หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I มงคลชีวิต ๓๘ ประการI การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ
พุทธมามะกะโฮมเพจ

 

 

การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๒

-------------------------------

วิปัสสนาภูมิ

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ
ผู้ฟังดี ย่อมเกิดปัญญา

ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขามาวหาติ

( ธัมโม สุจิณโณ สุขะมาวะหาติ )

ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้

 

 

การฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๒

-------------------------

    ในวันนี้เราจะได้ทำความรู้จักกันกับสติ ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกตัวหนึ่ง อันเป็นตัวสำคัญ เมื่อพูดถึงสติแล้ว
    พวกเราทุกคนอาจจะรู้จักกันได้เป็นอย่างดี ว่ามีความหมายเป็นอย่างไร แต่รายละเอียดของสตินั้น เข้าใจว่าจะรู้ กันได้ยาก เพราะสตินั้นมีความหมายกว้างขวางลึกซึ้งและมีประโยชน์อย่างมากมาย ก่อนอื่นเราควรจะได้รู้ถึง ความสำคัญของสติเสียก่อนว่ามันมีอย่างไร สติหมายถึงการระลึกรู้อารมณ์ และเป็นเครื่องยับยั้งมิให้จิตตกไปฝ่ายข้าง อกุศล หรือความระลึกรู้ทันอารมณ์
    จากคุณสมบัติของสติดังกล่าวนี้เพียงผิวเผิน เราก็พอจะเห็นได้ว่าสตินั้นมีความ สำคัญอย่างไร ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไป

     

 


    ประการแรก เราควรจะได้รู้ ลักษณะ หน้าที่ และผลของสติ เสียก่อนว่า มันมีเป็นประการใด ลักษณะของสติ
    นั้น หมายความ ก็มีความระลึกรู้ในอารมณ์เนืองๆ
    นี่เป็นลักษณะของสติ เมื่อเรามีความระลึกรู้ถึงในอารมณ์เนืองๆ เช่นนี้แล้ว ผลมันจะออกมายังไง นั่นก็คือเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในความประมาทนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีความห่วงใยเป็นอันมาก ในการที่สติมีความระลึกรู้ในอารมณ์เนืองๆ เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในความ ประมาทนี้ แม้ในพระโอวาทก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ได้เตือนสาวกทั้งหลายว่า อย่าอยู่ในความประมาท
    ความประมาทนั้นมันเป็นเรื่องที่ผู้อยู่แล้วนี่ มันอยู่ในความตายนั่นเอง
    แต่สตินี่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันให้ระลึกรู้อยู่เสมอ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงห่วงใยในสาวกทั้งหลายนักหนา ในเรื่องที่ตกอยู่ในความประมาทนั้น
    ถ้าเรา จะสรุป โอวาทปาฏิโมกข์ แล้ว เราจะเห็นว่าโอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง ๓ ข้อนั้น ต้องมีสติเข้าไปเกี่ยวข้องในทั้ง ๓ ข้อ
    ข้อแรกที่พระองค์ตรัสไม่ให้สร้างความชั่วหรือกรรมชั่วนั้น เหตุที่ผู้สร้างกรรมชั่วหรือความชั่วนั้น ก็เพราะว่าเป็นผู้ขาด สติ ตกอยู่ในความประมาท จึงได้ล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ขึ้นมาได้ ดังนั้นปัจฉิมโอวาทจึงทรงเตือนไว้หนักหนาในปัญหา เรื่องสตินี่ ว่าอย่าอยู่ในความประมาทนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นเป็นลักษณะของสติ

    ประการที่ ๒ เรื่องหน้าที่ของสติ ก็คือ มีการไม่หลงลืมเป็นหน้าที่ เราจะได้เห็นแล้วว่า คนที่หลงๆ ลืมๆ
    นั้น โบราณเขาเรียกว่า คนขาดสติ ถ้าขาดมากๆ เข้าก็กลายเป็นคนเสียสติ คือคนบ้านั่นเอง ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น
    เราควรจะได้ทำความระลึกรู้เสียก่อนว่า สตินั้นเป็นโสภณเจติสก เป็นฝ่ายข้างดีงาม ถ้าเรายึดสติเอาไว้แล้ว ความชั่วร้ายเลวทรามต่างๆ มันจะไม่เกิดขึ้น เมื่อมันไม่เกิดขึ้นแล้ว การล่วงอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้นมันก็เป็นไปไม่ได้
    นอกจากลักษณะของสติก็ดี หน้าที่ของสติก็ดี ต่อไปเราก็จะได้รู้อีกตัวหนึ่ง คือ ผลของสติก็คือ การรักษาอารมณ์ให้คงที่อยู่เสมอ
    ถ้าอารมณ์เป็นกุศลมันก็จะรักษาอยู่ เหตุใกล้ชิดก็คือ การจำอย่างแม่นยำนั่นเอง
    ตามที่กล่าวมานี้แล้ว ถ้าเราจะสรุปในเรื่องสติแล้ว จะเห็นได้ว่า สติเป็นเครื่องชักนำใจให้ยึดถืออยู่ฝ่ายกุศล
    เป็นอุดมคติ
    ทำไมถึงได้เรียกว่าให้ยึดถือฝ่ายกุศลเป็นอุดมคติ เราอย่าลืม เราต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า
    จิตใจของเรานั้นมันมีพี่เลี้ยงอยู่ตัวหนึ่งเรียกว่า เจตสิก เจตสิกนี่มันมีถึง ๕๒ ดวง มีเจตสิกที่ทำตัวเป็นกลางๆ ก็มี
    เจตสิกที่เป็นฝ่ายชั่วก็มี เจตสิกที่เป็นฝ่ายดีก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก คือเป็นเจตสิกฝ่ายดี
    เมื่อมันเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงจิตใจแล้ว มันก็จะทำให้จิตใจนั้นมีความดีเกิดขึ้น นั่นคือใฝ่ในกุศลกรรมนั่นเอง
    อีกประการหนึ่ง ขอให้เรานึกถึงความจริงว่าความมืดกับความสว่างนั้น มันจะอยู่ในขณะเดียวกันไม่ได้
    ทั้งนี้ก็เช่น เดียวกันกับสติเหมือนกัน สตินั้นมันเป็นธรรมฝ่ายขาว คือเป็นโสภณเจตสิก ส่วนโลภะ โทสะ โมหะ นั้นมันเป็นฝ่าย อกุศลเจตสิก มันเป็นธรรมฝ่ายดำหรือความมืด เมื่อเรามีสติอยู่แล้ว มันก็คือความสว่าง ความมืดย่อมจะเข้ามา กล้ำกรายในชีวิตของเราไม่ได้

     

    นอกจากนั้นแล้ว สติยังเป็นตัวชักนำให้จิตของเรานี่อยู่ในที่ใดที่หนึ่งได้ ทั้งนี้เพราะว่าสตินั้นมันเป็นพี่เลี้ยงของจิต
    ถ้าเราเอาสติไปตั้งไว้ที่ไหนแล้ว จิตใจของเรานั้นมันก็ไปพัวพันอยู่ในสติด้วย พวกเราทุกคนพึงสังเกตเถอะว่าถ้าเรา
    ไม่มีสติแล้ว เราจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ทำไม่ได้เลย เว้นแต่มิจฉาสมาธิ เพราะเขาเอาตัวอื่นเข้ามาแทน
    แต่สัมมาสมาธิ หรือในสมถกรรมฐาน ๔๐ วีธีนั่น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องนำเอาสติมาใช้ในการเจริญสมาธิให้เกิดขึ้น
    นอกจากนี้แล้วผู้ใดที่ไม่มีสติ ก็ทำให้สมาธิเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อทำให้สมาธิเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว บาทฐานของปัญญาซึ่งต้อง ใช้สมาธิมันก็ไม่มี เมื่อบาทฐานของปัญญามันสร้างขึ้นไม่ได้ ปัญญามันก็ไม่เกิด ดังนั้นขอให้เราพิจารณาถึง ความสำคัญของสติ ให้ดีว่า

    ๑. สตินั้นใช้ ในการทำสมถกรรมฐานทั้ง ๔๐ วิธี ไม่ว่าจะเป็นกสิณ ๑๐ ก็ดี อนุสสติ ๑๐ก็ดี หรืออสุภะ ๑๐ ก็ดี
    และเบ็ดเตล็ดอื่นๆ อีก ๑๐ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาสติมาใช้ในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่มี
    สติแล้ว เราก็ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายของการทำสมาธิได้เลย
    ประการที่ ๒ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็สตินั่นอีกแหละที่เป็นตัวสำคัญ จำเป็นจะต้องนำมาใช้เป็น
    เครื่องระลึกรู้ทางกายก็ดี ทางเวทนาก็ดี ทางจิตก็ดี ทางธรรมก็ดี ซึ่งเราเรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม มันก็ต้องใช้
    สตินั่นอีกแหละ ถ้าเราไม่มีสติแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานหรือสมถกรรมฐานได้แต่ประการใด
    ประการที่ ๓ นอกจากนี้แล้วคุณประโยชน์ของสติก็คือ ทำไม่ให้เราสร้างกรรมชั่ว เพราะได้บอกไว้แล้วนี่ว่าสติ
    นั้นเป็นโสภณเจตสิก คือเป็นธรรมฝ่ายขาว แต่ความชั่วทั้งหลายนั้นเป็นอกุศล มันเป็นธรรมฝ่ายดำ ความมืดกับ
    ความสว่าง มันจะมาปะปนกันไม่ได้ ตราบใดที่เรายังมีสติระลึกรู้อยู่ ความบาปกรรมหรืออุกศลทั้งหลายมันก็
    เข้ามากล้ำกรายไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอกุศลกรรมบถ ๑0 อันได้แก่ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
    ซึ่งมันเป็นกรรมที่จะนำเราไปสู่ทุคติภูมิคือ นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน ตัวนำทางก็คือ อกุศลกรรมบถ ๑0 นั่นเอง
    และตราบใดที่เรามีสติประจำอยู่ในตัวของเราแล้ว อกุศลกรรมบถ ๑0 เราก็ไม่สามารถที่จะล่วงไปได้ ทั้งนี้เพราะ
    เหตุว่าสตินั้นมันเป็นตัวห้ามมิให้เราทำกรรมเช่นนั้นให้เกิดขึ้น ถ้าจะทำกรรม มันก็บังคับให้ทำแต่กรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว
    ความสำคัญของสติประการที่ ๔ ก็คือ ป้องกันมิให้มีการก่อเวรกัน เกิดขึ้น พวกเราทุกคนคงจะได้รับวิบากกรรม
    กันมาแล้วอย่างมากมายหลายประการ ทั้งวิบากอันเป็นผลดีและวิบากอันเป็นผลร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือด
    ร้อนนานาประการที่พวกเราได้รับในชีวิตนั้น มันเป็นวิบากที่ทนไม่ได้ ซึ่งเราเรียกว่า ไม่มีความสุขกายไม่มีความสุขใจ
    อะไรเลย คือมีแต่ทุกขเวทนา คือความไม่สบายกาย หรือโทมนัสเวทนา คือความไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้มันเป็นผลของ
    อกุศลวิบากกรรมที่ตามเรามาทัน ที่เราได้ก่อเอาไว้ในอดีต เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้มันก็ตามเรามาทัน ถ้าพวกเราได้ฟัง
    เรื่องชุดเมื่อกรรมตามทันแต่ละรายแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเวรกรรมทั้งหลายนั้นที่ตามมาทันนั้น มันเป็นผลมาเนื่องจาก
    การขาดสติด้วยกันทั้งสิ้น เหตุนี้แหละถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่แล้ว เมื่อวิบากกรรมเกิดขึ้นเราก็มีความระลึกรู้ว่านั่นมัน
    เพียงความจริงที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น คำว่าวิบากกรรมในที่นี้ ผมหมายถึงความดีก็มีความชั่วก็มี แต่สำหรับสติอันนี้
    สามารถป้องกันความชั่วอันเกิดจากอกุศลวิบากขึ้นได้

     

    อกุศลวิบากนั้น ตามปกตินั้นมันจะต้องปรากฏขึ้น ทางตา ๑ หมายถึงเราเห็นรูปที่ไม่ดีที่ไม่พอใจ ที่มันทำความ
    เคร่งเครียดให้กับจิตใจ ทำความเจ็บช้ำน้ำใจ เหล่านี้ นี่เป็นวิบากที่เกิดขึ้นทางตา

    นอกจากวิบากที่เกิดขึ้นทางตาแล้วยังมีวิบากที่เกิดขึ้นทางหู นั่นหมายถึงเสียงที่เราได้ยิน บางทีถ้าเราได้ยินเสียง
    ที่ไพเราะเพราะพริ้ง เราก็เกิดความพอใจ นั่นหมายถึงสุขเวทนาเกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ที่เราได้ยินเสียงที่เรา
    ไม่พอใจ เสียงที่นินทาว่าร้ายเรา เสียงที่เขาด่าเขาทอเรา เหล่านี้ ถ้าหากเราไม่มีสติแล้ว เราก็จะเกิดความพลุ่งพล่าน
    ในจิตใจเกิดขึ้น เกิดความทุกข์โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือวิบากซึ่งเกิดขึ้นจากทางหู
    ในทำนองเดียวกัน นอกจากวิบากที่จะเกิดขึ้นทางตา ทางหูแล้ว มันก็สามารถจะเกิดขึ้นทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
    และทางใจได้ โดยทางจมูกนั้น เราจะได้รับกลิ่นที่ดีหรือไม่ดี ทำให้เกิดอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น นี่เรียกว่า
    วิบากที่เกิดขึ้นทางจมูก

     

    ในทำนองเดียวกัน วิบากที่เกิดขึ้นทางลิ้นนั้น ก็คือรสต่างๆ ที่เราได้ลิ้มไป ถ้าเราได้ลิ้มรสที่พออกพอใจ เราก็มี
    ความสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนาเกิดขึ้นเป็นความพอใจของเรา ถ้าเราได้รับรสที่ไม่พออกพอใจแล้ว เราก็มีความ
    ทุกขเวทนาเกิดขึ้น นั่นคือความไม่พอใจ

    นอกจากวิบากกรรมซึ่งเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น แล้ว ยังอีกทางหนึ่งก็คือ ทางกาย ทางกายนั้นเรา
    อาจจะได้รับสัมผัสดีบ้างชั่วบ้าง หมายถึงการเย็น การร้อน การอ่อน การแข็ง เคร่ง ตึง ไหว เหล่านี้เป็นต้น
    นั่นหมายถึงวิบากกรรมหรือความสุขความทุกข์ที่เราได้รับจากทางกาย
    นอกจากนั้นแล้ว ประการสุดท้าย วิบากนั้นยังเกิดขึ้นจาก ทางใจ อีก นั่น คือการคิดนึกในอารมณ์ต่างๆ
    วิบากเหล่านี้ ถ้าเราขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราก็อาจจะก่อกรรมให้มันเป็นการต่อเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด เราจะ
    เห็นได้จากพวกเราเกือบทุกคนต่างก็ไม่รู้เท่าถึงการณ์ ที่ได้ทำวิบากนั้นให้เป็นกรรมต่อเนื่อง แล้วเราก็ได้รับผล
    ทนทุกขเวทนาต่างๆ ทั้งนี้เพราะเราขาดสติระลึกรู้นั่นเอง ฉะนั้นพวกเราถ้ามีปัญญา เราก็มีสติให้ระลึกรู้เอาไว้ เมื่อเรา
    ได้รับวิบากกรรมต่างๆ เราก็มีสติระลึกรู้ เราไม่โต้ตอบกรรมนั้น ไม่สร้างกรรมนั้นต่อ เราก็ได้ชื่อว่า เราเป็นผู้ชนะแล้ว
    ในผลวิบากนั้น

     

    ประการที่ ๕ ความสำคัญของสติประการที่ ๕ นั่นก็คือ การเตรียมตัวก่อนตาย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีสติ
    เป็นเครื่องระลึกรู้ ทำไมผมถึงได้บอกว่าการเตรียมตัวก่อนตายจำเป็นต้องใช้สติ เราเคยได้พูดแล้วว่าก่อนที่จะตายนั้น
    มันจะต้องเกิด จุติจิต เกิดขึ้นก่อน มันถึงจะตาย เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นนั้นมันจะต้องมี กรรมอารมณ์ ๑ กรรมนิมิต
    อารมณ์ ๑ คตินิมิตอารมณ์ ๑ 
    อารมณ์ทั้ง ๓ นี้แหละถ้าเราขาดสติระลึกรู้แล้ว เราก็ไม่แน่ว่าเราจะไปตกอยู่ใน
    ทุคติภูมิ ขั้นไหนเพราะเหตุไร เพราะว่าการขาดสติระลึกรู้นั้น โมหเจตสิกมันก็เข้ามาแทรกแซง ถ้าไม่มีโมหเจตสิก
    เข้ามา โลภเจตสิกมันก็เข้ามา หรือโทสเจตสิกมันก็เข้ามา สิ่งเหล่านี้อย่าประมาทว่ามันจะนำเราไปลงในนรกไม่ได้ เราได้
    กล่าวกันมาแล้วว่าแม้แต่คนจะตาย กำลังจะตาย มันก็สามารถจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่วได้ สิ่งนั้นเราเรียกว่า มโนกรรม
    เราจะเห็นได้ว่าคนบางคนทำบุญมาตลอดชีวิต เมื่อจวนจะตายขาดสติแว้บเดียวเท่านั้น ก็ได้สร้างอกุศลกรรม เกิดขึ้นในทางมโนกรรม
    ทั้งนี้เพราะเหตุอะไร เพราะปฏิสนธิจิต นั้นมันขึ้นอยู่กับชวนจิตในมรณาสันวิถี เมื่อจุติจิตบังเกิด ขึ้นแล้วทันทีปฏิสนธิจิตมันถึงจะเกิดขึ้น ดังนั้นการที่เราจะดับจิตไปก่อนตายนั้น เราดับไปในแง่ของกุศลหรืออกุศล
    ถ้าเรา ดับไปในแง่ของอกุศล เราก็ไม่พ้นทุคติภูมิ เรื่องเหล่านี้ถ้าเราเป็นคนสังเกตสักหน่อยหนึ่ง เราจะเห็นว่าคนที่เข้าอยู่ในขั้นโคม่า
    เขาจะนิมนต์เอาพระมาสวดมนต์ให้ฟังบ้าง มาเทศน์ให้ฟังบ้าง ท่านนึกหรือว่าพระที่มาเทศน์ก็ดี ที่มาสวดก็ดี หรือบางคน บอกหนทางว่าพระอรหัง พระอรหังนั้น จะช่วยให้เขาพ้นจากทุคติภูมิไปได้ ถ้าเขาขาดสติ ท่านนึกหรือว่ามันจะเป็นไปได้ เช่นนั้น ถ้าเรามาพิจารณาถึง ชวนจิต ในมรณาสันนวิถี หรือวิถีจิตสุดท้ายก่อนตายของคนเข้าขั้นโคม่านั้น
    ทางตามันก็ดับ ใช้ไม่ได้ ซึ่งเรียกว่าจักษุวิญญาณนั้นดับไปแล้ว ทางหูก็ไม่ได้ยิน เพราะว่าโสตวิญญาณนั้นมันก็ดับไป
    ทางจมูกมันก็ไม่ได้กลิ่น เพราะฆานวิญญาณมันก็ดับไป ลิ้นมันก็ไม่รู้รส เพราะชิวหาวิญญาณนั้นมันก็ดับไป ร่างกายก็
    ปราศจากความรู้สึก เพราะกายวิญญาณมันก็ดับไป คงเหลือตัวเดียวเท่านั้นคือ มโนวิญญาณ เมื่อมโนวิญญาณมันยังไม่ดับ
    และไม่มีอะไรเป็นพี่เลี้ยง อกุศลเจตสิกมันก็เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงแทน เห็นไหม บอกไว้แล้วว่าสติเป็นธรรมฝ่ายขาว ถ้าเรา
    ขาดสติเสียแล้ว ธรรมฝ่ายดำมันก็เข้ามาแทรกแซง เมื่อเข้ามาแทรกแซงแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ฟังต่อไป

