ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
[๑๐๗] คนอกตัญญู คอยจับผิดอยู่เป็นนิตย์
ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ทำให้เขาพึงพอใจไม่ได้
(พญาราชสีห์ถามพญาเสือโคร่งว่า)
[๑๐๘] นี่พ่อสุพาหุ ทำไมหนอ ท่านจึงด่วนกลับมาพร้อมกับมาณพ
ท่านมีกิจสำคัญในที่นี้หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเรื่องนั้น
(พญาเสือโคร่งตอบว่า)
[๑๐๙] วันนี้ เราสงสัยการฆ่านกกระทา๑
เพื่อนของท่านซึ่งเป็นสัตว์ดี
เราได้ฟังหน้าที่การงานของชายผู้นี้
จึงไม่แน่ใจว่านกกระทาจะมีความสุขในวันนี้
(พญาราชสีห์ถามว่า)
[๑๑๐] โดยการประมวลความประพฤติของชายคนนี้
ชายคนนี้มีหน้าที่การงานอะไร
หรือการยอมรับอะไรของชายคนนี้ที่ท่านฟังมา
จึงสงสัยว่า นกกระทาถูกชายคนนี้ฆ่า
(พญาเสือโคร่งตอบว่า)
[๑๑๑] การค้าขายตามแบบแผนของชาวเมืองกาลิงคะ
ชายคนนี้ก็ได้ดำเนินมาแล้ว
หนทางที่ใช้ตอกทอยสัญจรด้วยหวาย คนผู้นี้ก็ผ่านมาแล้ว
แม้การรบด้วยกระบองพร้อมทั้งบ่วงบาศกลางโรงมหรสพ
ชายคนนี้ก็ได้แสดงมาแล้วกับนักฟ้อนทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทัททระ แปลว่า นกกระทา (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๐๙/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
[๑๑๒] นกทั้งหลายเขาก็จับมาแล้ว
งานตวงข้าวเขาก็ทำมาแล้ว
การพนันเขาก็ชนะมาแล้ว
เขาละเมิดการสำรวมศีล
เลือดที่ออกตั้งครึ่งคืนเขาก็คัดให้หยุดได้
มือถูกไฟไหม้เพราะการรับก้อนข้าวที่ร้อน
[๑๑๓] โดยประมวลความประพฤติของชายคนนี้แล้ว
หน้าที่การงานเหล่านั้นเป็นของเขา ที่เราฟังมา
ดังจะเห็นได้ ขนนกกระทากระจุกนี้ยังปรากฏอยู่
โคทั้งหลายเขายังฆ่าได้
ทำไมนกกระทาเขาจะฆ่าไม่ได้เล่า
ทัททรชาดกที่ ๑๒ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. คิชฌชาดก ๒. โกสัมพิยชาดก
๓. มหาสุวราชชาดก ๔. จูฬสุวกราชชาดก
๕. หริตจชาดก ๖. ปทกุสลมาณวชาดก
๗. โลมสกัสสปชาดก ๘. จักกวากชาดก
๙. หลิททราคชาดก ๑๐. สมุคคชาดก
๑๑. ปูติมังสชาดก ๑๒. ทัททรชาดก

นวกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
๑๐. ทสกนิบาต
๑. จตุทวารชาดก (๔๓๙)
ว่าด้วยเมืองมี ๔ ประตู
(นายมิตตวินทกะถามรุกขเทวดาโพธิสัตว์ว่า)
[๑] เมืองนี้มี ๔ ประตู มีกำแพงเหล็กมั่นคง
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่วอะไร จึงถูกกักขังไว้
[๒] ประตูทุกบานได้ถูกปิดไว้ ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนกับนก
เทพผู้ควรบูชา เหตุอะไรหนอ ข้าพเจ้าจึงถูกจักรบดขยี้
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๓] นี่สหาย ท่านได้ทรัพย์ถึง ๑๒๐,๐๐๐ แล้ว
ก็ไม่กระทำตามคำของพวกญาติผู้อนุเคราะห์
[๔] ท่านได้แล่นเรือออกไปสู่สมุทรสาคร
ซึ่งทำให้เรือโลดเต้นได้ อันมีความสำเร็จน้อย
ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๔
ได้ครอบครองนารี ๘ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๘
[๕] ได้ครอบครองนารี ๑๖ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๑๖
ได้ครอบครองนารี ๓๒ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๓๒
จึงได้ประสบจักร
จักรจึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
[๖] อันความอยากที่แผ่ซ่านไป กว้างขวางยิ่งนัก ให้เต็มได้ยาก
คนเหล่าใดย่อมกำหนัดตามความอยากนั้น
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
[๗] คนเหล่าใดละทิ้งทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ไม่พิจารณาหนทางที่ยังมิได้ใคร่ครวญ
คนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทูนจักรไว้
[๘] บัณฑิตพึงพิจารณาการงานและโภคะอันไพบูลย์
เมื่ออยากได้ก็อย่าพึงส้องเสพสิ่งที่ประกอบด้วยความฉิบหาย
พึงทำตามคำบอกกล่าวของผู้อนุเคราะห์ทั้งหลาย
บุคคลเช่นนั้นจักรก็จะไม่พึงกล้ำกราย
(นายมิตตวินทกะถามว่า)
[๙] เทพผู้ควรบูชา จักรบนศีรษะของข้าพเจ้า
จะอยู่นานสักเท่าไรเล่าหนอ กี่พันปี
ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้า
(รุกขเทวดาตอบว่า)
[๑๐] มิตตวินทกะ ท่านจงฟังข้าพเจ้า
เจ้าต้องระลึกถึงให้มาก ตระหนักไว้โดยยิ่ง
จักรยังคงพัดผันอยู่บนศีรษะของเจ้า
เมื่อเจ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะไม่พ้นมันหรอก
จตุทวารชาดกที่ ๑ จบ

๒. กัณหชาดก (๔๔๐)
ว่าด้วยกัณหฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับฤๅษีกัณหะว่า)
[๑๑] ชายคนนี้ผิวดำหนอ บริโภคอาหารสีดำ
อยู่ในภูมิประเทศสีดำ เราไม่ชอบใจเลย
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๒] ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราช เพราะผิวไม่นับว่าเป็นคนดำ
เพราะพราหมณ์มีความดีเป็นแก่นในภายใน
ผู้ที่มีกรรมชั่วนั่นแหละ นับว่าเป็นคนดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๒ }


(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๓] ท่านพราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๔] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาหวังเฉพาะความประพฤติของตน คือ อย่ามีความโกรธ
อย่ามีโทสะ อย่ามีความโลภ และอย่ามีความเสน่หา
ขอพระองค์ทรงประทานพรทั้ง ๔ ประการเหล่านี้แก่อาตมาเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๕] พราหมณ์ ท่านเห็นโทษอะไรในความโกรธ
ในโทสะ ในความโลภ หรือในความเสน่หา
ข้าพเจ้าถามแล้วขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้า
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๑๖] ความโกรธนั้นเกิดจากความไม่อดทน
ถึงจะน้อย ก็จะมากได้
ต่อไปก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เป็นความขัดข้องใจ
มีความคับแค้นใจเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโกรธ
[๑๗] คนถูกโทสะครอบงำมีวาจาหยาบคาย
ต่อไปก็ประหมัดตบตีกัน ใช้ท่อนไม้ประหารกัน
ที่สุดก็จะใช้ศัสตราประหัตประหารกัน
โทสะมีความโกรธเป็นสมุฏฐาน
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
[๑๘] การปล้นฆ่าชาวบ้าน การจี้ข่มขู่เอาทรัพย์ การคดโกง
และการหลอกลวงย่อมปรากฏมีอยู่ในบุคคลผู้มีความโลภ
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความโลภ
[๑๙] ความผูกพันที่ถูกความเสน่หาร้อยรัดไว้อันเกิดแต่ใจ
นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้เดือดร้อนมากมาย
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบความเสน่หา
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๐] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๒๑] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
อาตมาเมื่ออยู่ในป่า ก็อยู่เพียงผู้เดียวเป็นนิตย์
อาพาธทั้งหลายที่ร้ายกาจซึ่งกระทำอันตรายได้ขออย่าได้เกิดขึ้นเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๒] พราหมณ์ เพราะถ้อยคำที่ท่านเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านตามที่ใจของท่านปรารถนา
(ฤๅษีกัณหะกล่าวว่า)
[๒๓] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากพระองค์จะประทานพรแก่อาตมา
ใจก็ตาม กายก็ตาม
ขออย่าได้เข้าไปกระทบกระทั่งใคร ๆ ในกาลไหน ๆ
เพราะการกระทำของอาตมาเลย อาตมาปรารถนาพรดังนี้
กัณหชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
ว่าด้วยบุคคลทั้ง ๔ รักษาอุโบสถ
(วรุณนาคราชกล่าวว่า)
[๒๔] นรชนใดไม่ทำความโกรธในบุคคลที่ควรโกรธ
และไม่โกรธในกาลไหน ๆ
นรชนนั้นเป็นสัตบุรุษ
สัตบุรุษนั้นแม้จะโกรธก็ไม่เปิดเผยความโกรธ
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๒๕] นรชนใดมีท้องพร่องอยู่ ยังอดทนต่อความหิวได้
ฝึกตนได้ มีตบะ ดื่มน้ำและบริโภคอาหารพอประมาณ
ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๖] นรชนใดละการเล่นและความยินดีในกามทั้งปวงเสียได้
ไม่พูดเหลาะแหละอะไร ๆ ในโลก
งดเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายและจากเมถุนธรรม
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พระเจ้าธนัญชัยได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๒๗] อนึ่ง นรชนใดสละความหวงแหนและโลภธรรมทั้งปวงได้
ด้วยปัญญาเครื่องกำหนดรู้
นรชนนั้นแลผู้ฝึกตน มีความมั่นคง
ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นของเรา หมดความหวัง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
(พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันถามวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๒๘] พวกข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีปัญญาไม่ทราม รู้สิ่งที่ควรทำ
พวกข้าพเจ้าเกิดมีการโต้แย้งกันในถ้อยคำทั้งหลาย
ในวันนี้ ขอท่านจงตัดความสงสัยลังเลใจให้ด้วย
จงช่วยข้าพเจ้าทั้งหมดให้ข้ามพ้นความสงสัยลังเลใจนั้นเสีย
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒๙] บัณฑิตเหล่าใดได้เห็นเนื้อความ
บัณฑิตเหล่านั้นจึงจะกล่าวได้อย่างแยบคายในกาลนั้น
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย
จะแนะนำเนื้อความแห่งถ้อยคำที่ยังมิได้บอกกล่าวได้อย่างไรหนอ
[๓๐] ก็พญานาคราชกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
(พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสกับวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[๓๑] พญานาคกล่าวสรรเสริญขันติ
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญการละความอภิรมย์
พระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญความไม่กังวล
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๒] คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสุภาษิต
ก็ในคำเหล่านี้ หาคำที่เป็นทุพภาษิตไม่ได้สักข้อเดียว
และคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้มีอยู่ในนรชนใดอย่างมั่นคง
เหมือนอย่างซี่กำที่สอดใส่ไว้ในดุมเกวียน
นรชนนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้ง ๔ ประการ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๓. จตุโปสถิยชาดก (๔๔๑)
(พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ตรัสว่า)
[๓๓] ท่านประเสริฐจริงหนอ ยอดเยี่ยม เป็นผู้ถึงธรรม
รู้ธรรม มีปัญญาดี สางปัญหาได้ด้วยปัญญา
เป็นนักปราชญ์ ขจัดความสงสัยลังเลใจเสียได้
เหมือนนายช่างงาตัดงาช้างด้วยเลื่อยอันคม
[๓๔] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
นี้เป็นผ้าสีดอกอุบล ผุดผ่อง เนื้อละเอียดเสมือนควันไฟ
หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๕] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
นี้เป็นพวงมาลาทองคำ แย้มบาน มีกลีบถึง ๑๐๐ กลีบ
มีเกษรที่ประดับประดาด้วยรัตนะถึง ๑,๐๐๐
ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๖] ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน
แก้วมณีหาค่ามิได้ สวยงาม ผุดผ่อง เป็นเครื่องประดับคล้องคอ
ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอมอบให้ท่านเพื่อบูชาธรรม
[๓๗] ข้าพเจ้าพอใจการแก้ปัญหาของท่าน ขอมอบโคนม โคผู้
และช้าง อย่างละ ๑,๐๐๐ ตัว รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน
และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลเหล่านี้ให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
(พระบรมศาสดาทรงประมวลชาดกมาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๓๘] พญานาคในครั้งนั้น คือ พระสารีบุตร
ส่วนพญาครุฑ คือ โกลิตะ๑ ราชาแห่งคนธรรพ์ คือ พระอนุรุทธะ
พระราชา คือ พระอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต
ส่วนวิธุรบัณฑิต คือ พระโพธิสัตว์
เธอทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้แล
จตุโปสถิยชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ โกลิตะ คือ พระมหาโมคคัลลานเถระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. สังขชาดก (๔๔๒)
๔. สังขชาดก (๔๔๒)
ว่าด้วยสังขพราหมณ์
(อุปัฏฐากกล่าวกับสังขพราหมณ์ว่า)
[๓๙] ท่านสังขพราหมณ์ ท่านเป็นพหูสูต
ธรรมก็ได้ฟังมาแล้ว สมณพราหมณ์ท่านก็ได้พบมาแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น
ท่านมาแสดงอาการพร่ำเพ้อในขณะอันไม่สมควรเลย
คนอื่นนอกจากข้าพเจ้าจะมีใครเป็นที่ปรึกษาของท่านเล่า
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๐] เทพธิดาผู้มีใบหน้างาม รูปงาม
สวมใส่เครื่องประดับทองคำ
เชิญถาดอาหารทองคำ มีศรัทธาและยินดีบอกเราว่า
ขอเชิญท่านบริโภคอาหารเถิด
เราตอบปฏิเสธเทพธิดาตนนั้น
(อุปัฏฐากกล่าวว่า)
[๔๑] ท่านพราหมณ์ คนพบเห็นเทพผู้ควรบูชาเช่นนี้
เมื่อหวังความสุข ก็ควรจะไต่ถาม
ท่านจงลุกขึ้นประนมมือถามเทพผู้นั้นตรง ๆ ว่า
ท่านเป็นเทพธิดาหรือหญิงมนุษย์กันหนอ
(สังขพราหมณ์ถามเทพธิดาว่า)
[๔๒] เพราะท่านมองดูข้าพเจ้าด้วยเมตตา
และยังบอกเชิญข้าพเจ้าว่าบริโภคภัตตาหารเถิด
แม่นางผู้มีอานุภาพมาก
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า
ท่านเป็นเทพธิดาหรือหญิงมนุษย์กันหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๔. สังขชาดก (๔๔๒)
(เทพธิดาตอบว่า)
[๔๓] ท่านสังขพราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นเทพธิดา มีอานุภาพ
มาท่ามกลางสมุทรวารนี้ มีความเอ็นดู จะมีจิตประทุษร้ายก็หาไม่
ข้าพเจ้ามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
[๔๔] ท่านสังขพราหมณ์ ในมหาสมุทรนี้ มีข้าว น้ำ
ที่นอน ที่นั่ง และยานนานาชนิด
ข้าพเจ้าจะมอบให้ท่านทุกอย่างตามที่ใจของท่านปรารถนา
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๕] ข้าพเจ้าได้บูชาและบวงสรวงมาแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
แม่เทพธิดาผู้มีเรือนร่างงดงาม มีสะโพกผึ่งผาย มีคิ้วงาม
เอวบางร่างน้อย ท่านเป็นใหญ่แห่งบุญกรรมทุกอย่างของข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไรของข้าพเจ้าเล่า
(เทพธิดาตอบว่า)
[๔๖] ท่านสังขพราหมณ์ ท่านให้ภิกษุรูปหนึ่งผู้เดินกระโหย่งเท้า
กระหาย ลำบาก ในหนทางที่ร้อนสวมรองเท้าถวาย
ทักษิณานั้นให้สมบัติที่น่าปรารถนาแก่ท่านในวันนี้
(สังขพราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๗] ขอจงเนรมิตเรือที่ทำด้วยไม้กระดาน
ไม่รั่ว ใช้ใบตะไคร่น้ำเป็นใบเรือ
เพราะในกลางทะเลนี้ไม่ใช่ภาคพื้นแห่งยานอื่น
ช่วยส่งข้าพเจ้าให้ถึงเมืองโมฬินีในวันนี้เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๔๘] เทพธิดานั้นปลื้มใจ ยินดีปรีดา
ได้เนรมิตเรืออันงดงาม ณ ที่นั้น พาสังขพราหมณ์
พร้อมทั้งอุปัฏฐากชายนำไปส่งถึงเมืองอันน่ารื่นรมย์
สังขชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
ว่าด้วยจูฬโพธิกุมาร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๙] พราหมณ์ ถ้าจะพึงมีคนมาพานางปริพาชิกาของท่าน
ผู้มีดวงตางาม ยิ้มแย้มร่าเริงน่ารักนี้ไปโดยพลการ
ท่านจะทำอย่างไรเล่า
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๕๐] ถ้าอาตมาเกิดความโกรธขึ้น
ความโกรธก็จะไม่พึงเสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาจะห้ามความโกรธเสียโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๑] วันก่อน ท่านนั้นกล่าวอวดอ้างอย่างไรหนอ
วันนี้ดูเหมือนมีกำลัง จึงทำเป็นนั่งนิ่งเย็บผ้าห่มอยู่ ณ บัดนี้
(พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า)
[๕๒] อาตมาเกิดความโกรธขึ้นแล้ว
ความโกรธไม่เสื่อมคลาย
จะไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของอาตมา
อาตมาได้ห้ามความโกรธเสียแล้วโดยพลัน
เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๓] ทำไม ความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านจึงไม่เสื่อมคลาย
ทำไม ความโกรธจึงไม่เสื่อมคลายตลอดชีวิตของท่าน
ไฉน ท่านจึงห้ามความโกรธได้เหมือนฝนห่าใหญ่ระงับฝุ่นละออง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๕. จูฬโพธิชาดก (๔๔๓)
(พระโพธิสัตว์ทูลว่า)
[๕๔] เมื่อความโกรธเกิดขึ้นย่อมมองไม่เห็น
เมื่อไม่เกิดย่อมมองเห็นได้ดี
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา จึงไม่เสื่อมคลาย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๕] ความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ศัตรูผู้มุ่งความทุกข์พอใจ
ได้เกิดขึ้นแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๖] อนึ่ง เมื่อเกิดความโกรธขึ้น
บุคคลย่อมไม่หยั่งรู้ประโยชน์ของตัวเอง
ความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมา ยังไม่เสื่อมคลายเลย
เพราะความโกรธเป็นอารมณ์ของคนโง่
[๕๗] คนถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อมละทิ้งกุศลธรรม
ทำประโยชน์แม้อันไพบูลย์ให้เสียไป
ความโกรธนั้นมีเสนาน่าสะพรึงกลัว มีกำลังย่ำยี
ความโกรธของอาตมายังไม่เสื่อมคลายไปเลย มหาบพิตร
[๕๘] เมื่อไม้แห้งเสียดสีกันอยู่ก็เกิดไฟป่า
ไฟนั้นเกิดจากไม้แห้งอันใดก็ไหม้ไม้แห้งนั้นเอง
[๕๙] ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเพราะความแข่งดีของคนพาลผู้โง่เขลา
ไม่มีความรู้ แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาผลาญ
[๖๐] ความโกรธย่อมเพิ่มพูนแก่ผู้ใดเหมือนดังไฟที่กองหญ้าและไม้แห้ง
ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศเหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[๖๑] ผู้ใดระงับความโกรธเสียได้เหมือนไฟที่ปราศจากเชื้อ
ผู้นั้นยศย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น
จูฬโพธิชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
ว่าด้วยมัณฑัพยคหบดี
(ดาบสกระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๒] อาตมาต้องการบุญ มีจิตเลื่อมใส
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น
ต่อแต่นั้น แม้จะไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
ก็ยังประพฤติมาเกิน ๕๐ ปี
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์กุมารจงรอดชีวิต
(บิดากระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๓] เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ข้าพเจ้าเห็นแขกในเวลามาพัก
ก็ไม่ยินดีให้พัก
อนึ่ง สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายแม้ผู้เป็นพหูสูต
ก็ไม่ทราบความที่ข้าพเจ้าไม่พอใจ
ข้าพเจ้าแม้จะไม่พอใจก็ตาม ก็ยังให้ทาน
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกพ่อจงรอดชีวิต
(มารดากระทำสัจจวาจาว่า)
[๖๔] ลูกรัก อสรพิษที่มีพิษร้ายแรงตัวใด
ได้โผล่ขึ้นจากปล่องมากัดเจ้า
วันนี้ อสรพิษตัวนั้น และบิดาของเจ้า
ไม่มีความแตกต่างกันเลย
เพราะไม่ได้เป็นที่รักของแม่
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี
ขอพิษจงคลาย ขอยัญญทัตต์ลูกชายจงรอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๖. มัณฑัพยชาดก (๔๔๔)
(นายมัณฑัพยะถามทีปายนดาบสว่า)
[๖๕] ชนบางพวกผู้สงบระงับ ฝึกตนแล้ว บวชเป็นดาบส
มีรูปร่างไม่น่าใคร่ไม่มีเลย นอกเสียจากกัณหดาบส
ท่านทีปายนดาบส ท่านรังเกียจอะไร
จึงไม่พอใจประพฤติพรหมจรรย์
(ทีปายนดาบสตอบว่า)
[๖๖] กัณหดาบสนั้นเป็นคนโง่จริงหนอ เหมือนกับเด็กใบ้น้ำลาย
ออกบวชด้วยศรัทธาแล้วยังกลับไปหาสิ่งนั้นอีก
อาตมารังเกียจวาทะเช่นนี้
ถึงไม่พอใจก็ยังประพฤติพรหมจรรย์
ซึ่งเป็นฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญและเป็นฐานะของสัตบุรุษ
อาตมาจึงบำเพ็ญบุญแม้อย่างนี้
(ทีปายนดาบสย้อนถามว่า)
[๖๗] ท่านเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ และคนเดินทาง
ให้อิ่มหน่ำด้วยข้าวและน้ำ
เรือนของท่านนี้เพียบพร้อมด้วยข้าวและน้ำ
มีภักษาหารเปรียบดังอู่ข้าวอู่น้ำ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านรังเกียจวาทะอะไร
ถึงไม่พอใจก็ยังให้ทานนี้
(นายมัณฑัพยะตอบว่า)
[๖๘] บิดาและปู่ของข้าพเจ้าเป็นคนมีศรัทธา
เป็นทานบดี เป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
ข้าพเจ้าผู้ประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
อย่าได้ชื่อว่า เป็นคนทำลายตระกูลคนสุดท้ายเลย
ข้าพเจ้ารังเกียจวาทะเช่นนั้น
ถึงไม่พอใจก็ยังคงให้ทานนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
(นายมัณฑัพยะถามภรรยาว่า)
[๖๙] นี่นางผู้มีทรวดทรงงาม เราได้นำเจ้าผู้ยังเป็นหญิงวัยรุ่น
ยังไม่มีปัญญาสามารถจัดแจงทรัพย์ได้มาจากตระกูลญาติ
และเจ้าก็มิได้บอกให้รู้ถึงความที่เจ้าไม่รักเรา
ยังบำเรอเราโดยปราศจากความรัก เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุไร เจ้าจึงยังอยู่ร่วมกับเราอย่างนี้ แม่นางผู้เจริญ
(ภรรยาตอบว่า)
[๗๐] ตั้งแต่ไหนแต่ไรเนิ่นนานมาแล้ว
หญิงสาวคนหนึ่งทิ้งสามีแล้วได้ชายอื่นเป็นสามีไม่มีในตระกูลนี้
ขอดิฉันผู้ประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
อย่าชื่อว่า เป็นคนทำลายตระกูลคนสุดท้ายเลย
ดิฉันรังเกียจวาทะเช่นนั้น ถึงไม่พอใจก็ยังบำเรอท่านอยู่
(ภรรยากล่าวขอโทษนายมัณฑัพยะผู้เป็นสามีว่า)
[๗๑] ท่านมัณฑัพยะ วันนี้ดิฉันพูดคำที่ไม่ควรพูด
เพื่อเห็นแก่ลูก ขอท่านจงอดโทษถ้อยคำที่ดิฉันพูดนั้นเถิด
ไม่มีสิ่งอื่นใดในโลกนี้ จะยิ่งไปกว่าความรักลูก
ขอยัญญทัตต์ลูกของเรานั้นจงรอดชีวิตเถิด
มัณฑัพยชาดกที่ ๖ จบ

๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
ว่าด้วยพระเจ้านิโครธ
(นายโปตติกะกราบทูลพระเจ้านิโครธว่า)
[๗๒] ขอเดชะพระเจ้านิโครธ พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างไร
ตามที่สาขเสนาบดีกล่าวว่า เราไม่รู้จักมันเลยว่า
มันผู้นี้เป็นใคร หรือเป็นคนสอดแนมของใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๗. นิโครธชาดก (๔๔๕)
[๗๓] ต่อแต่นั้น คนผู้กระทำตามคำสั่งของสาขเสนาบดี
ได้ตบหน้าข้าพระองค์แล้วลากคอนำข้าพระองค์ออกไป
[๗๔] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
สาขเสนาบดีเพื่อนของพระองค์เป็นคนมีความคิดต่ำทราม
อกตัญญู ประทุษร้ายมิตร กระทำกรรมอันไม่ประเสริฐเช่นนี้
(พระเจ้านิโครธตรัสว่า)
[๗๕] เพื่อน เรื่องนี้เรายังไม่ทราบ ทั้งใคร ๆ ก็มิได้บอกเรา
ถึงเรื่องที่สาขะได้กระทำการฉุดคร่าท่าน มีแต่ท่านได้บอกเรา
[๗๖] ท่านส่งเสริมเพื่อนทั้งสอง คือ เราและสาขะให้มีอาชีพดีขึ้น
คือ ท่านได้ให้อิสริยยศแก่พวกเราเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์
สมบัติเหล่านี้พวกเราได้มาก็เพราะท่าน
ในเรื่องนี้เราไม่สงสัยเลย
[๗๗] เมล็ดพืชที่ถูกเผาในกองไฟย่อมไม่งอกขึ้น ฉันใด
ความดีที่ทำในคนชั่วก็ย่อมพินาศไปไม่งอกงาม ฉันนั้น
[๗๘] ส่วนความดีที่ทำในคนผู้มีความกตัญญู มีศีล
มีความประพฤติอันประเสริฐ ย่อมไม่เสียหาย
เหมือนเมล็ดพืชในนาที่ดี
(พระราชารับสั่งว่า)
[๗๙] ก็เจ้าสาขะผู้นี้เป็นคนชั่วช้า คดโกง มีความคิดเยี่ยงคนชั่ว
จงเอาหอกแทงมัน เราไม่ต้องการให้มันมีชีวิตอยู่
(นายโปตติกะกราบทูลว่า)
[๘๐] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์ทรงโปรดงดโทษแก่เขาเถิด
ชีวิตนำกลับคืนมาไม่ได้ ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงโปรดงดโทษแก่คนชั่วเถิด
ข้าพระองค์ไม่ต้องการฆ่าเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
(นายโปตติกะกล่าวสอนลูกสาวลูกชายว่า)
[๘๑] ควรคบแต่พระเจ้านิโครธเท่านั้น
อย่าเข้าไปคบหาเจ้าสาขเสนาบดีเลย
การตายในสำนักของพระเจ้านิโครธประเสริฐกว่า
การมีชีวิตอยู่ในสำนักของเจ้าสาขเสนาบดีจะประเสริฐอะไร
นิโครธชาดกที่ ๗ จบ

๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
ว่าด้วยตักกลบัณฑิต
(ลูกชายวัย ๗ ขวบถามพ่อว่า)
[๘๒] คุณพ่อ หัวหอม หัวกระเทียมก็ไม่มี มันเทศก็ไม่มี
มันมือเสือก็ไม่มี เหง้าตาลก็ไม่มีเลย
คุณพ่อต้องการอะไร
จึงขุดหลุมอยู่คนเดียวกลางป่าช้าในป่า
(พ่อตอบว่า)
[๘๓] ลูกรัก ปู่ของเจ้าทุพพลภาพมากแล้ว
ถูกความลำบากเพราะความเจ็บป่วยหลายอย่างเบียดเบียน
วันนี้ พ่อจะขุดหลุมฝังปู่เจ้า
เพราะพ่อไม่ชอบใจชีวิตอย่างนั้นของปู่เจ้า
(ลูกชายกล่าวว่า)
[๘๔] คุณพ่อได้รับความคิดอันชั่วช้านี้มา
แล้วกระทำกรรมอันหยาบช้าไร้ประโยชน์
คุณพ่อ เมื่อคุณพ่อแก่ชราก็จักได้รับการกระทำเช่นนี้แม้จากลูก
ถึงลูกก็จะประพฤติตามประเพณีของตระกูลนั้น
จะขุดหลุมฝังคุณพ่อเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๘. ตักกลชาดก (๔๔๖)
(พ่อกล่าวว่า)
[๘๕] นี่เจ้าเด็กน้อย เจ้าพูดกระทบข่มขู่พ่อด้วยวาจาที่หยาบ
ลูกรัก เจ้าเป็นลูกแท้ ๆ ของพ่อ กลับไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อ
(ลูกชายกล่าวโต้ตอบว่า)
[๘๖] คุณพ่อ ลูกจะไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อก็หาไม่
แม้ลูกก็อนุเคราะห์เกื้อกูลคุณพ่อ
แต่ไม่อาจจะห้ามคุณพ่อผู้กำลังทำกรรมชั่วช้านั้น
จากการกระทำนั้นได้
(พ่อกล่าวว่า)
[๘๗] พ่อสวิฏฐะ ผู้ใดมีความชั่วช้า
เบียดเบียนพ่อแม่ผู้ไม่ประทุษร้ายตน
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะตกนรกอย่างไม่ต้องสงสัย
[๘๘] พ่อสวิฏฐะ ส่วนผู้ใดบำรุงพ่อแม่ด้วยข้าวและน้ำ
เมื่อตายไปชาติหน้า ผู้นั้นจะขึ้นสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย
[๘๙] ลูกรัก เจ้าไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อก็หามิได้
เจ้าอนุเคราะห์เกื้อกูลพ่อแท้ ๆ
แต่พ่อถูกแม่ของเจ้าสั่งมา จึงกระทำกรรมหยาบช้าเช่นนี้
(ลูกชายกล่าวว่า)
[๙๐] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
พ่อควรขับแม่ออกจากเรือนไป
แม่นั้นควรจะได้รับทุกข์อย่างอื่นบ้าง
[๙๑] ภรรยาของพ่อไม่ใช่คนดี เป็นแม่บังเกิดเกล้าของลูกนั่นเอง
แม่นั้นมีความคิดชั่วช้า ได้รับการฝึกแล้วหมดพยศ
เหมือนช้างพัง จงให้กลับมาอยู่ต่อไป
ตักกลชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
ว่าด้วยมหาธรรมปาลกุมาร
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามพราหมณ์ว่า)
[๙๒] วัตรของท่านเป็นอย่างไร
อนึ่ง พรหมจรรย์ของท่านเป็นอย่างไร
นี้เป็นผลแห่งวัตรและพรหมจรรย์ที่ท่านประพฤติดีแล้วอย่างไร
พราหมณ์ ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าว่า
เพราะเหตุไรหนอ พวกท่านจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
(พราหมณ์ตอบว่า)
[๙๓] พวกเราประพฤติธรรม๑ ไม่กล่าวเท็จ
งดเว้นกรรมชั่ว ละเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งหมด
เพราะเหตุนั้นแล พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๔] พวกเราฟังธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
แต่พวกเราไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษเลย
จึงละเว้นอสัตบุรุษ ไม่ละเว้นสัตบุรุษ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๕] ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็ดีใจ แม้ขณะให้ก็พอใจ
แม้ให้ไปแล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เพราะฉะนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๖] พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง
วณิพก ยาจก และคนจนให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติกุศลกรรมบถ (ทางแห่งความดี ๑๐) คือ ทางกาย ๓ ได้แก่
(๑) ละการฆ่าสัตว์ (๒) ละการลักทรัพย์ (๓) ละการประพฤติผิดในกาม ทางวาจา ๔ ได้แก่ (๑) ละการ
พูดเท็จ (๒) ละการพูดส่อเสียด (๓) ละการพูดคำหยาบ (๔) ละการพูดเพ้อเจ้อ ทางใจ ๓ ได้แก่ (๑) ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น (๒) ไม่มีจิตคิดร้ายต่อผู้อื่น (๓) มีความเห็นชอบ (ขุ.ชา.อ. ๕/๙๓/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๙. มหาธัมมปาลชาดก (๔๔๗)
[๙๗] อนึ่ง พวกเราไม่นอกใจภรรยา
ถึงพวกภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา
นอกจากภรรยาเหล่านั้นแล้ว พวกเราประพฤติพรหมจรรย์
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๘] พวกเรางดเว้นการฆ่าสัตว์ทั้งปวง
ละเว้นสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่พูดเท็จเลย
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๙๙] บุตรทั้งหลายที่เกิดในหญิงชั้นสูงมีมารยาทอันดีงามเหล่านั้น
เป็นคนฉลาด มีปัญญามาก เป็นพหูสูต จบไตรเพท
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
[๑๐๐] พ่อแม่ พี่น้องหญิงชาย ลูกเมีย
และเราทั้งหมดก็ประพฤติธรรมเพราะเหตุโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ
[๑๐๑] ทาสชายหญิง บุคคลรอบข้างที่อาศัยเลี้ยงชีพ
และคนงานทั้งหมดก็ประพฤติธรรมเพราะเหตุโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงไม่ตายแต่หนุ่ม ๆ
(พราหมณ์แสดงคุณของผู้ประพฤติธรรมว่า)
[๑๐๒] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ตนประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว
ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ถึงทุคติ
[๑๐๓] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
เหมือนร่มคันใหญ่ในฤดูฝน
ธรรมปาลกุมารของเรามีธรรมคุ้มครอง ยังอยู่เป็นสุข
กระดูกที่ท่านนำมาเป็นกระดูกคนอื่น
มหาธัมมปาลชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
๑๐. กุกกุฏชาดก (๔๔๘)
ว่าด้วยพญาไก่
(พญาไก่กล่าวว่า)
[๑๐๔] ไม่ควรวางใจในคนทำความชั่ว
คนพูดเหลาะแหละ คนเห็นแก่ตัว
แม้คนที่สงบเกินไปก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๕] เพราะว่ามีคนพวกหนึ่งเป็นเช่นกับโคกระหายน้ำ
เพียงแต่พูดเสียดสีมิตร แต่ไม่กระทำตามที่พูด
[๑๐๖] ผู้ใดดีแต่ประณมมือไหว้ พูดวกวน เป็นมนุษย์กระพี้
ไม่มีความกตัญญู ผู้นั้นก็ไม่ควรนั่งใกล้
[๑๐๗] อนึ่ง ไม่พึงวางใจสตรีหรือบุรุษผู้มีจิตแปรปรวน
แม้คนเปิดเผยความสัมพันธ์มีประการต่าง ๆ เช่นนั้น
ก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๘] คนผู้ตกอยู่ในกรรมชั่ว มีวาจาไม่มั่นคง ฆ่าได้ทุกคน
เหมือนดาบที่ลับแล้วซ่อนไว้ แม้คนเช่นนั้นก็ไม่ควรวางใจ
[๑๐๙] คนบางพวกในโลกนี้ เป็นคนเทียมมิตร
มีวาจาคมคาย แต่ไร้น้ำใจ เข้าไปหาด้วยอุบายต่าง ๆ
แม้คนเช่นนั้นก็ไม่ควรวางใจ
[๑๑๐] คนใดเห็นอามิสหรือทรัพย์ในที่ใดยังละทิ้งเพื่อนนั้นไปเสียได้
คนเช่นนั้นเป็นคนโง่ ทำลายมิตร
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๑] สัตว์จำนวนมากปกปิดตนไว้ เป็นคนเทียมมิตร
คอยคบหาอยู่ คนเหล่านี้เป็นคนชั่ว
ควรละเว้นเสีย เหมือนไก่ละเว้นเหยี่ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
[๑๑๒] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรูและจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๑๓] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนไก่พ้นจากเหยี่ยว
[๑๑๔] คนผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มีปกติกำจัดอยู่เป็นนิตย์
เหมือนบ่วงที่เขาดักไว้ในป่าฉะนั้น
นรชนผู้มีปัญญาพิจารณาควรเว้นให้ห่างไกล
เหมือนไก่ในป่าไผ่จะเว้นเหยี่ยว
กุกกุฏชาดกที่ ๑๐ จบ

๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก (๔๔๙)
ว่าด้วยมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร๑
(พราหมณ์จะถามมาณพว่า)
[๑๑๕] เจ้าประดับตกแต่งร่างกาย ใส่ต่างหูเกลี้ยง
ทัดทรงดอกไม้ มีกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง
ประคองแขนคร่ำครวญอยู่กลางป่า
เจ้ามีทุกข์เรื่องอะไร
(มาณพตอบว่า)
[๑๑๖] เรือนรถที่ทำด้วยทองคำ งามผุดผ่องเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ายังหาล้อรถทั้งคู่นั้นไม่ได้
เพราะความทุกข์นั้น ข้าพเจ้าจักยอมสละชีวิต
(พราหมณ์รับรองว่า)
[๑๑๗] พ่อมาณพผู้เจริญ ล้อทองคำ ล้อแก้วมณี ล้อทองแดง
หรือล้อเงิน จงบอกข้ามา ข้าจะจัดล้อทั้งคู่ให้เจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.วิ.(แปล) ๒๖/๑๒๐๗-๑๒๑๖/๑๕๑-๑๕๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
[๑๑๘] มาณพได้กล่าวแก่พราหมณ์นั้นว่า
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ ย่อมปรากฏในท้องฟ้านั้น
รถทองของข้าพเจ้าย่อมงามด้วยล้อทั้งคู่นั้น
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๑๙] พ่อมาณพ เจ้าโง่นัก ที่มาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
ข้าเข้าใจว่า เจ้าจักตายเสียเปล่า
เพราะเจ้าไม่มีทางจะได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เลย
(มาณพกล่าวว่า)
[๑๒๐] แม้การโคจรไปมาของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังปรากฏ
รัศมียังปรากฏในวิถีทั้ง ๒
ส่วนคนที่ตายไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ
เราทั้ง ๒ ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครหนอโง่กว่ากัน
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๑๒๑] พ่อมาณพ เจ้าพูดจริงแท้ เราทั้ง ๒ ผู้ร้องไห้คร่ำครวญอยู่
ข้านี่แหละโง่กว่า ที่มาปรารถนาคนที่ตายไปแล้ว
เหมือนทารกร้องไห้อยากได้ดวงจันทร์
[๑๒๒] เจ้าช่วยระงับข้าผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๒๓] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกของข้าผู้กำลังเศร้าโศกถึงบุตร
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของข้าขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒๔] พ่อมาณพ ข้าซึ่งเจ้าช่วยถอนลูกศรคือความโศกขึ้นให้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเจ้า
มัฏฐกุณฑลีชาดกที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
๑๒. พิลารโกสิยชาดก (๔๕๐)
ว่าด้วยท้าวสักกะทรมานเศรษฐีตีนแมว
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๒๕] สัตบุรุษทั้งหลายถึงจะไม่หุงต้มกินเอง
ได้โภชนะมาก็ปรารถนาที่จะให้
ส่วนท่านหุงต้มกินเอง ไฉนเล่าจึงไม่ให้
การไม่ให้นั้นไม่สมควรเลย
[๑๒๖] คนไม่ให้ทานเพราะเหตุ ๒ อย่างนี้
คือ เพราะตระหนี่ ๑ เพราะประมาท ๑
ผู้รู้เมื่อหวังบุญ ควรให้ทาน
[๑๒๗] คนตระหนี่กลัวต่อความหิวความกระหายอันใดจึงไม่ให้ทาน
ภัยคือความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมมีแก่เขาผู้ไม่ให้
คนตระหนี่กลัวต่อความหิวและความกระหายอันใด
ความหิวและความกระหายนั่นแหละย่อมเบียดเบียนเขาผู้เป็นคนพาล
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๒๘] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน
กำจัดความตระหนี่แล้วพึงให้ทาน
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า
(สุริยเทพบุตรเสด็จลงมาแล้ว ขออาหารว่า)
[๑๒๙] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[๑๓๐] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเล่มนี้ หน้า ๗๙, ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๒๒๘๖-๒๒๘๗/๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
(มาตลีเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[๑๓๑] แม้มีไทยธรรมเพียงเล็กน้อย คนพวกหนึ่งก็ให้
คนพวกหนึ่งมีไทยธรรมมาก แต่ไม่ให้
ทักษิณาจากไทยธรรมส่วนน้อยที่บุคคลให้แล้ว
นับได้เสมอกับการให้ตั้งพัน
(ปัญจสิขเทพบุตรเสด็จมาแสดงธรรมว่า)
[๑๓๒] แม้ผู้ใดเที่ยวแสวงหาอาหารเลี้ยงลูกเมีย
เมื่อมีรายได้น้อยก็ยังให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าผู้ประพฤติธรรม
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจนผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเลย
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๓๓] ยัญอันไพบูลย์เพราะมีค่ามากนี้
เหตุใดจึงไม่มีค่าเท่าเทียมทานที่บุคคลให้แล้วโดยสม่ำเสมอเล่า
อนึ่ง การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์ จำนวนพันนับแสนคน
เหล่านั้นย่อมไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ผู้ประพฤติธรรมเช่นนั้นเป็นอย่างไร
(ปัญจสิขเทพบุตรกล่าวว่า)
[๑๓๔] เพราะว่าคนพวกหนึ่งตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้นอันไม่สม่ำเสมอ
ทรมานสัตว์บ้าง ฆ่าสัตว์บ้าง ทำให้สัตว์เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน
ทักษิณานั้นมีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา ประกอบไปด้วยอาชญา
จึงไม่เท่าราคาของทานที่เขาให้อย่างสม่ำเสมอ
การบูชาของคนที่บูชายัญด้วยทรัพย์จำนวนพันนับแสนคนเหล่านั้น
ยังไม่ถึงแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของคนจน
ที่ประพฤติธรรมเช่นนั้นด้วยอาการอย่างนี้
พิลารโกสิยชาดกที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
๑๓. จักกวากชาดก (๔๕๑)
ว่าด้วยนกจักรพาก
(กาถามนกจักรพากว่า)
[๑๓๕] นกจักรพากท่านมีสีสวยรูปงามล่ำสัน
เลือดฝาดดี ทรวดทรงงาม ใบหน้าผ่องใส
[๑๓๖] ท่านจับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา คงกินอาหารอย่างนี้
คือ ปลากา ปลากระบอก ปลาหมอ
ปลาค้าว และปลาตะเพียน นะซิ
(นกจักรพากปฏิเสธคำพูดของกานั้นว่า)
[๑๓๗] ข้าพเจ้ามิได้กินอาหารชนิดนี้ หรือสัตว์บกสัตว์น้ำเลย
นอกเสียจากสาหร่ายและจอกแหน
เพื่อน สาหร่ายและจอกแหนนี้เป็นอาหารของข้าพเจ้า
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๘] ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า สาหร่ายและจอกแหนนี้
เป็นอาหารของนกจักรพาก
เพื่อน แม้ตัวข้าพเจ้าก็ยังกินอาหารที่มีรสเค็ม
และคลุกเคล้าด้วยน้ำมันในบ้าน
[๑๓๙] ซึ่งเป็นอาหารที่เขาปรุงกันในหมู่มนุษย์
เป็นของสะอาดเจือด้วยเนื้อ
นกจักรพาก แต่สีสันของข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน
(นกจักรพรากได้กล่าวว่า)
[๑๔๐] ท่านเบียดเบียนหมู่มนุษย์
ต้องคอยมองดูผู้ที่ผูกเวรในตน
กินอย่างหวาดสดุ้ง ตกใจกลัว
เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
[๑๔๑] กา ท่านเป็นศัตรูกับชาวโลกทั้งปวง
ได้ก้อนข้าวมาด้วยความชั่ว ไม่ทำให้ผู้อื่นอิ่มหนำ
เพราะเหตุนั้น สีสันของท่านจึงเป็นเช่นนี้
[๑๔๒] เพื่อน ข้าพเจ้าไม่เบียดเบียนเหล่าสัตว์ทั้งปวง
มีความขวนขวายน้อย ไม่หวาดระแวง
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนกินอยู่
[๑๔๓] ท่านนั้นจงสร้างอานุภาพขึ้น
จงเลิกประพฤติแบบเดิมเสีย เที่ยวไปในโลกโดยไม่เบียดเบียน
จักเป็นที่รักของชาวโลกเหมือนอย่างข้าพเจ้า
[๑๔๔] ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ทำทรัพย์ให้เสื่อมไป
ไม่ใช้ผู้อื่นทำทรัพย์ให้เสื่อมไป มีจิตเมตตาในสัตว์ทุกจำพวก
ผู้นั้นไม่ก่อเวรกับใคร ๆ
จักกวากชาดกที่ ๑๓ จบ

๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
ว่าด้วยผู้มีปัญญากว้างขวาง
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง ได้ยินว่า
คำที่ท่านอาจารย์เสนกกล่าวเป็นความจริง
เพราะสิริ ความเพียร และปัญญาคุ้มครองท่าน
ผู้ตกอยู่ในอำนาจของความเสื่อมไม่ได้
ท่านจึงต้องบริโภคก้อนข้าวเหนียวที่มีแกงน้อย
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๖] เราเมื่อเพิ่มพูนความสุขด้วยความลำบาก
พิจารณาดูกาลอันควรไม่ควร จึงหลบซ่อนตามความพอใจ
แต่ไม่ปิดช่องทางแห่งประโยชน์
ด้วยเหตุนั้น จึงพอใจกินข้าวเหนียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๔. ภูริปัญญชาดก (๔๕๒)
[๑๔๗] อนึ่ง เรารู้เวลาที่จะทำความเพียร
และเพิ่มพูนประโยชน์ด้วยปัญญาทั้งหลาย
เยื้องย่างอย่างการเยื้องกรายแห่งราชสีห์
แม้ต่อไปท่านก็จะเห็นเราด้วยความสำเร็จอันนั้น
(พระราชาเมื่อจะทรงทดลองบัณฑิต จึงตรัสว่า)
[๑๔๘] ก็คนพวกหนึ่งแม้มีความสุขก็ไม่ทำความชั่ว
คนอีกพวกหนึ่งเพราะกลัวการเกี่ยวข้อง
กับการถูกติเตียนจึงไม่ทำความชั่ว
ส่วนท่านเป็นผู้มีความคิดกว้างขวางมาก
เพราะเหตุไร จึงไม่ก่อทุกข์ให้แก่เรา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๙] ธรรมดาบัณฑิตไม่ประพฤติกรรมชั่วเพราะเหตุความสุขแห่งตน
แม้ถูกความทุกข์กระทบถูกต้องพลั้งพลาดไป ก็สงบอยู่ได้
ไม่ละทิ้งธรรม เพราะความรักและความชัง
(พระราชาตรัสมายากษัตริย์ว่า)
[๑๕๐] บุคคลพึงยกตนที่ต่ำช้าขึ้นด้วยเหตุเล็กน้อยหรือรุนแรง
อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังพึงประพฤติธรรม
(พระโพธิสัตว์แสดงอุปมาด้วยต้นไม้ว่า)
[๑๕๑] บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๕๒] คนผู้รู้แจ้งธรรมแต่สำนักอาจารย์ใด
อนึ่ง การที่สัตบุรุษทั้งหลายกำจัดความสงสัยของคนผู้นั้นได้
นั่นแหละนับว่าเป็นที่พึ่ง ที่พำนักของเขา
คนผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรีกับอาจารย์นั้นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
(พระโพธิสัตว์อนุศาสน์พระราชาว่า)
[๑๕๓] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[๑๕๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
ภูริปัญญชาดกที่ ๑๔ จบ

๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
ว่าด้วยมหามงคล
(ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้าถามอาจารย์ว่า)
[๑๕๕] ในเวลาต้องการความเป็นมงคล นรชนร่ายพระเวทอะไร
นรชนนั้นเรียนพระเวทอะไร
หรือบรรดาสุตะ เรียนสุตะบทไหน
และกระทำอย่างไร จึงได้รับความคุ้มครองโดยสวัสดิภาพ
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
(พระโพธิสัตว์บอกมงคลว่า)
[๑๕๖] เทวดาและเทพบิดรทั้งปวง
สัตว์เลื้อยคลานและสรรพสัตว์ทั้งปวง
อันผู้ใดแผ่เมตตาอยู่เป็นนิตย์
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการแผ่เมตตานั้นในสัตว์ทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๕. มหามังคลชาดก (๔๕๓)
(พระโพธิสัตว์กล่าวมงคลต่อไปอีกว่า)
[๑๕๗] ผู้ใดมีความประพฤติถ่อมตนต่อชาวโลกทั้งปวง
คือ ต่อหญิงชายทั้งหลาย พร้อมทั้งพวกเด็ก
เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำที่หยาบคาย
ไม่กล่าววาจาที่ขัดแย้ง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๕๘] ผู้ใดมีปัญญา มีความรู้ ในเมื่อเหตุเกิดขึ้น
ไม่ดูหมิ่นมิตรสหายโดยศิลปะ สกุล ทรัพย์ และโดยชาติ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่ดูหมิ่นนั้นในสหายทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๕๙] ผู้ใดพูดจาไม่โกหก คบเพื่อนดี
และไม่ประทุษร้ายมิตร แบ่งปันทรัพย์ของตนให้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการกระทำนั้นในมิตรทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๖๐] ผู้ใดมีภรรยาซึ่งมีวัยเท่า ๆ กัน สามัคคีกัน
คล้อยตามกัน เป็นผู้ใคร่ธรรม ให้กำเนิดลูกได้
เป็นหญิงมีสกุล มีศีล มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสามี
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการประพฤตินั้นในภรรยาทั้งหลายว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้น
[๑๖๑] ผู้ใดมีพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน ทรงมีพระเกียรติยศ
หยั่งรู้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ และความพากเพียร
โดยปราศจากความคลางแคลงพระทัยว่า
ผู้นี้เป็นเพื่อนร่วมใจของเรา
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความไม่คลางแคลงพระทัยนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในพระราชาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
[๑๖๒] ผู้ใดมีศรัทธา มีจิตเลื่อมใส พลอยอนุโมทนา ให้ข้าวน้ำ
ดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นทาน
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการให้ทานนั้นว่า
เป็นความสวัสดีของผู้นั้นในสวรรค์
[๑๖๓] ผู้ใดเป็นผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย
ผู้สำเร็จด้วยการประพฤติชอบ เป็นสัตบุรุษ
ได้ยินได้ฟังมามาก เป็นผู้แสวงหาคุณความดี
มีศีล ชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการชำระล้างด้วยธรรมของพระอริยะนั้นว่า
เป็นความสวัสดีในท่ามกลางพระอรหันต์ของผู้นั้น
(พระโพธิสัตว์รวมยอดเทศนาด้วยพระอรหันต์ ตรัสมหามงคล ๘ ประการว่า)
[๑๖๔] มงคลทั้ง ๘ ประการเหล่านี้เป็นความสวัสดีในโลก
ที่ท่านผู้รู้สรรเสริญ มีความสุขเป็นกำไร
ขอเชิญนรชนคนมีปัญญาในโลกประพฤติปฏิบัติมงคลเหล่านั้นเถิด
เพราะในมงคลทางโลก ไม่มีอะไรจริงสักอย่างเดียว
มหามังคลชาดกที่ ๑๕ จบ

๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
ว่าด้วยฆตบัณฑิต
(โรหิเณยยอำมาตย์สนทนากับพระเจ้าวาสุเทพว่า)
[๑๖๕] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด
ทรงบรรทมอยู่ทำไม
พระองค์มัวทรงพระสุบินจะมีประโยชน์อะไร
พระเจ้าน้องยาเธอผู้เป็นดังดวงพระหฤทัย
และนัยน์เนตรเบื้องขวาของพระองค์มีลมกำเริบ
ข้าแต่พระเจ้าเกสวะ พระเจ้าฆตบัณฑิตพร่ำเพ้ออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๖๖] พระเจ้าเกสวะครั้นได้ทรงสดับวาจาของโรหิเณยยอำมาตย์นั้น
รีบเสด็จลุกขึ้น ทรงกระวนกระวาย
เพราะความโศกถึงพระเจ้าน้องยาเธอ
(พระราชาตรัสกับฆตบัณฑิตว่า)
[๑๖๗] เจ้าบ่นเพ้อว่า กระต่าย กระต่าย
ไปทั่วพระนครทวาราวดีนี้เหมือนคนบ้าเพราะเหตุไร
ใครลักกระต่ายของเจ้าไป
(พระราชาได้ตรัสอีกว่า)
[๑๖๘] จะเป็นกระต่ายที่ทำด้วยทองคำ ด้วยแก้วมณี ด้วยโลหะ
หรือจะเป็นกระต่ายที่ทำด้วยเงิน ด้วยสังข์
ด้วยศิลา ด้วยแก้วประพาฬก็ตามที
พี่จะให้เขาทำมอบให้เจ้าทุกอย่าง
[๑๖๙] แม้กระต่ายอื่น ๆ ที่มีอยู่ในป่า หากินอยู่ในป่า
พี่จะนำกระต่ายแม้เหล่านั้นมาให้เจ้า
กระต่ายชนิดไหนเล่าที่เจ้าปรารถนา
(ฆตบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๗๐] กระต่ายทั้งหลายบรรดาที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน
หม่อมฉันไม่ต้องการ หม่อมฉันต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
ขอเดชะพระเจ้าเกสวะ ขอพระองค์จงนำกระต่ายนั้นลงมา
ประทานแก่หม่อมฉัน
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๗๑] น้องเอ๋ย เจ้าปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา
มาต้องการกระต่ายจากดวงจันทร์
จักต้องละทิ้งชีวิตอันเป็นที่รักไปอย่างแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
(ฆตบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๑๗๒] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ พระเจ้าพี่ก็ทรงทราบ
อย่างที่ทรงสอนคนอื่นเขา
แต่ทำไม พระโอรสที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว
พระเจ้าพี่จึงยังทรงเศร้าโศกถึงจนทุกวันนี้เล่า
(ฆตบัณฑิตได้กราบทูลต่อไปอีกว่า)
[๑๗๓] ฐานะอันใดที่มนุษย์หรืออมนุษย์ไม่ควรได้
คือ ลูกของเราที่เกิดมาแล้วขออย่าได้ตายเลย
ฐานะอันเป็นสิ่งที่หาไม่ได้
จะได้มาจากไหนเล่า
[๑๗๔] ขอเดชะพระเจ้ากัณหะ จะใช้เวทมนต์ เภสัชรากไม้
โอสถต่าง ๆ หรือพระราชทรัพย์
ก็ไม่สามารถจะพาพระราชโอรสที่ล่วงลับไปแล้ว
ที่พระองค์ทรงเศร้าโศกถึงอยู่กลับคืนมาได้
(พระราชาทรงสรรเสริญฆตบัณฑิตว่า)
[๑๗๕] พระราชาผู้มีพวกอำมาตย์
ที่เป็นคนเฉลียวฉลาดเหมือนฆตบัณฑิต
ทำเราให้สร่างเศร้าโศกได้ในวันนี้
จะมีความเศร้าโศกมาจากไหนเล่า
[๑๗๖] เจ้าช่วยระงับพี่ผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๗๗] เจ้าได้บรรเทาความเศร้าโศกของพี่ผู้กำลังเศร้าโศกถึงบุตร
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบที่หทัยของพี่ขึ้นได้แล้วหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๐. ทสกนิบาต] ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก (๔๕๔)
[๑๗๘] พ่อฆตบัณฑิต พี่ซึ่งเจ้าได้ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของเจ้า
(พระศาสดาตรัสคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๗๙] นรชนทั้งหลายผู้มีปัญญาจะเป็นผู้อนุเคราะห์
ย่อมกระทำให้ผู้อื่นปราศจากความเศร้าโศก
เหมือนฆตบัณฑิตทำให้เชฏฐภาดาปราศจากความเศร้าโศก
ฆตปัณฑิตชาดกที่ ๑๖ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. จตุทวารชาดก ๒. กัณหชาดก
๓. จตุโปสถิยชาดก ๔. สังขชาดก
๕. จูฬโพธิชาดก ๖. มัณฑัพยชาดก
๗. นิโครธชาดก ๘. ตักกลชาดก
๙. มหาธัมมปาลชาดก ๑๐. กุกกุฏชาดก
๑๑. มัฏฐกุณฑลีชาดก ๑๒. พิลารโกสิยชาดก
๑๓. จักกวากชาดก ๑๔. ภูริปัญญชาดก
๑๕. มหามังคลชาดก ๑๖. ฆตปัณฑิตชาดก

ทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๓ }


๑๑. เอกาทสกนิบาต
๑. มาตุโปสกชาดก (๔๕๕)
ว่าด้วยพญาช้างเลี้ยงมารดา
(มารดาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวคร่ำครวญว่า)
[๑] เพราะพญาช้างเผือกนั้นจากไป
ไม้อ้อยช้าง ไม้โมกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง
ข้าวฟ่างและลูกเดือยก็เจริญงอกงาม
อนึ่ง ต้นกรรณิการ์ทั้งหลายที่เชิงเขาก็ออกดอกบานสะพรั่ง
[๒] ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือเมืองไหนก็ตาม
พระราชา หรือราชมหาอำมาตย์ผู้มีเครื่องประดับทองคำ
ย่อมจะบำรุงเลี้ยงซึ่งพญาช้าง
ที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชโอรสทรงใช้ประทับทรง
ไม่ครั่นคร้ามอาจสังหารศัตรูได้ด้วยอาหาร
(พระราชาทรงขอร้องพญาช้างนั้นว่า)
[๓] พญาช้างจงรับเอาอาหารเถิด อย่าได้ผ่ายผอมเลย
งานหลวงนั้นยังมีอยู่เป็นอันมาก ที่ท่านจะกระทำต่อไป
(พระโพธิสัตว์ฟังพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า)
[๔] นางช้างนี้นั้นน่าสงสารจริง ตาบอด ไม่มีผู้นำทาง
เท้าคงจะสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะแน่นอน
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๕] พญาช้าง นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง
เท้าสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะ
นางช้างเชือกนั้นเป็นอะไรกับเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๔ }


๑. มาตุโปสกชาดก (๔๕๕)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖] ขอเดชะพระมหาราช นางช้างตาบอดไม่มีผู้นำทาง
เท้าสะดุดตอดิ้นรนไปจนถึงภูเขาจัณโฑรณะ
นางช้างเผือกนั้นเป็นมารดาของข้าพระพุทธเจ้าเอง
(พระราชาสดับเหตุผลนั้นแล้วจึงได้ตรัสว่า)
[๗] ท่านทั้งหลายจงปล่อยพญาช้างที่เลี้ยงมารดานี้ไป
ขอพญาช้างจงอยู่ร่วมกับมารดาและพวกญาติทั้งปวงเถิด
(พระศาสดาตรัสคาถาต่อไปว่า)
[๘] พญาช้างพอพ้นจากเครื่องผูก
ซึ่งพระเจ้ากาสีทรงสั่งกลับ
พักอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ไปยังภูเขา
[๙] ต่อแต่นั้นมา พญาช้างได้ไปยังสระบัวที่มีน้ำเยือกเย็น
ซึ่งพวกช้างอาศัยอยู่ ใช้งวงนำน้ำมาพ่นรดมารดา
(มารดาพระโพธิสัตว์เมื่อจะด่าจึงกล่าวว่า)
[๑๐] ฝนอะไรนี้ไม่ดีเลย ไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ลูกรักของเราที่คอยดูแลปรนนิบัติเราก็พลอยหายไปด้วย
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะปลอบโยนมารดาจึงกล่าวว่า)
[๑๑] ลุกขึ้นเถิดแม่ มัวนอนอยู่ทำไม ลูกรักของแม่มาแล้ว
พระเจ้ากาสีผู้ปรีชาญาณ มีบริวารยศทรงปล่อยลูกมาแล้ว
(มารดาพระโพธิสัตว์เมื่อจะอนุโมทนาจึงกล่าวว่า)
[๑๒] ขอพระราชาผู้ทรงทนุบำรุงแคว้นกาสีให้เจริญรุ่งเรือง
ซึ่งทรงปล่อยลูกของเราผู้ประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ทุกเมื่อ ขอจงทรงมีพระชนมายุยืนนาน
มาตุโปสกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๒. ชุณหชาดก (๔๕๗)
๒. ชุณหชาดก (๔๕๖)
ว่าด้วยพระเจ้าชุณหะ
(พราหมณ์เมื่อจะสนทนาจึงกล่าวกราบทูลว่า)
[๑๓] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน
ขอพระองค์ทรงสดับวาจาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์มาถึงที่นี้เพราะความประสงค์อย่างหนึ่งในพระเจ้าชุณหะ
ขอเดชะพระองค์ผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งหลาย
บัณฑิตทั้งหลายไม่พูดกับพราหมณ์
ผู้เดินทางมายืนคอยขออยู่ว่า พึงไปข้างหน้าเถิด
(พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์จึงตรัสว่า)
[๑๔] พราหมณ์ เราฟังอยู่ เราคอยอยู่ เชิญพูดเถิด
ท่านมาถึงที่นี้เพราะประสงค์อะไร
หรือท่านประสงค์ประโยชน์อะไรในเราจึงมาถึงที่นี้
เชิญพูดมาเถิดพราหมณ์
(พราหมณ์และพระราชากล่าวโต้ตอบกันว่า)
[๑๕] ขอพระองค์ทรงพระราชทานบ้านส่วย ๕ ตำบล
สาวใช้ ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองคำเกิน ๑,๐๐๐ แท่ง
ภรรยา ๒ คนที่มีชาติสกุลเหมาะสมแก่ข้าพระองค์
[๑๖] พราหมณ์ ตบะอันน่าสะพรึงกลัวของท่านมีอยู่หรือ
มนต์อันวิจิตรของท่านมีอยู่หรือ
ยักษ์บางพวกที่เชื่อฟังท่านมีอยู่หรือ
อีกอย่างหนึ่ง ประโยชน์ที่เราได้ทำไว้แล้วท่านรู้ชัดหรือ
[๑๗] ตบะของข้าพระองค์ก็ไม่มี แม้มนต์ก็ไม่มี
แม้พวกยักษ์บางเหล่าที่เชื่อฟังข้าพระองค์ก็ไม่มี
ถึงประโยชน์ที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้แล้วข้าพระองค์ก็ไม่ทราบชัด
เพียงแต่ข้าพระองค์ได้พบกับฝ่าพระบาทมาก่อนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๒. ชุณหชาดก (๔๕๗)
[๑๘] เรารู้ว่า ครั้งนี้เป็นการพบครั้งแรก
ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จักท่าน
เราถามแล้ว ท่านจงบอกความข้อนี้แก่เราว่า
เราได้พบกันเมื่อไรหรือที่ไหน
[๑๙] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
เราทั้งหลายได้พักอยู่ที่ตักกศิลา
ในเมืองของพระเจ้าคันธารราชอันน่ารื่นรมย์
ณ สถานที่นั้น ในเวลากลางคืนที่มืดมิดเราได้กระทบไหล่กัน
[๒๐] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน
เราทั้ง ๒ นั้นยืนอยู่ตรงนั้น ได้สนทนาชวนให้ระลึกถึงกัน ณ ที่นั้น
อันนั้นเป็นการพบกันของเราเท่านั้นเอง
ต่อจากนั้น ไม่ว่าภายหลังหรือเมื่อก่อน
ไม่มีการเจอะเจอกันเลย
[๒๑] พราหมณ์ การสมาคมกับคนดี
ย่อมมีในมนุษย์ทั้งหลายเป็นบางครั้ง
ในกาลบางคราวบัณฑิตทั้งหลายไม่ทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือแม้คุณความดีที่เขาทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป
[๒๒] ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือคุณความดีที่ทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไปบ้าง
คุณเป็นอันมากที่ทำไว้ในคนพาลทั้งหลายก็เสื่อมสูญไปเองบ้าง
เป็นความจริง คนพาลทั้งหลายเป็นคนอกตัญญู
[๒๓] ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายไม่ทำการสมาคมหรือสันถวไมตรี
หรือแม้คุณความดีที่ทำไว้ในกาลก่อนให้เสื่อมสูญไป
คุณความดีที่ทำไว้ในนักปราชญ์ทั้งหลายแม้เล็กน้อย
ก็ไม่เสื่อมสลายไป
เป็นความจริง นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นคนมีความกตัญญูด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
[๒๔] เราจะให้บ้านส่วยแก่ท่าน ๕ หมู่บ้าน
สาวใช้ ๑๐๐ คน โค ๗๐๐ ตัว ทองคำเกิน ๑,๐๐๐ แท่ง
ภรรยา ๒ คนที่มีชาติสกุลเหมาะสมแก่ท่าน
[๒๕] ขอเดชะพระมหาราช การสมาคมของสัตบุรุษเป็นอย่างนี้
ขอเดชะ พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์เป็นเสมือนดวงจันทร์ที่รายล้อมด้วยหมู่ดาว
เพราะข้าพระองค์ได้สมาคมกับพระองค์ในวันนี้
ชุณหชาดกที่ ๒ จบ

๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
ว่าด้วยธรรมเทพบุตร
(ธรรมเทพบุตรเชิญอธรรมเทพบุตรมาแล้วกล่าวว่า)
[๒๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้สร้างยศ เป็นผู้สร้างบุญ
จนเป็นที่ชมเชยของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายทุกเมื่อ
อธรรมเทพบุตร ข้าพเจ้าเป็นฝ่ายธรรม
เป็นผู้ที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว
จึงเป็นผู้ควรแก่หนทาง ขอท่านจงให้หนทางเถิด
(อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าขึ้นยานฝ่ายอธรรมอย่างมั่นคง
มิได้หวาดหวั่น เป็นผู้ทรงพลัง
เพราะเหตุไร ข้าพเจ้านั้นจะต้องให้หนทาง
ที่ไม่เคยให้แก่ท่านในวันนี้เล่า
(ธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๘] ธรรมแลปรากฏขึ้นก่อน ภายหลังอธรรมจึงเกิดขึ้นในโลก
ข้าพเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด และเก่าแก่กว่า
เพราะเหตุนั้น จงหลีกทางให้พี่ไปเถิด น้องชาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๓. ธัมมเทวปุตตชาดก (๔๕๗)
(อธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๙] ข้าพเจ้าก็จะไม่ให้หนทางแก่ท่านเพราะการขอร้อง
เพราะการเจรจาได้ถูกต้อง หรือเพราะเป็นผู้ควรแก่หนทาง
วันนี้เราทั้ง ๒ จงรบกันเถิด
ผู้ใดชนะในการรบ หนทางเป็นของผู้นั้น
(ธรรมเทพบุตรกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วทิศ
มีพลังมหาศาล มียศหาประมาณมิได้ ไม่มีผู้เทียมเท่า
ประกอบด้วยคุณทั้งปวง เป็นฝ่ายธรรม
อธรรมเทพบุตร ท่านจะชนะได้อย่างไร
[๓๑] คนเขาใช้เหล็กเท่านั้นตีทอง หาใช้ทองตีเหล็กไม่
วันนี้ถ้าอธรรมกำจัดธรรมได้
เหล็กก็จะพึงน่าดูเหมือนทองคำ
[๓๒] อธรรมเทพบุตร ถ้าท่านมีกำลังในการรบ
ผู้หลักผู้ใหญ่และครูของท่านก็จะไม่มี
จะด้วยความพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม
ข้าพเจ้าก็จะยอมให้หนทางแก่ท่าน
แม้คำหยาบคายของท่าน ข้าพเจ้าก็ยกโทษให้
(พระผู้มีพระภาคครั้นทรงทราบข้อความนี้จึงได้ตรัสว่า)
[๓๓] ก็อธรรมเทพบุตรครั้นได้สดับคำนี้แล้ว
ก็ล้มศีรษะปักลง เท้าชี้ขึ้น รำพึงรำพันอยู่ว่า
เราต้องการจะต่อสู้ ยังไม่ทันได้ต่อสู้
อธรรมเทพบุตรได้ถูกกำจัดแล้วด้วยเหตุเพียงเท่านี้
[๓๔] ธรรมเทพบุตรผู้มีขันติเป็นพลังชนะแล้ว
ฆ่าอธรรมเทพบุตรผู้มีพลังในการรบได้แล้ว
ให้ตกไป ณ ภาคพื้น มีจิตใจปลาบปลื้ม มีพลังกล้าแข็ง
มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ขึ้นรถขับไปตามทางนั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
[๓๕] ผู้ใดไม่ยกย่องนับถือมารดาบิดา
สมณะและพราหมณ์ในเรือนของตน
ผู้เช่นนั้นหลังจากตายไป ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว
ย่อมตกนรกเหมือนอธรรมเทพบุตรล้มศีรษะปักลงแล้ว
[๓๖] ส่วนผู้ใดยกย่องนับถือมารดาบิดา
สมณะและพราหมณ์ในเรือนของตน
ผู้เช่นนั้นหลังจากตายไป ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว
ย่อมไปสู่สุคติเหมือนธรรมเทพบุตรขึ้นรถขับไป
ธัมมเทวปุตตชาดกที่ ๓ จบ

๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
ว่าด้วยพระเจ้าอุทัย
(ท้าวสักกะเมื่อทรงเจรจากับพระราชธิดา จึงตรัสว่า)
[๓๗] พระนางผู้ทรงพระภูษาสะอาด มีพระเพลาแนบสนิท
มีพระวรกายงามหาที่ตำหนิมิได้
เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ประทับนั่งอยู่พระองค์เดียว
พระนางผู้มีพระเนตรงามเพียงดังเนตรกินนรี
หม่อมฉันขออนุญาตพระนาง
ขอให้เราได้อยู่ร่วมกันสองคนสักคืนหนึ่งนี้
(ลำดับนั้น พระราชธิดาได้ตรัสว่า)
[๓๘] เมืองนี้มีคูในระหว่างอยู่รายรอบ
มีป้อมปราการและซุ้มประตูอันมั่นคง
มีทหารถือดาบเฝ้าระวังรักษา
ยากที่ใคร ๆ จะเข้ามาได้
[๓๙] อนึ่ง แม้ทหารหนุ่ม ๆ ก็ไม่มีมา เมื่อเป็นเช่นนั้น
เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงต้องการพบข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
(ท้าวสักกะจึงตรัสว่า)
[๔๐] พระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันเป็นเทพบุตรได้มา
ณ ตำหนักของพระนาง ขอพระนางพึงพอพระทัยหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันขอถวายถาดทองคำซึ่งมีเหรียญทองคำเต็มถาดแด่พระนาง
(พระราชธิดาสดับพระดำรัสนั้นแล้วจึงตรัสว่า)
[๔๑] จะเป็นเทวดา ยักษ์ หรือมนุษย์ก็ตาม
คนอื่นหม่อมฉันไม่ปรารถนา นอกจากพระเจ้าอุทัย
เทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก ขอพระองค์เสด็จไปเสียเถิด
และเสด็จไปแล้ว อย่าได้เสด็จกลับมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๔๒] พระนางผู้ประกอบด้วยความหมดจด
พระนางอย่าให้ความยินดีในเมถุน
ที่บรรดาสัตว์ผู้บริโภคกามถือว่าเป็นความยินดีชั้นเยี่ยม
ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าสัตว์ประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปเลย
หม่อมฉันขอถวายถาดเงินซึ่งเต็มไปด้วยทองคำแด่พระนาง
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๓] ธรรมดาชาย เมื่อจะให้หญิงยินยอม
ย่อมเอาทรัพย์มาประมูลหญิงที่ตนพอใจ
แต่สำหรับพระองค์ตรงกันข้าม
มีสภาพเหนือกว่าเห็นได้ชัด มีทรัพย์น้อยกว่ามาหา
(ท้าวสักกะได้ตรัสว่า)
[๔๔] พระนางผู้มีพระวรกายงดงาม
ธรรมดาอายุและผิวพรรณของหมู่มนุษย์
ในมนุษยโลกย่อมทรุดโทรมไป
เพราะเหตุนั้น แม้ทรัพย์ก็ลดลงตามฉวีวรรณของพระนาง
เพราะวันนี้พระนางทรงชรากว่าเมื่อวาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
[๔๕] พระราชบุตรีผู้ทรงยศ หม่อมฉันพิเคราะห์เห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อวันคืนล่วงไป ฉวีวรรณของพระนางก็ทรุดโทรมไป
[๔๖] พระราชบุตรีผู้มีปรีชา ด้วยวัยนี้แหละ
พระองค์ควรประพฤติพรหมจรรย์
พระองค์จะมีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งขึ้น
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๗] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์หรือ
ในร่างกายของพวกเทพไม่มีรอยเหี่ยวย่นหรือ
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
ร่างกายของหมู่เทพเป็นอย่างไรหนอ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๔๘] พวกเทพไม่แก่ชราเหมือนมนุษย์
ในร่างกายของพวกเทพก็ไม่มีรอยเหี่ยวย่น
พวกเทพเหล่านั้นมีวรรณะอันเป็นทิพย์
และโภคะอันไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปทุกวัน
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๔๙] หมู่ชนมิใช่น้อยในโลกนี้กลัวอะไรหนอ
ทางอะไรที่ท่านกล่าวไว้โดยลัทธิมิใช่น้อย
เทพบุตรผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
บุคคลดำรงอยู่ในทางไหนจึงไม่ต้องกลัวปรโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๕๐] บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย
เมื่อครอบครองเรือนก็มีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา
อ่อนโยน รู้จักแบ่งปันกันกิน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้สงเคราะห์ พูดผูกใจเพื่อน มีวาจาอ่อนหวาน
ดำรงอยู่ในทางนี้ ย่อมไม่กลัวปรโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๔. อุทยชาดก (๔๕๘)
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๕๑] เทพบุตร พระองค์ย่อมพร่ำสอนหม่อมฉันเหมือนแม่เหมือนพ่อ
หม่อมฉัน ขอทูลถามพระองค์ผู้มีวรรณงดงาม
พระองค์ผู้มีพระวรกายงดงามเป็นใครกันหนอ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๕๒] พระนางผู้เลอโฉม หม่อมฉันคือพระเจ้าอุทัย
มาที่นี้เพราะมีสัญญากันไว้ หม่อมฉันบอกพระองค์แล้วก็จะไปละ
หม่อมฉันพ้นสัญญากับพระองค์แล้ว
(พระราชธิดาตรัสว่า)
[๕๓] ถ้าพระองค์เป็นพระเจ้าอุทัยจริง
เสด็จมาที่นี้เพราะมีสัญญากันไว้
ขอเดชะพระราชบุตร ขอพระองค์จงพร่ำสอนหม่อมฉัน
ตราบเท่าที่จะได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะทรงสอน จึงตรัสว่า)
[๕๔] วัยย่อมผ่านไปอย่างรวดเร็ว ขณะเวลาก็เหมือนกัน
ไม่หยุดอยู่กับที่ สัตว์ทั้งหลายย่อมตายแน่นอน
สรีระร่างกายไม่ยั่งยืน ย่อมจะทรุดโทรมไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
[๕๕] แผ่นดินทั้งสิ้นเต็มไปด้วยทรัพย์
พึงเป็นของพระราชาผู้เดียวเท่านั้น ไม่พึงตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่น
บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากราคะ ก็ย่อมจะละทิ้งทรัพย์แม้นั้นไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
[๕๖] มารดา บิดา พี่น้องทั้งหลาย แม้ภรรยาสินไถ่ก็ดี
แม้ชนเหล่านั้นก็จะต้องพลัดพรากจากกันและกันไป
แม่อุทัยภัทรา เธอจงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
[๕๗] แม่อุทัยภัทรา เธอรู้ว่าร่างกายเป็นอาหารของสัตว์อื่น
รู้ว่าสุคติและทุคติในสังสารวัฏเป็นสภาพที่อยู่อันต่ำต้อยแล้ว
จงอย่าประมาท ประพฤติธรรมเถิด
(พระราชธิดาเลื่อมใสแล้วเมื่อจะทรงชมเชย จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า)
[๕๘] เทพบุตรนี้ตรัสดีแล้ว ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย
และชีวิตนั้นลำบาก อยู่ได้นิดหน่อย ประกอบไปด้วยทุกข์
หม่อมฉันนั้นจะละทิ้งเมืองสุรุนธนะแคว้นกาสีไปบวชคนเดียว
อุทยชาดกที่ ๔ จบ

๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
ว่าด้วยการรังเกียจบาปเพราะเผลอไปดื่มน้ำ
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะถวายพระพรแก่พระราชา จึงได้ตรัสว่า)
[๕๙] อาตมาเป็นมิตรของชายคนหนึ่งได้ดื่มน้ำของมิตรที่เขามิได้ให้
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๑)
[๖๐] ก็อาตมาเห็นภรรยาของคนอื่นแล้วเกิดความรัก
เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๒)
[๖๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร พวกโจรในป่าได้จับบิดากับอาตมา
อาตมารู้อยู่ถูกพวกโจรเหล่านั้นถาม
ก็ได้ตอบเรื่องนั้นเป็นอย่างอื่นไป
[๖๒] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๕. ปานียชาดก (๔๕๙)
[๖๓] เมื่อเขาตั้งพิธีบูชายัญชื่อโสมยาคะ๑
พวกมนุษย์ได้กระทำปาณาติบาต
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[๖๔] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๔)
[๖๕] เมื่อก่อน ชนทั้งหลายในบ้านของอาตมา
ได้สำคัญสุราและเมรัยเหมือนน้ำหวาน
ได้ปรุงน้ำเมาเพื่อความหายนะแก่ชนจำนวนมาก
อาตมาได้ยินยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
[๖๖] เหตุนั้น ภายหลังจึงรังเกียจว่า นั้นเป็นความชั่วเราได้ทำแล้ว
เราอย่าได้ทำความชั่วอีกเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงบวช (๕)
(พระราชาทรงติเตียนกามว่า)
[๖๗] น่าติเตียนจริง ๆ กามเป็นอันมากมีกลิ่นเหม็น
มีขวากหนามมาก เราซ่องเสพอยู่ ไม่ได้ความสุขเช่นนั้นเลย
(พระอัครมเหสีทรงสรรเสริญความสุขในกามว่า)
[๖๘] กามทั้งหลายน่าพอใจมาก มีความสุข
สุขที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมขึ้นสวรรค์
(พระโพธิสัตว์ติเตียนกามว่า)
[๖๙] กามทั้งหลายน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก
ทุกข์ที่ยิ่งกว่ากามไม่มี คนผู้ซ่องเสพกามย่อมตกนรก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า โสมยาคะ หมายความว่า เมื่อมีงานมหรสพใหม่เกิดขึ้น พวกมนุษย์พากันทำพลีกรรมแก่ยักษ์
ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า พิธีโสมยาคะ (ขุ.ชา.อ. ๖/๖๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
[๗๐] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการใช้ดาบที่ลับดีแล้วฟัน
ใช้กริชที่ชุ่มด้วยน้ำมันแทง และใช้หอกพุ่งปักที่อก
[๗๑] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการถูกฝังในหลุมถ่านเพลิง
ที่ลุกโพลงลึกเกินชั่วคนแล้วใช้ผาลที่เผาร้อนไถไปทั้งวัน
[๗๒] กามทั้งหลายมีทุกข์มากกว่าการดื่มยาพิษที่ร้ายแรง
กว่าการใช้น้ำมันที่เดือดพล่านรด
กว่าการตกกระทะทองแดงที่กำลังละลายคว้าง
ปานียชาดกที่ ๕ จบ

๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
ว่าด้วยพระราชกุมารยุธัญชัย
(พระโพธิสัตว์ทูลขอบรรพชาว่า)
[๗๓] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยมิตรและอำมาตย์
ข้าพระองค์จักบวช ขอพระองค์ผู้สมมติเทพ
โปรดพระราชทานการบวชนั้นเถิด
(พระราชาตรัสห้ามว่า)
[๗๔] ถ้าเจ้ายังมีความพร่องด้วยกามทั้งหลาย
พ่อจะเพิ่มเติมให้แก่เจ้า
พ่อจะห้ามคนที่เบียดเบียนเจ้า
ลูกยุธัญชัยอย่าบวชเลย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๕] ข้าพระองค์ไม่มีความพร่องด้วยกามทั้งหลาย
คนที่เบียดเบียนข้าพระองค์ก็ไม่มี
แต่ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำที่พึ่งซึ่งชรากำจัดไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๖. ยุธัญชยชาดก (๔๖๐)
(พระศาสดาประกาศข้อความนั้นว่า)
[๗๖] พระราชบุตรทูลวิงวอนพระราชบิดา
และพระราชบิดาก็ทรงวิงวอนพระราชบุตร
ชาวนิคมก็ทูลวิงวอนว่า พ่อยุธัญชัยกุมาร
อย่าผนวชเลย พ่อเอ๋ย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๗] ข้าแต่ทูลกระหม่อมผู้ทรงเป็นจอมทัพ
พระองค์โปรดอย่าทรงห้ามข้าพระองค์ผู้จะบวชเลย
ขอข้าพระองค์อย่าได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาทเพราะกามทั้งหลาย
อย่าตกอยู่ในอำนาจของชราเลย
(พระมารดาตรัสว่า)
[๗๘] ลูกเอ๋ย แม่ขอร้องลูก ขอห้ามลูก
แม่ต้องการเห็นลูกนาน ๆ ลูกยุธัญชัย อย่าบวชเลย
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๗๙] อายุของมนุษย์ทั้งหลายเหมือนน้ำค้างที่ยอดหญ้า
พอพระอาทิตย์ขึ้นก็แห้งไป
หม่อมแม่ พระองค์อย่าทรงห้ามหม่อมฉันเลย
(พระโพธิสัตว์ทูลเชิญพระราชบิดามาแล้วกราบทูลว่า)
[๘๐] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ
ขอทรงให้ราชบุรุษรีบเชิญเสด็จพระราชมารดานี้ขึ้นพระราชยานเถิด
ขอพระราชมารดาอย่าทรงทำอันตรายแก่ข้าพระองค์
ผู้กำลังจะข้ามทางกันดารเลย
(พระเทวีทรงคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๘๑] รีบไปกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
รัมมนครจะเป็นเมืองร้าง ถ้าพระเจ้าสัพพทัตทรงอนุญาต
ให้ยุธัญชัยราชบุตรทรงผนวชแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
[๘๒] พระราชกุมารพระองค์ใดประเสริฐกว่าพระราชบุตรพันพระองค์
ยังทรงพระเยาว์ มีพระฉวีวรรณประดุจทองคำ
พระราชกุมารพระองค์นี้นั้นยังทรงมีพระกำลังแข็งแรง
ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ผนวชแล้ว
(พระโพธิสัตว์กุมารกราบทูลว่า)
[๘๓] พระราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ คือ ยุธัญชัยกุมาร
และยุธิฏฐิลกุมารทรงละพระราชมารดาและพระราชบิดา
ตัดเครื่องข้องของมฤตยูผนวชแล้ว
ยุธัญชัยชาดกที่ ๖ จบ

๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
ว่าด้วยพระเจ้าทศรถ
(พระรามบัณฑิตกล่าวว่า)
[๘๔] มานี่ พ่อลักษณ์และแม่สีดา เจ้าทั้ง ๒ จงลงน้ำ
น้องภรตนี้กล่าวอย่างนี้ว่า พระเจ้าทศรถสวรรคตแล้ว
(ภรตกุมารถามรามบัณฑิตว่า)
[๘๕] เจ้าพี่ราม เพราะอานุภาพอะไร
เจ้าพี่จึงไม่ทรงเศร้าโศกถึงเหตุที่ควรเศร้าโศก
ความทุกข์จึงไม่ครอบงำเจ้าพี่
เพราะทรงสดับว่า ทูลกระหม่อมพ่อสวรรคตแล้ว
(พระรามบัณฑิตประกาศความไม่เที่ยงว่า)
[๘๖] บรรดาคนทั้งหลายผู้พร่ำเพ้อถึงอยู่เป็นอันมาก
ไม่มีสักคนหนึ่งที่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้
วิญญูชนคนมีปัญญาจะพึงยังตนให้เดือดร้อนเพื่ออะไรเล่า
[๘๗] เพราะว่าคนหนุ่ม คนแก่ คนโง่ คนฉลาด
คนมั่งคั่งร่ำรวย คนจนก็ตาม ล้วนจะต้องตายทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๗. ทสรถชาดก (๔๖๑)
[๘๘] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมามีภัยต้องตายแน่นอน
เหมือนผลไม้สุกมีอันตรายต้องหล่นแน่นอน
[๘๙] ชนเป็นจำนวนมาก บางพวกเห็นกันเมื่อตอนเช้า
ในตอนเย็นกลับไม่ปรากฏ
บางพวกเห็นกันในตอนเย็น พอรุ่งเช้ากลับไม่ปรากฏ
[๙๐] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญเบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง
[๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเองย่อมจะซูบผอม
ไม่ผ่องใสเพราะการคร่ำครวญนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลกก็คุ้มครองตนไม่ได้
การคร่ำครวญเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
[๙๒] ที่พำนักอาศัยที่ร้อน บุคคลพึงใช้น้ำดับได้ฉันใด
ข้ออุปไมยก็ฉันนั้น ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นแล้ว
นรชนคนผู้เป็นปราชญ์มีการสดับฟัง มีปัญญา เป็นบัณฑิต
พึงกำจัดเสียโดยพลันเหมือนลมพัดนุ่น
[๙๓] สัตว์ย่อมตายคนเดียว เกิดก็คนเดียวในสกุล
ส่วนการคบหากันของสรรพสัตว์มีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง
[๙๔] เพราะเหตุนั้นแหละ นักปราชญ์ผู้เป็นพหูสูต
พิจารณาโลกนี้และโลกหน้า เพราะรู้ทั่วถึงธรรม
แม้ความเศร้าโศกใหญ่หลวงก็แผดเผาจิตใจไม่ได้
[๙๕] เรานั้นจักให้ จักบริโภค จักเลี้ยงดูญาติทั้งหลาย
และจักคุ้มครองมหาชนที่เหลือ นั่นเป็นหน้าที่ของท่านผู้รู้
[๙๖] พระรามบัณฑิตผู้มีพระศองามดุจทองคำ มีพระพาหาใหญ่
ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่ ๑๖,๐๐๐ ปี
ทสรถชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
๘. สังวรชาดก (๔๖๒)
ว่าด้วยพระเจ้าสังวร
(พระอุโบสถกุมารตรัสกับสังวรกุมารว่า)
[๙๗] ขอเดชะพระมหาราช พระราชบิดาผู้เป็นพระมหากษัตริย์
ทรงทราบอยู่ถึงสีลวัตรของพระองค์ ทรงยกย่องพระกุมารเหล่านี้
แต่หายกย่องพระองค์ด้วยชนบทใดชนบทหนึ่งไม่
[๙๘] เมื่อพระมหาราชผู้สมมติเทพทรงพระชนม์อยู่
หรือทิวงคตแล้วก็ตาม
พระญาติทั้งหลายเมื่อเห็นประโยชน์ของตน
จึงพากันยอมรับพระองค์
[๙๙] ขอเดชะพระเจ้าสังวร ด้วยพระจริยาวัตรอะไร
พระองค์จึงทรงดำรงอยู่เหนือพระเจ้าพี่ผู้มีพระชาติเสมอกัน
เพราะเหตุไร บรรดาพระญาติที่มาประชุมกันแล้ว
จึงไม่ล่วงเกินพระองค์
(พระเจ้าสังวรมหาราชตรัสคุณของพระองค์ว่า)
[๑๐๐] พระราชบุตร หม่อนฉันไม่ริษยาสมณะทั้งหลาย
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ย่อมนอบน้อมสมณะเหล่านั้นโดยเคารพ
ย่อมกราบเท้าสมณะผู้คงที่ทั้งหลาย
[๑๐๑] สมณะเหล่านั้นย่อมพร่ำสอนหม่อมฉัน
ผู้ประกอบแล้วในพระธรรมคุณ เชื่อฟัง
ไม่ริษยาสมณะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย
ยินดีแล้วในพระธรรมคุณ
[๑๐๒] หม่อมฉันได้สดับคำของสมณะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นแล้ว ไม่ดูหมิ่นอะไร ๆ
ใจของหม่อมฉันยินดีในธรรมเป็นนิตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
[๑๐๓] พลช้าง ราชองครักษ์ พลรถ พลราบ
พลเหล่านั้นหม่อมฉันก็ไม่ตัดเบี้ยเลี้ยง
และรายได้ประจำที่ได้ตั้งไว้
[๑๐๔] อนึ่ง หม่อมฉันมีมหาอำมาตย์และมนตรีผู้คอยรับใช้ช่วยจัดการ
กรุงพาราณสีให้มีมังสาหาร สุรา และข้าวน้ำจำนวนมาก
[๑๐๕] อนึ่ง แม้พ่อค้าทั้งหลายที่มาจากแคว้นต่าง ๆ ก็พากันร่ำรวย
หม่อมฉันก็จัดการคุ้มครองพ่อค้าเหล่านั้น
ข้าแต่พระเจ้าพี่อุโบสถ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
(พระอุโบสถกุมารได้สดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๐๖] ขอเดชะพระเจ้าสังวร นัยว่า
ขอพระองค์จงครองราชสมบัติโดยธรรม
แทนพระญาติทั้งหลาย
อนึ่ง ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญาและทรงเป็นบัณฑิต
เกื้อกูลแก่พระญาติทั้งหลายเถิด
[๑๐๗] พระองค์ผู้อันพระญาติแวดล้อมแล้วอย่างนี้
ทั้งได้สะสมรัตนะต่าง ๆ ไว้มากมาย
ศัตรูทั้งหลายย่อมข่มเหงไม่ได้
เหมือนกับพระอินทร์ที่จอมอสูรราวีไม่ได้
สังวรชาดกที่ ๘ จบ

๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
ว่าด้วยพ่อค้าสุปปารกะ
(พวกพ่อค้ากล่าวว่า)
[๑๐๘] มนุษย์ทั้งหลายมีจมูกแหลม ย่อมโผล่ขึ้น ดำลง
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๙] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า ขุรมาลี
(พวกพ่อค้าถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๐] ทะเลปรากฏเหมือนกองไฟและดวงอาทิตย์
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์กล่าวแก่พวกพ่อค้านั้นว่า)
[๑๑๑] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า อัคคิมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๒] ทะเลปรากฏเหมือนนมส้มและนมสด
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๓] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า ทธิมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๔] ทะเลปรากฏเหมือนหญ้าคาและข้าวกล้า
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๕] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุกัจฉา แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า กุสมาลี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๑. เอกาทสกนิบาต] ๙. สุปปารกชาดก (๔๖๓)
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๖] ทะเลปรากฏเหมือนต้นอ้อและต้นไผ่
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๗] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุคัจฉะ แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า นฬมาลี
(พวกพ่อค้าถามว่า)
[๑๑๘] เสียงน่ากลัวมาก น่าสยดสยอง ฟังคล้ายเสียงของอมนุษย์
ทะเลปรากฏเหมือนเป็นหลุมเป็นบ่อ
ท่านสุปปารกะ พวกเราขอถาม ทะเลนี้ชื่ออะไร
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๑๙] เมื่อเรือของพวกท่านผู้เป็นพ่อค้าแสวงหาทรัพย์
ออกไปจากท่าภรุคัจฉะ แล่นไปผิดทิศทาง
ทะเลนี้เขาเรียกว่า พลวามุขี
[๑๒๐] ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้เดียงสา ข้าพเจ้าจำตัวเองได้ว่า
ข้าพเจ้ายังไม่ได้รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้สักตัวหนึ่งเลย
ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเรือจงกลับโดยความสวัสดีเถิด
สุปปารกชาดกที่ ๙ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. มาตุโปสกชาดก ๒. ชุณหชาดก
๓. ธัมมเทวปุตตชาดก ๔. อุทยชาดก
๕. ปานียชาดก ๖. ยุธัญชยชาดก
๗. ทสรถชาดก ๘. สังวรชาดก
๙. สุปปารกชาดก

เอกาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๓ }


๑๒. ทวาทสกนิบาต
๑. จูฬกุณาลชาดก (๔๖๔)
ว่าด้วยนกดุเหว่าจูฬกุณาละ
(พระโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า)
[๑] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิงไม่ควรเชื่อหญิงที่เป็นคนโลภ
มีจิตกลับกลอก ไม่รู้คุณคน เป็นคนประทุษร้ายมิตร
[๒] หญิงเหล่านั้นไม่รู้กิจที่ทำแล้วและยังไม่ทำ
ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง
ไม่ใช่อารยชน ก้าวล่วงธรรมทั้งหลาย
ตกไปสู่อำนาจจิตของตนเท่านั้น
[๓] เมื่อมีอันตรายและกิจเกิดขึ้น
หญิงเหล่านั้นย่อมละทิ้งสามีนั้น
แม้อยู่ร่วมกันมานาน เป็นที่รักที่พอใจ
เป็นผู้อนุเคราะห์เสมอด้วยชีวิต
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่วางใจหญิงทั้งหลาย
[๔] แท้จริง จิตของหญิงเหมือนจิตของวานร
ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเงาต้นไม้
หัวใจของหญิงหวั่นไหวไม่หยุดนิ่ง
กลับกลอกเหมือนล้อเกวียนที่กำลังหมุนไป
[๕] คราวใด หญิงเหล่านั้นมองเห็นทรัพย์ของชายที่พอจะถือเอาได้
ก็ใช้วาจาอ่อนหวานนำเขาไปสู่อำนาจ
เหมือนกับชาวกัมโพชะใช้สาหร่ายลวงม้า
[๖] คราวใด มองไม่เห็นทรัพย์ของชายที่พอจะถือเอาได้
ก็ละทิ้งเขาไปเสียโดยง่ายเหมือนคนข้ามฟาก
พอถึงฝั่งก็ทิ้งแพไปเสีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๔ }


๑. จูฬกุณาลชาดก (๔๖๔)
[๗] หญิงเปรียบเหมือนยางเหนียว
กินทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเปลวไฟ
มีมายาแรงกล้าเหมือนแม่น้ำที่มีกระแสเชี่ยว
เพราะว่า หญิงเหล่านั้นคบได้ทั้งชายคนรักและมิใช่คนรัก
เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
[๘] หญิงเหล่านั้นมิใช่เป็นของชายคนเดียวหรือสองคน
เหมือนร้านตลาดที่แผ่กว้างแก่คนทั่วไป
ชายใดสำคัญหญิงเหล่านั้นว่าเป็นของเรา
ชายนั้นเท่ากับใช้ตาข่ายดักลม
[๙] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา
และบ่อน้ำดื่มเป็นฉันใด
ธรรมดาหญิงในโลกก็ฉันนั้น
ขอบเขตของหญิงเหล่านั้นไม่มีเลย
[๑๐] หญิงเหล่านั้นเสมอด้วยไฟกินเปรียง (น้ำมัน)
อุปมาด้วยหัวงูเห่า เลือกกินแต่ของที่ดีเลิศ
เหมือนโคเลือกเล็มแต่หญ้าอ่อน ๆ ในภายนอก
[๑๑] ไฟกินเปรียง ๑ ช้างสาร ๑ งูเห่า ๑
กษัตริย์ผู้ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ๑ หญิงทั้งปวง ๑
ทั้ง ๕ อย่างนี้ นรชนพึงคบหาโดยความระมัดระวังเป็นนิตย์
เพราะว่า อัธยาศัยของทั้ง ๕ นั้นแลรู้ได้ยาก
[๑๒] หญิงที่มีรูปงามยิ่งนัก ๑
หญิงที่ชายจำนวนมากพอใจ ๑
หญิงผู้ชำนาญในการฟ้อนรำขับร้อง ๑
หญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น ๑
หญิงที่เห็นแก่ทรัพย์ ๑
หญิงทั้ง ๕ จำพวกเหล่านี้ ชายไม่ควรคบหาเลย
จูฬกุณาลชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
ว่าด้วยเทวดาประจำต้นรังหนุ่ม
(พระราชาตรัสกับเทวดาว่า)
[๑๓] ท่านเป็นใคร มีเสื้อผ้าสะอาดหมดจด
ยืนอยู่ท่ามกลางนภากาศ
เพราะเหตุไร น้ำตาของท่านจึงหลั่งไหล
ภัยนั้นเกิดจากอะไร
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๑๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ เมื่อข้าพระองค์
เป็นผู้ที่ประชาชนในแคว้นของพระองค์บูชาอยู่ตลอด ๖๐,๐๐๐ ปี
ประชาชนเหล่านั้นรู้จักข้าพระองค์ว่า
ภัททสาลรุกขเทพ
[๑๕] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งทิศ
พระราชาพระองค์ก่อน ๆ เมื่อจะทรงสร้างพระนครก็ดี
อาคารและปราสาทชนิดต่าง ๆ ก็ดี
ก็มิได้ทรงหมิ่นข้าพระองค์เลย
พระราชาเหล่านั้นบูชาข้าพระองค์แล้วฉันใด
แม้พระองค์ก็จงบูชาข้าพระองค์ฉันนั้นเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๖] ข้าพเจ้ายังมิได้เห็นต้นไม้
ที่มีลำต้นใหญ่เท่ากับลำต้นของท่านเลย
ท่านเป็นต้นไม้ที่มีลำต้นงาม
มีสัณฐานสมส่วนและตรงโดยกำเนิด
[๑๗] ข้าพเจ้าจะสร้างปราสาทที่มีเสาเดียว อันน่ารื่นรมย์
จักนำท่านเข้าไปอยู่ในปราสาทหลังนั้น
ท่านผู้ควรบูชา ชีวิตของท่านจักยั่งยืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๒. ภัททสาลชาดก (๔๖๕)
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๑๘] หากพระองค์เกิดความดำริเช่นนี้
หากพระองค์ทรงปรารถนาจะแยกร่างกายของข้าพระองค์
ขอพระองค์จงรานกิ่งก้านข้าพระองค์ให้มากแล้วบั่นให้เป็นท่อน ๆ
[๑๙] พระองค์จงตัดยอดก่อน ต่อมาจงตัดกลางลำต้น
และจงตัดโคนต้นในภายหลัง
เมื่อข้าพระองค์ถูกตัดอย่างนี้ จะพึงตายไม่เป็นทุกข์
(พระราชาตรัสว่า)
[๒๐] เหมือนราชบุรุษตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู และตัดจมูกก่อน
ต่อมาภายหลังจึงตัดศีรษะของโจรที่ยังเป็นอยู่
การตายนั้นพึงเป็นทุกข์
[๒๑] ภัททสาละผู้เจ้าป่า การถูกตัดเป็นท่อน ๆ เป็นสุขหรือ
เพราะเหตุไร เพราะอาศัยอะไร
ท่านจึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ
(ภัททสาละจอมเทพตรัสว่า)
[๒๒] ก็ข้าพระองค์อาศัยเหตุอันใดซึ่งเป็นเหตุอันประกอบด้วยธรรม
จึงปรารถนาการถูกตัดเป็นท่อน ๆ ขอเดชะพระมหาราช
ขอพระองค์ทรงสดับเหตุอันนั้นของข้าพระองค์
[๒๓] พวกญาติของข้าพระองค์เจริญเติบโตอย่างมีความสุข
เกิดในที่อับลมข้าง ๆ ข้าพระองค์
ข้าพระองค์พึงเบียดเบียนพวกญาติแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าได้ก่อความไม่สุขสบายให้แก่ผู้อื่น
(พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๒๔] ภัททสาละผู้เจ้าป่า ท่านได้คิดสิ่งที่ควรคิด
ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
สหายเอ๋ย เราให้อภัยแก่ท่าน
ภัททสาลชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
ว่าด้วยพ่อค้าทางเรือเดินทะเล
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๒๕] มนุษย์เหล่านั้นพากันไถ พากันหว่าน
อาศัยผลแห่งการงานเลี้ยงชีพอยู่ ก็ยังไม่ถึงส่วนแห่งเกาะนี้
เกาะของเรานี้ประเสริฐกว่าชมพูทวีป
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[๒๖] ในคืนพระจันทร์เพ็ญ ๑๕ ค่ำ
ทะเลจักมีคลื่นแรงมาก จักท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ขอกำลังคลื่นน้ำทะเลอย่าได้ฆ่าพวกท่านเลย
พวกท่านจงไปยังเกาะอื่นเถิด
(เทพบุตรผู้ร้ายกาจอีกตนหนึ่งได้กล่าวว่า)
[๒๗] กำลังคลื่นน้ำทะเลจะไม่เกิด
จักไม่ท่วมเกาะใหญ่แห่งนี้
ข้าพเจ้าเห็นเหตุนั้นด้วยนิมิตมากมาย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด
[๒๘] เกาะใหญ่นี้มีอาหารเพียงพอ มีข้าวและน้ำมากมาย
พวกท่านจงยึดครองเป็นที่อยู่อาศัยเถิด
ข้าพเจ้ายังไม่เห็นภัยอะไรสำหรับพวกท่านเลย
ท่านทั้งหลายจงรื่นเริงบันเทิงใจไปตลอดชั่วลูกชั่วหลานเถิด
(นายช่างผู้โง่เขลากล่าวว่า)
[๒๙] เทพบุตรองค์ใดในทิศทักษิณนี้ย่อมกล่าวคัดค้านว่า
ปลอดภัย คำของเทพบุตรองค์นั้นเป็นความจริง
ส่วนเทพบุตรทิศอุดรไม่รู้ถึงภัยหรือไม่มีภัย
พวกท่านอย่ากลัวไปเลย จะเศร้าโศกทำไม จงรื่นเริงกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๓. สมุททวาณิชชาดก (๔๖๖)
(ฝ่ายนายช่างผู้เป็นบัณฑิตได้กล่าวว่า)
[๓๐] เทพบุตรเหล่านี้กล่าวขัดแย้งกัน
ตนหนึ่งกล่าวว่าจะมีภัย ตนหนึ่งกล่าวว่าจะปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เอาเถิดพวกท่านจงฟังคำของเรา
พวกเราทั้งหมดอย่าพากันพินาศเสียเร็วพลันเลย
[๓๑] พวกเราทั้งหมดจงมาพร้อมกันสร้างเรือโกลน
ประกอบเครื่องยนต์ทุกอย่างให้มั่นคง
ถ้าเทพบุตรทิศทักษิณนี้กล่าวจริง
เทพบุตรองค์ทิศอุดรนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
อนึ่ง เมื่อเกิดอันตรายขึ้น เรือของพวกเรานั้นจักมีประโยชน์
และพวกเราจะไม่ละทิ้งเกาะนี้ไป
[๓๒] แต่ถ้าเทพบุตรทิศอุดรกล่าวจริง
เทพบุตรทิศทักษิณนี้ก็กล่าวคัดค้านเปล่า ๆ
พวกเราทั้งหมดก็จะพากันขึ้นเรือลำนั้นแหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็จะมีความสวัสดีข้ามไปจนถึงฝั่ง
[๓๓] คำที่เทพองค์แรกกล่าวกับคำหลัง
อย่าไปเชื่อเอาง่าย ๆ ว่าถูกต้อง
ส่วนคำที่ผ่านหูมา นรชนใดในโลกนี้เก็บเอามาพิจารณา
เลือกเอาแต่คำที่ถูกต้อง
นรชนนั้นย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
(พระศาสดาตรัส ๓ พระคาถาว่า)
[๓๔] กุลบุตรผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคตแล้ว
ย่อมไม่ให้ประโยชน์แม้น้อยล่วงเลยไป
เหมือนพวกพ่อค้าเหล่านั้นได้ไปโดยความสวัสดีกลางน้ำทะเล
ตามการกระทำของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๔. กามชาดก (๔๖๗)
[๓๕] ส่วนพวกคนพาลผู้ที่ติดอยู่ในรสเพราะโมหะ
ไม่รู้แจ้งชัดถึงประโยชน์ในอนาคต
หมกหมุ่นอยู่ในประโยชน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมถึงความพินาศ
เหมือนพวกมนุษย์ที่พินาศกลางทะเลเหล่านั้น
[๓๖] คนผู้เป็นบัณฑิตพึงรีบทำกิจที่ควรทำในอนาคตด้วยหวังว่า
ในเวลาที่ทำกิจ ขอกิจที่ควรทำอย่าได้เบียดเบียนเรา
กิจนั้นย่อมไม่เบียดเบียนเขาผู้รีบทำกิจที่ควรทำเช่นนั้น
สมุททวาณิชชาดกที่ ๓ จบ

๔. กามชาดก (๔๖๗)
ว่าด้วยกามและโทษของกาม
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๓๗] หากสิ่งที่สัตวโลกต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เขาได้แล้วย่อมจะอิ่มใจแน่นอน
[๓๘] หากสิ่งที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการกาม
เมื่อความปรารถนาสำเร็จแล้ว เขายังปรารถนาต่อไปอีก
ย่อมประสบความอยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เหมือนคนตรากตรำลมและแดดในฤดูร้อน
ประสบความกระหายยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[๓๙] ความอยากและความกระหายย่อมพอกพูนโดยยิ่ง
แก่คนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้พระสัทธรรม
ผู้มีร่างกายกำลังเจริญเติบโต
เหมือนเขาเจริญแก่โคตัวที่กำลังมีเขาเจริญเติบโต
[๔๐] แม้จะให้นาข้าวสาลี นาข้าวเหนียว โค ม้า
และทาสชายหญิงทั้งแผ่นดิน ก็ไม่เพียงพอสำหรับคนคนเดียว
บุคคลรู้อย่างนี้แล้วพึงประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๔. กามชาดก (๔๖๗)
[๔๑] พระราชาทรงปราบปรามข้าศึก ชนะทั่วทั้งแผ่นดิน
ทรงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
ยังมิทรงอิ่มพระทัยมหาสมุทรฝั่งนี้
ทรงปรารถนาแม้มหาสมุทรฝั่งโน้นอีก
[๔๒] บุคคลไม่ประสบความอิ่มใจ
ตลอดเวลาที่ยังหวนระลึกถึงกามทั้งหลายอยู่
บุคคลเหล่าใดกลับใจ มีกายหลีกออกจากกามนั้น
เห็นโทษในกามทั้งหลาย เป็นผู้อิ่มแล้วด้วยปัญญา
บุคคลเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม
[๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด
เพราะบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญานั้นไม่เดือดร้อนเพราะกามทั้งหลาย
คนที่อิ่มด้วยปัญญา ตัณหาทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้
[๔๔] บุคคลไม่พึงสั่งสมกาม
ควรเป็นคนปรารถนาน้อย ไม่โลเลเหลาะแหละ
คนผู้มีปัญญาเพียงดังมหาสมุทรไม่เร่าร้อนเพราะกามทั้งหลาย
[๔๕] ส่วนใด ๆ ของกามทั้งหลายที่ละได้
ส่วนนั้น ๆ ก็บันดาลให้เป็นสุขได้
ถ้าปรารถนาสุขทุกส่วนก็ควรละกามให้หมด
เหมือนช่างหนังตัดเอาหนังมาทำรองเท้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๖] ท่านมหาพราหมณ์ คาถาทั้งหมดที่ท่านกล่าวแล้ว ๘ คาถา
มีค่านับเป็นพัน ๆ กหาปณะ
ท่านจงรับทรัพย์ไปเถิด ภาษิตของท่านนี้ดีนักแล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๔๗] ข้าพระองค์ไม่ต้องการทรัพย์เป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นหมื่น
เพราะเมื่อข้าพระองค์กล่าวคาถาสุดท้าย ใจไม่ยินดีในกามเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
(พระราชาทรงสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๘] มาณพคนนี้เป็นผู้เจริญหนอ
เป็นนักปราชญ์ รู้แจ้งโลกทั้งปวง
เป็นบัณฑิต กำหนดรู้ตัณหาอันให้เกิดทุกข์ได้
กามชาดกที่ ๔ จบ

๕. ชนสันธชาดก (๔๖๘)
ว่าด้วยพระเจ้าชนสันธะ
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๙] ได้ยินมาว่า พระเจ้าชนสันธะตรัสไว้อย่างนี้ว่า
เหตุ ๑๐ ประการที่บุคคลไม่ได้ทำไว้ก่อน
เขาย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[๕๐] บุคคลไม่ได้ทรัพย์ซึ่งตนมิได้สะสมไว้ย่อมเดือดร้อน
เขาย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เรามิได้แสวงหาทรัพย์ไว้ก่อน
[๕๑] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เพราะเราไม่ได้ศึกษาศิลปะที่มีอยู่ก่อน ซึ่งอาจจะศึกษาได้
คนที่ไม่มีศิลปะก็หากินลำบาก
[๕๒] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นคนโกง เป็นคนชอบส่อเสียด
ปลิ้นปล้อน ดุร้าย และหยาบคาย
[๕๓] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อก่อนเราเป็นคนชอบฆ่าสัตว์ โหดร้าย ป่าเถื่อน
ไม่ยอมนอบน้อมต่อคนทั้งหลาย
[๕๔] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อหญิงทั้งหลายที่ไม่มีคู่ครองมีอยู่เป็นจำนวนมาก
เราก็ชอบเป็นชู้กับเมียคนอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
[๕๕] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
เมื่อข้าวและน้ำปรากฏมีอยู่เป็นอันมาก
แต่เราก็ไม่ได้ให้ทานมาก่อน
[๕๖] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
พ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
เราสามารถจะเลี้ยงดูได้ แต่ก็หาได้เลี้ยงดูไม่
[๕๗] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
บิดาผู้เป็นอาจารย์ตามพร่ำสอน
นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู
เราก็ดูหมิ่นเสีย
[๕๘] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
สมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
เราก็มิได้เคยคบหามาก่อน
[๕๙] บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลังอย่างนี้ว่า
ตบะที่บำเพ็ญแล้ว สัตบุรุษที่คนเข้าไปคบหาแล้วย่อมเป็นความดี
แต่เราหาได้บำเพ็ญตบะและคบหาสัตบุรุษมาก่อนไม่
[๖๐] ก็เหตุ ๑๐ ประการเหล่านี้ผู้ใดได้ปฏิบัติโดยถูกต้อง
ผู้นั้นชื่อว่าทำหน้าที่ของคน ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ชนสันธชาดกที่ ๕ จบ

๖. มหากัณหชาดก (๔๖๙)
ว่าด้วยคราวที่สุนัขดำกินคน
(พระราชาตรัสถามท้าวสักกะว่า)
[๖๑] สุนัขของท่านทั้งดำทั้งดุ แยกเขี้ยวขาววาววาม
ล่ามด้วยเชือก ๕ เส้น มันร้องทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๖๒] พระเจ้าอุสินนระ สุนัขดำตัวนี้ไม่ต้องการเนื้อสัตว์
มันจะหลุดออกไปในคราวที่มันจะทำพวกมนุษย์ให้พินาศ
(ท้าวสักกะได้ตรัสอีกว่า)
[๖๓] เมื่อใดพวกสมณะศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิ
อุ้มบาตร ทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไปกินเนื้อสมณะโล้นนั้น
[๖๔] เมื่อใดนักบวชหญิงมีศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิ
ปฏิญาณตนว่า บำเพ็ญตบะ
แต่ซ่องเสพกามคุณ เที่ยวไปในโลก
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อนักบวชหญิงนั้น)
[๖๕] เมื่อใดพวกชฎิลมีเครายาว มีขี้ฟันเขรอะ
มีธุลีบนศีรษะเที่ยวทวงหนี้อยู่
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชฎิลนั้น)
[๖๖] เมื่อใดพราหมณ์ทั้งหลายเรียนพระเวท เรียนสาวิตติฉันท์
และเรียนยัญวิธีแล้วเที่ยวรับจ้างทำการบูชายัญ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อพราหมณ์เหล่านั้น)
[๖๗] เมื่อใดพ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
บุตรธิดามีความสามารถพอแต่ไม่เลี้ยงดู
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อบุตรธิดาเหล่านั้น)
[๖๘] เมื่อใดพ่อและแม่ผู้แก่เฒ่าชราผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
บุตรธิดากล่าวหาว่า ท่านทั้งหลายเป็นคนพาล
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อบุตรธิดาเหล่านั้น)
[๖๙] เมื่อใดชายทั้งหลายในโลกเที่ยวประพฤติอสัทธรรม (คบชู้)
กับภรรยาของอาจารย์ก็ดี ภรรยาของเพื่อนก็ดี
ป้า น้าสาว อาสาวก็ดี
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชายเหล่านั้น)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
[๗๐] เมื่อใดพราหมณ์ทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง
เหน็บกริชทำการปล้น ฆ่าคนเดินทาง
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อพราหมณ์เหล่านั้น)
[๗๑] เมื่อใดชายทั้งหลายผู้ขัดสีฉวีวรรณ มีลำแขนล่ำสัน
ไม่ปรากฏหลักฐาน ก่อเวรให้หญิงหม้าย ทำลายมิตรภาพ
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อชายเหล่านั้น)
[๗๒] เมื่อใดคนมีมายา ผิดกฎกติกา
มีความคิดอย่างคนชั่วจักมีอยู่ในโลก
เมื่อนั้นสุนัขดำก็จะหลุดออกไป(กินเนื้อคนมีมายานั้น)
มหากัณหชาดกที่ ๖ จบ

๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
ว่าด้วยโกสิยเศรษฐี
(โกสิยเศรษฐีกล่าวว่า)
[๗๓] ของนี้มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก
ข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ขาย ทั้งไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้
ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ไม่เพียงพอสำหรับคน ๒ คน
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๗๔] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่น้อย
ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง
ควรให้มากจากของที่มีมาก
ชื่อว่าการไม่ให้ไม่ควร
[๗๕] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(จันทเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๗๖] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ๑ของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ
[๗๗] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(สุริยเทพเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๗๘] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผลจริง
แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของผู้นั้นก็มีผลจริง
[๗๙] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(มาตลิเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๘๐] ก็บุคคลเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่งแล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง
ที่สระโบกขรณีชื่อคยาบ้าง ที่ท่าน้ำชื่อโทณะ
และท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง ที่ห้วงน้ำใหญ่ซึ่งมีกระแสเชี่ยวบ้าง
[๘๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
การบูชาของผู้นั้นในที่นั้น
และความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของเขาในที่นั้นย่อมมีผล
[๘๒] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข

เชิงอรรถ :
๑ ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่บำเพ็ญเพื่อให้เกิดทรัพย์ (ขุ.ชา.อ. ๒/๗๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
(ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า)
[๘๓] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเครื่องผูกที่มีสายยาว
[๘๔] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า
ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ
ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข
(โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของเทพบุตรเหล่านั้นแล้วจึงกล่าวว่า)
[๘๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ
แต่สุนัขของพวกท่านตัวนี้ เพราะเหตุไร
จึงเปลี่ยนแปลงรัศมีสีสันได้ต่าง ๆ นานา
ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าว่า
พวกท่านเป็นใครกันหนอ
(ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า)
[๘๖] เทพทั้งหลายที่มา ณ ที่นี้ คือ
จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ มาตลีเทพสารถี
เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ
ส่วนผู้นี้แลชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร
(ท้าวสักกะสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรว่า)
[๘๗] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑
ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วให้ตื่นขึ้น
เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี
(ท้าวสักกะตรัสอีกว่า)
[๘๘] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้
บางพวกมักว่าสมณะและพราหมณ์
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
(เพื่อจะแสดงว่าบุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมได้บังเกิดในเทวโลก จึงตรัสว่า)
[๘๙] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม
คือความสำรวมและการจำแนกแจกทาน
เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ไปสุคติ
[๙๐] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน
แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ ขี้โกรธ มีธรรมเลวทราม
พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง
ท่านอย่ามีธรรมเลวทรามไปตกนรกเลย
(โกสิยเศรษฐีมีจิตยินดีกล่าวว่า)
[๙๑] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่แท้จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ
[๙๒] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น
จากความตระหนี่ จะไม่ทำบาปอะไร ๆ อีก
อนึ่ง วัตถุอะไร ๆ ที่ไม่พึงให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า
แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้วก็จะไม่ยอมดื่ม
[๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้
แม้โภคะของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ
ต่อแต่นี้ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วบวช
โกสิยชาดกที่ ๗ จบ

๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
ว่าด้วยปัญหาเรื่องแพะเป็นเพื่อนกับสุนัข
(พระราชาตรัสถามปัญหาว่า)
[๙๔] แต่ไหนแต่ไรมา ความเป็นเพื่อนกันแม้เพียงการย่างก้าวเดินไป
๗ ก้าวของสัตว์เหล่าใดไม่เคยมีมาแล้วในโลกนี้
สัตว์เหล่านั้น ๒ ตัว ซึ่งเป็นศัตรูกันกลับเป็นสหายกัน
ประพฤติเกี่ยวเนื่องกันเพราะเหตุไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)
(และตรัสต่อไปว่า)
[๙๕] ถ้าว่าในเวลาอาหารเช้าของเราในวันนี้
พวกท่านไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
เราจะเนรเทศพวกท่านทั้งหมดออกจากแคว้น
เพราะเราไม่ต้องการพวกคนมีปัญญาทราม
(เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า)
[๙๖] เมื่อมหาชนมาประชุมกันอึกทึกครึกโครม
เมื่อคนมาร่วมกันเป็นโกลาหล
พวกข้าพระองค์ก็มีใจฟุ้งซ่าน มีจิตไม่แน่วแน่
จึงไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหาข้อนี้ได้
[๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
นักปราชญ์ทั้งหลายมีจิตแน่วแน่ไปในที่ลับตามลำพัง
คิดพิจารณาถึงเนื้อความในที่สงัดแล้ว
ภายหลังจึงจะกล่าวตอบเนื้อความข้อนี้ได้
(เสนกบัณฑิตนั้นกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๙๘] พวกบุตรของคนชั้นสูงและพวกราชบุตรโปรดปรานพอใจเนื้อแพะ
พวกเขาไม่บริโภคเนื้อสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(ปุกกุสบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๙๙] ชนทั้งหลายถลกหนังแพะทำเป็นเครื่องลาดหลังม้า
เพราะนั่งสบาย แต่พวกเขาไม่ลาดด้วยหนังสุนัข
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(กามินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๑๐๐] ก็แพะมีเขาโค้งและมีหญ้าเป็นภักษา
ส่วนสุนัขไม่มีเขาและกินเนื้อ
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
(เวทินทบัณฑิตกล่าวคาถาตามแนวที่ตนเรียนมาว่า)
[๑๐๑] แพะกินหญ้ากินใบไม้
แต่สุนัขไม่กินหญ้าไม่กินใบไม้
สุนัขจับกระต่ายและแมวกิน
เมื่อเป็นเช่นนั้น แพะกับสุนัขจึงเป็นเพื่อนกัน
(มโหสธบัณฑิตเฉลยปัญหาที่ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ตนว่า)
[๑๐๒] แพะมี ๔ เท้า ๘ กีบ ๘ เล็บ
สุนัขนี้แฝงกายนำหญ้ามาเพื่อแพะตัวนี้
ส่วนแพะนี้แฝงกายนำเนื้อมาเพื่อสุนัขตัวโน้น
[๑๐๓] นัยว่า พระองค์ผู้จอมเทพประเสริฐกว่าชาววิเทหะ
ประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ
ได้ทอดพระเนตรการแลกเปลี่ยนอาหารของกันและกันโดยประจักษ์
และนั่นเสียงเห่าของสุนัขต่อหน้าแพะ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๐๔] เป็นลาภของเรามิใช่น้อยหนอ
ที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล
ปราชญ์ทั้งหลายรู้แจ้งเนื้อความแห่งปัญหา
อันละเอียดลึกซึ้งได้โดยตลอด
และกล่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
(และตรัสอีกว่า)
[๑๐๕] เรามีความพอใจอย่างยิ่งด้วยถ้อยคำอันเป็นสุภาษิต
เราให้รถเทียมม้าอัสดรคนละคัน
บ้านส่วยที่มั่งคั่งคนละ ๑ ตำบล
แก่ท่านผู้เป็นบัณฑิตทุกคน
เมณฑกปัญหชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
๙. มหาปทุมชาดก (๔๗๒)
ว่าด้วยมหาปทุมกุมาร
(พวกผู้ใหญ่มีกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นตลอดจนอำมาตย์ราชเสวกได้กราบทูลว่า)
[๑๐๖] โทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นทั้งหมดที่ยังมิได้เห็น
มิได้พิจารณาด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรลงทัณฑ์
[๑๐๗] ส่วนผู้ใดเป็นกษัตริย์ยังมิได้ทรงพิจารณาแล้วทรงลงอาชญา
ผู้นั้นชื่อว่ากลืนโภชนาหารพร้อมทั้งหนาม
เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด กลืนกินอาหารที่มีแมลงวัน
[๑๐๘] พระราชาพระองค์ใดลงอาชญาบุคคลผู้ไม่ควรจะลงอาชญา
ไม่ลงอาชญาบุคคลผู้ควรลงอาชญา
พระราชาพระองค์นั้นไม่รู้สิ่งสมควรหรือไม่สมควร
เหมือนคนตาบอดเดินทางที่ขรุขระ
[๑๐๙] อนึ่ง ฐานะน้อยใหญ่ทั้งหมดเหล่านี้
พระราชาพระองค์ใดเห็นชัดเจนดีแล้วสั่งการลงไป
พระราชาพระองค์นั้นสมควรจะปกครองราชสมบัติได้
[๑๑๐] พระราชาผู้อ่อนโยนอย่างเดียวหรือผู้แข็งกร้าวอย่างเดียว
ไม่สามารถจะดำรงตนอยู่ในฐานะอันยิ่งใหญ่ได้
เพราะเหตุนั้น พึงประพฤติทั้ง ๒ ประการ
[๑๑๑] พระราชาผู้อ่อนโยนก็อาจจะถูกดูหมิ่น
ผู้แข็งกร้าวก็อาจจะมีศัตรู
ครั้นทราบเหตุทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว
พึงประพฤติพอสมควรเป็นกลาง ๆ ไว้
[๑๑๒] คนมีความกำหนัดพึงพูดมาก ถึงคนมีความโกรธก็พูดมาก
ขอเดชะมหาราช พระองค์ไม่ควรให้ปลงพระชนม์พระราชโอรส
เพราะเหตุแห่งหญิงเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
(ฝ่ายพระราชาผู้โง่เขลาทรงสั่งลงอาชญาว่า)
[๑๑๓] ประชาชนเป็นฝ่ายเดียวกันทั้งหมด
ฝ่ายหญิงนี้มีเพียงคนเดียว
เพราะเหตุนั้น เราจะปฏิบัติตามคำของหญิงนี้
พวกท่านจงไป จงโยนปทุมกุมารนั้นลงเหวไปเถิด
(ต่อมาพระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๔] ที่ซอกเขาอันเป็นเหวลึกหลายชั่วลำตาล ยากที่จะขึ้นมาได้
เจ้าถูกผลักตกลงไปในเหวนั้นทำไมจึงไม่ตาย
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๕] พญานาคเกิดอยู่ที่ซอกเขานั้น
แผ่พังพาน มีกำลัง ใช้ขนดรองรับอาตมภาพ
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ตายในเหวนั้น
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๖] พ่อราชบุตร มาเถิด พ่อจักนำเจ้ากลับพระราชวังของตน
ขอความเจริญจงมีแก่เจ้า เจ้าจงครอบครองราชสมบัติเถิด
จักทำอะไรอยู่ในป่าเล่า
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๗] อาตมภาพมองเห็นตนเหมือนคนที่กลืนเบ็ด
แล้วดึงเบ็ดที่เปื้อนโลหิตขึ้นมา ครั้นดึงขึ้นมาแล้วพึงเป็นสุข
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๘] อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า เป็นเบ็ด
อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า เบ็ดเปื้อนโลหิต
อะไรหนอ เจ้ากล่าวว่า ดึงออกมาแล้ว
เราถามแล้ว ขอเจ้าจงบอกความข้อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๙] กาม อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ด
ช้างและม้า อาตมากล่าวว่า เป็นเบ็ดที่เปื้อนโลหิต
การสละได้แล้ว อาตมากล่าวว่า ดึงออกมาแล้ว
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด จอมกษัตริย์
(พระศาสดาทรงประมวลชาดกด้วยคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๒๐] พระราชมารดา (เลี้ยง) เป็นนางจิญจมาณวิกา
พระราชบิดาของอาตมาเป็นพระเทวทัต
พญานาคเป็นอานนท์ผู้เป็นบัณฑิต
เทวดาเป็นพระสารีบุตร
พระราชบุตรคือตถาคต
ขอเธอทั้งหลายทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
มหาปทุมชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
ว่าด้วยลักษณะมิตรและผู้มิใช่มิตร
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๑] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือพึงพยายามอย่างไร จึงจะรู้ว่า ผู้นี้ไม่ใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะผู้มิใช่มิตรว่า)
[๑๒๒] คนผู้มิใช่มิตร คือ เห็นเพื่อนแล้วไม่ยิ้มแย้ม ๑
ไม่ยินดีจะสนทนากับเพื่อน ๑ ไม่สบตาเพื่อน ๑ พูดต่อต้าน ๑
[๑๒๓] คบศัตรูของเพื่อน ๑ ไม่คบเพื่อนของเพื่อน ๑
ห้ามปรามคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่ด่าเพื่อน ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
[๑๒๔] ไม่บอกความลับแก่เพื่อน ๑
ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ๑
ไม่ยกย่องการกระทำของเพื่อน ๑
ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน ๑
[๑๒๕] เมื่อเพื่อนฉิบหายกลับพอใจ ๑ เมื่อเพื่อนเจริญกลับไม่พอใจ ๑
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็ไม่นึกถึงเพื่อน ๑
แต่นั้น ย่อมจะไม่อนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนเราพึงได้ลาภจากที่นี้บ้าง ๑
[๑๒๖] อาการ ๑๖ ข้อดังกล่าวมานี้มีอยู่แล้วในคนที่มิใช่มิตร
พึงเป็นเหตุให้บัณฑิตได้เห็นและได้ยินแล้วรู้ได้ว่ามิใช่มิตร
(พระโพธิสัตว์กราบทูลลักษณะของมิตรว่า)
[๑๒๗] วิญญูชนผู้เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
เห็นหรือได้ยินผู้ทำการงานอะไรบ้าง
หรือชนพึงพยายามอย่างไรจึงรู้ว่า ผู้นั้นเป็นมิตร
(ได้กล่าวคาถาที่เหลือว่า)
[๑๒๘] คนผู้เป็นมิตร คือ เพื่อนจากไปก็คิดถึง ๑
เพื่อนกลับมาก็ยินดี ๑ หยอกล้อยิ้มย่องต่อเพื่อน ๑
ยินดีตอบสนองด้วยวาจาที่ไพเราะ ๑
[๑๒๙] คบเพื่อนของเพื่อนฝ่ายเดียว ๑ ไม่คบศัตรูของเพื่อน ๑
ห้ามปรามคนที่ด่าเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่ยกย่องเพื่อน ๑
[๑๓๐] บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน ๑
ยกย่องการกระทำของเพื่อน ๑ สรรเสริญปัญญาของเพื่อน ๑
[๑๓๑] เมื่อเพื่อนเจริญก็ยินดี ๑ เมื่อเพื่อนฉิบหายก็ไม่ยินดี ๑
ได้อาหารที่มีรสแปลกมาก็นึกถึงเพื่อน ๑
แต่นั้น ย่อมจะอนุเคราะห์เพื่อนว่า
อย่างไรหนอ เพื่อนจะได้ลาภจากที่นี้บ้าง ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต] ๑๐. มิตตามิตตชาดก (๔๗๓)
[๑๓๒] อาการ ๑๖ ข้อดังกล่าวมานี้มีอยู่แล้วในคนที่เป็นมิตร
พึงเป็นเหตุให้บัณฑิตได้เห็นและได้ยินแล้วรู้ได้ว่าเป็นมิตร
มิตตามิตตชาดกที่ ๑๐ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. จูฬกุณาลชาดก ๒. ภัททสาลชาดก
๓. สมุททวาณิชชาดก ๔. กามชาดก
๕. ชนสันธชาดก ๖. มหากัณหชาดก
๗. โกสิยชาดก ๘. เมณฑกปัญหชาดก
๙. มหาปทุมชาดก ๑๐. มิตตามิตตชาดก

ทวาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๕ }


๑๓. เตรสกนิบาต
๑. อัมพชาดก (๔๗๔)
ว่าด้วยมนต์เสกมะม่วง
(พระราชาตรัสถามคนเฝ้าสวนมะม่วงว่า)
[๑] ท่านพรหมจารี๑ เมื่อก่อน
ท่านได้นำผลมะม่วงน้อยใหญ่มาให้เรา
บัดนี้ ผลไม้ทั้งหลายไม่ปรากฏด้วยมนต์เหล่านั้น
ของท่านเลยหรือ ท่านพราหมณ์
(มาณพกราบทูลว่า)
[๒] ข้าพระองค์กำลังคำนวณการโคจรของดาวฤกษ์
ยังไม่เห็นฤกษ์ยามปรากฏในมนต์เลย
ครั้นได้การโคจรของดาวฤกษ์และฤกษ์ยามแล้ว
ข้าพระองค์จักนำผลมะม่วงมากมายมาถวายได้อย่างแน่นอน
(พระราชาตรัสถามว่า)
[๓] เมื่อก่อน ท่านไม่พูดถึงการโคจรของดาวฤกษ์เลย
ไม่ได้อ้างถึงฤกษ์ยามเลย
ได้นำผลมะม่วงที่มีสีงาม กลิ่นหอม รสอร่อย
จำนวนมากมายมาให้เราด้วยตนเอง
[๔] แม้เมื่อก่อน ด้วยการร่ายมนต์ของท่าน
ผลไม้ทั้งหลายก็ปรากฏมี ท่านพราหมณ์
แต่วันนี้ ท่านนั้นแม้จะร่ายมนต์อยู่ ก็ไม่สามารถจะให้สำเร็จได้
สภาพของท่านนั้น มันเกิดอะไรขึ้นวันนี้

เชิงอรรถ :
๑ ท่านพรหมจารี หมายถึงท่านผู้เรียนพระเวท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๖ }


๑. อัมพชาดก (๔๗๔)
(มาณพกราบทูลว่า)
[๕] บุตรคนจัณฑาลได้มอบมนต์ให้แก่ข้าพระองค์โดยถูกต้อง
และบอกสาเหตุที่ทำให้มนต์เสื่อมไว้ว่า
ถ้ามีใครมาถามถึงชื่อและโคตรของเราแล้วเจ้าอย่าปกปิด
ถ้าปกปิดความจริง มนต์ก็จะเสื่อมไป
[๖] ข้าพระองค์นั้นถูกพระองค์ผู้เป็นจอมชนตรัสถามขึ้นในหมู่ชน
เกิดความลบหลู่ครอบงำแล้วจึงได้กราบทูลความพลั้งพลาดไปว่า
มนต์เหล่านี้เป็นของพราหมณ์ ดังนั้น
ข้าพระองค์มีมนต์เสื่อมเสียแล้ว จึงเป็นคนน่าสงสารร้องไห้อยู่
(พระราชาทรงติเตียนมาณพนั้นว่า)
[๗] คนผู้ต้องการน้ำหวานพึงได้น้ำหวานจากต้นไม้ใด
จะเป็นต้นละหุ่งก็ตาม ต้นสะเดาก็ตาม หรือต้นทองกวาวก็ตาม
ต้นไม้นั้นแลเป็นต้นไม้ดีที่สุดของเขา
[๘] บุคคลพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด จะเป็นกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล หรือคนเทขยะก็ตาม
ผู้นั้นแลเป็นคนสูงสุดของเขา
[๙] ท่านทั้งหลายจงทำโทษ เฆี่ยนตี แล้วจงจับคอเจ้าคนชั่ว
ผู้ที่ยังประโยชน์อันสูงสุดซึ่งตนได้มาแสนยากให้พินาศไป
เพราะความเย่อหยิ่งและดูหมิ่นคน ไสหัวออกไป
(มาณพกล่าวขอเรียนมนต์ใหม่กับอาจารย์ว่า)
[๑๐] บุรุษสำคัญพื้นที่ว่าเรียบ พึงตกบ่อ ตกถ้ำ ตกเหว
ตกหลุมรากไม้ผุ หรือว่าคนตาบอดสำคัญว่าเชือก
พึงเหยียบงูเห่า เหยียบไฟฉันใด ท่านผู้มีปัญญาพึงรับทราบว่า
ข้าพเจ้าพลั้งพลาดไปแล้วฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอาจารย์ทราบแล้ว
จงมอบมนต์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้มีมนต์เสื่อมแล้วอีกเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
(ต่อจากนั้น อาจารย์กล่าวว่า)
[๑๑] เราได้มอบมนต์ให้แก่เจ้าโดยธรรม
ถึงเจ้าก็เรียนเอาโดยธรรม
แม้สาเหตุที่ทำให้มนต์เสื่อม เราก็เต็มใจบอกแก่เจ้า
ถ้าเจ้าตั้งอยู่ในธรรมแล้ว มนต์จะไม่เสื่อม
[๑๒] เจ้าคนโง่ คนที่มีปัญญาน้อย
ถึงจะเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ในมนุษยโลกทุกวันนี้
ด้วยมนต์ที่ตนได้มาโดยยาก ได้มาด้วยความลำบากก็จริง
แต่เมื่อพูดเหลาะแหละก็ทำมนต์บทนั้นให้เสื่อมไปได้
[๑๓] สำหรับเจ้าผู้เป็นคนโง่ หลงงมงาย
อกตัญญู พูดเท็จ ไม่ระมัดระวัง
เราจะไม่ให้มนต์ทั้งหลายเช่นนั้นอีก
มนต์ที่ไหนกัน ไปเสียเถิดเจ้า เราไม่พอใจเจ้าเลย
อัมพชาดกที่ ๑ จบ

๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้สะคร้อ
(หมีได้บอกช่างไม้ว่า)
[๑๔] ท่านผู้เดียวถือขวานเข้ามาถึงป่ายืนอยู่
เพื่อน เราถามแล้วท่านจงบอก
ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ
(ช่างไม้ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๕] เพื่อน เจ้าเป็นหมีเที่ยวไปยังป่าน้อยใหญ่
ทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เราถามแล้ว เจ้าจงบอก
ไม้อะไรถึงจะแข็งแกร่งสำหรับกงรถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๒. ผันทนชาดก (๔๗๕)
(หมีกล่าวว่า)
[๑๖] ต้นรังก็ดี ต้นตะเคียนก็ดี ต้นหูกวางก็ดี ต้นสีเสียดก็ดี
ที่ไหนจะแข็งแกร่ง แต่ต้นไม้ที่มีนามว่าสะคร้อนั่นซิ
เป็นไม้ที่แข็งแกร่งสำหรับกงรถ
(ช่างไม้ถามว่า)
[๑๗] ก็ต้นสะคร้อนั้น ใบก็ตาม ลำต้นก็ตามเป็นเช่นไร
เพื่อน เราถามแล้ว ท่านจงตอบ
เราจะรู้จักต้นสะคร้อได้อย่างไร
(หมีบอกว่า)
[๑๘] ต้นไม้ใดที่กิ่งห้อยน้อมลงมาแต่ไม่หัก
ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่โคนต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นมีนามว่าสะคร้อ
[๑๙] ต้นสะคร้อนี้จักเป็นไม้ที่สมควร
แก่กิจการของท่านทุกอย่าง
คือ ทำกำก็ได้ ล้อก็ได้ ดุมก็ได้
งอนไถก็ได้ กงก็ได้ ตัวรถก็ได้
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า)
[๒๐] ทันใดนั้น รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถึงข้าพเจ้าก็มีคำที่จะพูด
ภารทวาชะ โปรดฟังคำของข้าพเจ้า
[๒๑] ท่านจงถลกหนังจากคอหมี ๔ องคุลีแล้วใช้หุ้มกงรถ
เมื่อทำเช่นนี้ กงรถจะพึงมั่นคงยิ่งขึ้น
[๒๒] ถึงรุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ได้จองเวรแล้วเพียงนั้น
ได้นำความทุกข์มาให้แก่พวกหมี
ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด ด้วยประการฉะนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
[๒๓] ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ไม้สะคร้อยุให้คนฆ่าหมี
ส่วนหมียุให้คนโค่นต้นสะคร้อ
เพราะการวิวาทกันและกัน ต่างคนต่างยุให้ฆ่ากันและกัน คือ
[๒๔] พวกมนุษย์เกิดการทะเลาะกันขึ้นที่ใด
ที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายก็เปิดเผยความลับเหมือนนกยูงรำแพน
และเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเหล่านั้น
[๒๕] เพราะเหตุนั้น ตถาคตขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้งหลาย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงพระเจริญ
ตราบเท่าที่ทรงสมาคมกัน ณ สถานที่นี้
ขอทรงรื่นเริงบันเทิงพระทัย อย่าทรงวิวาทกัน
อย่าทรงเป็นเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเลย
[๒๖] ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงสำเหนียกถึงความสามัคคีนั้น
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลผู้ยินดีแล้วในความสามัคคี ดำรงอยู่ในธรรม
ย่อมไม่เสื่อมจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ผันทนชาดกที่ ๒ จบ

๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
ว่าด้วยพญาชวนหงส์
(พระราชาทรงเชื้อเชิญชวนพญาหงส์โพธิสัตว์ว่า)
[๒๗] เจ้าจับอยู่ที่ตั่งทองนี้แหละพญาหงส์
ข้าพเจ้ารักที่จะเห็นท่าน
ท่านมาเป็นเจ้าของสถานที่นี้แล้ว
สิ่งที่มีอยู่ในพระราชนิเวศน์นี้
ท่านไม่รังเกียจ จงบอกมาให้เราทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๓. ชวนหังสชาดก (๔๗๖)
(และทรงขอร้องว่า)
[๒๘] เพราะการฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รักของคนบางคน
เพราะได้เห็น ความพอใจของคนบางคนจึงเสื่อมคลาย
เพราะได้เห็นและเพราะได้ฟัง คนบางหมู่จึงเป็นที่รัก
เพราะการเห็น ท่านรักใคร่ข้าพเจ้าบ้างไหม
[๒๙] เพราะการฟัง ท่านจึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า
และเป็นที่รักยิ่ง เพราะได้มาพบกัน
พญาหงส์ ท่านเป็นที่น่ารักน่าดูอย่างนี้สำหรับข้าพเจ้า
ขอท่านจงอยู่ใกล้ ๆ ข้าพเจ้าเถิด
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าได้รับสักการบูชาอยู่เป็นนิตย์
พึงอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
แต่บางคราวพระองค์ทรงมึนเมา
จะพึงตรัสว่า จงย่างพญาหงส์ให้เรา
(พระราชาตรัสให้ปฏิญาณว่า)
[๓๑] น่าติเตียนจริง การดื่มน้ำเมา
ซึ่งเป็นที่พอใจของข้าพเจ้ายิ่งกว่าท่าน
เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มน้ำเมา
ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในนิเวศน์ของข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๒] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[๓๓] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
[๓๔] ใจจดจ่ออยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้
ใจเหินห่างจากผู้ใด ผู้นั้นแม้จะอยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล
[๓๕] สหายผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงจะอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
ถ้ามีจิตเลื่อมใสต่อกัน ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้กัน
ส่วนสหายผู้มีจิตคิดประทุษร้ายถึงจะอยู่ใกล้
ถ้ามีจิตคิดประทุษร้ายต่อกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ยังฟากฝั่งสมุทร
[๓๖] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมทัพ ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
ศัตรูถึงจะอยู่ร่วมกัน ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลกัน
ส่วนบัณฑิตถึงจะอยู่ไกลกัน
ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะมีใจนึกถึงกัน
[๓๗] เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป
คนที่รักกันก็จะกลายเป็นไม่รักกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลลาไป
ก่อนที่จะไม่เป็นที่รักของพระองค์
(พระราชาตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๓๘] หากการประคองอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้
ท่านไม่ทราบและไม่ทำตามคำของข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติอยู่อย่างนี้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอร้องท่านว่า โปรดแวะเวียนมาอีก
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๙] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ
หากเราทั้งหลายยังอยู่ปกติอย่างนี้
แม้พระองค์และข้าพระองค์ก็จักไม่มีอันตราย
วันคืนต่อ ๆ ไป เราคงจะได้พบกันบ้างหรอก
ชวนหังสชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
๔. จูฬนารทกัสสปชาดก (๔๗๗)
ว่าด้วยกัสสปดาบสสอนจูฬนารทดาบส
(พระโพธิสัตว์ถามลูกชายว่า)
[๔๐] ฟืนลูกก็มิได้ผ่า น้ำลูกก็มิได้ตัก
แม้ไฟลูกก็มิได้ก่อให้โพลงขึ้น
ทำไมหนอ ลูกจึงซบเซาเหมือนคนปัญญาอ่อน
(ดาบสกุมารตอบว่า)
[๔๑] พ่อกัสสปะ ลูกหมดความพยายามที่จะอยู่ป่าต่อไป
ขอกราบลาพ่อ การอยู่ในป่าลำบาก
ลูกต้องการจะไปยังเมือง
[๔๒] พ่อพราหมณ์ ลูกไปจากที่นี้แล้ว
ไปอยู่ชนบทใดชนบทหนึ่ง
พึงศึกษาอาจาระอันเป็นประเพณีที่ควรศึกษา๑
ขอพ่อกรุณาสอนธรรม๒นั้นให้ลูกด้วย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๔๓] ถ้าลูกทิ้งป่าและมูลผลาหารในป่า
พอใจการอยู่ในเมือง
ลูกจงตั้งใจฟังธรรมนั้นจากพ่อ
[๔๔] อย่าเสพของมีพิษ ๑ จงเว้นเหวให้ห่างไกล ๑
อย่าจมลงในเปือกตม ๑ พึงระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้อสรพิษ ๑
(ดาบสกุมารเมื่อไม่รู้ความหมายของคำที่พ่อกล่าวโดยย่อ จึงถามว่า)
[๔๕] อะไรหนอคือของมีพิษ เหว
หรือเปือกตม สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อะไรที่พ่อกล่าวว่า เป็นอสรพิษ
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกเรื่องนั้น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมารยาทซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ควรศึกษาของสถานที่นั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๔๒/๑๖๑)
๒ ธรรม หมายถึงจารีตประเพณีของชาวชนบทนั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๔๓/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
(ฝ่ายพระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๔๖] พ่อนารทะ ของหมักดองในโลกที่เขาเรียกชื่อว่าสุรา
ทำใจให้ฮึกเหิม มีกลิ่นหอม น่าพอใจ มีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง
สุรานั้น พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นของมีพิษสำหรับพรหมจรรย์
[๔๗] พ่อนารทะ หญิงทั้งหลายในโลกย่อมย่ำยีชายผู้ประมาทแล้ว
พวกหล่อนย่อมชักจูงจิตของชายหนุ่มไป
เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่พลัดตกจากต้น
สภาพนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเหวสำหรับพรหมจรรย์
[๔๘] ลาภ ๑ ความมีชื่อเสียง ๑ สักการะ ๑
การบูชาในสกุลอื่น ๆ ๑
พ่อนารทะ นี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเปือกตมของพรหมจรรย์
[๔๙] พ่อนารทะ พระราชาทั้งหลายทรงมีศัสตราวุธ
ทรงปกครองแผ่นดินนี้
พระราชาผู้จอมมนุษย์ ผู้ยิ่งใหญ่เช่นนั้น
เจ้าควรระวัง
[๕๐] พ่อนารทะ พระราชาผู้เป็นอิสระ เป็นอธิบดีเหล่านั้น
เจ้าอย่าอยู่ใกล้ชิดเลย
พระราชานี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นอสรพิษสำหรับพรหมจรรย์
[๕๑] อนึ่ง คนผู้ต้องการอาหารในเวลาอาหาร
พึงเข้าไปยังเรือนหลังใดหลังหนึ่ง
บรรดาเรือนเหล่านี้ เจ้าพึงเที่ยวแสวงหาอาหาร
ในเรือนหลังที่ตนทราบว่าดีงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
[๕๒] ครั้นเข้าไปยังสกุลอื่นเพื่อประโยชน์แก่น้ำหรือโภชนาหาร
ควรขบเคี้ยวบริโภคแต่พอประมาณ ไม่ควรใฝ่ใจในรูป
[๕๓] คอกโค ๑ โรงสุรา ๑ นักเลง ๑ หอประชุม ๑
สถานที่เก็บเงินทอง ๑ เจ้าจงเว้นให้ห่างไกล
เหมือนคนขับยานพาหนะเว้นหนทางที่ขรุขระ
จูฬนารทกัสสปชาดกที่ ๔ จบ

๕. ทูตชาดก (๔๗๘)
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นทูต
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๕๔] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าส่งทูตไปหาท่าน
ซึ่งกำลังเข้าฌานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
พวกเขาถามแล้วท่านก็ไม่ตอบ
ทุกข์ของท่านนั้นเป็นความลับหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๕๕] พระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญของชาวแคว้นกาสี
ถ้าความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่พระองค์
พระองค์อย่าตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่คน
ที่ช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์ไม่ได้
[๕๖] ผู้ใดพึงช่วยปลดเปลื้องให้พ้นส่วนแห่งความทุกข์
ที่เกิดแล้วนั้นได้ แม้เสี้ยวหนึ่งโดยธรรม
ผู้นั้นควรบอกให้ทราบโดยแท้
[๕๗] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
[๕๘] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี
[๕๙] คนใดถูกเขาถามถึงความทุกข์ของตนอยู่บ่อย ๆ
พึงบอกให้ทราบในเวลาอันไม่สมควร
พวกศัตรูของคนนั้นย่อมพอใจ
ส่วนคนที่หวังประโยชน์ต่อเขาย่อมเป็นทุกข์
[๖๐] ส่วนนักปราชญ์รู้กาลอันสมควร
ทราบความมีใจของพวกมีปัญญาเป็นอันเดียวกับตนแล้ว
พึงบอกความทุกข์อันแรงกล้าแก่คนอื่นชนิดนั้น
พึงเปล่งถ้อยคำอันอ่อนหวาน มีประโยชน์
[๖๑] อนึ่ง ถ้านักปราชญ์พึงรู้ถึงทุกข์ที่ทนไม่ได้ของตนว่า
โลกธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ถึงความสุขเฉพาะเราเท่านั้นหามิได้
พึงเพ่งถึงสัจจะ หิริ และโอตตัปปะเท่านั้น
อดกลั้นความทุกข์อันแรงกล้าเพียงผู้เดียว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลอีกว่า)
[๖๒] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์เพื่อให้อาจารย์
จึงท่องเที่ยวไปขอยังแว่นแคว้น นิคม และราชธานีต่าง ๆ
[๖๓] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
ข้าพระองค์ได้ขอกับพวกคหบดี ราชบุรุษ
และพราหมณ์มหาศาล จึงได้ทองคำมา ๗ แท่ง
ทองคำเหล่านั้นของข้าพระองค์สูญหายเสียแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก
[๖๔] ขอเดชะพระมหาราช คนเหล่านั้นข้าพระองค์คิดไตร่ตรองดู
แล้วว่า ไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่เขาเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
[๖๕] ขอเดชะพระมหาราช ส่วนพระองค์ข้าพระองค์คิดไตร่ตรองดู
แล้วว่า สามารถจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๖๖] พระราชาผู้ผดุงรัฐให้เจริญของชาวแคว้นกาสี
มีพระหฤทัยเลื่อมใสได้พระราชทานทองคำแท้ ๆ แก่เขา ๑๔ แท่ง
ทูตชาดกที่ ๕ จบ

๖. กาลิงคโพธิชาดก (๔๗๙)
ว่าด้วยพระเจ้ากาลิงคะทรงบูชาโพธิมณฑล
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนี้ว่า)
[๖๗] พระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ากาลิงคะ
ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม
ทรงพญาช้างแก้วซึ่งมีอานุภาพมาก ได้เสด็จไปใกล้โพธิพฤกษ์
[๖๘] พราหมณ์ปุโรหิตภารทวาชะ ชาวกาลิงคะพิจารณาดูภูมิภาค
แล้วประคองอัญชลี ได้กราบทูลพระราชา
พระนามว่ากาลิงคะ ผู้เป็นโอรสของพระดาบสว่า
[๖๙] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์เสด็จลงมาเถิด
สถานที่นี้เป็นภูมิภาคที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงยกย่องแล้ว
เพราะสถานที่นี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ล้ำเลิศ
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงรุ่งเรืองอยู่
[๗๐] ภูมิภาคนี้ ต้นหญ้าลดาวัลย์เวียนเป็นทักษิณาวัฏ
ภูมิภาคนี้เป็นจุดศูนย์กลางแห่งแผ่นดิน
ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้
[๗๑] ภูมิภาคแห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางแห่งแผ่นดิน
ซึ่งเป็นที่รองรับสรรพสัตว์ เป็นแผ่นดินที่มีสาครล้อมรอบ
ขอพระองค์เสด็จลงมานมัสการเถิด พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
[๗๒] พญาช้างเหล่าใดถึงจะเป็นช้างแก้วและเกิดในตระกูลสูง
พญาช้างเหล่านั้นก็เข้าไปใกล้สถานที่มีประมาณเพียงนั้นไม่ได้
[๗๓] พญาช้างถึงจะเกิดในตระกูลสูงก็จริง
ขอพระองค์ทรงไสพญาช้างตัวที่ฝึกแล้วไปเถิด
สถานที่มีประมาณเพียงนี้ พญาช้างก็ไม่สามารถจะเข้าไปได้
[๗๔] พระเจ้ากาลิงคะครั้นทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว
ทรงใคร่ครวญวาจาของปุโรหิตผู้พยากรณ์
แล้วทรงไสพญาช้างไปด้วยพระดำริว่า
เราจักรู้ตามคำที่พราหมณ์นี้พูดจริงหรือ
[๗๕] ส่วนพญาช้างที่พระราชาทรงไสไป
ได้เปล่งเสียงโกญจนาทอันกึกก้อง ได้ถอยหลังคุกเข่าลง
เหมือนไม่สามารถจะนำภาระอันหนักไปได้
[๗๖] พราหมณ์ปุโรหิตภารทวาชะชาวกาลิงคะรู้ว่า
พระคชาธารสิ้นชีพเสียแล้วจึงได้รีบกราบทูลพระเจ้ากาลิงคะว่า
ขอพระองค์เสด็จประทับพระคชาธารเชือกอื่นเถิด
พระคชาธารเชือกนี้สิ้นชีพแล้ว พระเจ้าข้า
[๗๗] พระเจ้ากาลิงคะครั้นได้สดับคำนั้นแล้ว
รีบประทับพระคชาธารเชือกอื่น
เมื่อพระราชาเสด็จประทับแล้ว
พระคชาธารก็ล้มลงบนแผ่นดิน ณ ที่นั้นเอง
เป็นอันว่า คำของปุโรหิตผู้ถวายพยากรณ์
ได้เป็นจริงตามที่ช้างปรากฏแล้ว
[๗๘] พระเจ้ากาลิงคะได้ตรัส
กับพราหมณ์ปุโรหิตกาลิงคะดังนี้ว่า
ท่านนั่นแหละเป็นสัมพุทธะ สัพพัญญูรู้เห็นเหตุทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
[๗๙] กาลิงคพราหมณ์ผู้ไม่ยอมรับคำชมเชยนั้นได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
ความจริง ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นนักพยากรณ์
ส่วนพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นสัพพัญญู พระพุทธเจ้าข้า
[๘๐] ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นสัพพัญญู
และทรงรู้ทุกอย่าง หาทรงทราบด้วยสูตรไม่
ส่วนข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ได้ด้วยกำลังวิชาอาคม
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรู้ชัดทุกสิ่งทุกอย่าง
[๘๑] ลำดับนั้น พระราชาทรงนำระเบียบดอกไม้
และเครื่องลูบไล้ไปบูชา ฉลองต้นโพธิ
ด้วยดนตรีต่าง ๆ ที่รับสั่งให้ประโคมแล้วเสด็จกลับ
[๘๒] พระเจ้ากาลิงคะทรงรับสั่งให้เก็บดอกไม้หกหมื่นเล่มเกวียน
บูชาโพธิมณฑลสถานอันยอดเยี่ยมทุกวัน ดังนี้แล
กาลิงคโพธิชาดกที่ ๖ จบ

๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
ว่าด้วยอกิตติดาบส
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนี้ว่า)
[๘๓] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทอดพระเนตรเห็น
อกิตติดาบสเข้าฌานอยู่ จึงตรัสถามว่า
ท่านมหาพราหมณ์ พระคุณเจ้าปรารถนาอะไรหรือ
จึงเข้าฌานอยู่องค์เดียวในเวลาอากาศอบอ้าว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๘๔] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ การเกิดอีก ๑
การที่สรีระแตกทำลาย ๑ การหลงลืมสติตาย ๑ เป็นทุกข์
เพราะเหตุนั้น ท้าววาสวะ อาตมาจึงเข้าฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
(ท้าวสักกะถวายพรว่า)
[๘๕] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะรับพร จึงกราบทูลว่า)
[๘๖] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
นรชนทั้งหลายได้บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวเปลือก
และสิ่งของอันเป็นที่รักแล้วยังไม่อิ่ม เพราะความโลภอันใด
ความโลภอันนั้นขออย่าได้มีอยู่ในอาตมาเลย
(ท้าวสักกะประทานพรให้ยิ่งขึ้นไปว่า)
[๘๗] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์เมื่อจะรับพร จึงกราบทูลว่า)
[๘๘] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
นา สวน เงิน โค ม้า และคนผู้เป็นทาสย่อมเสื่อมสิ้นไป
เพราะโทสะที่เกิดแล้วอันใด
โทสะอันนั้นขออย่าได้มีอยู่ในอาตมาเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘๙] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๗. อกิตติชาดก (๔๘๐)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๐] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาไม่พึงพบเห็นคนพาล ไม่พึงได้ยิน
ไม่พึงอยู่ร่วมกับคนพาล ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัย
และไม่พึงพอใจการเจรจาปราศรัยกับคนพาลเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๑] พระคุณเจ้ากัสสปะ คนพาลได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงไม่ต้องการพบเห็นคนพาล
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๒] คนพาลมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ
ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
การแนะนำชั่วเป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็โกรธ คนพาลนั้นไม่รู้วินัย
การไม่พบเห็นเขาเสียได้เป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๓] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๔] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอให้อาตมาพึงได้พบ พึงได้ยิน พึงได้อยู่ร่วมกับนักปราชญ์
พึงได้เจรจาปราศรัยและพอใจการเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๕] พระคุณเจ้ากัสสปะ นักปราชญ์ได้ทำอะไรแก่พระคุณเจ้าหรือ
ขอจงบอกเหตุ เพราะเหตุไร
พระคุณเจ้าจึงต้องการพบเห็นนักปราชญ์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๖] นักปราชญ์ผู้มีปัญญาย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ
ไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นสิ่งประเสริฐของเขา
เขาถูกว่ากล่าวโดยชอบก็ไม่โกรธ
นักปราชญ์นั้นรู้วินัย การสมาคมกับท่านเป็นการดี
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๗] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๙๘] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
เมื่อราตรีนั้นสิ้นไป ในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
ขอภักษาอันเป็นทิพย์และยาจกผู้มีศีลพึงปรากฏ
[๙๙] ขอถวายพระพร เมื่ออาตมาให้อยู่ ขอภักษาอย่าพึงหมดสิ้นไป
ครั้นให้แล้ว ขออาตมาอย่าพึงเดือดร้อนในภายหลัง
ขณะกำลังให้ ก็พึงทำจิตให้เลื่อมใส
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๐] พระคุณเจ้ากัสสปะ เพราะถ้อยคำที่พระคุณเจ้าเจรจานั้น
ไพเราะ เหมาะสม เป็นสุภาษิต
โยมขอถวายพรแก่พระคุณเจ้าตามที่ใจของท่านปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๑] ขอถวายพระพรท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่แห่งภูตทั้งปวง
หากมหาบพิตรจะประทานพรแก่อาตมา
ขอมหาบพิตรอย่าเสด็จมาหาอาตมาอีกเลย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๒] นรชนชายหญิงทั้งหลายหวังอย่างยิ่งที่จะพบโยม
ด้วยการบำเพ็ญจริยาวัตรเป็นอันมาก
ในการเห็นโยมน่ากลัวนักหรือ
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๐๓] มหาบพิตรผู้มีวรรณะเหมือนวรรณะแห่งเทพ
บันดาลความใคร่ทั้งปวงให้สำเร็จได้เช่นนั้น
อาตมาพบเห็นแล้ว พึงประมาทการบำเพ็ญตบะ
สิ่งนั้นจึงเป็นภัยแก่อาตมาเพราะการพบเห็นมหาบพิตร
อกิตติชาดกที่ ๗ จบ

๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
ว่าด้วยตักการิยมาณพเตือนอาจารย์
(ปุโรหิตผู้เป็นอาจารย์สนทนากับพระโพธิสัตว์ผู้เป็นศิษย์ว่า)
[๑๐๔] พ่อตักการิยะ ฉันนั่นแหละเป็นคนโง่ พูดคำชั่ว
เหมือนกบที่อยู่ในป่าเรียกหางูมากินตัวเอง
จะต้องตกไปยังหลุมนี้ การพูดเกินขอบเขตไม่ดีเลย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๕] คนผู้พูดเกินขอบเขตย่อมประสบการจองจำ
การถูกฆ่า และความโศกเศร้า คร่ำครวญ
ท่านอาจารย์ ท่านควรตำหนิตนเอง
ตามเหตุที่คนทั้งหลายจะฝังท่านลงในหลุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(ลูกชายเศรษฐีกล่าวว่า)
[๑๐๖] เราไปถามตุณฑิละทำไม
นางกาฬีนี้ซิ ควรทำกับน้องชายหล่อนเอง
เราถูกแย่งเสื้อผ้า และกลายเป็นชีเปลือยไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระโพธิสัตว์แสดงเหตุอื่นอีกว่า)
[๑๐๗] นกกุลิงคะตัวเองไม่ได้ต่อสู้กับใครเลย
แต่ไปบินอยู่ระหว่างแกะที่กำลังขวิดกัน
จึงถูกหัวแกะทั้ง ๒ บดขยี้ท่ามกลางอากาศนั้น
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[๑๐๘] คน ๔ คนเมื่อจะช่วยเหลือคนเพียงคนเดียวจึงพากันจับชายผ้า
พวกเขาทั้งหมด ๔ คนจึงพากันศีรษะแตกนอนตายไป
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
[๑๐๙] อุปมาเหมือนแม่แพะที่เขาผูกมัดไว้ที่พุ่มกอไผ่
คึกคะนอง ดีดเท้าไปกระทบมีดดาบ
จึงถูกเขาใช้มีดดาบเล่มนั้นเชือดคอของมัน
แม้เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องของท่านอาจารย์มาก
(พระราชาทรงกริ้วต่อนายพราน จึงตรัสว่า)
[๑๑๐] กินนรเหล่านี้มิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์เทพบุตร
เป็นสัตว์พวกเนื้อ ตกอยู่ในอำนาจของเรา
พวกเจ้าจงย่างมันตัวหนึ่งในเวลาอาหารมื้อเย็น
อีกตัวหนึ่งจงย่างมันในเวลาอาหารมื้อเช้าต่อไป
(กินนรีรู้ว่าพระราชาทรงกริ้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๑๑] คำทุพภาษิตนับแสนคำก็ไม่ถึงแม้เสี้ยวหนึ่งแห่งคำสุภาษิต
กินนรรังเกียจคำทุพภาษิตจึงเศร้าหมอง
เพราะเหตุนั้น พวกกินนรจึงนิ่งเฉย มิใช่เพราะความโง่เขลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๘. ตักการิยชาดก (๔๘๑)
(พระราชาทรงยินดีแล้วตรัสว่า)
[๑๑๒] กินนรตัวนี้พูดกับเราแล้ว พวกเจ้าจงปล่อยมันไป
และจงนำมันไปยังภูเขาหิมพานต์
ส่วนตัวนี้ เจ้าจงให้ไว้ที่ห้องครัวใหญ่
และย่างมันในเวลาอาหารมื้อเช้าแต่เช้าตรู่
(กินนรได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า)
[๑๑๓] ปศุสัตว์ทั้งหลายมีเมฆฝนเป็นที่พึ่ง
ประชาชนนี้มีปศุสัตว์เป็นที่พึ่ง
ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นที่พึ่งของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นที่พึ่งของภรรยาของข้าพระองค์
ระหว่างข้าพระองค์ทั้ง ๒ ตัวหนึ่งรู้ว่าอีกตัวหนึ่งตายแล้ว
ตนพ้นความตายแล้วจึงจะบินไปสู่ภูเขา
[๑๑๔] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
คนจะพึงหลีกเว้นจากการนินทาได้โดยง่ายก็หาไม่
คนที่ควรคบหาก็มีฉันทะต่าง ๆ กัน
คนหนึ่งได้รับการยกย่องด้วยคุณธรรมข้อใด
คุณธรรมข้อนั้นแหละ คนอื่นกลับได้รับการนินทา
[๑๑๕] สัตวโลกทั้งหลายมีจิตทรามบ้าง ประณีตบ้าง
สัตวโลกทั้งปวงชื่อว่ามีความคิดก็เพราะจิตของตน
สัตว์ทุกตัวตนในโลกนี้ล้วนมีจิตเป็นของตนเอง
จึงไม่ควรยอมอยู่ในอำนาจแห่งจิตของใคร ๆ
(พระราชาทรงโสมนัสแล้วจึงตรัสว่า)
[๑๑๖] กินนรพร้อมทั้งภรรยาได้นิ่งอยู่
บัดนี้ กินนรตนใดกลัวภัยจึงพูด
กินนรตนนั้นพ้นภัยแล้ว มีความสุข ไม่มีโรค
นับว่า การพูดมีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายโดยแท้
ตักการิยชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
ว่าด้วยน้ำใจของพญาเนื้อรุรุ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๗] เราจะให้บ้านส่วยและเหล่านารีที่ประดับตบแต่งแล้วแก่คน
ผู้บอกกล่าวถึงพญาเนื้อตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายแก่เรา
(บุตรเศรษฐีกราบทูลว่า)
[๑๑๘] ขอพระองค์ประทานบ้านส่วยและเหล่านารี
ที่ประดับตบแต่งแล้วแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์จักกราบทูลถึงพญาเนื้อ
ตัวประเสริฐกว่าเนื้อทั้งหลายต่อพระองค์
(เมื่อจะบอกที่อยู่ของพญาเนื้อ จึงกราบทูลว่า)
[๑๑๙] ณ ไพรสณฑ์แห่งนั้น ต้นมะม่วงและต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่ง
ภูมิภาคปกคลุมไปด้วยติณชาติมีสีแดงเหมือนปีกแมลงค่อมทอง
พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า)
[๑๒๐] พระราชาทรงโก่งธนูสอดใส่ลูกศร เสด็จเข้าไปใกล้
ส่วนพญาเนื้อเห็นพระราชาแล้วจึงร้องกราบทูลแต่ไกลว่า
[๑๒๑] ทรงหยุดก่อน พระมหาราชผู้จอมทัพ
อย่าเพิ่งทรงยิงข้าพระองค์
ใครหนอกราบทูลเรื่องนี้แก่พระองค์ว่า
พญาเนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๒] เจ้าคนที่ประพฤติเลวทรามยืนอยู่ห่าง ๆ
นั่นเพื่อน ก็เขานั่นแหละได้บอกเรื่องนี้แก่เราว่า
เนื้อตัวนั้นอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๙. รุรุมิคราชชาดก (๔๘๒)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๓] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้
ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า
ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๒๔] นี่พญาเนื้อรุรุ เจ้าติเตียนหมู่เนื้อ
หรือหมู่นก ก็หรือติเตียนหมู่มนุษย์
เพราะภัยอันใหญ่หลวงจะมาต้องเรา
เพราะได้ฟังเจ้าพูดภาษามนุษย์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๕] ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้ช่วยผู้ใด
ซึ่งถูกน้ำพัดมาในห้วงน้ำที่มีน้ำมาก มีกระแสเชี่ยวกรากขึ้นมา
ภัยมาถึงข้าพระองค์เพราะผู้นั้นเป็นเหตุ
การสมาคมกับคนชั่วเป็นทุกข์
(พระราชาทรงกริ้วบุตรเศรษฐี จึงตรัสว่า)
[๑๒๖] เรานั้นจะปล่อยลูกศร ๔ ปีกดอกนี้
แหวกอากาศไปเจาะร่างเสียบตรงหัวใจ
เราจะฆ่ามันผู้ประทุษร้ายมิตร ทำกิจที่ไม่ควรทำ
ซึ่งไม่รู้จักคนผู้ทำคุณไว้เช่นนั้น
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๒๗] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ผู้ทรงพระปรีชา
การฆ่าคนชั่วนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่สรรเสริญ
ขอคนผู้มีธรรมชั่วช้าจงกลับไปบ้านได้ตามความปรารถนา
และขอพระองค์ทรงพระราชทาน
สิ่งที่พระองค์ตรัสพระราชทานไว้แก่เขาเถิด
และข้าพระองค์จะกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[๑๒๘] พญาเนื้อรุรุ เจ้าไม่ประทุษร้ายต่อคนผู้ประทุษร้าย
แถมยังปล่อยให้คนชั่วช้ากลับไปบ้านได้ตามสบาย
นับว่าเป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลายแน่นอน
เราจะให้สิ่งที่ได้พูดว่าจะให้แก่เขา
และจะให้เจ้าเที่ยวไปตามความพอใจด้วย
(ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะลองหยั่งพระทัยพระราชา จึงได้กราบทูลว่า)
[๑๒๙] ขอเดชะพระราชา เสียงเหล่าสุนัขจิ้งจอกเห่าหอนก็ดี
เสียงเหล่านกร้องขันก็ดี รู้ได้ง่าย
ส่วนถ้อยคำที่พวกมนุษย์เปล่งออกมา รู้ได้ยากกว่านั้น
[๑๓๐] คนบางคนเบื้องต้นเป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่า
เป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนอย่างนี้บ้าง
ภายหลังกลายเป็นศัตรูไปก็มี
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[๑๓๑] พวกชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกัน
ร้องทุกข์ว่า พวกเนื้อพากันมากินข้าวกล้า
ขอพระองค์ผู้สมมติเทพจงทรงห้ามหมู่เนื้อนั้น
(พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๓๒] ชนบทจงอย่ามีและแม้แว่นแคว้นจงพินาศไปก็ตามที
ส่วนเราให้อภัยทานแล้ว
จะไม่ประทุษร้ายพญาเนื้อรุรุอย่างเด็ดขาด
[๑๓๓] ชนบทของเราจงอย่ามีและแว่นแคว้นของเราจงพินาศไป
ส่วนเราให้พรแก่พญาเนื้อแล้วจะไม่พูดมุสาเด็ดขาด
รุรุมิคราชชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
ว่าด้วยละมั่งทำคุณแก่พระราชา
(พระเจ้าพรหมทัตมีพระทัยเปี่ยมด้วยปีติ ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๓๔] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างใดก็ได้อย่างนั้น
[๑๓๕] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[๑๓๖] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น
[๑๓๗] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
[๑๓๘] คนมีปัญญาแม้จะตกอยู่ในความทุกข์
ก็ไม่ควรสิ้นความหวัง เพื่อจะบรรลุถึงความสุข
เพราะว่าสัมผัส๑มีอยู่มากมาย ทั้งที่ไม่มีประโยชน์และมีประโยชน์
ถึงจะไม่นึกคิดก็ต้องถึงความตาย
[๑๓๙] สิ่งที่ไม่ได้คิดแล้วเป็นไปได้ก็มี
สิ่งที่คิดแล้วพินาศไปก็มี ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย
โภคะทั้งหลายสำเร็จได้เพราะความคิดไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
๑ สัมผัส คือ สิ่งที่กระทบถูกต้อง ผัสสะที่เป็นทุกข์ ถูกเข้าแล้วถึงตายก็มี ผัสสะที่เป็นสุข ถูกเข้าแล้ว
ทำให้มีชีวิตก็มี (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๓๘/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(พราหมณ์ปุโรหิตถวายพระพรชัยแล้ว ได้กราบทูลว่า)
[๑๔๐] ละมั่งตัวใด พระองค์ติดตามไปจนถึงซอกเขา ในตอนแรก
เพราะอาศัยความบากบั่นของละมั่งตัวนั้นซึ่งมีจิตไม่ย่อท้อ
พระองค์จึงยังทรงพระชนม์อยู่ได้
[๑๔๑] ละมั่งตัวใด พยายามใช้ก้อนหินถม
ช่วยพระองค์ขึ้นมาจากเหวที่ขึ้นได้แสนยาก
และปลดเปลื้องพระองค์ผู้ทรงระทมทุกข์จากปากพญามัจจุราช
พระองค์คงจะทรงรับสั่งถึงละมั่งตัวมีจิตไม่ย่อท้อตัวนั้นแหละ
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๒] เวลานั้น ท่านได้อยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกันหรือ
หรือว่าใครบอกเรื่องนั้นแก่ท่าน
ท่านเห็นทุกอย่างหรือ จึงเปิดเผยเรื่องนั้นได้
ญาณของท่านมีกำลังมากจริงนะพราหมณ์
(พราหมณ์ปุโรหิตเมื่อจะชี้แจง จึงกราบทูลว่า)
[๑๔๓] เวลานั้น ข้าพระองค์ได้อยู่ที่นั้นด้วยก็หาไม่
และแม้ใครจะบอกเรื่องนั้น ๆ แก่ข้าพระองค์ก็หาไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ปราชญ์ทั้งหลาย
ประมวลเนื้อความแห่งบทคาถาสุภาษิตนั้นมา
(ต่อมาท้าวสักกะทรงสิงในสรีระของพราหมณ์ปุโรหิตแล้วได้ตรัสกับพระราชาว่า)
[๑๔๔] พระองค์ทรงสอดลูกศรมีปีก
ซึ่งจะฆ่าได้ด้วยความเพียรของผู้อื่นไว้ที่แล่งแล้ว
ทำไมยังทรงลังเลอยู่เล่า
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระปัญญาอันประเสริฐ
ขอลูกศรที่แล่นออกจากแล่งไปจงฆ่าละมั่งโดยเร็วเถิด
เพราะว่าเนื้อละมั่งนั่นเป็นภักษาของพระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๓. เตรสกนิบาต] ๑๐. สรภมิคชาดก (๔๘๓)
(ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๕] ข้อนั้น ถึงเราจะรู้อย่างชัดแจ้งว่า
เนื้อเป็นพระกระยาหารของกษัตริย์ก็จริง
พราหมณ์ แต่เราเมื่อจะอ่อนน้อมบูชาคุณ
ที่ละมั่งตัวนี้ได้ทำไว้แก่เราในกาลก่อน
เพราะเหตุนั้น จึงไม่ฆ่าเนื้อละมั่ง
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๔๖] พระมหาราชผู้เป็นใหญ่ในทิศ นั่นไม่ใช่เนื้อ
นั่นคือท้าวสักกะผู้ยิ่งใหญ่กว่าอสูร
พระองค์ผู้จอมมนุษย์
ขอพระองค์ทรงประหารท้าวสักกะนั่น
แล้วเป็นจอมเทพเสียเอง
[๑๔๗] ขอเดชะพระมหาราช ผู้ประเสริฐกว่าคนผู้กล้าหาญ
ถ้าพระองค์ยังทรงลังเลที่จะฆ่าเนื้อละมั่งผู้สหายอยู่
พระองค์พร้อมทั้งพระโอรส พระธิดา และพระมเหสี
จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายม
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๔๘] เราและชาวชนบทก็ดี
ลูกเมียและหมู่สหายก็ดี
จะต้องตกเวตตรณีนรกของพญายมก็ตามที
เราไม่ควรจะฆ่าผู้ที่ให้ชีวิตแก่เราเลย
[๑๔๙] เนื้อตัวนี้ทำคุณแก่เราผู้กำลังตกยากอยู่คนเดียว
ในป่าเปลี่ยวอันแสนทารุณ
เราเมื่อระลึกถึงบุพการีที่เนื้อตัวนี้ได้กระทำไว้เช่นนั้น
ทั้งที่รู้อยู่จะพึงฆ่าลงได้อย่างไร ท่านมหาพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงประกาศคุณของพระราชาว่า)
[๑๕๐] พระองค์ทรงโปรดปรานผู้เป็นมิตร
ขอทรงมีพระชนม์ชีพยืนนานเถิด
ขอทรงดำรงอยู่ในคุณธรรมปกครองรัฐสีมานี้เถิด
พระองค์ผู้มีหมู่นารีบำเรออยู่
จงบันเทิงพระหฤทัยในแว่นแคว้น
ดังเช่นท้าววาสวะบันเทิงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๕๑] ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ
มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
ทรงต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งปวง
จงบำเพ็ญทานบ้าง เสวยเองบ้างตามอานุภาพ
จงอย่าทรงถูกชาวโลกนินทา เสด็จสู่แดนสวรรค์เถิด
สรภมิคชาดกที่ ๑๐ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. อัมพชาดก ๒. ผันทนชาดก
๓. ชวนหังสชาดก ๔. จูฬนารทกัสสปชาดก
๕. ทูตชาดก ๖. กาลิงคโพธิชาดก
๗. อกิตติชาดก ๘. ตักการิยชาดก
๙. รุรุมิคราชชาดก ๑๐. สรภมิคชาดก

เตรสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๒ }


๑๔. ปกิณณกนิบาต
๑. สาลิเกทารชาดก (๔๘๔)
ว่าด้วยนกแแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
(คนเฝ้านาถูกโกสิยพราหมณ์ถามแล้ว จึงได้กล่าวว่า)
[๑] ท่านโกสิยะ นาข้าวสาลีบริบูรณ์ดี
แต่พวกนกแขกเต้าพากันมาจิกกิน
ข้าพเจ้าขอบอกคืนนานะท่านพราหมณ์
เพราะไม่สามารถจะห้ามพวกมันได้
[๒] แต่บรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น
มีนกตัวหนึ่งสวยงามกว่านกเหล่านั้นทั้งหมด
กินข้าวสาลีตามความพอใจแล้วยังคาบบินไปอีก
(พราหมณ์ได้กล่าวกับคนเฝ้านาว่า)
[๓] เจ้าจงดักบ่วงหางสัตว์โดยวิธีที่นกนั้นจะติดบ่วง
จับเป็นแล้วนำมาให้เรา
(พญานกแขกเต้ารำพันอยู่ว่า)
[๔] นกทั้งหลายเหล่านั้นกิน ดื่มแล้วก็บินไป
ส่วนเราตัวเดียวติดบ่วงอยู่ เราได้ทำความชั่วอะไรไว้หนอ
(พราหมณ์กล่าวกับพญานกแขกเต้านั้นว่า)
[๕] นกตัวอื่นกินเฉพาะท้องเท่านั้น แต่เจ้ากินเกินท้อง
เจ้ากินข้าวสาลีตามความพอใจแล้วยังคาบบินไปอีก
[๖] ฉางที่ป่าไม้งิ้วนั้นเจ้าบรรจุไว้จนเต็มหรือ
หรือเจ้ามีเวรกับเรา เราถามแล้ว จงบอกเถิด
เพื่อน เจ้าเก็บข้าวสาลีไว้ที่ไหน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๗] ข้าพเจ้ามิได้มีเวรกับท่าน ฉางของข้าพเจ้าก็ไม่มี
ข้าพเจ้าไปถึงยอดไม้งิ้วก็ชำระหนี้ และให้กู้ยืมหนี้
ทั้งยังฝังแม้ขุมทรัพย์ไว้ที่ยอดไม้งิ้วนั้นด้วย
ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด ท่านโกสิยะ
(พราหมณ์ถามพญานกแขกเต้าว่า)
[๘] การให้กู้ยืมหนี้และการชำระหนี้ของเจ้าเป็นเช่นไร
เจ้าจงบอกถึงการฝังขุมทรัพย์มาซิ
เมื่อเจ้าทำดังนั้น เจ้าก็จะพ้นจากบ่วง
(พญานกแขกเต้าเมื่อตอบว่า)
[๙] ท่านโกสิยะ ข้าพเจ้ามีลูกอ่อนตัวเล็ก ๆ ขนปีกยังไม่งอก
ลูกนกเล็ก ๆ เหล่านั้น ข้าพเจ้าได้เลี้ยงแล้ว จักเลี้ยงข้าพเจ้า
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงให้พวกเขากู้ยืมหนี้
[๑๐] พ่อแม่ของข้าพเจ้าแก่เฒ่า ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว
ข้าพเจ้าคาบรวงข้าวสาลีไปเพื่อท่านทั้ง ๒ นั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงชำระหนี้ที่ท่านได้ให้กู้ยืมไว้ในกาลก่อน
[๑๑] ที่ป่าไม้งิ้วนั้น ยังมีนกอื่น ๆ อีก
ที่ทุพพลภาพ มีขนปีกหมดสิ้นแล้ว
ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงให้รวงข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์
[๑๒] การให้กู้ยืมหนี้และการชำระหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้
ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมทรัพย์แก่ท่าน
ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด ท่านโกสิยะ
(พราหมณ์ฟังแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓] ปักษีนี้ดีหนอ เป็นนกแต่มีธรรมอย่างยอดเยี่ยม
ในพวกมนุษย์บางเหล่าไม่มีธรรมนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
[๑๔] เจ้าพร้อมกับพวกญาติทั้งหมด
จงกินข้าวสาลีตามความพอใจเถิด
เจ้านกแขกเต้า เราคงได้พบกันอีก เรายินดีที่จะพบเจ้า
(พญานกแขกเต้าให้โอวาทว่า)
[๑๕] ข้าพเจ้าได้กินและดื่มในที่อยู่ของท่าน
แต่ในเพื่อนบ้านของท่านไม่น่ายินดีนัก
ท่านโกสิยะ ขอท่านจงให้อภัยทานในเหล่าสัตว์ผู้วางอาชญาแล้ว
และจงเลี้ยงดูบิดามารดาผู้แก่เฒ่าเถิด
(พราหมณ์มีใจยินดีเปล่งอุทานว่า)
[๑๖] วันนี้ โชคได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
ที่เห็นนกตัวประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
เราได้ฟังวาจาสุภาษิตของนกแขกเต้าแล้ว จักทำบุญให้มาก
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศความนั้นจึงตรัสว่า)
[๑๗] โกสิยพราหมณ์นั้นมีความยินดีเบิกบานใจ
จัดแจงข้าวและน้ำ มีจิตผ่องใส
เลี้ยงดูสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
สาลิเกทารชาดกที่ ๑ จบ

๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
ว่าด้วยนางจันทกินนรี
(กินนรประสบเวทนาคร่ำครวญอยู่ ได้กล่าวว่า)
[๑๘] น้องจันทา ชีวิตของพี่นี้เห็นจวนจะดับเสียแล้ว
เพราะเสียเลือดไปมาก วันนี้ พี่คงจะสละชีวิตเป็นแน่
น้องจันทา ลมปราณของพี่กำลังจะดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
[๑๙] ชีวิตของพี่มีแต่จะจมลง ทุกข์เผาผลาญดวงใจพี่
พี่แสนลำบาก นี้เป็นทุกข์ของพี่
เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
[๒๐] พี่เหี่ยวแห้งเหมือนต้นหญ้าที่ถูกทิ้งไว้บนแผ่นหินที่ร้อนจัด
เหมือนป่าไม้ที่ถูกตัดราก ทั้งยังซูบซีดเหมือนแม่น้ำที่เหือดแห้ง
นี้เป็นทุกข์ของเรา เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
[๒๑] น้ำตาเหล่านี้ของพี่หลั่งไหลไปเหมือนฝนตกที่เชิงเขาหลั่งไหลไป
นี้เป็นทุกข์ของพี่ เพราะเศร้าโศกถึงเจ้าจันทาผู้กำลังเศร้าโศก
มิใช่เพราะความเศร้าโศกอย่างอื่น
(นางจันทกินนรีบริภาษพระราชาว่า)
[๒๒] ท่านราชบุตร พระองค์ชั่วจริง ๆ
ที่ทรงยิงสามีที่รักของหม่อนฉันผู้น่าสงสารที่โคนไม้ในป่า
สามีของหม่อมฉันนั้นถูกยิงนอนอยู่บนแผ่นดิน
[๒๓] ท่านราชบุตร ขอพระมารดาของพระองค์
จงได้รับความเหือดแห้งพระหฤทัย
เหมือนหม่อมฉันผู้รอคอยสามีกินนร
[๒๔] ท่านราชบุตร ขอพระชายาของพระองค์
จงได้รับความเหือดแห้งพระหฤทัย
เหมือนหม่อมฉันผู้รอคอยสามีกินนร
[๒๕] ท่านราชบุตร ขอพระมารดาของพระองค์
ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะต้องการหม่อมฉัน
จงอย่าทรงพบเห็นพระราชโอรสและพระราชสวามีเลย
[๒๖] ท่านราชบุตร ขอพระชายาของพระองค์
ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย เพราะต้องการหม่อมฉัน
จงอย่าทรงพบเห็นพระราชโอรสและพระราชสวามีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๒. จันทกินนรีชาดก (๔๘๕)
(พระราชาทรงปลอบโยนนางจันทกินนรีนั้นว่า)
[๒๗] แม่จันทา ผู้มีนัยน์ตาเหมือนดอกราตรีในป่า
เจ้าอย่าร้องไห้เศร้าโศกไปเลย
เจ้าจักได้เป็นพระมเหสีของเราที่เหล่านารีบูชาในราชสกุล
(นางจันทกินนรีกราบทูลว่า)
[๒๘] ท่านราชบุตร หม่อมฉันขอยอมตาย
ไม่ขอเป็นพระมเหสีของพระองค์ผู้ทรงสังหารกินนรผู้ไม่ประทุษร้าย
เพราะต้องการหม่อมฉันแน่นอน
(พระราชาหมดความรักใคร่ จึงตรัสว่า)
[๒๙] แม่กินนรีขี้ขลาด ผู้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่
เจ้าจงไปยังป่าหิมพานต์ หากฤษณาและกะลำพักบริโภคเถิด
มฤคชาติเหล่าอื่นจะอภิรมย์กับเจ้า
(นางจันทกินนรีคร่ำครวญอย่างหนักว่า)
[๓๐] ภูเขา ซอกเขา และถ้ำแห่งภูเขาเหล่านั้นยังตั้งอยู่เหมือนเดิม
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
เราได้ร่วมอภิรมย์กันที่ภูเขาเหล่าใด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๑] ภูเขาเหล่านั้นเกลื่อนกลาดไปด้วยใบไม้
น่ารื่นรมย์ มีเนื้อร้ายสัญจรไปมา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๒] ภูเขาเหล่านั้นดารดาษไปด้วยดอกไม้
น่ารื่นรมย์ มีเนื้อร้ายสัญจรไปมา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๓] แม่น้ำแห่งป่าเขามีกระแสน้ำเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้
มีสายธารอันใสไหลเอื่อยอยู่
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่แม่น้ำนั้นจะทำอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
[๓๔] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีเขียวชอุ่ม น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๕] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีเหลืองอร่าม น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๖] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลายมีสีแดง น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๗] ภูเขาหิมพานต์ สูงตระหง่าน น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๘] ยอดภูเขาหิมพานต์ทั้งหลาย มีสีขาวโพลน น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๓๙] ยอดภูเขาหิมพานต์ งามวิจิตร น่าทัศนา
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ยอดภูเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร
[๔๐] ที่ภูเขาคันธมาทน์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่เทพเจ้า
ปกคลุมไปด้วยโอสถนานาชนิด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขานั้นจะทำอย่างไร
[๔๑] ที่ภูเขาคันธมาทน์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่กินนรกินนรี
ปกคลุมไปด้วยโอสถนานาชนิด
พ่อกินนร เราเมื่อไม่เห็นท่านที่ภูเขานั้นจะทำอย่างไร
(นางจันทกินนรีเห็นสามีที่รักหายโรคก็ดีใจ ไหว้ท้าวสักกะแล้วกล่าวว่า)
[๔๒] ข้าแต่เจ้าปู่ผู้ประเสริฐ ดิฉันได้อยู่ร่วมกับสามีผู้เป็นที่รักยิ่ง
จึงขอกราบเท้าทั้ง ๒ ของท่าน
ผู้ซึ่งได้ใช้น้ำอมฤตรดสามีดิฉันผู้น่ารักน่าปรารถนา
[๔๓] บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้ง ๒ จะเที่ยวไปยังแม้น้ำแห่งป่าเขา
อันมีกระแสน้ำเกลื่อนกล่นไปด้วยดอกไม้ อาศัยอยู่ตามต้นไม้ต่าง ๆ
เจรจาแต่คำอันเป็นที่รักต่อกันและกัน
จันทกินนรีชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
ว่าด้วยพญานกออกช่วยเพื่อน
(แม่เหยี่ยวพูดกับพญาเหยี่ยวว่า)
[๔๔] พวกชาวชนบทพากันมัดคบเพลิงอยู่บนเกาะ
ประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของเรา
พี่พญาเหยี่ยว ขอท่านจงไปบอกมิตรสหาย
เล่าถึงความพินาศแห่งหมู่ญาติของนกทั้งหลาย
(เหยี่ยวนั้นถูกถามจึงแสดงเหตุที่ต้องมาว่า)
[๔๕] ข้าแต่พญานกออก๑ ราชปักษี
ท่านนะเป็นนกที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง
พวกนายพรานชาวชนบทประสงค์จะกินลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(พญานกออกตอบเหยี่ยวว่า)
[๔๖] บัณฑิตทั้งหลายผู้แสวงหาความสุขอยู่
ย่อมคบมิตรสหายทั้งในกาลและมิใช่กาล
เจ้าเหยี่ยว เราจะทำตามความประสงค์ของเจ้านั้น
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(เหยี่ยวฟังดังนั้นแล้วเข้าไปหาพญานกออกพลางเชื้อเชิญว่า)
[๔๗] กิจอันใดเป็นกิจที่คนดีจะพึงกระทำให้คนดี
ด้วยความอนุเคราะห์กิจอันนี้ท่านก็ได้ทำแล้ว
ท่านจงถนอมตัวไว้เถิด อย่าได้เดือดร้อนไปเลย
เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าก็จะได้ลูกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ พญานกออก หมายถึงชื่อนกเหยี่ยวขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ชอบหากินปลาในทะเล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
(พญานกออกบันลือสีหนาทว่า)
[๔๘] เราเมื่อจะกระทำการรักษาป้องกันท่านนั้น
แม้ตัวจะตายก็ไม่หวาดหวั่น
เพราะเพื่อนทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องสละชีวิต
กระทำเพื่อเพื่อนทั้งหลาย
นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ
(พระศาสดาทรงสรรเสริญคุณของพญานกออกนั้นว่า)
[๔๙] พญานกออกตัวนี้เกิดจากฟองไข่ ได้ทำกรรมที่ทำได้ยาก
เพื่อต้องการจะช่วยลูกนกทั้งหลายเกือบเที่ยงคืน
(ฝ่ายเหยี่ยวไปหาเต่าแล้วกล่าวว่า)
[๕๐] จริงอยู่ คนบางพวกแม้จะเคลื่อนคลาดพลาดพลั้ง
จากการงานของตน ก็ยังดำรงตนอยู่ได้
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
ลูก ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านพญาเต่า
ขอท่านบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
(เต่าฟังแล้วกล่าวว่า)
[๕๑] บัณฑิตทั้งหลายย่อมทำการผูกมิตรผูกสหาย
ด้วยทรัพย์บ้าง ด้วยข้าวเปลือกบ้าง ด้วยตนบ้าง
พญาเหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เพราะว่าคนดีจะต้องช่วยเหลือคนดี
(ลูกเต่านอนอยู่ไม่ไกลได้ยินบิดาพูด จึงกล่าวว่า)
[๕๒] คุณพ่อ ขอพ่อจงขวนขวายน้อยนั่งอยู่เฉย ๆ เถิด
ลูกจะช่วยบำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อ
ลูกจะป้องกันลูกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
บำเพ็ญประโยชน์นั้นแทนพ่อเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๓. มหาอุกกุสชาดก (๔๘๖)
(พ่อเต่ากล่าวกับลูกว่า)
[๕๓] ลูกรัก จริงอยู่ การที่ลูกพึงช่วยเหลือ
บำเพ็ญประโยชน์แทนพ่อนั้น
เป็นธรรมของสัตบุรุษโดยแท้
บางทีพวกนายพรานเห็นพ่อซึ่งมีร่างกายใหญ่โต
ก็จะไม่พึงเบียดเบียนลูกนกน้อย ๆ ของพญาเหยี่ยว
(เหยี่ยวไปหาราชสีห์เมื่อถูกถาม จึงกล่าวว่า)
[๕๔] ท่านผู้ประเสริฐกว่าเนื้อผู้กล้าหาญ
สัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เดือดร้อน
เพราะภยันตรายย่อมเข้าไปหาท่านผู้ประเสริฐ
ลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้ามีความเดือดร้อน
ข้าพเจ้าจึงมาหาท่านให้เป็นที่พึ่ง ท่านเป็นราชาของข้าพเจ้า
เพื่อความสุขของข้าพเจ้า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด
(ราชสีห์ฟังแล้วกล่าวว่า)
[๕๕] เหยี่ยว เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ท่าน
เรามาก็เพื่อจะฆ่าหมู่ศัตรูของท่าน
ธรรมดาวิญญูชนผู้มีความสามารถรู้อยู่
จะไม่พยายามคุ้มครองมิตรผู้เสมอด้วยตนได้อย่างไร
(แม่เหยี่ยวประกาศมิตตธรรมว่า)
[๕๖] เพื่อบรรลุถึงความสุข บุคคลควรคบมิตรสหายผู้มีใจดี
และบุคคลผู้เป็นเจ้านาย
เราทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกับลูก ๆ บันเทิงใจอยู่
เหมือนคนสวมเกราะป้องกันลูกศร
[๕๗] ลูกนกน้อย ๆ ส่งเสียงคูขันอยู่อย่างไพเราะจับใจ
ต้อนรับเราและท่านผู้กำลังคูขัน
เพราะการกระทำของมิตรสหายผู้ไม่หนีไปของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
[๕๘] บัณฑิตนั้นได้มิตรสหายแล้วย่อมป้องกันลูก
ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ไว้ได้
ข้าพเจ้า ลูก ๆ และสามีของข้าพเจ้อยู่พร้อมหน้ากัน
เพราะความช่วยเหลือของมิตรทั้งหลาย
[๕๙] อันบุคคลผู้มีเจ้านายและเพื่อนผู้กล้าหาญอาจจะได้รับประโยชน์
สำหรับผู้ที่มีเพื่อนพรั่งพร้อมก็จะมีเพื่อนร่วมงานเช่นนี้
เขาก็จะมีมิตร มียศ มีความรุ่งเรือง บันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ นะพี่ที่รัก
[๖๐] พี่เสนกะ ควรจะผูกมิตรแม้กับคนยากจน ดูเถิด
พวกเรามาพร้อมเพรียงกับหมู่ญาติได้เพราะความช่วยเหลือของมิตร
[๖๑] นกตัวใดผูกมิตรไว้กับมิตรผู้กล้าหาญและมิตรผู้มีกำลัง
นกตัวนั้นย่อมมีความสุขเหมือนอย่างฉันและท่าน นะพี่เสนกะ
มหาอุกกุสชาดกที่ ๓ จบ

๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
ว่าด้วยอุททาลกดาบส
(พระราชาทรงสนทนากับปุโรหิตว่า)
[๖๒] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๖๓] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม๑ ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ จรณธรรม ในที่นี้ ได้แก่ สมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ. ๖/๖๓/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๔. อุททาลกชาดก (๔๘๗)
(อุททาลกดาบสกล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๖๔] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
(ปุโรหิตกล่าวว่า)
[๖๕] พระเวททั้งหลายจะไร้ผลก็หาไม่
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
เพราะบุคคลบรรลุพระเวททั้งหลายแล้วย่อมได้เกียรติ
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วด้วยจรณธรรมย่อมบรรลุความสงบ
(อุททาลกดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๖] มารดาบิดาและเผ่าพันธุ์ทั้งหลายที่บุคคลจะต้องเลี้ยงดู
บุตรเกิดแต่ผู้ใด เขาก็คือผู้นั้นนั่นเอง
อาตมาชื่อว่าอุททาลกะ เป็นวงศ์แห่งโสตถิยสกุลของท่าน
(พราหมณ์ถามถึงธรรมเนียมของพราหมณ์ว่า)
[๖๗] ท่านผู้เจริญ คนจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร
จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวได้อย่างไร
ปรินิพพานจะมีได้อย่างไร
และคนผู้ทรงธรรม บัณฑิตกล่าวเรียกว่าอย่างไร
(อุททาลกดาบสตอบว่า)
[๖๘] เพราะก่อไฟบูชาอยู่เนือง ๆ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์
บุคคลเมื่อรดน้ำบูชายัญและให้ยกเสาบูชายัญ
จึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์เต็มตัว
พราหมณ์ผู้บำเพ็ญอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้เกษม
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกว่าผู้ดำรงอยู่ในธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(ปุโรหิตตำหนิธรรมเนียมของพราหมณ์ว่า)
[๖๙] ความบริสุทธิ์ย่อมมีเพราะการรดน้ำก็หาไม่
แม้จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวก็หาไม่
ขันติและโสรัจจะก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น
แม้เขาชื่อว่าได้ปรินิพพานเพราะดับกิเลสก็หาไม่
(อุททาลกดาบสถามว่า)
[๗๐] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร
จะเป็นพราหมณ์เต็มตัวได้อย่างไร ปรินิพพานจะมีได้อย่างไร
และบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม บัณฑิตกล่าวเรียกว่าอย่างไร
(ปุโรหิตบอกว่า)
[๗๑] บุคคลผู้ไม่มีไร่นา ไม่มีเผ่าพันธุ์ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง หมดความโลภอันเป็นบาป
มีความโลภในภพหมดสิ้นแล้ว
ผู้บำเพ็ญอย่างนี้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ชื่อว่าผู้มีความเกษม
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(อุททาลกดาบสกล่าวว่า)
[๗๒] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็น
ยังจะมีคนดีและคนชั่วอีกไหมหนอ
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๗๓] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็นย่อมไม่มีทั้งคนดีและคนชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(อุททาลกดาบสติเตียนพราหมณ์ว่า)
[๗๔] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล
และคนเทขยะทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้สงบเสงี่ยม
ฝึกตนแล้ว ล้วนแต่ได้ปรินิพพานแล้ว
[๗๕] เมื่อทุกคนมีความสงบเยือกเย็น ย่อมไม่มีทั้งคนดีและคนชั่ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจะประพฤติให้เสียความเป็นพราหมณ์
วงศ์แห่งโสตถิยสกุลทำไม
(ปุโรหิตเปรียบเทียบให้เข้าใจว่า)
[๗๖] วิมานที่คลุมด้วยผ้าซึ่งย้อมด้วยสีต่าง ๆ
ผ้าเหล่านั้นมีแต่เงา สีที่ย้อมนั้นหาปรากฏไม่
[๗๗] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน เมื่อใดคนทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์
เป็นผู้มีวัตรดีเพราะรู้ทั่วถึงธรรม
เมื่อนั้นพวกเขาย่อมปล่อยวางชาติของตนเสียได้
อุททาลกชาดกที่ ๔ จบ

๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
ว่าด้วยท้าวสักกะลักเหง้าบัวเพื่อลองใจฤๅษี
(อุปกัญจนดาบสสาบานว่า)
[๗๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงได้ม้า โค เงิน ทอง และภรรยาที่น่าพอใจในโลกนี้
และจงเป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยบุตรภรรยามากหลาย
(ดาบสผู้น้องชายคนที่ ๒ เมื่อจะชำระตนให้หมดจด จึงสาบานว่า)
[๗๙] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงทัดทรงระเบียบดอกไม้ นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสี
ลูบไล้จุรณแก่นจันทน์ และเขาจงมีบุตรมาก ๆ
อนึ่ง จงทำความเยื่อใยอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(ดาบสน้องชายที่เหลือต่างกล่าวสาบานว่า)
[๘๐] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นกสิกร จงมีข้าวเปลือกมากมาย
เป็นคฤหัสถ์ จงมียศ มีบุตรมากหลาย
มีทรัพย์ มีวัตถุที่น่าใคร่ทั้งปวง
อย่าได้เห็นความเสื่อม อยู่ครองเรือนเถิด
[๘๑] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
เป็นพระราชายิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลาย
ทรงมีพลัง ประกอบด้วยพระอิสริยยศ
ทรงครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขตเถิด
[๘๒] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ จงอย่าได้คลายความยินดี(ในตำแหน่ง)
เชี่ยวชาญในคลองแห่งฤกษ์ยามและนักษัตร
เจ้าผู้ครองแคว้นผู้ทรงยศ จงบูชาเขาเถิด
[๘๓] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอชาวโลกทั้งปวงจงสำคัญผู้นั้นว่า
เป็นครูสอนเวทมนต์ทุกชนิด มีตบะ
ขอชาวชนบทจงมุ่งไปบูชาเขาพร้อม ๆ กัน
[๘๔] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเก็บกินบ้านส่วยที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ๑
เหมือนท้าววาสวะประทานให้
จงอย่าได้คลายความกำหนัดจนกระทั่งตาย

เชิงอรรถ :
๑ สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) ด้วยผู้คน เพราะมีผู้คนคับคั่ง (๒) ด้วยข้าวเปลือก เพราะมี
ข้าวเปลือกมากมาย (๓) ด้วยฟืนที่หาได้ง่าย (๔) ด้วยน้ำ เพราะมีน้ำสมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๔/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
[๘๕] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ใหญ่บ้าน
บันเทิงใจอยู่ด้วยการฟ้อนรำขับร้องในท่ามกลางหมู่สหาย
จงอย่าได้รับความพินาศอะไร ๆ จากพระราชาเลย
[๘๖] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอองค์เอกอัครราชาทรงปราบปรามศัตรูทั่วพื้นปฐพี
จงสถาปนาหญิงนั้นในตำแหน่งที่ยอดกว่าหญิงพัน ๆ คน
และประเสริฐกว่าหญิงภายในขอบขัณฑสีมา
[๘๗] ท่านพราหมณ์ หญิงใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอหญิงนั้นอย่าได้หวาดหวั่นท่ามกลางนางทาสีทั้งหลาย
ที่มาประชุมพร้อมกัน พึงบริโภคของอร่อย
จงประพฤติโอ้อวดเพราะลาภอยู่เถิด
[๘๘] ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอผู้นั้นจงเป็นผู้ปฏิบัติที่อยู่ในมหาวิหาร
จงเป็นนักก่อสร้างในกชังคลนคร จงกระทำหน้าต่างตลอดวัน๑
[๘๙] ท่านพราหมณ์ ช้างเชือกใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอช้างเชือกนั้นจงถูกคล้องด้วยบ่วงบาศตั้งร้อยที่อวัยวะ ๖ แห่ง๒
จงถูกนำออกจากป่าอันน่ารื่นรมย์ไปยังราชธานี
จงถูกขอสับ ถูกปฏักแทง
[๙๐] ท่านพราหมณ์ ลิงตัวใดได้ลักเหง้าบัวของท่านไป
ขอลิงตัวนั้นจงสวมใส่พวงดอกรักขาว
ถูกเจาะหู ห้อยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยเรียวไม้ เข้าไปใกล้ปากงู
จงถูกล่ามโซ่ตระเวนเที่ยวไปตามตรอกเถิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ทำตลอดวัน ในที่นี้หมายถึงทำให้เสร็จภายในวันเดียวเท่านั้น (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๘/๒๖๘)
๒ อวัยวะ ๖ แห่ง คือ เท้าทั้ง ๔ คอ และสะเอว (ขุ.ชา.อ. ๖/๘๙/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(พระโพธิสัตว์สาบานว่า)
[๙๑] ผู้ใดแลกล่าวถึงสิ่งที่ไม่หายว่าหาย
หรือว่าผู้ใดสงสัยใคร ๆ ก็ตาม
ขอผู้นั้นจงได้ประสบและซ่องเสพกามทั้งหลาย
ท่ามกลางเรือนจนกระทั่งตาย
(ท้าวสักกะถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๒] กามเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก และน่าพอใจ
ของเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากในชีวโลกนี้
ที่สัตว์ทั้งหลายเที่ยวแสวงหาอยู่ในโลก
ทำไมฤๅษีทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์แก้ปัญหาของท้าวสักกะว่า)
[๙๓] เพราะกามทั้งหลายแล สัตว์ทั้งหลายย่อมฆ่ากัน
และย่อมจองจำกัน
เพราะกามทั้งหลายจึงเกิดทุกข์ เกิดภัย
ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ เพราะกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายจึงประมาท ทำกรรมชั่วเพราะโมหะ
[๙๔] สัตว์เหล่านั้นผู้มีธรรมชั่วก็ประสบสิ่งที่ชั่ว
เมื่อตายไปก็ตกนรก
เพราะฉะนั้น ฤๅษีทั้งหลายเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย
จึงไม่สรรเสริญกามทั้งหลาย
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๙๕] โยมเมื่อจะทดลองฤๅษีทั้งหลาย
จึงหยิบเอาเหง้าบัวซึ่งวางไว้ที่ริมฝั่งแล้วไปฝังไว้บนบก
พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ฤๅษีทั้งหลายอยู่อย่างบริสุทธื์ ไม่มีผู้ชั่วช้า นี้เหง้าบัวของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๕. ภิสชาดก (๔๘๘)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๙๖] ฤๅษีทั้งหลายไม่ใช่นักฟ้อนสำหรับพระองค์
และไม่ใช่บุคคลที่จะพึงล้อเล่น
ไม่ใช่ญาติ และไม่ใช่สหายของพระองค์
ขอถวายพระพร ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช
อาศัยเหตุอะไร พระองค์จึงได้ล้อเล่นกับฤๅษีทั้งหลาย
(ท้าวสักกะขอขมาพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๗] ท่านพราหมณ์ ขอพระคุณเจ้าจงเป็นทั้งอาจารย์
และบิดาของโยม
ข้อนี้ขอจงเป็นที่พึ่งแก่โยมผู้พลั้งพลาดไปแล้ว
ท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน ขอท่านจงงดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธ
(พระโพธิสัตว์งดโทษต่อท้าวสักกะแล้วให้หมู่ฤๅษียกโทษให้ว่า)
[๙๘] คืนเดียวที่พวกฤๅษีอยู่ในป่าก็นับว่าอยู่ดีแล้ว
เพราะพวกเราได้เห็นท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ
ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงจงพอใจ เพราะพราหมณ์ได้เหง้าบัวคืนมา
(พระศาสดาได้ตรัสคาถาประมวลชาดกว่า)
[๙๙] ในกาลนั้น ตถาคต สารีบุตร โมคคัลลานะ
กัสสปะ อนุรุทธะ ปุณณะ และอานนท์ ทั้ง ๗ เป็นพี่น้องกัน
[๑๐๐] ในกาลนั้น อุบลวรรณาเป็นน้องสาว ขุชชุตตราเป็นทาสี
จิตตคหบดีเป็นทาส สาตาคิระเป็นยักษ์
[๑๐๑] ในกาลนั้น ปาลิเลยยะได้เป็นช้าง
วานรที่ถวายน้ำผึ้งได้เป็นวานรตัวประเสริฐ
กาฬุทายีได้เป็นท้าวสักกะ พวกเธอจงทรงจำชาดกไว้อย่างนี้
ภิสชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
ว่าด้วยพระมเหสีของพระเจ้าสุรุจิ
(พระนางสุเมธาสดับพระดำรัสของท้าวสักกะแล้วได้บอกคุณคือศีลของตนว่า)
[๑๐๒] ดิฉันเป็นหญิงที่สามีพึงเลี้ยงดู
ซึ่งถูกเชิญมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสุรุจิเป็นคนแรก
พระเจ้าสุรุจิได้นำดิฉันมา ๑๐,๐๐๐ ปีแล้ว
[๑๐๓] ท่านพราหมณ์ ดิฉันนั้นยังไม่รู้สึกเลยว่า
ได้ล่วงเกินพระเจ้าสุรุจิผู้ครอบครองมิถิลานคร แคว้นวิเทหะ
ด้วยกาย วาจา และใจ ไม่ว่าในที่แจ้งหรือในที่ลับเลย
[๑๐๔] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๐๕] ดิฉันเป็นที่รักที่พอพระทัยของพระภัสดา
พระมารดาผู้เป็นแม่ผัว พระราชบิดาผู้เป็นพ่อผัว
เป็นที่รักของดิฉัน ท่านพราหมณ์
ท่านทั้ง ๒ นั้นทรงแนะนำดิฉันอยู่จนตลอดพระชนมชีพ
[๑๐๖] ดิฉันนั้นยินดีในการไม่เบียดเบียน
มีปกติประพฤติธรรมโดยส่วนเดียว
ตั้งใจมาบำรุงท่านเหล่านั้นโดยเคารพ
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางคืนและกลางวัน
[๑๐๗] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๐๘] ท่านพราหมณ์ ดิฉันมิได้มีความริษยา
หรือความโกรธในหญิง ๑๖,๐๐๐ นาง
ผู้เป็นภรรยาร่วมกันเหล่านั้นในกาลไหน ๆ เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๖. สุรุจิชาดก (๔๘๙)
[๑๐๙] ดิฉันยินดีที่จะเกื้อกูลพวกนาง
ไม่มีสักนางหนึ่งเลยซึ่งเป็นที่เกลียดชังของดิฉัน
ดิฉันช่วยเหลือพวกนางผู้ร่วมสามีกันทุกคนเป็นประจำ
เหมือนช่วยเหลือตนเอง
[๑๑๐] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๑] พวกทาส กรรมกร คนรับใช้ และคนที่อาศัยเลี้ยงชีพเหล่าอื่น
ดิฉันมีความแช่มชื่นเบิกบาน ใช้สอยด้วยเหตุที่เหมาะสมเสมอ
[๑๑๒] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๓] แม้สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย และแม้พวกวณิพกเหล่าอื่น
ดิฉันมีฝ่ามืออันชุ่ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ
ด้วยข้าวและน้ำเป็นประจำ
[๑๑๔] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
[๑๑๕] ดิฉันเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘
ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์
พร้อมทั้งวันปาฏิหาริยปักษ์
สำรวมแล้วในศีลทั้งหลายในกาลทุกเมื่อ
[๑๑๖] ฤๅษี ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอบุตรจงเกิดเถิด
เมื่อดิฉันกล่าวเท็จ ขอศีรษะจงแตก ๗ เสี่ยง
(ท้าวสักกะทรงสรรเสริญพระนางสุเมธาว่า)
[๑๑๗] พระราชบุตรีผู้เจริญ ผู้เพียบพร้อมด้วยยศ
คุณธรรมทั้งหลายที่พระนางระบุถึงในพระองค์
มีอยู่ในพระนางทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
[๑๑๘] กษัตริย์ผู้สมบูรณ์ด้วยพระชาติ
เป็นอภิชาตบุตรผู้เรืองยศ เป็นพระธรรมราชาแห่งชาววิเทหะ
จะอุบัติแด่พระนาง
(พระนางสุเมธาทรงโสมนัส จึงตรัสถามว่า)
[๑๑๙] พระดาบสผู้มีดวงตาแจ่มใส ครองผ้าเปื้อนฝุ่น
ยืนอยู่ในอากาศที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง
กล่าววาจาเป็นที่น่าชื่นใจ จับใจดิฉันยิ่งนัก
[๑๒๐] ท่านเป็นเทวดามาจากสวรรค์หรือหนอ
หรือว่าเป็นฤๅษีผู้มีฤทธิ์มาก
ท่านเป็นใครกันแน่มาถึงที่นี้ จงประกาศตนให้ดิฉันทราบ
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๒๑] หมู่เทพมาประชุมพร้อมกันที่สภาชื่อสุธรรมาถวายบังคมท่านผู้ใด
ท่านผู้นั้นคือข้าพเจ้าท้าวสักกสหัสสนัยน์ได้มายังสำนักของพระนาง
[๑๒๒] หญิงคนใดในมนุษยโลก ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
มีปัญญา มีศีล มีความเคารพสามี นับถือแม่ผัวประดุจเทวดา
[๑๒๓] เทวดาทั้งหลายซึ่งมิใช่มนุษย์ย่อมมาเยือนหญิงมนุษย์
ผู้มีปัญญาดี มีการงานอันสะอาดเช่นนั้น
[๑๒๔] พระนางผู้เจริญ ก็พระนางมีกรรมอันสั่งสมไว้ดีแล้ว
และมีการประพฤติที่ดีงามไว้ในปางก่อน ทรงเกิดในราชสกุลนี้
เป็นหญิงที่มีความสำเร็จตามความปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง
[๑๒๕] พระราชบุตรี ก็พระนางทรงกำชัยชนะนี้ไว้ได้ในโลกทั้ง ๒
คือทรงเข้าถึงเทวโลก ๑ มีเกียรติยศชื่อเสียงในชีวิตนี้ ๑
[๑๒๖] พระนางสุเมธา ขอพระองค์ทรงสุขสำราญ
รักษาธรรมไว้ในพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
เรานี้ขอลากลับไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศ การพบพระนางเป็นที่พอใจของเรา
สุรุจิชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
๗. ปัญจุโปสถิกชาดก (๔๙๐)
ว่าด้วยการรักษาอุโบสถของสัตว์ ๕ ชนิด
(พระโพธิสัตว์ถามนกพิราบว่า)
[๑๒๗] เจ้านกพิราบ บัดนี้เจ้าดูขวนขวายน้อยไป
เจ้าไม่ต้องการอาหารหรือ
ทำไมจึงอดกลั้นความหิวกระหาย
รักษาอุโบสถอยู่เล่า เจ้านกพิราบ
(นกพิราบกล่าวว่า)
[๑๒๘] เมื่อก่อนข้าพเจ้าตกอยู่ในความกำหนัดต่อนางนกพิราบ
เราทั้ง ๒ รื่นรมย์กันที่ภูมิประเทศนั้น ๆ
ต่อมานกเหยี่ยวได้บินโฉบเอานางนกพิราบไป
ข้าพเจ้ามิได้ประสงค์จะพลัดพรากจากนางนกนั้นเลย
[๑๒๙] เพราะความพลัดพรากแยกออกจากนาง
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยเวทนาทางใจ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ราคะอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
(พระโพธิสัตว์ถามสัตว์ทีละตัว ฝ่ายสัตว์เหล่านั้นก็ตอบตามความเป็นจริงว่า)
[๑๓๐] เจ้างูผู้เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ผู้มีลิ้นสองแฉก เจ้าเลื้อยไม่ตรง
เลื้อยไปด้วยอก มีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษร้ายแรง
ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายรักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๑] โคเปลี่ยวมีกำลังของนายบ้าน
มีหนอกกระเพื่อม มีสีสันสวยงาม
มีกำลังวังชาสมบูรณ์ มันเหยียบข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าโกรธจึงได้กัดมัน
มันทุรนทุรายเพราะความทุกข์จนถึงตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
[๑๓๒] ชนทั้งหลายออกจากหมู่บ้านนั้น
พากันคร่ำครวญร้องไห้แล้วได้หลีกไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความโกรธอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
[๑๓๓] เจ้าสุนัขจิ้งจอก เนื้อของพวกสัตว์ที่ตายแล้ว
มีอยู่ในป่าช้าเป็นอันมาก
เนื้อนั้นเป็นอาหารที่พอใจของเจ้า
ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหายรักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๔] ข้าพเจ้ายินดีในซากศพ ติดใจในเนื้อช้าง
จึงได้เข้าไปยังท้องช้างใหญ่
ลมร้อนและแสงแดดอันแรงกล้าได้แผดเผา
จนกระทั่งทวารหนักของช้างเชือกนั้นแห้งยุบลง
[๑๓๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งผอมทั้งเหลือง ทั้งไม่มีทางออก
ต่อมาเมฆฝนกลุ่มใหญ่ได้ตกมาโดยพลัน
ทำให้ทวารหนักของช้างเชือกนั้นเปียกชุ่ม
[๑๓๖] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าออกจากท้องช้างนั้นมาได้
เหมือนดั่งดวงจันทร์พ้นจากปากราหู
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความโลภอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
[๑๓๗] เจ้าหมี เมื่อก่อนเจ้าเที่ยวเคี้ยวกินปลวกทั้งหลาย
ที่จอมปลวกอยู่ ทำไมเจ้าจึงอดกลั้นความหิวกระหาย
รักษาอุโบสถอยู่เล่า
[๑๓๘] ข้าพเจ้าดูหมิ่นที่อยู่ของตน ได้ไปยังหมู่บ้านมลรัฐ
เพราะความอยากเกินไป ชนทั้งหลายออกจากหมู่บ้านนั้น
ทุบตีข้าพเจ้าด้วยคันธนูและไม้ค้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
[๑๓๙] ข้าพเจ้านั้นหัวแตก ตัวเปื้อนเลือด จึงได้กลับมายังที่อยู่ของตน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
ความอยากเกินไปอย่าได้มารบกวนข้าพเจ้าอีกต่อไป
(สัตว์ทั้ง ๔ ถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๐] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้อความอันใดท่านได้ถามพวกข้าพเจ้า
ข้อความอันนั้น ข้าพเจ้าทั้งหมดก็ได้ตอบตามที่รู้มา
พวกข้าพเจ้าจะขอถามท่านบ้าง
ท่านพราหมณ์ผู้เจริญ ทำไมท่านจึงรักษาอุโบสถอยู่เล่า
(พระโพธิสัตว์ได้ตอบว่า)
[๑๔๑] พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ไม่ถูกกิเลสทั้งปวงแปดเปื้อน
นั่งที่อาศรมของเราครู่หนึ่ง
ท่านได้ประกาศให้เราทราบถึงที่ไปที่มา
ชื่อ โคตร และความประพฤติทุกอย่าง
[๑๔๒] แม้ถึงอย่างนั้น เราก็มิได้ไหว้เท้าทั้ง ๒ ของท่าน
และมิได้ถามท่าน เพราะมีมานะ
เพราะเหตุนั้น เราจึงรักษาอุโบสถด้วยคิดว่า
มานะอย่าได้มารบกวนเราอีกต่อไป
ปัญจุโปสถิกชาดกที่ ๗ จบ

๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
ว่าด้วยพญานกยูง
(พญานกยูงร้องขอชีวิตว่า)
[๑๔๓] ถ้าหากท่านจับข้าพเจ้าเพราะเหตุแห่งทรัพย์
ท่านอย่าได้ฆ่าข้าพเจ้าเลย
จงจับเป็นแล้วนำข้าพเจ้าไปยังสำนักพระราชาเถิดเพื่อน
ท่านคงจะได้ทรัพย์มิใช่น้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
(บุตรนายพรานปลอบว่า)
[๑๔๔] ลูกธนูที่สอดอยู่ในแล่งนี้
ข้าพเจ้าตั้งใจจะฆ่าท่านในวันนี้ก็หาไม่
แต่จะตัดบ่วงให้แก่ท่าน ด้วยมีความประสงค์ว่า
ขอพญายูงทองจงบินไปตามสบายเถิด
(พญานกยูงกล่าวว่า)
[๑๔๕] ข้าพเจ้าขอถามท่าน เพราะเหตุที่ท่าน
สู้อดกลั้นความหิวกระหายตลอดทั้งคืนทั้งวัน
เฝ้าติดตามข้าพเจ้าอยู่ตลอด ๗ ปี
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุอะไร ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้า
ผู้ติดบ่วงให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
[๑๔๖] วันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตแล้วหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่สัตว์ทั้งปวงแล้ว
เพราะเหตุใด ท่านจึงประสงค์จะปล่อยข้าพเจ้าผู้ติดบ่วง
ให้พ้นเสียจากเครื่องผูกเล่า
(บุตรนายพรานถามว่า)
[๑๔๗] พญานกยูง ขอท่านจงบอกถึงผล
ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตและให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวง
ความข้อนี้ที่ข้าพเจ้าถามท่าน
เขาจุติจากโลกนี้ไปแล้วจะได้รับความสุขอย่างไร
(พญานกยูงตอบว่า)
[๑๔๘] ข้าพเจ้าขอบอกผลของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
และผู้ให้อภัยหมู่สัตว์ทั้งปวงว่า
เขาย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และเมื่อตายย่อมไปสู่สวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๘. มหาโมรชาดก (๔๙๑)
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[๑๔๙] สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาไม่มี
ชีวะย่อมถึงความขาดสูญในภพนี้เท่านั้น
ผลของกรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน ย่อมขาดสูญ
และกล่าวสอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
ข้าพเจ้าเชื่อวาจาของพระอรหันต์เหล่านั้น
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงเบียดเบียนนกทั้งหลาย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๐] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือโลกอื่น
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นอย่างไรหนอ
(บุตรนายพรานกล่าวว่า)
[๑๕๑] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ เห็นได้ชัดเจน
ส่องโลกให้สว่างไสว โคจรไปในอากาศ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้ง ๒ นั้นมีอยู่ในโลกอื่น ไม่ใช่โลกนี้
ในมนุษยโลก พวกเขากล่าวถึงดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ทั้ง ๒ นั้นว่า เทวดา
(ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้กล่าวกับเขาว่า)
[๑๕๒] สมณะและพราหมณ์เหล่าใดเป็นอเหตุกทิฏฐิ๑ ไม่พูดถึงกรรม
ไม่พูดถึงผลของกรรมดีกรรมชั่วด้วยเหมือนกัน
แต่สอนว่า ทานคนโง่บัญญัติไว้
สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีทิฏฐิเลวทราม
ถูกกำจัดแล้วในเพราะการพยากรณ์เพียงเท่านี้

เชิงอรรถ :
๑ อเหตุกทิฏฐิ คือพวกมีความเห็นผิดกล่าวอย่างนี้ว่า กรรมที่เป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์และความเศร้าหมอง
ไม่มี (ขุ.ชา.อ. ๘/๑๕๒/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(บุตรนายพรานกำหนดได้แล้วจึงกล่าวว่า)
[๑๕๓] คำของท่านนั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
ทานจะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน จะไม่พึงมีผลได้อย่างไร
และทานคนโง่จะพึงบัญญัติขึ้นได้อย่างไร
[๑๕๔] พญานกยูง ข้าพเจ้ากระทำกรรมอย่างไร กระทำเพราะอะไร
ประพฤติอย่างไร จะคบใคร ผู้มีตบะคุณอย่างไร
ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้าโดยที่ข้าพเจ้าจะไม่ต้องตกนรก
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕๕] บนพื้นแผ่นดินยังมีสมณะพวกใดพวกหนึ่งอยู่
สมณะเหล่านั้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นบรรพชิต
เที่ยวบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า
งดเว้นการบริโภคในเวลาวิกาล เป็นสัตบุรุษ
[๑๕๖] ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นตามกาลอันสมควร
แล้วจงถามข้อความตามที่ท่านพอใจ
สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงข้อความอันเป็นประโยชน์
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ท่านตามที่รู้มา
(พระปัจเจกพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า)
[๑๕๗] ความเป็นพรานนี้ข้าพเจ้าละได้แล้ว
เหมือนงูลอกคราบเก่าแก่ทิ้งไป
เหมือนต้นไม้สลัดใบเหลืองทิ้ง เขียวชะอุ่มอยู่
ข้าพเจ้าละทิ้งความเป็นพรานได้ในวันนี้
(ท่านทำสัจจกิริยาว่า)
[๑๕๘] นกเหล่าใดที่ข้าพเจ้ากักขังไว้หลายร้อยตัวในเรือนของข้าพเจ้า
วันนี้ ข้าพเจ้าให้ทานชีวิตแก่นกเหล่านั้น
ขอให้นกเหล่านั้นจงหลุดพ้น กลับไปยังที่อยู่ของตนเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศว่า นกเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ได้เพราะอาศัย
พญานกยูง จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๕๙] นายพรานถือบ่วงเที่ยวไปในป่า
เพื่อจะจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศ
ครั้นจับพญานกยูงทองผู้เรืองยศได้แล้ว
เขาได้พ้นจากทุกข์เหมือนเราตถาคตได้พ้นแล้ว
มหาโมรชาดกที่ ๘ จบ

๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
ว่าด้วยสุกรชื่อตัจฉะ
(สุกรตัจฉะเที่ยวเสาะหาฝูงสุกรในป่าพบสุกรจำนวนมากแล้วดีใจ จึงกล่าวว่า)
[๑๖๐] เราเมื่อเสาะหาหมู่ญาติใด เที่ยวไปตามเทือกเขาลำเนาไพร
เราเที่ยวตามหาอยู่ช้านาน ญาติทั้งหลายนี้นั้นเราก็ได้พบแล้ว
[๑๖๑] มูลผลาหารนี้ก็มีอยู่มาก และภักษาหารนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
ส่วนแม่น้ำ ภูเขานี้ก็น่ารื่นรมย์ คงจะอยู่ได้สบาย
[๑๖๒] เราจักอยู่พร้อมกับหมู่ญาติทั้งปวงในที่นี้แหละ
จักเป็นผู้ขวนขวายน้อย หมดความระแวงภัย
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
(สุกรทั้งหลายกล่าวว่า)
[๑๖๓] ตัจฉะ ท่านจงเสาะหาถ้ำในที่อื่นอยู่เถิด
ในที่นี้พวกเรามีศัตรู
มันมาที่นี้ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะถามว่า)
[๑๖๔] ใครหนอเป็นศัตรูของพวกเราในที่นี้
ใครกันรังควานหมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงซึ่งรังควานได้ยาก
เราถามแล้ว ขอพวกท่านจงบอกผู้นั้นแก่เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(สุกรเหล่านั้นตอบว่า)
[๑๖๕] ท่านตัจฉะ พญาเนื้อ
เป็นสัตว์มีพลัง มีเขี้ยวเป็นอาวุธ
มันมาที่นี่ฆ่าสุกรแล้วกัดกินเนื้อล่ำ ๆ เป็นประจำ
(สุกรตัจฉะกล่าวว่า)
[๑๖๖] พวกเราไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
พวกเราทั้งหมดจงพร้อมเพรียงกัน สร้างอำนาจร่วมกัน
(สุกรเหล่านั้นกล่าวว่า)
[๑๖๗] ท่านตัจฉะ ท่านนะพูดได้จับใจ สบายหู
แม้ตัวใดหนีไปในขณะต่อสู้ พวกเราจะฆ่าตัวนั้นในภายหลัง
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมามือเปล่า จึงกล่าวว่า)
[๑๖๘] วันนี้ท่านงดเว้นจากปาณาติบาตหรือหนอ
หรือว่าท่านให้อภัยแก่หมู่สัตว์ทั้งปวง
ท่านไม่มีเขี้ยวที่จะฆ่าเนื้อหรือหนอ
ถึงอยู่ในฝูงสุกรก็ยังซบเซาเหมือนคนกำพร้า
(พญาเสือโคร่งได้กล่าวว่า)
[๑๖๙] ข้าพเจ้าจะไม่มีเขี้ยวก็หาไม่ พลังกายก็พร้อมมูล
แต่เพราะเห็นญาติ ๆ พร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกัน
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาอยู่ผู้เดียวในป่า
[๑๗๐] เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้กลัวภัย
แยกกันหนีไปคนละทิศละทาง แสวงหาที่พึ่ง
แต่บัดนี้พวกมันกลับรวมหมู่กันตั้งท่าสู้
ยากที่ข้าพเจ้าจะข่มพวกมันได้
[๑๗๑] พวกมันได้ผู้นำดี มีความพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นอย่างเดียวกัน พร้อมกันที่จะทำลายข้าพเจ้าได้
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๙. ตัจฉสูกรชาดก (๔๙๒)
(ชฎิลโกงเมื่อจะให้เสือโคร่งเกิดความอุตสาหะ จึงกล่าวว่า)
[๑๗๒] พระอินทร์องค์เดียวยังเอาชัยชนะพวกอสูรได้
นกเหยี่ยวตัวเดียวยังข่มขี่ฆ่านกทั้งหลายได้
เสือโคร่งตัวเดียวเข้าไปอยู่ในฝูงเนื้อ
ก็ยังฆ่าเนื้อตัวล่ำ ๆ ซึ่งมีกำลังเหมือนเช่นนั้นได้
(เสือโคร่งกล่าวว่า)
[๑๗๓] หมู่ญาติผู้พร้อมเพรียงร่วมใจกัน มีกิริยาเช่นเสือโคร่ง
ไม่ว่าพระอินทร์หรือนกเหยี่ยว หรือเสือโคร่ง ซึ่งเป็นพญาสัตว์
ก็ไม่อาจให้อยู่ในอำนาจได้
(ชฎิลโกงปลุกใจเสือโคร่งว่า)
[๑๗๔] ฝูงนกกุมภีลกาตัวเล็ก ๆ เที่ยวไปเป็นฝูง เป็นหมู่
รื่นเริง จับกลุ่มกันโผผิน บินร่อนไปมา
[๑๗๕] ก็เมื่อนกเหล่านั้นโผผินอยู่ เหยี่ยวย่อมโฉบเอานกตัวหนึ่ง
บรรดานกเหล่านั้นที่แตกฝูงออกมา
นั้นเป็นคติของเหล่าพยัคฆ์ทั่วไป
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๑๗๖] เสือโคร่งมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ถูกชฎิลชั่วผู้เห็นแก่อามิสปลุกใจ
มีความสำคัญเหมือนครั้งก่อน
จึงได้เผ่นเข้าไปในฝูงของสุกรผู้ที่มีเขี้ยว
(รุกขเทวดาเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า)
[๑๗๗] ญาติทั้งหลายมีมากด้วยกันเป็นการดี
ถึงแม้จะเป็นต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ตาม
เสือโคร่งถูกสุกรทั้งหลายที่สามัคคีกันฆ่าตาย
ในหนทางที่เดินได้คนเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๑๗๘] สุกรทั้งหลายได้ฆ่าเสียทั้ง ๒ คน คือ
พราหมณ์ ๑ เสือโคร่ง ๑
จึงได้รื่นเริงบันเทิงใจ ส่งเสียงบันลือลั่น
[๑๗๙] สุกรเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันที่โคนต้นมะเดื่อ
ได้อภิเษกสุกรตัจฉะว่า
ท่านจงเป็นราชา เป็นใหญ่แห่งเราทั้งหลายเถิด
ตัจฉสูกรชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
ว่าด้วยพ่อค้าใหญ่
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า)
[๑๘๐] พ่อค้าทั้งหลายจากแคว้นต่าง ๆ มาประชุมกันที่กรุงพาราณสี
ตั้งพ่อค้าที่มีปัญญาดีกว่าคนหนึ่งให้เป็นหัวหน้า
พากันนำทรัพย์กลับ
[๑๘๑] พ่อค้าเหล่านั้นมาถึงถิ่นกันดารที่มีภักษาน้อย ไม่มีน้ำ
ได้พบต้นไทรใหญ่ มีร่มเงาเย็นสบาย น่ารื่นรมย์
[๑๘๒] ก็พ่อค้าเหล่านั้นพากันนั่งที่ร่มเงาต้นไทรนั้นนั่นเอง
พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
[๑๘๓] ต้นไม้ต้นนี้สดชื่น ราวกับมีน้ำซับซึมอยู่
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านตะวันออกเถิด
[๑๘๔] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้วก็หลั่งน้ำใส ไม่ขุ่น
พ่อค้าเหล่านั้นพากันอาบและดื่มกินตามที่ต้องการ ณ กิ่งไม้นั้น
[๑๘๕] ครั้งที่ ๒ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านทิศใต้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๐. มหาวาณิชชาดก (๔๙๓)
[๑๘๖] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้วก็หลั่งข้าวสาลี เนื้อ ข้าวสุก
ขนมกุมมาสซึ่งมีสีเหมือนข้าวปายาสที่มีน้ำน้อย
แกงอ่อม และกับมีแกงถั่วเป็นต้นออกมามากมาย
[๑๘๗] พวกพ่อค้าเหล่านั้นพากันบริโภค
เคี้ยวกินตามที่ต้องการ ณ กิ่งไม้นั้น
ครั้งที่ ๓ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ
คิดเห็นพ้องกันว่า ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้า
พากันตัดกิ่งด้านทิศตะวันตกเถิด
[๑๘๘] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้ว
ก็หลั่งเหล่านารีมีเครื่องประดับพร้อมมูล
เสื้อผ้าอาภรณ์งามวิจิตร ใส่ต่างหูแก้วมณี
[๑๘๙] ก็พ่อค้าแต่ละคนมีนารีนางหนึ่ง
ส่วนหัวหน้ากองเกวียนมีนารี ๒๕ นาง
แวดล้อมอยู่รอบข้างที่ร่มเงาต้นไทรนั้น
[๑๙๐] พวกพ่อค้าเหล่านั้นมีเหล่านารีแวดล้อมตามที่ต้องการ
ครั้งที่ ๔ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราเหล่าพ่อค้าพากันตัดกิ่งด้านทิศเหนือเถิด
[๑๙๑] ก็กิ่งไม้นั้นพอถูกตัดแล้ว ก็หลั่งแก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
เงิน ทอง เครื่องลาดหลังช้าง และเครื่องปูลาดที่ทำด้วยขนแกะ
[๑๙๒] ผ้าแคว้นกาสีและผ้ากัมพลชื่ออุททิยะออกมาเป็นจำนวนมาก
พวกพ่อค้าเหล่านั้นพากันขนบรรทุกเกวียนเหล่านั้นตามที่ต้องการ
[๑๙๓] ครั้งที่ ๕ พวกที่เป็นคนโง่ถูกโมหะครอบงำ คิดเห็นพ้องกันว่า
ขอเชิญพวกเราช่วยกันตัดโคนต้นไทรนั้นเถิด บางทีจะได้ยิ่งกว่านี้
[๑๙๔] ทันใดนั้น หัวหน้ากองเกวียนได้ลุกขึ้นประคองอัญชลี
ขอร้องว่า พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย ต้นไทรมีความผิดอะไรหรือ
ขอความเจริญจงมีแก่พวกท่านเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๑๙๕] กิ่งด้านทิศตะวันออกให้น้ำอาบ
กิ่งด้านทิศใต้ให้ข้าวและน้ำดื่ม
กิ่งด้านทิศตะวันตกให้เหล่านารี
ส่วนกิ่งด้านทิศเหนือให้ทรัพย์ที่น่าปลื้มใจทุกอย่าง
พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย ต้นไทรมีความผิดอะไรหรือ
ขอความเจริญจงมีแก่พวกท่านเถิด
[๑๙๖] บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด
ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น
เพราะว่าคนประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
[๑๙๗] แต่พวกพ่อค้าเหล่านั้นจำนวนมาก
ไม่เชื่อฟังคำของนายกองเกวียนผู้เดียวนั้น
ใช้ขวานอันคมกริบตัดต้นไทรนั้นตั้งแต่โคนต้น
[๑๙๘] พวกนาคก็ออกมาจากต้นไทรนั้นสวมเกราะ ๒๕ ตน
ถือธนู ๓๐๐ ตน และถือโล่หนัง ๖,๐๐๐ ตน
(พญานาคกล่าวสั่งว่า)
[๑๙๙] พวกเจ้าจงฆ่า จงมัดพวกพ่อค้าเหล่านี้
อย่าได้ไว้ชีวิตแม้แต่คนเดียว
พวกเจ้าจงทำพวกพ่อค้าเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็นผงธุลี
เว้นไว้แต่นายกองเกวียนเท่านั้น
(พระศาสดาทรงทราบแล้วตรัส ๒ คาถาโอวาทว่า)
[๒๐๐] เพราะเหตุนั้นแล คนฉลาดพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน
ไม่พึงตกไปสู่อำนาจแห่งความโลภ
พึงกำจัดใจที่เป็นศัตรูภายในเสีย
[๒๐๑] ผู้เห็นภัยรู้โทษอย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น มีสติ ดำเนินชีวิตอยู่
มหาวาณิชชาดกที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
ว่าด้วยพระเจ้าสาธินะ
(พวกมนุษย์ดีใจยืนประคองอัญชลี ได้กล่าวว่า)
[๒๐๒] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
รถทิพย์ได้ปรากฏแก่พระเจ้าวิเทหะ ผู้เรืองยศ
พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ทำให้เกิดขนพองสยองเกล้า
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๒๐๓] มาตลีเทพบุตร เทพสารถีผู้มีฤทธิ์มาก
ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าวิเทหะผู้ครอบครองมิถิลานครว่า
[๒๐๔] พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นใหญ่ทั่วทิศ
ขอเชิญพระองค์เสด็จทรงรถทิพย์นี้เถิด
เทพชั้นดาวดึงส์ทั้งหลาย
พร้อมทั้งองค์อมรินทร์ใคร่จะทรงทัศนาพระองค์
ก็เทพเหล่านั้นระลึกถึงพระองค์
ประชุมพร้อมกันอยู่ที่สภาชื่อสุธรรมา
[๒๐๕] ก็ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะทรงพระนามสาธินะ
ผู้ครอบครองมิถิลานคร เสด็จประทับรถทิพย์
ซึ่งเทียมด้วยม้าอัสดร ๑,๐๐๐ ตัว
ได้เสด็จไปในสำนักแห่งเทพ
(พระมหาราชาประทับยืนบนทิพยยาน
ซึ่งเทียมด้วยม้าอัสดร ๑,๐๐๐ ตัวนำไป
เสด็จไปอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวสภานี้)
เทพครั้นเห็นพระราชาเสด็จมาก็ยินดีต้อนรับพระองค์
[๒๐๖] ขอเดชะพระมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว
มิใช่เสด็จมาร้าย พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
บัดนี้ ขอเชิญประทับ ณ สำนักท้าวสักกเทวราชเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๒๐๗] แม้ท้าวสักกะก็ทรงยินดีต้อนรับ
พระเจ้าวิเทหะผู้ครอบครองมิถิลานคร
ท้าววาสวะทรงเชื้อเชิญด้วยกามทั้งหลายพร้อมทั้งอาสนะ
[๒๐๘] พระราชาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นการดีแท้
ที่พระองค์เสด็จมาถึงสถานที่อยู่แห่งเหล่าเทพผู้ครองอำนาจ
ขอเชิญประทับอยู่ในหมู่ทวยเทพผู้มั่งคั่งด้วยกามทุกอย่าง
ขอพระองค์เสวยกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด
(พระเจ้าสาธินะตรัสกับท้าวสักกะว่า)
[๒๐๙] เมื่อก่อน หม่อมฉันอยู่ในสวรรค์
ย่อมยินดีการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี
แต่บัดนี้ วันนี้หม่อมฉันนั้นหายินดีในสวรรค์ไม่
พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าจอมเทพ
อายุของหม่อมฉันสิ้นแล้วหรือ หม่อมฉันใกล้ตายหรือ
หรือว่าหม่อมฉันหลงไป
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๑๐] พระองค์ผู้กล้าหาญ ผู้ประเสริฐกว่านรชน
พระชนมายุของพระองค์ยังไม่สิ้นไป
ความตายก็ยังอยู่ห่างไกล และแม้พระองค์ก็ยังไม่หลง
แต่บุญที่พระองค์เสวยวิบากอยู่ในเทวโลกนี้ของพระองค์เหลืออยู่น้อย
[๒๑๑] พระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นใหญ่ทั่วทิศ
ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ด้วยเทวานุภาพ
เสวยกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์เถิด
(พระโพธิสัตว์ทรงห้ามท้าวสักกะว่า)
[๒๑๒] สิ่งใดที่ได้มาเพราะเหตุที่ผู้อื่นให้ สิ่งนั้นเปรียบกันได้
เหมือนยานพาหนะที่ยืมเขามา เหมือนทรัพย์ที่ยืมเขามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๑. สาธินราชชาดก (๔๙๔)
[๒๑๓] ก็สมบัติที่ได้มาเพราะเหตุที่ผู้อื่นให้นั้น หม่อมฉันไม่ปรารถนา
บุญทั้งหลายที่หม่อมฉันทำเอง
บุญนั้นจะเป็นทรัพย์เฉพาะตนของหม่อมฉัน
[๒๑๔] หม่อมฉันนั้นไปอยู่ในหมู่มนุษย์แล้วจะทำกุศลให้มาก
ด้วยการให้ทาน การประพฤติธรรมให้สม่ำเสมอ
การสำรวมและด้วยการฝึกฝนอินทรีย์
ซึ่งเป็นกรรมที่บุคคลทำแล้วมีความสุข
และไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง
(พระโพธิสัตว์จูงพระหัตถ์พระเจ้านารทะเที่ยวไปในอุทยานได้ตรัสว่า)
[๒๑๕] ภูมิภาคตรงนี้คืออุทยานนั้น
ตรงนี้คือลำรางไขน้ำพร้อมทั้งอ่างรองรับน้ำที่ไหลเข้ามา
ตรงนี้คือภูมิภาคทั้ง ๒ ข้างแห่งลำรางไขน้ำ
ซึ่งปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี
ตรงนี้คือแม่น้ำที่มีกระแสไหลอยู่ไม่ขาดสาย
[๒๑๖] ตรงนี้คือสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์
มีนกจักรพากขันขานเสียงระงม
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑาลก ดอกปทุม และดอกอุบล
ที่เหล่าชนพากันหลงใหลยึดถือว่าเป็นของเรา
เขาไปไหนหนอ
[๒๑๗] ตรงนี้พื้นที่นั้นมีแต่พื้นดินที่รกเท่านั้น
มีแต่สวนและแนวป่าเท่านั้นเอง
นารทะ เมื่อเรามองไม่เห็นหมู่ชนนั้น
ทิศทั้งหลายปรากฏแก่เราเหมือนกับว่างเปล่า
(พระเจ้าสาธินะตรัสว่า)
[๒๑๘] ข้าพเจ้าได้เห็นวิมานส่องแสงไปทั้ง ๔ ทิศ
ต่อพระพักตร์ท้าวเทวราชและต่อหน้าเทวดาชั้นไตรทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๑๙] เราได้อยู่ในทิพยวิมาน บริโภคกามซึ่งมิใช่ของมนุษย์
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ที่มั่งคั่งด้วยกามทุกอย่าง
[๒๒๐] เรานั้นละกามเช่นนี้ มาในโลกนี้เพื่อต้องการทำบุญ
จะประพฤติธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องการราชสมบัติ
[๒๒๑] เราจะดำเนินไปตามทางที่ไม่ต้องใช้อาชญา
ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
เป็นทางที่ท่านผู้ปฏิบัติดีดำเนินไปอยู่
สาธินราชชาดกที่ ๑๑ จบ

๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
ว่าด้วยการจำแนกตระกูลพราหมณ์ ๑๐ ตระกูล
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนี้ว่า)
[๒๒๒] พระเจ้ายุธิฏฐิละ ผู้ทรงฝักใฝ่ในธรรม
ได้ตรัสกับวิธุรอำมาตย์ว่า
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๒๓] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๒๔] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล
เป็นพหูสูต ผู้เว้นจากเมถุนธรรม
ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของพระองค์หาได้ยาก พระเจ้าข้า
[๒๒๕] ขอเดชะพระมหาราช ได้ยินว่า
พราหมณ์มีอยู่ ๑๐ ตระกูลด้วยกัน
ขอพระองค์โปรดสดับการจำแนกแจกแจง
พราหมณ์ทั้ง ๑๐ ตระกูลนั้นโดยพิสดารจากข้าพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๒๖] พราหมณ์บางพวกถือถุงย่ามที่เต็มด้วยรากไม้ปากปิด
ติดสลากยาบ้าง รดน้ำมนต์บ้าง เป่าเสกคาถาอาคมบ้าง
[๒๒๗] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนหมอ
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนหมอเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๒๘] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๒๙] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๐] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งถือกังสดาลป่าวประกาศไปข้างหน้าบ้าง
ไปรับใช้บ้าง ศึกษาวิชาการเกี่ยวกับรถบ้าง
[๒๓๑] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนรับใช้
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนรับใช้เหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๓๒] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๓๓] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๔] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งถือคนโทน้ำและไม้เท้าคด
เข้าไปพึ่งพาพระราชาในคามและนิคมด้วยตั้งใจว่า
เมื่อชาวบ้านหรือชาวนิคมไม่ให้ เราจะไม่ออกไป
[๒๓๕] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนผู้กดขี่
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนผู้กดขี่เหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๓๖] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๓๗] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๓๘] พราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีขนรักแร้ เล็บ และขนงอกขึ้นยาว
มีฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ เกรอะกรังไปด้วยฝุ่นละออง
เป็นพวกยาจกเที่ยวไปอยู่
[๒๓๙] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนขุดตอไม้ที่ถูกไฟไหม้
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนขุดตอไม้
ที่ถูกไฟไหม้เหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๐] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๔๑] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๔๒] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งเหล่าชน
พราหมณ์อีกพวกหนึ่งย่อมค้าขายผลสมอ มะขามป้อม
ผลมะม่วง ผลหว้า สมอพิเภก ขนุนสำปะลอ
ไม้ชำระฟัน ผลมะตูม และพุทรา
[๒๔๓] ลูกเกด อ้อยลำ น้ำอ้อยงบ กล้องสูบยาเส้น น้ำผึ้ง
และยาหยอดตา และย่อมค้าขายสิ่งของที่มีค่ามากและมีค่าน้อย
[๒๔๔] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนพ่อค้า
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนพ่อค้าเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๕] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๔๖] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๔๗] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งให้กระทำกสิกรรมและพาณิชกรรม
เลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ ตกแต่งหญิงสาว
ทำวิวาหมงคลและอาวาหมงคล
[๒๔๘] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนพ่อค้าคหบดี
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนพ่อค้าคหบดีเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๔๙] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๐] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๑] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งเป็นปุโรหิตประจำบ้าน
บริโภคภิกษาที่เขาเก็บไว้เพื่อตน
ชนจำนวนมากย่อมสอบถามพราหมณ์เหล่านั้น
พราหมณ์เหล่านั้นเป็นนักตอนสัตว์และตีตราสัตว์
[๒๕๒] แม้สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เช่น กระบือ สุกร และแพะ
ในบ้านเหล่านั้น ก็ถูกพราหมณ์เหล่านั้นฆ่า
แม้พวกพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนนายโคฆาต
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนนายโคฆาตเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๕๓] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๔] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๕] พราหมณ์ทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง เหน็บกริช
ยืนดักอยู่ที่ทางเดินของพวกพ่อค้าบ้าง
คอยคุ้มครองกองเกวียนบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๒. ทสพราหมณชาดก (๔๙๕)
[๒๕๖] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนเลี้ยงโค
และโจรปล้นฆ่าชาวบ้านเขาก็เรียกกันว่าพราหมณ์
ขอเดชะพระมหาราช ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์
ผู้เป็นเสมือนคนเลี้ยงโคและโจรปล้นฆ่าชาวบ้านเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๕๗] ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๕๘] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๕๙] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งสร้างกระท่อมอยู่ในป่า
ทำเครื่องดักสัตว์ เบียดเบียนกระต่าย
เสือปลา ปลา และเต่า ตลอดจนถึงเหี้ย
[๒๖๐] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนนายพราน
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์
ผู้เป็นเสมือนนายพรานเหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๖๑] ก็พราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๖๒] ผู้เว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
สหาย เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
(วิธุรอำมาตย์กราบทูลว่า)
[๒๖๓] พราหมณ์อีกพวกหนึ่งปรารถนาทรัพย์ก็ลงนอนอยู่ใต้เตียง
เมื่อเริ่มทำพิธีโสมยาคะ ก็ให้พระราชาทั้งหลายสรงสนาน ณ เบื้องบน
[๒๖๔] แม้พราหมณ์เหล่านั้นเป็นเสมือนคนขัดสนิม
เขาก็เรียกกันว่า พราหมณ์ ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์ผู้เป็นเสมือนคนขัดสนิมเหล่านั้น
แด่พระองค์ เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า)
[๒๖๕] ก็พวกพราหมณ์เหล่านั้นปราศจากคุณเครื่องความเป็นพราหมณ์
จะเรียกพวกเขาว่าเป็นพราหมณ์ไม่ได้
วิธุระ เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่าอื่นผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต
[๒๖๖] ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของเรา
เราจะถวายทักษิณาในเขตที่เราถวายทานแล้วมีผลมาก
(วิธุรอำมาตย์ครั้นแสดงผู้เป็นพราหมณ์เพียงแค่ชื่อ บัดนี้เพื่อจะแสดงผู้เป็น
พราหมณ์โดยปรมัตถ์ จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า)
[๒๖๗] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ พราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต ผู้งดเว้นจากเมถุนธรรม
ซึ่งสมควรจะบริโภคโภชนะของพระองค์ยังมีอยู่ พระเจ้าข้า
[๒๖๘] พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคภัตตาหารมื้อเดียว
และไม่ดื่มน้ำเมา ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระองค์ได้กราบทูลพราหมณ์เหล่านั้นแด่พระองค์
เราจะเชื้อเชิญพราหมณ์เช่นนั้นหรือ พระเจ้าข้า
(พระเจ้าโกรัพยะทรงสดับดังนั้นแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๒๖๙] วิธุระ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต
เธอจงแสวงหาพราหมณ์เหล่านั้นแหละ
วิธุระ จงรีบนิมนต์พวกท่านมาเร็ว ๆ
ทสพราหมณชาดกที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
ว่าด้วยเขตที่ถวายทานแล้วมีผลมาก
(กุฎุมพีทูลถามพระราชาว่า)
[๒๗๐] ข้าพระองค์ได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นสุขุมาลชาติ
ประทับอยู่ในปรางค์ปราสาทอันประเสริฐ
เสด็จบรรทมบนพระยี่ภู่อันสูงใหญ่
เสด็จจากแคว้นมายังปัจจันตชนบทเช่นกับที่ป่าปราศจากน้ำ
[๒๗๑] จึงได้ทูลถวายภัตตาหารอันวิจิตร
คือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีอันดีเลิศ
ซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้ออันสะอาด
ด้วยความเคารพรักต่อพระองค์
[๒๗๒] พระองค์ผู้ทรงรับภัตนั้นแล้วได้พระราชทานให้พราหมณ์
ไม่เสวยด้วยพระองค์เอง
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์หรือ
ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายบังคมพระองค์
(พระราชาตรัสตอบว่า)
[๒๗๓] พราหมณ์เป็นอาจารย์ของเรา
เป็นผู้ขวนขวายในกิจใหญ่น้อย
เป็นครู และเป็นผู้ที่ควรจะเชื้อเชิญ
เราจึงควรให้โภชนะแก่เขา
(กุฎุมพีกล่าวกับพราหมณ์ว่า)
[๒๗๔] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคตมโคตร
ที่พระราชาทรงบูชา
พระราชาได้พระราชทานภัตแก่ท่าน
ซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
[๒๗๕] ท่านได้รับพระราชทานภัตตาหารนั้นแล้ว
กลับถวายโภชนะแก่ฤๅษี
ท่านคงจะรู้ตัวซิว่า ไม่ใช่เนื้อนาบุญแห่งทาน
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่านหรือ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
(พราหมณ์ตอบว่า)
[๒๗๖] ข้าพเจ้ายังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา
เป็นผู้ติดในครอบครัว
ถึงจะถวายอนุศาสน์แก่พระราชา
ก็ยังบริโภคกามซึ่งเป็นของมนุษย์
[๒๗๗] ข้าพเจ้าควรจะถวายโภชนะแก่ฤๅษีผู้อยู่ป่า
บำเพ็ญตบะมาช้านาน ผู้เจริญด้วยคุณ อบรมตนแล้ว
(กุฎุมพีกล่าวกับฤๅษีว่า)
[๒๗๘] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามฤๅษีผู้ผอม
มีร่างกายสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น
มีขนรักแร้ เล็บ และขนงอกขึ้นยาว
มีขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนศีรษะ
[๒๗๙] ท่านอยู่ผู้เดียวในป่า ไม่คำนึงถึงชีวิต
เพราะเหตุไร ภิกษุจึงดีกว่าท่าน
ถึงกับท่านยอมถวายโภชนะ
(ฤๅษีตอบว่า)
[๒๘๐] อาตมายังขุดมันเทศและเหง้าตาล
มันมือเสือ และหัวหอม หัวกระเทียมอยู่
นวดข้าวฟ่างและลูกเดือย รวบรวมตากให้แห้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๔. ปกิณณกนิบาต] ๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก (๔๙๖)
[๒๘๑] อาตมายังแสวงหาผัก เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อ
พุทรา และมะขามป้อมเหล่านั้นมาบริโภคอยู่
อาตมายังมีการยึดถือนั้นอยู่
[๒๘๒] เมื่ออาตมายังหุงโภชนะ ยังมีความกังวล
ยังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่
ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุง
ผู้ละเว้นความยึดถือว่าเป็นของเรา
ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
(กุฎุมพีกล่าวกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า)
[๒๘๓] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดีงาม
ฤาษีได้ถวายภัตตาหารซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่าน
[๒๘๔] ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้ว นั่งนิ่งฉันแต่ผู้เดียว
ไม่เชื้อเชิญใครอื่น
ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่านหรือ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
(พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า)
[๒๘๕] อาตมาไม่ได้หุงเอง มิได้ใช้ให้ใครหุง
ไม่ได้ตัดเอง มิได้ใช้ให้ใครตัด
เพราะรู้ว่า อาตมานั้นไม่มีความกังวล
งดเว้นจากบาปทั้งปวง
[๒๘๖] ฤๅษีจึงถือเอาภิกษาด้วยมือซ้าย ถือคนโทน้ำด้วยมือขวา
ได้ถวายภัตตาหารซึ่งมีกับที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา
[๒๘๗] เพราะชนทั้งหลายเหล่านี้ยังมีความยึดมั่นว่าเป็นของเรา
ยังมีความยึดมั่นถือมั่นจึงควรให้ทาน
ส่วนอาตมาสำคัญว่า ผู้เชื้อเชิญ ผู้ถวาย เป็นปฏิปทาที่ผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(กุฎุมพีฟังคำของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วดีใจ จึงกล่าวว่า)
[๒๘๘] วันนี้ พระราชาผู้เป็นจอมทัพ
เสด็จมาที่นี่เพื่อประโยชน์แก่เราแท้ ๆ
ข้าพระองค์รู้ชัดในวันนี้ถึงเขตที่ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๒๘๙] พระราชาทั้งหลายทรงพอพระทัยในแคว้น
พราหมณ์ทั้งหลายพอใจในกิจน้อยใหญ่
ฤๅษีทั้งหลายพอใจในมูลผลาหาร
ส่วนภิกษุทั้งหลายหลุดพ้นแล้ว
ภิกขาปรัมปรชาดกที่ ๑๓ จบ

รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. สาลิเกทารชาดก ๒. จันทกินนรีชาดก
๓. มหาอุกกุสชาดก ๔. อุททาลกชาดก
๕. ภิสชาดก ๖. สุรุจิชาดก
๗. ปัญจุโปสถิกชาดก ๘. มหาโมรชาดก
๙. ตัจฉสูกรชาดก ๑๐. มหาวาณิชชาดก
๑๑. สาธินราชชาดก ๑๒. ทสพราหมณชาดก
๑๓. ภิกขาปรัมปรชาดก

ปกิณณกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๘ }


๑๕. วีสตินิบาต
๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
ว่าด้วยอานุภาพของฤๅษีมาตังคะ
(มัณฑัพยกุมารตรัสกับมาตังคดาบสว่า)
[๑] ท่านมาจากไหนหนอ
นุ่งผ้าเก่าขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น
สวมใส่เศษผ้าจากกองขยะไว้จนถึงคอ
ท่านไม่ใช่ทักขิไณยบุคคล เป็นใครกันแน่
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้เพียบพร้อมด้วยยศ
พราหมณ์ทั้งหลายย่อมขบฉันและดื่มกินอาหาร
ที่พระองค์ทรงตระเตรียมไว้
พระองค์ก็ทรงรู้ว่า อาตมาอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต
ขอคนจัณฑาลจงได้ก้อนข้าวที่ต้องการลุกขึ้นยืนรับเถิด
(มัณฑัพยกุมารตรัสว่า)
[๓] อาหารนี้เราตระเตรียมไว้สำหรับพราหมณ์ทั้งหลาย
อาหารนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตน สำหรับเราผู้เชื่อมั่น
ท่านจงหลีกไปแต่ที่นี้เถิด จะยืนอยู่ทำไม
พราหมณ์ผู้ชั่วช้า คนเช่นเราจะไม่ให้ท่าน
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๔] คนทั้งหลายเมื่อหวังผลย่อมหว่านพืชลงในนาดอน ๑
ในนาลุ่ม ๑ ในที่ไม่ใกล้แม่น้ำ ๑ ด้วยความเชื่อนั้น
ขอพระองค์จงให้ทาน พึงให้ทักขิไณยบุคคลยินดีได้แน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
(มัณฑัพยกุมารตรัสว่า)
[๕] เรารู้แจ้งเนื้อนาบุญเป็นที่ประดิษฐานเมล็ดพืชทั้งหลายในโลก
เนื้อนาบุญ คือ พราหมณ์ทั้งหลายที่เกิดโดยชาติและมนต์
นับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่มีศีลเป็นที่รักยิ่ง
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖] ก็อคุณธรรมเหล่านี้ คือ ความเมาเพราะชาติ ๑
ความมีมานะจัด ๑ โลภะ ๑ โทสะ ๑
มทะ ๑ โมหะ ๑ ทุกอย่างมีอยู่ในเนื้อนาบุญเหล่าใด
เนื้อนาบุญเหล่านั้นนับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่ไม่มีศีลเป็นที่รักในโลก
[๗] อคุณธรรมเหล่านี้ คือ ความเมาเพราะชาติ ๑
ความมีมานะจัด ๑ โลภะ ๑ โทสะ ๑
มทะ ๑ โมหะ ๑ ทุกอย่างไม่มีอยู่ในเนื้อนาบุญเหล่าใด
เนื้อนาบุญเหล่านั้นนับว่าเป็นเนื้อนาบุญที่มีศีลเป็นที่รักในโลก
(เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวความนี้ซ้ำอีก มัณฑัพยกุมารทรงกริ้วแล้วตรัสว่า)
[๘] เจ้าอุปโชติยะ เจ้าอุปัชฌายะ
และเจ้าภัณฑกุจฉิไปไหนกันหมด
พวกเจ้าจงเฆี่ยนตี จงทำร้ายเจ้าดาบสนี้
แล้วจับคอเจ้าคนชั่ว ไสหัวมันออกไป
(พระโพธิสัตว์เหาะไปอยู่ในอากาศกราบทูลว่า)
[๙] พระองค์ทรงด่าว่าฤๅษีชื่อว่าขุดภูเขาด้วยเล็บ
เคี้ยวกินก้อนเหล็กด้วยฟันและพยายามกลืนกินไฟ
(พระศาสดาทรงประกาศข้อความนั้นว่า)
[๑๐] มาตังคฤๅษีครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
มีความบากบั่นแน่วแน่ในสัจจะ
เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายเห็นอยู่ ได้เหาะหนีไปในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๑. มาตังคชาดก (๔๙๗)
(นางทิฏฐมังคลิการีบเสด็จไปโดยเร็วเห็นว่า)
[๑๑] ศีรษะบิดกลับไปข้างหลัง
แขนกางออกใช้การไม่ได้
นัยน์ตาขาวเหมือนนัยน์ตาของคนตายแล้ว
ใครหนอได้กระทำบุตรของดิฉันนี้ให้เป็นอย่างนี้
(ชนผู้อยู่ในที่นั้นบอกนางว่า)
[๑๒] สมณะนุ่งผ้าเก่าขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น
สวมใส่เศษผ้าจากกองขยะไว้จนถึงคอได้มา ณ ที่นี้
สมณะรูปนั้นได้กระทำบุตรของท่านนี้ให้เป็นอย่างนี้
(นางทิฏฐมังคลิกาถามว่า)
[๑๓] พ่อมาณพ สมณะผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
ได้ไปยังทิศไหนเสียเล่า
ขอท่านโปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจะไปขอโทษท่าน
ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะได้ชีวิตของบุตรนั้นคืนมา
(มาณพทั้งหลายผู้อยู่ในที่นั้นบอกว่า)
[๑๔] ฤๅษีผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดินได้เหาะไป
ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยอยู่ท่ามกลางนภากาศ
อีกอย่างหนึ่ง ฤๅษีผู้เป็นคนดีแม้รูปนั้น
ปฏิญญามั่นอยู่ด้วยสัจจะ ได้ไปทางทิศบูรพา
(นางทิฏฐมังคลิกาจะถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕] ศีรษะบิดกลับไปข้างหลัง
แขนกางออกใช้การไม่ได้
นัยน์ตาขาวเหมือนนัยน์ตาของคนตายแล้ว
ใครหนอได้กระทำบุตรของดิฉันนี้ให้เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวตอบนางว่า)
[๑๖] ยักษ์ทั้งหลายผู้มีอานุภาพมากยังมีอยู่แล
ก็ยักษ์เหล่านั้นได้ติดตามฤๅษีทั้งหลายผู้เป็นคนดี
ทราบว่าบุตรของท่านมีจิตประทุษร้าย
โกรธเคืองจึงได้ทำให้เป็นอย่างนี้
(นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า)
[๑๗] ก็ยักษ์ทั้งหลายได้กระทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้
ส่วนพระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่าโกรธบุตรดิฉันเลย
พระคุณเจ้าผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
ดิฉันขอถึงพระคุณเจ้าเท่านั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นบาทเบื้องต้น
ดิฉันได้ติดตามมาด้วยความโศกถึงบุตร
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๘] ทั้งในกาลนั้น ทั้งเดี๋ยวนี้ การคิดประทุษร้ายทางใจบางอย่าง
ของอาตมาก็ไม่มีแก่อาตมา ส่วนบุตรของท่านเป็นผู้มัวเมาเพราะ
ความเมาในพระเวท เรียนจบพระเวทแล้วหารู้จักประโยชน์ไม่
(นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า)
[๑๙] แน่นอน ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
ธรรมดาคนเรา สัญญาย่อมเลือนไปเพียงชั่วครู่
พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
ขอพระคุณเจ้าจงอดโทษสักครั้งหนึ่งเถิด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธรุนแรง
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตผู้ถูกนางทิฏฐมังคลิกาอ้อนวอนขอโทษให้บุตร จึง
กล่าวว่า)
[๒๐] นี้ก้อนข้าวที่อาตมาฉันเหลือ
มัณฑัพยบุตรของท่านผู้มีปัญญาน้อยจงบริโภค
ยักษ์ทั้งหลายไม่พึงเบียดเบียนมัณฑัพยบุตรของท่าน
และบุตรของท่านจักเป็นผู้ไม่มีโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(ลำดับนั้น มารดากล่าวกับบุตรว่า)
[๒๑] พ่อมัณฑัพยะ เจ้าเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา
ไม่ฉลาดต่อบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญ
ได้ให้ทานในบุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาดมากมาย
ผู้มีการงานเศร้าหมอง ไม่สำรวม
[๒๒] บางพวกเกล้าผมเป็นชฎา บางพวกนุ่งหนังสัตว์
บางพวกปากมีหนวดรุงรังเหมือนบ่อน้ำเก่า
เจ้าจงดูหมู่ชนนี้ มีรูปทราม
มวยผมและหนังสัตว์คุ้มครองคนมีปัญญาทรามไม่ได้
[๒๓] ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
ชนเหล่านั้นมีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นพระอรหันต์
ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้นมีผลมาก
มาตังคชาดกที่ ๑ จบ

๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
ว่าด้วยจิตตบัณฑิตกับพระเจ้าสัมภูตบัณฑิต
(พระราชาทรงขับเพลงขับว่า)
[๒๔] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อย ชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
เราเห็นสัตว์ผู้เกิดมามีอานุภาพมาก
ซึ่งเกิดแต่ผลบุญ เพราะกรรมของตน
[๒๕] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
แม้ท่านจิตตบัณฑิตมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนา
เหมือนอย่างเราแลหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(เมื่อพระเจ้าสัมภูตะทรงขับเพลงจบลง กุมารขับเพลงตอบถวายพระราชาว่า)
[๒๖] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล
ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่
ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ แม้จิตตบัณฑิตพระองค์ก็โปรด
ทราบเถิดว่า ท่านมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนาเหมือนพระองค์
(พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้ว จึงตรัสว่า)
[๒๗] เจ้าเป็นจิตตดาบสหรือหนอ หรือว่าเจ้าฟังมาจากคนอื่น
หรือใครได้บอกเรื่องนั้นกับเจ้า คาถาเจ้าขับดีแล้ว
เราไม่มีความสงสัย และเราจะให้บ้านส่วยแก่เจ้า ๑๐๐ หลัง
(ลำดับนั้น กุมารกราบทูลว่า)
[๒๘] ข้าพระองค์มิใช่จิตตฤๅษี และข้าพระองค์มิได้ฟังมาจากคนอื่น
แต่ฤๅษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า
เจ้าจงไป จงขับคาถาตอบพระราชา
พระราชาทรงพอพระทัย พึงพระราชทานพรแก่เจ้าบ้าง
(พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้วจึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษเตรียมกระบวนว่า)
[๒๙] พวกพนักงานจงเทียมราชรถที่ตกแต่งสวยงาม
เย็บปักอย่างวิจิตรตระการตา จงผูกสายรัดสัปคับช้าง
สวมเครื่องประดับคอ
[๓๐] ชาวพนักงานจงนำกลอง ตะโพน และสังข์มา
และจงเทียมราชยานที่เร็ว
วันนี้ เราจักไปสู่อาศรมที่เราเห็นฤๅษีนั่งอยู่
(พระเจ้าสัมภูตะเสด็จเข้าไปหาจิตตบัณฑิตดาบส ทรงดีพระทัยแล้วตรัสว่า)
[๓๑] หม่อมฉันเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ
คาถาอันเขาขับดีแล้ว ณ ท่ามกลางบริษัท
หม่อมฉันนั้นมีปีติและโสมนัสเพราะได้เห็นฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยสีลวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
(ตั้งแต่ได้พบจิตตบัณฑิตดาบส พระเจ้าสัมภูตะทรงโสมนัส จึงรับสั่งพวก
ราชบุรุษให้เตรียมสถานที่แล้วตรัสว่า)
[๓๒] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ
และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด
ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่า๑ต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ
ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของที่มีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด
(พระเจ้าสัมภูตะเมื่อจะทรงแบ่งราชสมบัติถวายครึ่งหนึ่ง จึงตรัสว่า)
[๓๓] ขอพระองค์จงสร้างพระตำหนักที่น่ารื่นรมย์สำหรับพระองค์
ขอพระองค์ทรงให้หมู่นารีบำเรอเถิด
และจงให้โอกาสเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉัน
แม้เราทั้ง ๒ จะครอบครองความเป็นใหญ่ร่วมกัน
(จิตตบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า)
[๓๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมาเห็นผลของทุจริต
และวิบากยิ่งใหญ่แห่งธรรมที่ประพฤติดีแล้วจักสำรวมตนอย่างเดียว
จึงไม่ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์
[๓๕] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เพียง ๑๐ ปีเท่านั้น
ชีวิตนั้นยังไม่ทันถึงเขตกำหนดซูบซีดไปเหมือนต้นอ้อที่ถูกตัด
[๓๖] ในสภาพชีวิตอย่างนั้นจะเพลิดเพลิน จะเล่นสนุกสนาน
จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน
ประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาสำหรับอาตมา
อาตมาพ้นแล้วจากเครื่องผูก มหาบพิตร
[๓๗] อาตมานั้นทราบชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราชจะไม่เมินเฉยต่ออาตมา
ผู้ถูกมฤตยูครอบงำ จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน

เชิงอรรถ :
๑ ของที่มีค่า ในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่คู่ควรแก่การต้อนรับแขก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
[๓๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน
ชาติกำเนิดของนรชนไม่สม่ำเสมอ
ในหมู่มนุษย์ กำเนิดแห่งคนจัณฑาลนับว่าต่ำต้อยที่สุด
ในชาติก่อน พวกเราได้อาศัยอยู่ในครรภ์ของหญิงจัณฑาล
เพราะกรรมชั่วช้าของตน
[๓๙] พวกเราได้เกิดเป็นคนจัณฑาลในอวันตีชนบท
ได้เกิดเป็นเนื้ออยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้เกิดเป็นนกเขาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทา
แต่วันนี้เราทั้ง ๒ นั้นเป็นพราหมณ์และกษัตริย์
(จิตตบัณฑิตดาบสเมื่อให้พระเจ้าสัมภูตะเกิดอุตสาหะในบุญกุศลทั้งหลาย จึง
กล่าวว่า)
[๔๐] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นกำไรเลย
[๔๑] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นผลเลย
[๔๒] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชีวิตที่ถูกชรานำไปย่อมไม่มีผู้ต้านทาน
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีธุลีแปดเปื้อนบนพระเศียรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต] ๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
[๔๓] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก
ชราย่อมขจัดผิวพรรณของนรชนผู้แก่ชรา
ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ
ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา
มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมเพื่อเกิดในนรกเลย
(เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้น พระราชาทรงยินดีแล้วจึงตรัสว่า)
[๔๔] คำของพระองค์นั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง
คำนั้นเป็นเหมือนดังที่ฤๅษีกล่าว
แต่กามของหม่อมฉันมีอยู่มิใช่น้อย
ข้าแต่ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร
กามเหล่านั้นคนเช่นหม่อมฉันละได้ยาก
[๔๕] หม่อมฉันจมอยู่ในเปือกตมคือกาม
ไม่อาจดำเนินตามทางของภิกษุได้
เหมือนช้างเชือกที่จมอยู่ในท่ามกลางเปือกตม
เห็นที่เนินอยู่ก็ไม่อาจจะไปได้
[๔๖] มารดาบิดาพร่ำสอนบุตรด้วยหวังว่า
เขาจะมีความสุขได้อย่างไร แม้ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระองค์ก็ฉันนั้น พร่ำสอนหม่อมฉัน
โดยที่หม่อมฉันละโลกนี้ไปแล้วจะพึงเป็นสุขสิ้นกาลนาน
(พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตถวายพระพรว่า)
[๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมชน
หากมหาบพิตรไม่ทรงสามารถจะละกามซึ่งเป็นของมนุษย์เหล่านี้ได้
ขอพระองค์ทรงตั้งพลีกรรมที่เป็นธรรมเถิด มหาบพิตร
อนึ่ง การกระทำที่ไม่เป็นธรรมขออย่าได้มีในแคว้นของพระองค์เลย
[๔๘] ขอพวกทูตจงเที่ยวไปนิมนต์สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ทั่วทิศทั้ง ๔ มหาบพิตร ขอทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์
เหล่านั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗๗ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker