ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๓๑] อีกประการหนึ่ง ลูกหญิงยังขาดแคลนบกพร่องอะไรบ้าง
คนเหล่านั้นรีบนำสิ่งของมาให้ทันใจลูกหรือ
ลูกรักผู้มีพักตร์ผ่องใส ลูกจงทำใจของเจ้าให้ผ่องใส
เช่นกับดวงจันทร์เถิด”
[๑๒๓๒] พระนางรุจาราชธิดาได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ได้กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่มหาราช
หม่อมฉันได้สิ่งนี้ทั้งหมดในสำนักของพระองค์
[๑๒๓๓] พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์
ขอราชบุรุษทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาให้หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักให้ทานแก่วณิพกทั้งปวงตามที่เคยให้มา”
[๑๒๓๔] พระเจ้าอังคติได้สดับพระดำรัส
ของพระนางรุจาแล้วตรัสว่า
ลูกหญิงทำลายทรัพย์ให้พินาศไปเสียเป็นจำนวนมาก
หาผลประโยชน์มิได้
[๑๒๓๕] ลูกหญิงรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์
ลูกหญิงจักต้องไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์
บุญไม่มีแก่ผู้ไม่บริโภค
[๑๒๓๖] แม้นายวีชกะได้ฟังคำพูดของคุณาชีวกกัสสปโคตรในเวลานั้น
ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้หลั่งน้ำตาแล้ว
[๑๒๓๗] ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบใดที่ลูกยังมีชีวิตอยู่
ก็อย่าได้อดอาหารเลย ปรโลกไม่มีหรอก
ลูกหญิงจะลำบากเดือดร้อนไปทำไมไร้ประโยชน์”
[๑๒๓๘] พระนางรุจาผู้มีพระฉวีวรรณงดงาม
ได้สดับพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหะแล้ว
ก็ทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ
กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๓๙] “แต่ก่อน หม่อมฉันได้แต่ฟังเท่านั้น
หม่อมฉันได้เห็นข้อนี้อย่างประจักษ์ว่า
ผู้ใดคบหาคนพาล ผู้นั้นก็พลอยเป็นพาลไปด้วย
[๑๒๔๐] เพราะว่าคนหลงอาศัยคนหลง
ก็ยิ่งเข้าถึงความหลงหนักขึ้น
อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง
[๑๒๔๑] ข้าแต่สมมติเทพ ส่วนพระองค์ทรงพระปรีชา
เป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดในอรรถ
จะทรงเป็นเหมือนพวกคนพาลเข้าถึงทิฏฐิต่ำทรามได้อย่างไร
[๑๒๔๒] แม้ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
การบวชของคุณาชีวกก็ไร้ประโยชน์
เขาเป็นคนหลงใหลงมงายจะเข้าถึงความเป็นคนเปลือย
เหมือนแมลงหลงบินเข้ากองไฟที่ลุกโชน
[๑๒๔๓] คนส่วนมากผู้ไม่รู้อะไร พอได้ฟังคำของคุณาชีวกว่า
ความหมดจดมีได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและผลของกรรม
ผลที่เคยยึดถือผิดมาก่อนยากที่จะแก้ได้
เหมือนปลาติดเบ็ดยากที่จะแก้ตนออกจากเบ็ดได้
[๑๒๔๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
เพื่อประโยชน์แก่ทูลกระหม่อมเอง
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[๑๒๔๕] เหมือนเรือของพ่อค้าบรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ
ย่อมทำสินค้าที่หนักยิ่งจมดิ่งลงในมหาสมุทรฉันใด
[๑๒๔๖] คนสั่งสมบาปกรรมไว้ทีละน้อย ๆ
ก็จะพาเอาบาปกรรมที่หนักอย่างยิ่ง
จมดิ่งลงในนรกฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๔๗] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน
อลาตเสนาบดีสั่งสมแต่บาปที่เป็นเหตุให้ไปทุคติ
[๑๒๔๘] ขอเดชะเสด็จพ่อ ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
การที่อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้
เป็นผลบุญที่ตนได้เคยทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง พระเจ้าข้า
[๑๒๔๙] บุญของอลาตเสนาบดีนั้นกำลังจะหมดสิ้น
จริงอย่างนั้น บัดนี้ อลาตเสนาบดี
จึงกลับมายินดีในอกุศลกรรมที่ไม่ใช่คุณ
เลิกละทางตรงไปตามทางผิด
[๑๒๕๐] ตราชั่งที่กำลังชั่งของต่ำลงข้างหนึ่ง
เมื่อเอาของหนักออก ข้างที่ต่ำจะสูงขึ้นฉันใด
[๑๒๕๑] นรชนก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อสั่งสมบุญทีละน้อย ๆ ย่อมไปสู่สวรรค์
เหมือนนายวีชกะผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม
[๑๒๕๒] นายวีชกะผู้เป็นทาสเห็นทุกข์ในตนวันนี้
เพราะได้ประสบบาปกรรม
ที่ตนเคยได้ทำไว้ในปางก่อนนั่นเอง
[๑๒๕๓] บาปกรรมของเขากำลังจะหมดสิ้นไป
บัดนี้ เขาจึงกลับมายินดีในข้อแนะนำ
ทูลกระหม่อมอย่าคบกัสสปคุณาชีวกเลย
ขอพระองค์อย่าดำเนินทางผิดเลย
[๑๒๕๔] ข้าแต่พระบิดา บุคคลคบบุคคลเช่นใด
เป็นสัตบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล
เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของบุคคลนั้นเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๕๕] บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตรและคบหาคนเช่นใด
แม้เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น
เพราะการอยู่ร่วมกันก็เป็นเช่นนั้น
[๑๒๕๖] ผู้คบย่อมแปดเปื้อนคนคบ
ผู้สัมผัสย่อมแปดเปื้อนคนสัมผัส
เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง
เพราะกลัวจะแปดเปื้อน นักปราชญ์ไม่ควรมีคนชั่วเป็นสหาย
[๑๒๕๗] การคบหาคนพาลก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อปลาเน่า
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปด้วย
[๑๒๕๘] การคบนักปราชญ์ก็เหมือนคนเอาใบไม้ห่อกฤษณา
แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปด้วย
[๑๒๕๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน
ดังใบไม้สำหรับห่อแล้ว จึงเลิกคบอสัตบุรุษ คบแต่สัตบุรุษ
อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก ส่วนสัตบุรุษย่อมนำให้ถึงสุคติ
[๑๒๖๐] แม้หม่อมฉันก็ระลึกชาติที่ตนได้ท่องเที่ยวมาแล้ว
ได้ ๗ ชาติ และรู้ชาติที่ตนจุติจากโลกนี้แล้ว
จักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ
[๑๒๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปกครองประชาชน
ชาติที่ ๗ ของหม่อมฉันในอดีต
หม่อมฉันได้เกิดเป็นบุตรชายของนายช่างทอง
ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
[๑๒๖๒] หม่อมฉันอาศัยสหายชั่วทำบาปกรรมไว้มาก
เที่ยวประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่นเหมือนจะไม่ตาย
[๑๒๖๓] กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนไฟที่ถูกกลบไว้ด้วยเถ้า
ต่อมา ด้วยกรรมอื่น ๆ หม่อมฉันจึงได้เกิดในแคว้นวังสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๖๔] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันเป็นบุตรคนเดียว
ในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งสมบูรณ์
มีทรัพย์มากในกรุงโกสัมพี
ได้รับสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์
[๑๒๖๕] ในชาตินั้น หม่อนฉันได้คบหามิตรสหาย
ผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต
สหายนั้นได้แนะนำให้หม่อมฉันตั้งอยู่ในกรรมอันเป็นประโยชน์
[๑๒๖๖] หม่อมฉันได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดราตรีเป็นอันมาก
กรรมนั้นยังไม่ทันให้ผลเหมือนขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ
[๑๒๖๗] ครั้นต่อมา บรรดาบาปกรรมทั้งหลาย
กรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่นใด
ที่หม่อมฉันได้กระทำไว้ในแคว้นมคธ
ผลของกรรมนั้นได้มาถึงหม่อมฉันเข้าแล้วในภายหลัง
เหมือนดื่มยาพิษอันร้ายแรง
[๑๒๖๘] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพีนั้นแล้ว
ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกตลอดกาลนาน
เพราะกรรมของตน หม่อมฉันระลึกถึงทุกข์
ที่ตนเคยได้เสวยมาในนรกนั้น ไม่ได้รับความสุขเลย
[๑๒๖๙] หม่อมฉันทำทุกข์มากมายให้หมดสิ้นไป
ในนรกนั้นมากมายหลายปีแล้ว
จึงเกิดเป็นลาถูกตอนอยู่ในภินนาคตนคร พระเจ้าข้า
[๑๒๗๐] หม่อนฉันต้องพาลูกอำมาตย์ไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ครองแคว้นวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลานั้นแล้วได้ไปเกิดเป็นลิงในป่าใหญ่
ถูกหัวหน้าฝูงตัวคะนองกัดลูกอัณฑะออก
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาของคนอื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๒] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิงนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นโคในแคว้นทสันนะ ถูกตอน มีกำลังแข็งแรงดี
หม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่เป็นเวลานาน
นั่นเป็นผลของกรรมที่ล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๓] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นกระเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี
จะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็แสนยาก
นั่นเป็นผลของกรรมคือการล่วงละเมิดภรรยาคนอื่นของหม่อมฉัน
[๑๒๗๔] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
หม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกระเทยนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นนางอัปสรในพระอุทยานนันทวันชั้นดาวดึงสพิภพ
มีฉวีวรรณงามน่ารักใคร่
[๑๒๗๕] มีผ้าและอาภรณ์งามวิจิตร ใส่ตุ้มหูแก้วมณี
เก่งในการฟ้อนรำขับร้อง เป็นปริจาริกาของท้าวสักกะ
[๑๒๗๖] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ
เมื่อหม่อนฉันอยู่ในชั้นดาวดึงสพิภพนั้น
ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ
ที่หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพนั้นแล้วจักเกิดต่อไป
[๑๒๗๗] กุศลที่หม่อมฉันได้ทำไว้ในกรุงโกสัมพีได้ตามมาให้ผล
หม่อมฉันจุติจากดาวดึงสพิภพแล้ว
ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๗๘] ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันนั้น
ได้รับสักการะบูชาเป็นนิตย์มาตลอด ๗ ชาติ
หม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ
[๑๒๗๙] ข้าแต่สมมติเทพ ชาติที่ ๗
หม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดาผู้ชาย
คือ เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา
[๑๒๘๐] แม้วันนี้ เหล่านางอัปสรผู้เป็นปริจาริกาของหม่อมฉัน
ยังช่วยกันร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในพระอุทยานนันทวัน
เทพบุตรนามว่าชวะ ยังรับพวงมาลัยของหม่อมฉันอยู่
[๑๒๘๑] ๑๖ ปีในมนุษย์นี้เป็นเหมือนครู่หนึ่งของเทวดา
๑๐๐ ปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของเทวดา
[๑๒๘๒] ดังที่ได้กราบทูลมานี้ กรรมทั้งหลายติดตามไปได้
แม้ตั้งอสงไขยชาติ
ด้วยว่ากรรมจะดีหรือชั่วก็ตามย่อมไม่พินาศไป
[๑๒๘๓] บุคคลใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
บุคคลนั้นพึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย
เหมือนคนล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม
[๑๒๘๔] หญิงใดปรารถนาจะเป็นชายทุก ๆ ชาติไป
หญิงนั้นก็พึงยำเกรงสามีเหมือนนางเทพอัปสร
ผู้เป็นปริจาริกายำเกรงพระอินทร์
[๑๒๘๕] ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุขทิพย์
ผู้นั้นพึงเว้นบาปทั้งหลายแล้วประพฤติธรรม ๓ อย่าง๑เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงสุจริต ๓ ที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๘๖] หญิงหรือชายก็ตาม ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ
เป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน
[๑๒๘๗] มนุษย์เหล่าใดในชีวโลกนี้
เป็นผู้มียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง
มนุษย์เหล่านั้นได้สั่งสมกรรมดีไว้ในปางก่อนโดยไม่ต้องสงสัย
สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็นของของตน
[๑๒๘๘] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริ
ด้วยพระองค์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
พระสนมผู้ทรงโฉมงามปานดังนางเทพอัปสร
ประดับประดาคลุมกายด้วยข่ายทองเหล่านี้
พระองค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร”
[๑๒๘๙] พระนางรุจาราชกัญญาทรงให้พระเจ้าอังคติ
พระชนกนาถพอพระทัย พระราชกุมารีผู้มีวัตรดีงาม
ทรงกราบทูลทางแห่งสุคติแก่พระชนกนาถพระองค์นั้นแล้ว
เหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง
และได้กราบทูลข้อธรรมถวายด้วยประการฉะนี้
[๑๒๙๐] ต่อมา นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป
ได้เห็นพระเจ้าอังคติ จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่นมนุษย์
[๑๒๙๑] ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาท
เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหะ
พระนางรุจาราชกัญญาได้เห็นนารทฤๅษีนั้น
มาถึงที่แล้ว จึงนมัสการ
[๑๒๙๒] ครั้งนั้น พระราชาทรงมีพระทัยหวาดกลัว
เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤๅษี
จึงได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๒๙๓] “ท่านผู้มีผิวงามดังเทวดา
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
ท่านมาจากที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว
ขอท่านจงบอกนามและโคตรแก่ข้าพเจ้า
คนทั้งหลายในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านได้อย่างไร”
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[๑๒๙๔] อาตมภาพมาจากเทวโลก ณ บัดนี้เอง
ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศดังดวงจันทร์
มหาบพิตรตรัสถามแล้ว
อาตมภาพขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ
คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ
และโดยโคตรว่า กัสสปะ
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๕] สัณฐานของท่าน การที่ท่านเหาะไป
และยืนอยู่บนอากาศได้น่าอัศจรรย์
ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๒๙๖] คุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ (๑) สัจจะ (๒) ธรรม
(๓) ทมะ (๔) จาคะ๑ อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน
เพราะคุณธรรมที่อาตมภาพได้เสพมาดีแล้วนั้นแหละ
อาตมภาพจึงไปได้เร็วทันใจตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
๑ คุณธรรม ๔ ประการนี้ มีอธิบาย ดังนี้ สัจจะ หมายถึงวจีสัจที่เว้นจากมุสาวาท ธรรม หมายถึงธรรม
คือสุจริต ๓ และธรรมคือการเพ่งกสิณบริกรรม (การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน) ทมะ หมายถึงการฝึก
อินทรีย์ (สำรวมทวาร ๖) จาคะ หมายถึงการสละกิเลสและการสละไทยธรรม (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๒๙๘/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๗] เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ
ชื่อว่าท่านบอกความอัศจรรย์
ถ้าเป็นจริงอย่างที่ท่านกล่าว ท่านนารทะ
ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
ขอท่านจงพยากรณ์ให้ดี
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๒๙๘] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย
ขอเชิญมหาบพิตรตรัสถามข้อนั้นกับอาตมภาพเถิด
อาตมภาพจะวิสัชนาถวายให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย
ทั้งโดยนัยด้วยความรู้และด้วยเหตุผล
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๒๙๙] ท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กับท่าน
ท่านอย่าได้กล่าวมุสาต่อข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า
“เทวดามี มารดาและบิดามี ปรโลกมี” นั้นเป็นจริงหรือ
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๓๐๐] ที่คนพูดกันว่า “เทวดามี มารดาและบิดามี
และปรโลกมี” นั้นเป็นจริงทั้งนั้น
แต่คนทั้งหลายหมกมุ่น ติดใจ หลงใหล
งมงายในกามคุณ จึงไม่รู้จักปรโลก
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๑๓๐๑] ท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่า “ปรโลกมีจริง”
เหล่าสัตว์ที่ตายไปแล้วก็ต้องมีที่อยู่ในปรโลก
ขอท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ แก่ข้าพเจ้าในโลกนี้แหละ
ข้าพเจ้าจักให้แก่ท่านพันหนึ่งในปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
(นารทฤๅษีทูลตอบว่า)
[๑๓๐๒] ถ้าอาตมภาพรู้ว่า “มหาบพิตรทรงมีศีล
ทรงรู้ความประสงค์ของพวกผู้ขอ
อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรสัก ๕๐๐
แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว
จะต้องไปอยู่ในนรก
ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกได้
[๑๓๐๓] ผู้ใดในโลกนี้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว
เกียจคร้าน มีกรรมหยาบ
บัณฑิตทั้งหลายไม่ให้กู้หนี้ในผู้นั้น
เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น
[๑๓๐๔] ส่วนคนขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
คนทั้งหลายรู้แล้วย่อมนำโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง
ด้วยคิดว่า “ผู้นี้ทำการงานเสร็จแล้วพึงนำมาใช้คืนให้”
[๑๓๐๕] ขอถวายพระพร มหาบพิตรจุติจากที่นี่แล้ว
จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น
ผู้ถูกฝูงกายื้อแย่งฉุดคร่าอยู่
ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ตกอยู่ในนรกซึ่งถูกฝูงกา แร้ง และสุนัขรุมกัดกิน
ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมอยู่
[๑๓๐๖] ในโลกันตนรกนั้นมืดมิดที่สุด
ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
โลกันตนรกนั้นมืดมิดอยู่เป็นนิตย์ น่ากลัว
กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์
ใครเล่าจะพึงเที่ยวไปในสถานที่นั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๐๗] ในโลกันตนรกนั้นมีสุนัข ๒ ตัว คือ
สุนัขด่างและสุนัขดำคล้ำ มีตัวกำยำ ล่ำสัน แข็งแรง
พากันใช้เขี้ยวเหล็กกัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว
ไปตกอยู่ในนรก
[๑๓๐๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ถูกฝูงสุนัขทารุณโหดร้าย ตัวนำทุกข์มาให้รุมกัดกินอยู่
อยู่ในนรกจนตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม
[๑๓๐๙] และในนรกที่โหดร้าย มีพวกนายนิรยบาลชื่อกาฬะและอุปกาฬะ
ผู้เป็นข้าศึกใช้ดาบและหอกที่ลับไว้เป็นอย่างดี
เชือดเฉือนและทิ่มแทงคนผู้ทำกรรมชั่วไว้ในภพก่อน
[๑๓๑๐] ใครเล่าจะพึงไปทวงถามเอาทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลก
กับมหาบพิตรผู้ถูกทิ่มแทงเข้าที่พระอุทร
ที่พระปรัศว์ มีพระอุทรพรุนวิ่งไปมาอยู่ในนรก
มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้
[๑๓๑๑] ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนชนิดต่าง ๆ คือ ฝนหอก
ฝนดาบ ฝนแหลน ฝนหลาว มีประกายลุกวาว
เหมือนถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ
สายอัสนีบาตศิลาแดงโชนตกลงทับสัตว์นรกผู้มีกรรมหยาบช้า
[๑๓๑๒] และในนรกนั้น มีลมร้อนอันยากที่จะทนได้
สัตว์ในนรกนั้นไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย
ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ทรงกระสับกระส่ายวิ่งพล่านไปมา หาที่ซ่อนเร้นมิได้
[๑๓๑๓] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ถูกเทียมไว้ในรถวิ่งไปมาอยู่
ต้องทรงเหยียบแผ่นดินที่ลุกโชน
ถูกทิ่มแทงด้วยดีด้วยปฏักอยู่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๑๔] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร
ผู้ทนอยู่ไม่ได้วิ่งไปขึ้นภูเขาที่ดารดาษไปด้วยขวากกรด
ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง มีตัวถูกตัดขาด
หลั่งเลือดไหลโทรมอยู่ได้
[๑๓๑๕] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ ในปรโลกกับมหาบพิตร
ผู้ต้องวิ่งขึ้นไปเหยียบถ่านเพลิงกองเท่าภูเขาที่ลุกโชน
น่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว
ร้องครวญครางอย่างน่าสงสารอยู่ได้
[๑๓๑๖] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคม
กระหายจะดูดดื่มเลือดคน
[๑๓๑๗] หญิงทั้งหลายที่ประพฤตินอกใจสามี
และชายหญิงทั้งหลายที่เป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามคำสั่งของพญายม
ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น
[๑๓๑๘] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้น
กับมหาบพิตรผู้ต้องปีนขึ้นต้นงิ้วในนรก
มีเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายไหม้เกรียม
มีหนังและเนื้อถลอกปอกเปิกกระสับกระส่าย
เสวยเวทนาอย่างหนัก
[๑๓๑๙] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์นั้นกับมหาบพิตร
ผู้เหนื่อยหอบมีความผิดเพราะบุรพกรรมในทางผิด
เนื้อตัวมีหนังถลอกปอกเปิกไป
[๑๓๒๐] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมดังดาบ
กระหายจะดูดดื่มเลือดคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๒๑] ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กับมหาบพิตร
ผู้กำลังปีนขึ้นต้นงิ้วนั้น
ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมเหมือนดาบ
ก็ถูกดาบอันคมนั้นบาด ตัวขาดกระจัดกระจาย
เลือดไหลโทรมอยู่ในปรโลกได้
[๑๓๒๒] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะพึงไปขอกับมหาบพิตร
ผู้เดินหนีออกจากขุมนรกไม้งิ้วมีใบเป็นดาบ
พลัดตกลงไปสู่แม่น้ำเวตตรณีได้
[๑๓๒๓] แม่น้ำเวตตรณีมีน้ำเป็นกรด หยาบแข็ง
เผ็ดร้อน ข้ามได้ยาก
ปกคลุมไปด้วยบัวเหล็กมีใบคมไหลไปอยู่
[๑๓๒๔] ทรัพย์จำนวนนั้น ใครเล่าจะไปขอกับมหาบพิตร
ผู้มีตัวขาดกระจัดกระจาย มีเลือดเปรอะเปื้อน
ลอยอยู่ในแม่น้ำเวตตรณี ที่นั้นหาที่เกาะมิได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๓๒๕] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด
ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิด จึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤๅษี
ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว
ร้อนใจ เพราะกลัวมหาภัย
[๑๓๒๖] ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า
เหมือนน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน
เหมือนเกาะเป็นที่พึ่งของพวกคนที่มีเรืออับปาง
หาที่พึ่งไม่ได้ในมหาสมุทร
และเหมือนดวงประทีปสำหรับส่องทาง
ของพวกคนผู้เดินทางมืดเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๒๗] ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า
ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำความผิดไว้ส่วนเดียว
ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า
โดยที่ข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด
(นารทฤๅษีกราบทูลว่า)
[๑๓๒๘] พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ (๑) ท้าวธตรัฏฐะ
(๒) ท้าวเวสสามิตะ (๓) ท้าวอัฏฐกะ
(๔) ท้าวยมทัคคิ (๕) ท้าวอุสินนระ
(๖) ท้าวสิวิราช ได้ทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว
[๑๓๒๙] พระราชาเหล่านั้นและพระราชาเหล่าอื่นเสด็จไปสู่สวรรค์ฉันใด
มหาบพิตรผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น
จงทรงเว้นอธรรมแล้วทรงประพฤติธรรมเถิด
[๑๓๓๐] ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศในพระราชนิเวศน์
และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย
ใครปรารถนาดอกไม้ ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้
ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม ก็จงนุ่งห่มผ้าสีต่าง ๆ ตามปรารถนาเถิด
[๑๓๓๑] ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้าที่อ่อนนุ่ม สวยงาม
ในทางเปลี่ยว ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศไปดังนี้
ในพระนครของพระองค์ทั้งในเวลาเย็นและเวลาเช้า
[๑๓๓๒] มหาบพิตรจงอย่าใช้งานคนแก่ โคแก่
และม้าแก่เหมือนแต่ก่อน
และจงพระราชทานเครื่องบริหารแก่คนที่เป็นกำลัง
ซึ่งเคยได้ทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด
[๑๓๓๓] มหาบพิตรจงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ
มีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า
มีอวิหิงสาเป็นเพลา มีปริจาคะเป็นหลังคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๓๔] มีการสำรวมเท้าเป็นกง
มีการสำรวมมือเป็นดุม
มีการสำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด
มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท
[๑๓๓๕] มีการกล่าวคำสัตย์เป็นส่วนประกอบรถที่บริสุทธิ์
มีการไม่กล่าวคำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้ได้สนิท
มีการกล่าวคำอ่อนหวานเป็นเครื่องรถที่เกลี้ยงเกลา
มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่องผูกมัด
[๑๓๓๖] มีศรัทธาและความไม่โลภเป็นเครื่องประดับ
มีความถ่อมตนและการทำอัญชลีเป็นธูป
มีความไม่แข็งกระด้างเป็นงอน
มีความสำรวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ
[๑๓๓๗] มีความไม่โกรธเป็นเครื่องกันกระทบกระทั่ง
มีคุณธรรมเป็นเศวตฉัตร
มีพาหุสัจจะเป็นสายพาน
มีจิตตั้งมั่นเป็นที่มั่น
[๑๓๓๘] มีความคิดรู้จักกาลเป็นไม้แก่น
มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำสามแฉก
มีความประพฤติถ่อมตนเป็นเชือกขันแอก
มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา
[๑๓๓๙] มีจิตไม่หดหู่เป็นเครื่องลาด
มีการคบคนผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี
นักปราชญ์มีสติเป็นปฏัก
มีความเพียรและการใช้การปฏิบัติเกื้อกูลเป็นสายบังเหียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๘.มหานารทกัสสปชาดก (๕๔๕)
[๑๓๔๐] มีใจที่ฝึกฝนดีแล้วเหมือนม้า
ที่ได้รับฝึกสม่ำเสมอเป็นเครื่องนำทาง
ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด
ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง
[๑๓๔๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ปัญญาเป็นเครื่องทิ่มแทงม้า
ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตร
ที่กำลังโลดแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส
ในรถคือพระวรกายของมหาบพิตรนั้น
มีตนคือจิตของพระองค์เท่านั้นเป็นนายสารถี
[๑๓๔๒] ถ้าความประพฤติชอบ
และความเพียรมั่นคงมีอยู่กับยานนี้
รถนั้นจะให้สมบัติที่น่าใคร่ได้ทุกอย่างและไม่นำไปเกิดในนรก
(พระศาสดาทรงประชุมชาดก ดังนี้)
[๑๓๔๓] อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัต
สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ
วิชัยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร
ชีวกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ
[๑๓๔๔] สุนักขัตตะเป็นบุตรของเจ้าลิจฉวี คุณาชีวกเป็นชีเปลือย
พระนางรุจาราชธิดาผู้ทรงนำพระราชาให้ทรงเลื่อมใส
เป็นพระอานนท์
[๑๓๔๕] พระเจ้าอังคติผู้มีทิฏฐิชั่วในครั้งนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ
ท้าวมหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต
พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
มหานารทกัสสปชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
๙. วิธุรชาดก๑ (๕๔๖)
ว่าด้วยวิธุรบัณฑิตบำเพ็ญปัญญาบารมี
โทหฬกัณฑ์
ตอนว่าด้วยความแพ้ท้อง
(พญานาคตรัสถามนางนาควิมลามเหสีว่า)
[๑๓๔๖] “เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย
เมื่อก่อน ผิวพรรณของเธอมิได้เป็นเช่นนี้เลย
น้องวิมลา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก
เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร”
(นางนาควิมลาทูลตอบว่า)
[๑๓๔๗] “พระองค์ผู้เป็นจอมชน ชื่อว่าความแพ้ท้อง
เป็นธรรมดาของมารดาทั้งหลายในหมู่มนุษย์
พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค
หม่อมฉันปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิตที่นำมาได้โดยชอบธรรม พระเจ้าข้า”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๓๔๘] “เธอแพ้ท้องปรารถนาหทัยของวิธุรบัณฑิต
ก็จะเหมือนกับปรารถนาดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ หรือปรารถนาลม
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตยากที่บุคคลจะพบได้
ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้”

