บทที่ 2

พฤติกรรมทางการศึกษา

 


 

ความหมายของพฤติกรรมทางการศึกษา

พฤติกรรมทางการศึกษา หมายถึง พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้เรียนภายหลังจากผ่านกระบวนการทางการศึกษาไปแล้ว ซึ่งจะระบุไว้ในจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อให้ครูผู้สอนได้ตระหนักอยู่เสมอว่าจะสอนอะไร จะสอนไปทำไม สอนให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะออกมาในรูปใด ดังนั้น ในการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาครูจะต้องยึดพฤติกรรมทางการศึกษาเป็นหลัก

 

ประเภทของพฤติกรรมทางการศึกษา

ในปี พ.ศ.2499 บลูม และคณะ (Benjamin S.Bloom and Other. 1971) ได้ จำแนกพฤติกรรมทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1. พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (cognitive domain)

2. พฤติกรรมด้านจิตพิสัย (affective domain)

3. พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (psychomotor domain)

 

1. พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (cognitive domain) หมายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความสามารถของสมองในการคิดหรือพัฒนาการทางด้านสติปัญญา แยกย่อยออกเป็น 6 ขั้น ตามลำดับ ดังนี้

1.1 ความรู้ความจำ (knowledge)

                    1.2 ความเข้าใจ (comprehension)

1.3 การนำไปใช้ (application)

                    1.4 การวิเคราะห์ (analysis)

                    1.5 การสังเคราะห์ (synthesis)

                    1.6 การประเมินค่า (evaluation)

 

2. พฤติกรรมด้านจิตพิสัย (affective domain) หมายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดหรือลักษณะการสร้างนิสัยของบุคคล เช่น เจตคติ ความสนใจ ความซาบซึ้ง คุณธรรม การปรับตัว เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกและลักษณะนิสัยต่าง ๆ ของบุคคลจะเป็นเช่นไร ย่อมขึ้นอยู่กับการปลูกฝังอบรม การปลูกฝังพฤติกรรมทางจิตใจจะเริ่มต้นจากพฤติกรรมขั้นแรกสุด ไปหาพฤติกรรมขั้นสุดท้าย ซึ่งแครธโวลและคณะ (Krathwohl and Others) ได้จำแนกพฤติกรรมด้านจิตพิสัยออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้ (รวีวรรณ อังคนุรักษ์พันธ์. 2533 : 5-8)

                2.1 การรับรู้ (receiving) เป็นความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการที่จะรับรู้เรื่องราวเหตุการณ์นั้นจะต้องมีความตั้งใจ และเลือกที่จะรับรู้

                2.2 การตอบสนอง (responding) เป็นการตอบสนองเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกยินยอมที่ตอบสนอง ตั้งใจตอบสนอง และพอใจในการตอบสนอง

                2.3 การเห็นคุณค่า (valuing) เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกสำนึกในคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ด้วยความยอมรับในคุณค่า การชื่นชมในคุณค่า และการยึดมั่นในคุณค่า

                2.4 การจัดระบบ (organization) เป็นการสร้างความคิดรวบยอดของค่านิยม และการจัดเรียบเรียงคุณค่าที่สร้างขึ้นให้เป็นระบบ

                2.5 การสร้างลักษณะนิสัย (characterization by a value) เป็นการนำคุณค่าที่จัดระบบแล้วยึดถือให้เป็นลักษณะนิสัยประจำตัวของบุคคล

 

3. พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย (psychomotor domain) หมายถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับทักษะการเคลื่อนไหว การใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าบุคคลใดสามารถบังคับระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และสมองให้สัมพันธ์กันได้แล้ว ย่อมจะเกิดทักษะในการปฏิบัติต่างๆ การที่จะเกิดทักษะที่ชำนาญ หรือให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวและถูกต้องได้นั้น ย่อมต้องอาศัยการฝึกฝนจากการปฏิบัติจริงบ่อย ๆ เดฟ (Dave) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย โดยมีลำดับพฤติกรรม 5 ขั้น ดังนี้

3.1 การเลียนแบบ (imitation) เป็นการเลือกหาตัวแบบหรือตัวอย่างที่ดี

                    3.2 การทำตามแบบ(manipulation) เป็นการลงมือกระทำหรือปฏิบัติตามแบบที่สนใจ

                    3.3 การทำอย่างถูกต้อง (precision) เป็นการตัดสินใจเลือกการปฏิบัติตามแบบที่เห็นว่าถูกต้อง

                    3.4 การทำอย่างต่อเนื่องเป็นการกระทำหรือปฏิบัติสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องอย่างต่อเนื่องกัน

                    3.5 การทำอย่างเป็นธรรมชาติ หรืออัตโนมัติ (naturalization) เป็นการกระทำหรือปฏิบัติจนเกิดทักษะ สามารถปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว เป็นอัตโนมัติ และเป็นธรรมชาติ

        Back             Next

 

Hosted by www.Geocities.ws

1