ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑. อปัณณกวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เอกกนิบาต
๑. อปัณณกวรรค
หมวดว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด
๑. อปัณณกชาดก (๑)
ว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด

(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภพ่อค้าเกวียนสองคน คนหนึ่งปฏิบัติผิด
คนหนึ่งปฏิบัติถูก ตรัสพระคาถาว่า)
[๑] คนฉลาดพวกหนึ่งกล่าวฐานะที่ไม่ผิด๑
นักคาดคะเนทั้งหลายกล่าวฐานะที่ ๒ (ที่ผิด)
ผู้มีปัญญารู้จักฐานะที่ไม่ผิดและฐานะที่ผิดนั้นแล้ว
ควรถือฐานะที่ไม่ผิดไว้เถิด
อปัณณกชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะที่ไม่ผิด ในที่นี้หมายถึงฐานะหรือเหตุที่เป็นจริงโดยส่วนเดียว ไม่ผิดพลาด นำออกจากทุกข์ภัยได้
ได้แก่ ไตรสรณคมน์ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ความสำรวมในปาติโมกข์ ความสำรวมอินทรีย์ ความสำรวมใน
การเลี้ยงชีพ การใช้สอยปัจจัยโดยอุบายที่ชอบ จตุปาริสุทธิศีลแม้ทั้งหมด ความเป็นผู้คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ฌาน วิปัสสนา อภิญญา
สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ทั้งหมดนี้เรียกว่า ฐานะที่ไม่ผิด ทางดำเนินที่ไม่ผิด หรือทางดำเนินที่นำ
ออกจากทุกข์ (ขุ.ชา.อ. ๑/๑/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑. อปัณณกวรรค ๔. จูฬเสฏฐิชาดก (๔)
๒. วัณณุปถชาดก (๒)
ว่าด้วยการบำเพ็ญความเพียรเหมือนขุดหาน้ำกลางทะเลทราย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภพ่อค้าเดินทางกลางทะเลทรายขุดหาน้ำได้ด้วย
ความเพียร เปรียบเทียบกับมุนีผู้ทำความเพียรย่อมได้ความสงบใจ ตรัสพระคาถาว่า)
[๒] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน
ขุดภาคพื้นที่หนทางกลางทะเลทราย
ได้พบน้ำที่กลางทะเลทรายอันราบเรียบ ฉันใด
มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง ไม่เกียจคร้าน
พึงประสบความสงบใจ ฉันนั้น
วัณณุปถชาดกที่ ๒ จบ

๓. เสริววาณิชชาดก (๓)
ว่าด้วยพ่อค้าชื่อเสริวะ
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียร ตรัสพระคาถาว่า)
[๓] ถ้าเธอพลาดจากสภาวะอันแน่นอนแห่งพระสัทธรรม
ในศาสนานี้แล้ว เธอจะต้องเดือดร้อนตลอดกาลนาน
เหมือนพ่อค้าชื่อว่าเสริวะนี้
เสริววาณิชชาดกที่ ๓ จบ

๔. จูฬเสฏฐิชาดก (๔)
ว่าด้วยจูฬเศรษฐี
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภการตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์เพียงเล็กน้อย ตรัส
พระคาถาว่า)
[๔] ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโดยประจักษ์
ย่อมตั้งตัวได้ด้วยสิ่งของอันมีมูลค่าน้อย
เหมือนคนก่อไฟกองเล็ก ๆ ทำให้เป็นกองใหญ่ได้
จูฬเสฏฐิชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑. อปัณณกวรรค ๗. กัฏฐหาริชาดก (๗)
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก (๕)
ว่าด้วยมูลค่าข้าวสารทะนานหนึ่ง
(อำมาตย์ทูลถามพระราชาว่า)
[๕] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ตรัสว่า ข้าวสาร ๑ ทะนาน
มีราคาเท่ามูลค่าม้า ๕๐๐ ตัวหรือ
และข้าวสาร ๑ ทะนานนี้มีค่าเท่ากับกรุงพาราณสี
ทั้งภายในภายนอกเชียวหรือ
ตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕ จบ

๖. เทวธัมมชาดก (๖)
ว่าด้วยธรรมของเทวดา
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๖] บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ
ตั้งมั่นอยู่ในสุกกธรรม (กุศลธรรม)
เป็นผู้สงบระงับ เป็นคนดีงาม
ท่านเรียกว่า ผู้มีเทวธรรมในโลก
เทวธัมมชาดกที่ ๖ จบ

๗. กัฏฐหาริชาดก (๗)
ว่าด้วยหญิงหาฟืน
(พระโพธิสัตว์กล่าวธรรมแก่พระราชบิดาว่า)
[๗] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า หม่อมฉันเป็นโอรสของพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีของหมู่ชน
ขอพระองค์ทรงเลี้ยงหม่อมฉัน
แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงเลี้ยงได้
ทำไมจะไม่ทรงเลี้ยงโอรสของพระองค์เล่า
กัฏฐหาริชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑. อปัณณกวรรค ๑๐. สุขวิหาริชาดก (๑๐)
๘. คามณิชาดก (๘)
ว่าด้วยคามณิกุมาร
(คามณิกุมารเปล่งอุทานว่า)
[๘] เออก็ ผลที่หวังจะสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้
เรามีพรหมจรรย์แก่กล้าแล้ว
ท่านจงเข้าใจดังนี้เถิด พ่อคามณิ
คามณิชาดกที่ ๘ จบ

๙. มฆเทวชาดก (๙)
ว่าด้วยพระเจ้ามฆเทวะ
(พระราชาทรงจับพระเกสาหงอกแล้ว ตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า)
[๙] เมื่อวัยล่วงเลยไป ผมบนศีรษะของเราก็หงอก
เทวทูตก็ปรากฏชัด บัดนี้เป็นเวลาที่เราควรจะบวช
มฆเทวชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สุขวิหาริชาดก (๑๐)
ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาว่า)
[๑๐] บุคคลเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาคุ้มครองผู้ใด
และผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาคุ้มครองบุคคลเหล่าอื่น
มหาบพิตร ผู้นั้นแหละไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย
ย่อมอยู่เป็นสุข
สุขวิหาริชาดกที่ ๑๐ จบ
อปัณณกวรรคที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๒. สีลวรรค ๒. นิโครธมิคชาดก (๑๒)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อปัณณกชาดก ๒. วัณณุปถชาดก
๓. เสริววาณิชชาดก ๔. จูฬเสฏฐิชาดก
๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ๖. เทวธัมมชาดก
๗. กัฏฐหาริชาดก ๘. คามณิชาดก
๙. มฆเทวชาดก ๑๐. สุขวิหาริชาดก

๒. สีลวรรค
หมวดว่าด้วยศีล
๑. ลักขณชาดก (๑๑)
ว่าด้วยเนื้อชื่อลักขณะ
(พญาเนื้อโพธิสัตว์เห็นลูกทั้ง ๒ กำลังมา จึงกล่าวกับหมู่ญาติว่า)
[๑๑] ประโยชน์๑ย่อมมีแก่ผู้มีศีล ผู้กระทำการต้อนรับเป็นปกติ
เธอจงดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ที่หมู่ญาติแวดล้อมกลับมา
และจงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ที่เสื่อมจากหมู่ญาติ
ลักขณชาดกที่ ๑ จบ

๒. นิโครธมิคชาดก (๑๒)
ว่าด้วยพญาเนื้อชื่อนิโครธ
(แม่เนื้อเห็นลูกกำลังจะไปยังที่อยู่ของเนื้อสาขะ จึงกล่าวสอนว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงความเจริญ (ขุ.ชา.อ. ๑/๑๑/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๒. สีลวรรค ๕.ขราทิยชาดก (๑๕)
[๑๒] ลูกหรือผู้อื่นควรคบหาเนื้อชื่อนิโครธเท่านั้น
ไม่ควรเข้าไปคบหาเนื้อชื่อสาขะ
การตายในสำนักของเนื้อชื่อนิโครธยังประเสริฐกว่า
การมีชีวิตในสำนักของเนื้อชื่อสาขะจะประเสริฐอะไร
นิโครธมิคชาดกที่ ๒ จบ

๓. กัณฑิชาดก (๑๓)
ว่าด้วยเรื่องที่น่าตำหนิคนมีลูกศรเป็นอาวุธเป็นต้น
(เทวดาโพธิสัตว์ตำหนิเรื่องที่ควรตำหนิ ๓ อย่าง จึงกล่าวว่า)
[๑๓] น่าตำหนิ คนที่มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงไปเต็มกำลัง
น่าตำหนิ ชนบทที่มีสตรีเป็นผู้นำ
อนึ่ง แม้ชายผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ก็น่าตำหนิ
กัณฑิชาดกที่ ๓ จบ

๔. วาตมิคชาดก (๑๔)
ว่าด้วยเนื้อสมัน
(พระราชาทรงดำริว่า สภาวะที่เลวกว่าความอยากในรสไม่มี จึงตรัสว่า)
[๑๔] ได้ยินว่า สภาวะอย่างอื่นที่จะเลวยิ่งกว่ารสทั้งหลายไม่มี
รสเป็นสภาวะที่เลวกว่าที่อยู่อาศัย กว่าความสนิทสนม
คนเฝ้าสวนชื่อสัญชัยนำเนื้อสมันที่อาศัยอยู่ในป่าทึบ
มาสู่อำนาจได้ก็เพราะรส
วาตมิคชาดกที่ ๔ จบ

๕. ขราทิยชาดก (๑๕)
ว่าด้วยลูกของแม่เนื้อที่ชื่อขราทิยา
(พญาเนื้อโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาจะสอนลูกของน้องสาว จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๒. สีลวรรค ๗. มาลุตชาดก (๑๗)
[๑๕] แม่ขราทิยา เราไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อ
ที่มีกีบเท้า ๘ กีบ มีเขาคดตั้งแต่โคนจรดปลาย
ที่ละเลยโอวาทตลอด ๗ วันตัวนั้นได้
ขราทิยชาดกที่ ๕ จบ

๖. ติปัลลัตถมิคชาดก (๑๖)
ว่าด้วยเนื้อลวงนายพรานด้วยการนอน ๓ ท่า
(พญาเนื้อโพธิสัตว์กล่าวแก่น้องสาวว่า)
[๑๖] น้องหญิง พี่ให้เนื้อ(หลานชาย)ที่มีกีบเท้า ๘ กีบ
เรียนท่านอน ๓ ท่า เรียนเล่ห์กลมายาหลายอย่าง
และการดื่มน้ำในเวลาเที่ยงคืน
เนื้อนั้น เมื่อหายใจทางจมูกข้างที่แนบติดอยู่กับพื้นดิน
ก็จะลวงนายพรานได้ด้วยอุบาย ๖ ประการ๑
ติปัลลัตถมิคชาดกที่ ๖ จบ

๗. มาลุตชาดก (๑๗)
ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม
(ฤาษีโพธิสัตว์ถูกเสือและราชสีห์ถาม จึงกล่าวว่า)
[๑๗] สมัยใดลมพัดมา สมัยนั้นจะเป็นข้างแรมก็ตาม
ข้างขึ้นก็ตาม ย่อมมีความหนาวอันเกิดแต่ลม
ในปัญหาข้อนี้ เธอทั้ง ๒ จึงไม่มีใครเป็นผู้แพ้
มาลุตชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุบาย ๖ ประการ คือ (๑) นอนตะแคงข้างเหยียดเท้าทั้ง ๔ (๒) ใช้กีบเท้าคุ้ยหญ้าและฝุ่น (๓) แลบลิ้น
ออกให้น้อยลง (๔) ทำให้ท้องพองนูน (๕) ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ (๖) กลั้นลมหายใจเข้าออกไว้
เมื่อนายพรานเห็นเข้าใจว่าตายแล้วจะแก้บ่วงออก เนื้อก็จะรีบหนีไป (ขุ.ชา.อ. ๑/๑๖/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๒. สีลวรรค ๑๐.นฬปานชาดก (๒๐)
๘. มตกภัตตชาดก (๑๘)
ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนว่า)
[๑๘] ถ้าเหล่าสัตว์พึงรู้อย่างนี้ว่า
การเกิดและสมภพ๑นี้เป็นทุกข์
สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะผู้ฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก
มตกภัตตชาดกที่ ๘ จบ

๙. อายาจิตภัตตชาดก (๑๙)
ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ทำพลีกรรม
(รุกขเทวดาอยู่ที่ค่าคบต้นไม้กล่าวกับกุฎุมพีผู้ฆ่าสัตว์แก้บนว่า)
[๑๙] ถ้าท่านต้องการจะเปลื้องตนให้หลุดพ้น
จงเปลื้องตนให้หลุดพ้นโดยวิธีที่จะไม่ติดแน่นเถิด
เมื่อท่านเปลื้องตนอย่างนี้ ชื่อว่ายังติดแน่นอยู่
เพราะนักปราชญ์ไม่เปลื้องตนให้หลุดพ้นด้วยวิธีอย่างนี้
การเปลื้องตนให้หลุดพ้นอย่างนี้ กลับเป็นการผูกมัดคนพาล
อายาจิตภัตตชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. นฬปานชาดก (๒๐)
ว่าด้วยอุบายดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ
(พระศาสดาทรงทราบความที่พระโพธิสัตว์กับรากษสโต้ตอบกัน จึงได้ตรัสพระ
คาถานี้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ สมภพ ในที่นี้หมายถึงความเจริญโดยลำดับแห่งสัตว์ผู้บังเกิดแล้ว (ขุ.ชา.อ. ๑/๑๘/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๓. กุรุงควรรค ๑. กุรุงคมิคชาดก (๒๑)
[๒๐] พญาวานรไม่เห็นรอยเท้าที่ขึ้นมา
เห็นแต่รอยเท้าที่ลงไป จึงกล่าวว่า
พวกเราจักดื่มน้ำด้วยหลอดไม้อ้อ
ท่านจักฆ่าเราไม่ได้
นฬปานชาดกที่ ๑๐ จบ
สีลวรรคที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑.ลักขณชาดก ๒. นิโครธมิคชาดก
๓.กัณฑิชาดก ๔. วาตมิคชาดก/l
๕.ขราทิยชาดก ๖. ติปัลลัตถมิคชาดก/r
๗.มาลุตชาดก ๘. มตกภัตตชาดก
๙.อายาจิตภัตตชาดก ๑๐ นฬปานชาดก

๓. กุรุงควรรค
หมวดว่าด้วยกวาง
๑. กุรุงคมิคชาดก (๒๑)
ว่าด้วยกวาง
(กวางโพธิสัตว์แสร้งกล่าวกับต้นไม้กระทบนายพรานว่า)
[๒๑] นี่ไม้มะรื่น การที่ท่านปล่อยผลมะรื่นให้หล่นกลิ้งมานั้น
กวางรู้แล้ว เราจะไปยังไม้มะรื่นต้นอื่น
เราไม่ชอบใจผลของท่าน
กุรุงคมิคชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๓. กุรุงควรรค ๔. อาชัญญชาดก (๒๔)
๒. กุกกุรชาดก (๒๒)
ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
(สุนัขโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาผู้ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่า)
[๒๒] พวกลูกสุนัขที่เขาเลี้ยงจนเจริญเติบโตแล้วในราชตระกูล
เป็นสัตว์มีตระกูล สมบูรณ์ด้วยสีสันและกำลัง กลับไม่ถูกฆ่า
พวกเราซิกลับถูกฆ่า นี้ชื่อว่าการฆ่าที่แปลก
ชื่อว่าเป็นการฆ่าผู้ที่มีกำลังอ่อนแอ
กุกกุรชาดกที่ ๒ จบ

๓. โภชาชานียชาดก (๒๓)
ว่าด้วยม้าสินธพชาติอาชาไนย
(ม้าสินธพชาติอาชาไนยโพธิสัตว์ กล่าวกับหมู่ญาติว่า)
[๒๓] ม้าสินธพชาติอาชาไนยที่ถูกยิงด้วยลูกศร
แม้นอนตะแคงอยู่ ก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก
พ่อสารถี ท่านจงตระเตรียมเราออกรบอีกเถิด
โภชาชานียชาดกที่ ๓ จบ

๔. อาชัญญชาดก (๒๔)
ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
(ม้าอาชาไนยโพธิสัตว์ถูกฟันหมอบอยู่ กล่าวกับพลรถว่า)
[๒๔] ไม่ว่าในกาลใด สถานที่ใด ขณะใด
สนามรบใด หรือเวลาใด
ม้าอาชาไนยก็เร่งความเร็ว
ส่วนม้ากระจอกย่อมล้าหลัง
อาชัญญชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๓. กุรุงควรรค ๗. อภิณหชาดก (๒๗)
๕. ติตถชาดก (๒๕)
ว่าด้วยการรังเกียจท่าน้ำ
(อำมาตย์โพธิสัตว์กล่าวกับคนเลี้ยงม้าว่า)
[๒๕] นายสารถี ท่านจงให้ม้าดื่มน้ำที่ท่าอื่น ๆ บ้าง
แม้ข้าวปายาสที่รับประทานบ่อย ๆ คนก็ยังเบื่อได้
ติตถชาดกที่ ๕ จบ

๖. มหิฬามุขชาดก (๒๖)
ว่าด้วยพญาช้างมหิฬามุข
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๒๖] พญาช้างต้นชื่อมหิฬามุขได้เที่ยวทำร้ายคน
เพราะสำเหนียกคำของพวกโจรมาก่อน
พญามงคลหัตถีได้ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้งปวง
เพราะสำเหนียกคำของนักบวชผู้สำรวมดี
มหิฬามุขชาดกที่ ๖ จบ

๗. อภิณหชาดก (๒๗)
ว่าด้วยการได้เห็นกันเนือง ๆ
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๒๗] พญาช้างต้นไม่สามารถจะรับคำข้าว ไม่สามารถจะรับก้อนข้าว
ไม่สามารถจะรับหญ้า และไม่สามารถจะขัดสีร่างกายได้
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าพญาช้างตัวประเสริฐ
มีความเยื่อใยในลูกสุนัข เพราะได้เห็นกันเนือง ๆ พระเจ้าข้า
อภิณหชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๓. กุรุงควรรค ๑๐. มุนิกชาดก (๓๐)
๘. นันทิวิสาลชาดก (๒๘)
ว่าด้วยโคนันทิวิสาล
(พระศาสดาทรงติเตียนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้พูดคำหยาบคาย ตรัสนันทิวิสาล-
ชาดกนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๒๘] บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น
ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในเวลาไหน ๆ
เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ
โคนันทิวิสาลจึงลากสัมภาระอันหนักไปได้
ทั้งยังทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์อีกด้วย
ส่วนตนเองก็ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้น
นันทิวิสาลชาดกที่ ๘ จบ

๙. กัณหชาดก (๒๙)
ว่าด้วยโคกัณหะ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า พระตถาคตหาผู้เสมอเหมือนมิได้ทั้งใน
อดีตทั้งในปัจจุบัน จึงตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๒๙] ในที่ใด ๆ มีธุระหนัก ในที่ใดหนทางเป็นร่องลึก ขรุขระ
ในเวลานั้นแหละ ชนทั้งหลายจะเทียมโคกัณหะ
โคกัณหะนั้นแหละจะนำธุระอันนั้นไปได้
กัณหชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. มุนิกชาดก (๓๐)
ว่าด้วยหมูชื่อมุนิกะ
(โคโพธิสัตว์พูดกับน้องซึ่งมีความน้อยใจว่า เขาเลี้ยงด้วยหญ้าและฟาง เลี้ยง
สุกรด้วยข้าวต้มและข้าวสวย จึงกล่าวคาถานี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๔. กุลาวกวรรค ๑. กุลาวกชาดก (๓๑)
[๓๐] เธออย่าปรารถนาเป็นอย่างหมูมุนิกะเลย
หมูมุนิกะกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน
เธอจงเป็นผู้ขวนขวายน้อย กินข้าวลีบเถิด
การกินข้าวลีบนี้เป็นเหตุให้มีอายุยืน
มุนิกชาดกที่ ๑๐ จบ
กุรุงควรรคที่ ๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้คือ
๑. กุรุงคมิคชาดก ๒. กุกกุรชาดก/r
๓. โภชาชานียชาดก ๔. อาชัญญชาดก/r
๕. ติตถชาดก ๖. มหิฬามุขชาดก/r
๗. อภิณหชาดก ๘. นันทิวิสาลชาดก/r
๙. กัณหชาดก ๑๐. มุนิกชาดก/r

๔. กุลาวกวรรค
หมวดว่าด้วยลูกนกครุฑ
๑. กุลาวกชาดก (๓๑)
ว่าด้วยลูกนกครุฑ
(ท้าวสักกะโพธิสัตว์ยอมสละชีวิตให้พวกอสูร ตรัสสั่งให้มาตลีเทพสารถีหันรถ
กลับเพราะกลัวลูกนกจะตายว่า)
[๓๑] มาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑอยู่
เธอจงหันงอนรถกลับ เราประสงค์จะสละชีวิตให้พวกอสูร
ลูกนกพวกนี้อย่าได้แหลกลาญเลย
กุลาวกชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๔. กุลาวกวรรค ๔. มัจฉชาดก (๓๔)
๒. นัจจชาดก (๓๒)
ว่าด้วยนกยูงรำแพน
(พญาหงส์ทองไม่ยอมยกลูกสาวให้นกยูงที่ขาดหิริและโอตตัปปะ จึงกล่าวคาถา
นี้ในท่ามกลางฝูงนกว่า)
[๓๒] เสียงของเธอช่างไพเราะจับใจ แผ่นหลังก็สวยงาม
สร้อยคอก็เปรียบประดุจดังสีแก้วไพฑูรย์ และกำหางก็ยาวตั้งวา
เราจะไม่ให้ลูกสาวแก่เธอ เพราะการรำแพนหางร่ายรำ
นัจจชาดกที่ ๒ จบ

๓. สัมโมทมานชาดก (๓๓)
ว่าด้วยความร่าเริงบันเทิงใจ
(นายพรานนกจับนกกระจาบไม่ได้ถูกภรรยาต่อว่า จึงกล่าวว่า)
[๓๓] นกกระจาบทั้งหลายร่าเริงบันเทิงใจ
ช่วยกันบินพาเอาข่ายไปได้
เมื่อใดพวกมันทะเลาะกัน
เมื่อนั้นพวกมันจักมาสู่เงื้อมมือของเรา
สัมโมทมานชาดกที่ ๓ จบ

๔. มัจฉชาดก (๓๔)
ว่าด้วยพญาปลา
(พญาปลาติดข่ายกลัวภรรยาจะเข้าใจผิดและเบียดเบียนเอาจึงคร่ำครวญอยู่ จึง
กล่าวว่า)
[๓๔] ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในข่าย
ไม่ได้เบียดเบียนให้เราได้รับทุกข์
เหมือนเรื่องที่นางปลาเข้าใจเราว่า ไปยินดีนางปลาตัวอื่นเลย
มัจฉชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๔. กุลาวกวรรค ๗. ติตติรชาดก (๓๑)
๕. วัฏฏกชาดก (๓๕)
ว่าด้วยนกคุ่มโพธิสัตว์
(นกคุ่มโพธิสัตว์เมื่อจะห้ามไฟป่า ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าในอดีต
ปรารภสัจจะที่มีอยู่ในตน เมื่อจะทำสัจจกิริยา จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ปีกของเรามีอยู่แต่ยังบินไม่ได้
เท้าทั้ง ๒ ข้างของเรามีอยู่ก็ยังเดินไม่ได้
และมารดาบิดาของเราก็หนีภัยออกไปแล้ว
นี่ไฟป่า เจ้าจงถอยกลับไปเถิด
วัฏฏกชาดกที่ ๕ จบ

๖. สกุณชาดก (๓๖)
ว่าด้วยนกโพธิสัตว์
(นกโพธิสัตว์เห็นกิ่งไม้เสียดสีกันเกิดไฟป่า จึงกล่าวแก่นกยูงว่า)
[๓๖] นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด
ต้นไม้นั้นปล่อยไฟออกมา
นี่นกทั้งหลาย พวกเธอจงหนีไปยังทิศทั้งหลายเถิด
ภัยได้เกิดมีแต่ต้นไม้อันเป็นที่พึ่งของพวกเรา
สกุณชาดกที่ ๖ จบ

๗. ติตติรชาดก (๓๗)
ว่าด้วยนกกระทา
(พระศาสดาทรงติเตียนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้ไม่มีความเคารพยำเกรงต่อภิกษุผู้
แก่กว่า จึงตรัสว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๔. กุลาวกวรรค ๙. นันทชาดก (๓๙)
[๓๗] นรชนเหล่าใดฉลาดในธรรม๑
ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญ๒ทั้งหลาย
นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และมีสุคติภพในเบื้องหน้า
ติตติรชาดกที่ ๗ จบ

๘. พกชาดก (๓๘)
ว่าด้วยนกยาง
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์สถิตอยู่ที่ต้นกุ่ม ได้เห็นเหตุอัศจรรย์ที่นกยางถูกปูหนีบ
คอจมน้ำตาย เมื่อจะให้สาธุการ จึงกล่าวว่า)
[๓๘] ผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงผู้อื่น
จะพบความสุขอยู่ได้ไม่นาน
ผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงผู้อื่นนั้น
ต้องประสบบาปกรรมที่ตนทำไว้
เหมือนนกยางที่ถูกปูหนีบตาย
พกชาดกที่ ๘ จบ

๙. นันทชาดก (๓๙)
ว่าด้วยนายนันททาส
(กุฎุมพีโพธิสัตว์เมื่อจะบอกขุมทรัพย์แก่กุมารผู้เป็นลูกของเพื่อน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ทาสชื่อนันทะ เกิดจากนางทาสี ยืนพูดคำหยาบอยู่ที่ใด
เรารู้ว่ามีกองรัตนะและมาลัยทองอยู่ที่นั้น
นันทชาดกที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงความประพฤติยำเกรงต่อบุคคลผู้เจริญ (ขุ.ชา.อ. ๑/๓๗/๓๐๑)
๒ ผู้เจริญมี ๓ ประเภท คือ ( ๑) เจริญโดยชาติ (๒) เจริญโดยวัย (๓) เจริญโดยคุณ (ขุ.ชา.อ. ๑/๓๗/๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัตถกามวรรค ๑. โลสกชาดก (๔๑)
๑๐. ขทิรังคารชาดก (๔๐)
ว่าด้วยหลุมถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
(เศรษฐีโพธิสัตว์เมื่อจะให้มารผู้ประสงค์จะทำลายชีวิตพระปัจเจกพุทธเจ้า และ
ทำลายโรงทานทราบว่า ตัวท่านหรือมารมีกำลังมีอานุภาพมากกว่ากัน จึงกล่าว
คาถานี้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า)
[๔๐] ข้าพเจ้าจะตกหลุมถ่านเพลิงมีเท้าชี้ขึ้น มีศีรษะปักลงก็ตามที
ข้าพเจ้าจะไม่ทำความชั่วอันเป็นกรรมไม่ประเสริฐอีก
ขอนิมนต์พระคุณเจ้ารับบิณฑบาตนี้เถิด
ขทิรังคารชาดกที่ ๑๐ จบ
กุลาวกวรรคที่ ๔ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก
๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก
๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก
๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก
๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก
๕. อัตถกามวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ใคร่ประโยชน์
๑. โลสกชาดก (๔๑)
ว่าด้วยคนโลเลต้องเศร้าโศก
(พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องนายมิตตวินทุกะที่ไม่ทำตามคำสอนของผู้หวังความเจริญ
จึงได้รับทุกข์แล้ว ได้กล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัตถกามวรรค ๓. เวฬุกชาดก (๔๓)
[๔๑] ผู้ใดที่คนอื่นผู้มีจิตเกื้อกูล อ่อนโยน กล่าวสอนอยู่
ไม่กระทำตามคำสอนของบุคคลผู้หวังความเจริญ
ผู้อนุเคราะห์ด้วยเหตุอันเป็นประโยชน์
ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนมิตตวินทุกะจับขาแพะแล้วเศร้าโศกอยู่
โลสกชาดกที่ ๑ จบ

๒. กโปตกชาดก (๔๒)
ว่าด้วยนกพิราบเตือนกา
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกาประสบความพินาศ จึงกล่าวว่า)
[๔๒] ผู้ใดอันบุคคลผู้หวังความเจริญ
อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล
กล่าวสอนอยู่ ก็ไม่ทำตามคำสั่งสอน
ผู้นั้นย่อมเศร้าโศกอยู่ร่ำไป
เหมือนกาไม่ทำตามคำของนกพิราบตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู
กโปตกชาดกที่ ๒ จบ

๓. เวฬุกชาดก (๔๓)
ว่าด้วยงูเวฬุกะ
(ดาบสโพธิสัตว์สั่งให้ทำการเผาดาบสที่ถูกงูกัดตายแล้ว จึงกล่าวสอนหมู่ฤๅษีว่า)
[๔๓] ผู้ใดที่คนอื่นผู้มีจิตเกื้อกูล อ่อนโยน กล่าวสอนอยู่
ไม่กระทำตามคำสอนของบุคคลผู้หวังความเจริญ
ผู้อนุเคราะห์ด้วยเหตุอันเป็นประโยชน์
ผู้นั้นย่อมถูกกำจัดนอนตายอยู่ เหมือนฤๅษีผู้เป็นบิดาของงูเวฬุกะ๑
เวฬุกชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า เวฬุก เป็นชื่อของไม้ไผ่ งูที่ได้ชื่อว่า เวฬุกะ เพราะนอนอยู่ในปล้องไม้ไผ่ (ขุ.ชา.อ. ๒/๔๓/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัตถกามวรรค ๖. อารามทูสกชาดก (๔๖)
๔. มกสชาดก (๔๔)
ว่าด้วยลูกชายโง่ฆ่ายุง
(พ่อค้าโพธิสัตว์เห็นการกระทำของช่างไม้ผู้โง่เขลา จึงกล่าวว่า)
[๔๔] มีศัตรูผู้มีความรู้ยังประเสริฐกว่า
ส่วนมิตรผู้ไร้ปัญญาไม่ประเสริฐเลย
เพราะว่าลูกชายผู้โง่เขลาคิดว่า เราจักฆ่ายุง
ได้ทุบหัวของพ่อเสียแล้ว
มกสชาดกที่ ๔ จบ

๕. โรหิณีชาดก (๔๕)
ว่าด้วยนางโรหิณี
(พระโพธิสัตว์ทราบเรื่องที่สาวใช้ซี่งมารดาใช้ให้ไล่แมลงวันกลับใช้สากตีมารดา
จนสิ้นชีวิต จึงกล่าวว่า)
[๔๕] มีศัตรูผู้มีปัญญายังดีกว่ามีคนอนุเคราะห์ที่โง่
เธอจงดูนางโรหิณีชาติชั่ว ฆ่าแม่แล้วเศร้าโศกอยู่
โรหิณีชาดกที่ ๕ จบ

๖. อารามทูสกชาดก (๔๖)
ว่าด้วยลิงทำลายสวน
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้ฟังคำของลิง จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์
ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาได้เลย
คนมีปัญญาทรามทำประโยชน์ให้เสียหาย เหมือนลิงเฝ้าสวน
อารามทูสกชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัตถกามวรรค ๙. นักขัตตชาดก (๔๙)
๗. วารุณิทูสกชาดก (๔๗)
ว่าด้วยผู้มีปัญญาทรามทำสุราให้เสีย
(พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องคนโง่ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ผู้ไม่ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถึงจะบำเพ็ญประโยชน์
ก็ไม่สามารถจะนำความสุขมาได้เลย
คนมีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสียหาย
เหมือนนายโกณฑัญญะทำสุราให้เสีย
วารุณิทูสกชาดกที่ ๗ จบ

๘. เวทัพพชาดก (๔๘)
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อเวทัพพะ
(พระโพธิสัตว์คิดถึงเรื่องคนที่ปรารถนาความเจริญโดยวิธีที่ไม่สมควร ได้ประสบ
ความพินาศใหญ่หลวง จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ผู้ใดปรารถนาประโยชน์โดยอุบายอันไม่แยบยล
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ
ฆ่าเวทัพพพราหมณ์แล้วถึงความพินาศทั้งหมด
เวทัพพชาดกที่ ๘ จบ

๙. นักขัตตชาดก (๔๙)
ว่าด้วยการถือฤกษ์ถือยาม
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นชาวพระนครทะเลาะกันเรื่องฤกษ์ จึงกล่าวว่า)
[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่
ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์
ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้
นักขัตตชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๕. อัตถกามวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๑๐. ทุมเมธชาดก (๕๐)
ว่าด้วยคนโง่
(พรหมทัตตกุมารโพธิสัตว์เมื่อจะประกาศเรื่องให้ควักหัวใจคนโง่ทำการบวงสรวง
เทวดา จึงกล่าวว่า)
[๕๐] การบูชายัญข้าพเจ้าได้บนไว้แล้วด้วยคนโง่ ๑,๐๐๐ คน
บัดนี้ คนที่ไม่ประพฤติธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก
เราจักบูชายัญ
ทุมเมธชาดกที่ ๑๐ จบ
อัตถกามวรรคที่ ๕ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โลสกชาดก ๒. กโปตกชาดก
๓. เวฬุกชาดก ๔. มกสชาดก
๕. โรหิณีชาดก ๖. อารามทูสกชาดก
๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก
๙. นักขัตตชาดก ๑๐. ทุมเมธชาดก

ปฐมปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๖. อาสิงสวรรค ๓. ปุณณปาติชาดก (๕๓)
๖. อาสิงสวรรค
หมวดว่าด้วยความหวัง
๑. มหาสีลวชาดก (๕๑)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาสีลวะ
(พระเจ้าสีลวมหาราชทรงดำริถึงผลของความเพียร จึงกล่าวคาถานี้ว่า)
[๕๑] เป็นคนต้องหวังร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ปรารถนาอย่างใดก็ได้อย่างนั้น
มหาสีลวชาดกที่ ๑ จบ

๒. จูฬชนกชาดก (๕๒)
ว่าด้วยพระจูฬชนก
(พระมหาชนกทรงดำริถึงผลของความเพียร จึงกล่าวคาถานี้ว่า)
[๕๒] เป็นคนต้องพยายามร่ำไป คนฉลาดไม่ควรท้อแท้
เราเห็นตัวเองเป็นตัวอย่าง
ถูกเขาช่วยให้ขึ้นจากน้ำมาบนบกได้
จูฬชนกชาดกที่ ๒ จบ

๓. ปุณณปาติชาดก (๕๓)
ว่าด้วยการลวงด้วยสุราเต็มไห
(เศรษฐีโพธิสัตว์เมื่อจะทำลายความพอใจของพวกนักเลง จึงกล่าวคาถานี้ว่า)
[๕๓] ไหเหล้ายังคงเต็มอยู่เช่นเดิม
การกล่าวยกย่องคงเป็นคำไม่จริง
เพราะอาการอย่างนี้ เราจึงรู้ว่า เหล้านี้ไม่ดีจริง
ปุณณปาติชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๖. อาสิงสวรรค ๕. ปัญจาวุธชาดก (๕๕)
๔. ผลชาดก (๕๔)
ว่าด้วยการรู้จักผลไม้
(พ่อค้าเกวียนโพธิสัตว์เล่าเรื่องที่ตนทราบว่าต้นไม้นั้นไม่ใช่ต้นมะม่วงด้วยเหตุ ๒
ประการ จึงกล่าวว่า)
[๕๔] ต้นไม้นี้คนขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน
เพราะเหตุ ๒ ประการนี้ เราจึงรู้ได้ว่า ต้นไม้นี้มีผลไม่ดี
ผลชาดกที่ ๔ จบ

๕. ปัญจาวุธชาดก (๕๕)
ว่าด้วยพระกุมารผู้มีอาวุธ ๕ อย่าง
(พระศาสดาทรงประมวลพระธรรมเทศนา๑มาตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๕๕] นรชนใดมีจิตไม่ย่อท้อ มีใจไม่หดหู่
บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ๒
นรชนนั้นพึงบรรลุความสิ้นไปแห่งสังโยชน์๓ทั้งปวงได้โดยลำดับ
ปัญจาวุธชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ (ขุ.ชา.อ. ๒/๕๕/๕๒)
๒ โยคะ หมายถึงสภาวะที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ มี ๔ ประการ คือ
(๑) กามโยคะ โยคะคือกาม (๒) ภวโยคะ โยคะคือภพ
(๓) ทิฏฐิโยคะ โยคะคือทิฏฐิ (๔) อวิชชาโยคะ โยคะคืออวิชชา
(ที.ปา. ๑๑/๓๕๔/๒๔๖, องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๐/๑๖)
๓ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกใจสัตว์ มี ๑๐ ประการ คือ
(๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (๒) วิจิกิจฉา ความสงสัย
(๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและพรต (๔) กามฉันทะ ความพอใจในกาม
(๕) พยาบาท ความคิดร้าย (๖) รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน
(๗) อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน (๘) มานะ ความถือตน
(๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้จริง
(สํ.ม. ๑๙/๑๘๐-๑๘๑/๕๖-๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๖. อาสิงสวรรค ๘. ตโยธัมมชาดก (๕๘)
๖. กัญจนักขันธชาดก (๕๖)
ว่าด้วยพระโพธิสัตว์แบ่งแท่งทอง
(พระผู้มีพระภาคทรงประมวลธรรมเทศนามาตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๕๖] นรชนใดมีจิตร่าเริง มีใจเบิกบาน
บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ
นรชนนั้นพึงบรรลุความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
กัญจนักขันธชาดกที่ ๖ จบ

๗. วานรินทชาดก (๕๗)
ว่าด้วยพญาวานรพ้นศัตรู
(จระเข้กล่าวถึงบุคคลที่ประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ จึงปราบศัตรูได้ว่า)
[๕๗] พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ
(๑) สัจจะ (๒) ธรรมะ (๓) ธิติ (๔) จาคะ๑ เช่นกับท่าน
ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้
วานรินทชาดกที่ ๗ จบ

๘. ตโยธัมมชาดก (๕๘)
ว่าด้วยธรรม ๓ ประการของพญาวานร
(รากษสชมเชยพระโพธิสัตว์ว่า)
[๕๘] พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๓ ประการเหล่านี้ คือ
(๑) ความขยัน (๒) ความแกล้วกล้า (๓) ปัญญา
เช่นกับท่าน ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้
ตโยธัมมชาดกที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ (พูดจริง) ธรรมะ หมายถึงปัญญาที่ใช้พิจารณาเหตุผล ธิติ หมายถึงความเพียร
ไม่ย่อหย่อน ไม่ขาดตอน จาคะ หมายถึงสละตน (ขุ.ชา.อ. ๒/๕๗/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๖. อาสิงสวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๙. เภริวาทกชาดก (๕๙)
ว่าด้วยการตีกลองเกินประมาณทำให้เสียทรัพย์
(ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลคนตีกลองได้กล่าวถึงวิธีตีกลองว่า)
[๕๙] เมื่อจะตีกลองก็ตีเถิด แต่อย่าตีให้เกินไป
เพราะการตีเกินไปเป็นความเสียหาย
ทรัพย์ตั้งร้อยที่เราได้มาเพราะการตีกลอง
ได้สูญเสียไปเพราะเจ้าตีเกินไป
เภริวาทกชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สังขธมชาดก (๖๐)
ว่าด้วยการเป่าสังข์เกินประมาณทำให้เสียทรัพย์
(พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลคนเป่าสังข์ เมื่อจะห้ามบิดาผู้เป่าสังข์ไม่หยุด จึงกล่าวว่า)
[๖๐] เมื่อจะเป่าสังข์ก็เป่าเถิด แต่อย่าเป่าให้เกินไป
เพราะการเป่ามากเกินไปเป็นความเสียหาย
พ่อเมื่อเป่าเกินไปจักทำสมบัติที่ได้มาเพราะการเป่าสังข์ให้พินาศไป
สังขธมชาดกที่ ๑๐ จบ
อาสิงสวรรคที่ ๖ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. มหาสีลวชาดก ๒. จูฬชนกชาดก
๓. ปุณณปาติชาดก ๔. ผลชาดก
๕. ปัญจาวุธชาดก ๖. กัญจนักขันธชาดก
๗. วานรินทชาดก ๘. ตโยธัมมชาดก
๙. เภริวาทกชาดก ๑๐. สังขธมชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๗. อิตถีวรรค ๓. ตักกปัณฑิตชาดก (๖๓)
๗. อิตถีวรรค
หมวดว่าด้วยหญิง
๑. อสาตมันตชาดก (๖๑)
ว่าด้วยอสาตมนต์
(มาณพผู้เป็นศิษย์ของพระโพธิสัตว์เห็นโทษของหญิง จึงประกาศความประสงค์
ของตนที่จะออกบวชว่า)
[๖๑] ขึ้นชื่อว่าหญิงในโลกนี้ไม่น่ายินดี
เพราะหญิงเหล่านั้นไม่มีขอบเขต มีแต่ความกำหนัด คะนอง
เหมือนเปลวไฟไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพเจ้าจักละทิ้งหญิงทั้งหลายเหล่านั้นไปบวชเพิ่มพูนวิเวก
อสาตมันตชาดกที่ ๑ จบ

๒. อัณฑภูตชาดก (๖๒)
ว่าด้วยการไว้ใจภรรยาที่เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับพราหมณ์ปุโรหิตถึงหญิงผู้ปรารถนาชายคนเดียวไม่
มีว่า)
[๖๒] พราหมณ์ไม่รู้อุบายที่ภรรยาใช้ผ้าผูกหน้าแล้วใช้ให้ดีดพิณอยู่
ภรรยาที่เลี้ยงมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์(ยังทำได้เช่นนี้)
ใครจะพึงไว้ใจในภรรยาเหล่านั้นได้
อัณฑภูตชาดกที่ ๒ จบ

๓. ตักกปัณฑิตชาดก (๖๓)
ว่าด้วยตักกบัณฑิต
(พระศาสดาครั้นตรัสเล่าอดีตนิทานแล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๗. อิตถีวรรค ๖. มุทุลักขณชาดก (๖๖)
[๖๓] ธรรมดาหญิงมีนิสัยมักโกรธ อกตัญญู
มักพูดส่อเสียด ชอบทำลายมิตร
ภิกษุ เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ จักไม่เสื่อมจากสุข
ตักกปัณฑิตชาดกที่ ๓ จบ

๔. ทุราชานชาดก (๖๔)
ว่าด้วยภาวะของหญิงรู้ได้ยาก
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์หวังจะสอนพราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ จึงกล่าวว่า)
[๖๔] อย่าดีใจเลยว่าหญิงนี้ต้องการเรา
อย่าเสียใจไปเลยว่าหญิงนี้ไม่ต้องการเรา
ภาวะของหญิงรู้ได้ยาก เหมือนปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ
ทุราชานชาดกที่ ๔ จบ

๕. อนภิรติชาดก (๖๕)
ว่าด้วยบุรุษไม่ควรถือโกรธหญิง
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์หวังจะสอนศิษย์ จึงกล่าวว่า)
[๖๕] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา
และบ่อน้ำดื่มเป็นฉันใด
ธรรมดาหญิงในโลกก็ฉันนั้น
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธเธอ
อนภิรติชาดกที่ ๕ จบ

๖. มุทุลักขณชาดก (๖๖)
ว่าด้วยพระโพธิสัตว์ปรารถนานางมุทุลักขณา
(ดาบสโพธิสัตว์เสื่อมจากฌานเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลแล้ว จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๗. อิตถีวรรค ๘. สาเกตชาดก (๖๘)
[๖๖] ครั้งก่อน เรายังไม่ได้พระนางมุทุลักขณา
ความปรารถนามีอยู่อย่างเดียว
เมื่อได้พระนางมุทุลักขณาผู้มีพระเนตรโตงดงาม
ความปรารถนาช่วยให้เกิดความต้องการขึ้นหลายอย่าง
มุทุลักขณชาดกที่ ๖ จบ

๗. อุจฉังคชาดก (๖๗)
ว่าด้วยหญิงหาบุตรหาสามีได้ง่ายเหมือนหาของที่ชายพก
(หญิงที่สามี บุตร และพี่ชายถูกราชบุรุษจับไปถวายพระราชา ทูลขอพี่ชาย
กลับคืน ถูกพระราชาตรัสถาม กราบทูลถึงเหตุที่บุตรและสามีหาได้ง่าย ส่วนพี่ชาย
หาได้ยากว่า)
[๖๗] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ
บุตรหม่อมฉันหาได้ง่ายเหมือนเมี่ยงที่ชายพก
เมื่อหม่อมฉันเดินไปตามทาง สามีก็ยังหาได้ง่าย
แต่หม่อมฉันยังไม่เห็นสถานที่ที่จะนำพี่ชายผู้ร่วมอุทรมาได้เลย
อุจฉังคชาดกที่ ๗ จบ

๘. สาเกตชาดก (๖๘)
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาเกต
(พระศาสดาทรงเล่าเรื่องที่พระองค์ทรงเติบโตในมือของพราหมณ์และพราหมณี
๓,๐๐๐ ชาติ ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๖๘] บุคคลมีจิตเลื่อมใสและมีใจฝังแน่นอยู่ในบุคคลใด
บุคคลพึงสนิทสนมคุ้นเคยในบุคคลนั้น
แม้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นกันเลย
สาเกตชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๗. อิตถีวรรค รวมชาดกที่มีในวรรคนี้
๙. วิสวันตชาดก (๖๙)
ว่าด้วยตายเสียดีกว่าดูดพิษกลับคืนเข้าไป
(งูถูกหมองูบังคับ ตอบหมองูแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๙] พิษที่คายออกแล้วนั้น น่าขยะแขยงเหลือเกิน
เราตายเสียยังดีกว่าการที่เราจะต้องดูดพิษ
ที่คายออกแล้วกลับคืนมาเพราะเหตุมีชีวิต
วิสวันตชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. กุททาลชาดก (๗๐)
ว่าด้วยกุททาลบัณฑิต
(ฤๅษีโพธิสัตว์ชื่อกุททาลบัณฑิตแสดงธรรมโปรดพระราชาว่า)
[๗๐] ความชนะใดที่บุคคลชนะแล้วกลับแพ้อีก
ความชนะนั้นไม่เป็นการชนะที่ดีเลย
ส่วนความชนะใดที่บุคคลชนะแล้วไม่กลับแพ้อีก
ความชนะนั้นเป็นการชนะที่ดี
กุททาลชาดกที่ ๑๐ จบ
อิตถีวรรคที่ ๗ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสาตมันตชาดก ๒. อัณฑภูตชาดก
๓. ตักกปัณฑิตชาดก ๔. ทุราชานชาดก
๕. อนภิรติชาดก ๖. มุทุลักขณชาดก
๗. อุจฉังคชาดก ๘. สาเกตชาดก
๙. วิสวันตชาดก ๑๐. กุททาลชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๘. วรุณวรรค ๓. สัจจังกิรชาดก (๗๓)
๘. วรุณวรรค
หมวดว่าด้วยไม้กุ่ม
๑. วรุณชาดก (๗๑)
ว่าด้วยมาณพหักไม้กุ่ม
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้ฟังการงานที่มาณพกระทำ จึงบอก
ถึงเหตุแห่งความเสื่อมว่า)
[๗๑] งานซึ่งควรทำก่อนเขาทำทีหลัง
เขาจะเดือดร้อนในภายหลัง เหมือนมาณพหักไม้กุ่ม
วรุณชาดกที่ ๑ จบ

๒. สีลวนาคชาดก (๗๒)
ว่าด้วยพญาช้างสีลวะ
(รุกขเทวดาสถิตอยู่ในไพรสณฑ์นั้นในเวลาที่คนชั่วถูกแผ่นดินสูบจึงกล่าวว่า)
[๗๒] คนอกตัญญูคอยจับผิดอยู่เป็นนิตย์
ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด ก็ทำให้เขาพึงพอใจไม่ได้
สีลวนาคชาดกที่ ๒ จบ

๓. สัจจังกิรชาดก (๗๓)
ว่าด้วยความจริงที่ได้ยินมา
(พระฤๅษีโพธิสัตว์ไม่คร่ำครวญไม่สะทกสะท้านในที่ตนถูกตีจึงกล่าวว่า)
[๗๓] ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้
ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า
ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย
สัจจังกิรชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๘. วรุณวรรค ๖. อสังกิยชาดก (๗๖)
๔. รุกขธัมมชาดก (๗๔)
ว่าด้วยธรรมสำหรับต้นไม้
(พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่เหล่าเทวดาว่า)
[๗๔] ญาติยิ่งมีมากยิ่งดี
แม้ต้นไม้ที่เกิดในป่ายิ่งมีมากก็ยิ่งดี
ต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่โดดเดี่ยว
ถึงจะใหญ่โต ลมย่อมพัดให้หักโค่นได้
รุกขธัมมชาดกที่ ๔ จบ

๕. มัจฉชาดก (๗๕)
ว่าด้วยปลาอ้อนวอนขอฝน
(ปลาโพธิสัตว์เรียกพระเจ้าปัชชุนนเทพว่า)
[๗๕] ปัชชุนนเทพ ท่านจงร้องคำรามให้ฝนตกมา
ทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกา ทำฝูงกาให้ได้รับความเศร้าโศก
และช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าและหมู่ญาติ
ให้พ้นจากความเศร้าโศกเถิด
มัจฉชาดกที่ ๕ จบ

๖. อสังกิยชาดก (๗๖)
ว่าด้วยความไม่หวาดระแวง
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พวกพ่อค้าเกวียนว่า)
[๗๖] เราไม่มีความหวาดระแวงในหมู่บ้าน
ทั้งไม่มีความกลัวในป่า
เรามุ่งขึ้นสู่ทางตรงด้วยเมตตาและกรุณา
อสังกิยชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๘. วรุณวรรค ๙. ขรัสสรชาดก (๗๙)
๗. มหาสุปินชาดก (๗๗)
ว่าด้วยมหาสุบิน
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสเล่าพระสุบินให้ดาบสโพธิสัตว์ฟังตามที่ได้ทรงสุบินว่า)
[๗๗] พญาโคอุสภะ หมู่ไม้ แม่โค โคผู้
ม้า ถาดทองคำ สุนัขจิ้งจอก หม้อน้ำ
สระโบกขรณี ข้าวไม่สุก แก่นจันทน์
น้ำเต้าจมน้ำ หินลอยน้ำ กบกลืนกินงูเห่า
หงส์ทองทั้งหลายแวดล้อมกา
เสือเหลืองกลัวแพะ
ความฝันเป็นไปโดยวิปริต
แต่ความฝันนั้นยังไม่เป็นจริงในยุคนี้
มหาสุปินชาดกที่ ๗ จบ

๘. อิลลิสชาดก (๗๘)
ว่าด้วยอิลลีสเศรษฐี
(ช่างตัดผมโพธิสัตว์ถูกพระราชาตรัสสั่งให้หาอิลลีสเศรษฐี เมื่อไม่สามารถจะ
นำอิลลีสเศรษฐีมาได้ จึงกราบทูลว่า)
[๗๘] คนทั้ง ๒ เป็นคนกระจอก เป็นคนง่อยเปลี้ย
เป็นคนตาเหล่ มีปมงอกที่ศีรษะ
ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักว่า คนไหนคืออิลลีสเศรษฐี
อิลลิสชาดกที่ ๘ จบ

๙. ขรัสสรชาดก (๗๙)
ว่าด้วยเสียงดังอึกทึกครึกโครม
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้ตำหนิกำนันผู้ร่วมมือกับพวกโจรปล้นชาวบ้านว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๘. วรุณวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
[๗๙] คราวใด ชาวบ้านถูกปล้น ฝูงโคถูกเชือด
บ้านเรือนถูกเผาวอดวาย ผู้คนถูกเกณฑ์ไป
คราวนั้น ลูกที่ถูกแม่ทอดทิ้ง๑
จึงมาตีกลองจนอึกทึกครึกโครม
ขรัสสรชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. ภีมเสนชาดก (๘๐)
ว่าด้วยท่านภีมเสนชอบคุยโวโอ้อวด
(จูฬธนุคคหบัณฑิตโพธิสัตว์กล่าวตำหนิภีมเสนผู้คุยโวโอ้อวดว่า)
[๘๐] ภีมเสน คำที่ท่านข่มขู่คุยโวไว้ในตอนแรก
แต่ภายหลังท่านถึงกับปัสสาวะราด
คำคุยโวถึงการรบและความกระสับกระส่ายของท่าน
ทั้ง ๒ อย่างนี้ช่างไม่สมกันเลย
ภีมเสนชาดกที่ ๑๐ จบ
วรุณวรรคที่ ๘ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. วรุณชาดก ๒. สีลวนาคชาดก
๓. สัจจังกิรชาดก ๔. รุกขธัมมชาดก
๕. มัจฉชาดก ๖. อสังกิยชาดก
๗. มหาสุปินชาดก ๘. อิลลิสชาดก
๙. ขรัสสรชาดก ๑๐. ภีมเสนชาดก

เชิงอรรถ :
๑ ลูกที่ถูกแม่ทอดทิ้ง หมายถึงลูกที่ทำชั่ว เป็นคนหน้าด้าน เพราะขาดหิริโอตตัปปะ ชื่อว่าไม่มีแม่ ถึงแม่
ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นลูก(ถูกตัดแม่ตัดลูก) (ขุ.ชา.อ. ๒/๗๙/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๙. อปายิมหวรรค ๓. กาฬกัณณิชาดก (๘๓)
๙. อปายิมหวรรค
หมวดว่าด้วยการดื่มสุรา
๑. สุราปานชาดก (๘๑)
ว่าด้วยโทษของการดื่มสุรา
(เหล่าดาบสถูกพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นอาจารย์ถาม จึงบอกเรื่องที่พวกตนดื่มสุรา
เมาแล้วพากันฟ้อนรำขับร้องว่า)
[๘๑] พวกกระผมได้พากันดื่ม พากันฟ้อนรำ พากันขับร้องแล้ว
ก็พากันร้องไห้ เพราะดื่มสุราที่ทำให้สัญญาวิปริต๑
แต่ยังดีที่ไม่ได้กลายเป็นลิงให้เห็น
สุราปานชาดกที่ ๑ จบ

๒. มิตตวินทชาดก (๘๒)
ว่าด้วยนายมิตตวินทะถูกจักรหินบดขยี้
(เทพบุตรโพธิสัตว์เห็นนายมิตตวินทะตกนรกจึงกล่าวว่า)
[๘๒] ท่านล่วงเลยปราสาทแก้วผลึก
ปราสาทเงิน และปราสาทแก้วมณีไปแล้ว
มาถูกจักรหินบดขยี้อยู่
ท่านจักไม่พ้นจากจักรหินตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่
มิตตวินทชาดกที่ ๒ จบ

๓. กาฬกัณณิชาดก (๘๓)
ว่าด้วยมิตรชื่อกาฬกัณณี
(เศรษฐีโพธิสัตว์พูดทัดทานพวกคนที่ให้ไล่มิตรออกจากเรือนว่า)

เชิงอรรถ :
๑ สัญญาวิปริต หมายถึงความจำแปรปรวนจนลืมนึกถึงกิริยาอาการของตน (ขุ.ชา.อ. ๒/๘๑/๑๖๕-๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๙. อปายิมหวรรค ๕. กิมปักกชาดก (๘๕)
[๘๓] บุคคลชื่อว่าเป็นมิตรเพราะเดินร่วมกัน ๗ ก้าวเท่านั้น
ชื่อว่าเป็นสหายเพราะเดินร่วมกัน ๑๒ ก้าว
ชื่อว่าเป็นญาติเพราะอยู่ร่วมกัน ๑ เดือนหรือครึ่งเดือน
ชื่อว่าเสมอกับตนก็เพราะอยู่ร่วมกันยิ่งกว่านั้น
ข้าพเจ้านั้นจะพึงละทิ้งมิตรที่ชื่อกาฬกัณณีซึ่งสนิทสนมกันมานาน
เพราะเหตุแห่งความสุขส่วนตัวได้อย่างไร
กาฬกัณณิชาดกที่ ๓ จบ

๔. อัตถัสสทวารชาดก (๘๔)
ว่าด้วยช่องทางแห่งประโยชน์
(เศรษฐีโพธิสัตว์แก้ปัญหาของบุตรชายถามถึงช่องทางแห่งประโยชน์ว่า)
[๘๔] บุคคลควรปรารถนาลาภอย่างยิ่ง คือ
(๑) ความไม่มีโรค (๒) ศีล
(๓) การคล้อยตามความรู้ของท่านผู้ฉลาด (๔) การสดับตรับฟัง
(๕) การประพฤติสมควรแก่ธรรม (๖) ความที่จิตไม่หดหู่
คุณธรรม ๖ ประการนี้เป็นช่องทางหลักแห่งประโยชน์
อัตถัสสทวารชาดกที่ ๔ จบ

๕. กิมปักกชาดก (๘๕)
ว่าด้วยกามเปรียบเหมือนผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ
(พระศาสดาตรัสเปรียบการบริโภคกามคุณเหมือนการบริโภคผลไม้มีพิษแก่
กุลบุตรผู้บวชถวายชีวิตว่า)
[๘๕] บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่
ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น
เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะ๑ขจัดผู้บริโภค
กิมปักกชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิมปักกะ คือ ผลไม้มีพิษชนิดหนึ่งมีสีกลิ่นและรสน่ารับประทาน (ขุ.ชา.อ. ๒/๘๕/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๙. อปายิมหวรรค ๗. มังคลชาดก (๘๗)
๖. สีลวีมังสกชาดก (๘๖)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(พระโพธิสัตว์ครั้งเสวยพระชาติเป็นปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต สรรเสริญศีล
ว่า)
[๘๖] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม
ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่มีพิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่า ตนมีศีล
สีลวีมังสกชาดกที่ ๖ จบ

๗. มังคลชาดก (๘๗)
ว่าด้วยการถอนมงคล
(พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์ว่า)
[๘๗] ผู้ใดถอนทิฏฐิเรื่องมงคล
อุบาต๑ ความฝันและลักษณะได้แล้ว
ผู้นั้นล่วงพ้น
สิ่งอันเป็นมงคลและโทษทั้งปวง
ครอบงำกิเลสเป็นคู่ ๆ๒ และโยคะทั้ง ๒ ประการได้แล้ว
ไม่กลับมาเกิดอีก
มังคลชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุบาต ในที่นี้ หมายถึงมหาอุบาต ๕ ประการ คือ (๑) จันทคราส (ราหูอมพระจันทร์) (๒) สุริยคราส
(ราหูอมพระอาทิตย์) (๓) นักษัตรคราส (ราหูอมกลุ่มดาวหรือดวงชะตา) (๔) อุกกาบาต (๕) ราหู
จับลำขาว(ทางช้างเผือก)ในท้องฟ้า (ขุ.ชา.อ. ๒/๘๗/๑๘๑)
๒ กิเลสเป็นคู่ ๆ เช่น ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความตีเสมอเป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๒/๘๗/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๙. อปายิมหวรรค ๑๐. อกตัญญุชาดก (๙๐)
๘. สารัมภชาดก (๘๘)
ว่าด้วยโคชื่อสารัมภะ
(พระศาสดาตรัสสารัมภชาดกแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๘๘] บุคคลควรพูดคำที่ดีงามเท่านั้น
ไม่ควรพูดคำที่ชั่วหยาบเลย
การพูดคำที่ดีงามเป็นการดี
บุคคลย่อมเดือดร้อนเพราะพูดคำชั่วหยาบ
สารัมภชาดกที่ ๘ จบ

๙. กุหกชาดก (๘๙)
ว่าด้วยดาบสโกหก
(พระโพธิสัตว์ติเตียนดาบสโกหกว่า)
[๘๙] ถ้อยคำของท่านช่างไพเราะอ่อนหวานเสียนี่กระไร
ท่านรังเกียจกระทั่งหญ้าเส้นเดียว
แต่เมื่อขโมยทองคำไปตั้ง ๑๐๐ แท่ง กลับไม่รังเกียจเลย
กุหกชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. อกตัญ�ุชาดก (๙๐)
ว่าด้วยคนอกตัญ�ู
(เศรษฐีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทว่า)
[๙๐] ผู้ใดไม่รู้จักคุณความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นกระทำไว้ก่อน
ผู้นั้นเมื่อกิจการงานเกิดขึ้นในภายหลังย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้
อกตัญ�ุชาดกที่ ๑๐ จบ
อปายิมหวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ลิตตวรรค ๒. มหาสารชาดก (๙๒)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สุราปานชาดก ๒. มิตตวินทชาดก
๓. กาฬกัณณิชาดก ๔. อัตถัสสทวารชาดก
๕. กิมปักกชาดก ๖. สีลวีมังสกชาดก
๗. มังคลชาดก ๘. สารัมภชาดก
๙. กุหกชาดก ๑๐. อกตัญ�ุชาดก

๑๐. ลิตตวรรค
หมวดว่าด้วยลูกสกาเคลือบยาพิษ
๑. ลิตตชาดก (๙๑)
ว่าด้วยลูกสกาเคลือบยาพิษ
(นักสกาโพธิสัตว์เตือนนักเลงสกาโกงว่า)
[๙๑] บุรุษกลืนลูกสกาที่เคลือบยาพิษอย่างแรงกล้าก็ยังไม่รู้ตัว
เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป
พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าในภายหลัง
ลิตตชาดกที่ ๑ จบ

๒. มหาสารชาดก (๙๒)
ว่าด้วยต้องการคนที่เหมาะสมกับเหตุการณ์
(พระราชาทรงชมเชยพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอำมาตย์ว่า)
[๙๒] เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ
เมื่อถึงคราวปรึกษางานต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม
ยามมีข้าวน้ำต้องการผู้เป็นที่รัก
ยามเกิดปัญหาต้องการบัณฑิต
มหาสารชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ลิตตวรรค ๕. มหาสุทัสสนชาดก (๙๕)
๓. วิสสาสโภชนชาดก (๙๓)
ว่าด้วยภัยเกิดจากคนผู้คุ้นเคยกัน
(เศรษฐีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่บริษัทว่า)
[๙๓] บุคคลไม่ควรไว้วางใจในบุคคลที่ไม่คุ้นเคยกัน
แม้ในบุคคลที่คุ้นเคยกันก็ไม่พึงไว้วางใจ
ภัยย่อมมีมาจากบุคคลผู้คุ้นเคยกัน
เหมือนภัยจากแม่เนื้อมาถึงสีหะ
วิสสาสโภชนชาดกที่ ๓ จบ

๔. โลมหังสชาดก (๙๔)
ว่าด้วยการอยู่ในป่าที่น่าสะพรึงกลัว
(คาถานี้ได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่นักบวชชีเปลือยโพธิสัตว์ว่า)
[๙๔] เราเร่าร้อนแล้วเปียกชุ่มอยู่ในป่าอันน่าสะพรึงกลัวผู้เดียว
เปลือยกายไม่ได้ผิงไฟ เป็นมุนีขวนขวายในการแสวงหาพรหมจรรย์
โลมหังสชาดกที่ ๔ จบ

๕. มหาสุทัสสนชาดก (๙๕)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัศนะ
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงพระนามว่ามหาสุทัศนะเมื่อจะสอนสุภัททาเทวี จึงตรัส
คาถานี้ว่า)
[๙๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
การเข้าไปสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข
มหาสุทัสสนชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ลิตตวรรค ๘. กูฏวาณิชชาดก (๙๘)
๖. เตลปัตตชาดก (๙๖)
ว่าด้วยการรักษาจิตเหมือนการรักษาภาชนะน้ำมัน
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมาสาธก ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๙๖] บุคคลเมื่อปรารถนาจะไปสู่ทิศทางที่ยังไม่เคยไป
พึงตามรักษาจิตของตนด้วยสติ
เหมือนบุคคลประคับประคองภาชนะ
ที่มีน้ำมันเต็มเปี่ยมไม่ให้หก
เตลปัตตชาดกที่ ๖ จบ

๗. นามสิทธิชาดก (๙๗)
ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์เปรียบเทียบเรื่องที่นายปาปกะผู้เป็นศิษย์ต้องการ
เปลี่ยนชื่อเพราะเป็นอัปปมงคลที่เขาเห็นมาและกรรมที่เขาทำ จึงกล่าวคาถานี้ว่า)
[๙๗] เพราะเห็นคนชื่อเป็นได้ตายไป หญิงชื่อมีทรัพย์กลับตกยาก
และคนชื่อว่านักเดินทางแต่กลับหลงทางอยู่ในป่า
นายปาปกะจึงได้กลับมา
นามสิทธิชาดกที่ ๗ จบ

๘. กูฏวาณิชชาดก (๙๘)
ว่าด้วยพ่อค้าโกงถูกไฟคลอก
(บิดาของอติบัณฑิตถูกไฟเผาจึงทะลึ่งขึ้นข้างบน คว้ากิ่งไม้โหนแล้วกระโจนลง
ดิน พลางกล่าวว่า)
[๙๘] ธรรมดาบัณฑิต(คนฉลาด)เป็นคนดี
ส่วนคนชื่ออติบัณฑิต(แสนฉลาด)ไม่ดีเลย
เราถูกไฟคลอกหน่อยหนึ่ง เพราะบุตรของเราที่ชื่ออติบัณฑิต
กูฏวาณิชชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๐. ลิตตวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๙. ปโรสหัสสชาดก (๙๙)
ว่าด้วยคนมีปัญญาคนเดียวประเสริฐกว่าคนโง่ตั้ง ๑,๐๐๐
(ฤๅษีโพธิสัตว์ทราบเหตุที่พวกอันธพาลไม่เชื่อศิษย์หัวหน้า จึงกล่าวบรรยาย
อานุภาพของตนว่า)
[๙๙] บรรดาพวกที่มาประชุมกัน ๑,๐๐๐ กว่าคน
พวกเขาเป็นคนไม่มีปัญญา พึงคร่ำครวญตลอด ๑๐๐ ปี
คนมีปัญญารู้แจ้งเนื้อความที่เรากล่าวแล้ว
เพียงคนเดียวเท่านั้นยังประเสริฐกว่า
ปโรสหัสสชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. อสาตรูปชาดก (๑๐๐)
ว่าด้วยสิ่งที่ครอบงำคนขาดสติ
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมา ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๐๐] สิ่งที่ไม่น่ายินดีย่อมครอบงำคนประมาทด้วยอาการที่น่ายินดี
สิ่งที่ไม่น่ารักย่อมครอบงำคนประมาทด้วยอาการที่น่ารัก
สิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำคนที่ประมาทด้วยอาการแห่งความสุข
อสาตรูปชาดกที่ ๑๐ จบ
ลิตตวรรคที่ ๑๐ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ลิตตชาดก ๒. มหาสารชาดก
๓. วิสสาสโภชนชาดก ๔. โลมหังสชาดก
๕. มหาสุทัสสนชาดก ๖. เตลปัตตชาดก
๗. นามสิทธิชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก
๙. ปโรสหัสสชาดก ๑๐. อสาตรูปชาดก
มัชฌิมปัณณาสก์ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. ปโรสตวรรค ๓. เวริชาดก (๑๐๓)
๑๑. ปโรสตวรรค
หมวดว่าด้วยคนเกินร้อย
๑. ปโรสตชาดก (๑๐๑)
ว่าด้วยคนมีปัญญาคนเดียวประเสริฐกว่าคนไม่มีปัญญา ๑๐๐ กว่าคน
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมา ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๐๑] บรรดาพวกที่มาประชุมกัน ๑๐๐ กว่าคน
พวกเขาเป็นคนไม่มีปัญญา ถึงจะเพ่งพินิจอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี
คนมีปัญญารู้แจ้งเนื้อความที่เรากล่าวแล้ว
เพียงคนเดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า
ปโรสตชาดกที่ ๑ จบ

