สภาพแม่น้ำแม่กลอง
สภาพแม่น้ำแม่กลองอันเป็นต้นน้ำลำธาร

 ป่าดิบชื้นบริเวณอุ้มผาง
ป่าดิบชื้นบริเวณอุ้มผาง
เป็นผืนป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
และเนื่องจากที่ตั้งจึงทำให้ได้รับอิทธิพล
พรรณพืชของเขตอินเดีย-พม่า รวมทั้ง
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูน จึงทำให้
ปรากฏพรรณไม้เฉพาะถิ่นอยู่มากมาย

กระโถนฤาษี (Sapria himalayana)
กระโถนฤาษี พืชกาฝาก
ที่ไม่มีต้น หรือใบ จึงต้องขึ้นเบียนดูดน้ำ
และธาตุอาหารจากรากพืชอื่น มีเพียง
ส่วนดอกเท่านั้นที่จะผุดขึ้นมาจากพื้นดิน

กระเจียวส้ม (Curcuma roscoeana)
กระเจียวส้ม พืชจำพวกขิงข่า
ที่มีต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้พื้นดิน มันจะผลิ
ดอกออกมาอย่างพร้อมพรั่งในช่วงฤดูฝน

นกเงือกคอแดง (Aceros nipalensis)
นกเงือกคอแดง หนึ่งใน
นกเงือกที่หายากของประเทศไทย
ตัวผู้เท่านั้นที่จะมีขนบริเวณหัวลงมา
จนถึงใต้ท้องเป็นสีน้ำตาลแดง ในขณะ
ที่ตัวเมียจะมีเพียงถุงใต้คอเป็นสีแดง

ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea)
ฟ้ามุ่ย กล้วยไม้ที่จัดเป็น
พรรณไม้หวงห้ามมันจะออก
ดอกให้ชมราวเดือนสิงหาคม

บทนำ

  • อุ้มผาง อำเภอหนึ่งของ จังหวัดตาก  ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนตะวันตกของประเทศไทย สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ถูกปิดล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีเส้นทางคมนาคม เข้าออกของประเทศไทย จากอำเภอแม่สอดเพียงเส้นทางเดียว แหล่งท่องเที่ยว ในอำเภออุ้มผางแทบทั้งหมดเป็นแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายน้ำลำธาร ของผืนป่าตะวันตก อันเป็นแหล่งมรดกโลก ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่า กระเหรี่ยงผู้เลี้ยงช้างเป็นพาหนะ ก็เป็นชุมชนใหญ่ของอำเภออุ้มผาง ที่ยังคงความ บริสุทธิ์สวยงาม ด้วยศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และวัฒนธรรมต่างๆ เฃ่นการเดินป่า ล่องแม่น้ำ ขี่ช้าง ไปชมน้ำตกต่างๆ ป่าเขา ตลอดจนหมู่บ้านชาวเขา ซึ่งเป็นที่นิยมมาก

  • ทว่าขณะเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ก็มีความเปราะบาง และมีความสามารถ ในการรองรับได้ในจำนวนที่จำกัด รูปแบบของการท่องเที่ยวที่เหมาะสมที่สุด สำหรับอำเภออุ้มผางจึงควรเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อที่จะเก็บรักษา สภาพธรรมชาติอันงดงามนี้ไว้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังประโยชน์ให้กับท้องถิ่นด้วยการ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน
    ไว้ได้เป็นอย่างดี

  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมและพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษณ์ให้กับอำเภออุ้มผาง โดยดำเนินการฝึกอบรม รณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนเผยแพร่แนะนำการท่องเที่ยวที่ถูกต้องแก่ นักท่องเที่ยว ททท.จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารคู่มือท่องเที่ยว จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ความเข้าใจในการท่องเที่ยวอุ้มผางดีขึ้น พร้อมทั้งให้ทุกฝ่ายเกิดความร่วมมือในการปกปักรักษาแหล่งท่องเที่ยวของเราให้ยั่งยืนสืบไป

อุ้มผาง
ประวัติความเป็นมา

  • อุ้มผางเดิมเป็นเมืองหน้าด่านทางชายแดนตะวันตกของประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ทั้งหมด ภายหลังจึงมีคนไทยจากภาคเหนืออพยบมาตั้งถิ่นฐาน เมืองนี้จึง เป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางมาค้าขายในเขตไทย มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจ เอกสารเดินทางข้ามชายแดน ซึ่งสมัยก่อนจะนำเอกสารใส่กระบอกไม้ไผ่มีฝาปิด มิดชิด เพื่อช่วยป้องกันฝนและการฉีกขาดระหว่างการเดินทางแรมเดือนในป่าได้ เมื่อมาถึงอุ้มผางก็จะเปิดกระบอกไม้ไผ่ที่เก็บเอกสาร เพื่อแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ประทับตรา เอกสารนี้ เรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า "อุ้มผะ" ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น "อุ้มผาง" ซึ่งเป็นชื่อเรียก อำเภอในปัจจุบัน จุดอุ้มผะหรือจุดเปิดกระบอกไม้ไผ่นี้ ตั้งอยู่ที่ บ้านกุยเคลอะ ตำบลแม่กลอง ปัจจุบันคือ บ้านกุดเลอต่อ ตำบลแม่จัน

  • อำเภออุ้มผางปัจจะบันแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ อุ้มผาง แม่กลองใหม่ แม่ละมุ้ง แม่จัน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีหมู่บ้านใหญ่ๆ เช่น บ้านปะหละทะ บ้านโคทะ บ้านเปิ่งเคลิ่ง บ้านแม่จัน บ้านทิโพจิ และบ้านเลตองลุ

สภาพภูมิศาสตร์

  • อำเภออุ้มผางเป็น 1 ใน 8 อำเภอของจังหวัดตาก ตั้งอยู่ทางชายฝั่งซ้ายตอนต้นของ แม่น้ำแม่กลอง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก ประมาณ 249 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,325,383 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,703,362.5 ไร่ เป็นอำเภอที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

  • ลักษณะพื้นที่อำเภออุ้มผางคล้ายจะงอยยื่นเข้าไปในเขตพม่า จึงมีพรมแดนติดต่อกับ ประเทศสหภาพพม่ายาวถึง 180 กิโลเมตร ทิศเหนือติดอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ทิศใต้ติดอำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันออกติดอำเภอ คลองลาน อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ทิศตะวันตกติดประเทศสหภาพพม่า
  • พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนในแนวเทือกเขาถนนธงชัย อันเป็นเส้นกั้นเขต แดนระหว่างไทยกับพม่า มีป่าไม้หนาแน่น นับเป็นป่ากันชนและเป็นส่วนหนึ่งของ ผืนป่าตะวันตกมรดกโลก คือ ทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ทั้งยังเป็นต้นกำเนิด ของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น ลำน้ำแม่จัน ห้วยอุ้มผาง ห้วยแม่ละมุ้ง ห้วยกล้อทอ โดยเฉพาะแม่น้ำแม่กลองที่ไหลหล่อเลี้ยงภาคตะวันตกของประเทศ พื้นที่ทั้งหมด ของอุ้มผางจึงเป็นภูเขาร้อยละ 97 มีพื้นที่ราบตามหุบเขาและลุ่มแม่น้ำเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

ภูมิอากาศ
          สภาพภูมิอากาศในอำเภออุ้มผาง มี 3 ฤดู คล้ายกับแห่งอื่นๆทางภาคเหนือของประเทศ ทว่ามีอากาศแตกต่างกันมากในแต่ละฤดู คือ ฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม- พฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดถึง 39.2 องศาเซลเซียส ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน- ตุลาคม อำเภออุ้มผางจัดเป็นอำเภที่มีฝนตกชุกมาก เพราะมีภูเขาสูงและป่าไม้หนา แน่น ปริมาณน้ำฝนวัดได้สูงสุดคือ 299.2 มิลลิเมตร ในเดือนกรกฏาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุด 2.5 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนธันวาคม
สภาพป่าไม้
  • ด้วยภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง จึงมีป่าไม้หนาแน่น และยังมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ 1,914,494 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70.8 ของพื้นที่ทั้งหมด และด้วยความสำคัญในฐานะ ที่เป็นผืนป่าต้นน้ำลำธาร และมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง ผืนป่าในอำเภอ อุ้มผางจึงได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยประกาศเป็น เขตรักษาสัตว์ป่าอุ้มผาง และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทั้งยังมีพื้นที่ติดต่อกับเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าเหล่านี้จึงนับเนื่องเป็นผืนป่าตะวันตกอันมี พื้นที่รวมทั้งสิ้น ราว 5.5 ล้านไร่ กลายเป็นผืนป่าที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในเอเชีย อาคเนย์ ซึ่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งได้รับการประกาศให้เป็นแหล่ง มรดกโลกแล้ว ผืนป่าส่วนที่เหลือจึงเป็นเสมือนป่ากันชน ต้นน้ำแม่กลอง หรือ ต้นกำเนิดผืนป่าตะวันตกมรดกโลก
  • สภาพป่าส่วนใหญ่มีทั้งป่าดิบเขาและป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ อันมีพรรณ ไม้ได้แก่ ตะเคียน สัก ประดู่ เสลา ตะแบก เต็ง รัง ยาง เป็นต้น ส่วนพืชพรรณ ที่เด่นและพบมากเช่น ป่าไผ่ ซึ่งพบอยู่ทั่วไป ป่าไม้สักอยู่สองฝั่งลำน้ำแม่กลอง ดงเสี้ยวขาว พบตามป่าสองข้างทางไปบ้านปะหละทะ ต้นปลงและต้นเป้ง ตามชายป่า และดอยหัวหมด นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ดอกไม้ป่า และเฟิร์นมากมายเช่น ฟ้ามุ้ย เอื้องผึ้ง เอื้องแซะ รองเท้านารีกาญจน์บุรี กระเจียว เทียน และเฟิร์นก้านดำ เป็นต้น
สัตว์ป่า นก และสัตว์น้ำ
          ด้วยที่ตั้งของผืนป่าตะวันตกเป็นจุดที่อยู่บนรอยต่อของการกระจายพันธุ์สัตว์ป่าในภูมิภาค เอเชียอาคเนย์ (Indo-Burma และ Indo-Chaina) เช่น ลิงภูเขา ค่างแว่นถิ่นเหนือ นกเงือกคอแดง ค่างหงอก สมเสร็จ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าหลายชนิดได้แก่ ช้าง หมี เสือ กระทิง เก้ง กวาง เลียงผา หมูป่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง เป็นต้น และยังพบ นกที่หายากใกล้สูญพันธุ์คือ เป็ดก่า ที่บังลากะโต ส่วนในลำน้ำแม่กลองนับว่าเป็น แหล่งพันธุ์ปลาน้ำจืดที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง

ย้อนกลับ
จัดทำโดย นายสมเกียรติ อ่วมจ้อย
ต่อไป

ประวัติ&ภูมิประเทศ  สถานที่ท่องเที่ยว เทศกาลงานประเพณี อาหารพื้นเมือง ลู่ทางการลงทุน คู่มือท่องเที่ยวอุ้มผาง มีอะไรใหม่?
Hosted by www.Geocities.ws

1