งานจริยธรรม
โรงเรียนสะเดา "ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์"
299  ถ. กาญจนวณิชย์ ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา 90120 โทร. 074-411070  โทรสาร 074-411366

Home
นายอำเภอขรรค์ชัย กัมพลานนท์
ประวัติโรงเรียน
บุคลากรของโรงเรียน
รางวัลนายอำเภอขรรค์ชัย
การจัดการเรียนการสอน
E_Learning
งานจริยธรรม
เก็บเอามาบอกลอกเอามาเล่า
บุคคล:หน่วยงานที่สนับสนุนโรงเรียน
ข่าวขรรค์ชัย
สมุดเยี่ยม
กระดานข่าว
ชมภาพกิจกรรม
เว็บไซต์ที่น่าสนใจ
เว็บไซต์ผลงานนักเรียน

 

 

  ศูนย์ธรรมศึกษา
 
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ฯ
 
โครงการอบรมพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ฯ
 
หน่วยงานที่คอยช่วยเหลือ/สนับสนุน
 
พระคุณเจ้าที่ควรรู้จัก



  สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เรียกว่า อริยสัจ 4 ได้แก่

1. ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก
2. สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด ซึ่งได้แก่ ตัณหาคือความทะยานอยาก
           ตัณหา มี 3 ประเภท คือ 
           1. กามตัณหา คือ ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่
           2. ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
           3. วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่

3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์
4. มรรค คือ ทางที่จะนำไปถึงความดับทุกข์ 


มรรค มีองค์ 8
1. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม  ดำริในอันไม่พยาบาท  ดำริในอันไม่เบียดเบียน 
3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต ๔
4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ 
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือ เจริญฌานทั้ง ๔

อริยสัจ ๔
อริยสัจ แปลว่า ความจริงอย่างประเสริฐ คือ 
ความจริงที่ทำให้ผู้รู้แจ้งพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้ มี ๔ ประการ คือ
๑. ทุกข์ ผลของตัณหา
๒. ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า สมุทัย
๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า นิโรธ
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า มรรค

๑. ทุกข์
ทุกข์ แปลตามตัวอักษรว่า สิ่งที่ทนได้ยาก ตรงกันข้ามกับ สุข 
ซึ่งแปลว่า ความสบาย ความสำราญ โดยใจความหมายถึง ความไม่สบายกาย 
และความไม่สบายใจ
ทุกข์จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ 
(๑) ทุกข์ประจำ ได้แก่ ทุกข์ที่มีแก่ทุกคนตามธรรมชาติ มี ๓ ประการ คือ
- ความเกิด ได้แก่ 
ความทุกข์ของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอด 
แม้ทารกจะบอกใครไม่ได้ว่าเป็นทุกข์ 
แต่จากการที่ความเกิดเป็นที่มาของความทุกข์ตามมาในภายหลังอีกมากมาย 
จึงถือได้ว่าความเกิดเป็นความทุกข์
- ความแก่ ได้แก่ 
ความทุกข์ที่เกิดจากร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลง เช่น ผมหงอก ฟันหัก 
หนังเหี่ยวย่น นัยน์ตาฝ้าฟาง หูตึง กำลังลดน้อยถอยลง 
มีความปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ถึงคนจะยังไม่แก่มาก 
แต่ความไม่อยากแก่นั่นเองทำให้คนเป็นทุกข์เพราะเป็นความอยากที่ทวนกระแสความเป็นไปตามธรรมชาติ 
- ความตาย ได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดจากการสิ้นชีวิต 
เพราะทวนกระแสความต้องการของตน ทุกคนไม่อยากตาย อยากมีอายุยืน 
เมื่อถึงคราวจะต้องตายจึงเกิดความทุกข์อย่างแสนสาหัส
(๒) ทุกข์จร หรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว มี ๘ ประการ คือ
- ความโศก ได้แก่ ความเศร้าใจ หรือความแห้งใจ
- ความพิไรรำพัน ได้แก่ ความคร่ำครวญ หรือความบ่นเพ้อ
- ความทุกข์ทางกาย ได้แก่ ความเจ็บไข้ หรือความบาดเจ็บ
- ความโทมนัส ได้แก่ ความไม่สบายใจ หรือความน้อยใจ
- ความคับแค้นใจ ได้แก่ ความตรอมใจ หรือความคับอกคับใจ
- ความพรัดพรากจากสิ่งที่รัก ที่ชอบใจ
- ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ
- ความปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น
(๓) ทุกข์โดยรวบยอด ทุกข์ที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดสรุปได้เพียงประการเดียว คือ ร่างกายและจิตใจที่บุคคลยึดมั่นถือมั่น เป็นทุกข์

๒. สมุทัย
ทุกขสมุทัย แปลว่า เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา หรือความทะยานอยาก ซึ่งจำแนกได้ ๓ ประการ คือ
(๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม กาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ความทะยานอยากในกาม จึงหมายถึง ความดิ้นรนอยากเห็นสิ่งที่สวยงาม อยากฟังเสียงที่ไพเราะ อยากดมกลิ่นที่หอม อยากลิ้มรสที่อร่อย อยากสัมผัสสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ
(๒) ภวตัณหา ความทะยานอยากในความเป็น คือ 
ดิ้นรนอยากเป็นบุคคลประเภทที่ตนชอบ เช่น นักร้อง นักแสดง นักการเมือง หรืออยากได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งก่อนใครๆ
(๓) วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่เป็น คือ ดิ้นรนอยากไม่เป็นสิ่งที่เขาให้เป็น หรืออยากจะพ้นไปจากตำแหน่งที่เป็นอยู่แล้ว รวมทั้งอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้หมดไปสิ้นไป
ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากตัณหาต้องเป็นทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ 
ไม่ใช่ทุกข์เพราะคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของสิ่งที่ไม่มีชีวิต ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง และสิ่งต่างๆ ของตัวเอง ความยึดมั่นถือมั่นนี้เองเป็นตัวทุกข์โดยสรุปรวบยอดดังกล่าวแล้วข้างต้น

๓. นิโรธ
ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ หมายถึง การดับ หรือการละตัณหา ๓ ประการดังกล่าวแล้วได้ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าดับเหตุได้ ทุกข์ซึ่งเป็นผลก็ดับไปเอง เหมือนการดับไฟที่ต้องดับที่เชื้อไฟ เช่น 
ฟืนหรือน้ำมัน นำเชื้อออกเสีย เมื่อเชื้อหมดไปไฟก็ดับเอง

๔. มรรค
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางนั้น มีทางเดียวแต่มีองค์ประกอบ ๘ ประการ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
(๑) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึง การรู้การเห็นอริยสัจ ๔ 
อย่างถูกต้อง คือรู้ว่า ทุกข์ได้แก่อะไรบ้าง และเป็นทุกข์อย่างไร 
รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และตัณหานั้นควรละเสีย 
รู้ว่าทุกข์จะดับไปเพราะว่าดับตัณหา และรู้ว่าอริยมรรคเป็นทางให้ดับตัณหาได้
(๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หรือความคิดชอบ คือ มีความคิดออกจากกาม 
ไม่หลงใหลกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีความคิดที่ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น 
และมีความคิดที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
(๓) สัมมาวาจา การพูดชอบ ได้แก่ การเว้นจากการพูดเท็จ 
เว้นจากการพูดส่อเสียด คือการพูดยุยงให้เขาแตกกัน การเว้นจากการพูดคำหยาบ 
และการเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ หรือการพูดไร้สาระ
(๔) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์ 
การเว้นจากการลักทรัพย์ การเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
หรือการเว้นจากกิจกรรมทางเพศ
(๕) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การเว้นจากมิจฉาชีพ 
คือการเลี้ยงชีพที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม 
ประกอบแต่สัมมาชีพที่สุจริตไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
(๖) สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ หรือความเพียรชอบ ได้แก่ 
ความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น 
ความเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ความเพียรทำความดีให้เกิดขึ้น 
และความเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่
(๗) สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่ 
ความมีสติระลึกได้ถึงความเป็นไปของร่างกาย ระลึกได้ถึงความเป็นไปของเวทนา 
ว่ามีความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ 
ระลึกได้ถึงความเป็นไปของจิตว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสชนิดใด 
หรือผ่องแผ้วเพราะปราศจากกิเลสเหล่านั้น ระลึกได้ถึงธรรมต่างๆ ทั้งฝ่ายดี 
ฝ่ายชั่ว และฝ่ายกลาง ว่าธรรมชนิดใดผ่านเข้ามาในจิต
(๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ การทำจิตให้เป็นสมาธิ 
ผ่านระดับต่ำ ระดับกลาง ถึงระดับสูงจนบรรลุฌาน ซึ่งมี ๔ ระดับ คือ ฌานที่ ๑ 
ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ สามารถสังเคราะห์ลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญาได้ 
ดังนี้คือ 
การพูดชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ จัดเป็นศีล
ความพยายาชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตมั่นชอบ จัดเป็นสมาธิ
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ จัดเป็นปัญญา
อริยสัจ ๔ ประการ เป็นเหตุผล ๒ คู่ คือ
คู่ที่ ๑ ทุกข์ เป็นผลของตัณหา
ทุกขสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
คู่ที่ ๒ ทุกขนิโรธ เป็นผลของการปฏิบัติตามอริยมรรค
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นเหตุให้เกิดความดับทุกข์
การเรียงลำดับ นำผลขึ้นกล่าวก่อน กล่าวถึงเหตุภายหลัง 
เพราะผลปรากฏชัดเจนแล้ว ส่วนเหตุต้องแสวงหา 
และพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยมรรคนี้เอง รวมทั้งตรัสรู้เหตุให้เกิดทุกข์ด้วย 