๒. ปัณณิกชาดก (๑๐๒)
ว่าด้วยอุบาสกชื่อปัณณิกะ
(ลูกสาวของอุบาสกชาวกรุงพาราณสีพอถูกบิดาจับมือเพื่อลองใจก็ร่ำไห้ พลาง
กล่าวว่า)
[๑๐๒] ยามเมื่อฉันมีความทุกข์
คนที่เป็นที่พึ่งคือบิดาของฉันเอง แต่กลับประทุษร้ายฉันในป่า
ฉันจะคร่ำครวญหาใครเล่าในท่ามกลางป่า
คนที่จะช่วยเหลือฉันได้กลับทำกรรมที่น่าบัดสีเสียเอง
ปัณณิกชาดกที่ ๒ จบ

๓. เวริชาดก (๑๐๓)
ว่าด้วยการอยู่ร่วมกับคนเป็นคู่เวรกันเป็นทุกข์
(มหาเศรษฐีโพธิสัตว์หนีพวกโจรได้อย่างปลอดภัย จึงกล่าวอุทานว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. ปโรสตวรรค ๕. ทุพพลกัฏฐชาดก (๑๐๕)
[๑๐๓] บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตามย่อมอยู่เป็นทุกข์
เวริชาดกที่ ๓ จบ

๔. มิตตวินทชาดก (๑๐๔)
ว่าด้วยนายมิตตวินทะตกนรกเพราะความโลภ
(พระโพธิสัตว์เห็นนายมิตตวินทะตกนรก จึงกล่าวพระคาถานี้ว่า)
[๑๐๔] ท่านเมื่อมีความปรารถนามากเกินไป
ได้ครอบครองนารี ๔ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๔
ได้ครอบครองนารี ๘ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๘
ได้ครอบครองนารี ๑๖ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๑๖
ได้ครอบครองนารี ๓๒ นาง ไม่พอใจนางทั้ง ๓๒
จึงได้ประสบจักร
จักรจึงพัดผันอยู่ที่ศีรษะของท่าน
ผู้ถูกความปรารถนามากเกินไปขจัดแล้ว
มิตตวินทชาดกที่ ๔ จบ

๕. ทุพพลกัฏฐชาดก (๑๐๕)
ว่าด้วยช้างกลัวต้นไม้แห้ง
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์เห็นช้างกลัวตายได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แห้งก็วิ่งหนี จึง
กล่าวว่า)
[๑๐๕] ลมพัดต้นไม้แห้งที่ผุกร่อนในป่าให้หักลงเป็นจำนวนมาก
นี่ช้าง ถ้าเธอยังมัวแต่กลัวต้นไม้แห้งนั้น
ก็จักซูบผอมเป็นแน่
ทุพพลกัฏฐชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. ปโรสตวรรค ๘. พาหิยชาดก (๑๐๘)
๖. อุทัญจนีชาดก (๑๐๖)
ว่าด้วยนางอุทัญจนี
(ดาบสผู้เป็นบุตรของพระโพธิสัตว์อดทนต่อการเคี่ยวเข็ญของนางอุทัญจนีไม่
ไหวหนีไปหาบิดาแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๐๖] นางโจรชื่ออุทัญจนีเบียดเบียนข้าพเจ้า
ผู้อยู่อย่างสบายให้เดือดร้อน
เพราะเรียกตนเองว่าเป็นภรรยาจึงร้องขอน้ำมันและเกลือ
อุทัญจนีชาดกที่ ๖ จบ

๗. สาลิตตกชาดก (๑๐๗)
ว่าด้วยศิลปะในการดีดก้อนกรวด
(อำมาตย์โพธิสัตว์เข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลลาไปเรียนศิลปะว่า)
[๑๐๗] ขึ้นชื่อว่าศิลปะแม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง
ก็สามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้โดยแท้
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรหมู่บ้านในทิศทั้ง ๔
ที่คนง่อยได้แล้วเพราะการดีดมูลแพะ
สาลิตตกชาดกที่ ๗ จบ

๘. พาหิยชาดก (๑๐๘)
ว่าด้วยศิลปะของหญิงสาวบ้านนอก
(พระโพธิสัตว์กราบทูลคุณค่าแห่งศิลปะที่ควรศึกษาว่า)
[๑๐๘] บุคคลควรศึกษาศิลปะทั้งหลายที่ควรศึกษา
ชนทั้งหลายที่พอใจในศิลปะเหล่านั้นยังมีอยู่
เพราะว่าหญิงสาวบ้านนอกก็ยังทำพระราชาให้พอพระทัย
ด้วยความเอียงอายของเธอ
พาหิยชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๑. ปโรสตวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๙. กุณฑปูวชาดก (๑๐๙)
ว่าด้วยเทวดากินพลีกรรมที่ทำจากรำข้าว
(เทวดาโพธิสัตว์สถิตเหนือค่าคบไม้พูดกับคนยากจนคนหนึ่งผู้มาทำพลีกรรมว่า)
[๑๐๙] คนบริโภคอย่างไร เทวดาของเขาก็บริโภคอย่างนั้น
ท่านจงนำขนมที่ทำด้วยรำข้าวมา
อย่าให้ส่วนของข้าพเจ้าเสียหายเลย
กุณฑปูวชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สัพพสังหารกปัญหชาดก (๑๑๐)
ว่าด้วยการพูดของหญิง ๒ ประเภท
(พระโพธิสัตว์ขัดสีเครื่องประดับอยู่เมื่อรู้ว่าดอกประยงค์บานแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๑๐] กลิ่นเครื่องอบทั้งปวงไม่มี
มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วน ๆ ฟุ้งไป
หญิงนักเลงคนนี้พูดแต่คำเหลาะแหละ
ส่วนหญิงผู้ใหญ่พูดแต่คำสัตย์
สัพพสังหารกปัญหชาดกที่ ๑๐ จบ
ปโรสตวรรคที่ ๑๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปโรสตชาดก ๒. ปัณณิกชาดก
๓. เวริชาดก ๔. มิตตวินทชาดก
๕. ทุพพลกัฏฐชาดก ๖. อุทัญจนีชาดก
๗. สาลิตตกชาดก ๘. พาหิยชาดก
๙. กุณฑปูวชาดก ๑๐. สัพพสังหารกปัญหชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. หังสิวรรค ๕. อนุสาสิกชาดก (๑๑๕)
๑๒. หังสิวรรค
หมวดว่าด้วยการเยาะเย้ย
๑. คัทรภปัญหชาดก (๑๑๑)
ว่าด้วยปัญหาเรื่องลากับม้าอัสดร
(พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๑๑] ขอเดชะ พระมหาราชผู้ประเสริฐ
ถ้าพระองค์ทรงสำคัญว่าบิดาประเสริฐกว่าบุตร
ลาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร
เพราะว่า ลาเป็นพ่อม้าอัสดรของพระองค์
คัทรภปัญหชาดกที่ ๑ จบ

๒. อมราเทวีปัญหชาดก (๑๑๒)
ว่าด้วยพระนางอมราเทวี
(พระนางอมราเทวีบอกใบ้ทางไปบ้านแก่พระโพธิสัตว์มโหสธบัณฑิตว่า)
[๑๑๒] ร้านขายข้าวสัตตุ ร้านขายน้ำส้มสายชู
และต้นทองหลางใบซ้อนที่มีดอกบานสะพรั่งมีอยู่ ณ ที่ใด
ท่านจงไป ณ ที่นั้น
ดิฉันถือภาชนะข้าวยาคูด้วยมือใด ดิฉันบอกทางด้วยมือนั้น
ไม่ได้ถือภาชนะข้าวยาคูด้วยมือใด ไม่ได้บอกทางด้วยมือนั้น
หนทางนั้นเป็นหนทางไปสู่บ้านของดิฉัน
ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านอุตตรยวมัชฌคาม
ขอท่านจงทราบหนทางที่ดิฉันกล่าวเป็นปริศนานั้นเองเถิด
อมราเทวีปัญหชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. หังสิวรรค ๕. อนุสาสิกชาดก (๑๑๕)
๓. สิงคาลชาดก (๑๑๓)
ว่าด้วยพราหมณ์เชื่อสุนัขจิ้งจอก
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์ยืนอยู่ที่ค่าคบต้นไม้แล้วกล่าวว่า)
[๑๑๓] นี่พ่อพราหมณ์ ท่านเชื่อสุนัขจิ้งจอกที่ดื่มสุราหรือ
คนมีศิลปะหาสัก ๑๐๐ กหาปณะยังไม่มี
สุนัขจิ้งจอกที่ไหนจะมีถึง ๒๐๐ กหาปณะเล่า
สิงคาลชาดกที่ ๓ จบ

๔. มิตจินติชาดก (๑๑๔)
ว่าด้วยปลามิตจินตีช่วยปลาให้พ้นข่าย
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องอดีตมา ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๑๔] ปลาชื่อพหุจินตีและปลาชื่ออัปปจินตี
ทั้ง ๒ ตัวติดอยู่ในข่าย
ปลาชื่อมิตจินตีได้ช่วยให้หลุดพ้นจากข่าย
ปลาทั้ง ๒ ตัวจึงได้มาพร้อมกันกับปลามิตจินตีในน่านน้ำนั้น
มิตจินติชาดกที่ ๔ จบ

๕. อนุสาสิกชาดก (๑๑๕)
ว่าด้วยดีแต่สอนคนอื่น
(หัวหน้านกโพธิสัตว์กล่าวตำหนินางนกป่าว่า)
[๑๑๕] นางนกป่าชื่ออนุสาสิกา
พร่ำสอนนกเหล่าอื่นอยู่เนืองนิตย์
แต่ตนเองกลับโลภจัด
จึงถูกล้อรถบดขยี้ขาดเป็น ๒ ท่อนนอนอยู่ที่หนทางใหญ่
อนุสาสิกชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. หังสิวรรค ๘. วัฏฏกชาดก (๑๑๘)
๖. ทุพพจชาดก (๑๑๖)
ว่าด้วยคนที่ว่ากล่าวได้ยาก
(นักระบำโพธิสัตว์กล่าวกับอาจารย์ผู้ไม่เชื่อคำของบัณฑิตว่า)
[๑๑๖] ท่านอาจารย์ ท่านทำการเกินกว่าที่จะทำได้
การกระทำนั้นไม่เป็นที่พอใจผมเลย
ท่านกระโดดข้ามพ้นหอกเล่มที่ ๔ ได้แล้ว
ถูกหอกเล่มที่ ๕ ทิ่มแทง
ทุพพจชาดกที่ ๖ จบ

๗. ติตติรชาดก (๑๑๗)
ว่าด้วยนกกระทา
(ดาบสโพธิสัตว์ชี้เหตุ ๒ ประการที่ทำให้นกกระทาถูกฆ่าว่า)
[๑๑๗] คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา
ย่อมฆ่าคนมีปัญญาทราม
เหมือนเสียงฆ่านกกระทาที่ขันดังเกินไป
ติตติรชาดกที่ ๗ จบ

๘. วัฏฏกชาดก (๑๑๘)
ว่าด้วยนกกระจาบ
(นกกระจาบโพธิสัตว์บอกอุบายที่รอดชีวิตมาได้ว่า)
[๑๑๘] คนเมื่อไม่คิดก็ไม่ได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ
ท่านจงดูผลกรรมที่เราคิดแล้ว
เราพ้นแล้วจากการถูกฆ่า
และการจองจำด้วยอุบายนั้น
วัฏฏกชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๒. หังสิวรรค ๑๐. พันธนโมกขชาดก (๑๒๐)
๙. อกาลราวิชาดก (๑๑๙)
ว่าด้วยไก่ที่ขันไม่ถูกเวลา
(ปุโรหิตโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๑๙] ไก่ตัวนี้มิได้เจริญเติบโตอยู่กับพ่อแม่
มิได้อยู่ศึกษาในสำนักของอาจารย์
จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน
อกาลราวิชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. พันธนโมกขชาดก (๑๒๐)
ว่าด้วยการหลุดพ้นจากเครื่องจองจำ
(ปุโรหิตโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๐] สถานที่ที่คนพาลเอ่ยปากขึ้น
คนที่ไม่ควรถูกจองจำก็ถูกจองจำ
สถานที่ที่นักปราชญ์เอ่ยปากขึ้น
แม้คนที่ถูกจองจำก็รอดพ้น
พันธนโมกขชาดกที่ ๑๐ จบ
หังสิวรรคที่ ๑๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. คัทรภปัญหชาดก ๒. อมราเทวีปัญหชาดก
๓. สิงคาลชาดก ๔. มิตจินติชาดก
๕. อนุสาสิกชาดก ๖. ทุพพจชาดก
๗. ติตติรชาดก ๘. วัฏฏกชาดก
๙. อกาลราวิชาดก ๑๐. พันธนโมกขชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๓. นังคลีสชาดก (๑๒๓)
๑๓. กุสนาฬิวรรค
หมวดว่าด้วยกอหญ้า
๑. กุสนาฬิชาดก (๑๒๑)
ว่าด้วยเทวดาที่ต้นรุจาผูกมิตรกับเทวดาที่กอหญ้า
(รุกขเทวดาสรรเสริญมิตตธรรมของพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๑] บุคคลเสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน
หรือเลวกว่ากันก็ตาม ก็ควรทำมิตรไมตรีกันไว้
เพราะว่า มิตรเหล่านั้นเมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น
ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้
เหมือนเราผู้เป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ต้นรุจา
กับเทวดาผู้สถิตอยู่ที่กอหญ้าทำมิตรไมตรีกัน
กุสนาฬิชาดกที่ ๑ จบ

๒. ทุมเมธชาดก (๑๒๒)
ว่าด้วยคนมีปัญญาทราม
(นายควาญช้างกราบทูลพระราชาว่า)
[๑๒๒] คนมีปัญญาทรามได้ยศแล้ว
ประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
ปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ทุมเมธชาดกที่ ๒ จบ

๓. นังคลีสชาดก (๑๒๓)
ว่าด้วยคนโง่สำคัญนมส้มว่าเหมือนงอนไถ
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์คิดถึงเหตุที่ไม่อาจให้คนมีปัญญาอ่อนศึกษาได้ จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๕. กฏาหกชาดก (๑๒๕)
[๑๒๓] คนโง่กล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว
ในเหตุการณ์ทุกอย่าง ในที่ทุกสถาน
เขาไม่รู้จักนมส้มและงอนไถ
สำคัญนมส้มและนมสดว่าเหมือนงอนไถ
นังคลีสชาดกที่ ๓ จบ

๔. อัมพชาดก (๑๒๔)
ว่าด้วยดาบสฉันมะม่วง
(ฤๅษีโพธิสัตว์ได้เห็นเหตุที่ดาบส ๕๐๐ อาศัยดาบสผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรเป็นอยู่
จึงกล่าวว่า)
[๑๒๔] คนฉลาดควรพยายามร่ำไป
ไม่ควรเบื่อหน่าย
ท่านจงดูผลแห่งความพยายาม
ผลไม้มีมะม่วงเป็นต้นที่พวกฤาษีได้ฉัน
โดยมิได้ออกปากเนือง ๆ
อัมพชาดกที่ ๔ จบ

๕. กฏาหกชาดก (๑๒๕)
ว่าด้วยทาสชื่อกฏาหกะ
(ธิดาเศรษฐีกล่าวคาถานี้โดยทำนองที่เรียนมาในสำนักพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๒๕] บุคคลไปยังชนบทอื่นแล้ว
กล่าวข่มขู่โอ้อวดไว้มากมาย
เจ้ากฏาหกะ นายของเจ้าจะติดตามมาประทุษร้าย
เจ้าจงใช้สอยสมบัติเถิด
กฏาหกชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๘. พิฬารวตชาดก (๑๒๘)
๖. อสิลักขณชาดก (๑๒๖)
ว่าด้วยผู้รู้ลักษณะดาบ
(พระราชาทรงพระสรวลต่อพราหมณ์ ได้ตรัสบอกเหตุที่พระองค์ทรงจามแล้ว
ได้พระราชธิดาและได้ราชสมบัติว่า)
[๑๒๖] เหตุการณ์อย่างเดียวกันนั้นนั่นแหละเป็นผลดีแก่คนหนึ่ง
แต่กลับเป็นผลร้ายแก่อีกคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เหตุการณ์อย่างเดียวกันนั้นนั่นแหละ
มิใช่จะเป็นผลดีไปทั้งหมด หรือมิใช่จะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด
อสิลักขณชาดกที่ ๖ จบ

๗. กลัณฑุกชาดก (๑๒๗)
ว่าด้วยชาติกำเนิดของนายกลัณฑุกะ
(ลูกนกแขกเต้าโพธิสัตว์กล่าวเตือนทาสกลัณฑุกะว่า)
[๑๒๗] เราเที่ยวอยู่ในป่ายังรู้ชาติกำเนิดของเจ้าได้
นายของเจ้าทราบแน่ชัดแล้วต้องจับเจ้าไป
เจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มนมสดเสียเถิด
กลัณฑุกชาดกที่ ๗ จบ

๘. พิฬารวตชาดก (๑๒๘)
ว่าด้วยวัตรของแมว
(พญาหนูโพธิสัตว์กล่าวตำหนิสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๒๘] ผู้ใดกล่าวเชิดชูธรรมให้เป็นธงชัย
ล่อลวงให้เหล่าสัตว์ตายใจแล้วซ่อนตนประพฤติชั่ว
ความประพฤติของผู้นั้นชื่อว่าเป็นความประพฤติของแมว
พิฬารวตชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๓. กุสนาฬิวรรค ๑๐. โกสิยชาดก (๑๓๐)
๙. อัคคิกชาดก (๑๒๙)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชื่ออัคคิกะ
(พญาหนูโพธิสัตว์กล่าวติเตียนสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๒๙] ปอยผมนี้มิได้มีไว้เพราะเหตุแห่งบุญ
มีไว้เพราะเป็นเลสอ้างเพื่อการหากิน
หมู่หนูมีไม่ครบตามจำนวนหาง
อัคคิกะ พอกันทีเถิดสำหรับท่าน
อัคคิกชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. โกสิยชาดก (๑๓๐)
ว่าด้วยนางพราหมณีชื่อโกสิยา
(มาณพกล่าวเตือนนางพราหมณีว่า)
[๑๓๐] นี่นางโกสิยา เธอจงกินยาให้สมกับที่อ้างว่าป่วย
และจงพูดให้สมกับอาหารที่กินเข้าไป
คำพูดกับอาหารที่เธอกินทั้ง ๒ อย่างไม่สมกันเลย
โกสิยชาดกที่ ๑๐ จบ
กุสนาฬิวรรคที่ ๑๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กุสนาฬิชาดก ๒. ทุมเมธชาดก
๓. นังคลีสชาดก ๔. อัมพชาดก
๕. กฏาหกชาดก ๖. อสิลักขณชาดก
๗. กลัณฑุกชาดก ๘. พิฬารวตชาดก
๙. อัคคิกชาดก ๑๐. โกสิยชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๓. ฆตาสนชาดก (๑๓๓)
๑๔. อสัมปทานวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่รับสิ่งของ
๑. อสัมปทานชาดก (๑๓๑)
ว่าด้วยการไม่รับสิ่งของทำให้เกิดการแตกร้าว
(สังขเศรษฐีโพธิสัตว์กล่าวกับภรรยาผู้ร้องไห้อยู่ว่า)
[๑๓๑] มิตรไมตรีของผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนพาล
ย่อมเป็นโทษเพราะการไม่รับสิ่งของ
เพราะฉะนั้น พี่จึงนำข้าวลีบครึ่งมานะ๑มาด้วยคิดว่า
มิตรไมตรีของเราอย่าได้แตกร้าวเลย
ขอมิตรไมตรีของเรานี้จงยั่งยืนต่อไป
อสัมปทานชาดกที่ ๑ จบ

๒. ปัญจภีรุกชาดก (๑๓๒)
ว่าด้วยความไม่หวาดสะดุ้งกลัว
(พระโพธิสัตว์คิดถึงเหตุการณ์ที่ตนรอดพ้นจากนางยักษิณี จึงเปล่งอุทานว่า)
[๑๓๒] เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของพวกรากษส
เพราะความเพียรอันมั่นคงในคำแนะนำของท่านผู้ฉลาด
และเพราะความไม่หวาดหวั่นต่อภัยและความสะดุ้งกลัว
ความสวัสดีจากภัยอันใหญ่หลวงนั้นจึงมีแก่เรา
ปัญจภีรุกชาดกที่ ๒ จบ

๓. ฆตาสนชาดก (๑๓๓)
ว่าด้วยภัยเกิดจากที่พึ่ง
(พญานกโพธิสัตว์เห็นเปลวเพลิงลุกโพลงจากน้ำ จึงชวนพวกนกไปอยู่ที่อื่นว่า)

เชิงอรรถ :
๑ มานะ คือมาตราตวงสมัยโบราณ ได้แก่ ๑ มานะ เท่ากับ ๘ ทะนาน ฉะนั้นครึ่งมานะจึงเท่ากับ ๔ ทะนาน
(ขุ.ชา.อ. ๒/๑๓๑/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๕. จันทาภชาดก (๑๓๕)
[๑๓๓] ความเกษมสำราญมีอยู่บนหลังผิวน้ำใด
บนหลังผิวน้ำนั้นมีศัตรูเกิดขึ้น ไฟลุกโพลงอยู่ท่ามกลางน้ำ
วันนี้ จะอยู่บนต้นไม้ซึ่งเกิดที่พื้นดินไม่ได้อีก
พวกเจ้าจงพากันบินไปยังทิศต่าง ๆ เถิด
วันนี้ ที่พึ่งของพวกเรามีภัยเกิดขึ้นแล้ว
ฆตาสนชาดกที่ ๓ จบ

๔. ฌานโสธนชาดก (๑๓๔)
ว่าด้วยสุขเกิดแต่ฌาน
(พระโพธิสัตว์มาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสรพรหมอยู่ในอากาศแล้วกล่าวว่า)
[๑๓๔] สัตว์เหล่าใดมีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคคตสัตว์๑
สัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญา แม้สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นทุคคตสัตว์
พวกท่านจงละเว้นสัญญีภพและอสัญญีภพทั้ง ๒ อย่างนั้นเสีย
ความสุขอันเกิดจากสมาบัตินั้น
เป็นความสุขที่ไม่มีกิเลสเครื่องยวนใจ
ฌานโสธนชาดกที่ ๔ จบ

๕. จันทาภชาดก (๑๓๕)
ว่าด้วยผู้เจริญแสงจันทร์เป็นอารมณ์
(พระโพธิสัตว์มาจากพรหมโลกชั้นอาภัสสรพรหมอยู่ในอากาศแล้วกล่าวว่า)
[๑๓๕] บุคคลใดในโลกนี้หยั่งถึงกสิณมีแสงจันทร์
และแสงอาทิตย์เป็นอารมณ์ด้วยปัญญา
บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงอาภัสสรพรหมได้ด้วยฌานอันไม่มีวิตก
จันทาภชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทุคคตสัตว์ หมายถึงหมู่สัตว์ที่มีจิตทั้งหมด เว้นท่านผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (ฌานที่มีสัญญาก็
มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่) เพราะยังไม่ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (ขุ.ชา.อ. ๒/๑๓๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๘. โคธชาดก (๑๓๘
๖. สุวัณณหังสชาดก (๑๓๖)
ว่าด้วยพญาหงส์ทองถูกถอนขน
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมาตรัสสอนถุลลนันทาภิกษุณีผู้มักมากแล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๓๖] บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น
เพราะความโลภเกินไปเป็นความชั่วแท้
นางพราหมณีจับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ
สุวัณณหังสชาดกที่ ๖ จบ

๗. พัพพุชาดก (๑๓๗)
ว่าด้วยวิธีทำให้แมวตาย
(พระศาสดาทรงประมวลเรื่องในอดีตมา ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๓๗] แมวตัวหนึ่งได้หนูหรือเนื้อในที่ใด
แมวตัวที่ ๒ ตัวที่ ๓ และตัวที่ ๔ ก็เกิดในที่นั้น
แมวเหล่านั้นเอาอกกระแทกปล่องแก้วผลึกนี้แล้วสิ้นชีวิต
พัพพุชาดกที่ ๗ จบ

๘. โคธชาดก (๑๓๘)
ว่าด้วยพญาเหี้ย
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์ติเตียนดาบสว่า)
[๑๓๘] นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง
ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง
เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น
โคธชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๔. อสัมปทานวรรค ๑๐. กากชาดก (๑๔๐)
๙. อุภโตภัฏฐชาดก (๑๓๙)
ว่าด้วยผู้เสื่อมประโยชน์ทั้ง ๒ ด้าน
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์กล่าวติเตียนนายพรานเบ็ดว่า)
[๑๓๙] ตาของเจ้าก็แตกทั้ง ๒ ข้าง ผ้านุ่งก็หาย
ภรรยาของเจ้าก็ทะเลาะกับเพื่อนบ้านแล้ว
การงานทั้งทางน้ำและทางบกก็เสียหายทั้ง ๒ ด้าน
อุภโตภัฏฐชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. กากชาดก (๑๔๐)
ว่าด้วยกาไม่มีมันเหลว
(กาโพธิสัตว์แสดงธรรมว่า)
[๑๔๐] กาทั้งหลายมีใจหวาดผวาอยู่เป็นนิตย์
มีปกติเบียดเบียนชาวโลกทั้งมวล
เพราะฉะนั้น มันเหลวของกาทั้งหลาย
ผู้เป็นญาติของข้าพเจ้าจึงไม่มี
กากชาดกที่ ๑๐ จบ
อสัมปทานวรรคที่ ๑๔ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อสัมปทานชาดก ๒. ปัญจภีรุกชาดก
๓. ฆตาสนชาดก ๔. ฌานโสธนชาดก
๕. จันทาภชาดก ๖. สุวัณณหังสชาดก
๗. พัพพุชาดก ๘. โคธชาดก
๙. อุภโตภัฏฐชาดก ๑๐. กากชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๓. วิโรจนชาดก (๑๔๓)
๑๕. กกัณฏกวรรค
หมวดว่าด้วยกิ้งก่า
๑. โคธชาดก (๑๔๑)
ว่าด้วยตระกูลเหี้ยประสบความพินาศ
(พญาเหี้ยโพธิสัตว์เมื่อจะหนีไปทางปล่องลม จึงกล่าวว่า)
[๑๔๑] บุคคลคบหาคนชั่วย่อมไม่ประสบความสุขเลย
เหมือนตระกูลเหี้ยทำตนเองให้ประสบความวอดวายเพราะกิ้งก่า
โคธชาดกที่ ๑ จบ

๒. สิงคาลชาดก (๑๔๒)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์
(สุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์กล่าวติเตียนนักเลงว่า)
[๑๔๒] เหตุที่ท่านนอนลวงเหมือนคนตายนั้นรู้ได้ยาก
ไม้พลองของท่านเมื่อข้าพเจ้าคาบที่ปลายลากมาก็ไม่หลุดจากมือ
สิงคาลชาดกที่ ๒ จบ

๓. วิโรจนชาดก (๑๔๓)
ว่าด้วยคนถูกเยาะเย้ยว่ารุ่งเรือง
(พญาไกรสรราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวกะสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๔๓] มันสมองของเจ้าทะลักออกมา
กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย
ซี่โครงของเจ้าก็หักหมด
วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน
วิโรจนชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๖. กากชาดก (๑๔๖)
๔. นังคุฏฐชาดก (๑๔๔)
ว่าด้วยการบูชาไฟด้วยหางวัว
(พราหมณ์บำเรอไฟผู้เป็นโพธิสัตว์เข้าใจว่าการบูชาไฟไม่มีประโยชน์ จึงกล่าวว่า)
[๑๔๔] ไฟอสัตบุรุษ การที่เราบูชาเจ้าด้วยหางนั้นก็มากพอแล้ว
วันนี้ เนื้อไม่มีสำหรับเจ้าผู้ชอบเนื้อ
ขอท่านผู้เจริญจงรับเอาเพียงหางเถิด
นังคุฏฐชาดกที่ ๔ จบ

๕. ราธชาดก (๑๔๕)
ว่าด้วยลูกนกแขกเต้าราธะ
(นกแขกเต้าโพธิสัตว์ได้กล่าวเตือนน้องราธะว่า)
[๑๔๕] พ่อราธะ เจ้ายังไม่รู้ว่า
คนที่ยังไม่มาในปฐมยามมีประมาณเท่าไร
เจ้าพูดเพ้อเจ้ออย่างโง่ ๆ ไปเอง
ในเมื่อแม่โกสิยายนีหมดความเยื่อใยในบิดาของเราแล้ว
ราธชาดกที่ ๕ จบ

๖. กากชาดก (๑๔๖)
ว่าด้วยกาวิดน้ำด้วยจะงอยปาก
(ฝูงกาปรึกษากันแล้วพูดว่าไม่สามารถจะทำทะเลให้แห้งได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] คางของพวกเราล้าแล้วหนอ ปากก็ซีดเซียว
พวกเราพากันวิดอยู่ก็ไม่อาจทำให้น้ำแห้งได้
ห้วงน้ำใหญ่ก็ยังคงเต็มอยู่เช่นเดิม
กากชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค ๙. เอกปัณณชาดก (๑๔๙)
๗. ปุปผรัตตชาดก (๑๔๗)
ว่าด้วยผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ
(คนเข็ญใจไม่ใส่ใจถึงความทุกข์ของตน นึกถึงแต่หญิงคนรักนั้นอย่างเดียว
จึงรำพึงถึงโอกาสที่พลาดไปว่า)
[๑๔๗] การที่ถูกเสียบแทงด้วยหลาว
และการที่กาจิกข้าพเจ้านี้หาเป็นทุกข์แก่ข้าพเจ้าไม่
การที่นางเนื้อทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าที่ย้อมด้วยดอกคำ
เที่ยวงานตลอดคืนกลางเดือน ๑๒ โน้นซิเป็นทุกข์ของข้าพเจ้า
ปุปผรัตตชาดกที่ ๗ จบ

๘. สิงคาลชาดก (๑๔๘)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกเข้าไปในซากช้าง
(สุนัขจิ้งจอกโพธิสัตว์ติดอยู่ในท้องช้างตายเกิดความสังเวช จึงกล่าวว่า)
[๑๔๘] ไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว
เราจะไม่เข้าไปในซากช้างอีก
เพราะในเวลาที่เข้าไปอยู่ในซากช้างนี้ เรากลัวแทบตาย
สิงคาลชาดกที่ ๘ จบ

๙. เอกปัณณชาดก (๑๔๙)
ว่าด้วยต้นไม้มีด้านละใบ
(ทุฏฐราชกุมารเข้าใจต้นสะเดาว่าจะฆ่ามนุษย์ได้ จึงถอนหน่อสะเดาขยี้จน
แหลกแล้ว ตรัสว่า)
[๑๔๙] ต้นไม้นี้มีใบด้านละใบ จากพื้นดินสูงยังไม่ถึง ๔ องคุลี
ผลมีรสเช่นกับยาพิษ เมื่อโตขึ้นจะเป็นเช่นไรหนอ
เอกปัณณชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑. เอกกนิบาต] ๑๕. กกัณฏกวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๑๐. สัญชีวชาดก (๑๕๐)
ว่าด้วยสัญชีวมาณพตาย
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์เรียกมาณพมาเตือนว่า)
[๑๕๐] ผู้ใดยกย่องและคบหาคนชั่ว
คนชั่วย่อมกระทำผู้นั้นให้เป็นเหยื่อ
เหมือนเสือโคร่งที่สัญชีวมาณพทำให้ฟื้นขึ้น
แล้วทำสัญชีวมาณพให้เป็นเหยื่อ
สัญชีวชาดกที่ ๑๐ จบ กกัณฏกวรรคที่ ๑๕ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โคธชาดก ๒. สิงคาลชาดก
๓. วิโรจนชาดก ๔. นังคุฏฐชาดก
๕. ราธชาดก ๖. กากชาดก
๗. ปุปผรัตตชาดก ๘. สิงคาลชาดก
๙. เอกปัณณชาดก ๑๐. สัญชีวชาดก
อุปริปัณณาสก์ จบ

