หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I มงคลชีวิต ๓๘ ประการI การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ
พุทธมามะกะโฮมเพจ

 

 

การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๑

-------------------------------

วิปัสสนาภูมิ

 

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา

ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขามาวหาติ

( ธัมโม สุจิณโณ สุขะมาวะหาติ )

ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

 

 

พุทธภาษิตดังกล่าว คำว่า " ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ " นี้ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นว่า คำว่า
" ประพฤติดีแล้ว " นี่ ประพฤติอย่างไรจึงจะเรียกว่า " ประพฤติดีแล้ว " ถึงจะนำความสุขมาให้เรา ตามความเห็น ความเข้าใจของผม คำว่า " ประพฤติดีแล้ว " หมายถึงประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรม

คือประพฤติให้ถูกต้องตามธรรมนั้น ๆ ไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติด้วยความงมงาย ด้วยการเห็นผิด เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีกันอยู่หลายขั้นหลายตอน อย่างเช่น กามาวจรกุศล อันได้แก่บุญกิริยาวัตถุ ๑0 นั้น จะต้องมีการประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันถึงจะเป็นการถูกต้อง

 


 

    ซึ่งเรียกว่าประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรม หรือรูปาวจรกุศล และอรูปาวจร
    กุศล ซึ่งได้แก่การทำสมาธิในสมถกรรมฐาน วัตถุประสงค์ก็เพื่อยังความสงบให้เกิดขึ้นนั้น เราจะต้องประพฤติอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม

    เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ไม่ใช่เป็นของทำกันได้ง่ายๆ แม้แต่การปฏิบัติธรรมในขั้นโลกุตตรกุศลเพื่อยังกิเลสให้ลดน้อยลงนั้น ก็เป็นเรื่องที่
    ไม่ใช่ง่ายอย่างที่ว่าคนส่วนใหญเข้าใจกันเช่นนั้น

    ฉะนั้นการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เป็นของง่ายอย่างที่ทุกๆ คนเข้าใจกัน เมื่อเราพูดมากันเช่นนี้แล้วเราควรจะได้พิจารณาต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นละก็องค์ของการประพฤติดีในธรรมะนั้น เพื่อให้สมกับพุทธภาษิตนั้นน่ะ มันควรจะมีอะไรบ้าง

    คือเมื่อเราจะทำการ
    ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมประเภทไหน เราจะต้องดำเนินการอย่างไร เราอย่าลืมนะว่าธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

    ขั้นต่ำเรียกว่า กามาวจรกุศล อันได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
    ขั้นสูงขึ้นมาหน่อย เราเรียกว่า รูปาวจรกุศล
    ขั้นสูงขึ้นไปอีก เรียกว่า อรูปาวจรกุศล และ

    ขั้นสูงสุด เรียกว่า โลกุตตรกุศล

    ฉะนั้นกุศลแต่ละประเภททั้ง ๔ ประเภทนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติสร้างกุศลชนิดไหน เราจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะ ต้องศึกษา หรือ เรียกตามภาษาธรรมะเรียกว่า ปริยัติ คือศึกษาค้นคว้าธรรมประเภทนั้น ๆ ให้มีความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งในเหตุและในผล อันถูกต้องให้ตรงตามพระธรรมคำสอนว่ามีอย่างไร เมื่อเราได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้แจ่มแจ้งแล้ว เราก็นำเอามาประพฤติมา ปฏิบัติ ตามลักษณะของธรรมประเภทนั้น ๆ

    และในการประพฤติปฏิบัติของธรรมแต่ละประเภท อย่าลืมว่ามันจะต้องมีองค์ประกอบในการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมอยู่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประพฤติ ปฏิบัติธรรมในขั้นกามาวจรกุศล

    ความสำคัญอันใหญยิ่งก็คือ องค์ประกอบในการประพฤติปฏิบัติ ในเรื่องนั้นๆ

    เช่น ในเรื่องทาน เราก็จะต้องรู้ถึง องค์ทานเป็นอย่างไร ?

    เจตนามีอย่างไร ?

    จึงจะสมบูรณ์ มหากุศลจิตดวงไหนที่เราจะต้องนำมาใช้ และปฏิคาหกชนิดใดจึงจะสมควร นี่ เราถึงจะให้ทานได้โดยสมบูรณ์และถูกต้องตามพระพุทธศาสนา

    แต่คนส่วนใหญ่นึกว่าเราจะให้ทาน เราก็ให้ ความสมบูรณ์ในการให้ทานนั้นหรือขององค์ทานนั้นมันไม่มี เมื่อความสมบูรณ์ ในองค์ทานมันไม่มี ผลหรือที่เรียกว่า ปฏิเวธ มันก็ไม่เกิดขึ้น คือแทนที่จะได้บุญกุศลมันก็ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

    และนอกจากนั้นแล้ว ถ้าการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมที่สูงกว่ากามาวจรกุศล อันได้แก่ รูปาวจรกุศลก็ดี อรูปาวจรกุศลก็ดี ตลอดถึงโลกุตตรกุศลคือเรียกว่าวิปัสสนาก็ดี เหล่านี้เราจะต้องมีองค์ธรรม เพื่อเป็นเครื่องประกอบในการประพฤติธรรมเพิ่มขึ้นอีกนอกจากหลักการดังที่กล่าวมาแล้ว ตามภาษาธรรมะ เรียกว่า อาตาปี สติมา สัมปชาโน

    อาตาปี ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมประเภทนั้นๆ ให้บังเกิดผล ความเพียรในที่นี้
    หมายถึง ความเพียร ๔ ประการ หรือเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ อันได้แก่

     

    ความเพียรตัวที่ ๑ คือ เพียรที่จะป้องกันมิให้อกุศลธรรมหรือความชั่วเข้ามากล้ำกรายในจิตใจของเราได้

    เพียรตัวที่ ๒ คือ เพียรที่จะละความชั่วหรืออกุศลธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเรานั้น หรือมีอยู่ในจิตใจเรานั้น
    ละทิ้งมันเสียให้หมด

     

    ที่พูดมาเช่นนี้ อย่าเข้าใจว่าละกันได้ง่ายๆ เราจะต้องใช้ความพยายาม เมื่อเราเพียรป้องกันมิให้ความชั่วหรือบาป
    อกุศลนั้นเข้ามาได้แล้ว เราก็ต้องเพียรละสิ่งที่มันมีอยู่ ซึ่งเป็นบาปอกุศลอันติดนิสัยสันดานของเราอยู่นั้นให้มันหมดไป

    นอกจากนั้นแล้ว เพียรตัวที่ ๓ คือ เพียรที่จะสร้างกุศลกรรม ในเรื่องนั้นๆ ประเภทนั้นๆ ให้ถูกต้องตามพุทธ
    บัญญัติหรือตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระธรรมนั่นเอง

     

    การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ขอให้พวกเราทุกคนจงจำไว้ว่า

    อย่าหันหลังให้แก่พระพุทธเจ้า

    อย่างมงายกับพระพุทธเจ้า

    ตอนเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนั้น จริงอยู่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้ว พระองค์จึงได้ตรัสว่า

    คำสอนของพระองค์นั่นแหละ จะเป็นพระพุทธเจ้าแทนพระองค์ต่อไป

    ดังนั้นถ้าเราฉลาดในการประพฤติในการปฏิบัติ เราก็จะต้องยึดมั่นในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าหันหลังให้กับคำสอน

    อย่าทำเหมือนคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่หันหลังให้กับคำสอน คือธรรมะอันถูกต้อง กลับไปยึดไปถือเจ้าพ่อเจ้าแม่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หลวงปู่ หลวงย่า หลวงตา หลวงยาย อะไรก็ไม่รู้

    ซึ่งท่านเหล่านี้ก็ไม่เคยสนใจในเรื่องธรรมะอันแท้จริงว่ามีความเป็นมาประการใด เข้าใจ แต่ยึดแต่เหนี่ยวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในความเชื่อ ในความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ผิดๆ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสั่งสอนเช่นนั้น

    ถ้าพวกเราทุกคนมีสติปัญญาระลึกรู้สักหน่อยหนึ่งว่า ถ้าผู้สอนเหล่านั้นมีความรู้ในเรื่องของธรรมะจริงๆ เช่นนั้น ทำไมเขาจะติดอยู่แค่นั้น พวกที่นับถือเจ้าพ่อเจ้าแม่ ตัวรู้หรือเปล่าว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่เหล่านั้นเขาเป็นใคร ตัวก็ไม่รู้

    เขาบอกว่าเขาเป็นเจ้าพ่อ ก็เจ้าพ่อเจ้าแม่ ก็เจ้าแม่

    เป็นเทวดาสูงๆ ก็เทวดาสูงๆ

    เป็นพระพรหมก็บอกว่าเป็นพระพรหม เช่นนี้เขาเรียกว่างมงาย ไม่ใช่ความเชื่อหรือศรัทธาในพระพุทธศาสนา

    ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าให้มีความเชื่อด้วยเหตุด้วยผล คำสอนใดที่มีเหตุมีผล ที่จะนำมาพิสูจน์ปฏิบัติให้เห็นความดีความชั่วแล้ว จึงนำมาประพฤติ

    ปฏิบัติ นี่เป็นความเพียรตัวที่ ๓

    ส่วนความเพียรตัวที่ ๔ นั้น คือ เพียรรักษาความดี หรือกุศลผลบุญที่ได้สร้างขึ้นมาจากความเพียรตัวที่ ๓ นั้น
    ให้คงอยู่ นอกจากให้คงอยู่แล้ว จะต้องเพียรพยายามทำให้มีความเจริญแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไป

    นี่เป็นความหมายของอาตาปี

     

    นอกจากอาตาปีแล้ว ก็ยังมีคำว่า สติมา อีกตัวหนึ่ง สติมาในที่นี้หมายถึง สติเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเจตสิก
    คือเจตสิกฝ่ายขาว

    ท่านทั้งหลายอย่าลืมว่าจิตใจของเรานั้นมันเกิดขึ้น มีเจตสิกเป็นเครื่องปรุงแต่งเจตสิกนั้นแบ่งออก
    เป็น ๓ ฝ่ายด้วยกัน

    คือ หนึ่ง ฝ่ายเป็นกลางๆ จะเป็นอกุศลก็ได้ กุศลก็ได้ และเป็นกลางๆ ก็ได้ เช่นนี้ประเภทหนึ่ง

    และอีกประเภทหนึ่ง เป็นอกุศลล้วนๆ จะไม่ยอมรวมกับกุศลเลย เปรียบเหมือนความมืด จะไม่ปรากฏในแสงสว่าง

    นอกจากนั้นแล้วยังมีเจตสิกอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า โสภณเจตสิก อันเป็นเจตสิกฝ่ายดี คือดีอย่างไร ดีเกี่ยวกับ
    การกุศลผลบุญ เกี่ยวกับความดีทั้งนั้น ความชั่วเจตสิกเหล่านี้ไม่เล่นด้วย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติเป็นฝ่ายโสภณเจตสิก คือเจตสิกฝ่ายดีหรือฝ่ายขาว ถ้าเราสามารถมีสติที่จะให้เป็นตัวพี่
    เลี้ยงของจิตของเราได้แล้ว ฝ่ายอกุศลจิตก็ไม่สามารถจะเข้ามากล้ำกรายในชีวิตจิตใจของเราได้

    เหตุนี้แหละจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเตรียมตัวก่อนตายนั้น ถ้าเราขาดสติเพียงตัวเดียว เราอาจจะไปสู่ทุคติภูมิได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะสตินั้นเป็นโสภณเจตสิก มันย่อมจะดึงเอาชีวิตหรือจิตของเรานั้นไปสู่ทางที่ดีและที่ชอบ

    เหตุนี้แหละจึงควรที่เราทั้งหลายจะได้ทำความเข้าใจกับสติเจตสิกนี้ให้มาก และสตินี้มีคุณอย่างเหลือหลาย สามารถที่จะเจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว จะทำให้หลุดออกจากวัฏฏะซึ่งเราเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า
    สติปัฏฐาน ๔ นั่นคือตัวสตินี้แหละ ที่จะต้องนำเอาเข้ามาเป็นเครื่องประกอบในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเหตุใด

    การประพฤติปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสตินั้น ก็เพื่อให้จิตของเราว่างจากปลิโพธและนิวรณธรรมทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะว่า ถ้ามีสติอยู่อย่างมั่นคงแล้ว ปลิโพธคือความห่วงใยต่างๆ ก็ดี นิวรณธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกีดกั้นในการเจริญธรรม

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิ อันได้แก่รูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศลนั้น ถ้ามีสติเจตสิกคุมอยู่แล้ว อกุศลจิตต่างๆ
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิวรณธรรมจะเข้ามากล้ำกรายเราไม่ได้ นี่เป็นความหมายของคำว่า สติมา

    และยังส่วนผสมอีกตัวหนึ่งเรียกว่า สัมปชาโน หมายถึง ความรู้สึกในการประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกขั้นทุกตอน ว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร หมายถึงความละเอียดอ่อนแห่งความรู้สึกในขณะที่เราเจริญธรรมแต่ละประเภทแต่ละอย่าง
    ทุกขั้นทุกตอนนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราทุกคน ถ้าพวกเรามีสัมปชัญญะดีแล้ว เมื่อได้ขึ้นถึงฌานจิตแล้ว
    ก็จะสามารถจะรู้ลักษณะของวิตก ( เจตสิก ) มันเป็นอย่างไร วิจาร ( เจตสิก ) มันเป็นอย่างไร สุข ( เวทนาเจตสิก ) 
    มันเป็นอย่างไร ปีติ ( เจตสิก ) มันเป็นอย่างไร เอกัคคตา ( เจตสิก ) มันเป็นอย่างไร เราจะรู้ได้ด้วยสัมปชัญญะ
    ตัวนี้ ถ้าเราไม่มีสัมปชัญญะแล้วเราก็จะเบลอหมด ไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ไม่สามารถจะแยกแยะกันได้

    ฉะนั้นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบอกไว้ว่าการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมนั้น นอกจากความถูกต้องในการประพฤติฏิบัติแล้ว เราจำเป็นจะต้องมีองค์แห่งความประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า อาตาปี สติมา
    สัมปชาโน ประกอบด้วย

    นอกจากนี้แล้ว นอกจากที่เราได้พูดกันมาแล้วว่า เราจะต้องศึกษาปริยัติ เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจ แล้ว เราก็นำมาปฏิบัติด้วยองค์ประกอบซึ่งเรียกว่า อาตาปี สติมา สัมปชาโน และต่อไปเมื่อเราปฏิบัติไปแล้ว ผลแห่งการ
    ปฏิบัติเราเรียกกันทั่วๆ ไปว่าปฏิเวธ

    ปฏิเวธนั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะแต่เมื่อเราได้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม จนบรรลุเป้าหมายแล้วเท่านั้น ปฏิเวธจึงจะบังเกิดขึ้น ถ้ามิฉะนั้นแล้วปฏิเวธหาบังเกิดขึ้นไม่

    ดังนั้นพระธรรม คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละสิ่งแต่ละอย่าง มันจึงมีเหตุมีผลด้วยกันทุกสิ่งทุกอย่าง

    นอกจากนั้นประการที่ ๔ เราจำเป็นต้องมีองค์ประกอบนอกจาก อาตาปี สติมา สัมปชาโน องค์ประกอบในการ
    ปฏิบัติแล้ว เราควรจะได้มีคาถาเพื่อยังความสำเร็จให้เกิดขึ้นในการประพฤติปฏิบัติอย่างแน่นอน คาถาตัวนี้ตามภาษา
    ธรรมะท่านเรียกว่า อิทธิบาท ๔ อิทธิบาท ๔ นั้นได้แก่

     
     

    ๑. ฉันทะ คือ ความพอใจหรือรักใคร่ในการที่จะประพฤติปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ หรือสิ่งนั้นๆ

    ๒. วิริยะ คือ ความเพียรที่จะประกอบสิ่งนั้น ในแง่ของธรรมะก็ได้แก่ ความเพียร ๔ ประการ คือ

     

    เพียรมิให้อกุศลธรรมหรือความชั่วเข้ามากล้ำกราย ๑

    เพียรที่จะละความชั่วหรืออกุศลธรรมที่มีอยู่แล้วให้หมดไป ๑

     

    เพียรที่จะสร้างความดีหรือกุศลกรรมให้เกิดขึ้นโดยถูกต้อง ๑

    เพียรที่จะรักษาความดีหรือกุศลกรรมที่ได้สร้างขึ้นแล้วให้คงอยู่ และมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ๑
    นี่เป็นเรื่องความหมายของคำว่า วิริยะ

     

    อิทธิบาทตัวที่ ๓ ได้แก่ จิตตะ จิตตะในที่นี้หมายถึงการเอาใจใส่ในสิ่งนั้นๆ ไม่วางธุระ ไม่ปล่อยปละละเลยให้ผ่าน
    พ้นไป เราสังเกตดูว่า สิ่งใดที่เรามีจิตจดจ่อในสิ่งนั้นแล้ว เราก็จะสามารถประพฤติปฏิบัติได้โดยคล่องแคล่วว่องไว

    ต่อไปก็เป็นคาถาตัวที่ ๔ ของอิทธิบาท ๔ เรียกว่า วิมังสา วิมังสาในที่นี้ หมายถึง การหมั่นตริตรองพิจารณา
    ด้วยเหตุด้วยผล ในการประพฤติปฏิบัตินั้นว่า เป็นการถูกต้องสมควรหรือไม่ประการใด ยังมีการขาดตกบกพร่องอยู่
    ตรงไหน ประการใด นี่
     

     

    ตามที่กล่าวมานี้ เป็นความหมายของพุทธภาษิตที่กล่าวว่า ธัมโมสุจิณโณ สุขะมาวะหาติ คือธรรมที่ประพฤติ
    ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นั่นเป็นความหมาย

    การที่ต้องนำเอาวิปัสสนาภูมิ ๖ มากล่าวให้พวกเราฟังในที่นี้ วิปัสสนาภูมิ ๖ นั้น ควรจะได้รู้ว่าหมายถึง
    พื้นความรู้ที่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจะต้องมีพื้นความรู้เช่นนั้น เราจึงจะสามารถนำไปประพฤตินำไปปฏิบัติให้ได้ผล
    ไม่ใช่หลับหูหลับตาประพฤติปฏิบัติ เสร็จแล้วกลายเป็นผู้วิเศษกันโดยไม่รู้อะไรเลย ทั้งนี้เพราะเหตุไร ก็ได้บอกกัน
    มาแล้วว่าการที่เราจะประพฤติปฏิบัติอะไรนั้น เราจำเป็นจะต้องศึกษาเสียก่อน ดังนั้นในปัญหาเรื่องวิปัสสนาก็เช่น
    เดียวกัน เราจะต้องศึกษาให้รู้เสียก่อนว่าพื้นฐานของวิปัสสนานั้น เราจะต้องมีอะไรบ้าง แต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้นมัน
    คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร เราพร้อมหรือยังที่จะนำเอาพื้นความรู้เช่นนั้นมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น
    คำว่า ธัมโมสุจิณโณ สุขะมาวะหาติ คือ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้ สำหรับในเรื่องวิปัสสนานั้นก็ได้แก่
    หนึ่ง ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้อยู่ในวิปัสสนาภูมิ ๖ เมื่อสรุป ขันธ์ ๕ โดยย่อๆ ออกมาแล้วก็ได้แก่ รูป ๑ นาม ๑ ซึ่งเรา
    จะได้กล่าวกันต่อไปในภายหลัง ขันธ์ ๕ ในที่นี้หมายถึงกองขันธ์ ๕ ประเภท

     

    ประเภทที่ ๑ ได้แก่ รูปขันธ์

    ประเภทที่ ๒ ได้แก่ สัญญาขันธ์

    ประเภทที่ ๓ ได้แก่ เวทนาขันธ์

    ประเภทที่ ๔ ได้แก่ สังขารขันธ์

    ประเภทที่ ๕ ได้แก่ วิญญาณขันธ์

    นี่เป็นความหมายของขันธ์ ๕

    ต่อไปก็คือ ได้แก่ อายตนะ ๑๒ อายตนะ ๑๒ นั้นก็คือได้แก่ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖

    อายตนะภายใน ๖ ประการได้แก่
    ตัวที่ ๑ เรียกว่า จักขายตนะ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า จักขุปสาท
    ตัวที่ ๒ เรียกว่า โสตายตนะ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า โสตปสาท
    ตัวที่ ๓ เรียกว่า ฆานายตนะ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า ฆานปสาท
    ตัวที่ ๔ เรียกว่า ชิวหายตนะ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า ชิวหาปสาท
    ประเภทที่ ๕ เรียกว่า กายายตนะ อันมีองค์ธรรมเรียกว่า กายปสาท
    ทั้ง ๕ ตัวนี้เป็นรูปธรรมทั้งสิ้น
    ส่วนตัวที่ ๖ นั้นเรียกว่า มนายตนะ องค์ธรรมเรียกว่า มโนทวาร ซึ่งเป็นนามธรรม
    นี่เป็น อายตนะภายใน หรือเราจะเรียกกันภาษาชาวบ้านอย่างง่ายๆ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง

     

    ส่วนอายตนะภายนอก ๖ ได้แก่อะไร

    ตัวที่ ๑ เรียกว่า รูปายตนะ องค์ธรรมได้แก่ รูปารมณ์ ซึ่งเป็นรูปธรรม
    ตัวที่ ๒ เรียกว่า สัททายตนะ องค์ธรรมคือ สัททารมณ์ ซึ่งเป็นรูปธรรม
    ตัวที่ ๓ เรียกว่า คันธายตนะ องค์ธรรมคือ คันธารมณ์ ซึ่งเป็นรูปธรรม
    ตัวที่ ๔ เรียกว่า รสายตนะ องค์ธรรมคือ รสารมณ์ ซึ่งเป็นรูปธรรม
    ตัวที่ ๕ เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะ องค์ธรรมคือ โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นรูปธรรม
    ตัวที่ ๖ เรียกว่า ธัมมายตนะ องค์ธรรมคือ ธัมมารมณ์ ๖๙ ซึ่งเป็นทั้งรูปและนาม
    หรือเราจะเรียกกันอย่างง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้าน ก็เรียกว่าเครื่องต่อ

     

    นอกจากอายตนะ ๑๒ อันแบ่งเป็น อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ซึ่งได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
    และธัมมารมณ์แล้ว ต่อไปก็คือ ธาตุ ๑๘ ซึ่งหมายถึงรูปและนาม ธาตุ ๑๘ นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ธาตุ ๑๘ นี้
    เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๓ ประการ คือ

    ๑. เราเรียกว่า ธาตุรับ มี ๖ ธาตุ คือตั้งแต่ จักขุธาตุ ๑ โสตธาตุ ๑ ฆานธาตุ ๑ ชิวหาธาตุ ๑ กายธาตุ ๑
    มโนธาตุ ๑ นี่ทั้ง ๖ นี้เป็นธาตุรับ พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง
    ทีนี้ ธาตุตัวที่ ๒ เรียกว่า ธาตุกระทบ ได้แก่ รูปธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ โผฏฐัพพธาตุ ๑
    และธัมมธาตุ ๑ พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธัมมารมณ์
    ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธัมมารมณ์หรือความคิดนึกนั่นเอง นี่เป็นธาตุกระทบ
    เราได้รู้มาแล้ว ธาตุรับมี ๖ ธาตุกระทบมี ๖ รวมกัน ๒ ธาตุแล้วมันก็เป็น ๑๒ ธาตุ ยังมีอีกธาตุหนึ่งรียกว่า
    ธาตุรู้ ซึ่งเราเรียกกันว่า วิญญาณธาตุ นั่นเอง มีอีก ๖ ตัว ดังนี้ คือ ๑. จักขุวิญญาณธาตุ ๒. โสตวิญญาณธาตุ
    ๓. ฆานวิญญาณธาตุ ๔. ชิวหาวิญญาณธาตุ ๕. กายวิญญาณธาตุ ๖. มโนวิญญาณธาตุ

     

    ฉะนั้นเมื่อเราสรุปแล้วธาตุรับ ธาตุกระทบและธาตุรู้ เราก็ได้แล้ว ธาตุ ๑๘ ( ๖ x ๓ = ๑๘ ) เห็นไหม นี่ จาก
    ธาตุต่างๆ ทั้ง ๓ ประเภท ประเภทละ ๖ นี้ เราพิจารณาดูให้ดีว่ามันมีอะไร ชื่อเสียงมันผิดแผกแตกต่างกันไป
    อย่างไรก็ตาม เมื่อเราจะสรุปแล้วมันก็คงได้แก่สิ่งทั้งสองนั่นคือ รูปกับนาม นั่นเอง ดังนั้นขันธ์ ๕ ที่เรากล่าวมาตั้ง
    แต่ต้นก็ดี มันคงมีแต่รูปกับนามเท่านั้น อายตนะ ๑๒ ที่เรากล่าวกันมาแล้ว มันก็คงมีรูปกับนามนั่นอีกแหละ
    และธาตุ ๑๘ มันก็คงมีรูปกับนามนั่นอีกแหละ ดังนั้นวิปัสสนาภูมิ ๖ ซึ่งเราได้รู้กันมานานแล้วทั้ง ๓ ประการนี้
    มันก็ยังมีอีกตัวหนึ่งเรียกว่า อินทรีย์ ๒๒ นอกจากอินทรีย์ ๒๒ ก็มีปฏิจจสมุปบาท ๑๒ และ อริยสัจจ์ ๔ ถึงจะ
    ได้ครบ ๖

