3. การสัมภาษณ์ (interview)

การสัมภาษณ์ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม หรือการโต้ตอบทางวาจาเป็นหลัก โดยเรียกผู้สอบถามหรือเก็บข้อมูลว่าผู้สัมภาษณ์ และเรียกฝ่ายตอบหรือฝ่ายให้ข้อมูลว่าผู้ให้สัมภาษณ์ การสัมภาษณ์นี้ใช้ได้ดีสำหรับเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ ความรู้สึก ความสนใจ ความ คิดเห็นหรือทัศนคติเรื่องต่าง ๆ

 

รูปแบบของการสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างแน่นอน (structured interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ได้กำหนดตัวคำถามและคำตอบไว้เรียบร้อยแล้ว โดยตัวคำตอบจะเป็นแบบให้เลือกตอบ เช่น ใช่-ไม่ใช่ จริง-ไม่จริง ดี-ไม่ดี เป็นต้น

 

ตัวอย่าง แบบสัมภาษณ์ที่กำหนดคำถาม และคำตอบให้

 

คำชี้แจง ให้ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามแต่ละข้อแล้ววงกลมรอบตัวเลือกที่นักเรียนตอบ

 

1. นักเรียนอายุกี่ปี

ก. 12 ปี ข. 13 ปี

ค. 14 ปี ง. 15 ปีขึ้นไป

2.นักเรียนมีพี่น้องทั้งหมดกี่คน

ก. 2 คน ข. 3 คน

ค. 4 คน ง. 5 คนขึ้นไป

3. ปัจจุบันนักเรียนอาศัยอยู่กับใคร

ก. พ่อและแม่ ข. พ่อหรือแม่

ค. ญาติ ง. อยู่คนเดียว

4. นักเรียนมาโรงเรียนอย่างไร

ก. เดิน ข. ขี่จักรยาน

ค. ขับมอเตอร์ไซด์ ง. รถประจำทาง

 

 

ตัวอย่าง แบบสัมภาษณ์ที่กำหนดคำถาม และคำตอบให้

 

คำชี้แจง ให้ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามแต่ละข้อ แล้วทำเครื่องหมาย / ลงในช่องที่นักเรียนตอบคำถาม

 

1. กีฬาที่นักเรียนชอบมากที่สุดคือฟุตบอล ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่

2. นักเรียนออกกำลังกายทุกวัน ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่

3. นักเรียนเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่

4. ................................................. ( ) ใช่ ( ) ไม่ใช่

  1.  

 

2. การสัมภาษณ์แบบที่ไม่มีโครงสร้างแน่นอน (unstructured interview)เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการกำหนดคำตอบไว้แน่นอนตายตัว โดยผู้ตอบ (ผู้ถูกสัมภาษณ์) จะตอบคำถามโดยอิสระ การสัมภาษณ์วิธีนี้ผู้สัมภาษณ์มีหน้าที่รับฟังและคอยเข้าสู่ประเด็นที่ต้องการ ดังนั้น ผู้สัมภาษณ์จะต้องเป็นผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ

 

ตัวอย่าง แบบสัมภาษณ์ที่กำหนดคำถามมาให้ แต่ไม่ได้กำหนดคำตอบมาให้

 

คำชี้แจง ให้ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามแต่ละข้อ แล้วเขียนคำตอบที่นักเรียนตอบลงในช่องว่างที่กำหนดให้

 

1. นักเรียนชอบเรียนวิชาใดมากที่สุด ...........……….................................................….............

เพราะเหตุใด ....................................….....................…………..................................

2. นักเรียนไม่ชอบเรียนวิชาใดมากที่สุด ........................................................………................

เพราะเหตุใด ....………………………................................…...................................

3. งานอดิเรกของนักเรียนคืออะไร .......………………………..…...........................................

4. ...............................................................….......................………………..............................

 

ตัวอย่าง แบบสัมภาษณ์ที่ไม่ได้กำหนดคำถามและคำตอบมาให้ แต่จะกำหนดประเด็น ที่ต้องการทราบมาให้

 

คำชี้แจง ให้ผู้สัมภาษณ์ถามข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนในหัวข้อต่อไปนี้

 

1. วิชาที่นักเรียนชอบเรียนมากที่สุด พร้อมทั้งเหตุผล

2. วิชาที่นักเรียนไม่ชอบเรียนมากที่สุด พร้อมทั้งเหตุผล

3. งานอดิเรก

4. ..................................................................................

 

วิธีการสัมภาษณ์ ควรดำเนินการดังนี้ (ประสิทธิ์ บัวคลี่. 2526 : 299-300)

1. ควรศึกษาจุดมุ่งหมายของการสัมภาษณ์ให้เข้าใจว่าต้องการเก็บข้อมูลในเรื่องใด

2. ศึกษาสภาพแวดล้อม ทำความคุ้นเคยกับผู้ที่จะไปสัมภาษณ์

3. กำหนดวิธีการสัมภาษณ์ นัดแนะเวลา สถานที่ให้เรียบร้อย

4. ฝึกซ้อมคำถาม เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์

5. ดำเนินการสัมภาษณ์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

 

5.1 ขั้นเริ่มต้นการสัมภาษณ์ ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้

5.1.1 ผู้สัมภาษณ์แนะนำตัวเอง

5.1.2 บอกจุดมุ่งหมายของการสัมภาษณ์ โดยเน้นให้เข้าใจว่าผลของการสัมภาษณ์จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

5.1.3 อธิบายให้เข้าใจว่าคำตอบของแต่ละคนเป็นความลับ บุคคลภายนอกไม่ทราบ และเมื่อรายงานผลจะรายงานเป็นส่วนรวม ไม่มีผลเสียแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์แต่อย่างใด

5.2 ขั้นสัมภาษณ์ มีแนวปฏิบัติดังนี้

5.2.1 ผู้สัมภาษณ์จะต้องให้ผู้ตอบมีความรู้สึกว่าเขามีสิทธิ์ ตอบตามความคิดเห็นของเขา ไม่ใช่ถูกเคี่ยวเข็ญให้ตอบ ฉะนั้น คำตอบไม่ว่าจะเป็นที่พอใจหรือไม่ผู้สัมภาษณ์จะต้องบันทึกตามความเป็นจริง

5.2.2 ผู้สัมภาษณ์จะต้องระวังการแสดงความคิดเห็นใด ๆ อันจะเป็นการชี้ช่องทางให้ผู้ตอบล่วงรู้ และไม่ใช้คำถามนำ

5.2.3 ลักษณะสีหน้า ท่าทางของผู้สัมภาษณ์ ควรเป็นไปอย่างธรรมชาติ ถ้าสัมภาษณ์คนในท้องถิ่น ก็ควรใช้ภาษาถิ่นในการสัมภาษณ์

5.2.4 ลักษณะของคำถามในการสัมภาษณ์ จะต้องเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจง ใช้ภาษาที่ง่าย ๆ ไม่กำกวม และเป็นการถามคำถามที่ผู้ตอบอยากตอบ

5.2.5 ถ้าการสัมภาษณ์ต้องใช้เวลานาน อาจจะหยุดพักระหว่างการสัมภาษณ์ โดยการสนทนาเรื่องเบา ๆ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด

5.3 ขั้นปิดการสัมภาษณ์ มีวิธีการดังนี้

5.3.1 ผู้สัมภาษณ์ตรวจดูคำถามว่าถามครบทุกข้อหรือไม่

5.3.2ย้ำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีความภูมิใจและสบายใจว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้รับความสำเร็จด้วยดีเนื่องมาจากความร่วมมือของเขา พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณก่อนที่จะลากลับ  

 

การบันทึกคำตอบในการสัมภาษณ์ มี 3 วิธีดังนี้

1. ใช้เทป

2. จดบันทึกขณะทำการสัมภาษณ์ นั่นคือสัมภาษณ์ไปจดไป

3. บันทึกหลังสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ซึ่งควรบันทึกทันทีเพื่อกันลืม

 

คุณลักษณะของผู้สัมภาษณ์ที่ดี ควรมีดังนี้ (บุญชม ศรีสะอาด. 2535 : 77)

1. มีบุคลิกภาพที่ดี มีกริยาสุภาพ เรียบร้อยแจ่มใส ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศสัมภาษณ์เป็นไปด้วยดี ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อยากให้ความร่วมมือ

2. มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างคล่องแคล่ว

3. มีไหวพริบดี มีความรวดเร็วในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เป็นคนช่างสังเกต จะช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้สัมภาษณ์ และสภาพแวดล้อมซึ่งจะช่วยในการติดสินใจ

5. มีความซื่อสัตย์ ไม่ทำบิดเบือน แปลความ ตีความหรือสรุปขัดแย้งไปจากความเป็นจริงที่ตนได้รับ

6. มีความรับผิดชอบในการสัมภาษณ์ มีความตั้งใจให้ได้ข้อมูลถูกต้องเที่ยงตรง

7. มีความอดทนในการสัมภาษณ์บุคคลอื่น เพราะบางครั้งต้องเดินทางไกลไปสัมภาษณ์

 

ข้อดีและข้อจำกัดในการสัมภาษณ์

ข้อดีของการสัมภาษณ์

1. สามารถเก็บข้อมูลได้จากทุกคนที่พูดได้ ช่วยแก้ปัญหาการอ่าน-เขียนได้

2. สามารถปรับคำถามให้ชัดเจนได้ กรณีที่ผู้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจคำถาม

3. ได้ข้อมูลจากบุคคลที่ต้องการจริง

 

ข้อจำกัดของการสัมภาษณ์

1. การเก็บข้อมูลบางครั้งต้องเดินทางไกล ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

2. ในบางครั้งได้ข้อมูลที่ไม่จริงเนื่องจากผู้ตอบเกิดความกลัว-อายในการตอบคำถาม

3. ข้อมูลที่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สัมภาษณ์ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน

4. เสียเวลาในการฝึกอบรมผู้สัมภาษณ์เพื่อ ให้เกิดความรู้ความชำนาญ ในกรณีที่ต้องใช้ผู้สัมภาษณ์เป็นจำนวนมาก

                   

4. แบบตรวจสอบรายการ (check list)

แบบตรวจสอบรายการเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลชนิดหนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยข้อรายการ หรือเรื่องราวต่างๆที่จะให้ผู้ตอบตอบในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในสองอย่างตามที่กำหนดให้ เช่น มี-ไม่มี ใช่-ไม่ใช่ ชอบ-ไม่ชอบ เป็นต้น แบบตรวจสอบรายการเป็นการมุ่งตรวจสอบว่ามีการกระทำ หรือมีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามที่กำหนดในรายการหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพ หรือจำนวนครั้งของการกระทำที่เกิดขึ้น

 

ตัวอย่าง แบบตรวจสอบรายการเรื่องการตอนกิ่ง

 

ข้อความ

มี

ไม่มี

1. การเตรียมกิ่งพันธุ์    
2. การเตรียมกาบมะพร้าว    
3. ...................................................    

 

                Back                 Next

Hosted by www.Geocities.ws

1