อาหารพื้นเมืองของจังหวัดตาก

เมี่ยงคำเมืองตาก หรือเมี่ยงนายพล

          ลักษณะและส่วนประกอบของเมี่ยงคือ มะพร้าวขูด, ข้าวตากแห้งทอด, ถั่วลิสงคั่ว, กุ้งแห้ง, แคบหมู, มะนาว, หัวหอมแดง, ขิง, พริกขี้หนูสด, เต้าเจี้ยว, ข้าวเกรียบชุบน้ำให้อ่อนตัว ต้องหันมะนาว, หัวหอมแดง, ขิง ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำส่วนประกอบทั้งหมดห่อด้วยข้าวเกรียบ ใส่น้ำเต้าเจี้ยว ห่อพอดีคำ รับประทานเป็นของว่าง นับเป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมกันมากในจังหวัดตาก

กะบองจ่อ

          อาหารทานเล่นชนิดหนึ่ง ชื่ออาหารมาจากภาษาพม่า "จ่อ" หมายถึง "ทอด" กะบอง หมายถึง "ฟักทอง" รวมหมายถึงฟักทองทอด โดยนำมาชุบแป้งก่อนทอด ลักษณะอาหารจะกรอบนอก สีเหลือง เคล็ดลับความกรอบอยู่ที่ ส่วนผสมแป้งเรียกว่า "แปม้ง" มาจากภาษาพม่า ทำจากถั่วสีเหลืองอ่อน ปัจจุบันไม่ได้มีแต่ฟักทองเท่านั้น แต่ได้นำผักชนิดอื่น เช่น มะละกอดิบ, น้ำเต้า, ถั่วงอก มาชุปแห้งทอดด้วย โดยจิ้มน้ำจิ้มที่มีส่วนผสมของ น้ำมะขามเปียก, น้ำอ้อยเคี่ยว, เกลือ, ถั่วลิสงป่น และกระเทียม ออกรส เปรี้ยว, หวาน, มัน มีขายทั่วไปในตลาดอำเภอแม่สอด

เส่งเผ่ และ ฮาละหว่า

          เป็นชื่อขนมหวานมาจากประเทศพม่า "เส่งเผ่" ตัวขนมคล้ายขนมข้าวเหนียวแดง ทำจากข้าวเหนียว, น้ำอ้อย, กะทิ ต่างกันตรงหน้าเส่งเผ่ จะราดด้วยหัวกะทิแล้วปิ้ง หรืออบหน้าจนเกรียม รสชาติหวานมัน ส่วน "ฮาละหว่า" ตัวขนมทำจากแป้งข้าวจ้าว, น้ำตาลทราย, กะทิ, เมล็ดสาคูเล็ก หน้าขนมเช่นเดียวกับเส่งเผ่ รสชาติหวานมัน แม่ค้าจะทำขนมนี้โดยบรรจุในถาดถลมใหญ่ทรงพม่า และตัดขายเป็นชิ้นเล็ก มีขายในตลาดสดเทศบาลแม่สอดทุกวัน

ก๋วยเตี๋ยวพื้นเมือง

          ลักษณะของก๋วยเตี๋ยวที่นี้คือ ใช้เส้นชนิดเล็ก ปรุงด้วยกุ้งแห้งป่น, แคบหมูชิ้นเล็ก, หอม หระเทียมเจียว, หมูบะช่อ, ถั่วฝักยาวหั่นเฉียง, น้ำตาลทราย, น้ำมะนาว, น้ำปลา มีทั้งชนิดแห้งและน้ำ ปัจจุบันมีผู้ทำขาย 2 รายคือ ป้าบาง ในเขตอำเภอเมืองตาก และ ก๋วยเตี๋ยวป้าหล้า ถนนอินทรคีรี อำเภอแม่สอด


ประวัติ&ภูมิประเทศ  สถานที่ท่องเที่ยว เทศกาลงานประเพณี อาหารพื้นเมือง ลู่ทางการลงทุน คู่มือท่องเที่ยวอุ้มผาง มีอะไรใหม่?
จัดทำโดย นายสมเกียรติ อ่วมจ้อย
Hosted by www.Geocities.ws

1