จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (behavioral objective)

 

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม เป็นจุดประสงค์ที่ระบุพฤติกรรมของผู้เรียนไว้ล่วงหน้าอย่าง
ชัดเจน ก่อนที่จะจัดการเรียนการสอนว่าเมื่อผู้เรียนเรียนจบแล้ว จะให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปทิศทางใด จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมควรเป็นกิจกรรม หรือการกระทำที่ผู้เรียนแสดงออกมาแล้วสามารถสังเกตได้ เช่น เขียน อ่าน อธิบาย จำแนก ออกแบบ แก้ไข วิจารณ์ สาธิต เล่า บอก เป็นต้น จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ

 

1. พฤติกรรมที่คาดหวัง ( expected behavior) เป็นข้อความที่ระบุพฤติกรรมของผู้เรียนว่าหลังจากเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้เรียนจะสามารถปฏิบัติหรือกระทำสิ่งใดได้บ้าง เช่น แปลคำราชาศัพท์ แก้สมการสองตัวแปร จำแนกคำเป็นคำตาย เป็นต้น

 

2. เงื่อนไขหรือสถานการณ์ (situation) เป็นข้อความที่กำหนดสถานการณ์หรือ สิ่งเร้า ที่จะให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่คาดหวังออกมา เช่น

- เมื่อกำหนดคำราชาศัพท์มาให้

- เมื่อกำหนดสมการที่มีสองตัวแปรมาให้

- เมื่อกำหนดคำมาให้

 

3. เกณฑ์ (criteria) เป็นข้อความที่กำหนดระดับความสามารถขั้นต่ำ ที่ยอมรับว่าผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์นี้ เช่น

- แปลความหมายได้ถูกต้องอย่างน้อย 8 ใน 10 คำ

- แก้สมการได้ถูกต้อง 4 ใน 5 ข้อ

- จำแนกได้ถูกต้องทุกคำ

ความสามารถขั้นต่ำนี้ จะกำหนดไว้สูงต่ำเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอน โดยอาศัยองค์ประกอบต่างๆ พิจารณาควบคู่กันไป เช่น ระดับความสามารถของกลุ่ม สภาพพื้นฐานของผู้เรียน ความยากง่ายของเนื้อหา ความสำคัญของเนื้อหา เป็นต้น

 

 

ตัวอย่างจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน

1. เมื่อกำหนดคำราชาศัพท์มาให้ / นักเรียนสามารถแปลความหมายของคำราชาศัพท์ได้ / ถูกต้องอย่างน้อย 8 ใน 10 คำ

2. เมื่อกำหนดสมการที่มีสองตัวแปรมาให้ / นักเรียนสามารถแก้สมการได้ / ถูกต้อง 4 ใน 5 ข้อ

3. เมื่อกำหนดคำมาให้ / นักเรียนสามารถจำแนกคำเป็นคำตายได้ / ถูกต้องทุกคำ

4. เมื่อกำหนดรายชื่อจังหวัดมาให้ / นักเรียนสามารถบอกรายชื่อจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสานได้ / ถูกต้องทุกจังหวัด

ถึงแม้จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือพฤติกรรมที่คาดหวัง สถานการณ์หรือเงื่อนไข และเกณฑ์ แต่ถ้าหากมีส่วนประกอบเพียง 2 ส่วน คือพฤติกรรมที่คาดหวัง กับเกณฑ์ โดยไม่มีส่วนที่เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไข ก็ถือว่าเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ใช้ได้ เช่น

- แปลความหมายของคำราชาศัพท์ได้ / ถูกต้องอย่างน้อย 8 ใน 10 คำ

- แก้ไขประโยคที่ใช้คำสันธานผิดได้ / ถูกต้องอย่างน้อย 4 ใน 5 ประโยค

- บอกรายชื่อจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสานได้ / ถูกต้อทุกจังหวัด

 

ประโยชน์ของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีดังนี้

1. ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนรู้ว่าจะต้องสอนและเรียนเพื่อให้เกิดพฤติกรรมอะไรบ้าง และเมื่อเรียนไปแล้ว ผู้เรียนจะทราบว่าตนเองประสบผลสำเร็จในการเรียนหรือไม่

2. ช่วยให้ครูเตรียมสถานการณ์ และอุปกรณ์ประกอบการสอนได้อย่างตรงเป้าหมาย

3. ช่วยให้ครูผู้สอนมีหลักเกณฑ์ในการประเมินผลการสอนของตนเอง ว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

4. ช่วยให้ผู้เรียนรู้ทิศทางของการเรียนได้ดีกว่าการเรียนจากจุดประสงค์ธรรมดา ที่เขียนอย่างคลุมเครือ เมื่อรู้ทิศทางที่แน่นอนแล้วย่อมช่วยให้การเรียนประสบผลสำเร็จมากขึ้น ทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น

ข้อบกพร่องของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

ถึงแม้จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจะมีประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่มีนักการศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สนับสนุนการตั้งจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม โดยให้ข้อคิดถึงเหตุผลในการไม่สนับสนุน ดังนี้

1. การกำหนดเอาพฤติกรรมที่สังเกตได้ เป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของการสอนทำให้เกิดการเน้นพฤติกรรมหยุมหยิมซึ่งไม่ค่อยมีความสำคัญ ทำให้ผลของการศึกษาอื่น ๆ ที่ไม่อาจวัดหรือสังเกตออกมาเป็นพฤติกรรมได้แต่มีความสำคัญมากถูกละเลย เช่น ความคิด คุณธรรม ค่านิยม ความซาบซึ้ง เป็นต้น

2. ผลของการศึกษาไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเท่านั้น ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญและควรจัดเป็นผลของการศึกษาด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงเจตคติด้านความคิด ความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งไม่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างทันทีทันใด

3. วิชาบางวิชาไม่สามารถนำหลักเกณฑ์ของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมไปใช้ได้ เช่น วิชาศิลปะ ดนตรี ซึ่งผลของการศึกษาเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทันทีหลังการสอน

4. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเน้นให้เกิดผลเฉพาะสิ่งที่กำหนดให้เท่านั้น แต่สิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้จะถูกละเลยในการสอนแต่ละครั้ง นอกจากการเรียนรู้ตามที่กำหนดจุดประสงค์ไว้แล้ว ผู้เรียนอาจเกิดการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เป็นผลพลอยได้ และมีความสำคัญด้วยก็ได้

 

                  Back             Next

Hosted by www.Geocities.ws

1