สมาชิก

User

Pass




 

การเลี้ยงไก่ไข่

การเลี้ยงไก่ไข่เพื่อให้ขนาดไข่ได้ขนาดฟองโต อายุการให้ไข่นาน ประสิทธิภาพการใช้อาหารเพื่อผลิตไข่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดโรคแทรกซ้อนน้อย อัตราการตายต่ำกว่าและอัตราการคัดทิ้งต่ำ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดการเลี้ยงดูเอาใจใส่เป็นอย่างดีตั้งแต่ลูกไก่ ไก่เล็ก ไก่รุ่น ไก่สาวนั่นเอง ดังนั้นไก่ไข่หรือก่อนให้ไข่ถือว่าเป็นช่วงที่การลงทุนสูงที่สุดแล้ว เพราะระยะต่อจากนี้ไปต้นทุนการผลิตจะเริ่มลดน้อยถอยลงตามอายุของการให้ไข่ ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไก่ไข่นั้นให้ผลผลิตสูงเป็นระยะเวลาที่นานที่สุดนั้นก็หมายความว่า ผู้เลี้ยงจะได้ค่าตอบแทนสูงนั่นเอง

ความพร้อมของโรงเรือนและอุปกรณ์

การเลี้ยงไก่เพื่อให้ผลผลิตสูงสุด ก่อนที่ไก่ไข่จะให้ผลผลิต 2-4 สัปดาห์ ฝูงไก่รุ่นควรจะย้ายออกจากโรงเรือนเดิม (ไก่เล็กหรือไก่รุ่น ไก่สาว) ไปเลี้ยงในโรงเรือนไก่ไข่ โรงเรือนไก่ไข่ที่ดีควรมีการถ่ายเทอากาศดี ไม่ร้อนอบอ้าว โดยมีขนาดความกว้างประมาณ 6-8 เมตร ส่วนความยาวของโรงเรือนจะมีกรงตับ รางน้ำ รางอาหารที่ปฏิบัติงานสะดวกรวดเร็วและทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในโรงเรือนโดยล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนและรอบนอกของโรงเรือน พร้อมมีระยะพักโรงเรือนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนย้ายเข้าภายในโรงเรือน
ในกรณีเลี้ยงแบบปล่อยพื้นก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไก่ไข่อยู่โรงเรือนใหม่ก็ได้ ไก่จะไม่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่อุปกรณ์ที่ต้องเพิ่มเข้าไปนอกจากรางน้ำ รางอาหารที่มีอย่างเพียงพอแล้วก็คือ รังไข่ โดยนำรังไข่ (nest) ใส่ในตอนช่วงอายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ หรือก่อนที่ไก่จะให้ผลผลิต 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ฝูงไก่เหล่านั้นคุ้นเคย อัตราส่วนของรังไข่ (nest) ต่อจำนวนไก่คือ 1 รัง ต่อจำนวนไก่ไข่ 5-6 ตัว หากเป็นรังไข่ที่ใช้แล้วก็ต้องทำความสะอาดเช่นกัน โดยผูกหรือตั้งเรียงรายให้ทั่วโรงเรือนเพื่อมิให้เกิดปัญหาไก่แย่งรังไข่กัน ทำให้ไข่เปลือกบุบหรือแตกเกิดความเสียหาย
ส่วนการเลี้ยงแบบกรงตับซึ่งต้องมีการขนย้ายจากโรงเรือนเดิม เข้าสู่โรงเรือนไก่ไข่นั้น ก่อนที่จะมีการย้าย 1-2 สัปดาห์ ควรให้อาหารและน้ำอย่างเต็มที่แก่ฝูงไก่เหล่านั้น โดยการเพิ่มอุปกรณ์ใส่น้ำและอาหารมากขึ้น เพื่อให้ไก่กินน้ำและอาหารได้อย่างเต็มที่มากขึ้น พร้อมกับการละลายยาปฏิชีวนะและไวตามินลงในน้ำดื่มให้กับฝูงไก่ก่อนการขนย้ายด้วย วิธีการขนย้ายควรทำในเวลากลางคืนอากาศเย็นสบาย จะลดการตื่นเต้นตกใจของไก่ ขนย้ายด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน และไม่ควรใส่ไก่ในกรงแน่นเกินไป เพราะการย้ายฝูงไก่ดังกล่าวเข้าโรงเรือนไก่ไข่ ผลกระทบต่อการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ไก่จะเกิดสภาวะเครียดสูงมาก และควรคัดไก่ที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ ไก่แคระแกร็น หรือพิการออกด้วย