ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
๑. วัตถุคาถา๑
เรื่องพราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา

[๑] พราหมณ์พาวรี ผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศล
อันรื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๒] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะกับแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้
[๓] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๘๓-๑๐๓๘/๕๒๔-๕๓๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔] ท่านบูชามหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่ง ก็เดินทางมาถึง
[๕] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ
[๖] พราหมณ์พาวรีเห็นเขาแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๗] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราสละไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๘] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง) กล่าวคำที่น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๑๐] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๑๑] เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๒] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้นเป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๓] (พราหมณ์พาวรีคิดว่า) เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๑๔](เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๑๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๑๖] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๗] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ
[๑๘] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๙] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็เบิกบานใจ ความเศร้าโศกก็เบาบางลง
และได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๒๐] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกประทับอยู่ ณ ที่ไหน
จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๑] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศายกบุตรพระองค์นั้น ผู้ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของพระเจ้าโกศลเขตกรุงสาวัตถี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๒] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า มาณพทั้งหลาย
มานี่เถิด เราจักบอก ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา
[๒๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวต่อไปว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ
ในโลกนั่นหาได้ยาก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
พวกเธอจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๔] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าพวกข้าพเจ้าพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๒๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับ
[๒๖] บุคคลใดมีมหาปุริสลักษณะเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๒๗] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือน
จะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม
โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๘] แต่ถ้าบุคคลนั้น ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๒๙] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้นถึงชาติ
โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๓๐] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๓๑] ครั้นฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๓๒] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๓๓] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๓๔] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา พระผู้มีพระภาค
ทรงเผากิเลสเหล่านี้ด้วยไฟคือญาณ (ดูรายละเอียดในข้อ ๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๓๕] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๓๖] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา๑
[๓๗] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๓๘] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา
[๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[๔๑] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ
[๔๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

เชิงอรรถ :
๑ วนสวหยา มีชื่ออีก ๒ อย่าง คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๓] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตร พร้อมด้วยลักษณะ
ขอโปรดตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร
มีลักษณะ๑ ๓ อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท๒
[๔๕] พราหมณ์นั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์๓และประวัติศาสตร์๔
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๕และเกฏุภศาสตร์๖
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์ ๕๐๐ คน
[๔๖] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์โปรดประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะ หมายถึงมหาปุริสลักษณะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๒๖-๗/๑๔๓๒)
๒ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ คัมภีร์ คือฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้
๓ มนตร์ ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท
ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
๔ ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๕ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๖ เกฎุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้
[๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์
ก็ปลาบปลื้มใจ ประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๔๙] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือพระอินทร์ผู้สุชัมบดีเมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสบอกปัญหานั้นกับใครเล่า
[๕๐] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามถึงเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอพระองค์โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะเป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพ มีความปลาบปลื้มใจมากล้น
สนับสนุนแล้ว พาดหนังเสือเฉวียงบ่า
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท (แล้วกราบทูลต่อไปว่า)
[๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๕๔] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุขและแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๕๕] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่เธอ
และมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จงถามเถิด
[๕๖] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปัญหาข้อแรกกับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุคาถาจบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
๒. มาณวปัญหา
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๕๗] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
[๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
[๕๙] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๔๓-๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
[๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
[๖๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ (๖)
[๖๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด (๗)
[๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (๘)
อชิตมาณวปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๖๕] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๑)
[๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (๒)
[๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓)
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๗๓-๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๓. ปุณณกมาณวปัญหา
๓. ปุณณกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๖๘] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๑)
[๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ (๒)
[๗๐] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๘๓-๑๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๗๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (๖)
ปุณณกมาณวปัญหาที่ ๓ จบ

๔. เมตตคูมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๗๔] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๑๐-๑๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (๒)
[๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓)
[๗๗] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๔)
[๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๙] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๖)
[๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ (๗)
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (๘)
[๘๒] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๙)
[๘๓] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (๑๑)
[๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว (๑๒)
เมตตคูมาณวปัญหาที่ ๔ จบ

๕. โธตกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๘๖] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๕๕-๑๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒)
[๘๘] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)
[๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔)
[๙๐] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๖)
[๙๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๗)
[๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย (๘)
โธตกมาณวปัญหาที่ ๕ จบ

๖. อุปสีวมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๙๔] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๗๗-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย
เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน (๒)
[๙๖] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ (๓)
[๙๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (๔)
[๙๘] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก (๕)
[๙๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น (๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๐] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๗)
[๑๐๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน) (๘)
อุปสีวมาณวปัญหาที่ ๖ จบ

๗. นันทมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๒] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๙๕-๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี (๒)
[๑๐๔] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๑๐๖] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๖)
[๑๐๘] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๗)
นันทมาณวปัญหาที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๘. เหมกมาณวปัญหา
๘. เหมกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙] (ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น (๑)
[๑๑๐] (ท่านเหมกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม (นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด (๒)
[๑๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (๓)
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว (๔)
เหมกมาณวปัญหาที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๑๗-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๙. โตเทยยมาณวปัญหา
๙. โตเทยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๑๓] (ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร (๑)
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (๒)
[๑๑๕] (ท่านโตเทยยะทูลถามว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด (๓)
[๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (๔)
โตเทยยมาณวปัญหาที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๒๖-๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๐. กัปปมาณวปัญหา
๑๐. กัปปมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๑๗] (ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก (๑)
[๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
กัปปะ เราจะบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัยแก่เธอ (๒)
[๑๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราเรียกนิพพาน ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร ไม่ไปบำรุงมาร (๓)
กัปปมาณวปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๓๔-๒๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๒๑] (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ (๑)
[๑๒๒] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า)
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (๒)
[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว
ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๔๕-๒๕๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา
[๑๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป (๔)
[๑๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น
ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง (๕)
ชตุกัณณิมาณวปัญหาที่ ๑๑ จบ

๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๒๖] (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้ (๑)
[๑๒๗] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า)
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๕๗-๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๒)
[๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (๓)
[๑๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (๔)
ภัทราวุธมาณวปัญหาที่ ๑๒ จบ

๑๓. อุทยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๓๐] (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๖๘-๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
[๑๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ
ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง (๒)
[๑๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา (๓)
[๑๓๓] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน (๔)
[๑๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน (๕)
[๑๓๕] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ (๖)
[๑๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท (๗)
อุทยมาณวปัญหาที่ ๑๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๔. โปสาลมาณวปัญหา
๑๔. โปสาลมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๓๗] (ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (๑)
[๑๓๘] (ท่านโปสาละทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร (๒)
[๑๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย (๓)
[๑๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๘๓-๒๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง (๔)
โปสาลมาณวปัญหาที่ ๑๔ จบ

๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๔๑] (ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ (๑)
[๑๔๒] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ (๒)
[๑๔๓] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๙๘-๓๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (๔)
โมฆราชมาณวปัญหาที่ ๑๕ จบ

๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๔๕] (ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๑)
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๒)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๗] (ท่านปิงคิยะทูลถามว่า)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๓)
[๑๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้นเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๔)
ปิงคิยมาณวปัญหาที่ ๑๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
๓. ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
(พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว
ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน เพราะธรรม
เหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้ จึงชื่อว่า
ปารายนะ
[๑๔๙] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๑)
[๑๕๐] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี (๒)
[๑๕๑] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๓๓-๓๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
[๑๕๒] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระพุทธเจ้า (อันพราหมณ์เหล่านั้น)
ทูลสอบถามปัญหาแล้ว
ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย (๔)
[๑๕๓] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ (๕)
[๑๕๔] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ (๖)
[๑๕๕] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ (๗)
ปารายนัตถุติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
๔. ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๕๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (๑)
[๑๕๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (๒)
[๑๕๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๔๖-๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๕๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (๔)
[๑๖๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ (๕)
[๑๖๑] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ
ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ (๖)
[๑๖๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๗)
[๑๖๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๔] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน (๙)
[๑๖๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๑๐)
[๑๖๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๑๑)
[๑๖๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น (๑๒)
[๑๖๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริเสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล (๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ
โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์
เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น (๑๔)
[๑๗๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ (๑๕)
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสว่า)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช (๑๖)
[๑๗๒] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ (๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๗๓] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ
ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘)
[๑๗๔] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙)
ปารายนานุคีติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
๕. มาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
คำว่า โลก ในคำว่า โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้ ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิด
เดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก๑ ขันธโลก ธาตุโลก๒ อายตนโลก๓
โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้ ตรัสเรียกว่า โลก โลกนี้ ถูกอะไรโอบล้อม
หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ รวมความว่า โลกถูกอะไร
เล่าหุ้มห่อไว้

เชิงอรรถ :
๑ เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง ๖ เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข
แต่ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (๑) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ
จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศ
ตะวันตก ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (๒) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะ
เป็นจอมเทพ (๓) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (๔) ดุสิต
แดนที่อยู่แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (๕) นิมมานรดี แดนแห่ง
เทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้
ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือ เสวยสมบัติที่พวกเทพอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ
(สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๙)
๒ ธาตุโลก หมายถึงธาตุ ๑๘ คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไป
ตามธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบ
จำเพาะตัว อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (๑) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (๒) รูปธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส อธิบายว่า เพราะเหตุไร โลกจึง
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
รวมความว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบทา คือ เกี่ยวข้อง ผูกพัน ทำให้โลกนี้เศร้าหมอง
โลกถูกอะไรฉาบ ทา ไล้ ทำให้หมองมัว หมองคล้ำ แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ ขอพระองค์โปรดตรัส คือโปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้

เชิงอรรถ :
ธาตุคือรูปารมณ์ (๓) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (๔) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (๕)
สัททธาตุ ธาตุคือสัททารมณ์ (๖) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (๗) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท
(๘) คันธธาตุ ธาตุคือคันธารมณ์ (๙) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (๑๐) ชิวหาธาตุ
ธาตุคือชิวหาปสาท (๑๑) รสธาตุ ธาตคือรสารมณ์ (๑๒) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (๑๓)
กายธาตุ ธาตุคือกายปสาท (๑๔) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (๑๕) กายวิญญาณธาตุ
ธาตุคือกายวิญญาณ (๑๖) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (๑๗) ธัมมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (๑๘)
มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือมโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๘๓-๑๘๔/๑๔๒-๑๔๖)
๓ อายตนโลก หมายถึงอายนตนะ ๑๒ คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย (๖) ใจ และอายตนะภายนอก
๖ ได้แก่ (๑) รูป (๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ (๖) ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ นี้ เรียกทั่วไปว่า
อารมณ์ ๖ คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า อะไรเป็นภัย เป็นภัยใหญ่
คือ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนั้น
รวมความว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
ว่าด้วยอวิชชา
คำว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ อธิบายว่า
คำว่า อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้
ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้
ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ในส่วนอดีตและอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้
ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอา
โดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความ
ไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคือ
อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ข่ายคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้ ตรัสเรียกว่า
อวิชชา๑
คำว่า โลก ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก
เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้
ตรัสเรียกว่า โลก
โลกนี้ถูกอวิชชานี้โอบล้อม หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้
รวมความว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๑๐๖/๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควร
เป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส๑ ธรรมรส๒ วิมุตติรส๓
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ๔ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ๕ ๑๐ อานาปานัสสติสมาธิ๖ อสุภสมาบัติ๗ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๒ ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๓ วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๔ อภิภายนตะ คือ ฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔)
๕ กสิณสมาบัติหมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปฐวีกสิณฌาน เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๖ อานาปานัสสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๗ อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพ
ที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ซากศพที่เน่าพอง (๒) ซากศพที่มีสีเขียว
(๓) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (๔) ซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (๖) ซากศพ
ที่มีมือเท้าศีรษะขาด (๗) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (๘) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (๙) ซาก
ศพที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (๑๐) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ๑ ๑๐
เวสารัชชญาณ๒ ๔ ปฏิสัมภิทา๓ ๔ อภิญญา๔ ๖ พุทธธรรม๕ ๖ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในลำดับการ
บรรลุอรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัตติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล)
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า อชิตะ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ
สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับ
ขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถ-
คามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุ-
ญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ
ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อน
แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (๗) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว
เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๑๐) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
(องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗)
๒ เวสารัชชญาณ ๔ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ได้แก่ (๑) สัมมาสัมพุทธ
ปฏิญญา (๒) ขีณาสวปฏิญญา (๓) อันตรายิกธัมมวาทะ (๔) นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. ๑๒/๑๕๐/
๑๑๐-๑๑๑)
๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึงปัญญาแตกฉาน ๔ อย่าง คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติ-
ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ(องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๗๒
/๒๔๒-๒๔๓)
๔ อภิญญา ๖ คือ ความรู้ยิ่งยวด (๑) อิทธิวิธิ ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสต
ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์ (๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้
อาสวะสิ้นไป ๕ ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/
๗๗-๘๔)
๕ พุทธธรรม ๖ หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ทั้งหมด เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) และดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๓๐๑-๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า
มัจฉริยะ ๕ อย่าง เรียกว่า ความตระหนี่ คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่)
๒. กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
๓. ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ)
๔. วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ)
๕. ธัมมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม)

ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่
อายตนะก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ ก็เรียกว่า ความตระหนี่
ขอกล่าวถึงความประมาท ความปล่อยจิตไปหรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิต
ไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ อย่าง การทำโดย
ไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน
ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่
ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญ
กุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่
ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้ ตรัสเรียกว่า ความประมาท
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า โลก
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
เพราะความตระหนี่และความประมาทนี้ รวมความว่า โลกไม่สดใสเพราะความ
ตระหนี่และความประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยตัณหา
คำว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความอยาก ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อย
ตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น
ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน
ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม
ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป
ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็น
เพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ
ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง
ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส
ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร
ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบบ่อย ๆ ธรรมชาติที่
กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ
ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัด
ในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา
ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ
ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๒ โยคะ๓ คันถะ๔ อุปาทาน๕ อาวรณ์๖ นิวรณ์
เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย๗ ปริยุฏฐาน (กิเลสที่กลุ้มรุมจิต)

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาในนิโรธ คือตัณหาที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๒ โอฆะ คือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
(ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๓ โยคะ คือสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๔ คันถะ คือกิเลสเครื่องร้อยรัดมี ๔ อย่าง ได้แก่ (๑) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา (๒) กิเลส
เครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท (๓) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส (๔) กิเลสเครื่องร้อยรัด
กายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๒/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร เหยื่อแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ที่
อาศัยแห่งมาร โคจรแห่งมาร เครื่องผูกแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหาดุจตาข่าย
ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ตรัสเรียกว่า
ความอยาก เป็นเครื่องฉาบทา คือ ข้องเกี่ยว ผูกพัน ทำให้เข้าไปเศร้าหมอง
โลกถูกความอยากนี้ฉาบทา ไล้ ทำให้หมองมัว แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้

ว่าด้วยทุกข์
คำว่า ทุกข์ ในคำว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์
พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ทุกข์เนื่องจากการเกิด
ในนรก ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย
ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์ ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ ทุกข์
เนื่องจากการอยู่ในครรภ์ ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ ทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตนเอง ทุกข์ที่
เกิดจากความพยายามของผู้อื่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร
ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรค
ทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม
โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก

เชิงอรรถ :
๕ อุปาทาน คือความยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลสมี ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน
ความยึดมั่นในทิฏฐิ (๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลวัตร (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น
วาทะของตน (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๖ อาวรณ์ คือสภาวะที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๗ อนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มี ๗ คือ (๑) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๒) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) ทิฏฐิ ความเห็นผิด (๔) วิจิกิจฉา ความสงสัย (๕) มานะ
ความถือตัว (๖) ภวราคะ ความกำหนัดในภพ (๗) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ที.ปา. ๑๑/๓๒๒/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ
สัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชาย
น้องชายตาย ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสีย
หายที่เกิดจากโรค ทุกข์เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าใดปรากฏในเบื้องต้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
ย่อมปรากฏในเบื้องปลาย วิบากอาศัยกรรม กรรมอาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม
นามอาศัยรูป นามรูปเป็นไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี
ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย นี้ตรัส
เรียกว่า ทุกข์ ทุกข์นี้ เป็นภัย เป็นภัยใหญ่ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง
เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนี้ รวมความว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กระแสทั้งหลาย ในคำว่า กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
ได้แก่ กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในที่ทั้งปวง ได้แก่ ในอายตนะทั้งปวง
คำว่า ย่อมไหลไป ได้แก่ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไป อธิบายว่า
กระแสจากตา ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในรูป กระแสจากหู
ย่อมไหลไป ฯลฯ ในเสียง กระแสจากจมูกย่อมไหลไป ฯลฯ ในกลิ่น กระแส
จากลิ้นย่อมไหลไป ฯลฯ ในรส กระแสจากกายย่อมไหลไป ฯลฯ ในโผฏฐัพพะ
กระแสจากใจ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในธรรมารมณ์ คือ
รูปตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางตา สัททตัณหาย่อมไหลไป คือ
ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางหู คันธตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางจมูก รส
ตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางลิ้น โผฏฐัพพตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางกาย
ธัมมตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางใจ รวมความว่า
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องขวาง
เครื่องกั้น คือ เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมเครื่องขวาง เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา
คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่อง
ป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ อธิบายว่า กระแสทั้งหลาย ถูกอะไร
ปิดกั้น คือ ถูกตัดขาด จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้
[๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นใดที่เราตอบ ชี้แจง
บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้ คือ
กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า กระแสเหล่าใดในโลก
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า สติ ในคำว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า สติ
คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้ ความจำได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์ (สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์ (สติที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค (มรรคที่เป็นทางเอก) นี้ ตรัสเรียกว่า สติ
คำว่า เป็นเครื่องกั้น อธิบายว่า เป็นเครื่องขวาง เป็นเครื่องกั้น คือ เป็น
เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครอง รวมความว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
คำว่า เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า เรากล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศเครื่องขวาง
เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า เรา
กล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า
คำว่า ปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นปัญญา
ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแส
เหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ปิดกั้นได้ คือ ตัด
ขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของ
ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่
หลั่งไหล ไม่เป็นไป

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร
จึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายระเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ฯลฯ
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ฯลฯ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ฯลฯ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ฯลฯ
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ฯลฯ
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ฯลฯ
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯลฯ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ฯลฯ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ฯลฯ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ฯลฯ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๖ }


ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขสมุทัย ฯลฯ
นี้ทุกขนิโรธ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้น ปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “ธรรมเหล่านี้อาสวะ ฯลฯ นี้
อาสวสมุทัย ฯลฯ นี้อาสวนิโรธ ฯลฯ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” ปิดกั้นได้
คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เหล่านี้คือธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ฯลฯ
เหล่านี้คือธรรมที่ควรกำหนดรู้ ฯลฯ เหล่านี้คือธรรมที่ควรละ ฯลฯ เหล่านี้คือ
ธรรมที่ควรเจริญ ฯลฯ เหล่านี้คือธรรมที่ควรทำให้แจ้ง” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป
จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการ
สลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป
ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการ
สลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ฯลฯ กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นธรรม
คือ เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกมหาภูตรูป ๔ ฯลฯ กระแส
เหลานั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่ง
นั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
[๕] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)

ว่าด้วยปัญญา
คำว่า ปัญญา ในคำว่า ปัญญา สติ อธิบายว่า ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความ
เข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญา
เครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญา
ดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท
ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
คำว่า สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ รวมความว่า
ปัญญา สติ ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป อธิบายว่า
คำว่า นาม ได้แก่ ขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป๑ ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง๒ ๔

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว
หรือธาตุน้ำ (๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว
เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐)
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือทับศัพท์บาลีว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ก. ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป
คำว่า เนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ในคำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่ เนื้อความที่ข้า
พระองค์ทูลถาม คือ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลขอ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ
เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลให้ประกาศ
คำว่า ได้ทูลถามแล้ว ได้แก่ ได้ทูลถามแล้ว คือ ทูลขอแล้ว ทูลอัญเชิญ
ทูลให้ประกาศแล้ว
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
ข. โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ค. ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ
ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
ฉ. อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ช. ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้
ความหมายด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
ฎ. วิการรูป ๕ (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙)
(รูปัสส) มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
(๐) วิญญัติรูป ๒ ข้อนี้ท่านไม่นับเพราะซ้ำกับข้อ ญ
ฏ. ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (๒๒) (รูปัสส) อุปจย ความก่อตัว (รูปัสส)
สันตติ ความสืบต่อ (๒๓) (รูปัสส) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) (รูปัสส) อนิจจตา ความ
ปรวนแปรแตกสลาย (อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นี้ ดับที่ไหน ได้แก่ (นามและรูป) นี้ ดับ คือ เข้าไปสงบ ถึง
ความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่ไหน รวมความว่า นี้ ดับที่ไหน ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ (๖)
คำว่า นั้นใด ในคำว่า เธอได้ถามปัญหานั้นใด ได้แก่ ปัญญา สติ นามและรูป
คำว่า เธอได้ถาม ได้แก่ เธอได้ถามแล้ว คือ ได้ขอ อัญเชิญ ขอให้ประกาศแล้ว
รวมความว่า เธอได้ถามปัญหานั้นใด
คำว่า อชิตะ ในคำว่า อชิตะ... เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า นั้น ได้แก่ ปัญญา สติ นามและรูป
คำว่า เราจะกล่าวแก้ ได้แก่ เราจะกล่าว คือ จะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้น รวมความว่า อชิตะ... เราจะ
กล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
คำว่า นาม ในคำว่า นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด ได้แก่ ขันธ์
ที่มิใช่รูป ๔
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีส่วนเหลือ ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่างไม่มีเหลือ
ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า ไม่มีส่วนเหลือ นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ
ไว้ทั้งหมด
คำว่า ดับ ได้แก่ ดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
คำว่า นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ อธิบายว่า ธรรม คือ
นามและรูป ที่พึงเกิดในสงสารมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ เว้นภพ ๗ ย่อมดับ
คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบ
ด้วยอภิสังขารธรรมดับไป ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิดในภพ ๕ เว้นภพ ๒ ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ
ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วยอภิสังขารธรรม
ดับไป ด้วยสกทาคามิมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิดในรูปธาตุ หรืออรูปธาตุ เว้นภพ ๑ ย่อมดับ คือ
เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วย
อภิสังขารธรรมดับไป ด้วยอนาคามิมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิด ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วยอภิสังขารธรรมดับไป ด้วย
อรหัตตมัคคญาณ
ปัญญา สติ นามและรูป ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
ระงับไปในที่นั้น เพราะจริมวิญญาณ๑ของพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
ปรินิพพานธาตุ๒ดับไป รวมความว่า นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ จริมวิญญาณ แปลว่า วิญญาณสุดท้าย หรือจิตสุดท้าย หมายถึงจุติจิต หรือจุติวิญญาณของพระอรหันต์
ขณะปรินิพพาน (ขุ.จู.อ. ๖/๗)
๒ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึงนิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่ (ขุ.จู.อ. ๖/๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๗] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด (๗)
คำว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม อธิบายว่า พระอรหันต-
ขีณาสพตรัสเรียกว่า ท่านผู้มีสังขาตธรรม
เพราะเหตุไร พระอรหันตขีณาสพ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ผู้มี
สังขาตธรรม พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ผู้มีสังขาตธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้
เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ได้แก่ ผู้มี
สังขาตธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม
ผู้เห็นแจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ผู้มีสังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “สังขาร
ทั้งปวงเป็นทุกข์” ผู้มีสังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ผู้มี
สังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี” ฯลฯ ผู้มีสังขาตธรรม
ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นรู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ
(การถือกำเนิด) ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะแล้ว
อีกนัยหนี่ง ท่านเหล่านั้นดำรงอยู่ในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุดแห่งธาตุ ในที่สุด
แห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ ในที่สุดแห่งอุปบัติ ในที่สุดแห่งปฏิสนธิ ในที่สุด
แห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ดำรงอยู่ในภพสุดท้าย อัตภาพ
สุดท้าย เป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงร่างกายสุดท้ายไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีการประชุมแห่งขันธ์เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
เพราะเหตุนั้น พระอรหันตขีณาสพ พระผู้มีพระภาค จึงตรัสเรียกว่า ผู้มี
สังขาตธรรม รวมความว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีสังขาตธรรม

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า เสขะ ในคำว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
อธิบายว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่าพระเสขะ เพราะท่านยังต้องศึกษา จึงเรียกว่า
พระเสขะ ท่านยังต้องศึกษาอะไร ท่านยังต้องศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขา
บ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ๒และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก๓ สีลขันธ์ใหญ่๔ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
เพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
๑ สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงสีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ=รักษา+โมกขะ=ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)
๒ อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
ทางวาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ เช่น
ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่าคฤหัสถ์
ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว (วิสุทฺธิ.
๑/๑๔/๑๘)
๓ สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คือ อาบัติสังฆาทิเสสจนถึงทุกกฏ (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)
๔ สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิก (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน ...บรรลุตติยฌาน... บรรลุจตุตถฌานอยู่... นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา๑
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ... นี้ทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์)... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฎิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับ
ทุกข์) ... เหล่านี้อาสวะ... นี้อาสวสมุทัย... นี้อาสวนิโรธ” เธอรู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่า
ย่อมศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อ
น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าย่อมศึกษา
เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อม
ศึกษา คือ ย่อมประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทาน
ประพฤติ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า พระเสขะ
คำว่า เป็นอันมาก ได้แก่ มากมาย พระเสขะเหล่านี้ คือ พระโสดาบัน
และผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล พระสกทาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่อสกทาคามิผล พระ
อนาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผล พระอรหันต์และผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้
ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้
มนุษยโลกนี้ รวมความว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดจาก ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้
มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะ
เหล่านั้นเถิด อธิบายว่า แม้พระองค์ผู้มีปัญญา คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
(โปรดตรัสบอก) การดำเนินชีวิต คือ จริยา ความประพฤติ ความประพฤติเอื้อเฟื้อ
อาจาระ โคจร วิหารธรรม๑ ปฏิปทาของท่านผู้มีสังขาตธรรม และพระเสขะเหล่า
นั้นเถิด
คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ได้แก่ ทูลถามแล้ว คือ ทูลปุจฉา ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศ
คำว่า โปรดตรัสบอก ได้แก่ โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และ
พระเสขะเหล่านั้นเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด
[๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (๘)

เชิงอรรถ :
๑ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงความเป็นไปแห่งอิริยาบถ (ขุ.จู.อ. ๗/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยกาม ๒
คำว่า ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม
ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน
นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ๑ คลังหลวง๒ และวัตถุที่น่ายินดีอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง (เหล่านี้) ชื่อว่าวัตถุกาม
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่
ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่
มีผู้ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นรูปาวจร ที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งปวง กามที่เป็น
เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง น่ารื่นรมย์ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ ชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วย

เชิงอรรถ :
๑ กองพลรบ มี ๔ เหล่า คือ (๑) กองพลช้าง (๒) กองพลม้า (๓) กองพลรถ (๔) กองพลทหารราบ
(ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)
๒ คลังหลวง มี ๓ อย่าง คือ (๑) คลังทรัพย์สิน (๒) คลังพืชพันธุ์ธัญญาหาร (๓) คลังผ้า
(ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความกระหายด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่
ความยินดีด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย
อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลส
เครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ใน
กามทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๑
เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม
ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
คำว่า ไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย อธิบายว่า ไม่พึงปรารถนายิ่ง ๆ
ขึ้นไป คือ ไม่พึงพัวพันในวัตถุกาม เป็นผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น
คือ เป็นผู้คลายความยินดีแล้ว ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว
คลายความยินดีแล้ว ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว เป็นผู้สลัดทิ้งความ
ยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลาย
ราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก
แล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ไม่พึง
ปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น จิตย่อมขุ่นมัว
คือ เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยกายทุจริต ...
จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยวจีทุจริต ...
มโนทุจริต ... ราคะ (ความกำหนัด) ... โทสะ (ความขัดเคือง) ... โมหะ
(ความลุ่มหลง) ... โกธะ (ความโกรธ) ... อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ... มักขะ
(ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ... อิสสา (ความริษยา) ...
มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ... มายา (ความหลอกลวง) ... สาเถยยะ (ความโอ้อวด)
... ถัมภะ (ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ (ความแข่งดี) ... มานะ (ความถือตัว) ...
อติมานะ (ความดูหมิ่น ) ... มทะ (ความมัวเมา) ... ปมาทะ (ความประมาท) ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความ
เร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า พึงเป็นผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว คือ ไม่
เศร้าหมอง ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ไม่หวั่นไหว ไม่หมุนวน สงบ ได้แก่ พึงละ ทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสที่ก่อความขุ่นมัว คือ พึง
เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก สงบ หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลส
ที่ก่อความขุ่นมัว มีใจเป็นอิสระ(จากความขุ่นมัว)อยู่ รวมความว่า พึงเป็นผู้มีใจ
ไม่ขุ่นมัว

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร
ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง
ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน
ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส
ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิดแห่งใจ
ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ
ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ
ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลาย มีผัสสะเป็นต้น
(ขุ.ม.อ. ๑/๒๒-๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง อธิบายว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์
... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี .... เป็นดุจลูกศร ... เป็นของลำบาก .... เป็นอาพาธ
... เป็นอย่างอื่น (บังคับไม่ได้) ... เป็นของทรุดโทรม ... เป็นเสนียด ... เป็น
อุปัททวะ... เป็นของไม่น่ายินดี... เป็นภัย ... เป็นอุปสรรค ... เป็นของไม่น่าชอบใจ
... เป็นของหวั่นไหว ... เป็นของผุพัง ...เป็นของไม่ยั่งยืน ... เป็นของไม่มีที่ต้านทาน
... เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น ... เป็นของไม่มีที่พึ่ง ... เป็นของไม่มีที่อาศัย... เป็น
ของว่าง... เป็นของเปล่า ... เป็นของสูญ ... เป็นอนัตตา ... เป็นของมีโทษ ...
เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา ... เป็นของไม่มีแก่นสาร ... เป็นเหตุแห่งความ
ลำบาก ... เป็นดุจเพชฌฆาต ... เป็นของปราศจากความเจริญ ... เป็นของมีอาสวะ
... เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ... เป็นเหยื่อแห่งมาร ... มีชาติเป็นธรรมดา ...
มีชราเป็นธรรมดา... มีพยาธิเป็นธรรมดา... มีมรณะเป็นธรรมดา ... มีโสกะ
(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความ
ทุกข์ใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ... ตั้งอยู่ไม่ได้ ... หาความแช่มชื่นไม่ได้... เป็นโทษ ...
เป็นของที่ต้องสลัดออกไป ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน
ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท
ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล
ฉลาดในนิพพาน ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า ธรรมทั้งปวง คือ ตาและรูป หูและเสียง
จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอก ภิกษุละความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอกได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง แม้ด้วยเหตุมีประมาณ
เท่านี้ รวมความว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง

ลักษณะผู้มีสติ ๔
คำว่า มีสติ ในคำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔
อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ)
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา
๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม)
๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมที่สงบระงับ (กิเสสและความทุกข์) คือ
นิพพาน สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ตรัสเรียกว่า สติ๑
ภิกษุเป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ
๑. ทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ทำลายวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ทำลายสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ทำลายราคะได้แล้ว
๕. ทำลายโทสะได้แล้ว
๖. ทำลายโมหะได้แล้ว
๗. ทำลายมานะได้แล้ว
คือ ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพ
ใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ
ต่อไปได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔-๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่าเป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ๑
คำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า ภิกษุพึงมีสติ ดำรงอยู่ คือ พึง
มีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติ
ถอยกลับ พึงมีสติมองดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก
พึงมีสติใช้ผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ภิกษุ... มีสติดำรงอยู่
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุ๒ไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิด
ขึ้นแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของอชิตพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่านเป็นภิกษุ มี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อชิตมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๐/๔๓๕, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘/๘๔)
๒ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.จู.อ. ๘/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๙] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๑)
คำว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้ อธิบายว่า ใครยินดี สันโดษ คือพอใจ
มีความดำริบริบูรณ์แล้วในโลก รวมความว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็น
คำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ติสสะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตร เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ
ชื่อที่เรียกกันสำหรับพราหมณ์นั้น รวมความว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร อธิบายว่า ความหวั่นไหว
เพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหว
เพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะกาม ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่ใคร

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๔๗-๑๐๔๙/๕๓๒-๕๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ความหวั่นไหวทั้งหลาย ใครละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความหวั่นไหวทั้ง
หลายย่อมไม่มีแก่ใคร
คำว่า ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ได้แก่ ใครรู้ชัด คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งที่สุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว รวม
ความว่า ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
คำว่า ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา อธิบายว่า ย่อมไม่ยึดติด คือ ไม่
ติดแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
ในท่ามกลางด้วยปัญญา มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่ยึดติดใน
ท่ามกลางด้วยมันตา
คำว่า พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ อธิบายว่า พระองค์ตรัสเรียก
ใคร คือ ตรัสถึงใคร เข้าพระทัยใคร ทรงกล่าวถึงใคร เห็นใคร แถลงถึงใครว่า
เป็นมหาบุรุษ คือ บุรุษผู้เลิศ บุรุษผู้ประเสริฐ บุรุษผู้วิเศษ บุรุษผู้เป็นหัวหน้า
บุรุษผู้สูงสุด บุรุษผู้เป็นประธาน บุรุษผู้ยอดเยี่ยม รวมความว่า พระองค์ตรัส
เรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
คำว่า ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ใคร่ล่วงพ้น คือ ล่วง
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ รวมความว่า ใครล่วงพ้น
เครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
[๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (๒)
คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑

ว่าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าพรหมจรรย์
คำว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ อธิบายว่า การงด งดเว้น เว้นขาด เจตนางดเว้น
กิริยาที่ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ละเมิด การไม่ก้าวล่วงแดนแห่งการเข้าถึงอสัทธรรม
ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์
อีกนัยหนึ่ง กล่าวโดยตรง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีพรหมจรรย์
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์เรียกว่า ผู้มีทรัพย์ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วย
โภคะเรียกว่า ผู้มีโภคะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยยศเรียกว่า ผู้มียศ บุคคลผู้เพียบ
พร้อมด้วยศิลปะ เรียกว่า ผู้มีศิลปะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยศีลเรียกว่า ผู้มีศีล
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรเรียกว่า ผู้มีความเพียร บุคคลผู้เพียบพร้อม
ด้วยปัญญาเรียกว่า ผู้มีปัญญา บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาเรียกว่า ผู้มีวิชชา
ฉันใด ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
เป็นผู้มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะ
เห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ เป็นสัจฉิกา-
บัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว มีสติทุกเมื่อ ได้แก่ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้นผู้ใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ผู้สละตัณหาแล้ว
คลายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่
คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว คือ เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอัน
ประเสริฐเสวยสุขอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล
ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติ ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ฯลฯ
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุ ... รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้ อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขา (เครื่องพิจารณา) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ฯลฯ
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า รู้ ... แล้ว อธิบายว่า รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้
แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นทุกข์ ฯลฯ
เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป๑
คำว่า ดับกิเลสได้ อธิบายว่า ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำราคะให้ดับไป
ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโทสะให้ดับไป ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโมหะให้ดับไป
ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ
อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ
ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทุกชนิด ฯลฯ
ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ ความเร่าร้อนทุกสถาน
ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทให้ดับไป
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว ฯลฯ
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ๒ รวมความว่า ภิกษุ ... รู้
ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
คำว่า ภิกษุนั้น ในคำว่า ภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความหวั่นไหว อธิบายว่า ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหว
เพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว
เพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านั้นไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฎ หามิได้แก่ภิกษุนั้น
ความหวั่นไหวทั้งหลาย ภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่มี
ความหวั่นไหว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๙
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๑-๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว
[๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอีกว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓)
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง
สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อทุกขม-
สุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง
นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
สักกายะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง สักกายสมุทัยเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สักกาย-
นิโรธอยู่ท่ามกลาง
ปัญญา ตรัสเรียกว่า มันตา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความ
ไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความยึดติด ๒
คำว่า ความยึดติด ได้แก่ ความยึดติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดติด
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา
ยึดถือว่าเป็นของเราด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา
ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณ
เท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย
แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม
ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่า
เป็นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา
ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิ มีวัตถุ๑ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓
๑๐ ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยน

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ (๑) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓)
เห็นรูปในอัตตา (๔) เห็นอัตตาในรูป (๕) ย่อมตามเห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗)
เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตาในเวทนา (๙) ย่อมตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา
(๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตาในสัญญา (๑๓) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔)
เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตาในสังขาร (๑๗) ย่อมตามเห็นวิญญาณ
เป็นอัตตา (๑๘) เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา (๒๐) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข.
๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ. ๑๒/๑๕๘)
๒ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล (๔)
กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพรามหณ์ที่ดำเนินอัตตาชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งใน
โลกนี้และโลกหน้าด้วยอัตตาเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี (ดูรายละเอียดข้อ ๑๔๓/๔๕๙
๓ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า
(๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
(๖) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่าง (๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก
(๙) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่
ไม่เกิดอีกก็มิใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๓/๒๑๗-๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
หนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น
ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์
ความถือขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่
ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจทิฏฐิ
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา อธิบายว่า ภิกษุนั้นรู้ชัดแล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียง พิจารณา
ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ และท่ามกลางแล้วด้วยปัญญา
ย่อมไม่ยึดติด คือ ไม่เข้าไปยึดติด ได้แก่ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความยึดติด) อยู่
รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา
คำว่า เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ อธิบายว่า เราเรียกภิกษุนั้น คือ
กล่าวถึง เข้าใจ พูดถึง แสดงถึง แถลงถึงภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ คือเป็นบุรุษผู้เลิศ
บุรุษผู้ประเสริฐสุด บุรุษผู้วิเศษ บุรุษผู้เป็นประธาน บุรุษผู้เป็นหัวหน้า บุรุษผู้สูงสุด
บุรุษผู้ยอดเยี่ยม
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่พระองค์ตรัสเรียกว่า มหาบุรุษ มหาบุรุษ เพราะเหตุอะไรหนอ บุคคลจึงเป็น
มหาบุรุษ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มี
จิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น
บุคคลมีจิตหลุดพ้นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกาย
อยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ฯลฯ
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ภิกษุเป็นผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วเป็นอย่างนี้แล เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น๑ รวมความว่า เรา
เรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เครื่องร้อยรัด ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
เครื่องร้อยรัดนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้น คือ
ล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดได้ รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วง
พ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันกับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่าน
เป็นภิกษุ มีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการ
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศ
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์
เป็นสาวก”
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๓๗๗/๑๓๗-๑๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๑๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๑)
คำว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่น
ไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน
ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง
เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พระ
องค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล ๓
คำว่า ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีปกติเห็นมูล คือ
ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน
ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๕๐-๑๐๕๕/๕๓๓-๕๓๔
๒ ดูรายละเอียดที่ข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
อกุศลมูล ๓ ประการ คือ
๑. อกุศลมูลคือโลภะ
๒. อกุศลมูลคือโทสะ
๓. อกุศลมูลคือโมหะ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓
ประการ เหล่านี้ ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
๒. โทสะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
๓. โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ
เพราะกรรมที่เกิดจากโมหะ เทวดามนุษย์ หรือสุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ปรากฏ
ที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ เพราะกรรมที่
เกิดจากโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย อกุศลมูล ๓
ประการนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติ
เห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
กุศลมูล ๓ ประการ คือ
๑. กุศลมูลคืออโลภะ
๒. กุศลมูลคืออโทสะ
๓. กุศลมูลคืออโมหะ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓
ประการนี้ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิด
จากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือ
ทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏ ที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ เทวดา มนุษย์ หรือ
สุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา มนุษย์
กุศลมูล ๓ ประการนี้”๑ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนมีอวิชชา
เป็นมูลราก มีอวิชชาเป็นแหล่งรวม ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอวิชชาอันอรหัตตมรรค
กำจัดได้ ล้วนถึงความเพิกถอน”๒ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
เป็นกุศล เป็นส่วนกุศล เป็นฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาท
เป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอด
แห่งธรรมเหล่านั้น” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้
มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “อวิชชาเป็นมูลแห่งสังขาร
สังขารเป็นมูลแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นมูลแห่งนามรูป นามรูปเป็นมูลแห่ง
สฬายตนะ สฬายตนะเป็นมูลแห่งผัสสะ ผัสสะเป็นมูลแห่งเวทนา เวทนาเป็นมูล
แห่งตัณหา ตัณหาเป็นมูลแห่งอุปาทาน อุปาทานเป็นมูลแห่งภพ ภพเป็นมูลแห่งชาติ
ชาติเป็นมูลแห่งชราและมรณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “จักขุประสาทเป็นมูลแห่งโรคตา
โสตประสาทเป็นมูลแห่งโรคหู ฆานประสาทเป็นมูลแห่งโรคจมูก ชิวหาประสาท
เป็นมูลแห่งโรคลิ้น กายประสาทเป็นมูลแห่งโรคกาย” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรง
เห็นว่า “มโนประสาทเป็นมูลแห่งทุกข์ทางใจ”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก.(แปล) ๒๐/๓๔/๑๘๖-๑๘๘
๒ สํ.นิ. ๑๖/๒๒๓/๒๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรง
เห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์
ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหา
เหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ๑
รวมความว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า คือ ข้าพระองค์ต้องการถามปัญหา จึงมาเฝ้า
ข้าพระองค์ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม
จึงมาเฝ้า
อีกนัยหนึ่ง ข้าพระองค์ต้องการปัญหา คือ ต้องการถามปัญหา ต้องการ
ฟังปัญหา จึงมาเฝ้า คือ เข้ามา เข้ามาเฝ้า เข้ามานั่งเฝ้า รวมความว่า ข้าพระ
องค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีความต้องการปัญหาจึงเสด็จมา คือ แม้พระองค์
ก็ทรงเป็นผู้องอาจ ทรงสามารถ ทรงสมควรเพื่อตรัส วิสัชนา ชี้แจง ทรงกล่าว
ถึงปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว อธิบายว่า ขอพระองค์ ทรงภาระนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า อาศัยอะไร ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร อธิบายว่า อาศัย
คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่ออะไร
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ตรัสเรียกว่า มนุชะ๒ รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๙/๗๓
๒ มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่
คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกใดพวกหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ

ว่าด้วยเทวดา
คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวก เป็นเทวดาของสาวกของ
อาชีวก พวกนิครนถ์ เป็นเทวดาของสาวกของนิครนถ์ พวกชฎิล เป็นเทวดาของ
สาวกของชฎิล พวกปริพาชก เป็นเทวดาของสาวกของปริพาชก พวกดาบส เป็น
เทวดาของสาวกของดาบส ช้าง เป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้า เป็น
เทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โค เป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต สุนัข
เป็นเทวดาของพวกประพฤติกุกกุรพรต กา เป็นเทวดาของพวกประพฤติกากพรต
ท้าววาสุเทพ เป็นเทวดาของพวกประพฤติวาสุเทวพรต พลเทพ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพลเทวพรต ท้าวปุณณภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติปุณณภัทร-
พรต ท้าวมณีภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติมณีภัทรพรต ไฟ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติอัคคิพรต นาค เป็นเทวดาของพวกประพฤตินาคพรต ครุฑ เป็น
เทวดาของพวกประพฤติสุปัณณพรต ยักษ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติยักขพรต
อสูร เป็นเทวดาของพวกประพฤติอสุรพรต คนธรรพ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
คนธรรพ์พรต ท้าวมหาราช เป็นเทวดาของพวกประพฤติมหาราชพรต พระจันทร์
เป็นเทวดาของพวกประพฤติจันทพรต พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
สุริยพรต พระอินทร์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติอินทพรต พรหม เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพรหมพรต ทิศทั้งหลาย เป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน
สัตว์และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์ และสิ่งเหล่านั้น
เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย
คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ ... จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า คนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหา
ยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
คนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก
เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าบูชายัญ
คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านี้มาก ผู้บูชายัญก็มาก ผู้ควรแก่
ทักษิณานั้นก็มาก
ยัญเหล่านั้นมาก อย่างไร
ยัญเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป มี
มากแก่ชนจำนวนมาก ยัญเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ก็มาก พราหมณ์ก็มาก แพศย์ก็มาก ศูทรก็มาก
คฤหัสถ์ก็มาก บรรพชิตก็มาก เทวดาและมนุษย์ก็มาก ผู้บูชายัญมาก อย่างนี้บ้าง
บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้นมาก อย่างไร
คือ บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น มีมากมาย คือ สมณะก็มาก พราหมณ์
ก็มาก คนกำพร้าก็มาก คนเดินทางก็มาก วณิพกก็มาก และยาจกก็มาก บุคคล
ผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้ ...
จึงพากันบูชายัญ

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ขอทูลถาม ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์
๓. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ พวก
ภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็
ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม
คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ
พวกนาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม
ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม
นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์
การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะ
น้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการ
ถามของรูปเนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า
๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ
๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศจากกิเลส
๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต
๓. การถามถึงปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก
๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม
๓. การถามถึงอัพยากตธรรม
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ
๓. การถามถึงอายตนะ
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน
๓. การถามถึงอิทธิบาท
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ
๓. การถามถึงโพชฌงค์
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล
๓. การถามถึงนิพพาน
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลขอให้ทรงประกาศว่า “ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด” รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า
ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ (๒)
คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ ได้แก่
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
บางพวกเหล่านี้ นี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ ตรัสเรียกว่า มนุชะ รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้
คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปุณณกะ
คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่
คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ
คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวกเป็นเทวดาของสาวกของ
อาชีวก ฯลฯ ทิศทั้งหลายเป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน สัตว์และสิ่ง
เหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์และสิ่งเหล่านั้นเป็นเทวดาของ
ชนเหล่านั้น๒รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย
คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่ จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ
คำว่า พากันบูชายัญ อธิบายว่า ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญ
คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พักอาศัย เครื่องประทีป ชน
แม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าบูชายัญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านั้น มีมาก ผู้บูชายัญเหล่านี้มีมาก
หรือบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณามีมากอย่างนี้
คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญ
คำว่า หวัง ในคำว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า
หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการได้รูป การได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ทรัพย์ การได้ยศ
การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้อัตภาพใน
ตระกูลพราหมณ์มหาศาล การได้อัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพ
ในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ... ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ... ในหมู่เทพชั้นยามา ...
ในหมู่เทพชั้นดุสิต ... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง
คำว่า ปุณณกะ... ความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการบังเกิดอัตภาพในสถานเหล่านี้ คือ การบังเกิด
อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาลนี้ การบังเกิดอัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาลนี้
การบังเกิดอัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกาเหล่านี้ การบังเกิดอัตภาพในหมู่
เทพชั้นดาวดึงส์เหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นยามาเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นดุสิตเหล่านี้
... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดีเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่านี้ ...
ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกาเหล่านี้ รวมความว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความ
เป็นอย่างนี้
คำว่า อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า อาศัยชรา คือ อาศัยพยาธิ
อาศัยมรณะ อาศัยโสกะ ปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส
ชนเหล่านั้นอาศัยชาติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญ
เพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญ
เพราะเหตุนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะ จึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส จึงบูชายัญเพราะเหตุใด
ชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยวัฏฏะจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่อ รวมความว่า
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
[๑๔] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ อธิบายว่า
ฯลฯ๑
คำว่า บ้างไหม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่
ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถาม
ด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้
หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า
บ้างไหม
คนผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๒ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ชน
เหล่านั้น ... บ้างไหม
คำว่า ผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ อธิบายว่า ยัญนั้นแหละตรัสเรียกว่า
ทางแห่งยัญ เปรียบเหมือนอริยมัคคชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทวมัคคชื่อว่าทางแห่ง
เทวะ พรหมมัคคชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ยัญก็ชื่อว่าทางแห่งยัญ ฉันนั้น
เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายลเอียดข้อ ๑๓/๙๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ไม่ประมาท คือ ผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ
ทำไม่หยุด ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ในทางแห่งยัญ ได้แก่
เที่ยวไปเพื่อยัญนั้น มากไปด้วยยัญนั้น หนักในยัญนั้น เอนไปทางยัญนั้น โอนไป
ทางยัญนั้น โน้มไปทางยัญนั้น น้อมใจไปทางยัญนั้น มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ฯลฯ มีทางแห่ง
ยัญนั้นเป็นใหญ่ ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
ชนแม้เหล่านั้น ... ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มี-
พระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม
คำว่า ผู้นิรทุกข์... ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม อธิบายว่า ได้ข้าม คือ
ข้ามได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วง ล่วงเลยชรา และมรณะได้บ้างไหม
คำว่า ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ผู้นิรทุกข์
... ได้ข้ามชาติและชราบ้างไหม
คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น ทูล
อัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ประกาศปัญหานั้น ขอได้โปรดตรัสบอกปัญหานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบาย
ว่า ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
คำว่า หวัง ในคำว่า ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวังจึงพากันบูชายัญ
อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมายการได้รูป การได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ภรรยา การได้ทรัพย์
การได้ยศ การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้
อัตภาพในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ... ในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพ
ในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ฯลฯ ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ชื่นชม ได้แก่ ชื่นชมยัญ ชื่นชมผล หรือชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา
ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของน่ารัก
เราให้ของน่าพอใจ เราให้ของประณีต เราให้ของตามกาลเวลา เราให้ของสมควร
เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เป็นประจำ เราเมื่อกำลังให้จิตก็เลื่อมใส
ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างนี้
ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้
เป็นต้นเหตุจักได้รูป ... จักได้เสียง ... จักได้กลิ่น ... จักได้รส ... จักได้โผฏฐัพพะ
... จักได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล ฯลฯ ใน
หมู่เทพชั้นพรหมกายิกา ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างนี้
ชนทั้งหลายชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา
คือ บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณาถึงพร้อมด้วยชาติ ถึงพร้อมด้วยโคตร ชำนาญมนตร์๑
ทรงจำมนตร์ได้ เรียนจบไตรเพท๒ พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๓ เกฏุภศาสตร์๔
อักษรศาสตร์๕ และประวัติศาสตร์๖ รู้ตัวบท และไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายต-
ศาสตร์๗ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ๘ เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติ

เชิงอรรถ :
๑ มนตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๒ ไตรเพท ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๓ นิฆัณฑุศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๔ เกฏุภศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๕ อักษรศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๖ ประวัติศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๗ โลกายตศาสตร์ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ถ้าบุคคลเชื่อคัมภีร์นี้แล้วจะไม่อยากทำบุญ
(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๓, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๘ ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า มนตร์
เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๓,
ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
เพื่อกำจัดราคะ ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ปราศจากโมหะ หรือ
ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติ-
ญาณทัสสนะ ชนทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า หวัง ชื่นชม
คำว่า มุ่งหวัง อธิบายว่า ชนทั้งหลาย มุ่งหวังการได้รูป มุ่งหวังการได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล
ฯลฯ มุ่งหวังการได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง ชื่นชม
มุ่งหวัง
คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า จึงพากันบูชายัญ คือ จึงพากันให้ สละ
บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป รวมความว่า
ชนเหล่านั้น หวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปุณณกะ
คำว่า เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม อธิบายว่า เพราะอาศัยการได้รูป
จึงมุ่งหวังกาม เพราะอาศัยการได้เสียงจึงมุ่งหวังกาม ฯลฯ เพราะอาศัยการได้
อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา จึงมุ่งหวัง คือ ปรารถนากาม รวมความว่า
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
คำว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัด
ยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ได้แก่ ผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น
คำว่า ผู้ประกอบการบูชายัญ ได้แก่ ผู้ประกอบ คือ ผู้ขวนขวาย ฝักใฝ่
ใฝ่ใจในการประกอบการบูชายัญ คือ ประพฤติในการบูชานั้น มากด้วยการบูชานั้น
หนักในการบูชานั้น เอนไปในการบูชานั้น โอนไปในการบูชานั้น โน้มไปในการบูชานั้น
น้อมใจไปในการบูชานั้น มีการบูชานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ชนเหล่านั้น ผู้
ประกอบการบูชายัญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความ
กำหนัดในภพ ได้แก่ ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ
ตัณหาในภพ ความเยื่อใยในภพ ความกระหายในภพ ความเร่าร้อนในภพ
ความลุ่มหลงในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย ชนเหล่านั้น กำหนัด ติดใจ
คลั่งไคล้ หลงใหล หมกมุ่น ติด ข้อง พัวพันในภพทั้งหลาย ด้วยความกำหนัดในภพ
รวมความว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
คำว่า เราขอกล่าวว่า ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ อธิบายว่า เราขอกล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า
ชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ กำหนัดยินดีในภพ ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้
ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ คือ ไม่ออก ไม่
สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยชาติชราและมรณะ หมุนวนอยู่
ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ ชราติดตาม
พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย
รวมความว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดี
ในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้
[๑๖] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
คำว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม ... ไปไม่ได้ อธิบาย
ว่า ชนเหล่านั้นผู้บูชายัญ ผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพข้ามไม่ได้
คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้
ได้แก่ ไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะ
คือ หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ
ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม... ไปไม่ได้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ ท่านปุณณกะ
คำว่า ด้วยยัญทั้งหลาย ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติ
และชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย ได้แก่ ด้วยยัญเป็นอันมาก ด้วยยัญชนิดต่าง ๆ
ด้วยยัญมากมาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้
ด้วยยัญทั้งหลาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ
มนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในโลก พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้ามได้ คือ
ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระ-
องค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น
ทูลอัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ปัญหานั้นด้วยเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศด้วยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (๖)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า
สังขา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ๑

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น
คำว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อธิบายว่า
อัตภาพของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
อัตภาพของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
อายตนะภายใน ๖ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อายตนะภายนอก ๖ ตรัสเรียกว่า
ฝั่งโน้น
มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า เพราะทราบชัด คือ
เพราะรู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ
เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้
และฝั่งโน้นในโลก
คำว่า ปุณณกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ ฯลฯ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความหวั่นไหว ได้แก่ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหว
เพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว
เพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านี้ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่บุคคลใด
ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า ไหน ๆ ได้แก่ ไหน ๆ คือ ที่ไหน ๆ ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๑ รวมความว่า บุคคลใด
ไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ

ว่าด้วยผู้สงบ ปราศจากควัน
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เรากล่าวว่า... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจาก
ควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
คือ เป็นผู้สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับแล้ว ระงับแล้ว
เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ...
มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ... ถัมภะ ...
สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ...
ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุศลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า ปราศจากควัน อธิบายว่า กายทุจริต พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว
คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว วจีทุจริต มโนทุจริต
พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้
หมดสิ้นไปได้แล้ว
ราคะ ... โทสะ ... โมหะ พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว กำจัด ทำให้แห้ง
ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว
โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา
... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ
... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความ
เร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้
หมดสิ้นไปได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ควัน ตรัสเรียกว่าความโกรธ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พราหมณ์ ท่านมีมานะเป็นเครื่องหาบ
มีความโกรธเป็นควัน มีความเป็นคนพูดเท็จเป็นเถ้า
มีลิ้นเป็นทัพพี มีหัวใจเป็นที่บูชาไฟ
ตนที่ฝึกดีแล้วเป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ๑

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความโกรธ ๑๐
อีกนัยหนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดเพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๙๕/๒๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
๒. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๓. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๔. ฯลฯ ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๕. ฯลฯ ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๖. ฯลฯ ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๗. ฯลฯ ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๘. ฯลฯ ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๙. ฯลฯ ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร
ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด ชัง ชิงชัง
เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ
ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย
กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย
ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความโกรธ
อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธ
เพียงทำให้ใจขุ่นมัว ยังไม่ถึงกับหน้าเง้าหน้างอก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้
หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงกับคางสั่นก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คางสั่น
แต่ยังไม่ถึงกับพูดคำหยาบก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้พูดคำหยาบ แต่ยังไม่
ถึงกับตาขวางมองทิศมองทางก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ตาขวางมองทิศ
มองทาง แต่ยังไม่ถึงกับคว้าไม้คว้ามีดก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คว้าไม้
คว้ามีด แต่ยังไม่ถึงกับเงือดเงื้อไม้และมีด(ที่ถือไว้)ก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่
ทำให้เงือดเงื้อไม้และมีด แต่ยังไม่ถึงกับลงมือฟาดฟันก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ฟาดฟัน แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
เกิดบาดแผล แต่ยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกหักก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
กระดูกหัก แต่ยังไม่ถึงกับทำให้อวัยวะขาดหลุดไปก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ทำให้อวัยวะขาดหลุดไป แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับทำให้ดำรงอยู่เพื่อฆ่าตนเองก็มี เมื่อใด
ความโกรธทำให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วฆ่าตนเองเสียด้วย เมื่อนั้น ความโกรธเป็นไปรุนแรงมาก
ถึงความเป็นสิ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง ความโกรธนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้
นั้นตรัสเรียกว่า ปราศจากควัน
ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้ละความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน
เพราะเป็นผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้
เข้าไปตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว
คำว่า ไม่มีทุกข์ อธิบายว่า ราคะเป็นทุกข์ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทเป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาด
ได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีทุกข์
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑ ความหวัง คือ
ตัณหาเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ การเกิดขึ้น การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตวนั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์๒ทั้งหลายในหมู่สัตวนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑
๒ อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.จู.อ. ๑๗/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า เป็นผู้สงบ ปราศจากควัน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้ามได้ คือ ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้
ล่วงเลยชาติชรามรณะไปได้ รวมความว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ
ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ปุณณกมาณพประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการ
พระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปุณณกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๘] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (๑)

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
ปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๕๖-๑๐๖๗/๕๓๔-๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์
๓. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ
พวกภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระ
ราชาก็ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม
คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์
การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ
พวกนาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม
ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม
นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์
การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะ
น้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการ
ถามของรูปเนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า
๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศ
จากกิเลส
๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต
๓. การถามถึงปัจจุบัน
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก
๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม
๓. การถามถึงอัพยากตธรรม
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ
๓. การถามถึงอายตนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน
๓. การถามถึงอิทธิบาท
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ
๓. การถามถึงโพชฌงค์
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล
๓. การถามถึงนิพพาน
คำว่า ขอทูลถามปัญหานั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ คือ
ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด รวมความว่า ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอโปรดตรัส
คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ รวม
ความว่า ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรม
พระองค์แล้ว อธิบายว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงเป็นผู้จบเวท สำคัญ
พระองค์ว่ามีพระองค์อบรมแล้ว คือ เข้าใจอย่างนี้ รู้อย่างนี้ รู้ละเอียดอย่างนี้ รู้
เฉพาะอย่างนี้ แทงตลอดอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยผู้จบเวท
คำว่า ทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรมพระองค์แล้ว อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท อย่างไร
ญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ฯลฯ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา
วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ เรียกว่า เวท
พระผู้มีพระภาคทรงถึงที่สุด ทรงบรรลุที่สุด ทรงถึงส่วนสุด ทรงบรรลุส่วนสุด
ทรงถึงปลายสุด ทรงบรรลุปลายสุด ทรงถึงท้ายสุด ทรงบรรลุท้ายสุด ทรงถึงที่
ปกป้อง ทรงบรรลุที่ปกป้อง ทรงถึงที่หลีกเร้น ทรงบรรลุที่หลีกเร้น ทรงถึงที่พึ่ง
ทรงบรรลุที่พึ่ง ทรงถึงที่ไม่มีภัย ทรงบรรลุที่ไม่มีภัย ทรงถึงที่ไม่จุติ ทรงบรรลุที่ไม่จุติ
ทรงถึงที่ไม่ตาย ทรงบรรลุที่ไม่ตาย ทรงถึงที่ดับ ทรงบรรลุที่ดับแห่งชาติ ชรา
และมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดแห่ง
เวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงเป็นผู้รู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ
๑. ทรงรู้แจ้งสักกายทิฏฐิ
๒. ทรงรู้แจ้งวิจิกิจฉา
๓. ทรงรู้แจ้งสีลัพพตปรามาส
๔. ทรงรู้แจ้งราคะ
๕. ทรงรู้แจ้งโทสะ
๖. ทรงรู้แจ้งโมหะ
๗. ทรงรู้แจ้งมานะ
และพระองค์ทรงรู้แจ้งบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลวิจัยเวททั้งหมดของสมณพราหมณ์ที่มีอยู่
เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท อย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงอบรมพระองค์แล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงอบรมพระวรกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรม
ปัญญา อบรมสติปัฏฐาน อบรมสัมมัปปธาน อบรมอิทธิบาท อบรมอินทรีย์
อบรมพละ อบรมโพชฌงค์ อบรมมรรค ทรงละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่
กำเริบแล้ว ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว พระองค์ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว
เจริญมรรคได้แล้ว ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่
ควรกำหนดรู้ได้แล้ว ละธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้
แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งได้แล้ว พระองค์ทรงมีธรรมไม่น้อย ใหญ่ ลึกซึ้ง ประมาณไม่ได้
หยั่งลงได้ยาก มีพระธรรมรัตนะมาก เปรียบดังทะเลหลวง ประกอบด้วยอุเบกขา
มีองค์ ๖ (คือ)

ว่าด้วยอุเบกขามีองค์ ๖
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ไม่ดีพระทัย ไม่เสียพระทัย
ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ทรงสดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดม
กลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรสทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ดีพระทัย
ไม่เสียพระทัย ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็ไม่ติดพระทัย ไม่ทรงยินดีรูป
ที่น่าพอพระทัย ไม่ทรงให้เกิดความกำหนัด พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัย
ตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ทรงเห็นรูปนั้นที่ไม่น่าพอพระทัยทาง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๐/๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระเนตรแล้ว ก็ไม่เสียพระทัย ไม่กริ้ว ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท พระองค์มีพระวรกาย
ตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน ทรงหลุดพ้นดีแล้ว สดับเสียงทาง
พระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรสทางพระ-
ชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้ธรรมารมณ์
ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ติดพระทัย ไม่ทรงยินดีธรรมารมณ์ที่น่าพอพระทัย ไม่ทรงให้
เกิดความกำหนัด พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน
ทรงหลุดพ้นดีแล้ว ทรงรู้ธรรมารมณ์นั้นที่ไม่น่าพอใจทางพระทัยแล้ว ก็ไม่เสียพระทัย
ไม่กริ้ว ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรง
อยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็มีพระวรกายตั้งมั่นในรูปที่
ชอบพระทัยและไม่ชอบพระทัย มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
สดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรส
ทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้
ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็มีพระวรกายตั้งมั่นในธรรมารมณ์ที่ชอบพระทัยและ
ไม่ชอบพระทัย มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็ไม่ทรงกำหนัดในรูปที่ชวน
กำหนัด ไม่ขัดเคืองในรูปที่ชวนขัดเคือง ไม่หลงในรูปที่ชวนให้หลง ไม่โกรธในรูปที่
ชวนให้โกรธ ไม่เศร้าหมองในรูปที่ชวนให้เศร้าหมอง ไม่มัวเมาในรูปที่ชวนให้มัวเมา
สดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรส
ทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้
ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ทรงกำหนัดในธรรมารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด ไม่
ทรงขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง ไม่หลงในธรรมารมณ์ที่ชวนให้หลง
ไม่ทรงมัวเมาในธรรมารมณ์ที่ชวนให้มัวเมา ไม่ทรงเศร้าหมองในธรรมารมณ์ที่ชวน
ให้เศร้าหมอง
พระผู้มีพระภาคเมื่อทอดพระเนตร ก็สักว่าทอดพระเนตร เมื่อสดับก็สักว่า
สดับ เมื่อรับรู้ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็สักว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ก็สักว่ารู้แจ้ง
ไม่ทรงติดในรูปที่ทรงเห็น ไม่ทรงติดในเสียงที่ได้สดับ ไม่ทรงติดในกลิ่น ไม่ทรงติด
ในรสและไม่ทรงติดในสัมผัสที่รับรู้ ไม่ทรงติดในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง ไม่มีตัณหา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ไม่มีใจประทุษร้าย ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องในรูป
ที่ทรงเห็น มีพระทัยเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ ไม่มีตัณหา ไม่มีใจประทุษร้าย
ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย ไม่ทรงพัวพัน พ้นขาด ไม่ทรงเกี่ยวข้องในเสียงที่ได้สดับ
ฯลฯ ในกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ ฯลฯ ในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง มีพระทัย
เป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
พระผู้มีพระภาคมีพระเนตร ทรงเห็นรูปทางพระเนตร แต่พระผู้มีพระภาคไม่
ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาค
ก็มีพระโสต สดับเสียงทางพระโสต แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย
มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระนาสิก ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิก
แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มี-
พระภาคก็มีพระชิวหา ทรงลิ้มรสทางพระชิวหา แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วย
ความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระวรกาย ทรงถูก
ต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกาย แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มี
พระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระทัย ทรงรู้ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว
แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว
ตาชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระผู้มีพระภาคทรงฝึก คุ้มครอง รักษา
สำรวมพระเนตร และทรงแสดงธรรมเพื่อสำรวมตานั้น หูชอบเสียง ยินดีในเสียง
ชื่นชมในเสียง ฯลฯ จมูกชอบกลิ่น ยินดีในกลิ่น ฯลฯ ลิ้นชอบรส ยินดีในรส
ชื่นชมในรส พระผู้มีพระภาคทรงฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมลิ้น และทรงแสดง
ธรรมเพื่อสำรวมลิ้นนั้น กายชอบโผฏฐัพพะ ยินดีในโผฏฐัพพะ ชื่นชมในโผฏฐัพพะ
ใจชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงฝึก
คุ้มครอง รักษา สำรวม และทรงแสดงธรรมเพื่อสำรวมใจนั้น
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้ว ซึ่งอดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกหัดแล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น
เพราะใครก็ไปถึงนิพพานอันเป็นทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยยานพาหนะเหล่านั้นไม่ได้
เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว มีตนฝึกหัดแล้วอย่างดี ไปถึงได้๑
พระอรหันต์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากภพใหม่แล้ว
บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย
ท่านเป็นผู้ชนะแล้วในโลก๒
ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้วในโลกทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก
ผู้นั้นเป็นผู้อบรมแล้ว ฝึกดีแล้ว รู้ชัดทั้งโลกนี้และปรโลก
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงอบรมพระองค์แล้ว อย่างนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรมพระองค์แล้ว

ว่าด้วยทุกข์
คำว่า จากไหนหนอ ในคำว่า ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากไหนหนอ เป็นคำถาม
ด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมี
มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็น
อย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า จากไหนหนอ
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ทุกข์คือความเสียหาย ทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก
ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย ทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๓๒๑-๓๒๓/๗๒, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒
๒ สํ.ข. ๑๗/๗๖/๖๘
๓ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๒/๔๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์ ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ ทุกข์เนื่องจาก
การอยู่ในครรภ์ ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ ทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตนเอง ทุกข์ที่
เกิดจากความพยายามของผู้อื่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ทุกข์ในสงสาร
ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรค
ทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม
โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก
มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคดีกำเริบ โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดู ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บ
ป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวด
อุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์
เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชาย
ตาย ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค ทุกข์
เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าใดปรากฏในเบื้องต้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
ย่อมปรากฏในเบื้องปลาย วิบากอาศัยกรรม กรรมก็อาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม
นามก็อาศัยรูป นามรูปเป็นไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี
ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย เหล่า
นี้เรียกว่า ทุกข์
ท่านเมตตคูทูลถามถึงมูล เหตุ ต้นเหตุ การเกิดขึ้น แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร
อารมณ์ ปัจจัย เหตุเกิดแห่งทุกข์เหล่านี้ว่า เกิดมาจากไหนหนอ คือ เกิดจากไหน
เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน ได้แก่ มี
อะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด คือ
ขอทูลถาม ทูลขอ ทูลอาราธนา ทูลให้ทรงประกาศ รวมความว่า ทุกข์เหล่านี้
เกิดมาจากไหนหนอ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรก็ตาม ในคำว่า ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตาม ... ในโลก ได้แก่
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
อะไรก็ตาม นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า หลายรูปแบบ ได้แก่ ทุกข์หลายอย่าง ต่างประการ รวมความว่า
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตาม ... ในโลก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากไหนหนอ
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (๒)
คำว่า แห่งทุกข์ ในคำว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัส
อุปายาสทุกข์
คำว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิด อธิบายว่า เธอได้ถามถึงมูล ถามถึงเหตุ
ถามถึงต้นเหตุ ถามถึงการเกิดขึ้น ถามถึงแดนเกิด ถามถึงสมุฏฐาน ถามถึงอาหาร
ถามถึงอารมณ์ ถามถึงปัจจัย ถามถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือ ขอ อัญเชิญ ให้ประกาศ
รวมความว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมตตคู
คำว่า แดนเกิดแห่งทุกข์นั้น ในคำว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่
เธอตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอก คือ จักพูด แสดง บัญญัติ กำหนด เปิด
เผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศมูล บอกเหตุ บอกต้นเหตุ บอกการเกิดขึ้น
บอกแดนเกิด บอกสมุฏฐาน บอกอาหาร บอกอารมณ์ บอกปัจจัย บอกเหตุเกิด
รวมความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอ
คำว่า ตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ได้
ประจักษ์แก่ตนเองตามที่เรารู้ คือ ตามที่เราทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่
โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการอนุมาน
มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวม
ความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้

ว่าด้วยอุปธิ ๑๐
คำว่า ทุกข์ ... ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า
คำว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิ ๑๐ อย่าง คือ

๑. อุปธิคือตัณหา ๒. อุปธิคือทิฏฐิ
๓. อุปธิคือกิเลส ๔. อุปธิคือกรรม
๕. อุปธิคือทุจริต ๖. อุปธิคืออาหาร
๗. อุปธิคือปฏิฆะ ๘. อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔
๙. อุปธิคืออายตนะภายใน ๖ ๑๐. อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖

ทุกข์แม้ทั้งหมด ก็เป็นอุปธิ เพราะมีความหมายว่า ทนได้ยาก เหล่านี้เรียกว่า
อุปธิ ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ฯลฯ พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ตกอยู่ในความทุกข์
ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย เหล่านี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกข์เหล่านี้ มีอุปธิเป็นต้นเหตุ คือมีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นปัจจัย มีอุปธิเป็นการณ์
ชื่อว่าเกิดมา คือ กำเนิดมา เกิดขึ้น บังเกิดแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ รวมความว่า ทุกข์
... ล้วนเกิดมาแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ
คำว่า อะไรก็ตาม ในคำว่า หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก อธิบายว่า
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
อะไรก็ตาม นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า หลายรูปแบบ ได้แก่ ทุกข์หลายอย่าง ต่างประการ รวมความว่า
หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
[๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓)
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ ได้แก่ ผู้ใด คือ
ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด
ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีปัญญา ได้แก่ ไปตามอวิชชา คือ ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญาแจ่ม
กระจ่าง มีปัญญาทึบ
คำว่า ย่อมก่ออุปธิ อธิบายว่า ย่อมก่ออุปธิคือตัณหา ก่ออุปธิคือทิฏฐิ ก่อ
อุปธิคือกิเลส ก่ออุปธิคือกรรม ก่ออุปธิคือทุจริต ก่ออุปธิคืออาหาร ก่ออุปธิคือ
ปฏิฆะ ก่ออุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ ก่ออุปธิคืออายตนะภายใน ๖ ก่ออุปธิคือ
หมวดวิญญาณ ๖ คือ ให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
คำว่า ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ อธิบายว่า ถึง เข้าถึง
เข้าไปถึง คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์
โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
คำว่า เป็นคนเขลา ได้แก่ เป็นคนเขลา คือ เป็นคนหลง ไม่มีปัญญา ไป
ตามอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาทึบ รวมความว่า ผู้นั้น
จัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ ... ไม่ควรก่ออุปธิ
ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือเพราะข้อนั้นเป็นการณ์ เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ เพราะข้อนั้น
เป็นปัจจัย เพราะข้อนั้นเป็นต้นเหตุ คือ มองเห็นโทษนี้ในอุปธิทั้งหลาย รวมความว่า
เพราะฉะนั้น
คำว่า รู้อยู่ ได้แก่ รู้อยู่ คือ ทราบอยู่ รู้แจ่มแจ้งอยู่ รู้เฉพาะอยู่ แทงตลอดอยู่
คือ รู้อยู่ ทราบอยู่ รู้แจ่มแจ้งอยู่ รู้เฉพาะอยู่ แทงตลอดอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
คำว่า ไม่ควรก่ออุปธิ อธิบายว่า ไม่ควรก่ออุปธิคือตัณหา ไม่ควรก่ออุปธิ
คือทิฏฐิ ไม่ควรก่ออุปธิคือกิเลส ไม่ควรก่ออุปธิคือกรรม ไม่ควรก่ออุปธิคือ
ทุจริต ไม่ควรก่ออุปธิคืออาหาร ไม่ควรก่ออุปธิคือปฏิฆะ ไม่ควรก่ออุปธิคือ
อุปาทินนธาตุ๑ ๔ ไม่ควรก่ออุปธิคืออายตนะภายใน ไม่ควรก่ออุปธิหมวด

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทินนธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุ ๔ มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๑๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
วิญญาณ ๖ คือ ไม่ควรให้เกิด ไม่ควรให้เกิดขึ้น ไม่ควรให้บังเกิด ไม่ควรให้บังเกิดขึ้น
รวมความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ ... ไม่ควรก่ออุปธิ
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์
คำว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็น (ทุกข์ว่ามีชาติ)เป็นแดนเกิด อธิบายว่า
พิจารณาเห็นมูล พิจารณาเห็นเหตุ พิจารณาเห็นต้นเหตุ พิจารณาเห็นการเกิดขึ้น
พิจารณาเห็นแดนเกิด พิจารณาเห็นสมุฏฐาน พิจารณาเห็นอาหาร พิจารณาเห็น
อารมณ์ พิจารณาเห็นปัจจัย พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ญาณ ตรัสเรียกว่า อนุปัสสนา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
ผู้ใดประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นนี้ ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้มีปกติพิจารณา
เห็น รวมความว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่ามีชาติเป็นแดนเกิด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
[๒๑] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๔)
คำว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์ พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว อธิบายว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูล
ถามปัญหาใดกับพระองค์ คือ ได้ทูลขอ ได้ทูลอัญเชิญ ได้ทูลให้ทรงประกาศ
ปัญหาใด
คำว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศแล้ว รวมความว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหา
ใดกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่น คือ ทูลขอปัญหาอื่น
ทูลอัญเชิญปัญหาอื่น ทูลให้ทรงประกาศปัญหาอื่น ทูลถามให้ยิ่งขึ้นไป
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
คำว่า อย่างไรหนอ ในคำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วย
ความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้
หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า
อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า โอฆะ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ เกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความ
เร่าร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก ของ
ผู้ที่ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง
ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง
ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ปริเทวะ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความ
เสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหาย
อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว
กระทบบ้าง
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
ได้อย่างไรหนอ อธิบายว่า นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลยโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไร รวมความว่า นักปราชญ์
ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ปัญหานั้น ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหา
นั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศปัญหาใด (ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น)

ว่าด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการ
คำว่า พระมุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ได้แก่ ความรู้ทั่ว
กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยญาณนั้น จึงชื่อว่าพระมุนี คือ ผู้ทรงบรรลุ
โมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ ประการ คือ
๑. โมเนยยธรรมทางกาย ๒. โมเนยยธรรมทางวาจา
๓. โมเนยยธรรมทางใจ
โมเนยยธรรมทางกาย เป็นอย่างไร
คือ การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
กายปริญญา (การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในกาย ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
โมเนยยธรรมทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
วาจาปริญญา (การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคต
ด้วยปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความ
พอใจในวาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุ
ทุติยฌาน ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา (การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาปได้แล้ว๑
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ มี ๖ จำพวก คือ
(๑) อาคารมุนี (๒) อนาคารมุนี (๓) เสขมุนี (๔) อเสขมุนี (๕) ปัจเจกมุนี
(๖) มุนิมุนี
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมรรคญาณ (ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาดเลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง ๒ ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)๑
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง๒
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๓
คำว่า แก้ (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
โปรดแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้นให้
แจ่มแจ้ง รวมความว่า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะ
พระองค์ทรงทราบ คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
รวมความว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๒๖๘-๒๖๙/๖๓
๒ เครื่องข้อง มี ๗ อย่าง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๘๓/๕๒๐)
๓ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๓/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๕)
คำว่า ธรรม ในคำว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ อธิบายว่า เราจักกล่าว
คือ จักบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน
และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในคำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่
เราเห็นแล้ว อธิบายว่า ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว ใน
ธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ใน
ธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้ว ได้แก่ ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว
ในธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ในธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ ในธรรมที่
เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว ในธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้
พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ในธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า
เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราจักกล่าวถึงทุกข์ในทุกข์ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงสมุทัยในสมุทัย
ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงมรรคในมรรคที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงนิโรธในนิโรธที่ได้
เห็นแล้ว รวมความว่า เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง (เราจักกล่าวธรรม) ที่เห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เชิญมาดูได้
ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว รวมความว่า
เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง อธิบายว่า เราจักกล่าวถึงธรรมที่รู้ด้วยตนเอง
ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ มิใช่โดย
การเล่าลือ มิใช่โดยถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจแล้ว รวมความว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดธรรม
ใดแล้ว คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่
บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่างแจ้ง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑

ว่าด้วยตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่าวิสัตติกา
เพราะขยายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะสะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีรากเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่า
วิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติ พึงข้าม
คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวม
ความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ
[๒๓] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๖)
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้น ได้แก่ พระดำรัส
คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอน
คำว่า ชอบใจ ได้แก่ พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี
ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุด
นั้น

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ (ข้าพระองค์ชอบใจ) ธรรมอันสูงสุด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสมาธิขันธ์ใหญ่
... ปัญญาขันธ์ใหญ่ ... วิมุตติขันธ์ใหญ่ ... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความมืดใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องเข้าไปสงบอภิสังขารใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องวางภาระใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องดับความเดือดร้อนใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องยกธงคือธรรมใหญ่ จึง
ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่ ฯลฯ
สัมมัปปธานใหญ่ ฯลฯ อิทธิบาทใหญ่ ฯลฯ อินทรีย์ใหญ่ ฯลฯ พละใหญ่ ฯลฯ
โพชฌงค์ใหญ่ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่ ฯลฯ ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์ผู้มเหศักดิ์แสวงหา ค้นหา
เสาะหาว่า “พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระ
ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน”
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ธรรมอันสูงสุด อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า ธรรมอันสูงสุด
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า สูงสุด ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด
ยอดเยี่ยม รวมความว่า ธรรมอันสูงสุด
คำว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว คือ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ ได้แก่ ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว คือเทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่ม
แจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ในเวทนา
ทั้งหลาย ฯลฯ ในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ฯลฯ
บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกว่า มีสติ๑
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียก
ว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหานี้ ที่ชื่อ
ว่าวิสัตติกาในโลก บุคคลเป็นผู้มีสติพึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกา
ในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
[๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ (๗)
คำว่า เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เธอรู้ คือ ทราบ รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่าง
หนึ่ง
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมตตคู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยธรรมชั้นสูงชั้นต่ำและชั้นกลาง
คำว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง อธิบายว่า
อนาคต ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียก
ว่า ชั้นกลาง
เทวโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง นิรยโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า
ชั้นกลาง
อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ
อัพยากตธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส
เรียกว่า ชั้นกลาง
สุขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ อทุกขมสุข-
เวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไปตรัสเรียกว่า ชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมาตรัส
เรียกว่า ชั้นต่ำ ตรงกลางตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง รวมความว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำและ
ชั้นกลาง
คำว่า ในธรรมเหล่านี้ ในคำว่า เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือ
มั่นและวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า ในธรรม
ที่เราบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว กำหนดแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว
ทำให้ง่ายแล้ว ประกาศแล้ว ตัณหาตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน คือ ความกำหนัด
ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ความถือมั่น ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ
๑. ความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา
๒. ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ ด้วยส่วนแห่งตัณหาเท่าใด ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า เธอจงบรรเทา... และวิญญาณ อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วย
ปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วย
อาเนญชาภิสังขาร เธอจงสลัด บรรเทา ถอน ถอนเสีย ละ ละทิ้ง ละให้หมด
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นและ
วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขารในธรรมเหล่านี้ รวมความว่า เธอจงบรรเทาความ
เพลิดเพลิน ความถือมั่นและวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
กรรมภพ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่ากรรมภพ
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่า
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นวิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร
กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ไม่พึงตั้งอยู่ในกรรมภพ ไม่พึงตั้งอยู่ คือ
ไม่พึงดำรงอยู่ในภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า เธอจงบรรเทา...และ
วิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (๘)
คำว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ในคำว่า ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท อธิบายว่า ภิกษุผู้ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งความเพลิดเพลิน ความยึดมั่นถือมั่น วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ
และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๑

ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ
สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ
ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดย
อุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์ให้บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบาย
อย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ... ความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความ
เพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ
ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสมาธิขันธ์ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้
ปัญญาตามรักษาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร”
ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า
“เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยัง
มิได้เจริญ หรือทำให้แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่า
ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า (ภิกษุ) ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของ
เราด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความยึดถือว่า
เป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ละ สละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความยึดถือว่าของเรา รวมความว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่า
เป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
คำว่า ชาติ ในคำว่า รู้แจ้ง ... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอัน
เป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน ได้แก่ การเกิด คือเกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์)
การบังเกิด การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่
สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความ
เร่าร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก
ของผู้ที่ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์
กระทบบ้าง ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูก
ทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูก
เหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ปริเทวะ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความ
เสียหายของญาติกระทบบ้าง ... ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสีย
หายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้
คำว่า รู้แจ้ง ได้แก่ มีความรู้แจ้ง คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันเป็นทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ฯลฯ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์
คำว่า รู้แจ้ง ... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอันเป็นทุกข์ใน
อัตภาพนี้ได้แน่นอน อธิบายว่า มีความรู้แจ้ง คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส พึงละ คือ พึงบรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ในโลกนี้เอง รวมความว่า รู้แจ้ง
... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๒๖] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๙)
คำว่า นี้ ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวง
หาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอน
คำว่า ชอบใจ ได้แก่ พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี
ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
คำว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ชื่อว่าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระ
องค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ
พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้
ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้
ง่ายไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว รวมความว่า ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์
และอภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อุปธิ การละอุปธิ ความเข้าไปสงบอุปธิ ความสลัด
ทิ้งอุปธิ ความระงับอุปธิ ชื่อว่าอมตนิพพาน รวมความว่า ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า เป็นแน่ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่ เป็น
คำกล่าวโดยนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง
เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าว
โดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด คำว่า เป็นแน่ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ทรงละทุกข์ได้แล้ว อธิบายว่า ทรงละ คือ ทรงละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
คำว่า เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะธรรมนี้
พระองค์ทรงทราบ คือ ทรงรู้ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
รวมความว่า เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึง
กราบทูลว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๒๗] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง (๑๐)
คำว่า ชนแม้เหล่านั้น ในคำว่า ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ได้แก่
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์
คำว่า พึงละทุกข์ได้ อธิบายว่า พึงละ คือ พึงบรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกข-
โทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
คำว่า ชนเหล่าใด ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่
หยุดหย่อน ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า พระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า พระมุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ พระองค์ทรง
ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี๑
คำว่า ตรัสสอนไม่หยุดหย่อน ได้แก่ ตรัสสอนไม่หยุดหย่อน คือ ตรัสสอน
โดยเอื้อเฟื้อ ตรัสสอนเนือง ๆ ตรัสสอนบ่อย ๆ คือ พร่ำสอน รวมความว่า
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๑๒๗-๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระองค์ ในคำว่า เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาค
ผู้นาคะ ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชาด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม
คำว่า จึงมาพบ ได้แก่ จึงมาพบ คือ จึงมาประสบ มาหา มาเฝ้าแล้ว ขอ
นมัสการพระองค์เฉพาะพระพักตร์

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่านาคะ
คำว่า ผู้นาคะ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำ
ความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้
นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่านาคะ๑
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำความชั่ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๘/๔๓๗, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ทรงถึงโทสาคติ
(ลำเอียงเพราะชัง) ไม่ทรงถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ทรงถึงภยาคติ
(ลำเอียงเพราะกลัว) พระองค์ไม่ทรงดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ทรงดำเนินไป ไม่เสด็จ
ออกไป ไม่ทรงถูกพาไป ไม่ทรงถูกนำไปด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะเพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดพระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค
พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใด พระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ ด้วย
อนาคามิมรรค ฯลฯ ด้วยอรหัตตมรรค พระองค์ไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่
ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมา
หา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ ขอ
นมัสการพระองค์
คำว่า พระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ได้แก่
ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อน คือ พึงตรัสสอนโดยเอื้อเฟื้อ
ตรัสสอนเนือง ๆ ตรัสสอนบ่อย ๆ คือ พร่ำสอนบ้าง รวมความว่า พระผู้มี-
พระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึง
กราบทูลว่า
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
[๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (๑๑)

ว่าด้วยบุคคลได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท อธิบายว่า
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕-๔๓๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท ฯลฯ
พราหมณ์นั้นก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท
คำว่า ที่เธอรู้จัก ได้แก่ที่เธอพึงรู้จัก คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด
รวมความว่า บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ ได้แก่
เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ
เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้
ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีเครื่องกังวล
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
ฯลฯ นี้ชื่อว่ากรรมภพ ฯลฯ นี้ชื่อว่าภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ๒
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ อธิบายว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่อง
กังวล ไม่ข้อง คือ ไม่เกาะติด ไม่เกี่ยวพัน ไม่พัวพัน ออก สลัดออก หลุดพ้น
ไม่เกี่ยวข้องในกามภพ มีใจเป็นอิสระ(จากเครื่องกังวล)อยู่ รวมความว่า ไม่มี
เครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
คำว่า โดยแท้ ในคำว่า ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว
ฯลฯ คำว่า โดยแท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า โอฆะ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
คำว่า ข้าม ได้แก่ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย รวมความว่า ข้าม
โอฆะได้แล้วโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๔/๑๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าม ในคำว่า เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมด
ความสงสัยแล้ว อธิบายว่า บุคคลข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วง
พ้นกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ และทางแห่งสงสารได้แล้ว คือ บุคคล
นั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกลได้แล้ว ถึง
ทิศ(นิพพาน)แล้ว ถึงจุดจบ(นิพพาน)แล้ว รักษาพรหมจรรย์ได้แล้ว ถึงทิฏฐิอัน
สูงสุด๑แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่กำเริบแล้ว ทำ
นิโรธให้แจ้งได้แล้ว ท่านกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว
ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แล้ว
ละธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้
แจ้งได้แล้ว
บุคคลนั้นถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้แล้ว ถมคูคือกรรมได้แล้ว ถอนเสา
ระเนียดคือตัณหาได้แล้ว ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส
ปลดธงคือมานะลงเสียแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโยคกิเลสแล้ว ละ
องค์ ๕ (แห่งนิวรณ์)ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมเครื่องรักษาอย่าง
เอก(คือสติ) มีอปัสเสนธรรม๒ ๔ อย่าง มีปัจเจกสัจจะ๓อันบรรเทาได้แล้ว มี
การแสวงหาอันสละได้โดยชอบ ไม่บกพร่อง มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอัน
ระงับได้แล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อยู่
จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงการบรรลุปรมัตถธรรมแล้ว
บุคคลนั้น มิต้องก่อผลกรรม มิต้องกำจัด กำจัดได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องละกิเลส
มิต้องถือมั่น ละได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องเย็บ(ด้วยตัณหา) มิต้องยก(ตนด้วยมานะ)

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิอันสูงสุด หมายถึงสัมมาทิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๖/๘๒)
๒ อปัสเสนธรรม คือ ธรรมดุจพนักพิง หรือธรรมพึ่งอาศัย มี ๔ อย่างคือ
๑. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ เช่น ปัจจัย ๔
๒. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้น เช่น คนพาลหรือสัตว์ร้าย
๓. สงฺขาเยกํ วิโนเทติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทา เช่นกามวิตก
๔. สงฺขาเยกํ ปชหติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วละเสีย (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)
๓ ปัจเจกสัจจะ หมายถึงทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยึดถือ เช่น ถือว่า ทรรศนะนี้
เท่านั้นจริง ทรรศนะนี้เท่านั้นจริง (ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
เย็บเรียบร้อยแล้วดำรงตนอยู่ มิต้องดับ (ไฟคือกิเลส) มิต้องก่อ ดับได้แล้ว
ดำรงตนอยู่ ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้เพราะประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ... ด้วย
สมาธิขันธ์ ... ด้วยปัญญาขันธ์ ... ด้วยวิมุตติขันธ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยวิมุตติ
ญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ แทงตลอดสัจจะแล้ว ดำรงตนอยู่โดยการก้าวล่วง
ตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ดำรงตนอยู่โดยการดับไฟคือกิเลส ดำรงตนอยู่โดย
ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ดำรงตนอยู่โดยการสมาทานธรรมขั้นสุดยอด ดำรงตนอยู่
โดยการเสพวิมุตติ ดำรงตนอยู่ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ ... ด้วยกรุณา... ด้วย
มุทิตาอันบริสุทธิ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความ
บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่มีตัณหาทิฏฐิและมานะ
ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้สันโดษ ดำรงตน
อยู่ในขันธ์สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในธาตุสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในอายตนะสุดท้าย
ดำรงตนอยู่ในคติสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในการถือกำเนิดสุดท้าย ดำรงตนอยู่ใน
ปฏิสนธิสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในสงสารสุดท้าย ดำรง
ตนอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในประชุมแห่งขันธ์
ขั้นสุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย เป็นผู้ไกลจากข้าศึก
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก๑
คำว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่
คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
บุคคลนั้นถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ
บรรลุที่ดับ บุคคลนั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า และ
เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
คำว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต กิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิตเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีกิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิต
คำว่า หมดความสงสัย อธิบายว่า ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกข-
สมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ
สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง
ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย
ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ
ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้ ความหวาดหวั่นแห่งจิต
ความติดขัดในใจเห็นปานนี้
ความสงสัยเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้
หมดความสงสัย รวมความว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมด
ความสงสัยแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว (๑๒)
คำว่า ผู้มีปัญญา ในคำว่า นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท ได้แก่
ผู้มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ใด ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ฯลฯ หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท ฯลฯ เขา
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าจบเวท
คำว่า นรชน ได้แก่ ผู้ข้องอยู่ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้ รวมความว่า
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญาจบเวท
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ ในคำว่า สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้
ได้แล้ว อธิบายว่า ภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็น
เครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิด
ในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ใน
การถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป

ว่าด้วยเครื่องข้อง ๗
คำว่า เครื่องข้อง ได้แก่ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือ
๑. เครื่องข้องคือราคะ
๒. เครื่องข้องคือโทสะ
๓. เครื่องข้องคือโมหะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
๔. เครื่องข้องคือมานะ
๕. เครื่องข้องคือทิฏฐิ
๖. เครื่องข้องคือกิเลส
๗. เครื่องข้องคือทุจริต
คำว่า สลัด ได้แก่ ปลด หรือสลัดเครื่องข้องทั้งหลายได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ปลดเปลื้องหรือสลัดเครื่องข้อง คือ เครื่องผูก เครื่องมัด
เครื่องผูกพัน เครื่องเกาะติด เครื่องเกี่ยวพัน เครื่องพัวพัน เครื่องผูกมัดทั้งหลาย
ได้แล้ว เหมือนคนทำการปลดปล่อยยาน คานหาม รถ เกวียน หรือ ล้อเลื่อน
ให้หันเหไป ฉะนั้น
อีกนัยหนึ่ง ปลดเปลื้องหรือสลัดเครื่องข้อง คือ เครื่องผูก เครื่องผูกพัน
เครื่องเกาะติด เครื่องเกี่ยวพัน เครื่องพัวพัน เครื่องผูกมัดทั้งหลายได้แล้ว รวม
ความว่า สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรา
กล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา
ตัณหานี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว
คือ ปราศจากตัณหาแล้ว เป็นผู้สละตัณหาแล้ว คายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว
ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่ ผู้คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คาย
ราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก
แล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุข อยู่ รวมความว่า นรชนนั้น
เป็นผู้คลายตัณหาแล้ว
คำว่า ไม่มีทุกข์ ได้แก่ ทุกข์คือราคะ ทุกข์คือโทสะ ทุกข์คือโมหะ ทุกข์คือ
โกธะ ทุกข์คืออุปนาหะ ฯลฯ ทุกข์คืออกุสลาภิสังขารทุกประเภท ผู้ใดละทุกข์
เหล่านี้ได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความหวัง คือ ตัณหาเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ เกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตวนั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรา
กล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ผู้ที่ปราศจากตัณหา
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา
และมรณะได้แล้ว รวมความว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ เมตตคูมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
เมตตคูมาณวปัญหานิทเทสที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๓๐] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย ฯลฯ
การถามอีก ๓ อย่าง ฯลฯ
๓ การถามถึงนิพพาน๒
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระ
องค์ คือ ทูลขอพระองค์ ทูลอัญเชิญให้ตรัส ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๖๘-๑๐๗๕/๕๓๗-๕๓๘
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๘๔-๙๑,๑๘/๑๑๐-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า โธตกะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๒ รวมความว่า
ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับ
ฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง อธิบายว่า ข้าพระองค์มุ่งหวัง มุ่งหวังอย่างยิ่ง
คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง
เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนของพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่๓ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ เทียบกับความในข้อ ๙/๗๓
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๒๓/๑๓๓-๑๓๕ และ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐/๔๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว อธิบายว่า ฟัง ได้แก่ สดับ
เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอนของพระองค์แล้ว รวมความว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา
๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๑
คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง
เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่
ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ
รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒)
คำว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร อธิบายว่า เธอจงทำความเพียร
คือ จงทำความอุตสาหะ ความหมั่นเพียร ความพยายาม ความทรงจำ ความ
เป็นผู้กล้า ได้แก่ จงให้ฉันทะเกิด คือ จงให้เกิดขึ้น ตั้งขึ้นไว้ ตั้งขึ้นไว้พร้อม ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร
คำว่า โธตกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
คำว่า ในที่นี้ ในคำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล อธิบายว่า
ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้
ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้
คำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง
ทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ
บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๑ รวมความว่า ผู้มีปัญญา
รักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล
คำว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากนี้๒แล้ว อธิบายว่า บุคคลได้ฟัง สดับ เรียน
ทรงจำ เข้าไปกำหนดพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ
พร่ำสอนของเรา จากนี้ รวมความว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๓
คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง
เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑
๒ จากนี้ หมายถึงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า (ขุ.จู.อ. ๓๑/๒๘)
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่
ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ
รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ
ภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๓๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)

ว่าด้วยเทพ ๓
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า
คำว่า เทวะ ได้แก่ เทพ ๓ จำพวก คือ
๑. สมมุติเทพ
๒. อุบัติเทพ
๓. วิสุทธิเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
สมมุติเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระราชา พระราชกุมาร พระราชเทวี เรียกว่าสมมุติเทพ
อุบัติเทพ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต
เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม
และเทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เรียกว่าอุบัติเทพ
วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันตขีณาสพ ผู้เป็นสาวกของพระตถาคต เรียกว่าวิสุทธิเทพ
และพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เรียกว่าวิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นเทพ เป็น
อติเทพ และเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสมมุติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพทั้งหลาย
ทรงเป็นราชสีห์ยิ่งกว่าราชสีห์ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นผู้นำหมู่ยิ่งกว่าผู้นำหมู่
เป็นพระมุนียิ่งกว่าพระมุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า ข้า
พระองค์ย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ
ผู้ทรงเป็นอติเทพ ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ รวมความว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น...
ในเทวโลกและมนุษยโลก
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ
เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต
เครื่องกังวลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะทรงลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พระผู้มีพระภาคทรงลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง
ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑
คำว่า เสด็จจาริกอยู่ ได้แก่ เสด็จเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่โธตกพราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕/๔๓๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า
สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๑
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์
โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อ
ว่าผู้สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ
หลายอย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐-๔๓๑, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี
ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี
ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ

ว่าด้วยความสงสัย
วิจิกิจฉา เรียกว่า ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยใน
ทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ
สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง
ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย
ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ
ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้๑ ความหวาดหวั่นแห่งจิต
ความติดขัดในใจเห็นปานนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จาก
ความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดเปลื้องข้าพระองค์ โปรด
ปลดเปลื้องข้าพระองค์ คือ โปรดปล่อย ปลดปล่อย ถอน ฉุดรั้งข้าพระองค์ ได้แก่
ทรงให้ข้าพระองค์ออกจากลูกศรคือความสงสัยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้
สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด ด้วย
เหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความใน อภิ.สงฺ (แปล) ๓๔/๔๒๕/๑๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
[๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม๑อันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔)
คำว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อธิบายว่า เราไม่อาจเปลื้อง ปลดเปลื้อง
ปล่อย ปลดปล่อย ถอนเธอขึ้น ได้แก่ ให้เธอถอนออก ให้ขึ้นจากลูกศรคือ
ความสงสัยได้ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราไม่อาจ คือ ไม่สามารถ ไม่อุตสาหะ ไม่พยายาม ไม่ทำ
ความอุตสาหะ ไม่ทำความหมั่นเพียร ไม่ทำความพยายาม ไม่ทำความทรงจำ
ไม่ทำความเป็นผู้กล้า ได้แก่ ไม่ให้ฉันทะเกิด คือ ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่
ให้บังเกิดขึ้น เพื่อแสดงธรรม(ปลดเปลื้อง) บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ เกียจคร้าน
ละความเพียร ไม่ปฏิบัติ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นได้ ถ้าสัตว์เหล่านั้นจะ
พึงหลุดพ้นได้ สัตว์เหล่านั้นเมื่อปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรมด้วยตนเอง ก็จะพึงหลุดพ้น
ได้เอง ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ด้วย
เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น
ของบุรุษของตนเองเท่านั้น รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “จุนทะ ข้อที่บุคคลซึ่งตนเองก็จมดิ่งอยู่
จักฉุดผู้อื่นที่จมดิ่งอยู่แล้วขึ้นมาได้ เป็นไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลผู้มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม
ยังมิได้ดับกิเลสด้วยตนเอง จักฝึกฝน อบรมผู้อื่น ทำผู้อื่นให้ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้
เลย”๒รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้องอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๗๑/๕๓๘ เป็น อภิชานมาโน แปลว่ารู้แจ้ง
๒ ม.มู. ๑๒/๘๗/๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่ว ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๑
รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง แม้ด้วยประการฉะนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ฉันนั้นเหมือนกันแหละพราหมณ์
นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้
สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึง
ที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็
เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง จะ
พึงหลุดพ้นได้ ด้วยประการฉะนี้”๒ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง
อย่างนี้บ้าง
คำว่า โธตกะ ... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มี
ความสงสัย คือ มีความแคลงใจ มีความระแวง มีความเห็นสองจิตสองใจ มี
ความข้องใจ
คำว่า ใคร ๆ ได้แก่ ใคร ๆ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๓ รวมความว่า โธตกะ
... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้
คำว่า แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส
เรียกว่า ธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๑๖๕/๔๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘/๔๑
๒ ม.อุ. ๑๔/๗๗/๕๗-๕๘
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า
สูงสุด ยอดเยี่ยม
คำว่า เมื่อรู้ ได้แก่ เมื่อรู้ คือ เมื่อรู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด รวมความว่า
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
คำว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ อธิบายว่า
เธอก็พึงข้าม คือ ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะได้
ด้วยประการฉะนี้ รวมความว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ ด้วยประการฉะนี้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๓๔] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕)
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ ... ตรัสสอน ในคำว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน อธิบายว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดตรัสสอน คือ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดทรงอนุเคราะห์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรง
เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์... ตรัสสอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๗ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker