หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

 

 

คู่มือมนุษย์

 

"พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ"

 

ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน?

เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่ วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อย ๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทาง จนกระทั่งบัดนี้เลยมีเนื้องอก ก้อนโต ๆ อย่างมากมาย

พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอก เหล่านี้ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสี อย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรม เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยกันจรรโลง พระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่ง แก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว


แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ ของพระพุทธศาสนาก็ได้

ถ้ามองด้วยสายตาของนักศีลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มาก หรือว่าชอบพุทธศาสนา เพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก

พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับ นอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญ จะเห็นได้ ส่วนนี้ก็ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่า ของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา), เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง), ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง), ความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ; หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ; ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาด ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนา ในฐานะเป็นสัจจธรรม

พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฏิบัติแล้วจะหลุดพ้น ไปจากความทุกข์ได้จริง นี่เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา

เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวาง อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิต แม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของ โลกปัจจุบันไปเสียอีก

พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณ ไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผล แห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่า เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับ ผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน ; แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันที สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ ; เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้ว ด้วยจิตใจของท่านเอง ไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล

หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจ ของผู้มีสติปัญญา ; โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษาค้นคว้าแล้วจะ มีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง

สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนใน พระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับ หลักวัฒนธรรมสากล, และมีคำสอนอีกมาก ที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ โดยเฉพาะซึ่งดีกว่า สูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย

แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมปิฎก บางคัมภีร์ เช่น คัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยม ซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงไหลต่าง ๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา : มีผลดียิ่งไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศีลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียว โดยไม่ปฏิบัติอะไร, และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุก ๆ แล้วไม่ละกิเลสได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับ การประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคม แต่อย่างเดียว

อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือ เป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้ น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใสน่าบูชา เป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นไอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องแค่นเข็นกัน : เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศีลบริสุทธิ์ : มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต : มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น

เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิต อย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิต โดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่น ๆ

"พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ"
-------------------------------------------------------------------------------

Next : Page 3>>

 

หน้าแรก I ประวัติพระพุทธเจ้า I บททำวัตรเช้า-เย็น แปลI จิตสังเขป I ตู่มือมนุษย์I การฝึกใจ l ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ I ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก I

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1