    สำหรับในที่นี้ เราควรจะได้ทำความรู้จักกันว่า อินทรีย์ ๒๒ นี่ คืออะไร อินทรีย์ ๒๒ นั้นหมายความว่า ความ
    เป็นใหญ่หรือผู้ปกครองในสภาวธรรมที่เกิดร่วมด้วยกับ อินทรีย์นั้นๆ เอง ความเป็นใหญ่ในการที่จะให้สำเร็จกิจใน
    หน้าที่ของ อินทรีย์นั้นๆ เอง คือความเป็นใหญ่ในกิจนั้นๆ
    พูดอย่างนี้อาจจะมีพวกเราหลายคนที่ไม่รู้ความหมาย
    ทั้งนี้เราอย่าลืมว่าอินทรีย์ ๒๒ นั้น พวกเราบางคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยิน แต่ความจริงๆ นั้น อินทรีย์ ๕ เรารู้กัน
    มานานแล้ว อันได้แก่ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ถ้าพวกเราไม่มีอินทรีย์ ๕
    ประกอบ เราก็ไม่สามารถที่จะสร้างสมาธิให้ได้ถึงขั้นฌานได้ แต่อินทรีย์ ๒๒ นี้มันคลุกเคล้าปะปนกันทั้งหมด ไม่ว่า
    เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดี ทั้งโลกียธรรมและโลกุตตรธรรมมันประกอบกันทั้งหมด ดังนั้นเราควรจะได้รู้กัน
    ต่อไปว่าในอินทรีย์ ๒๒ นั้น ความจริงองค์ธรรมซึ่งประกอบอินทรีย์ ๒๒ นั้นมันมีเพียง ๑๖ ตัวเท่านั้นเอง ๑๖ ตัวอย่างไร
    เดี๋ยวผมจะพูดให้ฟัง องค์ธรรมที่ประกอบในอินทรีย์ ๒๒ นั้น
    ๑. จักขุปสาทรูป                      ๒. โสตปสาทรูป
    ๓. ฆานปสาทรูป                     ๔. ชิวหาปสาทรูป
    ๕. กายปสาทรูป                      ๖. อิตถีภาวรูป
    ๗. ปุริสภาวรูป                        ๘. ชีวิตรูป
    ๙. ชีวิตินทรีย์เจตสิก                 ๑๐. จิต
    ๑๑. เวทนาเจตสิก                    ๑๒. สัทธาเจตสิก
    ๑๓. วิริยเจตสิก                       ๑๔. สติเจตสิก
    ๑๕. เอกัคคตาเจตสิก                 ๑๖. ปัญญาเจตสิก

     

    นี่ เป็นองค์ธรรมซึ่งประกอบกับอินทรีย์ ๒๒ เราจะเห็นได้ว่าอินทรีย์นั้นมีทั้งหมด ๒๒ ตัว แต่มีองค์ธรรมเพียง
    ๑๖ ตัวเท่านั้น ทีนี้อินทรีย์ ๒๒ นี้ขอให้พวกเราพิจารณาดูให้ดี มันเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม

    ทีนี้ผมจะกล่าวเฉพาะอินทรีย์ที่เป็นรูปธรรมซะก่อนว่ามี ๗ ได้แก่ ๑. จักขุนทรีย์ ๒. โสตินทรีย์ ๓. ฆานินทรีย์
    ๔. ชิวหินทรีย์ ๕. กายินทรีย์ ๖. อิตถินทรีย์ และ ๗. ปุริสินทรีย์
    นี่เป็นรูปธรรมทั้งหมด ๗ ตัวด้วยกัน
    ส่วนอินทรีย์ที่เป็นทั้งรูปและทั้งนาม มีอยู่ตัวหนึ่งคือ ชีวิตินทรีย์นั่นเอง

     

    นอกจากนี้แล้ว อินทรีย์ที่เหลือทุกๆ ตัวนั้น มันเป็นนามธรรมอย่างเดียว นั่นคือ มนินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์
    โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ สัทธินทรีย์
    ตัวเรานี้ได้ยินกันมาแล้ว วิริยินทรีย์ ตัวนี้ก็ประสบกันมาแล้ว
    สตินทรีย์ ตัวนี้เราก็ประสบกันมาแล้ว สมาธินทรีย์ ตัวนี้เราก็ประสบกันมาแล้ว ปัญญินทรีย์ ตัวนี้เราก็ประสบกันมาแล้ว
    อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ อัญญินทรีย์ และ อัญญาตาวินทรีย์ ทั้ง ๑๔ ตัวนี่เป็นนามธรรมหมด

    อินทรีย์ ๒๒ ตัวนี้ มันมีทั้งโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม
    ที่เป็นโลกียธรรมแต่ฝ่ายเดียวมี ๑๐ ตัว โลกียธรรมฝ่ายเดียวนะ คือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์
    กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์
    นี่ เป็นโลกียธรรมแต่ฝ่ายเดียว
     

     

    ส่วนที่เป็นโลกุตตรธรรมแต่ฝ่ายเดียว มีอยู่ ๓ ตัวเท่านั้น คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ อัญญินทรีย์
    อัญญาตาวินทรีย์
    นี่ เป็นโลกุตตรธรรมแต่ฝ่ายเดียว

    ส่วนที่เหลืออีก ๙ ตัวนั้นมันผสมกัน เป็นทั้งโลกุตตรธรรมและโลกียธรรมทั้ง ๒ ตัว ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ มนินทรีย์
    โสมนัสสินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
    นี่เป็นอินทรีย์ ๒๒ ซึ่งเมื่อสรุปแล้วมันก็คงเป็นรูปกับนามเท่านั้น นี่เป็นพื้นภูมิของวิปัสสนา ถ้าเราสนใจจะต้อง
    ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว มันจะต้องรู้อย่างนี้

     

    ทีนี้วิปัสสนาภูมิตัวที่ ๕ ก็ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ปฏิจจสมุปบาทนี่หมายถึง ปัจจัยแห่งการเกิดของรูปและ
    นาม
    นั่นเอง ปัจจัยแห่งการเกิด

    ตัวที่ ๑ อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
    ตัวที่ ๒ สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ
    ตัวที่ ๓ วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามและรูป
    ตัวที่ ๔ นามและรูป เป็นปัจจัยให้เกิด อายตนะ ๖
    ตัวที่ ๕ อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
    ตัวที่ ๖ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
    ตัวที่ ๗ เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
    ตัวที่ ๘ ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปทาน
    ตัวที่ ๙ อุปทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
    ตัวที่ ๑0 ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
    ตัวที่ ๑๑ ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชราและมรณะ

     

    มันก็วนเวียนไปอย่างนี้ ไม่มีที่สิ้น ไม่มีที่สุด เราเรียกว่า วัฏฏะ ในการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายทั้ง
    ๓๑ ภูมิ นี่ ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนาจะประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับวิปัสสนา เราก็ต้องมีความรู้เช่นนี้

    ทีนี้ วิปัสสนาภูมิตัวที่ ๖ ก็ได้แก่ อริยสัจจ์ ๔

     

    ตัวที่ ๑ เรียกว่า ทุกขอริยสัจจ์ มันก็เป็นทั้ง รูป และ นาม นั่นเอง

    ตัวที่ ๒ เรียกว่า สมุทัยสัจจ์ ก็คือ เหตุแห่งการที่ทำให้ทุกข์เกิด ซึงเรียกกันอย่างง่ายๆ ว่าตัว ตัณหา
    ตัวที่ ๓. เรียกว่า นิโรธสัจจะ คือ ความดับทุกข์ซึ่งหมายถึง นิพพาน นั่นเอง

    ตัวที่ ๔ เรียกว่า มัคคสัจจะ คือ หนทางที่จะทำให้หมดไปแห่งตัณหา หรือดับเสียซึ่งขันธ์ ๕ คือเข้าถึงนิพพาน
    นั่นเอง ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ในมัคคสัจจ์แบ่งออกเป็น ๘ ประเภท

     

    ประเภทที่ ๑ ของมัคคสัจจะนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบคือ เห็นในอริยสัจจ์นั่นเอง
    มัคคตัวที่ ๒ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ คำว่าดำริชอบในที่นี้หมายถึง การดำริออกจากกาม
    ดำริอันจะไม่พยาบาท ดำริในอันที่จะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นี่เป็นสัมมาสังกัปปะ
    มัคคตัวที่ ๓ คือ สัมมาวาจา หมายถึงการพูดชอบ ในที่นี้ก็คือ การพูดซึ่งเว้นจากวจีทุจริต ๔ อันได้แก่ โกหก ๑
    การพูดส่อเสียด ๑ การพูดเพ้อเจ้อ ๑ การกล่าวคำหยาบ ๑ นี่ เราต้องเว้นจากวจีทุจริต ๔ มันถึงเป็นสัมมาวาจา
    นั่นคือ วาจาภาษิตนั่นเอง ถ้าเราพิจารณากันให้ดีแล้ว
    มัคคตัวที่ ๔ เรียกว่า สัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบ หมายถึงการเว้นกายทุจริต ๓ อันได้แก่ ปาณาติบาต
    ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร อีก ๑ นี่ เราถึงจะเรียกว่าเป็นสัมมากัมมันตะ
    ทีนี้ตัวที่ ๕ มัคคตัวที่ ๕ คือ สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด
    อ้ายนี่สมัยนี้มีกันมากมายเหลือหลาย ซึ่งเราไว้พูดกันเมื่อมีโอกาสจะได้พูดกันทีหลังในถึงเรื่องรายละเอียด
    มัคคตัวที่ ๖ เรียกว่า สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ ความเพียรชอบในที่นี้ ก็หมายถึงความเพียร ๔ นั่นเอง
    คือ เพียรที่จะป้องกันมิให้อกุศลธรรมหรือความชั่วเข้ามาใด้ ๑ เพียรที่จะละความชั่วหรือละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมด
    ไป ๑ เพียรที่จะประกอบกรรมดีหรทอกุศลกรรมหรือความดีให้เกิดขึ้น ๑ และเพียรที่จะรักษากุศลกรรมหรือความดี
    ที่ก่อขึ้นแล้วให้คงอยู่ และทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นอีก ๑ นี่ เป็นความหมายของสัมมาวายามะ

    มัคคตัวที่ ๗ ได้แก่ สัมมาสติ คือการระลึกชอบ คำว่า ระลึกชอบในที่นี้หมายถึงมีสติระลึกรู้ความเป็นจริง ๔
    ประการ คือ

     

    ๑. ระลึกรู้ เรียกว่า ประการที่ ๑ เรียกว่า กายคตาสติ คือ ระลึกรู้ในเรื่องความเป็นไปในร่างกายของเรา
    ประการที่ ๒ ระลึกรู้ใน เวทนา ที่บังเกิดขึ้น อันเป็นปัจจุบันธรรม
    ประการที่ ๓ ระลึกรู้จิตของเรามีสภาพอย่างไร เรียกว่า จิตตานุปัสสนา นั่นเอง
    ประการที่ ๔ ระลึกรู้ในเรื่อง ธัมมานุปัสสนา หรือ ความนึกคิด คือ ธัมมารมณ์อันบังเกิดขึ้นว่า ธรรมอย่างไหน
    มันมีเป็นประการใด อะไรมันเป็นรูป อะไรมันเป็นนาม
    ฉะนั้น คำว่าสัมมาสติในที่นี้ จึงเป็นเรื่องลึกซึ้งและใหญ่โตเหลือเกิน เรียกว่าเป็นตัวเจริญวิปัสสนาตรงๆ นั่นเอง
    มัคคตัวที่ ๘ เรียกว่า สัมมาสมาธิ คือตั้งใจไว้ชอบ นั่นคือเจริญฌาน ตั้งแต่ต้นถึงที่สุด
    ตามที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของง่ายดังที่ทุกๆ คนเข้าใจ
    คิดว่าถ้าเรานั่งหลับหูหลับตามันก็เป็นวิปัสสนา ความจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่มีพื้นความรู้
    เมื่อเราปฏิบัติไปแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไร มันปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกอย่างไร ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ที่พวกเราทุกคนจะทำ
    อะไรให้ได้ผลแล้ว เราจะต้องลงแรงลงทุน ต้องเสียเวลาหาความรู้ความเข้าใจ แล้วเราถึงจะนำมาประพฤติปฏิบัติ
    กันได้ ไม่ใช่อย่างที่เขาประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ประกาศตามวิทยุบ้าง หลับตาพึมพำๆ ไปนิดเดียว
    ได้มรรคได้ผล ได้เป็นพระอรหันต์กันไปแล้ว อย่างนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสสอนไว้เช่นนั้น สมเด็จ
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสสอนด้วยเหตุด้วยผล วิปัสสนานั้นเหมือนยอดไม้ ใครล่ะที่จะก้าวทีเดียวขึ้นไปถึง
    ยอดได้ และอนึ่ง ใคร่จะเตือนมาให้ความรู้ท่านทั้งหลายไว้ว่า วิปัสสนานั้นมันเป็นการทำกรรมต่อเนื่อง ชาตินี้เรา
    ทำได้หน่อยหนึ่ง ชาติหน้าเราก็ไปทำต่อได้อีก มันเป็นการสะสม มันเป็นการต่อเนื่อง ไม่หมด ไม่เหมือนกามาวจรกุศล
    ซึ่งได้แก่บุญิกิริยาวัตถุ ๑0 เมื่อเราทำกุศลเกิดขึ้นแล้ว กุศลให้ผลตอบแทน บังเกิดลาภ บังเกิดนมัสการะ มันก็หมดไป
    แต่โลกุตตรกุศลอันได้แก่วิปัสสนานี้ไม่หมด มันจะค่อยทำลายกิเลสของเราไปทีละเล็กละน้อย มันก็สะสมไว้ จนกว่า
    เราจะสิ้นจากวัฏฏะ
    นี่ ที่กล่าวมานี้เป็นวิปัสสนาภูมิ ๖ อันได้แก่
    ขันธ์ ๕
    อายตนะ ๑๒
    ธาตุ ๑๘
    อินทรีย์ ๒๒
    ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
    อริยสัจจ์ ๔

     

    ดังนั้นขอให้พวกเราได้สนใจวิปัสสนาภูมิ ก่อนที่เราจะได้เริ่มประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็จะได้ผลสมความมุ่งหมาย
    ไม่ต้องไปบนบานศาลกล่าวให้สำเร็จโน่นสำเร็จนี่

    ตามที่ได้กล่าวมานี้ในเรื่องวิปัสสนาภูมิ ๖ ก็โดยย่อ โดยสมบูรณ์ซึ่งเราจะได้มี เผื่อเรามีเวลา เราก็จะได้กล่าวกันแต่
    ละขั้นแต่ละตอนในภายหลัง แต่ละสิ่งแต่ละอย่าง ว่ามันมีความหมายเป็นอย่างไร เราจะประพฤติกันอย่างไร จะปฏิบัติ
    กันอย่างไร จึงขอจบเรื่อง วิปัสสนาภูมิ ๖ เพียงแค่นี้

จบ การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๑ ( วิปัสสนาภูมิ ๖ )

 

Next : Page2>>

>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1