจริญเติบโตได้ดีทุกสภาพแวดล้อม ยกเว้นพื้นที่มีน้ำขัง

สบู่ดำมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ภาคกลาง เรียกว่า "สบู่ดำ" ภาคเหนือ เรียกว่า "มะหุ่งฮั้ว" ภาคอีสาน เรียกว่า "หมากเยาะ" และมีบางแห่ง เรียกว่า "สีหลอด" ภาคใต้ เรียกว่า "หงเทศ" มีสารพิษ จึงนิยมปลูก เป็นแนวเขตหรือรั้ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยง สบู่ดำได้รับการวิจัยแล้วว่าเป็น ไบโอดีเซลที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ดีและช่วยรักษาฟื้นฟูสภาพป่าและ สิ่งแวดล้อมด้วย

ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัยสบู่ดำ กล่าวว่า "ผมเริ่มทำงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2544 ได้เงินวิจัยจากธนาคารสมองในวโรกาส 72 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นก็ได้ทุนจากกรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงานทดแทน โดยมีแปลงทดลองปลูก 100 ไร่ กระจายอยู่หลายแห่ง อาทิ จังหวัดทางภาคเหนือ คือเชียงใหม่ ลำปาง ทางภาคอีสาน คือจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น สุรินทร์ โคราช ทางภาคกลาง คือสระบุรี ลพบุรี ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ทางภาคใต้ คือ ม.เทคโนโลยีราชมงคล จังหวัดนครศรีธรรมราช"

ศ.ดร.ชำนาญ อธิบายว่า งานวิจัยเริ่มจากแปลงเพาะปลูกแปลงแรกที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 6 ไร่ หลังจากนั้นก็ขยายออกไป เพื่อทดสอบคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ซึ่งให้ผลผลิตมากถึง 700-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดยขั้นแรกเป็นการปลูก เพื่อคัดเลือกพันธุ์ ต่อจากนี้ไปจะผสมพันธุ์โดยจะสร้างพันธุ์ลูกผสมต่อไป จะมีพัฒนาการต่อไปในเรื่องของการฉายรังสีเพื่อทำลายเชื้อราที่อาจ ทำลายเมล็ดพันธุ์เป็นการควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ ในการวิจัยสบู่ดำ เพราะเราไม่ได้นำมาบริโภค แต่มีวัตถุประสงค์นำมาบีบอัด เอาน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำเพื่อใช้สำหรับเครื่องยนต์เท่านั้น

ประโยชน์ของสบู่ดำมีหลากหลาย คนโบราณเคยใช้มาในเด็ก ที่เป็นปาก นกกระจอกขาดวิตามิน บี 2 ใช้ก้านใบที่มียางมาแต้มทำให้หายได้ เด็กที่ลิ้นมีฝ้าขาวจะนำก้านสบู่ดำมากวาดลิ้นเพียงเล็กน้อยไม่เป็นพิษ เป็นยากลางบ้านหรือสมุนไพรพื้นบ้าน นำมาใช้เพียงเล็กน้อยไม่เป็นพิษ แต่ถ้านำมาใช้มากกว่านั้นก็อาจทำให้เกิดเป็นพิษได้ เพราะว่าการใช้ใน ปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดพิษทำให้กลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ และชาวบ้าน ที่ทอดแหนำใบสบู่ดำมาขยี้แล้ว เอามาทาตัวก็จะพ้นการรบกวน จากหอยคันที่อยู่ในน้ำ

แม้แต่คนที่เป็นโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยหรือน้ำกัดเท้า นำเอาใบสบู่ดำมาขยี้ แล้วทาก็รักษาให้หายได้ จึงเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ผู้คนนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต่อมาได้นำมาประยุกต์ใช้กับโรคเท้าเปื่อยที่เกิดในโคและกระบือก็สามารถใช้ได้ ผลดีรักษาโรคเท้าเปื่อย โดยนำทั้งใบและต้นมาตำแล้วนำไปทา ตามกีบเท้า ของ โคและกระบือก็รักษาได้ดี กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคติดต่อ ได้นำไปคิดค้นเป็นส่วนประกอบในยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV)

สบู่ดำ เป็นไม้ที่โตไวมาก เป็นพืชที่มีอายุยาวนานถึง 50 ปี อัตราการ เจริญ เติบโตขึ้นอยู่กับปุ๋ย ดินและน้ำ ใช้เวลาปลูกจากกิ่งพันธุ์เพียง 2 ปี ต้นโตเร็ว มากและให้ผลผลิตเร็ว การปลูกต้นสบู่ดำจะเป็นผลดี ทำให้สภาพป่าฟื้น ตัวได้เร็ว ทำให้ได้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับคืนมา เพราะเมื่อมีป่าเกิดก็จะมีสิ่ง มีชีวิตต่างๆ จะค่อยๆ เกิดขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์เช่นในอดีต อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งได้ด้วยชาวบ้านสามารถนำมาปลูก เป็นรั้วเพื่อกันวัวควายเข้าไปเหยียบย่ำเรือกสวนไร่นาได้

ทุกส่วนของต้นสบู่ดำใช้ประโยชน์ได้หมด สบู่ดำเป็นพืชผสมข้าม ดังนั้น เปอร์เซ็นต์ติดเมล็ดจะน้อยถ้ามีผึ้งช่วยผสมพันธุ์นอกจากช่วยให้เปอร์เซ็นต์ การติดเมล็ดสูงขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ได้น้ำผึ้งเป็นผลพลอยได้ด้วย ขณะนี้มีคน ไปเลี้ยงผึ้งในไร่สบู่ดำที่จังหวัดลำปาง ปลูกต้นสบู่ดำเพื่อเอารังผึ้ง เก็บได้เป็น ร้อยรัง ซึ่งนำไปวางไว้ข้างแปลงทดลองของผม ทีมงานวิจัย ของผมมี สัตวแพทย์ และด้านกีฏวิทยา ดินและปุ๋ย การปรับปรุงพันธุ์ ด้านเขตกรรม ซึ่งตัวผมเป็นนักปรับปรุงพันธุ์เอง พร้อมด้วยลูกศิษย์อีกมากมาย

สบู่ดำต้นหนึ่งจะให้ผลประมาณ 10 กว่าลูก เพราะต้นสบู่ดำมีเกสรตัวผู้มากกว่า ตัวเมียที่เคยทำแปลงทดลองปลูกสบู่ดำที่โคราช กำแพงแสน และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นสบู่ดำต้นหนึ่งให้ผลมากถึง 30 ลูก จึงมีความ พยายามที่จะคัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่ดี

 

ผลการวิจัยคัดเลือกพันธุ์สบู่ดำเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว ประธานกรรมการด้านพืชไร่และหัวหน้าโครงการ สบู่ดำได้ชี้แจงถึงผลการวิจัยคัดเลือกพันธุ์สบู่ดำเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยคณะทำงานโครงการสบู่ดำด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคาร สมองและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในฤดูเพาะปลูก ปี 2547-2548

สบู่ดำ เป็นพืชพลังงานที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันแทนน้ำมันดีเซลได้ โดยผ่านกระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชัน มีประโยชน์ต่อเครื่องจักรกล ทางการเกษตรที่มีความเร็วรอบต่ำ เช่น รถไถนา เครื่องสูบน้ำ เรือประมง และน้ำมันสบู่ดำไม่สามารถนำมารับประทานได้ ทำให้ไม่มีการแข่งขันใน การผลิตเป็นอาหาร เป็นพืชที่ทนความแห้งแล้งได้ดี เจริญเติบโตเร็ว กากของสบู่ดำยังสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ย ส่วนต่างๆ ใช้ทำสมุนไพร และเนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และกระดาษได้

การวิจัยเพื่อศึกษาศักยภาพการจัดหาน้ำมันพืชสบู่ดำ เพื่อผลิตเป็น ไบโอดีเซลสำหรับเศรษฐกิจชุมชนในเชิงพาณิชย์และคัดเลือกพันธุ์ สบู่ดำที่ให้ผลผลิตสูงในแต่ละพื้นที่ โดยครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

 

ในเบื้องต้นที่ได้คัดเลือกพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆ พบว่า

  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 501-600 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 74 สายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 601-700 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 11 สายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 701-800 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 7 สายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 801-900 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 25 สายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 901-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 8 สายพันธุ์
  • สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 1,001-1,100 กิโลกรัม ต่อไร่ มี 7 สายพันธุ์

ถ้าได้นำสายพันธุ์ดีเหล่านี้ไปปรับปรุงพันธุ์ลูกผสม จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น อีกมาก เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุยืน 50 ปี จะทำให้ได้ป่าผืนใหม่ให้ความชุ่มชื้น และป้องกันอุทกภัยด้วย

ในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบเครื่องกะเทาะเปลือกสบู่ดำนั้น ได้เพิ่มขนาดของ ชุดป้อนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถใส่ตัวอย่างเมล็ดสบู่ดำได้เพิ่มขึ้นจาก 3-5 กิโลกรัม เป็น 5-10 กิโลกรัม ต่อครั้ง ความสามารถในการกะเทาะ 50-60 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง และเครื่องบีบอัดน้ำมันสบู่ดำแบ่งเป็นแบบใช้แรงงานคน มีความสามารถในการบีบอัด 3 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง และแบบใช้เครื่องต้น กำลังมีความสามารถในการบีบอัด 5 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้นำน้ำมันสบู่ดำมาทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์และทดสอบก๊าซไอเสีย เปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล ซึ่งผลการทดสอบปรากฏว่าทั้งน้ำมันสบู่ดำและ น้ำมันดีเซลมีสมรรถนะเครื่องยนต์และปริมาณก๊าซไอเสียไม่แตกต่างกัน

 

ด้านพฤกษศาสตร์ของสบู่ดำ

ลำต้น สบู่ดำเป็นไม้ยืนต้นสูง 2-7 เมตร มีช่อดอกมากน้อยแล้วแต่จำนวนแขนง แต่ละช่อดอกมีดอกย่อยประมาณ 70-120 ดอก แต่จะติดผลประมาณ 7-12 ผล อายุตั้งแต่ออกดอกถึงผลแก่ประมาณ 2-3 เดือน มีราก 5 ราก เป็นรากกลางและรากข้าง 4 ราก

ใบ ออกสลับกันเป็นใบเดี่ยวรูปไข่โคนใบเว้ารูปหัวใจ มีขอบใบเรียบเว้า 3-7 หยัก ยาวและกว้าง 6-15 เซนติเมตร

ดอก มีสีเขียวแกมเหลือง ขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อที่ซอกใบของปลายช่อ ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน แต่แยกเพศ มีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมียในอัตราส่วน 6-7:1 โดยประมาณดอกแต่ละช่อทยอยบาน เป็นพืชผสมข้ามโดยแมลงมีโครโมโซม 22 คู่

ผล เนื่องจากดอกบานไม่พร้อมกัน ผลจึงแก่ไม่พร้อมกัน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองเก็บเกี่ยวได้ โดยปกติจะมี 3 เมล็ด ต่อผล แต่ 4 เมล็ด ต่อผล ก็มีอยู่บ้าง เมื่อผลแก่เต็มที่จะแห้งมีสีดำปริแตก

เมล็ด มีสีดำ ยาว 2 เซนติเมตร หนา 1 เซนติเมตร เนื้อในสีขาวมีสารพิษ เคอซิน (curcin) บริโภคจะทำให้อาเจียนและท้องร่วง มีน้ำมันในเมล็ดประมาณ 35% เมล็ด 1 กิโลกรัม มีประมาณ 1,300-1,500 เมล็ด

ประโยชน์ ได้มีการแบ่งไว้ถึง 13 กลุ่ม โดยสรุป

ดอก ใช้เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้ง

เมล็ด บีบอัดเอาน้ำมันไปทำไบโอดีเซล กากที่ได้จากหีบอัดน้ำมันใช้ทำ ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ทำสมุนไพร

ยาง ใช้เป็นสมุนไพร เช่น ทาแก้ปากนกกระจอก ป้ายลิ้นเด็กที่เป็นฝ้าขาว

ใบ กิ่ง แขนง ใช้ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สมุนไพร เชื้อเพลิง กระดาษอัด

ลำต้น ใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำกระดาษ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เปลือกลำต้น ทำสีย้อมผ้า และด้าย

สบู่ดำ เป็นต้นไม้ที่ป้องกันความแห้งแล้งอุทกภัยและป้องกันการพังทลาย ของดิน

 

การปลูกและดูแลรักษา

พื้นที่ ควรเป็นที่ดอน หรือพื้นที่ระบายน้ำได้ดี เป็นที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัด

พันธุ์ ขณะนี้ยังเป็นพันธุ์พื้นเมือง เรียกชื่อตามแหล่งปลูก เช่น พันธุ์โคราช บุรีรัมย์ สตูล ยังไม่มีพันธุ์รับรองทางราชการ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพันธุ์ดีในหลายท้องถิ่น ตามหลัก วิชาการพันธุศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์พืชและสถิติ

การปลูก

  1. ปลูกโดยใช้เมล็ด เพาะเมล็ดในถุง มีอายุ 1-2 เดือน แล้วย้ายปลูก
  2. ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ตัดท่อนพันธุ์ที่มีสีเขียวปนน้ำตาล ยาว 20 เซนติเมตร ปักชำในถุง เมื่อออกรากมีสีน้ำตาลจึงย้ายปลูกในแปลง

ฤดูปลูกและระยะปลูก ระหว่างแถวประมาณ 2-3 เมตร ระหว่างต้น 1-2 เมตร ขึ้นอยู่กับพันธุ์และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควรปลูกต้นฤดูฝน หรือดินมี ความชื้นเพียงพอ

ปุ๋ย ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมี โดยใช้ปุ๋ยคอก 500 กิโลกรัม ต่อไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ก้นหลุมก่อนปลูกและหลังการเก็บเกี่ยวหรือหลังการตัดแต่งกิ่ง

ผลผลิต ผลผลิตขึ้นอยู่กับพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและความชื้นในดิน ถ้า 3 ปัจจัย ดังกล่าวดีแล้ว ปีแรกจะให้ผลผลิตประมาณ 100-300 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้ามีการชลประทานดี จะให้ผลผลิตตลอดปี ผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นในปีที่ 2 และปีต่อๆ ไปถ้าได้รับการบำรุงรักษาที่ดี

การเก็บเกี่ยว เนื่องจากผลแก่ไม่พร้อมกันในช่อจึงเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงาน เริ่มเก็บเมื่อผลมีสีเหลือง-ดำ ถ้าไม่เก็บผลสีดำจะร่วงหล่น หากฝนตกหรือมีความชื้นเมล็ดจะงอก

การควบคุมวัชพืช ในระยะแรก ต้นสบู่ดำยังเล็กมีพื้นที่ว่างควรปลูกพืชแซม เช่น พืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดินด้วย และวัชพืชจะมีน้อยหรือจะใช้สารเคมี กำจัดวัชพืชช่วย

การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช โรคที่พบ ได้แก่ โรคใบจุด โรคผลอ่อนเน่า แมลงที่พบ เช่น หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน และไรแดง เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการระบาดทำลาย แต่ต้อง หมั่นสังเกต เพราะถ้าปลูกมากๆ เป็นอุตสาหกรรม อาจมีปัญหาการระบาด ของโรค-แมลง

 

การสกัดน้ำมัน ทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ

1. แบบง่าย โดยนำเมล็ดสบู่ดำมาบดหรือทำให้แตกแล้วผึ่งแดดบนสังกะสี ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือนึ่งประมาณ 30 นาที แล้วบีบน้ำมันด้วยเครื่องบีบอัด กรองด้วยผ้าขาวบาง 2-3 ชั้น จะได้น้ำมันและปล่อยให้ตกตะกอน 1-2 คืน น้ำมันที่ได้สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ เช่น เครื่องสูบน้ำ รถตัดหญ้า รถไถนาขนาดเล็ก

2. แบบใช้เครื่องบีบอัดและตัวทำละลาย

2.1 เครื่องบีบอัดระบบไฮดรอลิก (Hydraulic press) จะได้น้ำมันประมาณ 20-25% และมีน้ำมันค้างในกาก ประมาณ 10-25% และมีน้ำมันค้างในกาก ประมาณ 10-15% แล้วแต่กำลังของไฮดรอลิก

2.2 เครื่องบีบอัดแบบระบบอัดเกลียว (Screw press) จะได้น้ำมันประมาณ 25-30% และมีน้ำมันตกค้างในกาก ประมาณ 5-10%

2.3 สกัดด้วยสารเคมีปิโตรเลียมอีเทอร์ จะได้น้ำมัน 35-38% เมล็ดสบู่ดำ 3-4 กิโลกรัม จะได้น้ำมัน 1 ลิตร

ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพแวดล้อมและปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่าง พันธุ์กับสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์แรก คือดำเนินการแบบเศรษฐกิจ พอเพียงในชุมชน และพัฒนาไปเป็นระบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ จะสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

เครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำสำหรับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน

เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำสำหรับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้ถูกพัฒนาขึ้นโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ สมาคมเครื่องจักรไทย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการศึกษาและพัฒนาเครื่องจักรดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จ

เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำที่พัฒนาขึ้นนี้ มี 3 ขนาด คือ

1. เครื่องหีบขนาดกำลังการผลิต 5-10 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2. เครื่องหีบขนาดกำลังการผลิต 10-15 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

3. เครื่องหีบกำลังผลิต 100-120 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง พัฒนาโดยสมาคมเครื่องจักรกลไทย

เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำขนาดเล็ก 2 ขนาด ที่ใช้งานระดับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนคือ ขนาดกำลังการผลิต 5-10 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง และ 5-10 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง ซึ่งผู้ดำเนินโครงการได้ใช้เวลา 2 เดือน ในการพัฒนาเครื่องจักรดังกล่าว ให้มีคุณสมบัติดังนี้

เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำขนาดกำลังการผลิต 5-10 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง

1. สามารถหีบน้ำมันได้ 2-2.5 ลิตร ต่อ 7.5 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง โดยหีบได้ 300 กรัมเมล็ด ต่อครั้งการหีบ

2. หีบอัดด้วยกระบอกไฮดรอลิก ขนาด 20 ตัน

3. ใช้ระบบไฮดรอลิก 2 จังหวะ เพื่อเป็นการทุ่นแรง หากไม่ใช้แรงคนสามารถติดปั๊มไฮดรอลิกได้ โดยใช้ต้นกำลังจากแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ (ราคาขายประมาณ 15,000 บาท)

 

เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำขนาดกำลังการผลิต 10-15 กิโลกรัมเมล็ด ต่อชั่วโมง

1. สามารถหีบน้ำมันได้ 3-5 ลิตร ต่อชั่วโมง โดยหีบน้ำมันด้วยระบบสกรูอัด (Screw Press)

2. ใช้มอเตอร์ ขนาด 2 แรงม้า กระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ หรือใช้เครื่องยนต์ดีเซลรอบช้าเป็นต้นกำลัง ขนาด 7-10 แรงม้า เป็นขนาดที่เล็กกว่าเครื่องที่มีอยู่ในท้องตลาดเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ

3. สามารถบีบน้ำมันจากเมล็ดได้ถึง 30-35% (ราคาขาย ประมาณ 30,000-35,000 บาท)

เครื่องต้นแบบที่ผลิตขึ้นมาส่วนหนึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ให้การสนับสนุน จะนำไปแจกจ่ายเพื่อเผยแพร่ และอีกส่วนหนึ่ง ก็มีเกษตรกร สั่งซื้อเข้ามาเป็น 100 เครื่อง แล้วซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ แต่เราก็จะต้องมีการพัฒนาเครื่องต้นแบบไปเรื่อยๆ อย่างเช่น เมล็ดสบู่ดำ 5 กิโลกรัม ต่อลิตร ก็มีการพัฒนาให้สามารถบีบอัดเมล็ดสบู่ดำ ให้ได้น้ำมัน ออกมามากขึ้น ในปริมาณเมล็ดสบู่ดำที่ลดลงเหลือเพียง 3 กิโลกรัมครึ่ง ได้น้ำมัน 1 ลิตร ต่อไปอาจจะใช้เมล็ดสบู่ดำเพียงแค่ 2 กิโลกรัม ต่อลิตร จะพัฒนาให้เครื่องจักรสามารถบีบอัดเมล็ดให้ได้น้ำมันออกมามากที่สุด พยายามพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วการพัฒนาจะมีต้นแบบเครื่องจักรออกมา พร้อมกับมีรายละเอียดของประโยชน์จากสบู่ดำ เช่น ใบสบู่ดำไปใช้ทำอะไร อาจจะไปประยุกต์ใช้ในด้านสมุนไพร ต้นนำไปใช้ทำอะไร หรือรากจะนำไป ใช้ทำอะไร ซึ่งจะเป็นผลจากการศึกษาของฝ่ายวิชาการเกษตร โครงการวิจัย สบู่ดำฯ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ที่ได้บูรณาการความคิดร่วมกับผู้ประกอบการ คนไทยและนักวิชาการ ในการคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติ ตลอดจนสามารถสร้างเป็น อุตสาหกรรมขนาดครัวเรือนขนาดย่อมไปจนถึงอุตสาหกรรมระดับประเทศได้ ในอนาคตผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่

โครงการสบู่ดำสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร. (02) 579-2419, (02) 579-9920, (02) 579-3485, (02) 579-5091
โทรสาร (02) 940-5926
หรือติดต่อ ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว
โทร. (02) 940-6459 e-mail: cc [email protected], [email protected]
หรือผู้สนใจเครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำ ติดต่อได้ที่ สมาคมเครื่องจักรกลไทย
โทร. (02) 712-2096 โทรสาร (02) 712-2979

 

ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน คุณภาพ | การขยายพันธุ์ | การปลูก | การเตรียมดิน

วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 18 ฉบับที่ 384

1