    สิ่งที่จะเกิดขึ้นประการแรก เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมอารมณ์นั้นหมายถึงความคิดนึก คิดนึกฝ่ายดีก็ได้ ฝ่ายชั่ว
    ก็ได้ ซึ่งตนได้เคยทำมาแล้วในอดีต ในชีวิตของตัว นี่ เราได้บอกกันไว้แล้วว่า สตินั้นเป็นโสภณเจตสิก ถ้ามันจะนึกคิดจะนึก
    มันก็คิดนึกในทางดี ไม่ใช่ทางเลว ก็ถ้าเราขาดสติเสียแล้ว มันก็ไม่มีอะไรที่จะนึกดี นอกจากอกุศลเจตสิกที่ตน
    ได้ประกอบเอาไว้ในเมื่อยังเป็นๆ ยังดีๆ อยู่ตลอดชีวิตนั้น มันจะนึกได้เช่นนี้ ถ้าเราไม่มีสติ เมื่อนึกได้เช่นนี้ มันก็สร้าง
    ชนกกรรม คือตัวปฏิสนธิวิญญาณให้เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตนี่ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นฝ่ายอกุศลแล้ว เราจะหนีหรือ
    ว่าเราจะไม่ตกนรก จะไม่ไปเป็นเปรต จะไม่ไปเป็นอสุรกาย หรือไม่เป็นเดรัจฉาน เราหนีไม่พ้น นี่เพราะเหตุไร
    เพราะอาจิณกรรม ที่เราทำมาตลอดนั้นมันจะปรากฏให้เกิดขึ้น ดังนั้นคนโบราณเขาจึงได้ใช้บอกหนทางบ้างอะไรบ้าง
    แต่ถ้าเขาได้ศึกษาเรื่องจิตและเจตสิกแล้ว มันไม่เกิดประโยชน์ เพราะถ้าผู้นั้นไม่ได้หัดฝึกสติเอาไว้ตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว
    มันก็เป็นการยากยิ่งที่จะหนีทุคติภูมิไปได้
    นอกจากรรมอารมณ์แล้ว ตัวที่ ๒ มันก็มี กรรมนิมิตอารมณ์ เกิดขึ้น กรรมนิมิตอารมณ์หมายถึงความคิดนึกของ
    ผู้ที่อยู่ในเข้าขั้นโคม่า จวนจะดับจิตนั้น นึกยังไง นึกถึงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการทำบาปทำกรรม หรือเครื่องมือ
    เครื่องใช้ต่างๆ ในการสร้างบุญกุศลผลบุญ อาจจะเป็นสร้างโบสถ์สร้างวิหารอะไร หรืออาจจะไปยิงนกตกปลาอะไรก็ได้
    เหล่านี้ ถ้าเป็นกรรมฝ่ายชั่ว ไปนึกถึงฝ่ายชั่ว มันก็ไปทางชั่ว ถ้าเป็นกรรมทางฝ่ายดี มันก็ไปทางฝ่ายดี แต่บอกแล้วนี่ว่า
    สติตัวเดียวเท่านั้นที่มันจะชักจูงไปในกรรมฝ่ายดีให้เกิดขึ้น ก็ถ้าผู้นั้นขาดสติเสียแล้ว กรรมฝ่ายดีมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
    ขอให้พวกเราทุกคนได้มีสติตรึกตรองดูเถอะว่าที่ผมพูดมาจริงไหม ว่าสตินั้นมันเป็นตัวป้องกัน หรือเป็นตัวที่เราเตรียม
    ตัวก่อนตายได้ เป็นหลักประกันในก่อนตายเราว่าไม่ให้เราต้องไปสู่ทุคติ นี่
    ตัวที่ ๓ คือ คตินิมิตอารมณ์ หมายความถึงการแลเห็น นึกเห็นไป นี่ คตินิมิตอารมณ์นี้เป็นการแลเห็นสำหรับคน
    ที่ใกล้จะตายอยู่ในขั้นโคม่า มันจะปรากฏ ถ้าเราจะไปสู่ทุคติ เราอาจจะเห็นไฟนรก หรือสิ่งที่สำหรับลงโทษทุกข์ทรมานต่างๆ
    ปรากฏขึ้น และถ้าเราไปสู่สุคติภูมิ เราอาจจะแลเห็นวิมาน แลเห็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราได้ประกอบกุศลเหล่านี้
    นี่ มันจะเกิดขึ้นในคตินิมิตอารมณ์เช่นนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ตรองดูว่า สตินั้นเรารู้ชัดแล้วว่ามันเป็นตัวโสภณเจตสิก
    คือการควบคุมจิตของเรา กรรมอารมณ์ก็ดี กรรมนิมิตอารมณ์ก็ดี คตินิมิตอารมณ์ก็ดี เหล่านี้มันเป็นเครื่องชี้หนทาง
    ให้เราเห็นว่าเราจะตกนรก หรือเราจะขึ้นสวรรค์ เห็นได้เมื่อเราจะตายทั้งสิ้น แต่ไม่มีใครช่วยเราได้ เพราะอะไร เพราะว่า
    ตอนนั้นมันจะไปดีหรือไปชั่วมันอยู่ที่ ชวนจิต ของวิถีจิตสุดท้ายก่อนตาย หรือเรียกว่า มรณาสันนวิถี นั่นเอง
    เหตุนี้แหละถ้าเรามีสติให้เป็นเครื่องระลึกรู้แล้ว มันก็เป็นเรื่อง การเตือนให้เรารู้อยู่เสมอว่าอะไรมันจะเป็นอะไร
    อย่างเลวสตินั้น มันจะสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ปัญญาในที่นี้ผมหมายถึง กัมมัสสกตาปัญญา คือปัญญาที่รู้ว่ากรรมนั้น
    เป็นสมบัติของตน
    ท่านทั้งหลายอาจจะไม่รู้ว่ากัมมัสสกตาปัญญานั้น เราจำเป็นจะต้องรู้ทุกคนว่ามันมีอย่างไร
    กัมมัสสกตาปัญญานี้ หมายถึงปัญญาที่รู้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นสมบัติของตน นี่ และถ้าเราจะเอาพุทธพจน์ที่ว่า
    " อัตตา หิ อัตตโน นาโถ " ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตนเอง เช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีผู้ใดเลยที่จะมาปัดเป่ากรรม
    ที่เราได้สร้างเอาไว้ให้พ้นไปได้ เว้นแต่ตัวเราเองซึ่งมีสติระลึกรู้อยู่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เมื่อทำเหตุดีแล้ว ผลดี
    ย่อมปรากฏขึ้น เหตุจะดีได้ก็ด้วยการมีสติระลึกรู้ ฉะนั้นอย่างเลวเราจะต้องมีกัมมัสสกตปัญญาเกิดขึ้น กัมมัสสกตาปัญญา
    นั้นหมายความว่าอะไร หมายถึงปัญญารู้ในเรื่องนี้ ๑0 ประการ คือ
    ๑. อตฺถิ ทินฺนํ ( อัตถิ ทินนัง ) ปัญญาเห็นว่าทานที่บุคคลให้แล้วย่อมมีผล นี่ ตัวที่ ๑ นะ ก็หมายความว่า ผล
    ทานนั้นย่อมมีจริงๆ นี่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้อย่างนี้ ฉะนั้นเราจะสังเกตว่าคนเรานี่เกิดมาทำไม
    บางคนก็จน บางคนก็รวย เพราะเหตุไร เพราะว่าเขาทำทานนี่มันไม่สม่ำเสมอกัน บางคนก็ทำทานมาก บางคนก็ทำ
    ทานน้อย
    ตัวที่ ๒ เรียกว่า อตฺถิ ยิฏฺฐํ ( อัตถิ ยิฏฐัง ) คือปัญญารู้เห็นการบูชาย่อมมีผล
    ตัวที่ ๓ เรียกว่า อตฺถิ หุตํ ( อัตถิ หุตัง ) แปลว่าปัญญารู้เห็นว่าการบวงสรวงเทพยดานั้นย่อมมีผล
    ตัวที่ ๔ เรียกว่า อตฺถิ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก ( อัตถิ กัมมานัง ผะลัง วิปาโก ) คือปัญญารู้เห็นว่าผลแห่ง
    วิบากกรรมดี และกรรมชั่วมีอยู่ หมายถึงว่า ใครทำกรรมอย่างไรก็ได้รับผลอย่างนั้น
    ประการที่ ๕ อตฺถิ อยํ โลโก ( อัตถิ อะยัง โลโก ) ปัญญารู้เห็นว่าโลกนี้มีอยู่ หมายความว่าผู้ที่มาเกิดในโลกนี้มี
    ตัวที่ ๖ อตฺถิ ปโร โลโก ( อัตถิ ปะโร โลโก ) หมายถึงปัญญาเห็นว่าโลกหน้ามีอยู่ หมายความว่าผู้จะไปเกิดนั้นมี
    คือพูดไปทำไมมี พูดกันง่ายๆ นรกมีจริงสวรรค์มีจริงนั่นเองน่ะ ว่าเราอยู่ในชาตินี้แล้ว เราอาจจะตายไป แล้วอาจจะ
    ไปตกนรกก็ได้ อาจจะขึ้นสวรรค์ก็ได้ เราต้องรู้อย่างนี้
    ทีนี้ ตัวที่ ๗ เรียกว่า อตฺถิ มาตา ( อัตถิ มาตา ) หมายความว่า ปัญญารู้เห็นว่ามารดามีอยู่ตัวนี้
    อีกตัวหนึ่ง อตฺถิ ปิตา ( อัตถิ ปิตา ) ปัญญารู้เห็นว่าบิดามีอยู่
    อันนี้หมายถึง การที่ทำกรรมดีก็ดี จะทำกรรมชั่วก็ดี อันสัมพันธ์กับบิดามารดานั้นมันให้ผล มันมี ถ้าถึงกับการ
    ฆ่าบิดามารดาแล้ว มันก็เข้าไปอยู่ในครุกรรม ๕ ซึ่งได้แก่ การฆ่าบิดา ๑ การฆ่ามารดา ๑ การฆ่าพระอรหันต์ ๑
    การทำพระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ๑ และการทำให้สงฆ์แตกแยกกันอีก ๑ นี่ เป็นครุกรรมอันหนัก ผู้ที่ทำกรรมเช่นนั้น
    แล้วย่อมจะต้องไปอยู่ในอเวจีมหานรก
    นอกจากนั้นแล้วตัวที่ ๙ เรียกว่า อตฺถิ สตฺตโอปปาติกา ( อัตถิ สัตตะโอปะปาติกา ) หมายความว่า ปัญญา
    รู้เห็นว่าโอปปาติกะสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ หมายความว่า ปัญญารู้เห็นว่าโอปปาติกะสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ หมายความว่าสัตว์
    นรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เป็นของที่มีอยู่จริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดกันเล่นๆ นี่
    ตัวที่ ๑0 เรียกว่า อตฺถิ โลเก สมณพรฺาหมณา สมฺมา ปฏิปนฺนา ( อัตถิ โลเก สะมะณะพราหมณา สัมมา
    ปะฏิปันนา ) คือว่าหมายถึงว่า ปัญญารู้เห็นว่าสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบประกอบด้วยความรู้ยิ่ง เห็นจริง
    ประจักษ์ซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเองมีอยู่ในโลกนี้
    นี่ เป็นเรื่องของสติ เป็นคุณค่าของสติ
    เมื่อเราได้รู้ถึงคุณค่าของสติแล้ว ดังกล่าวมาข้างต้น ปัญหาต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะหาสติได้จากที่ไหน ในเรื่องนี้
    ขอให้พวกเราทำความเข้าใจให้ดี คนเราเกิดมาทุกคนไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดาต่างก็มีสติ คือมันรวมอยู่ในเจตสิก
    คือผู้ที่เกิดมาเป็นคนหรือเทวดานี่ มันมี ขันธ์ ๕ อยู่ครบ อันได้แก่ ๑. รูปขันธ์ ๒. สัญญาขันธ์ ๓. เวทนาขันธ์
    ๔. สังขารขันธ์ ๕. วิญญาณขันธ์ คำว่าสติในที่นี้หมายถึง สังขารขันธ์ ซึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวงนั้น เราหักออกเวทนา
    ขันธ์ออกเสียตัวหนึ่ง กับสัญญาเจตสิกออกเสียอีกตัวหนึ่ง เหลืออีก ๕0 ตัวนั้นเรียกว่าสังขารขันธ์ สตินั้นเป็นตัวหนึ่ง
    ในสังขารขันธ์ประเภทโสภณเจตสิก จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เราก็พิสูจน์ได้ว่าทุกคนต่างมีสติติดตัวกันมาทั้งนั้น แต่เรา
    ไม่ได้ทำให้มันตื่นขึ้น ทั้งนี้เพราะเหตุใด เพราะในชีวิตของคนส่วนใหญ่นั้น ต่างก็มัวหลงเพลิดเพลินอยู่ในความสุขบ้าง
    ความสวยบ้าง ความงามบ้าง นี่ เราเรียกว่า โลภมูลจิต บางพวกก็เต็มไปด้วยความโกรธ ความแค้น ความอาฆาต
    ความพยาบาท เราเรียกว่า โทสมูลจิต บางคนก็เอ้อระเหย ใครว่าอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรมว่า
    ความเป็นจริงของธรรมะมีเป็นประการใด อะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม เราไม่รู้ ตัวนี้แหละเราเรียกว่า โมหมูลจิต เพราะ
    ในชีวิตของคนเราส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ประพฤติธรรมไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี
    โมหมูลจิตก็ดี มันย่อมจะเข้ามาครอบงำ เมื่อมันเข้ามาครอบงำเช่นนี้แล้ว ขอถามซักหน่อยเถอะ เมื่อเวลาเราจะตายนี่
    มรณาสันนวิถีกำลังเกิดขึ้นนั้น เราจะเอาสติมาจากไหน ที่จะป้องกันเรามิให้เราไปสู่ทุคติภูมิ อันได้แก่ นรก ๑ เปรต ๑
    อสุรกาย ๑ เดรัจฉาน ๑ เราเอาอะไรมาเป็นหลักประกัน เพราะในชีวิตของเราไม่ได้หัดสร้างสติเอาไว้ ดังนั้นถ้าพวก
    เราทุกคนเห็นความสำคัญของสติดังนี้แล้ว ถ้าพวกเราคนใดคนหนึ่งสนใจในการที่จะปลุกสติที่เรามีอยู่แล้ว ให้มันตื่นขึ้น
    เอามาใช้ทำประโยชน์ เราก็สามารถจะฝึกจะหัดให้มันลุกขึ้น ให้มันตื่นขึ้น ตั้งแต่ต้นจนถึงใช้ให้มันเกิดประโยชน์ ในการ
    เจริญสติปัฏฐาน หรือเรียกกันทั่วๆ ไป ว่าวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นโลกุตตรกุศลอันสูงสุด นั่น สติตัวเดียวเท่านั้น
    ทีนี้เมื่อพวกเราทุกคนได้รู้จักแล้วว่าความสำคัญของสตินั้นมีประการใด เราลองมาพิจารณาหาเหตุผลในการจะ
    สร้างสติ
    กันขึ้นว่าเราควรจะทำประการใด
    ประการแรก การที่เราจะฝึกสติตัวแรกก็คือ เราฝึกให้มีการระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ผมพูดว่าเราหัดฝึก
    สติให้ระลึกรู้โดยเป็นปัจจุบันธรรมเช่นนี้ พวกเราที่ไม่รู้ถึงความยากลำบากของการฝึกสติอาจจะหัวเราะเยาะว่าเรื่อง
    ง่ายนิดเดียว เพียงแต่ให้ระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรมนั้น ทำได้ง่าย ง่ายหรือไม่ง่ายลองทำดูว่าความจริงนั้นสติมันระลึกรู้
    ขึ้นจริงหรือเปล่า
    ประการแรก สติระลึกรู้จากทางตา ตาทุกคนไม่บอด เราแลเห็นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะรูปสีหรือเรียกกันว่ารูปารมณ์
    นั้น เราระลึกรู้หรือเปล่า สิ่งที่เราเห็นเหล่านั้นมันเป็นความจริงที่รู้ได้ทางตาเท่านั้น นั่นมันเป็นรูปสี เราเคยระลึกรู้
    หรือเปล่า มีแต่เห็นแล้วเราหลง เราเห็นแล้วเราเกิดโทสะ ถ้าเราเห็นรูปใดที่สวยงามผ่ายนัยน์ตาเรา เราก็มีความพอใจ
    มีความชอบใจ มีความปลาบปลื้มยินดี อะไรมันเกิดขึ้น เราไม่ได้เห็นด้วยสติ นั่น เราเห็นด้วยโลภะ ถ้าเราเห็นด้วย
    สติ มันไม่ใช่อย่างนี้ เราเพียงแต่ว่าเรารู้ อ้อ นี่เป็นความจริงซึ่งรู้ได้ทางตาเท่านั้น มันเป็นเพียงรูปธรรม
    อย่างเดียวเท่านั้น
    มันไม่มีอะไรวิเศษไปกว่านั้น เพียงแค่นัยน์ตาของท่านเท่านั้น เห็นไหมว่าเราแลเห็นด้วยสติ
    หรือเปล่า ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ผมรับรองได้ว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถจะแลเห็นได้ด้วยสติ แต่เราเห็น
    ด้วย ราคะ โทสะ และ โมหะ ด้วยกันทุกคน นี่ เพียงนัยน์ตาอย่างเดียว
    ทีนี้ต่อไป ทางหู เราเคยระลึกรู้ไหมว่า สัททารมณ์หรือ เสียงนั้นมันรู้ได้แต่เฉพาะทางหูอย่างเดียวเท่านั้น
    ผมว่าส่วนใหญ่พวกเราไม่ได้ระลึก ถ้าเราได้ยินเสียงอะไรเพราะๆ เราก็เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่อง มีความพออกพอใจ
    ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แต่ถ้าเราได้ยินเสียงเขานินทาว่าร้ายเรา เขาว่ากล่าวเรา เขาด่าเรา เขาตะโกนโพนทะนาเราเช่นนี้
    เราก็เกิดความไม่พอใจ ท่านจะอ้างอีกหรือว่าการฟังดังกล่าวนั้น ท่านมีสติระลึกรู้ ความจริงท่านไม่ได้มีสติระลึกรู้เลย
    ท่านรู้อย่างไร ท่านรู้ประกอบด้วยโลภะ นั่นคือความพอใจในการที่ได้ยินเสียงที่เขาชมเชยเรา เสียงนั้นเป็นเสียงไพเราะ
    เพราะพริ้ง เสียงที่ยกยอปอปั้น อะไรเล่า ไม่ใช่โลภมูลจิตมันเกิดขึ้นหรอกหรือ นั่นไม่ใช่สติ เพราะสติระลึกรู้แล้ว
    เรารู้กันมาแล้วว่าสตินั้นเป็นโสภณเจตสิก อกุศลจิตทั้งหลายมันจะมากล้ำกรายเราไม่ได้ นี่
    นอกจากนี้แล้ว เราได้ยินเสียงเขานินทาว่าร้าย มีการกล่าวร้ายป้ายสีเรา เราก็เกิดความโกรธ ความแค้น ความ
    อาฆาต นี่หรือบอกว่ามีสติ เรามีความโกรธเขา อะไรเล่า มีความแค้นเขา อะไรเล่า มีความอาฆาตเขา อะไรเล่า
    นั่นคือโทสมูลจิตมันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อโทสมูลจิตมันเป็นฝ่ายดำ สติมันจะเกิดขึ้นอย่างไร มันก็ไม่เกิดสิ
    หรือเราได้ยินเสียง เราก็ไม่สนใจ เพียงแต่สักว่าเสียงเขาพูดอะไรกันเท่านั้น ไม่เกิดความยินดี ไม่เกิดความยิน
    ร้าย ฟังแล้วเฉยๆ รู้เรื่องแล้วก็เฉยๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา สิ่งเหล่านี้นั่นหรือคือสติเกิด ความจริงไม่ใช่ โมหมูลจิต
    คือความหลงมันเกิดขึ้นกับท่านแล้ว
    เห็นไหม มีที่ไหนสติ ตาเราเห็น เราก็ไม่มีสติ หูเราฟังเสียง มันก็ไม่มีสติ แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นทุนในการที่จะ
    ประกันชีวิตของเราก่อนตายเล่า เราไม่มีอะไรเลยเพราะว่าเราขาดสติ ถ้าเรามีสติระลึกรู้แล้ว เสียงไพเราะเพราะ
    พริ้งก็ดี เสียงที่ไม่ไพเราะก็ดี เสียงที่นินทาว่าร้ายเราก็ดี เมื่อเรามีสติระลึกรู้เราก็รู้ว่า อ๋อ นั่นมันเพียงสัททารมณ์ คือ
    รูปเสียงเท่านั้น
    มันไม่มีอะไรวิเศษไปกว่านั้น นี่แหละมันถึงจะเรียกว่ามีสติ แต่ผมรับรองว่าพวกเราทุกคน ไม่มีใคร
    มีสติระลึกรู้เช่นนั้น เพราะเราไม่ได้ฝึกสติ ไม่ได้หัดสติ ไม่ได้ฝึกสติให้มันตื่นขึ้น มันจึงไม่รู้
    ประการที่ ๓ ในทางจมูก เมื่อเราได้กลิ่นหอมหวลยวนใจ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม ไม่ว่าจะเป็น
    กลิ่นดอกไม้ หรือกลิ่นอื่นๆ ที่เราพอใจ เราก็มีความยิ้มย่องผ่องใส มีความเบิกบานสำราญใจว่าสิ่งเหล่านี้เราชอบ เรา
    ต้องการ นี่หรือเรียกว่ามีสติ โลภมูลจิตมันก็เกิดขึ้นอีกแล้ว
    ในทำนองเดียวกัน เราได้กลิ่นซึ่งเป็นของเหม็น ของเผ็ดร้อน ของที่ไม่ต้องการที่จะดม แม้ตลอดจนของอับเหม็น
    เช่น ไอเสีย หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องการ เราไม่มีความพอใจเช่นนั้น อะไรเกิดขึ้นเล่า
    ความไม่พอใจ ความเกลียด ความชังที่จะได้กลิ่นเช่นนั้น นั่นอะไร ก็โทสมูลจิตมันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อโทสมูลจิตมันเกิด
    ขึ้นแล้วเช่นนี้ สติมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็ไม่เกิด
    เราดูต่อไปใหม่ เราได้กลิ่นอะไร เราก็ไม่ได้สนใจ เหม็นเราก็ไม่สนใจ เพราะเราทนได้ หอมเราก็ไม่สนใจ เพราะเรา
    เฉยๆ เช่นนี้ อะไรเล่ามันเกิดขึ้น นั่นคือโมหมูลจิตมันได้เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เราหลงใหลใฝ่ฝัน ไม่ได้นึกถึงความจริงที่
    มันปรากฏ
    ถ้าเรารู้สติ เรามีสติ เราก็รู้ได้ว่า กลิ่นนั้นมันเป็นเพียงความจริงซึ่งปรากฏรู้ได้ทางจมูกเท่านั้น มันเป็น
    คันธารมณ
    หรือรูปกลิ่นเท่านั้นเอง นี่ เราเคยระลึกรู้อย่างนี้หรือ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ระลึกรู้เช่นนี้ สติมันจะเกิด
    ขึ้นได้อย่างไร มันก็คงจะหลับต่อไป คงปล่อยแต่ตัวอกุศลมูลจิตให้มันเกิดขึ้น ไม่ว่าโลภะ ไม่ว่าโทสะ ไม่ว่าโมหะ เช่นนี้
    ถ้าเราใกล้จะตาย บอกแล้วว่า หูเราก็ดับ ตาเราก็ดับ การบอกหนทางนั้นจะสามารถช่วยให้เราไปสู่สุคติภูมิได้หรือ
    ถ้าเราไม่ได้ฝึกหัดให้เกิดสติระลึกรู้ตั้งแต่ยังเป็นๆ ขณะนี้
    นอกจากนี้แล้ว การรู้ได้ทางลิ้น นั่นคือรสต่างๆ ซึ่งเรามีความพอใจก็มี ความไม่พอใจก็มี ถ้าเป็นรสที่หวาน
    เย็นชุ่มชื่น เราก็เกิดมีความพอใจ ถ้าเป็นรสเผ็ดร้อน ขม ขื่น เหล่านี้เราก็ไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ชีวิตประจำวันของเรา
    เราได้ผ่านรสเช่นนี้ตลอดเวลาที่กินอาหาร เราเคยมีสติระลึกรู้ถึงรสเหล่านี้มั่งหรือเปล่าว่ามันเป็นอะไร เปล่า
    ถ้ารสนั้นมันเป็นรสที่เราถูกใจ ความพอใจในการได้รสนั้นมันก็เกิดขึ้น อะไรหรือ อร่อยจริงหนอ อย่างนี้ฉันชอบ
    อย่างนี้อร่อย นั่น โลภมูลจิตมันเกิดขึ้นแล้ว อ้ายอย่างนั้นไม่อร่อย มันเผ็ดจัดไปฉันไม่ชอบ นั่นอะไร โทสมูลจิตมัน
    เกิดขึ้นแล้ว บางทีกินไปจะอร่อยหรือไม่อร่อย ฉันไม่สนใจ ฉันกินไปให้มันอิ่มๆ ก็แล้วกัน อะไรมันเกิดขึ้น โมหมูลจิต
    มันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเหล่านี้มันเป็นอกุศลมูลจิตทั้งสิ้น เราเคยระลึกรู้หรือเปล่าว่า เรามีสติระลึกรู้ในเรื่องรสเพียงแต่ว่า
    อ๋อ รสที่เราลิ้มรู้ได้ทางลิ้นนั้น มันเป็นรูป เรียกว่า รสารมณ์ คือรส รูปที่รู้ได้จากทางลิ้นเท่านั้น เราเคย
    ระลึกรู้บ้างหรือเปล่าเช่นนี้ ว่ามันเป็นเพียงรูปเท่านั้น มันไม่มีความคงทนอะไร เราไม่เคยระลึก เมื่อไม่เคยระลึก
    สติมันก็ไม่เกิด
    ฉะนั้นสตินั้นเพียงเท่าที่อธิบายมา มันก็เป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ต่อไปตัวที่ ๕ ก็คือ ทางกาย
    ทางกายอย่างไร เราได้รับสัมผัส ไม่ว่าเย็น ไม่ว่าร้อน ไม่ว่าอ่อน ไม่ว่าแข็ง หรือเคร่งตึง ไหว เรารู้ได้ทางกาย
    แต่เราไม่มีสติระลึกรู้ สิ่งใดที่เป็นที่อ่อนนุ่ม เราก็ เอ้อพอใจ นั่งสบายดี สิ่งใดที่ร้อนหน่อย แข็งนิดนึง ไม่พอใจ เพราะ
    มันร้อนไป จากการสัมผัสทางผิวหนัง นี่ อะไรมันเกิดขึ้น ความพอใจที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นโลภมูลจิต ความไม่พอใจ
    ที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นโทสมูลจิต ถ้าเรานั่งเฉยๆ อะไรก็นั่งได้ อะไรก็นั่งได้ อะไรเล่าที่มันเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็คือโมหมูลจิต
    ที่มันเกิดขึ้น เช่นนี้ มันก็ไม่มีสติระลึกรู้
    ถ้าเรามีสติระลึกรู้แล้ว เมื่อเราสัมผัสกับอะไร ถ้าสัมผัสกับการแข็ง เราก็รู้นั่นว่าเป็นรูปดิน หรือ
    การอ่อน เราก็รู้ว่ามันเป็นรูปดิน อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามันมีความเย็นความร้อน เราก็รู้ว่า อ๋อมันเป็น
    รูปไฟ มันให้ความเย็นความร้อน
    ในชีวิตของเราเคยไหมอย่างนี้ เมื่อเราไม่เคยแล้ว เราจะไม่พร้อม
    หรือที่เราจะปลุกสติให้มันลุกขึ้น ถ้าสติมันไม่ลุกขึ้น เมื่อเวลาจะตายใครจะมาช่วยเราได้ อันนี้มันก็เข้ามาใน
    " อัตตา หิ อัตตโน นาโถ " ไม่มีใครจะช่วยตัวของเราได้เลยนอกจากตัวของเราเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของ
    ตัวเราเอง
    ประการสุดท้าย ความรู้ประการสุดท้าย คือความรู้ในทางใจ เรียกว่า ธัมมารมณ์ อันรู้ได้เกิดจากได้จากการ
    คิดนึก เราเคยพิจารณาหรือเปล่าว่า ธัมมารมณ์นั้นมันเกิดขึ้นทางใจเท่านั้น เราเพียงแต่ว่านึกคิดถึงสิ่งที่เรารักใคร่
    พอใจ เราก็พอใจในสิ่งนั้นที่เราคิดเรานึก ถ้านึกคิดถึงในสิ่งที่ไม่พอใจ เราก็มีความเกลียด มีความโกรธ ไม่พอใจในสิ่ง
    ที่เราคิดนึกอันนั้น นั่นอะไร นั่นก็คือ ตัวโลภมูลจิตมันเกิดขึ้น โทสมูลจิตมันเกิดขึ้น ถ้าเราคิดนึกสิ่งที่เฉยๆ มันก็เป็น
    โมหมูลจิตมันเกิดขึ้น ไม่มีสติระลึกรู้เลยว่า อ๋อ อ้ายนั่นมันเป็นธัมมารมณ์อันหนึ่ง มันเป็นนามธรรมเท่านั้น
    เราเคยระลึกเช่นนี้หรือ นี่เป็นแต่เพียงว่า การที่เราฝึกให้รู้เป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น เรายังไม่มีกันแค่นี้แล้ว แล้ว
    เราจะเอาอะไรมาเป็นตัวที่จะปลุกสติต่อไปเมื่อเราจะตาย
    จากที่ได้พูดมานี้ พวกเราทุกคนน่าจะได้เห็นความสำคัญของสติ มันมีความสำคัญประการใด และจะเห็นได้ว่า
    การที่ปลุกสติให้มันลุกขึ้นเป็นปัจจุบันธรรมนั้น มันไม่ใช่เป็นของทำกันได้ง่ายๆ แต่ท่านทั้งหลายอย่าลืมว่า ความ
    เพียรมีที่ไหน ความสำเร็จมีที่นั่น ถ้าเรารักตัวของเรา ทุกคนต้องตาย ถ้าเราไม่อยากไปสู่ทุคติภูมิซึ่งมี นรก ๑ เปรต ๑
    อสุรกาย ๑ เดรัจฉาน ๑ เราจงเริ่มปลุกสติกันเสียขณะนี้ คือการฝึกสติให้มีระลึกรู้เป็นปัจจุบันธรรม ดังที่ผมได้แนะนำ
    มาแล้วเมื่อกี้นี้ และสติตัวนี้อีกนั่นแหละ เราจะได้นำไปใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเราเรียกกันว่า สติปัฏฐาน
    ๔ นั่นเอง ตามที่กล่าวมานี้ ผมก็ขอจบเรื่อง การระลึกรู้หรือสติขั้นต้นไว้เพียงแค่นี้

จบการฝึกสติให้ระลึกรู้ขั้นต้น ตอน ๒

 

Next : Page 3>>

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปล I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1