ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑๘. ปัญญาสนิบาต
๑. นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ว่าด้วยพระราชธิดานฬินิกา

(พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้เรียกพระราชธิดานฬินิกามาแล้ว ตรัสว่า๑)
[๑] ลูกหญิงนฬินิกา ชนบทกำลังเดือดร้อน
แม้แคว้นก็กำลังพินาศ มาเถิด ลูกจงไปนำพราหมณ์นั้นมาให้พ่อ
(พระราชธิดานฬินิกาสดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๒] ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่เคยทนทุกข์ลำบาก
ทั้งไม่ฉลาดในหนทางไกล
หม่อมฉันจักไปยังป่าที่มีช้างอาศัยอยู่ได้อย่างไร
(พระราชาตรัสว่า)
[๓] ลูกหญิงนฬินิกา ลูกจงไปยังชนบท
ที่มั่งคั่ง ด้วยช้าง ด้วยรถ และด้วยยาน
ที่สร้างด้วยไม้๒โดยวิธีนี้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ในวงเล็บนี้และทุกวงเล็บที่ปรากฏตลอดคัมภีร์เล่มนี้ ยกมาจากอรรถกถาของชาดกเรื่องนั้น ๆ เริ่มจาก
ขุ.ชา.อ. ๘ - ๑๐ เป็นลำดับไป
๒ ยานที่สร้างด้วยไม้ ในที่นี้หมายถึงเรือ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔] ลูกจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ
และกองพลราบไป ลูกจักนำพราหมณ์มาสู่อำนาจได้
เพราะผิวพรรณและรูปของลูก
(นายพรานป่าชี้ไปที่อาศรม แล้วกราบทูลพระราชธิดานฬินิกาว่า)
[๕] อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของอิสิสิงคดาบสปรากฏอยู่นั่น
ซึ่งมีต้นกล้วยปรากฏเป็นทิวแถว แวดล้อมไปด้วยป่าแสม
[๖] นั่นแสงไฟยังโพลงเห็นประจักษ์อยู่ นั่นควันไฟยังปรากฏอยู่
เข้าใจว่า อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากจะยังไม่เลิกบูชาไฟ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า)
[๗] อิสิสิงคดาบสมองเห็นพระราชธิดานั้น
สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณีกำลังเสด็จมา
เกิดความกลัว จึงเข้าไปยังอาศรมที่มุงด้วยใบไม้
[๘] ที่ใกล้ประตูอาศรมของดาบสนั้น
พระราชธิดานั้นก็ทรงแสดงให้เห็นอวัยวะของลับ
และส่วนที่ปรากฏ ขณะเล่นลูกข่างอยู่
[๙] ฝ่ายชฎิลดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา
ครั้นเห็นพระราชธิดานั้นทรงเล่นอยู่
จึงออกมาจากอาศรมแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๑๐] พ่อมหาจำเริญ ต้นไม้ของท่านชื่ออะไรที่มีผลเป็นอย่างนี้
ถึงท่านจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งท่านไป
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๑] ท่านพราหมณ์ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
ณ ภูเขาคันธมาทน์ ต้นไม้ชนิดนั้นที่มีผลเป็นอย่างนี้มีอยู่มาก
ถึงข้าพเจ้าจะขว้างไปแล้วแม้ในที่ไกล
มันก็ย้อนกลับมา ไม่ละทิ้งข้าพเจ้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสเมื่อจะทำการปฏิสันถาร จึงกล่าวว่า)
[๑๒] เชิญท่านผู้เจริญเข้าไปยังอาศรมนี้เถิด
จงรับน้ำมันทาเท้าและภักษาหาร ข้าพเจ้าจักให้
นี้อาสนะ เชิญท่านผู้เจริญนั่งบนอาสนะนี้
เชิญท่านผู้เจริญขบฉันเหง้ามันและผลไม้ ณ ที่นี้เถิด
[๑๓] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้ง ๒ ของท่านนี้เป็นอะไร
สวยเรียบดี ปรากฏเป็นเพียงสีดำ
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
อวัยวะส่วนปลายยอด๑ของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาลวงดาบสว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้ากำลังเที่ยวแสวงหารากไม้และผลไม้อยู่ในป่า
ได้ขว้างหมีร้ายกาจตัวหนึ่ง
มันวิ่งปราดเข้าถึงตัวข้าพเจ้าโดยฉับพลัน
ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้วกัดอวัยวะส่วนปลายยอดไป
[๑๕] แผลนี้ มันรบกวนและเกิดอาการคันขึ้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ได้รับความสำราญตลอดเวลา
ท่านผู้เจริญพอจะกำจัดอาการคันนี้ได้หรือ
ข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้เจริญ
โปรดบำเพ็ญประโยชน์แก่พราหมณ์ด้วยเถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๖] แผลของท่านมีสีแดง ค่อนข้างลึกและใหญ่
แต่ไม่เน่า มีกลิ่นนิดหน่อย
ข้าพเจ้าจะปรุงยาน้ำฝาดให้ท่านขนานหนึ่ง
เท่าที่ท่านผู้เจริญจะพึงมีบรมสุขได้

เชิงอรรถ :
๑ อวัยวะส่วนปลายยอด หมายถึงเครื่องหมายเพศ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๗] ท่านพรหมจารี การเสกมนต์ การปรุงยาน้ำฝาด
และโอสถทั้งหลายก็บำบัดไม่ได้
ขอท่านพึงใช้องคชาตอันอ่อนนุ่มเสียดสีกำจัดอาการคัน
เท่าที่ข้าพเจ้าจะพึงมีบรมสุขได้เถิด
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๑๘] อาศรมของท่านผู้เจริญอยู่ทางทิศไหนจากที่นี้หนอ
ท่านผู้เจริญย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าหรือ
มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอหรือ
สัตว์ร้ายทั้งหลายไม่เบียดเบียนท่านผู้เจริญหรือ
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๑๙] จากที่นี้ตรงไปทางทิศเหนือ
มีแม่น้ำชื่อเขมาเกิดจากป่าหิมพานต์
อาศรมที่น่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
[๒๐] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นหว้า
ต้นราชพฤกษ์ และต้นแคฝอย ออกดอกบานสะพรั่ง
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งมีพวกกินนรขับกล่อมอยู่โดยรอบ
[๒๑] ต้นตาล เหง้าตาล และผลตาล ณ ที่นั้น
มีสีสันงดงามและมีกลิ่นหอม
ท่านผู้เจริญ ท่านควรจะไปเยี่ยมอาศรมของข้าพเจ้าบ้าง
ซึ่งประกอบไปด้วยภูมิภาคอันงดงามนั้นบ้าง
[๒๒] ผลไม้และเผือกมันซึ่งมีสีสันสวยงาม
มีกลิ่นหอมและมีรสอร่อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
ที่อาศรมของข้าพเจ้านั้นมีอยู่เพียงพอ
และพวกนายพรานพากันมายังที่นั้นแล้ว
ขออย่าได้ลักมูลผลาหาร๑จากอาศรมของข้าพเจ้านั้นไปเลย
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๓] ขณะนี้ บิดาของข้าพเจ้าไปแสวงหามูลผลาหาร
จะกลับมาในตอนเย็น เราทั้ง ๒ จะไปยังอาศรมนั้น
ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร
(พระราชธิดานฬินิกาตรัสว่า)
[๒๔] ฤๅษีและพระราชฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดีเหล่าอื่น
มีจำนวนมากอยู่ตามทาง
ท่านจงถามฤๅษีเหล่านั้นถึงอาศรมของข้าพเจ้าเถิด
ฤๅษีเหล่านั้นจักนำท่านไป ณ สถานที่อยู่ของข้าพเจ้าเอง
(พระดาบสโพธิสัตว์กลับมาจากป่าแล้วถามว่า)
[๒๕] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ มิได้ก่อไฟ
เพราะเหตุไรหนอ เจ้าจึงเหงาหงอยซบเซาอยู่
[๒๖] แน่ะลูกผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อก่อน ฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็บูชา
แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดแจงไว้
ตั่งเจ้าก็ตั้งไว้ น้ำเจ้าก็ตักไว้เพื่อพ่อ
ลูกยังประพฤติพรหมจรรย์รื่นรมย์อยู่หรือ
[๒๗] เจ้ามิได้หักฟืน มิได้ตักน้ำ
มิได้ก่อไฟ มิได้หุงต้มโภชนาหาร
วันนี้ ลูกยังมิได้ทักทายพ่อเลย
สิ่งของอะไรหายหรือ หรือว่าลูกมีทุกข์ใจอะไร

เชิงอรรถ :
๑ มูลผลาหาร คือ อาหารที่ได้จากรากไม้กล่าวคือเหง้า (เหง้าบัว,หัวเผือก,หัวมัน) และผลไม้ทั้งหลายที่มี
สีและกลิ่นเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๒/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
(อิสิสิงคดาบสกล่าวว่า)
[๒๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้มาที่นี่
รูปร่างของเธอสวยงาม น่าชม
ไม่สูงเกินไปและไม่เตี้ยเกินไป มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง
ศีรษะของเธอผู้เจริญดำสวยงาม
เพราะปกคลุมด้วยผมอันดำสนิทเป็นเงางาม
[๒๙] ไม่มีหนวด บวชได้ไม่นาน
ก็เธอมีเครื่องประดับเช่นกับเชิงบาตรอยู่ที่คอ
และมีปุ่ม ๒ ปุ่มเกิดที่อกอย่างงดงาม
ทั้งคู่มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังผลมะพลับทองคำ
[๓๐] อนึ่ง ใบหน้าของเธอน่าทัศนายิ่งนัก
กรรเจียกจอนก็ห้อยอยู่ที่หูทั้ง ๒
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็เปล่งประกายแวววาว
สายรัดชฎาที่ประดับก็โชติช่วงชัชวาล
[๓๑] และเครื่องประดับอย่างอื่นอีก ๔ อย่างของมาณพนั้น
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว
เมื่อมาณพเดินไปมา มันก็แกว่งไกวไปมา
เหมือนหมู่นกติรีฏิ ยามเมื่อฝนตก
[๓๒] ก็เธอมิได้คาดสายรัดเอวที่ทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เปลือกปอ และหญ้าปล้อง
สายรัดเอวนั้นปลิวสะบัดเหมือนสายฟ้าในอากาศ
โชติช่วงอยู่ระหว่างสะเอวกับสะโพก
[๓๓] อนึ่ง ผลไม้ทั้งหลายไม่มีใบ ไม่มีขั้ว ติดอยู่ที่สะเอว
ใต้สะดือ ไม่กระทบกันเลย ส่ายได้เป็นนิจ
พ่อ ผลไม้เหล่านั้นเป็นผลของต้นไม้อะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๓๔] ก็แหละชฎา๑ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม
จัดรูปทรงแบ่งศีรษะเป็นสองส่วนได้อย่างงดงาม
ขอให้ชฎาของเราเป็นเช่นนั้นเถิด
[๓๕] ก็คราวใดชฎิลนั้นสยายชฎา
ที่ประกอบด้วยสีและกลิ่นเหล่านั้น
คราวนั้นอาศรมนี้ก็หอมอบอวล
เหมือนดอกอุบลเขียวที่ต้องลม
[๓๖] เปือกตมที่เรือนร่างชฎิลนั้นก็น่าดูยิ่งนัก
หาเป็นเช่นกับกายของเราไม่
พอถูกลมโชยพัดก็หอมฟุ้ง
เหมือนป่าไม้มีดอกบานสะพรั่งปลายฤดูร้อน
[๓๗] ชฎิลนั้นตีผลไม้มีรูปอันวิจิตรงดงามน่าดูลงบนพื้นดิน
และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของชฎิลนั้นอีก
พ่อ ผลไม้นั้นเป็นผลของต้นไม้อะไรหนอ
[๓๘] อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก
ขาว เรียบเสมอ เปรียบได้กับสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เมื่อเธอยิ้ม ย่อมทำใจให้ผ่องใส
ชฎิลนั้นคงไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่
[๓๙] คำพูดของเธอไม่หยาบคาย ไม่คลาดเคลื่อน
นุ่มนวล อ่อนหวาน ซื่อตรง ไม่ทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่คลอนแคลน
เมื่อเปล่งออกมา น้ำเสียงของเธอทำให้ฟูใจ
ไพเราะจับใจ ดุจเสียงนกการเวก
ทำให้ใจของลูกกำหนัดยิ่งนัก

เชิงอรรถ :
๑ ชฎาในที่นี้หมายถึงสายผม (เส้นผมหลายเส้นที่ร้อยในลูกปัด) ที่เอาแก้วแซมผูกไว้มีทรงคล้ายชฎา (ขุ.ชา.อ.
๘/๓๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๐] เธอมีน้ำเสียงหยดย้อย ไม่เป็นถ้อยคำที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบด้วยเสียงอันพึมพำ
ลูกปรารถนาที่จะได้พบเธออีก
เพราะชฎิลหนุ่มได้เป็นมิตรกับลูกมาก่อน
[๔๑] แผลนี้เชื่อมต่อสนิทดี เกลี้ยงเกลาทุกส่วน
อูมใหญ่ตั้งอยู่อย่างเหมาะเจาะ
งามพร้อมคล้ายกับกลีบบัว
ชฎิลหนุ่มขึ้นคร่อมลูกด้วยแผลนั้นนั่นแหละ
ใช้บั้นเอวดันขาอ่อนให้เปิดไว้
[๔๒] รัศมีที่แผ่ซ่านจากกายของเธอ
เปล่งปลั่งผุดผ่องสว่างไสว
เหมือนสายฟ้าในอากาศ
แม้แขนทั้ง ๒ ของเธอก็อ่อนนุ่ม
มีขนเช่นกับขนดอกอัญชัน
นิ้วของเธอก็กลมกลึงวิจิตรงดงาม
[๔๓] เธอมีร่างกายไม่ระคายเคือง มีขนไม่ยาว
แต่มีเล็บยาว ปลายเล็บเป็นสีแดง
ชฎิลหนุ่มรูปงามกอดรัดลูกด้วยลำแขนทั้งหลาย อันอ่อนนุ่ม
บำรุงบำเรอให้รื่นรมย์
[๔๔] มือทั้งหลาย ของเธออ่อนนุ่ม คล้ายกับปุยนุ่น งามเปล่งปลั่ง
มีผิวพรรณงดงาม กลมกลึงเหมือนแผ่นทองคำอันงดงาม
เธอสัมผัสลูกด้วยมือเหล่านั้นแล้วไปจากที่นี่
เพราะสัมผัสนั้น มันจึงเผาลูกให้เร่าร้อนอยู่ นะท่านพ่อ
[๔๕] ชฎิลหนุ่มนั้นไม่ได้หาบคอนแน่นอน
มิได้หักฟืนเองแน่นอน มิได้โค่นต้นไม้ด้วยขวานแน่นอน
เพราะที่ฝ่ามือทั้งหลายของเธอไม่กระด้างเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๔๖] ส่วนเจ้าหมีได้ทำให้ชฎิลหนุ่มนั้นเป็นแผล
ชฎิลหนุ่มนั้นได้กล่าวกับลูกว่า
ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขด้วยเถิด
ลูกได้ช่วยทำให้เธอนั้นมีความสุข
เพราะการกระทำนั้น ความสุขก็มีแก่ลูกด้วย
ท่านผู้ประเสริฐ ก็เธอได้พูดกับลูกว่า ข้าพเจ้ามีความสุขแล้ว
[๔๗] เครื่องปูลาดใบเถาย่านทรายของท่านพ่อนี้
กระจัดกระจายไปเพราะลูกกับเธอ
เราทั้ง ๒ มีความเหน็ดเหนื่อย จึงรื่นรมย์กันในน้ำ
แล้วพากันเข้ากระท่อมใบไม้อยู่บ่อย ๆ
[๔๘] ท่านพ่อ วันนี้มนต์ทั้งหลายของลูกไม่แจ่มแจ้งเลย
การบูชาไฟและแม้การบูชายัญก็ไม่แจ่มแจ้ง
ตราบใดที่ลูกยังไม่พบพรหมจารีนั้น
ตราบนั้นลูกจะไม่ยอมบริโภคมูลผลาหารของท่านพ่อ
[๔๙] ท่านพ่อ ท่านต้องรู้จักแน่ว่า พรหมจารีอยู่ ณ ทิศใด
ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงทิศนั้นโดยเร็วเถิดพ่อ
ขอลูกอย่าได้ตายในอาศรมของท่านเลย
[๕๐] อนึ่ง ลูกได้ฟังมาว่า ป่าไม้ผลิดอกบานสะพรั่ง วิจิตรสวยงาม
กึกก้องไปด้วยเสียงนก มีฝูงนกอยู่อาศัย
ท่านพ่อ ขอท่านโปรดช่วยพาลูกไปให้ถึงป่านั้นโดยเร็วเถิด
ก่อนที่ลูกจะต้องละชีวิตทิ้งไว้ในอาศรมของท่าน
(พระดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๑] ในราวป่าที่มีรัศมีโชติช่วงนี้
ซึ่งมีหมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรสถิตอยู่
เป็นที่อยู่ของฤๅษีทั้งหลาย
บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่ควรถึงความไม่ยินดีเช่นนี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๑.นฬินิกาชาดก (๕๒๖)
[๕๒] สัตว์ทั้งหลายเป็นมิตรก็มี ไม่เป็นมิตรก็มี
พวกเขาทำความรักใคร่ในญาติและมิตรทั้งหลาย
ส่วนเจ้ามิคสิงคดาบสนี้จัดว่าเป็นคนเลว
เพราะตนเองยังไม่รู้เลยว่า “เรามาจากไหน”
กลับไว้ใจ(มาตุคามด้วยสำคัญว่าเป็นมิตร)เพราะเหตุไร
[๕๓] เพราะว่า ขึ้นชื่อว่ามิตรย่อมเชื่อมติดต่อกันได้
เพราะการอยู่ร่วมกันบ่อย ๆ
มิตรนั้นนั่นเองของบุคคลผู้ไม่สมาคมกัน
ย่อมเสื่อมไปเพราะการไม่ได้อยู่ร่วมกัน
[๕๔] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารี
จะได้เจรจากับพรหมจารี
ลูกจะละทิ้งคุณคือตบะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๕] หากลูกจะได้พบเห็นพรหมจารีอีก
ได้เจรจากับพรหมจารีอีก
ลูกก็จะละทิ้งเดชแห่งสมณะนี้โดยเร็วพลัน
ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป
[๕๖] ลูกเอ๋ย ก็ภูต๑เหล่านี้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก
ด้วยการแปลงรูปต่าง ๆ
คนมีปัญญาไม่ควรคบหาภูตเหล่านั้น
พรหมจารีบุคคลย่อมพินาศไปเพราะเกี่ยวข้องกับภูตนั้น
นฬินิกาชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภูต ในที่นี้หมายถึงพวกนางยักษิณี ที่เที่ยวแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อหลอกจับมนุษย์กิน (ขุ.ชา.อ.
๘/๕๖/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
๒. อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ว่าด้วยเสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๕๗] สุนันทะ นี้เป็นนิเวศน์ของใครหนอ
ล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง
ใครหนอปรากฏอยู่ในที่ไกลประดุจเปลวไฟในอากาศ
และประดุจเปลวไฟบนยอดภูเขา
[๕๘] สุนันทะ หญิงนี้เป็นธิดาของใครหนอ
เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร
เป็นหญิงโสดหรือว่ามีภัสดาในนิเวศน์นี้
เราถามแล้ว ท่านจงบอกมาโดยเร็วเถิด
(สุนันทสารถีกราบทูลว่า)
[๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หญิงคนนั้น
ข้าพระองค์รู้จักทั้งมารดาและบิดาของนาง
แม้สามีของนางข้าพระองค์ก็รู้จัก
ข้าแต่พระภูมิบาล บุรุษนั้นเป็นข้าราชบริพารของพระองค์เอง
เป็นผู้ไม่ประมาทในราชกิจอันเป็นประโยชน์ของพระองค์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ก็อำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์
ผู้ประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเจริญรุ่งเรือง
นางเป็นภรรยาของอภิปารกอำมาตย์นั้นเอง
ชื่อว่าอุมมาทันตี พระเจ้าข้า
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๖๑] พ่อมหาจำเริญ พ่อมหาจำเริญ ชื่อของนางนี้
มารดาและบิดาตั้งให้เหมาะสมดีจริง เป็นความจริงอย่างนั้น
เมื่อนางอุมมาทันตีมองดูเรา ได้ทำให้เราคล้ายจะเป็นบ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๒] ในคืนเดือนเพ็ญ นางมีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายตานางเนื้อทราย
ร่างกายมีผิวพรรณดุจกลีบดอกบุณฑริก นั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง
ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งผ้าสีแดงดุจสีเท้านกพิราบแล้ว
สำคัญว่าดวงจันทร์ขึ้น ๒ ดวง
[๖๓] คราวใดนางชมดชม้อยชำเลืองมองดูเราด้วยอาการ
อันอ่อนหวาน ด้วยใบหน้าอันเบิกบานงดงามบริสุทธิ์
ประดุจจะลักเอาดวงใจของเราไป ประหนึ่งนางกินนรี
เกิดที่ภูเขาในป่าลักเอาดวงใจของกินนรไป
[๖๔] คราวนั้นนางผู้เลอโฉม มีผิวกายสีทอง
ใส่ตุ้มหูแก้วมณี มีผ้านุ่งท่อนเดียว ชำเลืองดูเรา
ประดุจนางเนื้อทรายตื่นตกใจกลัวเมื่อเห็นนายพราน
[๖๕] เมื่อไรเล่า แม่นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม
แขนอ่อนนุ่ม ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
มีนิ้วกลมกลึง งามตั้งแต่ศีรษะ
จักบำเรอเราด้วยกิริยาอันชดช้อยชาญฉลาด
[๖๖] เมื่อไรเล่า ธิดาของท่านติรีฏิ
ผู้มีทับทรวงสังวาลทองคำ เอวเล็กเอวบาง
จักกอดเราด้วยแขนทั้ง ๒ อันอ่อนนุ่ม
ประดุจเถาย่านทรายรึงรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่
[๖๗] เมื่อไรเล่า นางผู้มีผิวพรรณงามแดงดังน้ำครั่ง
มีเต้าถันกลมกลึงประดุจฟองน้ำ
ร่างกายมีผิวพรรณดังกลีบดอกบุณฑริก
จักโน้มปากเข้าจุมพิตปากเรา
เหมือนดังนักเลงสุรายื่นจอกสุราให้นักเลงสุราด้วยกัน
[๖๘] เมื่อใด เราได้เห็นนางผู้มีสรรพางค์กาย
อันเจริญ น่ารื่นรมย์ใจ ยืนอยู่
เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกตัวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๖๙] เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ใส่ตุ้มหูแก้วมณีแล้ว
นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนปราชัยต่อข้าศึกมาแล้วตั้งพันครั้ง
[๗๐] หากท้าวสักกะจะพึงประทานพรแก่เราไซร้
ขอเราพึงได้พรนั้นเถิด
อภิปารกเสนาบดีพึงอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี
ตลอดคืนหนึ่งหรือสองคืน
จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีพึงได้อภิรมย์กับนางบ้าง
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๑] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งภูต
เมื่อข้าพระองค์นมัสการอยู่ซึ่งภูตทั้งหลาย
เทวดาตนหนึ่งได้มากล่าวเนื้อความนี้กับข้าพระองค์ว่า
พระทัยของพระราชาจดจ่ออยู่เฉพาะนางอุมมาทันตี
ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์
ขอพระองค์ทรงให้นางบำเรอเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๒] เราจะพึงคลาดไปจากบุญ และมิใช่เราจะไม่ตาย
ทั้งประชาชนจะพึงรู้ความชั่วของเรานี้
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นอกจากพระองค์และข้าพระองค์แล้ว
ประชาชนแม้ทั้งหมดไม่พึงรู้กรรมที่ทำแล้วได้
ข้าพระองค์ทูลถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์
โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า๑
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๔] คนผู้ทำกรรมชั่วย่อมคิดว่า
คนเหล่าอื่นอย่ารู้การกระทำนี้เลย
แต่ว่า คนบนพื้นปฐพีที่ประกอบด้วยฤทธิ์๒ ยังมีอยู่
ย่อมจะเห็นเขาผู้กระทำกรรมชั่วนั้น
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๕] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระเจริญ
ขอพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีทันที
ดุจราชสีห์เข้าไปยังถ้ำศิลา

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า หมายถึงการร่วมอภิรมย์กับนางอุมมาทันตี (ภรรยาผู้อื่น) เป็นการทำกรรมหยาบ
ช้า คือ ตัณหาดุจต้นไม้ที่เจริญงอกงามอยู่ในป่า (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๒/๔๔)
๒ นรชนผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรผู้มีฤทธิ์ (ขุ.ชา.อ.
๘/๗๔/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๗] ปราชญ์ทั้งหลายถึงจะถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว
ก็จะไม่สละกรรมที่มีผลเป็นสุข
หรือแม้ลุ่มหลงมัวเมาด้วยความสุข
ก็จะไม่ประพฤติกรรมชั่ว
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๗๘] ก็พระองค์ทรงเป็นทั้งมารดาและบิดา เป็นภัสดา เป็นนาย
เป็นผู้ชุบเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรและภรรยาเป็นทาสของพระองค์
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกาม
ตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๗๙] ผู้ใดกระทำความชั่วด้วยสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ครั้นกระทำแล้ว ผู้นั้นก็ไม่หวั่นเกรงต่อชนเหล่าอื่น
เพราะกรรมนั้น เขาย่อมมีอายุอยู่ได้ไม่ยืนยาว
แม้เทพทั้งหลายก็มองเขาด้วยสายตาอันเหยียดหยาม
[๘๐] ชนเหล่าใดผู้ดำรงอยู่ในธรรม
รับทานที่เป็นของชนเหล่าอื่น อันเจ้าของมอบให้แล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทั้งผู้รับ เป็นทั้งผู้ให้ในทานนั้นแม้ทั้งหมด
ย่อมทำกรรมอันมีผลเป็นสุขทีเดียว
[๘๑] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน นางอุมมาทันตีนี้
เป็นที่รักของข้าพระองค์อย่างแท้จริง
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าพระองค์ขอถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๓] ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน
หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น๑
(ผู้นั้นชื่อว่า ไม่รู้ธรรม) ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า
ความทุกข์ ความสุขนี้ของเราเป็นอย่างไร
ของคนเหล่าอื่นก็เป็นอย่างนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า รู้ธรรม
[๘๔] คนอื่น ใครเล่าหนอบนพื้นปฐพีในโลกนี้
จะพึงเชื่อท่านว่า นางมิได้เป็นที่รักของเรา
อีกประการหนึ่ง ครั้นให้แล้ว
ท่านมิได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้เป็นที่รัก
ท่านจะคับแค้นใจอย่างหนัก

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใดก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความทุกข์ของตน หมายถึงผู้ที่ถูกทุกข์บีบคั้นแล้วใส่ทุกข์ให้แก่คนอื่นคือ
นำทุกข์ออกจากสรีระของตัวแล้วใส่ในสรีระของผู้อื่น หรือก่อความสุขให้แก่ตนด้วยความสุขของคนอื่น
หมายถึงผู้ที่ถือเอาความสุขของคนอื่นมาใส่ไว้ในตน ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจัก
นำความทุกข์ออกจากตน” ชื่อว่าทำผู้อื่นให้ถึงความทุกข์เพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข
สบาย” ชื่อว่าทำความสุขของคนอื่นให้พินาศเพราะเข้าใจว่า “เราจักทำตนให้มีความสุข” คนนั้นชื่อว่า
ไม่รู้ธรรม
ส่วนผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า “ความสุขและความทุกข์ของเรานั้นเป็นอย่างไร ของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น”
ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม คือ รู้จักธรรม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน พระองค์ทรงทราบว่า
นางอุมมาทันตีนี้เป็นที่รักของข้าพระองค์
ข้าแต่พระภูมิบาล นางมิได้เป็นที่รักของข้าพระองค์ก็หาไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ด้วยความจงรักภักดีต่อพระองค์
ข้าพระองค์ขอถวายนางผู้เป็นที่รักแด่พระองค์
ขอเดชะสมมติเทพ บุคคลให้สิ่งของอันเป็นที่รัก
ย่อมได้สิ่งของอันเป็นที่รัก
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๖] เราจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุแน่
เพราะเราไม่สามารถจะฆ่าธรรมด้วยอธรรมได้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
ผู้ประเสริฐแกล้วกล้ากว่านรชน
ถ้าพระองค์ไม่ทรงประสงค์นางอุมมาทันตี
ผู้เป็นสมบัติของข้าพระองค์
ข้าพระองค์จะสละนางในท่ามกลางประชาชนทั้งปวง
พระองค์พึงนำนางผู้พ้นขาดจากข้าพระองค์แล้วมาจากที่นั้นเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๘๘] นี่แน่ะท่านอภิปารกะ ผู้บำเพ็ญประโยชน์
หากท่านสละนางอุมมาทันตีผู้ไม่ประทุษร้ายต่อท่าน
ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ท่าน
อนึ่ง การกล่าวโทษอย่างใหญ่หลวงก็จะพึงมีแก่ท่าน
แม้คนผู้เป็นฝักฝ่ายของท่านในเมืองก็จะไม่พึงมีอีกด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๘๙] ข้าแต่พระภูมิบาล ข้าพระองค์จักอดกลั้นคำกล่าวโทษ
คำนินทา คำสรรเสริญ และคำติเตียนนั้นทุกอย่าง
ขอคำนั้นทั้งหมดจงมาตกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความสำราญเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๐] ผู้ใดไม่ยึดถือคำนินทา ไม่ยึดถือคำสรรเสริญ
ไม่ยึดถือคำติเตียน ทั้งไม่ยึดถือการบูชา
สิริและปัญญาย่อมปราศจากผู้นั้น
เหมือนน้ำฝนที่ตกจนโชกย่อมไหลไปจากที่ดอน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๑] ความทุกข์ ความสุข อกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
และความคับแค้นใจจากการเสียสละนี้ทั้งหมด
ข้าพระองค์จักรับไว้ด้วยอกประดุจพื้นปฐพีรับไว้ได้ทุกอย่าง
ทั้งของบุคคลผู้มั่นคงและผู้หวาดสะดุ้ง
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๒] เราไม่ปรารถนาอกุศลที่เป็นไปล่วงธรรม
ความคับแค้นใจ และความทุกข์ของบุคคลเหล่าอื่น
เราผู้ดำรงอยู่ในธรรมจะไม่ทำประโยชน์อะไร ๆ ให้เสื่อมเสียไป
เราจักนำภาระนี้ไปเพียงผู้เดียวเท่านั้น
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน บุญกรรมอันนำให้ถึง
โลกสวรรค์ของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงทำอันตรายเลย
ข้าพระองค์มีใจเลื่อมใส จะถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เหมือนกับพระราชาพระราชทานทรัพย์
แก่พวกพราหมณ์ในการบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๔] ท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
ทั้งนางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
เทวดา บิดา๑ และประชาชนทั้งปวงจะพึงนินทาได้
อนึ่ง เราก็ได้เห็นบาปในสัมปรายภพ
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๕] ข้าแต่พระเจ้ากรุงสีพี ชาวชนบทพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งปวง
จะพึงกล่าวข้อนั้นว่าไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ข้าพระองค์ถวายนางอุมมาทันตีแด่พระองค์
เพราะนางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ถวายพระองค์แล้ว
ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงอภิรมย์ตัณหาดุจต้นไม้ในป่า
หรือไม่ก็ทรงสลัดนางทิ้งเสีย
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๖] นี่แน่ะท่านผู้บำเพ็ญประโยชน์ ท่านหวังประโยชน์แก่เราแน่แท้
นางอุมมาทันตีและท่านก็เป็นเพื่อนของเรา
ก็ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายที่ประกาศไว้ดีแล้ว
ยากที่จะก้าวล่วงได้ เหมือนฝั่งสมุทร
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๗] พระองค์ทรงเป็นอาหุเนยยบุคคล๒
ทรงอนุเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ทรงเป็นผู้ปกป้อง
คุ้มครอง และทรงรักษาความประสงค์ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระราชา ก็ยัญที่บูชาแล้วในพระองค์มีผลมาก
ขอพระองค์ทรงรับนางอุมมาทันตี
ตามความประสงค์ของข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ บิดา ในที่นี้หมายถึงพรหม (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๔๗)
๒ อาหุเนยยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาคำนับ (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๗/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๙๘] อภิปารกกัตตุบุตร ก็ท่านได้ประพฤติธรรมทุกอย่างแก่เราโดยแท้
คนสองเท้าของท่าน คนอื่นใครเล่าหนอ
จะกระทำความสวัสดีให้แก่ท่านในเวลารุ่งอรุณ ในชีวโลกนี้
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๙๙] พระองค์ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยม
พระองค์ทรงมีธรรมคุ้มครอง เป็นผู้ถึงธรรม ทรงรู้แจ้งธรรม
ทรงมีปัญญาดี พระองค์ผู้ทรงรักษาธรรม
ขอพระองค์ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้วนั้น
จงดำรงพระชนม์ยั่งยืนนาน
และโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
(พระเจ้ากรุงสีพีตรัสว่า)
[๑๐๐] เชิญเถิด อภิปารกะ ท่านจงฟังคำของเรา
เราจักแสดงธรรมที่พวกสัตบุรุษส้องเสพแล้วแก่ท่าน
[๑๐๑] พระราชาทรงพอพระทัยในธรรมเป็นพระราชาที่ดี
คนมีความรู้รอบคอบเป็นคนดี
ความไม่ประทุษร้ายมิตรเป็นความดี
การไม่กระทำบาปเป็นเหตุนำสุขมาให้
[๑๐๒] ในแคว้นของพระราชาผู้ไม่กริ้ว ผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มนุษย์ทั้งหลายพึงหวังความสุขในเรือนของตน
ภายใต้ร่มเงาอันร่มเย็น
[๑๐๓] กรรมใดที่มิได้พิจารณาแล้วกระทำลงไป
เป็นกรรมไม่ชอบ เราไม่ชอบกรรมนั้นเลย
ฝ่ายพระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้ว
จึงทรงกระทำลงไปด้วยพระองค์เอง
เราชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น
ขอท่านจงฟังข้ออุปมาเหล่านี้ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๐๔] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[๑๐๕] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๐๖] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๐๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๐๘] อภิปารกะ เราไม่ปรารถนาความเป็นเทวดา
หรือเพื่อจะชนะแผ่นดินทั้งปวงนี้โดยอธรรมเลย
[๑๐๙] แท้จริง รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เหลือง
ก็มีอยู่ในหมู่มนุษย์ในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๐] อนึ่ง แม้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ก็รักษา ม้า หญิง และแก้วมณีไว้เพื่อเรา
เราไม่พึงประพฤติธรรมไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งรัตนะนั้นเลย
เพราะเราเกิดเป็นพระราชาผู้เจริญที่สุดท่ามกลางชาวกรุงสีพี
[๑๑๑] เราเป็นผู้นำ เป็นผู้เกื้อกูล มีชื่อเสียง ปกครองแคว้น
ประพฤตินอบน้อมธรรมเพื่อชาวกรุงสีพีอยู่
เรานั้นคิดถึงธรรมนั้นอยู่เนือง ๆ
เพราะเหตุนั้น จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจจิตของตน
(อภิปารกเสนาบดีกราบทูลว่า)
[๑๑๒] ข้าแต่มหาราช
พระองค์จักทรงปกครองราชสมบัติมิให้พินาศ
ให้ปลอดภัยอยู่เป็นนิตย์ตลอดกาลนานแน่แท้
เพราะพระปรีชาของพระองค์เป็นเช่นนั้น
[๑๑๓] พระองค์ไม่ทรงประมาทธรรมใด
ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์
กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ทรงประมาทธรรมแล้ว
ย่อมเคลื่อนจากแคว้น
[๑๑๔] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนกและพระชนนีเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๕] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๒.อุมมาทันตีชาดก (๕๒๗)
[๑๑๖] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในมิตรและอำมาตย์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๗] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในพาหนะและพลนิกายเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๑๙] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในแคว้นและชนบทเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๐] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรม
ในสมณะและพราหมณ์เถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๑] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์
ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและหมู่นกเถิด
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๒๒] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
ธรรมที่พระองค์ประพฤติแล้วนำสุขมาให้
พระองค์ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว
จักเสด็จไปสู่สวรรค์ พระเจ้าข้า
[๑๒๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด
เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม
บรรลุถึงโลกทิพย์ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทธรรมเลย พระเจ้าข้า
อุมมาทันตีชาดกที่ ๒ จบ

๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
ว่าด้วยโพธิกุมารโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๔] ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงรีบร้อนฉวยเอาไม้เท้า หนังเสือ
ร่ม รองเท้า ไม้ตะขอ บาตร และผ้าพาด
ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๕] ตลอด ๑๒ ปีนี้ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตร
อาตมภาพไม่ได้รู้จักเสียงสุนัขสีน้ำตาลเห่าคำรามเลย
[๑๒๖] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่
สุนัขตัวนี้นั้น มันแยกเขี้ยวสีขาว เห่าคำรามอย่างร้อนรน
เพราะได้ยินพระดำรัสของพระองค์
พร้อมทั้งพระมเหสีผู้สิ้นศรัทธาอาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘. ปัญญาสนิบาต] ๓. มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๗] ท่านพราหมณ์ โทษนั้นเป็นความผิด
ที่โยมกระทำแล้วจริงตามที่ท่านกล่าว
โยมนั้นเลื่อมใสท่านอย่างยิ่ง
ขอนิมนต์อยู่เถิด อย่าไปเลย ท่านพราหมณ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๘] เมื่อแรก ข้าวสุกสีขาวล้วน ต่อมาก็กระดำกระด่าง
บัดนี้กลายเป็นสีแดงล้วน
จึงเป็นกาลสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป
[๑๒๙] เมื่อแรก อาสนะอยู่ภายใน
ต่อมาอยู่ท่ามกลาง ต่อมาอยู่ภายนอก
อาตมภาพขอไปเองก่อนที่จะถูกขับจากเมือง
[๑๓๐] บุคคลไม่พึงคบหาคนผู้สิ้นศรัทธาเหมือนบ่อน้ำที่ไม่มีน้ำ
ถึงแม้จะพยายามขุดมันขึ้น น้ำก็จะพึงมีกลิ่นโคลนตม
[๑๓๑] บุคคลพึงคบหาผู้ที่เลื่อมใสเท่านั้น
พึงเว้นคนผู้ไม่เลื่อมใส พึงเข้าไปใกล้คนผู้เลื่อมใส
เหมือนคนต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ
[๑๓๒] บุคคลพึงคบหาคนที่คบด้วย
ไม่พึงคบหาคนที่ไม่คบด้วย
บุคคลใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
บุคคลนั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๓๓] ผู้ใดไม่คบหาคนที่คบด้วย
ไม่เสวนาคนที่เสวนาด้วย
ผู้นั้นแลเป็นคนชั่วช้าที่สุด
เหมือนลิงที่อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๔] มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน
เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ คือ
๑. เพราะการคลุกคลีกันพร่ำเพรื่อเกินไป
๒. เพราะการไม่ร่วมสโมสรกัน
๓. เพราะขอในเวลาอันไม่สมควร
[๑๓๕] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงไปมาหาสู่กันจนพร่ำเพรื่อ
ไม่ควรเหินห่างกันไปจนเนิ่นนาน
และพึงขอสิ่งที่ควรขอตามกาลอันสมควร
เมื่อเป็นเช่นนี้ มิตรทั้งหลายย่อมจะไม่แหนงหน่ายกัน
[๑๓๖] คนผู้เป็นที่รักย่อมกลับกลายไม่เป็นที่รัก
เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
อาตมภาพขอถวายพระพรลามหาบพิตรไป
ก่อนที่อาตมาจะไม่เป็นที่รักของมหาบพิตร
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๓๗] หากพระคุณเจ้าไม่ยอมรับรู้
การอัญชลีของปริจารชนสัตบุรุษผู้อ้อนวอนอยู่อย่างนี้
และไม่ยอมกระทำตามคำขอร้องของโยม
โยมขอวิงวอนพระคุณเจ้าอย่างนี้ว่า
พระคุณเจ้าพึงแวะมาอีก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๘] ขอถวายพระพร มหาราชผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
หากว่าเมื่อเรายังคงเป็นอยู่อย่างนี้
อันตรายจักไม่มีแก่มหาบพิตรหรือแก่อาตมาไซร้
เมื่อวันคืนล่วงไป เราคงจะได้พบกันบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๓๙] หากถ้อยคำของมหาบพิตรเป็นไปตามคติของตน
และตามสภาวะที่เป็นจริงไซร้
เพราะไม่มีความประสงค์ สัตว์จึงทำกรรมที่ไม่ควรทำบ้าง
ที่ควรทำบ้าง เมื่อกระทำโดยไม่มีความประสงค์
ใครเล่าในโลกนี้ จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๒] ถ้าพระผู้เป็นใหญ่๑กำหนดชีวิต จัดสรรฤทธิ์
ความหายนะ และกรรมดีกรรมชั่วแก่ชาวโลกทั้งปวงไซร้
คนผู้ทำตามคำสั่งทำบาป
พระผู้เป็นใหญ่ย่อมแปดเปื้อนบาปนั้นเอง
[๑๔๓] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๔] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้เป็นใหญ่ หมายถึงพระพรหมหรือพระเป็นเจ้าองค์อื่นจัดแจงตรวจตราชีวิตแก่ชาวโลกทั้งหมด (ขุ.ชา.อ.
๒/๑๔๒/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๔๕] ถ้าว่าสัตว์ย่อมเข้าถึงความสุขและความทุกข์
เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ในชาติปางก่อน
เขาย่อมเปลื้องหนี้คือบาปกรรมเก่าที่ตนทำไว้นั้นได้
เมื่อความพ้นหนี้คือบาปกรรมเก่ามีอยู่
ใครเล่าในโลกนี้จะแปดเปื้อนบาป
[๑๔๖] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๔๗] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๔๘] รูปของสัตว์ย่อมเกิดมีได้
เพราะอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น
ก็รูปย่อมเกิดมีได้เพราะมหาภูตรูปใด
ก็คล้อยไปตามมหาภูตรูป๑นั่นเอง
[๑๔๙] ชีวะย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น
ละไปแล้ว ละทิ้งไปแล้ว ย่อมพินาศ
โลกนี้ย่อมขาดสูญ ทั้งคนพาลและบัณฑิตก็ขาดสูญ
เมื่อโลกขาดสูญอยู่ ใครเล่าในโลกนี้ย่อมแปดเปื้อนบาป

เชิงอรรถ :
๑ คล้อยไปตามมหาภูตรูป หมายถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้ (คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม) ตาย
ลงในเวลาใด ร่างกายส่วนที่เป็นดินก็กลับกลายเป็นดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับกลายเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นไฟ
ก็กลับกลายเป็นไฟ ส่วนที่เป็นลมก็กลับกลายเป็นลมในเวลานั้น (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๐] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๑] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น
[๑๕๒] นักปกครองทั้งหลายที่เป็นคนพาล
สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ได้กล่าวไว้ในโลกว่า
“บุคคลพึงฆ่ามารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย
และบุตรภรรยา ถ้าพึงมีความประสงค์เช่นนั้น”
[๑๕๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนใต้ร่มต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่ว
[๑๕๔] ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็พึงถอนแม้ทั้งราก
อาตมภาพมีความต้องการอาหาร
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๕] หากเนื้อความที่มหาบพิตรตรัสแล้วนั้น
เป็นอรรถ เป็นธรรม เป็นถ้อยคำที่ดีงาม ไม่ชั่วช้า
และหากพระดำรัสของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นสัจจะ
วานรก็เป็นอันอาตมาฆ่าดีแล้ว
[๑๕๖] ก็หากว่ามหาบพิตรพึงรู้ความผิดพลาดวาทะของตน
มหาบพิตรจะไม่พึงติเตียนอาตมาเลย
เพราะวาทะของมหาบพิตรผู้เจริญเป็นเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๕๗] คนผู้มีวาทะว่าไม่มีเหตุ ๑
คนผู้มีวาทะว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก ๑
คนผู้มีวาทะว่าสุขทุกข์เกิดมีเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน ๑
คนผู้มีวาทะว่าโลกนี้ขาดสูญ ๑
คนผู้เป็นนักปกครองที่เป็นพาล ๑
[๑๕๘] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๕๙] ในปางก่อน หมาป่าตัวหนึ่งปลอมตัวเป็นแพะ
ไม่ถูกระแวงสงสัยจึงเข้าไปหาฝูงแพะ
ฆ่าทั้งแม่แพะ แพะตัวเมีย และแพะตัวผู้
ทำให้เกิดความสะดุ้งกลัวแล้วจึงไปตามความปรารถนา
[๑๖๐] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งก็มีวิธีการอย่างนั้น
กระทำการปิดบังตน หลอกลวงมนุษย์ทั้งหลาย
บางพวกไม่บริโภคอาหาร บางพวกนอนบนแผ่นดิน
บางพวกทำการฉาบทาเถ้าธุลีที่ร่างกาย
บางพวกทำความเพียรโดยการเดินกระโหย่ง
บางพวกบริโภคอาหารเป็นครั้งคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ
เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดอ้างว่าเป็นพระอรหันต์
[๑๖๑] สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๒] คนเหล่าใดกล่าวว่า
ความเพียรไม่มี ๑ ประกาศความไม่มีเหตุ ๑
พรรณนาการกระทำของผู้อื่นและการกระทำของตน
ว่าเป็นการสูญเปล่า ๑
[๑๖๓] คนเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาล
มีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตในโลก
คนเช่นนั้นพึงกระทำบาปเองบ้าง
พึงแนะนำให้ผู้อื่นกระทำบาปบ้าง
การคลุกคลีกับอสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด
มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร
[๑๖๔] ก็ถ้าว่าความเพียรไม่พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่พึงมี
พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงช่างไม้
แม้เครื่องยนต์ทั้งหลายก็จะไม่พึงให้สร้าง
[๑๖๕] แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรมดีกรรมชั่วก็มีอยู่
ฉะนั้น พระราชาจึงทรงให้สร้างเครื่องยนต์
และทรงชุบเลี้ยงช่างไม้ไว้
[๑๖๖] หากฝนไม่พึงตก หิมะไม่พึงตกตลอด ๑๐๐ ปี
โลกนี้ก็พึงขาดสูญ หมู่สัตว์นี้พึงพินาศไป
[๑๖๗] แต่เพราะฝนยังตกอยู่ และหิมะยังโปรยปรายอยู่เนือง ๆ
ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงเผล็ดผล
และทำให้พระราชาปกครองแคว้นได้ยั่งยืน
[๑๖๘] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๖๙] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๗๐] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๗๑] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้น
ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
[๑๗๒] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลดิบ คนนั้นจะไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๓] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจะไม่ทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักพินาศไปด้วย
[๑๗๔] เมื่อต้นไม้ใหญ่กำลังมีผล
คนใดปลิดเอาผลสุก คนนั้นจึงจะรู้รสแห่งผลไม้นั้น
ทั้งพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] ๓.มหาโพธิชาดก (๕๒๘)
[๑๗๕] แคว้นอุปมาเหมือนกับต้นไม้ใหญ่
พระราชาพระองค์ใดทรงปกครองแคว้นโดยธรรม
พระราชาพระองค์นั้นจึงจะทรงทราบรสแห่งแคว้นนั้น
ทั้งแคว้นของพระราชาพระองค์นั้นก็จักไม่พินาศไปด้วย
[๑๗๖] ส่วนขัตติยราชพระองค์ใด
ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงเป็นผู้คลาดจากโอสถ๑ทั้งปวง
[๑๗๗] ขัตติยราชพระองค์ใดทรงเบียดเบียนชาวนิคม
ผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและราชพลี๒
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาด
จากพระคลังสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๗๘] พระราชาพระองค์ใดทรงเบียดเบียน
นายขมังธนูผู้รู้เขตแห่งการประหารเป็นอย่างดี ๑
ทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม ๑ มหาอำมาตย์ผู้เลื่องลือ ๑
พระราชาพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากกำลังพล
[๑๗๙] พระราชาผู้เป็นกษัตริย์พระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม
ทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษีผู้มีความสำรวม ประพฤติพรหมจรรย์
ขัตติยราชพระองค์นั้นจะทรงคลาดจากสวรรค์เช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๘๐] อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงประหารพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย
ย่อมทรงประสบฐานะอันหยาบช้า
และคลาดจากพระโอรสทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ โอสถ หมายถึงรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ที่เป็นยา รวมถึงเนยใส เนยข้น
ที่เป็นยาด้วย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๖/๗๓)
๒ โอชะและราชพลี หมายถึงรสที่ได้จากสิ่งของต่าง ๆ ที่ชาวชนบทถวายพร้อมทั้งการเสียภาษีอากรด้วย
(ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๗/๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๘.ปัญญาสนิบาต] รวมชาดกที่มีในวรรค
[๑๘๑] พระราชาพึงประพฤติธรรมในชาวชนบท
ในชาวนิคม และในกำลังพล
ไม่พึงทรงเบียดเบียนหมู่ฤๅษี
และพึงประพฤติให้สม่ำเสมอ
ในพระโอรสและพระชายา
[๑๘๒] พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรงปกครองแคว้น
ไม่ทรงเกรี้ยวกราดเช่นนั้น
ท้าวเธอย่อมทรงทำศัตรูให้หวั่นไหว
ประดุจพระอินทร์ผู้เป็นอธิบดีแห่งอสูรฉะนั้นแล
มหาโพธิชาดกที่ ๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก
๓. มหาโพธิชาดก

ปัญญาสนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
๑๙. สัฏฐินิบาต
๑. โสณกชาดก (๕๒๙)
ว่าด้วยพระราชาพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร
(พระเจ้าอรินทมะตรัสว่า)
[๑] โสณกะสหายเล่นฝุ่นของเรา
ใครได้สดับข่าวแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งร้อย
ใครได้พบเห็นแล้วมาบอก เราจะให้ทรัพย์หนึ่งพัน
(พระศาสดาได้ตรัสหนึ่งคาถาครึ่งว่า)
[๒] ลำดับนั้น เด็กน้อยไว้ผม ๕ แหยม ได้กราบทูลว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงประทานทรัพย์หนึ่งร้อย
แก่ข้าพระองค์ผู้สดับข่าวแล้วมากราบทูล
และขอทรงประทานทรัพย์หนึ่งพัน
แก่ข้าพระองค์ผู้ได้พบเห็นโสณกะ
ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงโสณกะพระสหายเล่นฝุ่นแก่พระองค์
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วตรัสถามว่า)
[๓] เขาอยู่ในชนบท แคว้น และนิคมไหน
พ่อได้พบโสณกะ ณ ที่ไหน
พ่อจงตอบเนื้อความที่เราถามนั้นเถิด
(เด็กน้อยกราบทูลว่า)
[๔] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ในแคว้นของพระองค์นั่นเอง
ณ ภาคพื้นแห่งพระอุทยานของพระองค์นั่นแหละ
มีต้นรังใหญ่หลายต้น ซึ่งมีลำต้นตรง
มีสีเขียวชะอุ่ม น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕] ยืนต้นประสานอาศัยกันและกัน
เสมอเหมือนกลุ่มเมฆ น่ารื่นรมย์
เมื่อชาวโลกมีความยึดมั่น ถูกแผดเผาอยู่
โสณกะไม่มีความยึดมั่น เป็นผู้ดับแล้ว
เพ่งฌานอยู่ ณ โคนต้นรังเหล่านั้น
[๖] ลำดับนั้นแล พระราชาได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนา ๔ เหล่า
ตรัสสั่งให้ปรับหนทางให้เรียบเสมอแล้ว
ได้เสด็จไปจนถึงที่อยู่ของโสณกปัจเจกพุทธะ
[๗] ครั้นเสด็จถึงภูมิภาคพระอุทยาน
จึงเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นโสณกปัจเจกพุทธะ
ผู้นั่งสงบเย็น ในเมื่อชาวโลกเร่าร้อนอยู่
(พระราชาตรัสว่า)
[๘] ภิกษุนี้เป็นคนเข็ญใจหนอ มีศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ
ไม่มีแม่ ไม่มีพ่อ เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๙] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้าสดับพระดำรัสนี้แล้ว
จึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร
บุคคลผู้สัมผัสธรรมด้วยกายไม่จัดว่าเป็นคนเข็ญใจ
[๑๐] บุคคลใดในโลกนี้รังเกียจธรรม ประพฤติตามอธรรม
บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เป็นคนชั่ว
มีบาปติดตามไปในภายหน้า
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๑] โยมมีชื่อว่าอรินทมะ มหาชนรู้จักโยมว่าพระเจ้ากาสี
พระคุณเจ้าโสณกะ พระคุณเจ้าผู้เจริญ
มาถึงสถานที่นี้ จำวัดสบายหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า แสดงความเจริญของสมณะแด่พระราชาว่า)
[๑๒] ความเจริญข้อที่ ๑ ย่อมมีแม้ในกาลทุกเมื่อ
แก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีบ้านเรือน
คือ ข้าวเปลือกไม่เข้าไป(มี)อยู่ในฉาง
ในหม้อ ในกระเช้าของภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้นแสวงหาอาหารสำเร็จ
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น เป็นผู้มีวัตรดีงาม
[๑๓] ความเจริญข้อที่ ๒ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่ไม่มีโทษ
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๔] ความเจริญข้อที่ ๓ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ภิกษุพึงฉันก้อนข้าวที่เย็น
และกิเลสไร ๆ จะไม่เข้าไปรบกวนท่าน
[๑๕] ความเจริญข้อที่ ๔ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ ความเกี่ยวข้องย่อมไม่มี
แก่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวจาริกไปในแคว้น
[๑๖] ความเจริญข้อที่ ๕ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อบ้านเมืองถูกไฟไหม้
ท่านไม่มีอะไรจะถูกเผาไหม้
[๑๗] ความเจริญข้อที่ ๖ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ เมื่อแคว้นถูกโจรปล้น
ท่านก็ไม่มีอะไรจะให้โจรปล้น
[๑๘] ความเจริญข้อที่ ๗ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ หนทางใดที่พวกโจรยึดครองก็ดี
หนทางอื่นใดที่มีอันตรายก็ดี
ภิกษุผู้มีวัตรดีงาม ถือบาตรและจีวรไปได้อย่างปลอดภัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๑๙] ความเจริญข้อที่ ๘ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์
ไม่มีบ้านเรือน คือ จะหลีกไปยังทิศใด ๆ
ก็ไปยังทิศนั้น ๆ ได้อย่างไม่ต้องห่วงใย
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๐] พระคุณเจ้าโสณกะผู้เห็นภัย
พระคุณเจ้าสรรเสริญความเจริญของภิกษุเหล่านั้นมากมาย
แต่โยมยังติดอยู่ในกามทั้งหลาย จะทำอย่างไรได้เล่า
[๒๑] กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ โยมก็พึงพอใจ
ถึงแม้กามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ โยมก็พึงพอใจ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรหนอโยมจึงจะได้กามทั้ง ๒ ในโลก
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากราบทูลว่า)
[๒๒] คนทั้งหลายผู้ติดอยู่ในกาม ยินดีในกาม
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
กระทำบาปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[๒๓] ส่วนคนเหล่าใดละกามทั้งหลาย
เป็นผู้ออกแล้วจากกาม ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
บรรลุถึงความเป็นสมาธิอันแน่วแน่
คนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[๒๔] ขอถวายพระพร พระเจ้าอรินทมะ
อาตมภาพจักยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ
โปรดสดับข้ออุปมานั้น
บัณฑิตบางพวกในโลกนี้
ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยการเปรียบเทียบ
[๒๕] กาตัวหนึ่งมีปัญญาน้อยเพราะไม่มีความคิด
เห็นซากศพถูกแม่น้ำคงคาพัดลอยไปในห้วงน้ำใหญ่ จึงคิดว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๒๖] “ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย
ได้เป็นผู้มีใจยินดีไม่เสื่อมคลายในซากศพนั้นเท่านั้น
ตลอดคืนตลอดวัน
[๒๗] เมื่อกาจิกกินเนื้อช้าง ดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาอยู่
เมื่อเห็นต้นไม้ใหญ่ ๆ ในป่า ก็ไม่โผบินขึ้นไป
[๒๘] ก็แม่น้ำคงคาได้ไหลพัดพาเอากาตัวประมาท
ยินดีในซากศพตัวนั้นไปยังสมุทร
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
[๒๙] ก็กาตัวนั้นสิ้นอาหารแล้วจึงตกลงไปในน้ำ
จะบินไปข้างหลังก็ไม่ได้ ข้างหน้าก็ไม่ได้
ด้านเหนือก็ไม่ได้ ด้านใต้ก็ไม่ได้
[๓๐] มันบินไปไม่ถึงเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝูงนกบินไปไม่ได้
และมันก็ตกลงไปในสมุทรนั้นเองโดยอาการหมดกำลัง
[๓๑] อนึ่ง ฝูงปลา จระเข้ มังกร ปลาร้ายชื่อสุสุ
ที่อยู่ในสมุทรก็พากันข่มเหงฮุบกินกานั้น
ซึ่งกำลังดิ้นรนจนขนปีกขาด
[๓๒] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
พระองค์ก็ดี คนเหล่าอื่นที่ยังบริโภคกามก็ดี
ถ้าจักยังกำหนัดไม่คายกามเสียก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ชนเหล่านั้นบัณฑิตทั้งหลายรู้ว่า มีปัญญาเพียงดังกา
[๓๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
นี้เป็นอุปมาที่แสดงเนื้อความอย่างชัดเจน
ซึ่งอาตมภาพกล่าวถวายแด่มหาบพิตร
มหาบพิตรจะทรงกระทำหรือไม่ก็ตาม
มหาบพิตรก็จักปรากฏตามเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวสรุปว่า)
[๓๔] บุคคลผู้มีความเอ็นดู
พึงกล่าวเพียงคำเดียวหรือสองคำเท่านั้น
ไม่กล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้นเหมือนทาสในสำนักของนาย
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๓๕] พระโสณกปัจเจกพุทธะผู้มีความรู้อันนับมิได้
ครั้นกล่าวคำนี้แล้วจึงเหาะขึ้นไปในอากาศ
พร่ำสอนบรมกษัตริย์แล้วเหาะไปในอากาศ
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๖] บุคคลผู้ได้รับการศึกษา ถึงพร้อมด้วยความเฉียบแหลม
ที่จะครอบครองราชสมบัติเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนหนอ
เราจักมอบราชสมบัติให้ เราไม่มีความต้องการราชสมบัติ
[๓๗] เราจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอเราอย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พวกอำมาตย์ได้ฟังแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓๘] พระราชบุตรองค์น้อยของพระองค์ทรงพระนามว่า
ทีฆาวุกุมาร ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมีอยู่
ขอพระองค์ทรงอภิเษกพระราชบุตรพระองค์นั้นในราชสมบัติเถิด
ท้าวเธอจักเป็นพระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลาย
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๙] จงรีบนำทีฆาวุกุมารผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเถิด
เราจักอภิเษกในราชสมบัติ
เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๔๐] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้เชิญเสด็จทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า
พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ได้ตรัสกับพระโอรสพระองค์เดียว
ผู้เป็นที่โปรดปรานพระองค์นั้นว่า
[๔๑] มีบ้านอยู่หกหมื่นหมู่บ้านสมบูรณ์ทุกอย่าง
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหมู่บ้านเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๒] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๓] มีช้างอยู่หกหมื่นเชือก เป็นช้างพลาย
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีสัปคับทองคำ ปกคลุมด้วยเครื่องปกคลุมทองคำ
[๔๔] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลช้างเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๔๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๖] มีม้าอยู่หกหมื่นตัวประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
คือ ม้าสินธพซึ่งเป็นม้าพาหนะที่มีฝีเท้าเร็ว ชาติอาชาไนย
[๔๗] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลม้าเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๔๘] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๔๙] มีรถอยู่หกหมื่นคัน เป็นรถมีหนังเสือเหลืองหุ้มก็มี
มีหนังเสือโคร่งหุ้มก็มี ยกธงขึ้นปักแล้ว
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๕๐] มีนายสารถีผู้สวมเกราะ ถือแล่งธนูขึ้นประจำ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลรถเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๑] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๒] มีแม่โคนมอยู่หกหมื่นตัว เป็นแม่โคสีแดง
พร้อมทั้งโคผู้ตัวประเสริฐ
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลโคเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า
[๕๓] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
[๕๔] มีหญิงอยู่หนึ่งหมื่นหกพันนาง
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตร สวมใส่ตุ้มหูแก้วมณี
ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูแลหญิงเหล่านั้น
พ่อขอมอบราชสมบัติให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๕๕] พ่อจักบวชในวันนี้แหละ
ใครจะพึงรู้ได้ว่า ความตายจักมีในวันพรุ่งนี้
ขอพ่ออย่าได้ตกไปสู่อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกาโง่เลย
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
[๕๖] เสด็จพ่อ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กอยู่
หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระมารดาสวรรคตแล้ว
เสด็จพ่อ หม่อมฉันเว้นจากเสด็จพ่อแล้ว
ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้
[๕๗] ลูกช้างย่อมติดตามไปข้างหลังช้างป่า
ที่เที่ยวไปในซอกเขาที่เสมอบ้าง ไม่เสมอบ้างฉันใด
[๕๘] หม่อมฉันก็จะพาเอาบุตรติดตามเสด็จพ่อไปข้างหลังฉันนั้น
จักเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของเสด็จพ่อ
จักไม่เป็นลูกที่เลี้ยงยากของเสด็จพ่อ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] อันตรายพึงยึดเรือที่แล่นไปในสมุทร
ของพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ไว้ในสมุทรนั้น
พ่อค้าพึงพินาศฉันใด
[๖๐] ลูกกาลีคนนี้พึงเป็นคนกระทำอันตรายแก่เราฉันนั้นเหมือนกัน
พวกท่านจงส่งกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาท
อันเจริญไปด้วยความยินดีเถิด
[๖๑] ณ ปราสาทนั้น เหล่าหญิงสาว
ผู้มีมือประดับด้วยเครื่องประดับทองคำ
จักยังกุมารนั้นให้รื่นรมย์ในปราสาทนั้น
เหมือนนางอัปสรให้ท้าวสักกะรื่นรมย์
และกุมารนั้นก็จักรื่นรมย์ด้วยหญิงสาวทั้งหลายเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๑.โสณกชาดก (๕๒๙)
[๖๒] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ส่งเสด็จพระกุมาร
จนถึงปราสาทอันเจริญไปด้วยความยินดี
เหล่าหญิงสาวเห็นทีฆาวุกุมารผู้ผดุงรัฐให้เจริญนั้นแล้ว
จึงได้กราบทูลถามว่า
[๖๓] พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พระองค์เป็นใครหรือเป็นพระราชบุตรของใคร
หม่อมฉันทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร
(พระราชกุมารตรัสตอบว่า)
[๖๔] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์ ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสีพระนามว่าทีฆาวุกุมาร
ผู้จะผดุงรัฐให้เจริญ พวกเธอจงเลี้ยงดูบำเรอเรา
ขอพวกเธอจงมีความเจริญเถิด เราจะเป็นภัสดาของพวกเธอ
[๖๕] เหล่าหญิงสาวได้กราบทูลถามทีฆาวุกุมาร
ผู้ผดุงรัฐให้เจริญพระองค์นั้น ณ ที่นั้นว่า
พระราชาเสด็จถึงไหนแล้ว พระราชาจากที่นี้ไป ณ ที่ไหน
[๖๖] พระราชาเสด็จล่วงเลยเปือกตมแล้วดำรงอยู่บนบก
ทรงดำเนินสู่ทางใหญ่อันปราศจากหนามไม่รกชัฏ
[๖๗] ส่วนเราดำเนินไปยังหนทางของคนผู้ไปสู่ทุคติ
มีทั้งหนามและรกชัฏซึ่งเป็นหนทางไปสู่ทุคติ
(เหล่าหญิงสาวกราบทูลว่า)
[๖๘] ข้าแต่พระราชา พระองค์นั้นเสด็จมาดีแล้ว
เหมือนราชสีห์คืนสู่ถ้ำ ณ ซอกเขา
ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงอนุศาสน์พร่ำสอน
และทรงเป็นใหญ่แห่งหม่อมฉันทั้งปวงเถิด
โสณกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)
ว่าด้วยสังกิจจฤๅษี
(พระศาสดาทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาต จึงตรัสสังกิจจชาดก
นี้ว่า)
[๖๙] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัต
ผู้ทรงเป็นจอมทัพประทับนั่งอยู่
จึงได้กราบทูลท้าวเธอให้ทรงทราบว่า
“พระองค์ทรงเอ็นดูท่านผู้ใด
[๗๐] ท่านผู้นี้ คือ สังกิจจฤๅษี ผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลาย ได้มาถึงแล้ว
ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบ
ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยด่วนเถิด พระเจ้าข้า”
[๗๑] ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพ
รีบเสด็จขึ้นประทับราชรถที่เทียมไว้แล้ว
มีหมู่มิตรและอำมาตย์ห้อมล้อมได้เสด็จไปแล้ว
[๗๒] พระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ทรงเก็บราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการ คือ
๑. พัดวาลวีชนี ๒. กรอบพระพักตร์ ๓. พระขรรค์
๔. เศวตฉัตร ๕. ฉลองพระบาท
[๗๓] พระราชาทรงวางเบญจกกุธภัณฑ์ไว้อย่างปกปิดแล้ว
เสด็จลงจากราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤๅษี
ซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
[๗๔] พระราชาพระองค์นั้นครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว
ทรงบันเทิงอยู่กับฤๅษีสนทนาปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วเสด็จเข้าไป ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๗๕] ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงเห็นว่าเป็นกาลอันสมควร
จึงทรงสอบถามถึงกรรมอันเป็นบาปว่า
[๗๖] โยมขอถามท่านสังกิจจฤๅษีผู้ได้รับสมมติว่า
เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน
ห้อมล้อมไปด้วยหมู่ฤๅษีว่า
[๗๗] คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
เหมือนโยมผู้ประพฤติล่วงธรรม ละไปแล้วจะไปสู่คติอะไร
ขอพระคุณเจ้าจงตอบเนื้อความที่โยมถามเถิด
[๗๘] สังกิจจฤๅษีได้กราบทูลพระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี
ซึ่งประทับนั่ง ณ ทายปัสสอุทยานว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับคำของอาตมภาพ
[๗๙] ผู้ใดพร่ำสอนบอกหนทางแก่คนเดินทางผิด
ถ้าเขาพึงทำตามคำของผู้นั้น เขาก็ไม่พึงถูกหนามตำฉันใด
[๘๐] ผู้ใดพร่ำสอนธรรมแก่ผู้ปฏิบัติผิดธรรม
ถ้าเขาพึงทำตามคำสอนของท่านผู้นั้น
เขาจะไม่พึงไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน
(ฤๅษีโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาต่อไปว่า)
[๘๑] ข้าแต่มหาราช ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย๑
ส่วนอธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ไม่ปลอดภัย
เพราะว่าอธรรมนำสัตว์ไปสู่นรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (กายกรรม ๓ คือ เว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด
ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่คิดปองร้ายเขา
เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) เป็นทางเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า ดำเนินไปสู่สุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๑/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๒] ข้าแต่มหาบพิตร คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย
มีชีวิตไม่ราบรื่น ตายไปแล้วจะไปสู่คติใดในนรก
ขอพระองค์ทรงสดับการกล่าวถึงนรกเหล่านั้นของอาตมภาพเถิด
[๘๓] คือ ๑. สัญชีวนรก ๒. กาฬสุตตนรก ๓. สังฆาฏนรก
โรรุวนรก ๒ คือ (๔. ชาลโรรุวนรก ๕. ธูมโรรุวนรก)
๖. ตาปนนรก ๗. ปตาปนนรก ๘. อเวจีมหานรก๑
[๘๔] นรก ๘ ขุมเหล่านี้บัณฑิตกล่าวว่า ก้าวพ้นได้โดยยาก
เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า
แต่ละขุม ๆ มีอุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นบริวาร

เชิงอรรถ :
๑ มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้มีคำแปลและความหมาย ดังนี้
๑. สัญชีวนรก นรกที่ตายแล้วฟื้น หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกสับถูกฟันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว
กลับฟื้นขึ้นมาบ่อย ๆ
๒. กาฬสุตตนรก นรกสายบรรทัดเหล็ก หมายถึงสัตว์นรกวิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดง ถ้าล้มลง จะถูก
ดีดด้วยสายบรรทัดเหล็กแดง
๓. สังฆาฏนรก นรกที่ถูกบดหรือหนีบ หมายถึงมีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟกลิ้งมาบดขยี้สัตว์ในนรกนี้
๔. ชาลโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะเปลวไฟ หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพุ่งวูบเข้าทางทวารทั้ง ๙
เผาสัตว์นรกตลอดเวลา
๕ ธูมโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะควันไฟ หมายถึงนรกที่มีควันไฟรมสัตว์นรกทางทวารทั้ง ๙
อยู่ตลอดเวลา
๖. ตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อน หมายถึงพวกสัตว์นรกในนรกนี้จะถูกแทงด้วยหลาวเหล็กเท่า
ลำตาลลุกเป็นไฟ
๗. ปตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อนมาก หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกไล่ตีหนีขึ้นไปบนภูเขา บนกำแพง
ที่ร้อน ตกลงมาถูกหลาวเหล็กเสียบแทง
๘. อเวจีมหานรก นรกที่ไม่มีเวลาว่าง หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพลุ่งออกมาจากทิศทั้ง ๔ เผาสัตว์นรก
อยู่ตลอดเวลา
มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้แต่ละขุมมีประตู ๔ ด้าน ประตูหนึ่ง ๆ มีอุสสุทนรก (นรกบริวาร) ด้านละ ๔
มหานรกขุมหนึ่ง ๆ จึงมีอุสสทนรก ๑๖ แห่ง มหานรก ๘ ขุมมีอุสสทนรก ๑๒๘ รวมกับมหานรก ๘
เป็น ๑๓๖ ขุม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓-๘๔/๑๑๑-๑๑๔) ดูการทำกรรมและวิธีเสวยผลกรรมต่าง ๆ จากเนมิราช-
ชาดก ชาดกที่ ๔ ในมหานิบาต (ข้างหน้า) (ขุ.ชา. ๒๘/๔๒๑-๕๘๙/๑๖๖-๑๘๗) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๒๑-๕๘๙/
๑๕๑-๒๐๙) และดูเทวทูตสูตรใน ม.อุ.๑๔/๒๖๑-๒๗๑/๒๓๐-๒๔๐, ม.อุ.อ.๓/๒๖๑-๒๗๑/๑๖๗-๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๘๕] เป็นนรกที่โหดร้าย เผาผลาญเหล่าสัตว์
ผู้ตระหนี่เหนียวแน่นให้เร่าร้อน
เป็นมหาภัย มีเปลวไฟลุกโพลง น่าขนพองสยองเกล้า
น่าสะพรึงกลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์
[๘๖] มี ๔ มุม มีประตู ๔ ด้าน จัดไว้เหมาะสมตามสัดส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ มีเหล็กครอบไว้ด้วย
[๘๗] ภาคพื้นของนรกเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นเหล็ก มีไฟลุกโชน
มีความร้อนแผ่ซ่านไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
ตั้งอยู่ในกาลทุกเมื่อ
[๘๘] คนผู้กล่าวล่วงเกินฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะเหล่านั้น
ย่อมตกนรก มีเท้าชี้ขึ้นเบื้องบน มีศีรษะปักลงเบื้องล่าง
[๘๙] คนเหล่านั้นผู้มีปกติกระทำกรรมหยาบช้า
มีความเจริญถูกขจัดแล้ว เหมือนปลาที่ถูกเฉือนออกเป็นชิ้น ๆ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีนับไม่ถ้วน
[๙๐] มีกายถูกไฟเผาไหม้ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เป็นนิตย์
แสวงหาทางออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออก
[๙๑] จึงวิ่งไปทางประตูด้านทิศตะวันออก
จากนั้นก็วิ่งกลับไปทางประตูด้านทิศตะวันตก
วิ่งไปแม้ทางประตูด้านทิศเหนือ
จากนั้นจึงวิ่งกลับไปยังประตูด้านทิศใต้
วิ่งไปถึงประตูใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดทันที
[๙๒] นับเป็นเวลาหลายพันปี ชนทั้งหลายที่ตกนรก
ต้องประคองแขนคร่ำครวญ เสวยทุกข์มิใช่น้อย
[๙๓] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรระรานคนดี
เพราะท่านมีความสำรวม มีตบะ
ประดุจอสรพิษมีพิษกล้าที่โกรธแล้วหลีกเลี่ยงได้ยาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๙๔] พระเจ้าอัชชุนะทรงเป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ
มีพระวรกายกำยำล่ำสัน
ทรงเป็นนายขมังธนูผู้ยิ่งใหญ่ มีพระพาหาตั้งพัน
ก็หายสาบสูญไปเพราะระรานโคตมฤๅษี
[๙๕] พระเจ้าทัณฑกีได้ทรงเอาธุลีโปรยใส่กีสวัจฉฤๅษี
ผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังธุลี
พระองค์ทรงถึงความพินาศเหมือนต้นตาลถูกตัดราก
[๙๖] พระเจ้ามัชฌะคิดร้ายมาตังคฤๅษีผู้เรืองยศ
จึงได้หายสาบสูญไปพร้อมทั้งบริษัท
แคว้นของพระองค์ก็กลายเป็นป่าไม้ในกาลนั้น
[๙๗] ชาวเมืองอันธกเวณฑยะระรานกัณหทีปายนฤๅษี
ต่างถือไม้พลองตีกันและกัน
ก็พากันไปถึงสถานที่ชำระโทษของพญายม
[๙๘] ส่วนพระเจ้าเจจจะพระองค์นี้
เมื่อก่อนทรงเหาะไปในอากาศได้
ถูกกบิลดาบสสาปมีอัตภาพเสื่อมสิ้นฤทธิ์แล้ว
ถูกแผ่นดินสูบถึงสิ้นพระชนม์
[๙๙] เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การถึงความลำเอียงเพราะความชอบ
บุคคลไม่พึงมีจิตคิดประทุษร้าย
พึงกล่าววาจาที่ประกอบด้วยความจริง
[๑๐๐] ถ้าว่าคนใดมีใจประทุษร้าย
เพ่งเล็งมุนีผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เขาก็จะไปสู่นรกเบื้องต่ำ
[๑๐๑] ชนเหล่าใดพยายามพูดคำหยาบคาย ด่าว่าผู้เฒ่า
ชนเหล่านั้นจะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทายาท
เป็นเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๐๒] อนึ่ง คนใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คนนั้นย่อมหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ทรงมีอคติ เที่ยวกำจัดแคว้น ทำชนบทให้เดือดร้อน
สิ้นพระชนม์แล้วจะหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๐๔] และท้าวเธอจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปีทิพย์๑
จะถูกกลุ่มเปลวเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา
[๑๐๕] เปลวเพลิงจะเปล่งรัศมีพวยพุ่งออกจากพระกายของท้าวเธอ
สรรพางค์กายพร้อมทั้งขนและเล็บทั้งหลายของสัตว์
ผู้มีไฟเป็นอาหารจะลุกโชนเป็นอันเดียวกัน
[๑๐๖] สัตว์นรกมีกายถูกไฟครอกทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นนิตย์
ถูกความทุกข์ย่ำยีร้องครวญครางอยู่เหมือนช้างถูกสับด้วยตะขอ
[๑๐๗] คนใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่าบิดาเพราะความโลภหรือความโกรธ
คนนั้นย่อมหมกไหม้ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน
[๑๐๘] คนผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก
และนายนิรยบาลทั้งหลายจะใช้หอกแทงเขาผู้ถูกต้มจนไม่มีหนัง
ทำให้ตาบอด ให้กินปัสสาวะและอุจจาระเป็นอาหาร
แล้วกดคนเช่นนั้นให้จมลงในน้ำกรด
[๑๐๙] นายนิรยบาลบังคับให้สัตว์นรกกินน้ำอุจจาระ
ที่ร้อนจนเดือดพล่าน และก้อนเหล็กแดงที่มีไฟลุกโชน
ถือเอาผาลที่ยาวและร้อนอยู่ตลอดราตรีนาน
งัดปาก เมื่อปากเปิดอ้าจึงใช้เบ็ด
ที่ผูกสายเชือก(ดึงลิ้นออกมา) แล้วจึงยัด(เหล็กแดง)เข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ หนึ่งแสนปีทิพย์ ประมาณ ๕๕,๘๗๒ ล้านปีมนุษย์ (คำนวนตามประมาณอายุ)(อภิ.วิ.อ. ๑/๑๐๒๓/๕๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๐] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงนกแร้ง ฝูงกาป่า
และฝูงนกปากเหล็ก
พากันรุมจิกกัดสัตว์นรกผู้กำลังดิ้นทุรนทุราย
แบ่งกันกินเป็นอาหารพร้อมทั้งเลือด
[๑๑๑] สัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้นมีร่างกายแตกปริไปทั่ว
เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟไหม้
นายนิรยบาลทั้งหลายจะเที่ยวติดตามทุบตี
จริงอยู่ นายนิรยบาลเหล่านั้นมีความยินดี
แต่พวกสัตว์นรกนอกนี้ได้รับทุกข์ทรมาน
คนผู้ฆ่าบิดาทุกจำพวกในโลกนี้ต้องตกอยู่ในนรกเช่นนั้น
[๑๑๒] อนึ่ง บุตรฆ่ามารดา ตายจากโลกนี้ไปแล้ว
เข้าถึงที่อยู่ของพญายม
ต้องเสวยทุกข์อย่างร้ายแรงด้วยผลกรรมของตน
[๑๑๓] นายนิรยบาลทั้งหลายที่มีพละกำลังอย่างยิ่ง
จะใช้ขนหางสัตว์ที่เป็นลวดเหล็กแดง
มัดบีบคั้นสัตว์นรกที่ฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิดอยู่เสมอ ๆ
[๑๑๔] บังคับให้สัตว์นรกนั้นผู้ฆ่ามารดาดื่มเลือดที่มีอยู่ในตน
ที่ไหลออกจากร่างกายของตน
ซึ่งร้อนปานประหนึ่งน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง
[๑๑๕] สัตว์นรกนั้นลงสู่ห้วงน้ำที่คล้ายน้ำหนองน้ำเลือด
มีโคลนตม คูถอันน่าเกลียด
มีกลิ่นเหม็นเน่าดุจซากศพ แล้วยืนอยู่
[๑๑๖] ณ ห้วงน้ำนั้น หมู่หนอนปากเหล็ก
มีร่างกายใหญ่โตเหลือประมาณทำลายผิวหนัง
ชอนไชเข้าไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๑๗] ก็สัตว์นรกนั้นตกถึงนรกแล้ว
ก็จมลงไปประมาณ ๑๐๐ ช่วงคน
ซากศพอันเน่าก็เหม็นฟุ้งตลบไปโดยรอบตลอด ๑๐๐ โยชน์
[๑๑๘] จริงอยู่ แม้คนที่มีจักษุ
ก็จะเสื่อมจากจักษุทั้ง ๒ ได้เพราะกลิ่นนั้น
ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต
คนฆ่ามารดาย่อมได้รับความทุกข์เช่นนั้นแหละ
[๑๑๙] หญิงที่รีดลูกทั้งหลายจะต้องย่างเหยียบนรก
บนคมมีดโกนอันคมกริบที่ไม่น่ารื่นรมย์
แล้วตกไปยังแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยาก
[๑๒๐] ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็ก มีหนามยาว ๑๖ องคุลี
ห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยากทั้ง ๒ ฝั่ง
[๑๒๑] สัตว์นรกเหล่านั้นมีเปลวเพลิงลุกโชนขึ้นไปเบื้องบนหนึ่งโยชน์
มีกายเร่าร้อนด้วยไฟที่เกิดเอง
ยืนอยู่เหมือนกองไฟที่ตั้งอยู่ในที่ไกล
[๑๒๒] หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี
ชายผู้คบชู้กับภรรยาคนอื่นก็ดี
พวกเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามแหลมคม
[๑๒๓] สัตว์นรกเหล่านั้นถูกอาวุธทิ่มแทง
ก็กลิ้งกลับเอาศีรษะลงเบื้องล่าง ตกลงไปเป็นจำนวนมาก
ถูกหลาวเหล็กทิ่มแทงร่างกายจนนอน
ตื่นอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน
[๑๒๔] ต่อแต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
สัตว์นรกทั้งหลายก็ถูกนายนิรยบาลซัดเข้าไปยังโลหกุมภีอันใหญ่
อุปมาดังภูเขามีน้ำร้อนอันเปรียบได้กับไฟ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] ๒.สังกิจจชาดก (๕๓๐)
[๑๒๕] บุคคลผู้ทุศีลถูกโมหะครอบงำ
ย่อมเสวยกรรมของตนหมกไหม้อยู่
ที่ตนกระทำชั่วไว้แล้วในปางก่อนตลอดวันตลอดคืนอย่างนี้
[๑๒๖] อนึ่ง ภรรยาที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์
ดูหมิ่นสามี หรือแม่ผัว พ่อผัว
หรือแม้พี่ชาย พี่สาวของสามี
[๑๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลายจะเอาเบ็ดเกี่ยวปลายลิ้นของเธอ
ดึงออกมาพร้อมทั้งสายเบ็ด
เธอเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไปด้วยหนอน
ไม่อาจจะบอกใครให้ทราบได้
จึงตายไปหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก
[๑๒๘] พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร จับปลา ดักสัตว์
พวกโจร พวกคนฆ่าวัว พวกนายพราน
และพวกที่กล่าวอ้างโทษว่าเป็นคุณ
[๑๒๙] พวกเขาจะถูกนายนิรยบาลทั้งหลายเข่นฆ่าด้วยหอก
ด้วยค้อนเหล็ก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร
และศีรษะจะปักดิ่งลงไปยังแม่น้ำกรด
[๑๓๐] ส่วนคนผู้ตัดสินคดีไม่เป็นธรรม
จะถูกพวกนายนิรยบาลทุบตีด้วยค้อนเหล็กทุกเย็นทุกเช้า
ต่อแต่นั้นจะต้องกินอาเจียนที่สัตว์นรกเหล่าอื่นคายออก
ที่มีอัตภาพลำบากทุกเมื่อ
[๑๓๑] ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก ฝูงแร้ง
และฝูงกาป่าปากเหล็ก
ก็พากันรุมจิกกัดกินสัตว์นรก
ผู้กระทำกรรมหยาบช้าซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙.สัฏฐินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๓๒] เหล่าชนผู้เป็นอสัตบุรุษใช้ธุลีฉาบปกปิดร่างกาย
ฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อหรือฆ่านกด้วยนกต่อ
ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก
[๑๓๓] ส่วนสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกเบื้องบน
เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วในโลกนี้
ขอมหาบพิตรโปรดทอดพระเนตร
ผลกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วเถิด
เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมก็มีอยู่
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุนั้น
อาตมภาพขอถวายพระพร
ขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้น
จงทรงประพฤติธรรม
โดยประการที่บุคคลประพฤติธรรมดีแล้ว
ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลังเถิด
สังกิจจชาดกที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. โสณกชาดก ๒. สังกิจจชาดก

สัฏฐินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
๒๐. สัตตตินิบาต
๑. กุสชาดก (๕๓๑)
ว่าด้วยพระเจ้ากุสะหลงรูปโฉมนางประภาวดี
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์กราบทูลพระมารดาว่า)
[๑] เสด็จแม่ นี้แคว้นของเสด็จแม่
มีทรัพย์สมบัติ ยานพาหนะ เครื่องประดับ
สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง
ขอเสด็จแม่ทรงปกครองราชสมบัติของเสด็จแม่นี้เถิด
หม่อมฉันจะไปยังนครที่พระนางประภาวดี
ผู้เป็นที่รักประทับอยู่
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๒] พระองค์มีพระทัยไม่ซื่อตรง
ทรงหาบคอนหาบใหญ่ จักทรงเหน็ดเหนื่อย
ทั้งกลางวัน กลางคืน และดึกดื่นเที่ยงคืน
ข้าแต่พระเจ้ากุสะ ขอเชิญพระองค์
รีบเสด็จกลับกรุงกุสาวดีโดยพลันเถิด
หม่อมฉันไม่ประสงค์จะให้พระองค์
ผู้ทรงมีผิวพรรณทรามประทับอยู่ ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๓] พี่จะไม่จากที่นี้ไปกรุงกุสาวดี
น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในความงามของเธอ
จึงยินดีอยู่ในที่ประทับอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททะ
พี่ยินดีพอใจที่จะเห็นเธอ จึงละทิ้งแคว้นมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔] น้องประภาวดี พี่ลุ่มหลงในผิวพรรณของเธอ
จึงซมซานท่องเที่ยวไปสู่เมทนีดล
ไม่รู้จักทิศว่า เรามาจากไหน
มัวแต่มัวเมาหลงใหลในตัวเธอ
ผู้มีดวงตาประดุจตาลูกน้อยเนื้อทราย
[๕] น้องนางผู้มีสะโพกอันผึ่งผาย
ทรงผ้าขลิบทอง
เครื่องประดับทองคำ
พี่ไม่มีความต้องการราชสมบัติ
เพราะปรารถนาตัวเธอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖] ข้าแต่พระราชาผู้เจริญ
ผู้ใดปรารถนาบุคคลที่เขาไม่ปรารถนา
ผู้นั้นย่อมไม่มีความเจริญ
พระองค์ต้องการบุคคลที่เขาไม่ต้องการ
ปรารถนารักใคร่บุคคลที่เขาไม่รักใคร่
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๗] คนใดได้คนที่ไม่ต้องการตนก็ตาม
ที่ต้องการตนก็ตามมาเป็นคนรัก
เราสรรเสริญการได้ในความรักนี้ของคนนั้น
การไม่ได้ในความรักนั้นซิเป็นความโชคร้าย
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๘] พระองค์ทรงปรารถนาหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนาพระองค์
เปรียบเสมือนพระองค์ทรงใช้ไม้กรรณิการ์ขุดเพชร
(หรือ) ทรงใช้ตาข่ายดักลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๙] หินคงถูกฝังไว้ในพระหทัยอันมีลักษณะ
อ่อนละมุนละไมของพระนางเป็นแน่
เพราะหม่อมฉันมาจากชนบทบ้านนอก
ยังมิได้ประสบความแช่มชื่นจากพระนางเลย
[๑๐] เมื่อใด พระราชบุตรีหน้านิ่ว
ทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้นหม่อมฉันก็ยังคงเป็นคนครัวภายในเมืองของพระเจ้ามัททะ
[๑๑] เมื่อใด พระราชบุตรีทรงแย้มสรวลทอดพระเนตรหม่อมฉัน
เมื่อนั้น หม่อมฉันไม่ใช่คนครัว
เมื่อนั้น หม่อมฉันเป็นพระเจ้ากุสะ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๑๒] ก็ถ้าว่า คำทำนายของโหรทั้งหลายจักเป็นความจริงว่า
พระองค์ไม่ใช่พระสวามีของหม่อนฉันแน่นอน
ขอชนทั้งหลายจงสับหม่อมฉันให้เป็น ๗ ท่อนเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๓] ก็ถ้าว่า คำทำนายของพวกโหรอื่น
หรือของหม่อนฉันจักเป็นความจริงไซร้
คนอื่นนอกจากพระเจ้ากุสะผู้มีพระสุรเสียงดังราชสีห์
ไม่ใช่พระสวามีของพระนางแน่นอน
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ทรงหยอกล้อหญิงค่อม พระพี่เลี้ยงพระนางประภาวดีว่า)
[๑๔] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเหลียวมองดูเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๑๕] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงเจรจากับเรา
[๑๖] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงยิ้มแย้มให้เรา
[๑๗] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงพระสรวลกับเรา
[๑๘] แม่ค่อม เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว
จักให้ช่างทองทำสร้อยคอทองคำแก่เจ้า
ถ้าพระนางประภาวดีผู้ทรงมีขาอ่อนงดงามดังงาช้าง
จะพึงทรงจับต้องเราด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
(นางค่อมไปกราบทูลพระนางประภาวดีว่า)
[๑๙] ก็พระราชบุตรีพระองค์นี้คงจะไม่ประสบ
แม้ความสำราญพระทัยในพระเจ้ากุสะ
ผู้เป็นคนครัว คนรับใช้ คนเลี้ยงดู
ซึ่งไม่ทรงประสงค์ค่าจ้างอย่างแน่แท้
(พระนางประภาวดีตรัสว่า)
[๒๐] ก็นางค่อมคนนี้คงยังไม่ได้ถูกมีดคมตัดลิ้นแน่นอน
จึงยังกล่าวชั่วช้าอย่างนี้อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(นางค่อมประกาศความดีของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๒๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระยศใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีทรัพย์มากมาย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระกำลังมาก
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๔] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๕] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นมหาราช
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๖] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงมีพระสุรเสียงดังราชสีห์
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๒๗] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๘] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหยดย้อย
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๒๙] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงหวานจับใจ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๐] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะอ่อนหวาน
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๑] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่า
พระองค์ทรงมีศิลปะนับเป็นร้อย ๆ อย่าง
แล้วทำความรักในความงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๒] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์
แล้วทำความรักในความงามเถิด
[๓๓] พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเปรียบเทียบ
พระเจ้ากุสะนั้นกับพระรูปอันสูงระหงเลย
แม่นางจงทรงทำ(พระทัย)ว่าพระองค์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากุสะ
แล้วทำความรักในความงามเถิด
(เหล่าอำมาตย์กราบทูลพระเจ้ามัททะว่า)
[๓๔] พระราชาผู้ประเสริฐเหล่านี้ทรงกระด้างยิ่งนัก
ทั้งหมดสวมเกราะประทับยืนตระหง่านอยู่
ก่อนที่พระราชาเหล่านั้นจะทรงทำลายกำแพง
ขอพระองค์จงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า
ขอพระราชาทั้งหลายจงนำเอาพระธิดาประภาวดีไปเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๓๕] เราจักสับลูกหญิงประภาวดีนั้นให้เป็น ๗ ท่อนแล้ว
ถวายให้แก่พระราชาทั้งหลายที่เสด็จมาเพื่อฆ่าเรา ณ ที่นี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๖] พระราชบุตรีผู้มีผิวพรรณดุจทอง ทรงผ้าไหมสีขลิบทอง
พระเนตรทั้ง ๒ นองไปด้วยพระอัสสุชล
มีหมู่นางทาสีห้อมล้อมได้เสด็จลุกขึ้นแล้ว
(พระนางประภาวดีทรงคร่ำครวญว่า)
[๓๗] ดวงหน้าหม่อมฉันที่ลูบไล้ด้วยแป้ง
ส่องดูที่กระจกเงาด้ามงาอันงดงาม
มีดวงตาคมคายผุดผ่องเป็นยองใยไม่มีไฝฝ้านั้น
จักถูกพวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่าเป็นแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๓๘] เส้นผมทั้งหลายของหม่อมฉันที่ดำสนิท
มีปลายงอน อ่อนละมุนละไม
ที่ลูบไล้ด้วยน้ำมันแก่นจันทน์เหล่านั้น
นกแร้งทั้งหลายจะพากันใช้เท้าทั้ง ๒ ตะกุยคุ้ยเขี่ย
ให้ยุ่งเหยิงในท่ามกลางป่าช้าเป็นแน่
[๓๙] แขนทั้ง ๒ ของหม่อมฉันอ่อนนุ่ม มีเล็บมือแดง
มีขนละเอียดอ่อนซึ่งลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์เหล่านั้น
จะถูกพวกกษัตริย์ตัดทิ้งไว้ในป่า
นกกาก็จะคาบเอาไปตามความต้องการเป็นแน่
[๔๐] ถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉันยังไม่หย่อนยาน
เปรียบปานได้กับผลตาล
ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แดงจากแคว้นกาสีเหล่านั้น
สุนัขจิ้งจอกเห็นเข้าแล้วจักยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของหม่อมฉัน
เหมือนลูกอ่อนอันเกิดแต่ตนยื้อดึงถันทั้ง ๒ ของมารดาเป็นแน่
[๔๑] สะโพกอันกลมกลึงผึ่งผาย ที่ผูกห้อยประดับ
ด้วยสายสร้อยรัดเอวทองคำของหม่อมฉันซึ่งถูกตัด
ที่พวกกษัตริย์โยนทิ้งไว้ในป่านั้น
ฝูงสุนัขจิ้งจอกจะยื้อแย่งเป็นแน่แท้
[๔๒] ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก
และสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นใดที่มีอยู่
พวกมันได้กัดกินเจ้าหญิงประภาวดีเป็นภักษาหารแล้ว
คงจักไม่แก่ชราเป็นแน่
[๔๓] ข้าแต่ทูลกระหม่อมแม่
หากกษัตริย์ทั้งหลายผู้เสด็จไปสู่หนทางไกล
ได้ทรงนำเอาชิ้นเนื้อของหม่อมฉันไป
ขอเสด็จแม่โปรดทรงขอกระดูกไว้แล้วเผามันทิ้งเสียในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๔๔] ทูลกระหม่อมแม่ ขอเสด็จแม่โปรดให้สร้างเป็นสวน
แล้วให้ปลูกต้นกรรณิการ์ไว้ในเขตนี้
เมื่อใด ต้นกรรณิการ์เหล่านั้นมีดอกบานสะพรั่ง
ในคราวหิมะตกแห่งฤดูเหมันต์
เมื่อนั้น เสด็จแม่พึงรำลึกถึงหม่อมฉันว่า
ลูกประภาวดีของแม่มีผิวพรรณอย่างนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๕] นางกษัตริย์ผู้มีผิวพรรณดังเทพอัปสร
ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงประภาวดีนั้น
ทอดพระเนตรเห็นดาบและเขียง
ภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ จึงเสด็จลุกขึ้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ทรงรำพันว่า)
[๔๖] ข้าแต่เสด็จพี่มัททะ พระองค์จักทรงประหาร
พระธิดาเอวบางร่างน้อยซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
ด้วยพระแสงดาบนี้แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลายแน่ละหรือ
[๔๗] ลูกหญิง ลูกไม่ทำตามคำของแม่ผู้หวังประโยชน์
ลูกนั้นจะมีเลือดโซมกายไปสู่สำนักพญายมในวันนี้
[๔๘] คนใดแลไม่ทำตามคำของผู้หวังเกื้อกูล
และบ่งชี้ประโยชน์ทั้งหลาย
คนนั้นย่อมต้องลำบากอย่างนี้
และต้องประสบความชั่วร้ายยิ่งกว่า
[๔๙] ก็ถ้าวันนี้ลูกหญิงมีพระกุมารทรงโฉมงดงาม
ประดุจฉาบไว้ด้วยทอง เป็นกษัตริย์ทรงกำเนิดกับพระเจ้ากุสะ
สวมใส่สร้อยสังวาลทองคำประดับแก้วมณี
ที่หมู่พระญาติทรงบูชาแล้ว
ก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์พญายม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๕๐] กลองบันลือเสียงสนั่น
ช้างก็ร้องเสียงดังกึกก้อง
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๑] ม้าศึกคะนองร้องคำรามอยู่ที่พระทวาร
กุมารร้องรำทำเพลงอยู่
ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
[๕๒] ตระกูลของกษัตริย์ทั้งหลาย
มีเสียงร้องดังกึกก้องของเหล่านกยูงและนกกระเรียน
และมีเสียงร้องเสนาะไพเราะแห่งเหล่านกดุเหว่า
ลูกหญิงเอ๋ย อะไรเล่าจะสุขกว่านั้น
(พระมารดาของพระนางประภาวดี ตรัสกับพระนางประภาวดีแล้วตรัสว่า)
[๕๓] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรูปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จะพึงปลดเปลื้องพวกเราจากความทุกข์ได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๔] พระเจ้ากุสะพระองค์ใดทรงมีพระปรีชาอันโอฬาร
ย่ำยีศัตรู ปราบปรามแคว้นของพระราชาพระองค์อื่น
จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า
(พระมารดาตรัสว่า)
[๕๕] เจ้าเป็นบ้าหรือ จึงพูดออกมาเหมือนเด็กไร้เดียงสาพูด
ถ้าพระเจ้ากุสะพึงเสด็จมา ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๖] พระเจ้ากุสะคือคนครัวนั่น ทรงหยักรั้งอย่างมั่นคง
กำลังก้มล้างหม้ออยู่ระหว่างตำหนักเจ้าหญิงทั้งหลาย
(พระมารดาตรัสบริภาษว่า)
[๕๗] เจ้าเป็นช่างถาก เป็นหญิงจัณฑาล
หรือเป็นคนทำลายวงศ์ตระกูล
เจ้าเกิดในวงศ์ตระกูลของพระเจ้ามัททะ
ไฉนจึงทำพระสวามีให้เป็นทาส
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๕๘] หม่อมฉันมิใช่ช่างถาก มิใช่หญิงจัณฑาล
และมิใช่คนทำลายวงศ์ตระกูล ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระเจ้ากุสะนั้นคือพระราชบุตรของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระนางประภาวดีทรงสรรเสริญพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๕๙] พระราชาพระองค์ใดทรงเชื้อเชิญพราหมณ์ ๒๐,๐๐๐ คน
ให้บริโภคทุกเมื่อ ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๐] เจ้าพนักงานตระเตรียมช้าง ๒๐,๐๐๐ เชือกไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๑] เจ้าพนักงานตระเตรียมม้า ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๖๒] เจ้าพนักงานตระเตรียมราชรถ ๒๐,๐๐๐ คันไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
[๖๓] เจ้าพนักงานรีดน้ำนมแม่โค ๒๐,๐๐๐ ตัวไว้ทุกเมื่อ
เพื่อพระราชาพระองค์ใด ขอทูลกระหม่อมแม่ทรงพระเจริญ
พระราชาพระองค์นั้นคือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช
เสด็จแม่เท่านั้นทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส
(พระเจ้ามัททะทรงตำหนิพระธิดาว่า)
[๖๔] โอ ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้านั้นชั่วช้าเหลือเกิน
ที่ไม่บอกถึงองค์กษัตริย์ผู้ทรงพลังมหาศาลดุจพญาช้าง
แปลงเป็นกบเสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ามัททะทรงแสดงโทษของพระองค์ว่า)
[๖๕] ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ
ขอพระองค์โปรดงดโทษแก่หม่อมฉัน
ที่ไม่ทราบว่าทรงปลอมพระองค์เสด็จมา ณ ที่นี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๖๖] การที่หม่อมฉันเป็นคนครัวนั้นไม่เป็นการปกปิด
สำหรับคนเช่นหม่อมฉันเลย ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
พระองค์ทรงเลื่อมใสหม่อมฉันต่างหาก
การกระทำผิดของพระองค์ไม่มี
(พระเจ้ามัททะส่งพระนางประภาวดีไปขอโทษว่า)
[๖๗] นี่ลูกหญิงผู้โง่เขลา เจ้าจงไปขอให้พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงพลังมหาศาลทรงงดโทษเสีย
พระเจ้ากุสะพระองค์นั้นผู้ที่เจ้าให้งดโทษแล้ว
จะประทานชีวิตให้เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๖๘] เจ้าหญิงประภาวดีผู้มีผิวพรรณดุจเทพอัปสร
ทรงสดับพระดำรัสของพระปิตุราชแล้วทรงซบพระเศียร
กอดพระบาทพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
(พระนางประภาวดีกราบทูลว่า)
[๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้ใดล่วงเลยไป
ราตรีทั้งหลายเหล่านี้นั้นเว้นจากพระองค์ล่วงเลยไปแล้ว
หม่อมฉันขอถวายบังคมพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
ข้าแต่พระจอมทัพ ขอพระองค์โปรด
อย่าทรงกริ้วหม่อมฉันเลย พระเจ้าข้า
[๗๐] หม่อมฉันขอถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์
ขอเดชะมหาราช โปรดสดับคำของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจะไม่กระทำความชิงชังต่อพระองค์อีกต่อไป
[๗๑] ถ้าพระองค์ไม่ทรงโปรดกระทำตาม
คำของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้
พระราชบิดาก็จักทรงเข่นฆ่าหม่อมฉัน
แล้วประทานให้แก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๒] เมื่อพระน้องนางอ้อนวอนอยู่อย่างนี้
ไฉนพี่จะไม่กระทำตามคำของพระน้องนางเล่า
แม่ประภาวดีผู้เลอโฉม พระน้องนางอย่าทรงกลัวไปเลย
พี่ไม่โกรธพระน้องนางหรอก
[๗๓] พี่ขอให้สัตย์ปฏิญาณต่อพระน้องนาง
พระราชบุตรีโปรดทรงสดับคำของพี่เถิด
พี่จะไม่กระทำความชิงชังต่อพระน้องนางอีกต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๗๔] แม่ประภาวดีผู้มีสะโพกผึ่งผาย
ความจริง พี่สามารถที่จะย่ำยีตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย
ให้ย่อยยับแล้วนำพระนางไป แต่เพราะความรักพระนาง
จึงยอมสู้ทนอดกลั้นความทุกข์อย่างล้นเหลือ
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ให้ขัตติยมานะเกิดขึ้น แล้วตรัสว่า)
[๗๕] ข้าหลวงทั้งหลาย จงตระเตรียมราชรถ
ที่วิจิตรไปด้วยเครื่องอลังการต่าง ๆ และม้าที่ฝึกฝนดีแล้ว
ต่อแต่นั้น ท่านทั้งหลายจงดูความเร็วของเรา
ผู้กำลังกำจัดศัตรูเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๖] หญิงทั้งหลายภายในบุรีของพระเจ้ามัททะ
พากันมองดูพระเจ้ากุสะนั้น
กำลังทรงเยื้องกรายดุจราชสีห์ ปรบพระหัตถ์
เสวยพระกระยาหารเป็นสองเท่า ณ ที่นั้น
[๗๗] พระเจ้ากุสะเสด็จขึ้นทรงคอช้าง
และโปรดให้พระนางประภาวดีขึ้นประทับด้วย
ทรงหยั่งลงสู่สงครามบันลือสีหนาท
[๗๘] กษัตริย์ทั้งหลายนอกนี้ทรงสดับพระสุรสีหนาท
ของท้าวเธอผู้ทรงบันลืออยู่
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
จึงพากันเสด็จหนีไป
เหมือนหมู่เนื้อหวาดกลัวต่อเสียงราชสีห์แล้วพากันหนีไป
[๗๙] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ถูกความหวาดกลัวต่อพระสุรเสียงของพระเจ้ากุสะคุกคาม
ต่างพากันฟาดฟันกันเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
[๘๐] ในสงครามสำคัญครั้งนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ทรงมีพระหฤทัยร่าเริงชื่นชมยินดี
จึงได้พระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์ดวงหนึ่งแด่พระเจ้ากุสะ
[๘๑] พระราชาพระองค์นั้นครั้นทรงชนะสงครามนั้นแล้ว
ได้รับพระราชทานแก้วมณีอันไพโรจน์
ประทับบนคอช้าง เสด็จเลียบบุรีนคร
[๘๒] ทรงจับเป็นกษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ แล้วทรงพันธนาการ
ให้น้อมนำเข้าไปถวายต่อพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วยพระดำรัสว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์
[๘๓] พวกศัตรูทั้งหมดที่จะกำจัดพระองค์
ก็ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว
ขอพระองค์ทรงทำตามพระประสงค์เถิด
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้นก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ามัททะตรัสว่า)
[๘๔] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ต่างหาก
มิใช่เป็นศัตรูของหม่อมฉันเลย
ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารกษัตริย์เหล่านั้น
ก็ตามพระทัยเถิด
(พระเจ้ากุสโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๘๕] พระธิดาทั้ง ๗ ของพระองค์เหล่านี้ ทรงเลอโฉม
อุปมาดังเทพกัญญา ขอพระองค์โปรดพระราชทาน
พระราชธิดาแต่ละพระองค์แด่กษัตริย์เหล่านั้น
ขอกษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระราชบุตรเขยของพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๑.กุสชาดก (๕๓๑)
(พระเจ้ามัททะตรัสกับพระเจ้ากุสโพธิสัตว์ว่า)
[๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์เท่านั้นทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน
กว่าธิดาของหม่อมฉันเหล่านั้น และกว่าหม่อมฉันทั้งปวง
ขอพระองค์ทรงพระราชทานธิดาทั้งหลายของหม่อมฉัน
แด่กษัตริย์เหล่านั้นตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์เถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๗] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสะ
ผู้ทรงมีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ได้พระราชทานพระธิดาของพระเจ้ามัททะ
แด่กษัตริย์เหล่านั้นพระนางละองค์
[๘๘] กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ต่างพากันเอิบอิ่มพระทัย
ด้วยการได้นั้น ทรงมีพระทัยยินดีในพระเจ้ากุสะ
ผู้มีพระสุรเสียงประหนึ่งราชสีห์
ต่างฝ่ายต่างเสด็จกลับสู่แคว้นของตนทันที
[๘๙] ส่วนพระเจ้ากุสะผู้ทรงพลังมหาศาล
ทรงพาเจ้าหญิงประภาวดีและแก้วมณี
อันไพโรจน์งดงามเสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี
[๙๐] เมื่อพระราชาและพระราชเทวีทั้ง ๒ พระองค์นั้น
เสด็จไปในราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้าไปยังกรุงกุสาวดี
ทรงมีพระฉวีวรรณและพระรูปโฉมทัดเทียมกัน
มิได้ทรงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่ากันและกันเลย
[๙๑] ในกาลนั้น พระราชมารดาได้ทรงพบ
พระราชบุตรและพระชายา
พระบิดาและพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงสมัครสมานกัน
ครอบครองแผ่นดินกุสาวดีให้รุ่งเรืองแผ่ไพศาลสืบมา
กุสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
๒. โสณนันทชาดก (๕๓๒)
ว่าด้วยโสณนันทดาบส
(พระเจ้ามโนชะเมื่อทรงพิจารณาดาบสนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๙๒] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ
หรือเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์กันแน่หนอ พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๙๓] อาตมภาพไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
แม้ท้าวสักกปุรินททะก็ไม่ใช่
อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ขอถวายพระพร
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ภารถมหาบพิตร๑
(พระเจ้ามโนชะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๔] พระคุณเจ้าได้ทำการขวนขวายช่วยเหลือมิใช่น้อยเห็นปานนี้
เมื่อฝนตก พระคุณเจ้าก็ได้ทำให้ฝนหยุด
[๙๕] จากนั้นเมื่อลมแรง แดดกล้า พระคุณเจ้าก็ได้ทำเงาอันร่มเย็น
ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางศัตรู
[๙๖] ต่อมาพระคุณเจ้าก็ได้ทำแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองแผ่ไพศาล
และได้นำประชาชนผู้อยู่ในแคว้นเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของโยม
ต่อมาก็ได้ทำให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามโยม
[๙๗] โยมมีความพอใจต่อพระคุณเจ้าผู้เจริญ
พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งปลื้มใจอันใด คือ
ยานพาหนะที่เทียมด้วยช้าง รถเทียมด้วยม้า
นารีที่ประดับด้วยเครื่องอลังการ
และหรือนิเวศน์อันรื่นรมย์สำราญ
ขอพระคุณเจ้าออกปากขอมาเถิด
โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ

เชิงอรรถ :
๑ ภารถมหาบพิตร หมายถึงพระราชาผู้รับภาระปกครองแคว้น, ผู้บริหารราชการแผ่นดิน (ขุ.ชา.อ.๗/๙๓/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๙๘] หรือว่าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดในแคว้นอังคะก็ตาม
มคธก็ตาม โยมขอถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
หรือพระคุณเจ้าประสงค์แคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี
โยมก็เต็มใจถวายสิ่งนั้นแด่พระคุณเจ้า
[๙๙] หรือแม้ราชสมบัติกึ่งหนึ่ง
โยมก็จะถวายแด่พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์ราชสมบัติ
นิมนต์แนะนำสิ่งที่พระคุณเจ้าประสงค์มาเถิด
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลชี้แจงความประสงค์ของตนว่า)
[๑๐๐] ราชสมบัติก็ตาม บ้านเมืองก็ตาม
ทรัพย์สมบัติก็ตาม อาตมภาพไม่ต้องการ
แม้ถึงชนบทอาตมภาพก็ไม่มีความต้องการ
[๑๐๑] ในพระราชอาณาจักรของมหาบพิตรผู้เจริญ
มีอาศรมหลังหนึ่งอยู่ ณ ราวป่า
บิดามารดาทั้ง ๒ ของอาตมภาพพำนักอยู่ ณ อาศรมนั้น
[๑๐๒] อาตมภาพไม่ได้ทำบุญในท่านทั้ง ๒
ผู้เป็นบุรพาจารย์นั้นเลย
อาตมภาพจะทำการทูลเชิญมหาบพิตรผู้ทรงพระเจริญ
แล้วจะขอการสังวร (ขอโทษ) กับโสณบัณฑิต
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสนั้นว่า)
[๑๐๓] ท่านพราหมณ์ โยมจะทำตามคำของพระคุณเจ้า
ตามที่พระคุณเจ้าพูดกับโยม
แต่เรื่องนั้นพระคุณเจ้าบอกโยมมาเถิดว่า
ผู้วิงวอนขอร้องมีจำนวนเท่าไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(นันทบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๑๐๔] คหบดี ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระองค์ผู้ทรงพระเจริญทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ
ผู้วิงวอนขอร้อง ก็จักเพียงพอ
(พระเจ้ามโนชะตรัสกับนันทบัณฑิตดาบสว่า)
[๑๐๕] พนักงานทั้งหลายจงตระเตรียมช้างและม้า
นายสารถีจงเทียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก
จงยกธงขึ้นปักที่แท่นปักธง
เราจักไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสพำนักอยู่
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๖] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมกับจาตุรงคเสนา
ได้เสด็จถึงอาศรมอันน่ารื่นรมย์ที่โกสิยดาบสอยู่
(พระเจ้ามโนชะทรงเห็นโสณดาบสโพธิสัตว์มา จึงตรัสว่า)
[๑๐๗] หาบของใครผู้จะไปหาบน้ำ ทำด้วยไม้กระทุ่ม
ไม่ถูกต้องบ่า ลอยขึ้นสู่อากาศ
(ห่างบ่า)ประมาณ ๔ องคุลี
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๘] ข้าแต่มหาราช อาตมภาพคือโสณดาบส
ผู้อดกลั้นประพฤติวัตร ไม่เกียจคร้าน
เลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนวัน
[๑๐๙] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
อาตมภาพระลึกถึงอุปการะที่ท่านทั้งสอง
ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อนอยู่เนือง ๆ
จึงนำเอาผลไม้และเผือกมันในป่ามาเลี้ยงดูมารดาบิดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(พระเจ้ามโนชะทรงประสงค์จะทำความคุ้นเคยกับโสณบัณฑิตดาบส จึงตรัสว่า)
[๑๑๐] โยมทั้งหลายปรารถนาจะไปยังอาศรมที่โกสิยดาบสอยู่
พระคุณเจ้าโสณะ นิมนต์พระคุณเจ้า
กรุณาบอกหนทางแก่พวกโยมด้วย
พวกโยมจะไปถึงอาศรมได้โดยหนทางใด
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๑] ขอถวายพระพรพระราชา
หนทางนี้เป็นทางเดินเท้าสำหรับคนผู้เดียว
ณ ที่ใด มีป่าสีเขียวครามคล้ายเมฆ
ดารดาษไปด้วยต้นทองกวาว
ท่านโกสิยดาบสพำนักอยู่ ณ ป่าแห่งนี้
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๒] มหาฤๅษี ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
จึงเหาะขึ้นในอากาศพร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย
แล้วรีบด่วนหลีกไปในอากาศ
[๑๑๓] ปัดกวาดอาศรม ปูลาดอาสนะแล้วเข้าไปยังบรรณศาลา
บอกกล่าวบิดาให้รู้ตัวว่า
[๑๑๔] ข้าแต่มหาฤๅษี กษัตริย์ผู้อภิชาติ
ทรงมีพระอิสริยยศทั้งหลายเหล่านี้
กำลังเสด็จมา ขอท่านพ่อจงออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด
[๑๑๕] มหาฤๅษีสดับคำของโสณบัณฑิตนั้นแล้ว
รีบออกจากอาศรม นั่งอยู่ใกล้ประตูอาศรมของตน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๑๖] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้นมีหมู่กษัตริย์แวดล้อม
เป็นประดุจกองทัพรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชานุภาพ
กำลังเสด็จมา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๑๗] กระบวนกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์
และมโหระทึกนำหน้าใครมา ยังพระราชาผู้จอมทัพให้ร่าเริง
[๑๑๘] ใครมีหน้าผากสวมกรอบอุณหิสทองคำอันหนา
มีวรรณะประดุจสายฟ้า
ใครหนอยังหนุ่มแน่นผูกสอดแล่งลูกศร
รุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๑๙] อนึ่ง ใบหน้าของใครงดงามผุดผ่อง
ดุจทองคำที่ละลายคว้างอยู่ปากเบ้า
มีสีดังถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๐] ฉัตรมีซี่น่ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นบังแสงอาทิตย์
เขาประคองกั้นแล้วเพื่อใคร
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๑] ชนทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง
เดินแวดล้อมเรือนร่างของใคร
ผู้มีบุญอันประเสริฐซึ่งกำลังมาบนคอช้าง
[๑๒๒] เศวตฉัตร ม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ
ของใครเรียงรายอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๓] กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ผู้ทรงมีพระอิสริยยศ
กำลังแวดล้อมติดตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา
[๑๒๔] อนึ่ง เสนา ๔ เหล่า คือ กองพลช้าง กองพลม้า
กองพลรถ และกองพลราบ แวดล้อมตามใครอยู่โดยรอบ
ใครหนอรุ่งเรืองอยู่ด้วยสิริกำลังมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๒๕] เสนาหมู่ใหญ่นั่นของใคร นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๖] พระเจ้ามโนชะผู้เป็นราชาธิราช
เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งเทพทั้งหลาย
ผู้มีชัยกำลังเสด็จมาสู่อาศรมของท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทรงขอขมาโทษแทนนันทดาบส
[๑๒๗] นั้นเสนาหมู่ใหญ่ของพระองค์นับไม่ถ้วน
แวดล้อมติดตามมาข้างหลังประดุจคลื่นแห่งสาคร
[๑๒๘] พระราชาทั้งหลายมีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ทรงพระภูษากาสิกพัสตร์อันอุดม
ทุกพระองค์ต่างประนมมือเสด็จเข้าไปหาพระฤๅษี
(ต่อแต่นั้น พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๒๙] พระคุณเจ้าผู้เจริญมีความสุขสำราญดี
ไม่มีโรคเบียดเ บียนหรือ
พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไป
ด้วยการแสวงหามูลผลาหารหรือ
เผือก มัน และผลไม้ยังมีอยู่มากหรือ
[๑๓๐] เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมีน้อยหรือ
ในป่าที่มีเนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านไม่มีมาเบียดเบียนหรือ
(โสณดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๑] ข้าแต่พระราชา พวกอาตมภาพ
มีความสุขสำราญดี และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง อาตมภาพทั้งหลายยังอัตภาพ
ให้เป็นไปด้วยการแสวงหามูลผลาหาร
และเผือก มัน ผลไม้ก็ยังมีมากอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๓๒] อนึ่ง เหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย
เนื้อร้ายอยู่พลุกพล่านในป่าก็ไม่มาเบียดเบียนอาตมภาพเลย
[๑๓๓] หลายปีมาแล้ว อาตมาอยู่ในอาศรมนี้
ยังไม่รู้จักความอาพาธที่ไม่ทำใจให้รื่นรมย์ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
[๑๓๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว มิได้เสด็จมาร้าย
พระองค์ทรงเป็นใหญ่ เสด็จมาถึงโดยลำดับ
สิ่งใดที่ทรงพอพระทัย โปรดตรัสบอกสิ่งนั้นเถิด
[๑๓๕] ข้าแต่พระราชา ผลมะพลับ ผลมะหาด
ผลมะซาง และผลหมากเม่า มีรสหวานเล็กน้อย
เชิญพระองค์เลือกเสวยผลดี ๆ เถิด
[๑๓๖] น้ำดื่มนี้ก็เย็นสนิท ตักมาจากซอกเขา
มหาบพิตรหากพระองค์ประสงค์ ขอทรงดื่มเถิด
(พระเจ้ามโนชะตรัสว่า)
[๑๓๗] สิ่งที่พระคุณเจ้าให้โยมก็รับไว้แล้ว
พระคุณเจ้าทำให้มีค่าสำหรับคนทุกคน
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดเงี่ยโสตสดับ
คำของนันทดาบสเถิด ท่านจะกล่าว
[๑๓๘] พวกโยมเป็นบริษัทของนันทดาบส
พากันมายังสำนักของพระคุณเจ้าผู้เจริญ
เพื่อจะขอขมาโทษ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ
โปรดสดับฟังคำของนันทดาบสและของบริษัทเถิด
(นันทบัณฑิตเมื่อเจรจากับบริษัทของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] ชาวชนบทและพราหมณ์มหาศาลกว่าร้อยขึ้นไป
กษัตริย์ผู้อภิชาติผู้ทรงมีพระอิสริยยศเหล่านี้ทั้งหมด
และพระราชาผู้เจริญทรงพระนามว่า มโนชะ
โปรดทรงสดับคำของอาตมภาพสักเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๔๐] อนึ่ง ยักษ์ ภูต และเทวดาทั้งหลายในป่า
ที่พากันมาประชุมอยู่ในอาศรมนี้
ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า
[๑๔๑] ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ภูตทั้งหลาย
แล้วจะกล่าวกับโสณฤๅษีผู้มีวัตรดีงาม
ข้าพเจ้านั้นชาวโลกสมมติแล้วว่า
เป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน
จึงนับว่าเป็นแขนขวาของท่าน
[๑๔๒] ข้าแต่ท่านพี่โกสีย์ผู้กล้าหาญ
เมื่อข้าพเจ้ามีความประสงค์
จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า
ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านพี่จงอย่าห้ามข้าพเจ้าเลย
[๑๔๓] แท้จริง การบำรุงมารดาและบิดานั้น
สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว
ขอท่านพี่จงสละการบำรุงมารดาบิดานั้นให้ข้าพเจ้าเถิด
ท่านพี่ได้กระทำกุศลมานานแล้ว
ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด
บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะทำบุญในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง
ขอท่านพี่จงมอบโลกสวรรค์ให้แก่ข้าพเจ้าเถิด
[๑๔๔] ข้าแต่ท่านพี่ผู้เป็นฤๅษี มนุษย์ทั้งหลายผู้รู้บทแห่งธรรม
ในธรรมว่า เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์
เหมือนอย่างท่านพี่รู้ มีอยู่ในบริษัทนี้เหมือนกัน
[๑๔๕] ท่านโสณบัณฑิตผู้พี่ห้ามข้าพเจ้า
ผู้จะบำรุงมารดาและบิดาให้มีความสุขด้วยการอุปัฏฐาก
และการนวดเฟ้น จากบุญนั้น
ชื่อว่าเป็นคนปิดกั้นหนทางอันประเสริฐ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(เมื่อนันทบัณฑิตกล่าวอย่างนี้แล้ว โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศให้ทราบว่า)
[๑๔๖] ขอถวายพระพรมหาราช กษัตริย์ผู้เจริญทั้งหลาย
ผู้จะขอขมาโทษแทนน้องชายของอาตมภาพ ขอทรงสดับคำ
ของอาตมภาพ ผู้ใดยังสกุลวงศ์อันเก่าแก่ให้เสื่อมไป
ไม่ประพฤติธรรมในบุคคลผู้เจริญในสกุลทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก
[๑๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
ก็ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเก่าแก่
ถึงพร้อมด้วยจารีต
ชนเหล่านั้นจะไม่ไปสู่ทุคติ
[๑๔๘] มารดาและบิดา พี่ชายน้องชาย
พี่สาวน้องสาว เครือญาติและพวกพ้อง
ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นภาระของพี่ชายใหญ่
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด ท่านภารถ
[๑๔๙] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
อาตมภาพต้องรับภาระอันหนักและไม่ละเลยธรรม
เหมือนนายเรือต้องรับภาระอันหนัก พยายามนำเรือไป
เพราะว่าอาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่
(พระราชาทุกพระองค์ทรงพอพระทัย ทรงชมเชยโสณดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๐] เราทั้งหลายได้บรรลุญาณคือปัญญาในความมืด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้ง
แก่เราทั้งหลายเหมือนเปลวเพลิงจากไฟป่าในเวลามืดมิด
[๑๕๑] ดวงอาทิตย์เหล่ากอแห่งวาสุเทพเปล่งรัศมีอุทัยอยู่
ย่อมส่องแสงให้เห็นรูปทั้งดีทั้งชั่วอย่างแจ่มแจ้งแก่เหล่าสัตว์ฉันใด
ท่านโสณโกสิยฤๅษีผู้เจริญก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้แสดงธรรมอย่างชัดแจ้งแก่เราทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
(ลำดับนั้น นันทบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๕๒] ถ้าท่านพี่ไม่ยอมรับรู้
ถึงการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ข้าพเจ้าจักประพฤติตามท่านพี่ จักตั้งใจปฏิบัติบำรุงท่านพี่
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศคุณของนันทบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๑๕๓] นันทะ เธอรู้แจ้งชัดถึงสัทธรรม
ที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงไว้แล้วอย่างแท้จริง
เธอเป็นผู้ประเสริฐ มีมารยาทงาม พี่พอใจเธอยิ่งนัก
[๑๕๔] พี่จะบอกท่านพ่อท่านแม่
ขอท่านทั้ง ๒ จงฟังคำของข้าพเจ้า
ภาระนี้เป็นเพียงภาระชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าหามิได้
[๑๕๕] นันทดาบส กระทำการขอขมาโทษอ้อนวอนขอกับข้าพเจ้า
เพื่อบำรุงท่านทั้ง ๒ อันเป็นการอุปัฏฐาก
ที่นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดานั้นบ้าง
[๑๕๖] บรรดาท่านทั้ง ๒ ผู้สงบ ประพฤติพรหมจรรย์
ท่านผู้ใดปรารถนา ขอท่านคนหนึ่งจงปรารถนานันทะเถิด
ขอนันทะจงบำรุงใครคนหนึ่งในท่านทั้ง ๒ ตามต้องการเถิด
(มารดาของโสณดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๗] โสณะ แม่และพ่ออาศัยเธอ เธออนุญาตแล้ว
แม่พึงได้จุมพิตนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่กระหม่อมเถิด
[๑๕๘] เพราะนานเหลือเกินจึงได้เห็นนันทะ
หัวใจของแม่ย่อมหวั่นไหว
เหมือนใบอ่อนของต้นโพธิ์ถูกลมพัดไหวไปมา
[๑๕๙] เมื่อใดแม่หลับลงฝันเห็นนันทะมา
แม่ก็เบิกบานดีใจว่า ลูกนันทะของแม่มาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๐] แต่เมื่อใดแม่ตื่นขึ้นแล้วไม่เห็นนันทะมา
ความเศร้าโศกและความเสียใจมิใช่น้อยกลับทับถมโดยยิ่ง
[๑๖๑] แม่เห็นนันทะกลับมาในวันนี้
ขอนันทะผู้เป็นที่รักของพ่อแม่จงเข้าไปยังเรือนของพวกเราเถิด
[๑๖๒] นันทะเป็นลูกสุดที่รักแม้ของบิดา
นันทะไม่ควรจากเรือนนี้ไปอีก
พ่อโสณะ ขอนันทะจงได้สิ่งที่ตนปรารถนาเถิด
ขอนันทะจงบำรุงแม่เถิด
(โสณดาบสโพธิสัตว์ประกาศพระคุณของมารดาว่า)
[๑๖๓] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่ง
และเป็นผู้ให้รส (คือ น้ำนม) แก่พวกเรามาก่อน
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
[๑๖๔] พ่อฤๅษี มารดาเป็นผู้ให้รสมาก่อน
เป็นผู้คุ้มครอง เป็นที่เข้าไปประกอบบุญกุศล
เป็นหนทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า
(โสณดาบสโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศว่ามารดาเป็นผู้ทำกิจที่ทำได้ยากที่บุคคล
อื่นจะทำได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] มารดาเมื่อหวังผลคือบุตรจึงนอบน้อมเทวดา
และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย๑
[๑๖๖] เมื่อมารดานั้นมีระดู การตั้งครรภ์จึงมีได้
เพราะการตั้งครรภ์นั้น มารดาจึงมีการแพ้ท้อง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า สุหทา หญิงผู้มีใจดี๒

เชิงอรรถ :
๑ มารดานอบน้อมเทวดา หมายถึงทำการนอบน้อมคือบนบานต่อเทวดาว่า “ขอลูกจงเกิดขึ้นแก่เรา”
ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย หมายถึงมารดาต้องการทราบว่าบุตรเกิดในฤกษ์ ฤดู และปีใด จะ
มีอายุยืน อายุสั้นอย่างไร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๕/๑๙๕-๑๙๖)
๒ เมื่อมารดานั้นมีระดู หมายถึงเมื่อต่อมเลือด(ไข่สุก)เกิดแล้ว ระดูไม่มาตามกำหนด มารดาได้ชื่อว่า สุหทา
หญิงผู้มีใจดี (เพราะในเวลานั้นมารดาจะเกิดความรักในบุตรที่เกิดในท้องของตน) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๖๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๖๗] มารดาประคับประคองครรภ์อยู่หนึ่งปีหรือหย่อนกว่าบ้าง
แล้วจึงคลอดบุตร เพราะเหตุนั้น มารดานั้นจึงชื่อว่า
หญิงผู้ให้กำเนิดบุตร เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
ชเนตตี หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด
[๑๖๘] เมื่อบุตรร้องไห้ มารดาก็ปลอบโยนให้ยินดีได้
ด้วยน้ำนมบ้าง ด้วยการร้องเพลงกล่อมบ้าง
ด้วยการกอดไว้แนบอกบ้าง
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกท่านว่า
โตเสนตี หญิงผู้ยังบุตรให้ร่าเริงยินดี
[๑๖๙] จากนั้น เมื่อลมแรงและแดดกล้า
มารดาก็กระทำความรักอย่างจับใจ
มองดูบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อนไร้เดียงสาอยู่
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่า
โปเสนตี หญิงผู้เลี้ยงดูบุตร
[๑๗๐] ทรัพย์อันใดที่เป็นทรัพย์ของมารดาก็ดี
เป็นทรัพย์ของบิดาก็ดี
แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ มารดาก็คุ้มครองรักษาไว้เพื่อบุตรนั้น
ด้วยหมายใจว่า แม้ทรัพย์ทั้ง ๒ นี้พึงเป็นของบุตรของเรา
[๑๗๑] มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า
อย่างนี้ซิลูก อย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก
และทราบว่าบุตรของตนเมื่อถึงคราวเป็นหนุ่ม
ลุ่มหลงมัวเมาในภรรยาของผู้อื่นอยู่จนดึกดื่นเที่ยงคืน
ไม่กลับมาในเวลาเย็น ก็ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้
[๑๗๒] บุตรที่มารดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงมารดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] ๒.โสณนันทชาดก (๕๓๒)
[๑๗๓] บุตรที่บิดาเลี้ยงดูมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้
ไม่บำรุงบิดา บุตรคนนั้นชื่อว่า
ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก
[๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงมารดา
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า แม้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แก่บุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการทรัพย์ ก็พินาศไปบ้าง
บุตรนั้นย่อมถึงฐานะอันลำบากบ้าง เพราะไม่บำรุงบิดา
[๑๗๖] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงมารดา
[๑๗๗] ความเพลิดเพลินยินดี ความรื่นเริงบันเทิงใจ
และการหัวเราะเล่นหัวกันในกาลทุกเมื่อนั้น
บัณฑิตผู้รู้แจ้งจะพึงได้เพราะบำรุงบิดา
[๑๗๘] สังคหวัตถุ๑ทั้งหลาย คือ
๑. ทาน (การให้) ๒. ปิยวาจา (การเจรจาถ้อยคำที่น่ารัก)
๓. อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
๔. สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตาม
สมควรในที่นั้น ๆ)
ทั้ง ๔ ประการนี้ยังมีอยู่ในโลกนี้
เหมือนเพลารถยังมีแก่รถที่กำลังแล่นไป

เชิงอรรถ :
๑ สังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ ในที่นี้หมายถึงบุตรพึง
ปรนนิบัติมารดาบิดาด้วยหลัก ๔ ประการ คือ (๑) ทาน การให้(สิ่งของ)แก่มารดาบิดา (๒) เปยยวัชชะ
พึงเจรจาแต่คำที่น่ารัก (๓) อัตถจริยา พึงประพฤติประโยชน์ด้วยการทำหน้าที่(ของท่าน)ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ
(๔) สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควร หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อผู้
ใหญ่ทั้งหลาย (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๗๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๐.สัตตตินิบาต] รวมชาดกที่มีในนิบาต
[๑๗๙] หากว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
หรือบิดาไม่พึงได้การนับถือหรือการบูชาเพราะเหตุแห่งบุตรเลย
[๑๘๐] ก็เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นสังคหวัตถุเหล่านี้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น จึงบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่
ทั้งบัณฑิตเหล่านั้นยังเป็นผู้น่าสรรเสริญอีกด้วย
[๑๘๑] มารดาและบิดาทั้งหลายบัณฑิตกล่าวว่า
๑. เป็นพรหมของบุตร
๒. เป็นบุรพาจารย์ของบุตร
๓. เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชาของบุตร๑
๔. เป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์คือบุตร
[๑๘๒] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงนอบน้อมและพึงสักการะ
มารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วยข้าวและน้ำ
ด้วยผ้านุ่งผ้าห่มและที่นอน ด้วยการอบตัวและอาบน้ำให้
และด้วยการล้างเท้าทั้ง ๒ ให้ท่าน
[๑๘๓] เพราะการบำรุงมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว
เขาตายไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ดังนี้แล
โสณนันทชาดกที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. กุสชาดก ๒. โสณนันทชาดก
สัตตตินิบาตจบ

เชิงอรรถ :
๑ มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เพราะเป็นผู้เสมอด้วยพรหม คือ สูงสุด ประเสริฐสุดของบุตร เป็น
บุรพาจารย์ คือ เป็นอาจารย์คนแรกของบุตร เป็นผู้ควรของต้อนรับบูชา คือ สมควรแก่สักการะ
อย่างใดอย่างหนึ่งของบุตร (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘๑/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
๒๑. อสีตินิบาต
๑. จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะทดลองใจหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านสุมุขะ ฝูงหงส์ไม่เหลียวแล พากันบินหนีไป
แม้ท่านก็จงหนีไปเถิด อย่ามัวกังวลอยู่เลย
ความเป็นสหายไม่มีอยู่ในผู้ติดบ่วง
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๒] ข้าพระองค์จะหนีไปหรือไม่หนีไปก็ตาม
เพราะการหนีไปและไม่หนีไปนั้น ข้าพระองค์จะไม่ตายก็หามิได้
เมื่อพระองค์มีความสุข ข้าพระองค์ได้พึ่งพาอาศัย
เมื่อพระองค์มีความทุกข์ ข้าพระองค์จะพึงละทิ้งไปได้อย่างไร
[๓] การตายพร้อมกับพระองค์เท่านั้น
ประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพระองค์
การมีชีวิตโดยปราศจากพระองค์จะประเสริฐอะไร
[๔] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์
ผู้ถึงความทุกข์อย่างนี้ไป นั่นไม่เป็นธรรมเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งหมู่วิหค
ข้าพระองค์ชอบใจคติของพระองค์
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕] คติของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอย่างอื่นไป
จากโรงครัวใหญ่ได้อย่างไรเล่า
ท่านมีปัญญาคือความคิดพ้นบ่วงมาแล้ว
จะพอใจคตินั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖] นี่แน่ะพ่อปักษี ท่านเห็นประโยชน์ของเรา ของท่าน
หรือของญาติทั้งหลายที่เหลืออย่างไร
ในเมื่อเราทั้ง ๒ จะสิ้นชีวิต
[๗] พ่อปักษีผู้มีปีกทั้ง ๒ ประดุจทองคำ
เมื่อท่านสละชีวิต ในเพราะคุณอันประจักษ์เช่นนี้
ก็เหมือนคนตาบอด ตกอยู่ในความมืดมิด
จะพึงทำประโยชน์อะไรให้โชติช่วงเล่า
(หงส์สุมุขะกล่าวตอบว่า)
[๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทราบประโยชน์ในธรรม
ธรรมที่มีคนบูชา ย่อมชี้ประโยชน์แก่เหล่าสัตว์
[๙] ข้าพระองค์นั้นมุ่งธรรมอยู่ ได้เห็นประโยชน์อันเกิดขึ้นจากธรรม
และความภักดีในพระองค์จึงไม่คำนึงถึงชีวิต
[๑๐] มิตรเมื่อระลึกถึงธรรม
ไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามอันตรายแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้
(พญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ธรรมนี้ท่านก็ประพฤติแล้ว
และความภักดีในเราก็ปรากฏชัดแล้ว
ขอท่านจงทำตามความต้องการของเราเถิด
เราอนุญาตท่านแล้วจงหนีไป
[๑๒] ก็แลเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแม้อย่างนี้
ส่วนที่บกพร่องอันใดที่เราได้ทำไว้แล้วแก่หมู่ญาติ
ส่วนที่บกพร่องนั้นท่านพึงสังวรอย่างยิ่ง
ให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๑๓] เมื่อพญาหงส์ ตัวประเสริฐ ผู้มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
ปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานก็ได้ปรากฏต่อหน้า
ประดุจพญามัจจุราชปรากฏแก่คนไข้
[๑๔] นกทั้ง ๒ ผู้เกื้อกูลกันและกันมาสิ้นกาลนานเหล่านั้น
เห็นศัตรูแล้วก็จับนิ่งเฉยอยู่
ไม่เคลื่อนไหวไปจากที่จับ
[๑๕] ส่วนนายพรานศัตรูของนกได้เห็นเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะ
กำลังบินขึ้นไปจากที่นั้น ๆ
จึงได้รีบก้าวเท้าเข้าไปหาพญาหงส์ทั้ง ๒ โดยเร็ว
[๑๖] ก็นายพรานนั้นครั้นรีบก้าวเท้าเข้าไปใกล้พญาหงส์ทั้ง ๒
ก้าวเท้าไปก็คิดไปอยู่ว่า ติดหรือไม่ติด
[๑๗] เห็นหงส์ติดบ่วงจับอยู่เพียงตัวเดียว
อีกตัวหนึ่งไม่ติด จับอยู่ใกล้ ๆ
แต่เพ่งมองตัวที่เป็นทุกข์ซึ่งติดบ่วง
[๑๘] จากนั้น พรานนั้นก็เกิดความสงสัย
จึงได้ถามหงส์ทั้ง ๒ ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่นก
มีร่างกายเจริญเติบใหญ่ที่จับอยู่ว่า
[๑๙] หงส์ตัวที่ติดบ่วงใหญ่ไม่กำหนดทิศทางที่จะบินหนีไป
พ่อปักษี แต่เจ้าไม่ติดบ่วง
ยังมีกำลังอยู่ ทำไมจึงไม่บินหนีไป
[๒๐] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวที่ติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
นกทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๑] นี่ท่านผู้เป็นศัตรูของนก พญาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
และเป็นเพื่อนเสมอด้วยชีวิตของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักไม่ละทิ้งพระองค์ไป
จนกว่าวาระแห่งความตายจะมาถึง
(นายพรานกล่าวว่า)
[๒๒] ก็ไฉนพญาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้แล้ว
ความจริงการรู้ถึงอันตรายเป็นเหตุของคนผู้เป็นใหญ่
เพราะเหตุนั้นผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นควรจะรู้เท่าทันอันตราย
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๒๓] ในกาลใดความเสื่อมย่อมมีเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต
ในกาลนั้นแม้สัตว์จะเข้าใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
[๒๔] ท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตอย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าไปติดบ่วงที่เขาอำพรางดักไว้
(หงส์สุมุขะเมื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์โพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ก็การอยู่ร่วมกับท่านนี้พึงมีความสุขเป็นกำไรหนอ
อนึ่ง ขอท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไป
ขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ด้วยเถิด
(นายพรานจึงกล่าวว่า)
[๒๖] ท่านไม่ได้ติดบ่วงของข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะฆ่าท่าน
ท่านจงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
และจงมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากความทุกข์ตลอดกาลนานเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะได้กล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้นเลย นอกจากชีวิตของพญาหงส์นี้
หากท่านยินดีหงส์ตัวเดียว ขอท่านจงปล่อยพญาหงส์นั้น
และจงกินข้าพเจ้าแทนเถิด
[๒๘] ข้าพเจ้าทั้ง ๒ มีทรวดทรงสัณฐานและวัยเสมอกัน
ท่านจะไม่มีรายได้ลดค่าลงเลย
ขอท่านจงพอใจด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างนี้
[๒๙] เชิญเถิดเชิญท่านไตร่ตรองเรื่องนั้นดูให้ดี
บรรดาข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอท่านจงมีความพอใจ
ท่านจงใช้บ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน
จงปล่อยพญานกไปในภายหลัง
[๓๐] อนึ่ง เมื่อท่านกระทำตามคำขอร้อง
รายได้ของท่านก็จะมีเท่าเดิมด้วย
และท่านจะพึงมีไมตรีกับเหล่าพญาหงส์ธตรัฏฐะไปตลอดชีวิต
(นายพรานเมื่อจะยกพญาหงส์โพธิสัตว์ให้เป็นรางวัลแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ขอมิตรอำมาตย์ข้าทาสบริวารบุตรภรรยา
และพวกพ้องเผ่าพันธุ์ทั้งหลายหมู่ใหญ่
จงเห็นพญาหงส์ผู้พ้นไปแล้วจากที่นี้เพราะท่านเถิด
[๓๒] ก็บรรดามิตรทั้งหลายเป็นอันมาก
มิตรทั้งหลายเช่นกับท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิต
ของพญาหงส์ธตรัฏฐะเหล่านั้นไม่มีอยู่ในโลกนี้
[๓๓] ข้าพเจ้ายอมปล่อยสหายของท่าน
ขอพญาหงส์จงบินตามท่านไป
ท่านทั้ง ๒ จงรีบไปจากที่นี้ตามความปรารถนา
จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางแห่งญาติเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๔] หงส์สุมุขะผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนายนั้น
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วงแล้ว
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๓๕] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
(พญาหงส์สุมุขะกล่าวกับนายพรานว่า)
[๓๖] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๓๗] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๓๘] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๓๙] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๐] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะนั้นแล้ว
ได้จัดแจงกิจการงานให้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว
รีบไปยังภายในเมือง ได้แสดงหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งจับอยู่
ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัดแด่พระราชาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๑] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้งหลายเหล่านี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์ตัวนี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
(พระราชารับสั่งถามว่า)
[๔๒] ก็วิหคเหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเจ้าได้อย่างไร
เจ้าเป็นพรานจับวิหคที่เป็นใหญ่กว่าวิหคทั้งหลาย
มาในที่นี้ได้อย่างไร
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน
บ่วงเหล่านี้ข้าพระองค์ได้วางไว้ที่เปือกตมทั้งหลาย
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ข้าพระองค์เข้าใจว่า
เป็นสถานที่ประชุมแห่งนก
เป็นสถานที่ปลิดชีวิตนกทั้งหลาย
[๔๔] พญาหงส์เข้ามาใกล้บ่วงเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้
ส่วนนกตัวนี้ไม่ได้ติดบ่วง แต่จับอยู่ใกล้ ๆ พญาหงส์นั้น
ได้พูดกับข้าพระองค์
[๔๕] วิหคผู้ประกอบแล้วในธรรม
เมื่อบากบั่นในประโยชน์ของผู้เป็นนาย
ได้ประกาศภาวะอันอุดมซึ่งคนผู้มิใช่อริยะกระทำได้ยาก
[๔๖] วิหคนี้ยังควรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่กลับสละชีวิตของตนเอง
จับอยู่อย่างไม่ทอดถอนท้อแท้ใจ
วิงวอนร้องขอชีวิตของผู้เป็นนาย
[๔๗] ข้าพระองค์สดับคำของวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยพญาหงส์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๔๘] หงส์สุมุขะนั้นมีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
มีความปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงได้กล่าวว่า
[๔๙] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้ายินดีเบิกบานใจ
เพราะได้เห็นพญานกพ้นจากบ่วงแล้วฉันใด
ขอท่านจงยินดีเบิกบานใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงฉันนั้นเถิด
[๕๐] มาเถิด ข้าพเจ้าจะบอกท่านโดยวิธีที่ท่านจะได้ลาภ
พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มิได้มุ่งร้ายอะไรต่อท่านเลย
[๕๑] ท่านจงรีบนำข้าพเจ้าทั้ง ๒
ซึ่งจับอยู่ที่หาบทั้ง ๒ ข้างเป็นปกติ ไม่ถูกผูกมัด
ไปภายในเมืองแล้วแสดงต่อพระราชาว่า
[๕๒] ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ นี้
เป็นอธิบดีแห่งหงส์ หงส์นี้เป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหลาย
ส่วนอีกตัวหนึ่งนี้เป็นเสนาบดี
[๕๓] พระราชาผู้ทรงเป็นนราธิบดีทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์นี้แล้ว
จะทรงปรีดา ปลาบปลื้ม พอพระทัย
จะพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ท่าน
เป็นจำนวนมากอย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔] หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้ข้าพระองค์นำมา
ตามคำของหงส์สุมุขะนั้น ด้วยประการฉะนี้
ความจริง ข้าพระองค์ได้อนุญาต
ให้หงส์ทั้ง ๒ เหล่านี้อยู่ที่สระนั้นตามเดิม
[๕๕] ก็สุมุขพญาปักษีทิชาชาติตัวนี้นั้น
เป็นหงส์ประกอบอยู่ในธรรมอย่างยิ่ง
แม้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้
ก็ยังทำนายพรานเช่นข้าพระองค์ให้เกิดความอ่อนโยนได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ก็ในบ้านพรานนกทุกแห่งข้าพระองค์มิได้เห็น
เครื่องบรรณาการอย่างอื่นเหมือนเช่นนี้สำหรับพระองค์เลย
ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรเครื่องบรรณาการนั้นเถิด
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๕๗] พญาหงส์ครั้นเห็นพระราชาประทับนั่ง
บนตั่งทองคำอันสวยงาม
เมื่อจะกล่าววาจาอันระรื่นหู จึงกล่าวว่า
[๕๘] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๕๙] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๐] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๑] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๖๒] พระราชเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๖๓] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
[๖๔] ท่านผู้เจริญตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้ร้ายกาจนั้น
ถึงความลำบากมากเพราะอันตรายเบื้องต้นนั้นหรือ
[๖๕] นายพรานได้วิ่งเข้าไปใช้ท่อนไม้โบยตีท่านหรือ
เพราะคนต่ำทรามเหล่านี้จะมีปกติเป็นอย่างนี้ในขณะนั้น
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖] ขอเดชะมหาราช ในคราวมีอันตรายอย่างนี้
ความปลอดภัยได้มีแล้ว ด้วยว่านายพรานผู้นี้
หาได้ดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง
ในข้าพระองค์ทั้ง ๒ เหมือนศัตรูไม่
[๖๗] นายพรานค่อย ๆ ก้าวเข้าไปหาและได้ปราศรัยขึ้นก่อน
ในกาลนั้นสุมุขบัณฑิตผู้นี้แหละได้กล่าวตอบ
[๖๘] นายพรานสดับคำของสุมุขวิหคนั้นแล้วจึงกลับเลื่อมใส
จากนั้นจึงได้ปลดปล่อยข้าพระองค์จากบ่วง
และอนุญาตให้ไปได้ตามสบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๖๙] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้
สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้
ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๐] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว
และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน
อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก
ตามที่ตนปรารถนา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๗๑] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว
เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า
[๗๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม
ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย
ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด
[๗๓] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์
แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้
สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน
และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย
(พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า)
[๗๔] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้
จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง
ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
(หงส์สุมุขะกราบทูลว่า)
[๗๕] ข้าแต่มหาราช นัยว่า
ข้าพระองค์เหมือนกับพญาช้างเข้าไประหว่างซอกหิน
ไม่อาจจะพูดสอดแทรกขึ้นได้ นั้นไม่ใช่วินัยของข้าพระองค์
[๗๖] พญาหงส์นั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย
ส่วนพระองค์ก็เป็นผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นยอดแห่งมนุษย์ พระองค์ทั้ง ๒
เป็นผู้อันข้าพระองค์พึงบูชาด้วยเหตุเป็นอันมาก
[๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
เมื่อพระองค์ทั้ง ๒ กำลังตรัสปราศรัยกันอยู่
เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนรับใช้
จึงไม่ควรที่จะพูดสอดแทรกขึ้นในระหว่าง
(พระราชาสดับคำของหงส์สุมุขะแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๗๘] ได้ยินว่า โดยธรรมดานายพรานกล่าวว่า
นกนี้เป็นบัณฑิต
ความจริง นัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้มิได้อบรมตนเลย
[๗๙] บุคคลผู้มีปกติเลิศอย่างนี้ เป็นสัตว์อุดมอย่างนี้
เท่าที่เราเห็นมามีอยู่ แต่เราหาเห็นสัตว์อื่นเช่นนี้ไม่
[๘๐] เรายินดีต่อท่านทั้ง ๒ โดยปกติ
และยินดีด้วยการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะของท่านทั้งสอง
อนึ่ง ความพอใจของเราอีกอย่างหนึ่ง
นั่นคือการที่เราพึงเห็นท่านทั้ง ๒ เป็นเวลานาน
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[๘๑] กิจอันใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตรผู้สูงศักดิ์
กิจอันนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้วในข้าพระองค์ทั้ง ๒
เพราะความภักดีต่อพระองค์ที่มีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
ข้าพระองค์จึงมีความภักดีต่อพระองค์โดยไม่ต้องสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๑.จูฬหังสชาดก (๕๓๓)
[๘๒] ส่วนทางโน้น ความทุกข์คงเกิดขึ้นแล้ว
ในหมู่หงส์จำนวนมากเป็นแน่
เพราะมิได้พบเห็นข้าพระองค์ทั้ง ๒
ในระหว่างแห่งหมู่ญาติเป็นอันมาก
[๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก
พวกข้าพระองค์ได้รับอนุมัติจากพระองค์แล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วไปพบเห็นหมู่ญาติ
เพื่อกำจัดความโศกของหงส์เหล่านั้น
[๘๔] ข้าพระองค์ได้ประสบปีติอันไพบูลย์
เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้เจริญแน่แท้
อนึ่ง ความคุ้นกับหมู่ญาติแม้นี้ก็พึงมีประโยชน์ใหญ่หลวง
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๘๕] พญาหงส์ธตรัฏฐะครั้นกราบทูลคำนี้กับนราธิบดีแล้ว
อาศัยการบินเร็วอย่างสุดกำลัง ได้เข้าไปหาหมู่ญาติแล้ว
[๘๖] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว
[๘๗] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๘๘] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
จูฬหังสชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
๒. มหาหังสชาดก (๕๓๔)
ว่าด้วยพญาหงส์ติดบ่วง
(พญาหงส์โพธิสัตว์ได้กล่าว ๓ คาถาว่า)
[๘๙] สุมุขะ พ่อเนื้อเหลือง ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
หงส์ทั้งหลายหวั่นไหวต่อภัยอันตราย
จึงพากันบินหนีไป
ท่านจงหลีกหนีไปตามความปรารถนาเถิด
[๙๐] หมู่ญาติทั้งหลายละทิ้งเรา
ผู้ติดบ่วงไว้เพียงลำพัง
ไม่มีความเยื่อใย พากันบินหนีไป
ทำไมจึงเหลือท่านอยู่ตัวเดียวเล่า
[๙๑] บินขึ้นไปเถิด ท่านผู้ประเสริฐกว่าหมู่หงส์
ความเป็นสหายไม่มีในผู้ติดบ่วง
ท่านอย่าทำความไม่มีทุกข์ให้เสื่อมไปเลย
จงหนีไปตามความปรารถนาเถิด สุมุขะ
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๒] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
ความเป็นหรือความตายของข้าพระองค์
จักมีพร้อมกับพระองค์
[๙๓] ข้าแต่ท้าวธตรัฏฐะ ข้าพระองค์
แม้จะมีทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็ไม่ละทิ้งพระองค์ไป
พระองค์ไม่ควรจะชักชวนให้ข้าพระองค์
ประกอบกรรมที่บุคคลผู้ไม่ประเสริฐประกอบกันเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าฝูงหงส์
ข้าพระองค์เป็นเด็กรุ่นเดียวกับพระองค์๑
เป็นเพื่อนของพระองค์ ดำรงอยู่ในจิตใจของพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเสนาบดีของพระองค์
[๙๕] ข้าพระองค์ไปจากที่นี้แล้ว
จักอธิบายในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์จากที่นี้ไปแล้ว
จะชี้แจงกับฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร
ข้าพระองค์ยอมสละชีวิตทิ้งไว้ในที่นี้
จะไม่พยายามทำกรรมอันไม่ประเสริฐ
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญคุณของหงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๙๖] สุมุขะ การที่ท่านไม่พยายามที่จะทอดทิ้งเรา
ผู้เป็นทั้งนาย เป็นทั้งเพื่อน
ชื่อว่าดำรงอยู่ในทางของพระอริยะ
นั้นเป็นธรรมของโบราณกบัณฑิต
[๙๗] ก็แลเมื่อเราเห็นท่าน ก็ไม่เกิดความสะดุ้งกลัวเลย
แต่ท่านจะประสบอันตรายเหมือนชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๘] เมื่อพญาหงส์ทั้ง ๒ ผู้ประเสริฐมีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
กล่าวปรึกษากันอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้
นายพรานถือท่อนไม้กระชับมั่นรีบด่วนเข้ามาถึงตัว

เชิงอรรถ :
๑ เด็กรุ่นเดียวกับพระองค์ หมายถึงถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากไข่ในวันเดียวกัน และเจริญเติบโตมา
ด้วยกัน (ขุ.ชา.อ. ๘/๙๔/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๙๙] หงส์สุมุขะครั้นเห็นนายพรานกำลังเดินเข้ามา
จึงจับอยู่เบื้องหน้าพญาหงส์
เมื่อจะปลอบพญาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจ
จึงได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
[๑๐๐] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า คนทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๐๑] นายพรานได้สดับคำสุภาษิตของหงส์สุมุขะนั้น
ก็มีโลมชาติชูชัน จึงได้น้อมอัญชลีต่อหงส์สุมุขะนั้น
ด้วยกล่าวว่า
[๑๐๒] เราไม่เคยได้ยินหรือเคยได้เห็นนกพูดภาษาคนได้
นกพูดถ้อยคำอันประเสริฐ เปล่งวาจาภาษามนุษย์ได้
[๑๐๓] หงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับเจ้า
เจ้าพ้นแล้วยังเฝ้าหงส์ตัวติดบ่วงอยู่ใกล้ ๆ
หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งหนีไป
ทำไมเจ้าจึงเหลืออยู่แต่ผู้เดียว
(หงส์สุมุขะถูกนายพรานถามแล้ว จึงตอบว่า)
[๑๐๔] ท่านผู้เป็นศัตรูของฝูงนก
หงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระองค์
เมื่อมีภัยอันตราย ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์
ผู้เป็นอธิบดีแห่งฝูงวิหคไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๐๕] หงส์นั้นเป็นนายของหงส์ฝูงใหญ่และของข้าพเจ้า
ขอพระองค์อย่าถึงความพินาศพระองค์เดียวเลย
นายพรานเพื่อนเอ๋ย หงส์นี้เป็นนายอย่างแท้จริง
ข้าพเจ้าจึงพอใจที่จะอยู่ใกล้ ๆ พระองค์
(นายพรานถามว่า)
[๑๐๖] หงส์สุมุขะเอ๋ย ท่านนอบน้อมตำแหน่ง
ประดุจก้อนข้าวที่ได้รับ
ชื่อว่าประพฤติธรรมอันประเสริฐ
ข้าพเจ้ายอมปล่อยนายของท่าน
ท่านทั้ง ๒ จงไปตามสบายเถิด
(หงส์สุมุขะตอบว่า)
[๑๐๗] เพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลาย
ด้วยความพยายามเพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้
ข้าพเจ้าทั้ง ๒ ขอรับอภัยทานนั้นของท่าน
[๑๐๘] ถ้าท่านไม่ดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยความพยายาม
เพื่อประโยชน์แก่ตนไซร้ ท่านจะไม่มีอิสระ
เมื่อปล่อยเราทั้ง ๒ ไป จะพึงทำตนให้เป็นขโมยนะ นายพราน
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๐๙] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาองค์ใด
จงนำข้าพเจ้าทั้ง ๒ ไปให้ถึงพระราชาองค์นั้นตามพระประสงค์
พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำ
ตามพระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น
[๑๑๐] นายพรานถูกหงส์สุมุขะกล่าวอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว
จึงใช้มือประคองพญาหงส์เนื้อทอง
ตัวมีผิวพรรณประดุจทองคำทั้ง ๒ ใส่ไว้ในกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๑] นายพรานพาพญาหงส์ทั้ง ๒ ซึ่งมีผิวพรรณผุดผ่อง
คือ หงส์สุมุขะและพญาหงส์ธตรัฏฐะซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป
[๑๑๒] พญาหงส์ธตรัฏฐะถูกนายพรานนำไปอยู่
ได้กล่าวเนื้อความนี้กับหงส์สุมุขะว่า
เรากลัวนัก สุมุขะ
ด้วยนางพญาหงส์ตัวมีผิวพรรณดังทองคำ
มีลำขาอ่อนได้ลักษณะ
รู้ว่าเราถูกฆ่าแล้วจักฆ่าตัวตายตาม
[๑๑๓] สุมุขะ ก็สุเหมานางพญาหงส์ แม่เนื้อเหลือง
ผู้เป็นธิดาของพญาปากหงส์จักร่ำไห้อย่างแน่นอน
เสมือนนางนกกระเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทร
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๑๑๔] พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งสัตวโลกคือหมู่หงส์
มีคุณประมาณมิได้ เป็นครูแห่งหมู่คณะใหญ่
แต่กลับมัวเศร้าโศกรำพันถึงหญิงคนเดียวอย่างนี้
นี้เป็นเหมือนมิใช่การกระทำของคนมีปัญญาเลย
[๑๑๕] ลมย่อมพัดพาเอากลิ่นทั้ง ๒ อย่าง
คือ กลิ่นหอมและกลิ่นเหม็นไป
เด็กอ่อนย่อมเก็บเอาผลไม้ทั้งดิบและสุก
คนตาบอดที่โลเลย่อมรับอามิสฉันใด
ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น
[๑๑๖] พระองค์ไม่รู้จักวินิจฉัยในเหตุทั้งหลาย
ปรากฏกับข้าพระองค์เหมือนคนเขลา
ถึงเวลาจะตายอยู่แล้ว
ก็ยังไม่ทราบกิจที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๑๗] พระองค์สำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ
เห็นจะเป็นคนกึ่งบ้า จึงบ่นเพ้อรำพันไป
ความจริง หญิงเหล่านี้สาธารณะทั่วไปแก่ชนเป็นอันมาก
เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่นักเลงสุรา
[๑๑๘] อนึ่ง หญิงนี้มีมายาเหมือนพยับแดด
เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก
เป็นเหตุแห่งโรคและอันตราย
อนึ่ง หญิงเหล่านี้เป็นเครื่องผูกมัดอันกล้าแข็ง เป็นบ่วง
เป็นถ้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของมัจจุราช
บุรุษใดวางใจในหญิงเหล่านั้น
บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นคนต่ำทรามในบรรดานรชนทั้งหลาย
(พญาหงส์ธตรัฏฐะเมื่อจะแสดงธรรมแก่หงส์สุมุขะ จึงกล่าวว่า)
[๑๑๙] สิ่งใดที่ท่านผู้เจริญรู้จักกันดี
ใครควรจะติเตียนสิ่งนั้นเล่า
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายเป็นผู้มีคุณมาก เกิดขึ้นก่อนในโลก๑
[๑๒๐] การเล่นคะนองอันบุคคลตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น
ความยินดีในหญิงเหล่านั้นบุคคลก็ตั้งไว้เฉพาะแล้ว
พืชทั้งหลายก็งอกงามในหญิงเหล่านั้น
คือสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดในหญิงเหล่านั้น
ชีวิตกับชีวิตมาเกี่ยวข้องกันแล้ว
ใครเล่าจะพึงเบื่อหน่ายหญิงเหล่านั้น
[๑๒๑] สุมุขะ ท่านเองนั่นแหละไม่ใช่คนอื่น
ยังต้องประกอบความต้องการกับหญิงทั้งหลาย
วันนี้เมื่อเกิดภัย ความคิดจึงเกิดแก่ท่านเพราะความกลัว

เชิงอรรถ :
๑ เกิดขึ้นก่อนในโลก หมายถึงเพศหญิงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกาลปฐมกัลป์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๑๙/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๒๒] จริงอยู่ ผู้ถึงความสงสัยในชีวิตทั้งปวง
ถึงจะหวาดกลัวก็อดกลั้นความกลัวไว้
เพราะบัณฑิตทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่
ย่อมประกอบประโยชน์ที่ยากจะประกอบได้
[๑๒๓] พระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาข้าราชการที่กล้าหาญ
เพื่อประสงค์ที่จะให้คนกล้าหาญ
ป้องกันอันตรายและเหตุรอบข้างพระองค์
[๑๒๔] วันนี้ ขอพ่อครัวของพระราชา
อย่าเชือดเราทั้ง ๒ ในห้องเครื่องใหญ่เลย
เพราะว่า สีขนปีกจะฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
[๑๒๕] ท่านแม้พ้นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะบินไป
ตนเองกลับเดินเข้ามาหาเครื่องดัก
วันนี้ แม้ท่านผู้ถึงความสงสัยในชีวิต
จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เถิด
อย่ายื่นปากออกมาเลย
[๑๒๖] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร
ที่เนื่องด้วยธรรมอันสมควรนั้นเถิด
จงเที่ยวแสวงหาหนทางรอดชีวิตให้แก่เรา
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่าน
(หงส์สุมุขะกล่าวว่า)
[๑๒๗] อย่าทรงกลัวเลย พระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยว่า บุคคลทั้งหลายเช่นกับพระองค์หากลัวไม่
ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรอันเนื่องด้วยธรรมอันสมควร
ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วนั้น
พระองค์จักพ้นจากบ่วงโดยเร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า)
[๑๒๘] นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมทั้งหาบหงส์
ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลถึงเรา
ให้พระราชาทรงทราบว่า พญาหงส์ธตรัฏฐะนี้มาแล้ว
[๑๒๙] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็น
พญาหงส์ทั้ง ๒ นั้นเช่นกับผู้มีบุญ
รู้ได้ด้วยลักษณะ จึงได้รับสั่งกับพวกอำมาตย์ว่า
[๑๓๐] ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และของบริโภค
แก่นายพราน เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ๑ ให้เขา
จงให้แก่เขาตามที่เขาต้องการ
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๑๓๑] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีอาการร่าเริง
จึงได้ตรัสคำนี้ว่า เขมกะ เพื่อนรัก
ผิว่าสระโบกขรณีนี้มีฝูงหงส์จับอยู่เต็มไปหมดไซร้
[๑๓๒] ทำไมท่านจึงถือบ่วงเข้าไปใกล้พญาหงส์
ผู้งดงามซึ่งอยู่ ณ ท่ามกลาง
ได้จับพญาหงส์ผู้มีหมู่ญาติเกลื่อนกล่น
ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้อย่างไร
(นายพรานเขมกะนั้นกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๓๓] วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่ประมาท แอบซ่อนอยู่ในตุ่ม
คอยแสวงหารอยเท้าของพญาหงส์ทองตัวนั้น
ตัวเข้าไปใกล้สถานที่ที่จับเหยื่อ

เชิงอรรถ :
๑ เงินเป็นบ่อเกิดความพอใจ หมายถึงเป็นกิริยาแสดงความใคร่ของเขา (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๐/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๓๔] ต่อมาข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นั้น
ตัวกำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงได้ดักบ่วงลงไว้ ณ ที่นั้น
แล้วจับพญาหงส์นั้นได้ด้วยวิธีอย่างนี้
(พระราชาได้สดับดังนั้น จึงตรัสถามว่า)
[๑๓๕] พ่อพราน นกเหล่านี้มีอยู่ ๒ ตัว
แต่ทำไมท่านจึงกล่าวว่าตัวเดียว
จิตของท่านแปรปรวนแล้วหนอ
หรือว่าท่านปรารถนาประโยชน์อะไรกันหนอ
(นายพรานกราบทูลว่า)
[๑๓๖] หงส์ตัวที่มีลายสีแดงจรดถึงทรวงอก งดงามประดุจทองคำ
ที่กำลังถูกหล่อหลอมนั้น ได้เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์
[๑๓๗] ส่วนหงส์ตัวมีผิวพรรณผ่องใสตัวนี้มิได้ติดบ่วง
ยืนเปล่งวาจาเป็นภาษามนุษย์ กล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
กับพญาหงส์ตัวติดบ่วง ซึ่งกำลังกระสับกระส่ายอยู่
(พระราชาทรงประสงค์จะให้หงส์สุมุขะแสดงธรรม จึงตรัสว่า)
[๑๓๘] สุมุขะ ทำไมหนอเวลานี้ท่านจึงยืนหดคางอยู่
หรือท่านมาถึงบริษัทของเราแล้ว กลัวภัยจึงไม่พูด
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น เมื่อจะแสดงความที่ตนไม่กลัวภัย จึงกราบทูลว่า)
[๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์หยั่งลงสู่บริษัทของพระองค์แล้วจะเกรงกลัวหามิได้
ข้าพระองค์ไม่พูดเพราะความเกรงกลัวก็หามิได้
ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำในเมื่อมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้น
(พระราชาสดับดังนั้นแล้วทรงแย้มสรวล ตรัสว่า)
[๑๔๐] เราไม่เห็นบริษัทที่ถืออาวุธเลย ไม่เห็นพลรถ พลราบ
เกราะ หรือโล่หนัง และนายขมังธนูผู้สรวมเกราะของท่านเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๑] เงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้แล้วอย่างดี
มีคูเรียงราย ยากที่จะข้ามได้
มีหอรบและป้อมอันมั่นคง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านเข้าไป
ไม่กลัวสิ่งที่ควรกลัว เรายังไม่เห็นเลย สุมุขะ
(หงส์สุมุขะเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๒] ข้าพระองค์ไม่ต้องการบริวารที่ถืออาวุธ นคร หรือทรัพย์
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายมีปกติเที่ยวไปในอากาศ
ย่อมไปยังหนทางอันเป็นสถานที่มิใช่หนทาง
[๑๔๓] ก็พระองค์ได้ทรงสดับมาว่า
ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์จะกล่าววาจาที่มีประโยชน์
ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในความสัตย์เถิด
[๑๔๔] ด้วยว่าถ้อยคำที่พวกข้าพระองค์กล่าวแล้ว
แม้จะเป็นสุภาษิต จะกระทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้
ผู้มิใช่คนประเสริฐมักกล่าวคำเท็จและหยาบช้า
[๑๔๕] พระองค์รับสั่งให้ขุดสระอันเกษมนี้ตามคำของพวกพราหมณ์
และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทานไปทั่วทิศทั้ง ๑๐ นี้
[๑๔๖] นกทั้งหลายจึงลงสู่สระโบกขรณีของพระองค์
ซึ่งมีน้ำใสสะอาด ที่สระบัวนั้นมีของกินเพียงพอ
และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายที่สระนั้น
[๑๔๗] พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว
จึงพากันมาใกล้สระโบกขรณีของพระองค์
พวกข้าพระองค์นั้นจึงถูกบ่วงของพระองค์รัด
คำประกาศนั้นเป็นภาษิตเท็จของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๔๘] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ
คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง ๒๑ไป
ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ
(พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๙] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้
เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย
เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๐] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง ๒
จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้
สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง
จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย
จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย
[๑๕๒] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ
หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ
จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น
[๑๕๓] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง ๒
คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สนธิทั้ง ๒ หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง ๒ อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้
ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๔๖/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๕๔] บุคคลได้ยศแล้วไม่พึงมัวเมา
ถึงความสงสัยในชีวิต๑แล้วไม่พึงเดือดร้อน
พึงพยายามในกิจการงานทั้งหลายร่ำไป
และพึงปิดช่องโหว่ทั้งหลาย๒เสีย
[๑๕๕] บัณฑิตผู้เจริญเหล่าใดผ่านชีวิตโลกนี้ไป
ถึงคราวใกล้ตาย ประพฤติธรรมในโลกนี้
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วด้วยประการฉะนี้
[๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้ว
ขอทรงรักษาธรรมไว้ในพระองค์เถิด
และขอทรงปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะ
ผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลายเถิด
(พระราชาครั้นสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๕๗] พนักงานทั้งหลายจงนำน้ำมันทาเท้า
และอาสนะอันมีค่ามากมา
เราจะปล่อยพญาหงส์ธตรัฏฐะผู้มียศออกจากกรง
[๑๕๘] และเราจะปล่อยพญาหงส์
ตัวที่เมื่อหงส์ผู้เป็นพระราชามีสุขก็เป็นสุขด้วย
เมื่อมีทุกข์ก็เป็นทุกข์ด้วย
ซึ่งเป็นหงส์เสนาบดี เป็นนักปราชญ์
มีปัญญาละเอียดอ่อน เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[๑๕๙] บุคคลเช่นนี้แลสมควรที่จะบริโภคก้อนข้าวของนายได้
เหมือนหงส์สุมุขะผู้เป็นเพื่อนร่วมชีวิตของพระราชา

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความสงสัยในชีวิต หมายถึงประสบทุกข์แล้วไม่พึงลำบาก (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)
๒ ปิดช่องโหว่ทั้งหลาย หมายถึงพึงปิด พึงกั้นช่องทะลุ (ข้อบกพร่อง) ของตน (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๔/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๖๐] ก็พญาหงส์ธตรัฏฐะได้บินเข้าไปจับตั่งทองคำล้วน
ซึ่งมีเท้า ๘ น่ารื่นรมย์ เกลี้ยงเกลา ปูลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี
[๑๖๑] ส่วนหงส์สุมุขะได้บินเข้าไปเกาะเก้าอี้ทองคำล้วน
ซึ่งบุด้วยหนังเสือโคร่ง ถัดจากพญาหงส์ธตรัฏฐะ
[๑๖๒] ชาวแคว้นกาสีจำนวนมากพาเอาอาหารอันเลิศ
ที่พระเจ้ากาสีทรงส่งไปด้วยถาดทองคำให้แก่พญาหงส์เหล่านั้น
[๑๖๓] พญาหงส์ธตรัฏฐะผู้ฉลาดในธรรมเนียมการปฏิสันถาร
เห็นอาหารอันเลิศที่เขานำมาแล้ว
ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงประทานส่งไป
ต่อจากนั้นจึงได้ทูลถามเป็นลำดับไปว่า
[๑๖๔] พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ทรงสุขสำราญดีอยู่หรือ
ไม่มีโรคเบียดเบียนหรือ
แคว้นอันมั่งคั่งนี้พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมหรือ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖๕] เราสุขสำราญดีพญาหงส์ และไม่มีโรคเบียดเบียน
อนึ่ง แคว้นอันมั่งคั่งนี้เราก็ปกครองโดยธรรม
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๖] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของพระองค์ไม่มีหรือ
อนึ่ง อำมาตย์เหล่านั้นไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๗] โทษบางสิ่งบางอย่างในหมู่อำมาตย์ของเราก็ไม่มี
อนึ่ง แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็ไม่กังวลถึงชีวิต
ในเพราะราชกิจอันเป็นประโยชน์ต่อเราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๖๘] พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับพระองค์
ทรงเชื่อฟัง ตรัสพระวาจาอ่อนหวานน่ารัก
ทรงมีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ทรงคล้อยตามพระอัธยาศัยของพระองค์หรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๖๙] ก็พระเทวีผู้มีพระชาติเสมอกับเรา
เชื่อฟัง กล่าววาจาอ่อนหวานน่ารัก
มีพระโอรสประกอบด้วยพระรูปโฉมและอิสริยยศ
ยังคล้อยตามอัธยาศัยของเราอยู่
(พญาหงส์โพธิสัตว์ ทูลถามว่า)
[๑๗๐] แคว้นมิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ หรือ
พระองค์ทรงปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๑] แคว้นก็มิได้ถูกเบียดเบียน
มิได้มีอันตรายแต่ที่ไหน ๆ เลย
เราปกครองโดยธรรมอย่างสม่ำเสมอ
โดยมิได้เกรี้ยวกราดเลย
(พญาหงส์โพธิสัตว์ทูลถามว่า)
[๑๗๒] สัตบุรุษพระองค์ทรงยำเกรง
ทรงเว้นอสัตบุรุษเสียห่างไกลหรือ
พระองค์มิได้ทรงห่างเหินธรรม
ประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๓] สัตบุรุษเราก็ยำเกรง
อสัตบุรุษเราก็เว้นห่างไกล
เราประพฤติคล้อยตามธรรมเหล่านั้น
ส่วนอธรรมเราได้ห่างเหินไปแล้ว
(พญาหงส์ทูลถามว่า)
[๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
พระองค์มิได้ทรงพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานหรือ
ทรงมัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ไม่ทรงสะดุ้งกลัวปรโลกหรือ
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๑๗๕] เราพิจารณาเห็นอนาคตอันยาวนานก็หาไม่
พญาหงส์ เราดำรงอยู่ในธรรม ๑๐ ประการ๑
จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

[๑๗๖] คือ ๑. ทาน ๒. ศีล
๓. การบริจาค ๔. ความซื่อตรง
๕. ความอ่อนโยน ๖. ความเพียร
๗. ความไม่โกรธ ๘. ความไม่เบียดเบียน
๙. ความอดทน ๑๐. ความไม่คลาดธรรม๑


เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ๑๐ ประการ คือทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน หมายถึงเจตนาให้วัตถุ ๑๐ ประการ
มีข้าวและน้ำเป็นต้น (๒) ศีล หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (๓) การบริจาค หมายถึงการบริจาคไทยธรรม
(๔) ความซื่อตรง หมายถึงความเป็นคนตรง (๕) ความอ่อนโยน หมายถึงความเป็นคนอ่อนโยน
(๖) ความเพียร หมายถึงกรรมคือการรักษาอุโบสถ (๗) ความไม่โกรธ หมายถึงความมีเมตตาเป็นเบื้องต้น
(๘) ความไม่เบียดเบียน หมายถึงความมีกรุณาเป็นเบื้องต้น (๙) ความอดทน หมายถึงความอดกลั้น
(๑๐) ความไม่คลาดจากธรรม หมายถึงความไม่ขัดเคือง (ขุ.ชา.อ. ๒๘/๑๗๖/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๗๗] เราเห็นกุศลธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่แล้วในตนด้วยประการฉะนี้
ต่อจากนั้นปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจึงเกิดแก่เรา
[๑๗๘] ส่วนหงส์สุมุขะนี้ไม่ทันคิด
ไม่ทราบความประทุษร้ายแห่งจิตต่อข้าพระองค์
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายออกมา
[๑๗๙] หงส์สุมุขะนั้นโกรธ
จึงได้เปล่งวาจาอันหยาบคายโดยไม่ไตร่ตรอง
กล่าวหาโทษที่ไม่มีอยู่ในข้าพระองค์
การเปล่งนี้ดูเหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ความพลั้งพลาดนั้นย่อมมีแก่ข้าพระองค์เพราะความผลุนผลัน
อนึ่ง เมื่อพญาหงส์ธตรัฏฐะติดบ่วง
ข้าพระองค์จึงได้มีทุกข์มากกว่า
[๑๘๑] พระองค์เป็นเสมือนพระบิดาของพระโอรสทั้งหลาย
เป็นเหมือนแผ่นดินเป็นที่พึ่งของภูตทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจพญาช้าง ขอพระองค์โปรดทรงงดโทษ
แก่ข้าพระองค์ผู้ถูกความผิดครอบงำด้วยเถิด
(พระราชาทรงสรวมกอดหงส์สุมุขะนั้นเมื่อจะรับการขอโทษ จึงตรัสว่า)
[๑๘๒] เมื่อเป็นเช่นนี้ เราขออนุโมทนาต่อท่าน
เพราะท่านไม่ปกปิดความจริง
พญาหงส์ ท่านย่อมทำลายตะปูตรึงจิต๑
จึงนับได้ว่าท่านเป็นหงส์ผู้ซื่อตรง

เชิงอรรถ :
๑ ตะปูตรึงจิต หมายถึงเสาแห่งจิตหรือหลักตอแห่งจิต (ได้แก่ ความโกรธ ความไม่พอใจ จิตถูกโทษ
ครอบงำทำให้แข็งกระด้างต่อผู้อื่น) (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๘/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๒.มหาหังสชาดก (๕๓๔)
[๑๘๓] รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่มากมาย
ในราชนิเวศน์แห่งแคว้นกาสี
คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้วไพฑูรย์
[๑๘๔] แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์เหลือง
หนังสัตว์ เครื่องงาช้าง ทองแดง และเหล็ก
เราขอมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจทุกชนิดนั้นให้แก่ท่านทั้ง ๒
และขอปล่อยท่านทั้ง ๒ ให้เป็นอิสระ
(พญาหงส์โพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงยำเกรงและทรงสักการะแล้วโดยแน่แท้
ขอพระองค์โปรดทรงเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้ประพฤติในธรรมทั้งหลายเถิด
[๑๘๖] ข้าแต่พระอาจารย์ผู้ทรงย่ำยีข้าศึก ข้าพระองค์ทั้ง ๒
ผู้อันพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว ทรงอนุมัติแล้ว
จะขอกระทำประทักษิณพระองค์แล้วกลับไปพบญาติทั้งหลาย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๘๗] พระเจ้ากาสีทรงดำริและทรงปรึกษา
อรรถคดีตามที่กล่าวมาตลอดราตรีทั้งปวงแล้ว
ทรงอนุญาตพญาหงส์ทั้ง ๒ ตัวประเสริฐสูงสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย
[๑๘๘] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่าง ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา
ขณะพระเจ้ากาสีกำลังทอดพระเนตรอยู่
พญาหงส์ทั้ง ๒ ได้โผบินไปสู่อากาศจากพระราชมณเฑียร
[๑๘๙] หงส์ทั้งหลายเห็นพญาหงส์ทั้ง ๒ นั้น
มาถึงโดยลำดับอย่างปลอดภัย
ต่างพากันส่งเสียงว่าเกก ๆ ได้เกิดสำเนียงเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๐] หงส์เหล่านั้นผู้มีความเคารพต่อผู้เป็นนาย
พากันปลาบปลื้มใจเพราะพญาหงส์ผู้เป็นนายพ้นจากบ่วง
จึงพากันแวดล้อมอยู่โดยรอบ หงส์ทั้งหลายได้ที่พึ่งแล้ว
[๑๙๑] ประโยชน์ทั้งปวงของบุคคลผู้มีกัลยาณมิตร
ย่อมสำเร็จผลเป็นความสุขความเจริญ
เหมือนพญาหงส์ธตรัฏฐะทั้ง ๒ ได้อยู่ใกล้หมู่ญาติฉะนั้น
มหาหังสชาดกที่ ๒ จบ

๓. สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
ว่าด้วยอาหารทิพย์
(โกสิยเศรษฐีกราบทูลท้าวสักกะว่า)
[๑๙๒] ของนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ซื้อมา
ทั้งไม่ได้ขายและไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าวสุกแล่งหนึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนสองคน
(ท้าวสักกะได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๙๓] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่มีน้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก ชื่อว่าการไม่ให้ย่อมไม่ควร
[๑๙๔] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(เมื่อท้าวสักกะประทับนั่ง จันทเทพบุตรจึงเข้าไปหาโกสิยเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า)
[๑๙๕] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็เป็นโมฆะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๑๙๖] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้นสุริยเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๗] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผล
แม้ความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาก็มีผล
[๑๙๘] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น มาตลีเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๑๙๙] ก็บุคคลใดเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่ง
แล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อว่าคยาบ้าง
ที่ท่าน้ำชื่อโทณะและท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง
ที่ห้วงน้ำใหญ่อันมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[๒๐๐] ผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของเขาในที่นั้น
และความบากบั่นแสวงหาทรัพย์ของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[๒๐๑] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(ต่อจากนั้น ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๒๐๒] ส่วนผู้ใดเมื่อแขกนั่งอยู่แล้วยังบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเหยื่อที่มีสายยาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๓] ท่านโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น
ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค
จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของพราหมณ์เหล่านั้น จึงถามว่า)
[๒๐๔] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
เพราะเหตุอะไร สุนัขของพวกท่านจึงเปลี่ยนสีได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอท่านจงบอกข้าพเจ้า พวกท่านเป็นใครกัน
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๒๐๕] เหล่าเทพที่มา ณ ที่นี้ คือ จันทเทพบุตร
และสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ ส่วนผู้นี้คือมาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
และผู้นี้ชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกเทวราชเมื่อจะทรงสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๐๖] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
[๒๐๗] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักด่าว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่นรก
[๒๐๘] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือ ความสำรวมและการจำแนกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้
หลังจากตายแล้วย่อมไปสู่สุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๐๙] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ มักโกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมอันเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีได้ฟังดังนั้นมีจิตยินดี จึงกล่าวว่า)
[๒๑๐] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่นอน
จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้น
จะทำตามที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[๒๑๑] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จะไม่กระทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่ให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้ว ก็จะไม่ยอมดื่ม
[๒๑๒] ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
ถึงโภคะทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วจักบวช
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๑๓] เทพธิดาเหล่านั้นอันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงอภิบาลแล้วบันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐสูงสุด
ครั้งนั้น ฤๅษีผู้ประเสริฐสามารถจะไปได้ทั่วโลก
ได้ถือเอาช่อดอกไม้อันประเสริฐมีดอกบานสะพรั่งเดินมา
[๒๑๔] ก็ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม
อันเหล่าเทพชั้นไตรทศสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด
อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอมรเทพทรงใช้สอย
ซึ่งพวกมนุษย์หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา
เป็นดอกไม้ที่สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๑๕] ลำดับนั้น เทพนารีทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
เป็นใหญ่กว่าเทพธิดาทั้งหลาย คือ ๑. เทพธิดาอาสา
๒. เทพธิดาสัทธา ๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ต่างลุกขึ้นกล่าวกับพระนารทมุนีเทวพราหมณ์ว่า
[๒๑๖] ข้าแต่พระมหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้
พระคุณเจ้ามิได้เจาะจงจะให้แก่ผู้ใด
ขอพระคุณเจ้าจงให้แก่พวกดิฉันเถิด
ขอคติทั้งปวงจงสำเร็จแด่พระคุณเจ้า
แม้พระคุณเจ้าก็จงให้แก่พวกดิฉันเหมือนท้าววาสวะเท่านั้นเถิด
[๒๑๗] นารทดาบสเพ่งดูเทพธิดาทั้ง ๔ นางพากันขอดอกไม้นั้นอยู่
จึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะแล้วกล่าวว่า
อาตมาหามีความต้องการดอกไม้เหล่านี้แม้สักน้อยหนึ่งไม่
บรรดาพวกเธอทั้ง ๔ ผู้ใดประเสริฐกว่า
ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางนั้นกล่าวว่า)
[๒๑๘] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้านั้นแหละ
โปรดจงพิจารณาดูพวกดิฉัน
พระคุณเจ้าปรารถนาจะให้แก่นางใดก็จงให้แก่นางนั้น
ข้าแต่ท่านนารทะ ก็บรรดาดิฉันทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจักมอบให้แก่นางใด
นางนั้นเท่านั้นจักเป็นผู้ที่พวกดิฉันยกย่องว่าประเสริฐที่สุด
(นารทดาบสกล่าวว่า)
[๒๑๙] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม คำนั้นไม่สมควรเลย
พราหมณ์คนไหน ใครเล่าจะพึงเปล่งถ้อยคำชวนทะเลาะได้
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ต่อจากนั้น พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๒๒๐] เทพธิดาเหล่านั้นถูกนารทดาบสกล่าวแนะนำ
มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้ว
ด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ จึงไป ณ สำนักท้าวสหัสสนัยน์
แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตว่า
บรรดาหม่อมฉัน ใครหนอประเสริฐกว่า
(เทพธิดาทั้ง ๔ นางได้ยืนทูลถามอย่างนั้นแล้ว พระศาสดา จึงตรัสว่า)
[๒๒๑] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ผู้อันเทพธิดาทั้ง ๔ กระทำอัญชลีแล้ว
ทอดพระเนตรเห็นเทพธิดาทั้ง ๔ ผู้กระตือรือร้น
จึงตรัสว่า ลูกหญิงมีความงามเป็นเลิศ มีใบหน้าผ่องใส
พวกเจ้าทั้งปวงล้วนทัดเทียมกัน
ใครเล่าหนอจะกล่าวถ้อยคำทะเลาะกันขึ้นได้
(ลำดับนั้น เทพธิดาเหล่านั้นเมื่อจะกราบทูลท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๒๒] พระนารทมหามุนีองค์ใดผู้ท่องเที่ยวไปได้ทั่วโลก
ดำรงอยู่ในธรรม มีความบากบั่นอย่างจริงจัง
ท่านนั้นได้กล่าวแก่พวกหม่อมฉันที่ภูเขาคันธมาทน์
ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า
จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตดูเถิด
ถ้าพวกเธอในที่นี้ไม่ทราบว่าตนสูงสุดหรือต่ำทราม
(ท้าวสักกะเมื่อจะตรัสบอกเหตุ จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๓] ลูกหญิงผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
มีมหามุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่นามว่าโกสิยะ
ท่านไม่ให้แล้วจะไม่ยอมบริโภคอาหาร
ท่านพิจารณาแล้วจึงจะให้ทาน ก็ท่านจักให้แก่ลูกหญิงผู้ใด
ผู้นั้นแหละประเสริฐกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(ท้าวสักกะเมื่อจะส่งเทพธิดาทั้ง ๔ ไปสำนักโกสิยดาบส ให้เรียกมาตลีเทพบุตร
มาแล้ว จึงตรัสคาถาว่า)
[๒๒๔] ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ ณ ทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ข้างหิมวันตบรรพต โกสิยดาบสนั้นมีน้ำและโภชนะหาได้ยาก
นี่แน่ะเทพสารถี ท่านจงนำอาหารทิพย์ไปถวายให้ถึงแก่ท่าน
(ต่อจากนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า)
[๒๒๕] มาตลีเทพบุตรนั้นถูกท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
ทรงส่งไป จึงขึ้นรถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัว
ได้ไปถึงอาศรมอย่างเร็วพลันนั่นแล ไม่ปรากฏกาย
ได้ถวายอาหารทิพย์แก่พระมุนีแล้ว
(โกสิยดาบสรับโภชนะแล้วยืนอยู่นั่นแหละ กล่าวว่า)
[๒๒๖] ก็เมื่อเรายืนบำเรอการบูชาไฟอยู่ต่อหน้าดวงอาทิตย์
ซึ่งบรรเทาความมืดในโลกอันอุดม
ท้าววาสวะผู้ทรงครอบงำภูตทั้งปวง
หรือใครกันแน่มาวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเรา
[๒๒๗] อาหารทิพย์นี้ขาวอุปมาดังสังข์ ไม่มีสิ่งเปรียบปาน
น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอม น่าพอใจ ไม่เคยมีมา
ยังไม่เคยได้เห็นด้วยตาของเราผู้เป็นคน
เทวดาตนใดวางอาหารทิพย์ไว้ในฝ่ามือของเราหรือ
(มาตลีเทพสารถีกล่าวว่า)
[๒๒๘] ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทพ ผู้ยิ่งใหญ่ใช้มา
จึงได้รีบนำอาหารทิพย์มา ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า มาตลีเทพสารถี
ขอพระคุณเจ้าจงบริโภคภัตรอันอุดม อย่าห้ามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๒๙] ก็อาหารทิพย์นั้นบุคคลผู้บริโภคแล้ว
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ

๑. ความหิว ๒. ความกระหาย
๓. ความไม่ยินดี ๔. ความกระวนกระวาย
๕. ความเหน็ดเหนื่อย ๖. ความโกรธ
๗. ความผูกโกรธ ๘. ความวิวาท
๙. ความส่อเสียด ๑๐. ความหนาว
๑๑. ความร้อน ๑๒. ความเกียจคร้าน
อาหารทิพย์นี้รสยอดเยี่ยม

(โกสิยดาบสเมื่อจะเปิดเผยการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวคาถาว่า)
[๒๓๐] มาตลี การไม่ให้ก่อนแล้วบริโภคไม่สมควรแก่อาตมา
วัตรอันอุดมของอาตมาเป็นดังนี้
อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยะหาบูชาไม่
และบุคคลผู้ไม่จำแนกแจกจ่ายย่อมไม่ประสบความสุข
(โกสิยดาบสถูกมาตลีเทพบุตรถาม จึงตอบว่า)
[๒๓๑] ชนทั้งหลายเหล่านี้ บางพวกเป็นผู้ฆ่าหญิง
คบชู้ภรรยาชายอื่น ประทุษร้ายมิตร
และด่าว่าสมณะและพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม
ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีความตระหนี่เป็นประการที่ ๕
ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น
แม้แต่น้ำอาตมาไม่ให้แล้วจะไม่ยอมดื่ม
[๒๓๒] อนึ่ง อาตมาจักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแก่หญิงหรือชาย
เพราะว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา
รู้ถ้อยคำของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสะอาดและซื่อสัตย์ในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๓๓] ลำดับนั้น เทพกัญญาทั้ง ๔ นางผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ
ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทพทั้งหลาย
ทรงอนุมัติแล้ว ทรงส่งไปแล้ว คือ
๑. เทพธิดาอาสา ๒. เทพธิดาสัทธา
๓. เทพธิดาสิรี ๔. เทพธิดาหิรี
ได้มาถึงอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น
[๒๓๔] โกสิยดาบสครั้นเห็นเทพกัญญาเหล่านั้น
มีความปราโมทย์อย่างยิ่ง จึงได้กล่าวกับเทพกัญญาทั้ง ๔
ผู้มีผิวพรรณงดงามประดุจเปลวเพลิงทั้ง ๔ ทิศ
ต่อหน้ามาตลีเทพบุตรว่า
[๒๓๕] แม่เทพธิดา เธอมีนามใด ประดับตบแต่งร่างกายงดงาม
ประดุจดาวประกายพรึกซึ่งประเสริฐกว่าดวงดาวทั้งหลาย
มีผิวพรรณเปล่งปลั่งอยู่ ณ ทิศตะวันออก
อาตมาขอถามเธอผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(สิรีเทพกัญญาตอบว่า)
[๒๓๖] ดิฉันชื่อสิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
[๒๓๗] ท่านมหามุนี ดิฉันปรารถนาอาหารทิพย์ของนรชนใด
นรชนนั้นย่อมบันเทิงใจด้วยกามคุณทั้งปวง ข้าแต่พระคุณเจ้า
ผู้มีปัญญาอันประเสริฐ อุดมกว่าผู้บูชาไฟทั้งหลาย
พระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิรีเทวี
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๓๘] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปวิทยา มารยาท
และความรู้ เป็นผู้ชำนาญการงานของตน
ถูกเธอทอดทิ้งให้เหินห่าง ย่อมไม่ได้อะไรแม้แต่น้อย
ความขาดแคลนที่เธอกระทำแล้วนั้นไม่ดีเลย
[๒๓๙] แม่นางสิรีเทวี อาตมาเห็นคนผู้เกียจคร้าน กินจุ
ทั้งเป็นคนมีตระกูลต่ำ มีรูปร่างแปลกประหลาด
คนนั้นผู้อันเธอเฝ้าคุ้มครองรักษา
กลับกลายเป็นคนมีโภคะ มีความสุข
แม้คนผู้สมบูรณ์ด้วยชาติตระกูล
ก็ใช้สอยได้เหมือนอย่างทาส
[๒๔๐] เพราะฉะนั้น อาตมาจึงรู้จักเธอว่า ไม่มีสัจจะ
ไม่แยกคบคน เป็นคนงมงาย ทำผู้รู้ให้ตกต่ำ
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด
อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางอาสาเทพธิดาว่า)
[๒๔๑] ใครกันนั่น มีฟันขาวสะอาด
สวมใส่ตุ้มหู มีเรือนร่างงามวิจิตร
ทรงเครื่องประดับทองคำเนื้อเกลี้ยง นุ่งห่มภูษาสีรดน้ำ
ประดับช่อดอกไม้สีแดงประดุจเปลวไฟที่ไหม้หญ้าคา
ดูช่างงดงาม
[๒๔๒] เธอเหมือนนางเนื้อทรายผู้ตื่นกลัว
ที่ถูกนายพรานยิงพลาดแล้วมองดูอย่างงุนงง
แม่เทพธิดาผู้มีดวงตาซื่อ ในที่นี้ใครเป็นเพื่อนของเธอ
เธอเที่ยวไปผู้เดียวในป่าใหญ่ ไม่กลัวหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(อาสาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๔๓] ข้าแต่ท่านโกสิยะ ในที่นี้ดิฉันไม่มีเพื่อน
ดิฉันเป็นเทพธิดาเกิดในดาวดึงสพิภพ ชื่อเทพธิดาอาสา
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะหวังจะได้อาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๔๔] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์มีความหวังจึงจะไป
ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในท้องทะเล
บางครั้งพวกเขาย่อมจมลงในท้องทะเลนั้นบ้าง
บางคราวพวกเขาย่อมสูญสิ้นทรัพย์ขาดทุนกลับมาบ้าง
[๒๔๕] ชาวนาทั้งหลายมีความหวังจึงไถนา
หว่านพืช กระทำตามวิธีการ
แต่เพราะศัตรูพืชลงบ้าง ฝนแล้งบ้าง
พวกเขาจึงไม่ได้ประสบผลอะไร ๆ อันจะมีมาจากข้าวกล้านั้น
[๒๔๖] อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
ตั้งความหวังไว้เบื้องหน้า
ย่อมทำการเยี่ยงบุรุษของตนในกิจหน้าที่ของเจ้านาย
แต่พวกเขากลับถูกบีบคั้นอย่างหนัก
ไม่ได้อะไร ๆ แม้แต่น้อยเลย
เตลิดหนีไปทั่วทิศเพื่อประโยชน์แก่เจ้านาย
[๒๔๗] นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข
มีใจมุ่งหวังที่จะไปสวรรค์
จึงสละธัญญชาติ ทรัพย์สมบัติ และเครือญาติ
บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองแม้ตลอดกาลนาน
ขึ้นสู่ทางผิด จึงแล่นไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๔๘] ความหวังชื่อว่าก่อเรื่องคลาดเคลื่อน
นรชนเหล่านี้พากันตกนรกก็เพราะหวัง
แน่ะแม่อาสา เธอจงเลิกอาหารทิพย์ในตัวเธอเสีย
คนเช่นเธอไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางสัทธาเทพธิดาว่า)
[๒๔๙] เธอผู้มียศรุ่งเรือง อยู่ด้วยยศ เป็นเจ้าประจำทิศ
อาตมาขอถามเธอผู้มีนามอันน่าเกลียด
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพชั้นไหน
(ต่อจากนั้น นางสัทธาเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๐] ดิฉันชื่อสัทธาเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
ขอพระคุณเจ้าโปรดแบ่งอาหารทิพย์ให้ดิฉันบ้างเถิด
(โกสิยดาบสกล่าวว่า)
[๒๕๑] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายยึดถือการให้ทานบ้าง
การฝึกฝนตนบ้าง การบริจาคบ้าง ความสำรวมบ้าง
กระทำไปด้วยศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกลับถูกเธอ
ชักนำผิดทาง จึงกระทำการขโมยบ้าง พูดเท็จบ้าง
คดโกงบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง
[๒๕๒] บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งภรรยาทั้งหลายของชายอื่น
ผู้เสมอเหมือนกัน ประกอบด้วยศีลบ้าง มีวัตรปฏิบัติต่อสามีบ้าง
กำจัดความพอใจแม้ในหญิงทั้งหลายที่เป็นกุลสตรีออกเสียแล้ว
กลับทำความศรัทธาในนางกุมภทาสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๓] แม่นางสัทธาเทพธิดา เธอนั้นแหละประพฤตินอกใจ
กระทำความชั่ว ละทิ้งความดี
เทพธิดาเช่นเธอจึงไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ
อาหารทิพย์ที่ไหนจักมี จงไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจเธอ
(โกสิยดาบสสนทนากับนางหิรีเทพธิดาว่า)
[๒๕๔] ในที่สุดแห่งราตรี เมื่อยามรุ่งอรุณ
เทพธิดาผู้ปรากฏรูปพรรณอันอุดม
เธอปรากฏกับอาตมาเปรียบได้กับเทพธิดาผู้นั้น
โปรดบอกอาตมาเถิดว่า เธอเป็นเทพอัปสรชั้นไหน
[๒๕๕] เธอนั้นเป็นใคร เหมือนเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน
เหมือนเปลวเพลิง เหมือนดอกไม้มีกลีบสีแดง
ที่โอนเอนไปมาเพราะถูกลมพัด
คล้ายแม่เนื้อตัวเซื่องซึมกำลังชะเง้อมอง
ดูเหมือนมีความประสงค์จะกล่าว แต่ก็ไม่เปล่งวาจา
(หิรีเทพธิดากล่าวว่า)
[๒๕๖] ดิฉันชื่อหิรีเทวี ได้รับการบูชาจากหมู่มนุษย์
มีปกติไม่คบหาสัตว์ผู้มีใจชั่วทุกเมื่อ
มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะทะเลาะกันด้วยเรื่องอาหารทิพย์
ดิฉันไม่อาจจะขอแม้อาหารทิพย์ได้
สำหรับหญิง การขอเป็นเหมือนการเปิดเผยอวัยวะที่น่าละอาย
(โกสิยดาบสครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๕๗] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างอันงดงาม
เธอจักได้ตามธรรม ตามเหตุ เพราะว่าอาหารทิพย์
ใคร ๆ จะได้เพราะการขอหามิได้ นี้เป็นธรรมเนียม
เพราะฉะนั้น อาตมาพึงเชื่อเธอผู้ไม่ขอ
เธอปรารถนาอาหารทิพย์ใด
อาตมาจะให้แม้อาหารทิพย์นั้นแก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๕๘] แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างประดุจหุ่นทองคำ
วันนี้ อาตมาขอเชิญเธอในอาศรมของอาตมา
ขอบูชาเธอด้วยรสทุกชนิด แม้อาหารทิพย์นั้น
อาตมาครั้นบูชาเธอแล้วจึงจักบริโภค
(พระบรมศาสดาตรัสพระคาถาต่อไปว่า)
[๒๕๙] หิรีเทวีเทพธิดานั้นได้รับอนุมัติอย่างแน่นอน
จากโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรือง
จึงได้เข้าไปยังอาศรมอันน่ารื่นรมย์
มีน้ำมีผลไม้อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว
เป็นสถานที่ที่สัตว์ผู้มีใจชั่วไม่เข้าไปคบหาทุกเมื่อ
[๒๖๐] ณ ที่ใกล้อาศรมนี้มีหมู่ไม้นานาชนิด
ผลิดอกออกผลจำนวนมาก คือ
มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม
อีกทั้งโลดทะนง บัวบก การะเกด จันทน์กระพ้อ
และหมากหอมก็ผลิดอกบานสะพรั่ง
[๒๖๑] ในป่านี้มีต้นไม้จำนวนมาก คือ
สาละ กุ่ม หว้า โพธิ ไทร มะซาง โศก
ราชพฤกษ์ แคฝอย ย่านทราย จิก และลำเจียก
มีกลิ่นหอมหวลน่ายวนใจ
[๒๖๒] ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า มะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย
ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด
ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และข้าวสาร
ก็มีจำนวนมากในอาศรมนี้
[๒๖๓] อนึ่ง ด้านเหนือแห่งอาศรมนี้มีสระโบกขรณีเกิดขึ้นเอง
น่าเกษมสำราญ น้ำไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ
น้ำใสสะอาด จืดสนิทดี ไม่มีกลิ่นปฏิกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๖๔] ในสระโบกขรณีนั้นมีปลานานาชนิด คือ
ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง
ปลาตะเพียน ปลาสลาด และปลากา
ต่างพากันแหวกว่ายเกลื่อนกลาดอยู่ในสระที่มีขอบคัน
อย่างร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๕] ที่สระโบกขรณีนั้นมีนกนานาชนิด คือ
หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจักรพราก
นกออก นกดุเหว่า นกที่มีปีกสวยงาม
นกมีหงอน และนกโพระดกจำนวนมากมาย
ต่างพากันร่าเริงเกษมสำราญ ทั้งมีอาหารมากมาย
[๒๖๖] ฝูงเนื้อนานาชนิดจำนวนมาก คือ
สิงโต เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาป่า และเสือดาว
ต่างพากันมาดื่มน้ำที่สระโบกขรณีนั้น
[๒๖๗] ณ ที่นั้นมีทั้งแรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง
เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน ชะมด เสือปลา
กระต่าย และวัวกระทิงเป็นจำนวนมาก
[๒๖๘] ภาคพื้นและขุนเขาดารดาษไปด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร
กึกก้องระงมไปด้วยเสียงฝูงนกขานขัน
เป็นสถานที่ฝูงนกอยู่อาศัย
(พระบรมศาสดาเพื่อจะทรงแสดงอาการที่หิรีเทพธิดาเข้าไปในอาศรมนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๒๖๙] เทพธิดานั้นผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดทรงดอกไม้สีเขียว
เยื้องกรายเข้าไปยังอาศรม
ประดุจสายฟ้าในระหว่างกลุ่มมหาเมฆ
โกสิยดาบสได้จัดตั้งเก้าอี้ที่ทำด้วยหญ้าคา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
มีพนักถักไว้อย่างดี สะอาด มีกลิ่นหอม
ปูลาดด้วยหนังสัตว์เพื่อเทพธิดานั้น
แล้วได้กล่าวคำนี้กับหิรีเทวีเทพธิดาว่า
เชิญนั่งให้สบายเถิด แม่โฉมงาม นี่อาสนะ
[๒๗๐] ในกาลนั้น เมื่อนางหิรีเทวีนั้นนั่งบนเก้าอี้แล้ว
โกสิยมหามุนีผู้สวมชฎาและหนังเสือเหลือง
ได้รีบนำอาหารทิพย์พร้อมกับใช้ใบบัวสดตักน้ำมา
เพื่อนางเทพธิดาผู้ปรารถนาตามความต้องการด้วยตนเอง
[๒๗๑] หิรีเทวีเทพธิดานั้นมีใจเบิกบาน
ประคองรับอาหารทิพย์นั้นด้วยมือทั้ง ๒
แล้วได้กล่าวกับโกสิยดาบสผู้เกล้าชฎาว่า
เอาเถิด พระมุนีผู้ประเสริฐ บัดนี้
ดิฉันเป็นผู้ที่พระคุณเจ้ายอมบูชา ได้รับชัยชนะแล้ว
จะพึงกลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๒๗๒] เทพธิดานั้นผู้มัวเมาแล้วด้วยความมัวเมาในผิวพรรณ
อันโกสิยดาบสผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองอนุญาตแล้ว
ได้ไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ นี้อาหารทิพย์
ขอพระองค์ทรงประทานชัยชนะให้แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า
[๒๗๓] แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชาหิรีเทวีเทพธิดานั้น
ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์
ต่างพากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด
เทพธิดานั้นเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประนมมือบูชา
ในกาลที่ตนเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงทำข้อความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสว่า)
[๒๗๔] ท้าวสหัสสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ได้ตรัสกับมาตลีเทพสารถีนั้นอีกว่า
ท่านจงไปถามโกสิยฤๅษีตามคำของเราว่า
ข้าแต่ท่านโกสิยะ เว้นเทพธิดาอาสา เทพธิดาสัทธา
และเทพธิดาสิรีเสีย เทพธิดาหิรีผู้เดียว
ได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
[๒๗๕] มาตลีเทพสารถีได้ขึ้นสู่เวชยันตราชรถอันรุ่งเรือง
เช่นกับเครื่องอุปกรณ์ มีหงอนอันสำเร็จด้วยทองชมพูนุท
โชติช่วงดุจดวงตะวัน ประดับตบแต่งอย่างงดงาม
มีประกายวิจิตรดังทองคำเลื่อนลอยไปได้โดยสะดวกสบาย
[๒๗๖] ณ ราชรถนี้มีรูปดวงจันทร์ รูปช้าง รูปโค รูปม้า รูปกินนร
รูปเสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทรายทำด้วยทองคำ
ประชุมกันมากมาย มีรูปนกทำท่าทางโผบินอยู่ในราชรถนี้
รูปมฤคาทำด้วยแก้วไพฑูรย์ประชุมกันเป็นฝูง ๆ ในราชรถนี้
[๒๗๗] ที่ราชรถนั้น เทพบุตรทั้งหลายได้เทียมอัศวราชที่มีผิวกาย
คล้ายทองคำ มีพลังเช่นกับช้างหนุ่มประมาณ ๑,๐๐๐ เชือก
ประดับตบแต่งแล้ว มีเครื่องประดับอกคือข่ายทองคำ
มีพู่ห้อยหูทั้ง ๒ ข้าง วิ่งไปได้ด้วยเสียงรวดเร็วไม่ติดขัด
[๒๗๘] มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ราชยานอันประเสริฐนั้น
ได้บันลือไปตลอดทิศทั้ง ๑๐ เหล่านี้
ยังท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ใหญ่อันเป็นเจ้าแห่งป่าในไพรสณฑ์
และแผ่นดินพร้อมทั้งสมุทรสาครให้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น
[๒๗๙] มาตลีเทพสารถีนั้นได้ไปถึงอาศรมโดยเร็วพลัน
กระทำผ้าปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประนมมือแล้วได้กล่าวกับโกสิยเทวพราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต
มีคุณอันเจริญ มีวัตรอันฝึกฝนดีแล้วว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
[๒๘๐] ท่านโกสิยะ ขอพระคุณเจ้าจงสดับถ้อยคำของพระอินทร์
ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะตรัสถามพระคุณเจ้าว่า
(ท่านโกสิยะ) เว้นพระนางอาสาเทวี
พระนางสัทธาเทวี และพระนางสิรีเทวีเสีย
พระนางหิรีเทวีผู้เดียวได้อาหารทิพย์แล้วเพราะเหตุไร
(โกสิยดาบสฟังคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๒๘๑] มาตลีเทพสารถี ก็พระนางสิรีเทวี
ปรากฏกับอาตมาว่าเป็นคนตาบอด
พระนางสัทธาเทวีเป็นคนไม่แน่นอน
ส่วนพระนางอาสาเทวีอาตมารู้ได้ว่าเป็นคนพูดจาเหลวไหล
แต่พระนางหิรีเทวีดำรงอยู่ในคุณอันประเสริฐ
(โกสิยดาบสเมื่อจะสรรเสริญคุณของหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๒] หญิงใด ๆ บางพวก คือ ๑. หญิงสาว
๒. หญิงที่โคตรตระกูลรักษา ๓. หญิงหม้าย
๔. หญิงมีสามี เหล่านี้รู้ฉันทราคะของตนที่เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า
ในบุรุษทั้งหลายแล้วหักห้ามจิตของตนเสียได้ด้วยหิริ
[๒๘๓] เมื่อเหล่านักรบผู้พ่ายแพ้ในสงคราม
ที่กำลังสู้รบด้วยลูกศรและหอก
บางพวกกำลังล้มตาย บางพวกกำลังหนีไป
นักรบเหล่าใดสละชีวิตแล้วย่อมหวนกลับมาด้วยความละอาย
นักรบผู้มีความละอายใจเหล่านั้น
จึงกลับมารับใช้เจ้านายได้อีก (กล้าสู้หน้าเจ้านาย)
[๒๘๔] ก็หิรีเทวีเทพธิดานี้มีปกติห้ามชนผู้มีใจบาปเพราะมีหิริ
เปรียบเหมือนทำนบมีปกติกั้นกระแสแห่งสาคร
เทพสารถี เพราะเหตุนั้น ท่านจงกราบทูลหิรีเทวีเทพธิดา
ซึ่งท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวงนั้นให้พระอินทร์ทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๓.สุธาโภชนชาดก (๕๓๕)
(มาตลีเทพบุตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๒๘๕] ท่านโกสิยดาบส พระพรหมก็ตาม
พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ก็ตาม ท้าวปชาบดีก็ตาม
ใครเล่าจะหยั่งถึงความเห็นของพระคุณเจ้านี้ได้
พระคุณเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ก็พระธิดาของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่เกิดได้รับยกย่องว่า
ประเสริฐสุดในหมู่เทพเพราะมีหิริ
(มาตลีเทพบุตรประสงค์จะนำโกสิยดาบสไปยังเทวโลก จึงกล่าวว่า)
[๒๘๖] เชิญเถิด เชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถเหาะไป
สู่สวรรค์ชั้นไตรทศ ณ บัดนี้เถิด
รถคันนี้น่าพอใจพระคุณเจ้าผู้มีโคตรเสมอกับพระอินทร์
แม้พระอินทร์ก็ทรงจำนงหวังพระคุณเจ้าอยู่
ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันนี้เถิด
(พระบรมศาสดาตรัสว่า)
[๒๘๗] สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ทำบาปย่อมหมดจดด้วยอาการอย่างนี้
อนึ่ง ผลกรรมที่ประพฤติดีแล้วจะไม่สูญหาย
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นอาหารทิพย์
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดได้ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์
[๒๘๘] หิรีเทวีเทพธิดาคือพระอุบลวรรณาเถรี
โกสิยฤๅษีคือภิกษุทานบดี
ปัญจสิขเทพบุตรคืออนุรุทธเถระ
ส่วนมาตลีเทพสารถีคือพระอานนทเถระ
[๒๘๙] สุริยเทพบุตรคือพระมหากัสสปเถระ
จันทเทพบุตรคือพระมหาโมคคัลลานเถระ
นารทดาบสคือพระสารีบุตรเถระ
ส่วนท้าวสักกะคือตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้แล
สุธาโภชนชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๔. กุณาลชาดก (๕๓๖)
ว่าด้วยนกดุเหว่า
เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ฟังตามกันมาอย่างนี้ว่า ที่ประเทศหิมพานต์อันทรงไว้ซึ่ง
แผ่นดินมีโอสถทุกชนิด ดารดาษไปด้วยดอกไม้และพวงดอกไม้มากมายหลายชนิด
เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โคลาน กระบือ กวาง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด สิงโต
เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า เสือดาว นาก ชะมด เสือปลา กระต่าย
วัวกระทิง เป็นที่อาศัยแห่งโขลงช้างใหญ่และช้างพลายตระกูลมหานาค เกลื่อนกล่น
อยู่ทั่วปริมณฑลอันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน อีเก้ง ยักษิณี
หน้าลา กินนร ยักษ์ และรากษสอาศัยอยู่ร่วมกัน ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้มากมาย
หลายพันธุ์มีทั้งดอกยังตูม ทั้งกำลังออกช่อ ทั้งดอกที่บานสะพรั่ง และดอกที่บาน
ตลอดยอด มีฝูงนกเขา นกโพระดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกดุเหว่า นกยาง นกกระสา
ส่งเสียงร้องกึกก้องระงมไพร เป็นภูมิประเทศประดับแน่นไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย
ชนิดเป็นต้นว่าอัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงคุ์ ทอง เงิน และทองคำ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าตัวหนึ่งชื่อ
กุณาละ อาศัยอยู่ เป็นนกที่สวยงาม มีขนและปีกงดงามยิ่งนัก
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า นกดุเหว่าตัวนั้นมีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอ
ถึง ๓,๕๐๐ ตัว ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่า ๒ ตัวใช้
ปากคาบท่อนไม้ให้นกกุณาละนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความ
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนนกกุณาละนั้นเลย” นาง
นกดุเหว่า ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้านกกุณาละนี้พลัดตกจากคอน
พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผานก
กุณาละนั้นเลย”
นางนกฝูงละ ๕๐๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่า
ได้ถูกต้องนกกุณาละนั้นเลย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนก ๕๐๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวด ทำร้ายนก
กุณาละนั้นเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน
และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้เงียบเหงาอยู่บนคอนเลย”
นางนก ๕๐๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกดุเหว่าเหล่านั้นพาเอานกกุณาละ
นั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่าน้ำไปยังท่าน้ำ
จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวนต้นหว้าไปยัง
สวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวนมะพร้าวไปยัง
สวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นกกุณาละผู้มีนางนกเหล่านั้น
ห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน ก็ยังด่าอย่างนี้ว่า “ถอยออกไป พวกเจ้าอีนกถ่อย พวกเจ้า
จงฉิบหาย อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตน
เองเหมือนลม๑”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาหิมพานต์
นั้นแล มีแม่น้ำที่เกิดแต่ภูเขาอันสุขุมละเอียดอ่อน มีสีเขียว ไหลบ่าออกมา เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ถ่อย หมายถึงชั่ว เลว ทราม โจร ในที่นี้หมายถึงเป็นตัวล้างผลาญทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นในเรือน
นักเลง ในที่นี้หมายถึงเป็นสัตว์มีมายามาก เผอเรอ หมายถึงเสียสติ ใจเบา หมายถึงมีใจไม่มั่นคง
เนรคุณคน ในที่นี้หมายถึงเป็นส้ตว์ก่อความพินาศ เพราะประทุษร้ายมิตร ตามใจตนเองเหมือนลม
หมายถึงไปตามชอบใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๗-๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ภูมิประเทศที่สมควรรื่นรมย์ใจ ชื่นใจ ด้วยกลิ่นหอมแห่งดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท
ดอกบัวขาว ดอกสัตบุศย์ ดอกจงกลนี และดอกบัวเผื่อน ซึ่งงอกงามขึ้นในบัดนั้น
เป็นดังป่าหมู่ไม้นานาพันธุ์ คือ ต้นโกฐคำ ต้นจิก ต้นลำเจียก ต้นย่านทราย
ต้นอ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประดู่ ต้นขมิ้น ต้นรัง
ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นเสม็ด ต้นโลดทะนง และต้น
จันทน์แดง เป็นป่าชัฏที่ดาษดื่นไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นบัวบก ต้นประยงค์ ต้น
เทพพารุ และต้นกล้วย เป็นภูมิภาคที่สะพรั่งไปด้วยพวงช่อดอกไม้แห่งต้นรกฟ้า
ต้นอัญชัน ต้นปรู ต้นสัก ต้นคนทีสอ ต้นกรรณิการ์ ต้นหางช้าง ต้นคัดเค้า
ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นโยธกา ต้นมะลิป่า ต้นหงอนไก่ อันปราศจากมลทิน
ไม่มีโทษ และต้นขานางอันสวยงามยิ่ง อันดารดาษไปด้วยพุ่มและกอแห่งต้นมะลิซ้อน
ต้นนมแมว ต้นแคธนู ต้นเปราะหอม ต้นกฤษณา และต้นแฝกหอม เป็นประเทศ
ที่ดารดาษประดับไปด้วยเครือเถาดอกไม้ที่เบ่งบานสวยงามน่าพอใจยิ่งนัก มีฝูงหงส์
นกนางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำส่งเสียงกึกก้องร้องระงม เป็นที่สถิตอยู่แห่ง
หมู่วิทยาธร นักสิทธิ์ สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่สัญจรไปมาเป็นอาจิณแห่ง
หมู่เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนก
ดุเหว่าขาวอีกตัวหนึ่งชื่อปุณณมุขะ อาศัยอยู่ มีสำเนียงไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตางดงาม
มีดวงตาแดงเหมือนคนเมา
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นแลมีนางนก
เป็นบริวาร ๓๕๐ ตัว ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนก ๒ ตัวใช้ปากคาบท่อนไม้ให้
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นจับตรงกลาง พาบินไปด้วยประสงค์ว่า “ความเหน็ด
เหนื่อยเมื่อยล้าในการเดินทางไกลอย่าได้เบียดเบียนปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างล่างด้วยประสงค์ว่า “ถ้าปุณณมุขนกดุเหว่าขาวน
ี้พลัดตกจากคอน พวกเราจักใช้ปีกประคองรับไว้”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างบนด้วยประสงค์ว่า “แสงแดดอย่าได้แผดเผา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
นางนกฝูงละ ๕๐ ตัวบินขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้างด้วยประสงค์ว่า “ความหนาว
ก็ตาม ความร้อนก็ตาม หญ้าก็ตาม ละอองก็ตาม ลมก็ตาม น้ำค้างก็ตาม อย่าได้
ถูกต้องปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินอยู่ข้างหน้าด้วยประสงค์ว่า “คนเลี้ยงโคก็ตาม คนเลี้ยง
สัตว์ก็ตาม คนหาบหญ้าก็ตาม คนหาฟืนก็ตาม คนทำงานในป่าก็ตาม อย่าได้ใช้
ดุ้นฟืน กระเบื้อง ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือก้อนกรวดทำร้าย
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนั้นเลย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้กระทบกอไม้ เถาวัลย์
ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน และพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย”
นางนก ๕๐ ตัวบินประกบอยู่ข้างหลัง เปล่งเสียงอันไพเราะ อ่อนหวาน
เพราะพริ้ง จับใจ ด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ อย่าเงียบเหงาอยู่
บนคอนเลย”
นางนก ๕๐ ตัวพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ นำเอาผลไม้ชนิดต่าง ๆ จากต้นไม้
หลายชนิดมาด้วยประสงค์ว่า “ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้อย่าได้ลำบากเพราะความ
หิวเลย”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกเหล่านั้นพาเอาปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวนั้นจากสวนดอกไม้ไปยังสวนดอกไม้ จากอุทยานไปยังอุทยาน จากท่า
น้ำไปยังท่าน้ำ จากยอดเขาไปยังยอดเขา จากสวนมะม่วงไปยังสวนมะม่วง จากสวน
ต้นหว้าไปยังสวนต้นหว้า จากสวนขนุนสำปะลอไปยังสวนขนุนสำปะลอ จากสวน
มะพร้าวไปยังสวนมะพร้าวโดยเร็วพลัน ก็พากันมีความยินดี
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวผู้มีนางนก
เหล่านั้นห้อมล้อมอยู่ตลอดวัน จึงสรรเสริญอย่างนี้ว่า “ดีละ ดีละ แม่น้องหญิง
ทั้งหลาย การที่พวกเธอพึงปฏิบัติบำเรอภัสดา นั่นเป็นการสมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลธิดา”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ในกาลต่อมา ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เข้า
ไปหาพญานกกุณาละจนถึงที่อยู่ พวกนางนกผู้เป็นนางบำเรอของพญานกกุณาละ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ได้เห็นปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นกำลังบินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหาแล้ว
กล่าวว่า นกปุณณมุขะเพื่อนรัก นกกุณาละตัวนี้เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบ
คายเหลือเกิน ไฉนพวกข้าพเจ้าจะพึงได้วาจาอันน่ารักเพราะอาศัยท่านบ้าง นก
ปุณณมุขะจึงกล่าวตอบว่า “บางทีจะได้บ้าง น้องหญิงทั้งหลาย” แล้วจึงเข้าไปหา
นกกุณาละจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัมโมทนียกถากับนกกุณาละแล้ว
จับอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้วปุณณมุขนกดุเหว่าขาว จึงได้กล่าวกับนกกุณาละนั้นว่า
กุณาละเพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุไร เพื่อนจึงปฏิบัติอย่างผิด ๆ ต่อนางนกผู้มีชาติเสมอกัน
เป็นกุลธิดาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเล่า กุณาละเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลาย
แม้จะพูดถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจ บุคคลก็ควรจะพูดถ้อยคำที่น่าพอใจแก่พวกเธอ จะ
กล่าวไปไยถึงพวกหญิงที่พูดถ้อยคำที่น่าพอใจเล่า”
เมื่อนกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานปุณณมุขนกดุเหว่าขาว
นั้นอย่างนี้ว่า “จงฉิบหาย จงพินาศเสียเถิดเจ้า เจ้าเพื่อนลามก เจ้าเพื่อนถ่อย
จะมีใครที่ฉลาดเหมือนผู้ปราบเมียได้เล่า”
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวถูกรุกรานอย่างนี้แล้วจึงได้กลับจากที่นั้น
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า โดยสมัยอื่นต่อมา โดยการล่วงไปไม่นานนัก
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้เกิดความไม่สบายอย่างหนักขึ้น ถ่ายเป็นเลือด เกิดเวทนา
กล้าแข็งปางตาย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นางนกทั้งหลายผู้เป็นนางบำเรอของ
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวนี้ไม่สบาย
หนักนัก ไฉนจะพึงหายจากความไม่สบายนี้ได้ จึงพากันละทิ้งไว้ตัวเดียวไม่มีเพื่อน
แล้วเข้าไปหานกกุณาละจนถึงที่อยู่
นกกุณาละได้เห็นนางนกเหล่านั้นกำลังโผบินมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับนางนก
เหล่านั้นอย่างนี้ว่า “นางนกถ่อยทั้งหลาย ผัวของพวกเจ้าไปไหนเสียเล่า”
“กุณาละเพื่อนเอ๋ย ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวไม่สบายหนักนัก ไฉนจะพึงหาย
จากความไม่สบายนั้นได้เล่า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เมื่อนางนกเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นกกุณาละได้รุกรานนางนกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า “อีนกถ่อย พวกเจ้าจงฉิบหาย จงพินาศ อีถ่อย อีโจร อีนักเลง อีเผอเรอ
อีใจเบา อีเนรคุณคน อีตามใจตนเองเหมือนลม” ครั้นกล่าวแล้วจึงได้เข้าไปหา
ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกับปุณณมุขนก
ดุเหว่าขาวตัวนั้นอย่างนี้ว่า “ยังอยู่ดีหรือ ปุณณมุขะเพื่อน”
“ยังอยู่ดี กุณาละเพื่อน”
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้ใช้ปีกทั้ง ๒ และจะงอย
ปากประคองให้ปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นลุกขึ้นแล้วกรอกเภสัชต่างๆ ให้ดื่ม
ได้ยินว่า ครั้งนั้น ความไม่สบายของปุณณมุขนกดุเหว่าขาวตัวนั้นก็ระงับไป
แล้วแล
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ลำดับนั้น นกกุณาละได้กล่าวกับปุณณมุข
นกดุเหว่าขาวตัวหายจากไข้ซึ่งหายจากความป่วยไข้ไม่นานนั้นอย่างนี้ว่า “เราได้เห็นมา
แล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เราได้เห็นนางกัณหา มีบิดา ๒ คน๑ มีผัว ๕ คน๒ ยังมี
จิตปฏิพัทธ์ในชายคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนผีหัวขาด ก็แลในเรื่องนี้ ยังมี
คำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๐] ครั้งนั้น นางล่วงละเมิด (นอกใจ) สามีทั้ง ๕ คน
เหล่านี้ คือ ๑. ท้าวอัชชุนะ๓ ๒. ท้าวนกุละ
๓. ท้าวภีมเสน ๔. ท้าวยุธิฏฐิละ ๕. ท้าวสหเทพ
แล้วได้กระทำลามกกับชายเตี้ยค่อม

เชิงอรรถ :
๑ มีบิดา ๒ คน คือพระเจ้ากาสีและพระเจ้าโกศล พระเจ้ากาสีรบชนะพระเจ้าโกศล ได้ราชสมบัติและมเหสี
ผู้ทรงครรภ์มาด้วย พระองค์ได้ตั้งพระมเหสีนั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ต่อมา พระนางประสูติพระ
ราชธิดาให้ชื่อว่า กัณหา (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๙-๓๒๘)
๒ มีผัว ๕ คน คือ ท้าวอัชชุนะเป็นต้น พระราชกุมารทั้ง ๕ เป็นโอรสของพระเจ้าปัณฑุราช จบการศึกษา
จากเมืองตักกสิลา เดินทางผ่านมาทางเมืองพาราณสี ถูกพระราชธิดากัณหาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเป็น
พระสวามีทั้ง ๕ พระองค์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๘)
๓ ท้าวอัชชุนะ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (๘/๒๙๐/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อาศัยอยู่
ท่ามกลางป่าช้า ยังพรตคือการอดอาหาร ๔ วันแล้วจึงจะบริโภคให้ผันแปรไป ได้
กระทำลามกกับนักเลงสุรา๑
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย พระเทวีนามว่ากากวดี อยู่ ณ ท่าม
กลางมหาสมุทร เป็นภรรยาของพญาครุฑนามว่าเวนเตยยะ๒ ได้กระทำลามกกับ
คนธรรพ์นามว่านฏกุเวร
เราได้เห็นมาแล้ว ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย เจ้าหญิงขนงามนามว่ากุรุงคเทวี
ผู้ทำให้เอฬิกกุมาร๓ มีความรักใคร่ ได้กระทำลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดีและ
ธนันเตวาสี
ความจริง เรื่องนั้นเราได้รู้มาอย่างนี้ พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตทรง
ทอดทิ้งพระเจ้าโกศลแล้วได้ทรงกระทำลามกกับปัญจาลจัณฑพราหมณ์๔
[๒๙๑] หญิงทั้ง ๕ คนเหล่านี้ก็ดี หญิงเหล่าอื่นก็ดี
ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย
แผ่นดินคือภูมิเป็นที่เป็นไปแห่งเหล่าสัตว์
อันทรงไว้ซึ่งรัตนะต่าง ๆ
เป็นที่รองรับทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี มีความยินดีเสมอกัน
ทนทานได้ทุกอย่าง ไม่ดิ้นรน ไม่โกรธ ฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ นักเลงสุรา เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๒ พญาครุฑ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับกากวตีชาดก ชาดกที่ ๓๒๗ ใน
จตุกกนิบาต (เล่ม ๒๗/๑๐๕/๑๐๙) (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๒)
๓ เอฬิกกุมาร เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๕)
๔ ปัญจาลจัณฑพราหมณ์ เป็นอดีตชาติของนกกุณาละ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๐/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๒] สิงโตซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กินเลือดและเนื้อเป็นอาหาร
มีอาวุธ ๕ อย่าง๑ เป็นสัตว์หยาบช้า
ชอบในการเบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกินฉันใด
หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน๒
เพราะฉะนั้น นรชนไม่ควรวางใจหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
ปุณณมุขะผู้สหาย นัยว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่หญิงแพศยา ไม่ใช่หญิงงามเมือง
ไม่ใช่หญิงคณิกา เพราะหญิงเหล่านั้นจะชื่อว่าเป็นหญิงบริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ที่แท้ หญิง
เหล่านี้เป็นหญิงเพชฌฆาต
หญิงทั้งหลายโพกผมเหมือนพวกโจร มีพิษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูด
โอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด ลิ้นมีสองแฉกเหมือนงู
ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล ให้ยินดีได้ยากเหมือน
นางรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพา
ไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามใจตนเองเหมือนลม ไม่กระทำอะไรให้วิเศษ
เหมือนภูเขาสิเนรุ ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ ก็ในเรื่องนี้ยังมีคำกล่าว
เป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๓] หญิงทั้งหลายเหมือนโจร เหมือนสุรามีพิษร้าย
พูดโอ้อวดเหมือนพ่อค้า กลับกลอกบิดพลิ้วเหมือนนอแรด
มีลิ้นสองแฉกเหมือนงู
[๒๙๔] ปกปิดความชั่วเหมือนหลุมคูถ
ให้เต็มได้ยากเหมือนบาดาล
ให้ยินดีได้ยากเหมือนนางรากษส
นำไปส่วนเดียวเหมือนพญายม

เชิงอรรถ :
๑ อาวุธ ๕ อย่าง ได้แก่ ปาก ๑ และเท้าทั้ง ๔ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)
๒ หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน หมายถึงใช้อาวุธ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จับ
บุรุษให้อยู่ในอำนาจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๒๙๒/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๕] กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ พัดพาไปเหมือนแม่น้ำ
มีความประพฤติตามขอบเขตแห่งความใคร่เหมือนลม
ไม่มีความวิเศษอะไรเหมือนภูเขาสิเนรุ
ผลิตผลอยู่เป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ
หญิงทั้งหลายมักกระทำอันตรายแก่รัตนะทั้งหลาย
ยังโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลอื่น คือ
๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม ๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา บัณฑิตไม่ควรให้ทรัพย์ทั้ง ๔
อย่างเหล่านี้พลัดพรากไปจากเรือน
[๒๙๖] ๑. โคผู้ ๒. แม่โคนม
๓. ยานพาหนะ ๔. ภรรยา
บัณฑิตไม่ควรให้อยู่ในสกุลแห่งญาติ
เพราะญาติทั้งหลายผู้ไม่มียานพาหนะจะใช้สอยรถ
จะฆ่าโคตัวผู้เพราะการใช้ลากเข็นจนเกินกำลัง
จะฆ่าลูกโคเพราะการรีดนมโค
และภรรยาจะประทุษร้าย (นอกใจ) ในสกุลแห่งญาติ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ของ ๖ อย่างเหล่านี้ เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้
ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ

[๒๙๗] ๑. ธนูไม่มีสาย ๒. ภรรยาอยู่ในสกุลแห่งญาติ
๓. เรืออยู่ฝั่งโน้น ๔. ยานเพลาหัก
๕. มิตรอยู่แดนไกล ๖. เพื่อนชั่ว

เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้นแล้ว ย่อมใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘
ประการ คือ
๑. เพราะความเป็นคนจน
๒. เพราะความเป็นคนป่วยกระเสาะกระแสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
๓. เพราะความเป็นคนแก่ชรา
๔. เพราะความเป็นนักเลงสุรา
๕. เพราะความเป็นคนโง่เซอะ
๖. เพราะความเป็นคนมัวเมาในกามคุณ
๗. เพราะคล้อยตามกิจการงานทั้งปวง
๘. เพราะหาทรัพย์ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ
เหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๒๙๘] หญิงย่อมดูหมิ่นสามี ๑. ผู้ยากจน
๒. ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะ ๓. ผู้แก่ชรา
๔. ผู้เป็นนักเลงสุรา ๕. ผู้มัวเมาในกามคุณ
๖. ผู้เป็นคนโง่เซอะ ๗. ผู้โง่เขลาในกิจการงานทั้งปวง
๘. ผู้ย่อหย่อนเพราะหาทรัพย์ที่ให้ความใคร่ทั้งปวงเพิ่มเติมไม่ได้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วยเหตุ
๙ ประการ คือ
๑. ไปสวนดอกไม้เป็นประจำ
๒. ไปอุทยานเป็นประจำ
๓. ไปท่าน้ำเป็นประจำ
๔. ไปตระกูลญาติเป็นประจำ
๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็น
ประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามีด้วย
เหตุ ๙ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๒๙๙] ก็หญิงใด ๑. ไปสวนดอกไม้ ๒. ไปอุทยาน ๓. ไปท่าน้ำ
๔. ไปตระกูลญาติ ๕. ไปตระกูลคนอื่นเป็นประจำ
๖. ส่องกระจกและประกอบการตบแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าเป็นประจำ
๗. ชอบดื่มน้ำเมาเป็นประจำ
[๓๐๐] ๘. เยื้องมองทางหน้าต่างเป็นประจำ
๙. ชอบยืนอวดทรวดทรงอยู่ที่ประตูเป็นประจำ
หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมนำความเดือดร้อนใจมาให้สามี
ด้วยเหตุ ๙ ประการเหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ คือ

๑. บิดกาย ๒. ก้มลง
๓. เยื้องกราย ๔. ทำละอาย
๕. เอาเล็บถูกัน ๖. เอาเท้าเหยียบกัน
๗. เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๘. ให้เด็กกระโดด
๙. เล่นเอง ให้เด็กเล่น ๑๐. จูบเด็ก ให้เด็กจูบ
๑๑. บริโภคเอง ให้เด็กบริโภค ๑๒. ให้ของเด็ก
๑๓. ขอของเด็ก ๑๔. ทำตามที่เด็กกระทำ
๑๕. ทำเสียงสูง ๑๖. ทำเสียงต่ำ
๑๗. พูดเปิดเผย ๑๘. พูดปกปิด
๑๙. ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อนรำ ๒๐. ด้วยการขับร้อง
๒๑. ด้วยการประโคมดนตรี ๒๒. ด้วยการร้องไห้
๒๓. ด้วยการกรีดกราย ๒๔. ด้วยการแต่งกาย
๒๕. จ้องมอง ๒๖. ส่ายสะเอว
๒๗. ส่ายของลับ ๒๘. เปิดขาอ่อน
๒๙. ปิดขาอ่อน ๓๐. เปิดถันให้ดู
๓๑. เปิดรักแร้ให้ดู ๓๒. เปิดสะดือให้ดู
๓๓. หลิ่วตา ๓๔. ยักคิ้ว
๓๕. เม้มปาก ๓๖. แลบลิ้น
๓๗. ทำผ้านุ่งหลุด ๓๘. กลับนุ่งผ้า
๓๙. สยายผม ๔๐. เกล้าผม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการ
เหล่านี้
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการ คือ
๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. สามีจากไปแล้วไม่ระลึกถึง
๓. สามีกลับมาก็ไม่ยินดี
๔. พูดติเตียนสามี
๕. ไม่พูดสรรเสริญสามี
๖. ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๗. ไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๘. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๙. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๐. นอนคลุมโปง
๑๑. นอนหันหลังให้
๑๒. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๓. ทอดถอนหายใจยาว
๑๔. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๕. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
๑๖. ประพฤติตรงข้าม
๑๗. ได้ยินเสียงชายอื่นเงี่ยหูฟัง
๑๘. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๙. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
๒๐. ชอบออกนอกบ้าน
๒๑. ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
๒๓. ยืนอยู่ที่ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดรักแร้ อวัยวะและถันให้ดู
๒๕. เที่ยวสอดส่องเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ปุณณมุขะเพื่อนเอ๋ย ได้ยินว่า หญิงประทุษร้ายสามี บัณฑิตพึงทราบได้ด้วย
เหตุ ๒๕ ประการเหล่านี้ ก็ในเรื่องนี้ ยังมีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า
[๓๐๑] ๑. สรรเสริญการจากไปของสามี
๒. ไม่โศกเศร้าถึงการจากไปของสามี
๓. เห็นสามีกลับมาไม่ยินดี
๔. ไม่เคยกล่าวคำสรรเสริญสามีสักคราวเดียว
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๒] ๕. ไม่มีความสำรวม ประพฤติแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามี
๖. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสามีให้เสื่อมสูญ
๗. กระทำกิจอันไม่สมควรต่อสามี
๘. นอนคลุมโปง ๙. นอนหันหลังให้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๓] ๑๐. นอนพลิกไปพลิกมาเป็นโกลาหล
๑๑. ถอนหายใจยาว
๑๒. นอนกระสับกระส่ายเป็นทุกข์
๑๓. ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะบ่อย ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๔] ๑๔. ประพฤติตรงข้าม
๑๕. ไม่กระทำกิจอันสมควรต่อสามี
๑๖. เมื่อชายอื่นพูดเงี่ยหูฟัง
๑๗. ล้างผลาญโภคทรัพย์
๑๘. กระทำความเชยชมกับชายชู้
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๕] ๑๙. ทำทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่สามีหามาได้ด้วยความลำบาก
หามาได้ด้วยความฝืดเคือง
เก็บรวบรวมสะสมไว้ด้วยความยากให้พินาศ
๒๐. ทำความสนิทสนมกับชายบ้านใกล้เรือนเคียง
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๐๖] ๒๑. ชอบออกนอกบ้าน ชอบเที่ยวตามตรอกซอกซอย
๒๒. ประพฤตินอกใจ ไม่เคารพสามี คิดประทุษร้ายอยู่เป็นนิตย์
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๗] ๒๓. ยืนอยู่ใกล้ประตูเนือง ๆ
๒๔. เปิดถันและรักแร้ให้เห็น
๒๕. มีจิตพลุกพล่านเพ่งมองไปยังทิศต่าง ๆ
หญิงประทุษร้ายสามีมีลักษณะเหล่านี้
[๓๐๘] แม่น้ำทุกสายไหลไปคดเคี้ยว
ป่าไม้ทุกแห่งล้วนดาษดื่นไปด้วยต้นไม้
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่ว
เมื่อได้โอกาสหรือที่ลับ
[๓๐๙] ถ้าว่า พึงได้โอกาสหรือที่ลับ
หรือว่าพึงได้สถานที่ปิดบังเช่นนั้น
หญิงทั้งปวงพึงกระทำความชั่วแน่นอน
ไม่ได้ชายอื่นที่สมบูรณ์
ก็พึงกระทำกับชายง่อยเปลี้ย
[๓๑๐] ก็ในบรรดานารีที่หลายใจ ไม่มีใครข่มขี่ได้
ผู้สร้างความอภิรมย์ยินดีให้แก่ชายทั้งหลาย
แม้หากเธอผู้ใดจะไม่พึงกระทำความปลื้มใจในที่ทั้งปวง
บัณฑิตก็ไม่ควรวางใจ เพราะนารีเปรียบเสมอท่าน้ำ
[๓๑๑] ก็บัณฑิตเห็นเหตุการณ์ของเจ้ากินนรี
และพระนางกินนราเทวีแล้วพึงทราบเถิดว่า
หญิงทั้งปวงจะยินดีในเรือนของสามีเท่านั้นก็หาไม่
พระนางกินนราเทวีได้เห็นชายอื่น ถึงเป็นคนง่อยเปลี้ย
ก็ยังทรงทอดทิ้งคนเช่นกับเจ้ากินนรีนั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๒] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวริยะ
ผู้ทรงหมกมุ่นในกามจนเกินไป
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนใช้ใกล้ชิด
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
ชายคนอื่นนั้น ใครหรือหญิงจะไม่พึงประพฤตินอกใจด้วย
[๓๑๓] พระนางปิงคิยานี ผู้เป็นพระมเหสีสุดที่รัก
ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง
ได้ทรงประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้า
ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนา
นางผู้มีความใคร่ในกามไม่ได้ประสบความใคร่ทั้ง ๒ แม้นั้น
[๓๑๔] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรจะเชื่อถือหญิงทั้งหลาย
ผู้หยาบช้า ใจเบา ไม่รู้คุณคน มักประทุษร้ายมิตรเลย
[๓๑๕] หญิงเหล่านั้นไม่รู้อุปการะที่คนอื่นกระทำแล้วแก่ตน
ไม่รู้กิจที่ตนควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง
เป็นผู้ไม่ประเสริฐ ล่วงละเมิดธรรมอยู่เสมอ
เป็นไปตามอำนาจจิตของตนอย่างเดียว
[๓๑๖] สามีสุดที่รัก ที่น่าพอใจ แม้อยู่ด้วยกันมานาน
เป็นผู้อนุเคราะห์ แม้เสมอเหมือนกับชีวิต
พวกนางยังพากันทอดทิ้งไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจจะต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๑๗] เพราะว่าจิตของหญิงทั้งหลายเหมือนจิตของวานร
ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเงาต้นไม้
ดวงใจของหญิงทั้งหลายนั้นหวั่นไหวไปมา
กลับกลอกเหมือนกงล้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๑๘] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งเห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะใช้วาจาอันอ่อนหวานชักพาเอาบุรุษนั้นไป
เหมือนชาวกัมโพชะใช้สำรับลวงม้า๑
[๓๑๙] เมื่อใด พวกเธอเมื่อเพ่งเล็งไม่เห็นทรัพย์
ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้
เมื่อนั้น พวกเธอจะเหินห่างทอดทิ้งบุรุษนั้นไปทุกด้าน
เหมือนคนข้ามฝั่งพอถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว
ก็ละทิ้งแพสำหรับข้ามไป
[๓๒๐] จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นอุปมาได้กับสิ่งผูกพัน
กินทุกอย่างเหมือนไฟ
มีมายากล้าแข็งเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว
ย่อมคบหาได้ทั้งชายที่เป็นคนรัก และไม่ใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๑] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นสมบัติชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แบของวางขาย
ชายใดพึงสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
[๓๒๒] ๑. แม่น้ำ ๒. ทางเดิน ๓. ร้านเครื่องดื่ม
๔. สภา ๕. บ่อน้ำ เป็นฉันใด
ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้น
ขอบเขตย่อมไม่มีสำหรับพวกเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ใช้สำรับลวงม้า หมายถึงชาวกัมโพชะต้องการม้าป่า เขาจะกั้นคอกแห่งหนึ่งแล้วทำประตูให้ดี เอาน้ำผึ้งทา
สาหร่ายที่ลอยอยู่บนน้ำที่พวกม้าป่าเคยกิน แล้วทอดสาหร่ายจนถึงประตูคอก ทาน้ำผึ้งตลอด ม้าป่ามา
กินน้ำ กินหญ้า กินสาหร่ายที่มีรสหวาน ติดใจในรสก็จะเดินเข้าคอกไปโดยไม่รู้ตัว (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๘/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๓] หญิงทั้งหลายเหล่านี้เสมอกับไฟที่กินเปรียง
อุปมาได้กับหัวงูเห่า๑ ย่อมเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

[๓๒๔] ๑. ไฟกินเปรียง ๒. ช้างสาร
๓. งูเห่า ๔. พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
๕. หญิงทั้งปวง

บุคคลทั้ง ๕ เหล่านี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่าภาวะที่เป็นจริงของบุคคลเหล่านั้นรู้ได้ยากนัก
[๓๒๕] ชายไม่พึงคบหา
๑. หญิงผู้มีผิวพรรณงดงามนัก
๒. หญิงผู้ที่ชายหมู่มากรักใคร่
๓. หญิงผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
๔. หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น
๕. หญิงผู้คบหาเพราะเหตุแห่งทรัพย์
หญิงทั้ง ๕ ประเภทเหล่านี้ชายไม่พึงคบหาเลย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งชัด
ซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของนกกุณาละ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๒๖] ถ้าบุรุษจะพึงยกแผ่นดินแม้ที่เต็มไปด้วยทรัพย์ผืนนี้
ให้แก่หญิงผู้ที่ตนยกย่องไซร้
หญิงนั้นได้โอกาสแล้วก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษแม้นั้น เพราะเหตุนั้น
เราจึงไม่ยอมตกไปสู่อำนาจของหญิงเหล่านั้นผู้ที่ไม่ใช่คนดี

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหญิงอุปมาได้กับหัวงูเห่า เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ คือ (๑) เพราะเป็นสัตว์มักโกรธ (๒) เพราะเป็น
สัตว์มีพิษร้าย (๓) เพราะเป็นสัตว์มีลิ้นสองแฉก (๔) เพราะเป็นสัตว์ผูกโกรธ (๕) เพราะเป็นสัตว์ประทุษ-
ร้ายมิตร ในเหตุ ๕ อย่างที่สตรีชื่อว่ามีพิษร้าย พึงทราบได้เพราะความที่เธอมีราคะมาก ชื่อว่ามีลิ้นสองแฉก
เพราะเธอมักพูดส่อเสียด ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร เพราะเธอมักประพฤตินอกใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๒๓/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๒๗] สามีหนุ่มผู้มีความหมั่นขยัน มีพฤติการณ์ไม่หดหู่
น่ารัก และน่าพอใจ
พวกเธอยังพากันทอดทิ้งเขาไปได้ในคราวเกิดอันตราย
และในคราวมีกิจที่ต้องกระทำ
เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๓๒๘] บุรุษไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ต้องการเรา
ไม่พึงวางใจว่า หญิงนี้ร้องไห้อยู่ในที่อยู่ของเรา
จริงอยู่ หญิงทั้งหลายเหล่านั้นย่อมคบหาได้
ทั้งชายที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๒๙] ๑. บุคคลไม่พึงวางใจเครื่องลาดที่ทำด้วยกิ่งไม้เก่า
๒. ไม่พึงวางใจโจรผู้เคยเป็นมิตรเก่าแก่
๓. ไม่พึงวางใจพระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา
๔. ไม่พึงวางใจหญิงซึ่งเป็นแม่ของลูกตั้ง ๑๐ คน
[๓๓๐] ไม่พึงวางใจในนารีทั้งหลาย ผู้สร้างความรื่นรมย์ยินดีให้
ผู้ล่วงละเมิดศีล ไม่มีความสำรวม
ถึงภรรยาจะพึงมีความรักอย่างแน่นแฟ้น ก็ไม่พึงวางใจ
เพราะว่านารีทั้งหลายเสมอเหมือนกับท่าน้ำ
[๓๓๑] หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายเสียเองก็มี
ตัดอวัยวะของชายเสียเองก็มี
ให้ผู้อื่นตัดก็มี เชือดลำคอแล้วดื่มเลือดกินก็มี
เพราะเหตุนั้น ชายอย่าพึงทำความสนิทสนมในหญิงทั้งหลาย
ผู้มีความใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม
เปรียบได้กับท่าน้ำที่แม่น้ำคงคา
[๓๓๒] หญิงเหล่านั้นกล่าวคำเท็จเหมือนกับคำสัตย์
กล่าวคำสัตย์เหมือนกับคำเท็จ พวกเธอเลือกกินแต่ของดี ๆ
เหมือนพวกโคเลือกเล็มแต่หญ้าดี ๆ ในภายนอกเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๓๓] พวกหล่อนประเล้าประโลมชาย
ด้วยการเดินบ้าง ด้วยการจ้องมองบ้าง
ด้วยการหัวเราะบ้าง ด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อยบ้าง
และด้วยการกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานบ้าง
[๓๓๔] เพราะว่าหญิงทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นนางโจร มีจิตใจหยาบกระด้าง
โหดร้าย เจรจาอ่อนหวานเหมือนน้ำตาลกรวด
การล่อลวงอย่างใดอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์
พวกเธอจะไม่รู้ไม่มีเลย
[๓๓๕] ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก
เป็นคนชั่วร้าย ไม่มีขอบเขต กำหนัดจัด
และคึกคะนอง กินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
[๓๓๖] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายย่อมคบบุรุษได้
ทั้งที่เป็นคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๓๓๗] ธรรมดาว่าบุรุษเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี
เพราะว่าหญิงทั้งหลายมีความต้องการทรัพย์
จึงยอมพัวพันด้วย เหมือนเถาวัลย์ที่เกี่ยวพันต้นไม้
[๓๓๘] ชายที่มีทรัพย์จะเป็นควาญช้าง คนเลี้ยงม้า
คนเลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ
หรือคนล้างส้วมก็ตาม นารีทั้งหลายจะติดตามเขาไป
[๓๓๙] หญิงสาวทั้งหลายย่อมทอดทิ้งชาย
แม้ที่เป็นบุตรคนมีตระกูล
ซึ่งไม่มีทรัพย์อะไรๆ ไป เหมือนเช่นกับซากศพ
แต่กลับคอยติดตามชายไปเนือง ๆ เพราะเหตุแห่งทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น นารทเทวพราหมณ์รู้แจ้งชัดซึ่งคาถา
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของอานนท์พญาแร้ง จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
[๓๔๐] นี่แน่ะ พญานก ท่านจงฟังคำของข้าพเจ้า
ผู้จะกล่าวถึงสิ่ง ๔ อย่าง ที่ไม่รู้จักเต็มเหล่านี้ คือ
๑. ทะเล ๒. พราหมณ์
๓. พระราชา ๔. หญิง
[๓๔๑] แม่น้ำสายใดสายหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน
ย่อมไหลไปสู่สาคร
แม่น้ำเหล่านั้นก็ทำสมุทรให้เต็มไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๒] ส่วนพราหมณ์สาธยายพระเวท
มีประวัติศาสตร์เป็นที่ ๕ ได้แล้ว
ก็ยังปรารถนาการศึกษาแม้ให้ยิ่งขึ้นไป
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๓] ส่วนพระราชาเล่าทรงชนะแล้ว
ครอบครองแผ่นดินทั้งหมดพร้อมทั้งสมุทร
และภูเขาอันสั่งสมรัตนะไว้หาที่สุดมิได้
ก็ยังทรงปรารถนาสมุทรฝั่งโน้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่
[๓๔๔] แต่หญิงถึงแม้จะพึงมีสามีคนละ ๘ คน
ซึ่งเป็นคนแกล้วกล้ามีพลัง
สามารถนำรสแห่งความใคร่ทั้งปวงมาให้ได้
เธอก็ยังคงทำความพอใจในชายคนที่ ๙
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่องอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๔๕] หญิงทั้งปวงกินทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
พัดพาเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปเหมือนแม่น้ำ
เกาะเกี่ยวเหมือนเรียวหนาม
ย่อมคบหาชายเพราะเหตุแห่งทรัพย์
[๓๔๖] ก็นรชนใดปลงใจเชื่อหญิงทุกสิ่งทุกอย่าง
นรชนนั้นชื่อว่าดักลมด้วยตาข่าย
วิดน้ำทะเลด้วยฝ่ามือข้างเดียว
ปรบมือข้างเดียวของตนให้เกิดเสียง ก็รู้ได้ยาก
[๓๔๗] ภาวะของหญิงที่เป็นนางโจร
รู้มาก หาความจริงได้ยาก
เป็นการลำบากที่จะหยั่งรู้เหมือนรอยทางปลาในน้ำ
[๓๔๘] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นไม่รู้จักพอ
พูดจาไพเราะอ่อนหวาน เต็มได้ยาก
เหมือนแม่น้ำย่อมทำให้ล่มจม
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๔๙] หญิงทั้งหลายยั่วยวนให้ลุ่มหลง
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมทำให้ล่มจมเสียหาย
ชายรู้แจ้งชัดแล้วพึงเว้นเสียให้ห่างไกล
[๓๕๐] ก็หญิงทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ก็ติดตามเผาผลาญชายนั้นโดยทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญสถานที่ของตน
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งชัดซึ่งคาถาทั้ง
เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของนารทเทวพราหมณ์ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ใน
เวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๑] บัณฑิตพึงเจรจากับคนผู้ถือดาบอันคมกริบ
พึงเจรจาแม้กับปีศาจผู้ดุร้าย
พึงเข้าไปนั่งใกล้งูตัวที่มีพิษร้ายแรง
แต่อย่าพึงเจรจากับหญิงตัวต่อตัว
[๓๕๒] เพราะว่านารีทั้งหลายเป็นผู้ย่ำยีจิตของชาวโลก
มีการฟ้อนรำขับร้อง เจรจา
และการแย้มยิ้มเป็นอาวุธ
ย่อมเบียดเบียนชายผู้มีสติไม่มั่นคง
เหมือนหมู่นางรากษสบนเกาะเบียดเบียนพวกพ่อค้า
[๓๕๓] หญิงเหล่านั้นไม่มีวินัย ไม่สังวร
พวกเธอยินดีในน้ำเมาและเนื้อสัตว์ ไม่มีความสำรวม
ย่อมฮุบเอาทรัพย์ที่ชายหามาได้
เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในสาคร
[๓๕๔] หญิงทั้งหลายมีกามคุณทั้ง ๕ อันน่าพอใจเป็นเหยื่อล่อ
มีจิตฟุ้งซ่านไม่แน่นอน ไม่มีความสำรวม
ย่อมแล่นเข้าไปหาชายผู้มีความมัวเมา
เหมือนแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปสู่ทะเล
[๓๕๕] หญิงทั้งหลายประเล้าประโลมชายใดเพราะความพอใจ
เพราะความยินดีหรือเพราะทรัพย์ก็ตาม
ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าชายนั้นด้วยราคะ โทสะ
ย่อมเผาผลาญชายเช่นนั้นให้เป็นแม้ดังเช่นไฟ
[๓๕๖] หญิงทั้งหลายรู้ว่า ชายใดเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ย่อมแล่นเข้าไปหา
ย่อมผูกมัดชายนั้นผู้มีจิตกำหนัดยินดีไว้ด้วยเรือนร่างของตน
เหมือนเถาย่านทรายรัดรึงต้นสาละในป่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๕๗] หญิงทั้งหลายเหล่านั้นประดับร่างกายและใบหน้า
จนงามวิจิตรแล้วเข้าไปหาชาย
ด้วยความพอใจมีประการต่าง ๆ ทำยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
มีความฉลาดในมายาตั้งร้อยเหมือนนักมายากล
[๓๕๘] หญิงทั้งหลายประดับสวมใส่ทองคำ แก้วมณี
แก้วมุกดา มีคนสักการะและรักษาอยู่แล้วในตระกูลสามี
ก็ยังประพฤตินอกใจสามี
เหมือนหญิงผู้ซบอยู่แนบทรวงอกประพฤตินอกใจอสูร
[๓๕๙] จริงอยู่ นรชนถึงจะมีเดช มีปัญญาเห็นประจักษ์
เป็นที่สักการะบูชาของชนเป็นอันมาก
ตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย
ก็จะไม่รุ่งเรือง เหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูเข้าไปบดบัง
[๓๖๐] จอมโจรผู้มีจิตโหดร้าย โกรธขึ้นแล้ว พึงกระทำ
ความพินาศอันใดให้จอมโจรผู้เป็นคู่อริ ซึ่งมาประจันหน้ากัน
นรชนผู้ยังมีการเพ่งเล็ง มีตัณหา
ตกอยู่ในอำนาจหญิงทั้งหลาย
ย่อมประสบความพินาศยิ่งกว่านั้น
[๓๖๑] จริงอยู่ หญิงเหล่านั้นถึงจะถูกชายที่เลวทราม
คุกคามด้วยการจิกผมจนยุ่งเหยิง
และการหยิกข่วนด้วยเล็บ ทุบตีด้วยเท้า ฝ่ามือ และท่อนไม้
ก็ยังเข้าไปหาชายคนเลวทรามนั่นแหละ
เหมือนหมู่แมลงวันย่อมยินดีในซากศพ
[๓๖๒] นรชนผู้มีดวงตาคือปัญญา ปรารถนาความสุข
พึงเว้นหญิงเหล่านั้นซึ่งเป็นประดุจบ่วงและข่ายของมาร
ที่เขาขึงดักไว้ในตระกูลในระหว่างทางเดิน
ในราชธานีหรือว่าในนิคมทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๔.กุณาลชาดก (๕๓๖)
[๓๖๓] ผู้ใดสลัดทิ้งคุณคือตบะอันเป็นกุศลแล้ว
ประพฤติการประพฤติอันมิใช่ของพระอริยะ
ผู้นั้นจากเทวโลกย่อมเข้าถึงนรก เหมือนพ่อค้าถือหม้อแตก
[๓๖๔] เขาผู้นั้นถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มีความคิดที่ชั่ว ถูกกรรมของตนเข้าไปบั่นทอน
ย่อมพลัดพรากจากเทวโลกบ้าง
มนุษยโลกบ้าง โดยไม่แน่นอน
เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกงย่อมพาไปนอกทาง
[๓๖๕] เขาผู้นั้นจึงเข้าถึงนรกอันเร่าร้อนและนรกป่าไม้งิ้ว
มีหนามแหลมเหมือนหอกเป็นหลักแล้ว
มาอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน และไม่พ้นเปรตและจอมอสูร
[๓๖๖] หญิงทั้งหลายย่อมทำลายการเล่นหัว
และความรื่นรมย์ยินดีอันเป็นทิพย์ในนันทวันเทวอุทยาน
และจักรพรรดิสมบัติในหมู่มนุษย์ของชายผู้มัวเมาทั้งหลาย
ให้พินาศและยังเขาให้ถึงทุคติอีกด้วย
[๓๖๗] การเล่นหัวและความรื่นรมย์ยินดีก็ดี
จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ก็ดี
นางเทพอัปสรผู้อยู่วิมานทองก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย
[๓๖๘] คติที่ล่วงเลยกามภูมิก็ดี
การสมภพในรูปภูมิก็ดี
การเข้าถึงวิสัยแห่งผู้ปราศจากราคะก็ดี
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
หาได้ไม่ยากเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๖๙] นิพพานอันปลอดโปร่งพ้นทุกข์ทั้งปวง
ไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริง ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
อันชายผู้ไม่มีความต้องการหญิงประพฤติพรหมจรรย์อยู่
มีกิเลสอันตนดับได้แล้ว เป็นผู้สะอาด
หาได้ไม่ยากเลย ดังนี้
(พระศาสดาทรงประมวลธรรมเทศนา ได้ตรัสพระคาถาประชุมชาดกว่า)
[๓๗๐] ในกาลนั้น เราผู้ตถาคตได้เป็นพญานกกุณาละ
อุทายีได้เป็นพญานกดุเหว่าขาว
อานนท์ได้เป็นพญานกแร้ง
สารีบุตรได้เป็นนารทดาบส
และพุทธบริษัทได้เป็นบริษัทนกทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล
กุณาลชาดกที่ ๔ จบ

๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาสุตโสมทรงทรมานโจรโปริสาท๑
(กาฬหัตถีเสนาบดีถามพ่อครัวว่า)
[๓๗๑] พ่อครัว เพราะเหตุไร
ท่านจึงทำกรรมทารุณโหดร้ายเช่นนี้
ท่านหลงฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
เพราะเหตุแห่งเนื้อหรือแห่งทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระเจ้ามหาสุตโสมโพธิสัตว์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเรียนกับพระเจ้าพรหมทัตและพระกุมารอื่น ๆ อีก
ประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ต่อมาเมื่อแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนแล้ว พรหมทัตกุมารได้ครองเมือง
พาราณสี แต่หลงผิดไปติดใจบริโภคเนื้อมนุษย์ ทำให้ถูกเนรเทศ พระเจ้ามหาสุตโสมต้องไปทรมานจน
กลับใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๗๘-๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พ่อครัวจึงตอบเสนาบดีว่า)
[๓๗๒] ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน
มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์
มิใช่เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา
มิใช่เพราะเหตุแห่งสหายและญาติทั้งหลาย
แต่พระจอมภูมิบาลซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้า
พระองค์เสวยมังสะเช่นนี้
(กาฬหัตถีเสนาบดีกล่าวว่า)
[๓๗๓] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย
ทำกรรมอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้ได้
เวลาเช้าตรู่ ท่านควรจะเข้าไปในพระราชวัง
แล้วแถลงเหตุนั้นแก่เราต่อพระพักตร์พระราชา
(พ่อครัวกล่าวว่า)
[๓๗๔] ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง
เวลาเช้าตรู่ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในพระราชวัง
จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านต่อพระพักตร์พระราชา
(พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๓๗๕] ลำดับนั้น ครั้นราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัย
กาฬเสนาบดีได้พาคนทำครัวเข้าไปเฝ้าพระราชา
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
[๓๗๖] ข้าแต่มหาราช ได้ทราบด้วยเกล้าว่า
พระองค์ทรงใช้พ่อครัวให้ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย
พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์จริงหรือ พระเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระราชาตรัสว่า)
[๓๗๗] แน่นอน เป็นความจริง ท่านกาฬะ
เราใช้พ่อครัว เมื่อเขาทำประโยชน์ให้แก่เรา
ท่านจะด่าเขาทำไม
(กาฬเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องมาแสดง จึงกราบทูลว่า)
[๓๗๘] ปลาใหญ่ชื่ออานนท์ ติดใจในรสปลาทุกชนิด
เมื่อฝูงปลาหมดสิ้นไป ก็กลับมากินตัวเองตาย
[๓๗๙] พระองค์ทรงประมาทไปแล้ว
มีพระทัยยินดียิ่งนักในรส(เนื้อมนุษย์)
ถ้าเป็นคนพาลต่อไป ยังไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้
จะต้องมาละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และพระญาติ
จะกลับมาเสวยตัวพระองค์เอง
[๓๘๐] เพราะได้ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมากราบทูลนี้
ขอความพอพระทัยที่จะเสวยเนื้อมนุษย์จงคลายไปเถิด
ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มนุษย์
พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย
อย่าได้ทรงทำแคว้นนี้ให้ว่างเปล่า
เหมือนปลาอานนท์ทำมหาสมุทรให้ว่างเปล่า
(พระราชาได้สดับดังนั้น เมื่อจะนำเรื่องเก่ามาแสดง จึงตรัสว่า)
[๓๘๑] กุฎุมพีชื่อว่าสุชาตะ ลูกที่เกิดกับตัวเขา
ไม่ได้ชิ้นลูกหว้าเขาก็ตาย
เพราะชิ้นลูกหว้านั้นหมดสิ้นไป
[๓๘๒] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุด
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ได้กล่าวกับมาณพว่า)
[๓๘๓] มาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม
เกิดในตระกูลโสตถิยพราหมณ์
เจ้าไม่ควรกินอาหารที่ไม่ควรกินนะ
(มาณพกล่าวว่า)
[๓๘๔] บรรดารสทั้งหลาย น้ำเมานี้มีรสอร่อยที่สุดอย่างหนึ่ง
เพราะเหตุไร พ่อจึงห้ามผม
ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้
[๓๘๕] ผมจักออกไปละ จักไม่อยู่ในสำนักของพ่อ
เพราะพ่อไม่ยินดีที่จะได้เห็นผม
(ลำดับนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า)
[๓๘๖] มาณพ ข้าคงจะได้ลูกคนอื่น ๆ เป็นทายาทเป็นแน่
เจ้าคนต่ำทราม เจ้าจงฉิบหายเสียเถิด
จงไปในที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ข่าวเจ้าผู้ไปแล้ว
(กาฬหัตถีเสนาบดีประมวลเหตุนี้มาแสดงแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า)
[๓๘๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พสกนิกรทั้งหลายจักพากันเนรเทศพระองค์ไปจากแคว้น
เหมือนพราหมณ์เนรเทศมาณพผู้เป็นนักเลงสุรา
(พระราชาเมื่อไม่อาจจะงดเนื้อนั้นได้ ตรัสแสดงเหตุแม้อย่างอื่นอีกว่า)
[๓๘๘] สาวกของพวกฤๅษีผู้อบรมแล้วชื่อว่าสุชาตะ
เขาต้องการนางอัปสรเท่านั้น จนไม่กินข้าวและไม่ดื่มน้ำ
[๓๘๙] บุคคลพึงเอาน้ำที่ติดอยู่กับปลายหญ้าคา
มานับเปรียบกันดูกับน้ำที่มีอยู่ในสมุทรฉันใด
กามทั้งหลายของพวกมนุษย์ในสำนักของกามทิพย์ก็ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๙๐] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน
บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุดแล้ว
ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่
(กาฬเสนาบดีครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๓๙๑] เปรียบเสมือนพวกหงส์ชื่อธตรัฏฐะ เหิรบินไปในท้องฟ้า
ถึงความตายไปจนหมดเพราะกินอาหารที่ไม่ควรกิน ฉันใด
[๓๙๒] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์
พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์
พระองค์เสวยเนื้อที่ไม่ควร
ฉะนั้น พสกนิกรทั้งหลายจึงพากันเนรเทศพระองค์
(โจรโปริสาท๑กล่าวกับรุกขเทวดานั้นว่า)
[๓๙๓] เราได้ห้ามท่านแล้วว่า จงหยุด ท่านนั้นก็ยังเดินดุ่ม ๆ ไป
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด
แต่บอกว่าหยุด ท่านสมณะ นี้ควรแก่ท่านแล้วหรือ
ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ
(ลำดับนั้น เทวดากล่าวว่า)
[๓๙๔] มหาบพิตร อาตมภาพหยุดแล้วในธรรมของตน
ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและโคตร
ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก
จุติจากโลกนี้แล้วจะต้องไปเกิดในอบายหรือนรก
มหาบพิตร ถ้าทรงเชื่ออาตมภาพ
ขอมหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์เถิด
มหาบพิตรทรงจับพระเจ้าสุตโสมนั้นบูชายัญแล้ว
จักเสด็จไปสวรรค์ได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ โปริสาท แปลว่า มีคนเป็นอาหาร, คนกินคน เป็นชื่อของพระเจ้าพรหมทัต หลังจากถูกชาวเมืองเนรเทศแล้ว
ได้ไปอาศัยโคนต้นไทรอยู่ แล้วเที่ยวปล้นคนเดินทาง เพื่อฆ่าเอาเนื้อมาปรุงอาหาร จึงปรากฏชื่อเสียงว่า
โปริสาท (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๙๒/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง
จึงตรัสถามว่า)
[๓๙๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ
ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า
ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า)
[๓๙๗] พระภูมิบาล คาถาทั้ง ๔ มีอรรถที่ลึก
เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ
หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น
ขอพระองค์โปรดสดับคาถา
ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด
(โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า)
[๓๙๘] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้
การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน
[๓๙๙] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร
เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส
พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ
ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๐] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน
แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น
แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน
หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์
หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๑] หม่อมฉันดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตนเอง
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๒] นรชนผู้มีความสุข หลุดพ้นไปจากปากของมฤตยูแล้ว
จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ไม่เสด็จเข้าไปหาหม่อมฉันเลย
[๔๐๓] พระองค์ทรงหลุดพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
จะมัวทรงเพลิดเพลินในกามคุณ ข้าแต่พระราชา
พระองค์ทรงได้พระชนม์ชีพอันเป็นที่รักแสนหวานแล้ว
ไฉนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น ไม่ทรงหวาดระแวง จึงตรัสว่า)
[๔๐๔] คนผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย
ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียนก็ไม่ปรารถนาชีวิต
นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเพื่อประโยชน์ของตนใดเป็นเหตุ
เหตุเพื่อประโยชน์ของตนนั้น
ย่อมป้องกันนรชนนั้นจากทุคติไม่ได้
[๔๐๕] แม้ถ้าลมจะพึงพัดพาภูเขามาได้
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็จะพึงตกลงบนแผ่นดินได้
และแม่น้ำทุกสายก็จะพึงไหลทวนกระแส
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๖] ฟ้าพึงทลายรั่วได้ ทะเลก็พึงแห้งได้
แผ่นดินที่ทรงรองรับสัตว์ไว้ก็จะพึงพลิกกลับได้
ภูเขาพระสุเมรุก็จะพึงเพิกถอนขึ้นได้พร้อมทั้งเหง้า
ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น
หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสาบานว่า)
[๔๐๗] สหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอก
จะทำแม้แต่การสาบานต่อพระองค์ก็ได้
หม่อมฉันผู้ที่พระองค์ปล่อยแล้ว
จักเป็นผู้หมดหนี้ รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๐๘] ท่านผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของพระองค์
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
พระองค์ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๐๙] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์
เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๑๐] พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
ได้เสด็จไปตรัสกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า
ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอฟังสตารหคาถา
ที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ดูคัมภีร์ กราบทูลว่า)
[๔๑๑] ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษ
ครั้งเดียวเท่านั้นก็คุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๑๒] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษทั้งหลาย
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย
[๔๑๓] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๑๔] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า)
[๔๑๕] คาถาเหล่านี้มีค่า ๑,๐๐๐
ไม่ใช่มีค่าเพียง ๑๐๐
ท่านพราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด
(พระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๑๖] คาถามีค่า ๘๐ ๙๐ และ ๑๐๐ ก็ยังมี
พ่อสุตโสม พ่อจงเข้าใจเอาเองเถิด
มีคาถาอะไรที่ชื่อว่า มีค่าตั้ง ๑,๐๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์กราบทูลให้พระราชบิดายินยอมว่า)
[๔๑๗] หม่อมฉันย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาของตน
สัตบุรุษคือผู้สงบทั้งหลายพึงคบหาหม่อมฉัน
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต
เหมือนมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ
[๔๑๘] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม
สาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด
แม้บัณฑิตเหล่านั้นฟังแล้วก็ไม่อิ่มด้วยสุภาษิตฉันนั้น
[๔๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
เมื่อใด หม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ในสำนักแห่งทาสของตน
เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นเท่านั้นโดยเคารพ
ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ
เพราะหม่อมฉัน ไม่มีความอิ่มในธรรมเลย
[๔๒๐] แคว้นของทูลกระหม่อมนี้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
มีทั้งทรัพย์ ยวดยาน และเครื่องประดับ
ทูลกระหม่อมทรงบริภาษหม่อมฉันเพราะเหตุแห่งกามทำไม
หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนักของโปริสาท
(พระบิดาตรัสว่า)
[๔๒๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ
ล้วนแต่เชี่ยวชาญในการธนูพอที่จะปกป้องตัวเองได้
เราจะยกกองทัพไปฆ่าศัตรูเสีย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ฟังคำของพระราชบิดาและพระราชมารดาแล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๒๒] โจรโปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก
จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันระลึกถึงอุปการะ
ที่มีมาก่อนเช่นนั้นที่โจรโปริสาทนั้นทำแล้ว
จะพึงประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๓] พระเจ้าสุตโสมนั้นถวายบังคมพระบิดา
และพระมารดาแล้ว
ทรงพร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกาย
เป็นผู้ตรัสความสัตย์ และทรงรักษาคำสัตย์
ได้เสด็จไปยังที่เป็นที่อยู่ของโปริสาทแล้ว
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทว่า)
[๔๒๔] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน
ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์
เพื่อเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์
จึงเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญท่านบูชายัญกินเราเสียเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๕] การเคี้ยวกินท่านในภายหลัง
ไม่เสียหายสำหรับข้าพเจ้า
แท้จริงกองไฟนี้ก็ยังมีควัน
เนื้อที่ย่างในกองไฟอันไม่มีควันจะสุกดี
หม่อมฉันจะขอฟังคาถาซึ่งมีค่าตั้ง ๑๐๐
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๔๒๖] ท่านโปริสาท ท่านประพฤติไม่ชอบธรรม
ต้องพลัดพรากจากแคว้น เพราะเหตุแห่ง(ปาก)ท้อง
ส่วนคาถาเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม
ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน หมายถึงรวมกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมย่อมให้ถึงสุคติคือนิพพาน
ส่วนอธรรมให้ถึงทุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๖/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๒๗] คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า
มีฝ่ามือเปื้อนเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ
ธรรมจะมีได้แต่ที่ไหน
ท่านจักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับ๑
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๒๘] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อ (ล่าสัตว์) เพราะเหตุแห่งเนื้อ
หรือฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน
คนทั้ง ๒ นั้นละโลกนี้ไปแล้วก็เสมอกัน (พอกัน)
เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงกล่าวหาหม่อมฉันว่า
เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ลัทธิของโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๒๙] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทราบธรรมเนียมกษัตริย์
ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิดมีเนื้อช้างเป็นต้น
ข้าแต่พระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ที่ไม่ควรเสวย
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พระโพธิสัตว์รับบาปบ้าง จึงกราบทูลว่า)
[๔๓๐] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
เสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก
พระองค์ช่างเป็นผู้ไม่ฉลาด
ในธรรมของกษัตริย์๒เลยนะ พระเจ้าข้า

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์อะไรด้วยการสดับ หมายความว่า ท่านจักทำอะไรกับการฟังนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะรอง
รับธรรม เหมือนภาชนะที่ไม่ใช่ภาชนะรองรับเปลวมันราชสีห์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๗/๔๒๑)
๒ ธรรมของกษัตริย์ หมายถึงหลักนิติศาสตร์ ในที่นี้ โจรโปริสาทกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมไม่ฉลาดใน
นิติศาสตร์กล่าวคือธรรมของกษัตริย์ คือไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของตน (เพราะเห็น
พระราชากลับมาสู่สำนักของตนอีก) (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๓๐/๔๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๓๑] ชนเหล่าใดฉลาดในธรรมของกษัตริย์
ชนเหล่านั้นต้องตกนรกเสียโดยมาก
เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละธรรมของกษัตริย์
แล้วเป็นผู้รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๒] พระตำหนักที่ประทับ แผ่นดิน โค ม้า
สตรีผู้น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์
พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งในพระนครนั้น
ก็พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๓๓] รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน
สัจจะเป็นรสดีกว่ารสเหล่านั้น
ก็เพราะสมณะและพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในสัจจะ
ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๓๔] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว
เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม
ยังเสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน
พระองค์ไม่ทรงกลัวความตายแน่นะ
และพระองค์เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้เลยหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[๔๓๕] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะต้องกลัวตาย
[๔๓๖] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย
ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์ไว้แล้ว
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๗] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๓๘] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
จึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
[๔๓๙] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม
ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๐] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ
และมิตรทั้งหลายแล้ว
ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมจึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาทขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๑] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
ได้ชำระทางไปสู่ปรโลกไว้แล้ว
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย
[๔๔๒] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก
และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ
จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก
ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด
(โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๔๔๓] บุรุษใดพึงกินคนผู้มีวาจาสัตย์เช่นท่าน
บุรุษนั้นชื่อว่าบริโภคยาพิษทั้ง ๆ ที่รู้
ชื่อว่าจับอสรพิษที่ร้ายแรง มีเดชกล้า
แม้ศีรษะของเขาพึงแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๔๔๔] นรชนทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้ว
ย่อมรู้แจ้งทั้งบุญและบาป
ใจของหม่อมฉันย่อมยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้าง
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่โจรโปริสาทว่า)
[๔๔๕] ข้าแต่มหาราช
การสมาคมกับสัตบุรุษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
การสมาคมนั้นย่อมคุ้มครองผู้นั้นได้
การสมาคมกับอสัตบุรุษมากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้
[๔๔๖] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น
พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ
เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย
บุคคลจึงมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๗] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้
อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา
ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้
[๔๔๘] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน
ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน
ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน คาถาเหล่านี้มีอรรถและพยัญชนะดี
พระองค์ตรัสไว้ถูกต้องดีแล้ว
หม่อมฉันได้สดับแล้วเพลิดเพลิน ปลื้มใจ ดีใจ อิ่มใจ
ข้าแต่พระสหาย หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแด่พระองค์
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะรุกต้อนโจรโปริสาท จึงตรัสว่า)
[๔๕๐] ท่านผู้มีบาปธรรม พระองค์ไม่รู้สึกว่าตนจะตาย
ไม่รู้สึกประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ วินิบาตและสวรรค์
เป็นผู้ติดใจในรส ตั้งมั่นในทุจริต จะประทานพรอะไรได้
[๔๕๑] หากหม่อมฉันจะกล่าวกับพระองค์ว่า โปรดให้พรเถิด
ฝ่ายพระองค์ครั้นประทานแล้วจะพึงกลับคำ
บัณฑิตคนไหนเล่ารู้อยู่จะพึงก่อการทะเลาะวิวาทนี้ที่เห็นอยู่ชัด ๆ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๕๒] คนเราแม้ให้พรใดแล้วพึงกลับคำ
เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ท่านจงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็ยอมสละถวายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า)
[๔๕๓] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้มีพลานามัยตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๔] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน
ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน
พระองค์จงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ตลอด ๑๐๐ ปี
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๕] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
พระองค์อย่าได้เสวยกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๖] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก
ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้
หม่อมฉันจะไม่กินกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๗] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่พระองค์จับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น
ให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ เถิด
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันทูลขอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๕๘] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่หม่อมฉันจับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้
ทรงกันแสง มีพระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล
หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับไปในแคว้นของตน ๆ
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันขอถวาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๕๙] แคว้นของพระองค์เป็นช่อง๑
เพราะชนเป็นอันมากหวาดหวั่นเพราะกลัว
จึงพากันหนีเข้าหาที่หลบซ่อน
ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อมนุษย์เถิด พระเจ้าข้า
บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๔ ที่หม่อมฉันทูลขอ
(โจรโปริสาทกราบทูลว่า)
[๔๖๐] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
หม่อมฉันนั้นจะพึงงดอาหารนั้นได้อย่างไร
ขอพระองค์จงขอพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๑] พระองค์ผู้จอมชน คนเช่นกับพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมไม่ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลาย
ตนนั่นแหละประเสริฐกว่า ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมกว่า
เพราะบุคคลผู้อบรมตนแล้ว
พึงได้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลายในภายหลัง

เชิงอรรถ :
๑ แคว้นของพระองค์เป็นช่อง หมายถึงไม่มีที่อยู่หนาแน่น คือ เกิดมีช่องว่าง เพราะเกิดหมู่บ้านขึ้นเฉพาะที่
(ขุ.ชา.อ. ๘/๔๕๙/๔๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า)
[๔๖๒] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม
โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น
เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๓] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า
นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย
ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย
เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ
เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า
[๔๖๔] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว
ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก
เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา
เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า
(โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า)
[๔๖๕] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา
ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ
หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๔๖๖] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น ๒ ส่วน
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้
พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย
พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทร้องไห้อีก กราบทูลว่า)
[๔๖๗] หม่อนฉันเข้าถึงการไม่ได้บุญ
ความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต
ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ
หม่อมฉันจะพึงถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นอีกว่า)
[๔๖๘] คำว่า คนเราให้พรใดแล้วกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น
สหาย ขอพระองค์จงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย
แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็สละถวายพระองค์ได้
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสนับสนุนโจรโปริสาทนั้นให้อาจหาญในการให้พรว่า)
[๔๖๙] สัตบุรุษทั้งหลายยอมสละชีวิต แต่ไม่สละธรรม
สัตบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัตย์อย่างเดียว
พรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ขอได้โปรดรีบประทานเสียเถิด
พระราชาผู้ประเสริฐสุด ขอพระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมนี้เถิด
[๔๗๐] นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ
เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ
เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ
ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิตทั้งหมด
[๔๗๑] บุรุษรู้ธรรมจากผู้ใด
และเหล่าสัตบุรุษย่อมขจัดความสงสัยของบุรุษนั้นได้
ข้อนั้นเป็นที่พึ่งและเป็นจุดมุ่งหมายของบุรุษนั้น
ด้วยเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรี
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๒] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน
หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้
สหาย ก็ถ้าพระองค์จะตรัสขอเรื่องนี้กับหม่อมฉัน
หม่อมฉันขอถวายพรนี้แด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๗๓] สหาย พระองค์เป็นทั้งครูและสหายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
แม้พระองค์ก็ขอได้โปรดทำตามคำของหม่อมฉัน
เราแม้ทั้ง ๒ จะได้ไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นว่า)
[๔๗๔] สหาย หม่อมฉันเป็นทั้งครูและสหายของพระองค์
พระองค์ได้ทำตามคำของหม่อมฉันแล้ว
แม้หม่อมฉันก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์
เราแม้ทั้ง ๒ ก็จะได้พากันไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน
(ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปหากษัตริย์เหล่านั้น
แล้ว จึงตรัสว่า)
[๔๗๕] พระองค์ทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้าย
ต่อพระราชานี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัตย์ปฏิญาณของหม่อมฉัน”
(กษัตริย์เหล่านั้นตรัสตอบว่า)
[๔๗๖] พวกหม่อมฉันจะไม่ประทุษร้าย
ต่อพระราชาพระองค์นี้ด้วยความเคียดแค้นว่า
“เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน
ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา
หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญญาของพระองค์”
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า)
[๔๗๗] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาฉันใด
ขอพระราชานี้จงเป็นเสมือนพระบิดาและพระมารดา
ของท่านทั้งหลาย
และขอท่านทั้งหลายจงเป็นเสมือนบุตรฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(กษัตริย์เหล่านั้นเมื่อรับปฎิญาณ จึงกราบทูลว่า)
[๔๗๘] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์
ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาทั้งหลายฉันใด
แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนพระบิดา
และพระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย
แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร จึงตรัสปลอบโจร
โปริสาทว่า)
[๔๗๙] พระองค์เคยเสวยกระยาหารเนื้อสัตว์ ๔ เท้า
และนกที่พวกพ่อครัวจัดปรุงให้สำเร็จอย่างดี
เหมือนพระอินทร์ทรงเสวยสุธาโภชน์
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๐] นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างน้อยสะโอดสะอง
ประดับแวดล้อมบำรุงพระองค์ให้บันเทิงพระทัย
เหมือนนางเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลกฉะนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าตามลำพังเล่า
[๔๘๑] พระแท่นบรรทมมีพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์
ล้วนแต่ปูลาดด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงอันงดงาม
พระองค์เคยทรงบรรทมสุขสำราญ
ประทับบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่นนั้น
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
[๔๘๒] ในเวลาพลบค่ำ มีทั้งเสียงปรบมือ
เสียงตะโพน และเสียงดนตรี
รับประสานเสียงล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน
การขับและการประโคมก็ล้วนไพเราะ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๓] พระราชอุทยานชื่อมิคาชินวัน
สมบูรณ์ด้วยบุปผชาติหลากหลายชนิด
พระนครของพระองค์ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ประกอบด้วยม้า ช้าง และรถ
ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า
(โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า)
[๔๘๔] ข้าแต่พระราชา ในกาฬปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมอ่อนแสงลงทุก ๆ วัน
การสมาคมคบหาอสัตบุรุษ
ย่อมเปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างแรมฉันใด
[๔๘๕] หม่อมฉันก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อาศัยพ่อครัวซึ่งเป็นคนชั่วเลวทราม
ได้ทำแต่บาปกรรมที่จะเป็นเหตุให้ไปทุคติ
[๔๘๖] ในสุกกปักษ์
ดวงจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างขึ้นทุก ๆ วันฉันใด
ข้าแต่พระราชา การสมาคมคบหาสัตบุรุษ
ก็เปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้นฉันนั้น
[๔๘๗] ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ทรงทราบว่า
เหมือนหม่อมฉันได้อาศัยพระองค์แล้ว
จักทำกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติได้
[๔๘๘] พระองค์ผู้จอมชน เปรียบเสมือนน้ำฝนที่ตกลงบนที่ดอน
ไม่ควรยืดเยื้อขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาอสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ไม่ควรจะยืดเยื้อยาวนานได้เหมือนน้ำบนที่ดอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] ๕.มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้เป็นนรชน
ผู้แกล้วกล้า และประเสริฐสุด
น้ำฝนที่ตกลงในสระย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด
แม้การสมาคมคบหาสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น
ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ
[๔๙๐] การสมาคมสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักเสื่อมคลายไป
ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังคงอยู่
ส่วนการสมาคมคบหาอสัตบุรุษย่อมเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงห่างไกลกันกับอสัตบุรุษ
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมเพื่อให้เนื้อความถึงที่สุด จึงตรัสว่า)
[๔๙๑] พระราชาผู้ชนะคนที่ไม่ควรชนะ๑ ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา
เพื่อนผู้ชนะเพื่อน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน
ภรรยาผู้ไม่เกรงกลัวสามี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา
บุตรทั้งหลายผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่ชรา ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร
[๔๙๒] ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษ๒ ก็ไม่ชื่อว่าสภา
เหล่าชนผู้ไม่พูดคำที่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ
ชนทั้งหลายผู้ละราคะ โทสะ โมหะ
กล่าวคำที่เป็นธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ
[๔๙๓] บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล
เมื่อไม่พูด ใคร ๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต
แต่บัณฑิตเมื่อพูด เมื่อแสดงอมตบท จึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่ควรชนะ หมายถึงมารดาบิดา เมื่อชนะมารดาบิดาไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา หากว่าท่านได้ราช
สมบัติจากพระราชบิดาแล้ว กลับเป็นปฐมกษัตริย์ต่อท่าน ชื่อว่าทำกิจไม่สมควร (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๑/๔๔๙)
๒ สัตบุรุษหมายถึงบัณฑิต สัตบุรุษทั้งหลายละกิเลสมีราคะเป็นต้นแล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์
พูดแต่ความจริง (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๒/๔๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑.อสีตินิบาต] รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาต
[๔๙๔] เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงกล่าวธรรม
พึงอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง
พึงเชิดชูธงของฤๅษีทั้งหลาย
เพราะฤๅษีทั้งหลายมีธรรมที่เป็นสุภาษิตเป็นธงชัย
ธรรมนั่นแหละเป็นธงชัยของฤๅษีทั้งหลาย
มหาสุตโสมชาดกที่ ๕ จบ

รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ
๑. จูฬหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก
๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก
๕. มหาสุตโสมชาดก

อสีตินิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
๒๒. มหานิบาต
๑. เตมิยชาดก ๑ (๕๓๘)
ว่าด้วยพระเตมีย์โพธิสัตว์
(เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้
สบายพระทัยแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑] ท่านจงอย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต
จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าเป็นคนโง่
ขอให้คนทั้งหมดจงดูหมิ่นท่านเถิด
ความประสงค์ของท่าน
จักสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
(พระเตมีย์โพธิสัตว์กลับได้ความสบายพระทัยตามคำของเทพธิดานั้น จึงตรัส
ว่า)
[๒] แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้า
แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสถามนายสารถีว่า)
[๓] นายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไมหนอ
สหายเอ๋ย เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกเรา
ท่านจักทำประโยชน์อะไรกับหลุมเล่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นชาดกที่พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออกบรรพชาอันยิ่งใหญ่(ในอดีต)
ได้ตรัสไว้โดยทรงเริ่มต้นด้วยคาถาแรกที่เทวดาผู้สถิตอยู่ที่เศวตฉัตรกล่าวสอนเตมิยกุมารว่า “ท่านจง
อย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๑/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
(สุนันทสารถีได้ฟังคำนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าดู จึงกราบทูลว่า)
[๔] พระโอรสของพระราชาเป็นใบ้
และเป็นง่อยเปลี้ยขาดความสำนึก
พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ควรฝังลูกเราไว้ในป่าช้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ ตรัสกับสุนันทสารถีว่า)
[๕] นายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก
คนใบ้ คนเปลี้ย และมิได้เป็นคนบกพร่อง๑
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
[๖] ท่านจงดูขา แขน และฟังภาษิตของเรา
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(สุนันทสารถีไม่รู้ จึงกราบทูลว่า)
[๗] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร
พวกเราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อแสดงตนให้ปรากฏ แสดงธรรมแก่สุนันทสารถีนั้น จึง
ตรัสว่า)
[๘] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์
ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นผู้ที่ท่านจะฝังในหลุม
เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี
[๙] เราเป็นโอรสของพระราชา
องค์ที่ท่านเข้าไปพึ่งบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ
นายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มิได้เป็นคนบกพร่อง หมายถึงเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๙/๕/๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๐] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มแห่งต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะคนผู้ประทุษร้ายมิตร ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม
[๑๑] พระราชาก็เหมือนต้นไม้ เราก็เป็นเหมือนกิ่งไม้
ข้าแต่มหาราช นายสารถีเป็นเหมือนคนผู้อาศัยร่มไม้
นายสารถี ถ้าท่านฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ปรารภคาถาบูชามิตร ๑๐ คาถาว่า)
[๑๒] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร
ผู้นั้นพรากจากเรือนของตนแล้ว
ย่อมมีอาหารสมบูรณ์
คนเป็นอันมากย่อมเข้าไปพึ่งพาผู้นั้นเลี้ยงชีพ
[๑๓] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
จะไปสู่ชนบท นิคม และราชธานีใด ๆ
ก็เป็นผู้อันชนทั้งหลายในชนบท นิคม
และราชธานีนั้น ๆ บูชาไปทุกแห่งหน
[๑๔] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไม่มีพวกโจรข่มเหง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ย่อมข้าม(ชนะ)ศัตรูทั้งปวงได้
[๑๕] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
ไม่โกรธเคืองใคร ๆ มาสู่เรือนของตน
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนยินดีต้อนรับในที่ประชุม
และเป็นคนชั้นสูงของหมู่ญาติ
[๑๖] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร สักการะคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้ที่คนอื่นสักการะตอบ
เคารพคนอื่นแล้วก็มีคนอื่นเคารพตอบ
เป็นผู้อันเขาสรรเสริญเกียรติคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒.มหานิบาต] ๑.เตมิยชาดก (๕๓๘)
[๑๗] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
บูชาผู้อื่น ย่อมได้รับการบูชาตอบ
ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้รับการไหว้ตอบ
ทั้งได้รับอิสริยยศและเกียรติ
[๑๘] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรือง๑เหมือนไฟ
ย่อมรุ่งโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ทอดทิ้ง
[๑๙] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีโคทั้งหลายตกลูกมาก
พืชที่หว่านลงในนาย่อมงอกงาม
ย่อมได้บริโภคผลของพืชทั้งหลายที่หว่านไว้แล้ว
[๒๐] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร พลัดตกจากเหว ภูเขา
พลาดตกต้นไม้หรือเคลื่อนจากภพ ย่อมได้ที่พึ่ง
[๒๑] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายจะระรานไม่ได้
เหมือนลมระรานต้นไทรที่มีรากและลำต้นงอกงามแล้วไม่ได้
(สุนันทสารถีประคองอัญชลี ทูลวิงวอนว่า)
[๒๒] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด
กระหม่อมจักนำพระองค์เสด็จกลับ
ไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
เชิญพระองค์เถลิงถวัลยราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า
พระองค์จักทรงทำอะไรในป่าได้เล่า
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[๒๓] นายสารถี พอทีสำหรับเราด้วยราชสมบัตินั้น
พระญาติทั้งหลายหรือทรัพย์ทั้งหลาย
ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอันไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
๑ รุ่งเรือง ในที่นี้หมายถึงรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศและบริวารยศ (ขุ.ชา.อ. ๙/๑๘/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า :๑๘๖ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker