จุดมุ่งหมายของหลักสูตร

 

จุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือจุดมุ่งหมายของการศึกษา หมายถึงความมุ่งหวังเป้าหมาย หรืออุดมการณ์ที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นแก่ตัวผู้เรียนหลังจากการใช้หลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ จุดมุ่งหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. จุดมุ่งหมายทั่วไป (general objective) เป็นจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแต่ละระดับ จุดมุ่งหมายนี้จะกว้างและครอบคลุมคุณลักษณะที่ต้องการไว้ทั้งหมด การที่จะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายชนิดนี้ได้ต้องอาศัยระยะเวลานานในการสร้างสมจากสิ่งที่เรียนทีละเล็กละน้อย เช่น จุดมุ่งหมายของหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) พ.ศ. 2533 มี 8 ข้อดังนี้ (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2534 ข : 1)

1. การมีทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ คงสภาพอ่านออกเขียนได้ และคำนวณได้

2. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ธรรมชาติแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสังคม

-------------------------ฯลฯ--------------------------

 

2. จุดมุ่งหมายเฉพาะ (specific) หรือกลุ่มประสบการณ์ เป็นจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้เฉพาะวิชา หรือกลุ่มประสบการณ์ เป็นความคาดหวังหรือความต้องการของแต่ละวิชา หรือกลุ่มประสบการณ์ เกี่ยวกับลักษณะของผู้เรียนว่าเมื่อเรียนจบแต่ละวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์แล้วมุ่งให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางใด เช่น จุดมุ่งหมายของกลุ่มประสบการณ์สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต มี 8 ข้อ ดังนี้ (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2534 ข : 25)

1. มีความเข้าใจพื้นฐานและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง ในด้านสุขภาพอนามัยทางร่างกายและจิตใจ ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม

2. มีความรู้และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมและธรรมชาติ มีนิสัยใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ

---------------------------ฯลฯ----------------------------

 

3. จุดมุ่งหมายในการสอน (instructional objective) เป็นจุดมุ่งหมายของการสอนในแต่ละวิชา เป็นความคาดหวังหรือความต้องการของรายวิชาว่า ถ้าผู้เรียนเรียนจบในรายวิชานี้แล้ว ผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางใด ซึ่งจุดมุ่งหมายรายวิชาจะมีปรากฏอยู่ในคำอธิบายในหลักสูตรกลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ คำอธิบายที่ปรากฏในหลักสูตรกลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ จะประกอบ ด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2534 ข : 7) คือ

3.1 กิจกรรมทั่วไป เช่น การสังเกต การฝึกคิดคำนวณ การอภิปราย เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ตามที่หลักสูตรต้องการ

3.2 โครงสร้างเนื้อหาที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การป้องกันรักษาอวัยวะของร่างกาย การชั่ง การตวง เป็นต้น ซึ่งครูผู้สอนจะเลือกมาใช้ในการประกอบการเรียนการสอนตามกระบวนการต่างๆ ที่ต้องการเน้นเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

3.3 จุดประสงค์จะอยู่ตอนท้ายของคำอธิบายหลักสูตร หรือคำอธิบายรายวิชาซึ่งกำหนดเป็นจุดประสงค์ใหญ่ ๆ เพียง 1-2 จุดประสงค์

 

ตัวอย่างจุดประสงค์รายวิชา (ส่วนที่เป็นตัวหนา)

คำอธิบายกลุ่มทักษะภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 การพูด (กรมวิชาการ กระทรวง ศึกษาธิการ. 2534 ข : 1)

ฝึกออกเสียงคำ วลี ประโยคให้สัมพันธ์กับความหมายและเรื่องที่ฟัง

ฝึกเล่าเรื่อง นิทาน ข่าว และเหตุการณ์ต่าง ๆ ท่องบทร้อยกรอง รายงาน สนทนาและ อธิบายตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดให้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

ฝึกร้องเพลง แสดงบทบาทสมมติ เล่นเลียนแบบ แสดงละคร เล่นปริศนาคำทาย เล่นเกม และการเล่นของเด็กที่มีบทร้อยกรองในท้องถิ่น

อภิปราย ซักถามเกี่ยวกับความหมายของเรื่องราวที่พูด โดยการเน้นการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการพูด

 

เพื่อให้มีทักษะในการพูด สนทนา เล่าเรื่อง รายงาน อภิปราย พูดได้ชัดเจนถูกต้องและสื่อความหมายได้ มีมารยาทในการพูด และใช้ทักษะการพูดเพื่อความบันเทิงได้

 

       Back         Next

Hosted by www.Geocities.ws

1