ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
(พระศาสดาได้ตรัส ๒ พระคาถานี้ว่า)
[๑๙] ทุชัจจมาณพ สุชัจจมาณพ นันทมาณพ
สุขวัจฉนมาณพ วัชฌมาณพ และอัทธุวสีลมาณพนั้น
มีความต้องการหญิงสาว จึงพากันละธรรมเสีย
[๒๐] ส่วนพราหมณ์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มีความก้าวหน้าในสัจจธรรม ตามรักษาธรรมอยู่
ละทิ้งอิตถีลาภเพราะเหตุอะไรเล่า
สีลวีมังสชาดกที่ ๕ จบ

๖. สุชาตาชาดก (๓๐๖)
ว่าด้วยพระนางสุชาดา
(พระนางสุชาดาเทวีทูลถามพระราชาว่า)
[๒๑] ฝ่าพระบาท ผลไม้สีแดงเกลี้ยงเกลาเหล่านี้
ที่เก็บไว้ในถาดทองคำ มีชื่อว่าผลอะไร
หม่อมฉันทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกหม่อมฉัน
(พระราชาทรงกริ้ว จึงตรัสว่า)
[๒๒] พระเทวี เมื่อก่อนเธอเป็นคนหัวโล้น
นุ่งผ้าเก่าเหน็บชายพก
เที่ยวเลือกเก็บผลไม้เหล่าใด
นี้เป็นผลไม้ประจำตระกูลของเธอ
[๒๓] หญิงต่ำทรามผู้นี้อยู่ในราชตระกูล
ย่อมเดือดร้อนไม่รื่นรมย์
โภคะทั้งหลายย่อมละผู้ไม่มีบุญไป
พวกท่านจงนำหญิงนี้กลับไปในสถานที่ที่หล่อนเก็บพุทราขาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
(อำมาตย์โพธิสัตว์คิดช่วยเหลือพระนางสุชาดาเทวี จึงกราบทูลว่า)
[๒๔] ข้าแต่มหาราช โทษคือความประมาทเลินเล่อเหล่านี้
ย่อมมีแก่หญิงผู้ได้ยศ
ขอพระองค์โปรดทรงละเว้นแก่พระนางสุชาดา
ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ
ต่อพระนางสุชาดานั้นเลย
สุชาตาชาดกที่ ๖ จบ

๗. ปลาสชาดก (๓๐๗)
ว่าด้วยพราหมณ์ขยันกวาดใบไม้
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์ถามพราหมณ์ผู้มากวาดโคนต้นไม้ว่า)
[๒๕] พราหมณ์ ท่านก็รู้อยู่ว่า
ไม้ใบต้นนี้ไม่มีจิตใจ ไม่ได้ยินเสียง และไม่มีความรู้สึก
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ลืม
เพียรพยายามถามอยู่เป็นนิตย์ถึงการนอนเป็นสุข
(พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวตอบว่า)
[๒๖] ต้นไม้ใหญ่ปรากฏได้ในที่ไกล
ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ราบเรียบ เป็นที่สถิตของเทพยดา
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงนอบน้อมไม้ใบต้นนี้
และเทพยดาผู้สถิตอยู่ในไม้ใบต้นนี้ เพราะเหตุแห่งทรัพย์
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์เลื่อมใสต่อพราหมณ์ จึงกล่าวว่า)
[๒๗] พราหมณ์ ข้าพเจ้านั้นเพ่งถึง
ความเป็นผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้ว
จักตอบแทนท่านตามอานุภาพของตน
ก็การที่ท่านมาในสำนักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แล้วทำการขวนขวายจะพึงไร้ผลได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
[๒๘] ไม้เลียบต้นใดขึ้นอยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับ
เขาล้อมรั้วไว้แล้ว เป็นที่บูชากันมาก่อน เป็นต้นไม้ใหญ่
ขุมทรัพย์ฝังไว้ที่โคนต้นไม้เลียบนั้นไม่มีเจ้าของมีอยู่
ท่านจงไปขุดเอาขุมทรัพย์นั้นเถิด
ปลาสชาดกที่ ๗ จบ

๘. ชวสกุณชาดก (๓๐๘)
ว่าด้วยราชสีห์ไม่รู้คุณนกหัวขวาน
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวกับราชสีห์ว่า)
[๒๙] พญาเนื้อ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่านตามกำลังที่ตนมีอยู่
ข้าพเจ้าจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทนบ้าง
(ราชสีห์กล่าวว่า)
[๓๐] เจ้าอยู่ในระหว่างฟันของเราผู้มีเลือดเป็นอาหาร
ผู้กระทำกรรมโหดร้ายอยู่เป็นนิตย์
การรอดชีวิตไปได้ก็นับว่าเป็นบุญอย่างใหญ่หลวง
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๑] ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว
ผู้ที่ไม่เคยทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ใคร
ผู้ที่ไม่ตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้แล้ว
น่าตำหนิ ความกตัญญูไม่มีในผู้ใด
การคบหาผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์
[๓๒] แม้ด้วยอุปการคุณที่กระทำต่อหน้า
มิตรธรรมยังหาไม่ได้ในบุคคลใด
บัณฑิตไม่ริษยา ไม่ด่าว่าบุคคลนั้น
พึงค่อย ๆ หลีกห่างจากเขาไปเสีย
ชวสกุณชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
๙. ฉวชาดก (๓๐๙)
ว่าด้วยการนั่งเรียนมนต์ไม่เหมาะสมเหมือนเรียนกับศพ
(คนจัณฑาลโพธิสัตว์ไปลักมะม่วงในพระราชอุทยาน เห็นพระราชานั่งในที่สูง
เรียนมนต์ ปุโรหิตนั่งในที่ต่ำสอนมนต์ จึงลงจากต้นมะม่วงมาตำหนิ ถูกพระราชา
ตรัสถามแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๓๓] กิจที่เราทั้ง ๓ กระทำขึ้นนี้ทั้งหมดไม่ชอบธรรม
เพราะคนทั้ง ๒ ไม่เห็นธรรมเนียม
จึงเคลื่อนคลาดจากธรรมเนียมเดิม
อาจารย์ผู้สอนมนต์นั่งต่ำ
และศิษย์ผู้เรียนมนต์นั่งสูง
(ปุโรหิตกล่าวว่า)
[๓๔] เราบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ประพฤติธรรม
ที่ฤๅษีทั้งหลายประพฤติกัน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๓๕] ท่านจงหลีกไป โลกนี้ยังกว้างใหญ่
แม้คนอื่นในชมพูทวีปก็ยังหุงข้าวกินกันอยู่
เพราะเหตุนั้น ขออธรรมที่ท่านได้ประพฤติมาแล้ว
อย่าได้ทำลายท่านเหมือนหินทำลายหม้อเลย
[๓๖] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
และประพฤติผิดธรรม
ฉวชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
๑๐. สัยหชาดก (๓๑๐)
ว่าด้วยสัยหอำมาตย์
(ฤๅษีโพธิสัตว์ได้กล่าวกับสัยหอำมาตย์ว่า)
[๓๗] เราไม่ปรารถนาแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู พร้อมกับคำนินทา
ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด สัยหอำมาตย์
[๓๘] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๓๙] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
[๔๐] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการครองราชสมบัติ
สัยหชาดกที่ ๑๐ จบ
กาลิงควรรคที่ ๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬกาลิงคชาดก ๒. มหาอัสสาโรหชาดก
๓. เอกราชชาดก ๔. ทัททรชาดก
๕. สีลวีมังสชาดก ๖. สุชาตาชาดก
๗. ปลาสชาดก ๘. ชวสกุณชาดก
๙. ฉวชาดก ๑๐. สัยหชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
๒. ปุจิมันทวรรค
หมวดว่าด้วยไม้สะเดา
๑. ปุจิมันทชาดก (๓๑๑)
ว่าด้วยเทวดาประจำต้นสะเดา
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์กล่าวกับโจรว่า)
[๔๑] จงลุกขึ้นเจ้าโจร มัวนอนอยู่ทำไม
การนอนของเจ้ามีประโยชน์อะไร
พระราชาทั้งหลายอย่าได้จับเจ้า
ผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรงในหมู่บ้านเลย
(เทวดาประจำต้นโพธิ์กล่าวว่า)
[๔๒] เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจักจับโจร
ผู้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในหมู่บ้านมิใช่หรือ
ธุระอะไรของปุจิมันทเทวดาในเรื่องนั้นเล่า
(เทวดาประจำต้นสะเดาตอบว่า)
[๔๓] อัสสัตถเทวดา ท่านไม่ทราบเรื่องระหว่างข้าพเจ้ากับโจร
พระราชาทั้งหลายจับโจรผู้กระทำผิดอย่างร้ายแรง
ในบ้านได้แล้วเสียบที่หลาวไม้สะเดา
ข้าพเจ้ามีใจระแวงในเรื่องนั้น
(เทวดาประจำต้นโพธิ์กล่าวว่า)
[๔๔] บุคคลพึงระแวงภัยที่ควรระแวง
พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง
เพราะภัยที่ยังมาไม่ถึง
นักปราชญ์จึงได้พิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒
ปุจิมันทชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
๒. กัสสปมันทิยชาดก (๓๑๒)
ว่าด้วยฤาษีกัสสปมันทิยะ
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนบิดาว่า)
[๔๕] ท่านพ่อกัสสปะ แม้เด็กหนุ่มจะด่าว่าบ้าง
ทุบตีบ้าง เพราะยังเป็นวัยรุ่น
บัณฑิตผู้ฉลาดย่อมอดทน อดกลั้น
ความผิดทั้งหมดนั้นที่เด็กวัยรุ่นทำ
[๔๖] แม้ถ้าบัณฑิตทั้งหลายวิวาทกันก็ประสานกันได้โดยเร็ว
ส่วนคนพาลแตกกันเหมือนภาชนะดิน
พวกเขาระงับเวรกันไม่ได้เลย
[๔๗] คนที่รู้โทษที่ตนล่วงเกินแล้ว และคนที่รู้จักการให้อภัย
ทั้ง ๒ คนนั้นจะสมัครสมานกันยิ่งขึ้น
ความสนิทสนมของพวกเขาย่อมไม่เสื่อมคลาย
[๔๘] ผู้ใดเมื่อชนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน
เขาสามารถประสานชนเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง
ผู้นั้นแหละเป็นผู้ยอดเยี่ยม
เป็นผู้นำภาระไป เป็นผู้ทรงธุระไว้ได้
กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒ จบ

๓. ขันติวาทิชาดก (๓๑๓)
ว่าด้วยขันติวาทีดาบส
(เสนาบดีขอร้องดาบสโพธิสัตว์ไม่ให้โกรธว่า)
[๔๙] ท่านมหาวีระ ผู้ใดสั่งให้ตัดมือ เท้า ใบหู และจมูกของท่าน
ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าให้แว่นแคว้นนี้พินาศเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
(ดาบสโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๐] พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ
เท้า ใบหู และจมูกของข้าพเจ้า
ขอให้พระราชาพระองค์นั้นจงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
บัณฑิตทั้งหลายเช่นอาตมาไม่โกรธเคืองเลย
(พระศาสดาได้ตรัส ๒ พระคาถานี้ว่า)
[๕๑] สมณะผู้ถึงสรรเสริญขันติมีในอดีตกาลนานมาแล้ว
พระเจ้ากาสีได้รับสั่งให้ประหารดาบสผู้ดำรงมั่นในขันติธรรมองค์นั้น
[๕๒] พระเจ้ากาสีเบียดเสียดอยู่ในนรก
เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนแห่งกรรมอันหยาบช้านั้น
ขันติวาทิชาดกที่ ๓ จบ

๔. โลหกุมภิชาดก (๓๑๔)
ว่าด้วยสัตว์ในโลหกุมภีนรก
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า ทุ แล้วจมลง ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๓] พวกเราเมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ ไม่ได้ให้ทาน
ไม่ได้กระทำที่พึ่งให้แก่ตน
จึงชื่อว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า ส ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๔] พวกเราไหม้อยู่ในนรกทั้งหมด ๖๐,๐๐๐ ปีบริบูรณ์
เมื่อไรหนอที่สุดจะปรากฏ
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า น ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๕] เพื่อนยาก ที่สุดไม่มี ที่สุดจะมีแต่ที่ไหน
ที่สุดจักไม่ปรากฏ เพราะว่าในกาลนั้น
เราและท่านได้ทำกรรมชั่วไว้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
(สัตว์นรกที่กล่าวว่า โส ประสงค์จะกล่าวอย่างนี้ว่า)
[๕๖] เราไปจากที่นี้แล้วได้เกิดเป็นมนุษย์
จะรู้ถ้อยคำของผู้ขอ ถึงพร้อมด้วยศีล กระทำกุศลให้มาก
โลหกุมภิชาดกที่ ๔ จบ

๕. มังสชาดก (๓๑๕)
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีขอเนื้อนายพราน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๑ ว่า)
[๕๗] ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ
คำพูดของท่านหยาบจริง ๆ เช่นกับเนื้อพังผืด
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อพังผืดแก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๒ ว่า)
[๕๘] คำว่า พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว
เป็นเช่นกับอวัยวะของมนุษย์ที่เขาพูดกันอยู่ในโลก
คำพูดของท่านเช่นกับอวัยวะ
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อล้วน ๆ แก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๓ ว่า)
[๕๙] เมื่อลูกเรียกว่าพ่อ ใจพ่อก็หวั่นไหว
คำพูดของท่านเช่นกับเนื้อหัวใจ
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน
(นายพรานกล่าวกับบุตรเศรษฐีคนที่ ๔ ว่า)
[๖๐] ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านนั้นเป็นเช่นกับป่า
คำพูดของท่านเช่นกับสมบัติทั้งหมด
นี่เพื่อน ข้าพเจ้าให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน
มังสชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
๖. สสปัณฑิตชาดก (๓๑๖)
ว่าด้วยกระต่ายบัณฑิตโพธิสัตว์
(นากกล่าวกับท้าวสักกะผู้แปลงกายเป็นพราหมณ์มาขออาหารว่า)
[๖๑] ข้าพเจ้ามีปลาตะเพียนแดงอยู่ ๗ ตัว
ซึ่งพรานเบ็ดตกขึ้นมาได้จากน้ำวางไว้บนบก
พราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่อย่างนี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๖๒] ในเวลากลางคืน ข้าพเจ้าได้นำอาหารของคนเฝ้านาคนโน้นมา
คือ เนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๒ ตัว นมส้ม ๑ หม้อ
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่นี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(ลิงกล่าวว่า)
[๖๓] มะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาที่เย็นน่ารื่นรมย์
ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบริโภคอาหารที่ข้าพเจ้ามีอยู่นี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
(กระต่ายโพธิสัตว์ไม่มีอาหาร เมื่อจะสละชีวิตของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔] งา ถั่ว และข้าวสารของกระต่ายไม่มี
ขอท่านจงบริโภคข้าพเจ้าที่สุกด้วยไฟนี้
แล้วบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด
สสปัณฑิตชาดกที่ ๖ จบ

๗. มตโรทนชาดก (๓๑๗)
ว่าด้วยการร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวกับพวกลิงว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
[๖๕] พวกท่านร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น
แต่หาได้ร้องไห้ถึงคนที่จักตายไม่
สัตว์ทั้งหลายที่ยังมีร่างกายอยู่ย่อมละชีวิตไปโดยลำดับ
[๖๖] เทวดา มนุษย์ สัตว์ ๔ เท้า หมู่ปักษี สัตว์เลื้อยคลาน
และสัตว์ที่มีร่างกายใหญ่ ไม่เป็นใหญ่ในร่างกายของตน
ถึงจะรื่นรมย์อยู่ในร่างกายนั้นก็ย่อมละชีวิตของตนไป
[๖๗] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์
มีความแปรผันไม่ยั่งยืนอย่างนี้
ความร่ำไห้คร่ำครวญเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
ทำไมท่านจึงยังเศร้าโศกอยู่เล่า
[๖๘] นักเลงก็ดี นักดื่มก็ดี คนไม่ได้รับการศึกษาก็ดี
คนโง่ก็ดี คนมุทะลุก็ดี คนไม่มีความเพียรก็ดี
คนไม่ฉลาดในธรรมก็ดี ย่อมเข้าใจนักปราชญ์ว่าเป็นคนโง่
มตโรทนชาดกที่ ๗ จบ

๘. กณเวรชาดก (๓๑๘)
ว่าด้วยหญิงหลายใจระลึกถึงความหลังใต้ต้นยี่โถแดง
(พวกนักฟ้อนได้ฟ้อนรำได้ขับเพลงขับนี้ว่า)
[๖๙] นางสามา ที่ท่านสวมกอดในเวลาที่อยู่ใต้กอต้นยี่โถแดง
ฝากข่าวมาบอกท่านถึงความที่ตนสบายดี
(โจรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกับนักฟ้อนว่า)
[๗๐] ผู้เจริญ ข่าวที่ว่า ลมพัดพาภูเขาไปได้ ข่าวนี้ไม่น่าเชื่อถือ
ถ้าลมจะพัดพาภูเขาไปได้ ก็พึงพัดพาแผ่นดินแม้ทั้งหมดไปได้
ก็นางสามาตายแล้วจะฝากข่าวมาบอกพวกเรา
ถึงความที่ตนสบายดีได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๒. ปุจิมันทวรรค ๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
(นักฟ้อนกล่าวว่า)
[๗๑] นางสามายังไม่ตายเลย และไม่ต้องการชายอื่น ได้ข่าวว่า
นางสามากินอาหารมื้อเดียว ยังต้องการแต่ท่านเท่านั้น
(โจรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๒] นางสามาได้เปลี่ยนเอาเราผู้ไม่เคยเชยชิด
กับชายผู้เคยเชยชิดกันมานาน
นางสามาคงจะเปลี่ยนเอาชายอื่นผู้ไม่ใช่ขาประจำ
กับเราผู้เป็นขาประจำแน่นอน เราจะไปจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล
กณเวรชาดกที่ ๘ จบ

๙. ติตติรชาดก (๓๑๙)
ว่าด้วยนกกระทา
(นกกระทาถามดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๗๓] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าอยู่สบายดี
และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในอันตราย
คติของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไรหนอ
(ดาบสโพธิสัตว์ตอบปัญหาของนกกระทาว่า)
[๗๔] ปักษี ถ้าใจของเธอไม่น้อมไปเพื่อกรรมชั่ว
บาปก็ไม่แปดเปื้อนเธอผู้เป็นคนดี
ไม่ขวนขวายในการกระทำกรรมชั่ว
(นกกระทาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๗๕] นกกระทาจำนวนมากมาด้วยเข้าใจว่า
ญาติของพวกเราจับอยู่ที่นี้
ย่อมประสบเคราะห์กรรมเพราะอาศัยข้าพเจ้า
ใจข้าพเจ้ารังเกียจในกรรมชั่วนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
(ดาบสโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า)
[๗๖] ถ้าใจของเธอไม่ถูกกรรมชั่วประทุษร้าย
กรรมชั่วที่นายพรานทำเพราะอาศัยเธอ ก็ไม่ถูกต้องเธอ
บาปก็ไม่แปดเปื้อนเธอผู้เป็นคนดี ผู้ขวนขวายน้อย
ติตติรชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สุจจชชาดก (๓๒๐)
ว่าด้วยพระราชาไม่ทรงสละสิ่งที่สละได้ง่าย
(พระราชเทวีตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[๗๗] พระราชาเมื่อไม่พระราชทานภูเขาด้วยเพียงพระวาจา
ชื่อว่าไม่ทรงสละสิ่งที่ควรสละได้ง่ายหนอ
ก็เมื่อพระองค์ไม่ทรงสละสิ่งนั้น ฉันจะพึงให้อะไร
พระราชาไม่พระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา
(พระราชาตรัสว่า)
[๗๘] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน
(พระราชเทวีกราบทูลว่า)
[๗๙] ข้าแต่ราชบุตร ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์ดำรงอยู่ในสัจจธรรม
ถึงแม้จะถูกเนรเทศ
ก็ยังมีพระหฤทัยยินดีในสัจจธรรม
(อำมาตย์โพธิสัตว์ได้ฟังพระเสาวนีย์ของพระเทวีผู้ตรัสคุณความดีของพระราชา
อยู่อย่างนั้น จึงประกาศคุณความดีของพระราชเทวีว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
[๘๐] หญิงใดเป็นภรรยาของสามีที่ยากจนก็พลอยยากจนด้วย
เมื่อสามีร่ำรวยก็พลอยร่ำรวยมีชื่อเสียงด้วย
หญิงนั้นนับว่าเป็นภรรยาสุดประเสริฐของเขา
ส่วนหญิงที่เป็นภรรยาของชายผู้ที่มีเงินทองอยู่แล้ว
ไม่น่าอัศจรรย์เลย
สุจจชชาดกที่ ๑๐ จบ
ปุจิมันทวรรคที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุจิมันทชาดก ๒. กัสสปมันทิยชาดก
๓. ขันติวาทิชาดก ๔. โลหกุมภิชาดก
๕. มังสชาดก ๖. สสปัณฑิตชาดก
๗. มตโรทนชาดก ๘. กณเวรชาดก
๙. ติตติรชาดก ๑๐. สุจจชชาดก

๓. กุฏิทูสกวรรค
หมวดว่าด้วยการประทุษร้ายรัง
๑. กุฏิทูสกชาดก (๓๒๑)
ว่าด้วยลิงประทุษร้ายรัง
(นกขมิ้นโพธิสัตว์กล่าวกับลิงว่า)
[๘๑] วานร ศีรษะ มือ และเท้าของท่านเหมือนของมนุษย์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรหนอ เรือนของท่านจึงไม่มี
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๒] นกขมิ้น ศีรษะ มือ และเท้าของเราเหมือนของมนุษย์ก็จริง
แต่ปัญญาที่บัณฑิตสรรเสริญว่าประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์เราไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
(นกขมิ้นโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๓] บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง กลับกลอก ประทุษร้ายมิตร
มีปกติไม่ยั่งยืนอยู่เป็นนิจ ย่อมไม่มีความสุข
[๘๔] นี่ลิง ท่านจงสร้างอานุภาพปัญญา
จงกลับตัวให้มีความเป็นปกติเสีย
จงสร้างกระท่อมป้องกันลมและความหนาวเถิด
กุฏิทูสกชาดกที่ ๑ จบ

๒. ทุททุภายชาดก (๓๒๒)
ว่าด้วยกระต่ายตื่นตูม
(กระต่ายกล่าวกับราชสีห์โพธิสัตว์ว่า)
[๘๕] ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
ข้าพเจ้าอยู่ที่ใด ที่นั้นมีเสียงดังสนั่น
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า เสียงดังสนั่นนั้นเป็นเสียงอะไร
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๘๖] กระต่ายได้ยินเสียงผลมะตูมหล่นเสียงดังสนั่นก็วิ่งหนีไป
ฝูงสัตว์ฟังคำของกระต่ายก็กลัวตัวสั่น
[๘๗] พวกคนโง่เขลายังไม่ทันรู้เรื่องแจ่มแจ้ง
ฟังคนอื่นโจษขาน ก็พากันตื่นตระหนก
พวกเขาเชื่อคนอื่นง่าย
[๘๘] ส่วนคนเหล่าใดเป็นนักปราชญ์
เพียบพร้อมด้วยศีลและปัญญา
ยินดีในความสงบ และเว้นไกลจากการกระทำชั่ว
คนเหล่านั้นหาเชื่อคนอื่นง่ายไม่
ทุททุภายชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
๓. พรหมทัตตชาดก (๓๒๓)
ว่าด้วยพระเจ้าพรหมทัต
(ดาบสโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถากับพระราชาว่า)
[๘๙] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าผู้ขอ
ย่อมได้ผล ๒ อย่าง คือ (๑) ไม่ได้ทรัพย์ (๒) ได้ทรัพย์
เพราะการขอมีสภาพเช่นนี้เป็นธรรมดา
[๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นปัญจาละ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกการขอว่า เป็นการร้องไห้
เรียกการปฏิเสธว่า เป็นการร้องไห้ตอบ
[๙๑] ชาวแคว้นปัญจาละผู้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน
ขออย่าได้เห็นอาตมภาพร้องไห้หรือเห็นพระองค์ทรงกันแสงตอบเลย
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงปรารถนาสถานที่ลับ
(พระราชาตรัสพระราชทานพรแก่ดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๙๒] ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคแดง ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน
เพราะพระอริยะได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรม
ของพระคุณเจ้าแล้วจะไม่พึงถวายแก่พระอริยะได้อย่างไร
พรหมทัตตชาดกที่ ๓ จบ

๔. จัมมสาฏกชาดก (๓๒๔)
ว่าด้วยปริพาชกชื่อจัมมสาฏกะ
(ปริพาชกยืนประนมมือต่อแพะแล้วกล่าวว่า)
[๙๓] สัตว์ ๔ เท้างดงามจริงหนอ ท่าทางสง่า และน่ารักน่าเอ็นดู
ย่อมอ่อนน้อมต่อพราหมณ์ผู้เพียบพร้อมด้วยชาติและมนต์
จักเป็นแพะประเสริฐ มียศศักดิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
(พ่อค้าบัณฑิตโพธิสัตว์ห้ามปริพาชกนั้นว่า)
[๙๔] นี่พราหมณ์ อย่าได้วางใจสัตว์ ๔ เท้าตัวนี้
ด้วยการเห็นมันเพียงครู่เดียวเลย
มันต้องการจะขวิดให้เต็มที่ จึงย่อตัวลงแสดงท่าขวิดให้เหมาะ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสว่า)
[๙๕] กระดูกขาอ่อนของปริพาชกก็หัก
บริขารที่หาบก็พลัดตกและสัมภาระทั้งหมดของพราหมณ์ก็แตก
ปริพาชกประคองแขนทั้ง ๒ ข้างคร่ำครวญอยู่ว่า
ช่วยด้วย แพะฆ่าคนประพฤติพรหมจรรย์
(ปริพาชกกล่าวว่า)
[๙๖] ผู้ที่สรรเสริญคนซึ่งไม่ควรบูชาจะถูกขวิดนอนอยู่
เหมือนเราผู้โง่เขลาถูกแพะขวิดในวันนี้
จัมมสาฏกชาดกที่ ๔ จบ

๕. โคธชาดก (๓๒๕)
ว่าด้วยฤๅษีจะกินเหี้ย
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์เมื่อสนทนากับดาบส จึงได้กล่าวว่า)
[๙๗] ข้าพเจ้าเข้าใจท่านว่าเป็นสมณะ จึงเข้าไปหาท่านผู้ไม่สำรวม
ท่านเอาท่อนไม้ขว้างปาข้าพเจ้า ทำเหมือนมิใช่สมณะ
[๙๘] นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง
ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง
เจ้าขัดสีแต่ภายนอกเท่านั้น
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๙] มาเถิดเหี้ย เจ้าจงกลับมากินข้าวสาลีสุก
น้ำมัน เกลือ และดีปลีของเรายังมีอยู่เพียงพอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้านั้นจะเข้าไปยังจอมปลวกที่ลึกถึง ๑๐๐ ชั่วคน
น้ำมัน เกลือ และดีปลีของท่านจะมีประโยชน์อะไร
สิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์สำหรับข้าพเจ้า
โคธชาดกที่ ๕ จบ

๖. กักการุชาดก (๓๒๖)
ว่าด้วยผู้สมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(หัวหน้าเทพบุตรองค์ที่ ๑ กล่าวกับพระราชาผู้ขอดอกไม้ทิพย์ว่า)
[๑๐๑] ผู้ใดไม่ลักทรัพย์ด้วยกาย ไม่พูดเท็จ
ได้ยศแล้วก็ไม่มัวเมา ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๒ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๒] ผู้ใดแสวงหาทรัพย์อันน่าปลื้มใจโดยชอบธรรม
ไม่หลอกลวงเอาทรัพย์เขามา ได้โภคะทั้งหลายแล้วไม่มัวเมา
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๓ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๓] ผู้ใดมีจิตไม่หน่ายเร็ว มีศรัทธาไม่คลายง่าย
ไม่บริโภคโภชนะอร่อยเพียงคนเดียว
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
(เทพบุตรองค์ที่ ๔ กล่าวกับปุโรหิตว่า)
[๑๐๔] ผู้ใดไม่ด่าว่าสัตบุรุษต่อหน้าหรือลับหลัง
พูดอย่างไรทำอย่างนั้น
ผู้นั้นแหละสมควรได้ดอกกักการุทิพย์
กักการุชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
๗. กากวตีชาดก (๓๒๗)
ว่าด้วยนางกากวดี
(นฏกุเวรคนธรรพ์ยืนอยู่ในราชสำนัก ได้ขับร้องเพลงว่า)
[๑๐๕] นางผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้าอยู่ที่ใด
กลิ่นกายนางก็ยังหอมฟุ้งมาจากที่นั้น
ข้าพเจ้ามีใจกำหนัดยินดีในนางใด
นางนั้นชื่อว่ากากวดี อยู่ไกลจากนี้
(พญาครุฑได้ฟังดังนั้น จึงถามว่า)
[๑๐๖] ท่านข้ามสมุทรไปได้อย่างไร
ข้ามแม่น้ำเกปุกะไปได้อย่างไร
ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้อย่างไร
และขึ้นไปยังวิมานฉิมพลีได้อย่างไร
(นฏกุเวรคนธรรพ์ตอบว่า)
[๑๐๗] ข้าพเจ้าข้ามสมุทรไปได้เพราะท่าน
ข้ามแม่น้ำเกปุกะไปได้เพราะท่าน
ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้เพราะท่าน
และขึ้นไปยังวิมานฉิมพลีได้ก็เพราะท่าน
(พญาครุฑได้กล่าวว่า)
[๑๐๘] น่าติเตียนจริง เราตัวใหญ่เสียเปล่า
แต่หามีความคิดไม่
เพราะเราได้นำชายชู้ของเมียตัวเองทั้งไปทั้งกลับ
กากวตีชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๓. กุฏิทูสกวรรค ๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
๘. อนนุโสจิยชาดก (๓๒๘)
ว่าด้วยทุกคนไม่ควรเศร้าโศก
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนว่า)
[๑๐๙] ตาปสินีผู้เจริญไปอยู่ในหมู่ชนเป็นจำนวนมากที่ตายแล้ว
นางผู้อยู่ร่วมกับพวกคนตายเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึง
นางสัมมิลลหาสินีตาปสินีผู้เป็นที่รัก
[๑๑๐] ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศกถึงความตายที่ไม่มีแก่สัตว์ผู้เศร้าโศก
ควรเศร้าโศกถึงตนผู้ตกอยู่ในอำนาจของมัจจุทุกเมื่อเถิด
[๑๑๑] อายุสังขารจะติดตามสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน
และเดินไปมาเท่านั้นก็หาไม่
วัยย่อมติดตามเหล่าสัตว์แม้กระทั่งลืมตาและหลับตา
[๑๑๒] เมื่อความพลัดพรากมีอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย
ในอัตภาพที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้อย่างนี้
บุคคลควรเอ็นดูสัตว์ที่ยังเป็นอยู่ยังเหลืออยู่
ไม่ควรเศร้าโศกถึงสัตว์ที่ตายไปแล้ว
อนนุโสจิยชาดกที่ ๘ จบ

๙. กาฬพาหุชาดก (๓๒๙)
ว่าด้วยลิงชื่อกาฬพาหุ
(นกแขกเต้าโปฏฐปาทะกล่าวกับนกแขกเต้าราธโพธิสัตว์ผู้เป็นพี่ชายว่า)
[๑๑๓] เมื่อก่อน เราได้ข้าวและน้ำใดจากราชสำนัก
บัดนี้ ข้าวและน้ำนั้นไปหาลิง๑เท่านั้น พี่ราธะ
เรากลับไปป่ากันเถิด เพราะพระเจ้าธนัญชัยไม่สักการะเราแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ แปลถอดความจากคำบาลีว่า สาขมิค แปลว่า เนื้อที่อยู่บนกิ่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
(นกราธโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๑๔] น้องโปฏฐปาทะเอ๋ย โลกธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้
คือ ความมีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ
นินทา สรรเสริญ สุข และทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง
เจ้าอย่าเศร้าโศกไปเลย จะเศร้าโศกไปทำไม
(นกโปฏฐปาทะกล่าวว่า)
[๑๑๕] พี่ราธะ พี่เป็นบัณฑิตแแท้ ๆ ย่อมรู้ประโยชน์ที่ยังไม่มาถึง
ทำอย่างไร เราจะเห็นลิงชั่วถูกไล่ออกจากราชตระกูล
(นกราธโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๑๖] ลิงกาฬพาหุกระดิกหู กลอกหน้ากลอกตา
ทำให้พระราชกุมารหวาดกลัวอยู่บ่อย ๆ
มันจะทำตนเองให้อดข้าวและน้ำ๑
กาฬพาหุชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สีลวีมังสชาดก (๓๓๐)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(ปุโรหิตโพธิสัตว์ยืนอยู่ในที่ใกล้พระราชา ได้พรรณนาศีลด้วยคาถานี้ว่า)
[๑๑๗] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งดีงาม ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่มีพิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่าตนมีศีล
(พระโพธิสัตว์เห็นโทษของกามแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๑๘] ตราบใด เหยี่ยวนั้นยังคาบชิ้นเนื้อใด ๆ อยู่
ตราบนั้น เหยี่ยวทั้งหลายในโลกก็พากันรุมจิกตีกัน
แต่พวกมันจะไม่เบียดเบียนเหยี่ยวที่ไม่มีความกังวล