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ
๑. อปัณณกวรรค ๒. สีลวรรค
๓. กุรุงควรรค ๔. กุลาวกวรรค
๕. อัตถกามวรรค ๖. อาสิงสวรรค
๗. อิตถีวรรค ๘. วรุณวรรค
๙. อปายิมหวรรค ๑๐. ลิตตวรรค
๑๑. ปโรสตวรรค ๑๒. หังสิวรรค
๑๓. กุสนาฬิวรรค ๑๔. อสัมปทานวรรค
๑๕. กกัณฏกวรรค
ชาดกที่ประดับเอกกนิบาต จบ
เอกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๒. สิงคาลชาดก (๑๕๒)
๒. ทุกนิบาต
๑. ทัฬหวรรค
หมวดว่าด้วยความกระด้าง
๑. ราโชวาทชาดก (๑๕๑)
ว่าด้วยพระราโชวาท
(นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าวอวดพระเกียรติคุณพระราชาของตนว่า)
[๑] พระเจ้าพัลลิกะทรงขจัดคนกระด้างด้วยความกระด้าง
ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน
ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี
พระราชาองค์นี้เป็นเช่นนี้ นายสารถี
ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
(นายสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวพระเกียรติคุณพระราชาของตนว่า)
[๒] พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์
พระราชาองค์นี้เป็นเช่นนี้ นายสารถี
ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด
ราโชวาทชาดกที่ ๑ จบ

๒. สิงคาลชาดก (๑๕๒)
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้สุนัขจิ้งจอกตาย
(ราชสีห์โพธิสัตว์เห็นพี่ชายทั้ง ๖ ตาย จึงกล่าวว่า)
[๓] การงานเหล่านั้นย่อมทำบุคคลผู้มิได้พิจารณา
ทำด้วยความรีบร้อนให้เดือดร้อนเหมือนกลืนของร้อนเข้าไปในปาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๑. ทัฬหวรรค ๔. อุรคชาดก (๑๕๔)
(พระศาสดาตรัสเหตุที่สุนัขจิ้งจอกตายว่า)
[๔] ราชสีห์ได้บันลือสีหนาทไปทั่วภูเขาเงิน
สุนัขจิ้งจอกที่อาศัยอยู่ในภูเขาเงิน
ได้ยินเสียงกึกก้องของราชสีห์
เกิดความกลัวความสะดุ้งจนหัวใจแตกตาย
สิงคาลชาดกที่ ๒ จบ

๓. สูกรชาดก (๑๕๓)
ว่าด้วยสุกรท้าราชสีห์
(สุกรเมื่อจะท้าราชสีห์โพธิสัตว์ให้ต่อสู้กัน จึงกล่าวว่า)
[๕] นี่สหาย เราก็มี ๔ เท้า ถึงท่านก็มี ๔ เท้า
จงกลับมาก่อนสหาย ท่านกลัวหรือ จึงได้หนีไป
(ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวตอบว่า)
[๖] นี่เจ้าสุกรผู้สหาย เจ้ามีเนื้อตัวไม่สะอาด
ขนก็เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้งกระจายไป
ถ้าเจ้าต้องการจะสู้รบกับเรา เราขอยกชัยชนะให้เจ้า
สูกรชาดกที่ ๓ จบ

๔. อุรคชาดก (๑๕๔)
ว่าด้วยงูมีคุณธรรมสูง
(พญาครุฑเรียกพระโพธิสัตว์มาประกาศให้ทราบว่า จักจับพญานาควักกละกิน
จึงกล่าวว่า)
[๗] พญานาคผู้ประเสริฐกว่างูทั้งหลายต้องการจะพ้นจากข้าพเจ้า
จึงได้แปลงกายเป็นแก้วมณี เข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นี้
ก็ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงเพศอันประเสริฐของท่าน
ถึงจะหิวก็ไม่สามารถที่จะจับพญานาคตัวนั้นกินได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๖. อลีนจิตตชาดก (๑๕๖)
(พระโพธิสัตว์ดาบสกล่าวชมเชยพญาครุฑว่า)
[๘] เธอนั้นเป็นผู้เคารพยำเกรงเพศอันประเสริฐ
ถึงจะหิวก็ไม่อาจที่จะคร่าพญานาคตัวนั้นมากินได้
ขอเธอนั้นจงเป็นผู้อันพรหมรักษาคุ้มครองแล้ว
จงดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนาน
อนึ่ง ภักษาทิพย์จงปรากฏมีแก่เธอ
อุรคชาดกที่ ๔ จบ

๕. ภัคคชาดก (๑๕๕)
ว่าด้วยบิดาพระโพธิสัตว์ชื่อภัคคะ
(พราหมณ์โพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมา จึงกล่าวปรารภกับบิดาว่า)
[๙] พ่อภัคคะ ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี
ขอพวกปีศาจจงอย่าได้กินผมเลย
ขอพ่อจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีเถิด
(พระโพธิสัตว์เห็นยักษ์ลงมาหาบุตร จึงกล่าวปรารภกับบุตรว่า)
[๑๐] แม้เจ้าก็จงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี
ขอพวกปีศาจจงกินยาพิษ
ขอเจ้าจงมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปีเถิด
ภัคคชาดกที่ ๕ จบ

๖. อลีนจิตตชาดก (๑๕๖)
ว่าด้วยพระเจ้าอลีนจิต
(พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตนี้มาได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๑] เสนาหมู่ใหญ่อาศัยพระเจ้าอลีนจิต มีใจร่าเริง
ได้จับเป็นพระเจ้าโกศลผู้ไม่ทรงอิ่มราชสมบัติของตน ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๗. คุณชาดก (๑๕๗)
[๑๒] ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสัย๑ ปรารภความเพียร
เจริญกุศลธรรมเพื่อบรรลุนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
พึงบรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ฉันนั้น
อลีนจิตตชาดกที่ ๖ จบ

๗. คุณชาดก (๑๕๗)
ว่าด้วยมิตรธรรม
(สุนัขจิ้งจอกฟังคำของนางสุนัขจิ้งจอกแล้วจึงเข้าไปหาราชสีห์โพธิสัตว์ บอกเหตุ
ที่ภรรยาและบุตรของราชสีห์รบกวนแล้วว่า)
[๑๓] ผู้มีอำนาจย่อมขับไล่ผู้น้อยตามความพอใจของตน
นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลัง
นางมฤคีผู้มีเขี้ยวแหลมคมบันลือสีหนาท
คุกคามบุตรและภรรยาของข้าพเจ้า
ขอท่านจงทราบอย่างนี้
ที่พึ่งของพวกเรามีภัยเกิดขึ้นแล้ว
(ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวเตือนนางราชสีห์ว่า)
[๑๔] ถึงแม้ว่ามิตรจะมีกำลังด้อยกว่า
แต่ดำรงอยู่ในมิตรธรรม
เขาชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์
เป็นมิตร และเป็นเพื่อนของเรา
นี่นางผู้มีเขี้ยวแหลมคม
เจ้าอย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ชีวิตแก่เราอีกเลย
คุณชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ถึงพร้อมด้วยนิสัย หมายถึงการได้พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า
เป็นที่อาศัย (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๒/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๙. โมรชาดก (๑๕๙)
๘. สุหนุชาดก (๑๕๘)
ว่าด้วยพฤติกรรมของม้าสุหนุ
(อำมาตย์สำเร็จราชกิจโพธิสัตว์ได้กราบทูลพระราชาถึงพฤติกรรมของม้าว่า)
[๑๕] การที่ม้าพยศสุหนุกับม้าพยศโสณะ
กระทำความสนิทสนมกันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ม้าโสณะเป็นเช่นใด แม้ม้าสุหนุก็เป็นเช่นนั้น
ม้าโสณะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเช่นใด
ม้าสุหนุก็มีอารมณ์ฉุนเฉียวเช่นนั้น
[๑๖] ม้าทั้ง ๒ ตัวมีปกติวิ่งพล่านไปด้วยอารมณ์
คึกคะนองชอบกัดเชือกล่ามตัวเองเป็นนิตย์พอ ๆ กัน
ความชั่วเข้ากันได้กับความชั่ว
ความไม่สงบเข้ากันได้กับความไม่สงบ
สุหนุชาดกที่ ๘ จบ

๙. โมรชาดก (๑๕๙)
ว่าด้วยนกยูง
(นกยูงทองโพธิสัตว์เมื่อจะผูกมนต์เพื่อรักษาป้องกันตัวก่อนออกหากิน ได้
กล่าวคาถานี้ว่า)
[๑๗] ดวงตาของโลก
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
กำลังอุทัยทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้พระอาทิตย์นั้น
ซึ่งทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค ๙. โมรชาดก (๑๕๙)
พราหมณ์เหล่าใดถึงฝั่งแห่งพระเวทในธรรมทั้งมวล
ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้ว
และวิมุตติธรรมของพระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วเหล่านั้น
นกยูงนั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงเที่ยวแสวงหาอาหาร
(นกยูงทองนั้น เมื่อกลับที่พักในเวลาเย็น ได้กล่าวคาถานี้ว่า)
[๑๘] ดวงตาของโลกนี้
เป็นเจ้าแห่งแสงสว่างอย่างเอก
ทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี อัสดงคตแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้พระอาทิตย์นั้น
ซึ่งทอแสงเรืองรองสว่างไปทั่วปฐพี
วันนี้ ข้าพเจ้าได้ท่านคุ้มครองแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน
พราหมณ์เหล่าใดถึงฝั่งแห่งพระเวทในธรรมทั้งมวล
ขอพราหมณ์เหล่านั้นจงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้ว
และวิมุตติธรรมแห่งพระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วเหล่านั้น
นกยูงนั้นเจริญพระปริตรนี้แล้วจึงอยู่ในที่อยู่ของตน
โมรชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑. ทัฬหวรรค รวมชาดกที่มีในวรรค
๑๐. วินีลกชาดก (๑๖๐)
ว่าด้วยกาวินีลกะ
(กาวินีลกะกำลังไปทางอากาศเห็นพระเจ้ากรุงวิเทหะประทับบนรถซึ่งเทียมด้วย
ม้าสินธพ ๔ ตัว จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ม้าอาชาไนยกำลังพาพระเจ้าวิเทหะ
ผู้ครองกรุงมิถิลาเสด็จไป
เหมือนหงส์ ๒ ตัวกำลังพาเราผู้ชื่อวินีลกะไป
(พ่อพญาหงส์ได้ฟังเรื่องที่ลูกทั้ง ๒ เล่าให้ฟัง ก็โกรธตวาดลูกกาวินีลกะว่า)
[๒๐] นี่เจ้าวินีลกะ เจ้ามาอยู่อาศัยซอกเขา
อันมิใช่พื้นเพเดิมของเจ้า
เจ้าจงไปอยู่อาศัยชายหมู่บ้านเถิด
ที่นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของแม่เจ้า
วินีลกชาดกที่ ๑๐ จบ
ทัฬหวรรคที่ ๑ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ราโชวาทชาดก ๒. สิงคาลชาดก
๓. สูกรชาดก ๔. อุรคชาดก
๕. ภัคคชาดก ๖. อลีนจิตตชาดก
๗. คุณชาดก ๘. สุหนุชาดก
๙. โมรชาดก ๑๐. วินีลกชาดก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๒. สันถวชาดก (๑๖๒)
๒. สันถววรรค
หมวดว่าด้วยความสนิทสนม
๑. อินทสมานโคตตชาดก (๑๖๑)
ว่าด้วยอินทสมานโคตรดาบส
(ดาบสโพธิสัตว์บอกดาบสที่ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่วว่า)
[๒๑] บุคคลไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว
บุคคลผู้ประเสริฐรู้ประโยชน์ชัดอยู่
ก็ไม่ควรทำความสนิทสนมกับบุคคลผู้ไม่ประเสริฐ
เพราะว่า บุคคลผู้ไม่ประเสริฐถึงแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน
ก็ยังทำความชั่วเหมือนช้างได้ฆ่าอินทสมานโคตรดาบส
[๒๒] บุคคลรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเราด้วยศีล ปัญญา และสุตะ
พึงกระทำไมตรีกับบุคคลเช่นนั้นแหละ
เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษเป็นความสุขโดยแท้
อินทสมานโคตตชาดกที่ ๑ จบ

๒. สันถวชาดก (๑๖๒)
ว่าด้วยการสนิทสนม
(พราหมณ์โพธิสัตว์ตกใจกลัวที่บรรณศาลาถูกไฟไหม้กล่าวว่า)
[๒๓] สิ่งอื่นที่จะชั่วช้าไปกว่าความสนิทสนมกับคนชั่วไม่มี
เพราะไฟนี้อันเราให้อิ่มหนำด้วยเนยใสและข้าวปายาสแล้ว
ก็ยังเผาบรรณศาลาที่เรากระทำได้แสนยาก
(พระโพธิสัตว์ดำริว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษเป็นสิ่งประเสริฐ จึงกล่าวว่า)
[๒๔] สิ่งอื่นที่จะประเสริฐไปกว่าความสนิทสนมกับสัตบุรุษไม่มี
แม่เนื้อสามายังเลียปากราชสีห์ เสือโคร่ง
และเสือเหลืองได้เพราะความสนิทสนม
สันถวชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๔. คิชฌชาดก (๑๖๔)
๓. สุสีมชาดก (๑๖๓)
ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ
(พราหมณ์ปุโรหิตโพธิสัตว์ของพระเจ้าสุสีมะ กราบทูลเรื่องที่ได้ทราบข่าวมาว่า)
[๒๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างดำมีงาขาว
ของพระองค์เหล่านี้ ๑๐๐ กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
พระเจ้าสุสีมะ พระองค์ยังทรงระลึกถึงการกระทำของพระชนก
และพระอัยยกาของพระองค์หรือ จึงตรัสว่า
เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น พระเจ้าข้า
(พระเจ้าสุสีมะทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้วตรัสว่า)
[๒๖] นี่พ่อมาณพ ช้างดำมีงาขาวของเราเหล่านี้
๑๐๐ กว่าเชือก ประดับด้วยข่ายทองคำ
เรายังระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกา
จึงพูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น
สุสีมชาดกที่ ๓ จบ

๔. คิชฌชาดก (๑๖๔)
ว่าด้วยสายตานกแร้ง
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสถามพญาแร้งโพธิสัตว์ว่า)
[๒๗] ธรรมดานกแร้งย่อมเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์มิใช่หรือ
เพราะเหตุไร เจ้าแม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้
(พญาแร้งโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๒๘] เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต
เมื่อนั้นถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้
คิชฌชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๖. อุปสาฬหกชาดก (๑๖๖)
๕. นกุลชาดก (๑๖๕)
ว่าด้วยพังพอน
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นพังพอนกลับมา จึงกล่าวว่า)
[๒๙] นี่เจ้าพังพอนผู้เกิดในครรภ์
ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับงูที่เป็นศัตรู
ยังจะนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ
(พังพอนตอบว่า)
[๓๐] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ
ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก
นกุลชาดกที่ ๕ จบ

๖. อุปสาฬหกชาดก (๑๖๖)
ว่าด้วยพราหมณ์อุปสาฬหกะ
(พราหมณ์โพธิสัตว์ตอบปัญหาของมาณพ กำหนดด้วยปุพเพนิวาสญาณแล้ว
จึงกล่าวว่า)
[๓๑] พราหมณ์ชื่ออุปสาฬหกะ จำนวน ๑๔,๐๐๐ คน
ได้ถูกพวกญาติเผาในสถานที่นี้
สถานที่ไม่เคยมีคนตายไม่มีในโลก
[๓๒] สัจจะ ธรรมะ อหิงสา
สัญญมะ และทมะมีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลเช่นนั้น
(เพราะ)คุณธรรมชื่อว่าไม่ตายในโลก
อุปสาฬหกชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๘. สกุณัคฆิชาดก (๑๖๘)
๗. สมิทธิชาดก (๑๖๗)
ว่าด้วยเทพธิดาหลงรักพระสมิทธิโพธิสัตว์
(เทพธิดาประเล้าประโลมพราหมณ์โพธิสัตว์ว่า)
[๓๓] ภิกษุ ท่านยังมิได้บริโภคกามคุณเลย
กลับมาเที่ยวภิกขาจารเสียนี่
ก็ท่านบริโภคกามคุณเสียก่อนแล้ว
จึงเที่ยวภิกขาจารจะไม่ดีหรือ
ภิกษุ ท่านจงบริโภคกามคุณเสียก่อนเถิด
แล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
ขอเวลาบริโภคกามคุณอย่าได้ล่วงเลยท่านไปเสียเลย
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๓๔] เราไม่รู้เวลาตายของตนเลย
เวลาตายปิดบังอยู่ยังไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่บริโภคกามมาเที่ยวภิกขาจารอยู่
ขอเวลาบำเพ็ญสมณธรรมอย่าได้ล่วงเลยเราไปเลย
สมิทธิชาดกที่ ๗ จบ

๘. สกุณัคฆิชาดก (๑๖๘)
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขาหลงกลนกมูลไถ
(พระศาสดาทรงแสดงเรื่องเหยี่ยวนกเขากับนกมูลไถในอดีตแล้วตรัสเรื่องโคจร
ของภิกษุว่า)
[๓๕] เหยี่ยวนกเขาโฉบลงเต็มแรงด้วยหมายใจว่า
จะจับเอานกมูลไถที่อยู่ในที่หากิน
โฉบลงอย่างฉับพลัน
เพราะเหตุนั้น จึงถึงความตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๒. สันถววรรค ๑๐. กกัณฏกชาดก (๑๗๐)
(เมื่อเหยี่ยวนกเขาตายแล้ว นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยวนกเขา
เปล่งอุทานว่า)
[๓๖] เรานั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุบาย
ยินดีแล้วในที่หากินอันเป็นเขตแห่งบิดา
เห็นประโยชน์ของตนอยู่
เป็นผู้ปราศจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ
สกุณัคฆิชาดกที่ ๘ จบ

๙. อรกชาดก (๑๖๙)
ว่าด้วยศาสดาอรกะสอนการแผ่เมตตา
(พราหมณ์โพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษี เมื่อจะสอนหมู่ฤๅษี จึงได้ประกาศอานิสงส์
ของเมตตาว่า)
[๓๗] ผู้ใดอนุเคราะห์ชาวโลกทั้งมวลด้วยเมตตาจิตหาประมาณมิได้
ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง๑โดยประการทั้งปวง
[๓๘] จิตเกื้อกูลหาประมาณมิได้ เป็นจิตบริบูรณ์อันผู้นั้นอบรมดีแล้ว
กรรมใดที่เขาบำเพ็ญแล้วพอประมาณ
กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ในจิตของเขานั้น
อรกชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. กกัณฏกชาดก (๑๗๐)
ว่าด้วยกิ้งก่าได้ทรัพย์
(พระราชาทรงทอดพระเนตรกิริยาของกิ้งก่านั้นซึ่งไม่นอบน้อมเหมือนก่อน จึง
ตรัสถามว่า)

เชิงอรรถ :
๑ เบื้องบน คือแต่พื้นดินจนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เบื้องต่ำ คือแต่พื้นดินถึงอุสสทนรก
ใต้พื้นดิน เบื้องขวาง คือในโลกมนุษย์อันหาประมาณมิได้ (ขุ.ชา.อ. ๓/๓๗/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
[๓๙] กิ้งก่าบนยอดเสาค่ายตัวนี้ไม่ลงมาอ่อนน้อมเหมือนวันก่อน
ท่านมโหสธบัณฑิต ท่านรู้ไหมว่า
กิ้งก่ากลายเป็นสัตว์กระด้างกระเดื่องไปเพราะเหตุไร
[๔๐] กิ้งก่าได้ทรัพย์กึ่งมาสกซึ่งตนไม่เคยได้มาก่อน
จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลา
กกัณฏกชาดกที่ ๑๐ จบ
สันถววรรคที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อินทสมานโคตตชาดก ๒. สันถวชาดก
๓. สุสีมชาดก ๔. คิชฌชาดก
๕. นกุลชาดก ๖. อุปสาฬหกชาดก
๗. สมิทธิชาดก ๘. สกุณัคฆิชาดก
๙. อรกชาดก ๑๐. กกัณฏกชาดก

๓. กัลยาณวรรค
หมวดว่าด้วยกัลยาณธรรม
๑. กัลยาณธัมมชาดก (๑๗๑)
ว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม
(เศรษฐีโพธิสัตว์ทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชว่า)
[๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ในกาลใด
บุคคลได้รับสมญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลก
ในกาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่ควรให้ตนเสื่อมจากสมญานั้น
ธรรมดาสัตบุรุษถือเอาสมญานั้นเป็นธุระสำคัญแม้ด้วยหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
[๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน สมญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลก
ข้าพระองค์ได้รับแล้วในวันนี้
ข้าพระองค์พิจารณาถึงสมญานั้นอยู่จักขอบวชในวันนี้
เพราะข้าพระองค์ไม่มีความพอใจในการบริโภคกามคุณในโลกนี้
กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑ จบ

๒. ทัททรชาดก (๑๗๒)
ว่าด้วยราชสีห์กับสุนัขจิ้งจอกที่ภูเขาเงิน
(ลูกราชสีห์โพธิสัตว์ได้ยินเสียงสุนัขจิ้งจอก จึงถามบิดาว่า)
[๔๓] ข้าแต่พ่อผู้เป็นใหญ่กว่ามฤคชาติทั้งหลาย
ใครหนอส่งเสียงดัง บันลือลั่นตลอดทั่วภูเขาเงิน
สีหะทั้งหลายก็ไม่บันลือโต้ตอบมัน
มันเป็นสัตว์อะไร
(พ่อราชสีห์โพธิสัตว์ฟังคำของลูกแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ลูกเอ๋ย มันคือสุนัขจิ้งจอก
เป็นสัตว์ต่ำทรามกว่ามฤคชาติทั้งหลายที่กำลังหอนอยู่
สีหะทั้งหลายรังเกียจชาติของมันจึงนั่งนิ่งเฉยอยู่
ทัททรชาดกที่ ๒ จบ

๓. มักกฏชาดก (๑๗๓)
ว่าด้วยลิงปลอมเป็นดาบส
(ดาบสกุมารเห็นลิงปลอมเป็นดาบสแก่หนาวสั่นอยู่ไม่รู้ว่าเป็นลิง คิดจะให้เข้า
ไปผิงไฟในบรรณศาลา จึงพูดกับบิดาว่า)
[๔๕] ข้าแต่พ่อ พระดาบสรูปนั้นยืนพิงต้นตาลอยู่
อาศรมของเรานี้ก็มีอยู่ เราให้อาศรมเพื่อให้เขาอยู่เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
(ดาบสบิดาโพธิสัตว์ฟังคำของลูกแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเรียกมันมาเลย
มันเข้ามาแล้วพึงทำลายอาศรมของเรา
หน้าตาของพราหมณ์ผู้มีศีลไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก
มักกฏชาดกที่ ๓ จบ

๔. ทุพภิยมักกฏชาดก (๑๗๔)
ว่าด้วยลิงผู้มักประทุษร้ายมิตร
(พราหมณ์โพธิสัตว์เห็นกิริยาของลิง จึงกล่าวติเตียนว่า)
[๔๗] ข้าได้ให้น้ำอันเพียงพอแก่เจ้าผู้ถูกความร้อน
ในฤดูร้อนแผดเผา กระหายอยู่
บัดนี้ เจ้าดื่มแล้วยังกระทำเสียงเจี๊ยก ๆ อยู่อีก
การคบหากับคนชั่วไม่ประเสริฐเลย
(ลิงผู้มักประทุษร้ายมิตรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวผูกอาฆาตว่า)
[๔๘] ท่านเคยได้ยินหรือเคยได้เห็นมาบ้างไหมว่า
ลิงตัวไหนที่ชื่อว่าเป็นสัตว์มีศีล
บัดนี้ เราจะถ่ายอุจจาระรดศีรษะท่าน
นี้เป็นธรรมดาของเรา
ทุพภิยมักกฏชาดกที่ ๔ จบ

๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก (๑๗๕)
ว่าด้วยลิงไหว้พระอาทิตย์
(พวกมนุษย์เห็นกิริยาของลิงผู้ทำเป็นเหมือนบำเพ็ญตบะและเหมือนจำศีล จึง
กล่าวสรรเสริญว่า)
[๔๙] เล่ากันมาว่า บรรดาสัตว์ทั้งมวล สัตว์ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลมีอยู่
ท่านจงดูลิงสาขะผู้ต่ำทราม มันยืนไหว้พระอาทิตย์อยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นพวกมนุษย์พากันสรรเสริญลิง จึงกล่าวเตือนว่า)
[๕๐] ท่านทั้งหลายไม่รู้ปกติของมัน
เพราะไม่รู้จึงพากันสรรเสริญ
โรงไฟก็ถูกมันเผา
และคนโทน้ำ ๒ ลูกก็ถูกมันทำลาย
อาทิจจุปัฏฐานชาดกที่ ๕ จบ

๖. กฬายมุฏฐิชาดก (๑๗๖)
ว่าด้วยลิงซัดลูกเดือยทิ้งทั้งกำมือ
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้สำเร็จราชกิจกราบทูลถึงความประพฤติของลิงว่า)
[๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ลิงที่เที่ยวไปตามกิ่งไม้นี้
เป็นลิงโง่แท้ ๆ ลิงตัวนี้ไม่มีปัญญา
มันซัดลูกเดือยทั้งกำจนหมด
แล้วเที่ยวหาลูกเดือยที่ตกลงไปยังพื้นดินกินทีละเม็ด
(ครั้นพระโพธิสัตว์กราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๕๒] ข้าแต่มหาราช พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นก็ดี
ที่มีความโลภจัด จะเสื่อมจากประโยชน์ส่วนมาก
เพราะประโยชน์ส่วนน้อยเหมือนลิงเสื่อมจากลูกเดือย
กฬายมุฏฐิชาดกที่ ๖ จบ

๗. ตินทุกชาดก (๑๗๗)
ว่าด้วยอุบายกินผลมะพลับ
(ฝูงลิง ๘๐,๐๐๐ ตัวเห็นพวกมนุษย์ ตกใจกลัวตาย จึงไปบอกพญาวานร-
โพธิสัตว์ว่า)
[๕๓] พวกมนุษย์ถือคันธนูและกำลูกธนู ถือดาบอันคมกริบ
พากันล้อมพวกเราไว้ เราจักพ้นได้อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้ฟังคำของพวกลิงแล้วได้ปลอบว่า)
[๕๔] พวกมนุษย์มีกิจการงานมาก
ประโยชน์บางอย่างจะพึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เวลาที่จะช่วงชิงเอาผลไม้ยังมีอยู่
พวกท่านจงเคี้ยวกินผลมะพลับนั้นเถิด
ตินทุกชาดกที่ ๗ จบ

๘. กัจฉปชาดก (๑๗๘)
ว่าด้วยเต่าสอนธรรม
(เต่าถูกช่างหม้อโพธิสัตว์ใช้จอบขุดทิ้งไว้บนบกได้รับเวทนา จึงได้พูดคร่ำครวญว่า)
[๕๕] เปือกตมนี้เป็นที่เกิดเป็นที่เติบโตของเรา
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้อาศัยอยู่ในเปือกตม
เปือกตมจึงได้ทับถมเรานั้นให้ทุพพลภาพ
ท่านภัคคะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงฟังคำของเรา
เราจะกล่าวกับท่าน
[๕๖] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
สถานที่ใดบุคคลได้รับความสุข
สถานที่นั้นเป็นที่เกิดเป็นที่เจริญเติบโต
ของคนที่รู้จักเหตุอันควรและไม่ควร
บุคคลมีชีวิตอยู่ได้ในสถานที่ใด พึงไป ณ สถานที่นั้น
ไม่พึงให้ที่อยู่ทำลายตนเสียเลย
กัจฉปชาดกที่ ๘ จบ

๙. สตธัมมชาดก (๑๗๙)
ว่าด้วยสตธรรมมาณพ
(มาณพผู้ถือชาติสกุลบริโภคอาหารที่เป็นเดนแล้วคร่ำครวญว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๓. กัลยาณวรรค ๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
[๕๗] อาหารที่เราบริโภคแล้วนั้นเป็นของน้อยด้วย เป็นเดนด้วย
และเขาได้ให้อาหารนั้นแก่เราโดยยากแสนยากด้วย
เรานั้นเกิดเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น
อาหารที่เราบริโภคเข้าไปแล้วจึงได้อาเจียนออกมา
(พระศาสดาทรงแสดงเรื่องอดีตนี้แล้ว ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า)
[๕๘] ผู้ใดละทิ้งธรรม มีชีวิตอยู่โดยอธรรม
ผู้นั้นย่อมไม่เพลิดเพลินยินดีลาภแม้ที่ตนได้มาแล้ว
เหมือนสตธรรมพราหมณ์
สตธัมมชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. ทุทททชาดก (๑๘๐)
ว่าด้วยสัตบุรุษให้ทานที่ให้ได้ยาก
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวสรรเสริญทานที่ทายกถวายด้วยจิตเลื่อมใสมีผลมากแล้ว
จึงอนุโมทนาว่า)
[๕๙] อสัตบุรุษทั้งหลายเมื่อจะให้ทานชื่อว่าให้ได้ยาก
เมื่อจะกระทำกรรมก็ชื่อว่าทำได้ยาก
ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายพวกอสัตบุรุษรู้ได้ยาก
และพวกอสัตบุรุษก็ทำตามได้ยาก
[๖๐] เพราะฉะนั้น สัตบุรุษและอสัตบุรุษ
จึงมีคติที่ไปจากโลกนี้ต่างกัน คือ
พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมไปสู่สวรรค์๑
ทุทททชาดกที่ ๑๐ จบ
กัลยาณวรรคที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๒๒๘๖-๒๒๘๗/๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัลยาณธรรมชาดก ๒. ทัททรชาดก
๓. มักกฏชาดก ๔. ทุพภิยมักกฏชาดก
๕. อาทิจจุปัฏฐานชาดก ๖. กฬายมุฏฐิชาดก
๗. ตินทุกชาดก ๘. กัจฉปชาดก
๙. สตธัมมชาดก ๑๐. ทุทททชาดก

๔. อสทิสวรรค
หมวดว่าด้วยอสทิสกุมาร
๑. อสทิสชาดก (๑๘๑)
ว่าด้วยอสทิสกุมาร
(พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องอสทิสราชกุมารโพธิสัตว์ทรงขับพระราชาเจ็ดพระนคร
ให้หนีไป ได้ชัยชนะแล้ว ผนวชเป็นฤๅษีกับภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๖๑] อสทิสราชบุตรทรงเป็นนักแม่นธนู
มีพลังมาก ยิงได้ไกล ยิงได้อย่างรวดเร็ว
และแม่นยำ ทำลายเป้าใหญ่ ๆ ได้
[๖๒] พระองค์ทรงทำการรบให้ข้าศึกทั้งหมดหนีไป
แต่ไม่เบียดเบียนใคร ๆ
ช่วยพระอนุชาให้ถึงความสวัสดีแล้ว
ทรงเข้าถึงความสำรวม๑
อสทิสชาดกที่ ๑ จบ

๒. สังคามาวจรชาดก (๑๘๒)
ว่าด้วยช้างเข้าสู่สงคราม
(พระโพธิสัตว์ผู้เป็นคนฝึกช้างของพระราชาสอนช้างว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ความสำรวม หมายถึงออกผนวช (ขุ.ชา.อ. ๓/๖๒/๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
[๖๓] พญากุญชร ท่านได้ชื่อว่าเจนสงคราม กล้าหาญ มีกำลังมาก
ทำไมหนอ มาใกล้เขื่อนประตูแล้วจึงถอยกลับเสียเล่า
[๖๔] พญากุญชร ท่านจงหักลิ่มกลอน จงถอนเสาระเนียด
จงเหยียบทำลายซุ้มประตู และจงเข้าไปในเมืองโดยเร็ว
สังคามาวจรชาดกที่ ๒ จบ

๓. วาโลทกชาดก (๑๘๓)
ว่าด้วยลากินน้ำหาง
(พระราชาตรัสเรียกอำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อยู่ใกล้มา ตรัสถามกิริยาของพวกลาว่า)
[๖๕] เพราะดื่มน้ำหางอันมีรสน้อย อันเป็นน้ำเลว
ความเมาจึงเกิดแก่พวกลา
แต่ความเมาก็ไม่เกิดขึ้นแก่ม้าสินธพ
เพราะดื่มน้ำมีรสอันประณีตนี้
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ลานั้นมีชาติเลวทราม
ดื่มน้ำมีรสน้อย อันรสนั้นถูกต้องแล้วย่อมเมา
ส่วนม้าสินธพเกิดในตระกูล มีปกตินำพาธุระ
ดื่มน้ำมีรสอันเลิศแล้ว ก็ไม่เมา
วาโลทกชาดกที่ ๓ จบ

๔. คิริทัตตชาดก (๑๘๔)
ว่าด้วยม้าเลียนแบบนายคิริทัตต์
(อำมาตย์โพธิสัตว์ตรวจดูอาการของม้าพิการแล้ว กราบทูลพระราชาว่า)
[๖๗] ม้ามงคลชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสาม
ถูกนายคิริทัตต์ประทุษร้ายแล้ว
จึงละปกติเดิมของตน เลียนแบบนายคิริทัตต์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
(พระโพธิสัตว์กราบทูลให้หาคนเลี้ยงม้าที่ดีมาว่า)
[๖๘] ถ้าคนประกอบด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั้น
พึงจับม้านั้นที่บังเหียน แล้วจูงไปรอบ ๆ สนามม้าไซร้
ม้านั้นจะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน
คิริทัตตชาดกที่ ๔ จบ

๕. อนภิรติชาดก (๑๘๕)
ว่าด้วยจิตขุ่นมัวและไม่ขุ่นมัว
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ถามมาณพผู้เป็นศิษย์ถึงสาเหตุที่มนต์เสื่อม
หายไปแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๙] เมื่อน้ำขุ่น ไม่ใส บุคคลย่อมไม่เห็นหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด
เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
[๗๐] เมื่อน้ำใสสะอาด บุคคลย่อมเห็นหอยโข่ง หอยกาบ
ก้อนกรวด เม็ดทราย และฝูงปลา ฉันใด
เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตน
และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
อนภิรติชาดกที่ ๕ จบ

๖. ทธิวาหนชาดก (๑๘๖)
ว่าด้วยพระเจ้าทธิวาหนะ
(พระเจ้าทธิวาหนะตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า)
[๗๑] ในกาลก่อน มะม่วงนี้มีผิวสวย กลิ่นหอม
รสอร่อย ได้รับการบำรุงเหมือนเดิม
เพราะเหตุไร จึงกลับกลายเป็นมะม่วงที่มีรสขมไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๔. อสทิสวรรค ๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลแจ้งเหตุของมะม่วงนั้นว่า)
[๗๒] ข้าแต่พระเจ้าทธิวาหนะ
มะม่วงของพระองค์มีต้นสะเดาล้อมรอบ
รากกับรากเกี่ยวพันกัน กิ่งกับกิ่งประสานกัน
เพราะการเกี่ยวข้องกับต้นไม้ที่มีรสขมไม่น่าพอใจนั้น
มะม่วงต้นนี้จึงกลายเป็นไม้ที่มีรสขมไป
ทธิวาหนชาดกที่ ๖ จบ

๗. จตุมัฏฐชาดก (๑๘๗)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกมีเหตุชั่วช้า ๔ ประการ
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์สนทนากับพญาหงส์ว่า)
[๗๓] ท่านทั้ง ๒ พากันขึ้นไปยังค่าคบไม้
อยู่ในที่ลับแล้วปรึกษากันบนต้นไม้สูง
เชิญท่านลงมาปรึกษากันข้างล่างเถิด
พญาเนื้อจะได้ฟังบ้าง
(ในเวลาที่ลูกหงส์ ๒ ตัวรังเกียจสุนัขจิ้งจอกแล้วพากันบินกลับไป พระโพธิสัตว์
จึงกล่าวว่า)
[๗๔] ครุฑกับครุฑพึงปรึกษากัน
เทวดากับเทวดาพึงปรึกษากัน
เรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า ๔ ประการ๑
นี่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า เจ้าจงเข้าโพรงไปเถิด
จตุมัฏฐชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ชั่วช้า ๔ ประการ ได้แก่ (๑) รูปไม่งาม (๒) ชาติกำเนิดต่ำ (๓) เสียงไม่ไพเราะ (๔) ด้อยคุณธรรม
(ขุ.ชา.อ. ๓/๗๔/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
๘. สีหโกตถุชาดก (๑๘๘)
ว่าด้วยตัวเหมือนราชสีห์แต่เสียงไม่เหมือน
(ลูกราชสีห์โพธิสัตว์ตัวหนึ่งได้ยินเสียงลูกของสุนัขจิ้งจอก จึงถามพ่อว่า)
[๗๕] ราชสีห์ตัวนั้นมีนิ้วอย่างราชสีห์ มีเล็บอย่างราชสีห์
ยืนอยู่ด้วยเท้าราชสีห์เพียงตัวเดียวเท่านั้นในหมู่ราชสีห์
บันลือเสียงเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น
(ราชสีห์โพธิสัตว์บอกให้ลูก ๆ รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน จึงสอนลูกสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๗๖] นี่เจ้าลูกราชสีห์ เจ้าอย่าบันลืออีกเลย
จงเงียบเสียงอยู่ในป่าเถิด
พวกเขาจะพึงรู้จักเจ้าด้วยเสียงนั่นแหละ
เพราะเสียงของเจ้าไม่เหมือนกับเสียงของพ่อเจ้า
สีหโกตถุชาดกที่ ๘ จบ

๙. สีหจัมมชาดก (๑๘๙)
ว่าด้วยลาปลอมตัวเป็นราชสีห์
(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นชาวนาได้ยินเสียงลาปลอมร้อง ก็รู้ว่าเป็นลา
จึงกล่าวคาถาว่า)
[๗๗] นั่นไม่ใช่เสียงบันลือของราชสีห์
ไม่ใช่เสียงของเสือโคร่ง ไม่ใช่เสียงของเสือเหลือง
ลาชั่วช้าคลุมตัวด้วยหนังราชสีห์ร้องอยู่
(พ่อค้ามาเห็นลาถึงความบอบช้ำ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า)
[๗๘] ลาเอาหนังราชสีห์คลุมตัว
เคี้ยวกินข้าวเหนียวอันเขียวสดเป็นเวลานาน
มันร้องออกมานั้นแหละ จึงทำร้ายตัวเอง
สีหจัมมชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
๑๐. สีลานิสังสชาดก (๑๙๐)
ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล
(เทวดาประจำสมุทรกล่าวถึงคุณของการสังสรรค์กับบัณฑิตว่า)
[๗๙] ดูเถิด นี้แหละผลของศรัทธา ศีล และจาคะ
พญานาคแปลงตนเป็นเรือนำอุบาสกผู้มีศรัทธาไป
[๘๐] พึงคบหาสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ
เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ นายช่างกัลบกจึงถึงความสวัสดี
สีลานิสังสชาดกที่ ๑๐ จบ
อสทิสวรรคที่ ๔ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อสทิสชาดก ๒. สังคามาวจรชาดก
๓. วาโลทกชาดก ๔. คิริทัตตชาดก
๕. อนภิรติชาดก ๖. ทธิวาหนชาดก
๗. จตุมัฏฐชาดก ๘. สีหโกตถุชาดก
๙. สีหจัมมชาดก ๑๐. สีลานิสังสชาดก

๕. รุหกวรรค
หมวดว่าด้วยรุหกปุโรหิต
๑. รุหกชาดก (๑๙๑)
ว่าด้วยรุหกปุโรหิต
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงหวังจะให้รุหกปุโรหิตยกโทษให้นางพราหมณี จึงตรัสว่า)
[๘๑] พ่อมหาจำเริญรุหกะ สายธนูที่ขาดไปแล้วก็ยังต่อให้ติดอีกได้
ท่านจงคืนดีกับภรรยาเก่าเถิด อย่าลุอำนาจแห่งความโกรธเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
(รุหกปุโรหิตได้ฟังพระดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า)
[๘๒] เมื่อสายป่านยังมีอยู่ นายช่างผู้กระทำสายธนูก็มีอยู่
ข้าพระองค์จักกระทำสายธนูใหม่
พอกันทีสำหรับสายธนูเก่า
รุหกชาดกที่ ๑ จบ

๒. สิริกาฬกัณณิชาดก (๑๙๒)
ว่าด้วยสิริกับกาฬกัณณี
(พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า)
[๘๓] หญิงที่มีรูปงาม มีกิริยามารยาท
และความประพฤติเรียบร้อย ชายไม่พึงปรารถนาเธอ
ท่านเชื่อไหมล่ะ พ่อมโหสธบัณฑิต
(เสนกบัณฑิตฟังพระดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[๘๔] ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เชื่อ พระเจ้าข้า
ชายนั้นคงเป็นคนต่ำต้อย
เพราะสิริกับกาฬกัณณีเข้ากันไม่ได้เลยไม่ว่าในกาลไหน ๆ
สิริกาฬกัณณิชาดกที่ ๒ จบ

๓. จูฬปทุมชาดก (๑๙๓)
ว่าด้วยพระเจ้าจูฬปทุม
(ปทุมกุมารโพธิสัตว์ได้สดับคำของชายาผู้ชั่วช้าแล้ว จึงตรัสว่า)
[๘๕] หญิงคนนี้แหละคือหญิงคนนั้น
แม้เราก็คือชายคนนั้น หาใช่คนอื่นไม่
ชายคนที่หญิงนี้อ้างว่าเป็นสามีของนางตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
ก็คือชายที่ถูกตัดมือตัดเท้าคนนี้แหละ หาใช่คนอื่นไม่
ขึ้นชื่อว่าหญิงควรฆ่าทั้งนั้น สัจจะไม่มีในหญิงทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
[๘๖] พวกท่านจงตีชายชั่วช้า หยาบคาย คล้ายซากศพ
มักเป็นชู้กับภรรยาคนอื่นคนนี้เสียด้วยสาก
จงตัดใบหูและจมูกของหญิงผู้ปรนนิบัติสามี
ที่ชั่วช้านั้นคนนี้เสียยังเป็น ๆ เถิด
จูฬปทุมชาดกที่ ๓ จบ

๔. มณิโจรชาดก (๑๙๔)
ว่าด้วยพระเจ้าอธรรมิกราชลงโทษโจรลักแก้วมณี
(นางสุชาดาเห็นคหบดีโพธิสัตว์ถูกเฆี่ยน รำลึกถึงคุณแห่งศีลของตนแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[๘๗] เทวดาทั้งหลาย๑ไม่มีหรือไม่อยู่เป็นแน่
เมื่อมีกิจเห็นปานนี้เกิดขึ้น
เทวดาทั้งหลายก็พากันไปค้างแรมเสียแน่
อนึ่ง ท่านผู้รักษาโลกก็ไม่มีอยู่ในโลกนี้แน่นอน
เมื่อคนทุศีลทั้งหลายกระทำกรรมอันหยาบช้าอยู่
คนทั้งหลายผู้ห้ามปรามก็ไม่มีแน่นอน
(ท้าวสักกะถวายโอวาทแก่พระราชาว่า)
[๘๘] ในรัชสมัยของพระราชาผู้ไม่ทรงธรรม
ในกาลไม่สมควรตก ฝนก็ตก
ในกาลสมควรจะตก ฝนก็ไม่ตก
พระราชาผู้ไม่ทรงธรรม จุติจากโลกสวรรค์
พระราชาพระองค์นั้นถูกทำลายแล้ว
เพราะเหตุแห่งความชั่วมีประมาณเท่านี้แน่นอน
มณิโจรชาดกที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า เทวดาทั้งหลาย ในที่นี้ หมายถึงเทวดาผู้คอยดูแลคนมีศีล และห้ามปรามคนทำชั่ว (ขุ.ชา.อ.
๓/๘๗/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
๕. ปัพพตูปัตถรชาดก (๑๙๕)
ว่าด้วยสระโบกขรณีที่เชิงเขา
(พระราชาตรัสถามปัญหากับอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า)
[๘๙] สระโบกขรณีมีน้ำเย็น รสอร่อย
เกิดอยู่ที่เนินหินเชิงภูเขาหิมพานต์ น่ารื่นรมย์
สุนัขจิ้งจอกรู้อยู่ว่า ราชสีห์รักษาสระโบกขรณีนั้นไว้
ก็ยังลงไปดื่มกิน
(อำมาตย์โพธิสัตว์ทราบว่า อำมาตย์คนหนึ่งจะก่อเหตุร้ายภายในพระราชวัง
จึงกราบทูลว่า)
[๙๐] ข้าแต่มหาราช ถ้าสัตว์มีเท้าทั้งหลายพากันดื่มน้ำในมหานที
แม่น้ำจะไม่ชื่อว่าเป็นแม่น้ำเพราะเหตุนั้นก็หาไม่
หากว่าชน ๒ คนนั้นเป็นที่รัก
ขอพระองค์ทรงงดโทษเสียเถิด
ปัพพตูปัตถรชาดกที่ ๕ จบ

๖. วลาหกัสสชาดก (๑๙๖)
ว่าด้วยความปลอดภัยเกิดจากม้าวลาหก
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๙๑] คนเหล่าใดไม่ทำตามโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
คนเหล่านั้นจักถึงความพินาศ
เหมือนพวกพ่อค้าที่ถูกพวกนางรากษสประเล้าประโลม
[๙๒] ส่วนคนเหล่าใดทำตามโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
คนเหล่านั้นจักปลอดภัย
เหมือนพวกพ่อค้าที่เชื่อฟังคำของพญาม้าวลาหก
วลาหกัสสชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๕. รุหกวรรค ๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
๗. มิตตามิตตชาดก (๑๙๗)
ว่าด้วยอาการของผู้เป็นมิตรและมิใช่มิตร
(ฤๅษีโพธิสัตว์บอกเหตุแก่ดาบสทั้งหลายว่า)
[๙๓] บุคคลเห็นคนผู้เป็นศัตรูกันแล้วย่อมไม่ยิ้มแย้ม
ไม่ชื่นชมศัตรูนั้น เมื่อสบตากันก็เบือนหน้าไปทางอื่น
และประพฤติตรงกันข้าม
[๙๔] อาการทั้งหลายปรากฏที่ศัตรู
บัณฑิตเห็นแล้ว ฟังแล้วซึ่งอาการเหล่านั้น
พึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา
มิตตามิตตชาดกที่ ๗ จบ

๘. ราธชาดก (๑๙๘)
ว่าด้วยนกราธโพธิสัตว์
(พราหมณ์ถามนกราธโพธิสัตว์ว่า)
[๙๕] ลูกเอ๋ย พ่อเพิ่งกลับมาจากที่ค้างแรม มาถึงเดี๋ยวนี้เอง
ยังไม่นานนักลูกเอ๋ย แม่ของเจ้าไม่ไปคบหาชายอื่นหรือ
(นกราธโพธิสัตว์แจ้งให้พราหมณ์ทราบว่า)
[๙๖] ธรรมดาบัณฑิตเมื่อกล่าวคำจริง
แต่คำนั้นเป็นการกล่าวถึงความไม่ดีจะพึงหมกไหม้
เหมือนนกแขกเต้าชื่อโปฏฐปาทะหมกไหม้อยู่ที่เถ้าไฟในเตา
ราธชาดกที่ ๘ จบ

๙. คหปติชาดก (๑๙๙)
ว่าด้วยคหบดีโพธิสัตว์
(คหบดีโพธิสัตว์เห็นกิริยาของภรรยาและชายชู้ เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น
จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
[๙๗] เหตุทั้ง ๒ ประการไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจเลย
ก็หญิงนี้ลงไปในฉางข้าวแล้ว ยังพูดว่า ฉันยังใช้คืนท่านไม่ได้
[๙๘] นี่ท่านผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุนั้น ฉันจึงพูดกับท่าน
ในคราวเมื่อเรามีชีวิตฝืดเคือง ยากเข็ญ
ท่านได้ทำสัญญากำหนดไว้ ๒ เดือน
แล้วมาทวงเนื้อโคผอมแก่เมื่อยังไม่ถึงกำหนดเวลาสัญญา
เหตุทั้ง ๒ ประการนั้นฉันไม่ชอบใจเลย
คหปติชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. สาธุสีลชาดก (๒๐๐)
ว่าด้วยเลือกเอาผู้มีศีล
(พราหมณ์ถามพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ว่า)
[๙๙] ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ว่า บรรดาคน ๔ คน คือ
(๑) คนมีรูปงาม (๒) คนมีอายุ (๓) คนมีชาติสูง
(๔) คนมีศีลธรรม ท่านจะเลือกใครหนอ
(อาจารย์ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้วกล่าวว่า)
[๑๐๐] ร่างกายก็มีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่าน
ผู้เจริญวัย ชาติสูงก็มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าชอบใจศีล
สาธุสีลชาดกที่ ๑๐ จบ
รุหกวรรคที่ ๕ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รุหกชาดก ๒. สิริกาฬกัณณิชาดก
๓. จูฬปทุมชาดก ๔. มณิโจรชาดก
๕. ปัพพตูปัตถรชาดก ๖. วลาหกัสสชาดก
๗. มิตตามิตตชาดก ๘. ราธชาดก
๙. คหปติชาดก ๑๐. สาธุสีลชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
๖. นตังทัฬหวรรค
หมวดว่าด้วยเครื่องผูกที่มั่นคง
๑. พันธนาคารชาดก (๒๐๑)
ว่าด้วยเครื่องผูก
(ฤๅษีโพธิสัตว์เปล่งอุทานว่า)
[๑๐๑] นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้
และทำด้วยหญ้าปล้องว่า เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง
ส่วนความกำหนัดยินดีในแก้วมณีและต่างหูก็ดี
ความเยื่อใยในบุตรและภรรยาก็ดี
[๑๐๒] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกที่ประกอบด้วยกิเลสนั่นว่า
เป็นเครื่องผูกที่มั่นคง คร่าสัตว์ให้ตกต่ำ ย่อหย่อน แก้ได้ยาก
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกนั้นได้ขาด
หมดความเยื่อใย ละความสุขในกามเสียแล้วหลีกไป
พันธนาคารชาดกที่ ๑ จบ

๒. เกฬิสีลชาดก (๒๐๒)
ว่าด้วยผู้มีปกติมัวเมาในการเล่น
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๐๓] พวกหงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี
ช้างก็ดี เนื้อฟานก็ดี กลัวราชสีห์ด้วยกันทั้งนั้น
ร่างกายไม่ถือเป็นประมาณ
[๑๐๔] ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
แม้เด็กถ้ามีปัญญาก็เป็นผู้ใหญ่ได้
ส่วนคนพาลถึงจะมีร่างกายใหญ่โตก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
เกฬิสีลชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
๓. ขันธชาดก (๒๐๓)
ว่าด้วยขันธปริตรป้องกันสัตว์ร้ายต่าง ๆ ได้
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนดาบสทั้งหลายให้เจริญเมตตาในพญางูทั้ง ๔ ว่า)
[๑๐๕] เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตากับตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตากับสัตว์ไม่มีเท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตากับสัตว์สี่เท้า เราขอมีเมตตากับสัตว์มีหลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์มีหลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวลจงพบกับความเจริญ
ความชั่วช้าอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ตนใดตนหนึ่งเลย๑
[๑๐๖] พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้
พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง
ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณได้
เราทำการรักษา ทำการป้องกันไว้แล้ว
ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีกไป
เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์
ขันธชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๗/๑๑๑-๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
๔. วีรกชาดก (๒๐๔)
ว่าด้วยกาวีรกโพธิสัตว์
(นางกาเมียของกาสวิฏฐกะไม่เห็นกาสวิฏฐกะกลับมา จึงถามกาวีรกโพธิสัตว์
ว่า)
[๑๐๗] ท่านวีรกะ ท่านเห็นนกชื่อสวิฏฐกะ
ผัวข้าพเจ้าที่ร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
มีสร้อยคอสีคล้ายสร้อยคอนกยูงบ้างไหม
(กาวีรกโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๐๘] กาสวิฏฐกะเมื่อทำตามปักษีที่มีปกติเที่ยวหากิน
ทั้งทางน้ำและทางบก กินปลาดิบอยู่เป็นนิตย์
ถูกสาหร่ายพันคอตายแล้ว
วีรกชาดกที่ ๔ จบ

๕. คังเคยยชาดก (๒๐๕)
ว่าด้วยเต่างามกว่าปลาในแม่น้ำคงคา
(เต่ากล่าวกับปลาว่า)
[๑๐๙] ปลาที่อยู่ในแม่น้ำคงคาก็งาม
ถึงปลาที่อยู่ในแม่น้ำยมุนาก็งาม
แต่สัตว์สี่เท้ามีสัณฐานกลมคล้ายต้นไทร
มีคอยื่นออกมานิดหน่อยตัวนี้สง่างามกว่าใครทั้งหมด
(ปลากล่าวว่า)
[๑๑๐] ท่านไม่ตอบเหตุที่เราถาม
ท่านถูกถามอย่างหนึ่ง กลับตอบไปเสียอีกอย่างหนึ่ง
คนที่ยกย่องตนเอง พวกเราไม่ชอบใจเลย
คังเคยยชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
๖. กุรุงคมิคชาดก (๒๐๖)
ว่าด้วยนกและเต่าช่วยกวาง
(นกสตปัตตะช่วยกวางให้พ้นจากบ่วงแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๑๑] เอาเถิดเต่าเอ๋ย เจ้าจงใช้ฟันกัดบ่วงหนัง
ส่วนเราจักกระทำโดยวิธีที่นายพรานจะมาไม่ถึง
(พระศาสดาตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า)
[๑๑๒] เต่าก็ลงน้ำ กวางก็เข้าป่า
ส่วนนกสตปัตตะกลับมาถึงต้นไม้แล้ว
ได้พาลูก ๆ หนีไปอยู่แสนไกล
กุรุงคมิคชาดกที่ ๖ จบ

๗. อัสสกชาดก (๒๐๗)
ว่าด้วยพระนางอุพพรีเทวีของพระเจ้าอัสสกะ
(พระนางอุพพรีเทวีของพระเจ้าอัสสกะสวรรคตไปเกิดเป็นหนอน ได้กล่าว
คาถาภาษามนุษย์ในท่ามกลางบริษัทว่า)
[๑๑๓] สถานที่นี้ข้าพเจ้าได้เที่ยวเล่น
กับพระเจ้าอัสสกะพระสวามีสุดที่รัก
ผู้มีพระประสงค์ตามความใคร่
[๑๑๔] ความสุขและความทุกข์เก่า ๆ
ถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ ๆ ปิดบังไว้
เพราะฉะนั้น แมลงจึงเป็นที่รักของข้าพเจ้า
ยิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะเสียอีก
อัสสกชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๖. นตังทัฬหวรรค ๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
๘. สุงสุมารชาดก (๒๐๘)
ว่าด้วยปัญญาของจระเข้
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับจระเข้ว่า)
[๑๑๕] อย่าเลยสำหรับมะม่วง ผลหว้า
และผลขนุนที่ท่านเห็นที่สมุทรฝั่งโน้น
ผลมะเดื่อของเราประเสริฐกว่า
[๑๑๖] ร่างกายของท่านใหญ่โตเสียเปล่า
แต่ปัญญาไม่สมกับร่างกายเลย
นี่จระเข้ เจ้าถูกเราลวงแล้ว
บัดนี้เจ้าจงไปตามสบายเถิด
สุงสุมารชาดกที่ ๘ จบ

๙. กุกกุฏชาดก (๒๐๙)
ว่าด้วยไก่
(ไก่ต้องการจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ว่า)
[๑๑๗] ต้นหูกวาง ต้นสมอพิเภกในป่า
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
ต้นไม้เหล่านั้นไม่สามารถจะเคลื่อนที่ได้เหมือนกับท่าน
(นายพรานกล่าวว่า)
[๑๑๘] ไก่ตัวนี้คือไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมา
เป็นไก่ที่ฉลาด หลบหนีจากบ่วงหางสัตว์มาได้
และยังขันเยาะเย้ยเสียอีก
กุกกุฏชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
๑๐. กันทคลกชาดก (๒๑๐)
ว่าด้วยนกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น
(นกหัวขวานกันทคลกะตกลงที่พื้นดินแล้ว กล่าวกับนกหัวขวานขทิรวนิย-
โพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๙] ท่านขทิรวนิยะผู้เจริญ ต้นไม้ต้นนี้
มีใบเกลี้ยง มีหนาม ชื่อต้นอะไร
กระหม่อมของข้าพเจ้าแตก
เพราะการเจาะต้นไม้นี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
(นกหัวขวานขทิรวนิยโพธิสัตว์ฟังคำรำพันของนกหัวขวานกันทคลกะแล้ว จึง
กล่าวว่า)
[๑๒๐] นกหัวขวานตัวนี้ชื่อกันทคลกะ เมื่อจะเจาะหมู่ไม้ในป่า
ได้บินท่องเที่ยวไปในหมู่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น
ต่อมาภายหลัง ได้มาพบไม้ตะเคียนซึ่งมีแก่นโดยธรรมชาติ
ได้ทำลายกระหม่อมที่ต้นตะเคียนนั้นแล้ว
กันทคลกชาดกที่ ๑๐ จบ
นตังทัฬหวรรคที่ ๖ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พันธนาคารชาดก ๒. เกฬิสีลชาดก
๓. ขันธชาดก ๔. วีรกชาดก
๕. คังเคยยชาดก ๖. กุรุงคมิคชาดก
๗. อัสสกชาดก ๘. สุงสุมารชาดก
๙. กุกกุฏชาดก ๑๐. กันทคลกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
๗. พีรณถัมภกวรรค
หมวดว่าด้วยป่าช้าพีรณถัมภกะ
๑. โสมทัตตชาดก (๒๑๑)
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสมทัตต์
(พราหมณ์โสมทัตตโพธิสัตว์กล่าวกับพ่อว่า)
[๑๒๑] พ่อเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เป็นนิตย์
ได้กระทำความเพียรอยู่ในป่าช้าที่ชื่อพีรณถัมภกะตลอดทั้งปี
ครั้นเข้าสู่ที่ประชุมบริษัทกลับพูดอีกอย่างหนึ่ง
ความเพียรป้องกันผู้ปราศจากปัญญาไม่ได้
(พราหมณ์ผู้เป็นบิดากล่าวว่า)
[๑๒๒] พ่อโสมทัตต์ ขึ้นชื่อว่าผู้ขอย่อมได้ผล ๒ อย่าง คือ
(๑) ไม่ได้ทรัพย์ (๒) ได้ทรัพย์
เพราะว่าการขอมีสภาพเช่นนี้เป็นธรรมดา
โสมทัตตชาดกที่ ๑ จบ

๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก (๒๑๒)
ว่าด้วยพราหมณ์บริโภคอาหารที่เป็นเดน
(พราหมณ์ถามนางพราหมณีว่า)
[๑๒๓] ข้าวข้างบนมีอุณหภูมิอย่างหนึ่ง
ข้าวข้างล่างมีอุณหภูมิอย่างหนึ่ง
แม่พราหมณี ฉันขอถามเธอหน่อยเถิด
ทำไมข้าวข้างล่างจึงเย็น ส่วนข้าวข้างบนจึงร้อน
(บุตรนักฟ้อนโพธิสัตว์ได้บอกพฤติกรรมทั้งหมดกับพราหมณ์ว่า)
[๑๒๔] ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นนักฟ้อนรำเที่ยวขอมาจนถึงที่นี่
ส่วนชายชู้ของนางพราหมณีนี้ลงไปซ่อนตัวอยู่ในฉางข้าว
คนที่ท่านเสาะแสวงหานั้นก็คือชายชู้นี้แหละ
อุจฉิฏฐภัตตชาดกที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
๓. ภรุราชชาดก (๒๑๓)
ว่าด้วยพระราชาแคว้นภรุ
(พระศาสดาทรงนำเรื่องอดีตมาแล้ว ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๒๕] ตถาคตได้สดับมาว่า พระราชาแห่งแคว้นภรุ
ทรงกระทำช่องว่างระหว่างฤๅษีทั้งหลายเพราะความชอบ
พระองค์ทรงประสบความวิบัติ พร้อมทั้งถูกตัดขาดจากแคว้น
[๑๒๖] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ
การลุอำนาจความพอใจ
บุคคลผู้มีจิตอันกิเลสไม่ประทุษร้าย
จะกล่าวแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสัจจะเท่านั้น
ภรุราชชาดกที่ ๓ จบ

๔. ปุณณนทีชาดก (๒๑๔)
ว่าด้วยการอุปมาด้วยแม่น้ำที่เต็มฝั่ง
(พระราชาทรงระลึกถึงคุณของปุโรหิตโพธิสัตว์แล้ว ทรงเขียนคาถาลงในใบลานว่า)
[๑๒๗] ชนทั้งหลายกล่าวถึงแม่น้ำที่เต็มฝั่งว่ากาตัวใดกินได้ก็ดี
กล่าวถึงข้าวกล้าที่เกิดแล้วว่ากาตัวใดหลบซ่อนอยู่ได้ก็ดี
กล่าวถึงคนรักที่จากไปอยู่เสียไกลกลับมาว่ากาตัวใดบอกข่าวให้ก็ดี
กาตัวนั้นเรานำมาให้ท่านแล้ว เชิญเถิดท่านพราหมณ์
ท่านจงบริโภคเนื้อกานั้นเถิด
(ปุโรหิตโพธิสัตว์อ่านหนังสือแล้วทราบว่าพระราชาทรงคิดถึง จึงกล่าวว่า)
[๑๒๘] เมื่อใด พระราชาทรงระลึกถึงเราเพื่อจะส่งเนื้อกามาให้
เนื้อหงส์ก็ดี เนื้อนกกระเรียนก็ดี เนื้อนกยูงก็ดี
ที่เรานำไปถวายแล้ว เมื่อนั้นทำไมจะไม่ระลึกถึงเรา
การไม่ระลึกถึงเราเสียเลยจะเป็นความเลวทราม
ปุณณนทีชาดกที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
๕. กัจฉปชาดก (๒๑๕)
ว่าด้วยเต่า
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถและธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลว่า)
[๑๒๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนแล้วหนอ
เมื่อคาบท่อนไม้อยู่ดีแล้ว
กลับฆ่าตนเองเสียด้วยคำพูดของตนนั่นแหละ
[๑๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่วีรชน
นรชนผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุนี้แล้ว
ควรพูดให้ดี ไม่ควรพูดให้เกินเวลา
ทรงทอดพระเนตรเถิด พระเจ้าข้า
เต่าถึงความพินาศเพราะการพูดมาก
กัจฉปชาดกที่ ๕ จบ

๖. มัจฉชาดก (๒๑๖)
ว่าด้วยปลา
(ปลาตัวผู้ร้องรำพันถึงปลาตัวเมียว่า)
[๑๓๑] ไฟนี้ก็เผาเราให้เร่าร้อนไม่ได้
หลาวที่เสี้ยมดีแล้วก็ทำความทุกข์ทรมานให้เกิดแก่เราไม่ได้
เหมือนเรื่องที่นางปลาเข้าใจเราว่าไปยินดีนางปลาตัวอื่นเลย
[๑๓๒] ไฟคือราคะนั้นเผาเราให้เร่าร้อน
จิตของเราเองเบียดเบียนเราให้ลำบาก
พรานแหทั้งหลาย ขอพวกท่านจงปล่อยเราไปเถิด
สัตว์ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามคุณ
พวกท่านไม่ควรฆ่าไม่ว่าในกาลไหน ๆ
มัจฉชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
๗. เสคคุชาดก (๒๑๗)
ว่าด้วยนางเสคคุ
(อุบาสกได้กล่าวกับลูกสาวผู้กำลังคร่ำครวญอยู่ว่า)
[๑๓๓] สัตวโลกทั้งหมดมีความพอใจในการเสพกาม
แม่เสคคุเอ๋ย เจ้าไม่รู้เรื่องของชาวบ้าน
แม่เด็กน้อย การที่เจ้าถูกพ่อจับมือในป่าใหญ่
แล้วร้องไห้คร่ำครวญนั้น มันเป็นอย่างไรสำหรับเจ้าในวันนี้
(กุมารีฟังคำนั้นแล้วคร่ำครวญกล่าวว่า)
[๑๓๔] ยามเมื่อฉันมีความทุกข์ คนที่เป็นที่พึ่งคือบิดาของฉันเอง
แต่กลับประทุษร้ายฉันในป่า
ฉันจะคร่ำครวญหาใครเล่าในท่ามกลางป่า
คนที่จะช่วยเหลือฉันได้กลับทำกรรมที่น่าบัดสีเสียเอง
เสคคุชาดกที่ ๗ จบ

๘. กูฏวาณิชชาดก (๒๑๘)
ว่าด้วยพ่อค้าโกง
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้พิพากษาทราบว่าพ่อค้าบ้านนอกคิดโกง เมื่อจะแก้เอาชนะ
คนโกง จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] การที่ท่านคิดฉ้อฉลตอบบุคคลผู้ฉ้อฉลเป็นการคิดที่ดีแล้ว
การโกงตอบบุคคลผู้โกงท่านกระทำตอบแล้ว
ถ้าหนูทั้งหลายพึงเคี้ยวกินผาลได้
ทำไมนกเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้
[๑๓๖] ด้วยว่า คนโกงโกงตอบคนโกงมีอยู่มากในโลก
คนอื่นผู้ล่อลวงตอบคนล่อล่วง ก็มีอยู่เหมือนกัน
ท่านผู้มีบุตรหาย ท่านจงให้ผาลแก่คนที่มีผาลหายเถิด
ขอคนผู้มีผาลหายอย่าได้ลักพาบุตรของท่านไปเลย
กูฏวาณิชชาดกที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๗. พีรณถัมภกวรรค ๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
๙. ครหิตชาดก (๒๑๙)
ว่าด้วยผู้ครองเรือนถูกพญาวานรติเตียน
(พญาวานรโพธิสัตว์ได้กล่าวกับพวกวานรว่า)
[๑๓๗] มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาทราม ไม่เห็นอริยธรรม๑
กล่าวกันอย่างนี้ว่า เงินของฉัน ทองของฉัน ทั้งคืนทั้งวัน
[๑๓๘] ในเรือนหลังหนึ่งมีเจ้าของเรือนอยู่ ๒ คน
ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่งไม่มีหนวด นมยาน
เกล้าผมมวย และเจาะหู ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ชายเจ้าของเรือนนั้นพูดเสียดแทงชนนั้นตั้งแต่วันที่มาถึง
ครหิตชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. ธัมมัทธชชาดก (๒๒๐)
ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นธงชัย
(ท้าวสักกะตรัสถามปุโรหิตโพธิสัตว์ว่า)
[๑๓๙] ท่านดูเหมือนอยู่เป็นสุข ท่านจากบ้านเมืองมาสู่ป่าแห้งแล้ง
นั่งเพ่งพินิจคิดอะไรอยู่ผู้เดียวที่โคนไม้ เหมือนคนกำพร้า
(ปุโรหิตโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๑๔๐] ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข
ข้าพเจ้าจากบ้านเมืองมาสู่ป่าแห้งแล้ง
หวนระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ
นั่งพินิจคิดอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนไม้ เหมือนคนกำพร้า
ธัมมัทธชชาดกที่ ๑๐ จบ
พีรณถัมภกวรรคที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อริยธรรม หมายถึงธรรมของพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙ (คือ มรรค
๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) อันประเสริฐ ปราศจากโทษ (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๓๗/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสมทัตตชาดก ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก
๓. ภรุราชชาดก ๔. ปุณณนทีชาดก
๕. กัจฉปชาดก ๖. มัจฉชาดก
๗. เสคคุชาดก ๘. กูฏวาณิชชาดก
๙. ครหิตชาดก ๑๐. ธัมมัทธชชาดก

๘. กาสาววรรค
หมวดว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
๑. กาสาวชาดก (๒๒๑)
ว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์
(พญาช้างโพธิสัตว์ได้ติเตียนมนุษย์เข็ญใจที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ว่า)
[๑๔๑] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด๑ยังไม่หมดไป
ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย
[๑๔๒] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว
ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
กาสาวชาดกที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจน้ำฝาด ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง)
มักขะ (ความลบหลู่บุญคุณท่าน) ปลาสะ (การตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตะหนี่)
มายา (ความเป็นคนเจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความ
ถือตัว) อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความมัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง
กรรมที่นำไปเกิดในภพทั้งปวง กิเลสพันห้า นี้เรียกว่า กิเลสดุจน้ำฝาด (น้ำย้อม) (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๔๑/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
๒. จูฬนันทิยชาดก (๒๒๒)
ว่าด้วยพญาวานรจูฬนันทิยะ
(บุรุษชั่วถูกแผ่นดินสูบระลึกถึงโอวาทของอาจารย์ได้ จึงกล่าวรำพันว่า)
[๑๔๓] ท่านอาจารย์ปาราสริยะได้กล่าวคำใดไว้ว่า
ท่านอย่าได้ทำความชั่วที่ทำแล้วจะทำตนให้เดือดร้อนในภายหลัง
คำนี้เป็นคำของอาจารย์
[๑๔๔] คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตน
คนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
คนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
คนหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น
จูฬนันทิยชาดกที่ ๒ จบ

๓. ปุฏภัตตชาดก (๒๒๓)
ว่าด้วยห่อข้าวเปล่า
(อำมาตย์โพธิสัตว์ผู้อนุศาสน์อรรถธรรมแก่พระราชาได้กราบทูลพระเทวีว่า)
[๑๔๕] บุคคลควรนอบน้อมแก่ผู้ที่นอบน้อม
ควรคบผู้ที่คบด้วย ควรทำกิจแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจ
ไม่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่
ผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
และไม่ควรคบแม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะคบด้วย
[๑๔๖] ควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้ง และไม่ควรทำความเยื่อใย
ไม่ควรคบกับผู้มีจิตใจเหินห่าง
ควรมองหาผู้อื่น(ที่มีความเยื่อใย)
เหมือนนกรู้ว่า ต้นไม้นี้หมดผลแล้วไปยังต้นไม้อื่น
เพราะว่าโลกกว้างใหญ่
ปุฏภัตตชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
๔. กุมภีลชาดก (๒๒๔)
ว่าด้วยจระเข้สรรเสริญพญาวานร
(พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๔๗] พญาวานร ผู้ใดมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ
(๑) สัจจะ (๒) ธรรมะ (๓) ธิติ (๔) จาคะ เช่นกับท่าน
ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นได้
[๑๔๘] ส่วนผู้ใดไม่มีคุณธรรมอันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง
๔ ประการนี้ คือ (๑) สัจจะ (๒) ธรรมะ (๓) ธิติ (๔) จาคะ
ผู้นั้นย่อมครอบงำศัตรูที่ตนพบเห็นไม่ได้
กุมภีลชาดกที่ ๔ จบ

๕. ขันติวัณณนชาดก (๒๒๕)
ว่าด้วยการพรรณนาขันติ
(อำมาตย์คนหนึ่งไม่อาจอดกลั้นความผิดของตนได้ จึงทูลถามพระราชาว่า)
[๑๔๙] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้ามีคนที่ขวนขวาย
ในกิจการทุกอย่างอยู่คนหนึ่ง
แต่เขามีความผิดอยู่เรื่องหนึ่ง
พระองค์จะทรงดำริเป็นประการใด
ในความผิดนั้น พระเจ้าข้า
(พระราชาตรัสว่า)
[๑๕๐] เราก็มีคนเช่นนี้อยู่คนหนึ่ง และเขาก็ปรากฏอยู่ที่นี้
ขึ้นชื่อว่าคนที่พร้อมด้วยองค์คุณทุกอย่างหาได้ยาก
เราจึงชอบใจขันติ
ขันติวัณณนชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
๖. โกสิยชาดก (๒๒๖)
ว่าด้วยผู้รู้กาลควรไม่ควรเหมือนนกเค้า
(บัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลข้อความนี้แก่พระราชาว่า)
[๑๕๑] ขึ้นชื่อว่าการออกไปจากที่อยู่อาศัยในกาลอันสมควรเป็นการดี
ส่วนการออกไปในกาลอันไม่สมควรไม่เป็นการดี
เพราะว่าชนจำนวนมากที่เป็นศัตรูทำคนเพียงคนเดียว
ที่ออกจากที่อยู่อาศัยโดยกาลอันไม่สมควร
แล้วไม่ยังประโยชน์อะไร ๆ ให้เกิดขึ้น ให้ถึงความพินาศ
เหมือนหมู่นกกาทำลายนกเค้าตัวเดียวให้พินาศ
[๑๕๒] นักปราชญ์รู้ซึ้งถึงวิธีการต่าง ๆ
เข้าใจถึงช่องทางของคนเหล่าอื่น
ทำพวกศัตรูทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจแล้ว
พึงอยู่เป็นสุขเหมือนนกเค้าผู้ฉลาด
โกสิยชาดกที่ ๖ จบ

๗. คูถปาณกชาดก (๒๒๗)
ว่าด้วยหนอนท้าช้างสู้
(หนอนร้องเรียกช้างว่า)
[๑๕๓] ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญมาพบกับเราผู้กล้าหาญ
ผู้สามารถที่จะประหารได้โดยไม่ย่นย่อ
พญาช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัวหรือจึงหนีไป
ขอชนชาวแคว้นอังคะและมคธ
จงเห็นความกล้าหาญของเราและท่านเถิด
(ช้างเมื่อจะรุกรบกับหนอนนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๑๕๔] เราจักไม่ใช้เท้า งา และงวงฆ่าเจ้า เราจักใช้คูถฆ่าเจ้า
เจ้าหนอนในคูถเน่าจงถูกของเน่าฆ่าเถิด
คูถปาณกชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
๘. กามนีตชาดก (๒๒๘)
ว่าด้วยคนที่ถูกความอยากครอบงำ
(พระราชาตรัสกับท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ว่า)
[๑๕๕] เราอยากได้พระนครทั้ง ๓ และรัฐทั้ง ๓
คือ (๑) ปัญจาละ (๒) กุรุยะ (๓) เกกกะ
ในระหว่างพระนครเหล่านั้น พ่อพราหมณ์เอ๋ย
เราอยากได้ยิ่งกว่าราชสมบัติที่เราได้แล้วเสียอีก
เจ้าจงเยียวยาข้าพเจ้าผู้ถูกความอยากทำลายแล้วเถิด
(ท้าวสักกเทวราชโพธิสัตว์ตรัสกับพระราชาว่า)
[๑๕๖] จริงอยู่ คนถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาหาย
คนถูกผีสิง หมอผีที่เก่งบางคนก็ขับออกได้
แต่คนถูกความอยากทำลาย ใคร ๆ ก็เยียวยาไม่ได้
เพราะว่า คนที่ล่วงเลยกุศลธรรมแล้วจะเยียวยาได้อย่างไร
กามนีตชาดกที่ ๘ จบ

๙. ปลายิตชาดก (๒๒๙)
ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ
(พระเจ้าพรหมทัตโพธิสัตว์ทรงดำริจะยึดเอาเมืองตักกศิลา จึงตรัสว่า)
[๑๕๗] ตักกสิลาถูกกองทัพช้างอันเกรียงไกร
ถูกกองทัพม้าสินธพอันเกรียงไกร
ถูกกองทัพรถประดุจเกลียวคลื่นในมหาสมุทร
อันยังห่าฝนคือลูกศรให้ตกลงประดุจเมฆฝนอันหนาทึบ
ถูกกองทัพทหารราบซึ่งถือดาบกวัดแกว่งประหารได้อย่างแม่นยำ
ล้อมรอบด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๘. กาสาววรรค ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
[๑๕๘] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป จงรีบบุกเข้าไป
จงโห่ร้องให้อึกทึกกึกก้องพร้อมกับพญาช้างที่ประเสริฐ
ในวันนี้ ประดุจสายอสนิบาตอันแผ่ซ่าน
ออกจากเมฆคำรามกึกก้องอยู่
ปลายิตชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (๒๓๐)
ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบเรื่องที่ ๒
(พระเจ้าคันธาระได้ตรัสสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า)
[๑๕๙] ธงสำหรับรถของเรามากมายมีจำนวนมิใช่น้อย
ถึงพลพาหนะก็กำหนดนับไม่ได้
ยากที่ศัตรูใด ๆ จะครอบงำย่ำยีได้
ดุจสมุทรสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามพ้นได้
อนึ่ง กองทัพของเรานี้ก็ยากที่กองทัพอื่นจะครอบงำย่ำยีได้
ดุจภูเขาอันลมไม่สามารถจะพัดให้หวั่นไหวได้
วันนี้ เรานั้นมีกำลังเห็นปานนี้
ยากที่พระราชาเช่นท่านจะครอบงำย่ำยีได้
(พระราชากรุงพาราณสีโพธิสัตว์ทรงขู่ขวัญพระเจ้าคันธาระว่า)
[๑๖๐] ท่านอย่าพูดพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนพาลไปเลย
เพราะว่าพระราชาเช่นท่านไม่สามารถจะยึดเอาราชสมบัติได้
เพราะท่านถูกความเร่าร้อน แผดเผาอยู่เสมอ
ดังนั้น จึงข่มขี่ครอบงำพระราชาเช่นเราไม่ได้
ท่านนั้นประดุจเข้าไปใกล้คชสารตกมันที่เที่ยวพล่านไปเพียงตัวเดียว
ซึ่งจักบดขยี้ท่านให้แหลกลานเหมือนเหยียบย่ำพงอ้อให้เป็นจุรณไป
ทุติยปลายิตชาดกที่ ๑๐ จบ
กาสาววรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กาสาวชาดก ๒. จูฬนันทิยชาดก
๓. ปุฏภัตตชาดก ๔. กุมภีลชาดก
๕. ขันติวัณณนชาดก ๖. โกสิยชาดก
๗. คูถปาณกชาดก ๘. กามนีตชาดก
๙. ปลายิตชาดก ๑๐. ทุติยปลายิตชาดก

๙. อุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยรองเท้า
๑. อุปาหนชาดก (๒๓๑)
ว่าด้วยการใช้ศิลปะในทางที่ผิดก่อให้เกิดโทษเหมือนรองเท้ากัด
(นายควาญช้างโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[๑๖๑] รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อต้องการความสบายเท้า
กลับนำทุกข์มาให้
รองเท้านั้นถูกความร้อนแผดเผา
ถูกพื้นครูดสี ย่อมกัดเท้าคนผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด
[๑๖๒] ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน
เรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์แล้ว
ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปวิทยาที่เรียนมา
ในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า อนารยชน
เปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี
อุปาหนชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
๒. วีณาถูณชาดก (๒๓๒)
ว่าด้วยชายค่อมนอนขดเหมือนคันพิณ
(เศรษฐีโพธิสัตว์สนทนากับธิดาเศรษฐีว่า)
[๑๖๓] เจ้าคนเดียวเท่านั้นที่คิดอย่างนี้
ชายค่อมผู้โง่เขลาคนนี้ไม่อาจจะเป็นผู้นำได้
นางผู้เจริญ เจ้าไม่ควรจะร่วมทางกับคนค่อมคนนี้เลย
(ธิดาเศรษฐีฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วว่า)
[๑๖๔] ดิฉันเข้าใจว่าชายค่อมเป็นคนองอาจ จึงได้รักใคร่เขา
เขานอนขดอยู่อย่างนี้ ดุจคันพิณที่สายขาด
วีณาถูณชาดกที่ ๒ จบ

๓. วิกัณณกชาดก (๒๓๓)
ว่าด้วยกามคุณเช่นกับชนัก
(เจ้าหน้าที่จัดอาหารพูดกับจระเข้ว่า)
[๑๖๕] เจ้าจงไปในสถานที่ที่เจ้าปรารถนาเถิด
เจ้าถูกชนักแทงในที่อันสำคัญ
อนึ่ง เจ้าเบื่อ ๆ อยาก ๆ ในอาหาร
เฝ้าติดตามฝูงปลาอยู่ ถูกอาหารเคล้าเสียงกลองขจัดเสียแล้ว
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงชาดกนี้แล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๖๖] บุคคลผู้คล้อยตามโลกามิส๑อย่างนี้
อนุวัตตามอำนาจจิตย่อมเดือดร้อน
บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนท่ามกลางหมู่ญาติมิตรสหาย
เหมือนจระเข้ตัวติดตามฝูงปลาถูกชนักแทง
วิกัณณกชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า โลกามิส ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าโลกามิส (เหยื่อสำหรับโลก)
นั้น เพราะกามคุณทั้ง ๕ นี้ถือว่าเป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๖๖/๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
๔. อสิตาภูชาดก (๒๓๔)
ว่าด้วยพระนางอสิตาภู
(พระนางอสิตาภูตรัสกับพรหมทัตตกุมารว่า)
[๑๖๗] พระองค์นั่นแหละได้ทรงกระทำเหตุนี้ในกาลนี้
หม่อมฉันปราศจากความรักใคร่ในพระองค์เสียแล้ว
บัดนี้ ความรักใคร่นี้นั้นไม่อาจจะเชื่อมประสานได้อีก
เหมือนกับงาช้างที่ถูกเลื่อยตัดขาดไม่อาจจะเชื่อมต่อได้ดังเดิม
(ครั้นพระนางเสด็จจากไปแล้ว พรหมทัตตกุมารจึงคร่ำครวญว่า)
[๑๖๘] บุคคลผู้ปรารถนาเกินประมาณเพราะความโลภเกินไป
และเพราะความเมาในความโลภเกินไปจึงเสื่อมจากประโยชน์อย่างนี้
เหมือนตัวเราเสื่อมจากพระนางอสิตาภู
อสิตาภูชาดกที่ ๔ จบ

๕. วัจฉนขชาดก (๒๓๕)
ว่าด้วยวัจฉนขดาบส
(เศรษฐีกรุงพาราณสีชวนวัจฉนขดาบสโพธิสัตว์บริโภคกามว่า)
[๑๖๙] พระคุณเจ้าวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงินทองบริบูรณ์
มีโภชนาหารมากมาย เป็นเรือนที่มีความสุข
ซึ่งพระคุณเจ้าไม่ต้องขวนขวายก็ฉัน ดื่ม และนอนได้เลย
(วัจฉนขดาบสโพธิสัตว์ฟังเศรษฐีแล้ว ได้กล่าวว่า)
[๑๗๐] คนไม่พยายามทำงานก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
คนไม่พูดมุสาก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
คนปล่อยวางอาชญาไม่ลงอาชญาบุคคลอื่นก็อยู่ครองเรือนไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใคร่เล่าจะครองเรือน
ที่ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก ที่บกพร่องได้
วัจฉนขชาดกที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
๖. พกชาดก (๒๓๖)
ว่าด้วยนกยางเจ้าเล่ห์
(ฝูงปลาเห็นนกยางจึงกล่าวว่า)
[๑๗๑] นกตัวนี้ดีจริงหนอ มีปีกเหมือนดอกโกมุท
หุบปีกทั้ง ๒ จับเจ่าซบเซาอยู่
(ปลาโพธิสัตว์มองดูนกยางนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๗๒] พวกเจ้าไม่รู้ปกติของมัน เพราะไม่รู้จึงพากันสรรเสริญ
นกยางตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองพวกเราหรอก
เพราะเหตุนั้น มันจึงไม่ขยับปีก
พกชาดกที่ ๖ จบ

๗. สาเกตชาดก (๒๓๗)
ว่าด้วยทรงปรารภพราหมณ์ชื่อสาเกต
(ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า)
[๑๗๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุใดหนอ
เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้
พอพบกันเข้า จิตใจก็เมินเฉย
แต่บางคนพอพบกันเข้าเท่านั้น จิตก็เลื่อมใส
(พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งความรักแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า)
[๑๗๔] ความรักนั้นเกิดด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยการอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน
(๒) ด้วยการเกื้อกูลกันและกันในปัจจุบัน
เหมือนดอกอุบลเกิดในน้ำ๑
สาเกตชาดกที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เหมือนดอกอุบลเกิดในน้ำ หมายถึงดอกอุบลและดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่เกิดในน้ำ ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการ
คือน้ำและเปลือกตม (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๗๔/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
๘. เอกปทชาดก (๒๓๘)
ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวทำให้บรรลุประโยชน์ได้หลายอย่าง
(กุมารน้อยผู้เป็นบุตรของเศรษฐีโพธิสัตว์ถามบิดาว่า)
[๑๗๕] คุณพ่อครับ
เหตุอย่างเดียวทำให้ได้บรรลุประโยชน์หลายอย่างมีอยู่หรือ
พวกเราจะทำประโยชน์หลายอย่างให้สำเร็จได้ด้วยเหตุอันใด
ขอคุณพ่อจงบอกเหตุนั้นสักอย่างหนึ่งซึ่งรวบรวมเหตุไว้มากมาย
(บิดาบอกแก่กุมารน้อยนั้นว่า)
[๑๗๖] ลูกเอ๋ย เหตุอันเดียวคือความขยัน
ที่ให้ได้บรรลุประโยชน์หลายอย่าง
เพราะความขยันอันประกอบด้วยศีล เข้าถึงขันติ
อาจทำให้มิตรสหายมีความสุข
หรืออาจทำให้ศัตรูทั้งหลายได้รับความทุกข์
เอกปทชาดกที่ ๘ จบ

๙. หริตมาตชาดก (๒๓๙)
ว่าด้วยกบเขียว
(งูจะถามกบเขียวโพธิสัตว์ว่า)
[๑๗๗] พ่อกบเขียว ฝูงปลารุมกัดเราผู้มีพิษ
ซึ่งเข้าไปยังปากลอบ ท่านพอใจหรือ
(กบเขียวโพธิสัตว์ได้กล่าวกับงูว่า)
[๑๗๘] คนกดขี่ข่มเหงผู้อื่นตลอดเวลาที่ตนเป็นใหญ่
เมื่อเขาถูกคนอื่นซึ่งเป็นใหญ่กว่ากดขี่ข่มเหงบ้างก็ตอบโต้
หริตมาตชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๙. อุปาหนวรรค ๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
๑๐. มหาปิงคลชาดก (๒๔๐)
ว่าด้วยพระเจ้าปิงคละ
(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโอรสของพระเจ้าปิงคละ ตรัสถามยาม
รักษาประตูว่า)
[๑๗๙] ชนทั้งมวลถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียน
เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ประชาชนพากันยินดี
นายทวารบาล พระเจ้าปิงคละผู้มีพระเนตรไม่ดำ
เป็นที่รักของท่านหรือ ทำไมท่านจึงร้องไห้
(ยามรักษาประตูกล่าวทูลตอบว่า)
[๑๘๐] พระเจ้าปิงคละผู้มีพระเนตรไม่ดำ
เป็นที่รักของข้าพเจ้าก็หาไม่
แต่ข้าพเจ้ากลัวการเสด็จกลับมาของพระองค์
พระองค์เสด็จไปจากที่นี้แล้ว
จะต้องเบียดเบียนพญามัจจุราช
เขาถูกพระองค์เบียดเบียนแล้ว
พึงนำพระองค์กลับมา ณ ที่นี้อีก
(พระโพธิสัตว์ตรัสปลอบยามรักษาประตูว่า)
[๑๘๑] พระเจ้าปิงคละนั้นถูกถวายพระเพลิง
ด้วยฟืน ๑,๐๐๐ เล่มเกวียน
พระอัฐิก็สรงด้วยน้ำตั้ง ๑๐๐ หม้อ
สถานที่ถวายพระเพลิงนั่นเล่าก็ล้อมไว้แล้ว
ไม่ต้องกลัว เสด็จมาไม่ได้หรอก
มหาปิงคลชาดกที่ ๑๐ จบ
อุปาหนวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุปาหนชาดก ๒. วีณาถูณชาดก
๓. วิกัณณกชาดก ๔. อสิภูตาชาดก
๕. วัจฉนขชาดก ๖. พกชาดก
๗. สาเกตชาดก ๘. เอกปทชาดก
๙. หริตมาตชาดก ๑๐. มหาปิงคลชาดก

๑๐. สิงคาลวรรค
หมวดว่าด้วยสุนัขจิ้งจอก
๑. สัพพทาฐิชาดก (๒๔๑)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๘๒] สุนัขจิ้งจอกมีนิสัยกระด้าง มีความต้องการบริวาร
บรรลุถึงสมบัติอันยิ่งใหญ่
เป็นราชาแห่งสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง ฉันใด
[๑๘๓] บรรดามนุษย์ทั้งหลาย บุคคลใดมีบริวาร
บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นใหญ่ในบริวารเหล่านั้น
เหมือนสุนัขจิ้งจอกเป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งหลาย ฉันนั้น
สัพพทาฐิชาดกที่ ๑ จบ

๒. สุนขชาดก (๒๔๒)
ว่าด้วยสุนัขฉลาดเอาตัวรอดได้
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลมีโภคสมบัติมากได้เดินผ่านดงไปทำธุระบางอย่าง
เห็นสุนัขถูกล่ามไว้ จึงกล่าวว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
[๑๘๔] สุนัขที่ไม่กัดกินเชือกหนังนี้โง่จริง
ธรรมดาบุคคลควรจะเปลื้องตนจากเครื่องผูก
กินแล้วกลับบ้าน
(สุนัขได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๘๕] คำที่ท่านกล่าวนั้นยังฝังใจข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะรอจนกว่าคนจะนอนหลับ
สุนขชาดกที่ ๒ จบ

๓. คุตติลชาดก (๒๔๓)
ว่าด้วยคุตติลโพธิสัตว์
(นักขับร้องโพธิสัตว์กล่าวกับท้าวสักกะว่า)
[๑๘๖] ข้าพระองค์ได้สอนศิษย์ให้เรียนการดีดพิณ ๗ สาย
มีเสียงอันไพเราะ น่าจับจิตจับใจ
เขากลับมาท้าทายข้าพระองค์แข่งขันดีดพิณสู้กันบนเวที
ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด
(ท้าวสักกะสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๘๗] เพื่อนเอ๋ย เราจะเป็นที่พึ่ง
เราเป็นคนบูชาอาจารย์
ศิษย์จักชนะท่านไม่ได้ ส่วนท่านจะชนะศิษย์ นะอาจารย์
คุตติลชาดกที่ ๓ จบ

๔. วิคติจฉชาดก (๒๔๔)
ว่าด้วยการนอบน้อมท่านผู้หมดความต้องการ
(ฤๅษีโพธิสัตว์เมื่อปริพาชกหนีไปแล้ว จึงแสดงธรรมแก่บริษัทซึ่งนั่งประชุมกัน
อยู่ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
[๑๘๘] ได้ยินมาว่า คนที่ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนเห็นก็ดี
ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่เห็นก็ดี
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ถึงเขาจะเที่ยวแสวงหาไปนานแสนนาน
ก็จะไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนาเลย
[๑๘๙] คนย่อมไม่พอใจสิ่งที่ตนได้มา
และดูหมิ่นสิ่งที่ตนปรารถนาได้มาแล้ว
เพราะความปรารถนาซึ่งมีอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด
ข้าพเจ้าขอกระทำการนอบน้อมท่านผู้ปราศจากความปรารถนา
วิคติจฉชาดกที่ ๔ จบ

๕. มูลปริยายชาดก (๒๔๕)
ว่าด้วยทรงปราบภิกษุผู้ทะนงด้วยมูลปริยายสูตร
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ถามปัญหากับพวกศิษย์แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๙๐] กาลเวลาย่อมกินเหล่าสัตว์ทั้งปวงพร้อมกับตัวเอง
ส่วนผู้ใดกินกาลเวลาได้๑
ผู้นั้นชื่อว่าเผาตัณหาที่เผาเหล่าสัตว์ได้แล้ว
(พระโพธิสัตว์ติเตียนมาณพเหล่านั้นว่า)
[๑๙๑] ศีรษะของนรชนปรากฏมีเป็นจำนวนมาก
และมีผมหนาปกคลุมจนถึงคอ
บรรดาคนเหล่านี้ ใครบ้างเล่าที่มีปัญญา
มูลปริยายชาดกที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้กินกาลเวลาได้ หมายถึงพระขีณาสพ เพราะทำกาลปฏิสนธิในคราวต่อไปให้สิ้น คือกลืนกินกาลเวลา
ด้วยอริยมรรค (ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก) (ขุ.ชา.อ. ๓/๑๙๐/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
๖. พาโลวาทชาดก (๒๔๖)
ว่าด้วยการโอวาทคนพาล
(กุฎุมพีผู้หนึ่งแกล้งฤๅษีโพธิสัตว์ จึงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๙๒] บุคคลผู้ไม่สำรวมประหารสัตว์ก็ดี
เบียดเบียนสัตว์ก็ดี ฆ่าสัตว์ก็ดี แล้วให้ทาน
สมณะใดบริโภคอาหารเช่นนี้
สมณะนั้นย่อมแปดเปื้อนบาปด้วย
(พระโพธิสัตว์ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๙๓] บุคคลผู้ไม่สำรวมถึงจะฆ่าบุตรภรรยาแล้วให้ทานก็ตามที
ผู้มีปัญญาบริโภคอาหารนั้นก็ไม่แปดเปื้อนบาปเลย
พาโลวาทชาดกที่ ๖ จบ

๗. ปาทัญชลิชาดก (๒๔๗)
ว่าด้วยปาทัญชลีราชกุมาร
(อำมาตย์โพธิสัตว์เข้าใจว่า พระราชกุมารเฉลียวฉลาด จึงกล่าวว่า)
[๑๙๔] ปาทัญชลีราชกุมารมีพระปรีชา
ทรงรุ่งเรืองกว่าพวกเราทั้งหมดแน่นอน
พระองค์ทรงเห็นเหตุอื่นที่ยิ่งกว่านี้เป็นแน่
เพราะฉะนั้นจึงทรงเม้มพระโอษฐ์
(พระกุมารโง่เขลา กล่าวว่า)
[๑๙๕] ปาทัญชลีราชกุมารพระองค์นี้
จะทรงทราบสิ่งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ก็หาไม่
พระองค์ไม่ทรงทราบอะไรเลย
นอกจากการเม้มพระโอษฐ์เท่านั้น
ปาทัญชลิชาดกที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
๘. กิงสุโกปมชาดก (๒๔๘)
ว่าด้วยคนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม
(พระเจ้าพรหมทัตตรัสกับพระราชโอรสทั้ง ๔ พระองค์ว่า)
[๑๙๖] เจ้าทั้งหมดได้เห็นต้นทองกวาวมาแล้ว
เพราะเหตุไรจึงสงสัยในต้นทองกวาวนั้นเล่า
เพราะพวกเจ้ามิได้สอบถามนายสารถี
ให้รอบคอบทุกสถานะใช่ไหม
(พระศาสดาทรงแสดงเหตุนี้กับภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่า)
[๑๙๗] บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้ธรรมทั้งหลายด้วยญาณทั้งปวง
บุคคลเหล่านั้นยังสงสัยในธรรมทั้งหลาย
เหมือนพระราชภาดา ๔ พระองค์สงสัยในต้นทองกวาว
กิงสุโกปมชาดกที่ ๘ จบ

๙. สาลกชาดก (๒๔๙)
ว่าด้วยสาลกวานร
(หมองูคิดจะจับลิง จึงเกลี้ยกล่อมลิงว่า)
[๑๙๘] พ่อสาลกวานร เจ้าเป็นลูกคนเดียวของพ่อ
และเจ้าจักได้เป็นใหญ่ในโภคะในตระกูลของพ่อ
ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดลูกพ่อ
เราจะพากันกลับบ้านเดี๋ยวนี้
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๙๙] ท่านเข้าใจว่าเราเป็นสัตว์ใจดีมิใช่หรือ
ไฉนจึงเฆี่ยนตีเราด้วยเรียวไผ่
เราพอใจอยู่ในป่ามะม่วงที่มีผลสุก
ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด
สาลกชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒. ทุกนิบาต] ๑๐. สิงคาลวรรค ๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
๑๐. กปิชาดก (๒๕๐)
ว่าด้วยการเข้าใจผิดว่าลิงเป็นฤๅษี
(ดาบสกุมารเห็นลิงปลอมมีความสงสารจึงกล่าวกับดาบสโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดาว่า)
[๒๐๐] ฤๅษีผู้นี้ยินดีในความสงบและความสำรวม
ท่านถูกภัยคือความหนาวเบียดเบียนยืนอยู่
เชิญท่านฤๅษีเข้ามายังบรรณศาลานี้
เพื่อบรรเทาความหนาว ความกระวนกระวายทั้งสิ้นเถิด
(พระโพธิสัตว์ฟังคำของบุตรแล้วจึงลุกขึ้นมองดูก็รู้ว่าเป็นลิง จึงกล่าวว่า)
[๒๐๑] ผู้นี้มิใช่ฤๅษีผู้ยินดีในความสงบและความสำรวมหรอก
แต่เป็นลิงที่ห้อยโหนไปตามกิ่งมะเดื่อ
มันมักประทุษร้าย มักโกรธ และมีสันดานเลวทราม
ถ้ามันเข้ามา มันก็จะพึงทำลายบรรณศาลานี้
กปิชาดกที่ ๑๐ จบ
สิงคาลวรรคที่ ๑๐ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัพพทาฐิชาดก ๒. สุนขชาดก
๓. คุตติลชาดก ๔. วิคติจฉชาดก
๕. มูลปริยายชาดก ๖. พาโลวาทชาดก
๗. ปาทัญชลิชาดก ๘. กิงสุโกปมชาดก
๙. สาลกชาดก ๑๐. กปิชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. ทัฬหวรรค ๒. สันถววรรค
๓. กัลยาณวรรค ๔. อสทิสวรรค
๕. รุหกวรรค ๖. นตังทัฬหวรรค
๗. พีรณถัมภกวรรค ๘. กาสาววรรค
๙. อุปาหนวรรค ๑๐. สิงคาลวรรค

ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๑๙ }


๓. ติกนิบาต
๑. สังกัปปวรรค
หมวดว่าด้วยความดำริ
๑. สังกัปปราคชาดก (๒๕๑)
ว่าด้วยราคะเกิดเพราะความดำริ
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลถูกลูกศรคือกิเลสแทง จึงกราบ
ทูลพระราชาว่า)
[๑] อาตมาถูกลูกศรคือกิเลสอาบยาพิษคือราคะ
ซึ่งเกิดจากความดำริถึงกาม ลับที่หินคือวิตก
อันนายช่างศรยังมิได้ขัดถูให้เกลี้ยงเกลา
[๒] ยังมิได้ดึงสายธนูให้พ้นหมวกหูข้างขวาของคันธนู
ยังมิทันได้ติดขนปีกนกยูงเป็นต้น
แทงเข้าที่หัวใจทำความเร่าร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย
[๓] อาตมามิได้เห็นบาดแผลที่ถูกแทง
และเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลเลย
ตลอดเวลาที่ไม่ได้อบรมจิตด้วยอุบายอันแยบคาย
อาตมาได้นำทุกข์มาให้แก่ตนเสียเอง
สังกัปปราคชาดกที่ ๑ จบ

๒. ติลมุฏฐิชาดก (๒๕๒)
ว่าด้วยการผูกโกรธเพราะเมล็ดงาเพียงกำมือเดียว
(พรหมทัตตกุมารทรงผูกโกรธอาจารย์ไม่หาย จึงตรัสกับอาจารย์ว่า)
[๔] การที่ท่านอาจารย์จับแขนข้าพเจ้าแล้วเฆี่ยนข้าพเจ้าด้วยไม้เรียว
เพราะงากำมือเดียวนั้นยังฝังใจข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๐ }


