กองกำลังรักษาสันติภาพ ๙๗๒ ไทย/ติมอร์ตะวันออก

ตอนที่ ๓๙ ครบวาระการผลัดเปลี่ยนกำลังพล

     ในห้วงเดือนกรกฎาคม กองกำลังของประเทศไทยก็จะครบวาระในการเข้า ร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ซึ่งได้ปฏิบัติการมาตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ รวมแล้วเป็นเวลา ๖ เดือนเต็มและในเดือนเดียว กันนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNTAET PKF Force Commander) ก็จะครบวาระในการปฏิบัติ หน้าที่เช่นเดียวกันซึ่งก็เป็นข่าวดีที่คนไทยได้รับเลือกจากเลขาธิการสหประชาชาติให้ปฏัติหน้าที่ ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพฯ คนต่อไป
     ผมได้เขียนถึงเรื่องราวของ ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพฯ ไว้ครั้งหนึ่งแล้วในฉบับก่อน ซึ่งในห้วงนันมี ข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่าประเทศไทยจะได้รับเลือกให้จัดส่งนายทหารระดับสูงไปเป็น ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพฯ ต่อจาก พล.ท.ไจเม เดอ ลอส ซานโตส ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งจะครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ในเดือนกรกฎาคมนี้ กองทัพไทยก็ได้ส่งรายชื่อให้องค์การสหประชาชาติพิจารณา ๒ ท่าน คือ พล.ท.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และ พล.ต.ทรงกิตติ จักรกาบาตร์ รอง เจ้ากรมข่าวทหาร บก.ทหารสูงสุด เลขาธิการสหประชาชาติได้เลือก พล.ท.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็น ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชา ชาติในติมอร์ตะวันออกคนต่อไปซึ่งท่านผู้นี้จบการศึกษาทางด้านการทหารที่โรงเรียนนายร้อยสหรัฐฯ และจบการศึกษาปริญญาเอกวิศวกรรมโครง สร้าง จากสถาบันเอไอที นอกจากนั้นยังเป็นผู้บังคับหน่วยทหารมาแล้วหลายหน่วย การที่ยูเอ็นเลือกชาวไทยเป็น ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพฯ คน ต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน
     ทางด้านกองกำลังของกองทัพไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพอยู่ที่เมืองเบาเกาและเมืองวีเคเคก็จะครบ วาระผลัดเปลี่ยนกำลังในต้นเดือนสิงหาคมนี้ซึ่งการผลัดเปลี่ยนกำลังดำเนินการขึ้นระหว่างวันที่ ๑ - ๑๐ ส.ค.๔๓ โดยมีกำลังพลจากกองพันทหารราบ ที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๖ (ร.๖ พัน.๑) ไปผลัดเปลี่ยน นับเป็นกำลังพลผลัดที่สองที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในติมอร์ฯ ที่ผมไม่นับกำลังพลที่เดินทางกลับ ประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เป็นผลัดแรก ก็มีเหตุผลอยู่ว่า
     กำลังพลชุดนั้นเป็นกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดกองกำลังอินเตอร์เฟตซึ่งจบภารกิจไปในเดือนกุมภา พันธ์ที่ผ่านมาและมีกำลังพลส่วนใหญ่แปรสภาพหรืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติจนครบวาระดังกล่าว
     ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายในการผลัดเปลี่ยนกำลัง เพียงชุดเก่าไปชุดใหม่มาก็สิ้นเรื่อง แต่จริงๆแล้ว มันไม่ง่าย ดังที่คิดนะครับ ดูแต่ตอนเดินทางไปติมอร์ฯ ก็แล้วกัน เตรียมแล้วเตรียมอีก บรรจุสิ่งของอุปกรณ์ขนย้ายไปยังสนามบิน จัดระวางบรรทุก กำลังพล ก็พร้อมแล้ว เครื่องบินก็บินไปรับแล้ว แต่ยังเดินทางไม่ได้เพราะเครื่องยนต์เกิดขัดข้องต้องร้องเพลงรออยู่ถึง ๒ - ๓ ครั้ง ก็ปวดเศียรเวียนเกล้ากัน พอสมควรกับฝ่ายวางแผน เรื่องการผลัดเปลี่ยนกำลังก็เช่นเดียวกันก็ต้องวางแผนเอาไว้ถึง ๒ - ๓ แผนเพื่อเตรียมไว้กันปวดหัวกับการเปลี่ยนแผน แต่เมื่อถึงเวลาจริง มันอาจจะไม่ยุ่งยากเหมือนตอนเดินทางไปก็ได้ เพราะมีฝ่ายควบคุมการเคลื่อนย้าย (Movement Control) หรือ MOVCON เป็น ผู้จัดหาเครื่องบินสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแต่จะมีเครื่องชนิดไหนมานั้นขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติในสหรัฐฯซึ่งจนถึงขณะ ที่เขียน ต้นฉบับอยู่นี้(๗ ก.ค.)ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะขึ้นเครื่องที่ไหน ใช้เครื่องอะไร      ในขั้นต้นพวกเราได้เตรียมแผนเอาไว้เป็น ๓ แผน โดยแผนแรกขึ้นเครื่องที่เบาเกาบินตรงสู่กรุงเทพมหา นคร ส่วน ร.๖ พัน.๑ ก็จะขึ้นเครื่องที่จังหวัดอุบลราชธานีบินตรงไปที่เมืองเบาเกาซึ่งแผนนี้ จะมีความสะดวกที่สุดสำหรับพวกเรา ทั้งผู้เดินทางไปและ เดินทางกลับ
     ส่วนแผนที่สอง หากไปขึ้นเครื่องที่เมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย ก็จะต้องเคลื่อนย้ายจากเมืองเบาเกา ไปเมืองดิลีด้วยรถยนต์และเคลื่อนย้ายจากเมืองดิลีไปเมืองดาร์วินด้วยเรือ ต่อจากเมืองดาร์วินก็ขึ้นเครื่องไปลงที่กรุงเทพฯ ในทางกลับกัน ร.๖ พัน.๑ ก็จะขึ้นเครื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีไปลงที่เมืองดาร์วิน เคลื่อนย้ายต่อไปที่เมืองดิลีด้วยเรือและเดินทางต่อไปที่เบาเกาด้วยรถยนต์ ซึ่งหากต้องใช้ แผนนี้จะทำให้ทุกคนลำบากสุดๆ ทุลักทุเลและเหน็ดเหนื่อยอย่างสุดๆ เพราะจะต้องขนอุปกรณ์ทั้งส่วนตัวส่วนราชการขึ้นรถลงเรือกันหลายครั้งและ อาจจะต้องพักคอยที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานหรืออาจจะต้องค้างคืนที่ใดที่หนึ่งก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางซึ่งจะมีเรื่องอาหารการกิน ที่นอน ที่อาบ น้ำ ที่ปลดปล่อยของเก่าเข้ามาให้แก้ปัญหาเพิ่มเติมอีก
     แผนสาม หากต้องไปขึ้นเครื่องที่เมืองดาร์วินและมีการเคลื่อนย้ายจากเมืองเบาเกาไปเมืองดาร์วินด้วย เครื่องบิน ก็จะขึ้นเครื่องบินขนาดกลางที่เมืองเบาเกาบินตรงไปต่อเครื่องขนาดใหญ่ที่เมืองดาร์วินไปที่ตำบลปลายทางกรุงเทพฯ ในทางเดียวกัน ร.๖ พัน.๑ ก็จะบินจากอุบลราชธานีไปยังเมืองดาร์วินและต่อเครื่องขนาดกลางไปที่เมืองเบาเกา
     โดยทั้งสามแผนจะแบ่งกำลังพลทั้งสองผลัด (ร.๓๑ พัน.๓ รอ.ผลัดที่ ๑ และ ร.๖ พัน.๑ ผลัดที่ ๒) เป็น ๓ ชุดๆ แรกของ ร.๖ พัน.๑ เดินทางวันที่ ๑ ส.ค. ๔๓ และชุดแรกของ ร.๓๑ พัน.๓ รอ. เดินทางวันที่ ๒ ส.ค. ชุดที่สองของ ร.๖ พัน.๑ เดิน ทางวันที่ ๕ ส.ค.และชุดที่สองของ ร.๓๑ พัน.๓ รอ. เดินทางวันที่ ๖ ส.ค. ชุดที่สามของ ร.๖ พัน.๑ เดินทางวันที่ ๙ ส.ค. และชุดที่สามของ ร.๓๑ พัน.๓ รอ. เดินทางวันที่ ๑๐ ส.ค.๔๓
     ถ้าสามารถเลือกได้ แผนแรกจะสะดวกที่สุดในการเดินทางไปและกลับของกำลังพล เพราะต่างก็ขึ้นลงยังที่ หมายโดยตรงเลย ไม่ต้องขึ้นรถลงเรือหรือพักคอยที่ใดที่หนึ่ง แผนสองจะเป็นแผนที่ลำบากที่สุดทั้งสองฝ่ายจะต้องเดินทางสวนทางกันซึ่งไม่รู้ว่าจะมี ปัญหาอะไรตามมาให้แก้อีก ส่วนแผนสามก็พอทำเนาเพราะใช้เวลาในการเดินทางจากเมืองเบาเกาไปเมืองดาร์วินน้อยกว่าแผนสอง ซึ่งต้องใช้เวลาเดิน ทางจากเมืองเบาเกาไปเมืองดิลีและเมืองดิลีไปเมืองดาร์วินอย่างน้อยก็เสียเวลาไปแล้วกว่า ๒๔ ชั่วโมง
     ทำไมเครื่องบินที่สนับสนุนการผลัดเปลี่ยนกำลังครั้งนี้ ไม่ยอมลงที่สนามบินเมืองเบาเกา ก็มีเหตุผลที่ทราบ กันอย่างไม่เป็นทางการว่า เขาไม่ยอมลงเพราะสนามบินที่นี่ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกทางด้านการบิน ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าสนามบินแต่ละแห่งที่มีอยู่ในติ มอร์ฯ ถูกทำลายหมดในช่วงเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วก่อนที่อินเตอร์เฟตจะเข้าไป ยังดีที่ทางวิ่งขึ้นลงไม่ถูกทำลายไปด้วยปัจจุบันจึงสามารถใช้การได้ ทั้ง สนามบินโคโมโรในเมืองดิลีและสนามบินเมืองเบาเกา แต่ก็ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการบินดังกล่าว ถ้าไม่ลงที่เมืองเบาเกาที่อื่นไม่ต้องพูดถึง เพราะสนามบินเมืองเบาเกามีทางวิ่งขึ้นลงยาวที่สุดในติมอร์ฯ ซึ่งมีความยาว ๒,๔๐๐ เมตร ที่ผ่านมาเครื่องบินแอนโตนอฟของประเทศรัสเซียซึ่งเป็น เครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเขาขนอุปกรณ์การช่วยเหลือเช่น รถยนต์ เฮลิคอปเตอร์และอุปกรณ์ขนาดหนักรวมทั้งขนเฮลิคอปเตอร์ของ ทบ.ไทย เมื่อตอนจบภารกิจอินเตอร์เฟต ขึ้นลงที่สนามบินเบาเกาอย่างสบายทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องช่วยเดินอากาศ
     ที่แน่นอนก็คือ ทำใจเถอะครับคงต้องไปขึ้นเครื่องกลับประเทศไทยที่เมืองดาร์วินแน่นอน แต่จะเดินทาง อย่างไรเท่านั้น (เดี๋ยวก็รู้)
     ปลายเดือน ก.ค.คงมีคำตอบจากสวรรค์

01 02 03 04 05 06 07 08 09 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 31 32 33 34 35 36 37 38 39 40

picture   e-mail address: [email protected], baucau EAST TIMOR
Hosted by www.Geocities.ws

1