เชิงอรรถ :
๑ แปลถอดความจากคำบาลีว่า เยนารกา ฐสฺสติ อนฺนปานา แปลว่า อยู่ห่างไกลจากข้าวและน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
[๑๑๙] คนที่ไม่มีความหวังย่อมหลับสบาย
ความหวังที่ได้ผลสมหวังเป็นความสุข
นางปิงคลาทำความหวังให้สิ้นแล้วย่อมหลับสบาย
[๑๒๐] ความสุขอื่นยิ่งกว่าสมาธิไม่มีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
คนผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมไม่เบียดเบียนทั้งผู้อื่นและตนเอง
สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐ จบ
กุฏิทูสกวรรคที่ ๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุฏิทูสกชาดก ๒. ทุททุภายชาดก
๓. พรหมทัตตชาดก ๔. จัมมสาฏกชาดก
๕. โคธชาดก ๖. กักการุชาดก
๗. กากวตีชาดก ๘. อนนุโสจิยชาดก
๙. กาฬพาหุชาดก ๑๐. สีลวีมังสชาดก

๔. โกกิลวรรค
หมวดว่าด้วยลูกนกดุเหว่า
๑. โกกิลชาดก (๓๓๑)
ว่าด้วยลูกนกดุเหว่า
(อำมาตย์แก้วโพธิสัตว์ ได้กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๑] ผู้ใดพูดเมื่อยังไม่ถึงเวลาพูด ก็พูดเกินเวลา
ผู้นั้นจะถูกกำจัดนอนตายอยู่ เหมือนลูกนกดุเหว่า
[๑๒๒] ธรรมดาศัสตราที่ลับจนคมดีแล้ว
เหมือนยาพิษที่มีพิษร้ายแรงจะให้ตกไปในทันทีหาได้ไม่
เหมือนวาจาที่เป็นทุพภาษิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๓. โคธชาดก (๓๓๓)
[๑๒๓] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้
ทั้งในเวลาที่ควรพูดและไม่ควรพูด
ไม่ควรพูดให้เกินเวลาแม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน
[๑๒๔] ส่วนผู้ใดมีความคิดเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณา
เห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะกับกาลเวลา
ผู้นั้นย่อมจับศัตรูทั้งหมดไว้ได้ดุจนกครุฑจับนาคได้
โกกิลชาดกที่ ๑ จบ

๒. รถลัฏฐิชาดก (๓๓๒)
ว่าด้วยปุโรหิตโกรธประหารผู้อื่นด้วยปะฏัก
(อำมาตย์ผู้พิพากษาโพธิสัตว์ กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๕] ข้าแต่มหาราช คนบางคนทำร้ายตนเอง
กลับพูดว่า ถูกทำร้าย
ตนเองชนะ กลับพูดว่า ตนแพ้
ดังนั้น ไม่ควรเชื่อคนที่เป็นโจทก์ฝ่ายเดียว
[๑๒๖] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นชาติบัณฑิตควรฟังฝ่ายจำเลยบ้าง
เมื่อฟังคำของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วควรตัดสินโดยธรรม
[๑๒๗] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[๑๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
รถลัฏฐิชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๓. โคธชาดก (๓๓๓)
๓. โคธชาดก (๓๓๓)
ว่าด้วยพระราชาหลอกกินเหี้ยย่าง
(พระเทวีตรัสกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ เมื่อพระองค์ทรงเหน็บพระขรรค์
สวมเกราะ ทรงภูษาผ้าเปลือกไม้อยู่ ณ ท่ามกลางป่า
ในกาลนั้นแล หม่อมฉันได้รู้จักพระองค์อย่างชัดเจน
เหี้ยย่างที่กิ่งต้นอัสสัตถะได้หนีไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๓๐] บุคคลควรนอบน้อมแก่ผู้ที่นอบน้อม
ควรคบผู้ที่คบด้วย ควรทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ
ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่
ผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
และไม่ควรคบแม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะคบด้วย
[๑๓๑] ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้ง และไม่ควรทำความเยื่อใย
ไม่ควรคบกับผู้มีจิตใจเหินห่าง
ควรมองหาผู้อื่น(ที่มีความเยื่อใย)
เหมือนนกรู้ว่า ต้นไม้นี้หมดผลแล้วก็ไปยังต้นไม้อื่น
เพราะว่าโลกกว้างใหญ่
(พระราชาทรงระลึกถึงคุณความดีของพระเทวีได้ จึงตรัสกับพระเทวีว่า)
[๑๓๒] เรานั้นเป็นกษัตริย์มุ่งความกตัญญู (อุปการคุณที่เธอกระทำแล้ว)
จะกระทำการตอบแทนเธอตามความสามารถ
อนึ่ง เราจะมอบความเป็นใหญ่ให้แก่เธอทั้งหมด
เธอประสงค์สิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น
โคธชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
๔. ราโชวาทชาดก (๓๓๔)
ว่าด้วยดาบสถวายโอวาทแด่พระราชา
(ดาบสโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๓๓] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว
[๑๓๔] ในหมู่มนุษย์ ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์
[๑๓๕] เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป
ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง
โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน
ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง
[๑๓๖] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่
ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม
ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย
หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม
ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข๑
ราโชวาทชาดกที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๐/๑๑๕-๑๑๖, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๐๔-๑๐๗/๒๑, ๑๖๘-๑๗๑/๓๑-๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
๕. ชัมพุกชาดก (๓๓๕)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชัมพุกะอวดเก่ง
(ราชสีห์โพธิสัตว์สอนสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๓๗] ชัมพุกะ ช้างนั้นมีร่างกายสูงใหญ่และมีงายาว
เจ้าไม่ได้เกิดในตระกูลของราชสีห์ที่สามารถจับช้างได้
(ราชสีห์โพธิสัตว์ยืนอยู่บนยอดภูเขา เห็นสุนัขจิ้งจอกถึงความพินาศ จึงกล่าวว่า)
[๑๓๘] สัตว์ใดมิใช่ราชสีห์ ทำท่าทางเหมือนราชสีห์
สัตว์นั้นจะเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบแล้ว
นอนทอดอาลัยอยู่บนแผ่นดิน
[๑๓๙] ผู้ใดไม่รู้กำลังกาย กำลังปัญญา
และกำเนิดของบุคคลผู้มียศ ผู้สูงสุด
มีร่างกายใหญ่และมั่นคง มีกำลังมาก
ผู้นั้นก็เหมือนชัมพุกะที่ถูกช้างฆ่านอนตายอยู่
[๑๔๐] ส่วนผู้ใดในโลกนี้รู้กำลังกายและกำลังปัญญาในตน
พิจารณาด้วยความรู้ที่ได้เล่าเรียนศึกษามา
และด้วยคำสุภาษิต ประมาณตนแล้วจึงทำการงาน
ผู้นั้นย่อมมีชัยอย่างไพบูลย์
ชัมพุกชาดกที่ ๕ จบ

๖. พรหาฉัตตชาดก (๓๓๖)
ว่าด้วยพระกุมารชื่อพรหาฉัตต์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาในเวลาที่ทรงบ่นเพ้อว่า)
[๑๔๑] พระองค์ทรงบ่นอยู่ว่า หญ้า หญ้า
ใครหนอนำหญ้ามาถวายพระองค์
พระองค์มีกิจที่จะพึงทำด้วยหญ้าหรือหนอ
จึงตรัสแต่คำว่า หญ้า หญ้า เท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๒] ฉัตตฤๅษีนั้นมีร่างกายสูง เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต
มาแล้วที่นี้ ลักเอาทรัพย์ทั้งหมดของเราไป
ใส่หญ้าไว้ในตุ่มแทนแล้วหนีไป
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๔๓] ผู้ต้องการใช้หญ้ามีค่าน้อยแลกทรัพย์จำนวนมาก
ย่อมต้องกระทำอย่างนี้ คือ ถือเอาทรัพย์ของตน
แต่ไม่ถือเอาหญ้าซึ่งไม่ควรถือเอา
การพิไรรำพันในเรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไร
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๔๔] คนมีศีลไม่กระทำเช่นนั้น
คนพาลทำเช่นนั้นเป็นปกติ
ทำไมหนอจะทำคนที่มีศีลไม่มั่นคง
ซึ่งเป็นคนทุศีลให้เป็นบัณฑิตได้
พรหมฉัตตชาดกที่ ๖ จบ

๗. ปีฐชาดก (๓๓๗)
ว่าด้วยเศรษฐีถวายตั่งตามตระกูล
(เศรษฐีกรุงพาราณสีได้กล่าวกับดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๕] ข้าพเจ้ามิได้ถวายตั่ง น้ำดื่ม
และโภชนาหารแด่พระคุณเจ้า
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเห็นโทษนั้นอยู่
(พระดาบสโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] อาตมามิได้ติดใจ มิได้โกรธเคือง
และมิได้มีความไม่พอใจแม้แต่น้อย
อนึ่ง แม้อาตมาก็ยังคิดคำนึงในใจอยู่ว่า
หน้าที่ในตระกูลเป็นเช่นนี้แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๔. โกกิลวรรค ๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๗] พวกข้าพเจ้าถวายอาสนะ น้ำดื่ม
และน้ำมันทาเท้า ทุกสิ่งทุกเมื่อ
นี้เป็นหน้าที่ในตระกูลครั้งปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า
[๑๔๘] พวกข้าพเจ้าบำรุงสมณะและพราหมณ์โดยเคารพ
ในกาลทุกเมื่อเหมือนญาติผู้ใหญ่
นี้เป็นธรรมในตระกูลครั้งบิดาและปู่ของข้าพเจ้า
ปีฐชาดกที่ ๗ จบ

๘. ถุสชาดก (๓๓๘)
ว่าด้วยหนูไม่กินแกลบ
(ในเวลาที่พระโอรสมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารเย็น
พระราชาแห่งกรุงพาราณสีตรัสกับพระโอรสว่า)
[๑๔๙] แกลบก็ปรากฏโดยความเป็นแกลบ
และข้าวสารก็ปรากฏโดยความเป็นข้าวสารแก่หนูทั้งหลาย
แต่พวกหนูเว้นแกลบเสียแล้วเคี้ยวกินเฉพาะข้าวสารเท่านั้น
(ในเวลามีการเข้าเฝ้าเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๐] การปรึกษากันในป่าก็ดี การกระซิบกันในบ้านก็ดี
การวางแผนฆ่าเราก็ดี ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
(ครั้นพระราชาประทับยืนอยู่ที่หัวบันได ก็ตรัสว่า)
[๑๕๑] ได้ยินว่า พ่อของลิงกัดผล(ลูกอัณฑะ)ของลูกลิง
ที่เกิดตามธรรมชาติเสียตั้งแต่ยังเล็กอยู่
(พระราชาประทับยืนที่ธรณีประตู ตรัสอีกว่า)
[๑๕๒] การที่เจ้ากระสับกระส่ายอยู่เหมือนแพะตาบอดในไร่ผักกาด
และเจ้านอนอยู่ใต้แท่นบรรทม ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
ถุสชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
๙. พาเวรุชาดก (๓๓๙)
ว่าด้วยความเสื่อมลาภของกาในแคว้นพาเวรุ
(พระศาสดาทรงประมวลอดีตนิทานมาแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๕๓] เพราะยังไม่เห็นนกยูงที่มีหงอน มีเสียงอันไพเราะ
ประชาชนในแคว้นพาเวรุนั้นได้พากันบูชากาด้วยเนื้อและผลไม้
[๑๕๔] แต่เมื่อใดนกยูงที่มีเสียงไพเราะมายังแคว้นพาเวรุ
เมื่อนั้นลาภและสักการะของกาก็เสื่อมถอยไป
[๑๕๕] ตราบใดพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา
ผู้ทำโลกให้สว่างไสวยังมิได้อุบัติขึ้น ตราบนั้น
ประชาชนก็พากันบูชาสมณะและพราหมณ์เหล่าอื่นจำนวนมาก
[๑๕๖] แต่เมื่อใดพระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงไพเราะทรงแสดงธรรม
เมื่อนั้นลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป
พาเวรุชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. วิสัยหชาดก (๓๔๐)
ว่าด้วยวิสัยหเศรษฐี
(ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสกับวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๗] ท่านวิสัยหเศรษฐี เมื่อก่อนท่านได้ให้ทาน
ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น โภคะทั้งหลายของท่าน
ก็สิ้นไปเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป ถ้าท่านจะไม่พึงให้ทาน
โภคะทั้งหลายของท่านผู้งดให้ทานก็จะพึงดำรงอยู่
(วิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ได้ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๕๘] ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวอนารยธรรมว่า
เป็นกิจที่อริยชนหรือแม้คนยากจนไม่ควรทำ
ท่านจอมชน เราพึงสละศรัทธาเพราะเหตุแห่งการบริโภคทรัพย์ใด
ขอทรัพย์นั้นอย่าพึงเกิดแก่เราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
[๑๕๙] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็จะแล่นไปทางนั้น
ท้าววาสวะ ธรรมเนียมที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแต่ก่อน
ขอจงดำเนินต่อไปเถิด
[๑๖๐] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ก็จะให้เรื่อยไป
เมื่อไม่มีชีวิตจะให้อย่างไร
ข้าพเจ้าแม้มีสภาพอย่างนี้ ก็ยังจะให้
ข้าพเจ้าจะไม่ลืมการให้เลย
วิสัยหชาดกที่ ๑๐ จบ
โกกิลวรรคที่ ๔ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โกกิลชาดก ๒. รถลัฏฐิชาดก
๓. โคธชาดก ๔. ราโชวาทชาดก
๕. ชัมพุกชาดก ๖. พรหมฉัตตชาดก
๗. ปีฐชาดก ๘. ถุสชาดก
๙. พาเวรุชาดก ๑๐. วิสัยหชาดก

๕. จูฬกุณาลวรรค
หมวดว่าด้วยนกกุณาละหมวดสั้น
๑. กุณฑลิกชาดก (๓๔๑)
ว่าด้วยกุณฑลิกราชา
(ในเรื่องที่พญานกกุณาละพูดกับนกปุณณมุขะนี้มีคาถาประพันธ์ไว้อีกส่วนหนึ่งว่า)
[๑๖๑] บรรดาพวกผู้หญิงที่ทำความรื่นรมย์ให้แก่พวกผู้ชาย
เป็นคนหลายใจ ไม่มีใครจะบังคับได้
แม้ถ้าว่าพวกนางจะพึงทำให้เกิดความพอใจในที่ทั้งปวง
ก็ไม่ควรไว้ใจ เพราะว่าพวกผู้หญิงเปรียบเสมือนท่าน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
(พญานกกุณาละเกิดเป็นปัญจาลจัณฑปุโรหิต นำเหตุที่ตนได้เห็นมาแสดงว่า)
[๑๖๒] บัณฑิตเห็นเหตุคลายความกำหนัดของพญากินนร
และพญากินนรีแล้ว พึงทราบเถิดว่า
ผู้หญิงทั้งปวงไม่ยินดีในเรือนของสามี
เหมือนภรรยาได้ทอดทิ้งสามีคู่ชีวิตเช่นนั้นไป
เพราะพบชายอื่นแม้เป็นคนง่อยเปลี้ย
(พญานกกุณฑลิกะเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต เมื่อจะแสดงเรื่องที่ตนได้ทราบ
มาแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๖๓] พระมเหสีของพระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวรี
ผู้หมกมุ่นอยู่ในกามมากเกินไป
ได้เป็นชู้กับมหาดเล็กคนสนิทของพระนาง
มีหรือผู้หญิงทั้งหลายจะไม่พึงเป็นชู้กับชายอื่น
(พญานกกุณฑลิกะเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต เมื่อจะแสดงเรื่องที่ตนเห็นมาเอง
จึงกล่าวว่า)
[๑๖๔] พระนางปิงคิยานี อัครมเหสีผู้เป็นที่รัก
ของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งมวล
ได้เป็นชู้กับคนเลี้ยงม้าผู้ใกล้ชิดพระนาง
พระนางเป็นผู้มักมากในกาม มิได้ประสบผลแม้ทั้ง ๒ อย่าง๑
กุณฑลิกชาดกที่ ๑ จบ

๒. วานรชาดก (๓๔๒)
ว่าด้วยวานรโพธิสัตว์
(วานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับจระเข้ว่า)
[๑๖๕] ข้าพเจ้าสามารถขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
จระเข้ บัดนี้ข้าพเจ้าไม่ตกอยู่ในอำนาจของท่านอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ คือ ไม่ได้พบคนเลี้ยงม้าและไม่ได้ครองตำแหน่งอัครมเหสี (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๑๓/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
[๑๖๖] พอกันทีสำหรับผลมะม่วง ลูกหว้า และขนุน
ที่ต้องข้ามฝั่งสมุทรไปกิน ผลมะเดื่อของเราดีกว่า
[๑๖๗] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรูและจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๖๘] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
และจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง
วานรชาดกที่ ๒ จบ

๓. กุนตินีชาดก (๓๔๓)
ว่าด้วยนางนกกระเรียน
(นางนกกระเรียนกราบทูลพระราชาโพธิสัตว์ว่า)
[๑๖๙] ข้าพระองค์ได้อาศัยอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
ได้รับสักการะอยู่เนืองนิตย์
บัดนี้ พระองค์ได้ทรงก่อเหตุแห่งความเสียใจให้แก่ข้าพระองค์
ข้าแต่มหาราช เอาเถิด ข้าพระองค์จะลาไปยังป่าหิมพานต์
(พระราชาโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๗๐] ผู้ใดรู้กรรมชั่วร้ายที่คนอื่นทำแก่ตน
และรู้กรรมชั่วร้ายที่ตนทำตอบแก่เขา
เวรของผู้นั้นย่อมระงับไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้
แม่นกกระเรียน เพราะฉะนั้น เธอจงอยู่เถิด อย่าไปเลย
(นางนกระเรียนได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๑๗๑] มิตรภาพของผู้ประทุษร้ายและของผู้ถูกประทุษร้าย
ย่อมสมานกันไม่ได้อีก ใจไม่อนุญาตให้อยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์จักไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๗๒] มิตรภาพของผู้ประทุษร้ายและของผู้ถูกประทุษร้าย
พวกที่เป็นนักปราชญ์ย่อมสมานกันได้อีก
แต่พวกที่โง่เขลาย่อมสมานกันไม่ได้
แม่นกกระเรียน เธอจงอยู่เถิด อย่าไปเลย
กุนตินีชาดกที่ ๓ จบ

๔. อัมพชาดก (๓๔๔)
ว่าด้วยพระขรัวตาเฝ้าสวนมะม่วง
(ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๑ กล่าวคำสาบานแก่ชฏิลโกงว่า)
[๑๗๓] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นจงตกอยู่ในอำนาจของชายที่ย้อมผมให้ดำ
และลำบากด้วยการใช้แหนบ(ถอนผมหงอกที่งอกแซมขึ้นมา)
(ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๒ กล่าวคำสาบานแก่ชฏิลโกงว่า)
[๑๗๔] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
หญิงนั้นถึงจะมีอายุตั้ง ๒๐ ปี ๒๕ ปี
หรือยังไม่ถึง ๓๐ ปี ก็ขออย่าหาผัวได้เลย
(ต่อจากนั้น ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๓ กล่าวคำสาบานว่า)
[๑๗๕] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นถึงจะกระเสือกกระสนเดินทางอันยาวไกลเพียงคนเดียว
ก็อย่าได้พบผัวแม้ในสถานที่ที่ได้นัดหมายกันไว้เลย
(ต่อจากนั้น ลูกสาวเศรษฐีคนที่ ๔ จึงกล่าวคำสาบานบ้างว่า)
[๑๗๖] หญิงใดได้ลักผลมะม่วงทั้งหลายของท่านไป
ขอหญิงนั้นถึงจะมีที่อยู่อันสะอาด ตกแต่งร่างกายสวยงาม
ประดับประดาด้วยระเบียบดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์
ก็จงนอนอยู่บนที่นอนเพียงคนเดียวเถิด
อัมพชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
๕. คชกุมภชาดก (๓๔๕)
ว่าด้วยสัตว์เลื้อยคลานชื่อคชกุมภะ
(อำมาตย์แก้วโพธิสัตว์กล่าวกับตัวคชกุมภะว่า)
[๑๗๗] เจ้าตัวโยกเยก๑ เจ้ามีความเชื่องช้าอย่างนี้
คราวเมื่อไฟป่าไหม้ป่า เจ้าจะทำอย่างไร
(ตัวคชกุมภะได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[๑๗๘] โพรงไม้และรอยแตกระแหงของแผ่นดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ถ้าพวกข้าพเจ้าหนีเข้าไปไม่ทัน พวกข้าพเจ้าก็ตาย
(อำมาตย์โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๗๙] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ กลับทำงานอย่างเร็วพลัน
ในคราวที่ควรทำอย่างรีบด่วน กลับทำอย่างเชื่องช้า
ผู้นั้นย่อมหักราญประโยชน์ของตนเอง
เหมือนคนแข็งแรงเหยียบใบตาลแห้ง
[๑๘๐] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ ก็ค่อย ๆ ทำงานอย่างช้า ๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
ประโยชน์ของผู้นั้นก็บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด ยังราตรีให้สว่างอยู่
คชกุมภชาดกที่ ๕ จบ

๖. เกสวชาดก (๓๔๖)
ว่าด้วยเกสวดาบส
(นารทอำมาตย์กล่าวกับเกสวดาบสว่า)

เชิงอรรถ :
๑ เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระพองช้าง เมื่อจะเดินต้องโยกตัวก่อน หรือโยกตัวอยู่บ่อย ๆ จึงเรียก
ตัวโยกเยก (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๗๗/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
[๑๘๑] ทำไมหนอ เกสวดาบสผู้มีโชคจึงได้ละพระเจ้ากรุงพาราณสี
ผู้เป็นจอมมนุษย์ ผู้ยังความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้
กลับมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[๑๘๒] ท่านนารทอำมาตย์ สถานที่อันน่ารื่นรมย์
ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ได้มีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจก็มีอยู่
แต่ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปดาบส
ย่อมทำให้เรารื่นรมย์ยินดี
(นารทอำมาตย์กล่าวว่า)
[๑๘๓] พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เหตุไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสชาติมิได้
จึงทำให้พระคุณเจ้าพอใจ
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[๑๘๔] โภชนะจะดีหรือไม่ดี จะน้อยหรือมากก็ตาม
บุคคลผู้มีความคุ้นเคยกันบริโภคในที่ใด
โภชนะที่บริโภคแล้วในที่นั้น เป็นของดีทั้งนั้น
เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง
เกสวชาดกที่ ๖ จบ

๗. อยกูฏชาดก (๓๔๗)
ว่าด้วยยักษ์ถือพะเนินเหล็กใหญ่
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับยักษ์ว่า)
[๑๘๕] วันนี้ท่านที่ถือพะเนินเหล็กล้วน ๆ ใหญ่เหลือประมาณ
ยืนอยู่กลางอากาศ ถูกเขาแต่งตั้งมาเพื่อคุ้มครองรักษาข้าพเจ้า
หรือว่าพยายามจะฆ่าข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
(ยักษ์ฟังคำของพระราชาโพธิสัตว์แล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๑๘๖] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เป็นทูตถูกพวกรากษสส่งมาที่นี้
เพื่อปลงพระชนม์พระองค์
แต่ว่าพระอินทเทวราชคุ้มครองพระองค์อยู่
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงผ่าพระเศียรของพระองค์ไม่ได้
(พระราชาโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัส ๒ คาถาว่า)
[๑๘๗] ก็ถ้าท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นจอมแห่งเทพ
พระสวามีของพระนางสุชาดาคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าอยู่
พวกปีศาจทั้งปวงจงแผดเสียงคำรามไปเถิด
ข้าพเจ้าไม่สะดุ้งกลัวพวกรากษส๑เลย
[๑๘๘] พวกกุมภัณฑ์และพวกปีศาจในกองหยากเยื่อทั้งปวง
จงคร่ำครวญไปเถิด
ปีศาจทั้งหลายไม่สามารถจะรบกับข้าพเจ้าได้
ท่าทางที่ทำให้น่ากลัวนั้นมีอยู่เป็นอันมาก
อยกูฏชาดกที่ ๗ จบ

๘. อรัญญชาดก (๓๔๘)
ว่าด้วยวัตรของผู้ออกจากป่า
(ดาบสหนุ่มกล่าวกับดาบสผู้เป็นบิดาว่า)
[๑๘๙] คุณพ่อ ลูกออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว
ควรจะคบคนมีศีลอย่างไร มีข้อปฏิบัติอย่างไร
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกข้อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ รากษส ในที่นี้หมายถึงยักษ์ร้าย ผีเสื้อน้ำ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๘๗/๓๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
(ดาบสผู้เป็นบิดาตอบว่า)
[๑๙๐] ลูกรัก ผู้ใดพึงทำให้ลูกเบาใจ
อดทนความคุ้นเคยของลูกได้
เชื่อฟังและอดกลั้นถ้อยคำของลูกได้
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้น
[๑๙๑] ผู้ใดไม่กระทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงดำรงตนอยู่เหมือนลูกในไส้คบผู้นั้นเถิด
[๑๙๒] คนที่มีจิตกลับกลอกเหมือนลิง
รักง่ายหน่ายเร็วดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น
ลูกรัก ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไร้มนุษย์
ลูกก็อย่าคบคนเช่นนั้นเลย
อรัญญชาดกที่ ๘ จบ

๙. สันธิเภทชาดก (๓๔๙)
ว่าด้วยการทำลายมิตรไมตรี
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับนายสารถีว่า)
[๑๙๓] นายสารถี สัตว์ตัวเมียทั้ง ๒ ตัวไม่เหมือนกัน
และอาหารก็ไม่เหมือนกัน
ต่อมาภายหลัง เจ้าสุนัขจิ้งจอกชั่วนี้ยุให้แตกสามัคคีกัน
ดูเถิด เรื่องที่เราคิดถูกต้องพียงใด
[๑๙๔] ฝูงสุนัขจิ้งจอกพากันกินโคอุสภะ
และราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด
คำส่อเสียดนั้น จึงเป็นไปถึงตัดมิตรไมตรี
เพราะเนื้อเป็นเหตุ เหมือนดาบอันคมกริบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๕. จูฬกุณาลวรรค ๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
[๑๙๕] นายสารถี เจ้าเห็นการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ ตัวนี้ไหม
ผู้ใดเชื่อถือถ้อยคำของผู้ส่อเสียด มุ่งทำลายมิตรไมตรี
ผู้นั้นจะต้องนอนตายอย่างนี้
[๑๙๖] นายสารถี ชนเหล่าใดไม่เชื่อถ้อยคำของผู้มุ่งทำลายมิตรไมตรี
ชนเหล่านั้นย่อมประสบความสุข เหมือนคนไปสวรรค์
สันธิเภทชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. เทวตาปัญหชาดก (๓๕๐)
ว่าด้วยปัญหาของเทวดา
(พระราชาตรัสบอกปัญหาที่เทวดาถามแก่พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตว่า)
[๑๙๗] บุคคลใช้มือทั้ง ๒ เท้าทั้ง ๒ ทุบตีและตบปากผู้อื่น
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการทุบตีนั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๒ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๑๙๘] บุคคลด่าผู้อื่นตามใจชอบ
แต่ปรารถนาการกลับมาของเขา
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการด่านั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๓ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๑๙๙] บุคคลกล่าวตู่กันด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง
พากันโจทกันด้วยถ้อยคำไม่จริง
ข้าแต่มหาราช เขากลับเป็นที่รักของกันและกัน
เพราะเหตุแห่งการกล่าวตู่และโจทกันนั้น
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ ๔ ตามที่เทวดาถามว่า)
[๒๐๐] บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป
พวกเขาผู้นำไปกลับเป็นที่รักโดยแท้
พวกเขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการนำสิ่งของไป
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร๑
เทวตาปัญหชาดกที่ ๑๐ จบ
จูฬกุณาลวรรคที่ ๕ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุณฑลิกชาดก ๒. วานรชาดก
๓. กุนตินีชาดก ๔. อัมพชาดก
๕. คชกุมภชาดก ๖. เกสวชาดก
๗. อยกูฏชาดก ๘. อรัญญชาดก
๙. สันธิเภทชาดก ๑๐. เทวตาปัญหชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. กาลิงควรรค ๒. ปุจิมันทวรรค
๓. กุฏิทูสกวรรค ๔. โกกิลวรรค
๕. จูฬกุณาลวรรค

จตุกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เฉลยปัญหาว่า ผู้ใช้มือเท้าทุบตีผู้อื่น คือเด็กเล็ก ๆ ผู้ถูกทุบตี คือมารดา ผู้ด่าผู้
อื่นตามชอบใจ คือมารดา ผู้ถูกด่า คือบุตร ผู้กล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริง คือคู่รักกัน ผู้ที่นำสิ่งของ
ไป คือสมณพราหมณ์ ผู้ที่พอใจให้นำไป คือทายก (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๐๐/๒๘๔-๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๘ }


๕. ปัญจกนิบาต
๑. มณิกุณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
๑. มณิกุณฑลชาดก (๓๕๑)
ว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
(พระราชาโจรเข้าไปหาพระราชาโพธิสัตว์แห่งกรุงพาราณสีแล้วตรัสว่า)
[๑] พระองค์หมดสิ้น รถ ม้า และต่างหูแก้วมณี
อนึ่ง พระองค์หมดสิ้นพระโอรสและนางสนม
เมื่อโภคะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย
เพราะเหตุใด พระองค์ไม่ทรงเดือดร้อนในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[๒] โภคะทั้งหลายละทิ้งสัตวโลกไปก่อนก็มี
สัตวโลกละทิ้งโภคะเหล่านั้นไปก่อนก็มี
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงใคร่อยู่ในกาม
โภคะทั้งหลายที่สัตว์ใช้สอยอยู่เป็นของไม่แน่นอน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
[๓] ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็แหว่งเว้าไป
ดวงอาทิตย์ทำโลกส่วนใหญ่ให้อบอุ่นแล้วลับขอบฟ้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายข้าพระองค์ทราบดีแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่พระราชาโจรแล้วทรงติเตียนว่า)
[๔] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
[๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
มณิกุณฑลชาดกที่ ๑ จบ

๒. สุชาตชาดก (๓๕๒)
ว่าด้วยสุชาตกุมารโพธิสัตว์
(บิดาของสุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๖] ทำไมหนอ ลูกดูเหมือนรีบเร่งเกี่ยวหญ้าสดเขียวขจี
แล้วกล่าวบ่นเพ้อกับโคแก่ที่ตายไปแล้วว่า
เจ้าจงกิน เจ้าจงกิน
[๗] โคที่ตายไปแล้วลุกขึ้นมาไม่ได้เพราะข้าวเพราะน้ำ
ลูกบ่นเพ้อไปเปล่า ๆ เหมือนคนไร้ความคิด
(สุชาตกุมารโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า)
[๘] หัวของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
สองเท้าหน้า สองเท้าหลัง หาง
และหูของโคก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
ผมสำคัญว่า โคตัวนี้จะพึงลุกขึ้นได้
[๙] ส่วนศีรษะ มือทั้ง ๒ และเท้าทั้ง ๒ ของคุณปู่ไม่ปรากฏเลย
คุณพ่อนั่นแหละร้องไห้อยู่ที่สถูปดิน เป็นคนไร้ความคิดมิใช่หรือ
(บิดาชมเชยบุตรว่า)
[๑๐] ลูกช่วยระงับพ่อผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนใช้น้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
[๑๑] ลูกนั้นได้บรรเทาความเศร้าโศกของพ่อผู้กำลังเศร้าโศกถึงปู่
ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบที่หัวใจของพ่อขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒] พ่อผู้อันลูกได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก ไม่มีความขุ่นมัว
จะไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ เพราะได้ฟังคำของลูก ลูกเอ๋ย
[๑๓] นรชนทั้งหลายผู้มีปัญญา จะเป็นผู้อนุเคราะห์
ย่อมกระทำให้ผู้อื่นปราศจากความเศร้าโศก
เหมือนสุชาตกุมารทำให้บิดาปราศจากความเศร้าโศก
สุชาตชาดกที่ ๒ จบ