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภการบำเพ็ญปัญญาบารมี ตรัสวิธุรชาดกนี้ ซึ่งมีคำ
เริ่มต้นว่า เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม มีกำลังน้อย ดังนี้เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(นางนาคอิรันทดีผู้ธิดากราบทูลว่า)
[๑๓๔๙] “ข้าแต่พระบิดา เหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงซบเซาอยู่
พระพักตร์ของพระองค์เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นอิสราธิบดี เป็นที่เกรงขามของศัตรู
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงทุกข์พระทัย
ขออย่าทรงเศร้าโศกเลย พระเจ้าข้า”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[๑๓๕๐] “อิรันทดีลูกรัก มารดาของเจ้าปรารถนาซึ่งดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธุรบัณฑิตยากที่ใครจะพบได้
ใครเล่าจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ได้
[๑๓๕๑] เจ้าจงเที่ยวไปแสวงหาสามี
ผู้ซึ่งจักนำวิธุรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้”
นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว
มีจิตชุ่มด้วยกิเลสออกไปเที่ยวตลอดคืน
(นางนาคอิรันทดีกล่าวว่า)
[๑๓๕๒] “คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์พวกไหน
คนไหนเป็นบัณฑิตสามารถจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้
เขาจักเป็นสามีของเราตลอดกาล”
(เสนาบดียักษ์กล่าวว่า)
[๑๓๕๓] “นางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ ขอเธอจงเบาใจเถิด
เราจักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอ
เพราะปัญญาของเราสามารถจะนำเนื้อดวงหทัย
ของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้
ขอจงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๕๔] นางอิรันทดีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่
เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า
“มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักของพระบิดาของฉัน
พระบิดาของฉันนี่แหละจักตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ท่าน”
[๑๓๕๕] นางอิรันทดีประดับตกแต่งนุ่งผ้าเรียบร้อยแล้ว
ทัดทรงดอกไม้ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปยังสำนักของพระบิดา
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๕๖] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค
ขอพระองค์ได้โปรดสดับถ้อยคำของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร
ข้าพระองค์ปรารถนาพระนางอิรันทดี
ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระองค์
ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทดีเถิด
[๑๓๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดได้ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น
คือ ช้าง ๑๐๐ เชือก ม้า ๑๐๐ ตัว
รถที่เทียมด้วยม้าอัสดร ๑๐๐ คัน
เกวียนบรรทุกของเต็มด้วยรัตนะต่าง ๆ ๑๐๐ เล่ม
ขอได้โปรดพระราชทานพระราชธิดาอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๓๕๘] “ขอท่านจงรออยู่จนกว่าเราจะได้ปรึกษาหารือ
กับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่สนิทเสียก่อน
(เพราะ)กรรมที่กระทำลงไปโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกันนั้น
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๕๙] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปสู่นิเวศน์
ปรึกษากับพระชายา ตรัสคำนี้ว่า
[๑๓๖๐] “ปุณณกยักษ์นี้นั้นมาขอลูกอิรันทดีกับเรา
เราจะให้ลูกอิรันทดีผู้เป็นที่รักของเราแก่ปุณณกยักษ์นั้น
เพราะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจเป็นจำนวนมากหรือ”
(นางนาควิมลามเหสีกราบทูลว่า)
[๑๓๖๑] “ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
แต่ถ้าปุณณกยักษ์จะพึงได้หทัยของบัณฑิต
นำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
เขาจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
หม่อมฉันไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งกว่านี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๖๒] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์
ตรัสเรียกปุณณกยักษ์มาแล้วตรัสดังนี้ว่า
[๑๓๖๓] “ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเรา
เพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจ
ถ้าท่านได้หทัยของบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้ได้โดยชอบธรรม
ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเราเพราะสิ่งที่น่าปลื้มใจนั้น
เราไม่ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านี้”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๖๔] “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในโลกนี้
คนบางคนย่อมเรียกคนใดว่าเป็นบัณฑิต
คนอีกพวกหนึ่งกลับเรียกคนนั้นนั่นแหละว่าเป็นพาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่
ขอพระองค์ได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
พระองค์ทรงเรียกใครเล่าว่า เป็นบัณฑิต”
(พญานาควรุณตรัสว่า)
[๑๓๖๕] “บัณฑิตชื่อว่าวิธุระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรม
แก่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังมาแล้ว
ขอท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา
ครั้นท่านได้มาโดยชอบธรรมแล้ว
นางอิรันทดีจงเป็นผู้บำเรอเท้า (ภรรยา) ของท่านเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๓๖๖] ฝ่ายปุณณกยักษ์ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชนี้แล้ว
ก็ยินดียิ่งนัก ลุกขึ้นแล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตน
ผู้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละว่า
“เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มาที่นี้นั่นแหละให้ได้
[๑๓๖๗] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วด้วยแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
[๑๓๖๘] “ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๖๙] ปุณณกยักษ์นั้นกำหนัดด้วยกามราคะ
กำลังปรารถนานางอิรันทดีนาคกัญญา
ไปกราบทูลท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศเป็นใหญ่แห่งภูตว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๗๐] ภพนาคนั้นเขาเรียกว่า โภควดีนครบ้าง
วาสนานครบ้าง หิรัญวดีนครบ้าง
เป็นเมืองนิรมิตล้วนแต่ทองคำ
สำเร็จแก่พญานาคผู้สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง
[๑๓๗๑] ป้อมและเชิงเทินสร้างมีรูปทรงเหมือนคออูฐ
ทำด้วยแก้วแดงและแก้วลาย
ในนาคพิภพนั้น มีปราสาททำด้วยศิลา
มุงด้วยกระเบื้องทองคำ
[๑๓๗๒] ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า
ไม้หว้า ไม้ตีนเป็ด ไม้จิก
ไม้เกด ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์
ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา และไม้ย่านทราย
[๑๓๗๓] ไม้จำปา ไม้กากะทิง มะลิซ้อน มะลิลา
และไม้กระเบา ต้นไม้ในนาคพิภพเหล่านี้
มีกิ่งโน้มเข้าหากัน ยังมณเฑียรของนาคราชให้งามยิ่งนัก
[๑๓๗๔] ในนาคพิภพนั้น มีต้นอินทผลัมสำเร็จแล้วด้วยแก้วอินทนิล
ผลิดอกล้วนแต่ทองเป็นนิตย์จำนวนมาก
ซึ่งเป็นที่อยู่ของท้าววรุณนาคราชผู้มีฤทธิ์มาก ผู้ผุดเกิด
[๑๓๗๕] พญานาคนั้นมีมเหสีกำลังสาวรุ่นทรงพระนามว่าวิมลา
มีพระรูปโฉมสง่างามดังแท่งทองคำ
สูงโปร่งสะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ
ทั้งคู่มีสัณฐานดังผลมะพลับงดงามน่าชมยิ่งนัก
[๑๓๗๖] มีพระฉวีวรรณแดงประดุจน้ำครั่ง
เปรียบเสมือนดอกกรรณิการ์ที่แย้มบานน้อมลง
เหมือนดังนางอัปสรที่เที่ยวไปในภพชั้นดาวดึงส์
หรือเหมือนสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้นทรงแพ้พระครรภ์
ทรงปรารถนาซึ่งดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
ข้าพระองค์จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิตนั้น
แก่ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลาทั้ง ๒ พระองค์นั้น
เพราะเหตุนั้น ท้าวเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้น
จะพระราชทานพระนางอิรันทดีให้แก่ข้าพระองค์
[๑๓๗๘] ปุณณกยักษ์นั้นทูลลาท้าวกุเวรเวสสุวรรณผู้เรืองยศ
เป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์แล้ว
ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนในที่นั้นนั่นแหละว่า
เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่เตรียมไว้มา ณ ที่นี้เถิด
[๑๓๗๙] ม้าอาชาไนยตัวนั้นมีหูทั้ง ๒ ข้างประดับด้วยทอง
มีกีบหุ้มแล้วแก้วมณีแดง
มีเครื่องประดับอกทำด้วยทองชมพูนุทอันสุกปลั่ง
[๑๓๘๐] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับแล้ว
จัดแจงแต่งผมและหนวดดีแล้ว
ก็ขึ้นขี่ม้าอันเป็นยานพาหนะของเทวดา
เหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๘๑] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปยังกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์นัก
เป็นนครของพระเจ้าอังคะที่พวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้
มีภักษาหาร ข้าว และน้ำมากมาย
ดังภพของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[๑๓๘๒] เป็นนครที่อึกทึกกึกก้องไปด้วยฝูงนกยูงและนกกระเรียน
อื้ออึงไปด้วยฝูงนกต่าง ๆ ชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนก
มีนกต่าง ๆ ส่งเสียงร่ำร้องอยู่อึงมี่
มีเนินสวยงาม ดารดาษไปด้วยดอกไม้เหมือนภูเขาหิมพานต์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
[๑๓๘๓] ปุณณกยักษ์นั้นขึ้นเวปุลลบรรพตซึ่งเป็นภูเขาศิลาล้วน
เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่กินนร
เที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่
จึงได้เห็นแก้วมณีนั้นในท่ามกลางยอดเขา
[๑๓๘๔] ครั้นได้เห็นแก้วมณีอันมีรัศมีผุดผ่อง
เป็นแก้วมณีที่ประเสริฐสุด
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจมุ่งหมาย
รุ่งโรจน์โชติช่วงอยู่กับหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก
สว่างไสวอยู่ดังสายฟ้าในอากาศ
[๑๓๘๕] จึงได้ถือแก้วไพฑูรย์ชื่อว่า มโนหรจินดา
อันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะไม่ทราม
ขึ้นขี่หลังม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๓๘๖] ปุณณกยักษ์นั้นได้เหาะไปถึงกรุงอินทปัตถ์
ลงมาแล้วเข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ
ไม่เกรงกลัวพระราชา ๑๐๑ พระองค์
ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น
กล่าวท้าทายด้วยสะกาว่า
[๑๓๘๗] บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ไหนหนอ
จะทรงชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐของข้าพระองค์ได้
หรือข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ
เมื่อชนะจะชิงเอาแก้วมณีอันประเสริฐอันยอดเยี่ยม
กับพระราชาพระองค์ไหน
อีกประการหนึ่ง พระราชาพระองค์ไหนจะทรงชนะข้าพระองค์
ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) โทหฬกัณฑ์
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสถามว่า)
[๑๓๘๘] “ชาติภูมิของท่านอยู่แคว้นไหน
ถ้อยคำของท่านนี้ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย
ท่านมิได้เกรงกลัวเราทั้งมวลด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ
ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา”
(ปุณณกยักษ์ทูลตอบว่า)
[๑๓๘๙] “ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพ
กัจจายนโคตรชื่ออนูนะ
ญาติ ๆ และพวกพ้องของข้าพระองค์อยู่ในแคว้นอังคะ
ต่างก็พากันเรียกข้าพระองค์อย่างนี้
ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มาถึงเมืองนี้
ด้วยต้องการที่จะเล่นการพนันสะกา”
(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า)
[๑๓๙๐] “พระราชาทรงชำนาญการเล่นสะกา
เมื่อทรงชนะจะพึงนำเอาแก้วเหล่าใดไป
แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ
แก้วของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ท่านเป็นคนเข็ญใจจะมาพนันกับพระราชาเหล่านั้น
ผู้มีทรัพย์มากมายได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๙๑] “แก้วมณีของข้าพระองค์นี้
ชื่อว่าสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
นักเลงสะกาชนะข้าพระองค์แล้วพึงนำแก้วมณีดวงประเสริฐ
สามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา
และม้าอาชาไนยเป็นที่เกรงขามของศัตรู
ของข้าพระองค์ทั้ง ๒ นี้ไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
(พระราชาทั้งหลายตรัสว่า)
[๑๓๙๒] “มาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้
ส่วนม้าอาชาไนยตัวเดียวจักทำอะไรได้
แก้วมณีของพระราชามีอยู่เป็นจำนวนมาก
ม้าอาชาไนยที่มีกำลังรวดเร็วดังลม
ของพระราชามีมิใช่น้อยเลย”
โทหฬกัณฑ์จบ

มณิกัณฑ์
ตอนว่าด้วยอานุภาพแก้วมณี
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๓๙๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าประชาชน
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูแก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้เถิด
มีรูปหญิงและรูปชายปรากฏเป็นหมู่ ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๓๙๔] มีรูปเนื้อและรูปนกปรากฏเป็นหมู่ ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้
มีพญานาคและพญาครุฑปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูจตุรงคินีเสนานี้
คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ที่สวมเกราะอันธรรมดาได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดู
เหล่าพลทหารที่จัดไว้เป็นกรม ๆ คือ
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๓๙๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูพระนคร
ที่มีป้อมพร้อมมูล มีกำแพงและค่ายเป็นอันมาก
มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นที่สวยงาม
อันธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเสาระเนียด
คูคลอง กลอนประตูเหล็ก ป้อมค่าย และซุ้มประตู
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๓๙๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูฝูงนกนานาชนิด
เป็นจำนวนมากมายที่ปลายเสาค่าย
คือ ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพาก และนกเขา
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๔๐๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกชนิดต่าง ๆ
คือ ฝูงนกดุเหว่าดำ นกดุเหว่าที่มีปีกลายงดงาม ไก่ฟ้า
และนกโพระดก เป็นจำนวนมาก
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้เถิด
[๑๔๐๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดูพระนคร
ที่ล้อมด้วยกำแพงทองคำ
น่าอัศจรรย์ชวนให้ขนพองสยองเกล้า
ชักธงขึ้นเป็นประจำ น่ารื่นรมย์ ลาดด้วยทรายทอง
[๑๔๐๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรร้านตลาด
ที่เต็มไปด้วยสินค้านานาชนิด
เรือน สิ่งของในเรือน ถนน ซอย และถนนหลวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๐๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรโรงขายสุรา
นักเลงสุรา พ่อครัว เรือนครัว พ่อค้า
หญิงแพศยา หญิงงามเมือง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกช่างดอกไม้
ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า
ช่างทอง และพวกช่างแก้วมณี
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกคนทำของหวาน
คนทำของคาว พวกนักดนตรี คือ
บางพวกฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์
บัณเฑาะว์ มโหระทึก และเครื่องดนตรีทุกชนิด
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเปิงมาง (ฉิ่ง) กังสดาล พิณ
การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าที่เขาประโคมกึกก้อง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๘] อนึ่ง ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักกระโดด
นักมวย นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม
และช่างตัดผม ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๐๙] ก็ในแก้วมณีดวงนี้ มีมหรสพที่คลาคล่ำไปด้วยชายหญิง
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพื้นที่สำหรับเล่นมหรสพ
บนเตียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๑๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพวกนักมวย
ผู้กำลังชกต่อยกันอยู่ในสนามมวย
ที่วงรอบเป็นสองชั้น ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๑] ขอทูลเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด
เป็นจำนวนมากที่เชิงเขา เช่น
ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว
[๑๔๑๒] แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย ระมาด วัว สุกรบ้าน
[๑๔๑๓] ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต
ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหลาก
ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรฝูงเนื้อนานาชนิด
ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนซึ่งธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๔] ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำที่มีท่าน้ำสวยงาม
ลาดด้วยทรายทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลา
[๑๔๑๕] อนึ่ง ในแม่น้ำนี้ มีฝูงจระเข้
มังกร ตะโขง เต่า ปลาสลาด
ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า
และปลาตะเพียนแหวกว่ายไปมา
[๑๔๑๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี
ที่ก่อสร้างด้วยแก้วไพฑูรย์
ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด
ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้ชนิดต่าง ๆ
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๑๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้
ที่ธรรมชาติเนรมิตไว้เป็นอย่างดีทั้ง ๔ ทิศ
เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลานานาชนิด
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาใหญ่
[๑๔๑๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ
เป็นแก่งแห่งสาครประกอบราวไพร
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๑๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรบุพพวิเทหทวีปทางข้างหน้า
อปรโคยานทวีปทางข้างหลัง
อุตตรกุรุทวีปและชมพูทวีปทางด้านขวา
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๐] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ที่กำลังหมุนรอบภูเขาสิเนรุ
ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศทั้ง ๔ และสิ่งมหัศจรรย์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๑] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรภูเขาสิเนรุ ภูเขาหิมพานต์
สมุทรสาคร พื้นแผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๒] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวน หินดาด
และเนินหินที่น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยกินนร
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๓] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวนสวรรค์
คือ ปารุสกวัน จิตรลดาวัน มิสกวัน
นันทวัน และเวชยันตปราสาท
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) มณิกัณฑ์
[๑๔๒๔] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสภาชื่อสุธรรมา
ต้นปาริฉัตรที่มีดอกบานสะพรั่ง และพญาช้างเอราวัณ
ซึ่งมีอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๕] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา
ผู้เลอโฉมยิ่งนัก ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ
ผู้กำลังเที่ยวไปอยู่ในนันทวันนั้น
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๖] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
ขอทูลเชิญทอดพระเนตรเหล่านางเทพกัญญา
ผู้ประเล้าประโลมเทพบุตร
ซึ่งกำลังอภิรมย์เหล่าเทพบุตรอยู่ในนันทวันนั้น
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๗] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรปราสาท
เกินกว่า ๑,๐๐๐ หลัง
ซึ่งมีพื้นลาดด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีเรืองรอง
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๘] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ที่ธรรมชาติได้เนรมิตไว้ในแก้วมณีดวงนี้
[๑๔๒๙] ขอทูลเชิญพระองค์ทอดพระเนตรสระโบกขรณี
ที่มีน้ำใสสะอาด ซึ่งดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก
ดอกปทุม และดอกอุบลในสวรรค์นี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
[๑๔๓๐] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายขาว ๑๐ ลาย
สวยงามน่ารื่นรมย์ใจ ลายสีเหลืองอ่อน ๒๑ ลาย
และลายเหลืองขมิ้น ๑๔ ลาย ปรากฏอยู่
[๑๔๓๑] ในแก้วมณีดวงนั้น มีลายสีทอง ๒๐ ลาย
ลายสีเงิน ๒๐ ลาย ปรากฏอยู่
ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ ลาย ปรากฏอยู่
[๑๔๓๒] ในแก้วมณีดวงนี้ มีลายสีดำ ๑๖ ลาย
ลายสีดอกชะบา ๒๕ ลาย แซมด้วยลายดอกหงอนไก่
อันงามตระการตาด้วยดอกอุบลเขียวปรากฏอยู่
[๑๔๓๓] ข้าแต่มหาราชผู้สูงส่งกว่าชาวประชา
ขอทูลเชิญพระองค์ทรงทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้
ซึ่งมีรัศมีเรืองรองผ่องใส สมบูรณ์ทุก ๆ ส่วนอย่างนี้
อันเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะพนัน”
มณีกัณฑ์ จบ

อักขกัณฑ์
ตอนว่าด้วยการเล่นสะกา
(ต่อจากนั้น ปุณณกยักษ์ได้กราบทูลต่อไปว่า)
[๑๔๓๔] “ข้าแต่พระราชา การงานในโรงเล่นการพนัน (สะกา)
สำเร็จลงแล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไป
สถานที่จะทรงเล่นการพนันเถิด
แก้วมณีเช่นนี้สำหรับพระองค์ไม่มี
เราทั้ง ๒ เมื่อเล่นก็จะพึงชนะกันโดยธรรม
ขอจงอย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม
ถ้าพระองค์แพ้แล้ว ขออย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
[๑๔๓๕] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาละผู้มีพระกิตติศัพท์โด่งดัง
ข้าแต่พระเจ้ามัจฉะ พระเจ้ามัททะ
พร้อมด้วยชาวเกกกชนบททั้งหลาย
ขอพระราชาเหล่านี้จงทรงทอดพระเนตรการต่อสู้
ของข้าพระองค์ทั้งหลายโดยการไม่ฉ้อโกง
มิใช่ไม่ทรงทำใครให้เป็นพยานในที่ประชุมเลย”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[๑๔๓๖] “พระราชาของชาวแคว้นกุรุและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น
ต่างก็มัวเมาในการเล่นการพนันพากันเข้าไปสู่โรงเล่นการพนัน
พระราชาทรงเลือกอยู่จึงได้รับความปราชัย
ส่วนปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะ
[๑๔๓๗] พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้ง ๒ นั้น
เมื่อลูกสะกามีพร้อมแล้วก็ได้เล่นการพนันในโรงเล่นการพนันนั้น
ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าและประเสริฐกว่าชน
ในท่ามกลางพระราชาและพยานทั้งหลาย
เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้นในสนามการพนันนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๓๘] “ข้าแต่มหาราช บรรดาเราทั้ง ๒ ที่ยังพยายามเล่นอยู่
ความชนะและความแพ้ย่อมตกแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน
พระองค์ทรงเสื่อมจากทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ทรงแพ้แล้ว
ขอพระองค์จงทรงพระราชทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์โดยเร็วเถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๓๙] ท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
และรัตนะที่ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา
ท่านจงรับไปเถิด เชิญขนไปตามปรารถนาเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๐] “ช้าง ม้า โค ตุ้มหูแก้วมณี
รัตนะแม้อื่นใดที่มีอยู่ในแผ่นดินของพระองค์
บัณฑิตชื่อว่าวิธุระเป็นผู้ประเสริฐกว่ารัตนะทั้งปวงเหล่านั้น
ข้าพระองค์ได้ชนะพระองค์แล้ว
โปรดพระราชทานวิธุรบัณฑิตนั้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นเป็นเหมือนตัวของเรา เป็นสรณะ เป็นคติ
เป็นที่พึ่ง เป็นที่เร้น และเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเรา
ท่านไม่ควรเปรียบวิธุรบัณฑิตนั้นกับทรัพย์ของเรา
วิธุรบัณฑิตนี้เท่ากับชีวิตของเรา คือตัวเราเอง”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๒] “การโต้แย้งกันของข้าพระองค์กับพระองค์จะพึงเป็นไปนาน
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตนั้นดูดีกว่า
วิธุรบัณฑิตนี้แหละจะไขข้อข้องใจนี้แก่เราทั้งหลายได้
วิธุรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นก็จักเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้ง ๒”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๓] “มาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว และไม่ได้พูดคำรุนแรงแก่เรา
พวกเราไปถามวิธุรบัณฑิตกันดูเถิด
เราทั้ง ๒ คนจงยินดีคำที่วิธุรบัณฑิตพูดนั้น”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๔] “เทวดาทั้งหลายรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุชื่อว่าวิธุระ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธุระในโลกนั้น
ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาสหรือเป็นพระญาติของพระราชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อักขกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๔๔๕] “ทาสมี ๔ จำพวก คือ
(๑) ทาสในเรือนเบี้ย (๒) ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์
(๓) ทาสที่ยอมตนเข้าเป็นข้าเฝ้า (๔) ทาสเชลย๑
[๑๔๔๖] ในหมู่คนมีทาส ๔ จำพวกเหล่านี้
แม้ข้าพระองค์ก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว
ความเจริญหรือความเสื่อมจะมีแก่พระราชาก็ตาม
ข้าพระองค์ไปสู่ที่อื่นก็ยังคงเป็นทาสของสมมติเทพอยู่นั่นเอง
มาณพ พระราชาก็จะพึงพระราชทานตัวข้าพเจ้าแก่ท่านโดยธรรม”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๔๗] “ชัยชนะนี้เป็นชัยชนะครั้งที่ ๒ ของข้าพระองค์ในวันนี้
เพราะว่าวิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
ได้ชี้แจงปัญหาอย่างแจ่มแจ้ง
พระราชาผู้ประเสริฐไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ
วิธุรบัณฑิตได้กล่าวไว้ถูกต้องดีแล้ว
พระราชาไม่ทรงอนุญาตให้วิธุรบัณฑิตนี้แก่ข้าพระองค์”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๘] “กัจจานะ หากวิธุรบัณฑิตได้ชี้แจงปัญหาแก่พวกเราอย่างนี้ว่า
เราเป็นทาส เรามิได้เป็นญาติเลย ท่านจงรับเอาวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นทรัพย์อันประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย
พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด”
อักขกัณฑ์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทาสในเรือนเบี้ย หมายถึงทาสผู้เกิดในครรภ์ของนางทาสหรือนางทาสี ทาสที่ยอมตนเป็นข้าเฝ้า
หมายถึงพวกคนที่เกิดในตระกูลผู้รับใช้ ยอมตนเข้าไปเป็นทาสเขา ทาสเชลย หมายถึงพวกคนที่พลัดที่
อยู่ของตน เพราะราชภัย โจรภัย หรือตกเป็นเชลย ยอมไปอยู่ในแผ่นดินอื่น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๔๕/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ฆราวาสปัญหา
ฆราวาสปัญหา
ปัญหาในการอยู่ครองเรือน
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๔๙] “ท่านวิธุระ คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
จะพึงมีความประพฤติที่ปลอดภัยได้อย่างไร
จะพึงมีการสงเคราะห์ได้อย่างไร
[๑๔๕๐] จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างไร
และอย่างไรคนจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
คนจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร
[๑๔๕๑] วิธุรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร
มีปัญญาเห็นอรรถธรรม
กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลคำนี้
กับพระราชาพระองค์นั้นในธรรมสภานั้นว่า
[๑๔๕๒] “ผู้อยู่ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณ์๑เป็นภรรยา
ไม่ควรบริโภคอาหารอันมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว
ไม่ควรส้องเสพกล่าวถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก
เพราะว่าคำอันให้ติดอยู่ในโลกนี้ไม่เป็นทางเจริญแห่งปัญญา
[๑๔๕๓] ผู้อยู่ครองเรือนควรเป็นคนมีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเห็นประจักษ์
มีความประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง
สงบเสงี่ยม พูดคำไพเราะจับใจ สุภาพอ่อนโยน
[๑๔๕๔] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร
จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำกิจการงาน
บำรุงสมณะและพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ หญิงสาธารณ์ หมายถึงภรรยาของคนอื่น ผู้ครองเรือนไม่พึงประทุษร้าย (เป็นชู้) ในภรรยาของคนอื่น
(ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๕๒/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
[๑๔๕๕] ผู้อยู่ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม ทรงสุตะ
หมั่นสอบถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยความเคารพ
[๑๔๕๖] คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนของตน
ควรมีความประพฤติปลอดภัยอย่างนี้
ควรสงเคราะห์ได้อย่างนี้
[๑๔๕๗] ไม่ควรเบียดเบียนกันและกันอย่างนี้
และคนควรปฏิบัติอย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์
จากโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าจะไม่เศร้าโศกได้ด้วยประการฉะนี้”
ฆราวาสปัญหา จบ

ลักขณกัณฑ์
ตอนว่าด้วยลักษณะของบัณฑิต
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๔๕๘] “มาเถิดท่าน ประเดี๋ยวเราจักไปกัน
พระราชาผู้เป็นใหญ่
ได้ทรงพระราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว
ขอท่านจงปฏิบัติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเท่านั้น
นี้เป็นธรรมเก่า
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๔๕๙] “มาณพ ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่ทรงพระราชทานให้ท่านแล้ว
แต่พวกเราขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนของตนสัก ๓ วัน
และขอให้ท่านยับยั้งรออยู่ตลอดเวลา
ที่ข้าพเจ้าจะได้สั่งสอนบุตรทั้งหลายก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๔๖๐] “คำที่ท่านกล่าวมาทั้งหมดนั้น
จงเป็นไปตามที่ท่านกล่าวอย่างนั้น
ข้าพเจ้าจะพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป
ขอท่านจงทำหน้าที่ในเรือนเถิด
จงสั่งสอนบุตรและภรรยาเสียแต่ในวันนี้
โดยวิธีที่บุตรและภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขใจ
เมื่อท่านจากไปแล้ว
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๖๑] ปุณณกยักษ์ผู้มีโภคทรัพย์จำนวนมากกล่าวว่า ตกลง
แล้วได้หลีกไปพร้อมกับวิธุรบัณฑิต
เป็นอารยชนผู้มีมรรยาทประเสริฐสุด
ได้เข้าไปสู่ภายในเมืองของวิธุรบัณฑิต
ที่เต็มไปด้วยช้างและม้าอาชาไนย
[๑๔๖๒] ปราสาทของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ หลัง คือ
(๑) โกญจนปราสาท (๒) มยูรปราสาท (๓) ปิยเกตปราสาท
ในปราสาท ๓ หลังนั้น พระโพธิสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์
เข้าไปยังปราสาทซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
มีภักษาเพียงพอ มีข้าวน้ำมากมาย
ดังวิมานของท้าววาสวะ ซึ่งชื่อว่ามสักกสาระ
[๑๔๖๓] ในปราสาทหลังนั้น มีนารีทั้งหลายประดับอย่างงดงาม
ฟ้อนรำขับร้องเพลงอย่างไพเราะจับใจ
เหมือนนางเทพอัปสรในเทวโลกกล่อมปุณณกยักษ์อยู่
[๑๔๖๔] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้รับรองปุณณกยักษ์
ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าวและน้ำแล้ว
คิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาในกาลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ลักขณกัณฑ์
[๑๔๖๕] ได้กล่าวกับภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์และน้ำหอม
ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุทว่า
นางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาสีน้ำตาล มานี่เถิด
จงเรียกบุตรทั้งหลายมาฟังคำสั่งสอน
[๑๔๖๖] นางอโนชาได้ฟังคำของสามีแล้ว
ได้กล่าวกับลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีนัยน์ตางามว่า
“เจ้าผู้มีผิวพรรณดังดอกบัวเขียว
เจ้าจงเรียกบุตรทั้งหลายเหล่านั้นมาเถิด”
[๑๔๖๗] พระโพธิสัตว์ผู้รักษาธรรมได้จุมพิตบุตรเหล่านั้น
ผู้มาแล้วที่กระหม่อม เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
ครั้นเรียกมาแล้วได้สั่งสอนว่า
พระราชาในกรุงอินทปัตถ์นี้ได้พระราชทานพ่อให้แก่มาณพ
[๑๔๖๘] ตั้งแต่วันนี้ไป พ่อจะมีความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน
ต่อจากนั้นไป พ่อก็จะต้องเป็นอยู่ในอำนาจของมาณพนั้น
เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา
พ่อกลับมาเพื่อจะสั่งสอนลูก ๆ ว่า
พ่อยังมิได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูก ๆ แล้วจะพึงไปได้อย่างไร
[๑๔๖๙] ถ้าพระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้มีโภคทรัพย์ที่น่าใคร่เป็นจำนวนมาก
ทรงประสานชนผู้เป็นมิตร พึงตรัสถามลูกทั้งหลายว่า
เมื่อก่อน พวกเธอรู้เหตุการณ์เก่า ๆ อะไรบ้าง
พ่อของพวกเธอได้พร่ำสอนอะไรไว้ในก่อนบ้าง
[๑๔๗๐] ก็ถ้าพระราชาจะพึงตรัสว่า
พวกเธอเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราในราชตระกูลนี้
คนอื่นใครเล่าจะเป็นคนมีชาติตระกูลสมควรกับพระราชาไม่มี
ลูกทั้งหลายพึงประนมมือกราบทูลพระราชานั้นอย่างนี้ว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้รับสั่งอย่างนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
เพราะนั่นมิใช่ธรรมของพวกข้าพระองค์
ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์
จะพึงมีอาสนะเสมอกับพระองค์ได้อย่างไร
เหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวมีชาติต่ำต้อย
จะพึงมีอาสนะเสมอกับเสือได้อย่างไร พระเจ้าข้า
ลักขณกัณฑ์ จบ

ราชวสตีธรรม
ว่าด้วยธรรมสำหรับผู้อยู่ในราชสำนัก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๗๑] “วิธุรบัณฑิตนั้นมีความดำริในใจที่ไม่หดหู่
ได้กล่าวกับบุตร ธิดา อำมาตย์ ญาติ
และเพื่อนสนิทดังนี้ว่า
[๑๔๗๒] “ลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงพากันมา
นั่งฟังราชวสตีธรรม๑ ที่เป็นเหตุให้บุคคล
ผู้เข้าไปสู่ราชตระกูลแล้วได้ยศ
[๑๔๗๓] เพราะบุคคลผู้เข้าไปสู่ราชตระกูล
มีคุณความดียังไม่ปรากฏ ย่อมไม่ได้ยศ
ผู้เป็นราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป
ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าในกาลไหน ๆ
[๑๔๗๔] เมื่อใด พระราชาทรงทราบปัญญา
และความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น
เมื่อนั้น พระองค์ก็ทรงวางพระทัย
และไม่ทรงปกปิดความลับของพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ราชวสตีธรรม หมายถึงธรรมของผู้รับราชการ, ผู้ปฏิบัติราชการ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๗๒/๒๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๗๕] ราชเสวกที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้
ก็ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจความพอใจเป็นต้น
พึงเป็นผู้สม่ำเสมอเหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดีฉะนั้น
ราชเสวกผู้เห็นปานนี้นั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๖] ราชเสวกเมื่อกระทำราชกิจทุกอย่าง
เหมือนตราชั่งที่บุคคลจับประคอง
ให้มีคันเที่ยงตรงสม่ำเสมอดี
พึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๗] ราชเสวกนี้ผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ที่พระราชาตรัสรับสั่งใช้ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่พึงหวาดหวั่น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๘] ราชเสวกต้องเป็นผู้ฉลาดในราชกิจทั้งหลาย
ทำราชกิจทุกอย่างไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๗๙] ทางใดที่เขาทำประดับตกแต่งไว้เรียบร้อยดี
เพื่อเสด็จพระราชดำเนินของพระราชา พระองค์ทรงอนุญาตแล้ว
ราชเสวกก็ไม่ควรเดินตามทางนั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๐] ราชเสวกไม่พึงบริโภคกามทัดเทียมกับพระราชา
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง๑
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
๑ พึงดำเนินการตามหลังในทุก ๆ อย่าง หมายถึงข้าราชสำนักพึงดำเนินการ (บริโภค) ในกามคุณทุก
อย่างมีรูปเป็นต้นตามหลังพระราชา (ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้า) อย่างเดียว โดยความ คือใช้แต่ของที่
ด้อยกว่าเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๘๐/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๘๑] ราชเสวกไม่พึงใช้สอยเสื้อผ้า ประดับประดาดอกไม้
เครื่องลูบไล้ทัดเทียมกับพระราชา
ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยาหรือการพูดจาทัดเทียมกับพระราชา
แต่ควรทำอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๒] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับอำมาตย์
พระสนมกำนัลในเฝ้าแหนอยู่ อำมาตย์ต้องเป็นคนฉลาด
ไม่พึงทำการทอดสนิทในพระชายาทั้งหลายของพระราชา
[๑๔๘๓] ราชเสวกไม่พึงเป็นคนฟุ้งซ่าน ตลบตะแลง
พึงมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน
สำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วยความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๔] ราชเสวกไม่พึงเล่นหัว เจรจาปราศรัย
ในที่ลับกับพระชายาทั้งหลายของพระราชานั้น
ไม่พึงเบียดบังทรัพย์จากพระคลังหลวง
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๕] ราชเสวกไม่พึงหลับนอนมากนัก
ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย
ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๘๖] ราชเสวกไม่พึงนั่งร่วมพระภัทรบิฐ
พระบัลลังก์ เก้าอี้พระที่นั่ง
เรือพระที่นั่ง และรถพระที่นั่ง
ด้วยการทนงตัวว่าเป็นคนโปรดปราน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๘๗] ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ไม่ควรเฝ้าห่างนัก ใกล้นัก
ควรยืนเฝ้าในที่เฉพาะพระพักตร์
พอให้ทอดพระเนตรเห็นได้ถนัด
[๑๔๘๘] ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า
พระราชาเป็นเพื่อนของเรา
พระราชาเป็นคู่หูกับเรา
พระราชาทั้งหลายทรงพิโรธได้เร็วไว
เหมือนนัยน์ตาถูกผงกระทบ
[๑๔๘๙] ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์เป็นบัณฑิต
พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำที่ให้ทรงพิโรธ
กับพระราชาผู้ประทับอยู่ในราชบริษัท
[๑๔๙๐] ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ
ไม่ควรวางใจในพระราชาทั้งหลาย
ควรเป็นผู้สำรวม เหมือนอยู่ใกล้ไฟ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๑] พระราชาจะทรงยกย่องพระโอรส
หรือเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ด้วยบ้าน นิคม
แคว้น หรือชนบท ราชเสวกควรจะนิ่งดูก่อน
ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษในเวลานั้น
[๑๔๙๒] พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบ ตามความชอบในราชการของเขา
ราชเสวกไม่ควรทัดทานคนเหล่านั้น
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๔๙๓] ราชเสวกผู้เป็นปราชญ์พึงโอนอ่อนเหมือนคันธนู
และพึงโอนเอนไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๔] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู
เป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา๑ รู้จักประมาณในการบริโภค
มีปัญญารักษาตน แกล้วกล้า
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๕] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงซึ่งเป็นเหตุให้ถึงความสิ้นเดช
คนที่สิ้นปัญญาย่อมเข้าถึงโรคไอ โรคมองคร่อ
ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง
[๑๔๙๖] ราชเสวกไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งไปทุกเมื่อ
เมื่อถึงเวลา ควรพูดพอประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ
[๑๔๙๗] ราชเสวกเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น
เป็นคนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่พูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๘] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาและบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจาละมุนละไม
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๔๙๙] ราชเสวกเป็นผู้ได้รับแนะนำดี มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว
เป็นผู้ทำประโยชน์ แน่นอน อ่อนโยน
ไม่ประมาท สะอาดและขยัน
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีลิ้นเหมือนปลา หมายถึงข้าราชการควรมีกิริยาเหมือนไม่มีลิ้น โดยพูดให้น้อย (ทำงานให้มาก)
เหมือนปลาพูดไม่ได้ เพราะไม่มีลิ้น (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๔๙๔/๒๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๕๐๐] ราชเสวกเป็นผู้มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญเป็นผู้สงบเสงี่ยม
อยู่ร่วมกันเป็นสุข ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๑] ราชเสวกพึงเว้นไกลซึ่งทูตผู้ที่พระราชาฝ่ายปรปักษ์
ส่งมาเพื่อความลับ พึงดูแลแต่เฉพาะพระราชวงศ์เท่านั้น
ไม่พึงอยู่ในสำนักของพระราชาฝ่ายอื่น
[๑๕๐๒] ราชเสวกพึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูตโดยความเคารพ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๓] ราชเสวกเมื่อคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต
พึงสมาทานรักษาอุโบสถศีลโดยความเคารพ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๔] ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าวและน้ำ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๕] ราชเสวกผู้หวังความเจริญแก่ตน
พึงคบหาสมาคมกับสมณะและพราหมณ์
ผู้มีศีล เป็นพหูสูต มีปัญญา
[๑๕๐๖] ราชเสวกไม่พึงทำทานที่เคยพระราชทานมา
ในสมณะและพราหมณ์ให้เสื่อมไป
อนึ่ง เห็นพวกวณิพกที่มาในเวลาพระราชทาน
ไม่ควรห้ามอะไรเลย
[๑๕๐๗] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้พร้อมมูล
ฉลาดในวิธีจัดการราชกิจ เป็นผู้รู้จักกาลสมัย
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) ราชวสตีธรรม
[๑๕๐๘] ราชเสวกเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท
มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงานที่ตนจะพึงทำ
จัดการงานได้สำเร็จเรียบร้อยดี
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๐๙] อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลี
ปศุสัตว์ และนาอยู่เสมอ ๆ
พึงตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้วให้เก็บไว้ในฉาง
พึงนับดูคนข้างเคียงในเรือนแล้ว
จึงให้หุงต้มข้าวแต่พอประมาณเท่านั้น
[๑๕๑๐] ไม่พึงตั้งบุตรหรือพี่น้อง
ผู้ไม่ตั้งมั่นในศีลให้เป็นใหญ่
เพราะคนเหล่านั้นเป็นพาล ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง
คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนตายแล้ว
แต่เมื่อคนเหล่านั้นมาหานั่งอยู่แล้ว
ก็ควรให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร
[๑๕๑๑] พึงตั้งทาส กรรมกร คนใช้ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล
เป็นคนขยันหมั่นเพียรให้เป็นใหญ่
[๑๕๑๒] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภ
และคล้อยไปตามพระราชา
ประพฤติประโยชน์แก่พระราชานั้นทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๑๓] ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระอัธยาศัยของพระราชา
และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระราชา
ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระประสงค์ของพระราชา
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๑๔] ในเวลาผลัดเปลี่ยนพระภูษาทรงและในเวลาสรงสนาน
ราชเสวกควรก้มศีรษะลงชำระพระบาท
แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควรโกรธ
ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้
[๑๕๑๕] บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตนพึงทำอัญชลีแม้หม้อน้ำ
และทำประทักษิณแม้นกแอ่นลมได้
ไฉนเล่า เขาจะไม่พึงนอบน้อมพระราชาผู้เป็นปราชญ์สูงสุด
ผู้พระราชทานสมบัติที่น่าใคร่ทุกอย่างให้
[๑๕๑๖] พระราชาผู้ซึ่งทรงพระราชทานที่นอน
ผ้านุ่งห่ม ยาน เรือนที่อยู่อาศัย
ทรงยังโภคะให้ตกไปทั่วถึง
เหมือนเมฆยังน้ำฝนให้ตกไปเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั่วไปฉะนั้น
[๑๕๑๗] แน่ะเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวสตีธรรม
เมื่อคนประพฤติตาม ย่อมทำให้พระราชาโปรดปราน
และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย
ราชวสตีธรรม จบ

อนันตรเปยยาล
ว่าด้วยเนื้อความที่ย่อไว้ในระหว่าง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๑๘] วิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว
มีหมู่ญาติเพื่อนที่สนิทแวดล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชา
[๑๕๑๙] ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า
และทำประทักษิณพระองค์แล้ว ประนมมือกราบบังคมทูลดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๒๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบอริราชศัตรู
มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามประสงค์ จึงนำข้าพระองค์ไป
ข้าพระองค์จักกราบทูลประโยชน์ของญาติทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดสดับประโยชน์นั้น
[๑๕๒๑] ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่
ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์
และทรัพย์อย่างอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเรือน
โดยประการที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมในภายหลัง
ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว
[๑๕๒๒] ความพลั้งพลาดของข้าพระองค์นี้
ก็เหมือนคนพลาดล้มลงบนแผ่นดิน
แล้วกลับยืนขึ้นได้บนแผ่นดินเหมือนกัน
ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนั้น”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๒๓] “ท่านไม่อาจจะไปได้ นั่นแหละเป็นความพอใจของเรา
เราจะสั่งให้ฆ่าเชือดเฉือน(มาณพนั้น)ออกเป็นท่อน ๆ
แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านจงอยู่ที่นี้แหละ
การทำได้ดังนี้ เราชอบใจ
ท่านบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงส่งกว้างขวางดุจแผ่นดิน
ท่านอย่าไปเลย”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๒๔] “ขอพระองค์อย่าทรงตั้งพระทัยไว้ในอธรรมเลย
ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและธรรมเถิด
กรรมอันเป็นอกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า
ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึงนรกในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๒๕] นี่ไม่ใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ธรรมดาว่านายผู้เป็นใหญ่ของทาส
จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าก็ได้
ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และขอกราบบังคมทูลลาไป”
[๑๕๒๖] พระมหาสัตว์นั้นมีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างนองด้วยน้ำตา
กำจัดความกระวนกระวายในหทัยแล้ว
สวมกอดบุตรคนโตแล้วเข้าไปสู่เรือนหลวง
[๑๕๒๗] บุตรทั้งหลายและภรรยาในบ้านของวิธุรบัณฑิต
ต่างก็นอนร้องไห้คร่ำครวญไปมาอยู่
เหมือนป่าไม้รังถูกพายุพัดล้มระเนระนาด
[๑๕๒๘] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๒๙] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
ในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๑] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญในนิเวศน์ของวิธุรบัณฑิต
[๑๕๓๒] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
[๑๕๓๓] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๔] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๕] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งเราทั้งหลายไป”
[๑๕๓๖] พระมหาสัตว์ทำกิจทั้งหลายในเรือน
สั่งสอนคนของตน คือ มิตร อำมาตย์ คนใช้
บุตร ธิดา ภรรยา และพวกพ้อง
[๑๕๓๗] จัดการงาน บอกมอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์
และการใช้หนี้ แล้วจึงได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า
[๑๕๓๘] “ท่านกัจจานะ
ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว
กิจทั้งหลายที่ควรทำในเรือนของข้าพเจ้าก็ได้ทำแล้ว
อนึ่ง บุตร ธิดา และภรรยา ข้าพเจ้าก็ได้สั่งสอนแล้ว
บัดนี้ ข้าพเจ้ายอมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๓๙] “ท่านมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง
ก็ถ้าท่านได้สั่งสอนบุตร ธิดา ภรรยา และคนอาศัยแล้ว
ขอเชิญท่านรีบไป ณ บัดนี้เถิด
เพราะทางข้างหน้ายังอยู่อีกไกลนัก
[๑๕๔๐] ท่านอย่าได้กลัวเลย จงจับหางม้าอาชาไนยเถิด
นี้เป็นการเห็นชีวโลกครั้งสุดท้ายของท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) อนันตรเปยยาล
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๔๑] “ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม
เพราะข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย วาจา และใจ
ที่จะเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ
[๑๕๔๒] พญาม้านั้นนำวิธุรบัณฑิตเหาะไป
ในอากาศกลางหาวไม่กระทบกิ่งไม้และภูเขาเลย
เหาะไปถึงภูเขากาฬาคีรีอย่างรวดเร็ว
[๑๕๔๓] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
[๑๕๔๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ฯลฯ ยักษ์ได้แปลงเป็นพราหมณ์นำวิธุรบัณฑิตไป
[๑๕๔๕] ภรรยา ๑,๐๐๐ คน และหญิงรับใช้ ๗๐๐ คน
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ทั้งหลาย
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[๑๕๔๖] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า
“บัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน”
[๑๕๔๗] ถ้าบัณฑิตนั้นจักไม่มาภายใน ๗ วัน
ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้าไปสู่กองไฟทั้งหมด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต้องการด้วยชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๔๘] “วิธุรบัณฑิตเป็นคนฉลาดหลักแหลม
สามารถแสดงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ได้แจ้งชัด
มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา คงจะปลดเปลื้องตนได้ฉับพลัน
ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย
วิธุรบัณฑิตปลดเปลื้องตนได้แล้วจักรีบกลับมา”
อนันตรเปยยาล จบ

สาธุนรธรรมกัณฑ์
ตอนว่าด้วยธรรมของคนดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๔๙] ปุณณกยักษ์นั้นไปยืนคิดอยู่บนยอดภูเขากาฬาคีรีนั้นว่า
เจตนาย่อมเป็นของสูง ๆ ต่ำ ๆ
ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ไม่มีแก่เรา
เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้แล้วจักนำแต่หัวใจของเขาไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
[๑๕๕๐] ปุณณกยักษ์มีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา
ไปสู่เชิงเขา พักพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา
ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์
เอาศีรษะหย่อนลงแล้วขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดขวาง
[๑๕๕๑] วิธุรบัณฑิตเป็นอำมาตย์ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ
เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวชันที่น่ากลัว
น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียว ก็ไม่สะดุ้งกลัว
ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ดังนี้ว่า
[๑๕๕๒] “ท่านมีรูปร่างดังผู้ประเสริฐแต่หาเป็นคนประเสริฐไม่
คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม
ทำกรรมหยาบช้า ไม่มีประโยชน์อย่างยิ่ง
กุศลแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีในใจของท่าน
[๑๕๕๓] ท่านปรารถนาจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหว
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า
วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนของอมนุษย์
ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาได้อย่างไร”
(ปุณณกยักษ์ตอบว่า)
[๑๕๕๔] “ถ้าท่านทราบมาแล้วว่าข้าพเจ้าชื่อปุณณกะ
และเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวรพญานาคใหญ่นามว่าวรุณ
ผู้ครอบครองนาคพิภพ มีรูปงามสะอาด
ถึงพร้อมด้วยผิวพรรณแห่งสรีระและกำลัง
[๑๕๕๕] ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญา
ชื่ออิรันทดี ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น
ท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดี
ผู้มีเอวงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๕๖] “ยักษ์ ท่านอย่าได้ลุ่มหลงนักเลย
สัตวโลกเป็นจำนวนมากพินาศไปเพราะความถือผิด
เพราะเหตุไร ท่านจึงทำความรักใคร่
ในนางอิรันทดีผู้มีเอวงามน่ารัก
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า
เชิญเถิด ข้าพเจ้าขอฟังเรื่องทั้งหมด”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๕๗] “ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพญาวรุณนาคราช
ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสา
นำญาติของนางอิรันทดีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า
ถูกกามครอบงำด้วยดี
ฉะนั้น พญาวรุณนาคราช พ่อตาจึงได้ตรัสกับข้าพเจ้า
ผู้กำลังทูลขอนางอิรันทดีนาคกัญญานั้นว่า
[๑๕๕๘] เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเราผู้มีร่างกายงดงาม
มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง มีตัวลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ถ้าท่านจะพึงให้ดวงหทัยของบัณฑิต
นำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม
เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา
เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น
[๑๕๕๙] ท่านมหาอำมาตย์ ข้าพเจ้ามิได้เป็นคนหลง
ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้
อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไร ๆ เลย
เพราะหทัยของท่านที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม
ท้าววรุณนาคราชและนางวิมลา
จะประทานนางอิรันทดีนาคกัญญาให้แก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
[๑๕๖๐] เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามฆ่าท่าน
ข้าพเจ้าจะได้ประโยชน์ด้วยการตายของท่านอย่างนี้
จึงผลักท่านให้ตกลงในเหวนี้
ฆ่าแล้วจะนำเอาดวงหทัยนั้นไป”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๖๑] “จงวางข้าพเจ้าลงโดยเร็วเถิด
ถ้าท่านมีความจำเป็นที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้”
[๑๕๖๒] ปุณณกยักษ์นั้นรีบวางวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุลงบนยอดเขา
เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม
ได้ความเบาใจนั่งอยู่ จึงถามว่า
[๑๕๖๓] ข้าพเจ้าได้ยกท่านขึ้นมาจากเหวแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของท่านอยู่
ท่านจงทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าในวันนี้เถิด”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๖๔] “ท่านได้ยกข้าพเจ้าขึ้นมาจากเหวแล้ว
ถ้าท่านยังมีความจำเป็นที่ต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้ปรากฏในวันนี้
[๑๕๖๕] มาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว
จงอย่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม
อย่าได้ประทุษร้ายในมิตรทั้งหลายในกาลไหน ๆ
อย่าตกอยู่ในอำนาจของเหล่าอสตรี๑”

เชิงอรรถ :
๑ อสตรี หมายถึงหญิงผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม (เมถุนธรรม) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๕๖๕/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) สาธุนรธรรมกัณฑ์
(ปุณณกยักษ์ถามว่า)
[๑๕๖๖] “บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินไปตามทางที่เดินไปแล้วอย่างไร
ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไร
จึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไรชื่อว่าอสตรี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้เถิด”
(วิธุรบัณฑิตตอบว่า)
[๑๕๖๗] “ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่เคยอยู่ร่วมกัน
ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ
บุรุษพึงทำประโยชน์แก่ผู้นั้นเท่านั้น
บัณฑิตกล่าวว่าบุรุษนั้นเดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว
[๑๕๖๘] บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว
พึงได้ทั้งข้าวและน้ำ ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ
ผู้คิดร้ายบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่ม
และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร
[๑๕๖๙] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มของต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๕๗๐] หากบุรุษพึงให้แผ่นดินนี้ที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์
แก่หญิงผู้ที่สามียกย่องเป็นอย่างดี
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นบุรุษนั้นก็ได้
บุคคลไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของอสตรี
[๑๕๗๑] บุคคลชื่อว่าเป็นผู้เดินตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างนี้
ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันเปียกชุ่มอย่างนี้
ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของอสตรีอย่างนี้
และชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรอย่างนี้
ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ละเลิกอธรรมเถิด”
สาธุนรธรรมกัณฑ์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖) กาฬาคิริกัณฑ์
กาฬาคิริกัณฑ์
ตอนว่าด้วยภูเขาสีดำ
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๒] “ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในเรือนของท่าน ๓ วัน
ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าวและน้ำ
ท่านเป็นมิตรของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะปลดปล่อยท่าน
ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง
เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามต้องการเถิด
[๑๕๗๓] ความต้องการของตระกูลนาคจะเสื่อมไปก็ตามเถิด
เหตุที่จะได้นางนาคกัญญา ข้าพเจ้ายกเลิกแล้ว
ท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนเองแท้ ๆ
ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๗๔] “ปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไป
ในสำนักของพ่อตาของท่านเถิด
จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า
แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณอธิบดีของนาค
และวิมานของท้าวเธอที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๕] “คนผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู
สิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คน
ท่านผู้มีปัญญาอันสูงส่ง
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงปรารถนาจะไปยังบ้านของศัตรูเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๗๖] “แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัดถึงสิ่งที่ผู้มีปัญญาไม่ควรจะดู
แต่ข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วที่ได้ทำไว้แล้วในที่ไหนเลย
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจความตายที่จะมาถึงตน”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๕๗๗] ท่านบัณฑิต เชิญเถิด ท่านจงมากับข้าพเจ้าไปดูพิภพ
ของพญานาค ซึ่งมีอานุภาพมาก หาที่เปรียบมิได้
เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา
[๑๕๗๘] เหมือนนิกีฬิตราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสสุวรรณฉะนั้น
นาคพิภพนั้นเป็นที่เที่ยวเล่นเป็นหมู่ ๆ
ของนางนาคกัญญาตลอดวันและคืนเป็นนิตย์
มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด
สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ
[๑๕๗๙] ประกอบด้วยข้าวและน้ำ
เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม
เต็มไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับอย่างสวยงาม
งดงามไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ
[๑๕๘๐] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปนั่งบนอาสนะข้างหลัง
ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามเข้าสู่ภพของพญานาค
[๑๕๘๑] วิธุรบัณฑิตถึงที่อยู่ของพญานาคซึ่งมีอานุภาพมาก
หาที่เปรียบมิได้แล้ว ได้อยู่ข้างหลังของปุณณกยักษ์
พญานาคได้ทอดพระเนตรเห็นลูกเขยของตนก่อความสามัคคี
ตนเองก็รีบตรัสทักทายปราศรัยก่อนเลยทีเดียวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๕๘๒] ท่านได้ไปยังโลกมนุษย์
เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต
กลับมาถึงนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ
หรือว่าท่านได้พาเอาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย”
(ปุณณกยักษ์กราบทูลว่า)
[๑๕๘๓] “ท่านผู้นี้แหละคือวิธุรบัณฑิต
ที่พระองค์ทรงปรารถนามาแล้ว
ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม
ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม
เชิญพระองค์ทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิต
ผู้จะแสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์
การสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเป็นเหตุนำสุขมาให้โดยแท้”
กาฬาคิริกัณฑ์ จบ
(พญานาคตรัสถามว่า)
[๑๕๘๔] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๘๕] “ข้าแต่พญานาค ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารไหว้ตน
[๑๕๘๖] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๘๗] “บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๕๘๘] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ตนจะฆ่า
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๘๙] “ข้าแต่นาคราช วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[๑๕๙๐] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์ทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่พญานาค ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๑] “วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
เรามิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้เราได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของเราเอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๕๙๒] “ข้าแต่นาคราช อะไรเป็นวัตร
อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้
เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ทรงประพฤติไว้ดีแล้ว”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๓] “เราและภรรยาทั้ง ๒ เมื่อครั้งยังอยู่ในมนุษยโลก
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี
ครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำ
เราได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว
[๑๕๙๔] เราทั้ง ๒ ได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก
ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ
[๑๕๙๕] ทานที่ได้ถวายโดยความเคารพนั้นเป็นวัตรของเรา
และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา
ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้
เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่เราประพฤติดีแล้ว”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๙๖] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้
พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ
และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ
เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท
จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๕๙๗] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่เราจะถวายข้าวและน้ำเลย
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่เรา
โดยที่เราจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๕๙๘] “ข้าแต่พญานาค ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติและข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด
[๑๕๙๙] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๐๐] ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของเหล่าบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พญานาคตรัสถามว่า)
[๑๖๐๒] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๑๖๐๓] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐๔] “ในกาลนั้น พญานาคผู้ประเสริฐทรงสดับคำสุภาษิต
ของวิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว
ทรงชื่นชมโสมนัสมีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ
ทรงจูงมือวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม
ได้เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา” ตรัสว่า
[๑๖๐๕] “น้องวิมลา เพราะเหตุใด น้องจึงผอมเหลือง
เพราะเหตุใด น้องจึงไม่ชอบเสวยพระกระยาหาร
ก็เกียรติคุณเช่นนั้นของเราไม่มี
ท่านผู้นี้คือวิธุรบัณฑิตผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง
[๑๖๐๖] นี้คือผู้ที่น้องต้องการหัวใจ ผู้ทำความสว่างไสวมาถึงแล้ว
เชิญน้องตั้งใจฟังถ้อยคำของท่าน
การที่จะได้เห็นท่านอีกเป็นการหาได้ยาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๐๗] “นางวิมลาทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้น
ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส
ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้นไหว้และตรัสกับวิธุรบัณฑิต
ผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐที่สุดแห่งชาวกุรุรัฐว่า
[๑๖๐๘] “ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นนาคพิภพที่ตนไม่เคยเห็น
ถูกภัยคือความตายคุกคามแล้ว ไม่กลัวและไม่อภิวาท
อาการเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๐๙] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์ไม่กลัว
และไม่ถูกภัยคือความตายคุกคาม
นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๐] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่ฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๑๑] บัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง
นักโทษประหารไม่ควรกราบไหว้เพชฌฆาต
หรือเพชฌฆาตก็ไม่ควรให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน
[๑๖๑๒] คนจะกราบไหว้ผู้ปรารถนาจะฆ่าตน
หรือผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ผู้ที่จะฆ่าตน
กราบไหว้ตนได้อย่างไร กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๓] “ข้าแต่นางนาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้
เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็นเหมือนเที่ยง
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทูลถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาอย่างไรหนอ
[๑๖๑๔] วิมานนี้พระองค์ทรงได้มาเพราะอาศัยอะไร
หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล
พระองค์งทรงสร้างขึ้นเองหรือเหล่าเทวดาถวายพระองค์
ข้าแต่นางนาคกัญญา ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์
ตามที่พระองค์ทรงได้วิมานนี้เถิด”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๕] “วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้
จะเกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้
ฉันมิได้ทำขึ้นเอง เหล่าเทวดาก็มิได้ถวาย
วิมานนี้ฉันได้มาด้วยบุญกรรมอันไม่ต่ำทรามของฉันเอง
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๑๖] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตร
อะไรเป็นพรหมจรรย์ของพระองค์
ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
และการอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของพระองค์นี้
เป็นผลของกรรมอะไรที่พระองค์ได้ประพฤติไว้ดีแล้ว”
(นางนาควิมลาตอบว่า)
[๑๖๑๗] “ฉันและพระสวามีของฉันทั้ง ๒
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี
ครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำ
ฉันได้บำรุงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๑๘] ฉันและพระสวามีได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอน ที่พัก
ผ้านุ่งห่ม ผ้าปูนอน ข้าว และน้ำ โดยเคารพ
[๑๖๑๙] ทานที่ได้ถวายโดยเคารพนั้นเป็นวัตรของฉัน
และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน
ท่านนักปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลัง ความเพียร
การอุบัติในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของฉันนี้
เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้นที่ฉันประพฤติดีแล้ว”
(วิธุรบัณฑิตทูลถามว่า)
[๑๖๒๐] “ถ้าวิมานนี้พระองค์ทรงได้มาด้วยอานุภาพแห่งบุญอย่างนี้
พระองค์ย่อมทรงทราบผลบุญ
และทราบการอุบัติในนาคพิภพเพราะผลบุญ
เพราะเหตุนั้นแล ขอพระองค์อย่าทรงประมาท
จงทรงประพฤติธรรมตามที่จะได้ครอบครองวิมานนี้ต่อไปเถิด
(นางนาควิมลากล่าวว่า)
[๑๖๒๑] “ท่านบัณฑิต ในนาคพิภพนี้
ไม่มีสมณะและพราหมณ์ที่ฉันจะถวายข้าวและน้ำเลย
ฉันถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ฉัน
โดยที่ฉันจะพึงได้ครอบครองวิมานต่อไปอีกเถิด”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๒] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส
พระธิดา พระสวามี ทั้งพระญาติ และข้าเฝ้าของพระองค์
ผู้อุบัติในวิมานนี้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้าย
ในนาคที่เป็นพระโอรสเป็นต้นเหล่านั้น
ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๒๓] พระองค์ทรงรักษาความไม่ประทุษร้าย
ด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้
พระองค์ดำรงอยู่ในวิมานนี้ได้จนตลอดพระชนมายุแล้ว
จักเสด็จไปสู่เทวโลกซึ่งสูงขึ้นไปกว่านาคพิภพนี้”
(นางนาควิมลาตรัสว่า)
[๑๖๒๔] “ท่านเป็นอำมาตย์คู่ชีพของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด
พระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์นั้นพรากจากท่านแล้ว
ย่อมทรงเศร้าโศกแน่ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี
คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคมกับท่านแล้วพึงได้ความสุข”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๕] “ข้าแต่พระนางเจ้านาคี พระองค์ตรัสธรรมของเหล่าสัตบุรุษ
ซึ่งเป็นส่วนแห่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
ที่นักปราชญ์ได้ประพฤติดีแล้วโดยแท้
เพราะบรรดาอันตรายทั้งหลาย เมื่อภัยเช่นนี้เกิดขึ้น
คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ย่อมปรากฏ”
(นางนาควิมลาตรัสถามว่า)
[๑๖๒๖] “ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่า ๆ หรือ
ขอท่านจงบอกเรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นการพนัน
จึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์นี้บอกว่า ได้ท่านมาโดยธรรม
ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๒๗] “ปุณณกยักษ์นี้เล่นการพนันชนะพระราชาของข้าพระองค์
ผู้เป็นใหญ่ในกรุงอินทปัตถ์นั้น
พระราชาพระองค์นั้นที่ปุณณกยักษ์ชนะแล้ว
จึงได้ทรงพระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้
ปุณณกยักษ์นี้จึงได้ข้าพระองค์มาโดยธรรม
มิใช่ได้มาโดยไม่เป็นธรรม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า)
[๑๖๒๘] พญานาควรุณได้ตรัสถามปัญาหากับบัณฑิตฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ตรัสถามปัญหากับบัณฑิตฉันนั้น
[๑๖๒๙] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ที่พญานาควรุณตรัสถามแล้ว
ได้พยากรณ์ปัญหาให้พญานาควรุณทรงยินดีฉันใด
แม้พระนางวิมลานาคกัญญาก็ให้ทรงยินดีฉันนั้น
[๑๖๓๐] วิธุรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ทราบว่า พญานาคผู้ประเสริฐ
และนางนาคกัญญาทั้ง ๒ พระองค์นั้นพอพระทัย
ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
ได้กราบทูลท้าววรุณนาคราชว่า
[๑๖๓๑] “ข้าแต่พญานาค พระองค์อย่าทรงวิตกเลย
ข้าพระองค์เป็นส่วย๑ ขอพระองค์จงทรงทำกิจ
ด้วยเนื้อหทัยตามที่พระองค์ทรงประสงค์เถิด
ข้าพระองค์จะทำลายสรีระนี้ตามพระประสงค์ของพระองค์เอง”
(พญานาคตรัสว่า)
[๑๖๓๒] “ปัญญานั่นเอง เป็นหัวใจของบัณฑิตทั้งหลาย
พวกเรายินดีด้วยปัญญาของท่านยิ่งนัก
ขอปุณณกเสนาบดีของยักษ์จงได้ภรรยา ณ วันนี้
และจงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุในวันเดียวกันนี้เถิด”
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๓] ปุณณกยักษ์นั้นได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว
ก็มีใจชื่นชมโสมนัส ได้กล่าวกับวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐที่สุดแห่งชาวแคว้นกุรุว่า

เชิงอรรถ :
๑ ส่วย หมายถึงของที่เรียกเก็บจากพื้นเมืองส่งเป็นภาคหลวง ตามวิธีเรียกเก็บภาษีอากรในสมัยโบราณ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๓๔] “ท่านวิธุรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้า
พร้อมเพรียงกับภรรยา
ข้าพเจ้าจะทำกิจให้แก่ท่าน จะให้รัตนะคือแก้วมณีนี้แก่ท่าน
และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุในวันนี้เลยทีเดียว”
(วิธุรบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๖๓๕] “กัจจานะ ขอท่านจงมีไมตรี
อย่าได้แตกแยกกับภรรยาผู้น่ารักของท่านตลอดไปเถิด
ขอท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบานมีปีติโสมนัส
ท่านได้ให้แก้วมณีแล้ว
ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังกรุงอินทปัตถ์ด้วยเถิด
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[๑๖๓๖] ปุณณกยักษ์นั้นเชิญให้วิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุ ซึ่งมีปัญญาไม่ต่ำทราม
ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตนแล้ว
นำไปยังกรุงอินทปัตถ์
[๑๖๓๗] ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธุรบัณฑิต
ผู้ประเสริฐสุดของชาวแคว้นกุรุไปสู่กรุงอินทปัตถ์
ได้เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์๑เสียอีก
(ปุณณกยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖๓๘] “โน่น กรุงอินทปัตถ์ปรากฏอยู่
และป่ามะม่วงที่น่ารื่นรมย์ก็เห็นเป็นหย่อม ๆ
ข้าพเจ้าพร้อมกับภรรยาและท่านก็ได้ถึงที่พักอาศัยของตน”

เชิงอรรถ :
๑ เร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์คิดไปรับอารมณ์ หมายถึงธรรมดาใจไปหาอะไรไม่ได้ เป็นแต่ว่ารับอารมณ์ได้ไกล
ท่านจึงเรียกว่า ใจไป อธิบายว่า การเดินทางของม้าสินธพมโนมัย(ของปุณณกยักษ์)นั้น เร็วยิ่งกว่าใจ
รับอารมณ์ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๓๖๗/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๓๙] ปุณณกยักษ์ผู้มีผิวพรรณผุดผ่องนั้น
ได้ยกวิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐที่สุดของชาวแคว้นกุรุ
ลงไว้ในท่ามกลางธรรมสภาแล้ว
ก็ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว
[๑๖๔๐] พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นวิธุรบัณฑิตนั้นแล้ว
ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง
เสด็จลุกขึ้นสวมกอดวิธุรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้ง ๒
ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งบนอาสนะ
ท่ามกลางธรรมสภาตรงพระพักตร์ ตรัสว่า
[๑๖๔๑] “ท่านเป็นผู้แนะนำพวกเรา
เหมือนนายสารถีบังคับรถหุ้มเกราะ
ชาวแคว้นกุรุทั้งหลายยินดีเพราะได้เห็นท่าน
เราได้ถามท่านแล้ว ขอจงบอกเนื้อความนั้น
ท่านพ้นจากมาณพมาได้อย่างไร”
(วิธุรบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๖๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน
ซึ่งแกล้วกล้าและประเสริฐกว่าคน
ผู้ที่พระองค์เรียกว่ามาณพนั้นมิใช่มนุษย์
เขาเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ
พระองค์ก็ทรงเคยได้ทราบชื่อมาแล้ว
ก็ปุณณกยักษ์นั้นเป็นอำมาตย์คู่ชีพของท้าวกุเวร
[๑๖๔๓] พญานาคทรงพระนามว่าวรุณผู้ครองนาคพิภพ
มีพระกายใหญ่ สะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง
ปุณณกยักษ์รักปรารถนานางนาคกัญญาชื่ออิรันทดี
ผู้เป็นธิดาของพญานาคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๔] ปุณณกยักษ์นั้นจึงตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์
เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อยน่ารัก
ก็ปุณณกยักษ์นั้นแลเป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา
ส่วนข้าพระองค์ได้รับอนุญาตพญานาคมา
และได้แก้วมณีมาด้วย”
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๔๕] “มีต้นไม้ต้นหนึ่งเกิดริมประตูราชมณเฑียรของเรา
มีปัญญาเป็นลำต้น มีศีลเป็นกิ่ง
ต้นไม้นั้นผลิผลต้องตามอรรถและธรรม
มีผลเป็นปัญจโครส๑ ดารดาษไปด้วยช้าง ม้า และโค
[๑๖๔๖] เมื่อมหาชนกำลังทำการบูชาต้นไม้นั้น
เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง และดนตรี
มีบุรุษคนหนึ่งไล่ทหารให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้นั้นไปด้วย
ต้นไม้ของเรานั้นกลับคืนมาตั้งอยู่ตามเดิม
วิธุรบัณฑิตนี้ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่นั้น
กลับคืนมาสู่ที่อยู่ของตนตามเดิมแล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด
[๑๖๔๗] ขอเชิญอำมาตย์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีความปลื้มใจด้วยยศ
ที่ได้เพราะอาศัยเราทุก ๆ ท่านทีเดียว
จงแสดงความปลื้มใจของตนให้ปรากฏในวันนี้เถิด
ท่านกระทำบรรณาการให้มากแล้ว
จงทำความเคารพนบนอบแก่ต้นไม้นี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญจโครส หมายถึงผลที่ได้จากนมโค ๕ ประการ (นมสด, นมส้ม, เนยใส, เนยข้น, เปรียง) (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๖๔๕/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๙.วิธุรชาดก (๕๔๖)
[๑๖๔๘] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และขังไว้
ซึ่งมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา
ขอชนทั้งหลายจงปล่อยสัตว์เหล่านั้นจากเครื่องผูกให้หมดเถิด
วิธุรบัณฑิตนี้หลุดพ้นจากการจองจำแล้วฉันใด
ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากเครื่องผูกฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๖๔๙] ขอพวกชาวนาชาวไร่จงหยุดพักคราดไถไว้
เล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้เถิด
ขอเชิญพราหมณ์ทั้งหลายจงมาบริโภคข้าวที่เจือด้วยเนื้อ
พวกนักเลงสุราและพวกที่ชอบดื่มสุราจงดื่มจากถ้วยที่เต็มเปี่ยม
[๑๖๕๐] พวกหญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่
จงเล้าโลมชายผู้มีความต้องการเป็นนิตย์
อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดแจงการรักษาในแคว้นให้เข้มแข็ง
อย่าได้เบียดเบียนกันและกัน
ขอท่านทั้งหลายจงทำความเคารพยำเกรงแก่ต้นไม้นี้เถิด”
(เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว)
[๑๖๕๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๓] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพากันนำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้วิธุรบัณฑิต
[๑๖๕๔] ชนเป็นจำนวนมากเห็นวิธุรบัณฑิตกลับมาถึงแล้ว
ต่างก็เลื่อมใส ครั้นวิธุรบัณฑิตมาถึงโดยลำดับแล้ว
ต่างโบกผ้าไปมาด้วยประการฉะนี้แล
วิธุรชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
๑๐. เวสสันดรชาดก๑ (๕๔๗)
ว่าด้วยพระเจ้าเวสสันดรทรงบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้าย
กัณฑ์ทศพร
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๕] ผุสดีผู้มีรัศมีผิวพรรณอันประเสริฐ
มีอวัยวะส่วนด้านหน้าสวยงาม
เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการ
ในปฐพีอันเป็นที่รักแห่งหฤทัยของเธอเถิด
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
หม่อมฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้หรือ
พระองค์จึงให้หม่อมฉันจุติจากสถานอันน่ารื่นรมย์
ดุจลมพัดต้นไม้ใหญ่ให้โค่นไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๕๗] เธอมิได้ทำบาปกรรมอะไรไว้เลย
และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่บุญของเธอได้หมดสิ้นแล้ว
เหตุนั้น เราจึงกล่าวกับเธออย่างนี้
[๑๖๕๘] ความตายใกล้เธอแล้ว
เธอจักต้องพลัดพรากจากไป
เธอจงรับพร ๑๐ ประการนี้ของเราผู้กำลังจะให้

เชิงอรรถ :
๑ พระศาสดาประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภฝนโบกขรพรรษ (ฝนดุจน้ำตกในใบบัว
มีสีแดง ผู้ต้องการให้เปียกจึงเปียก) ให้เป็นเหตุ ตรัสเวสสันดรชาดกแก่ภิกษุทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๕๔๗/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทศพร
(เทพธิดาผุสดีกราบทูลว่า)
[๑๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประทานพรแก่หม่อมฉัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้หม่อมฉัน
พึงเกิดในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๐] ข้าแต่ท้าวปุรินททะ ขอให้หม่อมฉัน
(๑) พึงเป็นผู้มีตาดำเหมือนลูกเนื้อทราย ซึ่งมีนัยน์ตาดำ
(๒) พึงมีขนคิ้วดำ
(๓) พึงมีนามว่าผุสดีในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๖๖๑] (๔) พึงได้โอรสผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ
ประกอบความเกื้อกูลในยาจก
มิได้ตระหนี่ ซึ่งพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๖๖๒] (๕) เมื่อหม่อมฉันตั้งครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนขึ้น
พึงมีครรภ์ไม่นูนเสมอดังคันศร
ที่นายช่างศรเหลาเกลี้ยงเกลาแล้ว
[๑๖๖๓] (๖) ข้าแต่ท้าววาสวะ ขอถันทั้งคู่ของหม่อมฉันอย่าได้หย่อนยาน
(๗) ขอผมหงอกจงอย่าได้มี
(๘) ขอผงธุลีอย่าได้ติดเปรอะเปื้อนกาย
(๙) ขอหม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยนักโทษผู้ต้องประหาร
[๑๖๖๔] (๑๐) ขอให้หม่อมฉันได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงสีพี
ในพระราชนิเวศน์นั้นอันกึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกยูง
และนกกระเรียน แวดล้อมด้วยหมู่ขัตติยนารี
มีทั้งคนเตี้ยและคนค่อมเกลื่อนกล่น ที่พ่อครัวชาวแคว้นมคธเลี้ยงดู
[๑๖๖๕] กึกก้องไปด้วยเสียงกลอนและเสียงบานประตูอันวิจิตร
มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้มเถิด พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๖๖๖] นางผู้งามทั่วทั้งสรรพางค์กาย
พร ๑๐ ประการใด ที่เราได้ให้เธอ
เธอจักได้พรเหล่านั้นทั้งหมด
ในแคว้นของพระเจ้ากรุงสีพี
[๑๖๖๗] ท้าววาสวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ครั้นตรัสพระดำรัสนี้ จึงโปรดประทานพร
แก่พระนางผุสดีแล้วทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ทศพร จบ

กัณฑ์หิมพานต์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
พระนางผุสดีนั้น
จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์
ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสัญชัยในกรุงเชตุดร
พระนางผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทศมาสแล้ว
เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร
ได้ประสูติเราในท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า
ชื่อของเรามิได้เนื่องมาแต่พระมารดาและมิได้เกิดแต่พระบิดา
เราเกิดที่ถนนของพวกพ่อค้า
ฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เวสสันดร
เมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กเกิดได้ ๘ ขวบ
นั่งอยู่บนปราสาท คิดที่จะบริจาคทานว่า
เราพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย
ถ้าว่าจะมีใครมาขอเรา เราก็ยินดีบริจาคให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
เมื่อเราคิดจะบริจาคทานตามสภาพความเป็นจริง
ใจก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่นอยู่ในกาลนั้น
เหมือนแผ่นดินมีภูเขาสิเนรุและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ
(พระเวสสันดรตรัสกับพวกพราหมณ์ผู้มาทูลขอช้างว่า)
[๑๖๖๘] พวกพราหมณ์ผู้มีขนรักแร้ดก
และมีเล็บยาว มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
เหยียดแขนข้างขวาออก จะขออะไรฉันหรือ
(พวกพราหมณ์กราบทูลว่า)
[๑๖๖๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะ
ที่เป็นเครื่องทำให้แคว้นของชาวกรุงสีพีเจริญ
ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ
มีงาดุจงอนไถ มีกำลังสามารถเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๖๗๐] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ
ซึ่งเป็นช้างพาหนะอันสูงสุด
ที่พวกพราหมณ์ขอเรา เรามิได้หวั่นไหว
[๑๖๗๑] พระราชาผู้ทรงผดุงแคว้นให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
มีพระทัยน้อมไปในการบริจาค
เสด็จลงจากคอช้าง ทรงให้ทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๗๒] เมื่อพระเจ้ากรุงสีพีพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็กัมปนาทหวั่นไหว
[๑๖๗๓] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
คราวนั้นความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าก็ได้เกิดขึ้น
ชาวพระนครก็กำเริบเสิบสาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๗๔] เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
ชาวเมืองก็วุ่นวายสับสนเสียงดังเซ็งแซ่
เป็นที่น่าสะพรึงกลัวแผ่กระจายไปมากมาย
พระนครก็ปั่นป่วน เมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้พระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว
เสียงอื้ออึงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๖๗๕] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร
แพศย์ ชาวนา พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
[๑๖๗๖] ชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลมาประชุมพร้อมกัน
ชนเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพญาช้างไป
จึงกราบทูลแด่พระเจ้ากรุงสญชัยให้ทรงทราบว่า
[๑๖๗๗] ข้าแต่สมมติเทพ
แคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว
เพราะเหตุไร พระเวสสันดรพระโอรสของพระองค์
จึงพระราชทานช้างตัวประเสริฐของเราทั้งหลาย
ที่ชาวแคว้นบูชา
[๑๖๗๘] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญากุญชรของเราทั้งหลายตัวมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๖๗๙] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๘๐] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๖๘๑] พระเวสสันดรนั้นควรจะพระราชทาน
ข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม และที่นั่งที่นอน
ทานเช่นนี้แหละเหมาะสม ทานนั้นแหละสมควรแก่พราหมณ์
[๑๖๘๒] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสญชัย ทำไม พระเวสสันดรพระโอรส
ผู้เป็นพระราชาโดยสืบพระราชวงศ์ของพระองค์นี้
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจึงพระราชทานพญาคชสารไป
[๑๖๘๓] ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามคำนี้ของชาวกรุงสีพี
ชาวกรุงสีพีเห็นทีจักยึดอำนาจพระองค์
พร้อมทั้งพระโอรสไว้ในเงื้อมมือ
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๔] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดจากอกของเรา
[๑๖๘๕] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด
เราจะไม่พึงเนรเทศพระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ
ออกไปจากแคว้นของตนตามคำของชาวกรุงสีพี
เพราะพระราชบุตรเกิดแต่ตัวของเรา
[๑๖๘๖] อนึ่ง เราจะไม่พึงประทุษร้ายในพระราชบุตรนั้น
เพราะเธอเป็นผู้มีศีลและวัตรอันประเสริฐ
แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงประสบบาปเป็นอันมาก
เราจะให้ประหารพระเวสสันดรโอรสของเราด้วยศัสตราได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(ชาวเมืองกราบทูลว่า)
[๑๖๘๗] พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ประหารพระเวสสันดรนั้น
ด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตรา
พระเวสสันดรนั้นไม่ควรแก่เครื่องจองจำ
แต่จงทรงขับไล่พระเวสสันดรนั้น
จากแคว้นไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด
(พระเจ้าสัญชัยตรัสว่า)
[๑๖๘๘] ถ้าความพอใจของชาวกรุงสีพีเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด
ขอเธอจงอยู่และบริโภคกามทั้งหลายตลอดคืนนี้
[๑๖๘๙] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจงพร้อมเพรียงกันขับไล่เธอเสียจากแคว้นเถิด
[๑๖๙๐] นายนักการ ท่านจงลุกขึ้นรีบไปทูลพระเวสสันดรว่า
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพี ชาวนิคม
พากันโกรธเคืองพระองค์ มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๑] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลก็มาประชุมพร้อมกันแล้ว
[๑๖๙๒] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
[๑๖๙๓] นายนักการนั้น เมื่อได้รับพระราชดำรัสสั่ง
จึงรีบสวมสอดเครื่องประดับมือ
นุ่งห่มเรียบร้อย ประพรมด้วยจุรณแก่นจันทน์
[๑๖๙๔] สระศีรษะในน้ำ สวมกุณฑลแก้วมณีแล้ว
รีบเข้าไปตำหนักอันน่ารื่นรมย์
ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๖๙๕] ได้เห็นพระเวสสันดรราชกุมาร
ซึ่งกำลังทรงพระสำราญรื่นรมย์อยู่
ในพระราชวังของพระองค์ซึ่งแน่นขนัดไปด้วยหมู่อำมาตย์
ปานประหนึ่งท้าววาสวะแห่งสวรรค์ชั้นไตรทศ
[๑๖๙๖] นายนักการนั้นครั้นรีบไปในพระราชนิเวศน์นั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลพระเวสสันดรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ
ข้าพระองค์จะกราบทูลความทุกข์แด่พระองค์
ขอพระองค์อย่าได้ทรงกริ้วข้าพระองค์เลย
[๑๖๙๗] นายนักการนั้นถวายบังคมแล้วพลางร้องไห้คร่ำครวญ
กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช
พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระองค์
ทรงนำมาซึ่งรสที่น่าใคร่ทุกอย่าง
[๑๖๙๘] ข้าพระบาทจะกราบทูลแด่พระองค์
เมื่อข้าพระองค์กราบทูลข่าวสาส์นเรื่องทุกข์ร้อนนั้นแล้ว
ขอพระองค์จงทรงยังข้าพระองค์ให้เบาใจด้วยเกิด
ขอเดชะ ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมโกรธเคืองพระองค์
มาชุมนุมกันแล้ว
[๑๖๙๙] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ทั้งชาวนิคมและชาวกรุงสีพีทั้งมวลล้วนมาประชุมกัน
[๑๗๐๐] เมื่อสิ้นราตรีนี้แล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ชาวกรุงสีพีจะชุมนุมกันขับไล่พระองค์ออกไปจากแคว้น
(พระเวสสันดรตรัสถามว่า)
[๑๗๐๑] นายนักการ เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงโกรธเคืองเรา
ขอท่านจงบอกความชั่วที่เรามองไม่เห็น
ทำไม พวกเขาจึงจะขับไล่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
(นายนักการกราบทูลว่า)
[๑๗๐๒] พวกคนผู้มีชื่อเสียง พระราชบุตร แพศย์ พราหมณ์
กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ
ต่างพากันติเตียน เพราะพระองค์พระราชทานพญาช้าง
เหตุนั้น พวกเขาจึงจะขับไล่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๓] เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
หรือแก้วมณีซึ่งเป็นทรัพย์ภายนอกของเราก็จะเป็นไรไป
[๑๗๐๔] เมื่อยาจกมาถึง เราเห็นแล้วจะพึงให้แขนขวาแขนซ้าย
ก็ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรายินดีในการให้
[๑๗๐๕] ถึงชาวกรุงสีพีทั้งมวลจะขับไล่เราหรือจะเข่นฆ่าเรา
หรือตัดเราให้เป็น ๗ ท่อนก็ตามเถิด
เราจะไม่งดการให้เลย
[๑๗๐๖] ชาวกรุงสีพีและชาวนิคมประชุมพร้อมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
พระเวสสันดรผู้มีวัตรอันงามจงเสด็จไป
สู่อารัญชรคีรีทางฝั่งแม่น้ำโกนติมารา
ตามทางที่พระราชาผู้ถูกขับไล่เสด็จออกไปนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๐๗] เรานั้นจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป
ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดโทษแก่เราคืนหนึ่งและวันหนึ่ง
พอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐๘] พระราชาตรัสตักเตือนพระนางมัทรี
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ให้แก่พระนาง
และสิ่งของที่ควรสงวนอันเป็นของพระนาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๐๙] คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์มีอยู่เป็นอันมาก
และทรัพย์ฝ่ายบิดาของพระนางเอง ควรเก็บไว้ทั้งหมด
[๑๗๑๐] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ
หม่อมฉันจะเก็บไว้ที่ไหน หม่อมฉันได้ทูลถามพระองค์แล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๗๑๑] มัทรี เธอพึงให้ทานในท่านผู้มีศีลทั้งหลายตามสมควรเถิด
เพราะที่พึ่งอย่างอื่นของสัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี
[๑๗๑๒] มัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งหลาย
พึงเอาใจใส่ในแม่ผัวและพ่อผัว
อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีของเธอ
ก็พึงบำรุงผู้นั้นโดยความเคารพ
[๑๗๑๓] ถ้าไม่มีผู้ใดตกลงปลงใจเป็นพระสวามีของเธอ
เพราะเธอกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน
เธอก็จงแสวงหาผู้อื่นมาเป็นพระสวามีเถิด
อย่าลำบากเพราะขาดเราเลย
[๑๗๑๔] เพราะเราจะไปสู่ป่าที่น่าสะพรึงกลัวอันประกอบไปด้วยสัตว์ร้าย
เมื่อเราคนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย
[๑๗๑๕] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้ทูลถามพระเวสสันดรนั้นว่า ทำไมพระองค์
จึงตรัสเรื่องที่ไม่เป็นจริง ทำไมจึงตรัสเรื่องไม่ดี
[๑๗๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
การที่พระองค์จะพึงเสด็จไปตามลำพังนี้มิใช่ธรรม
แม้หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไปตามทางที่พระองค์เสด็จไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๑๗] ความตายร่วมกับพระองค์
หรือการมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์
ความตายร่วมกับพระองค์นั้นเท่านั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๘] การก่อไฟให้ลุกโพลงมีเปลวเป็นอันเดียวกัน
แล้วจึงตายในไฟที่ลุกโพลงนั้นประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๑๗๑๙] ช้างพังติดตามพญาช้างผู้ได้รับการฝึกอยู่ในป่า
เที่ยวไปตามซอกเขาเสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๑๗๒๐] หม่อมฉันจะพาลูกทั้งหลายติดตามพระองค์ไปข้างหลังฉันนั้น
หม่อมฉันจักเป็นผู้เลี้ยงง่ายสำหรับพระองค์
จักไม่เป็นผู้เลี้ยงยากสำหรับพระองค์
[๑๗๒๑] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก นั่งอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๒] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก กำลังเล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๓] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก อยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๔] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ส่งเสียงไพเราะ พูดจาน่ารัก เล่นอยู่ที่อาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๒๕] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์อยู่ที่อาศรมรมณียสถาน
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๖] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้ทัดทรงมาลาประดับองค์เล่นเพลิดเพลินอยู่
ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ทัดทรงมาลาอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้งหลาย
ทัดทรงมาลา กำลังฟ้อนรำ
เล่นเพลิดเพลินอยู่ในอาศรมอันน่ารื่นรมย์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๒๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปในป่าตามลำพัง
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นช้างพลาย
มีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี กำลังเที่ยวไปทั้งในเวลาเย็นเวลาเช้า
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๑] เมื่อใด ช้างพลายมีวัยล่วงได้ ๖๐ ปี
เดินนำหน้าโขลงช้างพังไป ส่งเสียงร้องดังกึกก้อง
พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของช้างที่บันลือลั่นอยู่นั้น
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์หิมพานต์
[๑๗๓๒] เมื่อใด พระองค์ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจ
ได้ทอดพระเนตรเห็นลำเนาไพรสองข้าง
แห่งทางอันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๓] พระองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเนื้อที่เดินมาเป็นฝูง
ฝูงละ ๕ ตัวในเวลาเย็นและได้ทอดพระเนตรเห็นพวกกินนร
กำลังฟ้อนรำอยู่ ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๔] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกระเซ็นของแม่น้ำ
ที่กำลังหลั่งไหลอยู่ และเสียงเพลงขับกล่อมของพวกกินนร
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๕] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของนกเค้า
ที่บินเที่ยวไปตามซอกเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๖] เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของเหล่าสัตว์ร้าย
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง แรด และวัวลาน
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๗] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ซึ่งล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
กำลังรำแพนหางจับอยู่บนยอดเขา
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๓๘] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง
ที่มีขนปีกงามตระการตา ซึ่งกำลังรำแพนหางอยู่
ล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลาย
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๓๙] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูงตัวมีคอสีเขียว
มีหงอนงามล้อมสะพรั่งไปด้วยนางนกยูงทั้งหลายฟ้อนรำอยู่
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๐] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกเบ่งบาน กลิ่นหอมอบอวลในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๑] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นดิน
อันดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง
มีสีเขียวสดชะอุ่มในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๒] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ทั้งหลาย
มีดอกบานสะพรั่ง คือ อัญชันเขียวที่กำลังผลิยอดอ่อน
ต้นโลท และบัวบกที่มีดอกบานสะพรั่ง
มีกลิ่นหอมอบอวลไปในฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
[๑๗๔๓] เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้
มีดอกบานสะพรั่ง และปทุมชาติ
มีดอกร่วงหล่นลงในเดือนท้ายฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ
กัณฑ์หิมพานต์ จบ

กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๔๔] พระนางผุสดีราชบุตรีผู้ทรงยศได้ทรงสดับคำ
ที่พระโอรสและพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน
ทรงคร่ำครวญว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๔๕] เรากินยาพิษตายเสียดีกว่า
เรากระโดดเหวตายเสียดีกว่า
เราเอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า
เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดรผู้ไม่มีโทษเล่า
[๑๗๔๖] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้ปราดเปรื่อง
เป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่
ผู้ที่พระราชาทุก ๆ ประเทศบูชา มีเกียรติยศ
[๑๗๔๗] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา
ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
[๑๗๔๘] เพราะเหตุไร ชาวกรุงสีพีจึงจะให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีโทษ ผู้เกื้อกูลแก่พระราชา พระเทวี
พระญาติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย และทั่วทั้งแคว้น
[๑๗๔๙] ชาวกรุงสีพีจะให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ
แคว้นของพระองค์ก็จะเป็นเหมือนรังผึ้งที่ตัวแมลงผึ้งหนีจากไป
และเหมือนผลมะม่วงสุกที่ร่วงหล่นลงบนดิน
[๑๗๕๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้อันพวกอำมาตย์ทอดทิ้งแล้ว
จักทรงลำบากอยู่ตามลำพัง
เหมือนหงส์มีขนปีกสิ้นแล้ว
ลำบากอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๕๑] ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น
หม่อมฉันจึงขอกราบทูลพระองค์ว่า
ประโยชน์อย่าได้ล่วงเลยพระองค์ไปเสีย
ขอพระองค์อย่าได้ทรงขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษนั้น
ตามคำของชาวกรุงสีพีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๑๗๕๒] เราย่อมทำความยำเกรงต่อธรรม
เราจึงขับไล่ลูกของตนผู้เป็นธงชัยของชาวกรุงสีพี
ถึงแม้ลูกจะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง
(พระนางผุสดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๑๗๕๓] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๔] เมื่อก่อน ยอดธงปลิวสะบัดตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๕] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๖] เมื่อก่อน กองทหารเคยตามเสด็จพระเวสสันดร
เหมือนสวนดอกกรรณิการ์ที่บานสะพรั่ง
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๗] เมื่อก่อน กองทหารเคยแต่งเครื่องแบบ
ผ้ากัมพลเหลืองจากแคว้นคันธาระ
ทอแสงแวววับเหมือนแมลงค่อมทอง
เคยตามเสด็จพระเวสสันดร
วันนี้ เธอจักเสด็จไปองค์เดียวเท่านั้น
[๑๗๕๘] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยเสด็จไป
ด้วยช้างพระที่นั่ง วอ และราชรถทรง ทำไมเล่า
วันนี้ จะเสด็จไปด้วยพระบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๕๙] เมื่อก่อน พระเวสสันดรเคยลูบไล้องค์ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ตื่นอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทำไมเล่า
วันนี้ จักทรงหนังเสืออันหยาบแข็งและหาบบริขารไป
[๑๗๖๐] เพราะเหตุไร กองทหารจึงไม่ขนเอาผ้า
ที่ย้อมด้วยน้ำฝาดและหนังเสือ
ติดตามพระเวสสันดรผู้เสด็จไปในป่าใหญ่เล่า
พระเวสสันดรจึงจะไม่ต้องนุ่งห่มผ้าคากรอง
[๑๗๖๑] พวกคนที่เป็นเจ้าทรงผนวช
จะทรงครองผ้าคากรองได้อย่างไรหนอ
แม่มัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองได้อย่างไร
[๑๗๖๒] พระนางมัทรีเคยใช้แต่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
แล้วมาใช้ผ้าคากรองจักทำได้อย่างไร
[๑๗๖๓] พระนางมัทรีนั้นเคยไปด้วยยาน คานหาม วอ และรถ
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๔] พระนางมัทรีผู้มีสิริโฉม มีฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๕] พระนางมัทรีผู้มีฝ่าเท้าอันอ่อนนุ่ม
มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
เดินไปอย่างลำบากด้วยรองเท้าทอง
วันนี้ จะเดินเท้าไปตามทางได้อย่างไร
[๑๗๖๖] พระนางมัทรีผู้ทัดทรงมาลา
เดินนำหน้านางข้าหลวงเป็นพัน
วันนี้ จะเดินไปป่าคนเดียวได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๖๗] พระนางมัทรีเมื่อก่อนได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน
ก็สะดุ้งหวาดกลัวประจำ
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๘] พระนางมัทรีผู้ได้ยินเสียงนกเค้าแมว นกฮูกร้องครวญคราง
ก็หวาดกลัวตัวสั่นเหมือนนางวารุณี๑
วันนี้ จะเดินไปป่าได้อย่างไร
[๑๗๖๙] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๐] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองลง
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๑] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๒] หม่อมฉันมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์สิ้นกาลนาน
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๓] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า
[๑๗๗๔] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกออกที่ลูกถูกฆ่าเห็นแต่รังอันว่างเปล่า

เชิงอรรถ :
๑ นางวารุณี หมายถึงหญิงที่โดนผีสิง (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๗๖๘/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๗๕] หม่อมฉันกลับมายังนิเวศน์อันว่างเปล่านี้แล้ว
ก็จักระทมทุกข์ตลอดกาลนานเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๖] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักผอมเหลืองเป็นแน่แท้
เหมือนแม่นกจักรพากซบเซาอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๗] เมื่อหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งหลาย
ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้น ๆ
เหมือนแม่นกจักรพากวิ่งพล่านอยู่ในเปือกตมที่ไม่มีน้ำ
[๑๗๗๘] เมื่อหม่อมฉันพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้
ถ้าพระองค์ยังทรงให้ขับไล่ลูกเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดจากแว่นแคว้นไปสู่ป่า
หม่อมฉันเห็นจะละชีวิตแน่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๗๙] พระสนมกำนัลในพระเจ้ากรุงสีพีถ้วนหน้า
ได้ยินคำรำพันของพระนางผุสดีแล้ว
ต่างพากันมาประชุมประคองแขนทั้งหลายขึ้นร่ำไห้
[๑๗๘๐] พระโอรสทั้งหลายและพระชายาในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างก็นอนกันแสง
เหมือนหมู่ไม้รังที่ถูกพายุพัดล้มระเนระนาด
[๑๗๘๑] พระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ในนิเวศน์
ของพระเวสสันดร ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายคร่ำครวญ
[๑๗๘๒] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างก็พากันประคองแขนคร่ำครวญในนิเวศน์ของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๘๓] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ต่อมาพระเวสสันดรก็เสด็จมาสู่โรงทาน
เพื่อทรงให้ทาน โดยรับสั่งว่า
[๑๗๘๔] พวกท่านจงให้ผ้าแก่ผู้ต้องการผ้า
ให้เหล้าแก่พวกนักเลงเหล้า
ให้โภชนะแก่พวกคนผู้ต้องการโภชนะโดยทั่วถึงกัน
[๑๗๘๕] และพวกท่านอย่าได้เบียดเบียนพวกวณิพกผู้มา ณ ที่นี้
จงเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
พวกเขาได้รับการบูชาแล้ว ก็จงไปเถิด
[๑๗๘๖] คราวนั้น มีเสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะทรงบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๗๘๗] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกันว่า
[๑๗๘๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่มีผลต่าง ๆ
[๑๗๘๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่ให้สิ่งที่น่าต้องการทุกอย่าง
[๑๗๙๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวกรุงสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดร
ผู้ไม่มีความผิดไปจากแคว้น
ก็เหมือนได้พากันตัดต้นไม้ที่นำรสที่น่าต้องการทุกอย่างมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๗๙๑] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
ทั้งคนแก่ เด็ก และคนปานกลาง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๒] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
พวกทรงเจ้า พวกขันที สนมฝ่ายใน และโหรหลวง
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๓] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
แม้หญิงทั้งหลายที่อยู่ในกรุงนั้นต่างก็พากันร้องไห้คร่ำครวญ
[๑๗๙๔] สมณะ พราหมณ์ และพวกวณิพกเหล่าอื่น
ต่างพากันประคองแขนทั้งหลายร้องไห้คร่ำครวญว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เป็นการไม่ยุติธรรมเลย
[๑๗๙๕] เพราะเหตุที่พระเวสสันดรกำลังบำเพ็ญทาน
อยู่ในพระราชวังของพระองค์
จะเสด็จออกไปจากแคว้นของพระองค์
เพราะคำของชาวกรุงสีพีเป็นเหตุ
[๑๗๙๖] พระเวสสันดรได้พระราชทานช้าง ๗๐๐ เชือก
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
อันมีสายรัดทองและสัปคับทอง
[๑๗๙๗] มีนายควาญช้างถือหอกซัดและขอ ขึ้นขี่คอประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๗๙๘] พระเวสสันดรทรงพระราชทานม้า ๗๐๐ ตัว
ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
เป็นม้าสินธพชาติอาชาไนย มีฝีเท้าเร็ว
[๑๗๙๙] มีนายสารถีถือทวนและธนู ขึ้นขี่ประจำแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๐] พระเวสสันดรทรงพระราชทานรถ ๗๐๐ คัน
ซึ่งผูกสอดเครื่องรบชักธงขึ้น
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๑๘๐๑] มีนายสารถีสวมเกราะถือธนู ขึ้นขับขี่แล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๒] พระเวสสันดรพระราชทานสตรี ๗๐๐ นาง
นั่งประจำในรถคันละนาง
สวมสอดด้วยสร้อยสังวาล ตบแต่งด้วยเครื่องทอง
[๑๘๐๓] มีเครื่องประดับ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม
และประดับเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่มีสีเหลือง
มีดวงตากว้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม สะโพกงาม
เอวบางร่างน้อย แล้วเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๔] พระเวสสันดรพระราชทานแม่โคนม ๗๐๐ ตัว
พร้อมด้วยภาชนะเงินสำหรับรองรับน้ำนมทุก ๆ ตัวแล้ว
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๕] พระเวสสันดรพระราชทานทาสี ๗๐๐ คน
และทาส ๗๐๐ คนแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๖] พระเวสสันดรนี้พระราชทานช้าง ม้า รถ
และนารีที่ประดับตบแต่งแล้ว
จึงเสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๗] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานมหาทานแล้ว
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๐๘] ในสมัยนั้น ได้มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
เมื่อพระเวสสันดรทรงประนมมือ
เสด็จออกจากแคว้นของพระองค์
[๑๘๐๙] คราวนั้น เสียงอึกทึกกึกก้องน่าสะพรึงกลัว
เป็นไปในพระนครนี้ว่า
ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนั้นเพราะบริจาคทาน
ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานต่อไปอีกเถิด
[๑๘๑๐] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
วณิพกเหล่านั้นก็เป็นดังคนเมามีท่าทางอิดโรย
นั่งปรับทุกข์กันและกัน
[๑๘๑๑] พระเวสสันดรกราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัย
ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงธรรมว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเนรเทศข้าพระองค์เถิด
ข้าพระองค์จะไปยังเขาวงกต
[๑๘๑๒] ข้าแต่มหาราช สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีมาแล้ว
ที่จะมีมา และที่มีอยู่
สัตว์เหล่านั้นยังไม่อิ่มด้วยกามเลย
จะต้องพากันไปสู่สำนักของพญายม
[๑๘๑๓] ข้าพระองค์นั้นบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๔] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
ข้าพระองค์จะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๑๕] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้า
ได้ทรงโปรดอนุญาตหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันพอใจการบวช
หม่อมฉันเมื่อบำเพ็ญทานอยู่ในบุรีของตน
ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาวเมืองของตน
จะต้องออกจากแคว้นของตนเพราะเหตุแห่งคำของชาวกรุงสีพี
[๑๘๑๖] หม่อมฉันจักต้องได้เสวยความคับแค้นนั้น ๆ ในป่า
อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย
ซึ่งแรดและเสือเหลืองอยู่อาศัย
หม่อมฉันจะบำเพ็ญบุญ
ขอพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด
(พระนางผุสดีตรัสว่า)
[๑๘๑๗] ลูกเอ๋ย แม่อนุญาตให้ลูก ขอการบวชของลูกจงสำเร็จ
ส่วนแม่มัทรีผู้มีโฉมงาม มีสะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อยนี้
จงอยู่กับลูก ๆ เถิด จักทำอะไรในป่าได้
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๑๘๑๘] หม่อมฉันไม่ต้องการนำแม้ทาสีไปสู่ป่าโดยที่เธอไม่ปรารถนา
ถ้าเธอปรารถนา จะติดตามไปก็ตามใจ
ถ้าไม่ปรารถนาก็จงอยู่เถิด
[๑๘๑๙] ลำดับนั้น พระมหาราชเสด็จดำเนินไปทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า
แม่มัทรี ผู้มีร่างกายอันชโลมจันทน์
เจ้าอย่าได้ทรงไว้ซึ่งความหมักหมมด้วยละอองธุลีเลย
[๑๘๒๐] แม่มัทรีเคยทรงผ้าแคว้นกาสี อย่าได้ทรงผ้าคากรองเลย
การอยู่ในป่าเป็นความลำบาก
แม่มัทรีผู้มีลักษณะงาม เจ้าอย่าได้ไปเลยนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระสัสสุระนั้นว่า
ความสุขใดจะพึงมีแก่หม่อมฉันโดยเว้นจากพระเวสสันดร
หม่อมฉันไม่พึงปรารถนาความสุขนั้น
[๑๘๒๒] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เชิญฟังก่อนแม่มัทรี สัตว์อันจะรบกวน
ยากที่จะอดทนได้ สัตว์เหล่าใดมีอยู่ในป่า
[๑๘๒๓] สัตว์เหล่านั้นเป็นอันมาก คือ เหลือบ ตั๊กแตน
ยุง และผึ้ง มันจะพึงเบียดเบียนเธอในป่านั้น
ความทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะพึงมีแก่เธอ
[๑๘๒๔] เธอจะต้องได้พบสัตว์ที่น่ากลัวอื่นอีก
ที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นงูเหลือม
สัตว์ที่ไม่มีพิษ แต่มีกำลังมาก
[๑๘๒๕] มันรัดมนุษย์ หรือแม้แต่เนื้อที่มาใกล้
ด้วยขนดแล้วนำมาสู่อำนาจของมัน
[๑๘๒๖] แม้เนื้อร้ายอื่น ๆ เช่นหมีดำ
คนที่มันได้เห็นแล้วหนีขึ้นต้นไม้ก็ไม่พ้น
[๑๘๒๗] ควายเปลี่ยวขวิดลับปลายเขาทั้งคู่ให้แหลม
เที่ยวไปอยู่ในถิ่นที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโสตุมพะ
[๑๘๒๘] แม่มัทรี เธอเปรียบเสมือนแม่โคนมรักลูก
เห็นฝูงเนื้อและโคถึกที่ท่องเที่ยวอยู่ในป่า จักทำอย่างไร
[๑๘๒๙] แม่มัทรี เธอได้เห็นลิงทะโมนไพรที่น่าสะพรึงกลัว
ซึ่งบังเอิญประจวบเข้าที่หนทางที่เดินได้ยาก
ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงอันใหญ่หลวง
ก็จักมีแก่เธอเพราะไม่รู้จักเขต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๐] แม่มัทรี เมื่อเธออยู่ในพระนคร
ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ยังสะดุ้งตกใจบ่อย ๆ
เธอไปถึงเขาวงกตจักทำอย่างไร
[๑๘๓๑] เมื่อฝูงนกพากันจับชุมนุมอยู่ในเวลาเที่ยงตรง
ป่าใหญ่เหมือนส่งเสียงกระหึ่ม
เธอปรารถนาจะไปในป่าใหญ่นั้นทำไม
[๑๘๓๒] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงสิริโฉม
ได้กราบทูลคำนี้กับพระเจ้ากรุงสญชัยนั้นว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวที่มีอยู่ในป่าแก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักยอมอดทนต่อสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเหล่านั้นทั้งหมด
หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๓] หม่อมฉันจักแหวกต้นเป้ง หญ้าคา
หญ้าคมบาง แฝก หญ้าปล้อง
และหญ้ามุงกระต่ายไปด้วยอก
หม่อมฉันจักไม่เป็นผู้อันพระเวสสันดรนั้นนำไปได้โดยยาก
[๑๘๓๔] กุมารีได้สามีด้วยวัตตจริยาเป็นอันมาก
คือ ด้วยการอดอาหาร ทรมานท้อง
และด้วยการผูกคาดด้วยไม้คางโค
[๑๘๓๕] ด้วยการบำเรอไฟ และด้วยการดำน้ำ
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๖] ชายใดจับมือหญิงหม้ายนั้นผู้ไม่ปรารถนาฉุดคร่าไป
ชายนั้นเป็นผู้ไม่ควรบริโภคของที่เป็นเดนของหญิงหม้ายนั้น
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๓๗] ชายอื่นดูหมิ่นหญิงผู้ไม่มีสามี
ให้ทุกข์มากมายมิใช่น้อยแก่หญิงผู้ไม่มีสามีนั้น
ด้วยการจับผม เตะ ถีบ ถอง
และผลักให้ล้มลงบนพื้นดิน ไม่ยอมหลีกไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๘] พวกผู้ชายเจ้าชู้ต้องการหญิงหม้ายผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง
ให้ทรัพย์เล็กน้อยแล้ว ก็เข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีโชคดี
ย่อมยื้อยุดฉุดกระชากหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนาจะไป
เหมือนฝูงกาพากันรุมทึ้งนกเค้า
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๓๙] อันว่าหญิงหม้าย แม้จะอยู่ในตระกูลญาติ
ที่เจริญรุ่งเรืองไปด้วยเครื่องทองสัมฤทธิ์
จะไม่ได้รับคำติเตียนล่วงเกินจากพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นไปไม่ได้
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๐] แม่น้ำที่ไม่มีน้ำก็ดี แว่นแคว้นที่ไม่มีเจ้าครองก็ดี ย่อมไร้ประโยชน์
แม้หญิงหม้ายถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ ก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยว
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๑] ธงเป็นเครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ
พระราชาเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน
ภัสดาเป็นศรีสง่าของสตรี
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดในโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๒] หญิงใดผู้มีเกียรติ เป็นคนขัดสนในเวลาสามีขัดสน
เป็นคนมั่งคั่งในเวลาสามีมั่งคั่ง หญิงนั้นแล
เทพเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญว่า “กระทำสิ่งที่ทำไดัยาก”
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หม่อมฉันจะต้องไปให้ได้
[๑๘๔๓] หม่อมฉันจักบวชติดตามพระสวามีไปทุกเมื่อ
ในเมื่อแม้แต่แผ่นดินยังไม่แตกสลายไป
ความเป็นหม้ายเป็นความเจ็บปวดของหญิง
[๑๘๔๔] หม่อมฉันขาดพระเวสสันดรแล้ว
ก็ไม่ปรารถนาแม้แต่แผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต
ซึ่งมีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย
บริบูรณ์ด้วยรัตนะนานัปปการ
[๑๘๔๕] หญิงเหล่าใดเมื่อสามีมีทุกข์ ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน
หญิงเหล่านั้นเลวทรามแท้ หัวใจของพวกเธอเป็นอย่างไรหนอ
[๑๘๔๖] เมื่อพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จออก
หม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไปด้วย
เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงประทาน
สิ่งที่น่าต้องการทั้งปวงแก่หม่อมฉัน
[๑๘๔๗] พระมหาราชได้ตรัสพระดำรัสนี้
กับพระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายว่า
แม่มัทรีผู้มีลักษณะสวยงาม พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
ลูกทั้งหลายเหล่านี้ของเธอยังเป็นเด็ก เจ้าจงฝากฝังไว้แล้วไปเถิด
พวกเราจะรับเลี้ยงดูเด็กทั้งหลายนั้นไว้เอง
[๑๘๔๘] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้าสญชัยนั้นดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเป็นลูกรักของหม่อมฉัน
ลูกทั้ง ๒ นั้นจักชโลมใจหม่อมฉัน
ผู้มีชีวิตที่เศร้าโศกให้รื่นรมย์ในป่านั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ทานกัณฑ์
[๑๘๔๙] พระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ตรัสกับพระนางมัทรีนั้นว่า
เด็กทั้งหลายเคยเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด
เมื่อมาเสวยผลไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๐] เด็กทั้งหลายเคยเสวยในถาดทองหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ
เป็นของใช้ประจำราชตระกูล
เมื่อต้องมาเสวยในใบไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๑] เด็กทั้งหลายเคยสวมใส่ผ้าแคว้นกาสี
แคว้นโขมะ และแคว้นโกทุมพร
เมื่อต้องมาสวมใส่ผ้าคากรอง๑ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๒] เด็กทั้ง ๒ เคยไปด้วยคานหาม วอ และรถ
เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๓] เด็กทั้งหลายเคยนอนในเรือนยอด มีบานหน้าต่างปิดมิดชิด
เมื่อต้องมานอนในที่โคนไม้ จักทำอย่างไร
[๑๘๕๔] เด็กทั้งหลายเคยนอนบนพรมที่ปูลาดอย่างวิจิตรบนบัลลังก์
เมื่อต้องมานอนที่ลาดด้วยหญ้า จักทำอย่างไร
[๑๘๕๕] เด็กทั้งหลายเคยลูบไล้ด้วยกฤษณาและจันทน์หอม
เมื่อต้องมาแปดเปื้อนละอองธุลี จักทำอย่างไร
[๑๘๕๖] เด็กทั้งหลายเคยดำรงอยู่ในความสุข
มีผู้ใช้แส้จามรีและกำหางนกยูงพัดวีให้
ต้องถูกเหลือบและยุงกัด จักทำอย่างไร
[๑๘๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสญชัยดังนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์อย่าได้ทรงปริเวทนาการ และอย่าได้เสียพระทัยเลย
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอย่างไร เด็กทั้งหลายก็จักเป็นอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๕๘] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
ครั้นกราบทูลดังนี้แล้วก็เสด็จจากไป
พระนางผู้มีลักษณะโสภาทรงพาพระโอรสทั้งหลาย
เสด็จไปตามทางที่พระเจ้ากรุงสีพีเคยเสด็จไป
[๑๘๕๙] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ครั้นได้ทรงบริจาคทานแล้วก็ถวายบังคม
พระบิดาและพระมารดา และทรงทำประทักษิณ
[๑๘๖๐] รีบเสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งอันเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว
ทรงพาพระโอรสและพระชายาเสด็จไปสู่เขาวงกต
[๑๘๖๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรเสด็จไป
ในสถานที่ที่มีหมู่ชนเป็นอันมากอยู่
ตรัสบอกลาว่า เราจะไปละนะ
ขอหมู่ญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีโรคเถิด
[๑๘๖๒] เชิญดูเถิดมัทรี ที่ประทับของพระเจ้ากรุงสีพีผู้ประเสริฐ
ปรากฏเป็นรูปอันน่ารื่นรมย์
ส่วนตำหนักของเราเป็นดังที่อยู่ของเปรต
[๑๘๖๓] พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรนั้นไป
พวกเขาได้ทูลขอม้ากับพระองค์ พระองค์ถูกขอแล้ว
จึงได้ทรงมอบม้า ๔ ตัวให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๔ คน
[๑๘๖๔] เชิญดูเถิดมัทรี ละมั่งทองปรากฏร่างงดงาม
เป็นดังม้าที่ได้รับการฝึกมาดีแล้ว นำเราไป
[๑๘๖๕] ต่อมา พราหมณ์คนที่ ๕ ในป่านั้น
ได้มาทูลขอราชรถกับพระองค์
พระองค์ถูกขอแล้ว ก็ทรงพระราชทานราชรถนั้นให้แก่เขา
และพระองค์มิได้มีพระทัยท้อแท้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๖๖] ลำดับนั้น พระเวสสันดรรับสั่งให้คนของพระองค์ลงแล้ว
ทรงพอพระทัยมอบรถม้าพระที่นั่ง
ให้แก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ไป
[๑๘๖๗] มัทรี เธอจงอุ้มแม่กัณหาผู้เป็นน้องนี้ซึ่งเบากว่า
ส่วนพี่จักอุ้มพ่อชาลี เพราะเธอเป็นพี่คงจะหนักกว่า
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๖๘] พระราชาทรงอุ้มพระกุมาร
ส่วนพระนางมัทรีราชบุตรีทรงอุ้มทาริกา
ทรงยินดีร่วมกัน ทั้งตรัสปราศรัยคำอันไพเราะ
กับกันและกันดำเนินไป
กัณฑ์ทานกัณฑ์ จบ

กัณฑ์วนปเวสน์
(พระศาสดาตรัสเนื้อความที่พระเวสสันดรตรัสกับพระนางมัทรีว่า)
[๑๘๖๙] ถ้ามนุษย์บางคนเดินไปตามทาง หรือเดินสวนทางมา
เราจะได้ถามทางกับพวกเขาว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน
[๑๘๗๐] พวกเขาพบเราในระหว่างทางนั้น
ต่างก็พากันคร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
ทุกข์ระทมตอบเราว่า เขาวงกตยังอยู่อีกไกล
(พระศาสดาตรัสเนื้อความนี้ว่า)
[๑๘๗๑] ถ้าทารกทั้งหลาย
ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่
ต่างก็ทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น
[๑๘๗๒] หมู่ไม้สูงใหญ่ดังจะเห็นทารกทรงพระกันแสง
จึงโน้มกิ่งลงมาเอง จนใกล้จะถึงทารกทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๗๓] พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กาย
เห็นเหตุอัศจรรย์ไม่เคยมีมา
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้านี้แล้ว จึงกล่าวสาธุการว่า
[๑๘๗๔] เหตุอันน่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาในโลก
เป็นเหตุให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร ต้นไม้จึงโน้มกิ่งลงมา
[๑๘๗๕] ทวยเทพทั้งหลายต่างก็ได้มาช่วยย่นทางเข้า
ให้กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์เสด็จถึงเจตราชได้
โดยใช้เวลาเสด็จเพียงวันเดียว
เพื่ออนุเคราะห์ทารกทั้งหลาย
[๑๘๗๖] กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้นทรงดำเนินไปสิ้นทางไกล
เสด็จถึงเจตราชซึ่งเป็นชนบทที่เจริญมั่งคั่ง
มีเนื้อและข้าวอย่างดีเป็นอันมาก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗๗] ชาวนครเจตราชเห็นพระนางมัทรี
ผู้มีลักษณะสวยงามเสด็จมา
ก็ห้อมล้อมแห่แหนด้วยกล่าวกันว่า
พระแม่เจ้าเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติหนอ
ดำเนินมาด้วยพระบาทเปล่า
[๑๘๗๘] เคยทรงราชยานคานหามและราชรถ
วันนี้ พระนางมัทรีต้องดำเนินด้วยพระบาทเปล่าในป่า
[๑๘๗๙] พระยาเจตราชทั้งหลายได้เห็นพระเวสสันดร
ต่างก็ทรงกันแสงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงพระสำราญ
ปราศจากโรคาพาธหรือ พระองค์ไม่มีทุกข์หรือ
พระราชบิดาของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้หรือ
ชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคหรอกหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๐] ข้าแต่มหาราช พลนิกายของพระองค์อยู่ที่ไหน
กระบวนรถของพระองค์อยู่ที่ไหน พระองค์ไม่มีม้าทรง
ไม่มีรถทรง ทรงดำเนินมาสิ้นทางแสนไกล
ถูกพวกอมิตรย่ำยีหรือ จึงเสด็จมาถึงทิศนี้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๑] สหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความสุขไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง พระราชบิดาของข้าพเจ้าก็ทรงปราศจากพระโรค
และชาวกรุงสีพีก็ไม่มีโรคเบียดเบียน
[๑๘๘๒] เพราะข้าพเจ้าได้ให้พญากุญชรมีงาดุจงอนไถ
แกล้วกล้าสามารถรู้จักเขตแห่งการรบทั้งปวง
เผือกผ่องประเสริฐสุด
[๑๘๘๓] คลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง ซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้
มีงาน่าชอบใจ เผือกผ่องดังภูเขาไกรลาส
พร้อมทั้งพัดวาลวีชนี
[๑๘๘๔] ทำไม พระเวสสันดรจึงได้พระราชทาน
พญาช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ
เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐพร้อมทั้งฉัตรขาว เครื่องลาด
หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์
[๑๘๘๕] เพราะเหตุนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคืองข้าพเจ้า
ทั้งพระบิดาก็ทรงกริ้วขับไล่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะไปเขาวงกต สหายทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายจงทราบโอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดี มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ผู้ทรงเป็นใหญ่เสด็จมาถึงแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกพระประสงค์สิ่งที่มีอยู่ในเมืองนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๘๘๗] ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสวยสุธาโภชนาหาร
ข้าวสาลี ผักดอง เหง้ามัน น้ำผึ้ง และเนื้อเถิด
พระองค์เป็นแขกที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสมควรต้อนรับ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๘๘] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันเราได้รับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ขอเชิญพระองค์เสด็จประทับ ณ เจตราชนี้ก่อนเถิด
จนกว่าชาวเจตราชจักไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสีพีเพื่อทูลขอถึงพระราชสำนัก
[๑๘๙๐] เพื่อทูลขอพระมหาราชผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงอภัยโทษให้ชาวเจตราชได้ที่พึ่งแล้ว
มีความปรีดาแห่แหนแวดล้อมพระองค์ไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๑] ท่านทั้งหลายอย่าได้ชอบใจเลย
การไปทูลขอถึงพระราชสำนักเพื่อให้พระราชาทรงอภัยโทษให้
แม้แต่พระราชาก็ไม่ทรงเป็นใหญ่ในเรื่องนี้
[๑๘๙๒] เพราะถ้าชาวกรุงสีพีพร้อมทั้งพลนิกาย
และชาวนิคมโกรธเคืองยิ่งแล้ว
ก็ปรารถนาจะกำจัดพระราชาเสียเพราะสาเหตุแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(พระยาเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๘๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ถ้าเหตุการณ์นี้ในรัฐนั้นเป็นไปเช่นนี้ ขอพระองค์ทรงมี
ชาวเจตราชแวดล้อมเสด็จครองราชสมบัติในรัฐนี้เถิด
[๑๘๙๔] รัฐนี้มั่งคั่งสมบูรณ์ ชนบทก็มั่งคั่งกว้างใหญ่
ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงตกลงพระทัยครองราชสมบัติเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๑๘๙๕] ข้าพเจ้าไม่มีความพอใจ ไม่ตกลงใจที่จะครองราชสมบัติ
บุตรแห่งชาวเจตราชทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า
ผู้ถูกขับไล่จากแคว้นเถิด
[๑๘๙๖] ชาวกรุงสีพี พลนิกาย และชาวนิคมคงไม่ยินดีว่า
ชาวเจตราชได้ราชาภิเษกข้าพเจ้าผู้ถูกขับไล่จากแคว้น
[๑๘๙๗] แม้ความไม่เบิกบานใจจะพึงมีแก่ท่านทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าแน่นอน
อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ชอบใจความบาดหมางใจ
และความทะเลาะกับชาวกรุงสีพีเลย
[๑๘๙๘] มิใช่แต่เท่านั้น ความบาดหมางใจจะพึงรุนแรงขึ้น
สงครามใหญ่ก็อาจจะมีได้ คนเป็นจำนวนมากก็จะฆ่าฟันกันเอง
เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าผู้เดียว
[๑๘๙๙] สิ่งใดที่ท่านทั้งหลายให้แล้ว
ขอสิ่งนั้นทั้งหมดจงเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้วเถิด
บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายได้ทำแล้วทุกอย่าง
พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต
สหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทราบ
โอกาสซึ่งเป็นที่อยู่ในป่าของข้าพเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
(ชาวเจตราชกราบทูลว่า)
[๑๙๐๐] เชิญเถิด ราชฤๅษีทั้งหลายผู้ทรงบูชาไฟ
มีพระทัยตั้งมั่นประทับอยู่ ณ ประเทศใด
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักกราบทูลประเทศนั้น
ขอให้ทรงทราบเหมือนอย่างผู้ฉลาดในหนทางฉะนั้นเถิด
[๑๙๐๑] ข้าแต่มหาราช โน่น ภูเขาคันธมาทน์ที่เป็นศิลาล้วน
ซึ่งเป็นสถานที่ประทับอยู่ของพระองค์
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๑๙๐๒] พระยาเจตราชทั้งหลายต่างก็ทรงกันแสง
มีพระเนตรนองด้วยพระอัสสุชล
กราบทูลพระเวสสันดรให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราช
จากนี้ไป ขอเชิญพระองค์ทรงบ่ายพระพักตร์
ตรงไปทางทิศเหนือเถิด
[๑๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้น
พระองค์จักทรงทอดพระเนตรเห็นภูเขาเวปุลละ
ซึ่งดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพันธุ์
มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ
[๑๙๐๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
พระองค์เสด็จเลยภูเขาเวปุลละนั้นไป
จากนั้นก็จะทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำเกตุมดี
ซึ่งเป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา
[๑๙๐๕] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำราบเรียบดี มีน้ำมาก
พระองค์จะได้สรงสนานและเสวย ณ ที่นั้น
ปลุกปลอบพระโอรสและพระชายาให้สำราญพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์วนปเวสน์
[๑๙๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ต่อจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นต้นไทร
ที่มีผลหวาน มีร่มเงาเยือกเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ
ซึ่งเกิดอยู่บนยอดเขาอันน่ารื่นรมย์
[๑๙๐๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดจากนั้นไป
พระองค์จักทอดพระเนตรเห็นภูเขานาลิกะซึ่งเป็นศิลาล้วน
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาพันธุ์และหมู่กินนร
[๑๙๐๘] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งภูเขานาลิกะนั้น
มีสระมุจลินท์ที่ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
ดอกอุบลขาว และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม
[๑๙๐๙] ขอเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์วนสถาน
อันเขียวชะอุ่มดังเมฆอยู่เป็นนิตย์ สะพรั่งไปด้วยไม้ดอก
และไม้ผลทั้ง ๒ เหมือนพญาราชสีห์ที่มุ่งเหยื่อ
[๑๙๑๐] ในไพรสณฑ์นั้น มีฝูงนกมากมาย
ส่งเสียงขันคูกู่ร้องก้องไพเราะ ประสานเสียงกู่ร้องอยู่อึงมี่
บนต้นไม้ที่ผลิดอกออกช่อตามฤดูกาล
[๑๙๑๑] พระองค์เสด็จดำเนินถึงซอกเขาซึ่งเป็นทางเดินลำบาก
และเป็นต้นของแม่น้ำทั้งหลาย จะได้ทอดพระเนตรเห็น
สระโบกขรณีอันสะพรั่งไปด้วยไม้กุ่มและไม้รกฟ้า
[๑๙๑๒] เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลามากมาย
มีท่าน้ำงาม ราบเรียบดี มีน้ำมาก
เต็มเปี่ยมอยู่สม่ำเสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม
มีน้ำอร่อย ปราศจากกลิ่นเหม็น
[๑๙๑๓] ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสระโบกขรณีนั้น
พระองค์ได้ทรงสร้างบรรณศาลา
ครั้นแล้วพึงทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนมชีพ
ด้วยการเที่ยวแสวงหามูลผลาหารอยู่เถิด
กัณฑ์วนปเวสน์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๙๑๔] ได้มีพราหมณ์ชื่อชูชก ซึ่งอยู่ประจำในแคว้นกาลิงคะ
เขามีภรรยาสาวชื่ออมิตตตาปนา
[๑๙๑๕] ถูกพวกหญิงในหมู่บ้านนั้นที่พากันไปตักน้ำที่ท่าน้ำ
ต่างแตกตื่นกันมารุมด่าอย่างอึงมี่ว่า
[๑๙๑๖] มารดาของเจ้าคงเป็นศัตรูแน่นอน
บิดาของเจ้าก็คงเป็นศัตรูแน่ จึงได้พากันยกเจ้า
ที่ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๗] ไม่เกื้อกูลเลยหนอ
พวกญาติของเจ้าแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๘] พวกญาติของเจ้าเป็นศัตรูหนอ
ได้พากันแอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๑๙] เป็นความชั่วจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๐] เป็นความเลวทรามจริงหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษากันลับๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๑] เป็นที่น่าเสียใจหนอ
ที่พวกญาติของเจ้าได้แอบไปปรึกษาลับ ๆ
ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๒๒] เจ้าคงไม่พอใจอยู่กับผัวแก่
การที่เจ้าอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
เจ้าตายเสียยังดีกว่าอยู่
[๑๙๒๓] แม่คนงามสุดสวย มารดาและบิดาของเจ้า
คงหาชายอื่นมาให้เป็นผัวเจ้าไม่ได้แน่
จึงยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๔] ในดิถีที่ ๙ เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดี
คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟ
มารดาและบิดาของเจ้าจึงยกเจ้า
ผู้ยังเป็นสาวแรกรุ่นให้แก่พราหมณ์เฒ่าอย่างนี้
[๑๙๒๕] เจ้าคงสาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า
ผู้มีศีล เป็นพหูสูตในโลกแน่
เจ้าจึงได้มาอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า
แต่ยังเป็นสาวแรกรุ่นอย่างนี้
[๑๙๒๖] การถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์
การถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์
การได้เห็นผัวแก่นั้นแหละเป็นทุกข์หนักหนา
[๑๙๒๗] การเล่นหัวกับผัวแก่ก็ไม่มี การรื่นรมย์กับผัวแก่ก็ไม่มี
การสนทนาปราศรัยกับผัวแก่ก็ไม่มี แม้แต่การซิกซี้ก็ไม่งาม
[๑๙๒๘] แต่เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเล่นเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ
เมื่อนั้น ความเศร้าโศกทุกอย่าง
ที่เสียดแทงหัวใจอยู่ ก็หายไปสิ้น
[๑๙๒๙] เจ้ายังเป็นสาวรูปงาม พวกชายหนุ่มปรารถนายิ่งนัก
เจ้าจงไปอยู่อาศัยในตระกูลญาติเถิด
คนแก่จักทำให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(นางอมิตตตาปนากล่าวว่า)
[๑๙๓๐] พราหมณ์ ฉันจักไม่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำเพื่อท่านต่อไปอีก
เพราะพวกหญิงชาวบ้านมันรุมกันด่าฉัน เหตุที่ท่านเป็นคนแก่
(ชูชกปลอบว่า)
[๑๙๓๑] เธออย่าได้ทำการงานเพื่อฉัน
อย่าได้ตักน้ำมาเพื่อฉัน
ฉันจักตักน้ำเอง แม่มหาจำเริญ
เธออย่าได้โกรธเคืองฉัน
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๒] ฉันมิได้เกิดในตระกูลที่จะใช้สามีตักน้ำ
พราหมณ์ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
[๑๙๓๓] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๔] พราหมณี ศิลปกรรมหรือทรัพย์
และข้าวเปลือกของฉันไม่มีที่ไหน
ฉันจักนำทาสหรือทาสีมาให้แก่เธอผู้เจริญได้
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาตอบว่า)
[๑๙๓๕] มาเถิด ฉันจักบอกแก่ท่านตามที่ฉันได้ฟังมา
โน่นพระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๓๖] พราหมณ์ ท่านจงไปทูลขอทาสและทาสี
กับพระองค์เถิด เมื่อท่านทูลขอแล้ว
พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์จักพระราชทานทาสและทาสีให้แก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(ชูชกกล่าวว่า)
[๑๙๓๗] นางผู้เจริญ ฉันแก่แล้วเป็นคนทุพพลภาพ
ทั้งหนทางก็แสนไกล เดินไปได้แสนยาก
เธออย่าได้พิไรรำพัน อย่าได้เสียใจ
ฉันจักอุปถัมภ์บำรุงเธอ เธออย่าได้โกรธเคืองเลย
(นางอมิตตตาปนาพูดว่า)
[๑๙๓๘] คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ
ยังไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ฉันใด
พราหมณ์ ท่านยังไม่ทันได้ไป
ก็ยอมแพ้เสียแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน
[๑๙๓๙] พราหมณ์ ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน
ท่านจงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน
จักทำการที่ไม่พอใจให้แก่ท่าน ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๐] ในคราวมหรสพซึ่งมีในต้นฤดูนักขัตฤกษ์
ท่านจักได้เห็นฉันแต่งตัวสวยงาม
รื่นรมย์อยู่กับชายอื่น ข้อนั้นจักเป็นทุกข์แก่ท่าน
[๑๙๔๑] พราหมณ์ เมื่อท่านที่เป็นคนแก่รำพันอยู่
เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น
และผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นตกใจกลัว
ตกอยู่ในอำนาจของนางพราหมณี
ถูกกามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกับนางพราหมณีว่า
[๑๙๔๓] พราหมณี เธอจงทำเสบียงเดินทางให้ฉัน
ทั้งขนมงา ขนมเทียน สัตตุก้อน สัตตุผง
และข้าวผอก เธอจงจัดให้ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๔๔] ฉันจักนำพระกุมารทั้ง ๒ มาให้เป็นทาส
พระกุมารทั้ง ๒ องค์นั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
จักปรนนิบัติเธอทั้งกลางคืนและกลางวัน
[๑๙๔๕] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพรหม
ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็สวมรองเท้า พร่ำสั่งเสียต่อไป
ทำประทักษิณภรรยาแล้ว
[๑๙๔๖] พราหมณ์นั้นสมาทานวัตร มีน้ำตานองหน้า
หลีกไปยังนครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวกรุงสีพี
เที่ยวไปแสวงหาทาส
[๑๙๔๗] พราหมณ์ชูชกนั้นไปในเมืองนั้นแล้ว
ได้ถามชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นว่า
พระราชาเวสสันดรประทับอยู่ที่ไหน
เราจะไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ได้ที่ไหน
[๑๙๔๘] ชนเหล่านั้นผู้มาประชุมกัน ณ ที่นั้น
ได้ตอบพราหมณ์ชูชกนั้นไปว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรบรมกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงถูกขับไล่ไปจากแคว้นของพระองค์
บัดนี้ ประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๔๙] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์
ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป
จึงทรงพาพระโอรสและพระชายา
ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต
[๑๙๕๐] พราหมณ์ชูชกนั้นเป็นผู้มีความติดใจในกาม
ถูกนางพราหมณีอมิตตตาตักเตือน
จึงได้เสวยทุกข์เป็นอันมากในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อาศัยอยู่ของแรดและเสือเหลือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๑] แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม เครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ
เข้าไปสู่ป่าใหญ่ ในที่ที่จะได้ทราบข่าว
พระเวสสันดรผู้ประทานสิ่งที่น่าใคร่
[๑๙๕๒] เมื่อแกเข้าไปยังป่าใหญ่ ถูกฝูงสุนัขรุมล้อมกัด
แกร้องเสียงหลง เดินผิดทางถอยห่างออกไปจากทาง
[๑๙๕๓] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นผู้โลภในโภคะ ไม่สำรวม
เดินผิดทางที่จะไปยังเขาวงกต ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๙๕๔] ใครเล่าจะพึงบอกพระราชบุตร
พระนามว่าเวสสันดรผู้ประเสริฐสุด
ทรงชนะความตระหนี่ที่ใคร ๆ ให้แพ้ไม่ได้
ประทานความปลอดภัยในเวลามีภัยแก่เรา
[๑๙๕๕] พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจก
เหมือนธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังธรณีแก่เราได้
[๑๙๕๖] พระองค์ทรงเป็นที่เข้าเฝ้าของพวกยาจก
เหมือนสาครเป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบดังทะเลแก่เราได้
[๑๙๕๗] ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนห้วงน้ำมีท่าสวยงาม สะอาด
มีน้ำเยือกเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษไปด้วยดอกบุณฑริก
สะพรั่งไปด้วยเกสรดอกบัวแก่เราได้
[๑๙๕๘] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
[๑๙๕๙] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไทรที่เกิดอยู่ริมทาง
มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๐] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เกิดอยู่ริมทาง
ที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๑] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นสาละที่มีร่มเงาเยือกเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๒] ใครเล่าจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช
ผู้เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เกิดอยู่ริมทาง มีร่มเงาเยือกเย็น
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พำนักอาศัยของคนเดินทาง
ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อนแก่เราได้
[๑๙๖๓] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นจะพึงทำความเพลิดเพลินให้เกิดแก่เราได้
[๑๙๖๔] ก็เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้
ผู้ใดพึงบอกสถานที่ประทับอยู่
ของพระเวสสันดรได้ว่า เรารู้จัก
ผู้นั้นพึงประสบบุญมิใช่น้อยด้วยคำคำเดียวนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ชูชก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๖๕] เจตบุตรพรานป่าได้ตอบพราหมณ์ชูชกว่า
พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงถูกขับไล่ออกจากแคว้น
ของพระองค์ไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๖] พราหมณ์ พระเวสสันดรผู้เป็นกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน
เพราะทรงบริจาคทานมากเกินไป จึงทรงพาพระโอรส
และพระชายาไปประทับอยู่ที่เขาวงกต
[๑๙๖๗] ท่านเป็นคนโง่เขลา ทำสิ่งที่ไม่น่าทำ
จากแคว้นมาป่าใหญ่ เที่ยวแสวงหาพระราชบุตร
เหมือนนกยางเที่ยวเสาะหาปลาในน้ำ
[๑๙๖๘] พราหมณ์ ณ ที่นี้ เราจักไม่ให้ท่านมีชีวิตอยู่ได้
ลูกศรที่เรายิงนี้แหละจักดูดกินโลหิตของท่าน
[๑๙๖๙] พราหมณ์ เราจะตัดศีรษะของท่าน
ผ่าหัวใจพร้อมด้วยไส้พุง บูชายัญชื่อปันถสกุณะ๑
พร้อมด้วยเนื้อของท่าน
[๑๙๗๐] พราหมณ์ เราจะเชือดเฉือนเอาหัวใจของท่าน
พร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และมันสมองของท่าน
ยกขึ้นเป็นเครื่องบวงสรวง
[๑๙๗๑] พราหมณ์ ข้อนั้นจักเป็นยัญที่เราบูชาดีแล้ว
บวงสรวงดีแล้ว ด้วยเนื้อของท่าน
และท่านจักนำพระชายาและพระโอรสทั้งหลาย
ของพระราชบุตรไปไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ปันถสกุณะ หมายถึงการฆ่าแล้วผ่าเนื้อหัวใจควักออกมาพร้อมด้วยตับ ไต และลำไส้ แล้วบูชายัญแก่
เทวดาประจำทาง (คล้ายการฆ่านกแล้วย่างไฟบูชา) (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๑๙๖๙/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
(ชูชกโกหกว่า)
[๑๙๗๒] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน พราหมณ์ผู้เป็นทูตไม่ควรถูกฆ่า
เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ฆ่าทูต นี้เป็นธรรมอันเก่าแก่
[๑๙๗๓] ชาวกรุงสีพีทุกคนตกลงยินยอมแล้ว
พระบิดาก็ทรงพระประสงค์จะพบพระราชบุตรนั้น
และพระมารดาของพระราชบุตรนั้นก็ทรงทุพพลภาพ
คงไม่นานนัก พระเนตรทั้ง ๒ ของพระองค์ก็จักขุ่นมัว
[๑๙๗๔] เจตบุตร ท่านจงฟังเราก่อน
เราเป็นทูตที่พวกชาวกรุงสีพีนั้นส่งมา
เราจักทูลเชิญพระราชบุตรเสด็จกลับ
ถ้าท่านรู้ขอได้บอกทางแก่เราเถิด
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
ท่านเป็นทูตที่โปรดปรานของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของเรา
เราจะให้รางวัลแก่ท่าน
[๑๙๗๕] พราหมณ์ เราจะให้น้ำเต้า และขาเนื้ออย่างดีแก่ท่าน
และจะบอกสถานที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่แก่ท่าน
กัณฑ์ชูชก จบ

จูฬวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์จุลพน
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๑๙๗๖] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทย์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๗๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๗๘] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๑๙๗๙] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง
ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๑๙๘๐] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจทิพยสังคีต คือ
เหล่านกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๑๙๘๑] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๑๙๘๒] พระองค์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๑๙๘๓] ในบริเวณอาศรมสถานนั้นมีไม้มะม่วง
มะขวิด ขนุน ไม้รัง ชมพู่ สมอพิเภก
สมอไทย มะขามป้อม โพธิ และพุทรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๘๔] ทั้งมะพลับทอง ไทร มะขวิด มะซางหวาน
และมะเดื่อ มีผลสุกแดงปลั่งอยู่ในที่ต่ำ
[๑๙๘๕] หมู่ไม้ที่มองเห็น ณ เชิงเขาปาเรวตะ ผลองุ่น
ผลจันทน์มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง
คนเอื้อมมือนำมาบริโภคได้เองในอาศรมนั้น
[๑๙๘๖] ต้นมะม่วงบางต้นก็ผลิดอกออกช่อแย้มบาน
บางต้นมีดอกและใบร่วงหล่น ผลิผลดาษดื่น
บางผลดิบ บางผลสุก ผลมะม่วงทั้งดิบและสุก
มีสีคล้ายหลังกบ
[๑๙๘๗] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น
คนที่ยืนอยู่ใต้ต้นมะม่วงเหล่านั้นก็เก็บเอาผลมะม่วงสุกได้
ผลมะม่วงทั้งดิบและสุกมีสีสวยงาม กลิ่นหอม และมีรสอร่อย
[๑๙๘๘] สิ่งที่ว่ามาทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ถึงกับข้าพเจ้าออกอุทานว่า อือ
ที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดรนั้น
เหมือนกับที่อยู่ของพวกเทวดา
งดงามเปรียบด้วยพระอุทยานนันทวัน
[๑๙๘๙] มีต้นตาล ต้นมะพร้าว และต้นอินทผาลัมอยู่ในป่าใหญ่
มีดอกสีหลากหลายเหมือนพวงดอกไม้
ที่เขาร้อยไว้บนต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏดังยอดธงชัย
เหมือนดวงดาวประดับฟ้า
[๑๙๙๐] ในบริเวณอาศรมนั้นมีหมู่ไม้นานาพันธุ์
คือ ไม้โมกมัน โกฐสะค้าน แคฝอย บุนนาค
บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๑] อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้นมีต้นราชพฤกษ์
มะเกลือ กฤษณา รักดำ ไทรใหญ่ หงอนไก่
และประดู่ เป็นอันมาก มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๙๙๒] ในบริเวณอาศรมนั้นมีไม้โมกหลวง
ไม้สน ไม้กระทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก และไม้รัง
ล้วนมีดอกบานสะพรั่ง เป็นพุ่มเหมือนลอมฟาง
[๑๙๙๓] ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์
ดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนสระโบกขรณีที่อยู่ในอุทยานนันทวันของเหล่าเทวดา
[๑๙๙๔] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น
มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจ
ทำให้ป่าใหญ่ดังอึกทึกกึกก้อง
เมื่อหมู่ไม้ผลิดอกออกช่อเบ่งบานตามฤดูกาล
[๑๙๙๕] รสหวานปานน้ำผึ้งพลัดร่วงลงจากเกสรดอกไม้
มาติดค้างอยู่บนใบบัว จึงชื่อว่าน้ำผึ้งใบบัว
อนึ่ง อาศรมนั้น เมื่อลมทิศใต้และทิศตะวันตกพัดมา
ก็เกลื่อนกลาดไปด้วยละอองเกสรดอกปทุม
[๑๙๙๖] ในสระโบกขรณีนั้นมีกระจับขนาดใหญ่
ทั้งข้าวสาลีอ่อนบ้าง แก่บ้าง
เหล่านั้นนั่นแหละล้มระเนระนาดอยู่บนพื้นดิน
และในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา
เต่า และปูเป็นจำนวนมากที่กำลังว่ายไปมาเป็นกลุ่ม
รสที่ไหลออกจากเหง้าบัวและจากสายบัว
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง นมสด และเนยใสที่เจือปนด้วยน้ำนม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) จูฬวนวัณณนา
[๑๙๙๗] ไม้ป่านั้นมีกลิ่นต่าง ๆ มีลมโชยพัดมา
หอมฟุ้งตลบอบอวลเหมือนจะยังชนผู้มาถึงแล้ว
ให้บันเทิงเบิกบานด้วยกลิ่นและพวงดอกไม้
หมู่ภมรก็โผบินร่อนส่งเสียงกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๑๙๙๘] อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนี้
มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๑๙๙๙] ยังมีฝูงนกอีก ๔ ฝูง๑ อาศัยอยู่ใกล้สระโบกขรณี
คือ ฝูงนกนันทิกา ฝูงนกชีวปุตตา
ฝูงนกปุตตาปิยาจโน ฝูงนกปิยปุตตาปิยานันทา
[๒๐๐๐] ดอกไม้ทั้งหลาย ตั้งเรียงรายกันอยู่
เหมือนพวงมาลัยที่เขาร้อยไว้
หมู่ไม้เหล่านั้นย่อมปรากฏดังยอดธงชัย มีดอกสีต่าง ๆ กัน
ดังนายช่างผู้ฉลาดได้เก็บมาเรียงร้อยไว้เป็นอย่างดี
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่
[๒๐๐๑] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ฝูงนก ๔ ฝูง หมายถึงนกที่มีชื่อต่างกันตามเสียงร้อง ฝูงนกนันทิการ้องว่า “ข้าแต่พระเวสสันดรผู้เป็น
นาย ขอให้ท่านอยู่ในป่านี้อย่างเพลิดเพลินเถิด” ฝูงนกชีวปุตตาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรส
จงเป็นอยู่สบาย” ฝูงนกปุตตาปิยาจโนร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระโอรสสุดที่รักจงมีชีวิตอยู่” ฝูงนก
ปิยปุตตาปิยานันทาร้องว่า “ขอให้พระองค์และพระราชโอรสสุดที่รักจงเพลิดเพลิน” (ขุ.ชา.อ.
๑๐/๑๙๙๙/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๐๒] ก็ข้าวสัตตุผงที่ระคนด้วยน้ำผึ้ง
และข้าวสัตตุก้อนที่มีรสหวานอร่อยของเรานี้
ที่นางอมิตตตาได้จัดแจงให้ เราจะแบ่งให้แก่เจ้า
(พรานเจตบุตรกล่าวว่า)
[๒๐๐๓] ท่านพราหมณ์ ขอจงเอาไว้เป็นเสบียงทางของท่านเถิด
ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาเสบียงทาง ท่านพราหมณ์
ขอท่านจงรับเอาคืนไปจากที่นี้เถิด ขอท่านจงไปตามสบายเถิด
[๒๐๐๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
แม้อัจจุตฤๅษีผู้อยู่ในอาศรมนั้นเป็นผู้มีขี้ฟันเขรอะ
มีศีรษะเปื้อนด้วยธุลี ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ถือขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎาอยู่
[๒๐๐๕] เป็นผู้นุ่งห่มหนังเสือ นอนเหนือพื้นดิน และบูชาไฟ
เชิญท่านไปถามฤๅษีนั้นดูเถิด ฤๅษีจักบอกทางให้แก่ท่าน
[๒๐๐๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้วกระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาพรานเจตบุตร
แล้วหลีกไปในทางที่อัจจุตฤๅษีอยู่
พรรณนากัณฑ์จุลพน จบ

มหาวนวัณณนา
พรรณนากัณฑ์มหาพน
[๒๐๐๗] พราหมณ์ชูชกภารทวาชะนั้น
เมื่อเดินไปก็ได้พบอัจจุตฤๅษี ครั้นพบแล้ว
ได้ทักทายปราศรัยกับอัจจุตฤๅษีว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๐๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ สุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๐๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๐] พราหมณ์ เราไม่มีโรคเบียดเบียน เราสุขสบายดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๑๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๑๒] หลายปีมาแล้ว เรามาอยู่อาศรมของเรา
ยังไม่รู้จักอาพาธที่ไม่น่ารื่นรมย์ซึ่งจะเกิดขึ้น
[๒๐๑๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๑๔] ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า
มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๑๕] น้ำดื่มเย็นสนิทที่เรานำมาจากซอกเขา
มหาพราหมณ์ ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญดื่มเถิด
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๖] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้แล้ว
สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว
บรรณาการพระคุณเจ้าได้ทำไว้ทุกอย่างแล้ว
ข้าพเจ้ามาก็เพื่อจะเยี่ยมเยือนพระราชาเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
พระโอรสของพระเจ้ากรุงสญชัย
ซึ่งพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมาช้านาน
ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถานที่ประทับ
ก็โปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้าเถิด
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๑๗] ท่านผู้เจริญ มาเพื่อต้องการบุญ
เพื่อเยี่ยมเยือนพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพีก็หาไม่
เราเข้าใจว่าท่านปรารถนา(จะมาขอ)พระชายา
ผู้เคารพนบนอบพระราชาไปเป็นภรรยา
หรือมิฉะนั้น ท่านก็ปรารถนา(จะมาขอ)
พระกัณหาชินาไปเป็นทาสีและพระชาลีไปเป็นทาส
[๒๐๑๘] หรือหาไม่ ก็มาเพื่อจะนำทั้งพระมารดา
และพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปจากป่า
ท่านพราหมณ์ โภคะทั้งหลาย ทรัพย์สิน
และข้าวเปลือกของพระเวสสันดรนั้นไม่มี
(ชูชกกล่าวว่า)
[๒๐๑๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านยังไม่สมควรจะโกรธเคือง
เพราะข้าพเจ้ามิได้มาเพื่อขอ
การพบเห็นพระอริยะเป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะเป็นสุขทุกเมื่อ
[๒๐๒๐] ข้าพเจ้าไม่เคยได้พบพระเวสสันดรเจ้ากรุงสีพี
ผู้ทรงพลัดพรากจากชาวกรุงสีพีมานาน
ข้าพเจ้ามาเพื่อเยี่ยมเยือนพระองค์
ถ้าพระคุณเจ้ารู้จักสถานที่ประทับ
โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
(อัจจุตฤๅษีกล่าวว่า)
[๒๐๒๑] มหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์ศิลาล้วน
ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ของพระเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายา
[๒๐๒๒] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่
[๒๐๒๓] ทิวไม้เขียวนั้นมีผลหลากหลาย
และภูผาสูงยอดเสียดเมฆเขียวชะอุ่ม
นั่นแลเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยดอกอัญชัน
[๒๐๒๔] นั่นหมู่ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน
ไม้รัง ไม้สะคร้อ และย่านทราย อ่อนไหวไปตามลม
เหมือนมาณพดื่มสุราครั้งเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่
[๒๐๒๕] ท่านจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด
ที่จับอยู่บนกิ่งไม้ดุจดังเสียงทิพยสังคีต
คือ นกโพระดก นกดุเหว่า ส่งเสียงขันคูกู่ร้อง
บินขวักไขว่ไปมาจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
[๒๐๒๖] ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งใบไหวพลิ้วเสียดสีกันไปมา
เหมือนจะเรียกคนผู้กำลังเดินผ่านไปให้หวนกลับมา
และเหมือนจะเชิญชวนเหล่าชนผู้กำลังเดินผ่านมา
ให้ชื่นชมรื่นรมย์พักผ่อน ณ สถานที่ที่พระราชาเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายและพระชายาประทับอยู่
[๒๐๒๗] พระองค์ทรงเพศนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและทรงบูชาไฟอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๒๘] ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ มีดอกกุ่มร่วงหล่นเรี่ยราด
พื้นแผ่นดินเขียวชะอุ่มไปด้วยหญ้าแพรก
ณ ที่นั้น ไม่มีผงธุลีฟุ้งขึ้นเลย
[๒๐๒๙] หญ้านั้นสีเขียวคล้ายสร้อยคอนกยูง
อ่อนนุ่มเหมือนสัมผัสสำลี
หญ้ารายรอบยาวไม่เกิน ๔ นิ้ว
[๒๐๓๐] ต้นมะม่วง ชมพู่ มะขวิด
และมะเดื่อมีผลสุกอยู่ในที่ต่ำ ๆ
ป่านั้นเป็นสถานที่เพิ่มความรื่นรมย์มากขึ้น
เพราะมีหมู่ไม้ที่ใช้บริโภคได้
[๒๐๓๑] มีน้ำใสสะอาดกลิ่นหอม สีเหมือนแก้วไพฑูรย์
เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาหลั่งไหลไปในป่านั้น
[๒๐๓๒] ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ไม่ห่างไกลจากอาศรมนั้น
มีสระโบกขรณีดารดาษไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
เหมือนมีในอุทยานนันทวันของพวกเทวดา
[๒๐๓๓] พราหมณ์ ในสระโบกขรณีนั้น
มีอุบลอยู่ ๓ เหล่า คือ อุบลเขียว อุบลขาว
และอุบลแดง งามตระการตามากมาย
[๒๐๓๔] ในสระนั้นมีดอกปทุมสีขาวดังผ้าโขมพัสตร์
สระนั้นชื่อสระมุจลินท์
ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลนี และผักทอดยอด
[๒๐๓๕] อนึ่ง ในสระนี้มีปทุมชาติบานสะพรั่ง
ปรากฏดังจะหาที่สุดมิได้
บ้างก็บานในฤดูคิมหันต์ บ้างก็บานในฤดูเหมันต์
ปรากฏเหมือนลอยอยู่บนน้ำซึ่งลึกประมาณเพียงเข่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๓๖] ปทุมชาติงามตระการตาชูดอกสะพรั่ง
ส่งกลิ่นอบอวล
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๓๗] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนี้
มีต้นไม้ขึ้นมากมายเช่นต้นกระทุ่ม
ต้นแคฝอย และต้นทองหลาง ผลิดอกออกช่อบานสะพรั่ง
[๒๐๓๘] ต้นปรู ไม้ซาก ไม้ปาริชาติ ก็มีดอกบานสะพรั่ง
ต้นกากะทิงมีอยู่ที่ ๒ ฟากฝั่งของสระมุจลินท์
[๒๐๓๙] ต้นซึก ต้นแคขาว บัวบกส่งกลิ่นฟุ้งไป
ต้นคนทีสอ ต้นคนที ต้นเขมา และต้นประดู่
ขึ้นอยู่ใกล้สระนั้น มีดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๐] ต้นมะคำไก่ ไม้มะซาง ต้นแก้ว ต้นมะรุม
การะเกด กรรณิการ์ และชบา ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๑] ต้นรกฟ้า ต้นอินทนิล ต้นกระท้อน และต้นทองกวาว
ต่างก็ผลิดอกออกช่อและยอดแดงระเรื่อ
[๒๐๔๒] ไม้มะรื่น ตีนเป็ด กล้วย ต้นคำฝอย นมแมว
คนทา ประดู่ลาย และสลอด ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๓] ต้นมะไฟ ต้นงิ้ว ช้างน้าว พุดขาว กฤษณา
โกฐเขมา และโกฐสอ ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๐๔๔] ณ บริเวณสระนั้น มีต้นไม้ที่มีทั้งอ่อนและแก่
ต้นไม่คดงอ ผลิดอกแย้มบาน
ตั้งอยู่ทั้ง ๒ ข้างอาศรมรอบเรือนไฟ
[๒๐๔๕] อนึ่ง ที่ริมรอบขอบสระนี้ มีพรรณไม้เกิดขึ้นมากมาย
คือ ตะไคร้ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส สาหร่าย และสันตะวา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๔๖] น้ำในสระนี้ ถูกลมรำเพยพัด
เกิดเป็นระลอกคลื่นกระทบฝั่ง
มีหมู่แมลงโผบินเคล้าเกสรดอกไม้ที่แย้มบาน
สีเสียดเทศ เต่าร้าง และผักทอดยอดมีอยู่มาก
[๒๐๔๗] พราหมณ์ ต้นไม้ทั้งหลายดารดาษไปด้วยกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
กลิ่นของบุปผชาติเหล่านั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึง ๗ วัน ไม่ระเหยหายไป
[๒๐๔๘] บุปผชาติทั้งหลายเกิดอยู่เรียงราย ๒ ฟากฝั่ง
สระมุจลินท์ ล้วนแต่สวยงาม
ป่านั้นดารดาษไปด้วยต้นราชพฤกษ์ทำให้สวยงาม
[๒๐๔๙] กลิ่นดอกราชพฤกษ์นั้นหอมอบอวล
อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ไม่ระเหยหาย
ดอกอัญชันเขียว อัญชันขาว และกุ่มแดง มีดอกบานสะพรั่ง
ป่านั้นดารดาษไปด้วยอบเชยและแมงลัก
[๒๐๕๐] เหมือนป่านั้นจะให้คนบันเทิงใจ
ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม
หมู่ภมรก็โผบินร่อนเสียงดังกระหึ่มอยู่รายรอบ
เพราะกลิ่นหอมของดอกไม้
[๒๐๕๑] พราหมณ์ ณ ริมรอบขอบสระนั้น มีฟักแฟง แตง
น้ำเต้า ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งมีผลเขื่องขนาดเท่าหม้อ
อีก ๒ ชนิดเหล่านั้นมีผลโตขนาดเท่าตะโพน
[๒๐๕๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีเมล็ดพันธุ์ผักกาด
เป็นจำนวนมาก ทั้งกระเทียมที่มีใบเขียวสด
ต้นเหลาชะโอนตั้งอยู่เหมือนต้นตาล
ผักสามหาวเป็นจำนวนมากควรเด็ดดอกด้วยกำมือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๕๓] มีเถาโคกกระออม นมตำเลีย เถาหญ้านาง
เถาชะเอม ไม้อโศก ต้นเทียน บอระเพ็ดไฟ ชิงช้าชาลี
[๒๐๕๔] ว่านหางช้าง อังกาบ เถาพลุ และมะลิซ้อน มีดอกแย้มบาน
ต้นทองกวาวเครือมีดอกบานสะพรั่ง ขึ้นอยู่ตามต้นไม้
[๒๐๕๕] ต้นก้างปลา กำยาน คัดเค้า ชะเอม มะลิเลื้อย
มะลิธรรมดา ชบา บัวบก งดงาม
[๒๐๕๖] ต้นแคฝอย ฝ้ายทะเล และกรรณิการ์มีดอกเบ่งบาน
ปรากฏดังข่ายทองงดงาม ระเรื่อ เปรียบเหมือนเปลวเพลิง
[๒๐๕๗] ดอกไม้ที่เกิดบนบกและเกิดในน้ำเหล่านั้น
ทั้งหมดต่างก็ปรากฏอยู่ในสระนั้น
เพราะมีน้ำขังอยู่มากน่ารื่นรมย์ ด้วยประการฉะนี้
[๒๐๕๘] อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น
มีปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำมากชนิด
คือ ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาดุก
จระเข้ ปลามังกร ปลากา
[๒๐๕๙] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน
ประยงค์ เนระพูสี แห้วหมู สัตตบุษย์ สมุลแว้ง
[๒๐๖๐] พิมเสน สามสิบ กฤษณา เถากระไดลิงเป็นจำนานมาก
บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด
[๒๐๖๑] ขมิ้น แก้มหอม หรดาล กำคูณ สมอพิเภก
ไคร้เครือ การะบูร และกลิงคุก
[๒๐๖๒] อนึ่ง ในป่านั้น มีสัตว์หลากหลายชนิด คือ
ราชสีห์ เสือโคร่ง ยักษิณีมีหน้าดุจฬา ช้างพัง
ช้างพลาย เนื้อทราย เนื้อฟาน ละมั่ง และอีเห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๖๓] สุนัขจิ้งจอก หมาใน บ่าง กระรอก
จามรี ชะนี ลิงลม ค่าง ลิง ลิงจุ่น
[๒๐๖๔] ณ ที่ใกล้สระนั้น มีกวาง กระทิง หมี วัวป่า แรด
หมู พังพอน และงูเห่า เป็นจำนวนมาก
[๒๐๖๕] กระบือ หมาใน สุนัขจิ้งจอก กิ้งก่า ตะกวด เหี้ย
เสือดาว และเสือเหลืองมีอยู่โดยรอบด้าน
[๒๐๖๖] กระต่าย แร้ง ราชสีห์ และเสือปลา
สกุณชาติหลายชนิด คือ นกกวัก นกยูง นกหงส์ขาว ไก่ฟ้า
[๒๐๖๗] นกกะปูด ไก่ป่า นกหัสดีลิงค์ ร่ำร้องคูขันหากันและกัน
นกยางโทน นกยางกรอก นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกกระเรียน
[๒๐๖๘] เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง นกช้อนหอย นกพริก นกคับแค
นกแขวก นกกด นกกระเต็นใหญ่ นกนางแอ่น
[๒๐๖๙] นกคุ่ม นกกระทา นกกระทุง นกกระจอก
นกกระจาบ นกกระเต็นน้อย นกกางเขน
[๒๐๗๐] นกการเวก นกแอ่นลม นกเงือก นกออก
สระมุจลินท์เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
กู่ร้องขานขันด้วยเสียงต่าง ๆ กัน
[๒๐๗๑] อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกมากมายมีขนปีกงามวิจิตร
มีเสียงไพเราะเสนาะโสตบันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน
กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๒] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีตางามประกอบด้วยเบ้าตาขาว มีฝูงนกที่มีขนปีกงามวิจิตร
[๒๐๗๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกส่งเสียงร้องไพเราะเป็นนิตย์
มีหงอน มีสร้อยคอเขียว กู่ร้องประชันเสียงกันและกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) มหาวนวัณณนา
[๒๐๗๔] มีไก่เถื่อน ไก่ฟ้า นกเปล้า นกนางนวล เหยี่ยวดำ
เหยี่ยวนกเขา นกกาน้ำ นกแขกเต้า และนกสาลิกา
[๒๐๗๕] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีนกเป็นจำนวนมากเป็นพวก ๆ
คือ เหลือง แดง ขาว นกหัสดีลิงค์ พญาหงส์ทอง
นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกเอี้ยง
[๒๐๗๖] นกดุเหว่า นกอกขาว หงส์ขาว
นกเงือก นกเค้าแมว ห่าน
นกยาง นกโพระดก นกต้อยตีวิด
[๒๐๗๗] นกพิราบ หงส์แดง นกจักรพาก นกเป็ดน้ำ
นกหัสดีลิงค์ ส่งเสียงร้องที่น่ารื่นรมย์ใจ
นกเหล่านั้นต่างก็ส่งเสียงร้องกู่ก้องหากันและกันที่เชิงเขา
ทั้งเช้าและเย็นอยู่เป็นนิตย์
[๒๐๗๘] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่มีสีต่าง ๆ กัน
บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตนกู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๗๙] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกจำนวนมากที่สีต่าง ๆ กัน
ทั้งหมดต่างก็ขันคูกู่ร้องเสียงไพเราะ
อยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ของสระมุจลินท์
[๒๐๘๐] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีฝูงนกการเวก
ต่างก็บันเทิงใจอยู่กับคู่ของตน กู่ประชันเสียงกันและกัน
[๒๐๘๑] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ ฝูงนกการเวกทั้งหมดนั้น
ต่างก็กู่ร้องเสียงไพเราะอยู่ฟากฝั่งทั้ง ๒ ข้างของสระมุจลินท์
[๒๐๘๒] ป่านั้นเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อทราย เนื้อฟาน
เป็นที่อยู่อาศัยของช้างพลายและช้างพัง
ดารดาษไปด้วยเถาวัลย์นานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงชะมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๘๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนี้ มีธัญญชาติเป็นจำนวนมาก
คือ ข้าวฟ่าง ลูกเดือยเป็นอันมาก
ข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืนไฟ และอ้อยมิใช่น้อยก็มีอยู่ในป่านั้น
[๒๐๘๔] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
คนผู้ไปถึงอาศรมซึ่งเป็นสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดร
พร้อมด้วยพระโอรสทั้งหลายประทับอยู่นั้น
จะไม่ประสบความหิว ความกระหาย และความไม่ยินดี
[๒๐๘๕] พระองค์ทรงเพศเป็นนักบวชอันประเสริฐ
ทรงขอสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฏา
นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือพื้นดินและบูชาไฟอยู่
[๒๐๘๖] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
ครั้นได้ฟังคำแนะนำนี้แล้ว กระทำประทักษิณ
มีใจเบิกบาน อำลาท่านฤๅษี
แล้วหลีกไปยังสถานที่ที่พระเจ้าเวสสันดรประทับอยู่
พรรณนากัณฑ์มหาพน จบ

กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๘๗] ลุกขึ้นยืนเถิดนะ พ่อชาลี การมาของพวกยาจกในวันนี้
ปรากฏเหมือนที่พ่อเห็นพราหมณ์มาเมื่อครั้งก่อน ๆ
ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานต์
(พระชาลีกราบทูลว่า)
[๒๐๘๘] ข้าแต่พระบิดา แม้หม่อมฉันก็เห็นผู้นั้น
ปรากฏเหมือนพราหมณ์ ดูเหมือนคนเดินทาง
จักเป็นแขกของพวกเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกทูลถามว่า)
[๒๐๘๙] พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ ทรงสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารก็มีมากหรือ
[๒๐๙๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๑] ท่านพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคเบียดเบียนเป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกดี
ทั้งมูลผลาหารก็มีมาก
[๒๐๙๒] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๐๙๓] เมื่อเรามาอยู่ในป่ามีชีวิตอันหงอยเหงาตลอด ๗ เดือน
เราเพิ่งจะเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์บูชาไฟ
ทรงพรตอันประเสริฐ ถือไม้เท้ามีสีดังผลมะตูม
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนแรก
[๒๐๙๔] ท่านมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปข้างใน
เชิญล้างเท้าทั้ง ๒ ของท่านเถิด
[๒๐๙๕] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่ามีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกฉันแต่ผลดี ๆ เถิด
[๒๐๙๖] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท เรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๐๙๗] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๐๙๘] ห้วงน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ก็ฉันนั้น หม่อมฉันมาเพื่อทูลขอ
ขอพระองค์ผู้ที่หม่อมฉันทูลขอแล้ว
ทรงพระกรุณาพระราชทานพระโอรสทั้งหลายเถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๐๙๙] ท่านพราหมณ์ เรายอมให้ เรามิได้หวั่นไหว
ท่านจงเป็นใหญ่ นำลูกทั้ง ๒ ของเราไปเถิด
พระนางมัทรีราชบุตรีไปป่าแต่เช้า
จักกลับมาจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น
[๒๑๐๐] ท่านพราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
เมื่อกุมารและกุมารีที่พระมารดาของเธอให้อาบน้ำดำเกล้า
ประดับระเบียบดอกไม้ไว้แล้ว
[๒๑๐๑] พราหมณ์ จงพักค้างคืนสักคืนหนึ่งเถิด พรุ่งนี้เช้าจึงค่อยไป
จงพากุมารและกุมารีที่ประดับตกแต่งด้วยกลิ่นหอมชนิดต่าง ๆ ไป
ในหนทางที่ปกคลุมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลผลาหารนานาประการ
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ข้าพระองค์ไม่ชอบใจที่จะพักอยู่ ข้าพระองค์ยินดีที่จะไป
แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะไปให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๐๓] เพราะว่า ธรรมดาสตรีเหล่านี้เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ
มีปกติกระทำอันตราย หญิงทั้งหลายรู้มนต์๑
ย่อมรับทุกสิ่งโดยข้างซ้าย
[๒๑๐๔] เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระศรัทธา
พระองค์อย่าได้เห็นพระมารดาของพระปิโยรสนั้นเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
พระมารดาของพระปิโยรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น
จะพึงทำอันตรายได้ ข้าพระองค์จะไปให้ได้
[๒๑๐๕] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานอยู่ด้วยศรัทธา
บุญย่อมเจริญยิ่งขึ้นด้วยอาการฉะนี้
[๒๑๐๖] ขอพระองค์ตรัสเรียกพระโอรสเหล่านั้นมาเถิด
อย่าให้พระโอรสเหล่านั้นได้พบเห็นพระมารดาเลย
ขอเดชะ พระองค์ทรงประทานทรัพย์คือพระโอรสทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์แล้วจักเสด็จไปสวรรค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๐๗] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะเห็นภริยาของเราผู้มีวัตรอันงาม
ก็จงทูลถวายพระกุมารทั้ง ๒ คือพระชาลีและพระกัณหาชินา
แด่พระเจ้ากรุงสญชัยผู้เป็นพระอัยกา
[๒๑๐๘] พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระราชกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ทรงปลื้มพระทัยปรีดาปราโมทย์
จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ มนต์ หมายถึงมารยา (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๐๓/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๐๙] ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์โปรดทรงฟังข้าพระองค์ก่อน
ข้าพระองค์กลัวการที่จะถูกหาว่าฉกชิงเอาไป
พระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจะพึงลงพระราชอาญาข้าพระองค์
คือ จะทรงปรับสินไหมหรือให้ประหารชีวิต
ข้าพระองค์จะขาดทั้งทรัพย์และทาส
และจะถูกนางพราหมณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ติเตียนได้
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๑๑๐] พระมหาราชทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเป็นผู้ผดุงรัฐ
ให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารเหล่านี้
ผู้มีพระสุระเสียงไพเราะ ตรัสพระวาจาน่ารัก
ได้ปีติและโสมนัสแล้วจักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็นอันมาก
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๑๑๑] ข้าพระองค์จักทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพร่ำสอนคงไม่ได้
จักนำทารกทั้งหลายไปเป็นทาสรับใช้
ของนางพราหมณีเท่านั้น
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๒] ลำดับนั้น พระกุมารทั้ง ๒
คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา ได้สดับคำของชูชกผู้หยาบช้า
ตกพระทัยจึงพากันเสด็จวิ่งหนีไปจากที่นั้น
(พระเวสสันดรตรัสเรียก ๒ กุมารว่า)
[๒๑๑๓] ชาลีลูกรัก มานี่เถิด
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันบำเพ็ญบารมีของพ่อให้เต็มเถิด
จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๑๔] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
[๒๑๑๕] แม่กัณหาลูกรัก มานี่เถิด ทานบารมีเป็นที่รักของพ่อ
เจ้าทั้ง ๒ จงช่วยกันโสรจสรงหทัยของพ่อให้เยือกเย็นเถิด
จงเชื่อฟังคำของพ่อเถิด
[๒๑๑๖] เจ้าทั้ง ๒ จงเป็นดุจยานนาวาของพ่อ
อันไม่โยกโคลงในสาครคือภพเถิด พ่อจักข้ามฝั่งคือชาติ
จักช่วยสัตวโลกพร้อมด้วยเทวโลกให้ข้ามด้วย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๑๗] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงพาพระกุมารทั้ง ๒ คือ พระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
[๒๑๑๘] ลำดับนั้น พระเวสสันดรทรงพาพระกุมารทั้ง ๒
คือพระชาลีและพระกัณหาชินามา
ได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์แล้ว
ก็ทรงพระทัยชื่นบานในปุตตทานอันอุดม
[๒๑๑๙] ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรได้พระราชทาน
พระกุมารทั้ง ๒ แล้ว ความบันลือลั่น
น่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า ได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็สะท้านหวั่นไหว
[๒๑๒๐] ครั้งนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงประคองอัญชลี พระราชทานพระกุมาร
ผู้เจริญด้วยความสุขให้เป็นทานแก่พราหมณ์
ความบันลือลั่นน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้า
ได้เกิดขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๑] ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้หยาบช้ากัดเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว
เอาเถาวัลย์ผูกพระหัตถ์ของพระกุมารทั้ง ๒
ฉุดกระชากลากไปด้วยเถาวัลย์
[๒๑๒๒] แต่นั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีพระกุมารทั้ง ๒ นั้นไป
ทั้งที่พระเจ้าเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
[๒๑๒๓] ลำดับนั้น พระกุมารทั้งหลาย
พอหลุดจากพราหมณ์ก็รีบวิ่งหนีไป
พระชาลีมีพระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
ชะเง้อมองดูพระบิดา
[๒๑๒๔] ทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดา
พระวรกายสั่นระริกเหมือนใบโพธิ์
ครั้นทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดาแล้ว
ก็ได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๒๑๒๕] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์โปรดประทานหม่อมฉันทั้ง ๒
เมื่อหม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นพระมารดากลับมาก่อน
[๒๑๒๖] ข้าแต่พระบิดา พระมารดากำลังเสด็จออกไปป่า
พระองค์ก็จะพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒ เสียแล้ว
ขอพระองค์โปรดพระราชทานหม่อมฉันทั้ง ๒
จนกว่าพระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ จะได้เสด็จมา
เมื่อนั้น พราหมณ์นี้จะขายหรือจะฆ่า
ก็จงทำตามความปรารถนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๒๗] พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ๑ คือ

๑. มีเท้าทู่ ๒. มีเล็บกุด
๓. มีปลีน่องหย่อนยาน ๔. มีริมฝีปากบนยาว
๕. มีน้ำลายไหล ๖. มีเขี้ยว
๗. มีจมูกหัก
[๒๑๒๘] ๘. มีพุงเหมือนหม้อ ๙. มีหลังค่อม
๑๐. มีตาเหล่ ๑๑. มีหนวดแดง
๑๒. มีผมเหลือง ๑๓. มีหนังย่นตกกระ
[๒๑๒๙] ๑๔. มีตาเหลือง ๑๕. มีกายคต
๑๖. มีขาโกง ๑๗. มีขนหยาบยาว

๑๘. นุ่งห่มหนังเสือ เป็นอมนุษย์ที่น่าสะพรึงกลัว
[๒๑๓๐] เป็นมนุษย์หรือยักษ์ที่กินเนื้อและเลือด
ออกจากบ้านมาสู่ป่า มาทูลขอทรัพย์กับพระองค์ พระเจ้าข้า
(กัณหาชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๓๑] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันทั้ง ๒ กำลังถูกปีศาจนำไปอยู่
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงมองเมินอยู่
พระทัยของเสด็จพ่อเห็นจะเหมือนหิน
หรือมิฉะนั้น ก็เหมือนแผ่นเหล็กที่ตรึงไว้

เชิงอรรถ :
๑ บุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ (๑) มีเท้าทู่ หมายถึงมีเท้าแบนเป็นแผ่น (๒) มีเล็บกุด หมายถึงมีเล็บเน่า
(๓) มีปลีน่องหย่อนยาน หมายถึงเนื้อปลีน่องหย่อนยานลงข้างล่าง (๔) มีริมฝีปากบนยาว หมายถึง
ริมฝีปากด้านบนยาวห้อยปิดริมฝีปากด้านล่าง (๕) มีน้ำลายไหล หมายถึงมีน้ำลายไหล(ตลอดเวลา)
(๖) มีเขี้ยว หมายถึงมีเขี้ยวงอกขึ้นเหมือนเขี้ยวสุกร (๗) มีจมูกหัก หมายถึงมีจมูกทั้งหักทั้งคด (๘-๑๐
ความชัดแล้ว) (๑๑) มีหนวดแดง หมายถึงมีหนวดสีแดงเหมือนเส้นลวดทองแดง (๑๒) มีผมเหลือง
หมายถึงมีผมงอกขึ้นมาเป็นสีทอง (๑๓) มีหนังย่นตกกระ หมายถึงหนังตามตัวเต็มไปด้วยรอยย่นและ
เกลื่อนกล่นไปด้วยมูลแมลงวัน (๑๔) มีตาเหลือง หมายถึงมีลูกตาเหลือกเหลืองเหมือนตาแมว (๑๕) มี
กายคด หมายถึงมีที่คด ๓ แห่ง คือ สะเอว หลัง และคอ (๑๖) มีขาโกง หมายถึงมีเท้าเฉไปคนละทาง
ข้อต่อกระดูกไม่สนิทกัน (เวลาเดิน)เสียงดังกฏะ กฏะ (๑๗) ความชัดแล้ว (๑๘) เป็นอมนุษย์ หมายถึง
ไม่ใช่มนุษย์ คือ ผู้นั้นเป็นยักษ์จำแลงตัวเป็นมนุษย์เที่ยวไป (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๑๒๗-๒๑๒๙/๓๙๑-๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๒] พระองค์ไม่ทรงรู้สึกว่า หม่อมฉันทั้ง ๒
ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๓๓] ขอให้น้องกัณหาอยู่ ณ ที่นี้นี่แหละ
เธอยังไม่รู้จักทุกข์ร้อนอะไร ๆ เธอจะคร่ำครวญ
เหมือนลูกเนื้อที่ยังดื่มนมพลัดจากฝูงไม่เห็นแม่
(พระกุมารคร่ำครวญถึงพระมารดาและพระบิดาว่า)
[๒๑๓๔] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นพระมารดา
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๕] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ทุกข์ที่หม่อมฉันไม่เห็นเสด็จพ่อ
เป็นทุกข์ที่ยิ่งกว่านี้ของหม่อมฉัน
[๒๑๓๖] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๗] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
[๒๑๓๘] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๓๙] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
เมื่อไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระกัณหาชินากุมารี
ผู้มีดวงเนตรงดงาม ก็จักทรงกันแสงพร่ำหา
ในอาศรมตลอดกาลนาน
[๒๑๔๐] พระมารดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป
[๒๑๔๑] พระบิดานั้นจักทรงทนทุกข์ลำบากแน่
จักทรงกันแสงพร่ำหาตลอดกาลนาน
ทรงหวนระลึกถึงเราทั้ง ๒ ตลอดครึ่งคืนหรือทั้งคืนแล้ว
จะทรงซูบผอมตายไปเหมือนแม่น้ำเขินเหือดแห้งไป
[๒๑๔๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้
คือ ต้นหว้า ต้นย่านทราย ที่มีกิ่งห้อยย้อย
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติต่าง ๆ เหล่านั้นไป
[๒๑๔๓] รุกขชาติชนิดที่มีผลชนิดต่าง ๆ
คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร
และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๔๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๔๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๔๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๔๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๔๘] พระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
ได้กราบทูลพระบิดาดังนี้ว่า
ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระองค์ทรงพระกรุณา
ตรัสบอกพระมารดาว่า ลูกทั้ง ๒ ไม่มีโรค
และขอพระองค์ทรงพระสำราญเถิด
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๔๙] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
ขอให้พระองค์โปรดประทานตุ๊กตาเหล่านั้นแก่พระมารดา
ความเศร้าโศกของพระองค์จักหายไปเพราะตุ๊กตาเหล่านั้น
[๒๑๕๐] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้เป็นของหม่อมฉันทั้ง ๒
พระมารดาได้ทอดพระเนตรเห็นตุ๊กตาเหล่านั้น
ก็จักทรงกำจัดความเศร้าโศกเสียได้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๕๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานแล้ว
เสด็จเข้าไปสู่บรรณศาลาทรงกันแสงพิลาปว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
(พระเวสสันดรทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๑๕๒] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้ง ๒ นั้น
[๒๑๕๓] วันนี้ ลูกน้อยทั้ง ๒ จะหิวข้าว กระหายน้ำอย่างไรหนอ
จักเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น
ครั้นในตอนเย็นเวลาบริโภคอาหาร
ลูกทั้ง ๒ เคยอ้อนมัทรีผู้เป็นมารดาว่า พระเจ้าแม่
ลูกทั้ง ๒ หิวแล้ว ขอเสด็จแม่จงประทานแก่ลูกทั้ง ๒ เถิด
[๒๑๕๔] ลูกทั้ง ๒ ไม่ได้สวมรองเท้า
จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้อย่างไร
ลูกทั้ง ๒ จะเมื่อยล้ามีบาทาทั้ง ๒ ข้างฟกช้ำ
ใครจะจูงมือลูกทั้ง ๒ นั้นเดินทาง
[๒๑๕๕] ทำไมหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจนักไม่ละอาย
เฆี่ยนตีลูก ๆ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อหน้าเรา
[๒๑๕๖] แม้แต่คนที่ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา
หรือคนรับใช้อื่น ใครเล่าที่มีความละอาย
จักเฆี่ยนตีคนที่แสนต่ำต้อยแม้นั้นได้
[๒๑๕๗] เมื่อเรายังอยู่ พราหมณ์ช่างด่า
ช่างเฆี่ยนลูกรักทั้ง ๒ ของเราผู้มองดูอยู่
เหมือนปลาที่ติดอยู่ที่หน้าไซ
[๒๑๕๘] หรือเราจักถือเอาธนู จักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้าย
นำเอาลูกทั้ง ๒ ของเรามา
เพราะว่าลูกทั้ง ๒ ถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์ทรมาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๕๙] การที่กุมารทั้งหลายเดือดร้อน
เป็นทุกข์แสนสาหัสนี้ไม่ควรเลย
ก็ใครเล่ารู้ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
ให้ทานแล้วย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
(ชาลีกล่าวว่า)
[๒๑๖๐] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ได้พูดความจริงไว้อย่างนี้ว่า
บุตรใดไม่มีมารดาของตนเอง บุตรนั้นก็เหมือนไม่มีบิดา
[๒๑๖๑] มานี่เถิด น้องกัณหา เราทั้ง ๒ จักตายด้วยกัน
จะมีชีวิตอยู่ไปก็เปล่าประโยชน์
พระบิดาผู้ทรงเป็นจอมประชาชนได้ประทานเราทั้ง ๒
แก่ตาพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้หยาบช้าเหลือเกิน
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
[๒๑๖๒] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งรุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๓] รุกขชาติที่มีผลต่างชนิด ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ
ต้นขนุน ต้นไทร และต้นมะขวิด ที่เราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้ง
รุกขชาติเหล่านั้นไป
[๒๑๖๔] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
เราทั้ง ๒ เคยลงเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งทั้ง ๒ นั้นไป
[๒๑๖๕] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยทัดทรงมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งสิ่งเหล่านั้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๖๖] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ บนภูเขาลูกโน้น
ที่เราทั้ง ๒ เคยบริโภคมาก่อน น้องกัณหา วันนี้
เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งผลไม้เหล่านั้นไป
[๒๑๖๗] สิ่งของเหล่านี้ คือ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
ที่พระบิดาทรงปั้นไว้ให้เราทั้ง ๒ เล่น
ซึ่งเราทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
น้องกัณหา วันนี้ เราทั้ง ๒ จะต้องละทิ้งตุ๊กตาเหล่านั้นไป
[๒๑๖๘] พระกุมารทั้ง ๒ เหล่านั้น คือ พระชาลี
และพระกัณหาชินาถูกพราหมณ์ชูชกนำไปอยู่
พอพ้นออกจากมือพราหมณ์ ก็พากันวิ่งไปทางนั้น ๆ
[๒๑๖๙] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นถือเอาเชือกและไม้เท้า
ทุบตีราชกุมารและกุมารีทั้ง ๒ นั้นแล้วนำไป
ทั้งที่พระเวสสันดรพระเจ้ากรุงสีพีทอดพระเนตรเห็นอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๗๐] พระกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา
พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉันด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๑๗๑] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์เป็นแน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงเมินเฉยอยู่เล่า
(พระกัณหาชินาได้เดินคร่ำครวญไปว่า)
[๒๑๗๒] เท้าของเราทั้ง ๒ นี้ยังเล็กนักเป็นทุกข์ ทั้งหนทางก็ไกล
เดินไปได้แสนยาก เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ
พราหมณ์ก็เร่งเราทั้ง ๒ ให้รีบเดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์กุมาร
[๒๑๗๓] เราทั้ง ๒ ขอโอดครวญกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลาย
ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขา ลำเนาไพร สระน้ำ
และบ่อน้ำ ที่มีท่าสวยงาม ด้วยเศียรเกล้า
[๒๑๗๔] ขอเทพเจ้าทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่ ณ ป่าหญ้า ลดาวัลย์
ต้นไม้ที่เป็นโอสถ บนภูเขา และป่าไม้
ขอให้ช่วยกราบทูลพระมารดาว่า เราทั้ง ๒ นี้ไม่มีโรค
พราหมณ์นี้นำเราทั้ง ๒ ไป
[๒๑๗๕] อนึ่ง เทพเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย
จงช่วยกราบทูลพระแม่เจ้ามัทรีผู้เป็นพระมารดาของเราทั้ง ๒ ว่า
ถ้าพระแม่เจ้าปรารถนาจะเสด็จติดตามมา
ก็ให้รีบเสด็จติดตามมาโดยเร็ว
[๒๑๗๖] ทางนี้เป็นทางเดินไปได้คนเดียว ตรงไปยังอาศรม
พระมารดาพึงเสด็จติดตามมาทางนั้นเท่านั้น
ก็จะทันได้เห็นเราทั้ง ๒ อย่างเร็วไว
[๒๑๗๗] โอหนอ พระเจ้าแม่ผู้ทรงเพศเป็นตาปสินี
ทรงนำมูลผลาหารมาจากป่า
ได้เห็นอาศรมอันว่างเปล่า พระองค์จักเป็นทุกข์
[๒๑๗๘] พระมารดาเสด็จเที่ยวไปแสวงหามูลผลาหารจนล่วงเวลา
คงได้มามิใช่น้อย คงไม่ทราบว่า
เราทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัดพาไป
[๒๑๗๙] ถูกพราหมณ์ผู้หยาบช้าเหลือเกิน ผู้แสวงหาทรัพย์ผูกมัด
แกเฆี่ยนตีหม่อมฉันทั้ง ๒ เหมือนนายโคบาลเฆี่ยนตีโค
เออก็วันนี้ เราทั้ง ๒ จะได้เห็นพระมารดา
เสด็จมาจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็น
[๒๑๘๐] พระมารดาพึงประทานผลไม้ที่เจือด้วยน้ำผึ้งแก่พราหมณ์
ครั้งนั้น พราหมณ์นี้หิวกระหาย จะไม่พึงเร่งให้เราทั้ง ๒ เดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๑] เท้าทั้ง ๒ ของเราบวมหนอ
พราหมณ์ก็เร่งให้เราทั้ง ๒ รีบเดิน
พระกุมารทั้งหลายทรงรักใคร่ในพระมารดา
ทรงกันแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้นด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์กุมาร จบ

กัณฑ์มัทรี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๘๒] เทวดาเหล่านั้นได้ฟังพระกุมารทั้ง ๒ นั้น
ทรงพิลาปรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกับเทพบุตรทั้ง ๓
ดังนี้ว่า “ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ร้ายในป่า
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
[๒๑๘๓] อย่าให้พระนางมัทรีราชบุตรีเสด็จกลับมาจากการแสวงหา
มูลผลาหารในตอนเย็น และอย่าให้สัตว์ร้ายในป่า
อันเป็นแคว้นของเราทั้งหลายรบกวนพระนางมัทรีราชบุตรีได้
[๒๑๘๔] ถ้าราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือเหลือง
พึงรบกวนพระนางผู้ทรงสิริโฉม
พระชาลีกุมารก็จะมีพระชนม์อยู่ไม่ได้เลย
แล้วพระกัณหาชินาจะมีพระชนม์อยู่ได้แต่ที่ไหน
พระนางผู้ทรงลักษณะอันสง่างาม
จะพึงสูญเสียทั้งพระภัสดาและพระลูกรักทั้ง ๒ ไปเท่านั้น”
(พระนางมัทรีใคร่ครวญว่า)
[๒๑๘๕] “เสียมของเราก็หล่นลง ตาข้างขวาก็เขม่นอยู่ริก ๆ
ต้นไม้ทั้งหลายที่เคยมีผลก็กลับไม่มีผล
และทุก ๆ ทิศก็มืดมน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๘๖] เมื่อพระนางเสด็จกลับบ่ายพระพักตร์มาสู่อาศรม
ในเวลาที่พระอาทิตย์อัสดงคต เหล่าสัตว์ร้ายก็มายืนขวางทาง
(พระนางมัทรีรำพึงว่า)
[๒๑๘๗] เมื่อพระอาทิตย์คล้อยต่ำลง และอาศรมก็ยังอยู่ไกลนัก
พระเจ้าพี่เวสสันดรและพระลูกรักทั้ง ๒ นั้น
ก็คอยบริโภคมูลผลาหารที่เราจักนำไปจากป่านี้
[๒๑๘๘] พระจอมกษัตริย์นั้นประทับอยู่ในบรรณศาลาพระองค์เดียว
คงจะทรงปลอบประโลมให้ลูกน้อยทั้ง ๒ ผู้หิวกระหาย
คอยทอดพระเนตรดูเราผู้ยังมาไม่ถึงให้ยินดีเป็นแน่แท้
[๒๑๘๙] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังดื่มนมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๐] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
ในเวลาเย็นเป็นเวลากินเวลาดื่มก็จักคอย
เหมือนลูกเนื้อที่กำลังกระหายน้ำเป็นแน่แท้
[๒๑๙๑] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้
[๒๑๙๒] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๑๙๓] ลูกน้อยเหล่านั้นของเราเป็นกำพร้าน่าสงสาร
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ไม่ไกลจากอาศรม
[๒๑๙๔] หนทางที่จะไปก็มีอยู่ทางเดียว
และเป็นทางที่เดินไปได้คนเดียว โดยข้างหนึ่งเป็นสระน้ำ
อีกข้างหนึ่งเป็นบึง เรายังไม่เห็นทางอื่นที่จะไปสู่อาศรมได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๑๙๕] ข้าแต่พญาเนื้อทั้งหลายผู้มีกำลังมากในป่าใหญ่
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายกับข้าพเจ้าก็เป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ข้าพเจ้าขออ้อนวอน ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ข้าพเจ้าเถิด
[๒๑๙๖] ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพระราชบุตรผู้มีสิริ
ผู้ถูกขับไล่จากกรุงสีพี
และข้าพเจ้ามิได้ดูหมิ่นพระสวามีพระองค์นั้นเลย
เหมือนดังนางสีดาคอยประพฤติตามพระราม
[๒๑๙๗] ขอท่านทั้งหลายจงหลีกทางให้ดิฉัน
แล้วกลับไปเยี่ยมลูกน้อยของท่าน
ในเวลาออกหาอาหารในตอนเย็น
ส่วนดิฉันก็จะกลับไปเยี่ยมลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พระชาลีและพระกัณหาชินา
[๒๑๙๘] อนึ่ง มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก
และภักษาก็มีอยู่ไม่น้อย ดิฉันขอแบ่งให้พวกท่านกึ่งหนึ่ง
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๑๙๙] พระมารดาของเราทั้งหลายเป็นราชบุตรี
และพระบิดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระราชบุตร
ท่านทั้งหลายกับดิฉันเป็นพี่น้องกันโดยธรรม
ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด
[๒๒๐๐] พญาเนื้อร้ายทั้งหลายได้ฟังวาจาอันไพเราะ
ซึ่งประกอบด้วยความการุณย์เป็นอย่างมาก
ของพระนางผู้ทรงพิลาปรำพันอยู่
จึงได้พากันหลีกออกจากทางไป
[๒๒๐๑] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเรา
เหมือนลูกโคอ่อนยืนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๒] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้
เหมือนลูกหงส์ที่ตกอยู่ในเปือกตมเป็นแน่แท้
[๒๒๐๓] ลูกน้อยทั้งหลายคงขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
คงจะยืนคอยต้อนรับเราอยู่ตรงนี้ ไม่ห่างไกลจากอาศรม
[๒๒๐๔] ลูกน้อยเหล่านั้นเคยร่าเริงวิ่งมาต้อนรับเรา
เหมือนจะทำให้หทัยของเราหวั่นไหว
เหมือนลูกเนื้อเห็นแม่แล้วหูชันร่าเริงวิ่งไปวิ่งมารอบแม่
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๕] เราละลูกน้อยทั้งหลายไว้ออกไปหาผลไม้
เหมือนแม่แพะและแม่เนื้อละลูกน้อย ไปหากิน
เหมือนปักษีละลูกน้อยไปจากรัง หรือเหมือนแม่ราชสีห์
ผู้ต้องการอาหารละลูกน้อยไว้ออกไปหากิน
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๖] นี้รอยเท้าวิ่งเล่นไปมาของลูกน้อยทั้ง ๒
ยังปรากฏอยู่เหมือนรอยเท้าช้างที่เชิงเขา
นี้กองทรายที่ลูกน้อยทั้ง ๒ ขนมาเล่น
ยังกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่ใกล้อาศรม
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๐๗] ลูกน้อยทั้งหลายเคยเกลื่อนกล่นไปด้วยทราย
และขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น วิ่งเข้ามาล้อมเราอยู่รอบ ๆ
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้น
[๒๒๐๘] เมื่อก่อนลูกน้อยทั้งหลายเคยต้อนรับเราผู้กลับมา
จากป่าแต่ที่ไกล วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๐๙] ลูกน้อยทั้งหลายเคยไปคอยต้อนรับแม่ คอยมองดูเราแต่ที่ไกล
เหมือนลูกแพะหรือลูกเนื้อคอยชะเง้อหาแม่
เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๐] ผลมะตูมสีเหลืองที่ตกอยู่นี้
เป็นของเล่นของลูกน้อยทั้ง ๒ นั้น
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๑] ถันทั้ง ๒ ของเรานี้ยังเต็มไปด้วยน้ำนม
และอกของเราเหมือนจะแตกดับ
วันนี้ เรามิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่ กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๒] ใครเล่าจะค้นชายพก ใครเล่าจะเหนี่ยวถันทั้ง ๒ ของเรา
วันนี้ เราไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินานั้นเลย
[๒๒๑๓] เวลาเย็น ลูกน้อยทั้ง ๒ ขมุกขมัวไปด้วยฝุ่น
เคยวิ่งเข้ามาเกาะที่ชายพกของเรา
วันนี้ เรามิได้เห็นทารกเหล่านั้นเลย
[๒๒๑๔] เมื่อก่อน อาศรมนี้ปรากฏแก่เราเหมือนโรงมหรสพ
วันนี้ เมื่อเราไม่เห็นลูกน้อยเหล่านั้น
อาศรมปรากฏเหมือนดังจะหมุนไป
[๒๒๑๕] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกับเราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่
[๒๒๑๖] นี่อย่างไร อาศรมจึงปรากฏกแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของเราคงจะตายแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๑๗] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๘] นี่อย่างไร พระองค์จึงทรงนิ่งเฉยอยู่
แม้เมื่อคืนใจหม่อมฉันก็เหมือนฝันไป แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงจะตายแน่
[๒๒๑๙] ข้าแต่พระลูกเจ้า เหล่าเนื้อร้ายในป่าอันเงียบสงัด
ได้กินทารกทั้งหลายของหม่อมฉันแล้วหรือกระไรหนอ
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๐] ทารกเหล่านั้นผู้กำลังพูดจาน่ารัก
พระองค์ทรงส่งไปเป็นทูต หรือว่ายังหลับอยู่
หรือทารกเหล่านั้นของเราออกไปเล่นภายนอก
[๒๒๒๑] เส้นผม ลายมือ ลายเท้าของทารกเหล่านั้นมิได้ปรากฏเลย
หรือนกทั้งหลายมาโฉบเฉี่ยวเอาไป
หรือว่าใครนำทารกทั้งหลายของหม่อมฉันไป
[๒๒๒๒] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ คือ
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาในวันนี้นั้น
เป็นทุกข์ยิ่งกว่าการถูกขับไล่จากแคว้น
เปรียบเหมือนแผลที่ถูกลูกศรแทง
[๒๒๒๓] การที่หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
และฝ่าพระบาทมิได้ตรัสกับหม่อมฉันนี้
เป็นดุจลูกศรเสียบแทงหทัยของหม่อมฉันซ้ำสอง
หทัยของหม่อมฉันย่อมหวั่นไหว
[๒๒๒๔] ข้าแต่พระราชบุตร ถ้าคืนวันนี้พระองค์มิได้ตรัสกับหม่อมฉัน
พรุ่งนี้เช้าพระองค์น่าจะได้ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
ผู้ปราศจากชีวิตตายไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๒๕] แม่มัทรีราชบุตรีผู้มีรูปโฉมงดงาม ผู้มียศ
มัวไปแสวงหามูลผลาหารแต่เช้า
ทำไมจึงกลับมาจนเย็น
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๒๖] พระองค์ได้ทรงสดับแล้วมิใช่หรือ
ซึ่งเสียงบันลือลั่นของราชสีห์และเสือโคร่ง
ต่างก็มุ่งมาสู่สระนี้เพื่อจะดื่มน้ำ
[๒๒๒๗] บุพพนิมิตได้เกิดมีแก่หม่อมฉันผู้กำลังเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่
คือ เสียมพลัดตกจากมือของหม่อมฉัน
และกระเช้าที่หาบอยู่ก็พลัดตกจากบ่า
[๒๒๒๘] เวลานั้น หม่อมฉันหวาดกลัวเป็นกำลัง
จึงได้ทำอัญชลี นอบน้อมไปทั่วทุกทิศ
ขอความสวัสดีพึงมีแต่ที่นี้ด้วย
[๒๒๒๙] ขอพระราชบุตรของเราอย่าได้ถูกราชสีห์
หรือเสือเหลืองเบียดเบียนเลย
หรือขอให้ทารกทั้งหลายอย่าได้ถูกหมี
สุนัขป่า หรือเสือดาวรังควานเลย
[๒๒๓๐] สัตว์ร้ายทั้ง ๓ ในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้มายืนขวางทางหม่อมฉัน
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงกลับมาถึงในเวลาเย็น
(พระนางมัทรีทรงคร่ำครวญว่า)
[๒๒๓๑] เราเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปฏิบัติพระสวามี
บำรุงเลี้ยงดูลูกน้อยทั้งหลายทุกวัน
เหมือนมาณพปฏิบัติอาจารย์
เราเกล้าผมประพฤติพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๓๒] นุ่งห่มหนังเสือ เที่ยวไปแสวงหามูลผลาหาร
ในป่ามาทุกวันคืนเพราะความรักเธอทั้งหลาย นะลูกน้อย
[๒๒๓๓] ขมิ้นเหลือง ผลมะตูมสุกแม่หามาแล้ว
และแม่ก็ได้นำผลไม้สุกมา นี้เป็นของเล่นของลูกรักทั้ง ๒ นะลูก
[๒๒๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมกษัตริย์ เหง้าบัวพร้อมทั้งฝัก
หน่ออุบล และกระจับ ที่คลุกน้ำผึ้ง
ขอเชิญพระองค์ทรงเสวยพร้อมพระโอรสทั้งหลายเถิด
[๒๒๓๕] ขอพระองค์โปรดประทานดอกปทุมให้พ่อชาลี
ประทานดอกโกมุทให้กุมารี
พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ทรงประดับดอกไม้ฟ้อนรำอยู่
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์โปรดตรัสเรียก
พระโอรสทั้งหลายมาเถิด
[๒๒๓๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ต่อจากนั้น
ขอพระองค์ทรงสดับพระสุรเสียงอันไพเราะอ่อนหวาน
ของแม่กัณหาชินาผู้ซึ่งกำลังเข้าสู่อาศรมเถิด
[๒๒๓๗] เราทั้ง ๒ ถูกเนรเทศจากแคว้น เป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ถึงพระองค์ก็โปรดทอดพระเนตรลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเถิด
[๒๒๓๘] หม่อมฉันคงได้สาปแช่งสมณะและพราหมณ์
ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า มีศีล เป็นพหูสูตในโลกเป็นแน่
วันนี้ หม่อมฉันจึงไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๓๙] รุกขชาติชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ คือ ต้นหว้า
ต้นย่านทรายมีกิ่งห้อยย้อย ที่พระกุมารทั้ง ๒ เคยเล่นมาก่อน
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๐] รุกขชาติที่มีผลชนิดต่าง ๆ คือ ต้นโพธิ์ใบ ต้นขนุน
ต้นไทร และต้นมะขวิด เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาวิ่งเล่น
วันนี้ กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๑] สวนเหล่านี้ก็ยังตั้งอยู่ นี้แม่น้ำที่เยือกเย็น
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารทั้ง ๒ ไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๒] บุปผชาติชนิดต่าง ๆ มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยทัดทรง
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๓] ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่บนภูเขาลูกนี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเสวย
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๔] ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว
เหล่านี้ที่กุมารเหล่านั้นเคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๕] ตุ๊กตาเนื้อทรายทองเล็ก ๆ ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า
ตุ๊กตาชะมดเหล่านี้เป็นอันมากที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๖] ตุ๊กตาหงส์ ตุ๊กตานกกระเรียน
ตุ๊กตานกยูงที่มีแววหางงามวิจิตร
เหล่านี้ที่กุมารทั้ง ๒ เคยเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๗] พุ่มไม้มีดอกบานสะพรั่งทุกฤดูกาลเหล่านี้
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น
กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๔๘] สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เหล่านี้ มีนกจักรพากส่งเสียงกู่ขัน
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ปทุม และอุบล
ที่กุมารทั้ง ๒ เคยมาเล่น กุมารเหล่านั้นไม่ปรากฏให้เห็น
[๒๒๔๙] พระองค์มิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ติดไฟ
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงหงอยเหงาซบเซาอยู่
[๒๒๕๐] เพราะคนรักกับคนรักยังรวมกันอยู่
ความทุกข์ร้อนของหม่อมฉันย่อมหายไป
วันนี้ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒
คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
[๒๒๕๑] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของฉัน
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๓] พระนางมัทรีทรงปริเวทนา
พลางเที่ยวไปวิ่งหาตามซอกเขาและป่าชัฏ
ในท้องเขาวงกตนั้นแล้วเสด็จมายังอาศรมอีก
ทรงกันแสงอยู่ในสำนักพระราชสวามี ทูลคร่ำครวญว่า
[๒๒๕๔] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
[๒๒๕๕] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่า ผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
แม้แต่ฝูงนกก็ไม่ส่งเสียงร้อง
ทารกทั้งหลายของหม่อมฉันคงตายแล้วเป็นแน่
[๒๒๕๖] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันไม่เห็นลูกน้อยทั้ง ๒ ของเรา
และไม่ทราบว่าผู้ใดนำลูกน้อยเหล่านั้นไป
ทั้งที่เที่ยวไปหาที่โคนไม้ ภูเขา และถ้ำ
[๒๒๕๗] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงพระรูปโฉมงดงาม ผู้มีพระยศ
ประคองพระพาหาคร่ำครวญล้มลง ณ พื้นดิน
แทบพระยุคลบาทของพระเวสสันดรนั้นนั่นเองด้วยประการฉะนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๕๘] พระเวสสันดรราชฤๅษีทรงวักน้ำประพรม
พระนางมัทรีราชบุตรีผู้เสด็จมาเฝ้าพระองค์
(ทรงวิสัญญีล้มลงแทบพระยุคลบาทของพระองค์)
ทรงทราบว่า พระนางทรงฟื้นพระองค์ดีแล้ว
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้กับพระนางว่า
[๒๒๕๙] มัทรี เราไม่อยากจะบอกความทุกข์แก่เธอแต่แรกก่อน
พราหมณ์แก่ยาจกผู้ตกยากมาสู่อาศรม
[๒๒๖๐] เราได้ให้ลูกน้อยทั้ง ๒ แก่พราหมณ์นั้นไป
มัทรี เธออย่าได้กลัวเลย เธอจงดีใจเถิด
มัทรี เธออย่าเห็นลูกน้อยทั้ง ๒ เลย อย่าได้ร้องไห้ไปนักเลย
เมื่อเรายังชีวิตอยู่ ไม่มีโรคภัย ก็จักได้พบลูกน้อยทั้ง ๒ แน่
[๒๒๖๑] สัตบุรุษเห็นยาจกมาหาแล้วพึงให้บุตร ปศุสัตว์
ธัญชาติ และทรัพย์อื่นใดในเรือน
มัทรี ขอเธอจงอนุโมทนาปุตตทานอันสูงสุดของเราเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มัทรี
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๖๒] ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันขออนุโมทนา
ปุตตทานอันสูงส่งของพระองค์
ขอพระองค์พระราชทานปุตตทานอันสูงส่งแล้ว
ทรงทำพระทัยให้ผ่องใสเถิด
ขอพระองค์จงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด
[๒๒๖๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
ในหมู่มนุษย์ผู้เป็นคนตระหนี่
พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ได้ทรงบำเพ็ญทานแก่พราหมณ์แล้ว
[๒๒๖๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาจะถล่มทลาย
[๒๒๖๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราช
และเทพเจ้าเหล่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พร้อมทั้งพระอินทร์ทุกถ้วนหน้า ต่างก็ถวายอนุโมทนา
[๒๒๖๖] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้ทรงรูปโฉมงดงาม
ผู้มีพระยศ ก็ทรงอนุโมทนาปุตตทาน
อันสูงสุดของพระเวสสันดรแล้วด้วยประการฉะนี้แล
กัณฑ์มัทรี จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
กัณฑ์สักกบรรพ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๖๗] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ท้าวสักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์
ได้ปรากฏแก่กษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์นั้นแต่เช้าตรู่
(พราหมณ์ทูลถามว่า)
[๒๒๖๘] พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนหรือหนอ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระคุณเจ้าเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๒๖๙] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรตอบว่า)
[๒๒๗๐] ท่านพราหมณ์ เราไม่มีโรคมาเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดี
อนึ่ง เราเลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และมูลผลาหารก็มีอยู่มาก
[๒๒๗๑] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียนเราเลย
[๒๒๗๒] เมื่อพวกเรามีชีวิตเศร้าโศกอยู่ในป่ามาตลอด ๗ เดือน
เราย่อมเห็นท่านผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ทรงเพศอันประเสริฐ
บูชาไฟ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูมสุก
และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนที่ ๒
[๒๒๗๓] มหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว มิได้มาร้าย
ท่านผู้เจริญ ขอเชิญเข้าไปภายใน เชิญล้างเท้าของท่านเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๗๔] พราหมณ์ ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง
ผลหมากเม่าที่มีรสหวานปานน้ำผึ้ง
เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลที่ดี ๆ เถิด
[๒๒๗๕] มหาพราหมณ์ แม้น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิทเรานำมาจากซอกเขา
ถ้าท่านต้องการก็เชิญดื่มเถิด
[๒๒๗๖] อนึ่ง ท่านมาถึงป่าใหญ่ เพราะเหตุไร
หรือเพราะปัจจัยอะไร
เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา
(พราหมณ์กราบทูลว่า)
[๒๒๗๗] ห้วงน้ำยังเต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้งฉันใด
พระองค์ทรงมีพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาฉันนั้น
ข้าพระองค์ทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณา
พระราชทานพระชายาแก่ข้าพระองค์เถิด
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๗๘] ท่านพราหมณ์ ท่านขอสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น
เรามิได้หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนสิ่งของที่มีอยู่
ใจของเรายินดีในทาน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๗๙] พระเวสสันดรผู้ผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
ทรงกุมพระหัตถ์ของพระนางมัทรี ทรงจับเต้าน้ำ
หลั่งน้ำพระราชทานพระนางมัทรีให้เป็นทานแก่พราหมณ์
[๒๒๘๐] ขณะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์
ทรงบริจาคพระนางมัทรีให้เป็นทาน
ความน่าสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดขึ้น
แผ่นดินก็หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๑] พระนางมัทรีมิได้มีพระพักตร์เง้างอ มิได้ทรงเก้อเขิน
และมิได้ทรงกันแสง ทรงเพ่งดูพระสวามีโดยดุษณีภาพ
โดยคิดว่า ท้าวเธอย่อมทรงทราบสิ่งที่ประเสริฐ
(พระศาสดาตรัสพระดำรัสนี้ว่า)
เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร
บริจาคพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาซึ่งเป็นธิดา
และพระมัทรีเทวีผู้มีวัตรอันดี ผู้ยำเกรงในพระสวามี
มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น
บุตรทั้ง ๒ เป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้
พระนางมัทรีเทวีจะไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้
แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
ฉะนั้น เราจึงได้ให้ของซึ่งเป็นที่รัก
(ต่อมา พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๒๘๒] หม่อมฉันเป็นพระชายาของพระองค์ตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น
พระองค์ทรงเป็นพระสวามีผู้เป็นใหญ่ของหม่อมฉัน
พระองค์ทรงปรารถนาจะพระราชทานหม่อมฉันแก่ผู้ใด
ก็ทรงพระราชทานแก่ผู้นั้นเถิด
หรือทรงปรารถนาจะขายหรือจะฆ่า ก็ทรงขายหรือทรงฆ่าเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๒๘๓] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริของกษัตริย์ทั้ง ๒ นั้น
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า ข้าศึกทั้งมวล๑ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์
พระองค์ทรงชนะแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ข้าศึกทั้งมวล หมายถึงผู้รับทานที่มีทิพยสมบัติและผู้รับทานที่มีมนุษยสมบัติ ท่านเหล่านั้นยังมีความ
ตระหนี่อยู่ พระเวสสันดรชนะคนเหล่านี้ได้ด้วยการให้บุตรและภรรยาเป็นทาน (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๘๓/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๘๔] แผ่นดินก็บันลือลั่นแก่พระองค์
กิตติศัพท์ของพระองค์บันลือไปถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบอยู่โดยรอบ
ดังสะท้านปานประหนึ่งว่าภูเขาถล่มทลาย
[๒๒๘๕] เทพเจ้าทั้ง ๒ หมู่ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขานารทะ
ต่างถวายอนุโมทนาแด่พระเวสสันดรนั้นว่า
พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี
พระโสม ยมยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณมหาราชและทวยเทพทั้งมวล
ต่างก็ถวายอนุโมทนาว่า พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ทำได้ยากแท้
[๒๒๘๖] สัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก๑
เมื่อจะทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
[๒๒๘๗] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์
[๒๒๘๘] การที่พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระกุมารทั้งหลายและพระชายาให้เป็นทานนี้
ชื่อว่าเป็นยานอันประเสริฐ ไม่เป็นยานที่พาก้าวลงสู่อบายภูมิ
ขอมหาทานของพระองค์จงเผล็ดผลในสวรรค์เถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๒๘๙] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางมัทรีพระชายา
ผู้มีความงามทั่วสรรพางค์กายคืนแก่พระคุณเจ้า
พระองค์เท่านั้นทรงเป็นผู้คู่ควรกับพระนางมัทรี
และพระนางมัทรีก็เป็นผู้คู่ควรแก่พระสวามี
[๒๒๙๐] น้ำนมและสังข์ทั้ง ๒ มีสีเหมือนกันฉันใด
พระองค์และพระนางมัทรีก็ทรงมีพระทัยเสมอเหมือนกันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ชา. แปล ๒๗/๕๙-๖๐/๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๑] ทั้ง ๒ พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระโคตร
เป็นอุภโตสุชาติ๑ทั้งฝ่ายพระมารดาและพระบิดา
ทรงถูกเนรเทศจากแคว้นมาอยู่ ณ อาศรมในป่านี้
บุญทั้งหลายที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด
ขอพระองค์ทรงให้ทาน กระทำบุญอยู่ร่ำไปฉันนั้น
[๒๒๙๒] ข้าแต่พระราชฤๅษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มาในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเลือกรับพร
หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประการแก่พระองค์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๒๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
ถ้าพระองค์จะประสาทพรแก่หม่อมฉัน
ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน
ขอพระบิดาทรงต้อนรับหม่อมฉัน
ผู้ออกจากป่านี้ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์
นี้เป็นพรประการที่ ๑
[๒๒๙๔] ขอให้หม่อมฉันไม่พึงชอบใจการฆ่าคน
อนึ่ง แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิต
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
ขอให้หม่อมฉันพึงได้ปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๒
[๒๒๙๕] ขอให้ประชาชนทั้งหลายทั้งคนแก่ ทั้งเด็ก และคนปานกลาง
พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต
นี้เป็นพรประการที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตสุชาติ หมายถึงมีวรรณะเสมอกัน คือ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๒๑๙/๔๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์สักกบรรพ
[๒๒๙๖] ขอให้หม่อมฉันอย่าพึงล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น
พอใจแต่ในภรรยาของตนไม่ไปสู่อำนาจของหญิงทั้งหลาย
นี้เป็นพรประการที่ ๔
[๒๒๙๗] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อมฉันผู้พลัดพรากไปนั้น
พึงมีอายุยืนนาน จงครอบครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด
นี้เป็นพรประการที่ ๕
[๒๒๙๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว
ขอให้อาหารทิพย์พึงปรากฏ
นี้เป็นพรประการที่ ๖
[๒๒๙๙] เมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขออย่าให้ไทยธรรมหมดสิ้นไป
เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันพึงทำใจให้ผ่องใส
ครั้นให้แล้ว ขออย่าให้หม่อมฉันได้เดือดร้อนใจในภายหลัง
นี้เป็นพรประการที่ ๗
[๒๓๐๐] เมื่อพ้นจากอัตภาพนี้ไป
ขอให้หม่อมฉันไปสู่สวรรค์ อันเป็นการไปพิเศษ
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
นี้เป็นพรประการที่ ๘
[๒๓๐๑] ครั้นได้สดับพระดำรัสของพระเวสสันดรแล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสพระดำรัสดังนี้ว่า
คงไม่นานนัก พระบิดาบังเกิดเกล้าของพระองค์
ก็คงจะเสด็จมาเยี่ยมพระองค์
[๒๓๐๒] ครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ท้าวมฆวานสุชัมบดีเทวราช
ก็ได้พระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว
เสด็จกลับไปสู่หมู่ชาวสวรรค์
กัณฑ์สักกบรรพ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารจึงตรัสว่า)
[๒๓๐๓] นั่นใครหนอ หน้างามยิ่งนักดังทองคำธรรมชาติ
ที่นายช่างหล่อหลอมด้วยไฟ สีใสสุกปลั่ง
ดังแท่งทองธรรมชาติที่ละลายคว้างอยู่ที่ปากเบ้า
[๒๓๐๔] ทารกเหล่านี้มีอวัยวะคล้ายคลึงกัน
มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ
คนหนึ่งเหมือนพ่อชาลี
อีกคนเหมือนแม่กัณหาชินา
[๒๓๐๕] ทารกเหล่านี้มีรูปเสมอกันเหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทอง
ทารกเหล่านี้ปรากฏเหมือนหล่อหลอม
ด้วยทองคำธรรมชาติเลยทีเดียว
[๒๓๐๖] ภารทวาชพราหมณ์ ท่านได้นำ
ทารกเหล่านี้มาจากที่ไหนหนอ
วันนี้ ท่านได้มาถึงแคว้นของเราแล้ว
จะไปที่ไหนต่อไป
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๗] ข้าแต่สมมติเทพ
ทารกเหล่านี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยความพอใจ
ตั้งแต่วันที่ได้ทารกเหล่านี้มา วันนี้เป็นคืนที่ ๑๕
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๐๘] ด้วยวาจาไพเราะอะไรเล่า ท่านจึงได้ทารกเหล่านี้มา
ท่านควรทำให้เราเชื่อโดยวิธีที่ชอบ
ใครให้ปุตตทานอันสูงสุดนั้นแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(ชูชกกราบทูลว่า)
[๒๓๐๙] พระราชาผู้ทรงเป็นที่พึ่งของพวกยาจกที่มาทูลขอ
เป็นดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
[๒๓๑๐] พระราชาผู้ทรงเป็นที่ต้องประสงค์ของพวกยาจกผู้มาทูลขอ
เป็นดังสาครอันเป็นที่รองรับของแม่น้ำทั้งหลายที่หลั่งไหลมา
คือพระเวสสันดรผู้เสด็จไปประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายแก่ข้าพระองค์
(พวกอำมาตย์ติเตียนพระเวสสันดรว่า)
[๒๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้มีศรัทธา
ทรงอยู่ครอบครองเรือน ทรงทำกรรมที่ไม่สมควรหนอ
พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากแคว้นไปอยู่ในป่า
จะพึงพระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไรหนอ
[๒๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวพระนครมีประมาณเท่าใด
ที่มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ ขอทุกท่านจงช่วยกันพิจารณาดูเรื่องนี้
พระเวสสันดรประทับอยู่ในป่า
ได้พระราชทานพระโอรสทั้งหลายได้อย่างไร
[๒๓๑๓] พระองค์จงพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัสดร
รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐไปเถิด
ทำไม จึงทรงพระราชทานทารกทั้งหลายเล่า
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๑๔] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ในเรือนของผู้ใดไม่มีทาส
ม้า แม่ม้าอัสดร รถ และช้างกุญชรตัวประเสริฐ
ผู้นั้นจะพึงให้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๕] บุตรน้อยทั้งหลาย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น
ไม่ได้ติเตียนเลย หทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ
จึงได้ให้เจ้าทั้ง ๒ แก่พราหมณ์วณิพก
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของหม่อมฉัน
พระราชทานพวกหม่อมฉันแก่พราหมณ์วณิพกแล้ว
ได้ทรงสดับถ้อยคำรำพันพิลาปซึ่งน้องกัณหาได้กล่าวแล้ว
[๒๓๑๖] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระหทัยของพระบิดานั้น
เป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังดาวโรหิณี
มีพระอัสสุชลหลั่งไหล
[๒๓๑๗] น้องกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า
“ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีหม่อมฉัน
ด้วยไม้เท้าเหมือนตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย
[๒๓๑๘] ข้าแต่พระบิดา ผู้นี้คงจะมิใช่พราหมณ์แน่
เพราะพราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้มีธรรม
แต่พราหมณ์คงจะเป็นยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์
นำลูกทั้ง ๒ ไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร พระเจ้าข้า
ลูกทั้ง ๒ ถูกพราหมณ์ผู้เป็นปีศาจนำไป
ข้าแต่พระบิดา ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงเมินเฉยอยู่เล่า”
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๑๙] มารดาของเจ้าทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
บิดาเป็นราชบุตร เจ้าทั้งหลาย เคยขึ้นนั่งตักของปู่
แต่บัดนี้ เพราะเหตุไร จึงยืนอยู่ห่างไกลหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๐] พระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี
และพระบิดาก็เป็นพระราชบุตร
แต่หม่อมฉันทั้งหลาย เป็นทาสของพราหมณ์
เพราะฉะนั้น จึงยืนอยู่ห่างไกล พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๑] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนอยู่บนเชิงตะกอน
ปู่มิได้รับความสุขบนราชอาสน์เลย
[๒๓๒๒] เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ไม่ชอบเลย
อย่าได้เพิ่มความเศร้าโศกให้เกิดแก่ปู่เลย
ปู่จักไถ่เธอทั้งหลายด้วยทรัพย์ เธอทั้งหลายจักไม่เป็นทาส
[๒๓๒๓] พ่อชาลี บิดาของเธอทั้งหลาย
ได้ตีราคาพวกเธอไว้เท่าไร จึงให้พราหมณ์
ขอให้เธอทั้งหลายจงบอกปู่ตามความจริง
พนักงานทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๒๔] ข้าแต่พระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาหม่อมฉัน
มีค่าเท่าราคาทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
ทรงตีราคาน้องกัณหาชินาราชกัญญา
ด้วยสัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละ ๑๐๐
แล้วจึงได้พระราชทานให้แก่พราหมณ์
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๒๕] มหาดเล็ก เจ้าจงลุกขึ้น รีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ กับทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง
มาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าไถ่บุตรทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๒๖] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาสี ทาส โค ช้าง
และโคอุสภราชอย่างละ ๑๐๐ มาให้แก่พราหมณ์
เป็นค่าไถ่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๒๗] กษัตริย์ทั้ง ๒ ทรงไถ่แล้ว
รับสั่งให้สรงสนานและให้เสวยพระกระยาหารเสร็จ
ให้ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งหลายแล้ว
สมเด็จพระอัยกาทรงอุ้มทารกองค์หนึ่ง
สมเด็จพระอัยยิกาทรงอุ้มองค์หนึ่ง
[๒๓๒๘] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงสรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพระภูษาอันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงแล้ว
พระราชาผู้พระอัยกาก็ทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา
[๒๓๒๙] พระกุมารทั้ง ๒ ทรงประดับกุณฑล
ที่มีเสียงดังก้องน่ารื่นรมย์ใจ
ทรงประดับดอกไม้และเครื่องอลังการทั้งปวงแล้ว
พระราชาทรงอุ้มพระชาลีกุมารขึ้นประทับ
บนพระเพลาแล้วได้ตรัสถามดังนี้ว่า
[๒๓๓๐] พ่อชาลี พระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ ของเธอ
ไม่มีโรคดอกหรือ เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหา
ผลาหารหรือ มูลผลาหารมีมากหรือ
[๒๓๓๑] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๓๒] ข้าแต่สมมติเทพ พระบิดาและพระมารดาของหม่อมฉัน
ทั้ง ๒ พระองค์นั้นไม่มีโรค
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหาร และมูลผลาหารก็มีมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๓๓] อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
ในป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน ก็ไม่มีมาเบียดเบียน
ซึ่งพระบิดาและพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นเลย
[๒๓๓๔] พระมารดาของหม่อมฉันทรงขุดรากบัว เหง้าบัว
ทรงสอยผลพุทรา ผลรกฟ้า และผลมะตูม
นำมาเลี้ยงพระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒
[๒๓๓๕] พระมารดานั้นทรงนำมูลผลาหารใดมาจากป่า
พระบิดาและหม่อมฉันทั้ง ๒ มารวมกัน
เสวยมูลผลาหารนั้นในทุกคืนวัน
[๒๓๓๖] พระมารดาของหม่อมฉันทั้ง ๒ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ
ต้องมาเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระฉวีวรรณผอมเหลือง
เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ
[๒๓๓๗] เมื่อพระมารดาเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ซึ่งเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายพลุกพล่าน
เป็นที่อยู่อาศัยของแรดและเสือเหลือง
พระเกสาของพระองค์ก็ร่วงหล่น
[๒๓๓๘] พระมารดาทรงขมวดพระเมาลี
ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่พระกัจฉะ ทรงพระภูษาหนังเสือ
บรรทมเหนือแผ่นดินและทรงบูชาไฟ
[๒๓๓๙] บุตรทั้งหลายเกิดมาแล้วเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก
พระอัยกาของเราทั้งหลายไม่เกิดพระสิเนหาในพระโอรสเป็นแน่
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๔๐] หลานรัก จริงทีเดียว การที่ปู่ให้เนรเทศ
ซึ่งพระบิดาของเจ้าผู้ไม่มีโทษเพราะคำพูดของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๑] สิ่งใดสิ่งหนึ่งของปู่มีอยู่ในนครนี้ก็ดี
ทรัพย์และธัญชาติใด ๆ มีอยู่ก็ดี
ขอให้พระเจ้าเวสสันดรจงมาเป็นเจ้าปกครองสิ่งนั้น ๆ ในกรุงสีพีเถิด
(พระชาลีกุมารกราบทูลว่า)
[๒๓๔๒] ขอเดชะสมมติเทพ พระบิดาของหม่อมฉัน
เป็นผู้สูงสุดแห่งชาวกรุงสีพีคงจักไม่เสด็จมาเพราะคำของหม่อมฉัน
ขอให้พระองค์ผู้สมมติเทพเสด็จไปทรงอภิเษก
พระบิดาของหม่อมฉันด้วยโภคะทั้งหลายด้วยพระองค์เองเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๔๓] ลำดับนั้น พระเจ้ากรุงสญชัยจึงได้รับสั่งเสนาบดีว่า
กองทัพ คือ กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
กองพลราบจงตระเตรียมอาวุธให้พร้อม
ชาวนิคม พราหมณ์ และพวกปุโรหิตจงตามเราไป
[๒๓๔๔] ต่อจากนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว ประดับด้วยผ้าสีต่าง ๆ กัน
จงพากันรีบตามมาโดยเร็ว
[๒๓๔๕] เหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้ว
ประดับประดาด้วยเสื้อผ้าสีต่าง ๆ กัน คือ
พวกหนึ่งแต่งด้วยผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งสีเหลือง
พวกหนึ่งแต่งสีแดง พวกหนึ่งแต่งสีขาวจงรีบตามมา
[๒๓๔๖] ภูเขาคันธมาทน์มีกลิ่นหอมถูกหิมะปกคลุม
ดารดาษไปด้วยพฤกษชาตินานาชนิด
เป็นที่อาศัยอยู่ของฝูงสัตว์เป็นอันมาก
[๒๓๔๗] และมีต้นไม้ที่เป็นทิพยโอสถ
สว่างไสวและฟุ้งตลบไปทั่วทิศฉันใด
ขอเหล่าทหารผู้ผูกสอด(อาวุธ)แล้วจงรีบตามมา
และจงรุ่งเรืองมีเกียรติยศฟุ้งขจรไปทั่วทิศฉันนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๔๘] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมช้างที่สูงใหญ่ ๑๔,๐๐๐ เชือก
มีสายรัดประคับทองมีเครื่องประดับ
และเครื่องปกคลุมศีรษะที่สำเร็จแล้วด้วยทอง
[๒๓๔๙] มีนายควานช้างถือโตมรและขอ
ขึ้นขี่คอประจำ เตรียมพร้อมสรรพ
ประดับตกแต่งสวยงาม จงรีบตามมา
[๒๓๕๐] ต่อจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย
๑๔,๐๐๐ ตัว ที่มีฝีเท้าเร็ว
[๒๓๕๑] พร้อมด้วยนายสารถีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการ
ถือแส้และดาบสั้น ผูกสอด(อาวุธ)ขึ้นขี่ประจำหลัง
[๒๓๕๒] ต่อจากนั้น จงจัดเทียมกระบวนรถ ๑๔,๐๐๐ คัน
ที่มีเหล็กหุ้มกงล้ออย่างแน่นหนา เรือนรถขจิตด้วยทอง
[๒๓๕๓] จงยกธงขึ้นปักไว้บนรถคันนั้น ๆ
พวกนายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ คล่องแคล่วชำนาญ
ในรถทั้งหลาย จงเตรียมโล่ห์ เกราะ และแล่งธนูไว้ให้พร้อม
ทหารเหล่านี้จงตระเตรียมให้พร้อมแล้วรีบตามมา
[๒๓๕๔] ขอจงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้
มาลัย ของหอม และเครื่องลูบไล้เถิด
และจงให้จัดตั้งเครื่องบูชาอันมีค่า
ตามทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๕] ในบ้านแต่ละหมู่บ้าน จงให้ตั้งหม้อสุราและเมรัยไว้
หมู่ละ ๑๐๐ หม้อที่หนทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๖] จงให้ตั้งมังสาหาร ขนม ขนมแดกงา
ขนมกุมมาส ที่ปรุงด้วยเนื้อปลาไว้ใกล้ทาง
ที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์มหาราช
[๒๓๕๗] จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด
ขนมแป้ง ข้าวฟ่าง และสุราเป็นจำนวนมาก
ไว้ใกล้ทางที่พระเจ้าเวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา
[๒๓๕๘] ให้มีพนักงานพิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว
จัดตั้งไว้เพื่อประชาชนทั่วไป
ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุก ๆ อย่าง
เพลงปรบมือ กลองยาว คนขับเสภา
และคนผู้บรรเทาความเศร้าโศก๑
[๒๓๕๙] พวกมโหรีจงเล่นดนตรี
ดีดพิณพร้อมทั้งตีกลองน้อยกลองใหญ่
เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว
[๒๓๖๐] ตีตะโพน แกว่งบัณเฑาะว์ เป่าสังข์ ดีดจะเข้
และตีกลองใหญ่ กลองเล็ก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๑] กองทัพของกรุงสีพีเป็นกองทัพใหญ่
ที่จัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๒] ช้างพลายอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคับทอง
ผูกตกแต่งไว้ บันลือก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่
ช้างวารณะก็บันลือโกญจนาทกระหึ่มอยู่
[๒๓๖๓] เหล่าม้าอาชาไนยก็แผดเสียงแหลมดังลั่น
เสียงกงล้อดังกึกก้อง ฝุ่นละอองฟุ้งตลบถึงนภากาศ
กองทัพของชาวกรุงสีพีก็จัดกระบวนตั้งไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ คนผู้บรรเทาความเศร้าโศก หมายถึงนักมายากล หรือนักร้อง นักดนตรี แม้พวกอื่น ท่านก็เรียกว่า
ผู้บรรเทาความเศร้าโศก เพราะสามารถนำความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นออกไปได้ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๓๕๘/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๖๔] กองทัพนั้นเป็นกองทัพใหญ่ จัดเป็นกระบวนตั้งไว้
สามารถทำลายล้างอริราชศัตรูได้
มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต
[๒๓๖๕] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยข้าราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จเข้าไปยังป่าใหญ่มีกิ่งไม้มากมายและน้ำมาก
ดารดาษไปด้วยต้นไม้ดอกและไม้ผลทั้ง ๒ อย่าง
[๒๓๖๖] ในป่าใหญ่นั้น มีนกมากมายหลายสี
มีเสียงกล่อมไพเราะ เกาะอยู่บนต้นไม้ที่ผลิดอกตามฤดูกาล
ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ ๆ
[๒๓๖๗] พระเจ้ากรุงสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้น
เสด็จพระราชดำเนินไปสู่ทางไกล
ล่วงเลยหลายวันหลายคืน
จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวสสันดรประทับอยู่
กัณฑ์มหาราช จบ

กัณฑ์ฉกษัตริย์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๖๘] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองทัพเหล่านั้น
ก็ตกพระทัยกลัว เสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึง
ทอดพระเนตรดูกองทัพ ตรัสว่า
[๒๓๖๙] เชิญดูเถิดมัทรี เสียงกึกก้องเช่นใดในป่า
ม้าอาชาไนยส่งเสียงแผดร้องก้องสนั่น ปรากฏยอดธงไหว ๆ
[๒๓๗๐] นายพรานเหล่านี้ได้ขึงข่ายล้อมฝูงเนื้อในป่า
ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุมแล้ว ไล่ทิ่มแทงด้วยหอกอันคม
คัดเลือกเอาเนื้อเหล่านั้นตัวอ้วน ๆ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๑] เราทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษ
ถูกขับไล่จากแคว้นมาอยู่ในป่า
จึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกศัตรูเป็นแน่
จงดูเอาเถิดคนผู้ฆ่าคนที่ไม่มีกำลัง
(พระนางมัทรีกราบทูลว่า)
[๒๓๗๒] พวกศัตรูย่ำยีพระองค์ไม่ได้
เปรียบเหมือนไฟย่ำยีห้วงน้ำไม่ได้ฉะนั้น
ขอพระองค์จงทรงระลึกถึงข้อนั้นนั่นแหละ
แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดี
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๗๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้เสด็จลงจากภูเขา
ประทับนั่งในบรรณศาลา ทรงตั้งพระทัยให้หนักแน่น
[๒๓๗๔] พระบิดารับสั่งให้ถอยรถกลับ ให้วางกำลังกองทัพไว้แล้ว
เสด็จเข้าไปหาพระโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเพียงลำพัง
[๒๓๗๕] เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ทรงเฉวียงพระอังสา
ประนมพระหัตถ์ แวดล้อมแห่แหนด้วยหมู่อำมาตย์
เสด็จไปเพื่ออภิเษกพระโอรส
[๒๓๗๖] ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็น
พระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิต
ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา
เป็นสมาธิแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
[๒๓๗๗] พระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ทอดพระเนตรเห็นพระบิดา
ผู้มีความรักในบุตรกำลังเสด็จมา
ได้ทรงต้อนรับถวายอภิวาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๗๘] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุระ(พ่อผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงสวมกอด ๒ กษัตริย์ ใช้ฝ่าพระหัตถ์
ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น (ตรัสว่า)
[๒๓๗๙] ลูกรัก พวกเจ้าไม่มีโรคเบียดเบียน เป็นสุขสำราญดีหรือ
เลี้ยงอัตภาพด้วยการแสวงหามูลผลาหารสะดวกหรือ
มูลผลาหารมีมากอยู่หรือ
[๒๓๘๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายพลุกพล่าน ไม่มาเบียดเบียนหรือ
(พระเวสสันดรกราบทูลว่า)
[๒๓๘๑] ข้าแต่สมมติเทพ พวกหม่อนฉันเป็นอยู่ตามมีตามได้
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการเที่ยวแสวงหา
[๒๓๘๒] ข้าแต่มหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมดฤทธิ์ฉันใด
หม่อมฉันทั้งหลายก็ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ฉันนั้น
ความหมดฤทธิ์ย่อมทรมานหม่อมฉันทั้งหลาย
[๒๓๘๓] ข้าแต่มหาราช เมื่อหม่อมฉันทั้งหลาย
ถูกเนรเทศมามีชีวิตอยู่อย่างหงอยเหงาในป่า
หม่อมฉันทั้งหลาย มีเนื้อหนังซูบซีดผอมลง
เพราะไม่ได้พบพระบิดาและพระมารดา
[๒๓๘๔] ข้าแต่มหาราช ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สมบูรณ์
ของหม่อมฉันผู้ประเสริฐแห่งชาวกรุงสีพี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
คือพ่อชาลีและแม่กัณหาชินา ทั้ง ๒ องค์
ยังตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้หยาบช้า
มันเฆี่ยนตีพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ นั้นเหมือนเฆี่ยนตีโค
[๒๓๘๕] ถ้าพระองค์ทรงทราบ
หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้ง ๒ ของพระราชบุตรีนั้น
ขอได้ทรงกรุณารีบตรัสบอกแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด
เหมือนหมอรีบพยาบาลคนผู้ถูกงูกัด
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๖] กุมารทั้ง ๒ คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา
พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์แล้วไถ่ถอนมา
ลูกรัก ลูกอย่าได้กลัวเลย จงเบาใจเถิด
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๗] ข้าแต่พระบิดา พระองค์ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
ทรงพระสำราญดีหรือ
พระจักษุของพระมารดาของข้าพระองค์ยังไม่เสื่อมหรือ
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๓๘๘] ลูกรัก พ่อสบายดี ไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง จักษุแม่ของเจ้าก็ไม่เสื่อม
(พระเวสสันดรทูลถามว่า)
[๒๓๘๙] ราชพาหนะของพระองค์ที่เขาเทียมแล้วยังมั่นคงหรือ
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้หรือ
ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แห้งแล้งหรือ
(พระเจ้าสญชัยตอบว่า)
[๒๓๙๐] ราชพาหนะของเราที่เทียมแล้วยังมั่นคง
ราชพาหนะยังนำภาระไปได้
ชนบทก็เจริญดี และฝนก็ไม่แล้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์ฉกษัตริย์
[๒๓๙๑] เมื่อกษัตริย์ทั้ง ๓ เหล่านั้นกำลังทรงสนทนากันอย่างนี้
ด้วยประการฉะนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี
ไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จไปปรากฏที่ช่องภูเขา
[๒๓๙๒] พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นพระมารดา
ผู้มีความรักในพระโอรสกำลังเสด็จมา
จึงทรงต้อนรับถวายอภิวาท
[๒๓๙๓] ฝ่ายพระนางมัทรีทรงซบพระเศียรเกล้าถวายอภิวาท
แทบพระยุคลบาทของพระสัสสุ(แม่ผัว)กราบทูลว่า
ข้าแต่สมเด็จพระอัยยิกา หม่อมฉันมัทรีสะใภ้ของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาท
[๒๓๙๔] ส่วนบุตรน้อยทั้งหลาย
เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทอดพระเนตรเห็นพระนางมัทรี ก็ทรงคร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา
อุปมาเหมือนลูกโคอ่อนคอยชะเง้อหาแม่เป็นแน่
[๒๓๙๕] ฝ่ายพระนางมัทรีทอดพระเนตรเห็นบุตรน้อยทั้งหลาย
ผู้เสด็จมาแต่ที่ไกลโดยสวัสดิภาพ
ทั้งสั่นระรัวไปทั่วพระวรกายเหมือนแม่มด
น้ำนมก็หลั่งไหล
[๒๓๙๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว
ขณะนั้น ก็ได้เกิดเสียงดังอึกทึกกึกก้อง
ภูเขาทั้งหลายก็มีเสียงดังลั่น
แผ่นดินสะเทือนหวั่นไหว
[๒๓๙๗] ฝนตกลงยังท่อธารให้หลั่งไหลไป
ขณะที่พระเจ้าเวสสันดรได้สมาคมกับพระญาติทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๓๙๘] ในกาลที่กษัตริย์ทั้งหลาย คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส
พระสุณิสา และพระนัดดาทั้งหลาย
มาประชุมพร้อมกันแล้ว ก็ได้เกิดอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า
[๒๓๙๙] ประชาราษฎร์ทั้งปวงมาพร้อมใจกัน
ประนมมือถวายบังคมพระมหากษัตริย์
ร้องไห้วิงวอนพระเวสสันดรและพระนางมัทรี
ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวว่า
ขอพระองค์ทรงเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย
ขอพระองค์ทั้ง ๒ ทรงพระกรุณาเสวยราชสมบัติ
เป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
กัณฑ์ฉกษัตริย์ จบ

กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระเวสสันดรตรัสว่า)
[๒๔๐๐] พระบิดา ชาวชนบท และชาวนิคม
ได้พร้อมใจกันเนรเทศหม่อมฉัน
ผู้ครองราชสมบัติโดยธรรมจากแคว้น
(พระเจ้าสญชัยตรัสว่า)
[๒๔๐๑] ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้เนรเทศ
ซึ่งลูกผู้ไม่มีความผิดออกไปจากแคว้นตามคำของชาวกรุงสีพีนั้น
ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมชั่วร้าย
และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมที่ทำลายความเจริญแล้ว
[๒๔๐๒] ขึ้นชื่อว่าบุตรควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์
ของมารดาบิดาและพี่น้องที่เกิดขึ้น
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๔๐๓] ลำดับนั้น พระเจ้าเวสสันดรได้ทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครก
ครั้นทรงชำระล้างธุลีและสิ่งโสโครกแล้ว
ได้ทรงเพศเป็นพระราชา
[๒๔๐๔] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ทรงสนานพระเศียรแล้ว
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ทรงประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง
สอดพระแสงขรรค์ที่ทำให้ราชปัจจามิตรเดือดร้อนเกรงขาม
เสด็จขึ้นทรงพญาปัจจยนาค
[๒๔๐๕] ครั้งนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นายผู้สง่างาม
ต่างก็ชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
[๒๔๐๖] ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลในของพระเจ้ากรุงสีพี
มาประชุมพร้อมกัน ทูลเชิญพระนางมัทรีให้สรงสนานแล้ว
ถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาลรักษาพระเจ้าแม่
พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้ง ๒ พระองค์
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราชจงทรงอภิรักษ์พระแม่เจ้าเทอญ
[๒๔๐๗] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระนางมัทรี
กลับมาดำรงในสิริราชสมบัติตามเดิมแล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
จึงรับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศ
ที่คุ้มครองเขาวงกตอันน่ารื่นรมย์
[๒๔๐๘] พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัย๑ นี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
ครั้นได้พบพระโอรสทั้งหลายก็มีพระทัยปลาบปลื้มโสมนัส

เชิงอรรถ :
๑ ได้ปัจจัยนี้ หมายถึงได้ราชสมบัติ (ขุ.ชา.อ. ๑๐/๒๔๐๘/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๐๙] ก็พระนางมัทรีผู้สมบูรณ์ด้วยลักษณะได้ปัจจัยนี้แล้ว
ทรงระลึกถึงความลำบากของตนในกาลก่อน
มีพระทัยชื่นชมยินดีปรีดาพร้อมกับพระโอรสทั้งหลาย
[๒๔๑๐] ลูกรักทั้ง ๒ เมื่อก่อนแม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้
นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์
นี้เป็นวัตรของแม่ เพราะแม่รักเจ้าทั้งหลาย
[๒๔๑๑] วัตรของแม่สำเร็จในวันนี้ เพราะได้พบพวกเจ้า
ลูกรักทั้ง ๒ ขอความโสมนัสที่เกิดจากแม่ก็ดี
จากพระบิดาก็ดี จงคุ้มครองลูก
อนึ่ง ขอพระเจ้ากรุงสญชัยมหาราช
จงทรงอภิรักษ์ความโสมนัสนั้น
[๒๔๑๒] บุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่แม่และพระบิดาของลูกทำแล้วมีอยู่
ด้วยบุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย
[๒๔๑๓] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น
คือ พระภูษากัปปาสิกพัสตร์ โกไสยพัสตร์ โขมพัสตร์
และโกทุมพรพัสตร์ ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๔] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระธำมรงค์สุพรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๕] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ พระวลัยสำหรับประดับข้อพระบาท
พระกุณฑลสำหรับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีเพชร
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๑๖] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาลี
เครื่องประดับพระนลาตและเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่าง ๆ กัน
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๗] พระนางมัทรีทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด
พระนางผุสดีสัสสุเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น
คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังสา
สะอิ้งเพชร และฉลองพระบาท
ส่งไปประทานแก่พระนางมัทรีราชสุณิสา
[๒๔๑๘] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูเครื่องประดับ
ที่ร้อยด้วยด้ายและไม่ร้อยด้วยด้าย
พระนางมัทรีราชบุตรีทรงตรวจดูและประดับตกแต่งแล้ว
ทรงงดงามดังนางเทพกัญญาในพระอุทยานนันทวัน
[๒๔๑๙] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงสนานพระเศียร
ทรงพัสตราภรณ์อันสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง
ทรงงดงามดังนางเทพอัปสรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๔๒๐] พระนางมัทรีราชบุตรีทรงมีริมพระโอษฐ์งาม
ทรงงดงามดังต้นกล้วยสีทองที่เกิดในสวนจิตรลดาถูกลมพัดไปมา
[๒๔๒๑] พระนางมัทรีราชบุตรีมีพระโอษฐ์แดงดุจผลไทรและผลตำลึกสุก
งดงามดังกินนรีมีขนปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ
[๒๔๒๒] เหล่าพนักงานตกแต่งดรุณหัตถีอันเป็นช้างพระที่นั่ง
ตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยต้อนรับพระนางมัทรีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๒๓] พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นประทับบนหลังดรุณหัตถี
อันเป็นช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร
มีงาเรียวงามดุจงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ
[๒๔๒๔] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๕] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นไม่เบียดเบียนกันและกัน
ด้วยเดชของพระเวสสันดร
[๒๔๒๖] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๗] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมาประชุมในที่เดียวกัน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๘] ฝูงเนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงเนื้อประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๒๙] ฝูงนกประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวงที่เขาวงกตนี้
ฝูงนกประมาณเท่านั้นมิได้ส่งเสียงร้องไพเราะเหมือนในกาลก่อน
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีจะเสด็จกลับ
[๒๔๓๐] ราชมรรควิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น
ประชาราษฎร์ช่วยกันประดับตกแต่งงามตระการตา
ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่กรุงเชตุดร
จนถึงที่ประทับของพระเวสสันดร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๑] ลำดับนั้น เหล่าทหาร ๖๐,๐๐๐ นาย
ผู้แต่งเครื่องพร้อมสรรพ งามสง่าน่าดู
ต่างพากันติดตามแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๒] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพวกพราหมณ์
ต่างพากันติดตามพระเวสสันดรแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๓] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ต่างพากันตามเสด็จแวดล้อมโดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๔] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว
ต่างพร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกลับ
[๒๔๓๕] เหล่าทหารกล้าต่างก็สวมหมวก สวมเกราะ
ถือดาบ ถือโล่ห์หนังเดินนำหน้า
ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จกับ
[๒๔๓๖] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นเสด็จเข้าสู่พระนครที่รื่นรมย์
ซึ่งมีป้อมปราการและประตูเป็นอันมาก
ประกอบด้วยข้าวน้ำอุดม
และการฟ้อนรำและขับร้องทั้ง ๒ ประการ
[๒๔๓๗] ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมโสมนัสยินดี
พร้อมใจกันมาประชุม ในเมื่อพระเวสสันดร
ผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพีเสด็จถึงพระนครโดยลำดับแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑๐.เวสสันดรชาดก (๕๔๗) กัณฑ์นครกัณฑ์
[๒๔๓๘] เมื่อพระเวสสันดรผู้ทรงพระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว
ชาวชนบทและชาวนิคมต่างก็โบกผ้าสะบัดไปมา
พระองค์รับสั่งให้นำกลองนันทิเภรีไปตีประกาศในพระนคร
และรับสั่งให้ประกาศปลดปล่อยสัตว์ทั้งปวง
จากเครื่องพันธนาการ
[๒๔๓๙] ขณะที่พระเวสสันดรผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกรุงสีพี
เสด็จเข้าพระนคร
ท้าวสักกเทวราชก็ทรงบันดาลให้ฝนทองตกลงมา
[๒๔๔๐] ต่อมา พระเจ้าเวสสันดร ผู้เป็นกษัตริย์ ผู้มีปัญญา
ทรงบำเพ็ญทานแล้ว หลังจากสวรรคตแล้ว
พระองค์ก็เสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ฉะนี้แล
กัณฑ์นครกัณฑ์ จบ
มหาเวสสันดรชาดกที่ ๑๐ จบ
มหานิบาต จบ
ชาดก ภาค ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖๐ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ จบ





eXTReMe Tracker