การวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

ทักษะพิสัยคือ ความสามารถในการปฏิบัติงาน โดยงานนั้นจะเกี่ยวข้องกับความสามารถทางสมองหรือไม่ก็ได้ แต่จุดสำคัญคือ ผู้เรียนจะต้องมีการปฏิบัติงานแล้วมีผลงานแสดงออกมาให้เห็น การวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัยจึงเป็นการวัดกระบวนการ หรือผลงาน หรือทั้งกระบวนการและผลงาน

 

1. ประเภทของการวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

การวัดด้านทักษะพิสัยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

 

1.1 การเขียนตอบ (paper and pencil) การวัดด้านการปฏิบัติอาจจะเริ่มด้วยการทดสอบทางด้านความรู้ความคิด โดยคำถามส่วนใหญ่เป็นการถามความรู้ที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ที่ผ่านมา

 

1.2 การให้ระบุหรือจำแนก (identification) เป็นการทดสอบที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มุ่งวัดทักษะในการจำแนก เช่น ให้จำแนกเครื่องมือและวิธีการใช้ในการทดลอง ให้จำแนกสารเคมีต่าง ๆ หาจุดที่ไฟฟ้าช็อตในวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

 

1.3 การใช้สถานการณ์จำลอง (simulated situation) วิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่เสมือนจริง เช่น การหัดขับรถยนต์ หรือเครื่องบินในสถานการณ์จำลองเพื่อป้องกันไม่ให้ ผู้เรียนได้รับอันตราย เป็นต้น

 

1.4 ตัวอย่างสถานการณ์จริง (work sample) เป็นการให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง

โดยทั่วไปวิธีที่กล่าวข้างต้นเป็นแบบที่มีความเที่ยงตรง และความเชื่อมั่นสูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่การเลือกใช้รูปแบบของการวัดผลงานภาคปฏิบัติที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่สอบวัดเป็นหลัก

 

2. ขั้นตอนการวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

การวัดด้านทักษะพิสัยหรือการปฏิบัติ ควรมีขั้นตอนดังนี้

 

2.1 กำหนดงานที่ให้ปฏิบัติ ซึ่งงานที่ให้ปฏิบัติต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เหมาะสมกับเวลา สภาพแวดล้อมและเป็นงานที่ผู้เรียนต้องใช้ความรู้ ความสามารถ

2.2 กำหนดขอบข่ายการปฏิบัติและวิธีการทดสอบ

2.2.1 ใบงาน เป็นการระบุรายละเอียดของงานที่ต้องการให้ปฏิบัติ

2.2.2 รายการวัสดุ อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่กำหนดให้ใช้ รวมทั้งข้อควรระวังต่าง ๆ

2.2.3 วิธีดำเนินการสอบ ได้แก่เงื่อนไขการใช้เครื่องมือ ระดับการปฏิบัติที่ต้องการกำหนดเวลาในการปฏิบัติ วิธีดำเนินการสอบจะต้องเขียนให้ชัดเจน บางครั้งอาจจะต้องแสดงตัวอย่างประกอบ

2.3 กำหนดองค์ประกอบของคะแนน และเกณฑ์การตรวจให้คะแนน เป็นการกำหนดว่าจะให้คะแนนด้านใดบ้างแต่ละด้านกำหนดน้ำหนักความสำคัญอย่างไร

2.4 สร้างแบบประเมิน แบบประเมินนี้จะนำไปใช้ประกอบการสังเกตความสามารถในการปฏิบัติของผู้เรียน ดังนั้นรายการประเมินจะต้องมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน

 

3. คุณลักษณะที่ใช้วัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

3.1 คุณลักษณะที่ใช้วัดกระบวนการ โดยทั่วไปแบ่งเป็นลักษณะย่อย ๆ ได้ดังนี้

3.1.1 คุณภาพขณะปฏิบัติงาน ซึ่งวัดจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน ความคล่องแคล่วว่องไวในการปฏิบัติ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ

3.1.2 เวลา วัดจากเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานน้อย

3.1.3 ทักษะการปรับปรุงงาน วัดจากการลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นลง

3.1.4 ความปลอดภัยในการทำงาน วัดจากความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะทำงาน

3.1.5 ความสิ้นเปลืองทรัพยากร วัดจากจำนวนวัสดุที่ใช้เกิน

 

3.2 คุณลักษณะที่ใช้วัดผลงาน โดยทั่วไปสามารถแยกเป็นลักษณะย่อย ได้ดังนี้

3.2.1 คุณภาพของผลงาน วัดจากคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐาน จุดดี จุดเด่นของผลงาน ความเหมาะสมในการนำเอาไปใช้ และลักษณะภายนอกที่ปรากฏ

3.2.2 ปริมาณงาน วัดจากปริมาณของผลผลิตที่ทำได้ภายในเวลาที่กำหนด

3.2.3 ทักษะการปรับปรุงงาน วัดจากพัฒนาการของผลงานในเชิงคุณภาพ และปริมาณ

3.2.4 ความปลอดภัยของผลงาน วัดจากระดับความปลอดภัยของผลผลิตเมื่อนำไปใช้

3.2.5 ความสิ้นเปลือง วัดจากจำนวนชิ้นงานที่ทำแล้วใช้ไม่ได้ หรือยอมรับไม่ได้

4. เครื่องมือที่ใช้ในการวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย

        เครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัยมีหลายชนิด ซึ่งได้แก่

1. แบบทดสอบ

2. มาตราส่วนประมาณค่า

3. แบบตรวจสอบรายการ

4. แบบสังเกต

ซึ่งรายละเอียดของเครื่องมือแต่ละชนิดศึกษาได้จากเครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย และเครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัย

            Back                 Next

Hosted by www.Geocities.ws

1