HOME
ต้นทุนการผลิตและราคาคุ้มทุนสบู่ดำ

 

สบู่ดำ (Jatropha curcas Linn.) มีแหล่งกำเนิดในอเมริกากลาง พ่อค้าชาว โปรตุเกสนำเข้ามาในประเทศไทยสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ชื่อสามัญ Physic nut เป็นไม้ผลยืนต้น เจริญเติบโตง่าย มีความสูง 2-7 เมตร ทนต่อสภาพความ แห้งแล้ง สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ลำต้น ผล และเมล็ดมีกรด hydrocyanic เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง และมีสารพิษ curcin ในเมล็ด เมล็ดสบู่ดำมีปริมาณน้ำมันร้อยละ 35 ของน้ำหนักเมล็ด เมล็ดสบู่ดำจำนวน 4 กิโลกรัม นำมาสกัดน้ำมันได้ 1 ลิตร และที่เหลือเป็นกาก จำนวน 3 กิโลกรัม น้ำมันสบู่ดำสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลกับเครื่องจักรกลทาง การเกษตรได้

 

ผลการวิจัยการผลิตสบู่ดำในประเทศไทย

โครงการวิจัยการผลิตสบู่ดำที่สำคัญของประเทศไทยสองโครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต้นสบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระชนมพรรษา 72 พรรษา ของกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนศึกษาสายพันธุ์สบู่ดำในประเทศไทย ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า มีหลายสายพันธุ์ให้ผลผลิตสูง 100-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี โดยปริมาณ ผลผลิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และการดูแลรักษาที่เหมาะสม

International Plant Genetic Resources Institute (IPGRI) ได้ทบทวน ปริมาณผลผลิตสบู่ดำในประเทศต่างๆ พบว่า สบู่ดำมีผลผลิตอยู่ระหว่าง 16-1,280 กิโลกรัม ต่อไร่ ในเขต semi-arid ควรมีผลผลิตไม่น้อยกว่า 360-480 กิโลกรัม ต่อไร่ การเก็บเกี่ยวส่วนมากใช้แรงงานในประเทศ Nicaragua สามารถเก็บผลผลิตสบู่ดำได้ 30 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็นผลผลิต เมล็ดเท่ากับ 18 กิโลกรัม

 

การผลิตสบู่ดำในประเทศอินเดีย

จาก The Cultivation of Jatropha curcas เขียนโดย Satish Lele, รายงาน ไว้ว่า การปลูกสบู่ดำด้วยจำนวนประชากร 400 ต้น ต่อไร่ ในสภาพที่เหมาะสม สบู่ดำจะให้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อต้น แต่ในบริเวณที่ดินมีความอุดม สมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ (poor soils) เช่น แคว้น Gujrat สบู่ดำจะให้ผลผลิต ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อต้น และควรปลูกด้วยจำนวนประชากรต่ำประมาณ 267 ต้น ต่อไร่ ในขณะที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ (lateritic soils) แถบแคว้น Maharashtra มีรายงานว่า ได้ผลผลิต 0.75-1.0 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนการปลูก เป็นแถวเป็นแนว (planted in hedges) หรือเป็นแนวรั้ว ได้ผลผลิต 0.8-1.0 ต่อเมตร หรือเท่ากับ 400-560 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ของดิน

ส่วน Economic of Jatropha Cultivation โดย Center of Jatropha Promotion ได้รายงานไว้ว่า การคาดการณ์ผลผลิตสบู่ดำมีความยากลำบาก เนื่องจากการปลูกสบู่ดำในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ผลผลิตที่ได้จะขึ้นอยู่กับ การให้น้ำ ธาตุอาหาร อุณหภูมิ และอายุของสบู่ดำ ปริมาณผลผลิตจากการปลูก 5 ปี อยู่ระหว่าง 16-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

ต้นทุนการผลิตและราคาคุ้มทุนในการปลูกสบู่ดำในประเทศไทย

การผลิตเมล็ดสบู่ดำจะมีต้นทุนประมาณกิโลกรัมละ 3.10 บาท (ศิษฏพงษ์ รัตนกิจ. 2548) จากต้นทุนรวม 2,500 บาท และได้ผลผลิต 800 กิโลกรัม ต่อไร่ (ระยะปลูก 2x2.5 เมตร 400 ต้น ต่อไร่ น้ำมันดิบ 200 ลิตร) จากการ คำนวณผลผลิตคุ้มทุนควรได้ผลผลิต 805 กิโลกรัม ต่อไร่ ที่ราคา ขายคุ้มทุน 3.125 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อราคาของต้นกล้าแพงขึ้นจาก 3 บาท ต่อต้น เป็น 5 บาท ต่อต้น ทำให้มีต้นทุนการผลิต 3,300 บาท ต่อไร่ ผลผลิตคุ้มทุนควรได้ ผลผลิต 1,056 กิโลกรัม ต่อไร่ และราคาขายคุ้มทุน 4.125 บาท ต่อกิโลกรัม หากราคาของต้นกล้าแพงขึ้นเป็น 7 บาท ต่อต้น ทำให้มีต้นทุนการผลิต 4,100 บาท ต่อไร่ ผลผลิตคุ้มทุนควรได้ผลผลิต 1,312 กิโลกรัม ต่อไร่ และราคาขาย คุ้มทุน 5.125 บาท ต่อกิโลกรัม และหากราคาของต้นกล้าแพงขึ้นเป็น 10 บาท ต่อต้น ทำให้มีต้นทุนการผลิต 5,300 บาท ต่อไร่ ผลผลิตคุ้มทุนควรได้ผลผลิต 1,696 กิโลกรัม ต่อไร่ และราคาขายคุ้มทุน 6,625 บาท ต่อกิโลกรัม

จากต้นทุนการผลิตเมล็ดสบู่ดำกิโลกรัมละ 3.10 บาท เกษตรกรผู้ผลิตจะมี รายได้ ประมาณไร่ละ 2,400 บาท (800 กิโลกรัม ต่อไร่) เปรียบเทียบกับต้นทุน การผลิต 2,500 บาท ต่อไร่ (กรณีต้นกล้าราคา 3 บาท) ผลตอบแทนที่ เกษตรกร ได้รับค่อนข้างต่ำและไม่คุ้มค่าและจากต้นทุนการผลิตเมล็ดสบู่ดำ กิโลกรัมละ 3.125 บาท (2,500/800) จะมีผลให้ราคาต้นทุนน้ำมันสบู่ดำดิบ ลิตรละ 12.50 บาท (2,500/200) เมื่อนำน้ำมันดังกล่าวไปผ่านกระบวนการ trans-esterification เพื่อทำเป็น Bio-diesel มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ลิตรละ 3.00 บาท รวมเป็นต้นทุนราคา Bio-diesel จากสบู่ดำลิตรละ 15.50 บาท (12.50+3.00) เมื่อต้นทุนการผลิตเมล็ดสบู่ดำเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 3,300 4,100 และ 5,300 บาท มีผลให้ต้นทุนราคา Bio-diesel จากสบู่ดำเพิ่มขึ้นเป็น ลิตรละ 19.50 23.50 และ 29.50 บาท

ต้นทุนการผลิตสบู่ดำของประเทศอินเดีย

ข้อมูลทางเศรษฐกิจเกษตรจาก The Cultivation of Jatropha curcas และ Economic of Jatropha Cultivation รายงานว่า ต้นทุนการผลิตสบู่ดำเท่ากับ 3,643.20 และ 3,899.20 บาท ต่อไร่ ตามลำดับ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 3,771.20 บาท ต่อไร่ (อัตราแลกเปลี่ยน 1USS=Rs. 43.50, 1 Rs.=1.0175 ฿, อัตราที่ใช้คำนวณ 1.00 Rs.=1.00 ฿)

Economic of Jatropha Cultivation รายงานเกี่ยวกับรายได้จากผลผลิตสบู่ดำ จากแปลงที่มีการให้น้ำในช่วง 5 ปี ไว้ว่า จากการลงทุนจำนวน 3,899.20 บาท ต่อไร่ ในปีแรกจะมีรายได้ประมาณ 240 บาท ต่อไร่ ทำให้ขาดทุน 3,659.20 บาท ต่อไร่ ต่อมาในปีที่สองถึงปีที่ห้ามีค่าใช้จ่าย 800.00 บาท ต่อไร่คงที่ ทำให้ในปีที่สองมีรายได้เท่ากับ 720.00 บาท ต่อไร่ ขาดทุน 80.00 บาท ต่อไร่ ในปีที่สามมีรายได้เท่ากับ 4,000.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไร 3,200.00 บาท ต่อไร่ ในปีที่สี่มีรายได้เท่ากับ 6,400.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไร 6,600.00 บาท ต่อไร่ และในปีที่ห้ามีรายได้เท่ากับ 10,000.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไร 9,200.00 บาท ต่อไร่ จากตารางแสดงปริมาณผลผลิตเมล็ดสบู่ดำ ในสภาพ แวดล้อมที่ต่างกันจะพบว่า ผลผลิตสบู่ดำจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจาก 3,200.00 ถึง 9,200.00 บาท ต่อไร่

ต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบจากสบู่ดำ The Cultivation of Jatropha curcas รายงานไว้ว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพเครื่องบีบอัด หากเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่มี ประสิทธิภาพสูงสามารถสกัดน้ำมันได้ถึง 94% และมีประสิทธิภาพ ในการทำงาน ตั้งแต่ 1 ตัน ต่อวัน หรือ 1-2 ตัน ต่อชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการ บีบน้ำมัน จากเมล็ดสบู่ดำจะอยู่ระหว่าง 0.19-0.90 บาท ต่อลิตร

Economic of Jatropha Cultivation ได้เปรียบเทียบ มูลค่า ปริมาณผลผลิต ค่าแรงงาน และเทคโนโลยีการจัดการที่ต่างกันพบว่า จากการลงทุนต่ำ (1,480.00 บาท ต่อไร่) ได้ผลผลิต 1,008.00 กิโลกรัม ต่อไร่ หากขาย เมล็ดสบู่ดำกิโลกรัมละ 1,468.00 บาท จะได้เงิน 1,479.74 บาท ต่อไร่ (คิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบเท่ากับ 251.25 ลิตร ต่อไร่) ได้กากเมล็ด สบู่ดำที่บีบน้ำมันแล้วมูลค่า 900.00 บาท ต่อไร่ มีมูลค่ารวม (Crop value) เท่ากับ 5,490.00 บาท ต่อไร่ และมี Gross Margin เท่ากับ 5,010.00 บาท ต่อไร่ มีค่าใช้จ่าย (indirect exp) 480.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไรสุทธิ 4,530.00 บาท ต่อไร่ สำหรับการลงทุนระดับกลาง (2,240.00 บาท ต่อไร่) ได้ผลผลิต 1,600.00 กิโลกรัม ต่อไร่ มีมูลค่ารวม (Crop value) เท่ากับ 8,784.00 บาท ต่อไร่ และมี Gross Margin เท่ากับ 8,144.00 บาท ต่อไร่ มีค่าใช้จ่าย (indirect exp) 800.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไรสุทธิ 73,440.00 บาท ต่อไร่ ส่วนการลงทุนสูง (2,800.00 บาท ต่อไร่) ได้ผลผลิต 2,160.00 กิโลกรัม ต่อไร่ มีมูลค่ารวม (Crop value) เท่ากับ 10,980.00 บาท ต่อไร่ และมี Gross Margin เท่ากับ 10,180.00 บาท ต่อไร่ มีค่าใช้จ่าย (indirect exp) 960.00 บาท ต่อไร่ ทำให้มีกำไรสุทธิ 9,220.00 บาท ต่อไร่

ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์

ราคาเมล็ดสบู่ดำที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ลงทุนปลูกสบู่ดำในประเทศไทย ควรจะได้รับ ไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท (ในกรณีกล้าพันธุ์ราคา 3 บาท ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าไร่ละ 800 กิโลกรัม ต่อปี และมีต้นทุนการผลิตที่ 2,500 บาท ต่อไร่ ศิษฏพงษ์ รัตนกิจ. 2548) และควรจะปรับราคาเมล็ดสบู่ดำสูงขึ้น หากมีต้นทุนการผลิตมากกว่า 2,500 บาท เพื่อความคุ้มทุนในการปลูกสบู่ดำ หากผู้ซื้อเมล็ดสบู่ดำต้องการให้ราคาเมล็ดสบู่ดำถูกกว่านี้ ต้องมีเทคโนโลยี การผลิตที่ให้ผลผลิตสูงกว่า (800 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี) และมีต้นทุนการ ผลิตที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ควรมีการวิเคราะห์แผนธุรกิจให้ชัดเจน ว่าสบู่ดำ เป็นพืชที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ปลูกในเชิงการค้าหรือไม่ หากจะส่งเสริม เพื่อพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องศึกษาต้นทุนการผลิต อย่างละเอียด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับต้นทุนผันแปรที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงงานในการเพาะปลูก การดูแลรักษา ตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำ-ปุ๋ย และค่าแรงในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

นอกจากความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ภัยจากสาร phorbol ester ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ในระหว่างการบีบน้ำมัน ส่วนกาก เมล็ดสบู่ดำมีสารพิษตกค้างอยู่ เป็นอันตรายต่อการใช้เป็นอาหารสัตว์ และ มีรายงานว่าต้นสบู่ดำเป็นแหล่งอาศัยของแมลงหวี่ขาวพาหะของโรค cassava mosaic virus ต้องระมัดระวังในการนำเข้าสายพันธุ์สบู่ดำจาก ต่างประเทศ เหล่านี้ควรนำมาพิจารณาประกอบความคุ้มทุน ทางเศรษฐศาสตร์ ด้วย


ดร.สุรพงษ์ เจริญรัถ
กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจฯ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร
โทร. (01) 278-8570


ที่มา :: เทคโนโลยีชาวบ้าน คุณภาพ | การขยายพันธุ์ | การปลูก | การเตรียมดิน

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 18 ฉบับที่ 368

1