๑. สังกัปปวรรค ๓. มณิกัณฐชาดก (๒๕๓)
[๕] ท่านพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ใยดีในชีวิตของตนละซิ
จึงมาที่นี้ เพราะท่านเคยจับแขนข้าพเจ้าเฆี่ยนถึง ๓ ครั้ง
(อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวกราบทูลว่า)
[๖] อารยชนบางคนย่อมกีดกันคนกระทำความชั่วด้วยอาชญา
การกระทำนั้นเป็นการสอนหาใช่เป็นเวรไม่
บัณฑิตทั้งหลายรู้เหตุนั้นอย่างนี้
ติลมุฏฐิชาดกที่ ๒ จบ

๓. มณิกัณฐชาดก (๒๕๓)
ว่าด้วยการขอแก้วมณี
(พญานาคเมื่อจะห้ามดาบสมิให้ขอ จึงได้กล่าวว่า)
[๗] เพราะแก้วมณีดวงนี้เป็นเหตุทำให้ข้าวน้ำเกิดขึ้น
แก่ข้าพเจ้ามากมาย
ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป
ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้ว
[๘] เมื่อท่านขอแก้วมณีจนทำให้ข้าพเจ้าหวาดกลัว
เหมือนชายหนุ่มถือดาบคมที่ลับด้วยหินทำให้ผู้อื่นสะดุ้งกลัว
ข้าพเจ้าให้แก้วมณีท่านไม่ได้ ท่านเป็นคนขอเกินไป
ข้าพเจ้าจะไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้ว
(ดาบสโพธิสัตว์ผู้พี่ได้กล่าวกับดาบสผู้น้องว่า)
[๙] บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา
อนึ่ง เพราะขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง
นาคราชถูกฤาษีขอแก้วมณี
จึงไม่หวนกลับมาให้ฤาษีเห็นอีกเลย๑
มณิกัณฐชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๑/๓๔๔/๓๗๙-๓๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก (๒๕๔)
ว่าด้วยม้าสินธพกินรำข้าว
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้าเมื่อจะทดลองลูกม้าสินธพ จึงกล่าวว่า)
[๑๐] หญ้าอันเป็นเดน ข้าวตัง
และรำข้าวเจ้าเคยกินมาแล้ว
นั่นเป็นอาหารของเจ้า
เพราะเหตุใดบัดนี้เจ้าจึงไม่กิน
(ลูกม้าสินธพได้กล่าวว่า)
[๑๑] มหาพราหมณ์ สถานที่ใดประชาชนไม่รู้จัก
สัตว์เลี้ยงโดยชาติ โดยวินัย๑
สถานที่นั้นมีข้าวตังและรำข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก
[๑๒] ส่วนท่านรู้จักข้าพเจ้าดีว่า ม้านี้เป็นม้าชั้นยอดชนิดใด
ข้าพเจ้ารู้อยู่ เพราะอาศัยท่านผู้รู้ จึงไม่กินรำข้าวของท่าน
กุณฑกกุจฉิสินธวชาดกที่ ๔ จบ

๕. สุกชาดก (๒๕๕)
ว่าด้วยลูกนกแขกเต้า
(พระศาสดาครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๑๓] นกแขกเต้าตัวนั้นรู้ประมาณในการกินอาหารเพียงใด
จะมีอายุยืนและเลี้ยงดูมารดาบิดาได้นานเพียงนั้น
[๑๔] แต่เมื่อกลืนกินอาหารมากเกินไป
มันจึงจมลงแล้วในสมุทรนั้น
เพราะว่ามันไม่รู้จักประมาณ

เชิงอรรถ :
๑ วินัย ในที่นี้หมายถึงความประพฤติ (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๑/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
[๑๕] เพราะฉะนั้น การรู้จักประมาณ
คือการไม่ติดอยู่ในรสอาหารเป็นการดี
บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณจะจมลง๑
ผู้รู้จักประมาณจะไม่จมลง
สุกชาดกที่ ๕ จบ

๖. ชรูทปานชาดก (๒๕๖)
ว่าด้วยขุดบ่อน้ำเก่า
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๑๖] พ่อค้าทั้งหลายที่มีความต้องการน้ำ
พากันขุดบ่อน้ำเก่าอยู่ ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง
แร่ดีบุก แร่ตะกั่ว แร่เงิน แร่ทอง แก้วมุกดา
แก้วไพฑูรย์เป็นจำนวนมาก
[๑๗] แต่พ่อค้าเหล่านั้นไม่ยินดีด้วยทรัพย์นั้น
ได้พากันขุดลึกยิ่งขึ้นไปอีก
พญานาคตัวมีพิษร้ายแรงมีเดชกล้าในบ่อน้ำนั้น
ได้ฆ่าพวกเขาด้วยเดชแห่งพิษ
[๑๘] เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อจะขุดอย่าขุดลึกเกินไป
เพราะว่าบ่อน้ำที่ขุดลึกเกินไปไม่เป็นการดี
ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าขุดได้มาและชีวิตของพวกพ่อค้า
ถูกพญานาคให้พินาศไปเพราะการขุดลึกเกินไป
ชรูทปานชาดกที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จมลง ในที่นี้ หมายถึงจมลงในอบายภูมิทั้ง ๔ อันเป็นสภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ คือ (๑) นิรยะ
นรก สภาวะหรือที่อันปราศจากความสุข มีแต่ความเร่าร้อน (๒) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน พวก
มืดบอดโง่เขลา (๓) ปิตติวิสัย แดนเปรตผู้มีแต่ความหิวโหย (๔) อสุรกาย พวกอสูร พวกหวาดหวั่น
ไร้ความรื่นเริง (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๕/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
๗. คามณิจันทชาดก (๒๕๗)
ว่าด้วยคามณิจันทพราหมณ์
(อาทาสมุขกุมารโพธิสัตว์เห็นกิริยาของพวกลิงแล้ว จึงได้กล่าวกับอำมาตย์
คามณิจันทพราหมณ์ว่า)
[๑๙] สัตว์นี้ไม่ฉลาด(ที่จะกะหรือสร้าง)บ้านเรือน
เป็นสัตว์มีปกติหลุกหลิกหน้าย่น
มักทำลายสิ่งที่เขาทำไว้แล้วสร้างไว้แล้ว
สัตว์ตระกูลนี้มีธรรมชาติอย่างนี้
[๒๐] ขนอย่างนี้มิใช่ขนของผู้มีจิตประกอบด้วยปัญญา
ลิงนี้เป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
พระเจ้าชนสันธะผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้า
ได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ว่า
ธรรมดาลิงไม่รู้เหตุที่ควรหรือไม่ควรอะไรเลย
[๒๑] สัตว์เช่นนั้นจะเลี้ยงดูมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย
หรือพี่สาว น้องสาวของตนไม่ได้เลย
พระเจ้าทศรถผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้าได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้
คามณิจันทชาดกที่ ๗ จบ

๘. มันธาตุราชชาดก (๒๕๘)
ว่าด้วยพระเจ้ามันธาตุ
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[๒๒] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรรอบภูเขาสิเนรุ
ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศมีกำหนดประมาณเท่าไร
สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มีกำหนดประมาณเท่านั้น
ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุหมดทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๑. สังกัปปวรรค ๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
[๒๓] ขึ้นชื่อว่าความอิ่มในกามทั้งหลายไม่มีแม้ด้วยฝนกหาปณะ
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อยแต่มีทุกข์มาก
บัณฑิตรู้ชัดแล้วอย่างนี้
[๒๔] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
แต่ยินดีในความสิ้นตัณหา
มันธาตุราชชาดกที่ ๘ จบ

๙. ติรีฏวัจฉชาดก (๒๕๙)
ว่าด้วยติรีฏวัจฉดาบส
(อุปราชเข้าไปเฝ้าพระราชาถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า)
[๒๕] กรรมอะไร ๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ไม่มีเลย
อนึ่ง ดาบสนี้เป็นพระญาติ เป็นพระสหายของพระองค์ก็หามิได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ติรีฏวัจฉดาบสผู้มีปกติถือไม้ ๓ ท่อน๑เที่ยวไป
จึงบริโภคโภชนะมีรสเลิศเล่า
(พระราชาทรงสรรเสริญคุณของติรีฏวัจฉดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[๒๖] เมื่อพ่อแพ้ในการรบ
ตกอยู่ในอันตรายแต่ผู้เดียว
ดาบสนั้นได้ทำการอนุเคราะห์ ยื่นมือช่วยเหลือ
พ่อผู้ตกยากอยู่ในป่าใหญ่อันทารุณ
เพราะการช่วยเหลือนั้น
พ่อผู้กำลังเผชิญทุกข์อยู่ก็ขึ้นจากบ่อน้ำได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม้ ๓ ท่อน ในที่นี้หมายถึงไม้ที่จะนำไปทำขาตั้งหม้อน้ำหรือคนโทน้ำ (ขุ.ชา.อ. ๔/๒๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
[๒๗] พ่อผู้ดำรงอยู่ในมนุษยโลกนี้
กำลังตกอยู่ในวิสัยของพญามัจจุราช มาถึงสถานที่นี้ได้
เพราะการช่วยเหลืออันแสนยากของดาบสนั้น
ลูกเอ๋ย ติรีฏวัจฉดาบสเป็นผู้สมควรแก่ลาภ๑
พวกเจ้าจงถวายปัจจัยที่ควรบริโภค
จงบูชาด้วยปัจจัยที่ควรบูชาแก่ท่านเถิด
ติรีฏวัจฉชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. ทูตชาดก (๒๖๐)
ว่าด้วยทุกชีวิตเป็นทูตของท้อง
(บุรุษโลเลคนหนึ่งได้เห็นวิธีเสวยพระกระยาหารของพระเจ้าโภชนสุทธิกโพธิสัตว์
ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก จึงกล่าว ๒ คาถาทูลว่า)
[๒๘] สัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาไปยังสถานที่ไกล
เพื่อจะขอแม้กับคนที่เป็นศัตรูเพื่อประโยชน์แก่ท้องใด
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
[๒๙] มนุษย์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของท้องใดทั้งกลางวันกลางคืน
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
(พระราชาได้สดับคำของบุรุษนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[๓๐] พ่อพราหมณ์ เราจะให้โคแดงสัก ๑,๐๐๐ ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน เพราะทูตจะไม่ให้แก่ทูตได้อย่างไร
แม้เราก็เป็นทูตของท้องนั้นเหมือนกัน
ทูตชาดกที่ ๑๐ จบ
สังกัปปวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย ๔ (ขุ.ชา.อ. ๔/๒๗/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังกัปปราคชาดก ๒. ติลมุฏฐิชาดก
๓. มณิกัณฐชาดก ๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก
๕. สุกชาดก ๖. ชรูทปานชาดก
๗. คามณิจันทชาดก ๘. มันธาตุราชชาดก
๙. ติรีฏวัจฉชาดก ๑๐. ทูตชาดก

๒. ปทุมวรรค
หมวดว่าด้วยดอกบัว
๑. ปทุมชาดก (๒๖๑)
ว่าด้วยลูกชายเศรษฐีขอดอกบัว
(ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งเรียกชายจมูกแหว่งมาแล้ว กล่าวขอดอกบัวว่า)
[๓๑] ผมและหนวดที่ขาดไปแล้ว ๆ ยังงอกขึ้นอีกฉันใด
ขอจมูกของท่านจงงอกขึ้นฉันนั้น
เราขอดอกบัวท่านแล้ว ขอท่านจงให้แก่เรา
(ลูกชายเศรษฐีคนที่ ๒ กล่าวขอว่า)
[๓๒] พืชที่เก็บไว้ในฤดูใบไม้ร่วง เขาหว่านลงในนาแล้วงอกขึ้นฉันใด
ขอจมูกของท่านจงงอกขึ้นฉันนั้น
เราขอดอกบัวท่านแล้ว ขอท่านจงให้แก่เรา
(พระโพธิสัตว์ลูกชายเศรษฐีคนที่ ๓ กล่าวขอว่า)
[๓๓] คนทั้ง ๒ คนนี้เพ้อเจ้ออยู่ด้วยคิดว่า
ผู้นี้จะให้ดอกบัวแก่เราบ้าง พวกเขาจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม
จมูกของท่านไม่มีทางจะงอกขึ้นได้
เราเพียงแต่ขอท่านเท่านั้น ท่านจงให้ดอกบัวแก่เรานะสหาย
ปทุมชาดกที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
๒. มุทุปาณิชาดก (๒๖๒)
ว่าด้วยพระราชาถูกหลอกด้วยคนฝ่ามืออันอ่อนนุ่ม
(พระราชธิดาให้แม่นมเรียนคาถาไปทูลพระราชกุมารว่า)
[๓๔] เมื่อใด มีคนใช้ที่มีฝ่ามืออ่อนนุ่ม
ช้างที่ฝึกไว้ดีแล้ว เวลามืด และฝนตก
เมื่อนั้น พระองค์พึงสมประสงค์แน่นอน
(พระราชาโพธิสัตว์ไม่อาจจะรักษาพระราชธิดาไว้ได้ จึงได้ตรัสว่า)
[๓๕] หญิงเหล่านั้นพูดจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักพอ
ให้เต็มได้ยากเหมือนกับแม่น้ำ ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล
[๓๖] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตน
มุทุปาณิชาดกที่ ๒ จบ

๓. จูฬปโลภนชาดก (๒๖๓)
ว่าด้วยการประเล้าประโลมของหญิงเพียงครู่เดียว
(อนิตถิกุมารโพธิสัตว์ดำริจะช่วยเหลือดาบสผู้เสื่อมจากฌาน จึงได้ตรัสว่า)
[๓๗] ตัวท่านเองเดินมาได้บนผิวน้ำที่ไม่แตกแยกด้วยฤทธิ์
ครั้นถึงความคลุกคลีกับหญิง จึงจมลงในห้วงน้ำใหญ่
[๓๘] ธรรมดาหญิงทั้งหลายมีความหมุนเวียนเปลี่ยนอยู่เสมอ
มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ
ย่อมจมลง(ในนรก)
บุคคลรู้ชัดเนื้อความข้อนั้นแล้ว พึงเว้นให้ห่างไกล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
[๓๙] หญิงเหล่านั้นคบหาชายใด
ด้วยความพอใจหรือด้วยทรัพย์ก็ตาม
ย่อมตามเผาผลาญชายนั้นทันที
เหมือนไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ของตน
จูฬปโลภนชาดกที่ ๓ จบ

๔. มหาปนาทชาดก (๒๖๔)
ว่าด้วยปราสาทของพระเจ้ามหาปนาทะ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๔๐] พระราชาทรงพระนามว่าปนาทะ ทรงมีปราสาททองคำ
กว้าง ๑๖ ชั่วลูกธนูตก สูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู
[๔๑] ปราสาทสูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู มีพื้น ๑๐๐ ชั้น
ประดับประดาด้วยธงแก้วมณีสีเขียว มีนักฟ้อนอยู่ ๖,๐๐๐ คน
โดยแบ่งออกเป็น ๗ พวก ฟ้อนรำอยู่ในปราสาทนั้น
[๔๒] ภัททชิ เธอพูดถึงปราสาทตามที่มีแล้วในกาลนั้น
ในกาลนั้นตถาคตเป็นท้าวสักกเทวราช
เป็นผู้ขวนขวายช่วยเหลือการงานของเธอ
มหาปนาทชาดกที่ ๔ จบ

๕. ขุรัปปชาดก (๒๖๕)
ว่าด้วยคนกล้าไม่กลัวลูกศรที่คม
(บุตรพ่อค้าถามพระโพธิสัตว์ผู้เป็นหัวหน้าทำหน้าที่อารักขาว่า)
[๔๓] เมื่อมรณภัยนั้นปรากฏเฉพาะหน้า
เพราะเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลมคมด้วยความว่องไว
และถือดาบที่ทาน้ำมันอันคมกริบ
เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงไม่สะดุ้งกลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
(พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าว ๒ คาถาว่า)
[๔๔] เมื่อมรณภัยนั้นปรากฏเฉพาะหน้า
เพราะเห็นพวกโจรยิงลูกธนูแหลมคมด้วยความว่องไว
และถือดาบที่ทาน้ำมันอันคมกริบ
ข้าพเจ้ากลับยินดีและพอใจมากที่สุด
[๔๕] ข้าพเจ้านั้นมีความยินดีจึงย่ำยีศัตรูได้
ข้าพเจ้าได้สละชีวิตไว้ก่อนแล้ว เพราะเมื่อยังอาลัยในชีวิต
บุคคลกล้าหาญจะกระทำกิจของผู้กล้าหาญในกาลใด ๆ ไม่ได้เลย
ขุรัปปชาดกที่ ๕ จบ

๖. วาตัคคสินธวชาดก (๒๖๖)
ว่าด้วยม้าสินธพชื่อวาตัคคะ
(ลูกลาได้เข้าไปหาแม่ลาแล้วถามว่า)
[๔๖] แม่เป็นโรคผอมเหลืองไม่ใยดีอาหารเพราะม้าตัวใด
ม้านั้นคือตัวนี้มาภักดีแล้ว
บัดนี้ เพราะเหตุไร แม่จึงให้ม้านั้นหนีไปเสียเล่า
(แม่ลาได้ฟังคำของลูก จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ก็ถ้าความเชยชิดเกิดมีแต่แรกพบ
ชื่อเสียงของสตรีจะเสียหาย
เพราะเหตุนั้น ลูกเอ๋ย แม่จึงทำให้ม้านั้นหนีไป
(พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาว่า)
[๔๘] หญิงใดไม่ปรารถนาชายมียศศักดิ์
เกิดในตระกูลสูงที่เขาชักนำมาแล้ว จะเสียใจไปนานแสนนาน
เหมือนภัททลีแม่ลาเสียใจเพราะคิดถึงม้าสินธพที่ชื่อวาตัคคะ
วาตัคคสินธวชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
๗. สุวัณณกักกฏกชาดก (๒๖๗)
ว่าด้วยนางช้างพังอ้อนวอนปูทอง
(ช้างโพธิสัตว์ให้ช้างพังทราบว่าตนถูกปูหนีบเพื่อจะไม่ให้นางหนีไป จึงกล่าวว่า)
[๔๙] เราถูกปูทองซึ่งมีตาโปนออกมา
มีกระดูกเป็นหนังอาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน หนีบแล้ว
ร้องขอความกรุณาอยู่
เจ้าอย่าทิ้งเราผู้เป็นสามีคู่ชีวิตไปเลย
(ช้างพังหันกลับไปปลอบโยนพระโพธิสัตว์ว่า)
[๕๐] ข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันจะไม่ทิ้งท่าน
ผู้เป็นช้างมีอายุ ๖๐ ปี เสื่อมกำลัง
ท่านเป็นสามีสุดที่รักของดิฉัน
ยิ่งกว่าแผ่นดินอันมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
(ช้างพังอ้อนวอนปูทองว่า)
[๕๑] ท่านเป็นสัตว์น้ำที่ประเสริฐกว่าปูทั้งหลายในสมุทร
ในแม่น้ำคงคา และในแม่น้ำยมุนา
ขอท่านจงปล่อยสามีของข้าพเจ้าผู้ร้องไห้อยู่เถิด
สุวัณณกักกฏกชาดกที่ ๗ จบ

๘. อารามทูสกชาดก (๒๖๘)
ว่าด้วยลิงทำลายสวน
(พระโพธิสัตว์เห็นกิริยาของลิง จึงกล่าวว่า)
[๕๒] ลิงตัวที่ได้รับสมมติว่าประเสริฐที่สุด
กว่าลิงทั้งปวงที่มีชาติเสมอกัน ยังมีปัญญาเพียงแค่นี้
ส่วนลิงนอกจากนี้จะมีปัญญาเช่นไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑๐. อุลูกชาดก
(พวกลิงได้ฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๕๓] ท่านผู้ประเสริฐ ท่านยังไม่รู้จึงได้ติเตียนอย่างนี้
พวกเราไม่เห็นรากแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า
ต้นไม้หยั่งรากลงลึกแค่ไหน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๕๔] เราไม่ติเตียนพวกเจ้าที่เป็นลิงป่าหรอก
แต่ผู้ที่ควรถูกตำหนิคือพระเจ้าวิสสเสนะ
ที่พวกเจ้าปลูกต้นไม้ให้
อารามทูสกชาดกที่ ๘ จบ

๙. สุชาตาชาดก (๒๖๙)
ว่าด้วยทรงปรารภนางสุชาดา
(พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตได้ตรัสกับพระมารดาว่า)
[๕๕] ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม แต่พูดจาหยาบกระด้าง
ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๕๖] พระองค์ทรงทอดพระเนตรแล้วมิใช่หรือ
นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว
แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก
เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ
[๕๗] เพราะฉะนั้นบุคคลควรพูดคำอันสละสลวย
คิดก่อนพูด พูดพอประมาณไม่ฟุ้งซ่าน
ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม
เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต
สุชาตาชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๒. ปทุมวรรค ๑๐. อุลูกชาดก
๑๐. อุลูกชาดก (๒๗๐)
ว่าด้วยนกเค้า
(กาตัวหนึ่งไม่พอใจการตั้งนกเค้าให้เป็นราชา จึงกล่าวกับนกทั้งหลายว่า)
[๕๘] ได้ข่าวว่า พวกญาติทั้งหมดจะแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่
ถ้าพวกญาติอนุญาต ข้าพเจ้าจะขอพูดสักคำหนึ่ง
(นกทั้งหลายอนุญาตว่า)
[๕๙] เอาเถิดเพื่อน พวกเราทั้งหมดอนุญาต
แต่เจ้าจงพูดแต่ถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมเท่านั้น
เพราะว่าพวกนกหนุ่ม ๆ ที่มีปัญญา
และทรงไว้ซึ่งญาณอันรุ่งเรืองยังมีอยู่
(กาได้รับอนุญาตแล้ว จึงกล่าวว่า)
[๖๐] ขอความเจริญรุ่งเรืองจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
การที่แต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่นั้น ข้าพเจ้ายังไม่ชอบใจ
ท่านจงมองดูหน้านกเค้าที่ยังไม่โกรธดูซิ
ถ้านกเค้าโกรธจะทำหน้าอย่างไร
อุลูกชาดกที่ ๑๐ จบ
ปทุมวรรคที่ ๒ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปทุมชาดก ๒. มุทุปาณิชาดก
๓. จูฬปโลภนชาดก ๔. มหาปนาทชาดก
๕. ขุรัปปชาดก ๖. วาตัคคสินธวชาดก
๗. สุวัณณกักกฏกชาดก ๘. อารามทูสกชาดก
๙. สุชาตาชาดก ๑๐. อุลูกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
๓. อุทปานวรรค
หมวดว่าด้วยบ่อน้ำ
๑. อุทปานทูสกชาดก (๒๗๑)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกทำลายบ่อน้ำ
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวกับสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๖๑] นี่เพื่อน ทำไมเจ้าจึงได้ถ่ายรดบ่อน้ำดื่มที่ขุดได้ยาก
ของพวกฤาษีชีไพรผู้บำเพ็ญตบะอยู่ตลอดกาลนานเล่า
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๒] พวกเราดื่มน้ำที่ใดแล้วย่อมถ่ายลงที่นั้น
นั้นเป็นธรรมของพวกสุนัขจิ้งจอก
และเป็นธรรมของพวกเรามาตั้งแต่ครั้งบิดาและปู่
ท่านไม่ควรจะกล่าวโทษธรรมนั้น
(ต่อแต่นั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า)
[๖๓] ธรรมของพวกเจ้ายังเป็นเช่นนี้
ก็สภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าจะเป็นเช่นไร
ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรม
หรือสภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าในกาลไหน ๆ เลย
อุทปานทูสกชาดกที่ ๑ จบ

๒. พยัคฆชาดก (๒๗๒)
ว่าด้วยรุกขเทวดาอ้อนวอนราชสีห์และเสือ
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์ได้กล่าวกับรุกขเทวดานอกนี้ว่า)
[๖๔] เพราะการคบหามิตรใด ความปลอดภัยจะหมดไป
บัณฑิตควรรักษาลาภยศและชีวิตของตน
ที่มิตรนั้นเคยครอบครองมาก่อนเอาไว้ประดุจบุคคลรักษาดวงตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
[๖๕] เพราะการคบหากับมิตรใด ความปลอดภัยเพิ่มพูนมากขึ้น
บัณฑิตควรทำการช่วยเหลือในกิจทุกอย่างของมิตรนั้น
ให้เหมือนกับทำให้กับตนเอง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๖๖] มาเถิดราชสีห์และเสือ พวกเจ้าจงกลับไปยังป่าใหญ่
ขอมนุษย์อย่าโค่นป่าที่ปราศจากราชสีห์และเสือ
ขอพวกราชสีห์และเสือก็อย่าปราศจากป่าเลย
พยัคฆชาดกที่ ๒ จบ

๓. กัจฉปชาดก (๒๗๓)
ว่าด้วยฤาษีขอร้องเต่า
(พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษีเมื่อจะล้อเล่นกับลิงทุศีล จึงกล่าวว่า)
[๖๗] ใครหนอเดินมาเหมือนคนถือภัตตาหารมาเต็มถาด
เหมือนพราหมณ์ได้ลาภเต็มมือ
เจ้าไปเที่ยวภิกขาจารที่ไหนหนอ เข้าไปหาผู้มีศรัทธาคนใดมา
(ลิงทุศีลได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๖๘] ข้าพเจ้าเป็นลิงโง่เขลาจับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง
ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงช่วยปล่อยข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้วจะไปยังภูเขา
(พระโพธิสัตว์เจรจากับเต่าว่า)
[๖๙] ธรรมดาเต่าเป็นต้นตระกูลกัสสปโคตร
ลิงเป็นต้นตระกูลโกณฑัญญโคตร
กัสสปะ ท่านจงปล่อยโกณฑัญญะเสียเถิด
ท่านได้เคยร่วมเมถุน๑กันมาแล้ว
กัจฉปชาดกที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เคยร่วมเมถุน ในที่นี้หมายถึงเต่าเคยเสพสังวาสกับลิง (ขุ.ชา.อ. ๔/๑๖๙/๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
๔. โลลชาดก (๒๗๔)
ว่าด้วยโทษของความโลเล
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกานั้นทอดถอนใจอยู่ เมื่อจะล้อเล่น จึงกล่าวว่า)
[๗๐] นกยางอะไรนี่มีหงอน เป็นโจร มีเมฆเป็นปู่๑
แม่นกยาง เจ้าจงลงมาข้างล่างนี้เถิด
กาสหายของเราเป็นสัตว์ดุร้าย
(กาได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[๗๑] เรามิใช่นกยางมีหงอนหรอก
เราเป็นกาโลเล ไม่เชื่อฟังคำของท่าน
ท่านจงมาดูเถิด เรากลายเป็นกามีขนเกรียนไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๒] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
โลลชาดกที่ ๔ จบ

๕. รุจิรชาดก (๒๗๕)
ว่าด้วยเรื่องนกกาที่น่ารัก
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๗๓] นกยางตัวนี้ช่างน่ารักเสียนี่กระไร
มาอาศัยอยู่ในรังกา
นั่นเป็นรังของกาดุร้ายสหายของเรา

เชิงอรรถ :
๑ มีก้อนเมฆเป็นปู่ ในที่นี้หมายถึงนกยางทั้งหลายจะตั้งครรภ์ (มีไข่) ได้ ต้องได้ยินเสียงเมฆครางกระหึ่ม
เสียก่อน จึงตั้งครรภ์ได้ (ดู อธิบาย วิ.อ. ๑/๒๒๒-๒๒๓) นี้เป็นธรรมดาของนกยาง (ขุ.ชา.อ. ๔/๗๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
(กากล่าวว่า)
[๗๔] ท่านรู้จักเราดีมิใช่หรือ พิราบเพื่อนรัก
ผู้มีข้าวฟ่างและลูกเดือยเป็นอาหาร
เราไม่เชื่อฟังคำของท่าน ท่านจงมาดูเถิด
เรากลายเป็นกาขนเกรียนไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๗๕] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
รุจิรชาดกที่ ๕ จบ

๖. กุรุธัมมชาดก (๒๗๖)
ว่าด้วยธรรมของชาวกุรุ
(พราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญคุณของพระอุปราชโพธิสัตว์ว่า)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าเหล่าชน
ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้ว
จะขอรับพระราชทานแลกเปลี่ยนทองคำกับพญาช้างอัญชนวรรณ
นำไปไว้ในแคว้นกาลิงคะ พระเจ้าข้า
(พระอุปราชโพธิสัตว์ตอบว่า)
[๗๗] สัตว์ทั้งหมดนั้นที่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี
ไม่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี ในมนุษยโลกนี้ ตัวใดเจาะจงไปหา
เราไม่ควรปฏิเสธ นี้เป็นคำของบูรพาจารย์
[๗๘] พราหมณ์ทั้งหลาย เราจะให้พญาช้างนี้ที่สมควรแก่พระราชา
เหมาะที่พระราชาจะทรงใช้สอย มียศ ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ปกคลุมกระพองด้วยข่ายทองคำแก่พวกท่านพร้อมทั้งนายควาญ
พวกท่านจงไปตามปรารถนาเถิด
กุรุธัมมชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
๗. โรมชาดก (๒๗๗)
ว่าด้วยดาบสลวงนกพิราบโรมะ
(ดาบสโกงคิดจะลวงจับนกพิราบกิน จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า)
[๗๙] โรมกะ เราอยู่ในถ้ำศิลามา ๕๐ กว่าปี
เมื่อก่อนนกทั้งหลายไม่หวาดระแวง
ไว้ใจจึงบินมาเกาะที่มือเรา
[๘๐] วักกังคะ คราวนี้ทำไม
นกเหล่านั้นจึงพยายามหนีไปอยู่ซอกเขาแห่งอื่น
นกทั้งหลายไม่นับถือเราเหมือนเมื่อก่อนกระมัง
หรือจากไปเสียนาน จึงจำเราไม่ได้
หรือนกพวกนี้มิใช่นกพวกนั้น
(นกพิราบโพธิสัตว์ได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๘๑] พวกเราจำท่านได้ดี ไม่ลืมหรอก
ท่านก็คือดาบสรูปนั้นแหละ พวกเราก็ไม่ใช่นกพวกอื่น
แต่จิตของท่านประทุษร้ายในสัตว์เหล่านี้
ท่านอาชีวก เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงกลัวท่าน
โรมชาดกที่ ๗ จบ

๘. มหิสชาดก (๒๗๘)
ว่าด้วยลิงกับกระบือ
(รุกขเทวดาได้กล่าวกับกระบือโพธิสัตว์ว่า)
[๘๒] เพราะมุ่งหมายประโยชน์อะไรต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก
มีปกติประทุษร้ายมิตร ท่านจึงอดกลั้นทุกข์นี้ไว้
เหมือนคนอดกลั้นต่อเจ้านาย
ผู้ให้สิ่งที่ต้องการได้ทุกอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๓. อุทปานวรรค ๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
[๘๓] ท่านจงขวิดมัน จงเหยียบมัน
ถ้าไม่ปรามมันไว้บ้าง
พวกสัตว์โง่ก็จะพึงเบียดเบียนหนักข้อขึ้น
(กระบือโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๘๔] ก็เมื่อเจ้าลิงตัวนี้เข้าใจว่ากระบือตัวอื่นเหมือนข้าพเจ้า
จักกระทำอนาจารอย่างนี้
กระบือเหล่านั้นก็จักฆ่ามันเสียในที่นั้น
ข้าพเจ้าจักพ้นจากปาณาติบาต
มหิสชาดกที่ ๘ จบ

๙. สตปัตตชาดก (๒๗๙)
ว่าด้วยมาณพเข้าใจผิดนกกระไน
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๘๕] นางสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวไปในป่าปรารถนาดี
ประกาศให้รู้ในหนทาง
มาณพเข้าใจว่าเป็นผู้ไม่ปรารถนาดี
แต่เข้าใจนกกระไนผู้ไม่ปรารถนาดีว่า
เป็นผู้ปรารถนาดี ฉันใด
[๘๖] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อผู้หวังดีกล่าวสอน ก็ไม่รับคำสอน
[๘๗] อนึ่ง ชนเหล่าใดสรรเสริญบุคคลนั้น
หรือยกย่องบุคคลนั้น เพราะความกลัว
เขาย่อมเข้าใจบุคคลนั้นว่าเป็นมิตร
เหมือนมาณพเข้าใจนกกระไน
สตปัตตชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
๑๐. ปุฏทูสกชาดก (๒๘๐)
ว่าด้วยลิงผู้ชอบทำลายพวงดอกไม้
(พราหมณ์โพธิสัตว์เรียกลิงจ่าฝูงมาว่ากล่าวว่า)
[๘๘] พญาเนื้อ ท่านเห็นจะเป็นผู้ฉลาดในการทำห่อใบไม้เป็นแน่แท้
เพราะฉะนั้นจึงได้รื้อมันเสีย
คงจะกระทำพวงอื่นให้ดีกว่าเป็นแน่
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงได้กล่าวว่า)
[๘๙] มารดาบิดาของข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการทำพวงใบไม้ก็หาไม่
พวกเราได้แต่รื้อสิ่งของที่เขาทำไว้แล้ว ๆ เท่านั้น
ตระกูลของพวกเรานี้มีธรรมอย่างนี้
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวว่า)
[๙๐] ธรรมของพวกเจ้ายังเป็นเช่นนี้
ก็สภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าจะเป็นเช่นไร
ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรม
หรือสภาพที่มิใช่ธรรมของพวกเจ้าในกาลไหน ๆ เลย
ปุฏทูสกชาดกที่ ๑๐ จบ
อุทปานวรรคที่ ๓ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุทปานทูสกชาดก ๒. พยัคฆชาดก
๓. กัจฉปชาดก ๔. โลลชาดก
๕. รุจิรชาดก ๖. กุรุธัมมชาดก
๗. โรมชาดก ๘. มหิสชาดก
๙. สตปัตตชาดก ๑๐. ปุฏทูสกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
๔. อัพภันตรวรรค
หมวดว่าด้วยผลไม้ทิพย์ชื่ออัพภันตระ
๑. อัพภันตรชาดก (๒๘๑)
ว่าด้วยผลไม้ทิพย์ชื่ออัพภันตระ
(ท้าวสักกะทรงเจรจากับพระมเหสีของพระราชาว่า)
[๙๑] ผลของต้นมะม่วงที่ชื่ออัพภันตระ เป็นผลไม้ทิพย์
หญิงแพ้ท้องบริโภคแล้ว จะประสูติโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
[๙๒] พระนางผู้เจริญ แม้พระนางก็จะได้เป็นพระมเหสี
ทั้งจะได้เป็นที่โปรดปรานของพระสวามี
พระราชาจักทรงนำผลมะม่วงชื่ออัพภันตระนี้
มาพระราชทานแก่พระนาง
(นกแขกเต้าสุวโปตกะได้กล่าวกับพวกรากษสว่า)
[๙๓] บุคคลผู้กล้าหาญยอมเสียสละชีวิตร่างกาย
พยายามทำประโยชน์แก่ผู้ที่เลี้ยงดูตนมา
ย่อมประสบฐานะอันใด ข้าพเจ้าก็จะประสบฐานะอันนั้นเช่นกัน
อัพภันตรชาดกที่ ๑ จบ

๒. เสยยชาดก (๒๘๒)
ว่าด้วยคบคนดีผู้คบก็เป็นคนดี
(พระราชาโพธิสัตว์สนทนากับเหล่าอำมาตย์ว่า)
[๙๔] ผู้ใดคบหาบุคคลผู้ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่ามีส่วนอันประเสริฐ เป็นผู้ประเสริฐ
เรากระทำไมตรีกับพระราชาโจรองค์เดียวแล้ว
ได้ปลดปล่อยพวกท่านตั้ง ๑๐๐ คนให้พ้นการถูกประหารชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
[๙๕] เพราะฉะนั้น บุคคลเพียงผู้เดียว
กระทำไมตรีกับชาวโลกทั้งปวง
ละโลกนี้ไปแล้วพึงไปสู่สวรรค์
พวกท่านผู้เป็นชาวกาสีจงฟังคำของเรานี้เถิด
(พระศาสดาตรัสพระคาถาว่า)
[๙๖] พระเจ้ากังสมหาราชผู้ทรงปกครองกรุงพาราณสี
ครั้นทรงมีพระดำรัสนี้แล้ว ทรงสละธนูและลูกศร
ทรงสำรวมออกผนวชแล้ว
เสยยชาดกที่ ๒ จบ

๓. วัฑฒกีสูกรชาดก (๒๘๓)
ว่าด้วยสุกรชื่อวัฑฒกี
(ชฎิลโกงเห็นเสือโคร่งกลับมาตัวเปล่า จึงกล่าวกับเสือโคร่งว่า)
[๙๗] เจ้าเสือโคร่ง ในวันก่อนเจ้าเที่ยวย่ำยีเหล่าสุกรที่นี้
แต่บัดนี้ เจ้าซบเซามาแต่ผู้เดียว
วันนี้ เจ้าไม่มีแรงหรือ เสือโคร่ง
(เสือโคร่งได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๙๘] ได้ยินว่า ในวันก่อนสุกรเหล่านี้เห็นข้าพเจ้าแล้วเกิดความกลัว
แยกย้ายกันวิ่งหนีไปหาที่ซุกซ่อนตัวละทิศละทาง
แต่วันนี้สุกรเหล่านั้นมาอยู่รวมกันในชัยภูมิที่ข้าพเจ้าจะย่ำยีได้ยาก
(เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในไพรสณฑ์นั้นได้กล่าวว่า)
[๙๙] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมฝูงสุกรที่มาประชุมพร้อมกัน
ข้าพเจ้าเห็นด้วยตัวเองซึ่งมิตรภาพอันไม่เคยปรากฏมาก่อน
จึงกล่าวสรรเสริญฝูงสูกรที่มีเขี้ยวเป็นกำลังจึงชนะเสือโคร่งได้
และพ้นมรณภัยได้ด้วยความสามัคคี
วัฑฒกีสูกรชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
๔. สิริชาดก (๒๘๔)
ว่าด้วยสมบัติเกิดขึ้นแก่ผู้มีบุญ
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๐๐] ผู้ไม่มีบุญจะมีศิลปะหรือไม่มีศีลปะก็ตามที
ขวนขวายรวบรวมทรัพย์ใดไว้เป็นจำนวนมาก
ทรัพย์นั้นผู้มีบุญย่อมได้ใช้สอย
[๑๐๑] สมบัติจำนวนมากล่วงเลยคนเหล่าอื่นไปเสีย
ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้กระทำบุญไว้ในที่ทั้งปวงเท่านั้น
แม้รัตนะทั้งหลายก็เกิดขึ้นในที่มิใช่บ่อเกิดแห่งรัตนะ
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงรัตนะเหล่านั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐๒] ไก่ แก้วมณี ไม้เท้า และหญิงชื่อปุญญลักขณาเทวี
เกิดขึ้นแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ไม่ทำบาปทำแต่บุญไว้แล้ว
สิริชาดกที่ ๔ จบ

๕. มณิสูกรชาดก (๒๘๕)
ว่าด้วยสุกรพยายามทำลายแก้วมณี
(สุกรทั้งหลายไม่เห็นอุบายจึงเข้าไปหาดาบสโพธิสัตว์ไหว้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[๑๐๓] พวกข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ตัว
ได้อาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณีถึง ๗ ปี
ได้ปรึกษากันว่า พวกเราจะทำลายประกายของแก้วมณี
[๑๐๔] แก้วมณีกลับผ่องใสยิ่งขึ้น
ตลอดเวลาที่พวกข้าพเจ้าเสียดสีมันอยู่
บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามถึงกิจนี้
ท่านเข้าใจกิจนี้อย่างไรในเรื่องนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
(ดาบสโพธิสัตว์บอกแก่สุกรเหล่านั้นว่า)
[๑๐๕] แก้วไพฑูรย์นี้บริสุทธิ์งามผ่องใส
ไม่มีใครสามารถจะทำลายรัศมีของแก้วไพฑูรย์นั้นให้เสียหายได้
สุกรทั้งหลาย พวกท่านจงพากันหนีไปเถิด
มณิสูกรชาดกที่ ๕ จบ

๖. สาลูกชาดก (๒๘๖)
ว่าด้วยสุกรสาลูกะถูกเลี้ยงไว้ฆ่า
(โคมหาโลหิตโพธิสัตว์ได้กล่าวกับโคจูฬโลหิตผู้น้องว่า)
[๑๐๖] เจ้าอย่าปรารถนาเป็นเช่นสุกรสาลูกะเลย
เพราะสุกรสาลูกะนี้กินอาหารที่ทำให้เดือดร้อน
เจ้าอย่าทะเยอทะยานไปนัก จงกินต้นข้าวลีบเถิด
นั่นเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน
[๑๐๗] อีกไม่นานนัก ข้าราชสำนักพร้อมกับบริวารนั้นจะเป็นแขกมาที่นี้
ตอนนั้นเจ้าจะเห็นสุกรสาลูกะถูกตีด้วยสากนอนตายอยู่
(พระศาสดาตรัสพระคาถานี้ว่า)
[๑๐๘] ครั้นเห็นสุกรสาลูกะถูกฆ่าด้วยสากนอนตายถูกชำแหละอยู่
โคแก่ทั้ง ๒ ได้คิดว่า ต้นข้าวลีบของพวกเราเท่านั้นประเสริฐที่สุด
สาลูกชาดกที่ ๖ จบ

๗. ลาภครหชาดก (๒๘๗)
ว่าด้วยวิธีการหลอกลวงเพื่อแสวงหาลาภ
(อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์ได้ตรัสกับมาณพผู้เป็นศิษย์ว่า)
[๑๐๙] ไม่บ้าก็ทำเป็นเหมือนคนบ้า
ไม่ใช่คนส่อเสียดก็ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
ไม่ใช่นักฟ้อนรำก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ
ไม่ตื่นข่าวก็ทำเป็นเหมือนตื่นข่าว
ย่อมได้ลาภในบุคคลที่ลุ่มหลงงมงาย
นี้เป็นคำสอนสำหรับเธอ
(ลูกศิษย์ได้ฟังคำของอาจารย์แล้ว จึงติเตียนลาภว่า)
[๑๑๐] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
หรือประพฤติไม่เป็นธรรม
[๑๑๑] ถึงแม้เราจะเป็นนักบวชถือบาตรเลี้ยงชีพ
การเลี้ยงชีพเช่นนั้นแหละยังดีกว่าการแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม
ลาภครหชาดกที่ ๗ จบ

๘. มัจฉุททานชาดก (๒๘๘)
ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา
(กุฎุมพีโพธิสัตว์ตรวจดูห่อทรัพย์แล้วจำตราของตนได้ จึงกล่าวว่า)
[๑๑๒] ปลาทั้งหลายมีราคาเกินกว่า ๑,๐๐๐ กหาปณะ
กับ ๗ มาสก ไม่มีคนที่จะเชื่อเรื่องนี้
แต่สำหรับข้าพเจ้ามีเงินอยู่ ๗ มาสก
ก็ซื้อปลาพวงนั้นได้
(เทวดาประจำแม่น้ำปรากฏกายอยู่ในอากาศ กล่าวว่า)
[๑๑๓] ท่านได้ให้อาหารแก่ฝูงปลาแล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าพเจ้า
เมื่อระลึกถึงส่วนกุศลนั้นและความอ่อนน้อมที่ท่านได้กระทำแล้ว
จึงรักษาทรัพย์ของท่านไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
(เทวดาบอกการโกงที่น้องชายกระทำแก่พระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๔] ผู้ใดทำกรรมชั่ว
ล่อลวงเอาทรัพย์สมบัติของพี่น้องชายของพ่อแม่
ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้มีจิตชั่วร้าย
ย่อมไม่มีความเจริญ
แม้เทวดาก็ไม่นับถือเขา
มัจฉุททานชาดกที่ ๘ จบ

๙. นานาฉันทชาดก (๒๘๙)
ว่าด้วยความต้องการที่ต่างกัน
(พราหมณ์กล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า)
[๑๑๕] ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน
แต่มีความต้องการต่างกัน คือ ข้าพระองค์ต้องการบ้านส่วย
ส่วนนางพราหมณีต้องการแม่โคนม ๑๐๐ ตัว
[๑๑๖] บุตรของข้าพระองค์ต้องการรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย
หญิงสะใภ้ต้องการต่างหูแก้วมณี
ส่วนนางปุณณิกาทาสีผู้ต่ำต้อยต้องการครก
กระด้ง และสาก พระเจ้าข้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสว่า)
[๑๑๗] ท่านทั้งหลายจงให้บ้านส่วยแก่พราหมณ์
แม่โคนม ๑๐๐ ตัวแก่นางพราหมณี
รถเทียมม้าอาชาไนยแก่บุตรของพราหมณ์
ต่างหูแก้วมณีแก่หญิงสะใภ้
และครก กระด้ง สากแก่นางปุณณิกาทาสีผู้ต่ำต้อย
นานาฉันทชาดกที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๔. อัพภันตรวรรค ๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
๑๐. สีลวีมังสกชาดก (๒๙๐)
ว่าด้วยการพิจารณาอานิสงส์ของศีล
(พราหมณ์ได้กราบทูลพระราชาถึงการกระทำของตนเพราะต้องการจะทดลอง
ศีลว่า)
[๑๑๘] ได้ยินว่า ศีลเป็นสิ่งที่ดีงาม
ศีลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมในโลก
ดูเถิด นาคที่พิษร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนใคร ๆ
เพราะสำนึกอยู่ว่าตนมีศีล
[๑๑๙] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองว่า
เป็นสิ่งที่ปลอดภัยในโลก
ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้มีศีลได้รับการขนานนามว่า
เป็นผู้ประพฤติข้อปฏิบัติของพระอริยะ
[๑๒๐] ผู้มีศีลเป็นที่รักของหมู่ญาติ
และรุ่งเรืองในหมู่มิตร
หลังจากตายแล้วจะไปสู่สุคติ
สีลวีมังสกชาดกที่ ๑๐ จบ
อัพภันตรวรรคที่ ๔ จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัพภันตรชาดก ๒. เสยยชาดก
๓. วัฑฒกีสูกรชาดก ๔. สิริชาดก
๕. มณิสูกรชาดก ๖. สาลูกชาดก
๗. ลาภครหชาดก ๘. มัจฉุททานชาดก
๙. นานาฉันทชาดก ๑๐. สีลวีมังสกชาดก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
๕. กุมภวรรค
หมวดว่าด้วยหม้อสมบัติ
๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก (๒๙๑)
ว่าด้วยคนเขลาย่อมเดือดร้อนเพราะทำลายหม้อสมบัติ
(พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาประมวลชาดก ตรัสพระคาถาว่า)
[๑๒๑] นักเลงได้หม้อที่สามารถจะบันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง
เขาย่อมประสบความสุขตลอดเวลาที่ยังรักษาหม้อนั้นไว้ได้
[๑๒๒] เมื่อใด เขาเมาสุรา คะนอง
ทำลายหม้อเสียเพราะความเมา
เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนเปลือยนุ่งห่มผ้าเก่า
กลายเป็นคนโง่เง่าเดือดร้อนในภายหลัง
[๑๒๓] ผู้ใดโง่เขลา ประมาท ได้ทรัพย์แล้วใช้สอยไปทำนองนี้
ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
เหมือนนักเลงทำลายหม้อขุมทรัพย์
ภัทรฆฏเภทกชาดกที่ ๑ จบ

๒. สุปัตตชาดก (๒๙๒)
ว่าด้วยเมียพญากาสุปัตตะแพ้ท้อง
(กากราบทูลพระราชาถึงเหตุที่ตนกระทำความชั่วว่า)
[๑๒๔] ข้าแต่มหาราช พญากาชื่อสุปัตตะ
มีบริวาร ๘๐,๐๐๐ ตัวแวดล้อม อาศัยอยู่ที่กรุงพาราณสี
[๑๒๕] เมียพญากานั้นชื่อนางสุปัสสาแพ้ท้อง
ต้องการจะกินพระกระยาหารของพระราชาอันมีค่ามาก
ที่พวกพ่อครัวปรุงแล้วในห้องเครื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
[๑๒๖] ข้าพระองค์เป็นทูตของกาเหล่านั้น
ถูกพญากาส่งมา จึงได้มา ณ ที่นี้
ข้าพระองค์จะกระทำความจงรักภักดีต่อเจ้านาย
จึงได้จิกจมูกคนเชิญเครื่องเสวยให้เป็นแผล
สุปัตตชาดกที่ ๒ จบ

๓. กายนิพพินทชาดก (๒๙๓)
ว่าด้วยความเบื่อหน่ายร่างกาย
(ฤๅษีโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทาน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๗] เมื่อเราถูกโรคภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเบียดเบียนอยู่
ได้รับทุกข์อย่างแรงกล้า
ร่างกายนี้จักซูบซีดโดยฉับพลัน
เหมือนดอกไม้ตกอยู่ที่ทรายกลางแดด
[๑๒๘] ร่างกายอันไม่น่าพอใจกลับเป็นสิ่งที่น่าพอใจ
ไม่สะอาดกลับเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่สะอาด
เต็มไปด้วยซากศพนานาชนิด
ปรากฏเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ไม่เห็นความจริง
[๑๒๙] น่าติเตียนนัก ร่างกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย
น่าเกลียด ไม่สะอาด มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
ที่หมู่สัตว์พากันมัวเมาหมกมุ่นอยู่
แล้วทำทางที่จะเข้าถึงสุคติให้เสื่อม
กายนิพพินทชาดกที่ ๓ จบ

๔. ชัมพุขาทกชาดก (๒๙๔)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกอยากกินลูกหว้า
(สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งต้องการจะลวงกากินลูกหว้าแสร้งสรรเสริญกาว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
[๑๓๐] ใครนั่นมีเสียงหยดย้อยยอดเยี่ยม
กว่าสัตว์ที่มีเสียงไพเราะทั้งหลาย จับอยู่ที่กิ่งต้นหว้า
เจรจาด้วยสำเนียงอันน่าพอใจ คล้ายลูกนกยูง
(กาสรรเสริญตอบสุนัขจิ้งจอกว่า)
[๑๓๑] กุลบุตรรู้จักสรรเสริญกุลบุตรด้วยกัน
นี่ท่านผู้มีผิวพรรณเช่นกับลูกเสือโคร่ง
เชิญท่านบริโภคเถิดเพื่อน
เราจะให้ลูกหว้าสุกแก่ท่าน
(เทวดาโพธิสัตว์เห็นกากับสุนัขจิ้งจอกกล่าวยกย่องกันตามที่ไม่เป็นจริง จึง
กล่าวว่า)
[๑๓๒] เราเห็นมานานแล้ว
คนที่มาประชุมกันพูดเท็จ สรรเสริญกันเอง
คือ กากินอาหารที่เขาคายแล้วและสุนัขจิ้งจอกกินซากศพ
ชัมพุขาทกชาดกที่ ๔ จบ

๕. อันตชาดก (๒๙๕)
ว่าด้วยที่สุด ๓ อย่าง
(กาตัวหนึ่งต้องการจะลวงสุนัขจิ้งจอกกินเนื้อ จึงกล่าวว่า)
[๑๓๓] พญาเนื้อ ลำตัวของท่านเหมือนพญาโคอุสภะ
การเยื้องกรายของท่านดุจพญาราชสีห์
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าพเจ้าจะได้อะไรบ้างเล่า
(สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๔] กุลบุตรรู้จักสรรเสริญกุลบุตรด้วยกัน
นี่พ่อกาผู้มีสร้อยคองามเหมือนนกยูง
เชิญท่านลงจากต้นละหุ่งเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
(รุกขเทวดาโพธิสัตว์เห็นกิริยาของกากับสุนัขจิ้งจอก จึงกล่าวว่า)
[๑๓๕] บรรดามฤคชาติทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด
บรรดาปักษีทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด
และบรรดารุกขชาติทั้งหลาย ต้นละหุ่งเป็นต้นไม้ที่เลวที่สุด
ที่สุด ๓ อย่าง มาประจวบกันเข้าแล้ว
อันตชาดกที่ ๕ จบ

๖. สมุททชาดก (๒๙๖)
ว่าด้วยสมุทร
(เทวดาโพธิสัตว์ประจำสมุทรเห็นกิริยาของกา จึงกล่าวว่า)
[๑๓๖] นี่ใครหนอ เที่ยวบินเวียนวนอยู่รอบทะเลน้ำเค็ม
คอยห้ามหมู่ปลาและหมู่มังกรอยู่
จึงเดือดร้อนอยู่ในเกลียวคลื่น
(กาน้ำได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๗] ข้าพเจ้าเป็นนกชื่ออนันตปายี
ปรากฏไปทั่วทุกทิศว่า เป็นผู้ไม่รู้จักอิ่ม
ต้องการจะดื่มสมุทรสาคร อันเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำลำธาร
(เทวดาประจำสมุทรได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๓๘] ห้วงน้ำใหญ่นี้นั้นจะลดลงหรือเต็มอยู่ก็ตามที
ที่สุดของน้ำแห่งห้วงน้ำใหญ่นั้นที่บุคคลดื่มแล้ว
ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้
ได้ยินว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้หมดสิ้นไปได้
สมุททชาดกที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
๗. กามวิลาปชาดก (๒๙๗)
ว่าด้วยผู้เพ้อถึงกาม
(บุรุษผู้ที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวเห็นกาบินมาทางอากาศ เรียกกามาเพื่อ
จะส่งข่าวถึงภรรยาสุดที่รัก จึงกล่าวว่า)
[๑๓๙] นกผู้มีปีกเป็นยานพาหนะบินได้สูง
ขอท่านช่วยบอกภรรยาของข้าพเจ้า
ผู้มีขาอ่อนประดุจลำต้นกล้วยให้ทราบด้วย
เมื่อนางไม่รู้จักรอคอยข้าพเจ้าเป็นเวลานาน
[๑๔๐] นางเองเป็นคนโหดร้าย ยังไม่รู้ว่าหลาวนี้เขาปักไว้
เพื่อเสียบประจานข้าพเจ้า ก็จะโกรธ
ความโกรธของนางย่อมทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน
แต่หลาวในที่นี้ไม่ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนเลย
[๑๔๑] หอก เกราะ และแหวนวงเล็ก ๆ ที่ทำด้วยทองเนื้อห้า
อนึ่ง ผ้าแคว้นกาสีอันมีเนื้อละเอียด
ข้าพเจ้าได้เก็บไว้ที่หัวนอน
ขอนางผู้มีความต้องการด้วยทรัพย์
จงยินดีด้วยทรัพย์ที่มีประมาณเท่านี้เถิด
กามวิลาปชาดกที่ ๗ จบ

๘. อุทุมพรชาดก (๒๙๘)
ว่าด้วยลิงหลอกลิงด้วยผลมะเดื่อ
(ลิงใหญ่หน้าดำตัวหนึ่งคิดจะลวงลิงเล็กเพื่อยึดที่อยู่ จึงกล่าวกับลิงเล็กว่า)
[๑๔๒] ต้นมะเดื่อ ต้นไทร และต้นมะขวิดเหล่านี้มีผลสุก
เจ้าจงออกมากินเถิด
จะยอมตายเพราะความหิวทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] ๕. กุมภวรรค ๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
(ลิงเล็ก ๆ เชื่อแล้วไป แต่ไม่ได้อะไร จึงกลับมาพบลิงใหญ่แล้วคิดจะลวงลิง
ใหญ่นั้นบ้าง จึงกล่าวว่า)
[๑๔๓] ผู้ใดอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
ผู้นั้นย่อมเป็นผู้อิ่มหนำสำราญ
เหมือนข้าพเจ้าได้กินผลไม้สุกจนอิ่มหนำสำราญในวันนี้
(ลิงใหญ่ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๔] ลิงลวงลิงป่าเพราะเหตุใด
เหตุนั้นลิงหนุ่มก็ไม่ควรเชื่อ ถึงลิงแก่เฒ่าก็ไม่ควรเชื่อ
อุทุมพรชาดกที่ ๘ จบ

๙. โกมาริยปุตตชาดก (๒๙๙)
ว่าด้วยลิงอ้างโกมาริยบุตรเป็นอาจารย์
(ดาบสเหล่านั้นเมื่อจะถามลิง ได้กล่าวว่า)
[๑๔๕] เมื่อก่อน เจ้าได้โลดเต้นเล่นคะนอง
ในสำนักของพวกเราผู้มีปกติเล่นคะนอง
ลิงเอ๋ย เจ้ามาทำกิริยาของลิงในอาศรมของพวกเราอีก
พวกเราไม่พอใจปกติของเจ้านั้นเลย
(ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔๖] เพราะฌานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว
จากสำนักอาจารย์ชื่อโกมาริยบุตรผู้เป็นพหูสูต๑
บัดนี้ ท่านอย่าได้สำคัญข้าพเจ้าเหมือนเมื่อก่อนเลย
ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าบำเพ็ญฌานอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เป็นพหูสูต ในที่นี้หมายถึงผู้ได้ยินได้ฟังและแทงตลอดกสิณบริกรรมเป็นอันมาก และสมาบัติ ๘ (ขุ.ชา.อ.
๔/๑๔๖/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้
(ดาบสเหล่านั้นกล่าวว่า)
[๑๔๗] แม้ถ้าบุคคลจะพึงหว่านพืชลงบนแผ่นหิน
และฝนจะพึงตกลงมาก็ตามที
พืชนั้นจะพึงงอกขึ้นมาหาได้ไม่
เจ้าลิงเอ๋ย จริงอยู่ ฌานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
ถึงเจ้าจะได้สดับมาแล้ว
เจ้าก็ยังอยู่ห่างไกลภูมิฌานนั่นอยู่ดี
โกมาริยปุตตชาดกที่ ๙ จบ

๑๐. วกชาดก (๓๐๐)
ว่าด้วยหมาใน
(พระศาสดาตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[๑๔๘] หมาในมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร
มีชีวิตอยู่ได้เพราะฆ่าสัตว์อื่น
สมาทานวัตรแล้วเข้าจำอุโบสถ
[๑๔๙] ท้าวสักกะทรงทราบถึงข้อปฏิบัติของหมาในนั้นแล้ว
ทรงจำแลงเพศเป็นแพะเข้าไปหา
หมาในนั้นต้องการจะดื่มเลือดจึงตบะแตก
โผเข้าไปหาแพะนั้น
ทำลายตบะที่ตนได้สมาทานแล้ว
[๑๕๐] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็เหมือนกัน
สมาทานข้อปฏิบัติอย่างเพลา ทำตนกลับกลอก
เหมือนหมาในกลับกลอกเพราะแพะเป็นเหตุ
วกชาดกที่ ๑๐ จบ
กุมภวรรคที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๓. ติกนิบาต] รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก ๒. สุปัตตชาดก
๓. กายนิพพินทชาดก ๔. ชัมพุขาทกชาดก
๕. อันตชาดก ๖. สมุททชาดก
๗. กามวิลาปชาดก ๘. อุทุมพรชาดก
๙. โกมาริยปุตตชาดก ๑๐. วกชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. สังกัปปวรรค ๒. ปทุมวรรค
๓. อุทปานวรรค ๔. อัพภันตรวรรค
๕. กุมภวรรค

ติกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๕ }


๔. จตุกกนิบาต
๑. กาลิงควรรค
หมวดว่าด้วยพระเจ้ากาลิงคะ
๑. จูฬกาลิงคชาดก (๓๐๑)
ว่าด้วยพระเจ้าจูฬกาลิงคะ
(นันทิเสนอำมาตย์เรียกคนรักษาประตูพระนคร ให้เขาเปิดประตูรับพระราชธิดา
ของพระเจ้าอัสสกะว่า)
[๑] ท่านทั้งหลายจงเปิดประตูถวายพระราชธิดาเหล่านี้
ขอพระราชธิดาเหล่านี้จงเสด็จเข้าพระนคร
ซึ่งข้าพเจ้าผู้มีนามว่านันทิเสนผู้เป็นดุจสีหะ
ได้รับการสั่งสอนมาดี ผู้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าอรุณ
ได้จัดการรักษาไว้ดีแล้ว
(พระเจ้ากาลิงคะทรงกลัวต่อมรณภัย จึงด่าดาบสว่า)
[๒] ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านได้กล่าวว่า
ชัยชนะจะมีแก่พระเจ้ากาลิงคะ
ผู้สามารถย่ำยีบุคคลที่ใครย่ำยีไม่ได้
ส่วนความปราชัย ความหายนะจะมีแก่พระเจ้าอัสสกะ
คนซื่อย่อมไม่พูดเท็จ
(ดาบสทูลถามท้าวสักกะว่า)
[๓] ข้าแต่ท้าวสักกะ พวกเทวดายังกล่าวเท็จอยู่อีกหรือ
บรรดาคำเหล่านั้น คำสัตย์เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ข้าแต่ท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงตรัสคำเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๖ }


๑. กาลิงควรรค ๒. มหาอัสสาโรหชาดก (๓๐๒)
(ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๔] พราหมณ์ ท่านเคยฟังมาแล้วมิใช่หรือ เขากล่าวกันว่า
เทวดาทั้งหลายกีดกันความบากบั่นของคนไว้ไม่ได้
การฝึกตนก็ดี ความตั้งใจไว้อย่างมั่นคงก็ดี
ความมีใจไม่แตกแยกก็ดี ความไม่ท้อถอยก็ดี
การรุกในเวลาที่ควรรุกก็ดี ความเพียรอันมั่นคงก็ดี
ความบากบั่นของคนก็ดี ได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
จูฬกาลิงคชาดกที่ ๑ จบ

๒. มหาอัสสาโรหชาดก (๓๐๒)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาอัสสาโรหะ
(พระราชาโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระโอรสว่า)
[๕] ผู้ใดเมื่อให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ไม่ให้ในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็หาเพื่อนช่วยเหลือไม่ได้
[๖] ผู้ใดเมื่อไม่ให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ให้ทานในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็ได้เพื่อนที่จะช่วยเหลือ
[๗] การแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องผูกพันกันฉันมิตร
ในชนทั้งหลายผู้ไม่เป็นพระอริยะ โอ้อวด ย่อมจะไร้ผล
ส่วนการแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องเป็นต้นนั้นแม้เล็กน้อย
ซึ่งบุคคลกระทำแล้วในชนทั้งหลาย ผู้เป็นพระอริยะ
ซื่อตรงและคงที่ ย่อมมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
[๘] ผู้ใดได้ทำคุณงามความดีไว้ก่อน
ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในโลก
ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตามที
ชื่อว่าเป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง
มหาอัสสาโรหชาดกที่ ๒ จบ

๓. เอกราชชาดก (๓๐๓)
ว่าด้วยพระเจ้าเอกราช
(พระเจ้าทุพภิเสนทรงขอโทษพระเจ้าเอกราชแล้ว ตรัสว่า)
[๙] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช เมื่อก่อนพระองค์เสวยกามคุณ
ที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยม มาบัดนี้พระองค์ถูกโยนลงในหลุมอันขรุขระ
ก็ยังไม่ทรงละพระฉวีวรรณและพระกำลังอันมีอยู่แต่ก่อน
(พระเจ้าเอกราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[๑๐] พระเจ้าทุพภิเสน เมื่อก่อนหม่อมฉันมีขันติ
และตบะสมปรารถนามาแล้ว
หม่อมฉันได้ขันติและตบะนั้นแล้ว
จะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนทำไมเล่า
[๑๑] พระองค์ผู้เรืองยศ ปรากฏพระปรีชาญาณ
ทรงทนทานเป็นพิเศษ ทราบว่า กรณียกิจทุกอย่าง
หม่อมฉันได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งยังได้ยศที่สูงส่งที่ไม่เคยได้มาก่อน
เพราะเหตุไรจะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนเสียเล่า
[๑๒] พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันบรรเทาความสุข
ด้วยความทุกข์ และข่มความทุกข์ด้วยความสุข
สัตบุรุษเช่นหม่อมฉันวางตนเป็นกลางในความสุขและความทุกข์
เพราะมีความเยือกเย็นในภาวะทั้ง ๒ นั้น
เอกราชชาดกที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๔. จตุกกนิบาต] ๑. กาลิงควรรค ๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
๔. ทัททรชาดก (๓๐๔)
ว่าด้วยนาคทัททระ
(นาคจูฬทัททระอดทนความดูหมิ่นไม่ได้ จึงพูดกับนาคผู้เป็นพี่ชายว่า)
[๑๓] เจ้าพี่ทัททระ วาจาอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้
ทำให้หม่อมฉันเดือดร้อน
พวกเด็กชาวบ้านไม่มีพิษนี้ ด่าหม่อมฉันผู้มีพิษร้ายว่า
พวกสัตว์กินกบกินเขียด พวกสัตว์น้ำ
(นาคมหาทัททรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[๑๔] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากบ้านเมืองของตนไปอยู่ถิ่นอื่น
พึงสร้างฉางใหญ่ไว้เก็บคำพูดที่หยาบคาย
[๑๕] สถานที่ใด ประชาชนไม่รู้จักสัตว์โดยชาติ หรือโดยวินัย
สถานที่นั้น เขาเมื่ออยู่ในกลุ่มชนที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่ควรมีมานะ
[๑๖] ผู้มีปัญญาแม้จะเปรียบด้วยไฟป่า เมื่ออยู่ยังต่างถิ่น
ก็ควรอดทนถ้อยคำคุกคามแม้ของผู้เป็นทาส
ทัททรชาดกที่ ๔ จบ

๕. สีลวีมังสชาดก (๓๐๕)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวกับอาจารย์ว่า)
[๑๗] ขึ้นชื่อว่าสถานที่ลับสำหรับกระทำกรรมชั่วไม่มีอยู่ในโลก
ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าก็ยังมีคนเห็น
คนพาลสำคัญอยู่ว่า กรรมชั่วนั้นเราได้ทำในสถานที่ลับ
[๑๘] ข้าพเจ้าไม่พบสถานที่ลับ แม้สถานที่ว่างก็ไม่มี
ในสถานที่ใด ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าว่าง
แม้สถานที่นั้น ก็ไม่ว่างจากข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า :๑๕๙ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker