ลักษณะของเครื่องมือวัดพฤติกรรมที่ดี

เครื่องมือวัดพฤติกรรมที่ดีมีลักษณะ ดังนี้

 

1. ความเที่ยงตรง (validity) หมายถึง คุณลักษณะของเครื่องมือวัดที่สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการวัดได้ถูกต้อง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.1 ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (content validity) หมายถึง ข้อสอบที่มีคำถาม
สอดคล้องกับเนื้อหาในหลักสูตร เช่น สอนเรื่องน้ำ ก็ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับน้ำ และครอบคลุม
เนื้อหาเรื่องน้ำทั้งหมด

1.2 ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง (construct validity) หมายถึง คุณลักษณะของเครื่องมือวัดที่สามารถวัดคุณลักษณะ หรือพฤติกรรมที่ต้องการวัดได้อย่างถูกต้อง เช่น ต้องการวัดเจตคติ ลักษณะของคำถามควรเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเจตคติ

1.3 ความเที่ยงตรงตามสภาพ (concurrent validity) หมายถึง คุณลักษณะเครื่องมือวัดที่วัดได้ตรงกับสภาพความเป็นจริงของเด็กในขณะนั้น กล่าวคือถ้าเด็กทำข้อสอบเรื่องใดได้ดีแล้วเด็กคนนั้นสามารถปฏิบัติได้จริง ๆ ด้วย เช่น เด็กสอบวิชาพลานามัยได้คะแนนดี ดังนั้นในชีวิตประจำวันเขาควรมีพลานามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง และออกกำลังอยู่เสมอ เป็นต้น

1.4 ความเที่ยงตรงเชิงพยากรณ์ (predictive validity) หมายถึง ลักษณะข้อสอบที่สามารถวัดแล้วทำนายได้ว่าเด็กคนใดจะเรียนวิชาใดได้ดีเพียงใดในอนาคต

 

2. ความเชื่อมั่น (reliability) หมายถึง คุณลักษณะของเครื่องมือวัดที่สามารถวัดได้แน่นอน
คงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การวัดครั้งแรกเป็นอย่างไร เมื่อวัดซ้ำอีกหรือหลายๆ ครั้งโดยสิ่งที่วัดคงที่ผลการวัดก็ยังคงเดิม เช่น ถ้านำเครื่องมือวัดฉบับหนึ่งไปทดสอบกับเด็กกลุ่มหนึ่ง แล้วบันทึกคะแนนไว้ เมื่อนำเครื่องมือวัดฉบับเดิมไปทดสอบกับเด็กกลุ่มเดิม (สมมติว่าเด็กจำข้อสอบไม่ได้) คะแนนที่ทำได้ก็จะคงเดิม คือครั้งแรกสอบได้คะแนนมากครั้งที่สองก็ยังคงได้คะแนนมากอยู่เหมือนเดิม เป็นต้น

 

3. อำนาจจำแนก (discrimination) คือความสามารถของข้อสอบในการจำแนกผู้สอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มสูง-กลุ่มต่ำ หรือ กลุ่มเก่ง-กลุ่มอ่อนได้

 

4. ความเป็นปรนัย (objectivity) หมายถึง ข้อสอบที่มีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7)

4.1 คำถามชัดเจน ผู้เข้าสอบเข้าใจได้ตรงกัน

4.2 การตรวจให้คะแนนได้ตรงกันไม่ว่าใครจะตรวจก็ตาม

                    4.3 มีความแจ่มชัดในการแปลความหมายของคะแนน กล่าวคือ แปลคะแนนที่ได้เป็นอย่างเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ

ข้อสอบข้อใดก็ตามที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการเราเรียกข้อสอบนั้นว่าเป็นปรนัยทั้งสิ้น

 

5. ความยาก (difficulty) หมายถึง สัดส่วนที่ผู้ตอบข้อสอบข้อนั้นถูกกับจำนวนคนที่เข้าสอบทั้งหมด ความยากของข้อสอบขึ้นอยู่กับทฤษฎีการวัด ถ้าตามทฤษฎีการวัดผลแบบอิงกลุ่ม ข้อสอบที่ดีคือข้อสอบที่ไม่ยากเกินไปหรือไม่ง่ายเกินไป เพราะข้อสอบดังกล่าวจะสามารถจำแนกได้ว่าใครเก่งใครอ่อน ส่วนทฤษฎีการวัดผลแบบอิงเกณฑ์มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่กำหนดไว้ ดังนั้น ถ้าผู้สอบทำข้อสอบได้หมด แสดงว่าเขาบรรลุจุดประสงค์ตามต้องการ และจะถือว่าเป็นข้อสอบที่ไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตามแนวคิดนี้เรื่องความยากง่ายของข้อสอบจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ข้อสอบนั้นจะวัดจุดประสงค์ที่ต้องการวัดได้จริงหรือไม่

 

6. ความมีประสิทธิภาพ (efficiency) หมายถึง ลักษณะข้อสอบที่มีคุณสมบัติที่แสดงถึงการประหยัดเศรษฐกิจ (economic) เช่น ลงทุนน้อย มีราคาถูก ง่ายต่อการดำเนินการสอบ พิมพ์ชัดเจน อ่านง่าย มีเนื้อหามากแต่ใช้เวลาสอบน้อย เป็นต้น

 

7. การวัดอย่างลึกซึ้ง(searching) หมายถึง ลักษณะข้อสอบที่ถามครอบคลุมพฤติกรรมหลาย ๆ ด้าน เช่น มีคำถามวัดความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และการประเมินค่า เป็นต้น ไม่ใช่ว่าวัดแต่พฤติกรรมตื้นๆ คือด้านความรู้ความจำเพียงอย่างเดียว

 

8. ความยุติธรรม (fair) หมายถึง การดำเนินการสอบจะต้องไม่เปิดโอกาสให้เด็กคนใดคนหนึ่งได้เปรียบคนอื่น ๆ นอกจากได้เปรียบเรื่องความรู้เท่านั้นและข้อสอบควรจะถามมาก ๆ เพื่อให้ครบถ้วนตามหลักสูตร

 

9. ความเฉพาะเจาะจง (definite) หมายถึงข้อสอบที่มีแนวทางหรือทิศทางการถาม การตอบอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่แฝงกลเม็ดให้เด็กงง ในแต่ละข้อควรถามประเด็นเดียว ไม่ถามหลายแง่หลายมุม เพราะจะทำให้เด็กไม่เข้าใจคำถาม

 

10. การกระตุ้นยุแหย่ (exemplary) หมายถึง เครื่องมือวัดที่นักเรียนทำด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีการถามล่อ โดยจัดเอาข้อสอบง่าย ๆ ไว้ในตอนแรก ๆ แล้วจึงค่อยถามให้ยากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ลักษณะคำถามควรมีรูปภาพประกอบจะช่วยให้ข้อสอบมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เครื่องมือวัดใดมีลักษณะครบทั้ง 10 ประการดังกล่าว ถือว่าเป็นเครื่องมือวัดที่ดีเยี่ยม แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วเครื่องมือวัดที่มีคุณสมบัติเพียง 5 ประการก็ถือว่าเป็นเครื่องมือวัดที่มีคุณภาพแล้ว คุณสมบัตินั้นได้แก่ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น อำนาจจำแนก ความยากและความมีประสิทธิภาพ

บทสรุป

1. พฤติกรรมด้านจิตพิสัยไม่สามารถวัดได้โดยตรง เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรูสึกของบุคคล ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดังนั้นการวัดพฤติกรรมทางด้านนี้จะต้องอาศัยเครื่องมือหลายชนิดร่วมกัน เครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัยมีหลายชนิด เช่น มาตราส่วนประมาณค่า การสังเกต การสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ เป็นต้น โดยเครื่องมือแต่ละชนิดจะใช้วัดผลในรูปแบบและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การนำเครื่องมือไปใช้จึงควรคำนึงถึงข้อดีและข้อจำกัดของเครื่องมือแต่ละชนิดด้วย

2. มาตราส่วนประมาณค่าเป็นเครื่องมือวัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัยชนิดหนึ่งที่บอกความเข้มของพฤติกรรม มีหลายประเภท เช่น มาตราส่วนประมาณค่าแบบตัวเลข แบบรรยาย และแบบกราฟ เครื่องมือชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นชุดของคำถามเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องการศึกษา มาตราส่วนประมาณค่า

นี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้จำนวนมาก โดยใช้ผู้เก็บเพียงเล็กน้อย เช่น การส่งทางไปรษณีย์ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มักจะได้รับข้อมูลคืนมาน้อย

3. การสังเกต เป็นการทำความเข้าใจบุคคลโดยการใช้ประสาทสัมผัสของผู้สังเกตเป็นสำคัญ ดังนั้นข้อมูลที่ได้จะเที่ยงตรงหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ที่ทำการสังเกต

4. การสัมภาษณ์ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม ซึ่งผู้สัมภาษณ์ที่ดีจะต้องมีบุคลิกภาพดี มีมนุษยสัมพันธ์ มีไหวพริบในการแก้ปัญหา ช่างสังเกต และมีความอดทน

5. แบบตรวจสอบรายการ เป็นการมุ่งตรวจสอบว่ามีการกระทำหรือมีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามที่กำหนดในรายการหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณภาพ หรือปริมาณของการกระทำ

6. การวัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย หรือการวัดด้านการปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ การทดสอบข้อเขียน การให้ระบุหรือจำแนก การใช้สถานการณ์จำลอง และตัวอย่างสถานการณ์จริง โดยเครื่องมือที่ใช้วัด ได้แก่ แบบทดสอบ มาตราส่วนประมาณค่า แบบตรวจสอบรายการ และแบบสังเกต

 

 

บรรณานุกรมประจำบทที่ 4

กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. การศึกษาบุคคลเป็นรายกรณี (Case Study). ภาควิชาการแนะแนว

และจิตวิทยาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ประสานมิตร, 2527.

บุญชม ศรีสะอาด. การวิจัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2535.

บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์. การวัดและประเมินผลการศึกษา : ทฤษฎีและการประยุกต์.

กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2526.

ประสิทธิ์ บัวคลี่. การประเมินทางการศึกษา. สุราษฏ์ธานี : วิทยาลัยครูสุราษฏ์ธานี, 2526.

ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. หลักการสร้างแบบทดสอบความถนัดทางการเรียน.

กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช, 2527.

วิราพร พงศ์อาจารย์. การประเมินผลการเรียน. พิษณุโลก : สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม พิษณุโลก,

2542.

สมบูรณ์ ตันยะ. การประเมินทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏ

นครราชสีมา, 2538.

Ebel, Robert L.. Essentials of Education Measurement. 3rd ed. Englewool Cliffs, N.J.

Prentice-Hall, 1979.

Norman E. Gronlund. Measurement and Evaluation in Teaching. 5th ed. NewYork :

Macmillan, 1985.

Wiersman, William. Educational Measurement and Testing. 2nd ed. Boston : Allen

and Bacon, 1990.

                               แบบทดสอบ

            Back                 Home

Hosted by www.Geocities.ws

1