๓. เวนสาขชาดก (๓๕๓)
ว่าด้วยต้นไม้ป้องกันภัยไม่ได้
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวสอนพรหมทัตตกุมารว่า)
[๑๔] พรหมทัตตกุมาร ความเกษมสำราญ ภิกษาที่หาได้ง่าย
ความสุขสำราญกาย ทั้งหมดนี้ไม่มีตลอดกาลเป็นนิตย์
เมื่อประโยชน์สิ้นไป ท่านอย่าได้หลงลืม
เหมือนคนเรือแตกท่ามกลางสาครเลย
[๑๕] คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
(พรหมทัตตกุมารนั้นกำหนดคำของพระโพธิสัตว์ได้แล้ว บ่นเพ้ออยู่ว่า)
[๑๖] ท่านอาจารย์ปาราสริยะได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้ทำความชั่วที่ทำแล้วจะทำตนให้เดือดร้อนในภายหลัง
คำนี้เป็นคำของอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๔. อรุคชาดก (๓๕๔)
[๑๗] ปิงคิยะ เราได้สำเร็จโทษกษัตริย์ ๑,๐๐๐ พระองค์
ผู้ประดับพระวรกาย ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ที่ต้นไม้ใด
ต้นไม้นั้นมีกิ่งก้านสาขาแผ่ไพศาลคือต้นนี้เอง
ทุกข์นั้นนั่นแหละก็กลับมาสนองเรา
(ต่อมาพรหมทัตตกุมารทรงคร่ำครวญอยู่อย่างนั้น หวนระลึกถึงพระอัครมเหสี
จึงกล่าวว่า)
[๑๘] พระนางสามาผู้มีพระวรกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
งามระหงดั่งกิ่งไผ่ที่แกว่งไกวไปมา
เราไม่เห็นพระมเหสีจักตาย
การไม่ได้เห็นพระมเหสีของเรานั้น
จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์คือความตายนี้
เวนสาขชาดกที่ ๓ จบ

๔. อุรคชาดก (๓๕๔)
ว่าด้วยคนตายเหมือนงูลอกคราบ
(พราหมณ์โพธิสัตว์บอกเหตุแห่งการไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๑๙] บุตรของข้าพเจ้าละทิ้งร่างกายของตนไป เหมือนงูลอกคราบเก่า
เมื่อร่างกายใช้การไม่ได้ จึงละไปตายไปอย่างนี้
[๒๐] เขาถูกเผาก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของหมู่ญาติ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(นางพราหมณีบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๑] บุตรของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าไม่ได้เชิญมาจากโลกอื่น เขาก็มา
ข้าพเจ้ามิได้อนุญาต ก็ไปจากโลกนี้
เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น
จะคร่ำครวญไปทำไมเพราะการไปของเขานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๔. อรุคชาดก (๓๕๔)
[๒๒] เขากำลังถูกเผา ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(น้องสาวบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๓] ถ้าข้าพเจ้าร้องไห้ ก็จะพึงมีร่างกายผ่ายผอม
จะมีผลอะไรแก่ข้าพเจ้าเล่า
ญาติ มิตร สหายของข้าพเจ้าจะไม่มีความพอใจอย่างยิ่ง
[๒๔] พี่ชายของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(ภรรยาบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๕] คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว เปรียบเสมือนทารกที่ร้องไห้
ต้องการดวงจันทร์ที่โคจรไปในอากาศ
[๒๖] สามีของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
(สาวใช้บอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะว่า)
[๒๗] คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว เป็นสิ่งไร้ประโยชน์
เปรียบเสมือนหม้อน้ำที่แตกแล้วจะประสานให้สนิทเหมือนเดิมไม่ได้
[๒๘] นายของข้าพเจ้ากำลังถูกเผา
ก็ไม่รู้ถึงความคร่ำครวญของพวกญาติ
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา
เขาไปแล้วตามคติของเขา
อุรคชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
๕. ฆฏชาดก (๓๕๕)
ว่าด้วยพระเจ้าฆฏะ
(พระเจ้าธังกะตรัสถามพระราชาโพธิสัตว์ว่า)
[๒๙] ชนเหล่าอื่นเศร้าโศก ร้องไห้ มีน้ำตานองหน้า
ส่วนพระองค์มีพระพักตร์ผ่องใส
พระเจ้าฆฏะ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่เศร้าโศก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลถึงเหตุที่ไม่เศร้าโศกแก่พระเจ้าธังกะว่า)
[๓๐] ความโศกนำสิ่งที่ล่วงไปแล้วคืนมาไม่ได้
นำความสุขที่ยังไม่มาถึงมาให้ไม่ได้
พระเจ้าธังกะ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศก
เพราะความเป็นสหายในความเศร้าโศกไม่มี
[๓๑] ผู้เศร้าโศกย่อมมีร่างกายผอมเหลืองและเบื่ออาหาร
เมื่อเขาถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงจนซูบซีด
พวกศัตรูก็พากันดีใจ
[๓๒] เราจะอยู่บ้านหรืออยู่ป่า
อยู่ที่ลุ่มหรืออยู่ที่ดอนก็ตาม
ความพินาศจะไม่มาถึงเราเลย
เพราะเราได้พบทางแล้วอย่างนี้
[๓๓] ตนเองผู้เดียวเท่านั้นก็ไม่สามารถจะนำ
รสอันน่าใคร่ทั้งปวง๑ มาถวายแก่พระราชาพระองค์ใดได้
แม้แผ่นดินทั้งปวงก็จักนำความสุขมาถวาย
แด่พระราชาพระองค์นั้นไม่ได้
ฆฏชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รสอันน่าใคร่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงสุขในฌาน (ขุ.ชา.อ. ๔/๓๓/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
๖. การันทิยชาดก (๓๕๖)
ว่าด้วยการันทิยพราหมณ์
(อาจารย์เจรจากับการันทิยโพธิสัตว์ว่า)
[๓๔] เจ้าคนเดียวรีบเกินไป ยกหินก้อนใหญ่ทิ้งลงไปที่ซอกเขาในป่า
นี่เจ้าการันทิยะ จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยการทิ้งก้อนหินลงที่ซอกเขานี้
(การันทิยโพธิสัตว์ฟังคำของท่านแล้ว ประสงค์จะปลุกอาจารย์ให้รู้สึก จึงกล่าวว่า)
[๓๕] กระผมเกลี่ยก้อนดินและก้อนหินลงไป
จะกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ซึ่งมีสาครเป็นขอบเขต
ให้เรียบเสมอดังฝ่ามือ
เพราะฉะนั้น กระผมจึงทิ้งก้อนหินลงไปที่ซอกเขา
(พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๖] มนุษย์คนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินนี้ให้สม่ำเสมอดังฝ่ามือได้
นี่เจ้าการันทิยะ เราสำคัญว่า
เจ้าเมื่อปรารถนาจะทำซอกเขานี้ให้เต็ม
จะต้องละชีวโลกไปเสียก่อน
(การันทิยโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ถ้ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่ให้เสมอได้
ท่านพราหมณ์ ท่านก็เหมือนกัน จักนำมนุษย์เหล่านี้
ซึ่งมีความเห็นต่าง ๆ กันมาสู่อำนาจของตนไม่ได้
(อาจารย์ได้ฟังดังนั้นรู้ว่าตัวพลาดไปแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๓๘] เจ้าการันทิยะ เจ้าได้บอกข้อความที่เป็นจริงแก่เราโดยย่อ
ข้อนี้เป็นเช่นนั้น แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้เสมอได้ฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
การันทิยชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
๗. ลฏุกิกชาดก (๓๕๗)
ว่าด้วยนางนกไส้
(นางนกไส้ประคองปีกยืนข้างหน้าพญาช้างโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า)
[๓๙] พญาช้าง ข้าพเจ้าขอไหว้ท่าน
ผู้มีกำลังเสื่อมถอยโดยกาลที่มีอายุ ๖๐ ปี
ผู้อยู่ในป่า เป็นจ่าโขลง เพียบพร้อมด้วยยศ๑
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง ๒ ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(นางนกไส้นั้นกล่าวต้อนรับพญาช้างนั้นผู้เที่ยวไปตามลำพังเชือกเดียวว่า)
[๔๐] พญาช้าง๒ ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านผู้เที่ยวไปผู้เดียว
อยู่ในป่า หากินตามเชิงเขา
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง ๒ ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(พญาช้างไดัฟังคำของนางนกไส้นั้น จึงกล่าวว่า)
[๔๑] นี่นางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้า
เจ้ามีกำลังน้อยจะทำอะไรได้
เราจะใช้เท้าซ้ายบดขยี้นกไส้เช่นเจ้า
แม้ตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ ตัวให้แหลกราญ
(นางนกไส้แอบอยู่ที่กิ่งไม้กล่าวคุกคามพญาช้างนั้นว่า)
[๔๒] กำลังไม่ใช่ว่าจะทำกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
เพราะว่า คนโง่เขลามีกำลังไว้เพื่อฆ่าผู้อื่นและตนเอง
พญาช้าง ข้าพเจ้าจะทำความหายนะให้แก่ท่าน
ที่ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของเรา

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.ชา.อ. ๔/๓๙/๓๘๙)
๒ พญาช้าง ในที่นี้ชาติต่อมาคือพระเทวทัต (ขุ.ชา.อ. ๔/๔๓/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
(พระศาสดาทรงประมวลชาดก ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๔๓] ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว
สัตว์เหล่านี้ได้ฆ่าช้างแล้ว จงดูการจองเวรของคนคู่เวรทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น พวกเธออย่าก่อเวรกับใคร ๆ แม้กับคนไม่เป็นที่รักเลย
ลฏุกิกชาดกที่ ๗ จบ

๘. จูฬธัมมปาลชาดก (๓๕๘)
ว่าด้วยจูฬธรรมปาลกุมาร
(พระนางจันทาเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๔๔] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดมือทั้ง ๒ ของหม่อมฉันเถิด
[๔๕] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดเท้าทั้ง ๒ ของหม่อมฉันเถิด
[๔๖] หม่อมฉันเท่านั้นที่ตัดความเจริญ
กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ
ฝ่าพระบาท ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยธรรมปาลกุมาร
และโปรดทรงตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด
[๔๗] มิตรหรืออำมาตย์บางคนที่มีจิตใจงดงาม
อ่อนโยนของพระราชาพระองค์นี้คงไม่มีแน่
คนที่จะทูลทัดทานพระราชาว่า
ขอพระองค์โปรดอย่าสำเร็จโทษพระราชบุตร
ผู้ที่พระองค์ให้กำเนิดก็ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
[๔๘] พระญาติหรือพระสหายบางคนที่มีจิตใจงดงาม
อ่อนโยนของพระราชาพระองค์นี้คงไม่มีแน่
คนที่จะทูลทัดทานพระราชาว่า ขอพระองค์โปรดอย่าสำเร็จโทษ
พระโอรสผู้ที่พระองค์ให้กำเนิดก็ไม่มี
[๔๙] พระพาหาทั้ง ๒ ที่ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดินมาขาดสิ้นไป
ฝ่าพระบาท ลมปราณของหม่อมฉันก็จะดับสิ้นไป
จูฬธัมมปาลชาดกที่ ๘ จบ

๙. สุวัณณมิคชาดก (๓๕๙)
ว่าด้วยพญากวางทอง
(ภรรยาของพญาเนื้อโพธิสัตว์เมื่อจะให้พญาเนื้อเกิดอุตสาหะจึงกล่าวว่า)
[๕๐] พญาเนื้อผู้มีเท้าดุจทองคำ ท่านจงพยายามดึงเถิด
จงกัดบ่วงหนังให้ขาด ฉันจะรื่นรมย์อยู่ในป่าผู้เดียวไม่ได้
(พญาเนื้อโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ฉันพยายามดึงอยู่ก็ไม่สำเร็จ ฉันตะกุยพื้นดินอย่างแรง
บ่วงหนังอันเหนียวก็ยิ่งบาดเท้าของฉัน
(นางเนื้อกล่าวแก่นายพรานว่า)
[๕๒] นายพราน ท่านจงปูลาดใบไม้
ชักดาบออกมาฆ่าข้าพเจ้าก่อน
แล้วจงฆ่าพญาเนื้อในภายหลัง
(นายพรานได้ฟังดังนั้นมีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวว่า)
[๕๓] เราไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อนว่า
แม่เนื้อพูดภาษามนุษย์ได้
นี่แม่เนื้อผู้เจริญ ตัวเจ้าและพญาเนื้อตัวนี้จงเป็นสุขเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๑. มณิกุณฑลวรรค ๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
(นางพญาเนื้อกล่าวว่า)
[๕๔] นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพญาเนื้อ
พ้นจากอันตรายแล้วย่อมร่าเริงฉันใด
ขอท่านพร้อมกับญาติทั้งหมดจงร่าเริงฉันนั้นเถิด
สุวัณณมิคชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สุสันธีชาดก (๓๖๐)
ว่าด้วยพระนางสุสันธี
(คนธรรพ์ชื่ออัคคะ ครั้นในเวลาพญาครุฑโพธิสัตว์มาเล่นสกา จึงถือพิณ
ขับร้องถวายพระราชาว่า)
[๕๕] กลิ่นดอกติมิระหอมตลบอบอวล
คลื่นสมุทรกระทบฝั่งดังกึกก้อง
พระนางสุสันธีประทับอยู่ไกลจากพระนครนี้มาก
พระเจ้าตัมพะ กามทั้งหลายย่อมเสียดแทงข้าพระองค์
(พญาครุฑได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๖] ท่านข้ามสมุทรไปได้อย่างไร
เห็นเกาะเสรุมะได้อย่างไร
ท่านอัคคะ พระนางกับท่านพบกันได้อย่างไร
(ลำดับนั้น คนธรรพ์ชื่ออัคคะได้กล่าวว่า)
[๕๗] เมื่อเรือพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ออกไปจากท่าภรุกัจฉา
ถูกปลามังกรตีแตก ข้าพเจ้าเกาะแผ่นกระดานลอยไป
[๕๘] พระนางสุสันธีมีพระวรกายหอมเพราะกลิ่นจันทน์อยู่เป็นนิตย์
ทรงปลอบโยนข้าพระองค์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะนุ่มนวล
แล้วทรงอุ้มข้าพระองค์เหมือนมารดาอุ้มลูกในไส้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
[๕๙] พระนางสุสันธีมีดวงพระเนตรอ่อนโยน
ทรงบำรุงข้าพระองค์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า
และที่นอนด้วยพระองค์เอง
ข้าแต่พระเจ้าตัมพะ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
สุสันธีชาดกที่ ๑๐ จบ
มณิกุณฑลวรรคที่ ๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มณิกุณฑลชาดก ๒. สุชาตชาดก
๓. เวนสาขชาดก ๔. อุรคชาดก
๕. ฆฏชาดก ๖. การันทิยชาดก
๗. ลฏุกิกชาดก ๘. จูฬธัมมปาลชาดก
๙. สุวัณณมิคชาดก ๑๐. สุสันธีชาดก

๒. วัณณาโรหวรรค
หมวดว่าด้วยมีผิวพรรณต่างกัน
๑. วัณณาโรหชาดก (๓๖๑)
ว่าด้วยผู้มีผิวพรรณและทรวดทรงต่างกัน
(เสือโคร่งเข้าไปหาพญาราชสีห์แล้วถามว่า)
[๖๐] ท่านผู้มีเขี้ยวงาม ท่านได้กล่าวว่า
เสือโคร่งชื่อสุพาหุไม่ประเสริฐไปกว่าเรา
ด้วยผิวพรรณ ทรวดทรง ชาติ กำลังกาย
และกำลังความเพียรหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
(ราชสีห์กล่าวตอบว่า)
[๖๑] สุพาหุ ท่านได้กล่าวว่า
ราชสีห์ตัวมีเขี้ยวงามไม่ประเสริฐไปกว่าเรา
ด้วยผิวพรรณ ทรวดทรง ชาติ กำลังกาย
และกำลังความเพียรหรือ
[๖๒] สุพาหุเพื่อนรัก ถ้าท่านประทุษร้ายเรา
ผู้อยู่ร่วมกับท่านอย่างนี้
บัดนี้ เราไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกับท่านต่อไป
[๖๓] ผู้ใดเชื่อฟังถ้อยคำของบุคคลเหล่าอื่นอย่างจริงจัง
ผู้นั้นพึงแตกจากมิตรโดยเร็วพลัน
และพึงประสบเวรเป็นอันมาก
[๖๔] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใด ผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
วัณณาโรหชาดกที่ ๑ จบ

๒. สีลวีมังสชาดก (๓๖๒)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์รู้ว่า ศีลสำคัญกว่าสุตะ จึงได้กราบทูลพระราชาว่า)
[๖๕] ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า
ศีลประเสริฐกว่า หรือสุตะประเสริฐกว่า
บัดนี้ ข้าพระองค์หมดความสงสัยแล้วว่า
ศีลนั่นแลประเสริฐกว่าสุตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๔. ขัขโชปนกชาดก (๓๖๔)
[๖๖] ชาติและผิวพรรณเป็นของเปล่าประโยชน์
ทราบมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐสุด
บุคคลไม่มีศีล มีเพียงสุตะเท่านั้น
ย่อมไม่มีความเจริญ
[๖๗] กษัตริย์ไม่ดำรงอยู่ในธรรม แพศย์ไม่อิงอาศัยธรรม
ชนทั้ง ๒ นั้นละโลกทั้ง ๒ ไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[๖๘] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนเทขยะ
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วย่อมเป็นผู้เสมอกันในเทวโลก
[๖๙] พระเวทก็ตาม ชาติก็ตาม พวกพ้องก็ตาม
ไม่สามารถจะให้ยศและความสุขในสัมปรายภพได้
แต่ศีลของตนที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น
นำความสุขมาให้ในสัมปรายภพ
สีลวีมังสชาดกที่ ๒ จบ

๓. หิริชาดก (๓๖๓)
ว่าด้วยความละอาย
(เศรษฐีชาวกรุงพาราณสีพูดกับคนทั้งหลายว่า)
[๗๐] บัณฑิตพึงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
เกลียดชังความเป็นมิตร
กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตรของท่าน
แต่ไม่เอื้อเฟื้อการงานที่เหมาะสมกับคำพูดว่า
บุคคลผู้นี้มิใช่มิตรของเรา
[๗๑] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๔. ขัขโชปนกชาดก (๓๖๔)
[๗๒] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใดผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
[๗๓] กุลบุตรเมื่อเห็นผลและอานิสงส์
เมื่อนำธุระ๑อันเป็นของบุรุษไปอยู่
ชื่อว่าย่อมบำเพ็ญฐานะที่ทำความปราโมทย์
และความสุขอันนำความสรรเสริญมาให้
[๗๔] บุคคลดื่มรสอันเกิดเพราะความสงัด
และรสแห่งความสงบชื่อว่าดื่มรสคือปีติในธรรม
ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป
หิริชาดกที่ ๓ จบ

๔. ขัชโชปนกชาดก (๓๖๔)
ว่าด้วยหิ่งห้อย
(เทวดาคุกคามพระราชาแล้วกล่าวสอนด้วยการยกขัชโชปนปัญหาดังนี้ว่า)
[๗๕] ใครหนอ เมื่อไฟลุกโพลงอยู่ ยังเที่ยวแสวงหาไฟ
ได้เห็นหิ่งห้อยในยามราตรี กลับสำคัญว่าไฟ
[๗๖] เขาขยี้โคมัยและหญ้าให้เป็นจุรณ
แล้วเกลี่ยลงบนหิ่งห้อยนั้น
ก็ไม่อาจจะให้ไฟลุกโพลงได้
[๗๗] คนโง่เป็นดุจคนใบ้ แม้โดยอุบายไม่ถูกวิธีอย่างนี้ก็ไม่ได้ผล
เหมือนคนรีดนมจากเขาโคย่อมไม่ได้น้ำนม

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ธุระ ในที่นี้ ได้แก่ ธุระ ๔ คือ ทาน ศีล ภาวนา มิตรภาพ ( ขุ.ชา.อ. ๔/๗๓/๔๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
[๗๘] ชนทั้งหลายบรรลุประโยชน์ที่ต้องการด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ
คือ การข่มศัตรูและยกย่องมิตร
[๗๙] พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายทรงครอบครองแผ่นดิน
อันมีทรัพย์สมบัติอยู่ได้ก็ด้วยการได้หมู่อำมาตย์มีแม่ทัพเป็นประมุข
และด้วยการถวายคำแนะนำของหมู่อำมาตย์ราชวัลลภ
ขัชโชปนกชาดกที่ ๔ จบ

๕. อหิตุณฑิกชาดก (๓๖๕)
ว่าด้วยหมองู
(หมองูกล่าวกับลิงว่า)
[๘๐] นี่เพื่อนผู้มีใบหน้างาม
เราเป็นนักเลงแพ้การพนันสะกา
เจ้าจงโยนมะม่วงสุกมาให้บ้าง
เราจะได้กินมะม่วงเพราะความพยายามของเจ้า
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๘๑] นี่เพื่อน ท่านสรรเสริญข้าพเจ้า
ผู้มีปกติหลุกหลิกด้วยคำไม่จริงเลย
ท่านได้ยินหรือได้เห็นลิงตัวไหนบ้างที่มีใบหน้างาม
[๘๒] นี่หมองู การที่ท่านเข้าไปยังร้านขายข้าวเปลือกเมาแล้ว
เฆี่ยนตีข้าพเจ้าผู้หิวโหย ยังฝังใจข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้
[๘๓] ข้าพเจ้าเมื่อระลึกถึงการนอนอันเป็นทุกข์นั้นอยู่
ถึงแม้ท่านจะให้ครองราชสมบัติ แล้วขอมะม่วงก็ไม่ยอมให้
เพราะข้าพเจ้าถูกท่านคุกคามอย่างน่ากลัวเช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
[๘๔] นักปราชญ์ควรผูกความเป็นเพื่อนมิตรไมตรีกับคนผู้ที่ตนรู้ว่า
มีชาติตระกูล มีความอิ่มในครรภ์๑ ไม่ตระหนี่
อหิตุณฑิกชาดกที่ ๕ จบ

๖. คุมพิยชาดก (๓๖๖)
ว่าด้วยยักษ์คุมพิยะ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแล้วตรัสว่า)
[๘๕] ยักษ์คุมพิยะ เมื่อแสวงหาเหยื่อได้วางยาพิษ
อันมีสี รส และกลิ่นเหมือนน้ำผึ้งไว้ในป่า
[๘๖] เหล่าชนผู้เข้าใจว่า เป็นน้ำผึ้ง ได้ลิ้มยาพิษเข้าไป
ยาพิษนั้นออกฤทธิ์แรงกล้าแก่พวกเขา
พวกเขาจึงถึงความตายเพราะยาพิษนั้น
[๘๗] ส่วนเหล่าชนที่พิจารณาเห็นว่า นั่นคือยาพิษ
แล้วงดเว้นเสียก็อยู่เป็นสุข ปราศจากทุกข์
ขณะที่พวกอื่นทุรนทุราย ถูกยาพิษเผาผลาญ
[๘๘] กามทั้งหลายที่ฝังอยู่ในหมู่มนุษย์
บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้ว่า เป็นพิษ
กามนั้นเป็นทั้งเหยื่อเป็นทั้งเครื่องผูก
ถ้ำที่อาศัยคือร่างกายตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราช
[๘๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้กระสับกระส่ายย่อมงดเว้น
กามทั้งหลายอันเป็นเครื่องบำเรอกิเลสเหล่านี้ได้ทุกเมื่ออย่างนี้
ย่อมล่วงพ้นเครื่องข้องในโลกได้
คุมพิยชาดกที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีความอิ่มในครรภ์ หมายถึงบุคคลผู้อิ่มด้วยโภชนะรสดีในครรภ์แห่งมารดาก็ตาม (อยู่ในครรภ์ก็ได้รับ
การบำรุงดี) หรือในห้องนอนที่ประดับตกแต่งไว้แล้วก็ตาม (คลอดแล้วก็ได้รับการบำรุงดี) เป็นคนไม่กำพร้า
ด้วยหวังใช้สอยโภคสมบัติ ควรผูกมิตรกับคนเช่นนี้ (ขุ.ชา.อ. ๔/๘๔/๔๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
๗. สาลิยชาดก (๓๖๗)
ว่าด้วยลูกนกสาลิกา
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทผู้ประชุมกันอยู่ว่า)
[๙๐] ผู้ใดลวงเราให้จับงูเห่าด้วยคำว่า นี่ลูกนกสาลิกา
ผู้นี้พร่ำสอนแต่สิ่งที่ชั่ว ถูกงูนั้นกัดตาย
[๙๑] นรชนใดต้องการจะฆ่าคนที่มิได้ทุบตีตน
และคนที่มิได้ใช้ให้ผู้อื่นทุบตีตน
นรชนนั้นย่อมถูกฆ่าให้นอนตายเหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๒] นรชนใดต้องการจะฆ่าคนที่มิได้ฆ่าตน
และคนที่มิได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าตน
นรชนนั้นย่อมถูกฆ่าให้นอนตายเหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๓] คนซัดฝุ่นเต็มกำมือทวนลม
ฝุ่นนั้นย่อมกลับมากระทบเขานั่นเอง
เหมือนชายคนนี้ที่ถูกงูกัดตาย
[๙๔] ผู้ใดประทุษร้ายนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย
ผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่มีความผิด
บาปย่อมกลับมาถึงคนผู้โง่เขลานั้นเองเหมือนผงธุลีที่คนซัดทวนลม
สาลิยชาดกที่ ๗ จบ

๘. ตจสารชาดก (๓๖๘)
ว่าด้วยขื่อคาไม้ไผ่
(พระราชาทรงเห็นเด็กเหล่านั้นไม่กลัวทั้งยังมีใจร่าเริง จึงตรัสถามว่า)
[๙๕] พวกเจ้าตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
ถูกจองจำด้วยขื่อคาที่ทำด้วยลำไม้ไผ่ ยังมีหน้าผ่องใส
เพราะเหตุไร พวกเจ้าจึงไม่เศร้าโศก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๙๖] ความเศร้าโศกและความพิไรรำพัน
ไม่ได้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อยนิด
คนที่เศร้าโศกเป็นทุกข์ ศัตรูรู้เข้าแล้วย่อมพอใจ
[๙๗] ส่วนคนผู้เป็นบัณฑิตรู้หลักในการวินิจฉัยอรรถคดี
ย่อมไม่สะทกสะท้านในเพราะอันตรายในกาลใด ๆ
เขามีใบหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม
ศัตรูเห็นเข้าแล้วย่อมเป็นทุกข์
[๙๘] บุคคลพึงได้ประโยชน์ในที่ใดด้วยประการใด ๆ
คือ ด้วยการร่ายมนต์ ด้วยการปรึกษากับบัณฑิต
ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต ด้วยการให้สินจ้างรางวัล
หรือด้วยประเพณี๑ พึงพากเพียรพยายาม
ทำประโยชน์ในที่นั้นด้วยประการนั้น ๆ
[๙๙] อนึ่ง ในกาลใดบัณฑิตรู้ว่า
ประโยชน์นี้เราหรือบุคคลอื่นไม่พึงได้รับ
แม้ในกาลนั้นบัณฑิตก็ไม่ควรเศร้าโศก พึงอดกลั้น
ด้วยคิดเสียว่า กรรมเป็นของมั่นคง บัดนี้ เราจะทำอะไรได้
ตจสารชาดกที่ ๘ จบ

๙. มิตตวินทุกชาดก (๓๖๙)
ว่าด้วยนายมิตตวินทุกะ
(นายมิตตวินทุกะเห็นเทพบุตรโพธิสัตว์นั้น จึงถามว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้าได้กระทำอะไรไว้แก่เหล่าเทวดา
ข้าพเจ้าได้กระทำความชั่วอะไรไว้
จักรนี้จึงได้จรดที่ศีรษะแล้วพัดผันอยู่บนกระหม่อมของข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ในอรรถกถาแปลว่า ด้วยวงศ์ตระกูล (ขุ.ชา.อ. ๔/๙๘/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
(เทพบุตรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๑] เพราะเหตุอะไรเล่า
ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก
ปราสาทเงิน ปราสาทแก้วมณี
และปราสาททอง แล้วมา ณ ที่นี้
(นายมิตตวินทุกะกล่าวว่า)
[๑๐๒] ขอท่านจงดูข้าพเจ้าผู้ถึงความหายนะ
เพราะความสำคัญนี้ว่า
ในที่นี้โภคะทั้งหลายเห็นจะ
มีมากกว่าปราสาททั้ง ๔ หลังนี้
(เทพบุตรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๓] ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๔
ได้ครอบครองนารี ๘ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๘
ได้ครอบครองนารี ๑๖ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๑๖
ได้ครอบครองนารี ๓๒ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๓๒
จึงได้ประสบจักร
จึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
[๑๐๔] ขึ้นชื่อว่าความอยาก
มีสภาพแผ่ไปยิ่งใหญ่ไพศาล
ทำให้เต็มได้ยาก
ก็ชนเหล่าใดกำหนัดตามความอยาก
ชนเหล่านั้นจึงต้องเทินจักรไว้
มิตตวินทุกชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๒. วัณณาโรหวรรค ๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
๑๐. ปลาสชาดก (๓๗๐)
ว่าด้วยปลาสเทวดา
(พญาหงส์ปรึกษากับปลาสเทวดาว่า)
[๑๐๕] พญาหงส์ได้กล่าวกับปลาสเทวดาว่า
นี่เพื่อน ต้นไทรงอกติดอยู่ที่ค่าคบของท่าน
มันงอกขึ้นเพื่อจะตัดสิ่งอันเป็นที่รักของท่าน
(ปลาสเทวดาไม่เชื่อคำของพญาหงส์ จึงกล่าวว่า )
[๑๐๖] ต้นไทรจงเจริญเติบโตขึ้นเถิด
ข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งของต้นไทรนั้นเหมือนบิดาและมารดา
และต้นไทรนั้นจะเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าเหมือนกัน
(พญาหงส์กล่าวว่า)
[๑๐๗] เพราะเหตุใด ท่านจึงปล่อยให้ต้นไม้ที่น่ากลัวดุจข้าศึก
เจริญเติบโตที่ค่าคบ เหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอเตือนท่านแล้วจะไป
การเจริญเติบโตของต้นไทรนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย
(ต่อมารุกขเทวดานั้นคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๑๐๘] บัดนี้ ไทรต้นนี้แหละ ทำให้เราหวาดกลัว
เพราะไม่เชื่อฟังคำของพญาหงส์
ซึ่งเป็นถ้อยคำอันสำคัญปานประหนึ่งว่าขุนเขาสิเนรุราช
ภัยอันใหญ่หลวงจึงมาถึงเราแล้ว
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระคาถาว่า)
[๑๐๙] ผู้ใดเมื่อเจริญขึ้นกลับกัดกินที่พึ่งอาศัยของตน
ความเจริญของผู้นั้นผู้ฉลาดไม่สรรเสริญ
นักปราชญ์รังเกียจความพินาศ
จึงพยายามกำจัดรากเหง้าของอันตรายนั้น
ปลาสชาดกที่ ๑๐ จบ
วัณณาโรหวรรคที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
๓. อัฑฒวรรค
หมวดว่าด้วยชาดกมีครึ่งวรรค
๑. ทีฆีติโกสลชาดก (๓๗๑)
ว่าด้วยพระเจ้าทีฆีติโกศล
(ทีฆาวุกุมารทรงระลึกถึงโอวาทที่พระราชมารดาและพระราชบิดาประทานไว้แล้ว
จึงกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตว่า)
[๑๑๐] ข้าแต่มหาราช เมื่อพระองค์ตกอยู่ในอำนาจของข้าพระองค์
อย่างนี้ เหตุที่เปลื้องทุกข์พระองค์ได้มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสคาถาว่า)
[๑๑๑] พ่อเอ๋ย เมื่อฉันตกอยู่ในอำนาจของเธออย่างนี้
เหตุบางอย่างที่จะเปลื้องทุกข์ฉันได้ไม่มี
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๑๑๒] ข้าแต่มหาราช เว้นความสุจริต
และถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตเสียแล้ว
เหตุอื่นที่จะต้านทานในเวลาที่จะตาย ข้าพระองค์ไม่เห็นเลย
ทรัพย์สมบัตินอกนี้ก็เช่นกัน
[๑๑๓] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[๑๑๔] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๑๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า
ทีฆีติโกสลชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
๒. มิคโปตกชาดก (๓๗๒)
ว่าด้วยลูกเนื้อ
(ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดาบสร้องไห้คร่ำครวญ จึงเสด็จมายืนอยู่ใน
อากาศตรัสว่า)
[๑๑๖] การที่ท่านผู้ละการครองเรือนบวชเป็นสมณะ
เศร้าโศกถึงลูกเนื้อที่ตายไปแล้วนั้น
เป็นการไม่สมควร
(ดาบสได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๑๗] ท้าวสักกะ เพราะการอยู่ร่วมกันแล
ความรักจึงเกิดในหทัยของมนุษย์หรือของเนื้อ
อาตมาจึงไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศกถึงลูกเนื้อนั้นได้
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๑๘] ชนเหล่าใดร้องไห้ บ่นเพ้อ รำพัน
ถึงคนที่ตายแล้วและคนที่จะตาย
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวการร้องไห้ว่าเปล่าประโยชน์
ท่านฤๅษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้ไปเลย
[๑๑๙] พราหมณ์ สัตว์ที่ตายละโลกนี้ไปแล้ว
จะพึงลุกขึ้นได้เพราะการร้องไห้
เราทุกคนก็คงมาประชุมกัน ร้องไห้ถึงหมู่ญาติของกันและกัน
(ดาบสกล่าวสดุดีท้าวสักกะว่า)
[๑๒๐] พระองค์ช่วยระงับอาตมาผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนเอาน้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
[๑๒๑] พระองค์ได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของอาตมา
ผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบหัวใจของอาตมาขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๒๒] ท้าววาสวะ อาตมาซึ่งพระองค์ได้ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของพระองค์
มิคโปตกชาดก ที่ ๒ จบ

๓. มูสิกชาดก (๓๗๓)
ว่าด้วยหนูถูกฆ่าตาย
(เวลาจะไปสระโบกขรณีเพื่อสรงสนาน พระราชาตรัสว่า)
[๑๒๓] คนบ่นเพ้ออยู่ว่า นางหนูไปไหน ไปที่ไหน
เราคนเดียวเท่านั้นรู้ว่า นางหนูถูกฆ่าอยู่ในบ่อน้ำ
(เวลาเสด็จเข้าไปยังปราสาท พระราชาเสด็จดำเนินสาธยายไปว่า)
[๑๒๔] เหตุที่เจ้าเที่ยวมองข้างโน้นข้างนี้ไปมาเสมือนหนึ่งลา
ทำให้เรารู้ว่า เจ้าฆ่านางหนูที่บ่อน้ำแล้ว
ยังปรารถนาจะกินพระเจ้ายวะอีก
(พระราชาเสด็จดำเนินท่องบ่นจนถึงหัวบันไดว่า)
[๑๒๕] นี่เจ้าโง่ เจ้ายังเป็นเด็กเล็กนัก ยังเป็นวัยรุ่น
มายืนถือท่อนไม้ยาว เราจักไม่ยอมให้ชีวิตแก่เจ้า
(พระราชารอดพ้นจากความตาย ทรงร่าเริงยินดี ทรงเปล่งอุทานว่า)
[๑๒๖] เราผู้ถูกบุตรปองฆ่า รอดพ้นจากความตาย
เพราะอยู่บนวิมานในอากาศก็หาไม่
เพราะบุตรสุดที่รักเสมอด้วยอวัยวะก็หาไม่
แต่เราพ้นจากความตายเพราะคาถาที่อาจารย์ผูกให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
[๑๒๗] บุคคลควรเรียนสูตร๑ทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นชั้นต่ำ ชั้นสูง หรือปานกลาง
และควรรู้จุดมุ่งหมายของวิชาทุกอย่าง
แต่ว่าไม่ควรใช้วิชาทุกอย่าง
เวลาที่สูตรซึ่งได้ศึกษามาแล้วนำประโยชน์มาให้ก็ยังมีอยู่
มูสิกชาดกที่ ๓ จบ

๔. จูฬธนุคคหชาดก (๓๗๔)
ว่าด้วยจูฬธนุคคหบัณฑิต
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวกับนายโจรว่า)
[๑๒๘] พราหมณ์ ท่านถือเอาห่อเครื่องประดับทั้งหมดข้ามฝั่งไปแล้ว
จงรีบกลับมารับฉันข้ามไปจากฝั่งนี้โดยเร็ว ณ บัดนี้
(นายโจรได้ฟังดังนั้นยืนอยู่ที่ฝั่งโน้นกล่าวว่า)
[๑๒๙] นางผู้เจริญได้เปลี่ยนเอาเราผู้ไม่เคยเชยชิด
กับชายผู้เคยเชยชิดกันมานาน
นางผู้เจริญคงจะเปลี่ยนเอาชายอื่นผู้ไม่ใช่ขาประจำ
กับเราผู้เป็นขาประจำแน่นอน เราจะไปจากที่นี้ให้ไกลแสนไกล
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓๐] นี่ใครหัวเราะดังลั่นอยู่ที่พุ่มตะไคร่น้ำ
ที่นี้ไม่มีการฟ้อนรำ ขับร้อง ปรบมือ ประโคมดนตรี
นางผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย งดงาม
เหตุไรหนอ ในเวลาที่ควรร้องไห้ เจ้ากลับหัวเราะ
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๓๑] นี่สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทราม โง่เขลา เจ้ามีปัญญาน้อย
เสื่อมสิ้นทั้งปลาทั้งชิ้นเนื้อแล้วซบเซาอยู่เหมือนคนกำพร้า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สูตร ในที่นี้ได้แก่ปริยัติ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๒๗/๔๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๑๓๒] โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เจ้านั่นแหละเสื่อมสิ้นทั้งผัวทั้งชายชู้
ย่อมซบเซายิ่งกว่าเราเสียอีก
(ภรรยาของจูฬธนุคคหบัณฑิตกล่าวว่า)
[๑๓๓] พญาเนื้อผู้ต่ำทราม เรื่องนี้จริงดังที่ท่านพูด
เรานั้นไปจากที่นี้แล้ว จักอยู่ในอำนาจของผัวอย่างเดียว
(ท้าวสักกเทวราชสดับคำของนางผู้ทุศีลไร้อาจาระ จึงตรัสว่า)
[๑๓๔] ผู้ใดลักถาดดินไปได้ ถึงถาดสำริดผู้นั้นก็ลักไปได้
บาปที่เจ้าได้กระทำแล้วนั่นแหละ
เจ้าก็จักต้องกระทำมันอีก
จูฬธนุคคหชาดกที่ ๔ จบ

๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
ว่าด้วยนกพิราบโพธิสัตว์
(กาคิดจะกินปลา จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] บัดนี้แหละเราสบายแล้ว ไม่มีโรค
หมดเสี้ยนหนาม นกพิราบก็บินออกไปแล้ว
บัดนี้ เราจะทำตามความพอใจ
เพราะว่าเนื้อและผักที่เหลือจะทำให้เรามีกำลัง
(นกพิราบกลับมาเห็นกาถูกถอนขนทาด้วยน้ำเปรียงเน่า จึงเยาะเย้ยว่า)
[๑๓๖] นกยางอะไรนี่ มีหงอน เป็นโจร มีเมฆเป็นปู่
แม่นกยาง เจ้าจงลงมาข้างล่างนี้เถิด
กาสหายของเราเป็นสัตว์ดุร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๕. ปัญจกนิบาต] ๓. อัฑฒวรรค ๕. กโปตกชาดก (๓๗๕)
(กาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๗] ท่านอย่าหัวเราะเยาะ
เพราะเห็นข้าพเจ้าถูกลูกชายพ่อครัวถอนขน
แล้วทาด้วยผงเมล็ดผักกาด
ผสมกากเปรียงเช่นนี้เลย
(นกพิราบเย้ยหยันอยู่ว่า)
[๑๓๘] ท่านอาบน้ำชำระกายดีแล้ว
ลูบไล้ด้วยของหอมดีแล้ว
อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ
และที่คอของท่านก็ประดับด้วยแก้วไพฑูรย์
ท่านได้ไปถิ่นกชังคละมาหรือ
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๙] มิตรก็ตาม ศัตรูก็ตามของท่าน
อย่าได้ไปถิ่นกชังคละเลย
เพราะคนในถิ่นกชังคละนั้น
ถอนขนแล้วผูกกระเบื้องไว้ที่คอของเรา
(นกพิราบกล่าวว่า)
[๑๔๐] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
กโปตกชาดกที่ ๕ จบ
อัฑฒวรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
รวมชาดกที่มีในวัณณาโรหวรรคและอัฑฒวรรค คือ

๑. วัณณาโรหชาดก ๒. สีลวีมังสชาดก
๓. หิริชาดก ๔. ขัขโชปนกชาดก
๕. อหิตุณฑิกชาดก ๖. คุมพิยชาดก
๗. สาลิยชาดก ๘. ตจสารชาดก
๙. มิตตวินทุกชาดก ๑๐. ปลาสชาดก
๑๑. ทีฆีติโกสลชาดก ๑๒. มิคโปตกชาดก
๑๓. มูสิกชาดก ๑๔. จูฬธนุคคหชาดก
๑๕. กโปตกชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. มณิกุณฑลวรรค ๒. วัณณาโรหวรรค
๓. อัฑฒวรรค

ปัญจกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๖ }


๖. ฉักกนิบาต
๑. อวาริยวรรค
หมวดว่าด้วยบิดาของนางอวาริยา
๑. อวาริยชาดก (๓๗๖)
ว่าด้วยบิดาของนางอวาริยา
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวสอนพระราชาอยู่ทุก ๆ วันว่า)
[๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
มหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้ที่โกรธ
ย่อมเป็นที่บูชาของชาวแว่นแคว้น
[๒] อาตมภาพพร่ำสอนในที่ทุกสถาน
คือ ทั้งในหมู่บ้าน ในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอน
ขอถวายพระพรมหาบพิตรผู้จอมทัพ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงนายเรือผู้โง่เขลาว่า)
[๓] ที่แม่น้ำคงคาได้มีคนแจวเรือจ้างชื่ออวาริยปิตา๑
เขารับส่งคนข้ามฟากก่อนแล้วจึงขอค่าโดยสารภายหลัง
เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีการทะเลาะวิวาทกับคนโดยสาร
จึงไม่เจริญด้วยโภคะทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อวาริยปิตา แปลว่า เป็นบิดาของนางอวาริยา (ขุ.ชา.อ. ๕/๓/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
(ฤๅษีโพธิสัตว์บอกถึงเหตุที่จะให้โภคะเจริญแก่นายเรือนั้นว่า)
[๔] พ่อเรือจ้าง ท่านจงขอค่าโดยสาร
กับคนที่ยังไม่ได้ข้ามไปฝั่งโน้นก่อนซิ
เพราะว่า ใจของคนที่ข้ามฟากไปแล้วเป็นอย่างหนึ่ง
ใจของคนที่ต้องการจะข้ามฟากเป็นอีกอย่างหนึ่ง
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนนายเรือนั้นอีกว่า)
[๕] อาตมภาพพร่ำสอนในที่ทุกสถาน
คือ ทั้งในหมู่บ้าน ในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอน
พ่อเรือจ้าง ขอท่านอย่าโกรธเลย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า)
[๖] พระราชาได้พระราชทานบ้านส่วยเพราะอนุสาสนีบทใด
เพราะอนุสาสนีบทนั้นแหละ คนแจวเรือจ้างจึงได้ตบปาก๑
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสข้อความสุดท้ายว่า)
[๗] ถาดใส่อาหารก็ตกแตกแล้ว ภรรยาก็ถูกทำร้าย
และเด็กที่เกิดในครรภ์ก็แท้งตกลงมาที่ภาคพื้น
เขาไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากโอวาทนั้นได้
เหมือนเนื้อไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ๒
อวาริยชาดกที่ ๑ จบ

๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
ว่าด้วยเสตเกตุดาบส
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์สอนมาณพเสตเกตุผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ตบปาก ในที่นี้หมายถึงตบปากของฤาษีโพธิสัตว์ (ขุ.ชา.อ. ๕/๖/๕)
๒ ไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ คือ ไม่อาจทำทองคำให้เกิดเป็นประโยชน์ได้ (ขุ.ชา.อ. ๕/๗/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๒. เสตเกตุชาดก (๓๗๗)
[๘] พ่อเอ๋ย เจ้าอย่าโกรธ เพราะความโกรธไม่ดีเลย
ทิศที่เจ้ายังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยินมีอีกมาก
พ่อเสตเกตุ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญอาจารย์ว่าเป็นทิศเบื้องขวา
[๙] คฤหัสถ์ถวายข้าว น้ำ และผ้า กล่าวนิมนต์ผู้ใด
แม้ผู้นั้นพระอริยะทั้งหลายย่อมเรียกว่า เป็นทิศเบื้องบน
เสตเกตุ ทิศนี้เป็นทิศที่ยอดเยี่ยม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์ถึงแล้วย่อมเป็นสุข
(พระราชาทรงเห็นดาบสทั้งหลายบำเพ็ญตบะผิด จึงตรัสสนทนากับปุโรหิตว่า)
[๑๐] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[๑๑] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม๑ ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
(เสตเกตุดาบสกล่าวกับปุโรหิตนั้นว่า)
[๑๒] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวม๒เท่านั้นเป็นสัจจะ

เชิงอรรถ :
๑ จรณธรรม ในที่นี้หมายถึงศีลและสมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๑/๑๑)
๒ ความสำรวม ในที่นี้เป็นชื่อของศีล (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๒/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๙)
(ปุโรหิตได้กล่าวว่า)
[๑๓] พระเวททั้งหลายจะไร้ผลก็หาไม่
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
เพราะบุคคลบรรลุพระเวททั้งหลายแล้วย่อมได้เกียรติ
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วด้วยจรณธรรมย่อมบรรลุความสงบ๑
เสตเกตุชาดกที่ ๒ จบ

๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๘)
ว่าด้วยพระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า
(พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพรหมทัตว่า)
[๑๔] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม
ก็ภัยนี้บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นมูลเหตุแห่งภัย ๓ ประการ
กามทั้งหลายคือธุลีและควัน อาตมภาพก็ได้ประกาศไว้แล้ว
ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต
ขอมหาบพิตรทรงละกามเหล่านี้ออกผนวชเถิด
(พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสบอกความที่พระองค์พัวพันด้วย
กิเลสว่า)
[๑๕] ท่านพราหมณ์ โยมกำหนัดยินดี
และหมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ประสงค์จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้
จึงไม่อาจจะละกามอันน่าสะพรึงกลัวนั้นได้
แต่โยมจะทำบุญทั้งหลายให้มาก

เชิงอรรถ :
๑ ความสงบ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๓/๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๓. ทรีมุขชาดก (๓๗๙)
(พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าตรัสสอนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า)
[๑๖] ผู้ใดอันบุคคลผู้หวังความเจริญ
อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล
กล่าวสอนอยู่ ก็ไม่กระทำตามคำสอน
ผู้นั้นสำคัญแต่สิ่งที่ตนยึดถือว่า นี้เท่านั้นประเสริฐ
เป็นคนโง่ ย่อมเกิดในครรภ์บ่อย ๆ
[๑๗] เขาย่อมเข้าถึงนรกอันน่ากลัว
เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะที่ไม่งามสำหรับผู้งาม
สัตว์เหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ
ยังมีความกำหนัดในกามทั้งหลาย
สัตว์เหล่านั้นก็ยังละความเกิดในครรภ์ไปไม่ได้
(พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าทรงหวังจะแสดงเหตุที่พ้นจากครรภ์ จึงตรัสหนึ่ง
คาถาครึ่ง และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสครึ่งพระคาถาสุดท้ายว่า)
[๑๘] สัตว์เหล่านี้คลอดออกมามีกายแปดเปื้อนด้วยอุจจาระ
ด้วยเลือดและเสมหะในขณะที่คลอด
สัตว์เหล่านี้มีร่างกายสัมผัสส่วนใด ๆ
ส่วนนั้น ๆ ทั้งหมด ล้วนไม่น่าชื่นใจ
เป็นทุกข์อย่างเดียว
[๑๙] อาตมาเห็นแล้วจึงถวายพระพร
มิใช่ได้ยินมาจากคนอื่นแล้วจึงถวายพระพร
อาตมายังระลึกอดีตชาติได้มากอีกด้วย
พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พระราชาผู้ทรงปรีชาญาณ
ยอมรับด้วยคาถาสุภาษิตอันวิจิตร
ทรีมุขชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
๔. เนรุชาดก (๓๗๙)
ว่าด้วยอานุภาพของภูเขาเนรุ
(หงส์น้องชายของพญาหงส์โพธิสัตว์สนทนากับพี่ชายว่า)
[๒๐] กาป่าก็ดี ฝูงกาธรรมดาก็ดี
พวกเราผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลายก็ดี
พอมาถึงภูเขานี้แล้ว เป็นเหมือนกันหมด
[๒๑] ราชสีห์ก็ดี เสือโคร่งก็ดี สุนัขจิ้งจอกก็ดี หมู่เนื้อก็ดี
พอมาถึงที่นี้แล้วก็เป็นเหมือนกันหมด
ภูเขานี้ชื่ออะไร
(พญาหงส์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๒๒] มนุษย์ทั้งหลายรู้จักภูเขาที่ยอดเยี่ยมลูกนี้ว่าเนรุ
เพราะสัตว์ทุกชนิดอยู่ที่ภูเขาลูกนี้
จะกลายเป็นสีทองเหมือนกันหมด
(หงส์น้องชายได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๒๓] สถานที่ใดคนดีไม่ได้รับการยกย่อง
ซ้ำถูกดูหมิ่น แต่กลับยกย่องคนเลว
สถานที่นั้นไม่ควรอาศัยอยู่เลย
[๒๔] สถานที่ใดคนเกียจคร้าน คนขยัน
คนกล้าหาญ และคนขลาดได้รับการบูชา
สถานที่นั้นคนดีไม่อยู่ เหมือนภูเขาที่ไม่ทำความแตกต่างกัน
[๒๕] ภูเขาเนรุนี้ไม่แยกคนเลว คนดี คนปานกลาง
คือ ไม่กระทำให้แปลกกัน
อย่ากระนั้นเลย เราสละภูเขาเนรุนี้ไปเถิด
เนรุชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
๕. อาสังกชาดก (๓๘๐)
ว่าด้วยอาสังกากุมาริกา
(นางอาสังกากุมาริกากราบทูลพระราชาว่า)
[๒๖] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีเกิดแล้วในอุทยานจิตรลดาวัน
เถาวัลย์นั้น ๑,๐๐๐ ปี จึงจะออกผลหนึ่ง
[๒๗] แม้นานถึงเพียงนั้นจึงจะมีผล
ทวยเทพก็ยังพากันไปเยือนอุทยานนั้นเนือง ๆ
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด
เพราะว่าความหวังที่ยังมีผลเป็นความสุข
[๒๘] ปักษาทิชาชาติยังมีความหวังอยู่ร่ำไป
ความหวังของมันที่มีอยู่ห่างไกลถึงเพียงนั้นก็ยังสำเร็จได้
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงหวังไว้เถิด
เพราะว่าความหวังที่มีผลเป็นความสุข
(พระราชาตรัสบอกเหตุที่จะไปกับนางอาสังกากุมาริกาว่า)
[๒๙] หล่อนให้ฉันเอิบอิ่มด้วยคำพูดเท่านั้น
หาให้ฉันเอิบอิ่มด้วยการกระทำไม่
เหมือนดอกหงอนไก่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่น
[๓๐] ผู้ใดเมื่อไม่ให้ ไม่เสียสละโภคทรัพย์
ดีแต่พูดคำอ่อนหวานซึ่งไม่มีผลในมิตรทั้งหลาย
ความสัมพันธ์ของผู้นั้นกับมิตรย่อมจืดจาง
[๓๑] ควรพูดถึงแต่สิ่งที่ควรทำ
ไม่ควรพูดถึงสิ่งที่ไม่ควรทำ
คนไม่ทำ ดีแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน
[๓๒] กำลังของเราหมดสิ้นแล้วหนอ เสบียงก็ไม่มี
สงสัยจะตายเป็นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะไปกันเดี๋ยวนี้แหละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
(พระนางอาสังกากุมาริกาเทวีได้สดับพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๓๓] คำว่า อาสังกา นั่นแหละเป็นชื่อของหม่อมฉัน
ข้าแต่มหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ทรงคอยก่อน
หม่อมฉันขอบอกลาบิดาก่อน
อาสังกชาดกที่ ๕ จบ

๖. มิคาโลปชาดก (๓๘๑)
ว่าด้วยนกแร้งมิคาโลปะ
(พญาแร้งโพธิสัตว์เรียกลูกมาอบรมว่า)
[๓๔] มิคาโลปะ พ่อไม่พอใจเลยที่เจ้าบินไปเช่นนั้น
ลูกเอ๋ย เจ้าบินสูงเกินไป เลยขอบเขตของพวกแร้งไปแล้ว
[๓๕] เมื่อใด แผ่นดินปรากฏแก่เจ้าเสมือนแปลงนา ๔ เหลี่ยม
ลูกเอ๋ย เมื่อนั้น เจ้าจงกลับจากที่นั้น อย่าบินเลยที่นั้นไป
[๓๖] แม้นกเหล่าอื่นที่มีปีกเป็นยานพาหนะ บินไปในอากาศ
สำคัญตนว่ายั่งยืน ถูกแรงลมพัดพินาศแล้วก็มีอยู่
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า)
[๓๗] นกแร้งมิคาโลปะไม่เชื่อฟังคำสอนของแร้งอปรัณณะพ่อผู้เฒ่า
บินผ่านลมกาละไป ตกอยู่ในอำนาจลมเวรัมภา (ลมกรด)
[๓๘] ลูกเมียของมัน และนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่
ทั้งหมดก็ถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว
[๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ชนทั้งหลายย่อมถึงความพินาศทุกคน
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของท่านผู้รู้
มิคาโลปชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี
(เศรษฐีโพธิสัตว์สนทนากับกาฬกัณณีเทพธิดาว่า)
[๔๐] ใครหนอมีผิวพรรณดำ ทั้งไม่น่ารัก ไม่น่าดู
เธอเป็นใคร เป็นลูกสาวของใคร ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(กาฬกัณณีเทพธิดากล่าวว่า)
[๔๑] ดิฉันเป็นลูกสาวของท้าววิรูปักขมหาราช
เป็นคนโหดร้าย มีผิวดำ ไร้ปัญญา
เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่ากาฬกัณณี
ดิฉันขอท่านจงให้โอกาส
ดิฉันขออาศัยอยู่ในสำนักของท่าน
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๔๒] เธอตกลงปลงใจในชายผู้มีปกติเช่นไร
มีความประพฤติเช่นไร
แม่กาฬี ฉันถามแล้ว เธอจงตอบ
ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(กาฬกัณณีเทพธิดาได้บอกคุณของตนว่า)
[๔๓] ชายใดมักลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ
แข่งดี ริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
ทำทรัพย์ที่ได้มาแล้วให้พินาศไป ดิฉันรักใคร่ชายนั้น
(กาฬกัณณีเทพธิดากล่าวต่อไปว่า)
[๔๔] ชายใดมักโกรธ ผูกโกรธ พูดส่อเสียด
มักทำลายมิตรภาพ มีวาจาเสียดแทง พูดวาจาหยาบคาย
ดิฉันรักใคร่ชายนั้นยิ่งกว่าชายคนแรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
[๔๕] ชายที่ไม่รู้จักประโยชน์ของตนว่า
งานนี้ควรทำวันนี้ งานนี้ควรทำพรุ่งนี้
ถูกสั่งสอนก็พาลโกรธ ซ้ำยังดูหมิ่นคนที่ดีกว่าตัว
[๔๖] ชายใดมัวเมาด้วยการเล่นเป็นประจำ
ทั้งยังกำจัดมิตรทั้งหมดไปเสีย
ดิฉันรักใคร่ชายนั้น จะมีความสุขกับเขา
(พระโพธิสัตว์ติเตียนกาฬกัณณีเทพธิดานั้นว่า)
[๔๗] แม่กาฬี เธอจงไปจากที่นี้เสียเถิด
เรื่องเช่นนี้ไม่มีในพวกเรา
เธอจงไปยังชนบท นิคม และราชธานีอื่น ๆ เถิด
(กาฬกัณณีเทพธิดาได้ฟังดังนั้นไม่พอใจ จึงกล่าวว่า)
[๔๘] เรื่องนั้นแม้ดิฉันก็ทราบดีว่า เรื่องเช่นนี้ไม่มีอยู่ในพวกท่าน
แต่คนโง่ทั้งหลายที่รวบรวมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก
ก็ยังมีอยู่ในโลก
ส่วนดิฉันและเทพพี่ชายของดิฉันทั้ง ๒ คน
ช่วยกันผลาญทรัพย์นั้นจนหมดสิ้น
(พระโพธิสัตว์เห็นสิริเทพธิดา จึงกล่าวว่า)
[๔๙] ใครหนอมีผิวพรรณทิพย์ ยืนเรียบร้อยอยู่บนแผ่นดิน
เธอเป็นใคร เป็นลูกสาวของใคร ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(สิริเทพธิดาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๕๐] ดิฉันเป็นลูกสาวของท้าวธตรัฏฐมหาราชผู้มีสิริ
ดิฉันชื่อสิริลักษมี เทพทั้งหลายรู้จักดิฉันว่า
เป็นผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน
ดิฉันขอท่านจงให้โอกาส
ดิฉันขออาศัยอยู่ในสำนักของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๗. สิริกาฬกัณณิชาดก (๓๘๒)
(เศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๑] เธอตกลงปลงใจในชายผู้มีปกติวิเช่นไร
มีความประพฤติเช่นไร
แม่ลักษมี ฉันถามแล้ว เธอจงตอบ
ฉันจะรู้จักเธอได้อย่างไร
(สิริเทพธิดากล่าวว่า)
[๕๒] ชายใดชนะอันตรายทั้งปวงได้
คือ ความหนาว ความร้อน
ลม แดด เหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน
ความหิว และความกระหายได้
ทำการงานทุกอย่างติดต่อตลอดวันตลอดคืน
ไม่ทำประโยชน์ที่เป็นไปตามกาลให้เสื่อมเสียไปด้วย
ดิฉันพอใจชายนั้นและจะตกลงปลงใจกับเขา
[๕๓] ชายใดไม่มักโกรธ เป็นกัลยาณมิตร เสียสละ
สมบูรณ์ด้วยศีล ไม่โอ้อวด ซื่อตรง
สงเคราะห์ มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน
ถึงจะเป็นใหญ่ก็ถ่อมตน
ดิฉันจะเป็นหญิงมีสิริอันไพบูลย์ในชายนั้น
เหมือนคลื่นที่ปรากฏแก่ผู้มองดูท้องทะเล
[๕๔] อีกอย่างหนึ่ง ชายใดสงเคราะห์บุคคล
ทั้งที่เป็นมิตรหรือศัตรู ทั้งชั้นสูง เสมอกัน หรือต่ำกว่า
ทั้งที่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
ทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
ชายใดไม่พูดจาหยาบคายไม่ว่าในกาลไหน ๆ
ดิฉันจะเป็นของชายนั้นถึงแม้จะตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
[๕๕] บุคคลใดไร้ปัญญา ได้สิริที่น่าใคร่แล้ว
ลืมคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
บรรดาคุณความดีที่ได้กล่าวแล้วเหล่านั้น
ดิฉันเว้นบุคคลนั้นซึ่งมีสภาพร้อนรน
ประพฤติไม่เสมอต้นเสมอปลาย
เหมือนคนที่มีนิสัยรักความสะอาดเว้นห่างไกลหลุมคูถ
[๕๖] บุคคลย่อมสร้างความมีโชคด้วยตนเอง
ย่อมสร้างความไม่มีโชคด้วยตนเอง
คนอื่นจะทำความมีโชคและความไม่มีโชคให้คนอื่นหาได้ไม่
สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๗ จบ

๘. กุกกุฏชาดก (๓๘๓)
ว่าด้วยไก่โพธิสัตว์
(นางแมวไปยังโคนต้นไม้ที่ไก่เกาะอยู่แล้วอ้อนวอนว่า)
[๕๗] พ่อไก่หงอนแดงผู้มีขนปีกงดงาม ท่านจงลงมาจากกิ่งไม้เถิด
ฉันจะยอมเป็นภรรยาของท่านโดยไม่คิดมูลค่า
(ไก่โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๕๘] แม่นางแมวรูปงาม เธอเป็นสัตว์สี่เท้า
ส่วนฉันเป็นสัตว์สองเท้า
แมวตัวเมียกับไก่ตัวผู้ไม่ควรจะรื่นรมย์ยินดีกันฉันสามีภรรยา
เธอจงหาสามีอื่นเถิด
(แมวได้ฟังดังนั้นคิดหาอุบายใหม่กล่าวว่า)
[๕๙] ฉันจะเป็นภรรยาสาวของท่านที่พูดจาอ่อนหวาน น่ารัก
ขอท่านจงรับฉันผู้เลอโฉม ผู้เป็นสาวพรหมจารีไว้
ด้วยการรับอันดีงามเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
(ไก่โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วคิดจะขู่ไล่แมวให้หนีไป จึงกล่าวว่า)
[๖๐] นางโจรผู้กินซากศพ ดื่มเลือด เจ้าเบียดเบียนไก่
ต้องการเราเป็นผัว ไม่ใช่ด้วยการได้อันดีงามหรอก
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า)
[๖๑] หญิงผู้มีวาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เห็นชายมีทรัพย์
ก็ล่อลวงนำไปด้วยการพูดจาอ่อนหวาน
เหมือนนางแมวล่อลวงไก่
[๖๒] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรู
และจะเดือดร้อนในภายหลัง
[๖๓] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนไก่พ้นจากนางแมว
กุกกุฏชาดกที่ ๘ จบ

๙. ธัมมัทธชชาดก (๓๘๔)
ว่าด้วยการมีธรรมเป็นธงชัย
(กาเรียกนกทั้งหลายมากล่าวว่า)
[๖๔] พี่น้องทั้งหลาย พวกท่านจงประพฤติธรรมเถิด
จงประพฤติธรรมเถิด พวกท่านจะมีแต่ความเจริญ
เพราะว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
(นกทั้งหลายเมื่อไม่รู้จึงพากันสรรเสริญกาทุศีลนั้นว่า)
[๖๕] กานี้เจริญจริงหนอ ประพฤติธรรมได้ยอดเยี่ยม
ยืนด้วยขาข้างเดียวสอนธรรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
(พญานกโพธิสัตว์เรียกฝูงนกมาสั่งให้คอยจับกาว่า)
[๖๖] พวกเจ้าไม่รู้ปกติของมัน
เพราะไม่รู้ จึงพากันสรรเสริญมัน
มันกินทั้งไข่และลูกอ่อนแล้วพูดว่า ธรรมะ ธรรมะ
[๖๗] มันพูดอย่างหนึ่งแต่ทำอย่างหนึ่ง
มันประพฤติธรรมแต่ปาก แต่กายไม่ประพฤติธรรม
เพราะฉะนั้น มันจึงชื่อว่าไม่ทรงธรรม
[๖๘] มันปากหวาน รู้ใจได้ยาก
แสร้งทำตัวว่ามีธรรมเป็นธงชัย
เหมือนงูเห่าซ่อนตัวอยู่ในรู
ให้เขายกย่องว่าเป็นผู้ดีทุกบ้านทุกตำบล
คนทุศีลประเภทนี้คนโง่รู้ได้ยาก
[๖๙] พวกท่านจงใช้จะงอยปาก ปีก
และเท้าจิกตีกาตัวนี้
ทำให้กาเลวทรามพินาศไป
กาตัวนี้ไม่สมควรอยู่ร่วมกับพวกเรา
ธัมมัทธชชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
ว่าด้วยพญาเนื้อนันทิยะ
(พ่อแม่ของเนื้อนันทิยโพธิสัตว์ต้องการจะเห็นลูก จึงส่งข่าวถึงลูกว่า)
[๗๐] พ่อพราหมณ์ ถ้าท่านไปป่าอัญชันเมืองสาเกตุ
ช่วยบอกเนื้อลูกชายในไส้ของข้าพเจ้าที่ชื่อนันทิยะด้วยว่า
พ่อแม่ของเจ้าแก่เฒ่าปรารถนาจะพบเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๑. อวาริยวรรค ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก (๓๘๕)
(เนื้อนันทิยโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า)
[๗๑] ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าได้กินหญ้า น้ำ
และข้าวของพระราชา
ก้อนข้าวของพระราชานั้น
ข้าพเจ้าจะไม่พยายามกินให้เสียเปล่า
[๗๒] ข้าพเจ้าจะหันข้างให้พระราชาผู้ทรงถือธนู
เมื่อนั้นข้าพเจ้าจะพึงพ้นความตาย
ได้รับความสุข พบเห็นพ่อแม่ได้บ้าง
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า)
[๗๓] เมื่อก่อนเราได้เป็นพญาเนื้อ ๔ เท้า
มีรูปงามชื่อว่านันทิยะ อยู่ ณ ที่ประทับของพระเจ้าโกศล
[๗๔] พระเจ้าโกศลได้เสด็จมาที่อัญชนามฤคทายวัน
ทรงโก่งธนู สอดลูกศรเพื่อจะฆ่าเรา
[๗๕] เราได้หันข้างให้พระราชาผู้ทรงเหนี่ยวธนูพระองค์นั้น
เมื่อนั้นเราจึงพ้นความตาย ได้รับความสุข มาพบพ่อแม่
นันทิยมิคราชชาดกที่ ๑๐ จบ
อวาริยวรรคที่ ๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวาริยชาดก ๒. เสตเกตุชาดก
๓. ทรีมุขชาดก ๔. เนรุชาดก
๕. อาสังกชาดก ๖. มิคาโลปชาดก
๗. สิริกาฬกัณณิชาดก ๘. กุกกุฏชาดก
๙. ธัมมัทธชชาดก ๑๐. นันทิยมิคราชชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
๒. ขรปุตตวรรค
หมวดว่าด้วยม้าเกิดแต่ลา
๑. ขรปุตตชาดก (๓๘๖)
ว่าด้วยม้าสินธพลูกลา
(ม้าสินธพกล่าวกับแพะท้าวสักกะจำแลงว่า)
[๗๖] ได้ยินว่า เป็นความจริงที่บัณฑิตทั้งหลาย
กล่าวถึงแพะว่าเป็นสัตว์โง่
ดูเอาเถิด สัตว์โง่ไม่รู้จักกรรมที่ควรทำในที่ลับหรือที่แจ้ง
(แพะท้าวสักกะจำแลงกล่าวว่า)
[๗๗] เจ้าม้าเพื่อนยาก เจ้าจงรู้เถิดว่า เจ้าช่างเป็นสัตว์โง่จริง ๆ
เพราะเจ้าถูกสนตะพายจนปากคดหน้าคว่ำ
[๗๘] เพื่อน ความโง่ของเจ้าอีกอย่างหนึ่ง
คือถูกเขาปล่อยแล้วไม่หนีไป เพื่อนเอ๋ย
แต่พระเจ้าเสนกะที่เพื่อนลากไปโง่กว่าเจ้าเสียอีก
(ม้าสินธพฟังคำของแพะจำแลงแล้วจึงกล่าวว่า)
[๗๙] พญาแพะเพื่อนยาก ท่านรู้เหตุที่เราโง่
แต่พระเจ้าเสนกะโง่เพราะเหตุอะไร
เราถามแล้ว เจ้าจงบอกเหตุนั้น
(แพะท้าวสักกะจำแลงบอกว่า)
[๘๐] ผู้ใดได้ประโยชน์สูงสุด๑แล้วจะยกให้ภรรยา
ด้วยการยกให้นั้น เขาจักต้องสละตน
ส่วนภรรยานั้นจักไม่เป็นภรรยาของเขาอีก

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์สูงสุด ในที่นี้หมายถึงมนต์วิเศษชื่อสัพพรุตชานนมนต์ คือมนต์รู้เสียงร้องของสรรพสัตว์ (ขุ.ชา.อ.
๕/๘๐/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
(แพะท้าวสักกะจำแลงกล่าวอีกว่า)
[๘๑] พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน บุคคลผู้เช่นกับพระองค์
มาทอดทิ้งตัวเองด้วยคิดว่า เรามีสิ่งอันเป็นที่รัก
ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย
เพราะตนแลประเสริฐกว่า
และยังประเสริฐกว่าสิ่งอันเป็นที่รักชั้นเยี่ยม
บุรุษสั่งสมประโยชน์แล้วก็จะพึงได้ภรรยาอันเป็นที่รักในภายหลัง
ขรปุตตชาดกที่ ๑ จบ

๒. สูจิชาดก (๓๘๗)
ว่าด้วยเข็ม
(ช่างทองโพธิสัตว์ยืนใกล้ประตูเรือนของหัวหน้าช่างทอง อธิบายเรื่องเข็มว่า)
[๘๒] ใครต้องการจะซื้อเข็มที่ไม่ขรุขระ ไม่หยาบ ขัดด้วยหินแข็ง
มีรูร้อยด้ายเรียบร้อย เล่มเล็ก และปลายคมบ้าง
(ช่างทองโพธิสัตว์อธิบายเรื่องเข็มนั้นอีกว่า)
[๘๓] ใครต้องการจะซื้อเข็มที่เกลี้ยงเกลา มีรูร้อยด้ายเรียบร้อย
กลมกลึงตลอดเล่ม เจาะทะลุทั่งได้ และแข็งแกร่งบ้าง
(นางกุมาริกาพูดกับช่างทองโพธิสัตว์ว่า)
[๘๔] เดี๋ยวนี้ เข็มและเบ็ดถูกนำออกไปจากหมู่บ้านนี้
นี่ใครกันต้องการจะขายเข็มในหมู่บ้านช่างทอง
[๘๕] ศัสตราก็ออกไปจากหมู่บ้านนี้
การงานชนิดต่าง ๆ จำนวนมาก
ย่อมเป็นไปด้วยอุปกรณ์จากหมู่บ้านนี้
นี่ใครกันต้องการจะขายเข็มในหมู่บ้านช่างทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
(ช่างทองโพธิสัตว์ฟังคำของนางกุมาริกานั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๖] คนที่ฉลาดรู้อยู่พึงมาขายเข็มในหมู่บ้านช่างเหล็ก
อาจารย์เท่านั้นจึงจะรู้ได้ว่า งานนั้นทำดีหรือไม่ดี
[๘๗] นางผู้เจริญ ถ้าบิดาของเธอรู้เรื่องเข็มเล่มนี้ที่ฉันทำแล้ว
จะต้องเชื้อเชิญฉันด้วยตัวเธอและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเรือนนี้
สูจิชาดกที่ ๒ จบ

๓. ตุณฑิลชาดก (๓๘๘)
ว่าด้วยตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์
(จูฬตุณฑิลสุกรบอกเหตุที่ตนเห็นมาว่า)
[๘๘] วันนี้ นายแม่ของเราเปลี่ยนอาหารให้ใหม่
รางข้าวมีอาหารเต็มบริบูรณ์
นายแม่ก็ยืนอยู่ใกล้ ๆ
คนจำนวนมากก็ยืนถือบ่วงอยู่
ฉันไม่อยากกินเลย
(มหาตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์ได้กล่าวว่า)
[๘๙] เจ้าสะดุ้งกลัว หัวหมุน มองหาที่พึ่งไปไย
เจ้าไม่มีที่พึ่งหรอก จะหนีไปไหนกัน
พ่อตุณฑิละ อย่าดิ้นรนไปเลย กินเสียเถิด
พวกเราถูกเขาขุนเพื่อต้องการเนื้อ
[๙๐] เจ้าจงลงสู่ห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
ชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงให้สิ้นไป
แล้วถือเอาเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
(จูฬตุณฑิลสุกรถามว่า)
[๙๑] อะไรหนอคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
อะไรเล่าที่เรียกว่าเหงื่อและมลทิน
และอะไรเล่าคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
(มหาตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๒] ธรรมะคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
บาปเรียกว่าเหงื่อและมลทิน
อนึ่ง ศีลคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
[๙๓] คนที่ฆ่าสัตว์ย่อมพอใจ ส่วนสัตว์ที่ถูกฆ่าย่อมไม่พอใจ
ในคืนเดือนเพ็ญแห่งวันอุโบสถ สัตว์ทั้งหลายเช่นเรายินดีสละชีพ
ตุณฑิลชาดกที่ ๓ จบ

๔. สุวัณณกักกฏกชาดก (๓๘๙)
ว่าด้วยปูทองที่ฉลาด
(กาด่างูว่า)
[๙๔] เราถูกปูทองซึ่งมีตาโปนออกมา
มีกระดูกเป็นหนัง๑ อาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน หนีบแล้ว
ร้องขอความกรุณาอยู่
เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงละทิ้งเราไป
(พระศาสดาทรงแสดงข้อความนี้ว่า)
[๙๕] งูผู้เป็นเพื่อนนั้น เมื่อจะป้องกันกาผู้เป็นเพื่อน
จึงพ่นพิษพร้อมกับแผ่พังพานใหญ่ไปจนถึงตัวปู
ปูจึงได้หนีบงูไว้อีก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มีกระดูกเป็นหนัง ได้แก่ กระดองปู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
(งูถามปูว่า)
[๙๖] ก็ธรรมดาปูไม่ต้องการจะจับกากิน
และไม่ต้องการจะจับงูเห่ากิน
ท่านผู้มีตาโปน เราขอถามท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงหนีบเราทั้ง ๒ ไว้
(ปูจึงบอกเหตุผลที่หนีบกาไว้ว่า)
[๙๗] ชายนี้เป็นผู้หวังความเจริญแก่ข้าพเจ้า
จับข้าพเจ้าแล้วนำไปที่แอ่งน้ำ
เมื่อเขาตาย ข้าพเจ้าจะมีทุกข์มิใช่น้อย
ข้าพเจ้าและชายนี้ก็จะไม่มีทั้ง ๒ คน
[๙๘] อนึ่ง ชนทั้งมวลเห็นข้าพเจ้ามีร่างกายเจริญเติบโต
มีเนื้ออร่อย มีเนื้อมาก และมีเนื้อนุ่ม ก็ต้องการจะเบียดเบียน
แม้กาทั้งหลายเห็นข้าพเจ้าแล้วก็พึงเบียดเบียน
(งูต้องการลวงปู จึงกล่าวว่า)
[๙๙] ถ้าเราทั้ง ๒ ถูกหนีบเพราะเหตุแห่งชายนี้
ขอชายนี้จงลุกขึ้น ข้าพเจ้าจะดูดพิษให้
ขอท่านจงปล่อยข้าพเจ้าและกาโดยเร็ว
ก่อนที่พิษอันร้ายแรงจะเข้าสู่ชายนี้
(ปูได้ฟังดังนั้นคิดอุบายได้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๐๐] ข้าพเจ้าจะปล่อยงูแต่จะยังไม่ปล่อยกา
กาจักเป็นตัวประกันก่อนจนกว่าข้าพเจ้าจะเห็น
ชายนี้มีความสุข ปราศจากโรคแล้ว
จึงจะปล่อยกาเหมือนปล่อยงู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายประชุมชาดกว่า)
[๑๐๑] กาในกาลนั้นคือพระเทวทัต ส่วนงูเห่าคือมาร
ปูคือพระอานนท์ ส่วนพราหมณ์โชคดีคือเราผู้เป็นศาสดา
สุวัณณกักกฏกชาดกที่ ๔ จบ

๕. มัยหกสกุณชาดก (๓๙๐)
ว่าด้วยนกมัยหกะ
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่น้องชายว่า)
[๑๐๒] นกมัยหกะ๑บินไปตามเนินเขาและซอกเขา
จับที่ต้นเลียบซึ่งมีผลสุกแล้วร่ำร้องว่า ของกู ของกู
[๑๐๓] เมื่อมันบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ ฝูงนกที่บินรวมกันมา
ก็พากันจิกกินผลเลียบแล้วก็บินจากไป
มันก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นเอง ฉันใด
[๑๐๔] คนบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เก็บหอมรอมริบทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก
ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอย บางส่วนก็ไม่ได้แบ่งให้หมู่ญาติเลย
[๑๐๕] เขามิได้ใช้สอยหรือบริโภคสมบัติอื่น ๆ
ที่ตนมีอยู่แม้สักคราวเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร มาลัย หรือเครื่องลูบไล้ก็ตาม
อนึ่ง พวกญาติ ๆ เขาก็ไม่สงเคราะห์
[๑๐๖] เมื่อเขาบ่นเพ้อว่า ของกู ของกู อยู่อย่างนี้ หวงแหนอยู่
พระราชาบ้าง พวกโจรบ้าง
พวกทายาทไม่เป็นที่รักบ้าง ก็ฉกฉวยเอาทรัพย์ไป
คนผู้นั้นก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นแหละ

เชิงอรรถ :
๑ นกมัยหกะ หมายถึงนกเขา เพราะชอบร้อง(ขัน)ว่า ของกู ของกู อยู่ตลอดเวลา (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๐๒/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
[๑๐๗] ส่วนนักปราชญ์ได้โภคะทั้งหลายแล้วย่อมสงเคราะห์พวกญาติ
เพราะการสงเคราะห์นั้นเขาย่อมได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
เขาจากโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์
มัยหกสกุณชาดกที่ ๕ จบ

๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก (๓๙๑)
ว่าด้วยผู้เบียดเบียนนักบวช
(พระราชาทรงเจรจากับวิทยาธรว่า)
[๑๐๘] ท่านผู้มีรูปงามประนมมือนมัสการสมณะรูปทรามที่อยู่ข้างหน้า
สมณะนั้นประเสริฐกว่าท่านหรือเสมอท่าน
ขอท่านจงบอกชื่อของตนเองและชื่อของสมณะรูปนั้น
(ท้าวสักกโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๐๙] ข้าแต่มหาราช ทวยเทพทั้งหลายจะไม่เอ่ยชื่อ
และโคตรของวิสุทธิเทพผู้ดำเนินไป
แต่ข้าพระองค์จะบอกชื่อของตนแด่พระองค์
ข้าพระองค์คือท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพชั้นไตรทศ
(พระราชาตรัสถามถึงประโยชน์ในการนอบน้อมภิกษุว่า)
[๑๑๐] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ขอถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
ผู้นั้นจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ความสุขหรือ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสบอกว่า)
[๑๑๑] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
(พระราชาทำลายความยึดถือผิดของตนได้แล้วทรงดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[๑๑๒] วันนี้ มิ่งขวัญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ
ที่ข้าพระองค์ได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมเทพ
ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นภิกษุและพระองค์แล้ว
จะทำบุญให้มาก ๆ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสชมเชยบัณฑิตว่า)
[๑๑๓] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก
ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงเห็นภิกษุและข้าพระองค์แล้ว
ขอจงทำบุญให้มากเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมเทพ
เพราะได้ฟังคำอันเป็นสุภาษิตของพระองค์
ข้าพระองค์จักไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน
จักกำจัดมานะแล้วกราบไหว้ท่านผู้ควรกราบไหว้
ปัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ ๖ จบ

๗. อุปสิงฆปุปผชาดก (๓๙๒)
ว่าด้วยฤาษีลักดมดอกไม้
(เทพธิดาองค์หนึ่งสถิตอยู่ที่ค่าคบต้นไม้ ต้องการให้ฤๅษีโพธิสัตว์สลดใจ จึง
กล่าวว่า)
[๑๑๕] ท่านผู้นิรทุกข์ การที่ท่าน ลักดมดอกบัวที่เขายังไม่ได้ให้
นั่นเป็นองค์แห่งการขโมยอย่างหนึ่ง
ท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๑๖] ดอกบัวอาตมาก็ไม่ได้ลักและไม่ได้หัก ดมอยู่ห่าง ๆ๑
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นบุรุษขุดเหง้าบัวเก็บดอกบัว จึงกล่าวกับเทพธิดานั้นว่า)
[๑๑๗] ชายใดขุดเอาเหง้าบัว หักเอาดอกบัวขาวไป
ชายนั้นหยาบช้าอย่างนี้ ทำไมไม่ถูกกล่าวหา
(เทพธิดาบอกสาเหตุที่ไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้นว่า)
[๑๑๘] คนที่ทำงานหยาบช้ามากเป็นคนแปดเปื้อน
เหมือนผ้านุ่งของหญิงเลี้ยงเด็ก
สำหรับชายคนนั้นเราไม่ว่าอะไร
แต่ท่านเราสมควรจะว่ากล่าว
[๑๑๙] บุคคลผู้บริสุทธิ์แสวงหาแต่กรรมอันสะอาดอยู่เสมอ
ความชั่วเท่าปลายขนทรายย่อมปรากฏเหมือนเท่าหมอกเมฆ
(ฤๅษีโพธิสัตว์ซึ่งเทพธิดานั้นให้สลดใจกล่าวว่า)
[๑๒๐] นี่เทพผู้ควรบูชา ท่านรู้จักอาตมาดี
ซ้ำยังได้อนุเคราะห์อาตมาด้วย
ขอท่านโปรดเตือนซ้ำอีก เมื่อเห็นความบกพร่องเช่นนี้
(เทพธิดากล่าวว่า)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ
และไม่ได้เป็นลูกจ้างของท่าน
ท่านผู้เห็นภัย ท่านเองนั่นแหละ
ควรจะรู้จักกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ
อุปสิงฆปุปผชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดมอยู่ห่าง ๆ หมายถึงยืนดมอยู่ในที่ไกล (ขุ.ชา.อ. ๕/๑๑๖/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
๘. วิฆาสาทชาดก (๓๙๓)
ว่าด้วยผู้บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์จำแลงเป็นนกแขกเต้ามายังที่อยู่ของเหล่าดาบส เมื่อ
จะทำให้ดาบสเหล่านั้นสลดใจ ได้กล่าวว่า)
[๑๒๒] พวกคนกินเดนพากันอยู่สบายจริงหนอ
ซ้ำได้รับการสรรเสริญในปัจจุบันและจะมีสุคติในโลกหน้า
(ดาบสรูปหนึ่งเรียกดาบสที่เหลือมากล่าวว่า)
[๑๒๓] ท่านบัณฑิตผู้ร่วมอุทรทั้งหลาย
พวกท่านไม่สนใจที่จะฟังนกแขกเต้าพูด
พวกท่านจงฟังคำของนกแขกเต้า
นกแขกเต้าตัวนี้กำลังสรรเสริญพวกเราเป็นแน่
(นกแขกเต้ากล่าวกับดาบสเหล่านั้นว่า)
[๑๒๔] ข้าพเจ้าไม่ได้สรรเสริญพวกท่าน
ท่านผู้กินซากศพทั้งหลาย พวกท่านจงฟังข้าพเจ้า
พวกท่านเป็นผู้บริโภคอาหารที่เหลือทิ้ง
แต่มิใช่ผู้บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(ดาบสทั้งหมดฟังคำของนกแขกเต้าแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๒๕] พวกเราบวชมาแล้ว ๗ พรรษา เกล้ามวยผม
เลี้ยงชีพด้วยอาหารที่เป็นเดนอยู่ท่ามกลางป่า
ถ้าหากพวกเราเป็นผู้สมควรที่ท่านจะติเตียน
แล้วพวกไหนเล่าเป็นผู้สมควรที่ท่านจะสรรเสริญ
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ต้องการจะให้ดาบสเหล่านั้นเกิดความละอาย
จึงกล่าวว่า)
[๑๒๖] พวกท่านเลี้ยงชีพด้วยอาหารอันเหลือทิ้งของราชสีห์
เสือโคร่ง และเนื้อร้าย ยังสำคัญตนว่า เป็นคนกินเดน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
(ท้าวเธอเมื่อจะบอกข้อความนั้นแก่ดาบสเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า)
[๑๒๗] ชนเหล่าใดให้อาหารแก่สมณะ พราหมณ์
และวณิพกอื่น ๆ แล้วบริโภคอาหารที่เหลือ
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นคนกินเดน
วิฆาสาทชาดกที่ ๘ จบ

๙. วัฏฏกชาดก (๓๙๔)
ว่าด้วยนกคุ่มโพธิสัตว์
(นกคุ่มโพธิสัตว์กล่าวต้อนรับกาโลเลว่า)
[๑๒๘] คุณลุงกา ท่านกินอาหารอย่างดี ทั้งเนยใสและน้ำมัน
แต่ทำไมท่านจึงซูบผอมเล่า
(กาฟังคำของนกคุ่มนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๒๙] เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู
แสวงหาเหยื่ออยู่ในหมู่ศัตรูนั้น
มีใจหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
จะหาความมั่นใจได้ที่ไหน
[๑๓๐] พวกกามีใจหวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์
ได้ก้อนข้าวมาด้วยกรรมอันชั่วช้า จึงไม่อิ่มหนำ
พ่อนกคุ่ม เพราะเหตุนั้น เราจึงซูบผอม
[๑๓๑] พ่อนกคุ่ม เจ้ากินหญ้าและพืชอย่างเลว
มีโอชาน้อย แต่ทำไมท่านจึงอ้วนพีเล่า
(นกคุ่มโพธิสัตว์บอกเหตุที่ตัวเองอ้วนว่า)
[๑๓๒] พวกนกคุ่มมักน้อยเพราะไม่คิดเรื่องอาหาร
และไม่ต้องไปหากินไกล เลี้ยงชีพด้วยอาหารตามมีตามได้
กาเอ๋ย เพราะเหตุนั้น เราจึงอ้วนพี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๖. ฉักกนิบาต] ๒. ขรปุตตวรรค ๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
[๑๓๓] เพราะคนมีความมักน้อย มีความสุข
ไม่ต้องพะวงเรื่องอาหาร
กินอาหารที่เหมาะสมพอประมาณ
ก็จะดำเนินชีวิตให้เกิดความสุขได้
วัฏฏกชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. มณิชาดก (๓๙๕)
ว่าด้วยกาถูกกระเบื้องแขวนคอแทนแก้วมณี
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกาแล้วเมื่อจะเยาะเย้ย จึงกล่าวว่า)
[๑๓๔] นานแล้วหนอ เราเพิ่งจะได้เห็นเพื่อนประดับแก้วมณี
เพื่อนของเราให้ช่างตกแต่งขนปากงามจริงหนอ
(กาได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๓๕] เรามัวยุ่งอยู่กับงานราชการ
เล็บและขนปีกจึงงอกยาวรุงรัง
เป็นเวลานานจึงได้ช่างกัลบก
ถอนออกเสียจนหมดในวันนี้
(นกพิราบโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๓๖] เจ้าได้ช่างกัลบกที่หาได้ยากแล้วให้ถอนขนออกไป
เพื่อนเอ๋ย เมื่อเป็นเช่นนั้น
อะไรเล่า ส่งเสียงดังกริ่ง ๆ อยู่ที่คอของท่าน
(กาได้กล่าวว่า)
[๑๓๗] ผู้ดีทั้งหลายห้อยแก้วมณีไว้ที่คอ
เราเลียนแบบพวกเขา
เจ้าอย่าเข้าใจว่า เราทำเล่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
[๑๓๘] แม้หากเจ้าพอใจการตกแต่งขนปาก
ที่นายช่างตกแต่งได้อย่างสวยงามอย่างนี้
เพื่อนเอ๋ย เราจะให้เขาช่วยตกแต่งให้ท่าน
และแก้วมณีเราก็จะมอบให้ท่าน
(นกพิราบโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] ท่านเท่านั้นสมควรแก่แก้วมณี
และการตกแต่งขนปากอย่างสวยงาม
การไม่เห็นท่านเป็นที่พอใจของเรา
เราขอลาท่านไปก่อน
มณิชาดกที่ ๑๐ จบ
ขรปุตตวรรคที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ขรปุตตชาดก ๒. สูจิชาดก
๓. ตุณฑิลชาดก ๔. สุวัณณกักกฏกชาดก
๕. มัยหกสกุณชาดก ๖. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก
๗. อุปสิงฆปุปผชาดก ๘. วิฆาสาทชาดก
๙. วัฏฏกชาดก ๑๐. มณิชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. อวาริยวรรค ๒. ขรปุตตวรรค

ฉักกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๔ }


๗. สัตตกนิบาต
๑. กุกกุวรรค
หมวดว่าด้วยมาตราวัดศอก
๑. กุกกุชาดก (๓๙๖)
ว่าด้วยมาตราวัดศอก
(พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑] ช่อฟ้าสูงศอกครึ่ง โดยรอบกว้างประมาณ ๘ คืบ
ช่อฟ้านั้นทำด้วยแก่นไม้สีเสียด ไม่มีกระพี้
ตั้งอยู่บนอะไร จึงไม่ตกลงมาจากข้างบน
(พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า)
[๒] ช่อฟ้าที่จันทัน ๓๐ ตัว ซึ่งทำด้วยไม้แก่น ไม่ตรง
วางเรียงรายไว้เสมอกัน ค้ำยันไว้ และติดแน่นอย่างแข็งแรง
ตั้งอยู่เสมอกัน จึงไม่ตกลงมาจากข้างบน
[๓] แม้พระราชาผู้ทรงพระปรีชาก็เช่นกัน มีมิตรไมตรีที่สนิท
เป็นคนสะอาดไม่แตกแยก สงเคราะห์ด้วยดี
ย่อมไม่คลาดไปจากสิริเหมือนช่อฟ้าที่จันทันช่วยยึดไว้
[๔] คนมีมีด เมื่อไม่ปอกผลมะงั่วที่มีเปลือกแข็งออก
ก็ย่อมทำให้มีรสขม เมื่อปอกเปลือกออกก็จะทำให้มีรสดีขึ้น
ขอเดชะ แต่เมื่อปอกเปลือกบางออกก็จะทำให้รสไม่ดี ข้อนี้ฉันใด
[๕] แม้พระราชาผู้ทรงพระปรีชาก็ฉันนั้น
ไม่ทรงบีบคั้นชาวบ้าน ทรงรวบรวมพระราชทรัพย์
ปฏิบัติพระราชภารกิจตามทำนองคลองธรรม
ทรงทำแต่ความเจริญ ไม่ทรงเบียดเบียนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
[๖] บัวมีรากขาวเกิดแต่น้ำสะอาดในสระโบกขรณี
เปลือกตม ฝุ่นละออง และน้ำ
ย่อมไม่ติดดอกบัวที่บานเพราะดวงอาทิตย์ ฉันใด
[๗] พระราชาผู้มีความสะอาดในการวินิจฉัยคดี ไม่ทรงหุนหัน
มีการงานบริสุทธิ์ ปราศจากบาปก็ฉันนั้นเหมือนกัน
กรรมกิเลสย่อมไม่แปดเปื้อน
เพราะพระราชาเช่นนั้นเปรียบเหมือนบัวที่เกิดแล้วในสระโบกขรณี
กุกกุชาดกที่ ๑ จบ

๒. มโนชชาดก (๓๙๗)
ว่าด้วยราชสีห์มโนชะ
(สุนัขจิ้งจอกปรารภกับตนเองว่า)
[๘] เพราะคันธนูโก่งและสายธนูส่งเสียงดัง
พญาเนื้อมโนชะสหายของเราจึงถูกฆ่า
[๙] ทางที่ดี เราจะหนีเข้าป่าไปตามสบายเสียแต่เดี๋ยวนี้แหละ
ผู้ที่ตายแล้วเช่นนี้เป็นเพื่อนกันไม่ได้
เราเมื่อยังมีชีวิตอยู่ต้องได้เพื่อนใหม่
(พ่อราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๐] ผู้ที่คบคนชั่ว ย่อมไม่ได้รับความสุขอย่างแท้จริง
ดูเถิด เจ้ามโนชะนอนตายเพราะคำสั่งสอนของสุนัขจิ้งจอกคิริยะ
(แม่ราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๑] แม่ไม่ยินดีเลย ลูกคบคนชั่ว
จงดูเถิดเจ้ามโนชะนอนตายจมกองเลือดของตนเอง
(น้องสาวราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๒] บุคคลผู้ไม่กระทำตามถ้อยคำของผู้เกื้อกูลแนะประโยชน์
ต้องเป็นเช่นนี้ และประสบแต่ความเลว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
(เมียราชสีห์มโนชะกล่าวว่า)
[๑๓] ผู้ที่เป็นคนชั้นสูงแต่มาคบคนชั้นต่ำ
ย่อมเป็นคนเลวกว่าคนชั้นต่ำนั้นเสียอีก
จงดูเถิด พญาเนื้อชั้นสูงมาคบสุนัขจิ้งจอกชั้นต่ำ
ถูกกำลังลูกศรกำจัดแล้วด้วยประการฉะนี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑๔] คนคบคนเลวก็เลวตาม
คนคบคนเสมอกันย่อมไม่เสื่อมในกาลไหน ๆ
การคบคนที่ดีกว่าย่อมเจริญเร็วพลัน
เพราะเหตุนั้น จงคบคนที่ดีกว่าตนเถิด
มโนชชาดกที่ ๒ จบ

๓. สุตนชาดก (๓๙๘)
ว่าด้วยสุตนโพธิสัตว์
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๕] ท่านมฆเทพผู้สถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้
พระราชาทรงส่งภัตตาหารที่ปรุงด้วยเนื้อที่สะอาดมาให้ท่าน
ท่านจงออกมาบริโภคเถิด
(ยักษ์กล่าวว่า)
[๑๖] มาเถิดมาณพ จงวางภักษาหารที่เพียบพร้อมด้วยกับข้าวลง
มาณพ เจ้าก็จะเป็นภักษาหาร จัดเป็นภักษาหารทั้ง ๒ อย่าง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๗] ยักษ์ ท่านจะละทิ้งประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพราะเหตุเพียงเล็กน้อย
ชนทั้งหลายที่หวาดระแวงความตายจักไม่นำภักษาหารมาให้ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
[๑๘] นี่ยักษ์ ท่านจักได้ภักษาหารที่สะอาด ประณีต
มีรสอร่อยเป็นประจำทุกวัน
ก็เมื่อท่านกินเราเสียแล้ว
คนที่จะนำภักษาหารมาให้ท่านในที่นี้จักหาได้ยากอย่างยิ่ง
(ยักษ์กล่าวว่า)
[๑๙] พ่อสุตนะ เนื้อความตามที่ท่านพูด
เป็นประโยชน์แก่เราทีเดียว
เราอนุญาตท่าน
ขอให้ท่านจงกลับไปพบมารดาโดยความสวัสดีเถิด
[๒๐] พ่อมาณพ ท่านจงนำพระขรรค์ ฉัตร และถาดไปด้วย
ขอมารดาของท่านจงพบความสวัสดี
และขอให้ท่านจงพบมารดา
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๒๑] นี่ยักษ์ ขอท่านพร้อมกับหมู่ญาติทั้งหมด
จงเป็นสุขเช่นกันเถิด เราก็ได้ทรัพย์แล้ว
และเราก็กระทำตามพระราชโองการแล้ว
สุตนชาดกที่ ๓ จบ

๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
ว่าด้วยพญาแร้งโพธิสัตว์เลี้ยงมารดา
(แร้งรำพึงรำพันว่า)
[๒๒] พ่อแม่ของเราแก่เฒ่าอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
จักกระทำอย่างไรหนอ
เราก็ติดบ่วง ตกอยู่ในอำนาจของนายพรานนิลียะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก (๓๙๙)
(ลูกนายพรานถามว่า)
[๒๓] นี่นกแร้ง เจ้ากำลังคร่ำครวญหรือ
คร่ำครวญไปทำไม เราไม่เคยได้ยิน
ไม่เคยเห็นนกที่พูดภาษามนุษย์ได้
(แร้งตอบว่า)
[๒๔] เราเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
ท่านทั้ง ๒ นั้นจักทำอย่างไรหนอ
เพราะเราตกอยู่ในอำนาจของท่านเสียแล้ว
(ลูกนายพรานกล่าวว่า)
[๒๕] ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้
ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(แร้งกล่าวว่า)
[๒๖] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
(ลูกนายพรานกล่าวว่า)
[๒๗] เจ้าจงเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขาเถิด
เราอนุญาต เจ้าจงไปพบพวกญาติโดยความสวัสดีเถิด
(แร้งกล่าวว่า)
[๒๘] เมื่อเป็นเช่นนั้น นายพราน
ขอท่านจงบันเทิงใจพร้อมกับหมู่ญาติทั้งหมดเถิด
เราจักเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ที่ซอกเขา
มาตุโปสกคิชฌชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
๕. ทัพภปุปผชาดก (๔๐๐)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชื่อทัพภปุปผะ
(นากที่เที่ยวไปในน้ำลึกพูดกับนากที่เที่ยวไปตามริมฝั่งว่า)
[๒๙] เพื่อนผู้เจริญ เพื่อนผู้เที่ยวไปตามริมฝั่ง
จงวิ่งตามเรามาเถิด เราจับปลาใหญ่ได้แล้ว
มันพาเราไปอย่างรวดเร็ว
(นากที่เที่ยวไปตามริมฝั่งพูดว่า)
[๓๐] เพื่อนผู้เจริญ เพื่อนผู้เที่ยวไปในน้ำลึก
จงจับมันไว้ให้มั่นคงด้วยกำลัง
เราจะยกมันขึ้นมาเหมือนนกครุฑโฉบงูขึ้น
(นากทั้ง ๒ พูดกับสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๓๑] พวกเราเกิดวิวาทกันขึ้น พ่อทัพภปุปผะจงฟังเรา
เพื่อนจงระงับความทะเลาะกัน ขอความวิวาทจงสงบไป
(สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า)
[๓๒] เมื่อก่อนเราเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พิจารณาคดีมาแล้วมากมาย
เพื่อน เราจะระงับความทะเลาะกัน ความวิวาทจงสงบไป
[๓๓] นากตัวที่เที่ยวไปตามริมฝั่งจงเอาหางไป
ตัวที่เที่ยวไปในน้ำลึกจงเอาหัวไป
ส่วนท่อนกลางนี้ตกเป็นของเราผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(นากทั้ง ๒ พูดกันว่า)
[๓๔] ถ้าเราไม่ทะเลาะกัน จักมีอาหารไปนานวัน
สุนัขจิ้งจอกคาบเอาปลาตะเพียนที่ไม่ใช่ท่อนหัวท่อนหางไปเสียแล้ว
(เมียสุนัขจิ้งจอกถามว่า)
[๓๕] วันนี้เรายินดีเพราะเห็นผัวมีหน้าเบิกบาน
เหมือนขัตติยราชทรงยินดีเพราะได้ราชสมบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
[๓๖] ทำไมหนอ ท่านเกิดอยู่บนบกจึงจับปลาในน้ำได้
นี่ท่านผู้ร่วมชีวิต ฉันถามแล้วโปรดบอก ท่านได้มาอย่างไร
(สุนัขจิ้งจอกตอบว่า)
[๓๗] เพราะการทะเลาะกัน สัตว์จึงผ่ายผอม ทรัพย์จึงสิ้นไป
พวกนากเสื่อมเพราะการทะเลาะกัน
แม่มายาวี เธอจงกินปลาตะเพียนเถิด
[๓๘] ในหมู่มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เกิดการทะเลาะในที่ใด
ก็จะพากันไปหาผู้ตั้งอยู่ในธรรมในที่นั้น
ผู้วินิจฉัยคดีนั้นเป็นผู้ตัดสินให้พวกเขา
ในการทะเลาะนั้นก็จะพากันหมดสิ้นทรัพย์ไป
พระคลังหลวงก็จะเพิ่มพูน
ทัพภปุปผชาดกที่ ๕ จบ

๖. ทสัณณกชาดก (๔๐๑)
ว่าด้วยดาบแคว้นทสัณณกะ
(พระราชาตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า)
[๓๙] ดาบแคว้นทสัณณกะคมกริบดื่มเลือดของคนที่ถูกต้อง
ชายผู้นี้กลืนเข้าไปได้ท่ามกลางชุมชน
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว จงบอกเหตุนั้น
(อายุรบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๐] ชายผู้นี้กลืนดาบคมกริบที่ดื่มเลือดของคนที่ถูกต้องเข้าไปได้
เพราะความโลภ แต่ผู้ใดพูดว่าจะให้
คำพูดของเขาทำได้ยากกว่าการกลืนดาบนั้น
เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย
ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
(พระราชาตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า)
[๔๑] อายุรบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรมได้แก้เนื้อความแห่งปัญหาแล้ว
บัดนี้เราจะถามท่านปุกกุสบัณฑิตบ้าง
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเหตุนั้น
(ปุกกุสบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๒] วาจาที่เปล่งออกมาคนอาศัยไม่ได้ ไม่มีผล
แต่ผู้ใดให้แล้วไม่ติดใจ การกระทำของผู้นั้นทำได้ยากกว่านั้น
เหตุอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
(พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)
[๔๓] ปุกกุสบัณฑิตผู้ฉลาดในธรรมได้แก้เนื้อความแห่งปัญหาแล้ว
บัดนี้เราจะถามท่านเสนกบัณฑิตบ้าง
เหตุอื่นใดที่ทำได้ยากกว่านั้นมีอยู่หรือ
เราถามแล้ว ท่านจงบอกเหตุนั้น
(เสนกบัณฑิตทูลตอบว่า)
[๔๔] ทานจะน้อยหรือมากก็ตาม คนก็ควรจะให้
แต่ว่าผู้ใดเมื่อให้แล้ว ภายหลังไม่เดือดร้อน
การให้ของผู้นั้นทำได้ยากกว่า
เหตุอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ขอเดชะพระเจ้ามัททวะผู้สมมติเทพ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้
(พระราชาตรัสสดุดีพระโพธิสัตว์ว่า)
[๔๕] ตามที่เสนกบัณฑิตกล่าวมาย่อมครอบคลุมปัญหาทุกข้อ
อายุรบัณฑิตและปุกกุสบัณฑิตได้กล่าวแก้แล้ว
ทสัณณกชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
๗. เสนกชาดก (๔๐๒)
ว่าด้วยเสนกบัณฑิต
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๔๖] ท่านมีจิตฟุ้งซ่าน มีดวงตาบอบช้ำ
หยาดน้ำตาก็ไหลออกมาจากนัยน์ตาทั้ง ๒ ของท่าน
อะไรของท่านหาย หรือท่านต้องการอะไรจึงมาที่นี้
พ่อพราหมณ์ เชิญพูดมาเถิด
(พราหมณ์กล่าวว่า)
[๔๗] วันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงบ้าน ภรรยาต้องตาย
เมื่อไปไม่ถึงบ้าน ข้าพเจ้าต้องตาย เทวดาบอกไว้
เพราะทุกข์นี้ ข้าพเจ้าจึงหวาดกลัว
ท่านเสนกบัณฑิต โปรดบอกเหตุนี้แก่ข้าพเจ้า
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๔๘] ข้าพเจ้าพิจารณาเหตุหลายประการแล้ว
กล่าวเหตุใดในเหตุนี้ เหตุนั้นแน่นอนจักเป็นเรื่องจริง
พ่อพราหมณ์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า งูเห่าได้เลื้อยเข้าไป
ในถุงย่ามข้าวสัตตุของท่าน โดยท่านไม่รู้ตัว
[๔๙] ท่านจงเอาท่อนไม้เคาะถุงย่ามดูเถิด
จะเห็นงูมีลิ้นสองแฉก มีน้ำลายฟูมปาก
ท่านจะตัดความเคลือบแคลงสงสัยเสียได้วันนี้
ท่านจะได้เห็นงู จงแก้ถุงย่ามเถิด
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๕๐] พราหมณ์นั้นมีท่าทางสยดสยอง
ได้แก้ถุงย่ามข้าวสัตตุออกท่ามกลางชุมชน
ขณะนั้น งูร้ายมีพิษร้ายแรงเลื้อยออกมาแผ่พังพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
(พราหมณ์กล่าวสดุดีพระราชาว่า)
[๕๑] พระเจ้าชนกทรงได้ลาภดีแล้วที่ได้ทรงพบเสนกะผู้มีปัญญาดี
พราหมณ์ ท่านเปิดเผยข้อที่ปกปิดได้หนอ
เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ญาณของท่านมีกำลังยิ่งนัก
(พราหมณ์ต้องการจะสดุดีเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า)
[๕๒] ข้าพเจ้ามีทรัพย์อยู่ ๗๐๐ กหาปณะนี้
เชิญรับไปทั้งหมดเถิด ข้าพเจ้าให้ท่าน
เพราะข้าพเจ้าได้ชีวิตในวันนี้ก็เพราะท่าน
ซ้ำท่านยังได้ทำความสวัสดีแก่ภรรยาของข้าพเจ้าด้วย
(เสนกบัณฑิตกล่าวว่า)
[๕๓] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่รับค่าจ้าง
เพราะคาถาอันวิจิตรที่กล่าวดีแล้ว พ่อพราหมณ์
แต่นี้ไป ขอให้คนทั้งหลายจงช่วยกันให้ทรัพย์แก่ท่าน
ท่านจงนำไปยังที่อยู่ของตนเถิด
เสนกชาดกที่ ๗ จบ

๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
ว่าด้วยอัฏฐิเสนฤาษี
(พระราชาตรัสถามฤๅษีอัฏฐิเสนะว่า)
[๕๔] พระคุณเจ้าอัฏฐิเสนะ โยมไม่รู้จักวณิพกพวกนี้เลย
แต่พวกเขาได้พร้อมใจกันมาขอกับโยม
ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ขอโยมบ้าง
(ฤๅษีอัฏฐิเสนะทูลตอบว่า)
[๕๕] ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รัก ผู้ไม่ให้ของที่ขอก็ไม่เป็นที่รัก
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ขอมหาบพิตร
ขอความหมางใจอย่าได้มีแก่อาตมภาพเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๘. อัฏฐิเสนชาดก (๔๐๓)
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๖] ผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำลายผู้อื่นเสียจากบุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้
[๕๗] ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำผู้อื่นให้ได้บุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้
[๕๘] ผู้มีปัญญาทั้งหลายเห็นยาจกมาแล้วไม่รังเกียจ
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์
พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม
นิมนต์พระคุณเจ้ากล่าวขอสิ่งที่ต้องการเถิด
(ฤๅษีอัฏฐิเสนะทูลว่า)
[๕๙] ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมไม่ขอเลย
ส่วนนักปราชญ์ควรจะรู้เอง
พระอริยะเพียงเจาะจงยืนเท่านั้น
นี้เป็นการขอของพระอริยะ
(พระราชาตรัสว่า)
[๖๐] ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคแดง ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน
เพราะพระอริยะได้ฟังคาถา
อันประกอบด้วยธรรมของพระคุณเจ้าแล้ว
จะไม่พึงถวายแก่พระอริยะได้อย่างไร
อัฏฐิเสนชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
๙. กปิชาดก (๔๐๔)
ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้บริหารหมู่คณะ
(พระโพธิสัตว์กล่าวให้โอวาทแก่ฝูงลิงว่า)
[๖๑] บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตาม ย่อมอยู่เป็นทุกข์
[๖๒] ลิงตัวหัวหน้ามีจิตเรรวน เพราะทำตามลิงที่มีจิตเรรวน
มันได้ทำความพินาศให้แก่ฝูง เพราะลิงตัวเดียวเป็นเหตุ
[๖๓] สัตว์โง่แต่สำคัญตนว่าฉลาด เป็นผู้นำฝูง
ลุอำนาจใจของตนเอง
ก็จะต้องนอนตายเหมือนอย่างลิงตัวนี้
[๖๔] สัตว์โง่แต่มีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ไม่ดี
เพราะไม่เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนนกต่อไม่เกื้อกูลแก่นกทั้งหลาย
[๖๕] ส่วนสัตว์ฉลาดมีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ดี
เพราะเกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนท้าววาสวะเกื้อกูลแก่หมู่เทพชั้นดาวดึงส์
[๖๖] ส่วนผู้ใดตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะในตน
ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย
คือ ทั้งตนและผู้อื่น
[๖๗] เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์พึงตรวจดูตน
เหมือนตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะ
แล้วบริหารหมู่คณะบ้าง ปฏิบัติอยู่ลำพังผู้เดียวบ้าง
กปิชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๑. กุกกุวรรค ๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
๑๐. พกพรหมชาดก (๔๐๕)
ว่าด้วยพรตและศีลของพกพรหม
(พกพรหมกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า)
[๖๘] ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์ทั้ง ๗๒ คน
ได้กระทำบุญไว้ มีอำนาจ พ้นชาติและชรา
การถึงความเป็นพรหมนี้เป็นชาติสุดท้าย สำเร็จด้วยพระเวท
ชนทั้งหลายมิใช่น้อยกล่าวนมัสการพวกข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๖๙] ท้าวพกพรหม ท่านสำคัญอายุใดว่ายืนยาว
ความจริงอายุนั้นน้อย ไม่ยืนยาวเลย
เราตถาคตทราบอย่างชัดแจ้ง
ถึงอายุ ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุทะของท่าน
(พกพรหมกราบทูลว่า)
[๗๐] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสว่า
เราตถาคตเป็นผู้เห็นไม่มีที่สิ้นสุด
พ้นชาติ ชรา และความโศกเสียได้
พรตและศีลครั้งก่อนของข้าพระองค์เป็นเช่นไร
ขอพระองค์จงตรัสบอกพรตและศีล
ที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๗๑] ท่านได้ช่วยให้มนุษย์เป็นจำนวนมากที่มีความกระหาย
ถูกความร้อนแผดเผาให้ได้ดื่มน้ำ
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา๑

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา หมายถึงจำความฝันได้ (ขุ.ชา.อ. ๕/๗๑/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
[๗๒] การที่ท่านได้ปล่อยหมู่ชนซึ่งถูกจับที่ฝั่งแม่น้ำเอณินำไปเป็นเชลย
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
[๗๓] ท่านใช้กำลังเข้าข่ม ได้ปลดปล่อยเรือที่พญานาคดุร้าย
ยึดไว้ที่กระแสแม่น้ำคงคาเพราะต้องการจะทำลายมนุษย์
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
[๗๔] อนึ่ง เราตถาคตได้เคยเป็นศิษย์ของท่านชื่อว่ากัปปะ
สำคัญท่านว่ามีปัญญา ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติ
นั่นเป็นพรตและศีลครั้งก่อนของท่าน
เราตถาคตระลึกได้เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา
(พกพรหมกล่าวสดุดีพระผู้มีพระภาคว่า)
[๗๕] อายุของข้าพระองค์นี่ พระองค์ทรงทราบชัดแน่นอน
ทั้งอย่างอื่นก็ยังทรงทราบด้วย
เพราะพระองค์ทรงเป็นพุทธะอย่างแท้จริง
เพราะพระองค์ทรงเป็นพุทธะนั่นแหละจึงทรงมีอานุภาพ
รุ่งเรืองอย่างนี้ ทรงทำพรหมโลกให้สว่างไสวอยู่
พกพรหมชาดกที่ ๑๐ จบ
กุกกุวรรคที่ ๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้

๑. กุกกุชาดก ๒. มโนชชาดก
๓. สุตนชาดก ๔. มาตุโปสกคิชฌชาดก
๕. ทัพภปุปผชาดก ๖. ทสัณณกชาดก
๗. เสนกชาดก ๘. อัฏฐิเสนชาดก
๙. กปิชาดก ๑๐. พกพรหมชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
๒. คันธารวรรค
หมวดว่าด้วยคันธารดาบส
๑. คันธารชาดก (๔๐๖)
ว่าด้วยคันธารดาบสโพธิสัตว์
(พระโพธิสัตว์ต่อว่าวิเทหดาบสว่า)
[๗๖] ท่านละทิ้งหมู่บ้านจำนวนถึง ๑๖,๐๐๐ หมู่บ้าน
และเรือนคลังที่บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ
บัดนี้ ยังทำการสะสมอยู่อีก
(วิเทหดาบสแย้งว่า)
[๗๗] ท่านละแคว้นคันธาระซึ่งมีทรัพย์และน้ำดื่มสมบูรณ์
เลิกจากการสั่งสอน
ทำไม เดี๋ยวนี้จึงยังสั่งสอนอยู่ในที่นี้อีกเล่า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๘] ท่านเวเทหดาบส ข้าพเจ้ากล่าวธรรม๑
ข้าพเจ้าไม่พอใจอธรรมเลย
บาปย่อมไม่แปดเปื้อนข้าพเจ้าผู้กล่าวธรรม
(วิเทหดาบสกล่าวว่า)
[๗๙] แม้หากวาจาจะมีประโยชน์มาก
แต่ผู้อื่นได้รับความขัดเคืองใจ
เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
วาจานั้นบัณฑิตก็ไม่ควรจะกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ กล่าวธรรม ในที่นี้หมายถึงกล่าวความเป็นจริง (ขุ.ชา.อ. ๕/๗๘/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๐] บุคคลเมื่อถูกตักเตือนจะโกรธหรือไม่โกรธก็ตาม
หรือจะโปรยความโกรธเช่นกับโปรยแกลบทิ้งก็ตาม
แต่บาปก็ไม่แปดเปื้อนข้าพเจ้าผู้กล่าวธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๘๑] หากชนจำนวนมากไม่มีความรู้เป็นของตน
หรือไม่ได้ศึกษาวินัยอย่างดี
ก็จะพึงเที่ยวไปเหมือนกระบือบอดเที่ยวไปในป่า
[๘๒] ก็แหละเพราะบุคคลบางพวกในโลกนี้
ได้ศึกษาดีแล้วในสำนักของอาจารย์
ฉะนั้น จึงเป็นผู้มีวินัยได้รับการแนะนำแล้ว
มีจิตตั้งมั่นดีแล้วเที่ยวไป
คันธารชาดกที่ ๑ จบ

๒. มหากปิชาดก (๔๐๗)
ว่าด้วยพญาลิงโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสถามพญาลิงว่า)
[๘๓] พญาลิง เจ้าทอดตัวเป็นสะพาน
ให้ลิงเหล่านี้ข้ามไปโดยสวัสดี
เจ้าเป็นอะไรกับลิงเหล่านั้น
ลิงเหล่านั้นเป็นอะไรกับเจ้า
(พญาลิงกราบทูลว่า)
[๘๔] ขอเดชะพระองค์ผู้ปราบข้าศึก
ข้าพระองค์เป็นพญาลิงผู้เป็นใหญ่ปกครองฝูงลิงเหล่านั้น
ผู้มีทั้งความเศร้าโศกและความกลัวต่อพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
[๘๕] ข้าพระองค์ได้พุ่งตัวซึ่งมีเถาวัลย์ผูกติดที่ ๒ เท้าหลังอย่างมั่นคง
ไปจากต้นไม้นั้นประมาณชั่วร้อยคันธนูที่ปลดสายแล้ว
[๘๖] ข้าพระองค์นั้นพุ่งออกไปตามลมเข้าหาต้นมะม่วงนี้
ดุจเมฆถูกลมพัดขาด เมื่อไปไม่ถึง
จึงใช้เท้าหน้าทั้ง ๒ จับกิ่งมะม่วงกลางอากาศนั้น
[๘๗] ข้าพเจ้านั้น ถูกกิ่งไม้และเถาวัลย์ขึงอยู่เหมือนสายพิณ
พวกลิงใช้เท้าเหยียบข้ามไปโดยสวัสดี
[๘๘] การผูกด้วยเถาวัลย์นั้นไม่ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน
ถึงตายก็ไม่เดือดร้อน ขอข้าพเจ้าได้นำความสุข
มาให้แก่ฝูงลิงที่ข้าพเจ้าปกครองอยู่(เท่านั้น)
[๘๙] ขอเดชะพระราชาผู้ปราบข้าศึก
นี้เป็นอุปมาสำหรับพระองค์
ขอพระองค์ทรงสดับข้ออุปมานั้นเถิด
ก็พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงทราบชัด
ควรจะแสวงหาความสุขมาให้แก่ชนทั้งปวง
คือ ทั้งชาวแคว้น พาหนะ พลนิกาย และชาวบ้าน
มหากปิชาดกที่ ๒ จบ

๓. กุมภการชาดก (๔๐๘)
ว่าด้วยนายช่างหม้อ
(พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ องค์กล่าวกับพระโพธิสัตว์องค์ละคาถาว่า)
[๙๐] อาตมาได้เห็นต้นมะม่วงกลางป่า เขียวชะอุ่ม
งอกงาม ผลิดอกออกผลสะพรั่ง
อาตมาได้เห็นมะม่วงต้นนั้นถูกทำลาย เพราะผลเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นจึงเที่ยวภิกขาจาร (ออกบวช)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
[๙๑] กำไลแก้วคู่หนึ่งที่นายช่างผู้ชาญฉลาดเจียรไนแล้ว
เป็นของเกลี้ยงเกลา ที่สตรีสวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง๑
แต่เพราะสวมใส่วงที่ ๒ เข้าจึงได้มีเสียงดัง
อาตมาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[๙๒] นกจำนวนมากพากันรุมจิกตีนกตัวหนึ่ง
ซึ่งกำลังคาบชิ้นเนื้อมาอยู่เพราะอาหารเป็นเหตุ
อาตมาได้เห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[๙๓] อาตมาได้เห็นโคผู้มีหนอกกระเพื่อม
มีสีสันและมีกำลังอยู่ท่ามกลางฝูงโค
อาตมาได้เห็นมันขวิดโคผู้ตัวหนึ่งเพราะกามเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
(พระโพธิสัตว์กล่าวกับภรรยาว่า)
[๙๔] พระเจ้ากรัณฑกะ ราชาแห่งแคว้นกาลิงคะ
พระเจ้านัคคชิ ราชาแห่งแคว้นคันธาระ
พระเจ้านิมิราช ราชาแห่งแคว้นวิเทหะ
และพระเจ้าทุมมุขะ ราชาแห่งแคว้นปัญจาละ
ทรงละทิ้งแคว้นเหล่านั้นแล้ว
หมดความกังวล ทรงผนวชแล้ว
[๙๕] แม้พระราชาทุกพระองค์เสมอด้วยเทพเจ้า
เสด็จมาประชุมกัน ย่อมรุ่งเรืองเหมือนไฟที่ลุกโชน
นี่น้องหญิงผู้มีโชค ถึงพี่ก็จะเป็นเหมือนพระราชาเหล่านี้
จักละกามซึ่งมีประการต่าง ๆ แล้วเที่ยวไปผู้เดียว

เชิงอรรถ :
๑ สวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง หมายถึงสวมข้างละวง (ขุ.ชา.อ. ๕/๙๑/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
(ภรรยากล่าวว่า)
[๙๖] เวลานี้เท่านั้นเหมาะที่จะบวช เวลาอื่นไม่เหมาะ
ภายหลังคงจะไม่มีผู้ที่จะพร่ำสอนดิฉัน
ท่านผู้มีโชค ถึงดิฉันก็จักเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนสกุณีที่รอดพ้นจากมือคน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๗] พวกเด็ก ๆ รู้จักของดิบ ของสุก ของเค็ม และของจืด
อาตมาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงบวช
น้องหญิงจงเที่ยวภิกขาจารไปเถิด
อาตมาก็จะเที่ยวภิกขาจารไป
กุมภการชาดกที่ ๓ จบ

๔. ทัฬหธัมมชาดก (๔๐๙)
ว่าด้วยพระเจ้าทัฬหธรรม
(ช้างกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๙๘] ถึงหากข้าพเจ้าจะขนลูกศรผูกติดที่อก
ไปเผชิญหน้ากับศัตรูในสนามรบ
ก็หาได้ทำให้พระเจ้าทัฬหธรรมโปรดปรานไม่
[๙๙] หน้าที่ทหารอันเกรียงไกรและการรับใช้สื่อสาร
ที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติเป็นอย่างดีในสงคราม
พระราชามิได้ทรงทราบแน่
[๑๐๐] ข้าพเจ้านั้นคงจะต้องตายอย่างขาดพวกพ้อง
ไร้ที่พึ่งอาศัยแน่ จะเห็นได้
ดังที่พระราชทานข้าพเจ้าแก่นายช่างหม้อ
ให้ทำหน้าที่ขนอุจจาระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๐๑] บุคคลบางคนยังหวังประโยชน์อยู่ตราบใด
ก็ยังคบหากันอยู่ตราบนั้น
เมื่อไร้ประโยชน์ พวกคนโง่ก็ทอดทิ้งเขาไป
เหมือนกษัตริย์ทรงทอดทิ้งช้างพังชื่อโอฏฐีพยาธิ
[๑๐๒] ผู้ใดเขาทำความดี ทำประโยชน์ให้ก่อน ก็ไม่รู้จักคุณ
ประโยชน์ทั้งหลายที่เขาปรารถนาก็ย่อมฉิบหายไป
[๑๐๓] ผู้ใดเขาทำความดี ทำประโยชน์ให้ก่อน ก็รู้จักคุณอยู่เสมอ
ประโยชน์ทั้งหลายที่เขาปรารถนาก็ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
[๑๐๔] เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลพระองค์
ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ
ตลอดทั้งประชาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้กตัญญู
จงดำรงอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลนาน
ทัฬหธัมมชาดกที่ ๔ จบ

๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
ว่าด้วยลูกช้างชื่อโสมทัต
(ดาบสคร่ำครวญหาช้างน้อยว่า)
[๑๐๕] เมื่อก่อน โสมทัตพ่อช้างน้อยมีอัธยาศัยกว้างขวาง
มาต้อนรับเราแต่ไกลในป่า
วันนี้หายไปไหน จึงไม่เห็น
[๑๐๖] ช้างเชือกที่นอนตายเหมือนยอดเถาย่านทราย
ที่ถูกเด็ดทิ้งคือเจ้าโสมทัตนี้เอง
เจ้ากุญชรล้มลงนอนที่พื้นดินตายเสียแล้วหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๕. โสมทัตตชาดก (๔๑๐)
(ท้าวสักกะตรัสกับดาบสว่า)
[๑๐๗] การที่ท่านบวชเป็นสมณะพ้นจากการครองเรือนไปแล้ว
ยังมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่เป็นการดีเลย
(ดาบสกล่าวกับท้าวสักกะว่า)
[๑๐๘] ท้าวสักกะ เพราะการอยู่ร่วมกันแล
ความรักจึงเกิดในหทัยของมนุษย์หรือของเนื้อ
อาตมาจึงไม่สามารถที่จะไม่เศร้าโศกถึงลูกเนื้อนั้นได้
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๑๐๙] ชนเหล่าใดร้องไห้ บ่นเพ้อ รำพัน
ถึงคนที่ตายแล้วและคนที่จะตาย
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวการร้องไห้ว่าเปล่าประโยชน์
ท่านฤๅษี เพราะฉะนั้น ท่านอย่าร้องไห้ไปเลย
[๑๑๐] พราหมณ์ สัตว์ที่ตายละโลกนี้ไปแล้ว
จะพึงลุกขึ้นได้เพราะการร้องไห้
เราทุกคนก็คงมาประชุมกันร้องไห้ถึงหมู่ญาติของกันและกัน
(ดาบสกล่าวสดุดีท้าวสักกะว่า)
[๑๑๑] พระองค์ช่วยระงับอาตมาผู้เร่าร้อนให้สงบ
ดับความกระวนกระวายทั้งหมดได้
เหมือนคนเอาน้ำราดดับไฟที่ติดเปรียง
[๑๑๒] พระองค์ได้บรรเทาความเศร้าโศกถึงบุตรของอาตมา
ผู้กำลังเศร้าโศก ชื่อว่าได้ช่วยถอนลูกศรคือความเศร้าโศก
ซึ่งเสียบหัวใจของอาตมาขึ้นได้แล้วหนอ
[๑๑๓] ท้าววาสวะ อาตมาซึ่งพระองค์ช่วยถอนลูกศร
คือความเศร้าโศกขึ้นได้แล้วเป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก
ไม่มีความขุ่นมัว จึงไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้
เพราะได้ฟังคำของพระองค์
โสมทัตตชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
๖. สุสีมชาดก (๔๑๑)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะออกผนวช
(พระโพธิสัตว์โอวาทตนเองว่า)
[๑๑๔] เมื่อก่อนผมสีดำได้งอกบริเวณศีรษะ วันนี้ผมเหล่านั้นมีสีขาว
สุสีมะ เจ้าเห็นแล้วจงประพฤติธรรมเถิด
เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
(พระราชเทวีทูลพระราชาว่า)
[๑๑๕] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
ผมหงอกของหม่อมฉันมิใช่ของพระองค์
ผมหงอกงอกบนศีรษะของหม่อมฉัน
หม่อมฉันได้ทูลคำเท็จเพราะหวังทำประโยชน์แก่ตนเอง
ขอเดชะพระราชาผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์พระราชทานอภัยแก่หม่อมฉันสักครั้งหนึ่งเถิด
[๑๑๖] ขอเดชะพระมหาราช พระองค์ยังทรงหนุ่ม น่าทัศนา
ทรงดำรงอยู่ในปฐมวัย งามประดุจยอดไม้
ขอพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ
และทรงสนพระทัยหม่อมฉัน
ขอพระองค์อย่าด่วนประพฤติพรหมจรรย์ที่ให้ผลตามกาลเลย
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๑๗] เราเห็นสาววัยรุ่น มีผิวพรรณเกลี้ยงเกลา
ร่างกายงดงาม ทรวดทรงเฉิดฉาย
เจ้าหล่อนมีกิริยาละมุนละไม ประดุจดังเถาย่านาง
ประหนึ่งว่าประเล้าประโลมกิเลสกามยามไปใกล้บุรุษเพศ
[๑๑๘] ต่อมาเราเห็นหญิงนั้นมีอายุถึง ๘๐ ปี หรือ ๙๐ ปีนับแต่เกิด
ถือไม้เท้าตัวสั่นงันงก มีกายค่อมลงเหมือนกลอนเรือนเที่ยวไปอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
[๑๑๙] เรานั้น เมื่อพิจารณาใคร่ครวญถึงเหตุอันนั้นแหละ
จึงนอนอยู่ท่ามกลางที่นอนคนเดียว และพิจารณาเห็นว่า
ถึงเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น จึงไม่ยินดีในการครองเรือน
เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะประพฤติพรหมจรรย์
[๑๒๐] ความยินดีของผู้ครองเรือนเปรียบเหมือนเชือกที่ผูกยึดเหนี่ยวไว้
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเชือกนั้นแล้ว
ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป
สุสีมชาดกที่ ๖ จบ

๗. โกฏสิมพลิชาดก (๔๑๒)
ว่าด้วยเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นงิ้วใหญ่
(พญาครุฑกล่าวกับรุกขเทวดาว่า)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าจับพญานาคตัวยาวตั้ง ๑,๐๐๐ วามาไว้
พญานาคและข้าพเจ้านั้นมีร่างกายใหญ่โต
ท่านยังรองรับไว้ได้ ไม่สะทกสะท้าน
[๑๒๒] โกฏสิมพลิเทพบุตร เพราะเหตุไร
เมื่อท่านรองรับนางนกน้อยตัวนี้ซึ่งมีเนื้อน้อยกว่าข้าพเจ้า
จึงมีความกลัวจนตัวสั่น
(รุกขเทวดากล่าวกับพญาครุฑว่า)
[๑๒๓] พญาครุฑ ตัวท่านกินเนื้อเป็นอาหาร
ส่วนนกนี้กินผลไม้เป็นอาหาร
นกตัวนี้กินเมล็ดไทร เมล็ดดีปลี เมล็ดมะเดื่อ
และเมล็ดโพธิ์แล้ว จักถ่ายรดลำต้นข้าพเจ้า
[๑๒๔] ต้นไม้เหล่านั้นจะเจริญงอกงามอยู่ระหว่างกิ่งของข้าพเจ้า
ต้นไม้เหล่านั้นจะรึงรัดปกคลุมข้าพเจ้า
จักทำให้ข้าพเจ้าไม่เป็นต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
[๑๒๕] แม้ต้นไม้เหล่าอื่นมีรากและลำต้นมั่นคง
ที่ถูกนกตัวนี้นำพืชมาทำลายก็มีอยู่
[๑๒๖] ต้นไม้ทั้งหลายที่งอกขึ้นมา
จะเติบโตเกินต้นไม้เจ้าป่าแม้ที่มีลำต้นใหญ่โต
พญาครุฑ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าเมื่อเห็นภัยในอนาคต
จึงสะทกสะท้าน
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[๑๒๗] บุคคลพึงระแวงภัยที่ควรระแวง
พึงป้องกันภัยที่ยังมาไม่ถึง
เพราะภัยที่ยังมาไม่ถึง
นักปราชญ์จึงได้พิจารณาเห็นโลกทั้ง ๒
โกฏสิมพลิชาดกที่ ๗ จบ

๘. ธูมการิชาดก (๔๑๓)
ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควัน
(พระศาสดาตรัสขยายอาการถามของพระธนญชัยในอดีตว่า)
[๑๒๘] พระเจ้ายุธิฏฐิละผู้ใคร่ธรรม ได้ตรัสถามวิธุรบัณฑิตว่า
พราหมณ์ เจ้าทราบบ้างไหม มีใครคนหนึ่งเศร้าโศกมาก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๙] มีพราหมณ์วาเสฏฐโคตร บูชาไฟอยู่ในป่ากับฝูงแพะ
ไม่เกียจคร้าน ก่อไฟรมควันทั้งกลางวันและกลางคืน
[๑๓๐] ด้วยกลิ่นควันไฟนั้นของเขา พวกละมั่งถูกยุงรบกวน
จึงได้เข้าไปอยู่ใกล้พราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควันตลอดฤดูฝน
[๑๓๑] เขาพอใจพวกละมั่ง เลยไม่เอาใจใส่พวกแพะ
มันจะมาหรือจะไปก็ไม่รับรู้
แพะเหล่านั้นของเขาจึงพินาศไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
[๑๓๒] เมื่อป่าไร้ยุงในฤดูใบไม้ร่วง
พวกละมั่งก็พากันเข้าไปยังซอกเขาและต้นน้ำลำธาร
[๑๓๓] พราหมณ์เห็นพวกละมั่งจากไปแล้ว
และพวกแพะก็ถึงความพินาศ จึงซูบผอม
มีผิวพรรณหม่นหมองและเป็นโรคผอมเหลือง
[๑๓๔] ด้วยประการเช่นนี้ ผู้ใดไม่สนใจคนเก่าของตน
รักแต่คนมาใหม่ ผู้นั้นก็จะโดดเดี่ยว
เศร้าโศกมากเหมือนดังพราหมณ์ผู้ก่อไฟรมควัน
ธูมการิชาดกที่ ๘ จบ

๙. ชาครชาดก (๔๑๔)
ว่าด้วยผู้หลับและตื่น
(รุกขเทวดาถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๓๕] ในโลกนี้ เมื่อเขาตื่น ใครหลับ เมื่อเขาหลับ ใครตื่น
ใครจะเข้าใจปัญหานี้ของเราหนอ
ใครจะตอบปัญหานี้แก่เราได้
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๓๖] เมื่อพวกเขาตื่นอยู่ ข้าพเจ้าหลับ
เมื่อพวกเขาหลับ ข้าพเจ้าตื่นอยู่
ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหานี้ ข้าพเจ้าขอตอบท่าน
(รุกขเทวดาถามว่า)
[๑๓๗] เมื่อพวกเขาตื่น ท่านหลับอย่างไร
เมื่อพวกเขาหลับ ท่านตื่นอย่างไร
ท่านเข้าใจปัญหานี้อย่างไร
ท่านตอบข้าพเจ้าได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
(พระโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๑๓๘] คนเหล่าใดไม่รู้จักธรรมว่า
นี้เป็นสัญญมะ และว่านี้เป็นทมะ
เมื่อคนเหล่านั้นหลับอยู่ ข้าพเจ้าก็ตื่นอยู่น่ะซิเทวดา
[๑๓๙] ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
เมื่อชนเหล่านั้นตื่นอยู่ ข้าพเจ้าก็หลับนะซิเทวดา
[๑๔๐] เมื่อท่านเหล่านั้นตื่นอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็หลับ
เมื่อท่านเหล่านั้นหลับแล้วอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ตื่น
ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหานี้อย่างนี้ จึงตอบท่านอย่างนี้
(รุกขเทวดากล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๔๑] ถูกแล้ว เมื่อเขาตื่นท่านหลับ เมื่อเขาหลับท่านตื่น
ท่านเข้าใจปัญหานี้ถูกต้องแล้ว จึงตอบเราได้ถูกต้อง
ชาครชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
ว่าด้วยอานิสงส์ถวายขนมกุมมาส
(พระราชาทรงอุทานบทเพลงท่ามกลางพสกนิกรว่า)
[๑๔๒] ได้ยินว่า การบำรุงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้เห็นธรรมอันไม่ต่ำทราม
มีผลานิสงส์ไม่น้อยเลย
เชิญดูผลานิสงส์แห่งก้อนขนมกุมมาสทั้งแห้งทั้งจืด
[๑๔๓] ดูเถิด ช้าง โค ม้า จำนวนมากเหล่านี้
รวมทั้งทรัพย์ ธัญชาติ ผืนปฐพีทั้งสิ้น
ทั้งเหล่านารีผู้มีรูปงามเทียบด้วยนางอัปสรเหล่านี้
เป็นผลานิสงส์ของก้อนขนมกุมมาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก (๔๑๕)
(พระราชเทวีกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๔๔] ขอเดชะพระองค์ผู้องอาจประดุจพญากุญชร
ผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
พระองค์ตรัสพระคาถาอยู่เนือง ๆ
ขอเดชะพระองค์ผู้ผดุงแคว้นให้เจริญ
หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์ผู้มีพระหทัยเบิกบานอย่างยิ่งตรัสบอกเถิด
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๔๕] เราได้เกิดในตระกูลหนึ่งในเมืองนี้เอง
เป็นคนรับจ้าง ทำงานให้คนอื่น เป็นผู้สำรวมศีล
[๑๔๖] เราออกไปทำงานได้เห็นสมณะ ๔ รูป
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและศีล เยือกเย็น ไม่มีอาสวะ
[๑๔๗] เรายังจิตให้เลื่อมใสในสมณะเหล่านั้น
นิมนต์ให้นั่งบนเครื่องลาดที่ทำด้วยใบไม้ เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายขนมกุมมาสแด่พุทธเจ้าทั้งหลายด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๑๔๘] กุศลกรรมนั้นได้มีผลแก่เราเช่นนี้
เราได้เสวยราชสมบัตินี้
คือแผ่นดินที่ประเสริฐมั่งคั่งสมบูรณ์
(พระราชเทวีตรัสสดุดีพระราชาว่า)
[๑๔๙] พระองค์เมื่อพระราชทานให้ ก็จงเสวยเถิด
อย่าได้ทรงประมาท
ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
ขอพระองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไป
ขอเดชะพระราชาผู้เป็นใหญ่ในกุศลธรรม
ขอพระองค์อย่าประพฤติอธรรม จงทรงรักษาธรรมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
(พระราชาตรัสกับพระราชเทวีว่า)
[๑๕๐] พระธิดาของพระเจ้าโกศลผู้งดงาม
เรานั้นได้ประพฤติตามทางที่พระอริยะ
ได้ประพฤติมาแล้วนั้นอย่างสม่ำเสมอ
เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นที่ชอบใจของเรา
เราต้องการพบท่าน
[๑๕๑] นี่พระราชธิดาผู้แสนดีของพระเจ้าโกศล
พระนางงดงามท่ามกลางหมู่นารี เหมือนเทพอัปสร
พระนางได้กระทำกรรมดีอะไรไว้
เพราะเหตุไรเล่า พระนางจึงมีพระฉวีวรรณงดงามยิ่งนัก
(พระราชเทวีทูลว่า)
[๑๕๒] ขอเดชะจอมกษัตริย์ หม่อมฉันได้เกิดเป็นทาสี
รับใช้ผู้อื่นแห่งตระกูลเศรษฐีอัมพัฏฐโคตร
สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม มีศีล ไม่เหลียวดูความชั่ว
[๑๕๓] ในกาลครั้งนั้น หม่อมฉันได้ถวายข้าว
ที่คดมาเพื่อตนแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
หม่อมฉันเองปลื้มใจ ดีใจ
กรรมของหม่อมฉันนั้นมีผลเช่นนี้
กุมมาสปิณฑิชาดกที่ ๑๐ จบ

๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
ว่าด้วยปรันตปะมหาดเล็ก
(มหาดเล็กชื่อปรันตปะกราบทูลพระราชเทวีว่า)
[๑๕๔] บาปคงจะมาถึงข้าพระองค์ ภัยคงจะมาถึงข้าพระองค์
เพราะในคราวนั้น คนหรือสัตว์ได้ทำกิ่งไม้ให้ไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๗. สัตตกนิบาต] ๒. คันธารวรรค ๑๑. ปรันตปชาดก (๔๑๖)
(ปุโรหิตคิดถึงภรรยา จึงบ่นเพ้อว่า)
[๑๕๕] ความกระสันของข้าพเจ้ากับหญิงผู้หวาดกลัวซึ่งอยู่ไม่ไกล
จักทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลืองแน่
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
[๑๕๖] แม่กานดาผู้มีความงามหาที่ติมิได้
อยู่ในบ้านก็ยังจักทำให้ข้าพเจ้าเศร้าโศก
จักกระทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลือง
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
[๑๕๗] หางตาที่หยาดเยิ้มซึ่งเจ้าหล่อนชำเลืองมา
การยิ้มและการเจรจา
จักกระทำให้ข้าพเจ้าผอมเหลือง
เหมือนกิ่งไม้ทำให้เจ้าปรันตปะผอมเหลือง
(ปรันตปะกล่าวกับพระกุมารว่า)
[๑๕๘] เสียงนั้นได้มาแน่แล้ว
เสียงนั้นได้บอกแก่ท่านแน่แล้ว
ผู้ที่สั่นกิ่งไม้นั้นได้บอกเหตุนั้นแน่
[๑๕๙] สิ่งที่เราผู้เป็นคนโง่คิดแล้วว่า
ก็ในคราวนั้น คนหรือสัตว์ได้ทำกิ่งไม้ให้ไหว
สิ่งนี้แลได้มาถึงแล้ว
(พระกุมารตรัสว่า)
[๑๖๐] เจ้าได้สำนึกแล้วซิว่า ตามที่เจ้าได้ฆ่าพ่อของเรา
เอากิ่งไม้ปิดไว้คอยระแวงอยู่ว่า ภัยจักมาถึงตัวเรา
ปรันตปชาดกที่ ๑๑ จบ
คันธารวรรคที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. คันธารชาดก ๒. มหากปิชาดก
๓. กุมภการชาดก ๔. ทัฬหธัมมชาดก
๕. โสมทัตตชาดก ๖. สุสีมชาดก
๗. โกฏสิมพลิชาดก ๘. ธูมการิชาดก
๙. ชาครชาดก ๑๐. กุมมาสปิณฑิชาดก
๑๑. ปรันตปชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. กุกกุวรรค ๒. คันธารวรรค

สัตตกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๔ }


๘. อัฏฐกนิบาต
กัจจานิวรรค
หมวดว่าด้วยนางกัจจานี
๑. กัจจานิชาดก (๔๑๗)
ว่าด้วยนางกัจจานี
(ท้าวสักกะตรัสถามนางกัจจานีว่า)
[๑] แม่กัจจานี เจ้านุ่งห่มผ้าขาวสะอาด มีผมเปียกชุ่ม
ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา ซาวข้าวสารและงาป่น
ข้าวสุกคลุกงาจักมีไว้เพื่อเหตุอะไร
(นางกัจจานีตอบว่า)
[๒] พราหมณ์ ข้าวสุกคลุกงาที่สุกดีแล้ว
จักมีไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับตนเองหามิได้เลย
ธรรมะได้ตายแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าจักทำบุญอุทิศให้ธรรมะกลางป่าช้า
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๓] แม่กัจจานี เจ้าจงใคร่ครวญแล้วจึงทำ
ใครหนอบอกเจ้าว่า ธรรมะได้ตายแล้ว
ท้าวสหัสสนัยน์ผู้มีอานุภาพล้นบอกไว้ว่า
ธรรมะอันประเสริฐย่อมไม่ตายในกาลไหน ๆ
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[๔] พราหมณ์ ข้าพเจ้ามั่นใจในข้อนี้ว่า
ธรรมะได้ตายแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีความสงสัย
เพราะเดี๋ยวนี้ คนชั่วกลับเป็นอยู่สบาย
[๕] เหมือนอย่างลูกสะใภ้ของข้าพเจ้าเป็นหมัน
หล่อนทุบตี ขับไล่ข้าพเจ้าแล้วคลอดบุตร
เดี๋ยวนี้หล่อนเป็นใหญ่ในตระกูลทั้งหมด
ส่วนข้าพเจ้ากลับถูกทอดทิ้งอยู่อย่างเดียวดาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๖] เรายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย
เรามาที่นี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าโดยเฉพาะ
ลูกสะใภ้คนใดทุบตีขับไล่เจ้าแล้วคลอดบุตร
เราจะทำหล่อนพร้อมกับบุตรให้เป็นเถ้าธุลีทีเดียว
(นางกัจจานีกล่าวว่า)
[๗] ข้าแต่เทวราช หากพระองค์ทรงพอพระทัยเสด็จมาที่นี้
เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉันโดยเฉพาะอย่างนี้
ขอหม่อมฉัน ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๘] แม่กาติยานี หากเจ้าพอใจเช่นนั้น
แม้จะถูกทุบตีขับไล่ก็อย่าละธรรม
ขอให้เจ้า ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลาน
จงอยู่ร่วมเรือนกันด้วยความบันเทิงใจเถิด
[๙] นางกาติยานีนั้นกับลูกสะใภ้ได้มีใจบันเทิงอยู่ร่วมกัน
ลูกชายและหลานก็ได้ช่วยกันปฏิบัติบำรุง
เพราะท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพได้ทรงอนุเคราะห์
กัจจานิชาดกที่ ๑ จบ

๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
ว่าด้วยเสียงของบุคคลทั้ง ๘
(พระดาบสกราบทูลชี้แจงเสียงทั้ง ๘ คือเสียงนกยางว่า)
[๑๐] สระนี้ เมื่อก่อนลุ่มลึก มีปลามาก มีน้ำมาก
เป็นที่อยู่อาศัยของพญานกยาง ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งบิดาของเรา
ทุกวันนี้ พวกเรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกบ จึงละทิ้งน้ำไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๒. อัฏฐสัททชาดก (๔๑๘)
(เสียงกาว่า)
[๑๑] ใครหนอจะทำลายนัยน์ตาดวงที่ ๒
ของควาญช้างชื่อพันธุระผู้ไม่มีศีล
ใครหนอจักช่วยลูก ๆ ของเรา รังของเรา และตัวเราให้ปลอดภัย
(เสียงแมลงภู่ว่า)
[๑๒] กระพี้เท่าที่มีอยู่ถูกเจาะไปหมด
ขอถวายพระพรมหาบพิตร แมลงภู่หมดอาหารไม่ยินดีในแก่น
(เสียงนกดุเหว่า)
[๑๓] เรานั้นคงจักพ้นจากพระราชนิเวศน์ไปจากที่นี้แล้ว
ทำตนให้ยินดี อาศัยอยู่ตามต้นไม้กิ่งไม้แน่นอน
(เสียงเนื้อว่า)
[๑๔] เรานั้นคงจักพ้นจากพระราชนิเวศน์ไปจากที่นี้แล้ว
เดินนำหน้าฝูง ดื่มน้ำที่ดีเลิศแน่นอน
(เสียงลิงว่า)
[๑๕] นายพรานชื่อภรตะชาวแคว้นพาหิกะได้นำเรา
ผู้มัวเมาด้วยกาม กำหนัดหมกมุ่นอยู่ในกามนั้นมา
ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
(เสียงกินนรว่า)
[๑๖] นางกินนรีได้กล่าวกับเราที่ยอดเขาแหลมในเวลามืดมิด
ด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวานว่า โปรดระวังเท้า
อย่าเหยียบพลาดไปถูกแง่หิน
(เสียงพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า)
[๑๗] เราได้เห็นพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ
จักไม่กลับมานอนในครรภ์อีกอย่างไม่ต้องสงสัย
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การนอนในครรภ์ก็เป็นครั้งสุดท้าย
สังสารวัฏเพื่อภพต่อไปของเราสิ้นแล้ว
อัฏฐสัททชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
๓. สุลสาชาดก (๔๑๙)
ว่าด้วยนางสุลสาหญิงงามเมือง
(นางสุลสากล่าวกับสามีว่า)
[๑๘] นี้สร้อยทองคำ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
เป็นจำนวนมาก ขอเชิญพี่ขนไปทั้งหมด
ขอพี่จงมีความเจริญ และจงประกาศดิฉันว่าเป็นนางทาสี
(สามีกล่าวว่า)
[๑๙] แม่โฉมงาม เธอจงเปลื้องออกมาเถิด
อย่าคร่ำครวญไปนักเลย
เราจะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น ฆ่าเจ้าแล้วจึงนำทรัพย์ไป
(นางสุลสากล่าวว่า)
[๒๐] ตั้งแต่ดิฉันรู้เดียงสา ดิฉันจำตัวเองได้ว่า
ยังไม่เคยรู้จักรักชายอื่นยิ่งกว่าพี่เลย
[๒๑] มานี้เถิด ดิฉันจักสวมกอดพี่
และจักกระทำประทักษิณ
เพราะตั้งแต่นี้ต่อไป ดิฉันและพี่จะไม่พบกันอีก
(เทวดาผู้สถิตอยู่ที่ยอดเขากล่าวว่า)
[๒๒] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาเห็นประจักษ์ในเรื่องนั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้
[๒๓] ใช่ว่าชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถานก็หาไม่
แม้หญิงมีปัญญาคิดเนื้อความได้ฉับพลันก็เป็นบัณฑิตได้
[๒๔] นางสุลสาเผชิญหน้าโจร คิดอุบายได้อย่างเร็วพลันหนอ
ได้ฆ่าโจรสัตตุกะเหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาด
เมื่อธนูมีลูกศรพร้อมย่อมฆ่าเนื้อได้เร็วพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
[๒๕] อนึ่ง ผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญาน้อย
ย่อมถูกฆ่าเหมือนโจรที่ถูกฆ่าทิ้งที่ซอกเขา
[๒๖] ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดจากศัตรู
เหมือนนางสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ
สุลสาชาดกที่ ๓ จบ

๔. สุมังคลชาดก (๔๒๐)
ว่าด้วยนายสุมังคละ
(พระราชาตรัสกับอำมาตย์ว่า)
[๒๗] ผู้เป็นใหญ่รู้ตัวว่าเรากำลังโกรธจัดก็อย่าเพิ่งลงโทษ
เพราะผู้ลงโทษอันไม่เหมาะสมแก่ตนโดยขาดเหตุผลแล้ว
จะพึงก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นอย่างมากมาย
[๒๘] เมื่อใดผู้เป็นใหญ่รู้สึกว่าตนมีจิตผ่องใส
พึงพิจารณาคดีที่คนอื่นทำผิด
เมื่อพิจารณาด้วยตนเองว่า คดีเป็นอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้นพึงลงโทษตามความเหมาะสมแก่เขา
[๒๙] ส่วนผู้ใดไม่ลำเอียง พิจารณาความเหมาะสมและไม่เหมาะสม
ผู้นั้นชื่อว่าไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง
ผู้เป็นใหญ่คนใดในโลกนี้ลงโทษตามสมควร
ผู้นั้นย่อมมีคุณงามความดีคุ้มครอง ไม่เสื่อมจากสิริ
[๓๐] กษัตริย์เหล่าใดทรงลำเอียง ไม่ทรงพิจารณาก่อนกระทำ
ทรงรีบลงพระอาชญา
กษัตริย์เหล่านั้นมีโทษอันน่าติเตียน
สวรรคตพ้นจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
[๓๑] กษัตริย์เหล่าใดทรงยินดีในธรรมที่อริยชนประกาศไว้แล้ว
กษัตริย์เหล่านั้นนับว่าทรงยอดเยี่ยม
ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
กษัตริย์เหล่านั้นทรงดำรงมั่นอยู่ในธรรม
คือ ขันติ โสรัจจะ และสมาธิ
ทรงไปสู่โลกทั้ง ๒ โดยวิธีเช่นนั้น
[๓๒] เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าชายและหญิง
ถึงแม้เราจะโกรธก็จะหักห้ามความโกรธได้
ดำรงตนไว้อย่างนั้นต่อชุมชน
จะอนุเคราะห์ลงอาชญาโดยธรรม
(นายสุมังคละกล่าวสดุดีพระราชาว่า)
[๓๓] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน
ขอพระสิริสมบัติอย่าได้ละพระองค์ในกาลไหน ๆ เลย
ขอพระองค์อย่าทรงกริ้ว มีพระราชหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
ปราศจากความทุกข์ รักษาพระองค์อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีเถิด
[๓๔] ขอเดชะพระบรมกษัตริย์
ขอพระองค์จงทรงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ
ทรงมีพระอริยวัตรอันมั่นคง ทรงรับอนุสาสนีโดยง่าย
ไม่ทรงกริ้ว ทรงพระสำราญ
ปกครองแผ่นดินโดยปราศจากการเบียดเบียน
อนึ่ง พระองค์แม้เสด็จพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว ขอจงเสด็จสู่สุคติเถิด
[๓๕] พระธรรมิกราชาธิราชเมื่อทรงปกครองโดยกุศโลบาย
อันชอบธรรม ด้วยเหตุที่เหมาะสม ด้วยคำอันเป็นสุภาษิต
พึงทำมหาชนผู้มีความกระวนกระวายให้เย็นใจ
ดุจมหาเมฆยังเมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ
สุมังคลชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
๕. คังคมาลชาดก (๔๒๑)
ว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าคังคมาละ
(พระเจ้าอุทัยตรัสถามชายคนหนึ่งว่า)
[๓๖] แผ่นดินร้อนเหมือนถ่านเพลิง
ระอุด้วยทรายที่ร้อนราวกับเถ้าถ่าน ถึงอย่างนั้น
เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่ แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
[๓๗] เบื้องบนดวงอาทิตย์ก็ร้อน เบื้องล่างทรายก็ร้อน
ถึงอย่างนั้น เจ้าก็ยังพากเพียรร้องเพลงอยู่
แดดไม่แผดเผาเจ้าหรือ
(ชายคนนั้นกราบทูลว่า)
[๓๘] แดดหาแผดเผาข้าพระองค์ไม่
แต่แดดคือกามทั้งหลายย่อมแผดเผาข้าพระองค์
ขอเดชะพระมหาราชเจ้า เพราะว่าความต้องการมีหลายอย่าง
ความต้องการเหล่านั้นย่อมแผดเผาข้าพระองค์ หาใช่แดดไม่
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงเปล่งอุทานว่า)
[๓๙] นี่กาม เราได้เห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดได้เพราะความดำริ เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจะไม่มีอย่างนี้อีกต่อไป
(พระเจ้าอัฑฒมาสกทรงแสดงธรรมแก่พสกนิกรว่า)
[๔๐] กามแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่เพียงพอ แม้มากก็ไม่อิ่ม
โอหนอ กามทั้งหลายคนพาลเพ้อรำพันถึง
กุลบุตรนักปฏิบัติพึงเว้นได้ขาด
(พระเจ้าอุทัยทรงเปล่งอุทานว่า)
[๔๑] การที่เราเป็นพระอุทัยราชาได้บรรลุถึงความเป็นใหญ่
นี้เป็นผลแห่งกรรมอันเล็กน้อยของเรา
การที่มาณพละกามราคะบวชนั้นชื่อว่าได้ลาภดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
(พระราชชนนีของพระเจ้าพรหมทัตตรัสว่า)
[๔๒] สัตว์ทั้งหลายละกรรมชั่วได้ด้วยตบะ
แต่จะละภาวะแห่งช่างกัลบกและช่างหม้อด้วยตบะได้หรือ
คังคมาละ วันนี้เจ้าใช้ตบะข่มขี่
ร้องเรียกพระเจ้าพรหมทัตโดยพระนาม
จะสมควรแลหรือ
(พระเจ้าพรหมทัตทรงห้ามพระราชชนนีว่า)
[๔๓] ขอเดชะเสด็จแม่ จงทอดพระเนตรผลในปัจจุบันเถิด
นี้เป็นผลแห่งขันติและโสรัจจะ
พวกหม่อมฉันพร้อมทั้งพระราชวงศ์และเสนาอำมาตย์
ไหว้ท่านผู้ที่ชนทั้งปวงไหว้แล้ว
(พระเจ้าพรหมทัตทรงชี้แจงแก่พสกนิกรว่า)
[๔๔] ท่านทั้งหลายอย่าได้ว่าอะไร ๆ ท่านคังคมาลมุนี
ผู้ศึกษาอยู่ในข้อปฏิบัติของมุนี
เพราะพระคุณเจ้ารูปนี้ได้ข้ามมหาสมุทรคือสังสารวัฏ
ซึ่งผู้ที่ข้ามได้แล้วปราศจากความเศร้าโศกเที่ยวไป
คังคมาลชาดกที่ ๕ จบ

๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
ว่าด้วยพระเจ้าเจติยราช
(ดาบสถวายโอวาทแด่พระราชาว่า)
[๔๕] ธรรมย่อมฆ่าผู้ทำลายธรรม
ย่อมไม่ฆ่าใคร ๆ ที่ไม่ทำลายธรรม
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลไม่ควรทำลายธรรม
ขอธรรมที่พระองค์ทรงทำลายแล้วอย่าได้ฆ่าพระองค์เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๖. เจติยราชชาดก (๔๒๒)
[๔๖] บุคคลเมื่อกล่าวคำเหลาะแหละ เทวดาทั้งหลายก็หลีกหนีไป
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นปากจะเน่ากลิ่นฟุ้งไปและจะพลัดตกจากฐานะของตน
[๔๗] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะประทับอยู่ที่แผ่นดิน
[๔๘] พระราชาพระองค์ใดถูกถามปัญหา
ทั้งที่ทรงทราบอยู่ก็ทรงตอบเป็นอย่างอื่นไป
ในแคว้นของพระราชาพระองค์นั้น
ฝนย่อมตกในเวลาไม่ใช่ฤดูกาล ย่อมไม่ตกในฤดูกาล
[๔๙] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบ
[๕๐] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นใหญ่ทั่วทุกทิศ
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่ทราบอยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะมีชิวหาเป็น ๒ แฉกเหมือนลิ้นงู
[๕๑] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
[๕๒] ขอถวายพระพร พระองค์ผู้เป็นใหญ่ทั่วทุกทิศ
ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่ทราบอยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะไม่มีชิวหาเหมือนปลา
[๕๓] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
[๕๔] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่น
ผู้นั้นจะมีแต่ลูกผู้หญิงมาเกิด ไม่มีลูกผู้ชายมาเกิดในตระกูล
[๕๕] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
[๕๖] ผู้ใดถูกถามปัญหา ทั้งที่รู้อยู่ก็ตอบเป็นอย่างอื่นไป
ผู้นั้นจะไม่มีบุตร ที่มีก็จะหลีกหนีไปคนละทิศละทาง
[๕๗] ขอถวายพระพรพระเจ้าเจติยะ
ก็ถ้าพระองค์ตรัสวาจาสัตย์ พระองค์จะดำรงอยู่เช่นเดิม
ถ้าพระองค์ยังตรัสวาจาเท็จอยู่ พระองค์จะถูกธรณีสูบลึกลงไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๕๘] พระเจ้าเจติยะพระองค์นั้นเมื่อก่อนเหาะเหินเดินอากาศได้
ถูกฤๅษีสาป เสื่อมจากสภาวธรรม
ถูกธรณีสูบจนตาย
[๕๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การลุอำนาจความพอใจ
บุคคลผู้มีจิตอันกิเลสไม่ประทุษร้าย
จะกล่าวแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสัจจะเท่านั้น
เจติยราชชาดกที่ ๖ จบ

๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
ว่าด้วยอำนาจของอินทรีย์
(สรภังคดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[๖๐] นารทะ ผู้ใดตกอยู่ในอำนาจของอินทรีย์เพราะความใคร่
ผู้นั้นละโลกทั้ง ๒ แล้วย่อมไปเกิดในอบาย
แม้มีชีวิตอยู่ ร่างกายก็ซูบซีด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๗. อินทริยชาดก (๔๒๓)
[๖๑] ต่อจากสุขก็เป็นทุกข์ ต่อจากทุกข์ก็เป็นสุข
เธอจะเป็นผู้ได้รับทุกข์มากกว่าสุข
ดังนั้น เธอพึงหวังสุขอันประเสริฐเถิด
[๖๒] ผู้ใดในยามลำบาก ทนต่อความลำบากได้
ไม่คำนึงถึงความลำบาก ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์
ย่อมเสวยโยคสุขอันเป็นที่สุดแห่งความลำบากนั้น
[๖๓] เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรม
เพราะความปรารถนากามทั้งหลาย
อันเป็นเหตุมิใช่ประโยชน์จากประโยชน์ต่าง ๆ
และเพราะทอดทิ้งฌานที่ได้บำเพ็ญแล้ว
(กาฬเทวิลดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า)
[๖๔] ผู้ครองเรือนมีความขยัน แบ่งปันกันกิน เป็นการดี
เมื่อได้สิ่งที่ต้องการก็ไม่ระเริง
และเมื่อเสื่อมจากสิ่งที่ต้องการก็ไม่เดือดร้อน
(พระศาสดาตรัสว่า)
[๖๕] กาฬเทวิลดาบสผู้สงบได้กล่าวความเป็นบัณฑิตนั้นเพียงเท่านี้ว่า
ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะเลวไปกว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายนี้เลย
(มนุษย์เปรตกราบทูลพระเจ้าสีพีว่า)
[๖๖] ขอเดชะพระเจ้าสีพี
บุคคลเช่นข้าพระองค์ถึงความพินาศ
เหมือนความพินาศในเงื้อมมือของพวกศัตรู
ทำเหตุที่ให้เกิดยศเหล่านี้ คือ การงาน วิชชา
ความขยัน การวิวาห์ ศีล และความอ่อนโยนให้เสื่อมไป
บังเกิดเป็นมนุษย์เปรตด้วยกรรมของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
[๖๗] ข้าพระองค์นั้นไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่ง
เหมือนคนเสื่อมจากทรัพย์นับพัน
เหินห่างจากธรรมอันประเสริฐเหมือนคนตายแล้ว
[๖๘] ข้าพระองค์ทำคนผู้ต้องการความสุขให้ได้รับความทุกข์
จึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ข้าพระองค์นั้นไม่ได้ประสบความสุขเลย
เหมือนอยู่ในกองถ่านเพลิง
อินทริยชาดกที่ ๗ จบ

๘. อาทิตตชาดก (๔๒๔)
ว่าด้วยสิ่งของในเรือนที่ถูกไฟไหม้
(พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอนุโมทนาแด่พระราชาและพระเทวีว่า)
[๖๙] เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ ภาชนะใดที่นำออกได้
ภาชนะนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เขา
ส่วนภาชนะที่ถูกไฟไหม้ในเรือนนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์เลย
[๗๐] สัตวโลกถูกชราและมรณะแผดเผาอยู่อย่างนี้
ทรัพย์ที่มหาบพิตรทรงนำออกให้ทานเป็นอันทรงนำออกดีแล้ว
(พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลืออีก ๖ องค์ กล่าวอนุโมทนาว่า)
[๗๑] ชนใดให้ทานแก่ท่านผู้ได้ธรรม
บรรลุธรรมด้วยความขยันหมั่นเพียร
ชนนั้นย่อมพ้นจากนรกเวตรณีของพญายม
แล้วเข้าถึงทิพยสถาน
[๗๒] ทานและการรบ นักปราชญ์กล่าวว่า เสมอกัน
คือ คนแม้มีจำนวนน้อยก็ย่อมชนะคนจำนวนมากได้
ถึงทรัพย์มีจำนวนน้อย หากมีศรัทธาก็ให้ทานได้
เพราะทรัพย์มีจำนวนน้อยนั่นแหละ เขาย่อมมีความสุขในโลกหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
[๗๓] พระสุคตทรงสรรเสริญการเลือกให้
ท่านเหล่าใดควรแก่ทักษิณามีอยู่ในมนุษยโลกนี้
ทานที่บุคคลถวายในท่านเหล่านี้ย่อมมีผลมาก
เหมือนพืชที่หว่านลงในนาที่ดี
[๗๔] ผู้ใดไม่เที่ยวเบียดเบียนหมู่สัตว์
ไม่ทำความชั่ว เพราะกลัวคนอื่นติเตียน
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นซึ่งกลัวการถูกติเตียน
ไม่สรรเสริญผู้กล้าในการถูกติเตียน
เพราะกลัวต่อการถูกติเตียน สัตบุรุษทั้งหลายจึงไม่ทำความชั่ว
[๗๕] บุคคลเกิดเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ
เกิดเป็นเทวดาด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง
และย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูงสุด
[๗๖] ทานท่านสรรเสริญไว้หลายประการก็จริง
แต่ธรรมเท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะแต่ก่อนมา สัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาเท่านั้น
ได้บรรลุนิพพาน
อาทิตตชาดกที่ ๘ จบ

๙. อัฏฐานชาดก (๔๒๕)
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
(มหาธนฤๅษีกล่าวกับหญิงโสเภณีว่า)
[๗๗] เมื่อใดแม่น้ำคงคาดารดาษด้วยดอกโกมุทสงบนิ่ง
นกดุเหว่ามีขนสีขาวเหมือนสังข์และต้นหว้าออกผลเป็นผลตาล
เมื่อนั้นเราพึงไปด้วยกันได้แน่
[๗๘] เมื่อใดผ้าห่มผืนใหญ่ ๓ ชนิดทอด้วยขนเต่า ใช้ห่มกันหนาวได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
[๗๙] เมื่อใดป้อมถูกสร้างขึ้นอย่างดีด้วยขายุง มั่นคงและไม่หวั่นไหว
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๐] เมื่อใดบันไดถูกสร้างขึ้นอย่างดีด้วยเขากระต่าย
เพื่อประโยชน์แก่การขึ้นสวรรค์ได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงอยู่ร่วมกันได้แน่
[๘๑] เมื่อใดหนูทั้งหลายไต่บันไดไปกัดกินดวงจันทร์
และขับไล่ราหูไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๒] เมื่อใดแมลงวันทั้งหลายพากันบินเที่ยวไปเป็นฝูง
ดื่มเหล้าหมดไหแล้ว อยู่ในถ่านเพลิงได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๓] เมื่อใดลามีริมฝีปากเหมือนผลตำลึงสุก
มีใบหน้างาม ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๔] เมื่อใดกาและนกเค้าอยู่ในที่ลับปรึกษาปรองดองกันได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๕] เมื่อใดเอาใบบัวอ่อนที่แตกจากเหง้า
มาทำร่มให้แข็งแรงเพื่อกันฝน
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๖] เมื่อใดนกน้อยใช้จะงอยปากคาบภูเขาคันธมาทน์บินไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
[๘๗] เมื่อใดเด็กน้อยยกเรือเดินทะเล
พร้อมทั้งเครื่องยนต์และใบเรือไปได้
เมื่อนั้นเรากับเธอพึงเกี่ยวข้องกันได้แน่
อัฏฐานชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๘. อัฏฐกนิบาต] กัจจานิวรรค ๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
๑๐. ทีปิชาดก (๔๒๖)
ว่าด้วยเสือเหลือง
(แพะกล่าวกับเสือเหลืองว่า)
[๘๘] ท่านลุงลำบากไหม พอหากินได้สะดวกไหม สบายดีไหม
แม่ของข้าพเจ้าได้ถามถึงความสุขของลุง
พวกเราต้องการให้ลุงมีความสุข
(เสือเหลืองกล่าวกับแพะว่า)
[๘๙] นี่เจ้าแพะน้อย เจ้าเหยียบหางเบียดเบียนเรา
วันนี้ เจ้านั้นคงคิดซิว่า จะรอดพ้นด้วยการกล่าวคำว่า ลุง
(แพะกล่าวว่า)
[๙๐] ลุงนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ข้าพเจ้าเดินมาข้างหน้าของลุง
หางของลุงอยู่ข้างหลัง ข้าพเจ้าเหยียบหางของลุงได้อย่างไรเล่า
(เสือเหลืองกล่าวว่า)
[๙๑] ทวีปทั้ง ๔ พร้อมทั้งสมุทรและภูเขามีประมาณเท่าใด
หางของเราก็ครอบคลุมไปประมาณเท่านั้น
เจ้าจะหลบหางของเรานั้นได้อย่างไร
(แพะกล่าวว่า)
[๙๒] เมื่อก่อน พ่อแม่และพี่ชายของข้าพเจ้า
ได้บอกเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้าเหมือนกันว่า หางของสัตว์ดุร้ายยาว
ข้าพเจ้านั้นจึงได้เลี่ยงมาทางอากาศ
(เสือเหลืองกล่าวว่า)
[๙๓] เจ้าแพะน้อย ก็ฝูงเนื้อเห็นเจ้าเหาะมาจึงได้หนีไป
ภักษาของเราเจ้าได้ทำให้พินาศไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
[๙๔] เมื่อแม่แพะคร่ำครวญอยู่อย่างนี้
เจ้าเสือเหลืองสัตว์กินเนื้อเลือดก็ปราดเข้าขย้ำคอ
ถ้อยคำเป็นสุภาษิตย่อมไม่มีในคนโหดร้าย
[๙๕] ในคนโหดร้ายไม่มีเหตุ ไม่มีผล
ไม่มีถ้อยคำเป็นสุภาษิตในคนโหดร้าย
บุคคลพึงทำการหลบหลีกไป
เพราะคำของคนดีมันก็ไม่ชอบ
ทีปิชาดกที่ ๑๐ จบ
กัจจานิวรรค จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัจจานิชาดก ๒. อัฏฐสัททชาดก
๓. สุลสาชาดก ๔. สุมังคลชาดก
๕. คังคมาลชาดก ๖. เจติยราชชาดก
๗. อินทริยชาดก ๘. อาทิตตชาดก
๙. อัฏฐานชาดก ๑๐. ทีปิชาดก

อัฏฐกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๐ }


๙. นวกนิบาต
๑. คิชฌชาดก (๔๒๗)
ว่าด้วยนกแร้ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑] หนทางที่คิชฌบรรพตชื่อปริสังกุปถะมีมาแต่โบราณ
ณ หนทางนั้นมีนกแร้งเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่อยู่
มันได้นำเอามันข้นของงูเหลือมมาให้พ่อแม่กินโดยมาก
[๒] ก็พ่อของแร้งรู้อยู่ว่า ลูกบินสูงเกินไปจะตก
จึงได้สอนลูกแร้งชื่อสุปัตตะตัวแข็งแรง
กล้าหาญ บินไปได้ไกลว่า
[๓] ลูก เมื่อใดเจ้ารู้ว่า แผ่นดินที่ทะเลล้อมรอบ
กลมเหมือนวงล้อลอยอยู่ในน้ำ
เจ้าจงกลับแค่นั้นนะ ลูกอย่าบินไปเกินกว่านั้น
[๔] ปักษีตัวมีกำลัง เป็นพญานก โผขึ้นด้วยกำลัง
เอี้ยวคอมองดูภูเขาและป่าไม้
[๕] นกแร้งได้เห็นแผ่นดินที่มีทะเลล้อมรอบ กลมเหมือนวงล้อ
เหมือนอย่างที่ได้ฟังจากพ่อของมัน
[๖] มันก็ยังบินเลยสถานที่ที่บิดาบอกนั้นไป
สายลมอันแรงกล้า ก็ได้พัดกระหน่ำนกแร้งตัวแข็งแรงนั้น
[๗] สัตว์ที่บินเลยไป ไม่อาจจะบินกลับได้อีกเลย
นกแร้งตกอยู่ในอำนาจของลมเวรัมภา ได้ถึงความพินาศแล้ว
[๘] ลูกเมียของมันและนกแร้งเหล่าอื่นที่อาศัยมันเป็นอยู่
ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะนกที่ไม่ทำตามโอวาทตัวเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
[๙] ผู้ใดในโลกนี้ไม่เชื่อฟังคำของผู้ใหญ่ทั้งหลาย
ประพฤติเกินขอบเขตย่อมเดือดร้อน
เหมือนนกแร้งที่ละเมิดคำสอน
ผู้นั้นแลย่อมถึงความพินาศ
เพราะไม่กระทำตามคำสอนของผู้ใหญ่
คิชฌชาดกที่ ๑ จบ

๒. โกสัมพิยชาดก (๔๒๘)
ว่าด้วยการทะเลาะกันในเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๑๐] คนทะเลาะกันมีเสียงดังเหมือนกันไปหมด
ไม่มีใครเลยจะรู้สึกตัวว่าเป็นคนพาล
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ยอมรับรู้เหตุอย่างอื่น
[๑๑] คนฟั่นเฟือนยกตนว่าเป็นบัณฑิต เอาแต่พูด
ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย
[๑๒] ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบระงับ
[๑๓] ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรว่า คนนี้ได้ด่าเรา
ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป
เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๔] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร แต่เวรทั้งหลาย
ย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร นี้เป็นธรรมเก่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
[๑๕] ชนพวกอื่นไม่รู้สึกว่าพวกเราย่อมย่อยยับในท่ามกลางสงฆ์นี้
ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้นย่อมรู้สึก
ต่อจากนั้น ความทะเลาะของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ
[๑๖] คนสมัยก่อนตัดกระดูกกัน ปลิดชีวิต ปล้นโค
ม้า ทรัพย์ ซ้ำยังชิงเอาบ้านเมืองกัน
แม้คนเหล่านั้นก็ยังคบกันได้ ทำไมพวกเธอจึงคบกันไม่ได้
[๑๗] หากบุคคลจะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน ครอบงำอันตรายทั้งปวงแล้ว
มีสติ พอใจ พึงเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๑๘] หากบุคคลไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ มีปกติอยู่ด้วยกรรมอันดีงาม
เที่ยวไปด้วยกัน พึงเที่ยวไปผู้เดียว
เหมือนพระราชาทรงละแคว้นที่ทรงชนะแล้วเสด็จไปพระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
[๑๙] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า
โกสัมพิยชาดกที่ ๒ จบ

๓. มหาสุวราชชาดก (๔๒๙)
ว่าด้วยพญานกแขกเต้า
(ท้าวสักกะตรัสกับพญานกแขกเต้าว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
[๒๐] เมื่อใดต้นไม้มีผลบริบูรณ์
เมื่อนั้นเหล่าวิหคก็พากันมาจิกกินผลไม้นั้น
ครั้นรู้ว่า เมื่อผลวาย ต้นไม้สิ้นไปแล้ว
ก็พากันจากต้นไม้นั้นไปตัวละทิศละทาง
[๒๑] พ่อนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง
เจ้าจงเที่ยวไปเถิด อย่าเพิ่งตายเลย
เจ้ามาซบเซาอยู่บนตอไม้แห้งทำไม
เจ้านกแขกเต้าผู้มีสีเขียวเหมือนไพรสณฑ์ในวสันตฤดู
เจ้าบอกเราเถิด เหตุไร เจ้าจึงไม่ละทิ้งต้นไม้แห้ง
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๒] พญาหงส์ ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์จนตลอดชีวิต
แม้เพื่อนนั้นจะสิ้นทรัพย์หรือไม่สิ้นทรัพย์ก็ตาม ก็ไม่ยอมละทิ้ง
ชนเหล่านั้นนับว่าเป็นสัตบุรุษระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษอยู่เสมอ
[๒๓] พญาหงส์ ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในหมู่สัตบุรุษ
ต้นไม้เป็นทั้งญาติเป็นทั้งสหายของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่รู้ว่าต้นไม้หมดสิ้นแล้ว
ก็ไม่อาจทอดทิ้งไปได้
เพราะการทอดทิ้งไปนั้นไม่ใช่ธรรม
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๔] เป็นการดีเจ้าปักษีที่เจ้าได้กระทำความเป็นเพื่อน
ไมตรีและความสนิทสนมในหมู่พวก
ถ้าคุณธรรมข้อนี้เจ้าพอใจ
เจ้าก็เป็นที่สรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลาย
[๒๕] นี่เจ้านกแขกเต้าผู้มีปีกบินไปในอากาศ
เรานั้นจะให้พรแก่เจ้า
เจ้าจงเลือกพรสักอย่างหนึ่งตามที่เจ้าพอใจเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๖] พญาหงส์ หากท่านจะให้พรแก่ข้าพเจ้า
ก็ขอให้ต้นไม้ต้นนี้มีอายุต่อไป
ขอต้นไม้นั้นจงงอกงามมีกิ่งและผลสมบูรณ์
ผลิผลมีรสอร่อย ยืนต้นสง่างามเถิด
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๒๗] เพื่อน เจ้าจงเห็นต้นไม้นั้นมีผลดก
ขอเจ้าจงอยู่ร่วมกันกับต้นมะเดื่อเถิด
ขอต้นไม้นั้นจงงอกงามมีกิ่งและผลสมบูรณ์
ผลิผลมีรสอร่อย ยืนต้นสง่างามเถิด
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๒๘] ท้าวสักกะ วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขเพราะเห็นต้นไม้มีผลฉันใด
ขอพระองค์พร้อมทั้งพระประยูรญาติทั้งปวงจงมีความสุขฉันนั้นเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๒๙] ท้าวสักกะครั้นประทานพร
บันดาลให้ต้นไม้มีผลแก่นกแขกเต้าแล้ว
พร้อมด้วยพระมเหสี ก็เสด็จหลีกไปยังสวนเทพนันทวัน
มหาสุวราชชาดกที่ ๓ จบ

๔. จูฬสุวกราชชาดก (๔๓๐)
ว่าด้วยพญานกแขกเต้า
(ท้าวสักกะตรัสถามพญานกแขกเต้าว่า)
[๓๐] หมู่ต้นไม้มีใบเขียวชอุ่ม มีผลดาษดื่น มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ทำไมหนอ ใจของนกแขกเต้า
จึงยินดีต้นไม้แห้งเป็นโพรงไม่สร่างซา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
(พญานกแขกเต้าตอบว่า)
[๓๑] ผลของต้นไม้นี้ ข้าพเจ้าอาศัยกินอยู่หลายปี
แม้ไม่มีผล ข้าพเจ้ารู้แล้ว แต่ก็ยังรักษาไมตรีนั้นไว้เหมือนเดิม
(ท้าวสักกะตรัสถามว่า)
[๓๒] ต้นไม้แห้ง ต้นไม้เป็นโพรง และต้นไม้ปราศจากใบและผล
ฝูงนกก็พากันละทิ้งไป นี่นกน้อย เจ้าเห็นโทษอะไร
(พญานกแขกเต้าตอบว่า)
[๓๓] นกเหล่าใดต้องการผลไม้จึงคบหา
รู้ว่าไม่มีผลก็ละทิ้งต้นไม้นั้นไป
นกเหล่านั้นเป็นพวกเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน
โง่เขลา เป็นผู้ทำลายพวกพ้อง
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[๓๔] เป็นการดี เจ้าปักษี ที่เจ้าได้กระทำความเป็นเพื่อน ไมตรี
และความสนิทสนมในหมู่พวก ถ้าคุณธรรมข้อนี้เจ้าพอใจ
เจ้าก็เป็นที่สรรรเสริญของผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๕] นี่เจ้านกแขกเต้าผู้มีปีกบินไปในอากาศ
เรานั้นจะให้พรแก่เจ้า
เจ้าจงเลือกพรสักอย่างหนึ่งตามที่เจ้าพอใจเถิด
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๓๖] ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจะพึงเห็นต้นไม้นี้กลับมีใบมีผลได้อีก
ข้าพเจ้าจะพึงยินดีอย่างยิ่งเหมือนคนจนได้ขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๓๗] ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงถือเอาน้ำอมฤตรดต้นไม้
กิ่งของต้นไม้นั้นก็แตกออกมา มีเงาร่มเย็น น่ารื่นรมย์ใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
(พญานกแขกเต้ากล่าวว่า)
[๓๘] ท้าวสักกะ วันนี้ข้าพระองค์มีความสุขเพราะเห็นต้นไม้มีผลฉันใด
ขอพระองค์พร้อมทั้งพระประยูรญาติทั้งปวงจงมีความสุขฉันนั้นเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๓๙] ท้าวสักกะครั้นประทานพร
บันดาลให้ต้นไม้มีผลแก่นกแขกเต้าแล้ว
พร้อมด้วยพระมเหสี ก็เสด็จหลีกไปยังสวนเทพนันทวัน
จูฬสุวกราชชาดกที่ ๔ จบ

๕. หริตจชาดก (๔๓๑)
ว่าด้วยหริตจดาบสโพธิสัตว์
(พระราชาตรัสถามหริตจดาบสว่า)
[๔๐] ท่านมหาพรหม โยมทราบข่าวมาว่า
หริตจดาบสบริโภคกาม คำกล่าวนั้นคงเป็นเท็จใช่ไหม
พระคุณเจ้ายังบริสุทธิ์อยู่ใช่ไหม
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๑] ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ข้อนี้เป็นจริงตามที่พระองค์ได้ทรงสดับมา
อาตมภาพหมกมุ่นอยู่ในกามคุณอันทำให้ลุ่มหลง
ได้เดินทางผิดไปแล้ว
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๒] ใจบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยปัญญาใด
ปัญญานั้นเป็นธรรมชาติละเอียด
คิดแต่สิ่งที่ดี ๆ จะมีประโยชน์อะไร
ท่านไม่อาจบรรเทาจิตได้หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๖. ปทกุสลมาณชาดก (๔๓๒)
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๓] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ในโลกนี้มีสิ่งที่หยาบ
มีกำลังอย่างยิ่งที่ปัญญาหยั่งไม่ถึง ๔ ประการ คือ
๑. ราคะ (ความกำหนัด) ๒. โทสะ (ความโกรธ)
๓. มทะ (ความเมา) ๔. โมหะ (ความหลง)
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๔] โยมได้ยกย่องพระคุณเจ้าไว้ว่า
ท่านหริตจดาบสเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยศีล
ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นนักปราชญ์ เป็นบัณฑิต
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๕] ขอถวายพระพรมหาบพิตร ฤๅษีแม้มีปัญญา
ยินดีแล้วในคุณธรรม ยังถูกความคิดลามกประกอบด้วยราคะ
ที่ยึดถือว่างาม เบียดเบียนเอาได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๔๖] ราคะที่เกิดขึ้นในสรีระนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุประทุษร้ายผิวพรรณ
พระคุณเจ้าจงละราคะนั้นเสีย ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระคุณเจ้า
พระคุณเจ้าได้รับยกย่องว่า เป็นนักปราชญ์ของคนหมู่มาก
(หริตจดาบสกราบทูลว่า)
[๔๗] อาตมภาพจักค้นหารากเหง้าของกามเหล่านั้น
ที่ทำให้มืดบอด มีทุกข์มาก มีพิษร้ายแรง
จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๔๘] ครั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ หริตจฤๅษีผู้ยึดมั่นสัจจะ
คลายกามราคะแล้ว เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
หริตจชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๖. ปทกุสลมาณชาดก (๔๓๒)
๖. ปทกุสลมาณวชาดก (๔๓๒)
ว่าด้วยมาณพผู้ฉลาดในการสะกดรอย
(ภรรยากล่าวกับนายปาฏลีผู้เป็นสามีว่า)
[๔๙] แม่น้ำคงคาย่อมพัดพาพี่ปาฏลีผู้คงแก่เรียน ขับเพลงได้ไพเราะ
แน่ะพี่ผู้กำลังถูกน้ำพัดไป ขอความเจริญจงมีแก่พี่
ขอพี่จงให้บทเพลงแก่น้องสักบทหนึ่งเถิด
(สามีกล่าวว่า)
[๕๐] น้ำใดที่เขาใช้รดคนประสบทุกข์หรือคนกระสับกระส่าย
เรากำลังจะตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ช่างหม้อกล่าวว่า)
[๕๑] แผ่นดินใดที่พืชทั้งหลายงอกขึ้นได้หรือที่สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่
แผ่นดินนั้นกำลังบีบศีรษะของข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๒] ไฟใดที่เขาใช้หุงข้าว หรือที่เขาใช้บำบัดความหนาว
ไฟนั้นกำลังไหม้ตัวข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๓] ข้าวใดที่พวกพราหมณ์และกษัตริย์จำนวนมากใช้ยังชีพ
ข้าวนั้นข้าพเจ้าบริโภคแล้วกำลังจะฆ่าข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายคนหนึ่งกล่าวว่า)
[๕๔] ลมใดในเดือนท้ายของฤดูร้อนที่พวกบัณฑิตปรารถนา
ลมนั้นกำลังทำลายตัวข้าพเจ้า ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(พญานาคกล่าวว่า)
[๕๕] ต้นไม้ใดที่นกพากันมาอาศัย ต้นไม้นั้นกำลังพ่นไฟ
นกทั้งหลายพากันหลบหนีไปยังทิศทั้งหลาย ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
(หญิงชรากล่าวกับลูกชายว่า)
[๕๖] หญิงสะใภ้ใดผู้มีความพอใจ ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้
ลูบไล้ด้วยจันทน์หอมที่เรานำมา
หญิงสะใภ้นั้นกำลังไล่เราออกจากเรือน ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(ชายชราคร่ำครวญว่า)
[๕๗] ลูกคนใดที่เกิดมาแล้วเป็นเหตุให้เรายินดี
และปรารถนาความเจริญ
ลูกคนนั้นกำลังไล่เราออกจากเรือน ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๘] ขอชาวชนบทและชาวนิคมที่มาประชุมพร้อมกันจงฟังข้าพเจ้า
ที่ใดมีน้ำ ที่นั้นกลับร้อน
ที่ใดปลอดภัย ที่นั้นกลับมีภัย
[๕๙] พระราชาและพราหมณ์ปุโรหิตปล้นแว่นแคว้น
ท่านทั้งหลายจงพากันรักษาตัวอยู่เถิด
ภัยเกิดแล้วแต่ที่พึ่ง
ปทกุสลมาณวชาดกที่ ๖ จบ

๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
ว่าด้วยโลมสกัสสปฤาษี
(ท้าวสักกะตรัสกับพระราชาว่า)
[๖๐] ข้าแต่มหาราช หากพระองค์ให้ฤๅษีโลมสกัสสปะบูชายัญได้
พระองค์จะเป็นเหมือนพระอินทร์ ไม่แก่ ไม่ตายเลย
(ฤๅษีโลมสกัสสปะกล่าวกับสัยหอำมาตย์ว่า)
[๖๑] อาตมาไม่ปรารถนาแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขต
มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู พร้อมกับคำนินทา
ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด สัยหอำมาตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๗. โลมสกัสสปชาดก (๔๓๓)
[๖๒] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๖๓] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
[๖๔] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการครองราชสมบัติ
(ประชาชนที่มาประชุมกันกล่าวว่า)
[๖๕] ดวงจันทร์ก็มีกำลัง ดวงอาทิตย์ก็มีกำลัง
สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายก็มีกำลัง ฝั่งสมุทรก็มีกำลัง
แต่หญิงทั้งหลายมีกำลังเหนือกว่ากำลังทั้งหมด
[๖๖] เพราะพระนางจันทวดีได้ใช้ฤๅษีชื่อโลมสกัสสปะ
ซึ่งมีตบะสูงบูชายัญชื่อ วาชเปยยะ เพื่อประโยชน์แก่พระบิดาได้
(ฤๅษีโลมสกัสสปะสลดใจ จึงกล่าวว่า)
[๖๗] กรรมที่กระทำด้วยความโลภมีกามเป็นเหตุนั้น
เป็นกรรมเผ็ดร้อน
เราจักค้นหารากเหง้าของกรรมนั้น
จักตัดราคะพร้อมทั้งเครื่องผูก
[๖๘] น่าติเตียน กามทั้งหลายแม้มากมายในโลก
ขอถวายพระพรมหาบพิตร
ตบะเท่านั้นประเสริฐกว่ากามคุณทั้งหลาย
อาตมาจะละกาม บำเพ็ญตบะ
ส่วนแว่นแคว้นและพระนางจันทวดี ขอถวายคืนมหาบพิตร
โลมสกัสสปชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
๘. จักกวากชาดก (๔๓๔)
ว่าด้วยนกจักรพาก
(กาถามนกจักรพากว่า)
[๖๙] เราขอถามนกทั้งหลายที่มีสีเหมือนผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด
มีใจร่าเริง เที่ยวไปเป็นคู่ ๆ ว่า
นกทั้งหลายสรรเสริญพวกเจ้าในหมู่มนุษย์ว่า เป็นนกชนิดไร
เชิญพวกเจ้าบอกนกชนิดนั้นแก่เราเถิด
(นกจักรพากตอบว่า)
[๗๐] นี่เจ้าผู้เบียดเบียนมนุษย์ ในหมู่มนุษย์
เขาเรียกพวกเราซึ่งบินตามกันไปว่า นกจักรพาก
ในหมู่นก พวกเราได้รับการยกย่องว่า มีความดี มีรูปงาม
เที่ยวไปตามห้วงน้ำ (ทั้งไม่ทำชั่วแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร)
(กาถามว่า)
[๗๑] นี่นกจักรพาก พวกท่านกินผลไม้อะไรในห้วงน้ำ
หรือกินเนื้อแต่ที่ไหน กินอาหารอะไร
กำลังและผิวพรรณจึงไม่เสื่อมทราม ไม่ผิดรูปเลย
(นกจักรพากตอบว่า)
[๗๒] ในห้วงน้ำไม่มีผลไม้หรอก กา
เนื้อสำหรับนกจักรพากกินจะมีแต่ที่ไหน
พวกเรามีสาหร่ายเป็นภักษา ไม่กินเนื้อสัตว์
ทั้งไม่ทำชั่วแม้เพราะเหตุแห่งอาหาร
(พวกเราจึงมีรูปงาม ท่องเที่ยวไปตามห้วงน้ำ)
(กากล่าวว่า)
[๗๓] นกจักรพาก อาหารที่เจ้ากินนี้ เราไม่ชอบเลย
เมื่อเจ้าเป็นนกจักรพาก เจ้าก็มีอาหารที่เหมาะสม
เมื่อก่อนนี้เราได้มีความคิดเป็นอย่างอื่น
เพราะเหตุนั้นแล เราจึงเกิดความสงสัยในผิวพรรณของเจ้านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
[๗๔] ถึงเราก็กินเนื้อ ผลไม้ และข้าวที่ปรุงด้วยเกลือและน้ำนม
เรากินอาหารอันมีรสเลิศในหมู่มนุษย์
เหมือนผู้กล้าหาญ มีชัยชนะในสงคราม
ไฉนผิวพรรณของเราจึงไม่เป็นเช่นกับเจ้าเล่า นกจักรพากเอ๋ย
(นกจักรพากกล่าวว่า)
[๗๕] เจ้ากินของที่ไม่บริสุทธิ์ โฉบเอาเมื่อเขาเผลอ
ชื่อว่าได้ข้าวและน้ำด้วยความลำบาก
กา เจ้าไม่ชอบผลไม้หรือเนื้อกลางป่าช้า
[๗๖] นี่กา ผู้ใดได้ของกิน มาด้วยกรรมอันหยาบช้า
เมื่อเขาเผลอก็โฉบเอามากิน
ในภายหลัง ผู้นั้น ตนเองก็ติเตียน
และเขาถูกตนและผู้อื่นติเตียนแล้ว ย่อมละผิวพรรณและกำลัง
[๗๗] หากว่าผู้ใดบริโภคของแม้น้อย แต่เป็นของเย็น
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกรรมที่ไม่หยาบช้า
ผู้นั้นย่อมมีทั้งกำลังและผิวพรรณในกาลนั้น
เพราะผิวพรรณทั้งปวงหามีเพราะอาหารเพียงอย่างเดียวไม่๑
จักกวากชาดกที่ ๘ จบ

๙. หลิททราคชาดก (๔๓๕)
ว่าด้วยจิตกลับกลอกเหมือนผ้าย้อมด้วยขมิ้น
(นางกุมาริกากล่าวกับดาบสหนุ่มว่า)
[๗๘] พวกที่บำเพ็ญตบะอดกลั้นอยู่ในบ้านยังประเสริฐกว่าท่าน
ผู้อดกลั้นบำเพ็ญตบะอยู่ในเสนาสนะอันสงัดในป่า

เชิงอรรถ :
๑ ผิวพรรณงามเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) อาหาร (๒) อากาศ (๓) ความคิด (๔) การงานที่ทำ
(ขุ.ชา.อ. ๕/๗๗/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
(ดาบสหนุ่มถามดาบสผู้เป็นบิดาว่า)
[๗๙] คุณพ่อ ลูกออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว
ควรจะคบหาคนมีศีลอย่างไร มีข้อปฏิบัติอย่างไร
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกข้อนั้น
(ดาบสผู้เป็นบิดาตอบว่า)
[๘๐] ลูกรัก ผู้ใดพึงทำให้ลูกเบาใจ
อดทนความคุ้นเคยของลูกได้
เชื่อฟังและอดกลั้นถ้อยคำของลูกได้
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงคบผู้นั้นเถิด
[๘๑] ผู้ใดไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ
ลูกไปจากที่นี้แล้ว จงดำรงตนอยู่เหมือนลูกในใส้ คบผู้นั้นเถิด
[๘๒] อนึ่ง ผู้ใดประพฤติธรรม
แม้ประพฤติธรรมอยู่ก็ไม่ถือตัว
ลูกไปจากที่นี้แล้วจงคบผู้นั้น
ซึ่งมีปัญญาทำแต่กรรมอันบริสุทธิ์เถิด
[๘๓] คนที่มีจิตกลับกลอกเหมือนลิง
รักง่ายหน่ายเร็วดุจผ้าที่ย้อมด้วยขมิ้น
ลูกรัก ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไร้มนุษย์
ลูกก็อย่าคบคนเช่นนั้นเลย
[๘๔] คนที่มีจิตโกรธเหมือนอสรพิษ
ลูกจงเว้นให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นหนทางใหญ่ที่เปื้อนคูถ
และเหมือนคนขับขี่ยานพาหนะเว้นหนทางที่ไม่เรียบ
[๘๕] ลูกรัก เมื่อเข้าไปคบหาคนพาลอย่างสนิท
ก็จะเพิ่มพูนแต่ความฉิบหาย ลูกอย่าสมาคมกับคนพาลเลย
ขึ้นชื่อว่าการอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นเหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรูทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
[๘๖] ลูกรัก ดังนั้นพ่อจึงขอร้องลูก
ลูกจงทำตามคำของพ่อ
ลูกอย่าสมาคมกับคนพาลเลย
เพราะการสมาคมกับคนพาลทั้งหลายเป็นทุกข์
หลิททราคชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สมุคคชาดก (๔๓๖)
ว่าด้วยหญิงในผอบแก้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวกับยักษ์ทานพว่า)
[๘๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านทั้ง ๓ คนมาจากที่ไหนหนอ
พวกท่านพากันมาดีแล้ว เชิญนั่งที่อาสนะเถิด
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านสุขสบายไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือ
นานมาแล้วพวกท่านเพิ่งจะมาที่นี้ในวันนี้
(ยักษ์ทานพกล่าวว่า)
[๘๘] วันนี้ ข้าพเจ้ามาถึงที่นี้เพียงคนเดียว
ข้าพเจ้าไม่มีใครเป็นเพื่อนเลย
ท่านฤๅษี ท่านกล่าวว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
พวกท่านทั้ง ๓ คนมาจากที่ไหนหนอ
นั่นหมายถึงใครเล่า
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๙] ท่านก็คนหนึ่งละ และภรรยาสุดที่รัก
ซึ่งท่านซ่อนไว้ในผอบแก้วข้างใน
ท่านรักษาหล่อนไว้ในท้องในกาลทุกเมื่อ
หล่อนกำลังอภิรมย์อยู่กับวิทยาธรชื่อวายุบุตรในท้องนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๙๐] ทานพนั้น ฤๅษีบอกแล้วก็สลดใจ
ได้คายผอบแก้วออกมา ณ ที่นั้น
ได้เห็นภรรยาทัดทรงดอกไม้สวยงาม
กำลังอภิรมย์อยู่กับวิทยาธรชื่อวายุบุตรในผอบนั้น
(ยักษ์ทานพกล่าวว่า)
[๙๑] เหตุการณ์นี้ ท่านผู้บำเพ็ญตบะชั้นสูงได้เห็นแจ่มแจ้งแล้วว่า
นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของสตรี
เหมือนนางที่เรารักษาไว้ภายในท้องนี้ดังชีวิตของตน
ยังกลับประทุษร้ายเรา ชมเชยกับชายอื่น นับว่าเป็นคนเลว
[๙๒] แม่นางผู้ที่เราบำรุงแล้วทั้งกลางวันและกลางคืน
เหมือนไฟที่ท่านผู้บำเพ็ญตบะอยู่ในป่าบำเรออยู่
หล่อนละเมิดธรรม กลับประพฤติอธรรม
เราไม่ควรทำความเชยชิดกับหญิงทั้งหลายเลย
[๙๓] เราเข้าใจหญิงเลวผู้ไม่สำรวมอยู่กลางตัวเราว่า
หญิงนี้เป็นของเรา มันละเมิดธรรม กลับประพฤติอธรรม
เราไม่ควรทำความเชยชิดกับหญิงทั้งหลายเลย
[๙๔] จะไว้ใจได้อย่างไรว่า เราคุ้มครองไว้ได้ดี
เพราะพวกหญิงหลายใจ ไม่มีการรักษาไว้ได้เลย
หญิงเหล่านี้เหมือนกับเหวเมืองบาดาล
ชายที่มัวเมาในหญิงเหล่านี้ย่อมถึงความพินาศ
[๙๕] เพราะเหตุนั้นแหละ ชายเหล่าใดสลัดมาตุคามเที่ยวไป
ชายเหล่านั้นมีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ผู้ปรารถนาความเกษมอันสูงสุด
ไม่พึงทำความเชยชิดกับมาตุคามเลย

สมุคคชาดกที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
๑๑. ปูติมังสชาดก (๔๓๗)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชื่อปูติมังสะ
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวกับแม่แพะว่า)
[๙๖] นี่เพื่อนหญิง การมองดูของสุนัขจิ้งจอกปูติมังสะ
ฉันไม่พอใจเลย ควรละเว้นให้ห่างไกลจากสหายเช่นนี้
(สุนัขจิ้งจอกตัวผู้กล่าวว่า)
[๙๗] แม่เวณีนี้บ้า ยกย่องเพื่อนหญิงต่อหน้าผัว
ย่อมซบเซาถึงแม่แพะตัวที่มาแล้วกลับไป
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๙๘] นี่สหาย ท่านซิบ้า โง่เขลาขาดปัญญาพิจารณา
ทำลวงว่าตาย แต่กลับชะเง้อมอง โดยกาลอันไม่สมควร
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
[๙๙] บัณฑิตไม่ควรจะเพ่งมองในกาลอันไม่สมควร
ควรจะเพ่งมองในกาลอันสมควร
ผู้ที่เพ่งมองในกาลอันไม่สมควรย่อมซบเซา
เหมือนสุนัขจิ้งจอกชื่อปูติมังสะ
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวกับแม่แพะว่า)
[๑๐๐] เพื่อนหญิง ขอให้รักของเราจงมีเหมือนเดิมเถิด
ขอเธอจงให้ความชื่นใจแก่ฉัน
ผัวของฉันกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้ว
เธอควรไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขเถิด
(แม่แพะกล่าวว่า)
[๑๐๑] เพื่อนหญิง ขอความรักของเธอจงมีเหมือนเดิมเถิด
ฉันจะให้ความชื่นใจแก่เธอ ฉันจะไปพร้อมกับบริวารจำนวนมาก
ขอเธอจงทำอาหารไว้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๙. นวกนิบาต] ๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๑๐๒] บริวารของเธอที่ฉันจะทำอาหารให้กิน
เป็นสัตว์ชนิดไหน ทั้งหมดมีชื่อว่าอย่างไร
ฉันถามถึงสัตว์เหล่านั้นแล้ว
ขอเธอจงบอก
(แม่แพะกล่าวว่า)
[๑๐๓] บริวารของฉันเป็นเช่นนี้ คือ
สุนัขชื่อมาลิยะ จตุรักขะ ปิงคิยะ และชัมพุกะ
เธอจงทำอาหารเพื่อพวกเขา
(สุนัขจิ้งจอกตัวเมียกล่าวว่า)
[๑๐๔] เมื่อเธอออกจากถ้ำไป
แม้สิ่งของก็จะสูญหาย
ฉันจะแจ้งข่าวความสุขสบายแก่เพื่อนเอง
เธออยู่ที่นี้แหละ อย่าไปเลย
ปูติมังสชาดกที่ ๑๑ จบ

๑๒. ทัททรชาดก (๔๓๘)
ว่าด้วยนกกระทา
(รุกขเทวดากล่าวกับเหี้ยว่า)
[๑๐๕] คนที่เจ้าให้ข้าวหุงกินนั้นแหละ
ได้กินลูกน้อยทั้งหลายของเจ้าซึ่งไม่มีความผิด
เจ้าจงกัดมันให้จมเขี้ยว อย่าปล่อยให้มันมีชีวิตอยู่
(แม่เหี้ยกล่าวว่า)
[๑๐๖] คนที่ทำงานหยาบช้ามากเป็นคนแปดเปื้อน
เหมือนผ้านุ่งของหญิงเลี้ยงเด็ก
ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นส่วนที่จะกัดมันให้จมเขี้ยวเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑๘ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker