ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๒๔] ข้าแต่พระราชโอรส พระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
ทำให้ข้าพระองค์ได้รับรางวัล เมื่อพระองค์เสด็จกลับไป
พระบิดาและพระมารดาพึงพระราชทานรางวัลให้แก่ข้าพระองค์
[๒๕] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์เหล่านั้น
จะพึงดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๖] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
แม้เหล่านั้นจะพากันดีใจ ให้รางวัลแก่ข้าพระองค์
[๒๗] ข้าแต่พระราชโอรส เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมผู้มีธัญญาหารมาก
จะมาประชุมกัน ให้เครื่องบรรณาการแก่ข้าพระองค์
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘] เราเป็นผู้อันพระบิดาและพระมารดา
ชาวแคว้น ชาวนิคม และกุมารทั้งปวงสละแล้ว
เราไม่มีเรือนของตน
[๒๙] เราเป็นผู้อันพระมารดาทรงอนุญาตแล้ว
และพระบิดาก็ทรงสละขาดแล้ว
ออกไปบวชอยู่ในป่าแต่ลำพัง
เราไม่พึงปรารถนากามทั้งหลาย
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงตรัสว่า)
[๓๐] ความหวังผลของเหล่าชนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๓๑] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๓๒] พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาไพเราะ
มีพระดำรัสสละสลวยอย่างนี้
เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ตรัสในสำนัก
ของพระบิดาและพระมารดาในเวลานั้น
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๓๓] เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีข้อต่อก็หามิได้
เป็นคนหนวก เพราะไม่มีโสตประสาทก็หามิได้
เป็นคนใบ้ เพราะไม่มีชิวหาประสาทก็หามิได้
ท่านอย่าเข้าใจว่า เราเป็นใบ้
[๓๔] เราระลึกชาติก่อนที่เราเสวยราชสมบัติได้
เราได้เสวยราชสมบัติในครั้งนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอันแสนสาหัส
[๓๕] เราได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๓๖] เรากลัวจะต้องได้เสวยราชสมบัตินั้น
จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราไว้ในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่พูดในสำนัก
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น
[๓๗] พระบิดาทรงอุ้มเราให้นั่งบนพระเพลาแล้ว
ตรัสพิพากษาว่า ท่านทั้งหลายจงฆ่าโจรคนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
จงจองจำโจรอีกคนหนึ่งไว้ในเรือนจำ
จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่งแล้ว ราดด้วยน้ำกรด
จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว
พระบิดาตรัสพิพากษาอรรถคดีแก่มหาชนนั้นด้วยประการฉะนี้
[๓๘] เราได้ฟังพระวาจาอันหยาบคายที่พระบิดาตรัสนั้น
จึงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
เรามิได้เป็นคนใบ้ ก็ทำเหมือนเป็นคนใบ้
มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็ทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย
เรากลิ้งเกลือกนอนจมอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะของตน
[๓๙] ชีวิตเป็นของยาก เป็นของเล็กน้อย๑
ซ้ำประกอบไปด้วยทุกข์
ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
[๔๐] ใครเล่าอาศัยชีวิตนี้แล้วพึงก่อเวรกับใคร ๆ
เพราะไม่ได้ปัญญาและเพราะไม่ได้เห็นธรรม
[๔๑] ความหวังผลของเหล่าคนผู้ไม่รีบร้อนย่อมสำเร็จแน่
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
นายสารถี ท่านจงรู้ไว้อย่างนี้เถิด
[๔๒] อนึ่ง ประโยชน์โดยชอบของเหล่าชน
ผู้ไม่รีบร้อน ย่อมเผล็ดผลโดยแท้
เรามีพรหมจรรย์เผล็ดผลแล้ว
ออกบวชแล้วย่อมไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ชีวิตเป็นของเล็กน้อย หมายความว่า หากชีวิตของสัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบาก ก็จะดำรงอยู่ได้นาน
มาก แต่หากได้รับความสบาย ก็จะดำรงอยู่ได้ชั่วเวลานิดหน่อย และชีวิตนี้ยากเข็ญ เป็นของเล็กน้อย คือ
มีประมาณน้อยนิด อีกทั้งเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยความสั่งสมทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๙/๒๗-๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(นายสุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระราชโอรส
แม้ข้าพระองค์ก็จักบวชในสำนักของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด
ข้าพระองค์พอใจจะบวช พระเจ้าข้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๔] นายสารถี เรามอบรถให้ท่านแล้ว ท่านจงเป็นผู้ไม่มีหนี้
มาเถิด เพราะคนที่ไม่มีหนี้ จึงจะบวชได้
พวกฤๅษีทั้งหลายกล่าวสรรเสริญการบวชนั้น
(สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๕] ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
ข้าพระองค์ได้ทำตามพระดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้ว
ข้าพระองค์ทูลวิงวอนแล้ว
ขอพระองค์ควรทรงโปรดกระทำตามคำของข้าพระองค์เถิด
[๔๖] ขอพระองค์จงประทับอยู่ ณ ที่นี้
จนกว่าข้าพระองค์จะทูลเชิญเสด็จพระราชามา
พระบิดาของพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว
จะพึงมีพระทัยเอิบอิ่มเป็นแน่
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๗] นายสารถี เราจะทำตามคำของท่านที่กล่าวกับเรา
แม้เราก็ปรารถนาจะเฝ้าพระบิดาของเราซึ่งเสด็จมา ณ ที่นี้
[๔๘] ท่านจงกลับไปเถิด สหาย
การที่ท่านได้ทูลพระญาติทั้งหลายด้วยเป็นการดี
ท่านรับคำสั่งเราแล้ว
พึงกราบทูลการถวายบังคมพระมารดาและพระบิดาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๙] นายสารถีจับพระบาททั้ง ๒ ของพระโพธิสัตว์นั้น
และทำประทักษิณพระองค์แล้ว
ก็ขึ้นรถบ่ายหน้าเข้าไปยังทวารพระราชวัง
[๕๐] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
จึงทรงกันแสง มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทอดพระเนตรดูนายสารถีนั้นอยู่
[๕๑] พระนางทรงเข้าพระทัยว่า
นายสารถีฝังลูกของเราแล้วจึงกลับมา
ลูกของเราถูกนายสารถีฝังไว้ในแผ่นดิน
กลบดินแล้วเป็นแน่
[๕๒] พวกศัตรูย่อมพากันยินดี
พวกคนจองเวรต่างก็เอิบอิ่มเป็นแน่
เพราะเห็นนายสารถีฝังลูกของเรากลับมาแล้ว
[๕๓] พระมารดาทอดพระเนตรเห็นรถอันว่างเปล่า
กลับมาแต่นายสารถีคนเดียว
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
ทรงกันแสงอยู่ ตรัสถามนายสารถีนั้นว่า
[๕๔] ลูกของเราเป็นคนใบ้จริงหรือ เป็นคนง่อยเปลี้ยจริงหรือ
ลูกของเราขณะที่ท่านจะฝังดิน พูดอะไรบ้างหรือเปล่า
นายสารถี ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราด้วยเถิด
[๕๕] ลูกของเราเป็นคนใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ย
เมื่อท่านจะฝังลงดิน กระดิกมือและเท้าอย่างไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(ลำดับนั้น นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๖] ข้าแต่พระแม่เจ้า
ขอได้โปรดพระราชทานอภัยโทษแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด
ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูล
ตามที่ได้ยินและได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(พระนางจันทาเทวีตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๕๗] นายสารถีผู้สหาย เราให้อภัยโทษแก่ท่าน
อย่าได้กลัวเลย จงพูดไปเถิด
ตามที่ท่านได้ยินหรือได้เห็นมาในสำนักของพระราชโอรส
(นายสุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๘] พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นคนใบ้ มิได้เป็นคนง่อยเปลี้ย
ยังมีพระดำรัสสละสลวยไพเราะ ได้ทราบว่า
พระองค์ทรงกลัวต่อการครองราชสมบัติ
จึงได้ทำการลวงอย่างมากมาย
[๕๙] พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อน
ที่พระองค์เคยได้เสวยราชสมบัติ
ครั้นได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้ว
ต้องไปตกนรกอย่างแสนสาหัส
[๖๐] พระองค์ได้เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี
แล้วต้องไปหมกไหม้อยู่ในนรกถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
[๖๑] พระองค์ทรงกลัวต่อการเสวยราชสมบัติ
จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า
ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัส
ในสำนักของพระบิดาและพระมารดาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๖๒] พระราชโอรสทรงถึงพร้อมด้วยองคาพยพ
มีพระรูปสมบัติงดงามสมส่วน
มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา
ทรงดำรงอยู่ในทางสวรรค์
[๖๓] ถ้าพระแม่เจ้าทรงพระประสงค์จะทอดพระเนตร
พระราชโอรสของพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลเชิญเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
(ฝ่ายพระเจ้ากาสีทรงสดับคำของนายสุนันทสารถี จึงดำรัสสั่งให้เรียกมหา-
เสนคุตมา รีบให้ตระเตรียมเสด็จ ตรัสว่า)
[๖๔] เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจงเทียมรถ เทียมม้า
ผูกเครื่องประคับช้าง จงประโคมสังข์และบัณเฑาะว์
ตีกลองหน้าเดียวเถิด
[๖๕] จงตีกลองสองหน้าและรำมะนาอันไพเราะ
ขอชาวนิคมจงตามเรามา
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๖] ขอพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์
และพราหมณ์ทั้งหลายจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๗] ขอพวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบจงรีบเทียมยาน
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส
[๖๘] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
จงรีบเทียมยานเถิด
เราจะไปให้โอวาทแก่พระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙] พวกนายสารถีจูงม้าสินธพที่มีฝีเท้าเร็ว
เทียมเข้ากับราชรถขับมายังทวารพระราชวัง
และกราบทูลว่า ม้าเหล่านี้เทียมแล้ว พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ม้าอ้วนก็ไม่มีฝีเท้าเร็ว ม้าผอมก็ไม่มีเรี่ยวแรง
จงเว้นทั้งม้าผอมและม้าอ้วนเสีย
เลือกเทียมแต่ม้าที่สมบูรณ์
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชารีบเสด็จขึ้นประทับม้าสินธพที่เทียมแล้ว
ได้ตรัสกับนางชาววังว่า พวกเจ้าทั้งหมดจงตามเรามาเถิด
[๗๒] พระราชาตรัสสั่งว่า จงตระเตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง
คือ พัดวาลวีชนี อุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตร
และฉลองพระบาทที่ประดับตกแต่งด้วยทองคำขึ้นรถไปด้วย
[๗๓] และต่อจากนั้น พระราชาตรัสสั่งให้นายสารถีนำทาง
เสด็จเคลื่อนขบวนเข้าไปถึงสถานที่
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเตมีย์
[๗๔] ส่วนพระเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
กำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ
ทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ จึงถวายพระพรว่า
[๗๕] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
พระองค์ทรงสุขสบายดีหรือ ทรงพระสำราญดีหรือ
ราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดาของอาตมภาพ
ไม่มีพระโรคาพาธหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๖] ลูกรัก โยมสุขสบายดี
ไม่มีโรคเบียดเบียน
พระราชกัญญาทั้งปวงและพระมารดา
ของลูกรักก็ไม่มีโรคาพาธ
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามพระราชาว่า)
[๗๗] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
มหาบพิตรไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
ไม่ทรงโปรดปรานการเสวยน้ำจัณฑ์หรือ
พระทัยของพระองค์ทรงยินดีในสัจจะ
ในธรรม และในทานหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๗๘] ลูกรัก โยมไม่ดื่มน้ำจัณฑ์
และไม่โปรดปรานการดื่มน้ำจัณฑ์
ใจของโยมยังยินดีในสัจจะ ในธรรม และในทาน
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๗๙] ขอถวายพระพรเสด็จพ่อ
ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้ดีอยู่หรือ
มหาบพิตร พยาธิที่จะเข้าไปแผดเผาพระสรีระของพระองค์ไม่มีหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๐] พาหนะมีม้าและโคเป็นต้นของโยมที่เทียมแล้วมั่นคง
ราชพาหนะก็ยังนำภาระไปได้
พยาธิที่เข้าไปแผดเผาสรีระของโยมก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๘๑] ชุมชนแถบชายแดนของพระองค์ยังมั่งคั่งหรือ
คามนิคมในท่ามกลางรัฐของพระองค์
ยังเป็นที่อยู่แน่นหนามั่งคั่งอยู่หรือ
ฉางหลวงและท้องพระคลังของพระองค์ยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๘๒] ชุมชนแถบชายแดนของโยมยังมั่งคั่ง
คามนิคมในท่ามกลางแคว้นก็ยังอยู่แน่นหนาดี
ฉางหลวงและท้องพระคลังของโยม
ก็ยังคงบริบูรณ์ดีทุกอย่าง
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
ขอมหาดเล็กทั้งหลายจงจัดตั้งบัลลังก์
ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งถวายพระราชาเถิด
[๘๔] เชิญประทับนั่ง ณ เครื่องลาดใบไม้ที่เขาปูไว้เรียบร้อย
ถวายมหาบพิตร ณ ที่นี้เถิด
จงทรงตักน้ำจากภาชนะนี้ล้างพระบาทของพระองค์เถิด
[๘๕] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้เป็นของสุกไม่เค็ม
พระองค์มาเป็นแขกของอาตมภาพแล้ว เชิญเสวยเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๖] โยมไม่บริโภคใบหมากเม่า
เพราะใบหมากเม่านี้มิใช่อาหารของโยม
โยมบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(พระราชาตรัสกับพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๘๗] ความน่าอัศจรรย์ปรากฏชัดเจนกับโยม
เพราะได้เห็นลูกรักอยู่ในที่ลับแต่ผู้เดียว
เพราะเหตุไร ผิวพรรณของผู้บริโภคอาหารเช่นนี้จึงผ่องใสเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะทูลพระราชานั้น จึงตรัสว่า)
[๘๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
อาตมภาพจำวัดตามลำพังบนเครื่องลาดใบไม้
เพราะการจำวัดตามลำพังนั้น
ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๘๙] อนึ่ง อาตมภาพไม่มีราชองครักษ์คาดกระบี่คอยป้องกัน
เพราะการจำวัดตามลำพังของอาตมภาพนั้น
ผิวพรรณจึงผ่องใส ขอถวายพระพร
[๙๐] อาตมภาพมิได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
มิได้ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะฉะนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส
[๙๑] เพราะการปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง
เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว
ทั้ง ๒ อย่างนี้ พวกคนพาลซูบซีดเหี่ยวแห้ง
เหมือนไม้อ้อที่เขียวสดถูกถอนทิ้งไว้
(ลำดับนั้น พระราชาทรงเชิญพระเตมีย์โพธิสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า)
[๙๒] ลูกรัก โยมขอมอบกองพลช้าง๑ กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก

เชิงอรรถ :
๑ กองพลช้าง หมายถึงกองทัพที่จัดขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ นับช้างตั้งแต่สิบเชือกขึ้นไป ที่ชื่อว่ากองพลรถก็เช่น
เดียวกัน (ขุ.ชา.อ. ๙/๙๒/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๙๓] โยมขอมอบพระสนมกำนัลในผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกรักจงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
จงเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๙๔] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงแม้อื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
[๙๕] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ ผู้ประดับดีแล้วมา
ขอลูกรักให้กำเนิดพระโอรสในหญิงเหล่านั้นแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๙๖] ลูกรักยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์แสดงธรรมโปรดพระราชาว่า)
[๙๗] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม
เพราะการบวชของคนหนุ่ม ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
[๙๘] คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม
อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์
อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ
[๙๙] อาตมภาพเห็นเด็กหนุ่มของท่านทั้งหลาย
ผู้เรียกมารดาและบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักได้มาโดยยาก
ยังไม่ทันถึงความแก่เลยก็ตายเสียแล้ว
[๑๐๐] อาตมภาพเห็นเด็กสาวของท่านทั้งหลาย
ที่สวยสดงดงาม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูกถอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๑] จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม
แม้ยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะฉะนั้น
ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นได้ว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว
[๑๐๒] อายุของคนเป็นของน้อย เพราะวันคืนล่วงไป ๆ
เปรียบเหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย
ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้
[๑๐๓] สัตวโลกถูกครอบงำและถูกรุมล้อมอยู่เป็นนิตย์
เมื่อราตรีทั้งหลายทำอายุ วรรณะ และกำลัง
ของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔] สัตวโลกถูกอะไรครอบงำ และถูกอะไรรุมล้อมไว้
อะไรชื่อว่าราตรีที่ทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปเป็นไปอยู่
โยมถามแล้ว ขอลูกรักจงบอกข้อนั้นแก่โยมเถิด
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ทูลว่า)
[๑๐๕] สัตวโลกถูกความตายครอบงำ
และถูกความแก่รุมล้อมไว้
วันคืนที่ชื่อว่าทำอายุ วรรณะ
และกำลังของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไปก็เป็นไปอยู่
มหาบพิตร ขอจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร
[๑๐๖] เมื่อเส้นด้ายที่เขากำลังทอ
ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่ต้องทอต่อไป
โยมก็พึงทราบว่า เหลืออยู่น้อยเท่านั้นฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐๗] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งเมื่อไหลไปย่อมไม่ไหลกลับฉันใด
อายุของมนุษย์ทั้งหลายเมื่อผ่านไป
ก็ย่อมไม่หวนกลับคืนฉันนั้น
[๑๐๘] ห้วงน้ำที่เต็มฝั่งย่อมพัดพาเอาต้นไม้
ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไปฉันใด
สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไปฉันนั้น
(พระราชาสดับธรรมกถาของพระเตมีย์โพธิสัตว์แล้ว จะเชิญให้ครองราชสมบัติอีก จึงตรัสว่า)
[๑๐๙] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ เหล่าทหารผูกโล่
และพระราชนิเวศน์ที่น่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๐] อนึ่ง โยมขอมอบพระสนมกำนัลใน
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย จงปกครองพระสนมกำนัลในเหล่านั้น
ลูกจักเป็นพระราชาของโยมทั้งหลาย
[๑๑๑] หญิงทั้ง ๔ คนผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง
ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิงอื่น ๆ
จักทำลูกรักให้รื่นรมย์ในกามได้ ลูกจะทำอะไรในป่าเล่า
[๑๑๒] โยมจักนำราชกัญญาจากพระราชาอื่น ๆ
ผู้ประดับแล้วมาให้แก่ลูก
ลูกให้หญิงเหล่านั้นกำเนิดพระโอรสแล้ว
จึงบวชในภายหลังเถิด
[๑๑๓] ลูกยังหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย มีผมดำสนิท
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๑๔] ลูกเอ๋ย โยมขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ
พลนิกาย และพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์แก่ลูก
[๑๑๕] ลูกจงแวดล้อมด้วยแวดวงราชกัญญาที่งามพร้อม
จงแวดล้อมด้วยหมู่พระสนมกำนัลใน
จงครอบครองราชสมบัติก่อนเถิด
ขอลูกจงมีความเจริญ ลูกจักทำอะไรในป่าเล่า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อจะประกาศความที่ตนไม่ปรารถนาราชสมบัติ จึงทูลว่า)
[๑๑๖] มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม
บุคคลจักตายเพราะภรรยาทำไม
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวที่แก่เฒ่า
เพราะถูกชราครอบงำ
[๑๑๗] ในโลกสันนิวาสที่มีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น
จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่อาตมภาพ
อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร
[๑๑๘] มัจจุราชย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่า
เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้ว
จะยินดีไปทำไม จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไม
[๑๑๙] ภัยของผลไม้ที่สุกแล้วทั้งหลาย
ย่อมมีเพราะหล่นลงเป็นนิตย์ฉันใด
ภัยของเหล่าสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว
ย่อมมีเพราะความตายอยู่เป็นนิตย์ฉันนั้น
[๑๒๐] คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเช้า
ตกตอนเย็นบางพวกก็ไม่เห็นกัน
คนเป็นจำนวนมากที่ได้พบกันในตอนเย็น
ตกตอนเช้าบางพวกก็ไม่เห็นกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๒๑] ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้
ใครเล่าจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะความผ่อนผันกับมัจจุราชที่มีเสนาหมู่ใหญ่นั้น
ไม่มีแก่เราทั้งหลายเลย
[๑๒๒] พวกโจรย่อมปรารถนาทรัพย์
มหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก
เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับไปเถิด
อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ ขอถวายพระพร
เตมิยชาดกที่ ๑ จบ

๒. มหาชนกชาดก๑ (๕๓๙)
ว่าด้วยพระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๓] ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
ก็ยังเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร
ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร
จึงพยายามเต็มที่อยู่อย่างนี้
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๔] เทพธิดา เราพิเคราะห์เห็นธรรมเนียมของโลก
และอานิสงส์ของความพยายาม
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
เราจึงเพียรพยายาม(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร

เชิงอรรถ :
๑ มหาชนกชาดก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออก
บรรพชาครั้งใหญ่ (ในอดีต) จึงได้ตรัสเรื่องพระมหาชนกนี้โดยทรงยกคาถาแรกของเรื่องที่นางเทพธิดา
กล่าวกับพระมหาชนกที่กำลังว่ายน้ำข้ามทะเลอยู่ว่า “ใครกันนี่ ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่งก็ยังพยายาม
(ว่าย)อยู่ในท่ามกลางสมุทร ” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๕] ฝั่งสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ยังไม่ปรากฏ
ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์
ยังไม่ทันจะถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตายแน่
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๖] บุคคลผู้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอยู่
จะไม่ถูกหมู่ญาติ เทวดา และพรหมทั้งหลายนินทา
ทั้งจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๗] การงานที่ให้ถึงฝั่งไม่ได้
ปราศจากผล ก่อให้เกิดความลำบาก
และความตาย ย่อมมีได้เพราะทำการงานใด
ประโยชน์อะไรด้วยความพยายาม ในการงานนั้น
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๒๘] เทพธิดา บุคคลใดรู้ว่า
งานสุดวิสัยเกินตัวแล้ว ไม่รักษาชีวิตของตน
ถ้าผู้นั้นคลายความเพียรเสีย ก็จะพึงรู้ผลของงานนั้น
[๑๒๙] เทพธิดา คนบางพวกในโลกนี้
พิจารณาเห็นผลแห่งความมุ่งประสงค์ของตน
จึงประกอบการงานทั้งหลาย
การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที
[๑๓๐] เทพธิดา ท่านกำลังเห็นผลงานที่ประจักษ์แก่ตนเองแล้วมิใช่หรือ
คนอื่น ๆ พากันจมน้ำแล้ว
เราคนเดียวเท่านั้นพยายามข้ามอยู่
และยังเห็นท่านอยู่ใกล้เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๑] เรานั้นจักพยายามตามกำลังความสามารถ
จักไปให้ถึงฝั่งสมุทร
จักทำความเพียรอย่างลูกผู้ชาย
(ต่อมา พระโพธิสัตว์ได้ครองราชสมบัติในเมืองมิถิลาแล้ว ทรงระลึกถึงผลแห่ง
ความเพียรชอบของพระองค์ ทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติว่า)
[๑๓๒] ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม
ไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่หาประมาณมิได้เห็นปานนี้ด้วยการกระทำ
ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ท่านชอบใจเถิด
ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุม๑นี้ คือ
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ใหญ่ ๑๖ ขุมที่พระเจ้าโปลชนกทรงฝังไว้ อธิบายโดยย่อ ดังนี้
๑. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ขึ้น หมายถึงที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้า
๒. ขุมทรัพย์ที่อยู่ทางดวงอาทิตย์ตก หมายถึงที่ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับ
๓. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายในประตูใหญ่พระราชวัง
๔. ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอกประตูใหญ่พระราชวัง
๕. ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่อยู่ภายในภายนอก หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ภายใต้ธรณีประตู
๖. ขุมทรัพย์ที่ทางขึ้น หมายถึงขุมทรัพย์ตรงที่ลาดบันได เวลาเสด็จขึ้นช้างมงคล
๗. ขุมทรัพย์ที่ทางลง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงที่เสด็จลงจากคอช้าง
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่เท้าพระแท่นบรรทมทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ชั่วแอก (หนึ่งวา) รอบที่บรรทม
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายงาทั้ง ๒ ของช้างมงคลในโรงช้างมงคล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
๘.-๑๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้สาละทั้ง ๔
๑๒. ขุมทรัพย์ที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ
๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายงาทั้ง ๒
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน
บัลลังก์สี่เหลี่ยม ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี
[๑๓๓] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๔] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว
[๑๓๕] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองได้เป็นพระราชาตามที่ตนปรารถนา
[๑๓๖] บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามร่ำไป
ไม่พึงเบื่อหน่าย
เราเห็นตนเองถูกอุ้มจากน้ำขึ้นบกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑๔. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ตรงปลายหางของช้างมงคลในโรงช้างมงคล
๑๕. ขุมทรัพย์ที่สระน้ำ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ในสระโบกขรณีมงคล
๑๖. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ หมายถึงขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้ต้นรังใหญ่ในพระราชอุทยาน เวลาเที่ยงวันเงาจะอยู่
ที่โคนต้น จึงให้ขุดทรัพย์ที่นั้น ธนูหนักหนึ่งพันแรงคน หมายถึงธนูที่ใช้แรงคนโก่งหนึ่งพันคน แต่
พระมหาชนกโก่งได้โดยง่ายเหมือนธนูดีดฝ้ายของสตรี บัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ทรงทราบด้านศีรษะของ
บัลลังก์ให้พระนางสีวลีเอาปิ่นปักพระเกศาวาง ผู้ทำเจ้าหญิงสีวลีให้ยินดี หมายถึงพระนางสีวลี
ยินดีกับชายใด ชายนั้นจะได้ครองราชย์ พระมหาชนกเป็นที่โปรดปรานของพระนางสีวลีตั้งแต่แรกพบ
ถึงกับยื่นพระหัตถ์ให้เกาะ ท้าวเธอก็ทรงเกาะพระหัตถ์พระนางขึ้นสู่ปราสาท
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๓๒/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๓๗] คนมีปัญญาแม้ถูกทุกข์กระทบแล้ว
ก็ไม่พึงทำลายความหวัง เพื่อการมาถึงแห่งความสุข
เพราะสัมผัสมีมากอย่างทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
ผู้ไม่นึกถึงประโยชน์ย่อมเข้าถึงความตาย
[๑๓๘] สิ่งที่ไม่ได้คิดกลับเป็นไปได้ สิ่งที่คิดแล้วกลับพินาศไป
ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของหญิงหรือชาย
หาได้สำเร็จด้วยความคิดไม่
(ชาวเมืองกล่าวกันว่า)
[๑๓๙] ท่านผู้เจริญ พระราชาผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งปวง
เป็นใหญ่ในทิศ ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อนหนอ
วันนี้ ไม่ทอดพระเนตรการฟ้อนรำ
ไม่ทรงใส่พระทัยในการขับร้อง
[๑๔๐] ไม่ทอดพระเนตรฝูงเนื้อ ไม่เสด็จประพาสพระราชอุทยาน
ไม่ทอดพระเนตรฝูงหงส์
พระองค์ทรงประทับนิ่งเฉยเหมือนคนใบ้
ไม่ทรงว่าราชการเลย
(พระโพธิสัตว์ทรงระลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๔๑] นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุข
มีปกติหลีกเร้น ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส
ทั้งหนุ่มทั้งแก่ ก้าวล่วงตัณหาเสียได้
ย่อมอยู่ ณ อารามของใครหนอในวันนี้
[๑๔๒] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนักปราชญ์เหล่านั้นผู้แสวงหาคุณใหญ่
นักปราชญ์เหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวายอยู่ในโลกที่ถึงความขวนขวาย
[๑๔๓] นักปราชญ์เหล่านั้นตัดข่ายคือตัณหาอันมั่นคงแห่งมฤตยู
ที่มีมายาอย่างยิ่งทำลายด้วยญาณไปอยู่
ใครเล่าจะพึงนำเราไปให้ถึงสถานที่อยู่ของนักปราชญ์เหล่านี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๔๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นสัดส่วนออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๕] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรืองกว้างขวาง
สว่างไสวทั่วทุกทิศ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๖] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีปราการและเสาค่ายเป็นอันมาก ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๗] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีป้อมคูและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๘] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีถนนหลวงตัดไว้อย่างดี ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๔๙] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีร้านตลาดที่จัดแยกไว้สวยงาม ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๐] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ซึ่งมีโค ม้า และรถเบียดเสียดกัน ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๑] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีสวนสาธารณะมีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๒] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
ที่มีวนอุทยาน มีระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๓] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง
มีปราสาทราชมณเฑียร สถานที่และอุทยาน
เป็นระเบียบเรียบร้อย ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๔] เมื่อไร เราจักละกรุงมิถิลาอันรุ่งเรือง มีปราการ ๓ ชั้น
คับคั่งด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ที่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้เรืองยศพระนามว่าโสมนัสได้ทรงสร้างไว้ ออกบวชได้
การละนครเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๕] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
พรั่งพร้อมด้วยการสะสมเสบียง เช่น
สะสมทรัพย์และธัญญาหารเป็นต้น
ที่พระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยชอบธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๖] เมื่อไร เราจักละแคว้นวิเทหะอันรุ่งเรือง
ที่พวกปรปักษ์ผจญไม่ได้
ซึ่งพระเจ้าวิเทหะทรงปกครองโดยธรรม ออกบวชได้
การละแคว้นเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๗] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่นายช่างผู้ฉลาดได้จัดจำแนกไว้
สร้างไว้เป็นส่วนสัด ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๕๘] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๕๙] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักอันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๐] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดจัดจำแนก
สร้างไว้เป็นสัดส่วน ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๑] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่โบกฉาบด้วยปูนขาวและดินเหนียว ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๒] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่มีกลิ่นหอมสดชื่นรื่นรมย์ใจ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๓] เมื่อไร เราจักละพระตำหนักเรือนยอด
ที่นายช่างผู้ชาญฉลาดฉาบทา
และประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์ ออกบวชได้
การละพระตำหนักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๖๔] เมื่อไร เราจึงจักละบัลลังก์ทอง
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์ทองเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๕] เมื่อไร เราจักละบัลลังก์แก้วมณี
ที่ลาดด้วยพรมขนสัตว์อันวิจิตร ออกบวชได้
การละบัลลังก์แก้วมณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๖] เมื่อไร เราจักละผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่าน
และผ้าขนสัตว์อย่างละเอียด ออกบวชได้
การละผ้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๗] เมื่อไร เราจักละสระโบกขรณีอันรื่นรมย์
มีนกจักรพากส่งเสียงร่ำร้องอยู่
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม
และดอกอุบล ออกบวชได้
การละสระโบกขรณีเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๖๘] เมื่อไร เราจักละกองช้างพลาย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
มีสายรัดทองคำ มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ
[๑๖๙] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๐] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย๑
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว

เชิงอรรถ :
๑ ม้าสินธพชาติอาชาไนย หมายถึงฝูงม้าที่มีชื่อว่าอาชาไนย เพราะเป็นม้าที่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุ (ฝึกง่าย)
โดยกำเนิด (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๗๐/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๗๑] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๒] เมื่อไร เราจักละกองรถที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๔] เมื่อไร เราจักละรถทองคำที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๖] เมื่อไร เราจักละรถเงินที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเงินเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๗๘] เมื่อไร เราจักละรถม้าที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๗๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๐] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๘๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยอูฐเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๒] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๓] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยโคเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๔] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๕] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแพะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๖] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๗] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยแกะเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๘๘] เมื่อไร เราจักละรถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๑๘๙] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขี่ประจำ ออกบวชได้
การละรถเทียมด้วยเนื้อเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๐] เมื่อไร เราจักละกองช้างที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือโตมรและขอ ออกบวชได้
การละกองช้างเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๑] เมื่อไร เราจักละกองม้าที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองม้าเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๒] เมื่อไร เราจึงจักละกองรถที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า สะพายธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองรถเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๓] เมื่อไร เราจักละกองธนูที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะสีเขียว
แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง ออกบวชได้
การละกองธนูเห็นปานนี้ออกบวชนั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๔] เมื่อไร เราจักละพวกราชบุรุษผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ สวมเกราะอันวิจิตร
แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ ออกบวชได้
การละพวกราชบุรุษเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๕] เมื่อไร เราจักละหมู่พราหมณ์ผู้บำเพ็ญพรต
ประดับตกแต่งแล้ว ทาตัวด้วยกระแจะจันทน์เหลือง
ครองผ้ากาสิกพัสตร์เนื้อดี ออกบวชได้
การละหมู่พราหมณ์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๑๙๖] เมื่อไร เราจักละหมู่อำมาตย์ผู้ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินไปข้างหน้ามีระเบียบเรียบร้อยดี ออกบวชได้
การละหมู่อำมาตย์เห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๗] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๘] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไมสะโอดสะอง ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๑๙๙] เมื่อไร เราจักละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง พูดไพเราะ ออกบวชได้
การละพระสนมกำนัลในผู้น่ารักเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๐] เมื่อไร เราจักละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายเป็นร้อย ออกบวชได้
การละถาดทองคำเห็นปานนี้ออกบวชนั้น
จักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๑] เมื่อไร กองช้างพลายที่ประดับ
ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ มีสายรัดทองคำ
มีเครื่องปกกระพองและข่ายทองคำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๐๒] มีนายคราญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยขี่ติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๓] เมื่อไร กองม้าสินธพชาติอาชาไนย
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ เป็นพาหนะเร็ว
[๒๐๔] มีนายสารถีถือแส้และธนูขึ้นขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๕] เมื่อไร กองรถที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๗] เมื่อไร รถทองคำที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๐๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๐๙] เมื่อไร รถเงินที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๑] เมื่อไร รถม้าที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๓] เมื่อไร รถเทียมด้วยอูฐที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๔] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๕] เมื่อไร รถเทียมด้วยโคที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๖] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๑๗] เมื่อไร รถเทียมด้วยแพะที่ติดเครื่องรบ ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๑๘] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๑๙] เมื่อไร รถเทียมด้วยแกะที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๐] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๑] เมื่อไร รถเทียมด้วยเนื้อที่ติดเครื่องรบ
ชักธงชัยเฉลิมพลประจำ
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
[๒๒๒] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ประจำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๓] เมื่อไร กองช้างที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือโตมรและของ้าว
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๔] เมื่อไร กองม้าที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือแส้และธนู
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๕] เมื่อไร กองรถที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๒๖] เมื่อไร กองธนูที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเขียว แกล้วกล้า ถือธนูและแล่ง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๗] เมื่อไร พวกราชบุตรผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะอันวิจิตร แกล้วกล้า เหน็บกฤชทองคำ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๘] เมื่อไร หมู่พราหมณ์ผู้มีพรตประดับแล้ว
ทาตัวด้วยจุรณจันทน์เหลือง ใช้ผ้าเนื้อดีจากแคว้นกาสี
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๒๙] เมื่อไร หมู่อำมาตย์ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
สวมเกราะสีเหลือง แกล้วกล้า
เดินนำไปข้างหน้าอย่างเป็นระเบียบ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๐] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๑] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๓๒] เมื่อไร พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ที่เคยติดตามเรา จักไม่ติดตามเรา
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๓] เมื่อไร เราจักได้ปลงผม ห่มผ้าสังฆาฏิ
อุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๔] เมื่อไร เราจักทรงผ้าสังฆาฏิที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล
ที่เขาทิ้งไว้ที่หนทางใหญ่
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๕] เมื่อไร เมื่อมีฝนตกพรำตลอด ๗ วัน
เราจึงมีจีวรเปียกชุ่มเที่ยวไปบิณฑบาต
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๖] เมื่อไร เราจักได้เที่ยวจาริกไปตามต้นไม้น้อยใหญ่
ตามป่าน้อยใหญ่ตลอดทั้งคืนและวัน
โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๗] เมื่อไร เราจักละความกลัวและความขลาดเสียได้
ไปที่ซอกเขาและลำธารได้ตามลำพัง
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๘] เมื่อไร เราจักทำจิตให้ตรงได้เหมือนคนดีดพิณ
ดีดพิณทั้ง ๗ สายให้มีเสียงน่ารื่นรมย์จับใจ
ความดำรินั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
[๒๓๙] เมื่อไร เราจักตัดกามสังโยชน์ทั้งที่เป็นของทิพย์
และของมนุษย์ได้เหมือนช่างหนังตัดรองเท้าโดยรอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เมื่อพระมหาชนกทรงรำพึงอย่างนี้แล้ว ทรงถือเพศบรรพชา เสด็จลงจาก
ปราสาทไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเสียงคร่ำครวญของสตรีเหล่านั้นว่า)
[๒๔๐] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ต่างประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๑] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ ร้องคร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉัน
[๒๔๒] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนเป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
ต่างพากันประคองแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญว่า
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละทิ้งพวกหม่อมฉันเสีย
[๒๔๓] พระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
ถูกพระราชาทรงละทิ้งไว้แล้ว เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๔] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นาง
ผู้ละมุนละไม สะโอดสะอง เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๕] พระราชาทรงละพระสนมกำนัลใน ๗๐๐ นางนั้น
ล้วนแต่เป็นผู้เชื่อฟัง เจรจาไพเราะ น่ารัก
เสด็จดำเนินไปมุ่งผนวช
[๒๔๖] ทรงละถาดทองคำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
จำหลักลวดลายตั้งร้อย ทรงอุ้มบาตรดิน
นั้นเป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระนางสีวลีกราบทูลพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๔๗] เปลวไฟน่ากลัว ไหม้ท้องพระคลังตามลำดับ
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มากมาย
[๒๔๘] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง
และเหล็กเป็นอันมากที่ไฟไหม้
ข้าแต่พระราชา มาเถิดพระเจ้าข้า
เชิญพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิด
พระราชทรัพย์ของพระองค์อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๔๙] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญ
เรามิได้มีอะไรจะไหม้
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๕๐] พวกโจรป่าเกิดขึ้น ปล้นแคว้นของพระองค์
มาเถิดพระเจ้าค่ะ ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับเถิด
แคว้นนี้อย่าได้พินาศเสียหายเลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๑] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เมื่อแคว้นถูกพวกโจรปล้น
เรามิได้มีอะไรจะให้ปล้นเลย
[๒๕๒] เราผู้ไม่มีความกังวลอยู่เป็นสุขสบายดีหนอ
เราจักมีปีติเป็นอาหารเหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหม๑

เชิงอรรถ :
๑ เหล่าเทพชั้นอาภัสสรพรหมมีปีติเป็นอาหารให้เวลาผ่านไปด้วยความสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๕๑/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๓] เสียงอึกทึกกึกก้องอะไรกันนั่น
ใครกันหนอเล่นกันเหมือนอยู่ในบ้าน
ท่านสมณะ อาตมภาพขอถาม
มหาชนนั้นติดตามท่านมาเพื่อประโยชน์อะไร
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๔] มหาชนนี้ติดตามข้าพเจ้าผู้ละทิ้งพวกเขามาในที่นี้
ผู้ล่วงเขตแดนคือกิเลสไป
เพื่อบรรลุถึงโมเนยยธรรม คือญาณของพระมุนี
แต่ยังเจือปนด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลายอยู่
พระคุณเจ้าก็รู้อยู่จะถามไปทำไม
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๕] พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระ (เพศนักบวช) นี้
อย่าได้เข้าพระทัยว่า “เราข้ามเขตแดนคือกิเลสแล้ว”
กรรมคือกิเลสนี้จะพึงข้ามได้ด้วยเพศแห่งบรรพชิตก็หาไม่
เพราะอันตรายทั้งหลายยังมีอยู่มาก
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๖] อันตรายอะไรหนอ
จะพึงมีแก่ข้าพเจ้าผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนากามทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๗] อันตรายเป็นอันมากทีเดียว
คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน
ความบิดกาย ความเหนื่อยหน่าย
ความเมาอาหารที่มีอยู่ในสรีระของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๕๘] ท่านพราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีหนอ
ท่านพราหมณ์ผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ท่านเป็นใครหนอ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๙] ชนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยชื่อว่า นารทะ
โดยโคตรว่า กัสสปะ
อาตมภาพมาในสำนักของพระองค์ด้วยเข้าใจว่า
การสมาคมกับสัตบุรุษเป็นการดี
[๒๖๐] ขอความเพลิดเพลินและวิหารธรรมทั้งปวงจงมีแก่พระองค์เท่านั้น
พระองค์จงบำเพ็ญสิ่งที่บกพร่องให้บริบูรณ์เถิด
จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบเถิด
[๒๖๑] จงทรงคลี่คลายความยุบลงและฟูขึ้น
จงสักการะกรรม วิชชา ธรรม๑
และสมณธรรมแล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์เถิด
[๒๖๒] ข้าแต่พระชนก พระองค์ทรงละทิ้งช้าง ม้า
ชาวพระนคร และชนบทเป็นอันมาก
เสด็จออกผนวช ทรงยินดีในบาตรดิน
[๒๖๓] ชาวชนบท มิตร อำมาตย์ และพระญาติเหล่านั้น
ได้ทำความผิดอะไรให้แก่พระองค์หรือหนอ
เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงชอบพระทัยบาตรดินนั้น
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๔] ท่านฤๅษี ข้าพเจ้ามิได้เคยเอาชนะ
พระญาติอะไร ๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหน ๆ โดยอธรรมเลย
แม้พระญาติทั้งหลายก็มิเคยได้เอาชนะข้าพเจ้าโดยอธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กรรม ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐, คำว่า วิชชา ได้แก่ญาณในอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ คำว่า กรรม
ได้แก่สมณธรรมกล่าวคือการบำเพ็ญกสิณ (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๖๑/๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๖๕] ข้าพเจ้าได้เห็นประเพณีของโลก
เห็นโลกถูกกิเลสกัดกร่อน ถูกกิเลสทำให้เป็นดุจเปือกตม
จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า
ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสวัตถุใด
สัตว์เป็นจำนวนมากย่อมเดือดร้อน
และย่อมถูกฆ่า ในกิเลสวัตถุนั้น
ดังนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ นะท่านผู้ครองหนังสัตว์ผู้เจริญ
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๖๖] ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกธรรมคำสั่งสอนพระองค์
คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร
ท่านผู้เป็นจอมทัพ เพราะบอกเจาะจงถึงดาบสผู้เป็นกรรมวาที
หรือสมณะคือพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา
นักปราชญ์ไม่เรียกผู้ประพฤติวัตรว่า เป็นสมณะ
เหมือนการก้าวล่วงทุกข์ได้เลย
[๒๖๗] ท่านผู้ครองหนังสัตว์
แม้ข้าพเจ้าจะสักการะสมณะหรือพราหมณ์โดยส่วนเดียว
แต่ไม่เคยเข้าไปใกล้ไต่ถามอะไร ๆ ในกาลไหน ๆ เลย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๖๘] ข้าพเจ้ารุ่งเรืองด้วยสิริไปยังพระราชอุทยาน
ด้วยอานุภาพใหญ่ ขณะที่เพลงขับที่เขาขับร้อง
ดนตรีที่ไพเราะกำลังบรรเลงอยู่
[๒๖๙] ข้าพเจ้านั้นได้เห็นต้นมะม่วงที่กำลังมีผลอยู่ภายนอกกำแพง
ถูกพวกมนุษย์ผู้ที่ต้องการผลฟาดอยู่
ในพระราชอุทยานอันกึกก้องด้วยการประโคมดนตรี
ประกอบด้วยคนขับและคนประโคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๐] ข้าแต่ท่านผู้ครองหนังสัตว์
ข้าพเจ้านั้นละทิ้งสิรินั้นเสียแล้วลงจากยาน
เข้าไปใกล้ต้นมะม่วงทั้งที่มีผลและไม่มีผล
[๒๗๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วง
อันมีผลถูกฟาดกระจัดกระจายย่อยยับ
ส่วนมะม่วงอีกต้นหนึ่งสีเขียวชะอุ่มน่าพอใจ
[๒๗๒] ศัตรูทั้งหลายจักกำจัดแม้พวกเรา
ผู้เป็นอิสระ ผู้มีเสี้ยนหนามมาก
เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกมนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว
[๒๗๓] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์
ใครเล่าจักฆ่าคนที่ไม่มีที่อยู่ ที่ไม่มีความคุ้นเคย
ต้นมะม่วงที่มีผลและไม่มีผลทั้ง ๒ ต้นนั้นเป็นครูของข้าพเจ้า
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๔] ชนทั้งปวง คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ กองพลราบ ต่างก็ตกใจว่า
พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว
[๒๗๕] ขอพระองค์ได้ทรงปลอบชุมชนให้เบาใจ
ทรงวางหลักปกครอง
ทรงอภิเษกพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติแล้ว
จึงจักทรงผนวชในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๗๖] เราได้สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์
และพระญาติทั้งหลายแล้ว พระราชโอรสของชาวแคว้นวิเทหะ
และคนผู้มีอายุยืน ผู้จักผดุงรัฐให้เจริญก็มีอยู่
เธอเหล่านั้นจักครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา นะปชาบดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
[๒๗๗] จงมาเถิด เราจะตามสอนเธอด้วยวาจาที่ชอบ
เธอจะไปสู่ทุคติด้วยกาย วาจา และใจ เพราะบาปใด
เมื่อเธอครองราชสมบัติก็จักทำบาปทุจริตนั้นเป็นอันมาก
[๒๗๘] ผู้ที่ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้
ซึ่งสำเร็จมาแต่ผู้อื่นนี้ นั่นเป็นธรรมของนักปราชญ์
(พระนางสีวลีกราบทูลว่า)
[๒๗๙] กุลบุตรผู้ฉลาดแม้คนใดไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔๑
จะพึงตายอย่างน่าอนาถเพราะความหิว
กุลบุตรผู้ฉลาดนั้นก็ไม่พึงบริโภคก้อนข้าว
ที่เปื้อนฝุ่น ซึ่งไม่ดีมิใช่หรือ
กิริยาของพระองค์นี้ไม่ดี ไม่งามเลย
ข้าแต่พระชนก พระองค์พึงเสวยก้อนเนื้อที่เป็นเดนสุนัข
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๐] พระนางสีวลี บิณฑบาตใด
เป็นของอันบุคคลผู้ครองเรือน หรือสุนัขสละแล้ว
บิณฑบาตนั้นชื่อว่าไม่เป็นอาหารของอาตมภาพก็หามิได้
ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ได้มาโดยธรรม
ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับเด็กหญิงว่า)
[๒๘๑] กุมาริกาผู้นอนแนบมารดา ผู้ประดับอยู่เป็นนิตย์
เพราะเหตุไร กำไลมือข้างหนึ่งของเธอจึงมีเสียงดัง
อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ไม่พึงบริโภคอาหารในภัตกาลที่ ๔ พระนางสีวลีตรัสหมายถึงว่า ถ้าบุคคลเราไม่บริโภคอาหาร
มื้อสุดท้าย จะพึงตายไปเพราะความหิว ผู้นั้นพึงเป็นสัตบุรุษเชื้อสายกุลบุตร จึงไม่พึงเสวยอาหารนั้น
เพราะทรงรังเกียจเนื้อที่เป็นเดนสุนัขที่พระมหาชนกนำมาย่างเสวย (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๗๙/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(เด็กหญิงกราบทูลว่า)
[๒๘๒] ท่านสมณะ กำไลมือ ๒ วงที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
เพราะทั้ง ๒ วงกระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง
คติของคน ๒ คนก็เป็นเช่นนี้
[๒๘๓] ท่านสมณะ กำไลมือวงหนึ่งที่สวมอยู่ที่ข้อมือของดิฉันนี้
ไม่มีอันที่ ๒ จึงไม่มีเสียงดังเหมือนมุนีสงบนิ่งอยู่
[๒๘๔] คนมีคู่จึงถึงความวิวาทกัน บุคคลคนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นเป็นผู้ปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๘๕] พระนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ
นางกุมาริกาเป็นสาวใช้มาติเตียนเรา มันเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๘๖] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทางทั้ง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๘๗] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๒ ตรัสข้อความนี้แล้วต่างก็เสด็จเข้าไปยังถูณนคร
[๒๘๘] เมื่อจวนเวลาอาหาร พระโพธิสัตว์ประทับอยู่
ณ ซุ้มประตูของช่างศร และ ณ ที่นั้น
ช่างศรนั้นหลับตาลงข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด
ซึ่งตนดัดให้ตรงด้วยตาอีกข้างหนึ่ง
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๒๘๙] ช่างศร ท่านจงฟังอาตมภาพ
ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์หรือหนอ
ที่ท่านหลับตาข้างหนึ่งลง เล็งดูลูกศรที่คดด้วยตาอีกข้างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๒.มหาชนกชาดก (๕๓๙)
(ช่างศรกราบทูลว่า)
[๒๙๐] ท่านสมณะ การเล็งดูด้วยตาทั้ง ๒ ย่อมปรากฏกว้างไป
เพราะเห็นไม่ถึงส่วนที่คดข้างหนึ่ง การดัดให้ตรงจึงไม่สำเร็จ
[๒๙๑] แต่เมื่อหลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูส่วนที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง
เพราะเห็นส่วนที่คดข้างหน้า การดัดให้ตรงจึงสำเร็จได้
[๒๙๒] คนที่มีคู่จึงวิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใคร
ท่านนั้นปรารถนาสวรรค์ ก็ขอจงชอบความเป็นผู้เดียวเถิด
(พระโพธิสัตว์ตรัสกับพระนางสีวลีว่า)
[๒๙๓] พระนางสีวลี เธอได้ยินคำที่ช่างศรกล่าวแล้วหรือยัง
คนใช้มาติเตียนเรา นั้นเป็นคติของคนคู่เท่านั้น
[๒๙๔] พระนางผู้เจริญ ทาง ๒ แพร่งนี้
เราทั้ง ๒ ผู้เดินทางได้สัญจรมาแล้ว
บรรดาทาง ๒ แพร่งนั้น เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง
อาตมภาพก็จักเลือกเอาอีกทางหนึ่ง
[๒๙๕] เธออย่าเรียกอาตมภาพว่าเป็นพระสวามีของเธอ
และอาตมภาพก็จะไม่เรียกเธอว่า
เป็นพระมเหสีของอาตมภาพต่อไป
หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว๑
เธอจงอยู่คนเดียวเถิด พระนางสีวลี
มหาชนกชาดกที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หญ้ามุงกระต่ายเล็กน้อยขาดไปแล้ว พระโพธิสัตว์ตรัสหมายถึงหญ้ามุงกระต่ายเส้นเล็ก ๆ ที่พระองค์
ถอนขึ้นมาแล้วดึงให้ขาดจากกัน ใคร ๆ ไม่สามารถต่อกันได้ เป็นการเตือนว่า พระองค์ไม่ปรารถนาจะ
อยู่ร่วมกับพระเทวีอีก เป็นการห้ามไม่ให้ตามไป (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๕/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
๓. สุวัณณสามชาดก๑ (๕๔๐)
ว่าด้วยสุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ไม่ทันเห็นพระราชา จึงตรัสว่า)
[๒๙๖] ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเรา
ผู้ประมาท๒กำลังนำน้ำไปอยู่
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์คนไหนแอบซุ่มยิงเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงว่า เนื้อที่ร่างกายของตนไม่เป็นอาหาร จึง
ตรัสว่า)
[๒๙๗] เนื้อของเราก็ไม่ควรจะกิน
หนังของเราก็ไม่มีประโยชน์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
เขาจึงเข้าใจว่า เราเป็นผู้ควรยิง
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ตรัสถามชื่อพระราชานั้นว่า)
[๒๙๘] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
สหาย เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด
ทำไมท่านจึงซุ่มยิงเรา
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสตอบว่า)
[๒๙๙] เราเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ เราจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

เชิงอรรถ :
๑ พระบรมศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุเลี้ยงดูมารดารูปหนึ่ง ตรัสสุวัณณสามชาดก
ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ใครกันหนอใช้ลูกศรยิงเราผู้ประมาทกำลังนำน้ำไปอยู่ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๘)
๒ ประมาท หมายถึงยังมิได้คุมสติด้วยเมตตาภาวนา (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๙๖/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๐๐] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู
เลื่องลือว่า เป็นผู้มีความสามารถยิงธนู
ที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะที่ลูกศรยิงก็ไม่พึงพ้นเราไปได้
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสถามชื่อและโคตรของสุวรรณสามโพธิสัตว์ว่า)
[๓๐๑] ท่านเป็นใคร เป็นบุตรของใคร
เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
ท่านจงประกาศชื่อและโคตรของบิดา
และตัวของท่านเองให้ทราบด้วย
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรของนายพราน๑
พวกญาติต่างเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สาม
วันนี้ ข้าพระองค์นั้นเข้าไปในปากแห่งความตาย
จึงนอนอยู่อย่างนี้
[๓๐๓] ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยศรลูกใหญ่
อาบยาพิษเหมือนยิงเนื้อ
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์ทอดพระเนตรข้าพระองค์
ผู้นอนเปื้อนเลือดของตน
[๓๐๔] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรลูกศรที่ทะลุออกข้างซ้าย
ข้าพระองค์บ้วนโลหิต เป็นผู้กระสับกระส่าย
ขอทูลถามพระองค์ว่า ทำไมจึงซุ่มยิงข้าพระองค์
[๓๐๕] เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
พระองค์จึงเข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ที่ควรยิง

เชิงอรรถ :
๑ บุตรของนายพราน หมายถึงเป็นบุตรฤๅษี (ขุ.ชา.อ. ๙/๓๐๒/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสแก้ตัวว่า)
[๓๐๖] เนื้อปรากฏมาถึงระยะลูกศรแล้ว
ท่านสาม มันเห็นท่านแล้วจึงแตกหนีไป
เพราะฉะนั้น เราจึงโกรธ
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๐๗] ตั้งแต่ข้าพระองค์จำความได้
ตั้งแต่ข้าพระองค์รู้จักรับผิดชอบ
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๘] ตั้งแต่ข้าพระองค์นุ่งเปลือกไม้อยู่ในปฐมวัย
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
แต่ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[๓๐๙] ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดกลัวที่ภูเขาคันธมาทน์
เราทั้งหลายต่างเพลิดเพลินพากันไปสู่ภูเขาและป่า
[๓๑๐] ฝูงเนื้อแม้จะเป็นเนื้อร้ายในป่า
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ฝูงเนื้อจึงจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์เล่า
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๑๑] ท่านสาม เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่
เรากล่าวเท็จแก่ท่านต่างหาก
เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำ
จึงได้ปล่อยลูกศรนั้นไปถึงท่าน
[๓๑๒] สาม ท่านมาจากไหน ใครใช้ท่านมาว่า
ท่านจงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วตักน้ำมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้อดกลั้นทุกขเวทนาแสนสาหัส กราบทูลว่า)
[๓๑๓] มารดาบิดาของข้าพระองค์เป็นคนตาบอด
ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ นั้นอยู่ในป่าใหญ่
ข้าพระองค์จะไปตักน้ำมาให้ท่านทั้ง ๒ นั้น
จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวบ่นเพ้อรำพันถึงมารดาบิดาว่า)
[๓๑๔] ท่านทั้ง ๒ นั้นมีเพียงอาหารเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๖ วัน
เพราะไม่ได้น้ำ ท่านผู้ตาบอดทั้ง ๒ เห็นจักตายแน่
[๓๑๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๖] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบบิดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[๓๑๗] มารดานั้น จะร้องไห้อย่างน่าสงสารเป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๘] บิดานั้นจักเป็นทุกข์ลำบากแน่เป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[๓๑๙] มารดาและบิดาทั้ง ๒ จักเที่ยวบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า
พ่อสาม ๆ ในป่าใหญ่ เพื่อต้องการปรนนิบัติเท้า
และเพื่อต้องการบีบนวดมือและเท้าด้วยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๐] ถึงความโศกนี้เป็นลูกศรที่ ๒
ทำหัวใจของข้าพระองค์ให้สะท้านหวั่นไหว
ความโศกใดที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดาและบิดาทั้ง ๒ ผู้ตาบอด
เพราะความโศกนั้น ข้าพระองค์เห็นจะต้องเสียชีวิตไป
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงฟังคำเพ้อรำพันของสุวรรณสามโพธิสัตว์ ทรงสันนิษฐาน
แล้ว ตรัสว่า)
[๓๒๑] ท่านสามผู้เห็นกัลยาณธรรม
ท่านอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะทำการงานเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่านในป่าใหญ่
[๓๒๒] เราเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
เราจะทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๓] เราจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อและมูลผลาผลในป่า
จะทำงานเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๒๔] ท่านสาม มารดาและบิดาของท่านอยู่ป่าไหน
เราจะเลี้ยงดูมารดาและบิดาของท่าน
ให้เหมือนอย่างที่ท่านได้เลี้ยงดูมา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลบอกหนทางว่า)
[๓๒๕] ขอเดชะ หนทางที่เดินไปได้คนเดียว
ที่มีอยู่ทางศีรษะของข้าพระองค์นี้
พระองค์เสด็จไปจากที่นี้สิ้นระยะทางประมาณกึ่งโกสะ๑
ก็จะเสด็จถึงเรือนหลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่
ของมารดาและบิดาทั้ง ๒ ของข้าพระองค์
ขอพระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
จงเลี้ยงดูมารดาและบิดาของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ โกสะ เป็นชื่อมาตราวัดระยะ ๑ โกสะ เท่ากับ ๕๐๐ ชั่วธนู อัฑฒโกสะ = ๒๕๐ ชั่วธนู (๒๕๐ วา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๒๖] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐกาสีให้เจริญ
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงพระกรุณาเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้ตาบอด
ของข้าพระองค์ในป่าใหญ่ด้วยเถิด
[๓๒๗] ข้าแต่พระเจ้ากาสี ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลี
ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระองค์กราบทูลพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดทรงพระกรุณาตรัสบอกการกราบลา
กับมารดาและบิดาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๒๘] สุวรรณสามผู้หนุ่มแน่นเห็นแก่กัลยาณธรรม
ครั้นได้กราบทูลคำนี้แล้ว ถึงกับสลบแน่นิ่งไปเพราะกำลังยาพิษ
[๓๒๙] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญเป็นที่น่าสงสารอย่างมากว่า
เราเข้าใจว่าจะเป็นผู้ไม่แก่และไม่ตาย
เราได้เห็นสามบัณฑิตตาย
วันนี้ จึงได้รู้ความแก่และความตาย แต่ก่อนหาได้รู้ไม่
ความตายจะไม่มาถึงเป็นไม่มี
[๓๓๐] สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษเสียบแทงแล้ว
ตอบโต้กับเราอยู่แท้ ๆ ครั้นกาลล่วงเลยไปวันนี้เอง
เขาพูดอะไร ๆ ไม่ได้เลย
[๓๓๑] เราจะต้องตกนรกเป็นแน่
ในข้อนี้เราไม่มีความสงสัย เพราะในเวลานั้น
เราได้ทำบาปอันหยาบช้าไว้ตลอดราตรีนาน
[๓๓๒] เมื่อเรานั้นอยู่ในบ้านเมืองกระทำกรรมชั่ว
ก็จะมีคนกล่าวติเตียน
แต่ในป่าหาผู้คนมิได้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๓๓] คนทั้งหลายประชุมกันในบ้าน
ต่างก็เตือนกันและกันให้ระลึกถึงกรรม
ส่วนในป่าที่หาคนมิได้ ใครหนอจะเตือนเราให้ระลึกถึงกรรม
[๓๓๔] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
เพื่ออนุเคราะห์พระราชา จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๓๕] ข้าแต่มหาราช
พระองค์ได้ทรงทำกรรมชั่วอย่างใหญ่หลวงแล้ว
มารดาและบิดา และบุตรรวม ๓ คนผู้หาความผิดมิได้
พระองค์ทรงฆ่าแล้วด้วยลูกศรลูกเดียว
[๓๓๖] เชิญเสด็จมาเถิด หม่อมฉันจะแนะนำถวายพระองค์
โดยประการที่พระองค์จะพึงมีสุคติ คือ
พระองค์จงทรงเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ ผู้ตาบอดในป่าโดยธรรมเถิด
ดิฉันเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติ
[๓๓๗] พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
จึงทรงถือเอาหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศทักษิณ
(ทุกูลบัณฑิตไดัยินเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักษ์ จึงถามว่า)
[๓๓๘] นั่นเสียงใครเดินมา นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
[๓๓๙] เพราะพ่อสามเดินเงียบกริบ วางเท้าเรียบ
นั่นไม่ใช่เสียงฝีเท้าของพ่อสาม
ท่านนิรทุกข์ ท่านเป็นใครกันหนอ
(พระเจ้าปิลยักษ์ประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ตรัสว่า)
[๓๔๐] ข้าพเจ้าเป็นพระราชาของชาวกาสี
คนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า พระเจ้าปิลยักษ์
เพราะความโลภ ข้าพเจ้าจึงละทิ้งแคว้นมาเที่ยวแสวงหาเนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๔๑] ทั้งข้าพเจ้าเป็นคนเชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
แม้ช้างที่มาถึงระยะลูกศรยิงก็ไม่พึงรอดพ้นไปได้
(ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระเจ้าปิลยักษ์ จึงทูลว่า)
[๓๔๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่ได้เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งมีอยู่ในที่นี้เถิด
[๓๔๓] ข้าแต่มหาราช ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่าซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อย
ขอพระองค์ทรงเลือกเสวยแต่ที่ดี ๆ เถิด
[๓๔๔] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์ทรงดื่มน้ำเย็นนี้
ที่ข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาเถิด
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสว่า)
[๓๔๕] ท่านทั้ง ๒ ตาบอดไม่สามารถจะเห็นอะไร ๆ ในป่าได้
ใครเล่าหนอนำผลไม้มาให้ท่านทั้ง ๒
การเก็บสะสมผลาผลที่ทำไว้อย่างเรียบร้อยนี้
ย่อมปรากฏแก่เราเหมือนการเก็บสะสมของคนตาไม่บอด
(ทุกูลบัณฑิตได้ฟังพระดำรัสนั้น เมื่อจะแสดงธรรม จึงกราบทูลว่า)
[๓๔๖] สามหนุ่มน้อยร่างสันทัด ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรม
มีผมยาวดำสนิท มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
[๓๔๗] เธอนั่นแหละนำผลไม้มา
บัดนี้ ถือหม้อน้ำจากที่นี้ไปตักน้ำยังแม่น้ำ
เข้าใจว่าใกล้จะกลับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระเจ้าปิลยักษ์ครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔๘] ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้บำรุงบำเรอท่าน
ผู้เห็นแก่กัลยาณธรรมที่ท่านกล่าวถึงแล้ว
[๓๔๙] เขามีผมยาวดำสนิท
มีปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน
ถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
นอนอยู่ที่หาดทรายที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด
(นางปาริกาได้ฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว ประสงค์จะทราบเหตุ จึงถามว่า)
[๓๕๐] ท่านทุกูลบัณฑิต ท่านปรึกษากับใครที่บอกว่า
พ่อสามถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า
พ่อสามถูกฆ่าแล้ว
[๓๕๑] เพราะได้ยินว่า พ่อสามถูกฆ่า
ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ถูกลมพัดไหวไปมา
(ทุกูลบัณฑิตให้โอวาทนางปาริกาว่า)
[๓๕๒] ปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากรุงกาสี
พระองค์ทรงยิงพ่อสามด้วยลูกศร
เพราะความโกรธ ที่ฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา
เราทั้ง ๒ อย่าได้มุ่งร้ายต่อพระองค์เลย
(นางปาริกากล่าวว่า)
[๓๕๓] บุตรที่น่ารักผู้ซึ่งได้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
ไฉนจะไม่พึงทำจิตให้โกรธ
ในคนผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า)
[๓๕๔] บุตรที่น่ารักผู้เลี้ยงดูเราทั้ง ๒ คน
ผู้ตาบอดในป่า เราได้มาโดยยาก
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
ไม่ควรโกรธในคนผู้มีบุตรคนเดียวนั้น
(ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสปลอบโยนท่านทั้ง ๒ นั้นว่า)
[๓๕๕] พระคุณท่านทั้ง ๒ อย่าคร่ำครวญให้มากนัก
เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า สามกุมารถูกข้าพเจ้าฆ่าแล้ว
ข้าพเจ้าจะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะธนู เลื่องลือว่า
เป็นผู้มีความสามารถยิงธนูที่ต้องใช้กำลังคนถึง ๑,๐๐๐ คนได้
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
[๓๕๗] ข้าพเจ้าจักแสวงหาของที่เป็นเดนของฝูงเนื้อ
และมูลผลาผลในป่า
จะทำการงานเลี้ยงดูพระคุณท่านทั้ง ๒ ในป่าใหญ่
(ดาบสทั้ง ๒ กราบทูลว่า)
[๓๕๘] ข้าแต่มหาราช นั่นมิใช่ธรรม
ไม่สมควรในอาตมภาพทั้ง ๒
พระองค์เป็นพระราชาของอาตมภาพทั้ง ๒
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง จึงตรัสว่า)
[๓๕๙] ท่านผู้มีเชื้อชาติเป็นพราน
ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านได้ประพฤติอ่อนน้อม
ขอพระคุณท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า
ข้าแต่นางปาริกา ขอพระคุณท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ดาบสทั้ง ๒ นั้นประคองอัญชลี กราบทูลว่า)
[๓๖๐] ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมภาพทั้ง ๒ ขอถวายบังคมแด่พระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
อาตมภาพทั้งหลายขอถวายบังคมแด่พระองค์
อาตมภาพทั้งหลายขอประคองอัญชลีแด่พระองค์จนกว่าพระองค์
ทรงพาอาตมภาพทั้งหลายไปให้ถึงสถานที่ซึ่งสามกุมารอยู่
[๓๖๑] อาตมภาพทั้ง ๒ เมื่อได้ลูบคลำเท้าทั้ง ๒
และใบหน้าอันงดงามของเขา จักทุบตีตนให้ถึงความตาย
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้ตรัสว่า)
[๓๖๒] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๓] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
ในป่าที่เกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๔] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่ เปื้อนเปรอะด้วยฝุ่น
ในป่าที่เกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูง ปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
[๓๖๕] สามกุมารถูกฆ่านอนตายอยู่
ในป่าที่กลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย
เป็นป่าสูงปรากฏเหมือนอยู่ในอากาศ
ขอพระคุณท่านทั้ง ๒ จงอยู่ในอาศรมที่พักนี้เท่านั้นเถิด
(ลำดับนั้น ดาบสทั้ง ๒ นั้นเมื่อแสดงว่าตนไม่กลัวต่อสัตว์ร้าย จึงกราบทูลว่า)
[๓๖๖] ถ้าในป่านั้น จะมีเนื้อร้ายตั้งร้อย ตั้งพัน และตั้งหมื่น
อาตมภาพทั้ง ๒ ไม่มีความกลัว
ในสัตว์ร้ายทั้งหลายในป่าไหน ๆ เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖๗] ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤๅษีทั้ง ๒
ผู้ตาบอดไปในป่าใหญ่
จูงมือฤๅษีทั้ง ๒ ไปในที่ที่สามกุมารถูกฆ่าแล้ว
[๓๖๘] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงจันทร์ตกดิน
[๓๖๙] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่เหมือนดวงอาทิตย์ตกดิน
[๓๗๐] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
[๓๗๑] ดาบสทั้ง ๒ เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรนอนคลุกฝุ่น
จึงประคองแขนทั้ง ๒ ข้าง คร่ำครวญว่า ชาวเราเอ๋ย
ได้ทราบว่า วันนี้ ความไม่เป็นธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้
[๓๗๒] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าประมาทนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๓] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโง่ไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๔] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าโกรธเคืองไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๕] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าเป็นผู้มักหลับไปมากนักแล้ว
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๖] ลูกสามผู้มีรูปสง่างาม เจ้าช่างเป็นคนปราศจากน้ำใจจริง
ในวันนี้เมื่อกาลเวลาล่วงไป เจ้ามิได้พูดอะไรเลย
[๓๗๗] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายเสียแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักชำระชฎาที่หม่นหมองเปื้อนฝุ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๗๘] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักจับไม้กวาดแล้วกวาดอาศรมของเราทั้ง ๒
[๓๗๙] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักนำน้ำเย็นน้ำร้อนมาให้เราทั้ง ๒ อาบ
[๓๘๐] ลูกสามผู้บำรุงเลี้ยงดูเราทั้ง ๒ ผู้ตาบอดนี้มาตายแล้ว
บัดนี้ ใครเล่าจักให้เราทั้ง ๒ บริโภคมูลผลาผลไม้ในป่า
[๓๘๑] มารดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า
[๓๘๒] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๓] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๔] ลูกสามนี้ได้เคยมีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๕] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๖] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๗] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๘] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและบิดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๘๙] บิดาได้เห็นสามกุมารผู้เป็นบุตรล้มคลุกฝุ่นอยู่
เป็นผู้อึดอัดเพราะความโศกถึงบุตร จึงได้กล่าวสัจวาจาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๓๙๐] ลูกสามนี้ได้เคยเป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๑] ลูกสามนี้มีปกติประพฤติพรหมจรรย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๒] ลูกสามนี้มีปกติกล่าวคำสัตย์มาก่อน
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๓] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๔] ลูกสามนี้ได้เป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๕] ลูกสามนี้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๖] บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามทำแล้วแก่เราและมารดาของเขา
ด้วยกุศลนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามจงเสื่อมหายไป
[๓๙๗] นางเทพธิดาที่ภูเขาคันธมาทน์นั้นได้อันตรธานไป
ด้วยความอนุเคราะห์สามกุมาร จึงได้กล่าวสัจวาจานี้ว่า
[๓๙๘] เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน
ไม่มีคนอื่น จะเป็นใครก็ตาม
เป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๓๙๙] ต้นไม้ทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม
ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงเสื่อมหายไป
[๔๐๐] เมื่อดาบสทั้ง ๒ กำลังบ่นพร่ำรำพันอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก
สามกุมารผู้ยังเป็นหนุ่มแน่นมีรูปสง่างาม ก็ได้ลุกขึ้นทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า)
[๔๐๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้ชื่อว่าสาม
ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยความสวัสดี
ขอท่านทั้งหลายจงอย่าคร่ำครวญไปนักเลย
จงพูดกับข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด
(ลำดับนั้น สุวรรณสามโพธิสัตว์เห็นพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๔๐๒] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้เป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้เถิด
[๔๐๓] ข้าแต่พระราชา ขอเชิญเลือกเสวยผลมะพลับ
ผลมะซาง และผลหมากเม่า
ซึ่งเป็นผลไม้เล็กน้อยแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๔๐๔] น้ำใสเย็นข้าพระองค์ตักมาจากซอกเขาก็มีอยู่
จงโปรดเสวยจากนั้นเถิด พระเจ้าข้า
ถ้าพระองค์ทรงพระประสงค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๐๕] เรางุนงงไปหมด หลงไปทั่วทุกทิศ
เราได้เห็นสามตายไปแล้ว
ท่านสาม ทำไมหนอ ท่านจึงกลับฟื้นชีวิตคืนมาได้
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ทูลว่า)
[๔๐๖] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ปราศจากความรู้สึก๑
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปราศจากความรู้สึก หมายถึงวาระจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ (ความอยู่โดยไม่รู้สึกตัว, สลบ) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๐๖/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๐๗] ข้าแต่มหาราช บุรุษผู้มีชีวิตอยู่
แต่มีเวทนามาก ถึงความดับสนิท
แม้ยังมีชีวิตอยู่ ชาวโลกก็เข้าใจว่า ตายแล้ว
(สุวรรณสามโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระเจ้าปิลยักษ์ว่า)
[๔๐๘] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้เทวดาก็เยียวยารักษาบุคคลผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดานั้น
[๔๐๙] บุคคลใดเลี้ยงดูมารดาและบิดาโดยธรรม
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
บุคคลนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น ทรงประคองอัญชลี ขอร้องอยู่ว่า)
[๔๑๐] เรายิ่งงุนงงหนักขึ้น หลงไปทั่วทุกทิศ
ท่านสาม เราขอถึงท่านว่าเป็นที่พึ่ง
และท่านก็จงเป็นที่พึ่งของเรา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวทศพิธราชธรรมถวายว่า)
[๔๑๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระมารดาและพระบิดาเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๒] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระมเหสีเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๓] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๓.สุวัณณสามชาดก (๕๔๐)
[๔๑๔] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพาหนะและพลนิกายเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๕] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๖] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๗] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์เถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๘] ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในฝูงเนื้อและฝูงนกเถิด
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๔๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมเถิด
พระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหมเข้าถึงทิพยสถานได้
เพราะธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย
สุวัณณสามชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
๔. เนมิราชชาดก๑ (๕๔๑)
ว่าด้วยพระเจ้าเนมิทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๑] น่าอัศจรรย์หนอ
การที่พระเจ้าเนมิผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์ด้วยกุศล
ทรงเกิดขึ้นในคราวที่บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายเกิดขึ้นในโลก
[๔๒๒] พระเจ้าเนมิผู้ทรงทรมานอริราชศัตรู
ของชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวงได้บริจาคแล้ว
เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานอยู่นั้น
ก็เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก
[๔๒๓] ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตร
ทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิแล้ว ปรากฏพระองค์
ทรงกำจัดความมืดด้วยพระรัศมีแล้ว
[๔๒๔] พระเจ้าเนมิจอมมนุษย์ทรงมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสถามท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกะผู้บำเพ็ญทานในภพก่อนกันแน่
[๔๒๕] รัศมีเช่นนั้นข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็น
หรือไม่เคยได้ยินมาเลย
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ เนมิราชชาดก เป็นเรื่องที่พระบรมศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองมิถิลา ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง
ของพระราชามฆเทพ ทรงปรารภการกระทำการแย้มสรวลให้ปรากฏ ตรัสเรื่องเนมิราชชาดกนี้ เริ่มต้น
ด้วยคำว่า น่าอัศจรรย์หนอ...ในโลก ดังนี้ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๒๖] ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิมีพระโลมชาติชูชัน
ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์
พระองค์อย่าทรงมีพระโลมชาติชูชัน
เชิญตรัสถามปัญหาที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
[๔๒๗] พระเจ้าเนมินั้นเมื่อท้าวเธอทรงถวายโอกาส
จึงได้ตรัสกับท้าววาสวะว่า ข้าแต่มหาราชผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ข้าพเจ้าขอถามพระองค์ ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนมีผลมากกว่ากันเล่า
[๔๒๘] ท้าววาสวะถูกพระเจ้าเนมิผู้เป็นเทพแห่งนรชนตรัสถามแล้ว
เมื่อจะตรัสตอบพระเจ้าเนมิ
ท้าวเธอทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์อยู่
จึงได้ตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๒๙] บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เข้าถึงความเป็นเทวดาได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง
[๔๓๐] เพราะพรหมจรรย์เหล่านี้มิใช่จะหาได้ง่าย ๆ
ด้วยการประกอบพิธีวิงวอนขอร้องอะไร ๆ
บุคคลผู้ที่เกิดในหมู่พรหมได้ต้องออกบวชบำเพ็ญตบะ
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเรื่องที่พระราชาทั้งหลายในอดีต ผู้บริจาค
มหาทานแล้วไม่สามารถพ้นไปจากกามาวจรภพได้ จึงได้ตรัสว่า)

[๔๓๑] ๑. พระเจ้าทุทีปะ ๒. พระเจ้าสาคระ
๓. พระเจ้าเสละ ๔. พระเจ้ามุจลินท์
๕. พระเจ้าภคีรสะ ๖. พระเจ้าอุสินนะ
๗. พระเจ้าอัตถกะ ๘. พระเจ้าปุถุทธนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๒] พระราชาเหล่านั้น พระราชามหากษัตริย์เหล่าอื่น
และพวกพราหมณ์เป็นอันมาก
ต่างก็บูชายัญเป็นอันมากแล้วก็ยังไม่ล่วงพ้นภพแห่งเปรตได้
ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่ยินดีกับใคร ย่อมไม่ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ชนเหล่านั้นถึงจะมีสมบัติเสมอกับทิพยสมบัติของพระอินทร์ก็จริง
ถึงอย่างนั้น ชนเหล่านั้นแลยังชื่อว่า ผู้ตกยาก
เพราะมีความสุขเนื่องด้วยผู้อื่น
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงแสดงเหล่าดาบสผู้ล่วงภพแห่งเปรตได้แล้วบังเกิด
ในพรหมโลกด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๓] ฤๅษีทั้ง ๗ เหล่านี้ คือ
๑. ยานหนฤๅษี ๒. โสมยาคฤๅษี ๓. มโนชวฤๅษี
[๔๓๔] ๔. สมุททฤๅษี ๕. มาฆฤๅษี
๖. ภรตฤๅษี ๗. กาลปุรักขิตฤๅษี
กับฤๅษีอีก ๔ ตน คือ
๑. อังคีรสฤๅษี ๒. กัสสปฤๅษี
๓. กีสวัจฉฤๅษี ๔. อกัตติฤๅษี
ออกบวชบำเพ็ญตบะ ล่วงพ้นกามาวจรภพได้แน่นอน
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงเล่าเรื่องที่ตนเคยเห็นมา จึงตรัสว่า)
[๔๓๕] แม่น้ำที่ชื่อสีทามีอยู่ทางทิศเหนือ
เป็นแม่น้ำลึก ข้ามได้ยาก
ภูเขาทองมีสีดังไฟไหม้ต้นอ้อ โชติช่วงอยู่ทุกเมื่อ
[๔๓๖] ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น มีต้นกฤษณาขึ้นงอกงาม
มีภูเขาซึ่งมีป่าไม้ขึ้นงอกงาม
ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างนี้นั้น
มีฤๅษีรุ่นเก่าประมาณหมื่นตนอาศัยอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๓๗] หม่อมฉันเป็นผู้ประเสริฐ
เพราะทาน ความสำรวม และความฝึก
หม่อมฉันได้อุปัฏฐากดาบสเห็นปานนี้
ที่บำเพ็ญวัตรซึ่งไม่มีวัตรอื่นยิ่งกว่า
ละคณะไปอยู่ผู้เดียวมีจิตเป็นสมาธิ
[๔๓๘] หม่อมฉันจักนอบน้อมนรชนผู้มีชาติและไม่มีชาติ
ผู้ปฏิบัติตรงตลอดกาลเป็นนิตย์
เพราะเหล่าสัตว์เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
[๔๓๙] ฉะนั้น วรรณะทั้งปวงที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมตกนรกเบื้องต่ำ วรรณะทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้
เพราะประพฤติธรรมสูงสุด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๐] ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราชครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
จึงทรงสั่งสอนพระเจ้าเนมิผู้ครองแคว้นวิเทหะแล้ว
ได้เสด็จจากไปสู่หมู่เทพชาวสวรรค์
(ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว จึงตรัสเหตุนั้นอีกว่า)
[๔๔๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
ผู้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ประมาณเท่าใด
จงตั้งใจฟังคุณเป็นอันมากทั้งสูงและต่ำนี้
ของเหล่ามนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
[๔๔๒] เหมือนพระเจ้าเนมินี้ผู้เป็นบัณฑิตมีพระประสงค์กุศล
เป็นพระราชาผู้ทรงปราบอริราชศัตรูได้
ได้ทรงให้ทานแก่ชาวแคว้นวิเทหะทั้งปวง
[๔๔๓] เมื่อพระองค์ทรงบริจาคทานนั้นอยู่
ก็ได้เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี
อย่างไหนเล่าจะมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มหาชนร่าเริงยินดี จึงกล่าวว่า)
[๔๔๔] ความขนพองสยองเกล้าที่ไม่เคยมีมาแล้วหนอ
ได้เกิดขึ้นแล้วในโลก
รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๔๕] มาตลีเทพบุตรผู้เป็นเทพสารถีมีฤทธิ์มาก
ได้เชื้อเชิญพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
[๔๔๖] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ขอเชิญเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งนี้เถิด
เทพชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยพระอินทร์ประสงค์จะเฝ้าพระองค์
เพราะเทพเหล่านั้นกำลังระลึกถึง
นั่งกล่าวสรรเสริญคุณของพระองค์อยู่ ณ สุธรรมสภา
[๔๔๗] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
ผู้ทรงธรรม ด่วนรีบเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์
บ่ายพระพักตร์ขึ้นสู่รถพระที่นั่ง
[๔๔๘] มาตลีเทพบุตรได้ทูลถามพระเจ้าเนมิผู้เสด็จขึ้นรถทิพย์แล้วว่า
ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำพระองค์ไปทางไหน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทำบุญไว้
(ลำดับนั้น พระเจ้าเนมิจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นว่า)
[๔๔๙] มาตลีเทพสารถี ขอให้ท่านจงนำเราไปทั้ง ๒ ทางนั่นแหละ
คือ ทางที่คนทำบาปและทางที่คนทำบุญไว้
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพสารถีทูลถามว่า)
[๔๕๐] ข้าแต่พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นใหญ่ในทิศ
ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระองค์ไปทางไหนก่อน
คือ ทางที่คนทำบาปหรือทางที่คนทำบุญไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๔๕๑] เราจะดูนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมเป็นบาป
สถานที่อยู่ของเหล่านรชนที่มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่านรชนผู้ทุศีลก่อน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕๒] มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสของพระราชาแล้ว
จึงแสดงแม่น้ำที่ชื่อเวตตรณี๑ ที่ข้ามได้ยาก
ประกอบด้วยน้ำด่างที่ร้อนเดือดพล่าน
เปรียบด้วยเปลวเพลิง
[๔๕๓] พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสัตว์ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
ที่ข้ามได้ยาก จึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า
มาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ผู้ตกอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรหนอ
จึงตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี
[๔๕๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงได้ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๕] ชนเหล่าใดในมนุษยโลก ผู้มีกำลัง มีกรรมอันเป็นบาป
ย่อมเบียดเบียน ด่าว่าผู้อื่นซึ่งมีกำลังน้อย
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้วย่อมตกลงสู่แม่น้ำเวตตรณี

เชิงอรรถ :
๑ แม่น้ำชื่อเวตตรณี เป็นแม่น้ำที่ตั้งขึ้นตามฤดูซึ่งมีกรรมเป็นเหตุ เหล่านายนิรยบาลในนรกนั้นถืออาวุธ
มีดาบ หอก หอกซัด ฉมวก และพลองเป็นต้นที่ลุกเป็นไฟ เข้าประหาร ทิ่มแทง ทุบตีสัตว์นรกทั้งหลาย
(ขุ.ชา.อ. ๙/๔๕๒/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๕๖] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกาปากเหล็กที่น่ากลัว
รุมกัดจิกกินสัตว์นรก ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นฝูงสัตว์รุมกัดจิกกินสัตว์นรก
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
[๔๕๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
มีธรรมลามก บริภาษ เบียดเบียน ด่าว่าสมณะและพราหมณ์
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกฝูงกาปากเหล็กรุมกัดจิกกิน
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นสัตว์นรกเหล่านั้น ทรงสะดุ้งกลัว ตรัสถามมาตลี-
เทพสารถีว่า)
[๔๕๙] สัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายลุกโชน
เดินเหยียบแผ่นดินเหล็กที่ลุกโชน
นายนิรยบาลทั้งหลายโบยตีด้วยกระบองเหล็กอันร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ที่ถูกโบยตีด้วยกระบองเหล็ก
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
[๔๖๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๑] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกเป็นผู้มีธรรมอันชั่วช้า
เบียดเบียน ด่าว่าชายหญิงผู้ไม่มีธรรมอันชั่วช้า
ชนเหล่านั้นผู้มีธรรมอันชั่วช้า มีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงถูกทุบตีด้วยกระบองเหล็กนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๒] สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งตกหลุมถ่านเพลิง
ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย ร้องครวญครางอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นสัตว์นรกเหล่านี้ถูกไฟไหม้ทั่วร่างกาย
เราขอถามท่าน สัตว์เหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงตกหลุมถ่านเพลิงอยู่
[๔๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๔] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งอ้างพยานโกงลบหนี้
เพราะเหตุแห่งทรัพย์ของประชุมชน
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ชนเหล่านั้นครั้นทำทรัพย์ของหมู่ชนให้สิ้นไปแล้ว
มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้วตกอยู่ในหลุมถ่านเพลิง
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๕] โลหกุมภีใหญ่มีไฟลุกโพลงโชติช่วงปรากฏอยู่
ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา เพราะได้เห็นโลหกุมภีนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน
สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๖๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๖๗] ชนเหล่าใดสุดแสนจะชั่ว เบียดเบียน
อาฆาตสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงดิ่งหัวตกลงไปสู่โลหกุมภี
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๖๘] นายนิรยบาลย่อมตัดคอหรือผูกคอสัตว์นรก
ฉุดลากโยนลงไปในน้ำร้อน
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
[๔๖๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๐] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกสุดแสนจะชั่ว จับนกมาฆ่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชนเหล่านั้นครั้นฆ่านกแล้ว
มีกรรมหยาบช้าทำบาปแล้ว จึงถูกตัดศีรษะนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๑] แม่น้ำนี้มีน้ำมาก มีฝั่งไม่ลึก
มีท่าน้ำงดงาม ไหลอยู่เสมอ
สัตว์นรกถูกความร้อนแผดเผาแล้วจะดื่มน้ำ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วก็กลายเป็นแกลบไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๗๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
น้ำที่สัตว์นรกเหล่านั้นดื่มแล้วจึงกลายเป็นแกลบไป
[๔๗๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๔] สัตว์นรกเหล่าใดมีการงานไม่บริสุทธิ์
เอาข้าวลีบปนข้าวเปลือกล้วน ๆ ขายให้แก่ผู้ซื้อ
น้ำที่สัตว์นรกผู้ถูกความร้อนแผดเผากระหายเหล่านั้นดื่มแล้ว
ก็กลายเป็นแกลบไป
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๗๕] นายนิรยบาลใช้ลูกศร หอก และโตมร
แทงสีข้างทั้ง ๒ ของเหล่าสัตว์นรกผู้คร่ำครวญอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่
[๔๗๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๗๗] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกมีการงานไม่ดี
ลักทรัพย์ของผู้อื่น คือ ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
แพะ แกะ ปศุสัตว์ และกระบือ มาเลี้ยงชีวิต
ชนเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงถูกแทงด้วยหอกนอนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๗๘] เพราะเหตุไร สัตว์นรกเหล่านี้จึงถูกนายนิรยบาลล่ามคอไว้
สัตว์นรกอีกพวกหนึ่งถูกนายนิรยบาลหั่นแล้วสับนอนอยู่
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกสับนอนอยู่
[๔๗๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๐] สัตว์นรกเหล่านี้เคยเป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา
ครั้นฆ่าปศุสัตว์ คือ กระบือ แพะ
และแกะแล้วจึงวางบนเขียงเพื่อขายเลี้ยงชีพ
สัตว์นรกเหล่านั้นทำบาปแล้วจึงต้องถูกสับเป็นชิ้น ๆ กองอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๘๑] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกถูกความหิวครอบงำ
ย่อมกินอุจจาระและปัสสาวะนั้น
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมากินอุจจาระและปัสสาวะ
[๔๘๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๓] สัตว์นรกเหล่านี้บางพวกมักก่อเหตุ เกรี้ยวกราด
รังแกมิตรสหาย ตั้งมั่นในการเบียดเบียนผู้อื่นทุกเมื่อ
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
เป็นพาล ประทุษร้ายมิตร ทำบาปแล้ว
จึงกินปัสสาวะและอุจจาระ
(พระเจ้าเนมิทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า)
[๔๘๔] ห้วงน้ำนี้เต็มไปด้วยเลือดและหนอง
ไม่สะอาด บูดเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
สัตว์นรกทั้งหลายถูกความร้อนแผดเผา
เกิดความกระหาย จึงดื่มเลือดและหนอง
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกินเลือดและหนอง
[๔๘๕] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๘๖] ชนเหล่าใดในมนุษยโลกฆ่ามารดาบิดา
หรือพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นปาราชิก (ผู้พ่ายแพ้)
ชนเหล่านั้นผู้มีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงกินเลือดและหนอง
(เมื่อมาตลีเทพสารถีแสดงเรื่องนั้นแล้ว พระเจ้าเนมิจึงตรัสถามว่า)
[๔๘๗] ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่นายนิรยบาลเกี่ยวด้วยเบ็ด
และจงดูหนังที่นายนิรยบาลถลกด้วยขอเหล็ก
สัตว์นรกเหล่านี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาถูกโยนขึ้นบนบก
ร้องไห้น้ำลายไหล เพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
[๔๘๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๐] สัตว์นรกบางพวกเคยเป็นมนุษย์
มีตำแหน่งหน้าที่ให้ลดราคาซื้อลงจากราคาขาย
ทำการโกงด้วยตาชั่งโกง เพราะโลภในทรัพย์
ปกปิดการโกงไว้เหมือนคนเมื่อจะฆ่าปลาเอาเหยื่อปกปิดเบ็ดไว้
[๔๙๑] บุคคลผู้ทำการโกงถูกกรรมของตนหุ้มห่อไว้
ไม่มีการป้องกันได้เลย สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้า
ทำบาปแล้ว จึงต้องกลืนกินเบ็ดนอนอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๒] นางสัตว์นรกเหล่านี้มีร่างกายแตกเยิ้ม
น่าเกลียด เปรอะเปื้อน เกรอะกรังไปด้วยเลือดและหนอง
เหมือนพวกโคหัวขาดในที่ฆ่า
ยกแขนทั้ง ๒ ข้างขึ้นร้องคร่ำครวญอยู่
นางสัตว์นรกนั้นถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
[๔๙๓] ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของนางสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน นางสัตว์นรกเหล่านี้
ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ จึงถูกฝังไว้ในแผ่นดินทุกเมื่อ
มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๔] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๕] หญิงเหล่านั้นเป็นกุลธิดาในมนุษยโลกที่เป็นอยู่นี้
มีการงานไม่บริสุทธิ์ ประพฤติไม่สงบเสงี่ยม
ทำตัวเป็นนักเลง ทอดทิ้งสามีแล้วไปคบหาชายอื่น
เพราะเหตุแห่งความเริงรมย์และเล่นสนุก
หญิงเหล่านั้นทำจิตของตนให้เริงรมย์อยู่กับชายอื่น
ในมนุษยโลกแล้ว มีภูเขาไฟลุกโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๔๙๖] เพราะเหตุไร นายนิรยบาลอีกพวกหนึ่งนี้
จึงจับเท้าสัตว์นรกให้มีศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
[๔๙๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๔๙๘] สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
ต่างทำกรรมไว้ไม่ดี ล่วงละเมิดเหล่าภรรยาของชายอื่น
เช่นนั้นชื่อว่าเป็นผู้ลักของสำคัญที่สุด
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๔๙๙] สัตว์นรกเหล่านั้นเสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกนั้น
สิ้นปีเป็นอันมาก เพราะบุคคลผู้ทำบาปกรรมเป็นปกติ
ถูกกรรมของตนเชิดไว้ข้างหน้า ไม่มีการต้านทานได้เลย
สัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมอันหยาบช้า ทำบาปแล้ว
จึงต้องถูกนายนิรยบาลจับศีรษะห้อยลง โยนไปในนรก
(พระเจ้าเนมิตรัสถามว่า)
[๕๐๐] สัตว์นรกทั้งเล็กและใหญ่เหล่านี้
มีการประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน
มีรูปร่างแสนจะน่ากลัว ปรากฏอยู่ในนรก
ท่านมาตลีเทพสารถี ความกลัวย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของสัตว์นรกเหล่านี้
เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หนอ
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันร้ายแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่
[๕๐๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำชั่วไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๒] เหล่าสัตว์นรกที่เมื่อมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีทิฏฐิสุดแสนชั่ว๑ หลงทำกรรมเพราะความชะล่าใจ
และชักชวนผู้อื่นในทิฏฐิเช่นนั้น มีทิฏฐิชั่ว
จึงต้องมาเสวยทุกขเวทนาอันแรงแข็งกล้า
และเผ็ดร้อนเหลือประมาณอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิสุดแสนชั่ว หมายถึงมีบาปธรรมมากด้วยความเห็นผิดที่มีวัตถุ ๑๐ คือ การให้ทานไม่มีผล การบูชา
ไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การเสวยผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ แม้สมณ-
พราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๐๒/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีฟังพระดำรัสแล้ว จึงแสดงนรกมากมายในทิศทั้ง ๔ ว่า)
[๕๐๓] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
และคติของเหล่าสัตว์ผู้ทุศีลแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ บัดนี้
ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด
(เทพมาตลีสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงเทพธิดา จึงกราบทูลพยากรณ์แด่
พระองค์ว่า)
[๕๐๔] วิมาน ๕ ยอดนี้ย่อมปรากฏนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก
ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่างมีดอกไม้เป็นต้น
นั่งอยู่ในท่ามกลางที่ไสยาสน์
แสดงเทพฤทธิ์ได้ต่าง ๆ สถิตอยู่ในวิมานนี้
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของนางเทพธิดาผู้สถิตอยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพธิดานี้ได้ทำกรรมอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๐๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๐๗] บางทีพระองค์จะทรงเคยได้ยินว่า
ในมนุษยโลกมีนางทาสีเรือนทาสของพราหมณ์ชื่อว่า พีรณี
คราวหนึ่งนางทราบว่า แขกมาถึงแล้วตามกาล
ก็ชื่นชม ยินดีเหมือนมารดาชื่นชมบุตรของตน
นางมีการสำรวมและการบริจาค บันเทิงอยู่ในวิมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมที่โสณทินนเทพบุตรทำแล้ว
จึงทูลตอบแด่พระองค์ว่า)
[๕๐๘] วิมานทั้ง ๗ หลังถูกนิรมิตขึ้น เรืองรองผ่องใส
มีเทพบุตรตนหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์มาก
ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
มีหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ
ในวิมานทั้ง ๗ หลัง ซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับนั้น
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๐๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นพฤติการณ์ของเทพบุตรผู้อยู่ในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๑] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดีชื่อโสณทินนะ
เป็นทานบดีให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศแก่บรรพชิต
[๕๑๒] เขาได้อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้น
ด้วยความเคารพ ได้บริจาคผ้านุ่ง ผ้าห่ม
อาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีป
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตเลื่อมใส
[๕๑๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๑๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเหล่าเทพอัปสร จึง
ทูลตอบว่า)
[๕๑๕] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอดประกอบไปด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ อย่าง
ส่องแสงสว่างไสวอยู่
(พระเจ้าเนมิตรัสว่า)
[๕๑๖] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปแห่งวิมานนี้
เราขอถามท่าน นางเทพอัปสรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๑๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๑๘] นางเทพอัปสรเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสิกาผู้มีศีล ยินดีในการให้ทาน
มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ ตั้งอยู่ในสัจจะ
ไม่ประมาทในการรักษาอุโบสถศีล
เป็นผู้สำรวมและทำการบริจาคทาน
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรเหล่านั้นว่า)
[๕๑๙] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์
จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๒๐] เสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๒๑] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์ใจอย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๒๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรตนนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๒๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๒๔] เทพบุตรบางพวกเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในมนุษยโลก
เคยเป็นอุบาสกผู้มีศีล ได้สร้างสวนดอกไม้
บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๒๕] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย๑
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๒๖] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๒๗] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ
ทั้งมีความสำรวมและบริจาคทาน
เทพบุตรเหล่านั้นจึงมาบันเทิงอยู่ในสวรรค์

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปัจจัย ได้แก่ คิลานปัจจัย (ยาเพื่อคนไข้) (ขุ.ชา.อ. ๙/๕๒๕/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทรงมีพระทัยยินดี จึงตรัสถามกุศลกรรมของเทพบุตรนั้นว่า)
[๕๒๘] วิมานที่ถูกนิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๒๙] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๐] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๓๑] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๓๒] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดีเป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๓๓] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๓๔] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๓๕] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิตรัสถามถึงกุศลกรรมของเทพบุตรผู้ประกอบด้วยสมบัตินั้นว่า)
[๕๓๖] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วผลึก
เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นางเทพอัปสรนารีผู้ประเสริฐ
รุ่งเรืองด้วยเรือนยอด
[๕๓๗] บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ
งดงามด้วยการฟ้อนรำขับร้องทั้ง ๒ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
และแม่น้ำสายหนึ่งที่ประกอบด้วยต้นไม้ดอกนานาชนิด
ไหลไปล้อมรอบวิมานนั้น
[๕๓๘] มีไม้เกด ไม้มะขวิด ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หว้า
ไม้มะพลับ และไม้มะหาดเป็นจำนวนมาก มีผลตลอดฤดูกาล
[๕๓๙] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปของวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๐] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
จึงทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๔๑] เทพบุตรนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงมิถิลา
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๔๒] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๔๓] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๔๔] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๔๕] วิมานที่นิรมิตไว้ดีแล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ประกอบด้วยภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ที่จัดสรรสร้างไว้เป็นส่วน ๆ ส่องแสงสว่างไสวอยู่
[๕๔๖] มีเสียงทิพย์ คือ เสียงเปิงมาง เสียงตะโพน
เสียงการฟ้อนรำขับร้อง และเสียงประโคมดนตรี
เปล่งออกมาน่าฟัง เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๕๔๗] เราไม่รู้สึกว่า เคยได้เห็นหรือเคยได้ฟังเสียง
ที่น่ารื่นรมย์อย่างนี้ ที่ไพเราะอย่างนี้มาก่อนเลย
[๕๔๘] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๔๙] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๐] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี
เป็นทานบดีอยู่ในกรุงพาราณสี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๑] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๕๒] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๕๓] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน
(พระเจ้าเนมิตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๕๔] วิมานทองที่นิรมิตขึ้นนี้ รุ่งเรืองสุกใส
เหมือนดวงอาทิตย์ดวงใหญ่โผล่ขึ้นมาเป็นสีแดง
[๕๕๕] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๕๖] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๕๗] เทพบุตรตนนี้เคยเป็นคหบดี เป็นทานบดีอยู่ในกรุงสาวัตถี
ได้สร้างสวนสาธารณะ บ่อน้ำ น้ำประปา และสะพาน
ได้ปฏิบัติพระอรหันต์ผู้สงบเย็นด้วยความเคารพ
[๕๕๘] ได้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และปัจจัย
ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลายด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๕๕๙] ได้รักษาอุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
[๕๖๐] เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน
ในเพราะการสำรวมและการบริจาคทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรสมบัติของเทพบุตรที่อยู่ในวิมานนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๖๑] วิมานทองเป็นอันมากนี้ที่ได้นิรมิตไว้
ลอยอยู่ในอากาศ รุ่งเรืองสุกใสเหมือนสายฟ้า
ส่องแสงเรือง ๆ อยู่ในระหว่างก้อนเมฆทึบ
เหล่าเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง
มีหมู่เทพอัปสรห้อมล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนกัน
อยู่ในวิมานเหล่านั้นโดยรอบ
[๕๖๒] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน เทพบุตรเหล่านี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้หนอ
จึงได้ขึ้นสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน
[๕๖๓] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๖๔] เทพบุตรเหล่านี้เคยเป็นสาวกในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อศรัทธาตั้งมั่นแล้ว
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระสัทธรรมดีแล้ว
ได้ทำตามพระดำรัสของพระศาสดา
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตร
สถานที่สถิตของเทพบุตรเหล่านั้นเถิด
(มาตลีเทพสารถีเมื่อจะทำอุตสาหะเพื่อจะให้พระเจ้าเนมิเสด็จไปสำนักของท้าว
สักกเทวราช จึงทูลว่า)
[๕๖๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์ได้ทรงทราบสถานที่อยู่
ของเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมชั่ว
และทรงทราบสถานที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพเจ้าผู้มีกรรมดีแล้ว
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ เชิญพระองค์เสด็จขึ้นไปในสำนักของท้าวสักกเทวราชเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นแล้วตรัส
ถามมาตลีเทพสารถีให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๕๖๖] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นภูเขาทั้งหลายในระหว่างมหาสมุทรสีทันดร
ครั้นแล้วจึงได้ตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า ภูเขาเหล่านี้ชื่ออะไร
[๕๖๗] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบ
(มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามอย่างนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๕๖๘] ภูเขาหลวงทั้ง ๗ เทือก คือ ภูเขาสุทัศนะ
ภูเขากรวีกะ ภูเขาอิสินธร ภูเขายุคันธร
ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ
[๕๖๙] ภูเขาเหล่านี้สูงขึ้นไปตามลำดับ
อยู่ในมหาสมุทรสีทันดร เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช
ข้าแต่พระราชา เชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาเหล่านั้นเถิด
(พระเจ้าเนมิทอดพระเนตรเห็นพระอินทร์นั้นแล้ว จึงตรัสถามมาตลีเทพสารถีว่า)
[๕๗๐] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
[๕๗๑] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นประตูนี้ เราขอถามท่าน
ประตูนี้เขาเรียกชื่อว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ที่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๒] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมินั้นผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๓] ประตูนี้เขาเรียกว่า จิตรกูฏ
เป็นที่เสด็จเข้าออกของท้าวสักกเทวราช
ประตูนี้เป็นซุ้มประตูของเทพนคร
ที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งภูเขาสุทัศนะ
[๕๗๔] ประตูมีรูปหลายอย่าง รุ่งเรือง
งดงามไปด้วยรัตนะนานาชนิด
สมบูรณ์ด้วยรูปเหมือนพระอินทร์ ย่อมปรากฏ
เหมือนป่าใหญ่ที่เสือโคร่งหรือราชสีห์รักษาไว้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปทางประตูนี้เถิด
ขอเชิญพระองค์ทรงเหยียบภาคพื้นอันเป็นทิพย์
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๕๗๕] พระมหาราชเสด็จประทับบนทิพยยาน
ที่เทียมด้วยม้าสินธพประมาณ ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้แล้ว
(พระเจ้าเนมิได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภาชื่อสุธรรมา จึงตรัสถามมาตลีเทพ-
สารถีว่า)
[๕๗๖] วิมานที่นิรมิตไว้แล้วนี้ มีฝาสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
เปรียบเสมือนอากาศ ส่องแสงสว่างไสว ทอสีเขียวในสารทกาล
[๕๗๗] ท่านมาตลีเทพสารถี ความปลื้มใจย่อมเกิดแก่เรา
เพราะได้เห็นความเป็นไปในวิมานนี้
เราขอถามท่าน วิมานนี้เขาเรียกว่าอะไรหนอ
น่ารื่นรมย์ใจ ปรากฏแต่ไกลทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
[๕๗๘] มาตลีเทพสารถีถูกพระเจ้าเนมิตรัสถามแล้ว
ก็ทูลพยากรณ์วิบากของเหล่าสัตว์ผู้ทำบุญไว้
ตามที่ทราบแด่พระเจ้าเนมิผู้ไม่ทรงทราบว่า
[๕๗๙] วิมานนี้นั้นเป็นเทวสภา เขาเรียกชื่อปรากฏว่า สุธรรมา
รุ่งเรืองด้วยแก้วไพฑูรย์ตระการตา ที่นิรมิตไว้อย่างดี
[๕๘๐] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่ของเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งมวล
ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธาน
[๕๘๑] ประชุมกันคิดถึงประโยชน์ของเหล่าเทวดาและมนุษย์
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปสู่ทิพยสถาน
เป็นที่บันเทิงกันและกันของเหล่าเทวดาโดยทางนี้เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๘๒] เทพเจ้าทั้งหลายเห็นพระเจ้าเนมิเสด็จมาถึง
ต่างพากันยินดีต้อนรับว่า
ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้วมิได้เสด็จมาร้าย
ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอพระองค์ประทับนั่ง ณ ที่ใกล้ท้าวเทวราชเถิด
[๕๘๓] ถึงท้าวเทวราชก็ทรงยินดีต้อนรับพระองค์
ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นวิเทหะ ทรงปกครองกรุงมิถิลา
ท้าววาสวะก็ทรงเชื้อเชิญด้วยทิพยกามารมณ์และทิพยอาสน์ว่า
[๕๘๔] ข้าแต่พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นความดีแล้วที่พระองค์ได้เสด็จมาถึงทิพยสถาน
เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาผู้บันดาลสิ่งที่ตนต้องประสงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๔.เนมิราชชาดก (๕๔๑)
ให้เป็นไปตามอำนาจ ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ในหมู่เทพเจ้า
ผู้ประกอบด้วยความสำเร็จแห่งทิพยกามารมณ์ทั้งปวง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยกามทั้งหลาย
ที่มิใช่ของมนุษย์อยู่ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด พระเจ้าข้า
(พระเจ้าเนมิถูกท้าวเทวราชเชื้อเชิญด้วยกามทิพย์และให้ประทับนั่ง เมื่อจะ
ทรงปฏิเสธ จึงตรัสว่า)
[๕๘๕] ยานที่ขอยืมเขามา ทรัพย์ที่ขอยืมเขามาสำเร็จประโยชน์ฉันใด
ของที่บุคคลอื่นให้ก็สำเร็จประโยชน์ฉันนั้นเหมือนกัน
[๕๘๖] หม่อมฉันมิได้ประสงค์สิ่งที่ผู้อื่นให้
บุญทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้เอง
เป็นทรัพย์ของหม่อมฉันแผนกหนึ่งต่างหาก
[๕๘๗] หม่อมฉันนั้นจักกลับไปทำบุญให้มากขึ้นในหมู่มนุษย์
ด้วยการบริจาคทาน การประพฤติสม่ำเสมอ
ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์ที่บุคคลทำแล้ว
จะได้รับความสุขและไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
(พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสยกย่องคุณของมาตลีเทพสารถี จึงตรัสว่า)
[๕๘๘] ท่านมาตลีเทพสารถีได้แสดงสถานที่อยู่ของทวยเทพ
ผู้มีกรรมดี และสถานที่อยู่ของเหล่าสัตว์นรกผู้มีกรรมชั่ว
ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา
(พระศาสดาเมื่อจะตรัสการที่พระเจ้าเนมิโพธิสัตว์บวชแล้วให้แจ้งชัด จึงตรัส
พระคาถาสุดท้ายว่า)
[๕๘๙] พระเจ้าเนมิแห่งชนชาวแคว้นวิเทหะทรงปกครองกรุงมิถิลา
ครั้นได้ตรัสพระคาถานี้แล้วทรงบูชายัญเป็นอันมากแล้ว
จึงทรงเข้าถึงความสำรวม
เนมิราชชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
๕. มโหสธชาดก๑ (๕๔๒)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย
พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๕๙๐] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ
เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้
[๕๙๑] มีกองช่างโยธา กองราบ
ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง
เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์
[๕๙๒] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน
มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์
ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า
[๕๙๓] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต ๑๐ คน
มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ
พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ ๑๑
ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ
[๕๙๔] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้
กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ
ถูกชิงแคว้น กลัวภัย
จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง
มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า
เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๐๙) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค ๑ คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗
ถึง ๑๑ ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๕๙๕] เป็นผู้ทำตามที่พระราชารับสั่ง
ไม่มีความปรารถนาจะกล่าว ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก
ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละผู้มีอำนาจมาก่อน
ไม่มีความปรารถนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาละ
[๕๙๖] กรุงมิถิลาก็ถูกล้อมด้วยกองทัพนั้นเป็น ๓ ชั้น
เมืองหลวงของชาวแคว้นวิเทหะก็ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ
[๕๙๗] พ่อมโหสธ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลานั้น
ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า
พ่อจงรู้ว่า จักรอดพ้นได้อย่างไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๕๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญเถิด
ขอเชิญเสวยและรื่นรมย์พระหฤทัยในกามเถิด
พระเจ้าพรหมทัตจะต้องทิ้งกองทัพชาวแคว้นปัญจาละเสด็จหนีไป
(พราหมณ์เกวัฏเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหะแล้วกราบทูลเหตุที่ตนมาว่า)
[๕๙๙] พระราชามีพระประสงค์จะทำสันถวไมตรีกับพระองค์
จะพระราชทานรัตนะแก่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป
ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ พูดคำเป็นที่รักจงมา
[๖๐๐] ขอจงกล่าววาจาอ่อนหวาน เป็นที่ชื่นชมต่อกัน
ขอแคว้นปัญจาละกับแคว้นวิเทหะ
ทั้ง ๒ แคว้นนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรพราหมณ์เกวัฏแล้วตรัสถามถึงอาการที่สนทนา
กับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๑] ท่านเกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสธเป็นอย่างไรหนอ
ขอเชิญเล่าเรื่องราวนั้น มโหสธกับท่านต่างอดโทษกันแล้วกระมัง
มโหสธยินดีแล้วกระมัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พราหมณ์เกวัฏจึงกราบทูลว่า)
[๖๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน คนผู้ไม่สุภาพ
ไม่ชื่นชมกับใคร เป็นคนกระด้าง ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
เขาไม่กล่าวข้อความอะไร ๆ เป็นเหมือนคนใบ้และคนหนวก
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน เริ่มตั้งคำถามขึ้น
เองว่า)
[๖๐๓] มนต์บทนี้เห็นได้ยากแน่นอน
มโหสธผู้มีความเพียรได้เห็นประโยชน์อันบริสุทธิ์
จริงอย่างนั้น กายของเราก็ยังหวั่น ๆ อยู่
ใครเล่าจักทิ้งแคว้นของตนไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่น
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๖๐๔] มติของเราทั้ง ๖ คนผู้เป็นบัณฑิต
มีปัญญายอดเยี่ยม เป็นเอกฉันท์เสมอกัน
มโหสธ แม้เธอก็จงลงมติว่า ควรไปหรือไม่ควรไป
หรือควรยับยั้งอยู่ที่นี้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น คิดแล้วได้กราบทูลว่า)
[๖๐๕] ข้าแต่พระราชา พระองค์ย่อมทรงทราบอยู่ทีเดียวว่า
พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลังมาก
และปรารถนาจะปลงพระชนม์พระองค์
เหมือนนายพรานเนื้อด้วยนางเนื้อ
[๖๐๖] ปลาอยากกินเหยื่อสดกลืนเบ็ดที่ใช้เหยื่อปกปิดไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๐๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักว่าตนจะตายฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๐๘] ถ้าพระองค์จะเสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปในทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อที่เดินไปตามทาง๑
(พระเจ้าวิเทหะถูกมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มมากเกินไป จึงทรงกริ้วแล้ว
ตรัสถามว่า)
[๖๐๙] พวกเรานั่นแหละผู้กล่าวถึงประโยชน์อันสำคัญกับท่าน
กลับเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย
ท่านเล่าเติบโตมาด้วยหางไถ๒
จะรู้ประโยชน์เหมือนคนอื่น ๆ ได้ละหรือ
(พระเจ้าวิเทหะด่าบริภาษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ เมื่อจะขับไล่ จึงตรัสว่า)
[๖๑๐] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๑๑] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตก็หลีกไปจากราชสำนัก
ของพระเจ้าวิเทหะ ต่อมา ก็ได้เรียกนกแขกเต้าตัวฉลาด
ที่ชื่อมาธุระ ที่เป็นทูตมาสั่งว่า
[๖๑๒] มานี่เถิด สหายผู้มีขนปีกสีเขียว
เจ้าจงทำการขวนขวายช่วยเหลือเรา
มีนางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาละ

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อที่เดินไปตามทาง หมายถึงฝูงเนื้อป่าได้ยินเสียงนางเนื้อต่อที่นายพรานฝึกไว้ดีแล้วร้องขึ้น ก็จะเดิน
เข้าไปหาด้วยความกำหนัด จะถูกนายพรานแทงถึงแก่ความตาย (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๘/๓๔๐)
๒ เติบโตมาด้วยหางไถ หมายถึงมโหสธบัณฑิตบุตรของคหบดีจับหางไถเจริญเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็ก
(บุตรชาวนาจะรู้เรื่องอะไร) (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๙/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๑๓] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด
มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา
และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น
[๖๑๔] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว
รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา
[๖๑๕] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น
ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา
ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า
[๖๑๖] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ
แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ
เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ
[๖๑๗] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย
ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ
[๖๑๘] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา
สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย
(นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๑๙] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี
ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม
โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง
(นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า)
[๖๒๐] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า
นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม
ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่
[๖๒๑] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ
ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง ๒ ก็จะได้อยู่ร่วมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ก็ดีใจ แต่ไม่ให้นกแขกเต้ารู้ว่าตัวก็รัก ทำเป็นไม่
ปรารถนา แล้วกล่าวว่า)
[๖๒๒] ก็นกแขกเต้าก็ควรรักใคร่กับนางนกแขกเต้า
ส่วนนกสาลิกาก็ควรรักใคร่กับนางนกสาลิกา
นกแขกเต้ากับนางนกสาลิกาอยู่ร่วมกันจะเป็นเช่นไร
(นกแขกเต้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๓] ผู้ใดใคร่อยู่ในกามแม้แต่กับหญิงจัณฑาล
ผู้นั้นก็เป็นเหมือนกันทั้งหมด
เพราะในกามไม่มีคนที่จะไม่เหมือนกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประมวลเรื่องในอดีตมา
แสดง จึงกล่าวต่อว่า)
[๖๒๔] มีพระชนนีของพระเจ้ากรุงสีพีพระนามว่าชัมพาวดี
พระนางเป็นพระมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร
(นกแขกเต้าบัณฑิตยกอุทาหรณ์อย่างอื่นมากล่าวอีกว่า)
[๖๒๕] มีกินนรีชื่อรัตนวดี แม้เธอก็ได้ร่วมรักกับวัจฉดาบส
มนุษย์ได้ร่วมรักกับนางเนื้อก็มี
ในความใคร่ มนุษย์หรือสัตว์ไม่มีต่างกัน
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๒๖] แม่นกสาลิกาผู้มีเสียงไพเราะ เอาเถอะ ฉันจักไปละ
เพราะถ้อยคำของเธอนี้เป็นเหตุให้ฉันประจักษ์
เธอดูหมิ่นฉันแน่
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๗] มาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ใจเร็ว
เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้แหละจนกว่าจะได้เฝ้าพระราชา
จนกว่าจะได้ฟังเสียงตะโพน และเห็นอานุภาพของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒๘] เสียงดังอึกทึกนี้ฉันได้ยินมาภายนอกชนบทว่า
พระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก
พระเจ้าปัญจาละจักพระราชทานพระราชธิดานั้น
แก่ชาวแคว้นวิเทหะ คือ จักมีอภิเษก
ระหว่างพระเจ้าวิเทหะกับพระธิดานั้น
(นางนกสาลิกาถูกนกแขกเต้าบัณฑิตแค่นไค้นัก จึงกล่าวว่า)
[๖๒๙] มาธุระ วิวาหมงคลเช่นนี้จงอย่ามีแก่คนผู้เป็นศัตรูกัน
เหมือนวิวาหะของพระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ
กับพระเจ้าวิเทหะเลย
(นางนกสาลิกาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวอีกว่า)
[๖๓๐] พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวแคว้นปัญจาละ
จักทรงนำพระเจ้าวิเทหะมา
แต่นั้นจักรับสั่งให้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เสีย
พระเจ้าวิเทหะไม่เป็นพระสหายของพระเจ้าปัญจาละ
(นกแขกเต้าบัณฑิตได้ฟังดังนั้น หวังจะให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนกลับไป
จึงกล่าวว่า)
[๖๓๑] เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ คืน
เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสีพีและพระมเหสีของพระองค์ว่า
ฉันได้ที่พักในที่อยู่ของนางนกสาลิกาแล้ว
(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ จึงกล่าวว่า)
[๖๓๒] เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปได้เพียง ๗ คืน
ถ้า ๗ คืนท่านยังไม่กลับมายังที่อยู่ ฉันกำหนดวันตายไว้แล้ว
ท่านจักกลับมาได้ ก็ต่อเมื่อฉันได้ตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๓] ลำดับนั้นแล นกแขกเต้าตัวฉลาดชื่อมาธุระ
จึงได้บินไปบอกคำของนางนกสาลิกานี้แก่มโหสธบัณฑิต
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงได้กราบทูลว่า)
[๖๓๔] ราชบุรุษพึงได้บริโภคโภคะ
ในพระตำหนักของพระราชาพระองค์ใด
ก็ควรทำประโยชน์ให้แก่พระราชาพระองค์นั้นเท่านั้น
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งชน เอาเถิด
ข้าพระองค์จะไปสู่เมืองอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้าปัญจาละก่อน
เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์
ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์
ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศแล้ว
พึงส่งข่าวมาถวายพระองค์ได้เมื่อใด
ขอพระองค์เสด็จไปเมื่อนั้น
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๓๖] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตได้ไปยังเมืองอันน่ารื่นรมย์
ของพระเจ้าปัญจาละก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์
ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
[๖๓๗] ครั้นได้สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหะ
ผู้ทรงยศ แล้วภายหลังจึงได้ส่งทูต
ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า
ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสด็จ ณ บัดนี้เถิด
พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๓๘] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยจตุรงคเสนา
เพื่อทอดพระเนตรเมืองเจริญที่มโหสธบัณฑิตสร้างถวาย
ในแคว้นกปิละซึ่งมีพาหนะนับไม่ถ้วน
[๖๓๙] แต่นั้น ท้าวเธอครั้นเสด็จไปถึงแล้ว
จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะมา
เพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
[๖๔๐] ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด
(พระเจ้าจูฬนีสดับถ้อยคำของราชทูตแล้วก็ทรงโสมนัส เมื่อจะทรงแสดงโสมนัส
ให้ปรากฏเด่นชัด ประทานรางวัลแก่ราชทูตแล้ว จึงตรัสว่า)
[๖๔๑] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย
เชิญพระองค์ทรงหาฤกษ์ไว้เถิด หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวงแก่พระองค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๔๒] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะก็ได้ทรงหาฤกษ์
ครั้นแล้วจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า
[๖๔๓] ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ฝ่ายพระเจ้าจูฬนีตรัสตอบว่า)
[๖๔๔] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา
ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์
ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ
แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง
ให้เป็นมเหสีของพระองค์ ณ บัดนี้
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อทรงปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๖๔๕] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ
[๖๔๖] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่
จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่
บัณฑิตทั้งหลายจักทำอย่างไรหนอ
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๔๗] ข้าแต่มหาราช พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตมีกำลังมาก
รักษาพระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายพระองค์
รุ่งเช้าก็จักรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงกลัวต่อมรณภัย ได้ตรัสว่า)
[๖๔๘] หทัยของเราสั่นและปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเสมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๔๙] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยินเสียงพระเจ้าวิเทหะคร่ำครวญ จึงกราบทูลว่า)
[๖๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ทรงเป็นผู้ประมาท
ล่วงเลยการปรึกษา ทำลายการปรึกษา
บัดนี้ ขอชนทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
จงป้องกันพระองค์เถิด
[๖๕๑] พระราชาไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอำมาตย์
ผู้ใคร่ประโยชน์และหวังดี ทรงยินดีด้วยปีติของพระองค์
จึงเหมือนเนื้อติดบ่วงนายพราน
[๖๕๒] ปลาอยากกินเหยื่อสด กลืนขอเบ็ดที่ใช้เหยื่อปิดบังไว้
ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด
[๖๕๓] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม
ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี
เหมือนปลาไม่รู้จักตนว่าจะตายฉันนั้น
[๖๕๔] ถ้าพระองค์เสด็จไปแคว้นปัญจาละ
ก็จักเสียพระองค์ไปทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์
เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทาง
[๖๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บุรุษผู้เป็นอนารยชน
ก็เป็นเหมือนงูที่อยู่ในชายพกจะพึงกัดได้
นักปราชญ์ไม่พึงผูกไมตรีกับบุรุษผู้นั้น
เพราะการสังคมกับบุรุษชั่วนำทุกข์มาให้โดยแท้
[๖๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
นักปราชญ์พึงผูกไมตรีกับบุคคลผู้มีศีล
เป็นพหูสูตที่รู้จักกันนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มพระเจ้าวิเทหะยิ่งขึ้น จึงนำพระดำรัสที่ตรัสไว้ใน
กาลก่อนมากราบทูลว่า)
[๖๕๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ตรัสถึงเหตุ
ที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งในสำนักของข้าพระองค์
ทรงเป็นผู้โง่เขลา บ้าน้ำลาย
ข้าพระองค์เป็นบุตรของคหบดี เติบโตมาด้วยหางไถ
จะรู้เหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งเหมือนคนอื่น ๆ ได้อย่างไร
[๖๕๘] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้
ผู้พูดเป็นอันตรายต่อการได้รัตนะของเรา
ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา
(พระเจ้าวิเทหะเมื่อจะยึดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง จึงตรัสว่า)
[๖๕๙] มโหสธ เหล่าบัณฑิตย่อมไม่พูดทิ่มแทงเพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว
เพราะเหตุไร เจ้าจึงมาทิ่มแทงเรา
เหมือนม้าที่เขาล่ามไว้ถูกแทงด้วยปฏัก
[๖๖๐] ถ้าเจ้าเห็นว่าเราจะพ้นภัยหรือปลอดภัย
เพราะเหตุไร เจ้าจึงทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วเล่า
จงสั่งสอนเราโดยความสวัสดีนั้นเถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖๑] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจจะปลดเปลื้องพระองค์ได้
ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบเถิด
[๖๖๒] ช้างทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ช้างเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๖๓] ม้าทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ม้าเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๔] นกทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถบินไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
นกเหล่านั้นจะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๕] ยักษ์ทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ
สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่
ยักษ์เหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้
[๖๖๖] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องพระองค์ทางอากาศได้
(เสนกบัณฑิตเมื่อจะขอร้องมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวว่า)
[๖๖๗] บุรุษผู้ยังมองไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ได้ที่พำนักในที่ใด
เขาย่อมได้รับความสุขในที่นั้นฉันใด
[๖๖๘] ท่านมโหสธ ขอท่านจงได้เป็นที่พึ่ง
ทั้งของพวกข้าพเจ้าและพระราชาฉันนั้นเถิด
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดของพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี
ขอท่านจงช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าทั้งหลาย
ให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะข่มเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๖๖๙] ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว
ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าไม่อาจจะปลดเปลื้องท่านได้
ขอท่านจงรู้เอาเองเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามว่า)
[๖๗๐] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เสนกะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เสนกบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๖๗๑] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๖๗๒] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์ปุกกุสะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(ปุกกุสบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๓] พวกเราจะกินยาพิษฆ่าตัวตาย ชิงละชีวิตไปเสียก่อน
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามกามินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๔] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์กามินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(กามินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๕] พวกเราจะเอาเชือกผูกคอตายหรือโดดเหวตาย
อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา
ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามเทวินทบัณฑิตว่า)
[๖๗๖] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ
บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เทวินทะ
ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร
(เทวินทบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๖๗๗] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา
หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน
ชิงละชีวิตไปเสียก่อน มโหสธไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ให้รอดพ้นไปได้โดยง่ายเลย
(พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น คร่ำครวญจนมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยิน จึง
ตรัสว่า)
[๖๗๘] บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๗๙] บุคคลแสวงหาแก่นงิ้ว แต่ไม่พบฉันใด
พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์
ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น
[๖๘๐] การที่เราทั้งหลายอยู่ในสำนักหมู่พาล
ซึ่งเป็นพวกเขลา ไม่รู้อะไร
ก็เท่ากับฝูงกุญชรอยู่ในที่ไม่มีน้ำซึ่งเป็นถิ่นไม่สมควรหนอ
[๖๘๑] หทัยของเราสั่น และปากก็แห้งผาก
เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด
[๖๘๒] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน
หาไหม้ข้างนอกไม่ ฉันใด
ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘๓] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์มองเห็นประโยชน์นั้น
เห็นพระเจ้าวิเทหะผู้ประสบทุกข์ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๖๘๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงจันทร์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงอาทิตย์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น
[๖๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องช้างเชือกจมปลักให้รอดพ้น
[๖๘๗] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนช่วยปลดเปลื้องงูที่ติดอยู่ในข้องให้รอดพ้น
[๖๘๘] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
[๖๘๙] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น
เหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๐] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์
พร้อมด้วยพระราชยานหมู่พลและพาหนะให้รอดพ้น
[๖๙๑] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย
ข้าพระองค์จักขับไล่กองทัพของพระเจ้าปัญจาละให้หนีไป
เหมือนขับไล่กาและเหยี่ยวให้หนีไป
[๖๙๒] อำมาตย์ใดพึงปลดเปลื้องพระองค์
ผู้ตกอยู่ในที่คับขันให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้
ปัญญาของอำมาตย์ผู้เช่นนั้นหรืออำมาตย์
ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาผู้เช่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์สั่งเหล่าทหารให้เปิดประตูอุโมงค์ว่า)
[๖๙๓] มาเถิด ลุกขึ้นเถิดมาณพทั้งหลาย
จงเปิดปากอุโมงค์และประตูเรือนเถิด
พระเจ้าวิเทหะ พร้อมอำมาตย์จักเสด็จไปทางอุโมงค์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๙๔] พวกคนติดตามของมโหสธบัณฑิตฟังคำสั่งของมโหสธนั้นแล้ว
ช่วยกันเปิดประตูอุโมงค์และถอดกลอนที่ติดยนต์
[๖๙๕] เสนกะเดินนำเสด็จไปข้างหน้า
มโหสธเดินตามเสด็จไปข้างหลัง
พระเจ้าวิเทหะมีอำมาตย์ห้อมล้อมเสด็จไปท่ามกลาง
[๖๙๖] พระเจ้าวิเทหะเสด็จออกไปจากอุโมงค์แล้ว
เสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ส่วนมโหสธบัณฑิตได้ทราบว่า
พระเจ้าวิเทหะเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่งแล้ว
จึงถวายอนุสาสน์ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๖๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้นี้คือพระโอรส
แห่งพระเจ้าจูฬนีผู้เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์
พระเทวีนี้เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพระองค์
ขอโปรดทรงปฏิบัติต่อพระสัสสุของพระองค์
เหมือนทรงปฏิบัติต่อพระราชมารดาของพระองค์เถิด
[๖๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระภาดาแท้ ๆ ผู้ร่วมพระอุทร มีพระชนนีเดียวกัน
พระองค์ก็ควรทรงเอ็นดูฉันใด
พระปัญจาลจันทราชกุมารพระองค์ก็ควรเอ็นดูฉันนั้น
[๖๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
พระนางปัญจาลจันทนีราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตนี้
ที่พระองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก
ขอพระองค์จงทำความรักใคร่ในพระนางของพระองค์
พระนางจะเป็นมเหสีของพระองค์
(พระเจ้าวิเทหะทรงประสงค์จะเสด็จไป จึงตรัสกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๐] มโหสธ ท่านจงรีบขึ้นเรือเถิด
จะยืนอยู่ที่ฝั่งทำไมหนอ พวกเราพ้นจากทุกข์ได้โดยยาก
จงรีบไป ณ บัดนี้เถิด
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๗๐๑] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์เป็นผู้นำกองทัพ
จะทอดทิ้งกองทัพแล้ว
พึงเอาตัวรอดนี้ ไม่เป็นธรรมเลย
[๗๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์จักนำกองทัพที่พระองค์ละทิ้งไว้ในพระราชนิเวศน์
ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตพระราชทานแล้วนั้นกลับมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะตรัสว่า)
[๗๐๓] ท่านบัณฑิต ท่านมีเสนาน้อย
จักข่มพระเจ้าพรหมทัตผู้มีเสนามากได้อย่างไร
ท่านไม่มีกำลังจักเดือดร้อน
เพราะพระเจ้าพรหมทัตมีกำลัง
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๗๐๔] ผู้มีปัญญา ถึงจะมีเสนาน้อย
ก็ชนะคนที่มีเสนามากแต่ไม่มีปัญญาได้
เหมือนพระราชาผู้ทรงพระปรีชา
ย่อมชนะพระราชาหลายพระองค์ผู้ไม่ทรงพระปรีชาได้
ดังดวงอาทิตย์ขึ้นมากำจัดความมืด
(พระเจ้าวิเทหะ ทรงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แก่เสนกบัณฑิต
ว่า)
[๗๐๕] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้น
(เสนกบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๐๖] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลาย
เป็นผู้นำความสุขมาให้โดยแท้
มโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๐๗] พระเจ้าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เฝ้าระวังไว้ตลอดราตรีทั้งสิ้น
ครั้นรุ่งอรุณก็เสด็จไปถึงอุปการนคร๑
[๗๐๘] พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก
เสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง ได้รับสั่งแล้วว่า
[๗๐๙] พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี
มีพระหัตถ์ทรงพระแสงศร ได้ตรัสสำทับกับเหล่าทหารหาญ
ผู้เชี่ยวชาญศิลปะทุก ๆ ด้าน ซึ่งมาประชุมกันอยู่
(บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า)
[๗๑๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบ ผู้มีฝีมือ ชำนาญในศิลปะธนู
ยิงได้แม่นยำ มาประชุมกันแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีรับสั่งใหัจับพระเจ้าวิเทหะว่า)
[๗๑๑] พวกท่านจงไสช้างพลายงาทั้งหลายที่มีกำลัง
ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลังไป
ขอช้างทั้งหลายจงเหยียบย่ำทำลายเมือง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้รับสั่งให้สร้างไว้ดีแล้ว
[๗๑๒] ขอให้ลูกศรขาวด้านหน้าทำด้วยเขี้ยวลูกสัตว์
มีปลายแหลมคมแทงทะลุกระดูกที่ถูกปล่อยไปแล้ว
จงข้ามไปตกลงด้วยกำลังธนูเถิด

เชิงอรรถ :
๑ อุปการนคร หมายถึงนครที่มโหสธบัณฑิตให้สร้างขึ้นในเขตเมืองปัญจาลนคร(ของพระเจ้าจุฬามณี เพื่อใช้
เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหะ เพื่อรอเวลาเข้าพิธีวิวาห์กับพระนางปัญจาลจันทนีธิดาของพระเจ้าจุฬามณี
(ขุ.ชา.อ. ๙/๑๐๗/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๑๓] พวกทหารรุ่นหนุ่ม ๆ สวมเกราะแกล้วกล้า
มีอาวุธมีด้ามอันงดงาม
เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายแล่นเข้าสงครามมาอยู่
จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลายเถิด
[๗๑๔] หอกทั้งหลายที่ชโลมด้วยน้ำมันส่องแสงเป็นประกายเพลิง
โชติช่วงตั้งอยู่ดังดาวประกายพรึกซึ่งมีรัศมีตั้งร้อย
[๗๑๕] เมื่อเหล่าทหารมีกำลังอาวุธ
สวมสังวาลรัดเกราะเช่นนี้ ไม่หนีสงคราม
พระเจ้าวิเทหะต่อให้มีปีกบินก็หนีไปไหนไม่พ้น
[๗๑๖] เหล่าทหาร ๓๙,๐๐๐ นายทั้งหมดของเรา
แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกไว้แล้ว
เราเที่ยวไปทั่วแผ่นดินก็ไม่เห็นทหารผู้ทัดเทียม
[๗๑๗] อนึ่ง ช้างพลายงาทั้งหลายที่ประดับแล้วล้วนแต่มีกำลัง
ต่อเมื่ออายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง
ซึ่งมีเหล่าทหารหนุ่ม ๆ มีผิวพรรณดุจทองคำสง่างามอยู่บนคอ
[๗๑๘] ทหารเหล่านั้นมีเครื่องประดับสีเหลือง
นุ่งผ้าสีเหลือง ผ้านุ่งผ้าห่มสีเหลือง
ย่อมสง่างามอยู่บนคอช้างดังเทพบุตรในอุทยานนันทวัน
[๗๑๙] กระบี่ทั้งหลายที่มีสีเช่นเดียวกับปลาสลาด
ขัดถูด้วยน้ำมันเป็นประกายวาบวับ
ที่เหล่าทหารกล้าทำสำเร็จแล้ว
ลับเป็นอย่างดีมีคมอยู่เสมอ
[๗๒๐] ดาบส่องแสงจ้า ปราศจากสนิม
ทำด้วยเหล็กกล้าทนทาน
ที่เหล่าทหารผู้มีกำลังชำนาญในการฟันถือไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๑] ดาบเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ด้ามทองคำ
ประกอบด้วยฝักสีแดง กวัดแกว่งไปมางดงาม
ดังสายฟ้าที่แปลบปลาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ
[๗๒๒] เหล่าทหารดาบผู้แกล้วกล้าสวมเกราะ
สามารถตีลังกาไปในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและโล่ห์
ฝึกฝนมาดีกว่าพลแม่นธนู สามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลงไปได้
[๗๒๓] พระองค์ถูกทหารทั้งหลายเช่นนี้ล้อมไว้แล้ว
พระองค์จะพ้นไปจากที่นี้ไม่ได้
ข้าพระองค์ยังไม่เห็นราชานุภาพของพระองค์
ที่จะเป็นเหตุให้เสด็จดำเนินไปถึงกรุงมิถิลาได้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ กล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจูฬนีว่า)
[๗๒๔] พระองค์ทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ
พระองค์มีพระทัยร่าเริงเสด็จมา
พระองค์ทรงสำคัญว่า เราเป็นผู้ได้ประโยชน์
[๗๒๕] ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด
ทรงเก็บลูกศรเสียเถิด จงทรงเปลื้องเกราะอันงดงาม
ติดแผ่ไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมณีออกเสียเถิด
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้น ทรงคุกคามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๒๖] เจ้ามีสีหน้าผ่องใส และพูดอย่างฝืนยิ้ม
ความถึงพร้อมด้วยผิวพรรณเช่นนี้ย่อมมีในคราวใกล้ตาย
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า)
[๗๒๗] ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสขู่คำราม
เป็นพระดำรัสที่เปล่าประโยชน์
พระองค์เป็นผู้มีความลับแตกเสียแล้ว
เพราะพระราชาของข้าพระองค์ยากที่พระองค์จะจับได้
เหมือนม้าขาเขยกขับม้าสินธพได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๒๘] พระราชาของข้าพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร
เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไปแล้วแต่วานนี้
ถ้าพระองค์จักทรงติดตามไป ก็จักตกไปสู่ความลำบาก
เหมือนกาบินไล่ติดตามพญาหงส์
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ไม่พรั่นพรึงดุจพญาราชสีห์ ยกอุทาหรณ์มากราบ
ทูลว่า)
[๗๒๙] สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำทรามกว่าเนื้อ
เห็นดอกทองกวาวบานในราตรี ก็เข้าใจว่า
เป็นชิ้นเนื้อ จึงเข้าล้อมต้นไว้
[๗๓๐] เมื่อราตรีผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น
สุนัขจิ้งจอกที่ต่ำทรามกว่าเนื้อเหล่านั้น
ได้เห็นดอกทองกวาวที่บานแล้ว ก็หมดหวังฉันใด
[๗๓๑] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหะ
ก็จักทรงหมดหวังเสด็จกลับไป ฉันนั้นเหมือนกัน
เหมือนสุนัขจิ้งจอกล้อมต้นทองกวาว
(พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงสั่งลงโทษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๓๒] พวกเจ้าจงตัดมือ เท้า หู และจมูก
ของมโหสธนี้ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นไป
[๗๓๓] พวกเจ้าจงเสียบมโหสธผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้น
บนหลาวแล้วย่างมันเสียเหมือนย่างเนื้อนี้
[๗๓๔] บุคคลแทงหนังวัวลงบนแผ่นดิน
หรือใช้ขอเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือหนังเสือโคร่งฉุดมาฉันใด
[๗๓๕] เราจักให้พวกเจ้าช่วยกันใช้หอกทิ่มแทงมโหสธนี้
ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็หัวเราะกราบทูลว่า)
[๗๓๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารเช่นเดียวกัน
[๗๓๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๓๘] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๓๙] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น
ของพระโอรส และพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
[๗๔๐] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระปัญจาลจันทราชกุมารบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๑] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๒] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๓] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว
แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ
ของพระโอรสและพระชายาของพระองค์แล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน
[๗๔๔] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระปัญจาลจันทราชกุมารด้วยหอกเช่นเดียวกัน
[๗๔๕] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง
พระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน
[๗๔๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่งแทง
พระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน
[๗๔๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง
พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่มแทง
พระโอรสและพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน
ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์กับพระเจ้าวิเทหะ
ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วในที่ลับ
[๗๔๘] โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ๑
ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้วด้วยมีดของช่างหนัง
ย่อมช่วยป้องกันตนเพื่อห้ามลูกศรฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ หมายถึงโล่หนังหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ (๑ ปละ ประมาณ ๔ ออนซ์)
ซึ่งเขาใช้น้ำด่างจำนวนมากกัดทำให้อ่อน (ขุ.ชา.อ. ๙/๗๔๘/๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๔๙] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้นำสุขมาให้
บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ
จึงจำกัดมติของพระองค์เสีย
ดุจกำจัดลูกศรด้วยโล่หนัก ๔๐๐ ปละ
[๗๕๐] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทอดพระเนตร
พระราชมณเฑียรของพระองค์อันว่างเปล่า
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร และพระมารดาของพระองค์
ข้าพระองค์ให้นำออกทางอุโมงค์
นำไปถวายพระเจ้าวิเทหะแล้ว
(พระเจ้าจูฬนีเมื่อสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งมาเฝ้าแล้วส่งไปเพื่อให้รู้ความจริง จึง
ตรัสว่า)
[๗๕๑] เชิญพวกเจ้าจงไปสู่ราชมณเฑียรของเราแล้วตรวจดู
คำของมโหสธนี้จริงหรือเท็จอย่างไร
(อำมาตย์นั้นไปแล้วกลับมา กราบทูลว่า)
[๗๕๒] ข้าแต่มหาราช มโหสธกราบทูลว่าฉันใด
คำนั้นเป็นจริงฉันนั้น
พระราชมณเฑียรทุกแห่งว่างเปล่า
เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์พรรณนามรรคาที่พระนางนันทาเทวีเสด็จไป จึงทูลว่า)
[๗๕๓] ข้าแต่มหาราช
พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉมงดงามทั่วทั้งสรรพางค์
มีพระโสณีผึ่งผายงามดุจดังแท่งทองคำธรรมชาติ
มีปกติตรัสพระสำเนียงอันอ่อนหวานประดุจดังลูกหงส์
เสด็จไปทางอุโมงค์นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
[๗๕๔] ข้าแต่มหาราช พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉม
งดงามทั่วทั้งสรรพางค์ ทรงพระภูษาโกไสย
มีพระสรีระเหลืองอร่าม มีสายรัดพระองค์งดงามด้วยทองคำ
ข้าพระองค์นำออกไปแล้วจากอุโมงค์นี้
[๗๕๕] พระนางนันทาเทวีมีพระบาทแดงสดใส
ทรงพระโฉมงดงาม มีสายรัดพระองค์เป็นแก้วมณีแกมทองคำ
มีดวงพระเนตรดังนัยน์ตานกพิราบ มีพระสรีระงดงาม
มีพระโอษฐ์แดงดังลูกตำลึงสุกสะโอดสะอง
[๗๕๖] มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดังเถานาคลดาที่เกิดดีแล้ว
และเหมือนกาญจนไพที มีพระเกสายาวดำ
มีปลายช้อนขึ้นเล็กน้อย
[๗๕๗] มีดวงพระเนตรเขื่องดุจดวงตาของลูกเนื้อทรายที่เกิดดีแล้ว
และดุจเปลวเพลิงในฤดูหนาว
เหมือนแม่น้ำใกล้ภูผาอันดารดาษไปด้วยไม้ไผ่ต้นเล็ก ๆ
[๗๕๘] พระนางมีพระเพลางามดังงวงอัยรา
ที่สำคัญมีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับ
มีพระสัณฐานสันทัด ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก
มีพระโขนงพองาม ไม่มากนัก
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ ทราบว่าพระเจ้าจูฬนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึง
กราบทูลต่ออีกว่า)
[๗๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะที่สมบูรณ์ด้วยสิริ
พระองค์คงจะทรงยินดีกับการทิวงคต
ของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่
ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี
ก็จะพากันไปสำนักของพญายมด้วยกันแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีจึงตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๐] มโหสธผู้ได้ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ
ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราทำเล่ห์กลทิพย์หรือทำภาพลวงตา
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๑] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมทำเล่ห์กลอันเป็นทิพย์
ชนผู้มีปัญญามีมันสมองเหล่านั้นย่อมปลดเปลื้องตนได้
[๗๖๒] เหล่าทหารหนุ่มผู้รับใช้เป็นคนฉลาด
เป็นผู้ขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ผู้ได้สร้างหนทาง
ที่พระเจ้าวิเทหะได้เสด็จไปกรุงมิถิลาไว้มีอยู่
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ของพระเจ้าจูฬนี จึงทูลว่า)
[๗๖๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์
ที่สร้างไว้ดีแล้วงดงาม เรืองรองด้วยถ่องแถวแห่งกองพลช้าง
กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ซึ่งเขาทำเป็นรูปปั้นและเป็นลวดลายไว้ที่สำเร็จดีแล้วเถิด
(พระเจ้าจูฬนีทรงเห็นอุโมงค์แล้ว ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖๔] มโหสธ เป็นลาภของชนชาวแคว้นวิเทหะหนอ
(และ)เป็นลาภของผู้ที่มีเหล่าบัณฑิตเช่นนี้
อยู่ในเรือนในแคว้นเหมือนมีเจ้า
(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีตรัสด้วยประสงค์จะให้มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์อยู่ใน
สำนักของตนว่า)
[๗๖๕] เราจะให้เครื่องดำเนินชีวิต ที่บริหาร
เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเป็น ๒ เท่า
ให้โภคะอันไพบูลย์ เจ้าจงใช้สอยและรื่นรมย์ในกามเถิด
เจ้าไม่กลับไปยังแคว้นวิเทหะ พระเจ้าวิเทหะจักทรงทำอะไรได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า)
[๗๖๖] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแคว้นของผู้อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
[๗๖๗] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้
ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาองค์อื่นได้
ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่
(ในเวลาที่มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทูลลา พระเจ้าจูฬนี ตรัสว่า)
[๗๖๘] มโหสธ เราจะให้ทอง ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสีแก่ท่าน
ให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ท่าน
ท่านจงพากองทัพทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด
[๗๖๙] ชนทั้งหลายจงให้อาหารแก่ช้างและม้าทั้งหลาย
อย่างละ ๒ เท่าเพียงใด ก็จงเลี้ยงกองพลรถและกองพลราบ
ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเพียงนั้นเถิด
[๗๗๐] มโหสธบัณฑิต ท่านจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบไปเถิด
พระเจ้าวิเทหมหาราชจงทอดพระเนตร
ท่านผู้ไปถึงกรุงมิถิลาแล้วเถิด
(ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะทรงเห็นกองทัพใหญ่ ตกพระทัยตรัสกับบัณฑิตทั้ง ๔ ว่า)
[๗๗๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ปรากฏมากมายครบทั้ง ๔ กองพลที่น่าสะพรึงกลัว
บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
(ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๗๗๒] ข้าแต่มหาราช ความยินดีอย่างสูงส่งจงปรากฏแก่พระองค์
มโหสธบัณฑิตได้พากองทัพทั้งหมดมาถึงโดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะเสด็จลุกขึ้นสวมกอดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แล้ว ทำปฏิสันถาร
ตรัสว่า)
[๗๗๓] คนทั้ง ๔ ทิ้งร่างคนตายไว้ในป่าช้าแล้วกลับไปฉันใด
เราทั้งหลายก็ทิ้งท่านไว้ในกปิลรัฐแล้วกลับมาที่นี้ฉันนั้น
[๗๗๔] เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าปลดเปลื้องตนได้
เพราะเหตุ เพราะปัจจัย หรือเพราะประโยชน์อะไร
(ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า)
[๗๗๕] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะผู้เป็นกษัตริย์
ข้าพระองค์ล้อมประโยชน์ไว้ด้วยประโยชน์
ล้อมความคิดไว้ด้วยความคิด
ล้อมพระราชาไว้เหมือนน้ำทะเลล้อมชมพูทวีปไว้
(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจูฬนีพระราชทานแก่ตน
ให้ทรงทราบว่า)
[๗๗๖] พระเจ้าพรหมทัตทรงพระราชทานทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสี
ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พากองทัพทั้งหมดมาที่นี้โดยสวัสดีแล้ว
(พระเจ้าวิเทหะทรงยินดี ร่าเริงอย่างยิ่ง ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิต
โพธิสัตว์ว่า)
[๗๗๗] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตปลดเปลื้องพวกเรา
ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๕.มโหสธชาดก (๕๔๒)
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น
และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น
(ฝ่ายเสนกบัณฑิตรับพระราชดำรัสแล้วกราบทูลว่า)
[๗๗๘] ข้าแต่มหาราช ข้อความนี้ก็เป็นอย่างนี้
เพราะพวกบัณฑิตเป็นผู้นำสุขมาให้
มโหสธได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรง
และปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้นไป
(พระเจ้าวิเทหะรับสั่งให้ชาวพระนครเที่ยวตีกลองประกาศว่า)
[๗๗๙] ขอประชาชนทั้งหลายจงดีดพิณทุกชนิด
จงตีกลองน้อย กลองใหญ่ และมโหระทึก
จงเป่าสังข์อันมีเสียงไพเราะของชาวเมืองเถิด
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๐] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์
ต่างก็ได้นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๑] พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๒] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต
[๗๘๓] ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสธบัณฑิตกลับมา
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นมโหสธบัณฑิตมาถึงแล้ว
ต่างก็โบกผ้าอยู่ไปมา
มโหสธชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
๖. ภูริทัตตชาดก๑ (๕๔๓)
ว่าด้วยพระเจ้าภูริทัต
(เหล่านาคมาณพเมื่อจะประกาศข้อความนี้ จึงกราบทูลพระราชาว่า)
[๗๘๔] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ในนิเวศน์ของท้าวธตรัฏฐะ
รัตนะทั้งหมดจงมาสู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์
ขอพระองค์จงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตครั้นได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๘๕] ไม่ว่ากาลไหน ๆ พวกเราไม่เคยทำการวิวาห์กับพวกนาคเลย
พวกเราจะทำการวิวาห์อันไม่สมควรนั้นได้อย่างไร
(เหล่านาคมาณพได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงขู่พระราชาว่า)
[๗๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งมนุษย์
พระองค์จำต้องเสียสละพระชนมชีพ
หรือแคว้นเป็นแน่ เพราะเมื่อนาคโกรธแล้ว
คนเช่นพระองค์จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้นาน
[๗๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์เป็นมนุษย์ไม่มีฤทธิ์
แต่มาดูหมิ่นพญานาคธตรัฏฐะผู้มีฤทธิ์
ซึ่งเป็นลูกในอกของท้าววรุณนาคราชที่เกิดอยู่ใต้แม่น้ำยมุนา
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า)
[๗๘๘] เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรัฏฐะผู้ทรงยศ
เพราะท้าวธตรัฏฐะเป็นใหญ่แม้แห่งนาคเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก อุบาสิกา
ผู้รักษาอุโบสถศีล ตรัสภูริทัตตชาดกนี้ ซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ดังนี้ เป็นต้น
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๘๙] ถึงจะเป็นพญานาคผู้มีอานุภาพมาก
ก็ไม่สมควรกับธิดาของเรา
ส่วนเราเป็นกษัตริย์ของชาวแคว้นวิเทหะ
และนางสมุททชาธิดาของเราก็เป็นอภิชาตบุตร
(ท้าวธตรัฏฐะเมื่อทรงสั่งให้ประชุมบริษัท จึงตรัสว่า)
[๗๙๐] พวกนาคกัมพลอัสสดร๑จงเตรียมตัว
จงไปประกาศให้นาคทั้งปวงรู้กัน
จงพากันไปกรุงพาราณสี แต่อย่าได้เบียดเบียนใคร ๆ
(ท้าวธตรัฏฐะตรัสบอกนาคมาณพเหล่านั้นว่า)
[๗๙๑] นาคทั้งหลายจงแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๒] แม้เราก็จะนิรมิตตัวให้ใหญ่ ขาวล้วน
วงล้อมเมืองใหญ่ด้วยขนดหาง
ทำความกลัวให้เกิดแก่ชาวกาสี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๙๓] นาคทั้งหลายได้ฟังคำของท้าวธตรัฏฐะแล้ว
ต่างก็แปลงเพศเป็นหลายอย่าง
พากันเข้าไปยังกรุงพาราณสี แต่มิได้เบียดเบียนใครเลย
[๗๙๔] นาคเหล่านั้นต่างพากันแผ่พังพานห้อยอยู่ที่นิเวศน์
บึง ถนน ทาง ๔ แพร่ง ยอดไม้ และเสาระเนียด
[๗๙๕] พวกหญิงสาวจำนวนมากได้เห็นนาคเหล่านั้น
แผ่พังพานห้อยอยู่ตามที่ต่าง ๆ
หายใจฟู่ ๆ อยู่ ต่างก็พากันร้องคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ นาคกัมพลอัสสดร หมายถึงพวกนาคที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาสิเนรุและเป็นญาติฝ่ายพระมารดาของท้าวธตรัฏฐะ
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๗๙๐/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๗๙๖] ชาวกรุงพาราณสีต่างก็สะดุ้ง ตกใจ กลัว เดือดร้อน
พากันไปประชุมกอดอกร้องทุกข์ว่า
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานพระราชธิดาแก่พระราชาเถิด
(พราหมณ์เนสาทะไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ถามว่า)
[๗๙๗] ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง มีอกผึ่งผาย
นั่งอยู่ในท่ามกลางป่าอันเต็มไปด้วยดอกไม้
นารี ๑๐ คนทรงเครื่องประดับสร้อยสังวาลทองคำ
นุ่งผ้าสวยงาม ยืนไหว้อยู่เป็นใคร
[๗๙๘] ท่านเป็นใคร มีแขนใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางป่า
เหมือนไฟอันลุกโชนด้วยเปรียง
ท่านคงจะเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่คนใดคนหนึ่ง
เป็นยักษ์หรือเป็นนาคผู้มีอานุภาพมาก
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ตรัสบอกว่าตนเป็นพญานาคว่า)
[๗๙๙] เราเป็นนาคผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใคร ๆ จะล่วงล้ำได้
ถ้าแม้ว่าเราโกรธแล้ว จะพึงขบกัดชนบทที่เจริญ
ให้แหลกลาญไปได้ด้วยเดช
[๘๐๐] เรามีมารดาชื่อสมุททชาและบิดาชื่อธตรัฏฐะ
เราเป็นน้องคนเล็กของสุทัศนะ คนทั้งหลายรู้จักเราว่า ภูริทัต
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกที่อยู่ของตนว่า)
[๘๐๑] ท่านจงมองดูห้วงน้ำลึกน่ากลัวไหลวนอยู่ทุกเมื่อ
นั่นเป็นที่อยู่อันดีเลิศของเรา ลึกหลายร้อยชั่วคน
[๘๐๒] ท่านอย่ากลัวเลย จงเข้าไปยังแม่น้ำยมุนาที่มีน้ำสีเขียว
ไหลมาจากกลางป่า จอแจไปด้วยเสียงนกยูงและนกกระเรียน
เป็นที่อยู่อันเกษมสำราญของพวกผู้มีอาจารวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์พาพราหมณ์กับบุตรทั้ง ๒ ไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง
แล้วกล่าวว่า)
[๘๐๓] พราหมณ์ ท่านพร้อมด้วยบุตร
และภรรยาไปถึงนาคพิภพแล้ว
เราจะบูชาท่านด้วยกามทั้งหลาย
ท่านจักได้ความสุขในนาคพิภพนั้น
(พราหมณ์เนสาทะพรรณนาสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๘๐๔] แผ่นดินมีพื้นราบเรียบรอบด้าน
มีกฤษณาเป็นอันมาก
ดารดาษไปด้วยหมู่แมลงค่อมทอง
มีหญ้าสีเขียวชะอุ่มอุดมสวยงาม
[๘๐๕] แนวป่าไม้อันน่ารื่นรมย์
สระโบกขรณีที่นิรมิตขึ้นด้วยดีน่ารื่นรมย์ใจ
มีดอกปทุมบานสะพรั่งร่วงหล่นลงดารดาษ
[๘๐๖] มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำไว้ดีแล้ว
ทุกต้นล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์
ปราสาทมีเสา ๑,๐๐๐ ต้น ส่องแสงแวววาว
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญา
[๘๐๗] พระองค์เป็นผู้เข้าถึงทิพยวิมานอันกว้างขวาง
เกษมสำราญรื่นรมย์
ประกอบไปด้วยความสุขอย่างเลอเลิศด้วยบุญของตน
[๘๐๘] พระองค์เห็นจะไม่ทรงหวังวิมานของท้าวสหัสสนัยน์
เพราะฤทธิ์อันยิ่งให้ไพบูลย์ของพระองค์นี้
ก็เหมือนของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๐๙] อานุภาพของท้าวสักกะผู้รุ่งเรือง
ใคร ๆ ไม่พึงบรรลุได้แม้ด้วยใจ
ยศของเราทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยว
ของท้าววสวัตดีผู้รับใช้พระอินทร์
(พระโพธิสัตว์ตรัสบอกความปรารถนาของตนว่า)
[๘๑๐] เราปรารถนาวิมานของเหล่าเทวดาผู้ดำรงอยู่ในความสุขนั้น
จึงเข้าไปจำอุโบสถศีล นอนอยู่บนจอมปลวก
(พราหมณ์เมื่อจะลากลับ จึงกล่าวว่า)
[๘๑๑] ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตรเข้าไปป่าแสวงหาเนื้อ
พวกญาติ ๆ ก็ยังไม่ทราบว่า
ข้าพระองค์นั้นตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่
[๘๑๒] ข้าพระองค์ขอทูลลาพระภูริทัตผู้ทรงยศ
ผู้เป็นพระโอรสของพระธิดาแคว้นกาสี
พระองค์ทรงอนุญาตแล้วก็จะได้ไปเยี่ยมญาติ ๆ
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๓] แท้จริง นั่นเป็นความพอใจของเราหนอ
ที่ให้ท่านอยู่ในสำนักของเรา
เพราะว่ากามทั้งหลายเช่นนี้จะหาได้ไม่ง่ายในหมู่มนุษย์
[๘๑๔] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะอยู่ เราจะบูชาท่านด้วยกามารมณ์
เราอนุญาตให้ท่านไปเยี่ยมญาติ ๆ ได้โดยความสวัสดี
(พระโพธิสัตว์ทรงให้แก้วมณีแก่พราหมณ์แล้วตรัสว่า)
[๘๑๕] เมื่อท่านทรงทิพยมณีนี้อยู่
ย่อมจะได้ทั้งปศุสัตว์และลูก ๆ
ขอท่านจงถือเอาทิพยมณีนี้ไปเถิด
จงปราศจากโรคภัย ประสบสุขเถิด พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๘๑๖] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์แก่แล้วจักบวช ไม่ปรารถนากามทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๑๗] หากพรหมจรรย์มีการแตกทำลาย
กิจที่ต้องทำด้วยโภคทรัพย์ทั้งหลายจะเกิดขึ้น
ท่านอย่าได้มีความหวั่นใจ ควรมาหาเรา
เราจะให้ทรัพย์แก่ท่านมาก ๆ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๑๘] ข้าแต่พระภูริทัต พระดำรัสของพระองค์เป็นกุศล
ข้าพระองค์ยินดียิ่งนัก
ข้าพระองค์จักกลับมาอีก ถ้ามีความต้องการ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๑๙] พระภูริทัตได้ฟังคำนี้แล้วจึงใช้ให้ชน ๔ คนไปส่งว่า
ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นมาไปเถิด
จงเตรียมตัวพาพราหมณ์ไปส่งโดยเร็ว
[๘๒๐] ชนทั้ง ๔ ที่พระภูริทัตใช้ให้ไปส่ง
ฟังพระดำรัสของพระภูริทัตแล้ว
ลุกขึ้นพาพราหมณ์ไปส่งจนถึงโดยเร็ว
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวกับพราหมณ์อลัมปายนะว่า)
[๘๒๑] แก้วมณีที่สมมติกันว่าเป็นมงคล เป็นของดี
เป็นเครื่องปลื้มใจ น่ารื่นรมย์ใจ เกิดแต่หิน
สมบูรณ์ด้วยลักษณะที่ท่านถืออยู่นี้ ใครให้มา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๒] แก้วมณีนี้พวกนางนาคมาณวิกาประมาณ ๑,๐๐๐
ล้วนแต่มีนัยน์ตาแดง วงล้อมไว้โดยรอบ
เราเดินทางไปได้แก้วมณีนี้มาในวันนี้
(พราหมณ์เนสาทะประสงค์จะลวงพราหมณ์อลัมปายนะ ประกาศโทษของแก้ว
มณี ประสงค์จะรับเป็นของตน จึงได้กล่าวว่า)
[๘๒๓] แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้ที่หามาได้ด้วยดี
ที่บุคคลบูชานับถือ วางไว้ เก็บไว้เป็นอย่างดีทุกเมื่อ
พึงทำประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จได้
[๘๒๔] เมื่อบุคคลปราศจากการระมัดระวังในการเก็บรักษา
หรือในการวางไว้ เก็บไว้
แก้วมณีที่เกิดแต่หินนี้ที่บุคคลหามาได้แล้วไม่ใส่ใจ
ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ
[๘๒๕] คนผู้ไม่มีกุศลไม่ควรประดับแก้วมณีทิพย์นี้
เราจักให้ทองคำ ๑๐๐ แท่งแก่ท่าน
ท่านจงให้แก้วมณีนี้แก่เราเถิด
(ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๖] แก้วมณีของเรานี้ไม่ควรแลกเปลี่ยนด้วยโคหรือรัตนะ
เพราะแก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะ
ฉะนั้น เราไม่ควรแลกเปลี่ยนเลย
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๗] ถ้าท่านไม่แลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยโคหรือรัตนะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะแลกเปลี่ยนแก้วมณีด้วยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๒๘] ผู้ใดบอกนาคใหญ่ผู้มีเดชยากที่บุคคลจะล่วงเกินได้แก่เรา
เราจะให้แก้วมณีอันเกิดแต่หินนี้
อันเป็นเหมือนรุ่งเรืองด้วยเดชแก่ผู้นั้นไป
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๒๙] ครุฑตัวประเสริฐหรืออะไรหนอ
แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาแสวงหานาค
ประสงค์จะนำไปเป็นภักษาของตน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๓๐] ท่านพราหมณ์ เรามิได้เป็นพญาครุฑ
เราไม่เคยเห็นครุฑ เราเป็นผู้สนใจด้วยงูพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า เป็นหมองู
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๑] ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปะอะไร
ท่านเป็นผู้ได้รับการสนับสนุนในเรื่องอะไร
จึงไม่ยำเกรงนาค
(พราหมณ์อลัมปายนะนั้นเมื่อจะแสดงพลังของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๓๒] ครุฑมาบอกวิชาหมองูอย่างยอดเยี่ยม
แก่ฤๅษีโกสิยโคตรผู้อยู่ป่าประจำ
ประพฤติตบะมาเป็นเวลานาน
[๘๓๓] เราเข้าไปหาฤๅษีตนหนึ่งบรรดาฤๅษี
ผู้บำเพ็ญตนอยู่ในระหว่างภูเขา
ได้บำรุงท่านด้วยความเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๓๔] ในกาลนั้น ท่านบำเพ็ญวัตรและพรหมจรรย์
เป็นผู้มีโชค เมื่อได้สมาคมกับเรา
จึงสอนมนต์ทิพย์ให้แก่เราด้วยความรัก
[๘๓๕] เราได้รับการสนับสนุนในมนต์นั้น จึงไม่กลัวนาค
เราเป็นอาจารย์ของพวกหมอขจัดพิษ
ชนทั้งหลายรู้จักเราว่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์เนสาทะได้ฟังดังนั้น เมื่อปรึกษากับบุตร จึงกล่าวว่า)
[๘๓๖] พ่อโสมทัต พวกเรารับแก้วมณีไว้สิ เจ้าจงเข้าใจ
เราทั้ง ๒ อย่าละสิริที่มาถึงตนด้วยอาชญาตามความชอบใจสิ
(โสมทัตผู้เป็นบุตรของพราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๗] พ่อพราหมณ์ ภูริทัตนาคราชบูชาคุณพ่อผู้ไปถึงที่อยู่ของตน
เพราะเหตุไร คุณพ่อจึงปรารถนาที่จะประทุษร้าย
ต่อมิตรผู้ทำความดีเพราะความหลงอย่างนี้เล่า
[๘๓๘] ถ้าคุณพ่อต้องการทรัพย์ พระภูริทัตก็คงจะให้
คุณพ่อจงไปขอเถิด พระภูริทัตคงจะให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่คุณพ่อ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๓๙] โสมทัต การกินของที่ถึงมือถึงภาชนะ
หรือตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นความประเสริฐ
ประโยชน์ที่เห็นประจักษ์อย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๐] คนผู้ประทุษร้ายมิตรสละความเกื้อกูล
จะต้องหมกไหม้อยู่ในนรกอันร้ายแรง
แผ่นดินย่อมสูบผู้นั้น หรือถึงมีชีวิตอยู่ก็ซูบซีด
[๘๔๑] ถ้าพ่อต้องการทรัพย์ ลูกเข้าใจว่า
พ่อจักต้องประสบเวรที่ตนได้ทำไว้ในไม่ช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๔๒] พราหมณ์ทั้งหลายบูชามหายัญอย่างนี้แล้วย่อมบริสุทธิ์ได้
เราจักบูชามหายัญ ก็จักพ้นจากบาปได้อย่างนี้
(โสมทัตกล่าวว่า)
[๘๔๓] เชิญเถิด บัดนี้ ลูกจะขอแยกทางไป
วันนี้ ลูกจะไม่ขออยู่ร่วมกับพ่อ จะไม่ขอเดินทาง
ร่วมกับพ่อผู้ทำกรรมหยาบช้าอย่างนี้สักก้าวเดียว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๔] โสมทัตผู้เป็นพหูสูตครั้นกล่าวคำนี้กับบิดา
ประกาศกับเทวดาทั้งหลายแล้ว ได้หลีกไปจากที่นั้น
(พราหมณ์เนสาทะพาพราหมณ์อลัมปายนะไป เห็นพญานาคภูริทัตนอนขนด
อยู่บนจอมปลวกจึงชี้มือบอกว่า)
[๘๔๕] ท่านจงจับนาคใหญ่นั้น จงส่งแก้วมณีนี้มาให้แก่เรา
นาคใหญ่นี้มีผิวพรรณดังสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง
[๘๔๖] กายนั้นปรากฏดั่งกองปุยฝ้ายนอนอยู่บนจอมปลวกนั่น
ท่านจงจับเอาเถิด พราหมณ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๔๗] ลำดับนั้น พราหมณ์อลัมปายนะเอาทิพยโอสถลูบทาตัว
และร่ายมนต์ป้องกันตัวอย่างนี้ จึงสามารถจับพญานาคนั้นได้
(ลำดับนั้น นาคสุทัศนะพระโอรสองค์โตของพระนางสมุททชา ทูลถามมารดา
ว่า)
[๘๔๘] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์
ผู้ให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงมาเฝ้าแล้ว
อินทรีย์ของพระแม่เจ้าจึงไม่ผ่องใส
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๔๙] เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์เช่นนี้
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าก็เกรียมดำ
เหมือนดอกบัวที่ถูกขยี้อยู่ในมือ
[๘๕๐] ใครด่าทอท่านหรือ พระแม่เจ้ามีเวทนาอะไรหรือ
เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้มาเฝ้า
พระพักตร์ของพระแม่เจ้าเกรียมดำเพราะเหตุไร
(พระนางสมุททชาตรัสบอกแก่สุทัศนะว่า)
[๘๕๑] ลูกรัก แม่ได้ฝันล่วงมาได้หนึ่งเดือนแล้วว่า
มีชายมาตัดแขนของแม่ดูเหมือนจะเป็นข้างขวา
ถือเอาไปทั้งที่ยังเปื้อนเลือด เมื่อแม่กำลังร้องไห้อยู่
[๘๕๒] ตั้งแต่แม่ได้ฝันเห็นแล้ว พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้เถิดว่า
แม่ไม่ได้ความสุขทั้งกลางวันทั้งกลางคืน
(พระนางสมุททชาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็คร่ำครวญอยู่ว่า)
[๘๕๓] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ที่นางนาคกัญญา
ผู้มีร่างกายสวยงาม คลุมด้วยข่ายทองคำพากันบำเรอ
ยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๔] เมื่อก่อน พระภูริทัตผู้ซึ่งเสนาทั้งหลายถือดาบอันคมกล้า
แวดล้อมดังดอกกรรณิการ์บานสะพรั่งยังไม่ปรากฏตัว
[๘๕๕] เอาละ บัดนี้ เราจักไปที่อยู่ของพระภูริทัต
จะไปเยี่ยมเยือนน้องชายของเจ้า
ผู้ดำรงอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕๖] ภรรยาทั้งหลายของนาคภูริทัต
ครั้นได้เห็นพระมารดาของนาคภูริทัตกำลังเสด็จมา
จึงพากันเข้าประคองแขนคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๕๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า ตลอดหนึ่งเดือนล่วงไปแต่วันนี้
พวกหม่อมฉันยังไม่ทราบว่า
พระภูริทัตผู้ทรงยศพระโอรสของพระแม่เจ้าสิ้นชีพแล้ว
หรือว่ายังดำรงพระชนม์อยู่
[๘๕๘] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๕๙] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัตก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกเขาที่ลูกถูกฆ่าตายเห็นแต่รังที่ว่างเปล่า
[๘๖๐] เมื่อพวกเราไม่เห็นพระภูริทัต
ก็จักหม่นไหม้ไปด้วยทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนนางนกจักรพากบนเปือกตมที่ปราศจากน้ำเป็นแน่
[๘๖๑] เหมือนเบ้าหลอมทองของพวกช่างทอง
ย่อมไหม้อยู่ข้างในหาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด
พวกเราเมื่อไม่เห็นพระภูริทัตก็ย่อมหม่นไหม้ด้วยความโศกฉันนั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๖๒] บุตรและภรรยาในที่อยู่ของพระภูริทัต
ต่างพากันล้มนอนระเกะระกะ
เหมือนต้นรังที่ถูกลมพัดทำให้ย่อยยับไป
[๘๖๓] ครั้นได้ยินเสียงกึกก้องของบุตรและภรรยาเหล่านั้น
ในที่อยู่ของพระภูริทัตแล้ว
นาคอริฏฐะและสุโภคะต่างก็วิ่งวุ่นไปในระหว่างพูดขึ้นว่า
[๘๖๔] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
คือ ย่อมเกิด ย่อมตาย
การตายและการเกิดนี้เป็นความแปรผันของสัตว์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พระนางสมุททชามารดากล่าวว่า)
[๘๖๕] ลูกรัก ถึงแม่จะทราบว่า
สัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
แต่ว่าเมื่อไม่เห็นพระภูริทัต แม่ก็ได้รับความเศร้าโศก
[๘๖๖] พ่อสุทัศนะ เจ้าจงรู้ไว้เถิด
ถ้าคืนวันนี้ เมื่อยังไม่เห็นพระภูริทัต
แม่เข้าใจว่าจักต้องตายแน่
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๖๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า จงเบาพระทัยเถิด อย่าเศร้าโศกเลย
ลูกทั้งหลายจักนำท่านพี่ภูริทัตมา
จักเที่ยวไปตามหาท่านพี่ภูริทัตตามทิศน้อยใหญ่
[๘๖๘] ที่ภูเขา ซอกเขา บ้าน และนิคม
พระแม่เจ้าจะได้ทรงเห็นท่านพี่กลับมาภายใน ๗ วัน
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๖๙] นาคหลุดจากมือเลื้อยไปฟุบลงที่เท้าโดยกะทันหัน
ข้าแต่พ่อ คุณพ่อถูกมันกัดเอากระมังหนอ
คุณพ่ออย่ากลัวเลย จงได้รับความสุขเถิด
(สุทัศนกุมารผู้ปลอมตัวเป็นดาบสตามหานาคภูริทัตพี่ชายกล่าวว่า)
[๘๗๐] นาคตัวนี้ไม่สามารถจะทำความทุกข์อะไรให้เราได้เลย
หมองูเท่าที่มีอยู่ก็ไม่มีคนไหนจะดียิ่งกว่าเรา
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๑] ใครกันหนอ เงอะงะ แปลงเพศเป็นพราหมณ์
มายังสำนักบริษัท อวดอ้างยุทธการที่ดี
ขอบริษัทจงฟังข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๗๒] หมองู ท่านจงต่อสู้กับเราด้วยนาค
เราจักต่อสู้กับท่านด้วยลูกเขียด ในการรบของเรานั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๓] มาณพ เราเท่านั้นเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์
ท่านเป็นคนจน ใครหนอจะเป็นคนค้ำประกันท่าน
และอะไรเป็นเดิมพันของท่านเล่า
[๘๗๔] ส่วนข้าพเจ้ามีทั้งเดิมพัน และมีทั้งคนค้ำประกันเช่นนั้น
ในการขันสู้ของเราทั้ง ๒ นั้น
เราทั้ง ๒ จงพนันกันด้วยทรัพย์เพียง ๕,๐๐๐
(สุทัศนกุมารเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า)
[๘๗๕] มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับคำของอาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงทรงพระเจริญ ขอมหาบพิตรผู้ทรงเกียรติ
จงทรงค้ำประกันทรัพย์ ๕,๐๐๐ ให้อาตมภาพเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๘๗๖] หนี้เป็นของตกค้างมาแต่บิดา หรือท่านก่อมันขึ้นมาเอง
ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไร
ท่านจึงขอทรัพย์ข้าพเจ้ามากมายอย่างนี้
(สุทัศนกุมารกราบทูลว่า)
[๘๗๗] พราหมณ์อลัมปายนะปรารถนาจะต่อสู้กับอาตมภาพด้วยนาค
อาตมภาพจะให้ลูกเขียดกัดพราหมณ์อลัมปายนะ
[๘๗๘] มหาบพิตรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญ
ขอเชิญพระองค์ผู้ทรงคับคั่งไปด้วยหมู่กษัตริย์
เสด็จออกไปทอดพระเนตรนาคในวันนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๗๙] มาณพ เรามิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์เลย
แต่ท่านมัวเมาศิลปะเกินไป จึงไม่ยำเกรงนาค
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๐] ท่านพราหมณ์ แม้อาตมาก็มิได้ดูหมิ่นท่านด้วยวาทศิลป์
แต่ท่านกล้าลวงประชาชนด้วยนาคที่ปราศจากพิษ
[๘๘๑] ประชาชนจะพึงรู้เรื่องนี้เหมือนอาตมภาพรู้จักท่าน
ท่านจักไม่ได้แกลบสักกำมือหนึ่งเลย
ท่านจะได้ทรัพย์แต่ที่ไหนเล่า อลัมปายนะ
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๒] ท่านคนสกปรก ม้วนชฎา รุ่มร่าม
นุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ เหมือนคนเงอะงะเข้ามายังบริษัท
ซึ่งดูหมิ่นนาคผู้มีพิษถึงอย่างนี้ว่าไม่มีพิษ
[๘๘๓] ท่านเข้ามาใกล้แล้วนั่นแหละ จึงจะรู้นาคนั้นได้ว่า
เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง๑ ข้าพเจ้าแน่ใจว่า
นาคตัวนี้จักทำท่านให้เป็นเหมือนกองเถ้าไปทันที
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๔] งูเรือน งูปลา งูเขียวต่างหากมีพิษ
แต่นาคหัวแดงไม่มีพิษเลย
(พราหมณ์อลัมปายนะกล่าวว่า)
[๘๘๕] ข้าพเจ้าได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านจงให้ทานเสียแต่ยังมีชีวิตเถิด ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้

เชิงอรรถ :
๑ เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง หมายถึงเต็มไปด้วยพิษร้ายแรง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๘๘/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๘๖] นาคนี้มีฤทธิ์มาก มีเดชยากที่ใครจะล่วงเกินได้
ข้าพเจ้าจะให้มันฉกท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
(สุทัศนกุมารกล่าวว่า)
[๘๘๗] สหาย แม้เราก็ได้ยินมาจากเหล่าพระอรหันต์
ผู้สำรวม ผู้บำเพ็ญตบะอย่างนี้ว่า
ทายกทั้งหลายให้ทานในโลกนี้แล้วย่อมไปสวรรค์
ท่านนั่นแหละเมื่อยังมีชีวิตอยู่จงให้ทาน
ถ้าท่านมีความประสงค์จะให้
[๘๘๘] ลูกเขียดชื่อว่าอัจจิมุขีนี้เต็มไปด้วยเดชร้ายแรง
เราจะให้ลูกเขียดนั้นกัดท่าน มันจักทำท่านให้เป็นเถ้าไปได้
[๘๘๙] นางเป็นธิดาของท้าวธตรัฏฐะเป็นน้องสาวต่างมารดาของเรา
นางอัจจิมุขีเต็มไปด้วยเดชร้ายแรงจงกัดท่าน
[๘๙๐] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพหยดพิษลงบนแผ่นดิน
ต้นหญ้าลดาวัลย์และรุกขชาติที่เป็นยาทั้งหลาย
ก็จะพึงเฉาแห้งไปโดยไม่ต้องสงสัย
[๘๙๑] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักขว้างพิษขึ้นไปบนอากาศ
ฝนก็จะไม่ตก หิมะก็จะไม่ตกตลอด ๗ ปี
[๘๙๒] พรหมทัตมหาบพิตร
ขอพระองค์ได้โปรดทราบไว้เถิด
หากอาตมภาพจักหยดพิษลงไปในแม่น้ำ
ฝูงสัตว์คือปลาและเต่าที่เกิดในน้ำ
ต่างก็จะพึงล้มตายไปทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๓] เมื่อเรากำลังอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก๑
ซึ่งขังอยู่ที่ท่าน้ำปยาคะ
มีภูตอะไรมาฉุดเราลงสู่แม่น้ำยมุนาอันลึก
(สุโภคกุมารน้องชายนาคภูริทัตกล่าวว่า)
[๘๙๔] พญานาคตัวประเสริฐใดที่เป็นใหญ่ในโลก
เรืองยศ ปกคลุมกรุงพาราณสีไว้โดยรอบ
เราเป็นลูกของพญานาคตัวประเสริฐนั้น
พราหมณ์ นาคทั้งหลายเรียกเราว่า สุโภคะ
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๘๙๕] ถ้าท่านเป็นโอรสของพญานาคผู้ประเสริฐ
เป็นเจ้าแห่งชาวกาสี เป็นใหญ่แห่งเทวดา
พระบิดาของท่านมีศักดามากผู้หนึ่ง
และพระมารดาของท่านก็ไม่มีใครเทียมเท่าได้ในหมู่มนุษย์
ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน
ไม่สมควรฉุดแม้เพียงแต่ทาสของพราหมณ์ให้จมน้ำเลย
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๘๙๖] เจ้าแอบแฝงต้นไม้ ยิงเนื้อละมั่งที่มาเพื่อจะดื่มน้ำ
เจ้าเนื้อมายาตัวนั้นถูกยิงแล้ว
ยังวิ่งไปได้ไกลด้วยกำลังศร
[๘๙๗] เจ้าได้เห็นมันล้มลงในป่าใหญ่
เจ้านั้นจึงหาบเนื้อของมันเข้าไปหาต้นไทรในเวลาเย็น
เป็นต้นไม้มีใบเหลือง ระเกะระกะไปด้วยราก

เชิงอรรถ :
๑ น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของโลก หมายถึงน้ำที่โลกสมมติว่าสามารลอยบาปได้อย่างนี้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๙๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๘๙๘] กึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกแขกเต้าและนกสาลิกา
มีฝูงนกดุเหว่าส่งเสียงร้องระงม น่ารื่นรมย์ใจ
มีหญ้าแพรกเขียวอยู่เป็นประจำ
[๘๙๙] พี่ชายของเรานั้นมีอานุภาพมาก รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ
แวดล้อมไปด้วยนางนาคกัญญาทั้งหลาย
ปรากฏตัวต่อท่านผู้อยู่ที่ต้นไทรนั้น
[๙๐๐] เขาบำเรอเจ้านั้นให้เอิบอิ่มด้วยสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง
เจ้ายังประทุษร้ายต่อเขาผู้มิได้ประทุษร้าย
เวรของเจ้านั้นมาถึงที่นี้แล้ว
[๙๐๑] เจ้าจงรีบยื่นคอออกมา เราจักไม่ให้ชีวิตแก่เจ้า
เมื่อระลึกถึงเวรที่เจ้าก่อไว้ต่อพี่ชายของเรา
เราจักตัดศีรษะของเจ้า
(พราหมณ์เนสาทะกล่าวว่า)
[๙๐๒] พราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
เป็นผู้ประกอบในการอ้อนวอน และเป็นผู้บูชาไฟ
จึงไม่ควรถูกฆ่าด้วยเหตุ ๓ ประการนี้๑
(สุโภคกุมารกล่าวว่า)
[๙๐๓] เมืองของท้าวธตรัฏฐะอยู่ภายใต้แม่น้ำยมุนา
จรดภูเขาหิมพานต์ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำยมุนา
ล้วนไปด้วยทองคำงามรุ่งเรือง
[๙๐๔] พี่น้องร่วมอุทรของเราล้วนแต่เป็นคนขึ้นชื่อลือชา
พี่น้องของเราเหล่านั้นในเมืองนั้นจักว่าอย่างใด
เจ้าก็จักต้องเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ หมายถึงพราหมณ์ไม่สมควรถูกฆ่าคือใคร ๆ จะฆ่าพราหมณ์ไม่ได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ
มีความเป็นผู้ควรถูกฆ่าเป็นต้นเหล่านี้ เพราะผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ย่อมเกิดในนรก (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
(นาคกาณาริฏฐะ กล่าวถ้อยคำที่ผิดว่า)
[๙๐๕] พี่สุโภคะ ยัญและพระเวททั้งหลายในโลก
ที่พวกพราหมณ์ประกอบขึ้น มิใช่ของเล็กน้อย๑
เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ผู้ที่ไม่ควรติเตียน
ชื่อว่าย่อมละเลยทรัพย์เครื่องปลื้มใจและธรรมของสัตบุรุษ
[๙๐๖] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรมและพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณะทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจสร้างขึ้นไว้
[๙๐๗] แม้พวกเทพเจ้าเหล่านี้ คือ ท้าวธาดา วิธาดา
วรุณ กุเวร โสมะ พระยม พระจันทร์ พระวายุ
และพระอาทิตย์ ต่างก็บูชายัญโดยวิธีการต่าง ๆ
และให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พวกพราหมณ์ผู้สาธยาย
[๙๐๘] ท้าวอัชชุนะและภีมเสนผู้มีกำลังมาก
มีแขนตั้งพัน ไม่มีใครเสมอเหมือนในแผ่นดิน
ยกธนูขึ้นได้ถึง ๕๐๐ คัน ก็ได้ทรงบูชาไฟในครั้งนั้น
[๙๐๙] พี่สุโภคะ ผู้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์มาเป็นเวลานาน
ด้วยข้าวและน้ำตามกำลังความสามารถ
มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๐] พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟผู้กินมาก
มีรัศมีไม่ต่ำทรามให้อิ่มหนำด้วยเนยใส
ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดาคือไฟผู้ประเสริฐแล้ว
ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ

เชิงอรรถ :
๑ มิใช่ของเล็กน้อย หมายถึงยัญและเวททั้งหลายในโลกนี้มิใช่ของเล็กน้อย คือ ไม่ต่ำต้อย มีอานุภาพมาก
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๐๕/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๑] พระเจ้าทุทีปะผู้มีอานุภาพมาก
มีพระชนมายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
ทรงละแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา
เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
[๙๑๒] พี่สุโภคะ พระเจ้าสาคระทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด
รับสั่งให้ตั้งเสาเจว็ดอันงามยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ทรงบูชาไฟแล้ว ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๓] พี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรเป็นที่สั่งสมนมส้ม
ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด
ผู้นั้นคือพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟแล้ว
เสด็จไปเกิดในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์
[๙๑๔] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธ์มาก เรืองยศ
เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กำจัดมลทินด้วยวิธีโสมยาคะ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[๙๑๕] เทพผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มียศองค์ใดได้ทรงสร้างโลกนี้
โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาวิชฌะ
แม้เทพองค์นั้นก็ทรงได้บำเรอไฟในกาลนั้น
[๙๑๖] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ว่ากันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญสร้างขึ้นไว้
[๙๑๗] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
ผู้ประกอบการอ้อนวอนมหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๑๘] วัตถุที่ควรบูชาทั้งหลาย คือ พวกพราหมณ์
มีอยู่มากในแผ่นดินของท้าววาสวะ
พราหมณ์เหล่านั้นมีอยู่ทั้งในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศใต้ และทิศเหนือย่อมทำความรู้ให้เกิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวเฉลยว่า)
[๙๑๙] พ่ออริฏฐะ แท้จริง การเรียนรู้พระเวท
เป็นโทษของเหล่านักปราชญ์
แต่เป็นการกระทำของพวกคนพาล
เหมือนอาการของพยับแดด
เพราะเป็นของมองเห็นไม่ได้เสมอไป
มีคุณทางหลอกลวง พาเอาคนผู้มีปัญญาไปไม่ได้
[๙๒๐] เวททั้งหลายมิได้มีเพื่อป้องกันคนผู้ประทุษร้ายมิตร
ผู้ล้างผลาญความเจริญ เหมือนไฟที่บุคคลบำเรอแล้ว
ย่อมป้องกันคนโทสจริตให้ทำกรรมชั่วไม่ได้
[๙๒๑] ถ้าคนทั้งหลายจะนำเอาไม้ที่มีอยู่ในโลกทั้งหมด
พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติของตนผสมกับหญ้าให้ไฟเผา
ไฟที่มีเดชอันไม่มีใครเทียมเผาสิ่งทั้งหมด
แนะพ่อลิ้นสองแฉก ใครเล่าจะพึงทำให้ไฟนั้นอิ่มได้
[๙๒๒] นมสดแปรไปได้เป็นธรรมดา คือ
เป็นนมส้มแล้วก็กลับกลายไปเป็นเนยข้นฉันใด
ไฟก็มีความแปรไปเป็นธรรมดาได้ฉันนั้น
ไฟที่ประกอบด้วยความเพียรในการสีไฟจึงเกิดไฟได้
[๙๒๓] ไม่ปรากฏว่าไฟเข้าไปอยู่ในไม้แห้งและไม้สด
เมื่อคนไม่สีไฟ ไฟก็ไม่เกิด
ไฟย่อมไม่เกิดเพราะไม่มีคนทำให้เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๒๔] ก็ถ้าไฟจะพึงเข้าไปอยู่ภายในไม้แห้งและไม้สด
ป่าทั้งหมดในโลกก็จะพึงแห้งไป
และไม้แห้งก็จะพึงลุกโพลงขึ้นเองได้
[๙๒๕] ถ้าคนเลี้ยงดูไฟที่มีเปลวควันกำลังส่องแสงอยู่
ให้เผา(กิน)ไม้และหญ้า ชื่อว่าได้ทำบุญ
คนเผาถ่าน คนต้มเกลือ พ่อครัว และคนเผาศพ
ก็ชื่อว่าพึงได้ทำบุญด้วย
[๙๒๖] ถ้าหากพราหมณ์เหล่านี้ทำบุญได้เพราะเลี้ยงไฟ
ด้วยการเรียนมนต์ เพราะเลี้ยงไฟให้อิ่มหนำ
คนบางคนในโลกนี้ผู้เอาเชื้อไฟให้ไฟเผาไหม้
จะไม่ชื่อว่าได้ทำบุญอย่างไรเล่า
[๙๒๗] แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะเหตุไร
เพราะไฟเป็นสิ่งที่โลกยำเกรง
พึงกินได้ทั้งของที่มีกลิ่นไม่น่าพอใจ คนเป็นอันมากไม่ชอบ
และของที่พวกมนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ประเสริฐนั้น
[๙๒๘] ความจริง คนบางพวกนับถือไฟเป็นเทวดา
ส่วนพวกมิลักขะนับถือน้ำเป็นเทวดา
คนทั้งหมดนี้กล่าวเท็จ ไฟและน้ำไม่ใช่เทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง
[๙๒๙] ชาวโลกบำเรอไฟที่ไม่มีอินทรีย์ ไม่มีกายที่จะรับรู้สึกได้
ส่องแสงสว่าง เป็นเครื่องทำการงานของประชาชน
เมื่อยังทำบาปกรรมอยู่ จะพึงถึงสุคติได้อย่างไร
[๙๓๐] พวกพราหมณ์ผู้ต้องการเลี้ยงชีวิตของตนในโลกนี้กล่าวว่า
พระพรหมครอบงำได้ทั้งหมด และว่าพระพรหมบำเรอไฟ
เมื่อพระพรหมมีอานุภาพและมีอำนาจทุกสิ่ง
ทำไมจึงไม่สร้างตนเอง แต่กลับมาไหว้ไฟที่ตนสร้างขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๑] คำของพวกพราหมณ์น่าหัวเราะเยาะ๑
ไม่ควรสวด ไม่เป็นความจริง
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำเท็จไว้ก่อน
เพราะเหตุแห่งสักการะ พราหมณ์เหล่านั้น
เมื่อลาภสักการะยังไม่ปรากฏขึ้น ก็ร้อยกรองยัญที่ชื่อว่า
“สันติธรรม” โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์๒ (บูชายัญ)
[๙๓๒] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย (มนต์)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรม และพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณทั้ง ๔ นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจได้สร้างขึ้นไว้
[๙๓๓] ถ้าคำนี้จะพึงเป็นคำจริงเหมือนที่พวกพราหมณ์ได้กล่าวไว้
ผู้ที่มิใช่กษัตริย์ก็ไม่พึงได้ราชสมบัติ
ผู้ที่มิใช่พราหมณ์ก็ไม่พึงศึกษามนต์
คนนอกจากแพศย์ก็ไม่พึงทำเกษตรกรรม
และพวกศูทรก็ไม่พึงพ้นจากการรับใช้ผู้อื่น
[๙๓๔] แต่เพราะคำนี้ไม่จริง เป็นคำเท็จ
ฉะนั้น พวกคนเหล่านี้จึงกล่าวเท็จทั้งนั้นเพราะเห็นแก่ท้อง๓
พวกคนมีปัญญาน้อยย่อมเชื่อถือคำนั้น
พวกบัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นคำนั้นด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ น่าหัวเราะเยาะ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่า คำของพวกพราหมณ์ สมควรต้องหัวเราะเยาะ เพราะอด
ทนต่อความเพ่งพินิจ(ตรวจสอบ)ของบัณฑิตไม่ได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๒ โยงเข้ากับการฆ่าสัตว์ หมายถึงพวกพราหมณ์โยงลาภสักการะซึ่งไม่ปรากฏประมาณเท่านี้เข้ากับหมู่สัตว์
แล้วเชื่อมสันติธรรม กล่าวคือ ลัทธิธรรมของตนอันประกอบด้วยการฆ่าสัตว์แล้วร้อยกรองคัมภีร์ชื่อ
ยัญญสูตรขึ้นไว้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๓๑/๗๑)
๓ เพราะเห็นแก่ท้อง หมายถึงผู้อาศัยท้องเลี้ยงชีวิตหรือเพราะเหตุต้องการจะบรรจุให้เต็มท้อง (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๓๔/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๓๕] เพราะพวกกษัตริย์ย่อมเก็บภาษีอากรจากพวกแพศย์
พวกพราหมณ์ก็ถือศัสตราเที่ยวฆ่าสัตว์
เพราะเหตุไร พระพรหมจึงไม่บันดาล
โลกที่ปั่นป่วนแตกต่างกันเช่นนั้นให้เที่ยงตรงเสียเล่า
[๙๓๖] เพราะถ้าพระพรหมเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงทำโลกทั้งปวงให้มีทุกข์
เพราะเหตุไร จึงไม่บันดาลโลกทั้งปวงให้มีแต่ความสุข
[๙๓๗] เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์
เพราะเหตุไร จึงชักจูงให้โลกทำแต่ความพินาศโดยไม่เป็นธรรม
เช่น มีมายา พูดเท็จ และมัวเมาเล่า
[๙๓๘] อริฏฐะ เพราะถ้าพระพรหมนั้นเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ แต่เป็นเจ้าชีวิตที่ไม่ชอบธรรม
เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ไม่จัดตั้งธรรม กลับจัดตั้งอธรรม
[๙๓๙] ตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน
และแมลงวัน ใครฆ่าแล้วย่อมบริสุทธิ์
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมของอนารยชน
ซึ่งเป็นธรรมที่ผิดของชาวกัมโพชะจำนวนมาก
[๙๔๐] ก็ถ้าคนฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่าก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๙๔๑] พวกเนื้อ ปศุสัตว์ และโคแต่ละพวก
ไม่ได้อ้อนวอนเพื่อให้ฆ่าตนเองเลย
ล้วนแต่ดิ้นรนต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
คนทั้งหลายย่อมนำสัตว์และปศุสัตว์เข้าผูกไว้ที่เสายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๒] พวกคนพาลยื่นหน้าพูดนำไปที่เสาบูชายัญซึ่งเป็นที่ผูกสัตว์
ด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรว่า เสายัญนี้จักให้
สิ่งที่น่าใคร่แก่เจ้าในโลกอื่นในสัมปรายภพแน่นอน
[๙๔๓] ถ้าบุคคลจะพึงได้แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก
ทรัพย์ เงิน ทอง ที่เสายัญทั้งที่ไม้แห้งและไม้สด
ถ้าเสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างในไตรทิพย์ได้
หมู่พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพทเท่านั้นจึงควรบูชายัญ
ผู้ไม่ใช่พราหมณ์ก็ไม่ควรให้พราหมณ์บูชายัญให้เลย
[๙๔๔] แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง
จักมีที่เสายัญ ที่ไม้แห้ง และไม้สดที่ไหน
เสายัญจะพึงให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงในไตรทิพย์ที่ไหนเล่า
๙๔๕] พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้โอ้อวด หยาบช้า
โง่เขลา โลภจัด ยื่นปากพูดนำไป
ด้วยการพรรณนาอย่างหยดย้อยต่าง ๆ ว่า
จงรับเอาไฟไป จงให้ทรัพย์แก่เรา
แต่นั้น ท่านจักมีความสุขในสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
[๙๔๖] พวกพราหมณ์พาคนเข้าไปโรงบูชาไฟแล้ว
ต่างก็ยื่นหน้าพูดนำไปด้วยการพรรณนาอย่างวิจิตรต่าง ๆ
ให้เขาโกนผม โกนหนวด และตัดเล็บ
ยังทรัพย์ของเขาให้สิ้นไปด้วยเวททั้งหลาย
[๙๔๗] พวกพราหมณ์ผู้หลอกลวง แอบหลอกลวงได้คนหนึ่ง
ก็มาประชุมกินกันเป็นอันมาก เหมือนฝูงกาตอมนกเค้า
หลอกเอาจนเกลี้ยงแล้วเก็บไว้ที่บริเวณบูชายัญ
[๙๔๘] พวกพราหมณ์ลวงผู้นั้นได้คนหนึ่งอย่างนี้แล้ว
ก็พากันมาเป็นอันมาก ใช้ความพยายามแล้วพยายามอีก
ล่อหลอกพรรณนาสิ่งที่มองไม่เห็น ปล้นเอาทรัพย์ที่มองเห็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๔๙] เหมือนพวกราชบุรุษที่พระราชาสอนสั่งให้เก็บส่วย
ถือเอาทรัพย์ของพระราชาไป
อริฏฐะ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเหมือนโจร มิใช่สัตบุรุษ
เป็นผู้ควรจะฆ่าเสีย แต่ไม่มีใครฆ่าในโลก
[๙๕๐] พวกพราหมณ์กล่าวว่า
ไม้ทองหลางเป็นแขนขวาของพระอินทร์
จึงตัดเอาไม้ทองหลางมาใช้ในยัญนี้
หากคำนั้นเป็นจริง พระอินทร์ก็แขนขาด
เพราะเหตุไร พระอินทร์ชนะพวกอสูรด้วยกำลังแขนนั้นได้
[๙๕๑] หากคำนั้นแหละเป็นเท็จ
พระอินทร์ก็ยังมีอวัยวะสมบูรณ์
เป็นเทวดาชั้นดีเยี่ยม ไม่มีใครฆ่า แต่กำจัดพวกอสูรได้
มนต์ของพราหมณ์เหล่านี้เปล่าประโยชน์
นี้เป็นการลวงกันที่เห็นอยู่ในโลกนี้
[๙๕๒] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้ และภูเขาใหญ่อื่น ๆ กล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้
[๙๕๓] ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญเอาอิฐเช่นใดมาสร้างภูเขา
อิฐเช่นนั้นมิใช่ภูเขา ภูเขาเป็นอย่างหนึ่ง
ไม่หวั่นไหว เห็นได้ชัดว่าเป็นหิน
[๙๕๔] ภูเขามิใช่อิฐแต่เป็นหินมานานแล้ว
เหล็กและโลหะย่อมไม่เกิดในอิฐนั้น
แต่เขาจะพรรณนาถึงยัญนี้ จึงกล่าวว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญได้สร้างไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๕๕] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
“ผู้ประกอบในการอ้อนวอน”
มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้
[๙๕๖] แม่น้ำพัดพาเอาพราหมณ์ผู้จบพระเวท
ทรงมนต์เกินกว่าพันคนไป น้ำมีรสไม่เสียมิใช่หรือ
เพราะเหตุไร มหาสมุทรที่กว้างใหญ่จึงดื่มไม่ได้
[๙๕๗] บ่อน้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกมนุษย์นี้
ที่พวกขุดบ่อขุดไว้ เกิดเป็นน้ำเค็มได้
แต่มิใช่เค็มเพราะท่วมพราหมณ์ตาย
น้ำในบ่อเหล่านั้นดื่มไม่ได้ นะพ่อลิ้นสองแฉก
[๙๕๘] เมื่อก่อนครั้งต้นกัป ใครเป็นภรรยาของใคร
ใจให้มนุษย์เกิดก่อน๑ แม้โดยธรรมดานั้น
ไม่มีใครเลวกว่าใครมาแต่กำเนิด
ท่านกล่าวจำแนกส่วนของสัตว์ไว้แม้อย่างนี้
[๙๕๙] แม้บุตรของคนจัณฑาลก็เรียนพระเวท
สวดมนต์ได้ เป็นคนฉลาด มีความคิด
ศีรษะของเขาจะไม่พึงแตก ๗ เสี่ยง
มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นไว้ฆ่าตน

เชิงอรรถ :
๑ ใครเป็นภรรยาของใคร หมายความว่า ใครจะชื่อว่าเป็นภรรยาของใคร เพราะในเวลานั้นยังไม่มีเพศชาย
เพศหญิง ภายหลังเกิดชื่อว่ามารดาบิดา เพราะอำนาจเมถุนธรรม ใจให้มนุษย์เกิดก่อน หมายความ
ว่า แท้จริง เวลานั้นใจเท่านั้นทำให้เกิดเป็นมนุษย์ คือ สัตว์ทั้งหลายบังเกิดขึ้นด้วยใจเท่านั้น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๙๕๘/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๐] มนต์เหล่านี้พวกพราหมณ์แต่งขึ้นด้วยวาจา
แต่งขึ้น (และ) ยึดถือไว้ด้วยความโลภ
เข้าถึงท่วงทำนองของพวกพราหมณ์นักแต่งกาพย์
ยากที่จะปลดเปลื้องได้
จิตของพวกคนโง่ตั้งอยู่ด้วยอาการที่ไม่สม่ำเสมอ
คนไม่มีปัญญาจึงหลงเชื่อคำนั้น
[๙๖๑] พราหมณ์หามีกำลังเยี่ยงลูกผู้ชาย
ดุจกำลังของราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลืองไม่
ความเป็นมนุษย์ของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเห็นเหมือนของโค๑
แต่ชาติพราหมณ์เหล่านั้นมีลักษณะไม่เสมอ
[๙๖๒] ก็ถ้าพระราชาปกครองแผ่นดิน พร้อมทั้งอำมาตย์คู่ชีพ
และราชบริษัทผู้รับพระราชโองการ
ทรงชำนะหมู่ศัตรูลำพังพระองค์เอง
ประชาราษฎร์ของพระองค์นั้นก็จะพึงมีสุขอยู่เป็นนิตย์
[๙๖๓] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
ถ้าไม่วินิจฉัยความแห่งมนต์และไตรเพทนั้น ก็ไม่รู้ได้
เหมือนทางที่ถูกน้ำท่วม
[๙๖๔] มนต์ของกษัตริย์และไตรเพทเหล่านี้มีความหมายเท่ากัน
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
ทั้งหมดทีเดียวเป็นธรรมดาของวรรณะ ๔ นั้น
[๙๖๕] พวกคหบดีใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดิน
เพราะเหตุแห่งทรัพย์และข้าวเปลือกฉันใด
แม้หมู่พราหมณ์ผู้ทรงไตรเพทก็ฉันนั้น
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำงานบนแผ่นดินในวันนี้

เชิงอรรถ :
๑ พึงเห็นเหมือนของโค อธิบายว่า ชาติพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละเหมือนกับของโค เพราะมีปัญญาทราม
แต่มีลักษณะไม่เสมอ เพราะมีรูปร่างสัณฐานต่างกับโค (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๖๑/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๖๖] พราหมณ์เหล่านี้ก็เหมือนกับพวกคหบดี
ต่างมีความขวนขวายประกอบในกามคุณเป็นนิตย์
ย่อมใช้คนเป็นจำนวนมากให้ทำการงานบนแผ่นดิน
แนะพ่อลิ้นสองแฉก เพราะฉะนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงไร้ปัญญา
(พระเจ้าสาครพรหมทัตทูลถามพระบิดาผู้เป็นดาบสว่า)
[๙๖๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ทรงร่าเริง
[๙๖๘] ใครมีหน้าสีสุกใสด้วยกรอบอุณหิสทอง
ที่ติดอยู่ชายหน้าผากอันหนา มีประกายดังสายฟ้า
ใครยังหนุ่มแน่นสวมสอดแล่งธนู รุ่งเรืองด้วยสิริเดินมา
[๙๖๙] ใครมีพักตร์เปล่งปลั่งดังทอง
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่ลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้า
รุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๐] ใครมีฉัตรทองชมพูนุทพร้อมทั้งซี่ที่น่าพึงใจ
สำหรับใช้กันแสงดวงอาทิตย์ ใครรุ่งเรืองไปด้วยสิริมาอยู่
[๙๗๑] ใครมีปัญญาประเสริฐ มีพัดวาลวีชนีอย่างดีเยี่ยม
ที่บุคคลประคองไว้บนเศียรทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๒] ใครถือกำหางนกยูงอันวิจิตรอ่อนสลวย
มีด้ามล้วนแล้วด้วยทองและแก้วมณี
เที่ยวไปมาผ่านหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๓] ใครมีตุ้มหูอันกลมเกลี้ยงเหล่านี้
ซึ่งมีประกายดังสีถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ซึ่งลุกโชนอยู่ที่ปากเบ้างดงามข้างหน้าทั้ง ๒ ข้าง
[๙๗๔] ใครมีปลายผมอ่อนสลวยดำสนิทเห็นปานนี้
ถูกลมพัดสบัดพลิ้วอยู่เหมือนสายฟ้าพุ่งขึ้นจากท้องฟ้า
ทำให้ชายหน้าผากงดงามอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๖.ภูริทัตตชาดก (๕๔๓)
[๙๗๕] ใครมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างกว้างและใหญ่
มีเนตรกว้างงดงาม มีพักตร์ผ่องใสดุจคันฉ่องทอง
[๙๗๖] ใครมีฟันเหล่านี้เกิดที่ปาก
งามหมดจดดุจสังข์อันขาวผ่อง
เมื่อพูด ย่อมงามดังดอกมณฑาลกตูม
[๙๗๗] ใครมีมือและเท้าทั้ง ๒ ข้าง
มีสีเหมือนน้ำครั่ง รักษาได้ง่าย
มีริมฝีปากแดงดังผลตำลึงสุก
เปล่งปลั่งดังดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน
[๙๗๘] เขาเป็นใครห่มผ้าปาวารขนสัตว์ขาวสะอาด
ดังต้นสาละใหญ่มีดอกบานสะพรั่งข้างหิมวันตบรรพต
ในฤดูหิมะตก งามดังดวงจันทร์ได้ชัยชนะ
[๙๗๙] เขาเป็นใครนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัท
สะพายดาบอันวิจิตรด้วยด้ามแก้วมณี
ล้อมสะพรั่งไปด้วยลายทอง
[๙๘๐] เขาเป็นใครสวมรองเท้าที่ขลิบด้วยทองงดงาม
เย็บวิจิตรสำเร็จเรียบร้อยดี
ข้าพเจ้านมัสการแด่พระมเหสี
(พระดาบสกล่าวว่า)
[๙๘๑] นาคที่มาเหล่านั้นเป็นนาคที่มีฤทธิ์
มียศ เป็นลูกของท้าวธตรัฏฐะ
เกิดจากนางสมุททชา
นาคเหล่านี้ต่างก็มีฤทธิ์มาก
ภูริทัตตชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
๗. จันทกุมารชาดก๑ (๕๔๔)
ว่าด้วยจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี
[๙๘๒] พระเจ้าเอกราช ผู้มีกรรมหยาบช้า
ประทับอยู่ในกรุงบุปผวดี
ท้าวเธอตรัสถามขัณฑหาลปุโรหิต
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ผู้เป็นคนหลงว่า
[๙๘๓] ท่านพราหมณ์ ท่านฉลาดในสุจริตธรรมและอาจารวินัย
ขอจงบอกทางสวรรค์แก่เรา
อย่างที่นรชนทำบุญแล้ว จากโลกนี้จะไปสู่สุคติภพเถิด
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๔] ข้าแต่สมมติเทพ เหล่านรชนให้ทานยิ่งกว่าทาน
ฆ่าคนที่ไม่น่าจะฆ่า ทำบุญแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ได้อย่างนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๕] ก็ทานที่ยิ่งกว่าทานนั้นคืออะไร
และคนจำพวกไหนเป็นผู้ไม่น่าจะฆ่าในโลกนี้
ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๙๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ ควรบูชายัญด้วยพระราชโอรส
พระราชธิดา พระมเหสี ชาวนิคม โคอุสภราช
และม้าอาชาไนย อย่างละ ๔
ควรบูชายัญด้วยของครบอย่างละ ๔ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภพระเทวทัตตรัสจันทกุมารชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า มี
พระราชาผู้ทรงทำกรรมหยาบช้า ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๘๗] ในพระราชวังมีเสียงระเบ็งเซ็งแซ่เป็นอันเดียวกัน
เพราะได้ยินคำว่า พระกุมาร พระกุมารี
และพระมเหสีจะถูกประหาร
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๘๘] ขอพวกท่านจงไปทูลพระกุมารทั้งหลาย
คือ จันทกุมาร สุริยกุมาร ภัททเสนกุมาร
สูรกุมาร และวามโคตตกุมารเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๘๙] ขอพวกเจ้าจงไปทูลพระกุมารีทั้งหลาย
คือ อุปเสนากุมารี โกกิลากุมารี
มุทิตากุมารี และนันทากุมารีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๐] อนึ่ง พวกเจ้าจงไปทูลพระนางวิชยา
พระนางเอราวดี พระนางเกศินี
และพระนางสุนันทาผู้เป็นมเหสีของเรา
ผู้ซึ่งประกอบด้วยลักษณะอันประเสริฐเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”
[๙๙๑] พวกท่านจงไปบอกพวกคหบดี
คือ ปุณณมุขคหบดี ภัททิยคหบดี
สิงคาลคหบดี และวัฑฒคหบดีเถิดว่า
“ได้ยินว่า พวกท่านจงรวมกันเป็นหมู่อยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๒] คหบดีเหล่านั้นมีบุตรและภรรยามาก
ต่างก็มาพร้อมกัน ณ ที่นั้น
ได้กราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงไว้จุก๑แก่ข้าพระองค์ทั้งหมดเถิด
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทรงประกาศพวกข้าพระองค์เป็นข้าทาสเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๙๙๓] พวกท่านจงรีบนำช้างทั้งหลายของเรามา
คือ ช้างอภยังกร ช้างนาฬาคีรี
ช้างอัจจุคคตะ ช้างวรุณทันตะ
ช้างเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๔] พวกท่านจงรีบไปนำม้าอัสดรของเรามา
คือ ม้าเกศี ม้าสุรามุขะ ม้าปุณณกะ ม้าวินตกะ
ม้าเหล่านั้นจักเป็นประโยชน์แก่การบูชายัญ
[๙๙๕] ขอพวกท่านจงรีบไปนำเอาโคอุสภะของเรามา
คือ โคยูถปติ โคอโนชะ โคนิสภะ และโคควัมปติ
จงต้อนโคเหล่านั้นทั้งหมดเข้าเป็นหมู่
เราจักบูชายัญ จักให้ทาน
[๙๙๖] พวกท่านจงตระเตรียมยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกท่านจงบังคับเหล่ากุมารมาว่า
จงรื่นรมย์ตลอดราตรีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ไว้จุก หมายถึงทำให้เป็นผู้รับใช้ ทำให้เป็นทาส (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๙๙๒/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๙๙๗] พวกท่านจงตั้งยัญทุกอย่างไว้
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น เราจักบูชายัญ
พวกเจ้าจงไปทูลพระกุมาร ณ บัดนี้
วันนี้แหละเป็นคืนสุดท้าย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๙๘] พระมารดาเสด็จมาจากพระตำหนัก
ทรงกันแสงพลางตรัสถามพระเจ้าเอกราชนี้นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยพระโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๙๙๙] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชมารดาตรัสว่า)
[๑๐๐๐] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก ไม่ใช่ทางไปสวรรค์”
[๑๐๐๑] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๒] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๐๓] แม้แต่พระเจ้าวสวัตดีพระราชบิดา
ได้ตรัสถามพระราชโอรสของพระองค์นั้นว่า
“ลูกรัก ได้ยินว่า พ่อจักบูชายัญด้วยโอรสทั้ง ๔ หรือ”
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๔] เมื่อจะต้องฆ่าจันทกุมาร บุตรแม้ทุกคนหม่อมฉันก็สละได้
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๕] ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเชื่อคำนั้นที่ว่า
“สุคติจะมีได้เพราะใช้บุตรบูชายัญ
เพราะว่า นั้นเป็นทางไปนรก มิใช่ทางไปสู่สวรรค์
[๑๐๐๖] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง นี้เป็นทางไปสู่สุคติ
และทางไปสู่สุคติมิใช่เพราะใช้บุตรบูชายัญ
(พระราชากราบทูลว่า)
[๑๐๐๗] คำของอาจารย์ทั้งหลายมีว่า
“หม่อมฉันจักฆ่าทั้งจันทกุมารและสุริยกุมาร
หม่อมฉันบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายที่สละได้ยากแล้ว
จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์”
(พระราชบิดาตรัสว่า)
[๑๐๐๘] ลูกโกณฑัญญะเอ๋ย พ่อจงให้ทาน
อย่าได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
พ่อจงเป็นผู้มีบุตรห้อมล้อม
รักษารัฐและชนบทเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๐๙] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นข้าทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๑๐] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๑๑] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๑๒] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิต
ตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๑๓] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๑๔] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๑๕] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๑๖] ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเหตุไร
เมื่อก่อนพระองค์จึงรับสั่งให้พวกพราหมณ์
กล่าวคำสวัสดีแก่พวกหม่อนฉัน
มาภายหลัง พระองค์จะรับสั่งฆ่าพวกหม่อมฉัน
เพื่อต้องการจะบูชายัญโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๑๗] ข้าแต่พระบิดา เมื่อก่อน
เวลาที่พวกหม่อมฉันยังเป็นเด็กหนุ่ม
พระองค์มิได้ทรงฆ่าเองและมิได้ทรงรับสั่งให้ผู้อื่นฆ่า
บัดนี้ พวกหม่อมฉันถึงความเจริญวัยเป็นหนุ่มแน่นแล้ว
มิได้คิดประทุษร้ายต่อพระองค์เลย
เพราะเหตุไร จึงจะถูกฆ่า
[๑๐๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร
ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ขึ้นขี่ช้างและม้า
ผูกสอดเครื่องรบได้ออกรบแล้วหรือกำลังสู้รบ
บุตรทั้งหลายผู้กล้าหาญดังเช่นพวกข้าพระองค์
ย่อมไม่ควรที่จะต้องถูกฆ่าเพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๑๙] เมื่อเมืองชายแดน หรือเมื่อพวกโจรในดงกำเริบ
ชนทั้งหลายย่อมใช้คนเช่นข้าพระองค์
ข้าแต่พระบิดา แต่พวกข้าพระองค์จะถูกฆ่า
ในสถานที่ที่ไม่สมควรโดยหาเหตุมิได้
[๑๐๒๐] ข้าแต่สมมติเทพ แม่นกที่เกื้อกูลเหล่าใดพากันทำรังอยู่
ลูกนกทั้งหลายเป็นที่รักของแม่นกเหล่านั้น
ส่วนพระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เพราะเหตุไร
[๑๐๒๑] ข้าแต่สมมติเทพ อย่าได้ทรงเชื่อขัณฑหาลปุโรหิต
ขัณฑหาลปุโรหิตไม่พึงฆ่าข้าพระองค์
เพราะเขาฆ่าข้าพระองค์ได้แล้ว
ก็จะพึงฆ่าพระองค์ในอันดับต่อไป
[๑๐๒๒] ข้าแต่มหาราช พระราชาทั้งหลาย
ย่อมพระราชทานบ้านอย่างดี
นิคมอย่างดี แม้แต่โภคทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น
อนึ่ง พวกพราหมณ์นั้นแม้ได้ข้าวและน้ำอันเลิศในตระกูล
ย่อมบริโภคในตระกูล
[๑๐๒๓] ข้าแต่มหาราช พวกพราหมณ์ย่อมปรารถนา
เพื่อประทุษร้ายต่อผู้ให้ข้าวน้ำเช่นนั้นแม้เหล่านั้น
เพราะโดยมากพวกพราหมณ์แม้เหล่านี้
เป็นคนอกตัญญู พระเจ้าข้า
[๑๐๒๔] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๒๕] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๒๖] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๐๒๗] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์ให้เป็นทาส
ของขัณฑหาลปุโรหิตตามที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๒๘] พวกเจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่เพราะรักชีวิต ได้ก่อทุกข์แก่เราแท้
จงปล่อยพวกพระกุมารทั้งหลายไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๒๙] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๐] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๓๑] ข้าแต่พระราชา ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
พราหมณ์จงบูชาก่อนเถิด
ขอพระองค์ทรงบูชายัญตามในภายหลัง
[๑๐๓๒] ถ้าชนทั้งหลายบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลาย
จุติจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่เทวโลกดังได้ยินมา
ขอขัณฑหาลพราหมณ์ผู้นี้แหละ
จงบูชายัญด้วยบุตรทั้งหลายของตนเถิด
[๑๐๓๓] ถ้าว่าขัณฑหาลพราหมณ์รู้อยู่อย่างนี้
ทำไมจึงไม่ฆ่าบุตรของตน
ไม่ฆ่าคนที่เป็นญาติทุกคนและตนเองเล่า
[๑๐๓๔] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชายัญอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่นรกทุกคน
[๑๐๓๕] ก็ถ้าว่าคนผู้ฆ่าผู้อื่นจะบริสุทธิ์ได้
แม้คนผู้ถูกฆ่านั้นก็เข้าถึงแดนสวรรค์ได้
พวกพราหมณ์ก็ควรฆ่าพวกพราหมณ์
และพวกคนที่เชื่อพราหมณ์เหล่านั้นด้วย
[๑๐๓๖] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๓๗] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”
[๑๐๓๘] เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่พระราชา
และเป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนบททั้งมวล
ใคร ๆ ก็ไม่พึงมีความแค้นเคืองกับเรา
ชาวชนบททั้งหลายไม่ช่วยกราบทูลให้พระองค์ได้ทรงทราบเลย
[๑๐๓๙] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์”
[๑๐๔๐] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่หวังของชาวโลกทั้งมวล”
[๑๐๔๑] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลช่างรถ
ตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า
พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าเราในการบูชายัญวันนี้
(จันทกุมารตรัสกับพระชายาทั้งหลายว่า)
[๑๐๔๒] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“เรามิได้เห็นความผิดเลย”
[๑๐๔๓] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๔๔] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณย์ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย
ที่เขานำมาเพื่อบูชายัญ จึงทรงคร่ำครวญว่า
ได้ยินว่า พระบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์
รับสั่งให้ตั้งพิธีบูชายัญขึ้น
[๑๐๔๕] พระวสุลราชนัดดากลิ้งเกลือกไปมาต่อพระพักตร์
ของพระราชากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่ถึงความเป็นหนุ่ม
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔๖] วสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ
เจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ได้ก่อทุกข์ให้แก่เราแท้
จงปล่อยพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๐๔๗] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
“การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[๑๐๔๘] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
[๑๐๔๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช ข้าพระองค์ได้ตระเตรียม
จัดแจงยัญด้วยแก้วสารพัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว
เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วจักเสด็จไปสู่สวรรค์
บันเทิงพระหฤทัย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๐] หญิงสาว ๗๐๐ คนนี้เป็นภรรยาของจันทกุมาร
ต่างสยายผมร้องไห้เดินไปตามทาง
[๑๐๕๑] ส่วนหญิงอีกพวกหนึ่งก็ออกไปด้วยความเศร้าโศก
เหมือนเหล่าเทวดาในอุทยานนันทวัน
ต่างสยายผมร้องไห้ไปตามทาง
(หญิง ๗๐๐ พร่ำเพ้อว่า)
[๑๐๕๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๐๕๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป
ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระมารดา
[๑๐๕๔] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๕] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๕๖] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าโศกพระหฤทัยให้แก่พระราชชนนี
[๑๐๕๗] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำไป ทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๐๕๘] เมื่อก่อน พลช้างตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นคอช้างตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๕๙] เมื่อก่อน พลม้าตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จทรงขึ้นหลังม้าตัวประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๐] เมื่อก่อน พลรถตามเสด็จจันทกุมารและสุริยกุมาร
ผู้เสด็จขึ้นทรงรถคันประเสริฐ
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท
[๑๐๖๑] เมื่อก่อน จันทกุมารและสุริยกุมาร
ที่ราชบุรุษเชิญเสด็จออกด้วยม้าทั้งหลายที่ตกแต่งเครื่องทอง
วันนี้ จันทกุมารและสุริยกุมารทั้ง ๒ พระองค์
เสด็จดำเนินด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(มหาชนเพ้อว่า)
[๑๐๖๒] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระโอรส ๔ พระองค์
[๑๐๖๓] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้นพระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระธิดา ๔ พระองค์
[๑๐๖๔] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยพระมเหสี ๔ พระองค์
[๑๐๖๕] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
ก็จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยคหบดี ๔ คน
[๑๐๖๖] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยช้าง ๔ เชือก
[๑๐๖๗] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะทรงบูชายัญด้วยม้า ๔ ตัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๖๘] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยโคอุสภราช ๔ ตัว
[๑๐๖๙] นกเอ๋ย ถ้าเจ้าปรารถนาเนื้อ
จงบินไปทางทิศตะวันออกแห่งบุปผวดีนครเถิด
ณ ที่นั้น พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จะบูชายัญด้วยสัตว์ทุกจำพวกอย่างละ ๔
[๑๐๗๐] นี่ปราสาทของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๑] นี่เรือนยอดของท่านล้วนด้วยทองคำ
ห้อยระย้าด้วยพวงมาลัยดอกไม้
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๒] นี่พระอุทยานของท่าน
มีดอกไม้บานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๓] นี่ป่าอโศกของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๔] นี่ป่ากรรณิการ์ของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๕] นี่ป่าแคฝอยของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๗๖] นี่สวนมะม่วงของท่าน
มีดอกบานสะพรั่งทุกเวลา น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๗] นี่สระโบกขรณีของท่านที่ดารดาษไปด้วย
ดอกบัวหลวง ดอกบัวขาว และเรือที่ขจิตด้วยทองคำ
งดงามด้วยลวดลายเครือวัลย์ สุดแสนที่น่ารื่นรมย์ใจ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๘] นี่ช้างแก้วของท่าน เป็นช้างงามีกำลังชื่อเอราวัณ
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๗๙] นี่ม้าแก้วของท่าน เป็นม้าเร็วมีกีบไม่แตก
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๐] นี่รถม้าของท่าน เวลาแล่นไปมีเสียงดังก้องไพเราะ
เหมือนเสียงนกสาลิกา สวยงามตระการตาด้วยแก้ว
ซึ่งเป็นที่ที่พระลูกเจ้าประทับเสด็จไป
งดงามเหมือนพวกเทวดาในพระอุทยานนันทวัน
บัดนี้ พระลูกเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ถูกเขานำไปเพื่อปลงพระชนม์
[๑๐๘๑] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๒] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๐๘๓] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยพระมเหสีทั้ง ๔ พระองค์
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง มีพระวรกายอันอ่อน
ชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๔] ทำไมหนอ พระเจ้าเอกราชผู้ทรงหลงงมงาย
จักทรงบูชายัญด้วยคหบดีทั้ง ๔ คน
ผู้งดงามทัดเทียมกับทอง
มีร่างกายชโลมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๐๘๕] คามนิคมทั้งหลายจะว่างเปล่า ไม่มีคนอยู่
กลายเป็นป่าใหญ่ไปฉันใด บุปผวดีนครก็จักเป็นฉันนั้น
ในเมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารถูกบูชายัญ
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๐๘๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าจันทกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
[๑๐๘๗] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันจักกลายเป็นคนวิกลจริต
ถูกขจัดความเจริญ มีร่างกายเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นธุลี
ถ้าเขาฆ่าสุริยกุมาร ชีวิตของหม่อมฉันจะแตกสลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๘๘] เพราะเหตุไร สะใภ้ของเราเหล่านี้ คือ นางฆัฏฏิกา
นางอุปริกขี นางโบกขรณี และนางภาริกา
ต่างก็กล่าวปิยวาจากะกันและกัน
ฟ้อนรำอยู่ในสำนักของพระจันทกุมารและพระสุริยกุมาร
จึงไม่ทำให้ลูก ๆ ของเรารื่นรมย์ได้
หญิงอื่นที่จะเสมอเหมือนกับสะใภ้ ๔ คนนั้นไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระเทวีคร่ำครวญกับลูกสะใภ้ สาปแช่งขัณฑหาลปุโรหิตว่า)
[๑๐๘๙] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าจงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๐] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
แม่ของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๑] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อจันทกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๒] เจ้าขัณฑหาละ ความโศกเศร้าเสียใจใด
ย่อมเกิดมีแก่เราในเมื่อสุริยกุมารถูกเขานำไปฆ่า
ภรรยาของเจ้าก็จงประสบความโศกเศร้าเสียใจของเรานี้
[๑๐๙๓] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๔] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
แม่ของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๕] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย
[๑๐๙๖] เจ้าขัณฑหาละ เจ้าได้ให้ฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวล
ภรรยาของเจ้าก็อย่าได้เห็นลูก ๆ และสามีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(จันทกุมารกราบทูลว่า)
[๑๐๙๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะเลี้ยงช้างและม้าให้เขาได้
[๑๐๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลช้างให้เขาได้
[๑๐๙๙] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตเถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกจองจำด้วยโซ่ใหญ่
ก็จะขนมูลม้าให้เขาได้
[๑๑๐๐] ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
โปรดพระราชทานพวกข้าพระองค์
ให้เป็นทาสของขัณฑหาลปุโรหิตที่พระองค์มีพระประสงค์เถิด
ถึงแม้พวกข้าพระองค์จะถูกขับไล่จากแคว้น
ก็จักเที่ยวภิกขาจารเลี้ยงชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๑] ข้าแต่สมมติเทพ หญิงทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตร
แม้จะเป็นคนยากจนก็วิงวอนขอบุตรต่อเทพเจ้า
หญิงบางพวกละปฏิภาณ๑แล้วไม่ได้บุตรก็มี
[๑๑๐๒] หญิงเหล่านั้นย่อมทำความหวังว่า “ขอบุตรจงเกิดแก่เรา”
แต่นั้น ขอหลาน ๆ จงเกิดอีก
ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนี้
พระองค์รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์
เพื่อต้องการจะทรงบูชายัญโดยเหตุอันไม่สมควร
[๑๑๐๓] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าทรงบูชายัญนี้ด้วยบุตรทั้งหลายที่ได้มาโดยยาก
[๑๑๐๔] ข้าแต่พระบิดา คนทั้งหลายได้บุตรด้วยการวิงวอน
ขอพระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพวกข้าพระองค์เลย
ขออย่าได้พรากพวกข้าพระองค์
ผู้เป็นบุตรที่ได้มาโดยยากจากมารดาเลย
[๑๑๐๕] ข้าแต่พระมารดา พระมารดาย่อมย่อยยับ
เพราะทรงเลี้ยงลูกจันทกุมารด้วยความลำบากมาก
ลูกขอกราบพระยุคลบาทของพระมารดา
ขอพระราชบิดาจงทรงได้ปรโลกเถิด
[๑๑๐๖] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญของพระเจ้าเอกราช

เชิงอรรถ :
๑ ละปฏิภาณ หมายถึงละการแพ้ท้อง คือ ไม่ได้การแพ้ท้อง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๑๐๑/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๐๗] เชิญพระมารดา จงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๐๘] เชิญพระมารดาจงสวมกอดลูก
แล้วประทานพระยุคลบาทมาให้ลูกกราบไหว้เถิด
ลูกจะจากไป ณ บัดนี้
ทำความโศกเศร้าเสียใจให้แก่ประชาชน
(พระมารดาตรัสกับจันทกุมารว่า)
[๑๑๐๙] เชิญเถิด ลูกโคตมี เจ้าจงรัดเมาลีด้วยใบบัว
จงประดับดอกไม้อันแซมด้วยกลีบจำปา
นี่เป็นปกติของเจ้าที่มีมาเก่าก่อน
[๑๑๑๐] เชิญเถิด เจ้าจงไล้ทาเครื่องลูบไล้
คือจันทน์แดงอันเป็นครั้งสุดท้ายของเจ้า
เจ้าไล้ทาด้วยจุรณแก่นจันทน์แดงนั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๑] เชิญเถิด เจ้าจงนุ่งผ้าของชาวแคว้นกาสีเป็นครั้งสุดท้าย
ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียด อ่อนนุ่ม
เจ้านุ่งผ้ากาสิกพัสตร์นั้นดีแล้วย่อมงามในราชบริษัท
[๑๑๑๒] เชิญเจ้าประดับหัตถาภรณ์
อันเป็นเครื่องประดับทองคำฝังแก้วมุกดาและแก้วมณี
เจ้าประดับหัตถาภรณ์นั้นแล้วย่อมงามในราชบริษัท
(พระเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๑๑๓] พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองรัฐเป็นทายาทของชนบท
ผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระในโลกนี้
จะไม่ทรงทำความสิเนหาให้เกิดในพระโอรสแน่ละหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๔] แม้ลูกก็เป็นที่รักของเรา ตนเองก็เป็นที่รัก
เธอและภรรยาทั้งหลายก็เป็นที่รักของเรา
แต่เราปรารถนาสวรรค์ เพราะฉะนั้น เราจึงจักฆ่าให้ได้
(พระเทวีกราบทูลว่า)
[๑๑๑๕] ข้าแต่สมมติเทพ อันดับแรก
ขอพระองค์จงรับสั่งให้ฆ่าหม่อมฉันเถิด
ขอทุกข์อย่าได้ทำลายหทัยของหม่อมฉันเลย
พระโอรสของพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ ประดับแล้วงดงาม
[๑๑๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้า เชิญเถิด
ขอพระองค์ได้โปรดฆ่าหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันจักอยู่กับจันทกุมารในปรโลก
ขอพระองค์ทรงทำบุญให้ไพบูลย์เถิด
หม่อมฉันทั้ง ๒ จะท่องเที่ยวไปในปรโลก
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑๗] จันทาผู้มีนัยน์ตาโต เจ้าอย่าชอบใจความตายเลย
โคตมีบุตรถูกเราบูชายัญแล้ว ผัว พี่ผัว น้องผัวของเจ้า
เป็นอันมากเหล่านั้นจักทำให้รื่นรมย์ใจได้
[๑๑๑๘] เมื่อพระราชาได้ตรัสอย่างนี้แล้ว
พระนางจันทาเทวีทรงตีพระองค์เองด้วยฝ่าพระหัตถ์
พอทีด้วยชีวิตในโลกนี้ เราจักดื่มยาพิษตาย
[๑๑๑๙] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรทั้งหลาย
ผู้เกิดแต่พระอุระเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๐] พระญาติและมิตรผู้มีหทัยดีของพระราชาพระองค์นี้
ย่อมไม่มีแน่แท้ จึงไม่ทูลทัดทานพระราชาว่า
อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย
[๑๑๒๑] บุตรของหม่อมฉันเหล่านี้ประดับพวงดอกไม้
สวมกำไลทองต้นแขน ขอพระราชาทรงบูชายัญ
ด้วยบุตรของหม่อมฉันเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ขอพระองค์ทรงปล่อยบุตรโคตมีเถิด พระเจ้าข้า
[๑๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์เลย
[๑๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอจงฆ่าหม่อมฉัน
แบ่งออกเป็นร้อยส่วนแล้วบูชายัญ ๗ ส่วน
ขออย่าทรงฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้เป็นที่มุ่งหวังของชาวโลกทั้งมวลเลย
(จันทกุมารตรัสกับพระนางจันทาเทวีว่า)
[๑๑๒๔] เครื่องประดับเป็นอันมากล้วนแต่ของดี ๆ คือ
แก้วมุกดา แก้วมณี และแก้วไพฑูรย์
ที่เราให้แก่เจ้า ในเมื่อเจ้ากล่าวคำดี
นี้เป็นของที่เราให้แก่เจ้าเป็นครั้งสุดท้าย
(พระนางจันทากราบทูลว่า)
[๑๑๒๕] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่บานเคยสวมที่พระศอ
ของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๒๖] เมื่อก่อน พวงดอกไม้ที่วิจิตร
เคยสวมที่พระศอของพระกุมารเหล่าใด
วันนี้ ดาบที่เขาลับคมดีแล้ว
จักตัดที่พระศอของพระกุมารแม้เหล่านั้น
[๑๑๒๗] ไม่นานหนอ ดาบจักตัดที่พระศอ
ของพระราชบุตรทั้งหลาย
ส่วนหทัยของเราจะยังไม่แตก
ตราบเท่าที่มีเครื่องผูกมารัดเราไว้แน่น
[๑๑๒๘] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช
[๑๑๒๙] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยแก่พระมารดา
[๑๑๓๐] จันทกุมารและสุริยกุมาร
ทรงผ้าแคว้นกาสีอันขาวสะอาด ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๑] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกราชบุรุษนำไปบูชายัญเพื่อพระเจ้าเอกราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๒] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าพระทัยให้แก่พระมารดา
[๑๑๓๓] จันทกุมารและสุริยกุมาร
เสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยรสเนื้อ
ที่ช่างสนานให้สรงสนานดีแล้ว ประดับกุณฑล
ไล้ทากฤษณาและจุรณแก่นจันทน์
ถูกนำออกไปทำความเศร้าใจให้แก่ประชาชน
[๑๑๓๔] เมื่อเขาตกแต่งเครื่องบูชายัญครบทุกสิ่งแล้ว
เมื่อจันทกุมารและสุริยกุมารประทับนั่ง
เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ
พระราชธิดาของพระเจ้าปัญจาละประนมพระหัตถ์
เสด็จดำเนินเวียนไปในระหว่างบริษัททั้งปวง ได้ทำสัจกิริยาว่า
[๑๑๓๕] ขัณฑหาละผู้มีปัญญาทราม
ได้ทำกรรมชั่วด้วยสัจจะอันใด
ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๖] อมนุษย์ก็ดี ยักษ์ก็ดี
สัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิดก็ดี มีอยู่ในที่นี้
ขอจงทำความขวนขวายช่วยเหลือข้าพเจ้า
ขอให้ข้าพเจ้าได้อยู่ร่วมกับพระสวามี
[๑๑๓๗] เหล่าเทวดาที่มาแล้ว ณ ที่นี้
สรรพสัตว์ที่เกิดแล้วและที่จะมาเกิด
ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งแสวงหาที่พึ่ง
ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านทั้งหลาย
ขออย่าให้พวกข้าศึกชนะพระสวามีของข้าพเจ้าเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๓๘] ท้าวสักกเทวราชทรงสดับเสียงคร่ำครวญ
ของพระนางจันทานั้นแล้วทรงกวัดแกว่งค้อนเหล็ก
ยังความกลัวให้เกิดแก่พระเจ้าเอกราชนั้นแล้ว
ได้ตรัสกับพระราชาดังนี้ว่า
[๑๑๓๙] พระราชากาลี ขอท่านจงรู้ไว้
อย่าให้เราต้องทุบเศียรของท่านด้วยค้อนเหล็กนี้เลย
ท่านอย่าได้ฆ่าบุตรองค์ใหญ่
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์
[๑๑๔๐] พระราชากาลี ท่านเคยเห็นที่ไหน
คนที่ปรารถนาสวรรค์ต้องฆ่าบุตร
ภรรยา เศรษฐี และคหบดีผู้ไม่คิดประทุษร้าย
[๑๑๔๑] ขัณฑหาลปุโรหิตและพระราชาได้ฟังพระดำรัส
ของท้าวสักกะนั้นแล้ว ได้เห็นรูปอันน่าอัศจรรย์
จึงได้แก้เครื่องจองจำสัตว์ทั้งปวงออก
เหมือนแก้เครื่องจองจำสัตว์ผู้ไม่ต้องถูกฆ่าออกฉะนั้น
[๑๑๔๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น
ทุกคนใช้ก้อนดินคนละก้อนทุ่มลง
นั่นคือการฆ่าขัณฑหาลปุโรหิต
[๑๑๔๓] คนที่ทำกรรมชั่วต้องตกนรกทั้งหมดฉันใด
คนที่ทำกรรมชั่วแล้วจากโลกนี้ไป
ก็ไม่พึงได้การไปสู่สุคติเลยฉันนั้น
[๑๑๔๔] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๗.จันทกุมารชาดก (๕๔๔)
[๑๑๔๕] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๖] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกพระจันทกุมาร
[๑๑๔๗] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันอภิเษกจันทกุมาร
[๑๑๔๘] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๔๙] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
ราชกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๐] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพบริษัททั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๑] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
คนที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ในเวลานั้น ก็คือ
เทพกัญญาทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว ต่างก็แกว่งผ้าและโบกธง
[๑๑๕๒] เมื่อชนทั้งปวงพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว
ประชาชนเป็นอันมาก ต่างก็รื่นรมย์ยินดี
พวกเขาได้ประกาศความยินดีในเวลาที่จันทกุมาร
เสด็จเข้าสู่พระนครและได้ประกาศโฆษณาความหลุดพ้น
จากเครื่องจองจำของสัตว์ทั้งปวงแล้ว
จันทกุมารชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
๘. มหานารทกัสสปชาดก๑ (๕๔๕)
ว่าด้วยพระมหานารทกัสสปะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๕๓] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระราชาของชาวแคว้นวิเทหะ
ทรงพระนามว่าอังคติ ทรงมีพระราชยาน
พระราชทรัพย์มากมาย ทรงมีพลนิกายเหลือที่จะคณานับ
[๑๑๕๔] เมื่อปฐมยามคืนวันเพ็ญเดือน ๔
ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกโกมุทบานยังไม่ผ่านไป
พระองค์รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
[๑๑๕๕] ราชบัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน
มีปกติยิ้มก่อนจึงพูด เฉลียวฉลาด
และอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย
คือ (๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดีอำมาตย์
[๑๑๕๖] พระเจ้าวิเทหะตรัสถามอำมาตย์ ๓ นายนั้นทีละคนว่า
ท่านทั้งหลายจงกล่าวตามความพอใจของตน ๆ ว่า
ในคืนวันเพ็ญเดือน ๔ นี้ ดวงจันทร์แจ่มจรัส
กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายจะพึงพักอยู่
ตลอดฤดูกาลเช่นนี้นี้ ด้วยความยินดีอะไร
[๑๑๕๗] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีอำมาตย์ได้กราบทูล
คำนี้แด่พระราชาว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงจัด
ราชยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลเสนา
ที่ยินดีร่าเริงแล้วให้พร้อมสรรพ

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ อุทยานลัฏฐิวัน ทรงปรารภการที่ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะ ตรัสมหา-
นารทกัสสปชาดกซึ่งมีคำเริ่มต้นว่า ได้มีพระราชาแห่งกรุงวิเทหะ ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๕๘] ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำกองทัพ
ที่ทรงพลังเกรียงไกรออกต่อสู้การยุทธ์ให้ได้
พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะนำมาสู่อำนาจ
นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพระพุทธเจ้า
เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่ยังไม่ชนะ”
[๑๑๕๙] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช
พวกศัตรูของฝ่าพระบาทมาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว
[๑๑๖๐] ต่างพากันวางศัสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด
วันนี้เป็นวันมหรสพสนุกสนานยิ่ง
การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ
[๑๑๖๑] ขอชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ
และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด
ขอเดชะ ขอฝ่าพระบาทจงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ
ในการฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคมอันไพเราะเถิด”
[๑๑๖๒] วิชัยอำมาตย์ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาราช กามทุกอย่าง
ได้ปรากฏแก่พระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว
[๑๑๖๓] ขอเดชะ การเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย
พระองค์ทรงหาได้ไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ
การรื่นรมย์กามคุณทั้งหลายมิใช่ความคิดเห็นของข้าพระองค์
[๑๑๖๔] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๖๕] พระเจ้าอังคติได้สดับคำของวิชัยอำมาตย์แล้ว
ได้ตรัสว่า แม้เราก็ชอบใจคำพูดของวิชัยอำมาตย์ตามที่พูดไว้
[๑๑๖๖] วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้ดีกว่า
[๑๑๖๗] ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกท่านจงลงมติว่า
“วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาบัณฑิต
ผู้รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ
ที่ท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๖๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ได้มีชีเปลือย
ที่ชาวโลกยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน
[๑๑๖๙] ชีเปลือยผู้นี้ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตร
เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่คณะ
ขอเดชะ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาท่าน
ท่านจักกำจัดความสงสัยของพวกเราได้”
[๑๑๗๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว
ได้รับสั่งสารถีว่า “เราจะไปยังมฤคทายวัน
ท่านจงนำยานที่เทียมม้าแล้วมาที่นี้”
[๑๑๗๑] พวกนายสารถีได้จัดเทียมพระราชยานที่ทำด้วยงา
มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองที่บุผ้าขาวอันผุดผ่อง
ดังดวงจันทร์ในราตรีที่ปราศจากมลทินโทษ
มาถวายแด่พระราชานั้น
[๑๑๗๒] รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัวล้วนแต่มีสีดังดอกโกมุท
เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๗๓] ฉัตร รถ ม้า และพัดวีชนีล้วนมีสีขาว
พระเจ้าวิเทหะพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จออกย่อมงดงามเหมือนดวงจันทร์
[๑๑๗๔] หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญอยู่บนหลังม้า
ถือหอกดาบตามเสด็จจอมกษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่านรชน
[๑๑๗๕] พระเจ้าวิเทหะบรมกษัตริย์พระองค์นั้น
เสด็จไปถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว
เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว
ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์
[๑๑๗๖] ในคราวนั้น มีพราหมณ์และคหบดีแม้เหล่าใด
มาประชุมกันในพระราชอุทยานนั้น
พระราชามิให้พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น
ผู้นั่งอยู่ที่ภาคพื้นซึ่งไม่ได้เว้นที่ไว้ลุกหนีไป
[๑๑๗๗] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จเข้าไปประทับนั่งบนราชอาสน์
ที่ปูลาดด้วยพระยี่ภู่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ณ ที่อันสมควร
[๑๑๗๘] ได้ทรงปราศรัยไต่ถามสุขทุกข์ว่า
“พระคุณเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ
[๑๑๗๙] พระคุณเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยไม่ฝืดเคืองหรือ
ได้บิณฑบาตพอประทังชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ
พระคุณเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปหรือ”
[๑๑๘๐] คุณาชีวกทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยินดีในวินัยว่า
“ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพสบายดีทุกประการ
[๑๑๘๑] บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ
ช้างม้าของพระองค์มิได้มีโรคหรือ ราชพาหนะก็ยังเป็นไปหรือ
พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระวรกายของพระองค์บ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๒] ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม
อันอาชีวกทูลชมเชยแล้ว
ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุในลำดับว่า
[๑๑๘๓] “ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติธรรม
ในบิดาและมารดาอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในบุตรภรรยาอย่างไร
[๑๑๘๔] พึงประพฤติธรรมในวุฑฒบุคคลอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์อย่างไร
พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร
พึงประพฤติธรรมในชาวชนบทอย่างไร
[๑๑๘๕] ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร
ละโลกนี้แล้วจึงไปสู่สุคติ
ส่วนคนบางพวกไม่ดำรงอยู่ในธรรม ทำไมจึงตกนรก”
[๑๑๘๖] คุณาชีวกกัสสปโคตรได้ฟังพระดำรัส
ของพระเจ้าวิเทหะแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับ
ทางที่จริงแท้ของพระองค์เถิด
[๑๑๘๗] ผลดีผลชั่วแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วไม่มี
ข้าแต่สมมติเทพ โลกอื่นไม่มี
ใครเล่าจากโลกอื่นนั้นมาสู่โลกนี้
[๑๑๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ปู่ย่าตายายไม่มี
มารดาบิดาจะมีได้ที่ไหน
ชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกคนที่ยังไม่ฝึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๘๙] สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ทัดเทียมกันหมด
ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี
กำลังหรือความเพียรไม่มี
บุรุษผู้มีความหมั่นจะได้รับผลแต่ที่ไหน
สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงตามเรือไป
[๑๑๙๐] สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรจะได้
ในข้อนั้น ผลทานจะมีแต่ที่ไหน
ข้าแต่สมมติเทพ ผลทานไม่มี
เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร๑ พระเจ้าข้า
[๑๑๙๑] พวกคนพาลบัญญัติทาน พวกบัณฑิตรับทาน
พวกคนพาลถือตนว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ไร้อำนาจ
ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย
[๑๑๙๒] รูปกายอันเป็นที่รวม ๗ ประการนี้ คือ
(๑) ดิน (๒) น้ำ (๓) ไฟ (๔) ลม
(๕) สุข (๖) ทุกข์ (๗) ชีวิต เป็นของเที่ยง
ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ
ความขาดสูญไม่มีแก่สัตว์เหล่าใด
รูปกาย ๗ ประการนี้ย่อมมีแก่สัตว์เหล่านั้น
[๑๑๙๓] ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใคร ๆ ผู้ถูกฆ่า ก็ไม่มี
ศัสตราทั้งหลายสอดแทรกเข้าไป
ในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้

เชิงอรรถ :
๑ เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร หมายถึงเมื่อผลทานไม่มีอย่างนี้ ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นคนโง่ก็ยังให้
ทานอยู่ แต่เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีความเพียร โดยสรุปอาชีวกกราบทูลชี้แจงว่า คนผู้นั้นไม่เชื่อว่าให้ทาน
ด้วยอำนาจ ด้วยกำลังของตน แต่สำคัญว่า ผลทานมีจึงให้ทาน เพราะเชื่อคนโง่พวกอื่น (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๑๙๐/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๑๙๔] ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบที่ลับแล้ว
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดรูปกายเหล่านั้น
ในการทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน
[๑๑๙๕] สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป
ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้สำรวมดีแล้วก็บริสุทธิ์ไม่ได้
[๑๑๙๖] เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น
แม้จะประพฤติความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
แม้ถ้าทำบาปไว้มากมายก็ไม่ล่วงพ้นขณะนั้นไปได้
[๑๑๙๗] ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ตามลำดับ
เมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราย่อมไม่ล่วงเลยเขตที่แน่นอนนั้น
เหมือนสาครไม่ล้นฝั่งไป”
[๑๑๙๘] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว
ได้กล่าวดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าชอบใจ
คำของท่านผู้เจริญตามที่กล่าวไว้
[๑๑๙๙] แม้ข้าพเจ้าเองก็ระลึกชาติก่อนที่ตนท่องเที่ยวไปได้
คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสี
ที่เป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นพรานฆ่าโคชื่อปิงคละ
[๑๒๐๐] ข้าพเจ้าเกิดในกรุงพาราณสีที่เป็นเมืองมั่งคั่งแล้ว
ได้ทำบาปกรรมไว้เป็นอันมาก คือ ได้ฆ่าสัตว์มีชีวิต
ได้แก่ กระบือ สุกร แพะเป็นจำนวนมาก
[๑๒๐๑] จุติจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้
บาปไม่มีผลแน่นอน ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปตกนรก”
[๑๒๐๒] ครั้งนั้น ในกรุงมิถิลานี้ ได้มีคนเข็ญใจเป็นทาสชื่อว่าวีชกะ
กำลังรักษาอุโบสถ เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๐๓] ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวก
และของอลาตเสนาบดีกล่าวกันแล้ว
จึงถอนหายใจอึดอัดร้องไห้หลั่งน้ำตา
[๑๒๐๔] พระเจ้าวิเทหะได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า
“สหาย เจ้าร้องไห้ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือ
เจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอกให้เราทราบเถิด”
[๑๒๐๕] นายวีชกะได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลให้ทรงทราบดังนี้ว่า
“ข้าแต่มหาราชข้าพระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย
ขอพระองค์ได้ทรงสดับคำของข้าพระพุทธเจ้าเถิด
[๑๒๐๖] แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึง
ความสุขในชาติก่อนของตนเองได้ คือ
ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยเกิดเป็นเศรษฐี
ชื่อว่าภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรมอยู่ในเมืองสาเกต
[๑๒๐๗] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รับการยกย่องจากพราหมณ์และคหบดี
ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานสะอาด
ระลึกถึงบาปกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ไม่ได้เลย
[๑๒๐๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว
มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี
ซึ่งเป็นหญิงขัดสนยากจนในกรุงมิถิลานี้
ตั้งแต่เวลาที่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้า
ก็เป็นยาจกเข็ญใจตลอดมา
[๑๒๐๙] แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยากจนอย่างนี้
ก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ
ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ผู้ที่ปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๐] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำทุกเมื่อ
ไม่เบียดเบียนสัตว์และไม่ลักทรัพย์
[๑๒๑๑] กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ประพฤติมาดีแล้วนี้ไร้ผลแน่
ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว
[๑๒๑๒] ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้
เหมือนนักเลงผู้ไร้ศิลปะเป็นแน่
ส่วนอลาตเสนาบดีกำเอาไว้แต่ชัยชนะ
เหมือนนักเลงผู้ฝึกฝนการพนัน
[๑๒๑๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระพุทธเจ้ายังมองไม่เห็นประตู
ที่จะเป็นทางไปสู่สุคติเลย ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟัง
คำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้”
[๑๒๑๔] พระเจ้าอังคติได้สดับคำพูดของนายวีชกะแล้ว
ได้ตรัสว่า “ประตูสุคติไม่มี ท่านยังสงสัยอีกหรือวีชกะ”
[๑๒๑๕] ได้ทราบว่า “สุขหรือทุกข์สัตว์ได้เองแน่นอน
สัตว์ทั้งหลายหมดจดได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เมื่อยังไม่ถึงเวลา ท่านอย่าได้รีบด่วนไปเลย
[๑๒๑๖] เมื่อก่อน แม้เราก็เคยทำความดีมา
ขวนขวายช่วยเหลือพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
สั่งสอนราชกิจอยู่เนือง ๆ งดเว้นจากความยินดี(ในกามคุณ)
ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
[๑๒๑๗] ท่านผู้เจริญ พวกเราจะได้พบกันอีก
ถ้าจักมีการคบหาสมาคมกัน”
พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว
ก็ได้เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๑๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๒๑๙] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ
ในจันทกปราสาทของเรา
เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น
ใคร ๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา
[๑๒๒๐] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือ
(๑) วิชัยอำมาตย์ (๒) สุนามอำมาตย์
(๓) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้”
[๑๒๒๑] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก
และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไร ๆ
ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย”
[๑๒๒๒] ตั้งแต่วันนั้นมา ๒ สัปดาห์
พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา
ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ
ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า
[๑๒๒๓] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย
และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ
พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำเป็นวันทิพย์๑
ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา”

เชิงอรรถ :
๑ วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๒๓/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๒๔] พระพี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์
แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าสีต่าง ๆ
ที่มีค่ามากมาถวายแด่พระนางรุจานั้น
[๑๒๒๕] หญิงเป็นอันมากแวดล้อมพระนางรุจาราชธิดา
ผู้มีพระฉวีวรรณงามนั้น ผู้ประทับนั่งอยู่บนพระภัทรบิฐ๑
สวยงามยิ่งนักดังนางเทพกัญญา
[๑๒๒๖] พระนางรุจาราชธิดานั้นทรงประดับสรรพาภรณ์
เสด็จไป ณ ท่ามกลางเพื่อนหญิง
เหมือนสายฟ้าแลบออกจากเมฆ
ได้เสด็จเข้าสู่จันทกปราสาท
[๑๒๒๗] ครั้นเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหะ
ถวายบังคมพระบิดาผู้ทรงยินดีในคำแนะนำแล้ว
ประทับอยู่บนพระภัทรบิฐอันขจิตด้วยทอง ณ ที่อันสมควร
[๑๒๒๘] พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจา
ประทับอยู่ท่ามกลางพระสหายหญิง
ซึ่งเป็นเหมือนสมาคมของนางเทพอัปสร
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
[๑๒๒๙] “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท
และสระโบกขรณีในภายในอุทยานอยู่หรือ
คนเหล่านั้นยังนำของเสวยเป็นอันมาก
มาให้ลูกหญิงอยู่เสมอหรือ
[๑๒๓๐] ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก
ยังเก็บดอกไม้หลายชนิดมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ทำเรือนหลังเล็ก ๆ แต่ละหลังเล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ

เชิงอรรถ :
๑ ภัทรบิฐ หมายถึงตั่งทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๓ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker