หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I จิตตสังเขปI บวชกาย-บวชใจ I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I โมกขุบายวิธี I เรื่องของความเกิด-ดับ

 

ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย
(หันทะ มะยัง ระตะนะคุณัง กะโรมะเส)
อิมินา สักกาเรนะ ข้าขอน้อมสักการะบูชา
องค์สมเด็จพระศาสดา ผู้ทรงปัญญาและบารมี
ทรงสง่าด้วยราศี ประเสริฐเลิศดีมีพระคุณ
ทรงมีพระเมตตาเกื้อหนุน แผ่บุญค้ำจุนให้พ้นภัย
ท่านเป็นประทีปดวงสดใส ให้กำเนิดรัตนตรัย ดวงงาม
องค์แห่งรัตนะ มีสาม ระบือนามไปทั่วธานี
องค์พระพุทธชินศรี ตรัสรู้ชอบดีในพระธรรม
ชาวพุทธทุกคนจงจดจำ ช่วยกันแนะนำ ให้แพร่ไป
ทุกคนจะเกิดเลื่อมใส พระธรรมนำสุขใจ สถาพร
ผู้แนะนำซึ่งคำสั่งสอน คือศิษย์พระชินวร ทุกพระองค์
มวลหมู่พระภิกษุสงฆ์ ได้ดำรงค์พระศาสนามา
ลูกขอก้มกราบวันทา พุทธศาสนา จงถาวรเทอญ.

 

ระลึกถึงคุณบิดา-มารดา
(หันทะ มะยัง ปิตามาตาคุณัง กะโรมะเส)
อิมินา สักกาเรนะ ข้าขอกราบสักการะบูชา
อันพระบิดรมารดา ผู้ข้าขอน้อมระลึกคุณ
ท่านมีเมตตาการุณ อุปการะคุณต่อบุตรธิดา
ได้ให้กำเนิดลูกเกิดมา ทั้งการศึกษาและอบรม
ถึงแม้ลำบากสุดขื่นขม ทุกข์ระทมสักเพียงใด
ท่านไม่เคยจะหวั่นไหว ต่อสิ่งใดที่ได้เลี้ยงมา
พระคุณท่านล้นฟ้า ยิ่งกว่าธาราและแผ่นดิน
ลูกขอบูชาเป็นอาจินต์ ตราบจนสิ้นดวงชีวา
ขอปวงเทพไท้ช่วยรักษา พระบิดร-มารดา ของข้าเทอญ ฯ

 

ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์
(หันทะ มะยัง อาจาริยะคุณัง กะโรมะเส)
อิมินา สักกาเรนะ ข้าขอน้อมคารวะบูชา
อันคุณพระอุปํชฌายา ผู้ให้การศึกษาและอบรม
เริ่มต้นจากวัยประถม ให้วิทยาคมเสมอมา
เพิ่มพูนสติและปัญญา อีกวิชาศีลธรรมประจำใจ
ท่านชี้ทางสว่างสดใส ทั้งระเบียบวินัยประจำตน
ศิษย์ที่ดีต้องหมั่นฝึกฝน ให้ประพฤติตนตลอดไป
จงสังวรสำรวมเอาไว้ ทั้งกายใจให้มั่นคง
ตั้งจิตไว้ให้เที่ยงตรง เพื่อจรรโลงในพระคุณ
ขอผลบุญโปรดจงเกื้อหนุน อาจารย์ผู้มีพระคุณทุกท่านเทอญฯ

 

บทปลงสังขาร เกศาผมหงอก
เกศาผมหงอก บอกว่าตัวเฒ่า ฟันฟางผมเผ้า
แก่แล้วทุกประการ ตามืดหูหนัก ร้ายนักสาธารณ์
บ่ มิเป็นแก่นสาร ใช่ตัวตนของเรา แผ่พื้นเปื่อยเน่า
เครื่องประดับกายเรา โสโครกทั้งตัว แข้งขามือสั่น
เส้นสายพันพัว เห็นหน้าเกลียดกลัว อยู่ในตัวของเรา
ให้มึนให้เมื่อย ให้เจ็บให้เหนื่อย ไปทั่วเส้นขน
แก่แล้วโรคา เข้ามาหาตน ได้ความทุกข์ทน
โสกาอาวรณ์ จะนั่งก็โอย จะลุกก็โอย
เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีเกสร แก่แล้วโรคา
เข้ามาวิงวอน ได้ความทุกข์ร้อน ทั่วกายอินทรีย์
ครั้นสิ้นลมปาก กลับกลายหายจาก เรียกกันว่าผี
ลูกรักผัวรัก เขาชักหน้าหนี เขาว่าซากผี
เกลียดกลัวหนักหนา เขาผูกคอรัด มือเท้าเขามัด
รัดรึงตรึงตรา เขาหามเอาไป ทิ้งไว้ป่าช้า
เขากลับคืนมา สู่เหย้าเรือนพลัน ตนอยู่เอกา
อยู่กับหมูหมา ยื้อคร่าพัลวัน ทรัพย์สินของตน
ขนมาปันกัน ข้าวของทั้งนั้น ไม่ใช่ของเรา
เมื่อตนยังอยู่ เรียกว่าของกู เดี๋ยวนี้เป็นของเขา
แม้เงินใส่ปาก เขายังควักล้วงเอา ไปแต่ตัวเปล่า
เน่าทั่วสรรพางค์กาย อยู่ในป่ารก ได้ยินเสียงนก
กึกก้องดงยาง ได้ยินหมาไน ร้องไห้ครวญคราง ใจจิตอ้างว้าง วิเวกวังเวง
มีหมู่นกแขวก บินมาร้องแรก แถกขวัญของตน เหลียวไม่เห็นใคร
อกใจวังเวง ให้อยู่ครื้นเครง รำพึงถึงตัว
ตายไปเป็นผี เขาไม่ไยดี ทิ้งไว้น่ากลัว
ยิ่งคิดยิ่งพลัน กายสั่นระรัว รำพึงถึงตัว อยู่ในป่าช้า ผัวมิ่งสินทรัพย์ ยิ่งแลยิ่งลับ
ไม่เห็นตามมา เห็นแต่ศีลทาน เมตตาภาวนา
ตามเลี้ยงรักษา อุ่นเนื้ออุ่นใจ ศีลทานมาช่วย
ได้เป็นเพื่อนม้วย เมื่อตนตายไป ตบแต่งสมบัติ
นพรัตน์โพยภัย เลิศล้ำอำไพ อัตตะกิเลศมากมี
ศีลพาไปเกิด ได้วิมานเลิศ ประเสริฐโฉมศรี
นางฟ้าแห่ล้อม ห้อมล้อมมากมี ขับกล่อมดีดสี
ฟังเสียงบรรเลง บรรเลงสมบัติ แก้วเก้านพรัตน์
นับน้อยไปหรือ คุณพระทศพล ที่คนนับถือ
พระธรรมนั้นหรือ สั่งสอนทุกวัน พระสงฆ์องค์อารีรัก
มาเป็นปิ่นปัก พระกรรมฐาน เอออวยสมบัติ
นพรัตน์โอฬาร ดีกว่าลูกหลาน ประเสริฐเพริดเพรา
ลูกผัวที่รัก บ่ มิเป็นตำหนัก รักเขาเสียเปล่า
เขามิตามช่วย เพื่อนม้วยด้วยเรา ไปหลงรักเขา
เห็นไม่เป็นการ รักตนดีกว่า จำศีลภาวนา
บำเพ็ญศีลทาน จะได้ช่วยตน ให้พ้นสงสาร
ลุถึงสถาน ได้วิมานทอง ผู้ใดใจพาล
หลงรักลูกหลาน จะต้องจำจอง เป็นห่วงตัณหา
เข้ามารับรอง ตายไปจะต้อง ตกจตุรบาย ฯ

 

 

บทปลงสังขาร
มนุษย์เราเอ๋ย เกิดมาทำไม นิพพานมีสุข
อยู่ไยมิไป ตัณหาหน่วงหนัก หน่วงชักหน่วงไว้
ฉันไปมิได้ ตัณหาผูกพัน ห่วงนั้นห่วงผูก
ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สินศฤงคาร จงเสียสละเสียเถิด
จะได้ไปนิพพาน ข้ามพ้นภพสาม ยามหนุ่มสาวน้อย หน้าตาแช่มช้อย งามแล้วทุกประการ
แก่เฒ่าหนังยาน แต่ล้วนเครื่องเหม็น เอ็นใหญ่เก้าร้อย เอ็นน้อยเก้าพัน
มันมาทำเข็ญใจ ให้ร้อนให้เย็น เมื่อยขบทั้งตัว
ขนคิ้วก็ขาว นัยน์ตาก็มัว เส้นผมบนหัว
ดำแล้วกลับหงอก หน้าตาเว้าวอก ดูหน้าบัดสี
จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย เหมือนดอกไม้โรย
ไม่มีเกสร จะเข้าที่นอน พึงสอนภาวนา
พระอนิจจัง พระอนัตตา เราท่านเกิดมา
รังแต่จะตาย ผู้ดีเข็ญใจ ก็ตายเหมือนกัน
เงินทองทั้งนั้น มิติดตัวไป ตายไปเป็นผี
ลูกเมียผัวรัก เขาชักหน้าหนี เขาเหม็นซากผี
เปื่อยเน่าพุพอง หมู่ญาติพี่น้อง เขาหามเอาไป
เขาวางลงไว้ เขานั่งร้องไห้ แล้วกลับคืนมา
อยู่แต่ผู้เดียว ป่าไม้ชายเขียว เหลียวไม่เห็นใคร
เห็นแต่ฝูงแร้ง เห็นแต่ฝูงกา เห็นแต่ฝูงหมา
ยื้อแย่งกันกิน ดูหน้าสมเพช กระดูกกูเอ๋ย
เรี่ยรายแผ่นดิน แร้งกาหมากิน เอาเป็นอาหาร
เที่ยงคืนสงัด ตื่นขึ้นมินาน ไม่เห็นลูกหลาน
พี่น้องเผ่าพันธุ์ เห็นแต่นกเค้า จับเจ่าเรียงกัน
เห็นแต่นกแสก ร้องแรกแหกขวัญ เห็นแต่ฝูงผี
ร้องไห้หากัน มนุษย์เราเอ๋ย อย่าหลงกันเลย
ไม่มีแก่นสาร อุตส่าห์ทำบุญ ค้ำจุนเอาไว้
จะได้ไปสวรรค์ จะได้ทันพระเจ้า จะได้เข้านิพพาน
อะหัง วันทามิ สัพพะโส อะหัง วันทามิ นิพพานะปัจจะ โย โหตุ
สวดบทปลงสังขาร
โอ้ว่าอนิจจาสังขารเอ๋ย มาลงเอยสิ้นสุดหยุดเคลื่อนไหว
เมื่อหมดหวังครั้งสุดท้ายไม่หายใจ ธาตุ ลมไฟ น้ำ ดิน ก็สิ้นตาม
นอนตัวแข็งสลดเมื่อหมดชีพ เขาตราสังใส่หีบสี่คนหาม
สู่ป่าช้าสิ้นเชื้อเหลือแต่นาม ใครจะถามเรียกเราก็เปล่าตาย
นี่แหละหนอมนุษย์เราก็มีเท่านี้ หมดลมแล้วก็ไม่มีซึ่งความหมาย
วิญญาณปราศขาดลับดับจากกาย หยุดวุ่นวายทุกทุกสิ่งนอนนิ่งเอย
เมื่อชีวิตเรานี้มีลมอยู่ จงเร่งรู้ศีลทานนะท่านเอ๋ย
ทั้งภาวนาทำใจหัดให้เคย อย่าละเลยความดีทุกวี่วัน
เมื่อสิ้นลมจิตพรากจากโลกนี้ จะได้พาความดีไปสวรรค์
อย่าทำบาปน้อยนิดให้ติดพัน เพราะบาปนั้นเป็นเงาตามเราไป
สู่นรกอเวจีที่มืดมิด สุดที่ใครจะตามติดไปช่วยได้
ต้องทนทุกข์สยดสยองในกองไฟ ตามแต่กรรมของผู้ใดที่ได้ทำ
หมั่นสวดมนต์ภาวนารักษาศีล สอนลูกหลานให้เคยชินทุกเช้าค่ำ
ให้รู้จักเคารพนบพระธรรม อย่าลืมคำที่พระสอนวอนให้ดี
เราเกิดมาเพื่อตายมิใช่อยู่ ทุกทุกคนจะต้องสู่ความเป็นผี
เมื่อเกิดมาเป็นคนได้ทั้งที ก็ควรสร้างความดีติดตัวไป
เพื่อจะได้เป็นสุขไม่ทุกข์ยาก ไม่คับแค้นลำบากเมื่อเกิดใหม่
ใครทำดีย่อมสุขแท้จงแน่ใจ ใครทำชั่วทุกข์ยากไร้ ย่อมถึงตน
เร่งบำเพ็ญทานศีลและภาวนา แสวงหาแต่สิ่งบุญกุศล
ทรัพย์ภายนอกเป็นของโลกโศกระคน ทรัพย์ภายในประดับตน พ้นทุกข์เอย.

 

อาการ ๓๒ แปล

อิมัสมิงกาเย, เกศาคือผม อย่าได้ชื่นชม ว่าผมโสภา,
ทั้งเก้าล้านเส้น เป็นอนันตา, ครั้นแก่ชรา กลับขาวน่าชัง,
โลมาคือขน งอกทั่วตัวตน เป็นอนิจจัง,
ได้เก้าโกฏิเส้น เป็นอสุภัง, น่าเกลียดน่าชัง อย่าชมว่าดี,
นะขาคือเล็บ ถอดหักมักเจ็บ ว่าเล็บกะลี
ทั้งยี่สิบทัส วิบัติอัปรีย์, แก่นสารไม่มี วิปริตสาธารณ์,
ทันตาคือฟัน สามสิบสองอัน ใช่แก่น ใช่สาร,
คลอนคลุกงุกงัน หลุดหักสาธารณ์, ไม่ตั้งอยู่นาน ควรแต่อนิจจา,
ตะโจคือหนัง เปื่อยเน่าพองพัง ทั่วทั้งกายา,
ถ้าจะม้วนเข้า เท่าลูกพุดทรา, อันธพาลา นับถือว่าดี,
มังสาว่าเนื้อ เปื่อยเน่ามิเหลือ เท่าเส้นเกศี,
ทั้งเก้าร้อยชิ้น ในกายอินทรีย์, ตายแล้วเป็นผี น่าเกลียดน่าชัง,
นะหารูว่าเอ็น เก้าร้อยทำเข็ญ เมื่อยขบสรรพางค์,
ลุกโอย นั่งโอย รัญจวนครวญคราง, ให้โทษทุกอย่าง อย่าถือว่าดี,
อัฐิกระดูก เส้นรัดมัดผูก สามร้อยท่อนมี,
เป็นอนัตตา อย่าชมว่าดี, แก่นสารไม่มี เครื่องถมแผ่นดิน,
หาปัญญาไม่ รักใคร่อาจิณ, จะเพิ่มพูนดิน บ่มิคิดถึง,
อวิชชาหุ้มห่อ ผูกรัดมัดตรึง, หลงรักตะบึง บ่มิถอยหลัง,
อิฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก ละลายหลั่งไหล, เหม็นขื่นเหม็นเขียว
น่าเกลียดน่าชัง, ควรคิดอนิจจัง ทุกขังอนัตตา,
วักกะว่าม้าม แต่ล้วนไม่งาม โสโครกนักหนา,
เครื่องเปื่อยเครื่องเน่า ถมแผ่นพสุธา, ครั้นสิ้นชีวา กาแร้งแย่งกิน,
หะทะยังหัวใจ ม้ามปกคลุมไว้ ในอกอาจิณ,
สิ้นลมหายใจ สุนัขกากิน, เครื่องเน่าทั้งสิ้น ไม่เหลือสักอัน
ยะกะนังว่าตับ เป็นชิ้นประทับ กับหว่างนมนั้น,
กำหนดโดยสี สีแดงแสงอัน, เครื่องเน่าทั้งนั้น ในกายอินทรีย์,
กิโลมะกัง พังผืดนั้นเล่า, พระสรรเพ็ชญ์เจ้า กำหนดโดยสี,
เหมือนทุกูลพัตร, ที่ผ้าพอดี, เก่าแก่เศร้าสี มิสู้งามตา,
เป็นเครื่องสาธารณ์ อาหารแร้งกา, ควรคิดอนิจจา อย่าได้ละวาง,
ไตมีสีอย่าง คอนคนสีทอ, สัณฐานไตนั้น เหมือนสีโคมอ,
อาศัยอยู่ต่อ ที่ท้ายดวงใจ,
ปับผาสังว่าปอด เอาปัญญาสอด ส่งลงภายใน,
ให้เห็นอนิจจัง ประจักษ์แจ่มใส, สีปอดนั้นไซร้ แดงแดงสำราญ,
สามสิบสองชิ้น, ติดกันสัณฐาน, เหมือนขนมหวาน ตัดชิ้นเสี้ยวเสี้ยว,
อันดังไส้ใหญ่ เป็นสายยาวเรียว, เป็นขดลดเลี้ยว ยี่สิบแปดขด,
ไส้ชายกำหนด สามสิบสองศอก, ว่ายืดยาวออก กว่าไส้สตรี,
ไส้หญิงว่าสั้น สี่ศอกโดยมี, กำหนดโดยสี เหมือนฉายปูนขาว,
เบื้องบนนั้นยาว ตลอดลำคอ, เบื้องต่ำนั้นต่อ ทวารเบื้องใต้,
อันตะคุณัง ไส้น้อยกำหนด รัดขัดไส้ใหญ่,
บางทีรัดไว้ บางทีโยนยาน,
อุททะริยัง คืออาหารใหม่, เข้าอยู่ในไส้ เหมือนไถ้ข้าวสาร,
และกะรีสัง คืออาหารเก่า ลงตามทวาร, เหม็นพ้นประมาณ รังเกียจน่าชัง,
ปิตังว่าดี เขียวๆ โดยสี ดีมีสองอย่าง,
อย่างหนึ่งดีฟัก ซึมซาบสรรพางค์, ดีทั้งสองอย่าง อสุจิอสุภัง,
เสมหะเสลดค่น เป็นไข้ไหลล้น น่าเกลียดน่าชัง,
ท่านผู้บัณฑิต ควรคิดอนิจจัง, เสลดปิดบัง อยู่บนอาหาร,
บุพโพว่าหนอง เกิดแต่พุพอง เปื่อยเน่าทุกประการ,
โลหิตังคือเลือด เหลว ไหลซาบซ่าน, ทั่วกายทวาร สีแดงดังชาด,
เลือดคนนั้นไซร้ พอได้เต็มบาตร, เป็นอาโปธาตุ
ขังอยู่ในท้อง,ทับท่วมหัวใจ ตับไตทั้งผอง, ระทึกตรึกตรอง ให้เห็นอนัตตา,
เทโสคือเหงื่อ ซาบอยู่ในเนื้อ ทั่วทั้งสรีรา,
ต้องร้อนไหลหลั่ง เทพังออกมา, โซมทั่วกายา น่าเกลียดเป็นทาง,
เมโทมันข้น ซาบอยู่ในตน ทั่วทั้งสรรพางค์,
สีเหมือนขมิ้น เหลืองอ่อนจางๆ, เหม็นสาบเหม็นสาง โสโครกนักหนา,
อัสสุน้ำเนตร โทมนัสเป็นเหตุ หลั่งไหลออกมา,
จากคลองจักษุ ทั้งสองซ้ายขวา, เป็นท่อธารา หยดย้อยฟูมฟอง,
วะสามันเหลวต้องร้อนไหลนอง, สติตริตรอง ให้เห็นอนัตตา,
เขโพน้ำลาย ที่เหลวอยู่ปลาย ประเทศชิวหา,
ค่นอยู่ปลายลิ้น ไหลออกอัตรา, เร่งคิดอนิจจา อย่าหลงว่าดี,
สิงคาณิกาน้ำมูก ออกช่องจมูก เห็นน่าบัดสี,
บ้างขังบ้างไหล มิใช่พอดี, โสโครกเต็มที น่าเกลียดน่าอาย,
ละสิกาไขข้อ อยู่ที่ข้อต่อ กระดูกร่างกาย,
เหมือนไขทาเพลา แห่งเกวียนทั้งหลาย, อย่าได้มั่นหมาย ว่าเป็นของดี,
เร่งคิดสังเวช จิตตั้งสังเกต ถึงกายอินทรีย์,
ปัญญาส่องมอง ตามครองวิถี, โดยพระบาลี ว่าไว้ในสูตร,
มุตตังมูตรเน่า, ปัสสาวะเก่า แบ่งออกเป็นมูตร, ยิ่งเก่ายิ่งเหม็น
ยิ่งเน่าถึงบูด, รู้ว่าเป็นมูตร แสยงขนพอง,
มัตถะเก มัตถะลุงคัง เยื่อในศีรษะ, คือแป้งสำปั้น อยู่ในสมอง,
ต้องร้อนเมื่อไร เหลวไหลออกนอง, อย่าได้คิดปอง ว่าเป็นแก่นสาร,
เมื่อน้อยเมื่อหนุ่ม หน้าตาฉ่ำชุ่ม เห็นงามตระการ,
ครั้นถึงแก่เฒ่า ปรวนแปรสาธารณ์, ชั่วถ่อยทุกสถาน เห็นน่าบัดสี,
ฟันหักแก้มตอบ หน้าตาเว้าวอก เรี่ยวแรงไม่มี,
ตามืดหูหนัก อัปลักษณ์อัปรีย์, ไม่งามไม่ดี สักสิ่งสักอัน,
เนื้อหนังหู่เหี่ยว เส้นขึ้นเป็นเกลียว ดุจดังเถาวัลย์,
ผมดำก็หงอก กลับกลอกทุกอัน, สิ้นทั้งตัวนั้น เป็นอนัตตา,
ท่านทั้งหลายเอ๋ย อย่าหลงนักเลย กับรูปมายา,
อุตส่าห์ทำบุญ ค้ำจุนเอาไว้ เป็นทางไปสัคคา
อะหัง วันทามิ สัพพะโส, อะหัง วันทามิ นิพพานะปัจจะโย โหตุ ฯ

 

 

"งานวันเกิด" ยิ่งใหญ่ ใครคนนั้น
ฉลองกัน ในกลุ่ม ผู้ลุ่มหลง
หลงลาภยศ สรรเสริญ เพลินทะนง วันเกิดส่ง ชีพสั้น รอวันตาย
อีกมุมหนึ่ง ซึ่งเหงา น่าเศร้าแท้ หญิงแก่ ๆ นั่งหงอย และคอยหาย
โอ้…..วันนั้น เป็นวัน อันตราย แม่คลอดสาย โลหิต แทบปลิดชนม์
วันเกิดลูก เกือบคล้าย วันตายแม่ เจ็บท้องแท้ เท่าไหร่ มิได้บ่น
กว่าอุ้มท้อง กว่าจะคลอด รอดเป็นคน เติบโตจน บัดนี้ นี่เพราะใคร
แม่เจ็บเจียน ขาดใจ ในวันนั้น กลับเป็นวัน ลูกฉลอง กันผ่องใส
ได้ชีวิต แล้วก็หลง ระเริงใจ ลืมผู้ให้ ชีวิต อนิจจา….
ไฉนจึงเรียก กันว่า "วันเกิด" วันผู้ให้ กำเนิด จะถูกกว่า
คำอวยพร ที่เขียน ควรเปลี่ยนมา ให้มารดา คุณเป็นสุข จึงถูกแท้
เลิกจัดงาน วันเกิด กันเถิดนะ ควรที่จะ คุกเข่า กราบเท้าแม่
ระลึกถึง พระคุณ อบอุ่นแด อย่ามัวแต่ จัดงาน ประจานตัว.

 

 

พระคุณแม่

แม่สละสวย สละสาว คราอุ้มท้อง
แม่ไม่ร้อง แม่ไม่บ่น แม่ทนได้
แม่เฝ้าถนอม จนครรภ์แก่ แม่เต็มใจ
จะหาใคร เหมือนแม่ แพ้ทุกคน
ครบสิบเดือน เคลื่อนคลอด รอดชีวิต
แม่ใกล้ชิด ลูกน้อย คอยฝึกฝน
แม่ลำบาก อย่างไร ใจแม่ทน
สายเลือดข้น เต้าแม่กลั่น ปันลูกกิน
แม่ป้องริ้น ป้องไร มิให้ผ่าน
แม่สงสาร หวงลูกยา กว่าทรัพย์สิน
แม่เห่กล่อม ยามนิทรา เป็นอาจิณ
แม่ไม่ผิน แม่ไม่ผัน ทุกวันมา
ยามลูกสุข แม่สุขสม อารมณ์ชื่น
ยามลูกขื่น แม่ขม ระทมกว่า
ยามลูกไข้ แม่อดนอน ร้อนอุรา
ยามลูกยา อับโชค แม่โศกใจ
คราลูกหิว แม่หิวกว่า น้ำตาร่วง
แม่เป็นห่วง ดิ้นรนหา เอามาให้
แม้แม่อด หมดข้าวปลา ไม่ว่าไร
แม่สละได้ ลูกอิ่มแปร้ แม่ทนเอา
ใครไหนเล่า เฝ้าอบรม บ่มนิสัย
แม้เติบใหญ่ ไม่ท้อถอย คอยนั่งเฝ้า
พระคุณเลิศ ลูกโศกศัลย์ ช่วยบรรเทา
ใครไหนเล่า รักมั่นแท้ แม่ฉันเอง…

 

 

สำนึกพระคุณแม่

พระคุณแม่ เลิศฟ้า มหาสมุทร
พระคุณแม่ ลูงสุด มหาศาล
พระคุณแม่ เลิศกว่า สุธาธาร
ใครจะปาน แม่ฉัน นั้นไม่มี
อันพระคุณ
ใครๆ ในพิภพ
ยังรู้จบ แจ้งคำ มาพร่ำขาน
แม่และพ่อ มีคุณต่อบุตร สุดประมาณ
ขอกราบกราน ระลึกถึง ซึ้งพระคุณ
เจ้าข้าเอ๋ย ใครหนอใคร ให้กำเนิด
จึงก่อเกิด เติบใหญ่ ด้วยไออุ่น
ทั้งกล่อมเกลี้ยง เลี้ยงลูกมา ด้วยการุณ
ช่วยค้ำจุน จนรอดพ้น เป็นคนมา
ถึงลำบาก ร่างกาย ใจห่วงลูก
ด้วยพันผูก ดวงใจ ให้ห่วงหา
หัวอกใคร จะอุ่นเท่า อีกเล่านา
คอยปลอบเช็ด น้ำตา คราระทม
เป็นแดนใจ
ใสสะอาด ปราศกิเลศ
เป็นสรรเพ็ฃญ์ ของบุตร พิสุทธิ์สม
ความรักเปลี่ยน เมตตา น่านิยม
ประดุจลม โชยเย็น ใครเห็นดี
หอบสังขาร
ทำงาน เลี้ยงลูกน้อย
เกรงจะด้อย ใจทราม ต่ำศักดิ์ศรี
จึงส่งให้
ได้ศึกษา วิชามี
ให้ได้ดี กว่าแม่พ่อ หวังรอคอย
เหมือนนกกา หาเหยื่อ มาเผื่อลูก
เปรอความสุข หาทรัพย์ไว้ ให้ใช้สอย
ยามไกลพราก จากอุรา ตั้งตาคอย
ใจละห้อย นอนสะอื้น ขื่นขมทรวง
กว่าลูกๆ จะสำนึก พระคุณท่าน
ช่างเนินนาน บางชีวา พาลับล่วง
บ้างก็ป่วย จนแทบ สิ้นแดดวง
ลูกจึงห่วง เอาใจใส่ ในกายา
อย่าให้รอ ใกล้ตาย จึงกรายใกล้
เป็นศพไป จึงรู้บุญ คุณท่านหนา
ยามท่านอยู่ ควรรู้ชัด สร้างศรัทธา
ตอบแทนคุณ มารดา บิดาเอย
ขอน้อมนอบ หมอบกราบแท้ พระแม่แก้ว
สำนึกแล้ว ความเลว เคยเหลวไหล
ลูกซึ้งแล้ว แนววิถี ที่เป็นไป
แม่ช้ำใจ เพราะลูกมา จนชาชิน
ลูกสร้างกรรม ทำบาป กราบเท้าแม่
ซึ้งใจแท้ แม่อภัย ให้หมดสิ้น
น้ำตาแม่ แต่ละหยด ที่รดริน
ลูกถวิล ดังน้ำกรด รดหัวใจ
ลูกขอบวช แทนพระคุณ คุณแม่แล้ว
ร่มโพธิ์แก้ว โพธิ์ทอง ของลูกเอ๋ย
อันกุศล ผลบุญ ที่คุ้นเคย
ขอชมเชย คุณแม่พลัน กตัญญ

 

 


สพฺพทานํ ธมฺมทนํ ชินาติ
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้สิ่งทั้งปวง

 

<< Prev : Page 9

อ่านต่อหน้า Next : Page 11>>

 
หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I จิตตสังเขปI บวชกาย-บวชใจ I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I โมกขุบายวิธี I เรื่องของความเกิด-ดับ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

Hosted by www.Geocities.ws

1