 สติปัฏฐาน 4

สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกกายานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกเวทนานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกจิตตานุปัสสนา

สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจ เป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียกธัมมานุปัสสนา

 สัปปุริสธรรม

๑. ธัมมัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่า ความรู้จักหัวข้อธรรม หัวข้อวินัย อันเป็นเหตุแห่งความสุข และแห่งความทุกข์ เช่น อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ อโมหะ ความไม่หลง เป็นเหตุแห่งความสุข โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เป็นเหตุแห่งความทุกข์ เป็นต้น.

๒. อัตถัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักผล หมายความว่า ความรู้จักเนื้อความของธรรมของวินัยแต่ละข้อ คือความสุขและความทุกข์ อันเป็นผลแห่งหัวข้อธรรมวินัยที่เป็นเหตุนั้น ๆ เช่น ความสุขเป็นผลแห่งอโลภะ อโทสะ อโมหะ ความทุกข์ เป็นผลแห่งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น

๓. อัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักตน หมายความว่า ความรู้จักฐานะภาวะที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ แล้วประพฤติให้เหมาะสม เช่นเกิดมาในชาติตระกูลใด มียศศักดิ์อย่างไร มีสมบัติเท่าไร มีบริวารเป็นอย่างไร มีความรู้ทางโลกเท่าไร ความรู้ทางธรรมเท่าไร และมีคุณธรรม คือสัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร เมื่อรู้จักแล้วต้องวางตนให้เหมาะสม คือเจียมเนื้อเจียมตัว ตั้งอยู่ในสุจริตประพฤติดีด้วยไตรทวารสม่ำเสมอ ไม่เย่อหยิ่งอวดดี อวดมั่งอวดมีอวดรู้ โบราณท่านสอนว่าให้หมั่นตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาหน้า ก็มุ่งให้รู้จักระวังตน ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะภาวะดังกล่าวนี้เอง

๔. มัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณ รู้จักพอดี หมายความว่า จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ก็ให้รู้จักประมาณ พอดี พองาม, ไม่มาก ไม้น้อย, ไม่ขาด ไม่เกิน, ไม่ตึง ไม่หย่อน, ไม่อ่อนปวกเปียก ไม่แข็งกร้าว ไม่เกิดโทษแก่ใคร ๆ มีแต่เกิดประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ในกาลทุกเมื่อ ดังธรรมสุภาษิต ที่ว่า มัตตัญญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณสำเร็จประโยชน์ในการทุกเมื่อ ดังนี้.
ฉะนั้น ท่านจึงจำกัดความรู้จักประมาณไว้ ๓ ประการ คือ 
๑.รู้จักประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบธรรม มีกสิกรรม เป็นต้น ตามควรแก่ฐานะภาวะของตน 
๒. รู้จักประมาณในการรับ คือรับแต่สิ่งที่ดีไม่มีโทษตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่ของโจร ไม่ใช่ของหนีภาษี เป็นต้น ถ้าเป็นพระ เณร ก็ไม่รับของผิดพระพุทธบัญญัติ เช่น เงินทอง เป็นต้น รับแต่ปัจจัยที่สมควรแก่สมณะบริโภค 
๓. รู้จักประมาณในการบริโภค คือพิจารณาเสียก่อน เว้นสิ่งที่มีโทษ บริโภคกินใช้สอยแต่สิ่งที่มีประโยชน์ แม้สิ่งที่มี ประโยชน์นั้นก็บริโภคแต่พอควรแก่ความต้องการของร่างกาย ให้พอดีกับฐานะและภาวะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เบียดกรอ.

๕. กาลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา หมายความว่า ความรู้จักกำหนดจดจำว่า กาลเวลาไหนควรปฏิบัติกรณียะอันใด แล้วปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้ตรงต่อเวลานั้น ไม่ช้าเกินควร ไม่ด่วนเกินกาล และรู้จักกรณียะบางอย่างบางคราว บางแห่ง ต้องทำให้เสร็จต่อเวลาก็ต้องรีบ จะชักช้าอยู่ไม่ได้ ถ้าช้าอยู่ก็จัดว่าไม่รู้จักกาลเวลา และอาจเสียประโยชน์ได้ หรือบางอย่างต้องทำหลังเวลาจึงจะดี ถ้ารีบทำเสียก่อนเวลาก็ไม่ดี จัดว่าไม่รู้จักกาลเหมือนกัน อนึ่ง กาลเวลาที่ควรทำกิจนี้ แต่เอากิจอื่นมาทำ หรือเวลาที่ควรทำกิจอื่น แต่เอากิจนี้มาทำ อย่างนี้ก็ชื่อว่า ไม่รู้จักกาล เหมือนไก่บางตัวที่ขันไม่รู้จักเวลา ย่อมเสียหายและน่าติเตียนมาก คนดีย่อมไม่ทำอย่างนี้ เขารู้กาลสมัย ทำราชการได้ดี มีพระพุทธสุภาษิต สอนว่า
กาลัญญู สมยัญญู จ ส ราชวสติง วเส ผู้รู้กาลสมัย พึงอยู่ในวงราชการได้
เพราะทางราชการถือเวลาเป็นกวดขัน ผิดเวลาไม่ได้

๖. ปริสัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือความรู้จักชนชั้นต่าง ๆ เช่น ชั้นผู้ใหญ่โดยชาติ โดยวัย โดยคุณ พวกหนึ่ง ชั้นผู้น้อยโดยชาติ โดยวัย โดยคุณ พวกหนึ่ง กิริยาวาจาที่จะใช่ต่อชนชั้นผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง ที่ใช้ต่อชนชั้นผู้น้อยอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ความรู้จักชุมชนนั้น ๆ ด้วยแล้ว เมื่อเข้าไปหาเขา เราต้องปฏิบัติ คือใช้กิริยาวาจาให้เหมาะสมแก่ชนนั้น ๆ

๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบุคคลผู้ยิ่งและผู้หย่อน หมายความว่า ความรู้จักเลือกว่า นี้เป็นผู้ยิ่งคือดี นี้ผู้หย่อนคือไม่ดี วิธีเลือก คือ แยกบุคคลออกเป็น ๒ พวก พวกใดใคร่เห็นผู้ประเสริฐ ใคร่ฟังธรรมตั้งใจฟังจำได้ พิจารณาเนื้อความธรรมที่จำได้ รู้ทั่วถึงผลถึงเหตุแล้วปฏิบัติธรรมตามสมควร เพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น พวกนี้นับว่าดี น่าสรรเสริญควรคบ ส่วนพวกที่ตรงกันข้าม เป็นคนไม่ดี น่าตำหนิ ไม่ควรคบ เมื่อคัดเลือกออกเป็น ๒ พวกแล้ว ก็คบเฉพาะกับคนดี ไม่คบคนไม่ดี จึงจะเป็นคนดี สมด้วยพระบาลีว่า ยัง เว เสวติ ตาทิโส คบคนใดก็เป็นคนเช่นนั้น ดังนี้.

ตอนที่ 2
สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง

๑. สัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป 
เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา.
๒. จะปรึกษาสิ่งใด ๆ กับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษา เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๓. จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิด เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๔. จะพูดสิ่งใด ก็ไม่พูด เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๕. จะทำสิ่งใด ก็ไม่ทำ เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
๖. มีความเห็นชอบ เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น.
๗. ให้ทานโดยเคารพ คือ เอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้นไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย.
อธิบายข้อธรรม
๑. มีศรัทธา (อธิบายแล้วข้างต้น)
๒. ๓. ๔. ๕. หมายความว่า ธรรมดาสัตบุรุษเมื่อปรึกษา คือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นก็ตาม จะคิดตามลำพังตนก็ตาม จะพูดให้ใครฟังก็ตาม จะทำการใดก็ตาม มุ่งความสงบสุขแก่ทุกฝ่าย ไม่ให้ใคร ๆ เดือดร้อนเพราะพฤติกรรมของตน ทำตนให้มีกาย วาจา ใจ สงบ บริสุทธิ์ ครบไตรทวารด้วยสุจริต ๓ อย่าง.
๖. มีความเห็นชอบ 
๗. ให้ทานโดยเคารพ มี ๒ อย่าง คือ ๑) เคารพใน ทาน คือของที่ให้
๒) เคารพในผู้รับทาน คือผู้รับของที่ให้
หมายความว่า เมื่อมีของที่ควรให้ มีศรัทธาจะให้ มีผู้รับพร้อม ก็ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ 
ไม่แสดงกิริยาทางกาย ทางวาจาหยาบคาย เป็นเชิงดูหมิ่น ในของที่ให้หรือในคนผู้รับของนั้น 
แสดงกิริยาสุภาพเรียบร้อยในการให้.
สัปปุริสธรรม ตัดบทเป็น สัง แปลว่า ดี หรือ สันตะ แปลว่าผู้สงบ บุริสะ แปลว่า คน 
รวมเข้าเป็น สัปปุริสะ หรือ สัตบุรุษ (อ่านว่า สัดบุหรุด) แปลว่า คนดี หรือคนสงบ.
สัปปุริสะ + ธรรม = สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของคนดี ธรรมของคนสงบ หมายถึง สมบัติผู้ดี 
หรือ ธรรมสมบัติ หรือ คุณสมบัติของผู้ดี. กล่าวคือธรรมที่ทำคนให้เป็นคนดี. ใครก็ตามเมื่อมีธรรมของ
สัตบุรุษ ก็ย่อมเป็นคนดี, ถ้าไม่มีก็เป็นคนดีไม่ได้
สัปปุริสธรรม มี ๒ หมวด ๆ ละ ๗ จึงเรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗


ไตรสิกขา
ไตรสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษา ๓ ประการ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
(๑) ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมทางความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา เพื่อให้สามารถดำรงตนด้วยดีในสังคม รักษาระเบียบวินัย ปฏิบัติหน้าที่และมีาความรับผิดชอบต่อสังคม มีความสัมพันธ์กับสังคมในทางเกื้อกูลประโยชน์
(๒) สมาธิ คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมทางด้านคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต เพื่อให้เกิดคุณธรรม หรือสมาธิอย่างสูง ทำให้จิตเข้มแข็งมั่นคงแน่วแน่ ควบคุมตนได้ดี มีสมาธิดี สงบ บริสุทธิ์ผ่องใส เหมาะสมกับการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้ง
(๓) ปัญญา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สามารถคิดพิจารณาแก้ปัญหาต่างๆ และทำกิจทั้งหลายในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
ธรรมะแต่ละข้อในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ต่างก็มีความสัมพันธ์กันตามเหตุผลจากต่ำไปหาสูง และจากสูงไปหาต่ำ กล่าวคือ ศีล เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ และ สมาธิ เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิด ปัญญา ที่รู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะช่วยให้จิตสงบมั่นคงบริสุทธิ์ เป็นสมาธิที่แน่นอนยิ่งขึ้น ส่งผลต่อความประพฤติ การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์


ไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการ แห่งสังขารทั้งหลายที่เป็นสามัญทั่วไปของสัตว์โลก ได้แก่ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา
(๑) อนิจจตา คือ ความเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่แน่นอนแห่งสังขารทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแตกสลายไป หรือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพเรื่อยไป
(๒) ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ เป็นสภาวะที่ถูกบีบคั้น กดดัน ฝืน และขัดแย้งอยู่ในตัวอันเนื่องมาจากเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการสลายตัวไป คือ ความไม่เที่ยง
(๓) อนัตตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืน จึงไม่อาจดลบันดาลได้ ไม่มีอำนาจในตัวที่จะฝืนภาวะการเปลี่ยนแปลงได้
อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน กล่าวคือ สิ่งใดที่ไม่เที่ยง เกิดการเปลี่ยนแปลงการสลายตัวไม่ยั่งยืน ไม่มีอำนาจที่จะฝืนภาวะการเปลี่ยนแปลงได้



อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
ท่านทั้งหลาย จงมีความไม่ประมาท 


โอวาทปาติโมกข์

อวาทปาติโมกข์ หรือ โอวาท ๓ คือ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา 
เรียกว่า เป็นคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็ได้ โอวาท ๓ นี้ 
เป็นพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป 
ที่มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญ เดือน ๓ 
(วันมาฆบูชา) 
ข้อปฏิบัติ ๓ ประการของโอวาท ๓ (โอวาทปาติโมกข์) ได้แก่
๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง (สพฺพปาปสฺส อกรณํ)
๒. ทำแต่ความดี (กุสลสฺสูปสมฺปทา)
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส (สจิตฺตปริโยทปนํ)

๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากทุจริต ได้แก่ การประพฤติชั่วด้วยกาย 
วาจา และใจ ความชั่วหรือสิ่งไม่ดีไม่งามมีอยู่ ๑๐ ประการ (อกุศลกรรมบถ) คือ
๑. การทำลายชีวิต หรือทำร้าย เบียดเบียน สิ่งมีชีวิต
๒. การลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. การประพฤติผิดในกาม
๔. การพูดเท็จ หลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อ เลี่ยงความจริง
๕. การพูดคำหยาบ
๖. การพูดจาส่อเสียด พูดประชดประชัน เยาะเย้ย เสียดสี
๗. การพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ไร้สาระไม่มีประโยชน์ ขาดเหตุผล
๘. การละโมบคอยจ้องอยากได้ของผู้อื่น
๙.การคิดร้ายต่อผู้อื่น ผูกพยาบาท จองเวร
๑๐. การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว ผิดถูก
๒. ทำแต่ความดี คือ ประกอบสุจริต ได้แก่ การประพฤติดี ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา 
และใจ มีอยู่ ๑๐ ประการ (กุศลกรรมบถ) คือ
๑. เว้นจากการทำลายชีวิต หรือทำร้ายเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต
๒. เว้นจากการลักทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
๔. เว้นจากการพูดเท็จ พูดแต่ความจริง
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด ประชดประชัน
๖. เว้นจากการพูดหยาบ พูดแต่คำสุภาพไพเราะ
๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดแต่เรื่องที่มีสาระ มีประโยชน์มีเหตุผล
๘. ไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่น คิดแต่ความเสียสละ
๙. ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
๑๐. มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว บาปบุญ 
คุณโทษ ผิดถูก เท็จจริง
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส คือ 
การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากกิเลสหรือสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง 
ซึ่งมีอยู่มากมาย ตัวอย่างสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เช่น นิวรณ์ ๕ ประการ คือ
๑. กามัจฉันทะ คือ ความพอใจในกามคุณ มัวเมาในกามารมณ์
๒. พยาปาทะ คือ ความคิดปองร้ายเพราะผูกใจเจ็บ อาฆาตมาดร้ายและจองเวร
๓. ถีนะมิทธะ คือ ความหดหู่ใจท้อแท้ใจ ซึมเซา และเชื่องซึม
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยลังเลใจ ตกลงใจไม่ได้ว่าสิ่งใดผิด ถูก ดี ชั่ว
หลักคำสอนของทุกศาสนาจะมุ่งเน้นให้ศาสนิกชนทุกคน ไม่ทำความชั่วทั้งปวง และทำแต่ความดี 
แต่พระพุทธศาสนามีลักษณะพิเศษมุ่งสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนฝึกทำจิตใจให้ผ่องใสปราศจากเครื่องเศร้าหมองด้วย


กฎแห่งกรรม

กฎแห่งกรรม หมายถึง การประกอบเหตุเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั่นเอง การเข้าใจและปฏิบัติตามกฎแห่งกรรม จะทำให้สามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ 
โดยทั่วไปแล้ว ปุถุชนทุกคนต้องการความดีและความสุข ไม่มีใครต้องการความชั่วและความทุกข์ 
แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากต้องประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วจะเห็นว่าความทุกข์ความเดือดร้อนเหล่านั้น เป็นผลของการประกอบเหตุไม่ดี

ปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นกฎของธรรมชาติ เป็นกระบวนการเกิดและดับของทุกข์ 
ซึ่งมีองค์ประกอบที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันคล้องจองกันเป็นวงกลม ไม่ต้นไม่มีปลาย องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท ได้แก่
(๑) อวิชชา ความไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ 
ภาวะขาดปัญญาไม่เข้าใจเหตุผล
(๒) สังขาร ความคิดปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งความคิด หรือปรุงแต่งกรรม 
ให้เป็นไปตามนิสัย ความเชื่อถือ เจตคติ และความเคยชินที่สั่งสมไว้ของตน
(๓) วิญญาณ ความรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส 
รู้สัมผัส เป็นต้น
(๔) นามรูป ความมีอยู่ในรูปธรรมและนามธรรม ในความรับรู้ของบุคคล
(๕) สฬายตนะ ภาวะที่อายตนะ คือ 
เครื่องรับรู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
(๖) ผัสสะ การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก 
หรือการรับรู้อารมณ์ต่างๆ
(๗) เวทนา ความรู้สึกต่างๆ เช่น สุขสบาย ถูกใจ ทุกข์ ไม่สบาย เฉยๆ 
เป็นต้น
(๘) ตัณหา ความทะยานอยากในสิ่งที่อำนวยสุขเวทนา และความดิ้นรนหลีกหนีในสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา
(๙) อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน
(๑๐) ภพ พฤติกรรมที่แสดงออก เพื่อสนองอุปาทานนั้นๆ 
เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่น
(๑๑) ชาติ ความเกิด ความตระหนักในตัวตน ตระหนักในพฤติกรรมของตน
(๑๒) ชรามรณะ ความสำนึกในความพลัดพรากจากภาวะชีวิต จากการได้ การมี 
ทำให้เกิดความโศกเศร้า(โสกะ) ความคร่ำครวญ(ปริเทวะ) ความไม่สบายกาย(ทุกข์) 
ความไม่สบายใจ(โทมนัส) และความคับแค้นใจเจ็บใจ(อุปายาส)
ปฏิจจสมุปบาท 
เป็นการแสดงความเกิดและดับทุกข์โดยละเอียดที่องค์ประกอบทั้ง ๑๒ 
องค์ประกอบนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน 
โยงใยเป็นวงเวียนไม่มีต้นไม่มีปลายไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ
อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร 
เพราะไม่รู้จริงจึงคิดสรุปเอาเองตามความเชื่อของตน
สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ 
เมื่อสรุปตามความเชื่อของตนก็ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส ตามที่ตนปรุงแต่งความคิดไว้
วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้รู้รส 
ได้สัมผัส ก็รับรู้อารมณ์นั้นๆ เป็นรูปธรรมนามธรรม
นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ 
เมื่อเกิดการรับรู้ก็ต้องอาศัยเครื่องรับรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ 
เมื่อมีเครื่องรับรู้ก็เกิดการรับรู้อารมณ์นั้นๆ ได้
ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา เมื่อรับรู้อารมณ์นั้นๆ ได้ 
ก็เกิดความรู้สึกต่างๆ ตามอารมณ์นั้น
เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา 
เมื่อเกิดอารมณ์ก็เกิดความอยากได้หรืออยากหลีกหนี
ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน 
เมื่อเกิดความอยากก็ยึดมั่นในสิ่งที่อยากไว้กับตน
อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ 
เมื่อเกิดความยคดมั่นก็เกิดพฤติกรรมที่สนองในความยึดมั่นและความอยากนั้น
ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ 
เมื่อแสดงออกทางพฤติกรรมแล้วก็ตระหนักว่าเป็นของตน
ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรามรณะ 
เมื่อตระหนักในความเป็นตนเองก็สำนึกในความพลัดพราก 
ก็เกิดความโศกเศร้าคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจและคับแค้นใจ
ชรามรณะ เป็นปัจจัยให้เกิด อวิชชา 
ความโศกเศร้าคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจและคับแค้นใจเป็นเหตุให้ไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจตามความเป็นจริง
จะเห็นว่าความทุกข์ทั้งมวลมีอวิชชาเป็นเหตุ 
ถ้าจะดับทุกข์ต้องดับตั้งแต่อวิชชาลงมา จึงจะทำลายวงเวียนแห่งทุกข์ได้ 

 


       ผู้จัดทำและดูแลเว็บไซต์    nirote_kh@ hotmail.com 

Hosted by www.Geocities.ws

1